หลายคนเข้าใจผิดว่า ระบบปรับอากาศเป็นระบบเดียวกันกับระบบระบายอากาศ แท้จริงแล้ว เป็นระบบที่แยกกันแต่สามารถทำงานร่วมกันได้เพื่อให้อากาศภายในอาคารมีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น เป็นระบบที่นำมวลอากาศเข้าเครื่องแล้วปรับอากาศใหม่ออกมา ให้มีภาวะเย็นสบาย

          ระบบปรับอากาศ คือ กระบวนการรักษาสภาวะอากาศโดยการควบคุม อุณหภูมิ ความชื้น ความสะอาด การกระจายลม ให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกสบายโดยใช้การทำความเย็น แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

  1. ระบบปรับอากาศแบบทำน้ำเย็นระบายความร้อนด้วยน้ำ (Water Cooled Water Chiller) เป็นระบบที่ใหญ่ที่สุด ใช้พลังงานไฟฟ้ามากที่สุด แบ่งออกเป็นวงจรน้ำเย็นและวงจรน้ำระบายความร้อน เห็นได้จากห้างสรรพสินค้าส่วนใหญ่
  2. ระบบปรับอากาศแบบทำน้ำเย็นระบายความร้อนด้วยอากาศ (Air Cooled Water Chiller) คล้ายแบบแรกแต่ไม่มีวงจรระบายความร้อน ควรมีการให้ร่มเงาแก่ชุดพัดลมที่ติดตั้งนอกอาคาร ซึ่งสำนักหอสมุด มจธ. มีการใช้ระบบปรับอากาศประเภทนี้ด้วย
  3. ระบบปรับอากาศแบบเป็นชุดระบายความร้อนด้วยน้ำ (Water Cooled Package) ระบบขนาดเล็ก แต่ดูแลบำรุงรักษาและทำความสะอาดค่อนข้างยาก เนื่องจากเครื่องควบแน่นมีขนาดเล็ก
  4. ระบบปรับอากาศแบบแยกส่วน (Split Type) เป็นระบบที่มีขนาดเล็กที่สุด ใช้กับห้องปรับอากาศทั่วไป

          ระบบปรับอากาศในอาคาร LX ใช้ระบบภายในแบบ VRF (Variable Refrigerant Flow) สามารถเปลี่ยนแปลงปริมาณสารทำความเย็นตามภาระโหลดการทำความเย็น โดยให้ค่าสัมประสิทธิ์ของประสิทธิภาพในการทำความเย็น (COP) สูง โดยเราจะสามารถสังเกตเห็นได้ว่า เมื่อความเย็นได้ที่ เครื่องปรับอากาศจะมีการสลับกันพักการทำงาน นอกจากนั้นสารทำความเย็นในระบบปรับอากาศยังเลือก ใช้สาร R410A ที่ช่วยลดการทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศและตำแหน่งเครื่องระบายความร้อน (CDU) จัดวางให้ห่างจากพื้นที่อาคารข้างเคียงเพื่อลดการรบกวนด้านเสียง และความร้อนที่จะเกิดขึ้น

น้ำยาทำความเย็นมีทั้งหมด 3 ประเภท ได้แก่
  1. CFC = Chlorofluorocarbon เป็นน้ำยาทำความเย็นที่มีผลทำลายชั้นโอโซน จึงได้มีการยกเลิกใช้ไปแล้ว เช่น น้ำยา R-11, R-12
  2. HCFC = Hydro- chlorofluorocarbon เป็นน้ำยาทำความเย็นที่มีส่วนทำลายชั้นโอโซน 5% ซึ่งได้มีโครงการที่ยกเลิกในอนาคต เช่น น้ำยา R-22 , R-123
  3. HFC = Hydro- fluorocarbon เป็นน้ำยาทำความเย็นที่ไม่มีผลทำลายชั้นโอโซน เช่น น้ำยา R-123a, R-407c, R-410a

คุณลักษณะความแตกต่างของน้ำยา R410a กับน้ำยาตัวอื่น ๆ

          R410a คือสารผสมซึ่งประกอบขึ้นด้วยสารประกอบ 2 ชนิด คือ สารทำความเย็น R32 (อัตราส่วนร้อยละ 50) และ r125 (อัตราส่วนร้อยละ 50) R 410a ได้ขึ้นทะเบียนกับสถาบัน ASHRAE (American Society of Heating, Refrigerating and Air Conditioning Engineers, USA) จากตารางจะพบว่าน้ำยา R-410a มีคุณสมบัติการทำงานที่มีความดันสูงกว่าน้ำยา R-22 มาก ดังนั้น การออกแบบคอมเพรสเซอร์และอุปกรณ์ของเครื่องปรับอากาศจะต้องมีโครงสร้างที่แข็งแรงขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับความดันที่ใช้งานที่สูงขึ้น เมื่อเครื่องทำงานที่ความดันสูง ความหนาแน่นของน้ำยาขณะทำงานจะสูงตามไปด้วย ซึ่งจะช่วยลดการไหลเวียนของน้ำยาในระบบบได้ ส่งผลให้สามารถออกแบบอุปกรณ์ เช่น คอยล์และคอมเพรสเซอร์ ให้มีขนาดเล็กลงได้ทำให้ใช้ปริมาณน้ำยาที่ลดลง เครื่องปรับอากาศมีประสิทธิภาพดีขึ้น

          R410a มีสารประกอบฟลูออโรคาร์บอน (Fluorocarbon) ข้อดีของ R410a คือ มีการแลกเปลี่ยนความร้อนที่ดี มีความเสถียรของสัดส่วนและคุณสมบัติทำให้ใช้ปริมาณน้ำยาลดลง ช่วยให้ระบบปรับอากาศมีประสิทธิภาพในการทำงานมากกว่าเดิม ซึ่งสารประกอบน้ำยาแอร์ที่ใช้ในปัจจุบันมีการคิดค้นสาร HCFC มาใช้แทนสาร CFC ที่เป็นส่วนผสมของน้ำยาแอร์ ด้วย

          สาร CFC (Chlorofluorocarbons) สารที่ทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 2,000 เท่า จากอุปกรณ์เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันอย่าง ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ แอร์ในรถยนต์ มีองค์ประกอบของคลอรีน ฟลูออไรด์ และโพรวีน เพื่อลดการทำลายชั้นบรรยากาศที่ส่งผลให้เกิดภาวะเรือนกระจกหรือภาวะโลกร้อนนี้ จึงมีการผลิตสารทดแทนสาร CFC คือ สาร HCFC (Hydrochlorofluorocarbons) ขึ้น โดยสารดังกล่าวนี้ ประกอบด้วย ไฮโดรเจน คลอรีน ฟลูออรีน และคาร์บอน เนื่องจากเดิมนั้นคลอรีนเป็นตัวสร้างปัญหาที่ทำลายโอโซนดังนั้นจึงใช้ไฮโดรเจนช่วยลดอะตอมของคลอรีน ซึ่ง สาร HCFCs ได้รับการแนะนำให้เป็นสารทดแทน CFC ตั้งแต่ปี 1987 แล้ว