การปลูกและการขยายพันธ์ “ส้มบางมด”

การปลูกส้มบางมด

การปลูกส้มบางมดสมัยก่อนต้องใช้เวลาพักดินพร้อมกับพักกิ่ง 1 เดือนถึงจะเอาลงดินได้ ระยะเวลาของการเติบโตต้องใช้เวลา 3 ถึง 6 ปี กว่าจะได้ต้นที่โตเต็มที่สามารถเก็บลูกได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เนื่องจากปีแรกต้นส้มจะออกดอกแตกใบอ่อน จากนั้นชาวสวนจะกักท้องร่องให้น้ำแห้งเพื่อให้ต้นเหี่ยว เมื่อหน้าฝนมาถึง ฝนที่ตกลงมาจะทำให้ส้มยิ่งแตกดอกและออกผลเป็นอย่างดี ส่วนปีที่ 2 ก็กักน้ำอีกเหมือนปีแรก พอเข้าปีที่ 3 ส้มจะโตเต็มที่ และผลจะสุกกำลังกินได้ แต่ชาวสวนจะเก็บผลส้มแค่ช่วงล่างๆ เท่านั้น ต้องเหลือส้มไว้เลี้ยงลำต้นด้วย ถัดมาปีที่ 4-5 ปี ถึงจะเก็บช่วงบนได้ ทำให้ชาวสวนได้ผลผลิตที่มากกว่าปีแรกๆ และเมื่อย่างเข้าปีที่ 6 ต้นจะโตเต็มที่ไม่ต้องเลี้ยงลูกไว้แล้ว เก็บได้ทั้งต้น หมายความว่าครบ 1 ปีก็เก็บได้เลยไม่ต้องเลี้ยงลำต้นแล้ว ทำให้ชาวสวนมีรายได้ที่พอดีสำหรับเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง (อัจฉราวดี ศรีสร้อย, 2562) เมื่อส้มเขียวหวานติดผลดก มีผลผลิตตลอดทั้งปี และให้ผลตอบแทนต่อไร่สูง เกษตรกรจึงหันมาปลูกส้มเขียวหวานมากขึ้น

การเตรียมพื้นที่

1. พื้นที่ลุ่ม นิยมปลูกแบบยกร่องโดยมีขนาดของแปลงดินหลังร่อง กว้างประมาณ 6 เมตร ร่องน้ำกว้าง 1.50 เมตร ลึกประมาณ 1 เมตร และด้านล่างของร่องน้ำกว้างประมาณ 0.7 เมตร ส่วนความยาวไม่จำกัด แนวแปลงควรอยู่ในแนวเหนือใต้ เมื่อปรับพื้นที่เสร็จแล้วควรตากดินไว้ประมาณ 1-2 เดือน เพื่อให้ดินแห้ง ระยะปลูกประมาณ 3.5 เมตร ในพื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกได้ประมาณ 50-55 ต้น (วิทยา พงษ์สวัสดิ์, อำไพวรรณ ภราดร์นุวัฒน์, เกษม กาหลง, [ม.ป.ป.])
2. พื้นที่ดอนไม่จำเป็นต้องยกร่อง ก่อนปลูกควรปรับพื้นที่ให้เรียบและไถกลบดินให้ลึกสองครั้งเพื่อให้ดินร่วนซุย หากปลูกระบบต้นชิด ใช้ระยะปลูกประมาณ 5.5 ถึง 6 คูณ 5.5 ถึง 6 เมตร ในพื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกได้ประมาณ 55-60 ต้น แต่ถ้าเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ควรใช้ระยะปลูก 3.5 x 7.0 เมตร หรือระยะปลูก 4.0×8.0 เมตร จะปลูกได้ประมาณ 50-65 ต้น (วิทยา พงษ์สวัสดิ์, อำไพวรรณ ภราดร์นุวัฒน์, เกษม กาหลง, [ม.ป.ป.]) การปลูกในพื้นที่เป็นที่ราบ ที่เนิน ที่ราบเชิงเขา ชาวสวนจะปลูกส้ม โดยยกแนวปลูกเป็นลูกฟูก สูงจากพื้นดิน เรียกกันว่า ปลูกแบบสภาพไร่ (สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 26, 2555)

การปลูกส้มจากเมล็ด

เมล็ดส้ม มีการเจริญและพัฒนามาจากไข่ (oval) รูปร่างคล้ายหยดน้ำ ด้านแหลมเป็นด้านที่รากงอกออกมา และด้านตรงข้ามซึ่งมีลักษณะป้าน รูปร่าง ขนาดของเมล็ด และสีของด้านป้าน สามารถนำมาใช้เป็นลักษณะ ในการจำแนกชนิดและพันธุ์ส้มได้ เมล็ดประกอบด้วยส่วนสำคัญต่าง ๆ คือ เปลือกหุ้มเมล็ด (Seed coat) มี 2 ชั้น ชั้นนอกมีสีเหลืองฟางข้าว ส่วนชั้นในมีลักษณะเป็นเยื่อบางสีน้ำตาล ต้นอ่อน หรือที่เรียกว่า เอ็มบริโอ (Embryo) คือ ส่วนที่จะเจริญพัฒนากลายเป็นต้น และส่วนที่สะสมอาหารซึ่งเรียกว่า ใบเลี้ยง (Cotyledon) (สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 26, 2555)
ชาวสวนทดลองนำวิธีการขยายพันธุ์ส้มโดยใช้เมล็ดเพื่อนำมาปลูกและเผยแพร่ตามช่องทางต่าง ๆ เช่น Youtube และ Blog ซึ่งรวบรวมข้อมูลและสรุปขั้นตอนได้ดังนี้
  1. นำเมล็ดจากผลส้มที่คัดเลือกไว้ ควรใช้เมล็ดจากผลส้มที่มีรสชาติหวาน
  2. นำเมล็ดมาล้างน้ำให้สะอาด และนำไปแช่ในน้ำอุ่นประมาณ 1 ชั่วโมง คัดเมล็ดที่ลอยทิ้ง และเก็บเมล็ดที่จมไว้ใช้สำหรับเพาะปลูก
  3. แกะเปลือกหุ้มเมล็ดชั้นนอก ให้เหลือส่วนชั้นในหรือ เอ็มบริโอ (Embryo)
  4. เตรียมภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด โดยนำกระดาษทิชชู่รองด้านในภาชนะฉีดพรมน้ำให้ทั่ว
  5. นำเมล็ดไปวางบนกระดาษทิชชู่ที่เตรียมไว้ และวางกระดาษทิชชู่ทับบนเมล็ด ฉีดพรมน้ำให้ทั่ว ปิดฝาให้สนิท ทิ้งไว้ 7-10 วัน
  6. เมื่อพบว่ามีต้นอ่อนเริ่มงอกจากเมล็ด ให้นำไปลงในดินร่วนซุยหรือดินขุยไผ่ในกระถางหรือถุงปลูก รดน้ำรอจนกระทั่งโตเป็นต้นกล้า
  7. นำต้นกล้าที่มีความสูงประมาณ 30 – 45 ซม. ย้ายหรือล้อมต้นกล้าลงปลูกในแปลงใหญ่ต่อไป

การปลูกส้มจากพันธุ์กิ่งชำ

ขั้นตอนและวิธีการเตรียมพันธุ์ส้มเป็นสิ่งที่สำคัญมาก การปลูกส้มในประเทศไทยนิยมใช้กิ่งพันธุ์ที่สมบูรณ์แข็งแรง มาทำการลงปลูกในดินที่เตรียมไว้ อาจใช้ต้นปลอดโรค มาติดตา หรือเสียบยอดบนต้นตอพันธุ์ส้มที่แข็งแรง เพื่อต้านทานโรคที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง
สำหรับฤดูกาลที่เหมาะสมในการปลูกส้ม คือ ช่วงต้นฤดูฝนจะทำให้ไม่มีปัญหาในการเฝ้าระวังเรื่องการให้น้ำ หากมีการติดตั้งระบบการให้น้ำอย่างพร้อมเพรียงแล้วสามารถปลูกได้ทุกช่วง ยกเว้นช่วงที่อากาศหนาวเพราะต้นส้มจะตั้งตัวได้ช้ากว่าปกติ ขั้นตอนการปลูกสามารถทำได้ดังนี้
  1. ขุดหลุมปลูกให้มีขนาดกว้างและลึกประมาณ 50 เซนติเมตร
  2. ผสมดิน ปุ๋ยคอก และปุ๋ยร็อคฟอสเฟตเข้าด้วยกันในหลุมให้สูงประมาณ 2 ใน 3 ของหลุม
  3. ยกถุงกล้าต้นไม้วางในหลุม โดยให้ระดับของดินในถุงสูงกว่าระดับดินปากหลุมเล็กน้อย
  4. ใช้มีดที่คมกรีดถุงจากก้นถุงขึ้นมาปากถุงทั้ง 2 ด้าน (ซ้ายและขวา) ดึงถุงพลาสติกออก ระวังอย่าให้ดินแตก
  5. กลบดินที่เหลือลงไปในหลุม กดดินบริเวณโคนต้นให้แน่น
  6. ปักไม้หลักและผูกเชือกยึดเพื่อป้องกันลมพัดโยก
  7. หาวัสดุคลุมดินบริเวณโคนต้น เช่น ฟางข้าว หญ้าแห้ง แล้วรดน้ำให้โชก
  8. ทำร่มเงาเพื่อช่วยพรางแสงแดด

ความแตกต่างระหว่างการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดส้มและการขยายพันธุ์จากกิ่งพันธุ์ส้ม

การขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด การขยายพันธุ์จากกิ่งพันธุ์
1. มีโอกาสกลายพันธุ์ รสชาติอาจเปลี่ยน
2. มีหนามมากและหนามใหญ่
3. ให้ดอกออกผลช้า (ประมาณ 7 ปี)
4. มีทรงพุ่มสูงและตรง
5. เสียค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวสูงกว่า มักอ่อนแอต่อโรคทางราก
1. มีคุณสมบัติตรงตามพันธุ์ทุกประการ
2. มีหนามน้อย และหนามเล็ก
3. ให้ดอกออกผลเร็ว (ประมาณ 3ปี)
4. มีทรงพุ่มแผ่ทางด้านข้าง
5. เสียค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวต่ำกว่า
6. ทนต่อโรคทางรากได้ดีกว่า หากเลือกกิ่งพันธุ์ที่สมบูรณ์
การขยายพันธุ์ส้มจากกิ่งพันธุ์จึงเป็นวิธีที่นิยมมากกว่าการเพาะเมล็ด ทั้งด้านระยะเวลาในการปลูก และค่าใช้จ่ายที่ประหยัดกว่า นอกจากการเลือกกิ่งพันธุ์แล้ว ยังมีองค์ประกอบที่สำคัญในการปลูกส้ม นั่นคือสภาพแวดล้อม ได้แก่ ดิน น้ำ อากาศและปุ๋ย ที่จะช่วยให้ส้มมีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
การขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
1. มีโอกาสกลายพันธุ์ รสชาติอาจเปลี่ยน
2. มีหนามมากและหนามใหญ่
3. ให้ดอกออกผลช้า (ประมาณ 7 ปี)
4. มีทรงพุ่มสูงและตรง
5. เสียค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวสูงกว่า มักอ่อนแอต่อโรคทางราก
การขยายพันธุ์จากกิ่งพันธุ์
1. มีคุณสมบัติตรงตามพันธุ์ทุกประการ
2. มีหนามน้อย และหนามเล็ก
3. ให้ดอกออกผลเร็ว (ประมาณ 3ปี)
4. มีทรงพุ่มแผ่ทางด้านข้าง
5. เสียค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวต่ำกว่า
6. ทนต่อโรคทางรากได้ดีกว่า หากเลือกกิ่งพันธุ์ที่สมบูรณ์
การขยายพันธุ์ส้มจากกิ่งพันธุ์จึงเป็นวิธีที่นิยมมากกว่าการเพาะเมล็ด ทั้งด้านระยะเวลาในการปลูก และค่าใช้จ่ายที่ประหยัดกว่า นอกจากการเลือกกิ่งพันธุ์แล้ว ยังมีองค์ประกอบที่สำคัญในการปลูกส้ม นั่นคือสภาพแวดล้อม ได้แก่ ดิน น้ำ อากาศและปุ๋ย ที่จะช่วยให้ส้มมีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น