PM 10 และ PM 2.5 คืออะไร

PM  หรือ  Particulate Mattersเป็นคำเรียกค่ามาตรฐานของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่ PM 10 และ PM 2.5 

ภาพการเทียบขนาดของ PM 10 และ PM 2.5 กับเส้นผม

ฝุ่น PM 10  หรือเรียกว่า  ฝุ่นหยาบ (Course Particles) คือ อนุภาคฝุ่นละอองในอากาศที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 2.5 – 10 ไมครอน ฝุ่นประเภทนี้เมื่อรวมกันเป็นจำนวนมากแล้วมักจะสังเกตเห็นได้ง่าย เช่น ฝุ่นที่เกาะอยู่ตามข้าวของเครื่องใช้ เกสรดอกไม้ หรือฝุ่นละอองจากงานก่อสร้าง  

ฝุ่น PM 2.5เรียกว่า ฝุ่นละเอียด (Final Particles) คือ อนุภาคฝุ่นละอองในอากาศที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ที่ 2.5 ไมครอน และแขวนลอยอยู่ในอากาศรวมกับไอน้ำ ควัน และก๊าซต่าง ๆ ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าถึงจะเป็นเพียงฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว แต่เมื่อมาอยู่รวมกันจะกินพื้นที่ในอากาศมหาศาล ล่องลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศปริมาณสูง เกิดเป็นหมอกควันอย่างที่เราเห็นกัน PM2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน เทียบได้ว่ามีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมมนุษย์ มีขนาดเล็กจนขนจมูกของมนุษย์ที่ทำหน้าที่กรองฝุ่นนั้นไม่สามารถกรองได้ สามารถแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และเข้าสู่อวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายได้ และตัวฝุ่นจะเป็นพาหะนำสารอื่นเข้ามาด้วย เช่น แคดเมียม ปรอท โลหะหนัก และสารก่อมะเร็งอีกด้วย 

สาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5  

  • การคมนาคมขนส่ง ควันจากท่อไอเสีย และการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ 
  • การผลิตไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ การเผาปิโตรเลียมและถ่านหินมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้ก่อให้เกิดก๊าซพิษจากการเผาไหม้ 
  • การเผาเพื่อทำการเกษตร  การก่อสร้าง 
  • การรวมตัวของก๊าซอื่น ๆ ในบรรยากาศโดยเฉพาะซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และออกไซด์ของ ไนโตรเจน (NOx) รวมทั้งสารพิษอื่น ๆ ที่ล้วนเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ เช่น สารปรอท (Hg), แคดเมียม (Cd), อาร์เซนิก (As) หรือโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) 
รูปภาพแสดง PM10 และ PM2.5 ให้เห็นว่าอนุภาคเล็กกว่าตัวเลขที่ระบุเอาไว้ มลพิษแต่ละประเภทที่มีขนาดเท่ากับหรือต่ำกว่า PM10 และ PM2.5
ภาพฝุ่นละอองที่ลอยอยู่ในอากาศ 

อันตรายและผลกระทบทางสุขภาพจากฝุ่นละออง PM 2.5  

          ฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นฝุ่นที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ไม่มีกลิ่น ขนาดเล็กมาก สามารถผ่านเข้าไปในร่างกายเราลึกได้ถึงถุงลมปอด บางส่วนสามารถเล็ดรอดผ่านผนังถุงลมเข้าเส้นเลือดฝอยล่องลอยอยู่ในกระแสเลือด และกระจายตัวแทรกซึมไปทั่วร่างกาย กระตุ้นให้คนที่มีโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรังเกิดอาการกำเริบ เช่น โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้โรคหอบหืดและโรคถุงลมโป่งพอง โรคระบบหัวใจและหลอดเลือดเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด สำหรับผลระยะยาวจะทำให้การทำงานของปอดถดถอย อาจเกิดโรคถุงลมโป่งพองได้แม้จะไม่สูบบุหรี่ก็ตาม และเพิ่มโอกาสทำให้เกิดมะเร็งปอดได้อีกด้วย 

          ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยแบ่งเป็น 5 ระดับ คือตั้งแต่ 0 ถึง 201 ขึ้นไป ซึ่งแต่ละระดับจะใช้สีเป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบระดับของผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย โดยดัชนีคุณภาพนอากาศ 100 จะมีค่าเทียบเท่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป หากดัชนีคุณภาพอากาศมีค่าสูงเกินกว่า 100 แสดงว่าค่าความเข้นข้นของมลพิษทางอากาศมีค่าเกินมาตรฐานและคุณภาพอากาศในวันนั้นจะเริ่มมีผลต่อสุขภาพของประชาชน 

ตารางเกณฑ์ดัชนีคุณภาพอากาศ 

AQI 
ความหมาย 
สีที่ใช้ 
คำอธิบาย 
0 – 25 
คุณภาพอากาศดีมาก 
ฟ้า 
คุณภาพอากาศดีมาก เหมาะสำหรับกิจกรรมกลางแจ้งและการท่องเที่ยว 
26 – 50 
คุณภาพอากาศดี 
เขียว 
คุณภาพอากาศดี สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งและการท่องเที่ยวได้ตามปกติ 
51 – 100 
ปานกลาง 
เหลือง 
ประชาชนทั่วไป :สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ
ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ :หากมีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง 
101 – 200 
เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 
ส้ม 
ประชาชนทั่วไป :ควรเฝ้าระวังสุขภาพ ถ้ามีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น
ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ :ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ถ้ามีอาการทางสุขภาพ เช่น ไอ หายใจลำบาก ตาอักเสบ แน่นหน้าอก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นไม่เป็นปกติ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ควรปรึกษาแพทย์ 
201 ขึ้นไป 
มีผลกระทบต่อสุขภาพ 
แดง 
ทุกคนควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์ 

วิธีการคำนวณความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศ 

คำนวณจากค่าความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศจากข้อมูลผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศ โดยมีระดับของค่าความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศที่เทียบเท่ากับค่าดัชนีคุณภาพอากาศที่ระดับต่าง ๆ 

สูตรการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศภายในช่วงระดับ เป็นสมการเส้นตรง ดังนี้

I = ค่าดัชนีย่อยคุณภาพอากาศ 
X = ความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศจากการตรวจวัด 
Xi , Xj = ค่าต่ำสุด, สูงสุด ของช่วงความเข้มข้นสารมลพิษที่มีค่า X 
Ii , Ij = ค่าต่ำสุด, สูงสุด ของช่วงดัชนีคุณภาพอากาศที่ตรงกับช่วงความเข้มข้น X จากค่าดัชนีย่อยที่คำนวณได้ สารมลพิษทางอากาศประเภทใดมีค่าดัชนีสูงสุด จะใช้เป็นดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ณ ช่วงเวลานั้น 

ข้อมูลอ้างอิง
1. Admin Mouan, 2563, ฝุ่นละออง PM 2.5 คืออะไร ? ย่อมาจากคำว่าอะไร ? และ ผลกระทบ อันตรายจากฝุ่น PM 2.5 [Online], Available: https://tips.thaiware.com/1454.html [8 กุมภาพันธ์ 2565].
2. กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ, 2565, ข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศ [Online], Available: http://air4thai.pcd.go.th/webV2/aqi_info.php#:~:text=ดัชนีคุณภาพอากาศ%20(Air%20Quality,เข้มข้นของสารมลพิษทาง [9 กุมภาพันธ์ 2565].
3. บริษัท ซิลค์สแปน จำกัด, (ม.ป.ป.), ฝุ่น PM 2.5 เกิดจากอะไร และสาเหตุที่ทำให้ไม่ลดลง [Online], Available: https://www.silkspan.com/online/article/health/122/ [8 กุมภาพันธ์ 2565].
4. บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด, 2563,  PM2.5 คืออะไร? อันตรายและการป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก [Online], Available: https://www.daikin.co.th/service-knowledge/pm-2-5/  [8 กุมภาพันธ์ 2565].
5. สำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2562,  รู้จักฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่มากับมลภาวะ และวิธีการเลือกหน้ากากป้องกัน [Online], Available: http://www.mnre.go.th/om/th/news/detail/31459 [8 กุมภาพันธ์ 2565].