สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

บทที่ 6 การสู้รบของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับพม่าก่อนกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า และหลังการเสียกรุงฯ

ปี พ.ศ.2307 กรุงศรีอยุธยามีคำสั่งให้พระยาตาก ( สิน ) กับพระยาพิพัฒนโกษา ( พระยาโกษาธิบดี ) คุมกองกำลังทางบกไปสกัดทัพพม่าที่เมืองเพชรบุรี ฝ่ายไทยได้ทำการสู้รบเป็นสามารถ ได้ขับไล่พม่าถอยไปทางด่านสิงขรไปอยู่ที่เมืองตะนาวศรี กองทัพไทยสามารถรักษาเมืองเพชรบุรีไว้ได้ (ทวน บุณยนิยม , 2513 : 35-36)

6.1 ขณะที่พม่ายกกำลังมาล้อมกรุงศรีอยุธยา (.. 2309) นั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงดำรงตำแหน่งอะไร ประทับอยู่ที่ไหน ?

ขณะนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงดำรงตำแหน่งพระยาตาก เจ้าเมืองตาก สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์โปรดให้พระยาตากสินมาช่วยราชการสงครามในพระนครศรีอยุธยาเพื่อป้องกันทัพพม่า พระยาตากมีฝีมือการรบเข้มแข็ง มีบำเหน็จความชอบในสงคราม จึงได้เลื่อนเป็นพระยาวชิรปราการสำเร็จราชการเมืองกำแพงเพชร แทนเจ้าเมืองกำแพงเพชรเดิมซึ่งถึงแก่กรรม แต่พระยาวชิรปราการ(สิน) ยังหาได้ไปครองเมืองกำแพงเพชรไม่ เพราะต้องต่อสู้กับพม่าข้าศึกเพื่อรักษาพระนคร ( วีณา โรจนราธา , 2540 : 85)

พระยาวชิรปราการ ( สิน ) ได้เป็นนายกองคุมกองกำลังไปต้านทานทัพพม่าที่ เมืองมะริด แต่ไม่สามารถต้านทานกำลังพม่าได้ จึงต้องถอยเข้ามาตั้ง มั่นรักษา พระนคร ( กรมศิลปากร , คำให้การชาวกรุงเก่า : 168) แล้วรับหน้าที่คุมทัพเรือไปตั้ง ค่ายที่วัดป่าแก้ว ( วัดใหญ่ชัยมงคล ) เพื่อป้องกันไม่ให้พม่ายกทัพเข้าเมือง การตีค่ายมังมหานรธา จากพระราชพงศาวดารพม่าฉบับคองบองได้เล่าเรื่องที่ไทยจัดทัพออกไปตีค่ายมังมหานรธาดังนี้

ในปีพ.ศ. 2309 ฝ่ายในกรุงก็จัดทัพใหญ่ส่งออกไปตีค่ายของมังมหานรธา กำลังที่ส่งออกไปในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 กอง ฝ่ายไทย ผู้บังคับบัญชา พระยาตานคุมกองหนึ่ง พระยาวชิรปราการคุมกองหนึ่ง กองกำลังประกอบด้วย ช้างศึก 400 เชือก รถบรรทุกปืนใหญ่ 1,000 กระบอก ทหาร 50,000 คน ช้างนั้นคลุมเกราะเหล็กถึงอก แต่ละตัวยังมีปืนใหญ่ประจำถึง 3 กระบอก ฝ่ายพม่า มังมหานรธาให้ ผู้บังคับบัญชา ใช้นายทหารพม่า 5 คน แยกกันคุมคนละ 4 กอง การประกอบกำลัง รวมแล้วเป็นช้าง 100 เชือก ม้า 500 ตัว ทหาร 20,000 คน

ภารกิจ ออกรบใกล้ๆ กับเจดีย์ภูเขาทอง

การรบ 
การปะทะกันถึงขั้นตะลุมบอน ขั้นแรกฝ่ายไทยใช้ปืนใหญ่ระดมยิงทัพพม่า จากนั้น พระยาตาน ได้คุมช้างศึกทั้ง 400 บุกตะลุยข้าศึกอย่างห้าวหาญ จนได้ปะทะกันบนหลังช้างกับ เจ้าเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนเจ้าเมืองที่ยอมถือน้ำสาบานรับใช้พม่า การปะทะกันยังไม่ทันรู้ผลแพ้ชนะ เจ้าเมืองสุพรรณบุรีก็ถูกพลปืนยิงถึงแก่ชีวิต พระยาตานเห็นได้ทีก็นำช้างบุกตะลุยกองม้าของพม่าจนแตกพ่าย ในจังหวะนั้นเองที่ช้างศึกทั้ง 400 และปืนใหญ่ทั้งหมดของกองทัพไทยปฏิบัติการอย่างมีประสิทธิภาพ ทัพพม่าแตกพ่ายไม่เป็นขบวน มังมหานรธาแม่ทัพใหญ่ต้องคุมทัพช้าง และพลปืนเข้าแก้จึงสามารถยั้งการบุกของกองทัพไทย และพลิกสถานการณ์เป็นฝ่ายมีชัยได้ หลังจากนั้นพม่าก็กระจายกำลังตั้งค่ายล้อมกรุงทั้ง 4 ทิศ แต่ค่ายทั้งหมดยังคงตั้งเรียงรายอยู่ในระยะห่างจากตัวกำแพงเมือง พม่าพยายามเข้าตีหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ (ผู้แต่งพงศาวดารพม่าชอบที่จะระบุจำนวนทหารไทยที่ยกออกไปรบกับทหารพม่ามากกว่าเสมอ ในทางกลับกันมักจะระบุกำลังของพม่าที่ยกออกมารับแต่เพียงน้อย เพื่อจะแสดงให้เห็นว่า กำลังพม่านั้นถึงแม้จะน้อยกว่าก็สามารถเอาชนะกำลังของฝ่ายไทยซึ่งมีมากกว่าได้อย่างง่ายดาย, จรรยา ประชิตโรมรัน, 2536 : 116-117)

แผนที่สังเขปแสดงการรบของพระยาธิเบศร์ปริยัติ พระยาตานและพระยาวชิรปราการ
(ภาพจากหนังสือการเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 พ.ศ.2310)

การตีโฉบฉวยของพวกอาสาต่างด้าวและทหารไทย (อยุธยา พ.ศ. 2309) สถานการณ์ต่อ ในระหว่างนี้ได้พวกอาสาต่างด้าวออกไปต่อสู้กับข้าศึกหลายพวกด้วยกัน

จีน ขุนนางจีนทั้งสี่คน คือหลวงโชฎึก หลวงท่องสื่อ หลวงเนาวโชติ หลวงเล่ายา ทั้งสี่กับพวกจีนอาสาออกไปตีค่ายสวนพลู ได้รบกันอย่างรุนแรง

ฝรั่ง กรุงพานิช ฤทธิ์สำแดง วิสูตรสาคร อังตน กับเหล่าฝรั่งเป็นอันมาก อาสาออกตีค่ายบ้านปลาเห็ด ก็ได้ทำการรบอย่างรุนแรงเหมือนกัน

ขณะนั้นมีเรืออังกฤษลำหนึ่งชื่อ อลังกปูนี มาค้าขายอยู่ที่กรุงสยาม รับอาสาช่วยรบพม่า โดยใช้ปืนเรือยิงพม่าที่เมืองธนบุรี แต่พม่าใช้ปืนใหญที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ยิงเรือกำปั่นอังกฤษจนต้องถอยหนีออกไปทางนนทบุรี เรืออังกฤษยิงปืนใหญ่ใส่พม่าที่วัดเขมาฯ แต่สู้พม่าไม่ไหว พวกอังกฤษต้องล่องเรือกำปั่นหนีออกทะเลไป (อาทร จันทวิมล, 2546 : 228)

โจร คือหมื่นหาญกำบัง นายจันเสือเตี้ย นายมากสีหนวด นายโจรใหญ่สี่คนกับพวกโจรทั้งปวง พระหมื่นศรีเสาวรักษ์ เป็นแม่ทัพ

อาทมาต อาสาตีค่ายป่าไผ่ ได้รบกับพม่าหลายครั้ง ปรากฏว่าล้มตายด้วยกันทั้งสองฝ่าย

แขก ที่ออกอาสาคือ หลวงศรียศ หลวงราชพิมล ขุนศรีวรขันธ์ ขุนราชนิทาน กับพวกแขกเทศ แขกจาม แขกมะลายู แขกชวา และบรรดาพวกแขกทั้งปวงเป็นจำนวนมาก มีพระจุฬาเป็นแม่ทัพ นำออกไปตีค่ายบ้านป้อม ทางฝ่ายพม่าก็มีแม่ทัพแขกเช่นเดียวกันชื่อ เนโมยกุงนรัด ก็ออกมาต่อสู้กับพระจุฬาบ้าง ต่างก็ล้มตายไปด้วยกัน

มอญ มีหลวงเถกิง พระบำเรอภักดี พระยาเกียรติ พระยาราม กับเหล่ามอญสามโคก บ้านป่าปลา บ้านหัวรอ กับพวกมอญทั้งปวงได้อาสาออกรบ

ลาว ขุนนางมีชื่อคือ แสนกล้า แสนหาญ แสนท้าว เวียงคำ กับพวกลาวกองหาญทั้งปวงเป็นอันมากอาสาออกตีค่ายพม่า

จากนั้นทางการก็เกณฑ์ให้พระยาพลเทพรักษาประตูนคร ให้ตรวจตราบ้านเมืองมีอำนาจเป็นสิทธิ์ขาด พวกอาสาที่กล่าวนี้ ส่วนมากเป็นพวกต่างด้าว ไทยล้วนเกือบจะไม่มีเพราะถูกฆ่าตายไปในการแย่งชิงอำนาจกันเสียเป็นส่วนมาก ถูกกำจัดด้วยการตัดหัวขั้วแห้ง ประเภทล้างโคตรเสียเป็นจำนวนมาก คนดีๆ ต้องล้มตายไป ด้วยจนกำลังทัพไทยในสมัยขุนหลวงสุริยามรินทร์จึงอ่อนแออย่างที่สุด

หมายเหตุ :
ถิ่นที่อยู่ของคนต่างชาติสมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 พระยาโบราณราชธานินทร์ เคยมีหนังสือกราบทูลสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเกี่ยวกับสถานที่ ซึ่งคนต่างชาติเข้ามาตั้งถิ่นฐานในกรุงศรีอยุธยาสมัยเป็นราชธานีไว้ว่า

แผนที่สังเขปแสดงการตีโฉบฉวย ของหน่วยอาสาสมัครต่างด้าว และทหารไทย พ.ศ. 2309 (ภาพจากหนังสือการเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 พ.ศ.2310)
  • 1. พวกพราหมณ์ อยู่หน้าวัดนางมุก วัดอำแม และชีกุน ซึ่งเป็นที่ตั้งเทวสถานและเสาชิงช้ากลางพระนคร
  • 2. แขกเทศกับแขกเปอร์เซีย อยู่ตั้งแต่สะพานประตูจีนฟากตะวันตก ไปหลังวัดนางมุกแล้วเลี้ยวไปท่ากายี ชาวบ้านเรียกทุ่งแขก
  • 3. แขกจาม อยู่ในคลองคูจาม ตอนใต้วัดแก้วฟ้าลงไป
  • 4. แขกมลายู อยู่ในคลองตะเคียนข้างใต้
  • 5. แขกมักกะสัน อยู่ริมแม่น้ำฝั่งตะวันตกใต้ปากคลองตะเคียนด้านใต้
  • 6. จีน อยู่หลายแห่งคือ หลังวัดจีนถึงสามม้าในไก่ และประตูจีน ที่คลองสวนพลู ที่ปากคลองข้าวสาร ที่คลองถนนตาล ที่บ้านดิน และที่เกาะพระ
  • 7. ญี่ปุ่น อยู่ในริมแม่น้ำฝั่งตะวันออก ใต้บ้านเสือข้าม เหนือเกาะเรียน
  • 8. มอญ อยู่บ้านโพธิ์สามต้น และที่ปากคลองตะเคียนข้างเหนือ
  • 9. ลาวพุงดำ อยู่ที่อำเภออุทัย และอำเภอบางปะอินฝั่งตะวันออก
  • 10. ลาวพุงขาว อยู่ริมแม่น้ำมหาพราหมณ์ ตอนนอกขนอนปากคู
  • 11. ไทยใหญ่ อยู่ที่บ้านป้อมเหนือเพนียด
  • 12. ญวน อยู่เหนือวัดนางกรายขึ้นไปถึงปากคลองตะเคียนข้างเหนือ
  • 13. ตะนาว อยู่ที่ขนอนหลวง วัดโปรดสัตว์
  • 14. เขมร อยู่ริมแม่น้ำนครไชยศรีใต้งิ้วราย และใกล้วัดค้างคาว
  • 15. โปรตุเกส อยู่ริมแม่น้ำฝั่งตะวันตก ท้ายบ้านดิน
  • 16. ฮอลันดา ที่อยุธยา อยู่ที่ริมแม่น้ำฝั่งตะวันออก ใต้วัดพนัญเชิง (และมีโกดังเก็บสินค้าอยู่ที่ปากคลองบางปลากด ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้พระประแดง เรียกชื่อบริเวณดังกล่าวว่า นิว อัมสเตอร์ดัม New Amsterdam)
  • 17. อังกฤษ อยู่ริมแม่น้ำฝั่งตะวันออก ใต้บ้านฮอลันดาลงไปถึงข้างเหนือ ปากแม่น้ำแม่เบี้ย
  • 18. ฝรั่งเศส อยู่ที่บ้านปลาเห็ด ปากคลองตะเคียนด้านเหนือ (อาทร จันทวิมล, 2546 : 223)

6.2 อะไรเป็นสาเหตุให้สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงท้อพระทัย ?

ระหว่างการทำศึกรักษาพระนครนั้น แม้พระยาวชิรปราการ ( สิน ) จะบัญชาการรบและต่อสู้ข้าศึกเป็นสามารถ แต่ก็ประสบเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความท้อแท้ใจหลายต่อหลายครั้งคือ

  • 1) เมื่อ พ.ศ.2309 พระยาวชิรปราการคุมกำลังทหารออกรบตีได้ค่ายพม่าที่วัดโปรดสัตว์ แต่ผู้บัญชาการรักษาพระนครไม่ส่งกำลังออกไปหนุน มังมหานรธาส่งกำลังเพิ่มเติมขึ้นมา ทำให้พม่าสามารถยึดค่ายกลับคืนได้ ทำให้พระยาวชิรปราการต้องทิ้งค่ายและล่าถอยกลับมา กองทัพไทยแตกกระจัดกระจายเข้าเมือง พระยาวชิรปราการถูกกล่าวหาว่ามีความผิดจากการแตกทัพครั้งนี้ ( ประพัฒน์ ตรีณรงค์ , 2542 : 14)
  • 2) ครั้นถึงเดือน 12 เวลานั้นน้ำท่วมทุ่ง ทางในกรุงฯ ทราบว่าพม่ายกทัพเรือลัดทุ่งเข้ามาทำนองจะมาตรวจ เตรียมการล้อมกรุงฯ ทางด้านทิศตะวันออก สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ จึงตรัสสั่งให้ พระยาเพชรบุรี เป็นแม่ทัพมาคุมกองทัพเรือกองหนึ่ง พระยาวชิรปราการ ( สิน ) คุมกองหลัง (เป็นกองหนุน) ออกไปตั้งที่ วัดป่าแก้ว วัดใหญ่ชัยมงคล คอยสกัดตีกองทัพพม่าที่ยกมาทางท้องทุ่ง ครั้นพม่ายกมาเป็นจำนวนมากพระยาเพชรบุรีจะยกกองทัพเรืออกไปตีกองทัพพม่า พระยา วชิรปราการ ( สิน ) เห็นเหลือกำลัง ให้พระยาเพชรบุรีรอดูทีท่าพม่าก่อน พระยาเพชรบุรีไม่ฟัง ขืนยกกองทัพเรือออกไปรบพม่าที่ริมวัดสังฆาวาส กองทัพพม่ามากกว่าก็เข้าล้อมกองเรือของพระยาเพชรบุรีไว้ แล้วเอาหม้อดินดำทิ้งลงไปในเรือพระยาเพชรบุรี ระเบิดขึ้นเรือแตก พระยาเพชรบุรีตายในที่รบ พวกกองทัพที่เหลือตายก็แตกหนี ส่วนกองทัพพระยาวชิรปราการ ( สิน ) ก็หาเข้ารบกับพม่าไม่ ถอยกลับเข้ามาตั้งอยู่ที่ค่าย วัดพิชัย ซึ่งเป็นค่ายเดิมของพระยาเพชรบุรี ( ใต้สถานีรถไฟปัจจุบัน ) แต่นั้นมาพระยาวชิรปราการ ( สิน ) ก็ไม่ได้เข้าไปในพระนครอีก กระนั้นพระยาวชิรปราการ ( สิน ) ก็ยังถูกฟ้องกล่าวโทษ หาว่าทำการรบโดยประมาท ทิ้งพระยาเพชรบุรีในที่รบ ทำให้พระยาวชิรปราการน้อยใจ ( ทวน บุณยนิยม , 2513 : 39-40)
  • 3) ก่อนเสียกรุงสามเดือน เวลานั้นกระสุนดินดำที่ในกรุงฯ อัตคัดลง จึงมีหมายสั่งว่ากองไหนจะยิงปืนให้ขออนุญาต ที่ศาลาลูกขุนก่อน เพราะเจ้าจอมหม่อมห้าม (หม่อมเพ็ง หม่อมแมน) และสาวสรรค์กำนัลในล้วนขวัญอ่อน (วิเศษไชยศรี, 2541 : 304) วันหนึ่งพม่ายกเข้ามาทางด้านตะวันออก ที่พระยาวชิรปราการรักษาการอยู่ เมื่อเห็นจวนตัวจึงสั่งให้ทหารเอาปืนใหญ่ ยิงข้าศึกโดยไม่ขออนุญาตเข้ามายังศาลาลูกขุน จึงถูกฟ้องชำระโทษ แต่เพียงให้ภาคทัณฑ์เอาไว้ เพราะเคยมีความดีความชอบมาก่อน ( ประพัฒน์ ตรีณรงค์ . “ แผ่นดินพระเจ้าตากสินมหาราช ,” ใน วารสารไทย 20 (12) : ตุลาคม – ธันวาคม , 2542 : 14)
(ภาพจากหนังสือการเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 พ.ศ.2310)

6.3 ทำไมสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ จึงทรงตัดสินใจที่จะตีฝ่าวงล้อมพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยา ?

กองทัพพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ประมาณ 2 ปี พระยาวชิรปราการคาดการณ์ว่า กรุงศรีอยุธยาคงจะต้องแตกแน่ เพราะกำลังหนุนของพม่านั้นใหญ่หลวงนัก แต่การป้องกันรักษาพระนครก็อ่อนแอ อีกทั้งอาวุธยุทธภัณฑ์ไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมรบและร่อยหรอลงไป ทั้งพระมหากษัตริย์ก็มิได้ใฝ่พระทัยที่จะคิดอ่านแก้ไขแต่ประการใดคงปล่อยให้เหตุการณ์เป็นไปตามยถากรรม ราษฎรก็ขวัญเสียระส่ำระสาย ( ทวน บุณยนิยม , 2513 : 40 ) ประกอบกับทัพพระยาวชิรปราการขาดแคลนเสบียงอย่างหนัก ถ้าสู้รบต่อไปก็เท่ากับพาทหารไปตายอย่างไร้ประโยชน์ จึงได้วางแผนตีฝ่าวงล้อมพม่า เพื่อไปสะสมเสบียงอาหาร กำลังคน และอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อกลับมากอบกู้กรุงศรีอยุธยาในภายหน้า ซึ่งจะดีกว่าอยู่ แล้วต้องตายอย่างไร้สติปัญญา (พิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดจันทบุรี, 2542 : 20 ; http://www.wangdermpalace.com/kingtaksin/thai_millitaryact.html , 22/11/45)

6.4 สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงพากองทหารตีฝ่าออกมาจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อไร ?

พระยาวชิรปราการ ( สิน ) ตัดสินใจรวบรวมสมัครพรรคพวกทั้งไทยและจีนได้ 500 คน ( ในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ ( เจิม ) กล่าวว่ามีทหารไทยจีนประมาณ 1,000 เศษ ) มีนายทหารร่วมใจคือ พระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนา หลวงพิชัยราชา หลวงราชเสนา ขุนอภัยภักดี และหมื่นราชเสน่หา ( ทวน บุณยนิยม , 2513 : 40) ยกออกจากค่ายวัดพิชัย ในวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น 6 ค่ำ ปีจอ อัฐศก จ.ศ.1128 เวลาย่ำค่ำ ตรงกับวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2310 ( ก่อนเสียกรุง 3 เดือน ) ตีฝ่าพม่าข้าศึกออกไปทางทิศตะวันออก ( หรือตะวันออกเฉียงใต้, ประพัฒน์ ตรีณรงค์ , 2524 : 14) ไปทางบ้านหันตรา บ้านข้าวเม่า เพราะพม่ามิได้ล้อมประชิดอยู่ มีแต่ตั้งทัพห่างออกไปและมีทหารพม่าจำนวนไม่มากนัก ( http://www.wangdermpalace.com/kingtaksin/thai_millitaryact.html 22/11/45 และพงศาวดารกรุงเก่า หน้า 69 )

พระยาตากรวบรวมสมัครพรรคพวก หนีออกจากกรุงศรีอยุธยา
(เอื้อเฟื้อภาพโดย เมืองโบราณ)

ภารดี มหาขันธ์ (2526 : 17-18) ได้แสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการที่ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จหนีออกจากกรุงศรีอยุธยาก่อนเสียกรุง 3 เดือนไว้ดังนี้

“ การที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จหนีออกจากกรุงศรีอยุธยานั้น เมื่อพิจารณาตามกฎหมายลักษณะกบฏศึกมาตรา 40 แล้ว พระองค์มีโทษฐานกบฏต้องถูกลงโทษประหารชีวิต แต่เมื่อพระองค์เสด็จหนีรอดไปได้ 3 เดือน กรุงศรีอยุธยาก็เสียแก่พม่า โทษฐานกบฏของพระองค์จึงสิ้นไป นอกจากนั้นยังมีผู้ให้ทรรศนะว่า การเสด็จหนีออกจากกรุงศรีอยุธยา ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และพรรคพวก มิใช่การหนีเพื่อเอาตัวรอด แต่เป็นการหนีเพื่อซ่องสุมกำลังกลับมา กอบกู้กรุงศรีอยุธยาคืน และทนุบำรุงพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า เมื่อทรงเดินทางมาถึงตำบลหินโขง และน้ำเก่าแขวงเมืองระยองนั้น

พระองค์ได้ปรึกษากับนายทัพนายกองและรี้พลของพระองค์ว่า “ กรุงศรีอยุธยาคงจะเสียแก่พม่าเป็นแน่แท้ ตัวเราจะคิดซ่องสุมประชาราษฎรแขวงหัวเมืองตะวันออกทั้งปวงให้ได้มาก แล้วจะยกกลับเข้าไปกู้กรุงให้คงคืนเป็นราชธานีดังเก่า แล้วจักทำนุบำรุงสมณพราหมณ์ประชาราษฎร ซึ่งอนาถาหาที่พำนักบ่มิได้ให้ร่มเย็นเป็นสุขานุสุข และจะยอยกพระบวรพุทธศาสนาให้โชตนาการไพบูลย์ขึ้นเหมือนอย่างแต่ก่อน เราจะตั้งตัวเป็นเจ้าให้คนทั้งหลายนับถือยำเกรงจงมาก การซึ่งจะกอบกู้แผ่นดินจึงจะสำเร็จโดยง่าย … ” ( พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว , 603-604)

6.5 เมื่อตีฝ่ากองทัพพม่าออกมาได้แล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงยกทัพต่อไปที่ไหนบ้าง ?

เมื่อพระยาวชิรปราการ ( สิน ) ( คือสมเด็จพระเจ้าตากสินในเวลาต่อมา ) และพรรคพวกออกจากค่ายวัดพิชัย ต้องเผชิญหน้ากับกองกำลังของพม่าที่อยู่ทางตะวันออกของวัดพิชัย ด้วยความรุนแรงรวดเร็ว ซึ่งเป็นคุณลักษณะการรบของทหารราบกับทหารม้าของพระองค์ กำลังส่วนนี้จึงตีฝ่าพม่าไปได้ และมุ่งไปทางตะวันออก

ภารดี มหาขันธ์ (2526 : 18-19) ได้เสนอแนวคิดถึงสาเหตุที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จมุ่งหน้าไปรวบรวมไพร่พลทางชายทะเลตะวันออก ดังนี้

สาเหตุที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จมุ่งหน้าไปรวบรวมไพร่พลทางชายทะเลตะวันออก น่าจะพิจารณาได้ดังนี้คือ

  • 1. บริเวณหัวเมืองชายทะเลตะวันออกเป็นบริเวณที่ยังมีกำลังไพร่พล อาวุธยุทธภัณฑ์ และเสบียงอาหารบริบูรณ์พอที่จะรวบรวมเป็นกำลังรบกลับมากอบกู้กรุงศรีอยุธยาได้อีก
  • 2. หัวเมืองแถบนี้มิใช่เส้นทางที่พม่าเดินทัพผ่าน จึงไม่บอบช้ำ และพม่าไม่ชำนาญเส้นทาง ทางนี้ด้วย
  • 3.ในขณะที่กรุงศรีอยุธยาถูกพม่าล้อมอยู่นั้น บรรดาพ่อค้าจีนได้เดินทางเข้ามาค้าขายยังบริเวณ ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก แทน โดยเฉพาะในแถบเมืองจันทบุรีและตราด เมื่อพ่อค้ายอมรับอำนาจของพระองค์ พระองค์ก็จะได้รับการสนับสนุนทางการเงิน นอกจากนั้นยังจะสะดวกในการติดต่อซื้ออาวุธ และอาหารเพิ่มเติม
  • 4. หัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออกอยู่ไม่ไกลจากกรุงศรีอยุธยามากนัก ทั้งยังสามารถใช้เส้นทางทางน้ำติดต่อกันได้ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีคงจะทรงคาดว่าถ้ายกกองทัพย้อนกลับมากอบกู้กรุงศรีอยุธยา โดยไม่ให้พม่ารู้ตัวจะได้ทำได้สะดวกโดยใช้เส้นทางทางน้ำ นอกจากนั้นถ้าเกิดพลั้งพลาดถูกพม่าโจมตีสู้ไม่ได้ ก็อาจจะหลบเข้าไปในเขตแดนเขมรได้

พม่ามิได้ลดละติดตามกองกำลังของพระยาวชิรปราการ ( สิน ) การรบติดพันสู้พลางถอยพลาง จนดึกการต่อสู้จึงเพลาลง และช่วงเวลานั้นเกิดไฟไหม้กรุงศรีอยุธยา แสงเพลิงลุกโชติช่วงเห็นได้ระยะไกล พระยาวชิรปราการ (สิน) ไปถึง บ้านโพธิ์สาวหาญ ( หรือโพธิ์สังหาร แต่พงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับจันทนุมาศว่า โพสามหาว หรือโพสังหาร ) คงจะดึกมากแล้ว ตอนเช้าตรู่วันนั้นท่านได้ เห็นทหารพม่ามุ่งมายังหมู่บ้าน จึงจัดกำลังเข้าต่อสู้ ณ บริเวณทุ่งระหว่างวัดกับหมู่บ้าน ชาวบ้านได้รวมกำลังร่วมรบกับพระยาวชิรปราการ อย่างพร้อมเพรียงกันจนได้รับชัยชนะ ฆ่าฟันพม่าล้มตายเป็นจำนวนมาก ที่เหลือถอยหนีกลับไป

หมายเหตุ จากคำบอกเล่าต่อๆ กันมา คุณครูจิราวรรณ คงสมแสวง ครูใหญ่โรงเรียนบ้านโพธิ์สาวหาญ เล่าว่ากำลังของชาวบ้านมีหญิงคนหนึ่งชื่อ “ นางโพ ” ได้ทำการรบอย่างกล้าหาญนำหน้าออกต่อสู้อย่างไม่เกรงกลัวหอกกลัวดาบพม่าจนกระทั่งตัวตาย ครั้นเสร็จสิ้นการรบสมเด็จพระเจ้าตากฯ ทรงตั้งชื่อเพื่อให้เป็นเกียรติประวัติแก่หมู่บ้านและนางโพว่า “ บ้านโพธิ์สาวหาญ ” ปัจจุบันชาวบ้านได้ปั้นรูปนางโพไว้เป็นที่ระลึก ให้ลูกหลานได้เห็นได้รู้เกียรติประวัติไว้ ณ หมู่ที่ 3 หมู่บ้านโพธิ์สาวหาญ ต. โพธิ์สาวหาญ อ. อุทัย จ. พระนครศรีอยุธยา

พระยาตากและพรรคพวกหนี ออกจากกรุงศรีอยุธยาได้โดยปลอดภัย และแลเห็นเพลิงไหม้กรุงศรีอยุธยาได้จากระยะไกล (ภาพจากหนังสือประดาบก็เลือดเดือด)
รูปปั้นนางโพ บ้านโพสาวหาญ (ภาพจากหนังสือสงคราม : ประวัติศาสตร์)

เมื่อได้รับชัยชนะแล้วพระยาวชิรปราการ จึงนำกำลังออกจากบ้านโพธิ์สาวหาญ มุ่งสู่บ้านพรานนก ระยะทางประมาณ 3 กม . ได้พักผ่อนจัดระเบียบกองกำลังใหม่ ระหว่างที่ทหารไทยไปหาเสบียงตามหมู่บ้านนอกที่ตั้ง ขณะนั้นมีทหารพม่ามาจากบางคาง ( ตรงที่สร้างป้อมเก่าเมืองปราจีนบุรี ) จะไปกรุงศรีอยุธยา มีจำนวนทหารม้า 30 ม้า ทหารราบประมาณ 200 คน เมื่อทหารพม่าพบทหารไทยที่ออกไปหาเสบียงจึงออกทำการล้อมไล่จับ ทหารไทยส่วนหนึ่งหนีมาบ้านพรานนก แจ้งให้พระยาวชิรปราการทราบ ด้วยความปรีชาสามารถอันฉับพลัน ได้สั่งการให้ทหารไทยจัดรูป ขบวนเป็นนกปีกกา โอบพม่า 2 ข้าง พระยาวชิรปราการขึ้นม้าพร้อมทหารคู่ใจ 5 ม้านำหน้าออกไปพบกับทหารม้าพม่า 30 ม้าที่กำลังเดินทางมาด้วยความประมาท เมื่อเผชิญหน้ากับขบวนม้าพระยาวชิรปราการอย่างคาดไม่ถึง พระยาวชิรปราการจึงเข้าทำการจู่โจมอย่างรวดเร็ว ทหารพม่าเกิดโกลาหล ด้วยความตกใจทำการสู้พลางถอยพลาง ไปปะทะกำลังทหารพม่า 200 คน ที่ตามมา ช่วงนี้เองทหารราบไทยที่วางกำลังปีกกาโอบไว้ 2 ข้าง ได้โอกาสจึงทำการจู่โจมตีรุกไล่ฟันพม่าล้มตาย ที่เหลือตายก็หลบหนีแตกกระจายไปหมดสิ้น

หมายเหตุ บ้านพรานนก นี้มีพรานคนหนึ่งชื่อ เฒ่าคำ ชอบล่านกเป็นอาชีพอยู่คนเดียว หมู่บ้านนี้คงมีนกชุม ทำให้เฒ่าคำออกล่านกด้วยหน้าไม้เป็นประจำ และนกที่ล่าได้เฒ่าคำคงเอาไปแจกทหารของพระยาวชิรปราการ ได้ย่างกินแกงกินในเวลานั้นด้วย สมัยก่อนตามบ้านนอกถ้าผู้ใดมีอาชีพเฉพาะ เช่นล่าไก่ป่าก็เรียกว่าพรานไก่ ล่ากระต่ายก็เรียกพรานกระต่าย เฒ่าคำชอบล่านกจึงเรียกว่าพรานนกเป็นชื่อบ้าน กับได้ปั้นรูปเฒ่าคำไว้ด้วย พระยาวชิรปราการได้สร้างวีรกรรมด้วยทหารม้าไทย 5 ม้าต่อสู้กับทหารพม่า 30 ม้า ประกอบทหารราบทั้งสองฝ่ายจำนวนไล่เลี่ยกัน ผลสุดท้ายฝ่ายพม่าพ่ายแพ้ถอยหนีไม่เป็นขบวน เหตุครั้งนี้เกิดขึ้นที่บ้านพรานนก ตรงกับวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2309 เหล่าทหารม้าจึงกำหนดเอาวันที่ 4 มกราคมของทุกๆ ปี เป็น “ วันทหารม้า ” และได้สร้างอนุสรณ์สถานไว้ ณ บ้านพรานนก หมู่ที่ 2 ต . โพธิ์สาวหาญ อ . อุทัย จ . พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2534 ความสำคัญของหมู่บ้านนี้ ทางราชการเอาไปตั้งชื่อหมู่บ้านฝั่งธนบุรี ชื่อบ้านพรานนกอยู่ใกล้เคียงกับบ้านช่างหล่อและบ้านขมิ้น ชัยชนะครั้งนี้พระยาวชิรปราการได้ราษฎรที่หลบซ่อนพม่าเข้ามาร่วม และท่านได้ให้ชาวบ้านไปกล่าวชักชวนกันมาร่วมกับท่านด้วย หัวหน้าหมู่บ้านที่เรียกว่า นายซ่อง เข้ามาร่วมด้วย ก็มี

รูปปั้นเฒ่าคำ บ้านพรานนก (ภาพจากหนังสือสงคราม : ประวัติศาสตร์)

ขุนหมื่นพันทนาย บ้านบางดงมิเชื่อคำชักชวนของพระยาวชิรปราการ จึงไม่เป็นพวกคิดต่อสู้ ด้วยเหตุนี้พระยาวชิรปราการจึงปราบปรามด้วยกำลังได้ไว้ในอำนาจ ก่อนเดินทัพไปนาเริ่ง ( ปัจจุบันคืออำเภอบ้านนา ) เขต จังหวัดนครนายก พระยาวชิรปราการได้กำลังพล ช้าง ม้า พาหนะ เสบียงอาหารไว้จำนวนหนึ่ง เดินทางผ่านเมืองนครนายกเข้าเขตด้านกบแจะ ( ที่ตั้งด่านกบแจะปัจจุบันเป็นพื้นที่ อยู่ในเขต อ . ประจันตคาม และอยู่ในบริเวณแม่น้ำประจันตคามไหลลงมารวมกับแม่น้ำปราจีนบุรี ) บริเวณที่ตั้งด่านกบแจะมาขึ้นฝั่งตะวันออก (พระครูศรีมหาโพธิ์คณารักษ์เจ้าอาวาสวัดใหม่กรงทองเล่าว่า ฝั่งตะวันออกที่ทหารพระเจ้าตากฯ ข้ามไปนั้นปัจจุบันมีวัดร้างอยู่ชื่อวัดกะแจะไม่ทราบว่าสร้างเมื่อใด แต่ต้องสร้างภายหลังทหารพระเจ้าตากข้ามไปแล้ว)

เมื่อข้ามลำน้ำทางฝั่งตะวันออก พระยาวชิรปราการสั่งให้เสบียง พวกหาบหามเดินทางข้ามทุ่งไปยังบ้านเม้ารำ ไผ่ขาดและบ้านคู้ลำพันอันเป็นชาย ทุ่งศรีมหาโพธิ กำลังของท่านเคลื่อนมาเป็นขบวนสุดท้าย ระหว่างที่เดินเข้าบ้านคู้ลำพันนั้นทหารพม่าจากปากน้ำเจ้าโล้ ( เข้าใจว่าน่าจะเป็นปากน้ำโยธกา ) ซึ่งอยู่ทางใต้เมืองปราจีนบุรีได้ติดตามมาทั้งทางบกทางน้ำ พระยาวชิรปราการได้ยินเสียงฆ้อง กลอง และเห็นธงทิวทหารพม่าติดตามมา จึงสั่งให้กองเสบียงเร่งเดินทางเข้าที่ปลอดภัยไว้ก่อน ท่านได้จัดวางกำลังอย่างเร่งด่วนและสั่งการแนะนำแนวซุ่มกำลัง แนวยิงขั้นสุดท้ายคือกองกำลังจู่โจม ท่านได้เลือกเอากอพงกอแขมเป็นแนวกำบังแนวเขต และช่องทางเคลื่อนที่ ในเวลาเดียวกันได้สั่งให้ทหารประมาณ 100 คน ออกไปท้องทุ่งปะทะกับพม่า แล้วแกล้งทำเป็นถอยหนีไปทางแนวยิงของปืนน้อยใหญ่ที่เตรียมไว้ เมื่อปะทะกันได้ระยะหนึ่งพม่าเห็นทหารไทยถอย ก็ไล่ติดตาม พอได้ระยะปืนที่ซุ่มอยู่ก็ทำการไล่ยิงพร้อมกัน ถูกทหารพม่าล้มตาย ที่หนุนเนื่องเข้ามาอีกสองสามระลอกก็ถูกปืนล้มตายและถอยหนีไม่เป็นขบวน พระยาวชิรปราการนำทหารที่คอยซุ่มไว้ไล่ติดตามฆ่าฟัน พม่าล้มตายอยู่ในดงพงดงแขมกลาดเกลื่อน ที่รอดตายก็หลบหนีกันไปหมดสิ้น จากนั้นทหารพม่าก็มิได้ติดตามมาอีกเลย เสร็จสิ้นการรบกับทหารพม่าในดินแดน ปราจีนบุรี ที่บ้านคู้ลำพันแล้ว พระยาวชิรปราการจัดระเบียบกองทัพพร้อมที่จะเดินทางและนำกำลังทั้งสิ้นไปทางใต้บ้านคู้ลำพันประมาณ 6 กม . จนถึงที่พักแรมบริเวณวัดต้นโพธิ์ ต.โคกปีบ อ.โคกปีบ จ.ปราจีนบุรี

ครั้นวันจันทร์ เดือนยี่ ขึ้น 14 ค่ำ ปีจอ พ.ศ.2309 กองกำลังของพระยาวชิรปราการเคลื่อนขบวนจากวัดต้นโพธิ์ ศรีมหาโพธิ์ ผ่านเขตเมืองฉะเชิงเทรา ( เดิมเรียกเมืองแปดริ้ว ) เมืองชลบุรี ( เดิมเรียกเมืองบางปลาสร้อย ) เข้าบ้านนาเกลือ ที่บ้านนาเกลือนายกล่ำคุมไพร่พลเข้าขัดขวางขบวนทัพพระยาวชิรปราการๆ จึงยิงปืนเข้าไปในหมู่ไพร่พล นายกล่ำจึงอ่อนน้อมโดยดี จากบ้านนาเกลือพัทยา นาจอมเทียน ไก่เตี้ย สัตหีบ จากสัตหีบ กองกำลังเคลื่อนมาตามหมู่บ้านชายฝั่งทะเล ผ่านบ้านหินโด่ง บ้านน้ำเก่าและตั้งค่ายมั่นอยู่ในบริเวณวัดลุ่ม ( วัดลุ่มมหาชัยชุมพล หรือวัดมหาไชยชุมพูพล ) อยู่ในเขตบ้านท่าดู่ไม่ไกลจากค่ายเก่าที่ตั้งเมืองระยอง ( ชูสิริ จามรมาน , 2527 : 89)

หมายเหตุ
พระยาตาก (พระยาวชิรปราการ) ยกไปตั้ง ค่ายที่วัดลุ่ม หน้าเมืองระยอง (ปัจจุบันเรียกว่า วัดลุ่มมหาชัยชุมพูพล) และได้เข้าล้อมเมืองระยองไว้ ต่อมาชาวเมืองระยองได้สร้างศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ไว้เป็นที่เคารพสักการะที่หน้าวัดลุ่มมหาชัยชุมพูพล อยู่ที่หน้าเมืองระยองจนทุกวันนี้ และในที่ติดกับศาลเจ้าตากนั้นมีต้นสะตือต้นใหญ่ต้นหนึ่งเรียกว่า สะตือพระเจ้าตาก เพราะเป็นต้นไม้ที่พระเจ้าตากได้มาพักอาศัยตั้งค่าย ใช้ร่มสะตือเป็นที่กำบังแสงแดดและลม

พระยาตากสินเคลื่อนพลเข้า หมายตีเมืองระยอง
สมัยนั้นนิยมใช้พระสงฆ์เป็นคนกลาง หรือเป็นทูตเพื่อเจรจาความกัน
(เอื้อเฟื้อภาพโดย เมืองโบราณ)

เป็นต้นไม้ที่น่าจะได้บำรุงรักษาไว้เป็นอนุสรณ์อย่างต้นอเมริกัน เอม ( American Elm) ที่ท่านประธานาธิบดี จอร์ช วอชิงตัน ได้พักอาศัยร่มไม้เมื่อทำสงครามกู้ชาติ ซึ่งชาวอเมริกันบำรุงรักษาไว้อย่างดีตลอดจนทุกวันนี้ ระลึกถึงบุญคุณท่านวอชิงตัน และต้นเอมที่ช่วยเหลือให้ทำสงครามได้ชัยชนะ กู้ชาติได้อย่างเดียวกัน (สมานวนกิจ, หลวง, 2496 : 18)

ที่ เมืองระยอง นี้ครั้งแรกเจ้าเมืองชื่อ บุญ หรือบุญเรือง เป็นพระระยอง ( ชูสิริ จามรมาน , 2527 : 69) ก็ยินยอมเข้าร่วมมือกับพระยาวชิรปราการ กำลังอีกส่วนหนึ่งเป็นกรมการเมืองเก่า อันมีหลวงพลแสนหาญ ขุนจ่าเมือง ขุนราม หมื่นซ่อง มีความเห็นว่าพระยาวชิรปราการบังอาจซ่องสุมรี้พลบุกรุกบ้านเมือง เป็นการประทุษร้ายต่อแผ่นดิน จึงไม่ยอมร่วมมือด้วย

ส่วนเจ้าเมืองระยองภายหลังลังเลแล้วเข้ามาร่วมกับขุนราม หมื่นซ่อง พระยาวชิรปราการ พักได้ 2 วัน คืนวันที่ 2 ขุนรามหมื่นซ่องผู้นำกองกำลังระยองจัดกำลังต่อสู้อยู่ที่ค่ายเมืองระยองเก่า ฝ่ายพระยาวชิรปราการทราบเรื่องขุนราม หมื่นซ่องจะเข้าตีเวลากลางคืน จึงได้เตรียมการไว้เป็นความลับ ตัวพระยาระยองก็ยึดเอาไว้ในค่าย ครั้นกำลังฝ่ายกรมการเมืองเคลื่อนย้ายจากค่ายเก่าเข้าล้อมค่ายพระยาวชิรปราการ โห่ร้องยิงปืนเข้าไป พระยาวชิรปราการ ดับไฟทั่วค่าย ขุนจ่าเมืองด้วง

นำกำลังฝ่ายเมืองระยอง 30 คน มาทางวัดเนินซึ่งอยู่เหนือค่ายพระยาวชิรปราการ เพื่อจะเข้าแหกค่าย พอข้ามสะพานมาห่างค่ายประมาณ 10 เมตร ทหารของพระยาวชิรปราการก็ยิงปืนตับเข้าไปยังขุนจ่าเมืองกับพวกตกสะพาน พวกตามไปข้างหลังตกใจหนีไปสิ้น พระยาวชิรปราการได้โอกาสจึงให้ทหารโห่ร้องออกรุกไล่ข้าศึก กำลังพวกกรมการเมืองระยองจึงหนีเข้าค่ายเก่า ทหารไล่ตามไปถึงค่ายเก่า ฆ่าฟันพวกในค่ายถึงล้มตายแตกหนีและเผาค่ายเสีย เมืองระยองจึงอยู่ในอำนาจของพระยาวชิรปราการในคืนวันนั้น ขณะนั้นกรุงศรีอยุธยายังไม่ได้เสียแก่พม่า การที่พระยาวชิรปราการ ( สิน ) เข้าตีเมืองระยองได้เช่นนี้เหมือนผู้ละเมิดกฎหมายบ้านเมือง พระยาวชิรปราการจึงระวังมิได้ตั้งตัวเป็นกบฏให้เรียกคำสั่งว่าพระประศาสน์อย่างเจ้าเมืองเอก พวกบริวารจึงเรียกว่า “ เจ้าตาก ” แต่นั้นมา ( วีณา โรจนราธา , 2540 : 88)

ในช่วงเวลาที่เจ้าตาก มีอำนาจในเมืองระยอง กรุงศรีอยุธยายังไม่แตก การติดต่อร่วมมือกับเมืองต่างๆ เช่น เมืองจันทบุรี ชลบุรี และเมืองบันทายมาศต่างรับปากว่าจะร่วมมือกันต่อสู้พม่า ครั้นเสียกรุงแล้วเจ้าเมืองต่างๆ ก็ลังเลมีความคิดที่จะตั้งตัวเป็นอิสระเช่นเดียวกัน เจ้าตากจึงเตรียมการปราบปราม เพื่อจะได้เอามาร่วมเป็นกำลังหน่วยเดียวกันมีเอกภาพในการบังคับบัญชาดำเนินการต่อสู้ขับไล่พม่าออกจากแผ่นดิน พระองค์จึงดำเนินการขั้นแรกเข้าปราบปรามขุนราม หมื่นซ่องที่เมืองแกลง เมื่อได้ชัยชนะแล้วเคลื่อนพลไปเมือง ชลบุรี เกลี้ยกล่อมให้ นายทองอยู่ นกเล็ก เป็นพวกได้ และตั้งให้เป็นพระยาอนุราฐบุรี หรือพระยาอนุราชบุรีศรีมหาสมุทร ( ชูสิริ จามรมาน , 2527 : 90) เจ้าเมืองชลบุรี ( ภายหลังสมเด็จพระเจ้าตากสิน โปรดฯ ให้ประหารชีวิตเพราะประพฤติชั่ว )

หมายเหตุ : พระยาอนุราชบุรีศรีมหาสมุทร เจ้าเมืองชลบุรี เดิมชื่อ นายทองอยู่ นกเล็ก เมื่อพระเจ้าตากสินเสด็จไปถึงเมืองระยอง ได้ทรงทราบว่า นายทองอยู่ นกเล็ก กับกรมการเมืองระยองสมคบกันรวบรวมผู้คนจะยกมาประทุษร้ายพระองค์ จึงวางแผนซ้อนซุ่มโจมตีกองทหารของทั้งสองแตกกระจายไป ส่วนนายทองอยู่ นกเล็ก หนีไปอยู่เมืองชลบุรี ภายหลังได้ยอมเข้ามอบตัวมาสวามิภักดิ์ จึงโปรดตั้งให้เป็น พระยาอนุราชบุรีศรีมหาสมุทร ครองเมืองชลบุรี

แต่ต่อมาปรากฏว่าประพฤติมิชอบทำตัวเป็นโจรสลัดเข้าปล้นเรือสำเภา เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเคลื่อนทัพมุ่งหน้าไปยังปากน้ำเจ้าพระยาได้ทราบความ จึงหยุดประทับไต่สวนที่เมืองชลบุรีได้ความว่าพระยาอนุราชฯ ผิดจริง จึงถูกประหารชีวิต แต่นายทองอยู่ นกเล็ก คงกระพันในตัวแทงฟันหาเข้าไม่ ด้วยเหตุสะดือเป็นทองแดง จึงให้พันธนาการแล้วเอาลงถ่วงน้ำเสียในทะเลถึงแก่กรรม (กรมศิลปากร, พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานบรรจุศพคุณพ่อไต้ล้ง พรประภา วันที่ 4 กันยายน 2511 : 617)

ศึกสำคัญต่อไปคือเข้าตี เมืองจันทบุรี (เดิมเรียกว่า จันทบูร) อันเป็นเมืองมีกำแพงล้อมแน่นหนา เป็นเมืองสำคัญทางตะวันออกมาช้านาน เมื่อเจ้าตาก ขอความร่วมมือจากพระยาจันทบุรีไม่สำเร็จ ตรงข้ามยังถูกพระยาจันทบุรีใช้กลอุบายหลอกมาเพื่อทำลายชีวิตพระองค์ท่าน การต่อสู้เข้าตีเมืองจันทบุรีจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ดังหนังสือไทยรบพม่าบรรยายไว้ดังนี้

ฝ่ายพระยาจันทบุรีคาดว่าเจ้าตากคงขัดเคืองไม่ไปเข้าด้วย แลบางทีจะหาเหตุลงไปตีเมืองจันทบุรี จึงปรึกษากับขุนราม หมื่นซ่อง เห็นว่าที่จะรบพุ่งเจ้าตากซึ่งหน้านั้นยากนัก ด้วยว่าเจ้าตากมีฝีมือเข้มแข็ง ทั้งรี้พลก็เคยชำนาญการรบพุ่ง จะคิดเป็นกลอุบายล่อเอาเจ้าตากเข้าไปไว้ในเมืองจันทบุรีเสียก่อน จึงจะคิดกำจัดได้โดยง่าย คิดกันเช่นนั้นแล้วพระยาจันทบุรีจึงนิมนต์พระสงฆ์ 4 รูปให้เป็นทูตมาเชิญเจ้าตากลงไปเมืองจันทบุรี พระสงฆ์ทูตมาถึงเมืองระยอง

เวลานั้นเจ้าตากอยู่ที่เมืองชลบุรี จึงคอยอยู่จนเจ้าตากกลับลงไป จึงเข้าไปทูลว่าพระยาจันทบุรีมีความเจ็บแค้นด้วยข้าศึกมาย่ำยีกรุงศรีอยุธยา เต็มใจที่จะช่วยเจ้าตากปราบยุคเข็ญให้บ้านเมืองเป็นสุขสำราญดังแต่ก่อน แต่เห็นว่าเมืองระยองเป็นเมืองเล็ก จะเอาเป็นที่รวบรวมกองทัพใหญ่นั้นยาก ขอเชิญเจ้าตากไปตั้งทัพที่เมืองจันทบุรีอันเป็นที่มีเสบียงอาหาร สมบูรณ์จะได้ปรึกษา กันตระเตรียมกองทัพที่จะเข้าไปรบพุ่งพม่า ตีเอากรุงศรีอยุธยาคืนมาจากข้าศึกให้จงได้ เจ้าตากได้ทราบความตามถ้อยคำของพระสงฆ์ทูตก็ยินดี ให้หยุดรี้พลพอหายเหนื่อย

แล้วก็ให้พระสงฆ์ทูตนำทางยกลงไปทางเมืองจันทบุรี เมื่อเจ้าตากไปถึงที่บางกระจะหัวแหวน ทางยังห่างเมืองจันทบุรี 200 เส้น พระยาจันทบุรีให้หลวงปลัดมารับและบอกว่าพระยาจันทบุรีได้จัดที่ไว้ ตั้งทำเนียบที่พักริมแม่น้ำข้างฟากใต้ตรงข้ามเมือง ให้หลวงปลัดมานำกองทัพไปยังทำเนียบ เจ้าตากก็สั่งกองทัพให้ยกตามหลวงปลัดไป แต่ไปยังไม่ทันจะถึงเมืองจันทบุรี มีผู้บอกให้เจ้าตากทราบว่า พระยาจันทบุรี คบคิดกับขุนราม หมื่นซ่อง เรียกระดมคนเตรียมไว้ข้างในเมือง จะออกโจมตีกองทัพเจ้าตากเมื่อเวลากำลังข้ามแม่น้ำข้างใต้เมือง

เจ้าตากจึงรีบไปห้ามกองทัพมิให้ตามหลวงปลัดไปข้ามน้ำ ให้เลี้ยวกระบวนไปทางเหนือ ตรงเข้าไปตั้งที่ วัดแก้ว ห่างประตูท่าช้างเมืองจันทบุรีประมาณ 5 เส้น พระยาจันทบุรีเห็นเจ้าตากไม่ข้ามฟากไปตามประสงค์ และกลับเข้ามาตั้งประชุมพลอยู่ที่ริมเมืองก็ตกใจ รีบให้ไพร่พลขึ้นรักษาหน้าที่ที่เชิงเทิน แล้วให้ขุนพรหมธิบาลซึ่งเป็นนายท้ายน้ำกับผู้มีชื่อออกไปหาเจ้าตาก ให้ไปพูดจาชี้แจงขอเชิญเจ้าตากเข้าไปพบปะกับพระยาจันทบุรีที่ในเมือง เจ้าตากจึงสั่งขุนพรหมธิบาลให้กลับไปบอกพระยาจันทบุรีว่า เดิมพระยาจันทบุรีให้พระสงฆ์เป็นทูตไปเชิญเรามาปรึกษาหารือ เพื่อจะช่วยกันคิดอ่านกู้กรุงศรีอยุธยา เราเข้าใจว่าเป็นการเชื้อเชิญโดยสุจริต จึงได้มาตามประสงค์ ตัวเราเดิมก็ได้เป็นเจ้าเมือง ( กำแพงเพชร ) ถือศักดินาหมื่น มียศใหญ่เป็นผู้ใหญ่กว่าพระยาจันทบุรี ครั้นมาถึงพระยาจันทบุรีมิได้ออกมาสู่ต้อนรับตามฉัน ผู้น้อยกับผู้ใหญ่ กลับเรียกระดมคนเข้าประจำรักษาหน้าที่เชิงเทิน และคบหาขุนราม หมื่นซ่องซึ่งได้ทำลายเราถึงสองคราวเข้าไว้เป็นมิตร พระยาจันทบุรีทำเหมือนหนึ่งว่าเป็นข้าศึกเราดังนี้ จะให้เราเข้าไปถึงในเมืองอย่างไร ถ้าจะให้เราเข้าไปก็ให้พระยาจันทบุรีออกมาหาเราก่อน หรือมิฉะนั้นก็จงส่งตัวขุนราม หมื่นซ่องออกมาให้ทำสัตย์สาบานให้เราไว้วางใจก่อน

ถ้าทำได้เช่นนั้นแล้ว เราก็จะได้เห็นความสุจริตของพระยาจันทบุรี จะรักใคร่นับถือเหมือนกับพี่น้องกันต่อไป ขุนพรหมธิบาลนำความกลับเข้าไปบอกพระยาจันทบุรีๆ ก็หาออกมาไม่ ขุนราม หมื่นซ่อง ก็ไม่ส่งออกมา เป็นแต่ให้หาสำรับเครื่องเลี้ยงออกมาส่งและให้ทูลเจ้าตากว่าขุนราม หมื่นซ่อง มีความกลัวไม่ยอมออกมา พระยาจันทบุรีมิรู้ที่จะทำอย่างไรให้ออกมาได้ เจ้าตากก็ขัดเคืองสั่งให้กลับเข้าไปบอกพระยาจันทบุรีว่า เมื่อไม่เห็นแก่ไมตรีแล้ว ก็จงรักษาเมืองไว้ให้ดีเถิด ฝ่ายพระยาจันทบุรีเห็นว่ารี้พลของตนมีมากกว่าเจ้าตาก ก็ให้ปิดประตูรักษาเมืองมั่นคงไว้

กองทัพของพระยาตาก เตรียมเข้าต่อตีเมืองจันทรบูร (เอื้อเฟื้อภาพโดย เมืองโบราณ)
ส่วนหนึ่งของกองทัพพระยาตาก ซึ่งเต็มไปด้วยความฮึกเหิม และมุ่งมั่นของทหารในกองทัพ (เอื้อเฟื้อภาพโดย เมืองโบราณ)
การตีเมือง ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า “ ตรัสสั่งให้นายทัพนายกองทแกล้วทหารทั้งปวง ให้หุงอาหารกินพร้อมกัน
แล้วเหลือนั้นให้สาดเสียจนสิ้น ในเพลากลางคืนวันนี้เร่งเข้าตีเอาเมืองจันทบูรให้จงได้ เข้าไปกินข้าวเช้า
เอาในเมือง แม้นมิได้เมืองก็จงตายให้พร้อมกันทีเดียวเถิด ” ( เอื้อเฟื้อภาพโดย เมืองโบราณ)

ขณะนั้นเจ้าตากอยู่ที่คับขัน เพราะเข้าไปตั้งอยู่ในชานเมือง ข้าศึกอยู่ในเมืองมีกำลังมากกว่าเป็นแต่ข้าศึกครั่นคร้ามเกรงฝีมือไม่กล้าออกมาโจมตีซึ่งหน้า แต่ถ้าหากเจ้าตากล่าถอยออกไปเมื่อใดก็อาจจะออกล้อมไล่ตีตัดได้หลายทาง เพราะเป็นถิ่นของข้าศึก จะตั้งอยู่นั้นต่อไปก็ไม่มีเสบียงอาหาร เหมือนหนึ่งคอยให้ข้าศึกเลือกเวลาทำเอาตามใจชอบ เจ้าตากมีนิสัยเป็นนักรบก็แลเห็นทันทีว่าต้องชิงทำศึกก่อน จึงจะไม่เสียที จึงเรียกนายทัพนายกองมาสั่งว่า “ เราจะตีเมืองจันทบุรีในค่ำวันนี้ เมื่อกองทัพหุงข้าวเย็นกินเสร็จแล้ว ทั้งนายไพร่ให้เททิ้งอาหารที่เหลือ และต่อยหม้อเสียให้หมดหมายไปกินข้าวเช้าด้วยกันที่ในเมืองเอาพรุ่งนี้ ถ้าตีเอาเมืองไม่ได้ในค่ำวันนี้ก็จะได้ตายเสียด้วยกันให้หมดทีเดียว ” นายทัพนายกองเคยเห็นอาญาสิทธิ์ของเจ้าตากมาแต่ก่อน ก็ไม่มีใครกล้าขัดขืน ต้องกระทำตาม

กองทัพพระยาตากยกเข้าตีเมืองจันทบูร (จันทบุรี) เห็นบ้านเรือนผู้คนและกองทัพที่จะเข้าประชิดเมือง
(เอื้อเฟื้อภาพโดย เมืองโบราณ)
กองทัพพระยาตากยกเข้าตีเมืองจันทบูร (จันทบุรี)
(เอื้อเฟื้อภาพโดย เมืองโบราณ)

ครั้นเวลาค่ำเจ้าตากจึงกะหน้าที่ให้ทหารไทยจีนลอบไปมิให้พวกชาวเมืองรู้ตัว สั่งให้คอยฟังเสียงปืนสัญญาณเข้าปล้นเมืองให้พร้อมกัน แต่อย่าให้ออกปากเสียงอื้ออึง จนพวกไหนเข้าเมืองได้ให้โห่ร้องขึ้นเป็นสำคัญให้พวกทางด้านอื่นรู้ ครั้นตระเตรียมพร้อมเสร็จพอได้ฤกษ์เวลาดึก 3 นาฬิกา เจ้าตากก็ทรงขึ้นคอ ช้างพังคีรีบัญชร หรือช้างพังคีรีกุญชรฉัททันต์ (ชูสิริ จามรมาน , 2527 : 92) ให้ยิงปืนสัญญาณบอกพวกทหารให้เข้าปล้นพร้อมกันทุกหน้าที่ ส่วนเจ้าตากก็ขับช้างพระที่นั่งเข้าพังประตูเมือง ขณะนั้นพวกชาวเมืองซึ่งรักษาหน้าที่ ยิงปืนใหญ่น้อยระดมมาเป็นอันมาก

นายท้ายช้างพระที่นั่งเห็นลูกปืนชาวเมืองหนานัก เกรงจะมาถูกเจ้าตาก จึงเกี่ยวช้างพระที่นั่งให้ถอยออกมา เจ้าตากขัดพระทัยชักพระแสงหันมาจะฟัน นายช้างตกใจร้องทูลขอชีวิตไว้ แล้วไสช้างกลับเข้ารื้อบานประตูเมืองพังลง พวกทหารก็กรูกันเข้าเมืองได้ พวกชาวเมืองรู้ว่าข้าศึกเข้าเมืองได้แล้ว ต่างก็ละทิ้งหน้าที่พากันแตกหนี ส่วนพระยาจันทบุรีก็พาครอบครัวลงเรือหนีไปยังเมืองบันทายมาศ เมื่อเจ้าตากตีเมืองจันทบุรีได้นั้นเป็น วันอาทิตย์ เดือน ปีกุน พ..2310 ( ตรงกับวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ.2310) เสียกรุงศรีอยุธยาแล้วได้ 2 เดือน

หนังสือสำเภาสยาม ตำนานเจ๊กบางกอกกล่าวว่า “ …ในการตีเมืองที่จันทบุรีสมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงได้รับความช่วยเหลือจากจีนเจี้ยน นายสำเภาจากเมืองตราด ผู้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระยาอภัยพิพิธ เจ้าเมืองตราดในเวลาต่อมา… ” (พิมพ์ประไพ พิศาลกุล, 2514 : 97 )

เจ้าตากตีเมืองจันทบุรีได้แล้วก็เกลี้ยกล่อมผู้คนให้กลับคืนมายังภูมิลำเนา แสดงความเมตตาอารีให้ปรากฏว่ามิได้ถือโทษผู้ที่ได้เป็นศัตรูต่อสู้มาแต่ก่อน ครั้นเห็นว่าเมืองจันทบุรีเรียบร้อยอย่างเดิมแล้วจึงยกกองทัพลงไปยัง เมืองตราด ทรงเดินทัพ 7 วัน 7 คืน พวกกรมการและราษฎรก็พากันเกรงกลัว ยอมอ่อนน้อมโดยดีทั่วทั้งเมือง และขณะนั้นมีสำเภาจีนมาจอดอยู่ที่ปากน้ำเมืองตราดหลายลำ เจ้าตากให้ไปเรียกนายเรือมาเฝ้า พวกจีนขัดขืนแล้วกลับยิงเอาข้าหลวง เจ้าตากทรงทราบก็ลงเรือที่นั่งคุมเรือรบไปล้อมสำเภาไว้ แล้วบอกให้พวกจีนมาอ่อนน้อมโดยดี พวกจีนก็หาฟังไม่ กลับเอาปืนใหญ่น้อยระดมยิง รบกันอยู่ครึ่งวันเจ้าตากก็ตีเรือสำเภาจีนได้ทั้งหมด ได้ทรัพย์สิ่งของเป็นกำลังกองทัพเป็นอันมาก เจ้าตากจัดการเมืองตราดเรียบร้อยแล้วก็กลับขึ้นมาตั้งทัพอยู่ ณ เมืองจันทบุรี (รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์, พลโท, ผ่านศึกสาร, 2543 : 18-26)

พระราชพงศาวดารบันทึกว่า “ …พระยาจันทบูร ก็พาบุตรภรรยาหนีออกจากเมือง แล่นไปเมืองพุทไธมาศ พวกพลไทยจีนเข้าไปจับได้ครอบครัว และได้ทรัพย์สิ่งของ ทอง เงิน ปืนใหญ่-น้อย และเครื่องศาสตราวุธต่างๆ เป็นอันมาก ก็เสด็จยับยั้งอยู่ในเมืองจันทบูร… ” (เอื้อเฟื้อภาพโดย เมืองโบราณ)
เส้นทางที่สมเด็จพระเจ้าตากสิน เสด็จผ่านและสถานที่ทำการรบ
(ภาพจากหนังสือสงคราม : ประวัติศาสตร์)

สรุปเส้นทางที่พระยาวชิรปราการ (สิน) หนีออกจากกรุงศรีอยุธยา เป็นดังนี้
ค่ายวัดพิชัย – บ้านโพธิ์สาวหาญ – บ้านพรานนก – นครนายก – ปราจีนบุรี – ชลบุรี – ระยอง – จันทบุรี – ตราด- จันทบุรี

6.6 ทำไมสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงเลือกจันทบุรีเป็นเมืองที่พระองค์ใช้เป็นแหล่งพักฟื้น กองทัพ หลังจากตีฝ่าพม่าออกมาได้ก่อนกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ทำไมไม่ทรงเลือกเสด็จไปเมืองอื่นๆ

  • 1. การมุ่งไปทางตะวันออกนี้มีเหตุผลอยู่หลายประการนับตั้งแต่การตีฝ่าพม่า เพื่อกลับเมืองตากก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ จะต้องผ่านดินแดนส่วนที่ถูกพม่ายึดไว้หลายแห่ง ในเมืองตากเองก็อยู่ในความครอบครองของพม่า
  • 2. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงสันนิษฐานถึงการที่ทรงเลือกเมืองจันทบุรีของพระยาตากว่า พ้นจากเมืองชลไปทางตะวันออกก็พ้นพม่าคือ พม่าไม่ตามมารบกวน
  • 3. จันทบุรี เป็นหัวเมืองชายฝั่งทะเลทางด้านตะวันออก เป็นศูนย์กลางของการติดต่อกับส่วนอื่นๆ เช่น ติดต่อกับปักษ์ใต้ เขมร และพุทไธมาศ
  • 4. เป็นเพราะเมืองจันทบุรีเหมาะเป็นทางที่จะหนีต่อไปที่อื่นได้ง่าย

ประการสำคัญที่มักจะไม่ค่อยมีนักประวัติศาสตร์พิจารณากันนักคือ เมืองจันทบุรีเป็นเมืองที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เคยเสด็จมาค้าขาย ขณะที่พระองค์เป็นนายกองเกวียนอยู่ที่เมืองตาก เส้นทางตาก-อยุธยา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี คือ เส้นทางที่พระองค์คุ้นเคยและมีความชำนาญ

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ จันทบุรี เป็นเมืองที่มีชุมชนชาวแต้จิ๋วเข้ามาตั้งรกรากอยู่หนาแน่น ย่อมมีความคุ้นเคยกับพระยาตาก ในฐานะที่เป็นจีนเชื้อสายเดียวกัน การเดินทางไปเมืองจันทบุรีก็คือ การเดินทางกลับไปสู่ดินแดนที่ตนรู้จัก และรู้สึกปลอดภัยในหมู่คนที่รู้จักมักคุ้นและไว้ใจ

ทั้งหมดนี่คือ เหตุผลสำหรับพระองค์ที่ทรงเลือกจันทบุรีเป็นเมืองพักฟื้น และซ่องสุมกองทัพ (นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2529 : 69 ; หลักเมืองจันทบุรีและประวัติศาสตร์เมืองจันทบุรี, 2536 : 61 )