สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
บทที่ 4 สงครามระหว่างไทยกับพม่า (ครั้งที่ 24 พ.ศ.2308 - 2310)
4.1 พม่ายกกองทัพมาครั้งนี้มีลักษณะอย่างไร ?
มีผู้กล่าวว่าดูเหมือนว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงเป็นพระองค์แรกที่กล่าวถึงกองทัพพม่า ที่ยกมาครั้งนี้ว่าเป็นการ “ มาอย่างกองโจร ” กล่าวคือขาดกำลังที่จะยกหักเข้าชิงชัยในพระนคร แต่เที่ยวปล้นสะดมอยู่โดยรอบเป็นเวลา 3 ปี กว่าจะสามารถหักเอากรุงศรีอยุธยาได้ และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ว่า “ …กองทัพพม่าเป็นกองทัพโจรมิใช่ทัพกษัตริย์ ขาดแม้แต่เป้าหมายที่ชัดเจนว่า จะตีกรุงศรีอยุธยา เพราะจุดหมายเดิมเพียงแต่ต้องการปราบปรามเมืองทวาย แต่มาพบว่ากองทัพไทยอ่อนแอ จึงได้ยกล่วงล้ำเข้ามาจนถึงชานพระนคร พระองค์ไม่ทรงรับรองข้อความในพระราชพงศาวดารพม่าที่ว่า พม่ากำหนดแผนการให้มีทัพจากทางเหนือ และทางใต้ยกเข้าประชิดกรุงศรีอยุธยาพร้อมกัน ทรงเห็นว่าความคิดเช่นนั้นเป็นสิ่งที่พระราชพงศาวดาร พม่าแต่งขึ้นเองในภายหลัง… ” ( ไทยรบพม่า , 2507 : 311-314)
สุเนตร ชุตินธรานนท์ (2543 : 79-83) ได้ให้ข้อคิดเห็นดังนี้ “ ที่ผ่านมาความรู้ความเข้าใจเรื่องสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งหลัง พ.ศ.2310 ในแวดวงการศึกษาไทยจำกัดอยู่ภายใต้เพดานทางความคิดที่ว่า กองทัพพม่ายกมากระทำการนั้น “ มาอย่างกองโจร ” คือทัพที่ยกมาไม่ได้มาเยี่ยงทัพกษัตริย์ ไพร่พลที่รวบรวมมาก็มีจำนวนน้อย ขาดการวางแผนล่วงหน้า เพียงพอเห็นฝ่ายอยุธยาอ่อนแอก็ยกล่วงเลยกันเข้ามา นอกจากนี้กองทัพที่ยกมาทั้งทางเหนือและทางใต้ยังกระทำการอย่างเป็นอิสระแก่กันอีกด้วย
ในทางกลับกัน พงศาวดารฉบับหอแก้ว และ คองบอง ระบุต้องกันว่า พระเจ้ามังระทรงโปรดให้เตรียมการเข้าตีกรุงศรีอยุธยาไว้ก่อนล่วงหน้าอย่างเป็นระเบียบแบบแผน พระเจ้ามังระถึงกับทรงมีพระราชดำริว่า อาณาจักรอยุธยานั้นยังไม่เคยถึงกาลต้องถูกทำลาย ลงอย่างย่อยยับเด็ดขาดมาก่อน ฉะนั้นจะอาศัยแต่เพียงทัพของเนเมียวสีหบดี (Neimyo Thihapate) ที่ยกไปทางเส้นเชียงใหม่ แต่เพียงทัพเดียว ย่อมยากต่อการกระทำการให้สำเร็จโดยง่าย จำต้องจัดทัพให้มังมหานรธา (Mahanoratha) ยกไปช่วยกระทำการอีกด้านหนึ่ง ”
ลำดับขั้นในการทำสงคราม การทำสงครามครั้งนี้แบ่งออกได้เป็น 4 ขั้น คือ
1. กองโจรปล้นสะดมหัวเมืองต่าง ๆ
2. การตีเมืองหน้าด่านและการเข้าประชิดชานพระนคร
3. การปฏิบัติการในฤดูฝนและฤดูน้ำหลาก
4. กรุงแตก (จรรยา ประชิตโรมรัน , 2536 : 56)
นอกจากนี้พงศาวดารของพม่าทั้งสองฉบับระบุอย่างชัดเจนว่าทัพพม่าที่ยกมาทั้งทางเชียงใหม่ และทวายนั้นเป็นทัพใหญ่ที่แม่ทัพคุมลงมากันเองตั้งแต่ต้น ไม่ได้มีการแบ่งกำลังเป็นกองโจรเข้ามากระทำการก่อนล่วงหน้า ทัพพม่าทั้งสองทางใช้กำลังที่ได้เปรียบกว่าตีกวาดหัวเมืองสำคัญที่ตั้งอยู่บนเส้นทางเดินทัพทั้งตอนเหนือ และตอนใต้ทุกหัวเมืองไม่ละเว้น แม้กระทั่งเมืองพิษณุโลก ซึ่งนักประวัติศาสตร์ไทยเชื่อว่าไม่ได้เสียแก่พม่านั้น พงศาวดารพม่าก็ระบุว่าทัพของเนเมียวที่ยกเข้ามาเส้นทางเชียงใหม่นั้น ไม่เพียงเข้าตีเมืองพิษณุโลก แต่ยังตั้งศูนย์บัญชาการใหญ่ที่เมืองนี้ เพื่อกำหนดแผนการเข้าตีเมืองตอนล่างของลุ่มน้ำเจ้าพระยาต่อไป
ที่สำคัญคือหลักฐานข้างพม่าต่างให้ข้อมูลทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมว่า ทัพของเนเมียวสีหบดีและมังมหานรธานั้นถึงแม้ว่าจะยกมากระทำการกันคนละทาง แต่ก็มีการปฏิบัติการที่ประสานและเกื้อหนุนแก่กันคือ ต่างร่วมดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อปิดกั้นให้อยุธยาตกอยู่ในสภาพที่จนตรอกคือ ช่วยกันทำลายหรือมิฉะนั้นก็ยึดครองหัวเมืองรอบนอกไม่ให้มีโอกาสเข้ามาช่วยกู้กรุง


เจดีย์ภูเขาทอง เป็นมหาเจดีย์สำคัญ ตั้งอยู่นอกกรุงศรีอยุธยา ด้านตะวันตกเฉียงเหนือไปประมาณ 2 กิโลเมตร มีความสูง 90 เมตร (2 เส้น 5 วา 1 คืบ) วัดนี้ตั้งอยู่บนโคก พื้นที่โดยรอบมีน้ำท่วมถึง มีความสำคัญคือเป็นยุทธภูมิครั้งสำคัญ ระหว่างอยุธยากับกองทัพพม่าในคราวเสียกรุงทั้ง 2 ครั้ง หลังการเสียกรุงครั้งที่ 2 วัดนี้เป็นวัดร้างเรื่อยมา แต่พระมหาเจดีย์ ก็ยังเป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา มีคนเดินทางมากราบไหว้ ดังเช่นปรากฏในนิราศภูเขาทอง ของสุนทรภู่ สภาพเจดีย์ปัจจุบันได้รับการซ่อมแซมขึ้นใหม่สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อปี พ.ศ.2499 (ภาพจากหนังสืออยุธยาและบุเรงนองกะยอดินนรธา)
หลักฐานทางพม่ายังระบุว่ากองทัพของมังมหานรธาที่ยกเข้าถึงชานพระนครก่อนกองทัพเนเมียวสีหบดีนั้น ก็ไม่ได้ผลีผลามเข้าล้อมกรุงโดยอิสระ แต่ยั้งทัพรอทัพของเนเมียวสีหบดีอยู่ ณ หมู่บ้านกานนี (Kanni) เหนือสีกุก (Thigok) จนเมื่อล่วงรู้ว่าทัพของเนเมียวสีหบดีเคลื่อนเข้าสู่ชานพระนครแล้ว จึงเดินทัพออกจากบ้านกานนีมาตั้งประชิดที่ด้านหลังของพระมหาเจดีย์ภูเขาทอง ( พงศาวดารพม่าเรียกเจดีย์นี้ว่า เจดีย์ที่พระเจ้าหงสาวดีช้างเผือกโปรดให้สร้างขึ้น )
หมายเหตุ
น. ณ ปากน้ำ ได้อธิบายถึงค่ายของมังมหานรธาที่สีกุกว่าเป็นแห่งเดียวที่มีขนาดใหญ่โตราวกับเมืองๆ หนึ่งดังนี้ “ เนื่องจากบริเวณแถบนี้ทางแม่น้ำโค้งเป็นรูปเกือกม้า (คือเป็นบริเวณที่ตรงข้ามกับจุดที่แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อยไหลมาบรรจบกัน) พม่าจึงตั้งค่ายตรงวัดสีกุก และทำกำแพงตัดปลายเกือกม้าจรดสองข้างแม่น้ำ กำแพงก่ออิฐอย่างแข็งแรง (แต่ถูกชาวบ้านรื้ออิฐไปขายเสียเกือบหมดแล้ว) ค่ายสีกุกนี้เป็นค่ายอันมีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ ภายในกว้างขวาง อาณาบริเวณหลายสิบไร่ มีโคกช้าง โคกม้าพร้อม ดูแล้วไม่ผิดอะไรกับเมืองๆ หนึ่งทีเดียว ” นี้เป็นหลักฐานพยานประการหนึ่งว่า พม่าไม่ได้ยกเข้ามาอย่างกองโจรปราศจากการวางแผนยุทธวิธี เพราะการเลือกชัยภูมิในการตั้งค่ายก็ดี อาณาบริเวณความมั่นคงของค่ายที่ยังเหลือซากปรากฏอยู่ก็ดี แสดงว่าพม่ามีการเตรียมตัวเพื่อทำศึกระยะยาว และหาทางแก้ไขปัญหาในฤดูน้ำหลากไว้อย่างดี เพื่อจะตีกรุงศรีอยุธยาให้ได้เป็นจุดประสงค์สำคัญ ในการมาทำสงครามรุกรานไทยแต่แรกแล้ว (วิเศษไชยศรี, 2541 : 202)
และที่สำคัญเหนืออื่นใดทั้งหมดคือ พงศาวดารฉบับหอแก้ว และคองบองต่างบรรยายภาพให้เห็นว่าในสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งหลังนี้นั้น ผู้ปกครองอยุธยาได้เตรียมการและกระทำการรบอย่างเข้มแข็ง ไม่ได้ทำการเหลวไหลอ่อนแอดังที่เข้าใจกัน
ผู้เขียนพงศาวดารพม่าได้บรรยายถึงยุทธศาสตร์ทางทหาร ที่กษัตริย์อยุธยาทรงหมายมั่นจะนำมาใช้ในสงครามครั้งนั้น โดยใช้วิธีการกล่าวผ่านบทสนทนาระหว่างพระยาธิเบศร์ปริยัติ (Phaya Kuratit) กับพระเจ้าเอกทัศน์ ( พงศาวดารพม่าระบุพระนามพระเจ้าเอกทัศน์เป็นภาษาพม่าในภาคท้ายของเรื่องศึกโยธยา ในคราวสงครามเสียกรุง และแปลเป็นภาษาไทยว่า กษัตริย์อยุธยาผู้มีพระนามว่าเอกทัศตราชา ) ว่าพระยาธิเบศร์ปริยัติได้กราบบังคมทูลว่าทัพพม่าที่ยกเข้ามาทั้งสองทางไม่เพียงมีจำนวนรี้พลมหาศาล แต่ยังสามารถริบช้าง ม้า อาวุธยุทโธปกรณ์สัมภาระทั้งหลายจากหัวเมืองที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และทิศเหนือไว้ได้สิ้น ด้วยประการฉะนี้ หากจะปล่อยให้กองทัพพม่าตั้งค่ายล้อมกรุงอย่างเป็นการถาวร เพื่อทำการศึกระยะยาว ก็ย่อมยากแก่การเอาชนะ จึงควรที่ทางอยุธยาจะรีบฉกฉวยโอกาสเข้าโจมตีเสียก่อนที่ทัพพม่าจะตั้งตัว ข้างพระมหากษัตริย์อยุธยาก็ทรงมีพระราชดำรัสตอบว่า ถึงแม้ทางฝ่ายพระนครจะไม่ส่งทัพออกกระทำการตีพม่า ซึ่งขณะนี้ตั้งอยู่ทางเหนือและตะวันตกของพระนคร เมื่อฤดูน้ำหลากมาถึงทัพพม่าก็จะต้องล่าถอยไปเอง ถึงตอนนั้นก็ย่อมไม่เป็นการสายที่จะส่งกำลังตามตีซ้ำ เพื่อริบทรัพย์จับเชลย หลักฐานพงศาวดารพม่ายังมีระบุไว้หลายตอนว่าชาวพระนครต่อสู้ป้องกันการโจมตี ของพม่าอย่างเข้มแข็งระดมยิงต่อต้านไม่ให้ข้าศึกประชิดติดกำแพงได้ สาเหตุนี้เองที่ทำให้มังมหานรธาต้องเสนอต่อที่ประชุมทหารว่า การตีกรุงศรีอยุธยานั้นเห็นควรจะใช้ยุทธวิธีที่พระมโหสถ (Mahawthata) ใช้ลักพาพระนางปัญจาละจันที (Pancala Candi) โดยการลอบขุดอุโมงค์เข้าไปในเมืองปัญจาลราช และเรื่องการขุดอุโมงค์นี้ท้ายที่สุดได้นำมาใช้จริง เพราะเห็นว่าจะเป็นทางหลบรอดจากการตกเป็นเป้าปืนของฝ่ายอยุธยาได้ หลักฐานพม่านั้นระบุว่าอุโมงค์ที่ขุดนั้นมีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น 5 อุโมงค์ และในวันที่กรุงจะแตกนั้นพม่าได้สุมไฟเผารากกำแพงในอุโมงค์ที่ขุดมาหยุดตรงฐานราก ใส่เชื้อเพลิงเผากันไปจนกำแพงทรุด จากนั้นทหารพม่าก็เอาบันไดพาดปีนเข้าพระนครตรงจุดที่กำแพงพัง กำลังอีกส่วนหนึ่งก็เล็ดรอดเข้าทางอุโมงค์ 3 อุโมงค์ที่เตรียมไว้ หลักฐานพม่ายังระบุว่าทันทีที่ทหารพม่าเข้าพระนครได้ก็กระจายกันเข้าจุดไฟเผาบ้านเรือน วัดวาอารามริบทรัพย์จับเชลย ปล้นชิงของมีค่าตามความพอใจ ” (อ่านรายละเอียดการวิจารณ์ ท้ายบทนี้)
4.2 ไทยเตรียมกำลังรวมไว้ต่อสู้ในพระนครศรีอยุธยาดีหรือไม่อย่างไร ?
ในอดีต กรุงศรีอยุธยามีการป้องกันพระนคร โดยมีป้อมปราการเป็นกำแพงอิฐและสูงล้อมรอบ ตัว เมืองที่กว้าง ดังนั้นจึงสามารถ กัน มิให้ข้าศึกเข้าจู่โจมตีได้ สะดวก แม้กองทัพพม่าได้รุกล้อมรอบพระนคร การป้องพระนครก็กระทำกันอย่างเหนียวแน่นแข็งแรง แต่ยุทธศาสตร์ที่อาศัยพระนครเป็นปราการสำหรับให้ข้าศึกเข้าล้อม รอเวลาที่ทัพจากหัวเมืองมาช่วยตีกระหนาบนั้นใช้ไม่ได้มานานแล้ว ยุทธศาสตร์ใหม่ในการป้องกันตนเองอย่างที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ทรงใช้นั้นเป็นที่ยอมรับ นั่นก็คือต้องผลักดันมิให้ข้าศึกเข้ามาประชิดพระนคร (นิธิ เอียวศรีวงศ์ , 2540 : 137)
สุเนตร ชุตินธรานนท์ (2543 : 189 – 191) ได้แสดงความคิดเห็นดังนี้ “ ยุทธศาสตร์การใช้ตัวพระนครเป็นฐานรับศึกพม่ายังคงถูกนำมาใช้เป็นยุทธศาสตร์การตั้งรับพื้นฐาน ในการสงครามที่มีกับพม่าในสมัยปลายอยุธยา ไม่ว่าจะเป็นคราวศึกอลองพญาในปี พ.ศ.2302 และในคราวสงครามเสียกรุงปี พ.ศ.2310 โดยเฉพาะในคราวสงครามเสียกรุง หลักฐานในพงศาวดารพม่า ทั้งพงศาวดารฉบับหอแก้ว หรือมานนานมหายาสะวินดอจี และพงศาวดารฉบับราชวงศ์คองบองต่างระบุต้องกันว่า พระมหากษัตริย์อยุธยา คือ พระเจ้าเอกทัศน์ทรงลอบวางแผนการรบว่าจะถ่วงให้พม่าล้อมกรุงอยู่จนถึงฤดูน้ำหลาก เมื่อพม่ามีอันต้องถอยทัพหนีน้ำก็จะส่งกำลังตามตีริบทรัพย์เชลย กล่าวได้ว่า สงครามคราวเสียกรุงในปี พ.ศ.2310 สะท้อนถึงพัฒนาการขั้นสูงของยุทธศาสตร์การใช้ตัวพระนคร เป็นฐานรับศึกในประวัติศาสตร์สงครามไทยรบพม่า เพราะครั้งนั้นเป็นศึกครั้งแรกและครั้งเดียวที่ผู้นำอยุธยาสามารถรักษากรุงไว้ได้จนถึงฤดูน้ำหลากตามแผนที่วางไว้ โดยที่ตัวพระนครไม่ต้องตกอยู่ในสภาพบอบช้ำ และราษฎรที่หลบภัยสงครามในกำแพงเมืองไม่ต้องเผชิญกับความฝืดเคืองด้านเสบียงอาหาร
การวาง “ แนวปะทะ ” ได้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้ กองทัพพม่าซึ่งล้อมกรุงมาเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 10 เดือน นับแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2309 ไม่สามารถแม้แต่จะบุกเข้าใกล้ตัวกำแพงพระนคร หรือตั้งป้อมประชิดกำแพงเพื่อใช้ปืนใหญ่ระดมยิงเช่นที่เคยทำได้ในศึกอลองพญา พม่าทำได้อย่างมากก็แต่เพียงตั้งค่ายล้อมพระนครอยู่ไกลๆ เช่น ทางทิศตะวันตกเข้ามาได้ไม่เกินวัดท่าการ้อง ขณะที่กำลังส่วนใหญ่ยังคงติดอยู่กลางทุ่งประเชต และทุ่งภูเขาทอง ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เข้ามาได้ไม่ถึงวัดไชยวัฒนาราม เพราะทางอยุธยาตั้งค่ายใหญ่กันไว้ ทางด้านตะวันออกเข้าได้ ไม่ถึงวัดพิชัย และเป็นไปได้ว่าตลอดลำคูขื่อหน้าจากหัวรอถึงปากน้ำแม่เบี้ย และคลองสวนพลูยังเป็นเขตปลอดจากการยึดครองของพม่า ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้และทิศใต้จากคลองสวนพลู วัดโปรตุเกส ตลอดไปจนถึงวัดพุทไธสวรรค์ และวัดเซนต์โยเซฟยังตกอยู่ภายใต้การยึดครองของฝ่ายไทย ส่วนทางทิศเหนือพม่าเข้าได้ไม่ไกลไปกว่าโพธิ์สามต้น และปากน้ำประสบ
พระยาโบราณราชธานินทร์ เขียนไว้ว่า “… เมื่อศึกพม่าติดพระนคร ได้มีตัวข้าราชการที่สามารถเป็นแม่ทัพนายกองนำพลเข้าต่อสู้ข้าศึก แต่ท้าวพระยาเสนาบดีเป็นแม่ทัพที่ไม่ได้รบพุ่งเช่น พระยายมราช เป็นแม่ทัพตั้งอยู่ที่เมืองนนทบุรี พอพม่าตีเมืองธนบุรีได้ กำปั่นลูกค้าอังกฤษซึ่งรับอาสาต่อสู้พม่าถอยหนีขึ้นมา พระยายมราชยังไม่ทันรบก็พลอยเลิกทัพถอยหนีไปด้วย พระยาพระคลัง เป็นแม่ทัพถือพล 10,000 คน ยกออกไปตีค่ายพม่าที่วัดป่าฝ้าย ปากน้ำประสบ พม่ายิงปืนมาต้องพลทัพไทยล้มลง 4 – 5 คน กองทัพตั้งมั่นก็ถอยออกมาสิ้น อยู่มา 2 – 3 วัน มีรับสั่งให้พระยาพระคลังออกไปตีค่ายพม่าที่ปากน้ำประสบอีก ยังไม่ได้ทันรบ พม่าแต่งกลหลอกให้เข้าใกล้ แล้วออกไปไล่ยิงแทงพลทัพตายลง กองทัพใหญ่ก็แตกพ่ายเข้าพระนคร ” ( ทวน บุณยนิยม , 2513 : 37)
การรบทางเรือ ตอนหนึ่งพระราชพงศาวดารบันทึกไว้ว่า เมื่อฝ่ายในกรุงเห็นว่าทางปืนใหญ่ ฝ่ายข้าศึกจะยิงถึงพระนครได้ ก็ให้กองทัพเรือยกออกไปตีค่ายพม่า กองทัพเรือที่ยกออกไปครั้งนี้เป็นพวกกรมทหารอาสาหกเหล่า เรื่องกล่าวไว้ว่ามีนายฤกษ์ถือดาบสองมือรำไปข้างหน้าเรือ พอพม่ายิงปืนมาถูกนายฤกษ์ตกน้ำลง กองทัพเรือก็ถอยคืนเข้ากรุงทั้งหมด
พิเคราะห์ดูเห็นว่าคงเป็นด้วยเชื่อทางวิทยาคมนั่นเอง นายฤกษ์นั้นเห็นจะเป็นตัวอาจารย์รำดาบเสก เ ป่าไปหน้าทัพ โดยเชื่อว่าอาจคุ้มครองป้องกันอันตรายกองทัพทั้งหมด ครั้นอาจารย์ถูกปืนตายลง พวกกองทัพเรือก็พากันใจฝ่อ ผู้ที่คุมทัพเข้าไปเห็นว่า ถ้าขืนเข้าไปรบก็เห็นจะเป็นเรื่องสำหรับไปตาย ไม่เป็นการ จึงให้ถอยทัพกลับมา นี่เป็นเรื่องอุทาหรณ์ให้เห็นว่า การเชื่อถือวิทยาคมงมงายเกินไปก็จะเป็นการเสียผลได้ ( ทวน บุญนิยม , 2513 : 39)
บาทหลวงชาวฝรั่งเศสสรุปความสามารถของทหารไทย ที่ป้องกันพระนครศรีอยุธยาว่า “… เมื่อไทยออกต่อสู้พม่าคราวใด ก็สำหรับส่งอาวุธให้ข้าศึกเท่านั้น …” ( นิธิ เอียวศรีวงศ์ , ในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ พลตรีสหวัฏ ( อุดม ) ปัญญาสุข 21 พฤษภาคม 2540 : 140) ครั้นถึงฤดูฝน พวกนายทัพนายกองพม่าพากันร้องทุกข์ต่อมังมหานรธาว่า ฝนตกชุกแล้วไม่ช้าน้ำเหนือก็จะหลากลงมา จะรบพุ่งต่อไปเห็นจะเป็นการลำบากนัก ขอให้เลิกทัพกลับไปเสียคราวหนึ่งก่อน เมื่อฤดูแล้งจึงกลับมาตีกรุงศรีอยุธยาใหม่ มังมหานรธาไม่เห็นด้วย และว่ากรุงศรีอยุธยาขัดสนเสบียงอาหารและกระสุนดินดำจนอ่อนกำลัง จวนจะตีได้อยู่แล้ว ฝ่ายกองทัพพม่าก็ได้ ตระเตรียม ทำไร่ทำนา หาอัตคัตสิ่งใดไม่ ถ้าเลิกทัพกลับไปเสีย ไทยก็จะได้ช่องทางหากำลังมาเพิ่มเติม เตรียมรักษาบ้านเมืองกวดขันกว่าแต่ก่อน ถึงยกมาตีอีกที่ไหนจะตีง่ายเหมือนครั้งนี้ มังมหานรธาจึงไม่ยอม ให้ทัพกลับ ให้เที่ยวตรวจหาที่ดอนตามโคกตามวัดอันมีอยู่รอบพระนคร แล้วแบ่งหน้าที่กันให้กองทัพแยกออกไป ตั้งค่ายสำหรับที่จะอยู่เมื่อถึงฤดูน้ำ และให้ผ่อนช้างม้าพาหนะไปเลี้ยงตามที่ดอนในหัวเมืองใกล้เคียง แล้วให้เที่ยวรวบรวมเรือใหญ่น้อยมาไว้ใช้ในกองทัพ เป็นจำนวนมาก

(ภาพจากหนังสือการเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310)
พอกองทัพพม่าเตรียมการที่จะทำศึกในฤดูฝนฤดูน้ำหลากเสร็จ มังมหานรธาก็ล้มป่วยลงและถึงแก่กรรม ที่ค่ายบ้านสีกุก แต่เหตุที่มังมหานรธาถึงแก่กรรมกลับเป็นโทษแก่ฝ่ายไทย ด้วยแต่ก่อนมากองทัพพม่าฝ่ายเหนือ กับกองทัพพม่าฝ่ายใต้มักแก่งแย่งกัน ด้วยต่างฝ่ายต่างก็เป็นอิสระมิได้ขึ้นแก่กัน ครั้นมังมหานรธาถึงแก่กรรมลง (จากหลักฐานของฝ่ายพม่า มังมหานรธาน่าจะเสียชีวิตประมาณปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2309 หรือต้นเดือนมกราคมของปีถัดไป) เนเมียวสีหบดีก็ได้เป็นแม่ทัพใหญ่ขึ้นบังคับบัญชากองทัพทั้งหมดแต่ผู้เดียว ก็ส่งผลให้กองทัพทั้งฝ่ายเหนือ และฝ่ายใต้สมทบกันเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา ตัวเนเมียวสีหบดีย้ายจากค่ายปากน้ำประสบมาอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น ( ทวน บุณยนิยม , 2513 : 36 – 37)
ข้อพิจารณา
พงศาวดารไทยกล่าวตรงกันว่ามังมหานรธาป่วยเป็นไข้ตาย แต่เวลาต่างกันมาก ราวกับว่าเสียชีวิตก่อนถึงฤดูน้ำหลาก ในหนังสือ History of Siam ของ Turpin ว่าการเสียชีวิตของมัง มหานรธานั้น (เกิดขึ้นภายหลังจากที่ฑูตไทยถูกส่งออกไปเจรจาสงบศึกกลับมาได้ 5 วัน, สุเนตร ชุตินธรานนท์, 2541 : 63) มีผู้กล่าวกันว่าเป็นการกระทำของเนเมียวสีหบดี ซึ่งมีความขัดแย้งกันอยู่ก่อนกับมังมหานรธา
ระหว่างมังมหานรธาและเนเมียวสีหบดีนั้น มังมหานรธาเป็นผู้มีอำนาจสิทธิขาดในการตัดสินใจเสมอ แม้ในกรณีที่ยืนหยัดให้ล้อมกรุงในฤดูน้ำหลาก การใช้การขุดอุโมงค์ใต้ดินในการเข้ายึดพระนคร แม้ว่ามังมหานรธาและเนเมียวสีหบดีจะมีความขัดแย้งกัน แต่ก็ไม่มีหลักฐานที่ว่ากองทัพทั้งสอง ขาดการประสานงานกัน ตรงกันข้ามได้ปฏิบัติการสนับสนุนซึ่งกัน และกันตลอดมา ดังนั้นการตายของมังมหานรธามิได้มีส่วนช่วยให้ สถานการณ์ของอยุธยาเปลี่ยนแปลงอย่างใดเลย ตอนที่เริ่มสงคราม เราได้ลำดับสงครามครั้งนี้เป็น 4 ขั้น ขั้นแรกให้ชื่อว่า กองโจรปล้นสะดมหัวเมืองต่างๆ ฟังดูแล้วจะเป็นการกล่าวหาแต่ฝ่ายเดียว แต่เมื่อล่วงเลยมาจนบัดนี้จะเห็นได้ว่า ชื่อที่ตั้งให้ว่ากองโจรปล้นสะดมหัวเมืองต่างๆ นั้น ฝ่ายพม่าก็เป็นฝ่ายที่ขา น รับออกมาตามชื่อที่เราตั้งไว้เหมือนกัน เป็นการยืนยันตรงกันทั้งสองฝ่าย มิได้เป็นการกล่าวหาแต่ฝ่ายเดียว ( จรรยา ประชิตโรมรัน , 2536 : 175 – 176 ) ด้านรอบๆ พระนคร เนเมียวสีหบดีสั่งให้กองทัพหน้าเข้ามาตั้งค่ายที่วัดภูเขาทอง แล้วเข้ามาตั้งค่ายที่วัดท่าการ้องอีกแห่งหนึ่ง แล้วให้ตั้งค่ายต่อลงมาที่วัดกระชาย วัดพลับพลาชัย วัดเต่า วัดสุเรนทร์ วัดแดง ข้างด้านตะวันตก ตั้งปืนใหญ่ยิงเข้าไปในพระนคร
การตั้งค่ายของไทย ต่อมาฝ่ายไทยได้มีคำสั่งให้ข้ามออกไปตั้งค่ายป้องกันพระนครไว้ทุกด้าน ดังนี้
ทิศเหนือ ตั้งค่ายที่วัดพระเมรุแห่งหนึ่ง ตั้งที่เพนียดแห่งหนึ่ง
ทิศใต้ ตั้งค่ายที่บ้านสวนพลูแห่งหนึ่ง ให้หลวงอภัยพิพัฒน์ ขุนนางจีนคุมชาวจีนบ้านนายค่าย ( บางฉบับเรียกนายก่าย ) 2,000 คน ให้พวกคริสตังตั้งค่ายที่วัดพุทไธสวรรย์แห่งหนึ่ง
ทิศตะวันออก ตั้งค่ายที่วัดเกาะแก้วแห่งหนึ่ง ตั้งที่วัดมณฑปแห่งหนึ่ง ตั้งที่วัดพิชัยแห่งหนึ่งในบังคับของพระยาวชิรปราการ ( สิน )
ทิศตะวันตก ให้กรมอาสาหกเหล่า ตั้งค่ายที่วัดไชยวัฒนารามแห่งหนึ่ง

( ภาพจากหนังสือการเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310)
กองทัพไทยที่รักษาพระนครนั้นเริ่มระส่ำระสายด้วยรู้กันว่าหมดช่องทางที่จะเอาชนะพม่าได้ พวกจีน ในกองทัพที่ไปตั้ง ค่ายอยู่ ที่บ้าน สวนพลู คิดจะเอาตัวรอดก่อน คบคิดกันประมาณ 300 คน พากันไปยังพระพุทธบาทไปลอกทองคำที่หุ้มพระมณฑปน้อย และแผ่นเงินที่ดาดพื้นพระมณฑปใหญ่มาแบ่งปันกันเป็น อาณาประโยชน์ แล้วเอาไฟเผาพระมณฑปพระพุทธบาทหวังจะให้ความสูญ ( พลโท รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์ . “ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ยอดนาวิกโยธินไทย ” ใน ผ่านศึกฉบับพิเศษ : วันทหารผ่านศึก 3 กุมภาพันธ์ 2537 : 17) ต่อมาค่ายจีนที่บ้านสวนพลูก็เสียแก่พม่า ต่อมาไม่ช้าพม่ายกเข้าตีค่ายที่เพนียดได้ เนเมียวสีหบดีแม่ทัพพม่าก็เข้ามาตั้งอยู่ที่เพนียดแล้ว ให้กองทัพพม่าเข้าตีค่าย ฝ่ายไทยที่ออกไปตั้งค่ายป้องกันพระนครข้างด้านเหนือ ถูกตีแตกกลับเข้ามาในกรุงหมดทุกค่าย
พม่าเข้ามาตั้งค่ายประชิดพระนคร ด้านเหนือ ที่วัดกุฎีแดง วัดสามพิหาร วัดศรีโพธิ์ วัดนางชี วัดแม่นางปลื้ม วัดมณฑป แล้วให้ปลูกหอรบ เอาปืนขึ้นจังก้ายิงเข้าไปในพระนครทุกวันมิได้ขาด
ส่วนแม่ทัพข้างใต้ก็ยกเข้ามาตีไทยที่วัดพุทไธสวรรย์ แล้วไปตีค่ายที่วัดชัยวัฒนาราม รบกันอยู่ได้แปดเก้าวันก็เสียค่ายแก่พม่า ( รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์ , พลโท , 2537 : 18) แต่ที่ค่ายของพระยาตากสินที่วัดพิชัยนั้น พระยาตากทิ้งค่ายไปเสียก่อนที่พม่าจะยกเข้ามาตี

วัดพนัญเชิง บริเวณที่แม่น้ำป่าสัก-ลพบุรี ไหลมาบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา
เรียกน้ำวนบางกะจะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
(ภาพจากหนังสือประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมสยามประเทศไทย)

พระเจ้าพนัญเชิง พระพุทธรูปประธานในวิหารหลวงวัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ตามหลักฐานพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ บอกว่าทำขึ้นก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา
เป็นราชธานี 26 ปี แสดงว่าเป็นวัดสำคัญที่มีมาแต่ครั้งกรุงอโยธยาศรีรามเทพนคร
(ภาพจากหนังสือประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมสยามประเทศไทย)
ลางร้าย ( จากพระราชพงศาวดารกรุงเก่าหน้า 175) เมื่อใกล้จะเสียพระนครศรีอยุธยานั้น เกิดลางร้ายต่างๆ คือ พระพุทธปฏิมากรใหญ่ที่วัดพนัญเชิง (พระเจ้าพนัญเชิง) มีน้ำพระเนตรไหล พระพุทธปฏิมากรติโลกนาถ ซึ่งแกะด้วยไม้พระศรีมหาโพธิ์นั้น พระทรวงแยกออกเป็นสองภาค พระพุทธปฏิมากรทองคำเท่าตัวคน และพระพุทธสุรินทร์ซึ่งหล่อด้วยนาก อันประดิษฐานอยู่ในวัดพระศรีสรรเพชญ์ ในพระราชวังนั้น มีพระฉวีเศร้าหมอง พระเนตรทั้งสองหลุดหล่นลงอยู่บนพระหัตถ์ มีกาสองตัวตีกัน ตัวหนึ่งบินโผลงตรงยอดเหมฉัตรเจดีย์ที่วัดพระธาตุ อกสวมลงตรงยอดพระเจดีย์เหมือนดังคนจับเสียบไว้ เทวรูปพระนเรศวรนั้นมีน้ำพระเนตรไหลและเปล่งศัพท์สำเนียงเสียงอันดัง อสุนีบาตลงหลายครั้งหลายหน พระราชวงศานุวงศ์ข้าราชการก็ไม่ตั้งอยู่ในสัจธรรม สำแดงเหตุที่จะเสียพระนครศรีอยุธยาหลายอย่างหลายประการ ดังกล่าวมาแล้ว ในพระนคร เมื่อถูกพม่าล้อมมาช้านาน เสบียงอาหารอัตคัดเข้า เกิดโจรผู้ร้ายแย่งชิงกันชุกชุมขึ้นทุกที ครั้น ณ วันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น 4 ค่ำ ปีจอ ( ตรงกับวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2309 ) เวลากลางคืนเกิดไฟไหม้ในพระนคร ไหม้ตั้งแต่ท่าทรายริมกำแพงด้านเหนือ ลุกลามมาทางประตูข้าวเปลือก แล้วไฟข้ามมาติดบ้านเรือนแขวงป่ามะพร้าว ตลอดไปถึงแขวงป่าโทน ป่าถ่าน ป่าตอง ป่ายา ไหม้วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ ไปจนถึงวัดฉัททันต์ ไฟไหม้กุฎีวิหารและบ้านเรือนในพระนคร รวมว่า 10,000 หลัง
ผู้คนพลเมืองก็ยิ่งอัตคัดคับแค้นหนักขึ้น พระเจ้าเอกทัศน์ให้ฑูต ( พระยากลาโหมและพวกลูกขุน ) ออกไป ที่ค่ายเพนียดเพื่อ กล่าวกับพม่าขอเลิกรบจะยอมเป็นเมืองขึ้นต่อพระเจ้ามังระ เนเมียว สีหบดี แม่ทัพพม่าก็ไม่ยอมเลิก ด้วยประสงค์จะตีเอาทรัพย์สมบัติผู้คนไปให้สิ้นเชิง
ในพงศาวดารพม่าว่า เนเมียวสีหบดีให้เข้าตีปล้นพระนครหลายครั้งแต่ตีไม่ได้ ด้วยไทยจวนตัวเข้าก็เกิดมานะต่อสู้แข็งแรง รบพุ่ง ต้านทาน พม่าแตกกลับออกไปทุกครั้ง จนพม่าต้องตั้งล้อมนิ่งอยู่อีกคราวหนึ่ง แต่ข้างในพระนครผู้คนอดอยากหนักเข้าก็พากันปีนกำแพงหนี ไปเป็นอันมาก ที่หนีรอดไปก็มี ที่หนีไม่พ้นยอมให้พม่าจับพอได้อาหารกินก็มี
เนเมียวสีหบดีเห็นว่าชาวพระนครอ่อนกำลังระส่ำระสายมากแล้ว จึงให้กองทัพพม่าที่ ค่ายวั ดกุฎีแดง วัด ส ามพิหาร และที่วัดมณฑปสมทบกันยกเข้ามาในเวลากลางคืน มาทำสะพานเรือก (สะพานปูด้วยไม้ถักหวาย) ข้ามน้ำตรงหัวรอ ริมป้อมมหาชัย ข้างมุมเมืองด้านตะวันออกเฉียงเหนือ อันเป็นลำน้ำแคบกว่าแห่งอื่น เอาไม้ตาลมาตั้งเป็นค่ายวิหลั่น (ค่ายที่ทำให้ขยับรุกเข้าไปหาข้าศึกทีละน้อย) ทั้ง 2 ข้าง กันปืนชาวพระนครมิให้ยิงถูกพวกพลทหาร แล้วก็ทำสะพาน เรือกมาฟากกำแพงพระนคร ฝ่ายข้างในกรุงฯ เห็นพม่าทำการล่อแหลมเข้ามาดังนั้น พระเจ้าเอกทัศน์จึงมีรับสั่งให้จมื่นศรีสรรักษ์คุมกำลังยกออกไปตีพม่าที่เข้ามาทำสะพาน ในพงศาวดารพม่ากล่าวว่า คราวนี้ไทยรบพุ่งแข็งแรงมาก ตีพวกพม่าแตก และฆ่าฟันล้มตายเสียมาก แล้วตามไปตีได้ค่ายพม่าอีกแห่งหนึ่งแต่ไม่มีกำลังหนุนไปพอแก่การ พม่าก็ช่วยกันตีแตกกลับมา แต่นั้นไทยก็มิได้ยกออกไปรบอีกต่อไป ครั้นพม่าทำ สะพาน เรือกเสร็จแล้วจึงเข้ามาตั้งค่ายที่ศาลาดินนอกเมือง แล้วขุดอุโมงค์ดินเข้ามาจนถึงเชิงกำแพงขนเอาฟืนมากองใส่ใต้ราก กำแพงเมือง แล้วเตรียมบันไดที่จะพาดกำแพง ปีน ปล้น เอา เมือง
การขุดอุโมงค์ ( อยุธยา หัวรอ พ.ศ.2309) ในพงศาวดารพม่าฉบับคองบอง
แผนการขุดอุโมงค์ หลังจากนายทัพพม่ารู้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า กองทัพของทางกรุงศรีอยุธยาอ่อนกำลังลงมาก และประชาชนในเมืองก็อยู่ในสภาพอดยาก จึงตกลงใจเริ่มขุดอุโมงค์ลอดตัวกำแพงอยุธยาทางด้านหัวรอ ซึ่งเป็นจุดที่แคบที่สุดของคูเมือง อุโมงค์ที่ขุดมีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น 5 อุโมงค์ ในจำนวนนั้น 2 อุโมงค์เป็นอุโมงค์ที่ขุดมาหยุดลงตรงใต้ฐานกำแพง จากนั้นก็ขยายแนวขุดไปตามแนวกำแพงทั้งสองด้าน เป็นขนาดความยาวประมา ณ 350 หลา ด้านใต้อุโมงค์ ใช้ไม้ทำขื่อรับฐานกำแพงไว้อีกชั้นหนึ่ง ส่วนอุโมงค์ที่เหลืออีก 3 อุโมงค์ นั้น ขุดลอดฐานกำแพงเข้าไปในตัวพระนคร แต่ยังคงเหลือชั้นดินปิดไว้ประมาณ 2 ฟุต การปฏิบัติการขุดอุโมงค์ดังกล่าวมิได้เป็น ไป อย่างราบรื่น เพราะปกติทางฝ่ายไทยบนเชิงเทินใช้ปืนยิงกลุ่มพม่า ที่เข้ามาใกล้แนวกำแพงอยู่ตลอดเวลา เป็นเหตุให้พม่าต้องดำเนินการเป็นขั้นตอนคือ

(ภาพจากหนังสือการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ.2310)
การสร้างสะพาน ในชั้นต้นทำสะพานข้ามคูก่อน จากนั้นจึงสร้างค่ายใหม่ขึ้นอีก 3 ค่าย ประชิดแนวคูเมืองด้านทิศเหนือ เสร็จแล้วจึงเริ่มขุดอุโมงค์ พงศาวดารพม่าระบุว่า ฝ่ายไทยมิได้เพิกเฉยต่อการปฏิบัติการดังกล่าว ในการนี้พระมหามนตรี ( หรือจมื่นศรีสรรักษ์ในไทยรบพม่า) ได้ขันอาสาออกไปตีค่ายพม่าที่เข้ามาตั้งประชิดทั้ง 3 ค่าย พระเจ้าเอกทัศน์จึงทรงโปรดให้จัดพลออกไป 50,000 คน ช้าง 500 เชือก ปรากฏว่าในครั้งนี้พระมหามนตรีได้ทำการรบอย่างอาจหาญ สามารถยึดค่ายพม่าได้ทั้ง 3 ค่าย แต่ภายหลังพม่าได้ส่งกำลังหนุนออกมาโอบล้อมทัพไทย จนเป็นเหตุให้พระมหามนตรีต้องนำกำลังถอนกลับเข้าเมือ เหตุการณ์เดียวกันนี้พงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวถึงแต่เพียงสั้นๆ ว่า พม่ายกเข้ามาเผาพระที่นั่งเพนียด แล้วตั้งค่าย ณ เพนียด และวัดสามวิหาร วัดมณฑป จากนั้นก็ทำสะพานข้ามทำนบ รอเข้ามาขุดอุโมงค์ที่เชิงกำแพง และตั้งป้อมศาลาดิน ตั้งค่ายวัดแม่นางปลื้ม ต่อป้อมสูงเอาปืนใหญ่ขึ้นยิง แล้วจึงตั้งค่ายเพิ่มขึ้นอีกค่ายหนึ่งที่วัดศรีโพธิ์
ข้อพิจารณา
- 1. กลยุทธ์ที่พม่านำมาใช้ในการรบคราวนี้ก็คือ ปิดล้อมกรุงไว้ แม้น้ำจะท่วมก็ไม่ถอย จัดการดำเนินการ
– ยึดและรวบรวมเสบียงเท่าที่จะหาได้รอบๆ บริเวณนั้นไว้สำรอง
– รวบรวมวัวควายที่ยึดมาได้ ทำการเพาะปลูกในพื้นที่รอบๆ
– ผ่อนช้างม้าไปไว้ในพื้นที่ที่หญ้าอุดมสมบูรณ์
– ทหารที่ล้อมกรุงฯ ให้สร้างป้อมค่ายในพื้นที่ที่น้ำท่วมไม่ถึง
– จัดกองระวังป้องกันระหว่างป้อมเป็นระยะๆ
– ถ้ามีกำลังภายนอกเข้ามาก็ช่วยสกัดกั้นไว้
- 2. กลยุทธ์ในการเข้าตีกรุงขั้นสุดท้าย พม่าเปลี่ยนจากการเอาบันไดพาดปีนข้ามกำแพง มา เป็นการขุดอุโมงค์มุดลงใต้กำแพง โดยดำเนินการเป็นขั้นๆ ดังนี้
1) การสร้างสะพาน
2) การสร้างป้อมค่าย
3) การขุดอุโมงค์
การที่มีเอกสารบางฉบับกล่าวว่า พม่าได้สร้างป้อมค่ายขึ้นใหม่ 3 ค่าย ประชิดคูพระนครทางตอนเหนือ ก็เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของฝ่ายไทยไปจากการปฏิบัติการลอบขุดอุโมงค์ แต่ไม่ปรากฏว่าพงศาวดารฉบับคองบองได้กล่าวไว้เลย
การสร้างป้อมค่ายขึ้นใหม่ 3 ป้อมนี้ มีความมุ่งหมายสำคัญ 3 ประการ คือ
1) เพื่อประสานงานกับฝ่ายขุดอุโมงค์ ป้องกันมิให้ทหารไทยที่อยู่บนเชิงเทินยิงทำร้าย ทหารพม่าที่กำลังขุดอุโมงค์ได้ถนัด
2) เพื่อเป็นการเพิ่มการทำลายฝ่ายไทยที่อยู่ในพระนครให้มากขึ้น โดยการยิงถล่มเข้าไป
3) เพื่อการสนับสนุนทหารที่จะบุกเข้าปีนกำแพงหรือลอดอุโมงค์เข้าไปในพระนคร
ยุทธศาสตร์ที่พม่าใช้ในสงครามครั้งนี้ก็คือ การปิดล้อมกรุงศรีอยุธยาให้ต้องอยู่ในสภาพโดดเดี่ยว ต้องพึ่งตนเองและเผชิญกับภาวะอดยากขาดแคลนแต่ลำพัง พม่าไม่ยอมปล่อยให้กำลังจากหัวเมืองมีโอกาส ยกล่วงเข้ามาช่วยกู้กรุงได้ นอกจากนี้พม่ายังไม่ยอมให้สภาวะทางธรรมชาติมาเป็นอุปสรรค กดดันการตีกรุงศรีอยุธยา ในครั้งนี้เช่นเคยเป็นมาแต่อดีต ทางอยุธยาเองก็มิได้คาดว่าพม่าจะแก้สภาวะ ในฤดูน้ำหลาก ได้สำเร็จ หารู้ไม่ว่าพม่ามีกองทัพเรือและทหารช่างพร้อมวัสดุที่ใช้สำหรับต่อเรืออยู่ด้วยแล้ว สามารถต้านรับกองทัพเรือของอยุธยาที่ฉวยโอกาสสภาวะน้ำหลากออกมาโจมตี ซึ่งพงศาวดารพม่าบันทึกว่า กองทัพเรือของอยุธยานั้นแข็งแกร่งมีทั้งคุณภาพและปริมาณ แต่พม่าก็ รับไว้ได้อย่างไม่ตกเป็นรอง ฉากการรบกันระหว่างกองทัพเรือไทยและพม่านี้ พงศาวดารพม่าบันทึกภาพไว้ค่อนข้างละเอียดชัดเจนมาก (วิเศษไชยศรี, 2541 : 202) จะเห็นได้ว่าสิ่งที่นักการทหารอยุธยาคาดไม่ถึง และไม่มีทางที่จะคาดถึงคือ พม่าได้ปรับยุทธศาสตร์การตีพระนครเสียใหม่โดยไม่ยอมให้ สภาพธรรมชาติมาเป็นอุปสรรคต่อปฏิบัติการทางทหาร เมื่อน้ำหลากมาแล้วพม่ายังไม่ยอมถอย ทั้งยังล้อมกรุงอยู่อย่างเหนียวแน่น ทำให้ฝ่ายอยุธยาต้องเผชิญกับภาวะอดอยาก และมีอันต้องพ่ายแพ้ไปในที่สุด
- 3. การที่ กรุงศรีอยุธย มีข้าศึกเข้ามาประชิดติดพันก็นับว่าเป็นภัยร้ายแรงอยู่แล้ว ซ้ำยังมาเกิดอัคคีภัยไหม้บ้านเรือนเข้าอีก ความอัตคัดขาดแคลนที่มีอยู่เป็นทุนเดิมก็กลับโถมทับทวียิ่งขึ้น เข้าทำนองผีซ้ำด้ามพลอย ราษฎรต่างก็ได้รับความทุกข์ยากแสนสาหัส บ้านเรือนไหม้ไปกว่า 10,000 หลัง คงจะทำให้ราษฎรไม่มีที่พักอาศัยหลายหมื่นคน เมื่อเห็นว่าราษฎรต้องเผชิญกับความตาย ไร้ที่อยู่ทั้งขาดแคลนอาหาร กำลังใจและกำลังกายก็ถดถอยลง สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ จึงเจรจากับพม่าขอเลิกรบ ยอมเป็นเมืองขึ้นต่อพระเจ้าอังวะ แต่แม่ทัพพม่าไม่ยอมเลิก เพราะประสงค์ที่จะตีเอาทรัพย์สมบัติผู้คนไปให้สิ้นเชิง
- 4. พม่ายังดำรงความมุ่งหมายเดิมในการรบครั้งนี้ไว้อย่างเหนียวแน่น ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งบัดนี้ ซึ่งน่าจะยุติการรบได้แล้ว ฝ่ายไทยเห็นว่าสภาพการณ์ต่างๆ ถึงที่สุดแล้วก็ขอยอมแพ้เป็นเมืองขึ้น อย่างที่เคยทำกันมาแต่โบราณกาล แต่พม่าปฏิเสธไม่ยอมรับ เพราะการที่ไทยยอมแพ้นั้นมิใช่ความมุ่งหมาย ของพม่า พม่ามุ่งหมายที่จะได้ทรัพย์สมบัติและผู้คนของไทยมากกว่าที่จะได้ไทยเป็นเมืองขึ้น ดังนั้นเมื่อไทยยอมแพ้ยอมเป็นเมืองขึ้น พม่าจึงเมิน เพราะข้อเสนอของไทยมิใช่ความมุ่งหมาย ที่ได้วางไว้แต่เดิมของพม่า
- 5. การเข้าตี วันที่กรุงใกล้จะแตกนั้น ฝ่ายพม่าได้ปฏิบัติการดังนี้
สภาพของฝ่ายไทย ฝ่ายไทยอ่อนกำลังเต็มที
ที่หมาย ริมป้อมมหาชัย ข้างมุมเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนืออันเป็นที่ลำน้ำแคบกว่าที่อื่น
เวลาปฏิบัติการ เวลากลางคืน
การปฏิบัติ เอาไม้ตาลมาตั้งเป็นค่ายวิหลั่นกันปืน แล้วสร้างสะพานเรือก
การตีโต้ตอบ ฝ่ายไทยสามารถผลักดันออกไปได้อย่างเข้มแข็ง
- 6. กรุงแตก มีการปฏิบัติดังนี้
ที่หมาย ตรงหัวรอที่ริมป้อมมหาชัย
เวลาปฏิบัติ เริ่มบ่าย 3 โมง และพม่าเข้าเมืองได้ 2 ทุ่ม ใน วันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2310
การปฏิบัติ พม่าทำสะพานเสร็จ ขุดอุโมงค์ตามยาวใต้รากกำแพง แล้วจุดไฟสุมรากกำแพง กำแพงทรุดเวลา 2 ทุ่ม พม่าเอาบันไดพาดปีนเข้าได้ตรงที่กำแพงทรุดนั้นก่อน
ระยะเวลาในการล้อม พม่าล้อมกรุงฯ อยู่นาน 1 ปี กับ 2 เดือน
( จรรยา ประชิตโรมรัน , 2536 : 170 – 171)

แผนที่สถานการณ์ตอนกรุงแตก พ.ศ.2310
(ภาพจากหนังสือ การเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310)
4.3 การตีกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 นี้ต่างจากการตีกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 อย่างไร ?
การที่ไทยต้องเสียเอกราชในครั้งนี้ นักประวัติศาสตร์กล่าวว่าพม่ามาตีกรุงศรีอยุธยาครั้งพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง กับพระเจ้ามังระผิดกัน
ครั้งพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองมารบพุ่งอย่างกษัตริย์ กรุงศรีอยุธยาประสบภัยสงครามที่ต้องเสียกรุงแก่พม่า เป็นครั้งแรก แต่ก็ไม่พบกับความบอบช้ำมากนัก เพราะการสงครามสมัยพระเจ้าบุเรงนองมีลักษณะของการสร้าง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ของจักรวรรดิพุกามของพม่า มากกว่าการทำสงครามเพื่อปล้นสะดมทำลายล้าง บ้านเมืองฝ่ายตรงข้าม (พิเศษ เจียจันทร์พงษ์, 2542 : 3560) แต่ครั้งพระเจ้ามังระเจ้ากรุงอังวะมารบพุ่ง อย่างโจร (ทวน บุญยนิยม , 2513 : 57) กล่าวคือขาดกำลังที่จะยกหักเข้าชิงชัยในพระนคร แต่เที่ยวปล้นสะดมอยู่โดยรอบเป็นเวลานานถึง 3 ปี กว่าจะสามารถหักเอากรุงศรีอยุธยาได้ แต่หลักฐานพระราชพงศาวดารพม่าฉบับหอแก้วนั้นน่าเชื่อถือกว่าที่นักประวัติศาสตร์ไทยเคยคิด( Tin Ohn, “Modern Historical Writing in Burmese, 1724-1924,” in D.G.E. Hall, Historians of South-East Asia. London : Oxford University Press, 1962) อย่างน้อยก็มีการตรวจสอบหลักฐานชั้นต้นอย่างกว้างขวาง เพื่อการเขียน และอันที่จริงแล้วหลักฐานของพม่าก็หาได้ขัดกับประเด็นที่กล่าวในพระราชพงศาวดารไทยเองไม่ …
จากการแทรกแซงจากมหาอำนาจภายนอก เผ่าชนที่ต้องการปลีกตัวจากศูนย์กลางมักจะดึงเอาอำนาจจากภายนอก เข้ามาคานกับอำนาจ ที่ศูนย์กลางหนึ่งเสมอ หนึ่งในอำนาจจากภายนอกที่เคยแทรกแซง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ของพม่าก็คือกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะในพุทธศตวรรษที่ 22 ในสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง ก็มีการอพยพเข้ามาของชาวมอญสู่ราชอาณาจักรอยุธยาอันเป็นการต่อต้าน รัฐบาลกลางของพม่าในรูปหนึ่งนั่นเอง และแม้ว่าพระเจ้าบรมโกศทรงมีนโยบายที่จะค้ำจุนอำนาจ ที่พม่าอ่อนแอมากกว่าส่งเสริมอำนาจมอญ ซึ่งพยายามปลดแอกของพม่าเพื่อป้องกันมิให้แรงงานมอญจำนวนมาก ในราชอาณาจักรของพระองค์ไหลกลับไปสู่เมืองมอญ หากเมืองมอญสามารถเป็นอิสระจากพม่าได้ แต่นั่นก็คือการแทรกแซงเข้าไปในการเมืองภายในของพม่าอย่างหนึ่งนั่นเอง
ทั้งนี้จึงนับได้ว่าเป็นสิ่งปกติที่เมื่อใดก็ตามศูนย์กลางของพม่ามีอำนาจเข้มแข็งขึ้น ก็มักจะต้องแผ่อิทธิพลเข้าครอบงำราชอาณาจักรอยุธยาในระดับหนึ่ง เพื่อกีดกันมิให้อยุธยาเป็นที่พึ่งแก่ชุมชนกลุ่มน้อยอื่นๆ (ซึ่งรวมล้านนาไทย หรือชานตะวันออกในสายตาพม่าด้วยบางสมัย) อันจะเป็นหนทางให้พม่าสามารถรักษาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางการเมืองไว้ได้
จะด้วยมุ่งประโยชน์อย่างไรก็ตาม หลังศึกอลองพญาในปี พ.ศ. 2303 แล้ว กรุงศรีอยุธยาได้ยอมตนเป็นที่พึ่งแก่ชนกลุ่มน้อยของพม่า อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการปรับระบบการป้องกัน ตนเอง กล่าวคือเมื่อสำนึกถึงอำนาจของราชวงศ์อลองพญาซึ่งได้คุกคามตนอยู่แล้ว ก็ต้องการผลักอำนาจนั้นให้อยู่ไกลศูนย์กลางของตนออกไป มีเมืองที่มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารเป็นแดนกันกระทบของราชอาณาจักร ในพ.ศ. 2304 อยุธยาได้ส่งทัพขึ้นไปทางเหนือหมายจะช่วยเชียงใหม่ ซึ่งมีศุภอักษรมาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร แต่ก็ไม่ทันการณ์ (พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระวันรัตน์ : 642) แม้ในปี พ.ศ. 2307 หุยตองจาเจ้าเมืองทวายเป็นกบฏต่อพม่า เมื่อถูกปราบปรามก็พาครอบครัวอพยพหนีมาเมืองมะริด และทางอยุธยาก็ตกลงใจจะรับหุยตองจาไว้ในอุปถัมภ์ (ไทยรบพม่า, 2507 : 311)
รัชกาลของพระเจ้ามังระนั้นเริ่มรัชกาลด้วยการปราบกบฏในแว่นแคว้นต่างๆ อยู่เสมอมา การแทรกแซงของอยุธยา ในเขตอิทธิพลตามประเพณีของราชวงศ์อลองพญาจึงเป็นการส่งเสริม การกบฏของแว่นแคว้นต่างๆ ในพม่าไปโดยปริยาย ด้วยเหตุดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ พระเจ้ามังระจะต้องลดอำนาจของกรุงศรีอยุธยา ลง จุดมุ่งหมายของการสงครามในครั้งนี้จึงไม่ใช่การขยายพระบรมเดชานุภาพมาเอาเมืองอยุธยาเป็นเมืองออก แต่จุดมุ่งหมายที่แท้จริงคือ การทำให้ราชอาณาจักรอยุธยาแตกสลายลง หรืออ่อนแอลงขนาดที่จะไม่สามารถเป็นที่พึ่งแก่หัวเมืองขึ้นของพม่าได้อีก ตามความเข้าใจของชาวกรุงเก่า การรับตัวหุยตองจาไว้โดยไม่ได้ส่งตัวให้แก่พม่าเมื่อได้รับคำขอนี้คือ สาเหตุสงคราม ในครั้งสุดท้ายนี้ (คำให้การชาวกรุงเก่า, 2510 : 167) ซึ่งก็ไม่ผิดความจริงนัก เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างไทยและพม่าทั้งระบบ
กองทัพพม่าที่ยกเข้ามาตั้งแต่ พ.ศ. 2307 นี้ ไม่มีกษัตริย์เป็นแม่ทัพ และด้วยเหตุดังนั้นจึงมักทุกเหยียดว่าไม่ใช่ทัพกษัตริย์ แต่ทัพกษัตริย์คืออะไรดูไม่มีความหมายแน่นอนนัก ความคิดที่จะตีอยุธยาของพระเจ้ามังระอาจมีนับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ในพ.ศ. 2306 พระองค์ได้โดยเสด็จมาในกองทัพของพระราชบิดาเมื่อยกมาตีกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ.2303 เมื่อขึ้นครองราชย์สมบัติก็ได้ตระเตรียมงานด้านการบริหารราชอาณาจักรไว้อย่างดี เพื่อทำให้สามารถทำสงครามได้หลายด้านและหลายครั้งในรัชกาล ประสบการณ์การรบในประเทศไทยทำให้ทรงรู้จุดอ่อนของราชอาณาจักรอยุธยาพอสมควร และทำให้ได้เตรียมการอันจำเป็นสำหรับการเอาชัยชนะเหนืออยุธยาในเวลาต่อมา …
การที่พระเจ้ามังระมิได้เสด็จยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาเองนั้นก็เนื่องจากภารกิจด้านอื่น และหากจะประเมินภยันตรายที่คุกคามพม่าระหว่างอยุธยาและมณีปุระแล้ว จะเห็นได้ว่ามณีปุระคุกคามพม่าด้วยอาวุธของทหารม้า ในขณะที่อยุธยาเพียงแต่คุกคามด้วยการแผ่บารมีเหนือหัวเมืองขึ้นชายแดน ส่วนจุดมุ่งหมายของกองทัพที่พระเจ้ามังระโปรดให้ยกมาตีกรุงศรีอยุธยานั้น พระราชพงศาวดารพม่าฉบับหอแก้วกล่าวไว้อย่างชัดเจนในคราวที่พระเจ้ามังระ ได้รับข่าวจากเนเมียวสีหบดีว่าจะตีอยุธยาได้อยู่แล้วว่า เมื่อได้อยุธยาแล้ว ให้ทำลายเมืองจนย่อยยับแล้วจับพระเจ้าแผ่นดินกับพระบรมวงศานุวงศ์ส่งไปเมืองพม่าให้หมด
แผนการของพม่าในการพิชิตกรุงศรีอยุธยาก็คือการส่งทัพมากระหนาบกรุงศรีอยุธยา สองทางทั้งจากทางใต้และทางเหนือ พระเจ้ามังระทรงดำริว่าอยุธยาเป็นราชอาณาจักรที่แข็งแกร่งเพราะไม่เคยถูกศึกสงครามบั่นทอนมานาน จะส่งแต่ทัพทางเหนืออันมีเนเมียวสีหบดีเป็นแม่ทัพเพียงด้านเดียวก็จะไม่เพียงพอ จึงโปรดให้มังมหานรธานำทัพมาทางใต้อีกด้านหนึ่งด้วย
กองทัพทั้งสองมีภารกิจอื่นที่ต้องทำก่อน แต่เป็นภารกิจที่จะช่วยเสริมกำลังให้แก่เป้าหมายหลัก คือการตีกรุงศรีอยุธยาอยู่ด้วย กองทัพเนเมียวสีหบดีเดินทัพมาทางหัวเมืองชานเพื่อกะเกณฑ์ผู้คนเข้ามาสมทบ แล้วยกเข้าสู่เมืองเชียงใหม่ผ่านทางเชียงตุง เนเมียวสีหบดีมีหน้าที่ต้องปราบกบฏในล้านนา ซึ่งก็สามารถกระทำได้สำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว ครั้นสิ้นฤดูฝน ในพ.ศ.2307 แล้วก็ยกขึ้นไปปราบเมืองล้านช้างได้หมดแล้ว จึงยกกลับมาค้างฤดูฝนที่ลำปางในพ.ศ.2308 ในระหว่างนั้นกะเกณฑ์ผู้คนในหัวเมืองล้านนา และล้านช้าง รวมทั้งเจ้าฟ้าทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวินเข้าสมทบในกองทัพ เตรียมการยกเข้าตีกรุงศรีอยุธยา
กองทัพเนเมียวสีหบดีเคลื่อนกำลังจากลำปางในฤดูแล้งของ พ.ศ. 2308 ส่วนทัพมังมหานร-ธามีภารกิจที่ต้องปราบกบฏที่ทวายก่อน (เป็นไปไม่ได้ที่จะตีกรุงศรีอยุธยาโดยปล่อยให้เมืองทวายกบฏอยู่เบื้องหลัง) และพักค้างฝนที่ทวายในพ.ศ. 2308 ขณะเดียวกันก็กะเกณฑ์ผู้คนจากหงสาวดี เมาะตะมะ มะริด และทวายตะนาวศรีเข้าสมทบในกองทัพจนเข้าหน้าแล้งของพ.ศ. 2308 ก็เคลื่อนทัพเข้าสู่ประเทศไทยพร้อมกับทัพของเนเมียวสีหบดีเพื่อมาบรรจบกันที่อยุธยาตามนัดหมาย
จะเห็นได้ว่าทัพพม่าทั้งสองนั้นแม้จะเคลื่อนทัพไม่พร้อมกัน เพราะระยะทางกว่าจะถึงกรุงศรีอยุธยาก็ผิดกันไกล นอกจากนี้หัวเมืองรายทางที่ทัพทั้งสองต้องเผชิญก่อนจะประชิดกรุงศรีอยุธ-ยายังต่างกันด้วย ทัพทางใต้เผชิญหัวเมืองรายทางที่ไม่สู้ใหญ่โตนัก ยกเว้นเพชรบุรีแล้ว ก็จะหาเมืองใหญ่ขวางกั้นได้ไม่มากนัก ในขณะที่ทัพทางเหนือต้องเผชิญเมืองใหญ่หลายเมือง เช่นพิษณุโลก สวรรคโลก พิชัยและอาจรวมถึงกำแพงเพชรด้วย เพราะฉะนั้นทัพทางใต้ย่อมสามารถเข้าประชิดพระนครได้ก่อน ขณะที่ทัพทางเหนือต้องเสียเวลานานกว่ามาก ในหลักฐานไทยจึงสะท้อนภาพของการเคลื่อนทัพพม่าทั้งสองทางผิดกัน กล่าวคือทัพทางใต้มีเวลามาก และใช้เวลาในการปล้นสะดมริบทรัพย์จับเชลยอยู่ตามหัวเมืองตั้งแต่เมืองกุย เมืองปราณ เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี นครชัยศรี สุพรรณ เมืองธนบุรี และนนทบุรี
จดหมายของบาทหลวงฝรั่งเศสซึ่งอยู่ในกรุงศรีอยุธยาขณะนั้นรายงานว่า พม่าได้บุกเข้าราชบุรีและกาญจนบุรี ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ.2308 แต่กว่ากองทัพพม่าจะเข้ามาตั้งประชิดพระนครก็เป็นวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2309 นับเป็นเวลากว่าปีระหว่างนั้นพม่าก็มาตั้งค่ายอยู่ที่แม่น้ำสองสายมาบรรจบกัน (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 39, 2508 : 409-414) (คือตอกระออมและดงรังหนองขาวในพระราชพงศาวดารไทย) ต่อเรือรบอยู่ที่นั่น เพื่อทำการศึกแรมปีก่อนจะตีกรุงศรีอยุธยาได้ (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2 : 263)
ส่วนทัพของเนเมียวสีหบดีที่มาจากทางเหนือนั้น หลักฐานไทยและพม่าไม่ตรงกันนักในด้านยุทธศาสตร์ พระราชพงศาวดารฉบับหอแก้วกล่าวว่าเมืองแรกที่ถูกยึดได้คือบ้านตากซึ่งได้ทำการต่อสู้กับพม่า แต่ก็ถูกยึดและปล้นสะดมเมืองตลอดจนจับตัวเจ้าเมืองไปด้วย (เห็นได้ชัดว่าขัดกับพระราชพงศาวดารไทย ที่กล่าวถึงนายทัพที่ชื่อพระยาตาก ออกทำศึกที่กรุงศรีอยุธยาในระหว่างถูกล้อมด้วย) การปราชัยที่ตากทำให้ เจ้าเมืองระแหง และกำแพงเพชรต่างยอมจำนนโดยดี เพื่อมิให้ถูกปล้นสะดมเมืองดังเช่นที่เมืองตากต้องโดน
จากกำแพงเพชร ทัพพม่าก็แยกเข้าตีสวรรคโลกซึ่งทำการต่อสู้แต่ก็พ่ายแพ้และเจ้าเมืองถูกจับเป็นเชลย จากนั้นก็ตีเมืองสุโขทัยซึ่งเจ้าเมืองยอมอ่อนน้อม (ขัดกับพระราชพงศาวดารที่เจ้าเมืองพาราษฎรอพยพหนีเข้าป่า แล้วหวนกลับมาตีทัพพม่าร่วมกับทัพพิษณุโลก) หลังจากนั้นทัพพม่าก็ยกไปถึงเมือง ซึ่งพระราชพงศาวดารพม่าฉบับหอแก้วเรียกว่า “ ยาซามะ ” หรือ “ ราซะมา ” ซึ่งเจ้าเมืองยอมอ่อนน้อม (นึกไม่ออกว่าจะเป็นเมืองใดในหัวเมืองเหนือ อาจสับสนกับเมือง “ ราชสีมา ” ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่พม่าน่าจะรู้จักชื่อ) แล้วจึงเคลื่อนทัพเข้าพิษณุโลกอันเป็นเมืองใหญ่ เจ้าเมืองต่อรบแต่ก็ปราชัยจึงถูกจับเป็นเชลย (ข้อนี้ขัดแย้งพระราชพงศาวดารไทยทั้งในสมัยอยุธยา และธนบุรีอย่างชัดเจน กล่าวคือพิษณุโลกมิได้เสียแก่พม่าในครั้งนั้น อีกทั้งพระยาพิษณุโลกยังจะตั้งตนขึ้นเป็นเจ้า ในเวลาต่อมาด้วย) พม่าพักพลในพิษณุโลก 10 วัน แล้วก็ส่งทัพไปเที่ยวตีเมืองต่างๆ ในทางเหนือได้หมด คือเมือง “ ลาลิน ” (ไม่ทราบเมืองใด) “ เปกแซ ” (พิชัย) “ ทานี ” (บ้านกงธานีอันจะเป็นเมืองสุโขทัยใหม่ในเวลาต่อมา ? ) “ บิกเสก ” (พิจิตร) “ กุนวันซัน ” (นครสวรรค์) และ “ อินทอง ” (อ่างทอง) ไม่ปรากฏว่ามีเมืองใดสู้รบเลย พม่าจึงเกณฑ์ทัพจากหัวเมืองเหนือทั้งหมดที่ตีได้เหล่านี้รวมคนร่วมมาในกองทัพเพื่อตีกรุงศรีอยุธยาด้วย
ดังนั้นในการยกทัพมาครั้งนี้ทัพทั้งสองจึงต่างมาพักค้างฝนกันที่ชายพระราชอาณาเขตคือลำปางและทวาย เพื่อให้มีเวลาทำการแก่อยุธยาได้เต็มที่ ในขณะเดียวกันก็ได้เตรียมการที่จะทำการแรมปี เพราะต้องใช้เวลาในการตัดขาดกรุงศรีอยุธยาออกจากกำลังไพร่พลที่พึงหาได้ในหัวเมือง อันนับได้ว่าเป็นการตีจุดอ่อนที่สุดของราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา …
ยุทธวิธีที่กองทัพทั้งสองของพม่าใช้ในการปราบปรามหัวเมืองทั้งหลายนั้นตรงกันก็คือ หากเมืองใดต่อสู้ก็จะปล้นสะดมริบทรัพย์จับเชลย เป็นการลงโทษเมื่อตีเมืองได้ เมืองใดยอมอ่อนน้อมแต่โดยดีก็เพียงแต่กะเกณฑ์ผู้คนเสบียงอาหารใช้ในกองทัพโดยไม่ลงโทษ นอกจากนี้พม่ายังใช้การกระจายกำลังออกเกลี้ยกล่อม ผู้คนพลเมืองทั่วไปในท้องถิ่นภาคกลางฝั่งตะวันตก ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีหลักฐานเรื่องราษฎรไทย “ เข้าเกลี้ยกล่อมพม่า ” อยู่หลายที่ (เช่นใน พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา) ถึงกับเข้าอาสาพม่าจนจัดทัพได้กองหนึ่งก็มี บาทหลวงฝรั่งเศสรายงานใน พ.ศ. 2308 ว่า “ …เกิดเสียงลือกันขึ้นด้วยว่ากองทัพพม่าเต็มไปด้วยคนไทย ซึ่งได้รับความเดือดร้อนเอาใจออกห่างจากไทย ไปเข้ากับพม่า… ” (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 39, 2508 : 412) ด้วยวิธีเช่นนี้แม้ว่ากองทัพพม่ามิได้มีกำลังพล มากนัก ในระยะต้นก็สามารถเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาและพิชิตได้ในที่สุด แต่ความสำเร็จเช่นนี้ของพม่าก็เกิดขึ้น ได้เพียงเพราะระบบการป้องกันตนเอง ของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาพังสลายลงเนื่องจากความไร้ประสิทธิภาพ ของการจัดการปกครองหัวเมืองและกำลังคน
กองทัพทั้งสองของพม่ามาบรรจบกันในปลาย พ.ศ. 2308 โดยทัพทางเหนือตั้งที่ปากน้ำประสบห่างจากอยุธยา ไม่ถึง 2 กิโลเมตร ในระหว่างนั้นก็กระจายกำลังกันเที่ยวเกลี้ยกล่อมปราบปรามหัวเมืองดังที่กล่าวแล้ว การล้อมกรุงก็ยังไม่สู้จะกวดขันนัก จึงปรากฏว่ามีราษฎรจากบ้านนอกหลบหนีภัยพม่าเข้ามาอาศัยอยู่ ในกรุงวันละมากๆ เสมอมาและเสบียงอาหารในกรุงก็ยังคงบริบูรณ์ดีอยู่ เพราะเข้าใจว่าจะยังสามารถ ลาดหาเสบียงอาหารมาเก็บไว้ได้ต่อไป ดังปรากฏในจดหมายเหตุของบาทหลวงฝรั่งเศสว่า เมื่อพม่าเข้าตั้งประชิดพระนครและล้อมกรุงอย่างกวดขันขึ้นตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2309 นั้น เสบียงอาหารในกรุงก็ยังบริบูรณ์ดี มีแต่ขอทานเท่านั้นที่อดตาย (ประชุมพงศาวดารภาคที่ 39 , 2508 : 414)
จากวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2309 เป็นต้นมาอีกไม่ถึงปี กรุงศรีอยุธยาก็ถูกยึดได้สำเร็จในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 แต่อันที่จริงแล้วราชอาณาจักรอยุธยาได้พังสลายลงก่อนหน้าที่กำแพงเมืองอยุธยาจะถูกทำลายลงแล้ว กำลังจากภายนอกได้บ่อนทำลายสายสัมพันธ์อันเปาะบางของหัวเมืองและราชธานีลงไปอย่างย่อยยับ ราชอาณาจักรอยุธยามิได้มีโอกาสต่อสู้กับข้าศึกเยี่ยงราชอาณาจักรจะพึงกระทำได้ แต่ต่อสู้เพื่อความปลอดภัยของเมืองตนเองอย่างกระจัดกระจายกัน ส่วนหนึ่งของความโกลาหลและอ่อนแอเหล่านี้อาจเป็นความล้มเหลวของผู้นำ แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดคือความล้มเหลวของระบบการเมือง และสังคมของอยุธยาเองในอันที่จะป้องกันภัยจากศัตรูภายนอก
และในท่ามกลางความอ่อนแอนี้ กรุงศรีอยุธยายังถูกตัดขาดจากหัวเมืองของตนเองมาเป็นเวลาต่อเนื่องกันเกือบ 2 ปีเต็ม จึงไม่มีรัฐบาลกลางเหลือแม้แต่เงาที่จะอำนวยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของราชอาณาจักรไว้ได้อีก ชัยชนะของพม่าข้าศึกนั้นจึงได้จากการทำลายราชอาณาจักรอยุธยาลงจนสิ้นเชิง ส่วนการยึดเมืองอยุธยานั้นเป็นผลตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั้น (วีณา โรจน ราธา, 2540 : 132-137)