สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
บทที่ 14 พระราชกรณียกิจด้านคมนาคม และความสัมพันธ์กับประเทศซีกโลกตะวันตก
14.1 พระราชกรณียกิจด้านคมนาคม ในสมัยกรุงธนบุรีมีการตัดถนนและขุดคูคลองเพื่ออะไร ?
สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงยกเลิกความคิดแนวเก่าที่ว่าหากถนนหนทางการคมนาคมมีมากแล้ว จะเป็นการอำนวยประโยชน์ให้ข้าศึกศัตรูและพวกก่อการจราจล แต่กลับทรงเห็น เป็นประโยชน์ในทางการค้า มากกว่า ดังนั้นในฤดูหนาว หากว่างจากการศึกสงคราม ก็จะโปรดให้ตัดถนนบำรุงทางเพื่อการสัญจรไปมาค้าขายทางบกและการลำเลียงขนส่ง และขุดคลองเพื่อ ใช้เป็นเส้นทางสัญจรไปมา ของบรรดาพ่อค้าประชาชน อำนวย ความสะดวกในการค้าขายขนส่งสินค้า ตลอดจนการคมนาคม ไปมาหาสู่กัน และให้ประโยชน์ทางด้านยุทธศาสตร์ (ประพัฒน์ ตรีณรงค์, 2542 : 20) โดยมีหลักฐานปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุของพวกคณะบาทหลวงฝรั่งเศสที่เข้ามาอยู่ในกรุงธนบุรีสมัยนั้น (ประชุมพงศาวดารภาคที่ 39) กล่าวไว้ดังนี้
“ …ในระหว่างเวลาที่เป็นฤดูหนาวนั้น พระเจ้าตากทรงโปรดให้ ตัดถนนหนทาง ซึ่งเป็นการผิดแบบพระราชประเพณีของพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนๆ และโปรดให้สร้างป้อมขึ้นหลายป้อมด้วย… ”
เส้นทางคมนาคมที่สำคัญของเมืองไทยเรา ในสมัยเมื่อ 200 ปีมาแล้วขึ้นไปนั้น ล้วนแต่เป็นทางน้ำทั้งสิ้น เราแทบจะไม่ได้ยินได้ฟังเรื่องการตัดถนนกันเลย นอกจาก “ ถนนพระร่วง ” ในสมัยสุโขทัย นับว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีแนวความคิดในการพัฒนาประเทศทันสมัยอย่างยิ่ง
14.1.1 การขุดคลองคูเมือง ฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก
เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีนั้น อาณาเขตกรุงธนบุรีเลยมาด้านฝั่งกรุงเทพฯ (พระนคร) กรุงธนบุรีแต่เดิมไม่มีกำแพง จึงตั้งค่ายไม้ทองหลางทั้งต้น ตลอดแนวคลองล้อมพระนครทั้งสองฟากแม่น้ำ ในปี พ.ศ.2315 โปรดฯ ให้ขุดคลองดังรายละเอียดในพระราชพงศาวดารดังนี้
“ …แล้วให้ขุดคลองเป็นคูข้างหลังเมือง แต่คลองบางกอกน้อยออกคลองบางกอกใหญ่ (ในจดหมายเหตุโหรบันทึกไว้ว่า ขุดเมื่อ จ.ศ.1135 ตรงกับ พ.ศ.2315 เข้าใจว่าจะหมายถึงที่เรียกกันว่า คลองบ้านขมิ้น ตอนหนึ่ง คลองบ้านหม้อ ตอนหนึ่ง และ คลองวัดท้ายตลาด (วัดโมฬีโลก) ออกคลองบางกอกใหญ่ตอนหนึ่ง เอามูลดินขึ้นถมเป็นเชิงเทินข้างในทั้งสามด้าน เว้นแต่ด้านริมแม่น้ำและฟากตะวันออกก็ให้ตั้งค่ายรอบเหมือนกัน ให้ขุดคลองเป็นคูข้างหลังเมือง ตั้งแต่กำแพงเก่าท้าย ป้อมวิไชเยนทร์ วนขึ้นไปจนถึงศาลเทพารักษ์หัวโขด ออกแม่น้ำทั้งสองข้าง ด้านเหนือที่ท่าช้างวังหน้า ด้านใต้ที่ปากคลองตลาด เอามูลดินขึ้นถมเป็นเชิงเทินสามด้าน แล้วไปรื้ออิฐจากค่ายโพธิ์สามต้นและค่ายสีกุก และบางไทรกับเมืองพระประแดงมาก่อกำแพงป้อมตามเชิงเทิน 3 ด้าน (น ณ. ปากน้ำ, 2536 : 53 ) เว้นแต่ด้านริมแม่น้ำดุจกัน…เอาแม่น้ำไว้หว่างกลางเหมือนอย่างเมืองพิษณุโลก (เมืองอกแตก) ”

แผนที่แสดงอาณาเขตกรุงธนบุรี เมื่อเป็นราชธานี
ธนบุรีฝั่งตะวันตก ติดคลองบ้านขมิ้น คลองบ้านหม้อ คลองวัดท้ายตลาด
ธนบุรีฝั่งตะวันออก ติดคลองคูเมือง หรือที่ปัจจุบันเรียกคลองหลอด

บริเวณป้อมสองฟากแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงปากคลองบางกอกใหญ่ ที่เมืองบางกอกในสมัยอยุธยา
(ภาพจากหนังสือ เวียงวังฝั่งธนฯ ชุมชนชาวสยาม)

หมายเหตุ : ตรงที่ปัจจุบันเรียก “ คลองบ้านขมิ้น ” อยู่ฝั่งธนบุรี แต่เดิมเป็นซาก คลองคูเมืองฝั่งตะวันตก ที่ยังเหลืออยู่สมัยก่อน เป็นคลองคูเมืองธนบุรี เชื่อม ระหว่าง คลองบางกอกน้อย กับ คลองบางกอกใหญ่ ทุกวันนี้มีถนนอรุณอมรินทร์เลียบตามแนวคลองคูเมือง มีอาคารร้านค้าตึกแถวรุกล้ำทำให้รกร้าง และเน่าเหม็นหมดความเป็นคลองคูเมืองที่ ป้องกันอริราชศัตรู
ส่วน ป้อมวิไชเยนทร์ นั้นอยู่ท้ายพระราชวัง ต่อมาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น ป้อมวิไชยประสิทธิ์ (สาระน่ารู้กรุงธนบุรี, 2543 : 88)
ส่วน คลองคูเมืองฝั่งตะวันออก ของกรุงธนบุรีอยู่ฝั่งพระนครขุดในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่สะพานปิ่นเกล้าถึงปากคลองตลาด เคยเรียกกันทั่วไปว่า คลองหลอด มีซากอิฐเป็นฐานรากกำแพงเมืองเหลืออยู่ริมคลอง มีร่มไม้ใบบังสดชื่นรื่นรมย์ที่สุด แต่คลองคูเมืองด้านตะวันออกนั้นถูกถนน และสะพานขึ้นคล่อมไปเสียส่วนหนึ่ง (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2545 : 60)
คลองคูเมืองด้านตะวันออกนี้ต่อมาได้รับการขนานนามว่า “ คลองคูเมืองเดิม ” เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พ.ศ.2525 (ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, 2538 : 38-39)
แผนที่แสดงเมืองธนบุรี
๑. วัดอมรินทราราม
๒. พระราชวังหลัง
๓. วังสวนมังคุด
๔. วังบ้านปูน
๕. วัดระฆังโฆสิตาราม
๖. พระราชนิเวศน์
๗. วัดอรุณราชวราราม
๘. พระราชวังเดิม
๙. ป้อมวิไชยประสิทธิ์
๑๐. วัดโมลีโลกยาราม (ภาพจากหนังสือสาระน่ารู้กรุงธนบุรี, 2543 : 87)
ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้สถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานีนั้น โปรดให้ขุดคูเมืองใหม่ขนานกับคลองคูเมืองเดิม ทางด้านกรุงเทพมหานครเพื่อขยายอาณาเขตราชธานี คลองคูเมืองเดิมจึงมิได้ใช้สอยประโยชน์เป็นคูเมือง กลายเป็นเส้นทางคมนาคมของราษฏรในเมืองหลวง ประชาชนเรียกชื่อคลองนี้เป็นตอนๆ ตามสถานที่สำคัญที่คลองผ่าน เช่น ปากคลองด้านเหนือผ่านโรงไหมหลวง เรียกว่า “ คลองโรงไหม ” ปากคลองด้านใต้เป็นตลาดทั้งบนบก และในน้ำที่คึกคักมาก จึงเรียก “ ปากคลองตลาด ” ส่วนตอนกลางระหว่างคลองหลอดข้างวัดบูรณศิริมาตยาราม กับคลองหลอดข้างวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ได้มีประกาศของสุขาภิบาล ร.ศ.127 ให้เรียกว่า “ คลองหลอด ” ซึ่งน่าจะหมายความว่าคลองที่ขุดเชื่อมเป็นหลอด อยู่ระหว่างคลองใหญ่สองคลองที่อยู่ขนานกัน เชื่อมคลองคูเมืองทั้งสองเป็นระยะๆ แต่ภายหลังคนทั่วไปมักเรียกคลองนี้ตลอดสายว่า “ คลองหลอด ” ซึ่งผิดจากข้อเท็จจริง
กล่าวโดยสรุปคือ
“ …ข้างฝั่งตะวันตกของกรุงธนบุรีโปรดให้ขุดคลองเชื่อมระหว่างคลองบางกอกน้อยและคลองบางกอกใหญ่ ซึ่งปัจจุบันยังเห็นร่องรอยอยู่เรียกว่าคลองวัดวิเศษฯ ขนานแนวถนนอรุณอมรินทร์เดี๋ยวนี้ ข้างฟากตะวันออก (อยู่ข้างฝั่งพระนคร) นั้นโปรดให้ขุดคลองเมืองจากบริเวณป้อมปากคลองตลาดปัจจุบัน ไปจนออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณสะพานพระปิ่นเกล้าหน้าโรงละครแห่งชาติทุกวันนี้ หรือที่เรียกกันทุกวันนี้ว่า “ คลองหลอด ” ดังนั้น “ คลองหลอด ” หน้ากระทรวงมหาดไทยก็คือ คูเมืองธนบุรีด้านตะวันออก และ “ คลองวัดวิเศษฯ ” ก็คือ “ คูเมืองธนบุรีด้านทิศตะวันตก ” ที่สำคัญก็คือมีแม่น้ำเจ้าพระยาผ่ากลางเมือง เราจึงเรียกเมืองธนบุรีว่า “ เมืองอกแตก ” (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2545 : 26)

แผนที่เมืองบางกอก พิมพ์โดย Henry Colburn กรุงลอนดอน เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2371
(ภาพจากวารสารศิลปวัฒนธรรม)

สภาพบรรยากาศของคลองหลอดในอดีต ใช้สัญจร-ค้าขาย

ปัจจุบันลักษณะการใช้งานเป็นคลองระบายน้ำ (ภาพจากสำนักการระบายน้ำ)
หมายเหตุ
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองเพิ่มขึ้นในปีพ.ศ. 2326 เชื่อมระหว่างคลองคูเมืองเดิม และคลองรอบกรุง เพื่อประโยชน์ในการยุทธศาสตร์ และคมนาคม มี 2 คลอง แต่มิได้พระราชทานชื่อไว้ คงเรียกกันตามลักษณะของคลองว่า ” คลองหลอด “
คลองหลอดวัดราชนัดดา เริ่มจาก คลองคูเมืองเดิม ตรงระหว่างโรงแรม รอแยล ( โรงแรม รัตนโกสินทร์ ) และวัดบูรณศิริมาตยาราม ผ่านถนนตะนาว วัดมหรรณ พาราม ถนนบ้านดินสอ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร วัดราชนัดดา ถนนมหาไชย ไปบรรจบกับคลองรอบกรุงตรงวัดราชนัดดาราม คลองนี้เดิมเรียกชื่อ คลองหลอด ไม่มีชื่อเฉพาะ แต่ต่อมาเรียกกัน ตามจุดที่ผ่าน เช่นเรียกว่า คลองบูรณศิริฯ คลองวัดมหรรณพ์ คลองวัดราชนัดดา และคลองวัด เทพธิดา เป็นต้น

แผนที่กรุงเทพในสมัยพระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
(ภาพจาก ประวัติศาสตร์ไทย สมัยใหม่)
คลองหลอดวัดราชบพิธ เริ่มจากคลองคูเมืองเดิม ตรงวัดราชบพิธ ผ่านถนนราชบพิธ ถนนบ้านดินสอ ถนนมหาไชย บรรจบคลองรอบกรุง ตอนเหนือสะพานดำรงสถิต คลองนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ” คลองสะพานถ่าน ” แต่เรียกเป็นทางราชการว่า ” คลองวัดราชบพิธ “
ในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี รัฐบาลแห่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช สยามินทราธิราช รัชกาลปัจจุบัน จึงได้กำหนดเป็นมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2510 ให้เรียกชื่อคลองทั้งสองนี้ เพื่อเป็นการรักษาอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ว่า ” คลองหลอดวัดราชนัดดาราม และคลองหลอดวัดราชบพิธ ” (กองระบบคลอง สำนักการระบายน้ำ, 2546, http://dds.bma.go.th/Csd/canal_1.htm , 8/7/2547)
14.1.2 นอกจากนั้นยังโปรดฯ ให้ ขุดคลองขึ้นที่เมืองนครศรีธรรมราช ดังข้อความต่อไปนี้
“ ในด้าน การขุดคลอง นั้น ก็มีหลักฐานปรากฏอยู่ในสำเนากฎเรื่องตั้งพระเจ้าขัติยราชนิคมสมมติมไหสวรรย์ พระเจ้านครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ.2319 ว่าได้โปรดให้เร่งดำเนินการ ขุดคลองท่าขาม เพื่อให้ทะลุไปออกทะเลหน้านอก หรือทะเลฝ่ายตะวันตก ซึ่งในปัจจุบันเราเรียกกันว่า “ มหาสมุทรอินเดีย ” เพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่อง เส้นทางเดินเรือค้าขาย และ การส่งกำลังบำรุงสำหรับกองทัพเรือทางด้านทะเลหน้านอก ต่อไป
ดังปรากฏข้อความอยู่ในกฎฉบับดังกล่าวดังนี้
“ …ประการหนึ่งคลองท่าขาม ซึ่งจะออกไปทะเลฝ่ายตะวันตก มีตราออกไปแต่ก่อนให้ขุดชำระยังมิสำเร็จนั้น ให้ดูท่วงทีมาดหมายไว้ในใจ จึงจะให้มีตราออกไปต่อภายหลัง… ” แปลว่า พัฒนาการทางด้านคมนาคมขนส่งของเมืองไทย ในสมัยกรุงธนบุรีนั้นมีทั้งการตัดถนนและขุดคลองพร้อมสรรพ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ เริ่มมีการตัดถนนในสมัยรัชกาลที่ 4 ” (เสทื้อน ศุภโสภณ, 2527 : 52)
14.2 พระราชกรณียกิจด้านความสัมพันธ์กับประเทศทางซีกโลกตะวันตก
ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ นั้น ไทยได้มีสัมพันธไมตรีกับประเทศทางซีกโลกตะวันตกหลายประเทศ อาทิ โปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ และฝรั่งเศส แต่เป็นการติดต่อทางด้านการค้าเป็นหลัก ส่วนประเทศทางซีกโลกตะวันออกที่เข้ามาค้าขายที่กรุงธนบุรี อาทิ จีน ชวา (เวลานั้นเราเรียกกันว่า “ แขกเมืองยักกะตรา ” คืออินโดนีเซียในปัจจุบัน) มลายู (มาเลเซีย) ฯลฯ ซึ่งทำรายได้ให้แก่ประเทศไทยด้วยเพราะไทยได้ค่าปากเรือ ภาษีขาเข้า-ขาออก ตามระบบภาษีอากรของไทยสมัยนั้น
นักประวัติศาสตร์บางท่านยกย่องว่า สมัยกรุงธนบุรีนี้ เป็นยุคที่การค้าเจริญทั้งของราษฏรและของหลวง การค้าขายในครั้งนั้นที่สำคัญก็คือ การค้าทางเรือ โดยบรรทุกสินค้าลงเรือสำเภาส่งออกไปขายยังประเทศต่างๆ ในย่านนี้ เมื่อบ้านเมืองค่อยคืนเข้าสู่ความเป็นปรกติสุขแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงเอาพระทัยใส่ ทำนุบำรุงการค้าทางทะเลเป็นการใหญ่ เพราะเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะได้เงินเข้ามาบำรุงประเทศเป็นจำนวนมาก ๆ ให้เพียงพอแก่การจับจ่ายใช้สอยในราชการได้ ปรากฏว่าในสมัยกรุงธนบุรีนั้น ไทยได้ส่ง สำเภาหลวง ออกไปทำการค้ากับนานาประเทศแถบนี้รวมหลายสายด้วยกัน กล่าวคือทางตะวันออกไปถึงเมืองจีน ทางตะวันตกไปถึงอินเดีย บางคราวมีสำเภาหลวงส่งออกไปถึง 11 ลำ นับเป็นจำนวนสูงพอดูสำหรับสมัยนั้น ผลกำไรที่ได้จากการค้าทางเรือนี้ได้ช่วยบรรเทาการเก็บภาษีอากรจากราษฏรได้เป็นอันมาก
การค้าขายทางเรือนี้นับเป็นงานสำคัญยิ่งในการซ่อมสร้างชาติไทย นอกจากผลกำไร อันเป็นสิ่งพึงปรารถนาเบื้องต้น ยังทำให้ คนไทยรักการค้า ช่ำชองค้าขายกว้างขวางไกลออกไปทุกที อีกทั้งป้องกัน มิให้การค้าตกไปอยู่ในมือต่างชาติ เสียหมด สามารถรักษาประโยชน์ของ สินค้าพื้นเมือง มิให้ถูกทอดทิ้ง นับเป็นความเจริญทางการค้าที่ค่อนข้างรุ่งเรืองได้สมัยหนึ่ง (สนั่น ศิลากรณ์, 2531 : 37)

สำเภาฝรั่งเศส สำเภาอินเดีย
(ภาพจากหนังสือเรือ : เรือ : วัฒนธรรมชาวลุ่มน้ำเจ้าพระยา)


สำเภาญี่ปุ่น
(ภาพจากวารสารศิลปวัฒนธรรม)
14.2.1 ความสัมพันธ์ด้านการค้ากับโปรตุเกส
ในสมัยกรุงธนบุรีมีการติดต่อค้าขายกับชาวโปรตุเกสอยู่บ้าง ในปีพ.ศ. 2333 โปรตุเกสและแขก มัวร์จากเมืองสุรัต (เมืองในอินเดีย) ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกสในขณะนั้นได้เดินทางมาค้าขายกับไทย และไทยเคยส่งสำเภาหลวงออกไปค้าขายยังประเทศอินเดียจนถึงเขตเมืองกัว เมืองสุรัต แต่ยังไม่มีการเจริญทางพระราชไมตรีเป็นทางการต่อกัน ( 53 พระมหากษัตริย์ไทย ธ ทรงครองใจไทย ทั้งชาติ, 2543 : 246)

สำเภาโปรตุเกส
(ภาพจากหนังสือเรือ : วัฒนธรรมชาวลุ่มน้ำเจ้าพระยา)

สำเภาอังกฤษ
(ภาพจากหนังสือเรือ : วัฒนธรรมชาวลุ่มน้ำเจ้าพระยา)
14.2.2 ความสัมพันธ์ด้านการค้ากับอังกฤษ
ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น ทรงแสวงหาอาวุธยุทธภัณฑ์ที่ทันสมัยมาไว้ใช้ในการศึกสงคราม
และประเทศที่ไทยติดต่อซื้ออาวุธที่สำคัญที่สุดคือ ประเทศอังกฤษ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่อินเดีย และกำลังแผ่อำนาจจะเข้ามาครอบครองแหลมมลายู (คือดินแดนประเทศมาเลเซีย และประเทศสิงคโปร์ในปัจจุบัน) เพราะปราถนาจะได้สถานที่ทางแหลมมลายูนี้สักแห่งหนึ่ง เพื่อมาทำเป็นเมืองท่าค้าขายแข่งกับพวกฮอลันดา โดยจะทำเป็นที่จอดพักเรือรบและเรือค้าขาย บุคคลสำคัญของอังกฤษที่เป็นหัวแรงในเรื่องนี้คือ นายฟรานซิส ไลท์ ( Francis Light Sq.) (หรือ “ กปิตันเหล็ก ” หรือ “ กัปตันเหล็ก ” ในเอกสารของฝ่ายไทยสมัยก่อนนั่นเอง) ซึ่งเคยเป็นอดีตนายทหารเรือ แห่งราชนาวีอังกฤษ

ฟรานซีส ไลท์ ( Captain Francis Light)
(ภาพจาก http://www.thum.org/albums/penang03/ 0006_Statue_of_Sir_Francis_Light.jpg )
กัปตันไลท์ได้ลาออกจากราชการมาทำหน้าที่เป็นนายเรือสินค้าคนสำคัญคนหนึ่งของบริษัทอินเดียตะวันออก ( East India) อันเป็นบริษัทการค้าที่ทรงอิทธิพลข องอังกฤษอยู่ในขณะนั้น ฟรานซิส ไลท์ ได้เดินเรือไปมาค้าขายอยู่ในย่านนี้เสมอ ได้เข้ามาสมาคมคลุกคลีใกล้ชิดกับชาวมลายูเป็นอันดี จนเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายทั่วไป นอกจากนี้เขายังได้เข้ามาพำนักอาศัยอยู่ที่เมืองถลาง ( ภูเก็ต ) เป็นเวลาช้านาน จนได้ภริยาเป็นคนไทยเชื้อสายโปรตุเกส ซึ่งเป็นชาวเมืองถลางนั้นเอง และได้สนิทสนมคุ้นเคยกับพระยาถลาง ตลอดจนคุณหญิงจัน หรือท้าวเทพกษัตรี วีรสตรีแห่งเมืองถลาง เป็นอย่างดีอีกด้วย รวมความว่า ในขณะนั้นฟรานซิส ไลท์ เป็นชาวอังกฤษที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง และแพร่หลายเป็นอันดีทั้งในวงการค้าและในวงการชั้นสูง โดยทั่วไปในย่านบริเวณนี้ ดังนั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดให้กัปตัน ฟรานซิส ไลท์เป็นผู้รับภาระในการติดต่อขอซื้ออาวุธให้แก่ทางราชการไทยในครั้งนั้น โดยโปรดให้มีหนังสือติดต่อไปเมื่อปี พ.ศ.2320 ซึ่งทางฟรานซิส ไลท์ก็ได้รับเป็นธุระจัดการให้เป็นอย่างดีพอสมควร
ดังปรากฏในจดหมายตอนหนึ่งที่ฟรานซิส ไลท์เขียนไปถึงนายยอร์ช สแตรตตัน ลงวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2320 กล่าวถึงพระราชประสงค์ของพระเจ้ากรุงธนบุรีในการซื้ออาวุธปืนในครั้งนั้นว่า “ …พระเจ้าแผ่นดินสยาม ได้สดับว่าพม่ากำลังให้ความสนใจกับพวกฝรั่งเศสมาก ลำพังพม่าพวกเดียว แล้วพระองค์ไม่กลัว แต่ทรงวิตกว่าพวกพม่าจะเข้าร่วมกับพวกฝรั่งเศส ซึ่งมีอยู่มากในหงสาวดีและอังวะ จึงทรงเห็นภัยที่จะมีมาถึง ประเทศถึงแม้ว่าจะทรงได้ปืน 6,000 กระบอก ที่พวกฮอลันดาจากปัตตาเวีย ขายให้ในราคากระบอกละ 12 บาท แถมปีนี้จะได้อีก 1,000 กระบอกก็ตาม พระองค์ไม่ประสงค์จะเกี่ยวข้องกับพวกฮอลันดานัก พระเจ้าแผ่นดินสยามจึงได้ทรงขอร้องให้ข้าพเจ้าจัดหาอาวุธ ขนาดย่อมเป็นจำนวนมาก ถวายให้พระองค์ ให้มากที่สุดเท่าที่จะหาได้ ข้าพเจ้าได้ให้สัญญาไปว่าจะใช้ความอุตสาหะพยายามให้มากที่สุด จัดหาให้พระองค์ตามพระประสงค์ พระเจ้าแผ่นดินสยามทรงบอกมาว่ากองทัพของพระองค์จะไปโจมตี เมืองมะริดในฤดูนี้… ” (อาณัติ อนันตภาค, 2546 : 143)
ปรากฏความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า เมื่อปีพ.ศ.2319 กัปตันไลท์ได้ส่งปืนเข้ามาถวายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นจำนวน 1,400 กระบอก รายละเอียดมีแจ้งอยู่ดังนี้
“ อนึ่ง ในเดือนสิบนั้น กะปิตันเหล็กอังกฤษเจ้าเมืองเกาะหมากส่งปืนนกสับเข้ามาถวายพันสี่ร้อยกระบอก กับสิ่งของเครื่องราชบรรณาการต่างๆ ”
นอกจากนี้ยังปรากฏเป็นหลักฐานว่า เจ้าพระยาพระคลังในสมัยกรุงธนบุรี ได้เคยมีหนังสือไปถึงชาวเดนมาร์ก ผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นเจ้าเมืองตรังกาบาร์ อันเป็นเมืองท่าค้าขายอยู่ทางแถบอินเดียตอนใต้ ขอให้อำนวยความสะดวก ให้แก่ “ กปิตันเหล็ก ” ซึ่งได้รับมอบหมายให้ออกไปหาซื้ออาวุธปืนคาบศิลาจำนวน 10,000 กระบอก ณ เมืองตรังกาบาร์นั้นให้ด้วย ด้วยความดีความชอบที่กัปตันฟรานซิส ไลท์ ได้ช่วยเหลือราชการ ในการจัดหาซื้ออาวุธปืนมาถวายให้ เพื่อใช้ในการต่อสู้ข้าศึกศัตรูนี้ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เขาเป็น พระยาราชกปิตัน เมื่อราว ปี พ.ศ.2321
ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนี้ ประเทศไทยเราได้มีความสัมพันธ์เป็นอันดีกับอังกฤษ ปรากฏว่าพระองค์เคยโปรดให้เจ้าพระยาพระคลังมีสาส์นไปถึงผู้สำเร็จราชการเมืองมัทราส (ที่อินเดีย) ของอังกฤษ และนายยอร์จ สแตรดตัน ผู้สำเร็จราชการแห่งเมืองมัทราส ในขณะนั้น ก็ได้มีสาส์นเข้ามาถวายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ลงวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ.1777 (พ.ศ.2320) พร้อมกับได้ถวายดาบทองคำประดับพลอยแก่พระองค์ด้วย และในตอนท้ายของสาส์นฉบับดังกล่าว เขาก็ได้ทูลขอให้ทรงพระกรุณาให้ฟรานซิส ไลท์ ขายสินค้าในประเทศไทยได้โดยสะดวกด้วย นับว่าในสมัยกรุงธนบุรีนี้ ประเทศไทยได้มีความสัมพันธ์กับอังกฤษเป็นอันดี ต่อมานายฟรานซิส ไลท์ผู้นี้ได้พยายามอย่างยิ่ง ที่จะยึดเอาเกาะปีนัง ( เกาะหมาก) เข้าไปไว้ในครอบครองของบริษัทอินเดียตะวันออก ( ของอังกฤษ ) ที่เขาสังกัดอยู่ให้จงได้ เพราะจะได้อาศัยเป็นที่ตั้งจอดพักเรือรบ เรือสินค้า ทางด้านทะเลหน้านอก ( ด้านมหาสมุทรอินเดีย ) ใช้เป็นที่ค้าขายแข่งกับพวกฮอลันดา ซึ่งเข้ามาได้เมืองมะละกาไว้เป็นที่มั่น เขาจึงได้ใช้ความสามารถ และวิริยะอุตสาหะทุกทางในอันที่จะขอเช่าเกาะปีนังจากพระยาไทรบุรี ผู้เป็นเจ้าของให้จงได้ ซึ่งเมืองไทรบุรีในขณะนั้นก็เป็นเมืองขึ้นของไทยอยู่

สำเภาฮอลันดา
(ภาพจากหนังสือเรือ : วัฒนธรรมชาวลุ่มน้ำเจ้าพระยา )
พระยาไทรบุรีกำลังหวั่นเกรงว่า กองทัพไทยจะยกลงไปตีเมืองไทรบุรี ( เพราะขณะนั้นกองทัพไทยกำลังไปขับไล่พม่า ทางหัวเมืองปักษ์ใต้เมื่อคราวสงครามเก้าทัพ ) จึงได้ตกลงยินยอมให้อังกฤษเช่าเกาะปีนังได้เมื่อปี พ.ศ.2329 อันเป็นปีที่ 5 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ฟรานซิส ไลท์ จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการเกาะปีนัง (เดิมชื่อเกาะหมาก) หรือเป็นเจ้าเมืองปีนังคนแรก และเขาได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นเกาะปริ๊นซ์ออฟเวลส์ เพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าชายแห่งเวลส์แห่งประเทศอังกฤษ (เสทื้อน ศุภโสภณ , 2527 : 58-60)
14.2.3 ความสัมพันธ์ด้านการค้ากับฮอลันดา
ในปีพุทธศักราช 2313 แขกเมืองตรังกานู และแขกเมืองยักตรา หรือยักกะตรา (จาการ์ตา ในเกาะชวา เมืองหลวงของประเทศอินนีเซียในปัจจุบัน) ได้นำปืนคาบศิลาเข้ามาถวาย 2,200 กระบอก ในขณะที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกำลังจะเสด็จกรีธาทัพขึ้นไปปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง แสดงว่าฮอลันดาน่าจะเป็นชาวยุโรปอีกชาติหนึ่งที่ได้เข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยเราในสมัยกรุงธนบุรี ด้วยในเวลานั้นฮอลันดามีอำนาจปกครองเกาะชวาอยู่ (มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม , 2543 : 88-92 ; เสทื้อน ศุภโสภณ, 2527 : 60 )

ปืนคาบศิลา หรือปืนยาว แบบคาบศิลา
(ภาพจากหนังสือการทหารของไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)
14.2.4 ความสัมพันธ์กับฝรั่งเศส
เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานีได้สำเร็จ บาทหลวงกอรร์ (Corre) ซึ่งเป็นอาจารย์ของกอลแลช เชเนรัล มาแต่เดิม แต่หนีการกวาดต้อนของพม่าได้สำเร็จ ก็ได้เข้าเฝ้ารายงานตัวพร้อมชาวคาทอลิกที่รอดตายประมาณ 400 คน ได้รับพระราชทานที่ดินสร้างโบสถ์ซางตาครู๊ส (Santa Cruz) เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2312 ชาวคาทอลิกจำนวนหนึ่งได้รับการคัดเลือกเข้ารับราชการ ท่านให้ความร่วมมือกับทางราชการอย่างดียิ่งจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ในปีพ.ศ.2316 บาทหลวงโจเซฟ หลุยส์ กูเด (Joseph Louis Coude) ถูกส่งมาใหม่จากกรุงปารีสทำหน้าที่แทน ตอนปลายรัชกาลมีเรื่องขัดพระทัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชหลายครั้ง เป็นเหตุให้ทรงกริ้ว จึงถูกเนรเทศไปอยู่ภูเก็ตจนสิ้นรัชกาล อาจกล่าวได้ว่า ไม่พบหลักฐานการค้าขายกับฝรั่งเศส ยกเว้นความสัมพันธ์ทางด้านศาสนา (กษัตริย์อัจฉริยะ , ทบวงมหาวิทยาลัย , 2539 : 509)