สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

บทที่ 11 พระราชกรณียกิจด้านการปกครอง ด้านกฎหมาย และศาล

11.1  พระราชกรณียกิจด้านการปกครอง

ระบบการปกครองสมัยกรุงธนบุรีเป็นอย่างไร ?
รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชคงใช้ระบบการปกครองแบบเก่าที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา โดยสรุปมีดังนี้

  • 1. การปกครองส่วนกลางหรือส่วนราชธานี
    อยู่ในความรับผิดชอบของ อัครมหาเสนาบดี 2 ตำแหน่ง และ เสนาบดีจตุสดมภ์ อีก 4 ตำแหน่ง คือ กรมเวียง กรมวัง กรมคลัง และกรมนา มีการแบ่งส่วนราชการภายในออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายพลเรือน มี สมุหนายก เป็นหัวหน้าควบคุมการปฏิบัติงานของจตุสดมภ์และดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือ ฝ่ายทหารมี      สมุหกลาโหม เป็นหัวหน้าควบคุมด้านการป้องกันประเทศและดูแลหัวเมืองฝ่ายใต้ เสนาบดีจตุสดมภ์ปฎิบัติหน้าที่คล้ายสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่กรมวังต้องรับผิดชอบดูแลหัวเมืองแถบชายทะเลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นนทบุรี ชลบุรี บางละมุง ระยอง จันทบุรี และตราด (53 พระมหากษัตริย์ไทย ธ ทรงครองใจไทยทั้งชาติ, 2543 : 240)

  • 2. การปกครองส่วนภูมิภาค
    คือ การปกครองหัวเมืองต่างๆ ภายในพระราชอาณาจักร แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ หัวเมืองพระยามหานคร และหัวเมืองประเทศราช

    2.1 การปกครองหัวเมืองพระยามหานคร
    แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ

    –   หัวเมืองชั้นใน ได้แก่ หัวเมืองเล็กๆ ชั้นจัตวาที่อยู่รอบพระนคร มีผู้รั้งเป็นผู้ครองเมือง ขึ้นอยู่ในความรับผิดชอบของสมุหนายก เช่น เมืองพระประแดง เมืองสามโคก

    –   หัวเมืองชั้นนอก ได้แก่ เมืองที่อยู่ไกลเมืองหลวงออกไป แบ่งตามขนาด และความสำคัญของเมือง เป็นหัวเมืองชั้นเอก โท ตรี จัตวา มีเจ้าเมืองปกครอง มีอำนาจสิทธิ์ขาดแทนพระองค์ทุกประการ
รูปเขียนพุ่มดอกไม้เงิน-ทองที่ผนังด้านทิศตะวันออก
และทิศตะวันตกของพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน
(ภาพจากหนังสือสถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง)

การจัดหัวเมืองในสมัยกรุงธนุบรี

  • หัวเมืองชั้นเอก ได้แก่ พิษณุโลก
  • หัวเมืองชั้นโท ได้แก่ สวรรคโลก เพชรบูรณ์ ระยอง
  • หัวเมืองชั้นตรี ได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร
  • หัวเมืองชั้นจัตวา ได้แก่ พระประแดง นนทบุรี สามโคก ฯลฯ (53 พระมหากษัตริย์ไทย ธ ทรงครองใจไทยทั้งชาติ, 2543 : 240) สำหรับเมืองเล็กๆ ที่อยู่ห่างไกล ทางกรุงธนบุรีจะไม่ปกครองโดยตรง แต่จะให้เมืองใหญ่ช่วยควบคุมดูแลแทนดังนี้
              – เมืองนครราชสีมา ดูแลหัวเมืองทางฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ
              – เมืองนครศรีธรรมราช ดูแลหัวเมืองทางฝ่ายใต้
              – เมืองพิษณุโลก ดูแลหัวเมืองทางฝ่ายเหนือ
              – เมืองจันทบุรี ดูแลหัวเมืองทางชายทะเลตะวันออก (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,                          2546 : 350)

2.2 การปกครองหัวเมืองประเทศราช

เมืองหลวงจะให้สิทธิต่อประเทศราช ในการจัดการปกครองอย่างเต็มที่ ทั้งยังมีอำนาจปกครองหัวเมืองเล็กๆ ที่อยู่ใกล้เคียงโดยมีหน้าที่ส่งบรรณาการ และต้นไม้เงินต้นไม้ทองเข้าถวายที่เมืองหลวง 3 ปีต่อครั้ง รวมทั้งเกณฑ์ทหาร และส่งเสบียงตามสมควรเมื่อเวลามีศึกสงคราม

หมายเหตุ
บรรดาศักดิ์ของขุนนาง

1. อัครมหาเสนาบดีทั้งสอง
          – เจ้าพระยามหาเสนาบดี ตำแหน่งสมุหกลาโหม บางทีเรียกว่า กรมพระกลาโหม
          – เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ ตำแหน่งสมุหนายก บางทีก็เรียกว่า กรมมหาดไทย

2. จตุสดมภ์ มี 4 ตำแหน่ง มียศเป็นพระยา
          – พระยายมราช ตำแหน่งเจ้ากรม เวียง หรือ กรมพระนครบาล
          – พระยาธรรมธิกรณ์ ตำแหน่งเจ้ากรมวัง
          – พระยาโกษาธิบดี หรือพระยาศรีธรรมาธิราช ตำแหน่งเจ้ากรมคลัง
          – พระยามหาเทพ หรือพระยาประชาชีพ หรือพระยาเกษตราธิการ ตำแหน่งเจ้ากรมนา

3. มนตรีทั้งแปด
พระยาอภัยรณฤทธิ์ ตำแหน่ง จางวาง กรมพระตำรวจซ้าย
พระยาอนุชิตราชา ตำแหน่ง จางวางกรมพระตำรวจขวา
พระยาธิเบศร์บดี ตำแหน่ง จางวางกรมมหาดเล็กซ้าย
พระยาศรีเสาวราช ตำแหน่ง จางวางกรมมหาดเล็กขวา
พระยาราชภักดี ตำแหน่ง จางวางพระคลังมหาสมบัติ หรือทรงกรมชั้นบรมวงศ์
พระยาเพชรพิชัย ตำแหน่ง จางวางล้อมพระราชวัง
พระยาสุนทรโวหาร ตำแหน่ง จางวางกรมพระอาลักษณ์
พระยาศรีพิพัฒน์ ตำแหน่ง จางวางพระคลังสินค้า
(จางวาง คือตำแหน่งยศข้าราชการชั้นสูงในกรมมหาด เล็ก ตำแหน่งผู้กำกับการ ตำแหน่งหัวหน้าข้ารับใช้ของเจ้านาย)

4. เจ้าเมืองต่างๆ มีตั้งแต่เจ้าพระเทศราช เจ้าพระยา พระยา พระ แล้วแต่ความสำคัญของเมืองที่ปกครอง เช่น เมืองนครศรีธรรมราช ให้พระเจ้านครศรีธรรมราชปกครอง เมืองพิษณุโลก ให้เจ้าพระยาสุรสีห์ปกครอง เมืองพิชัยให้พระยาสีหราชเดโชปกครอง เป็นต้น (53 พระมหากษัตริย์ไทย : ธ ทรงครองใจไทยทั้งชาติ, 2543 : 241-242)

  • 3. การปกครองไพร่
    การควบคุมกำลังคน หรือ ” การควบคุมไพร่ ” เป็นสิ่งสำคัญของการปกครองของไทย ระบบไพร่ได้สลายไปเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาแตก มูลนายต่างถือโอกาสนำไพร่หลวงมาเป็นสมบัติส่วนตัว ทำให้รัฐขาดประโยชน์ ทั้งในรูปของแรงงานและภาษีเป็นจำนวนมาก สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงทรงให้ฟื้นฟูระบบไพร่ขึ้นใหม่โดยโปรดฯ ให้มีการสักข้อมือหมายหมู่ ไพร่หลวง และ ไพร่สม ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่การสักข้อมือหมายหมู่ไพร่ต้องกระทำต่อไพร่ทุกกรมกอง และมีการกำหนดโทษการปลอมแปลงเหล็กสักด้วยโทษประหารชีวิตทั้งโคตร

นอกจากนี้ยังมีพระราชกำหนดเก่าเท่าที่มีในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน คือ พระราชกำหนด พ.ศ.2317 ให้เหตุผลเกี่ยวกับการวางกฎเกณฑ์ให้ไพร่ทุกคนต้องสักชื่อตามนายและตามเมือง ที่อยู่และยังได้ระบุว่า “ ผู้ใดปลอมเข็มสักหรือสักไพร่ปลอมว่าเป็นไพร่ของตน จะต้องได้รับโทษถึงตาย ” การสักชื่อนาย หรือชื่อเมืองที่ข้อมือไพร่ไม่เคยปรากฏมาก่อนสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน เหตุผลที่ต้องออกพระราชกำหนดให้ไพร่ทุกคนต้อง สักเลก เช่นนี้เพื่อประโยชน์ในการเกณฑ์แรงงานทั้งในยามสงบและยามสงคราม และเพื่อเป็นการป้องกันการสูญไพร่หลวงด้วย (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2546 : 362) เพราะการก่อสร้างราชธานีใหม่ และการสงครามนั้นทำให้รัฐต้องการแรงงานจำนวนมาก ( มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม , 2543 : 98-100)

หมายเหตุ
ไพร่ คือ บรรดาราษฎรสามัญชนในความหมายปัจจุบัน ไพร่ต้องมีภาระ คือ การรับใช้ราชการแผ่นดินของพระมหากษัตริย์ ไพร่จะเป็นชายฉกรรจ์ จะถูกมูลนายเอาชื่อเข้าบัญชีเพื่อเกณฑ์ไปใช้ในราชการต่างๆ ด้วยเหตุนี้ไพร่จึงต้องสังกัดอยู่กับเจ้าขุนมูลนายที่ตนสมัครใจอยู่ด้วย การที่ชายฉกรรจ์สามัญชนทุกคนต้องขึ้นทะเบียนสังกัดมูลนาย ก็เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย เพราะกฎหมายระบุไว้ว่า ถ้าชายฉกรรจ์ไม่มีสังกัด ก็ไม่มีสิทธิในการศาล และไม่มีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ไพร่ แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทตามสังกัด คือ

(1)  ไพร่หลวง หมายถึง ไพร่ที่สังกัดกรมกองต่างๆ เป็นไพร่ของพระมหากษัตริย์โดยตรง หน้าที่ของไพร่หลวงจึงแตกต่างกันไปตามแต่หน้าที่ของกรมกองนั้น ไพร่หลวงมี 2 ลักษณะ คือ ประเภทที่ต้องถูกเกณฑ์แรงงานมาทำงานที่ทางราชการกำหนด และประเภทที่ต้องเสียเงินหรือสิ่งของมาแทนการ เกณฑ์แรงงาน หรือเรียกว่า ไพร่ส่วย ในช่วงแรกๆ จะมีการส่งของมาแทนการเกณฑ์แรงงาน หรือที่เรียกว่า “ การเข้าเวร ” แต่ในตอนปลายสมัยอยุธยา ประมาณในช่วงแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จะมีการส่งเงินมาแทนการเกณฑ์แรงงานมากขึ้น เงินที่ส่งมาเรียกว่า “ เงินค่าราชการ ” ไพร่หลวงเป็นไพร่ของพระมหากษัตริย์และจะต้องถูกเกณฑ์แรงงานไปใช้เป็นเวลา 6 เดือนต่อปี คือ เข้าไปรับราชการ 1 เดือน ออกมาอยู่บ้านของตน 1 เดือน กลับเข้าไปรับราชการอีก 1 เดือน สลับกันไปอย่างนี้ จึงเรียกการถูกเกณฑ์แรงงานในลักษณะนี้ว่า “ การเข้าเวร ” และ “ การออกเวร ” อย่างไรก็ตาม ไพร่สามารถเปลี่ยนฐานะของตนเองได้เป็น 2 ระดับ คือ ระดับสูง คือ ขุนนาง ส่วนระดับต่ำ คือ ทาส แรงงานของไพร่มีประโยชน์ต่อมูลนายทั้งในด้านการเป็นกำลังไพร่พล การเป็นกำลังการผลิต และแรงงานของไพร่ก็เป็นประโยชน์ของทางราชการ ทั้งการเป็นกำลังพลและกำลังการผลิตเช่นเดียวกัน

(2)  ไพร่สม เป็นไพร่ที่พระมหากษัตริย์พระราชทานให้แก่เจ้านาย และขุนนางที่มีตำแหน่งทางราชการเพื่อเป็นผลประโยชน์ ไพร่สมจะตกเป็นของมูลนายตราบเท่าที่ขุนนาง ผู้เป็นมูลนายยังมีชีวิตอยู่ในตำแหน่งราชการ เมื่อมูลนายถึงแก่กรรม ไพร่สมจะถูกโอนมาเป็นไพร่หลวง นอกจากบุตรของขุนนางผู้นั้นจะยื่นคำร้องขอควบคุมไพร่สมต่อไปจากบิดา

ไพร่หลวงจะมีฐานะลำบากที่สุดเมื่อเทียบกับไพร่สม เพราะไพร่สมมีหน้าที่รับใช้แต่เพียงมูลนาย จึงมีความสบายกว่าไพร่หลวง ซึ่งถูกเกณฑ์แรงงานโดยทางราชการ จึงจำเป็นต้องทำงานหนักกว่า (รัฐสภาสำหรับเยาวชน. ราชอาณาจักรไทยในอดีต : สมัยอยุธยาตอนต้น พ.ศ.1893-1991, http://203.154.23.6/teen/knowledge/politics_ayutthaya1.asp , 31/03/2004)

  • 4. นอกจากนั้นในด้าน การปกครองทหาร สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงทำนุบำรุงกำลังใจทหารไทย และการตั้งกองทหารออกปราบปรามโจรผู้ร้าย ดังนี้

4.1 สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงทะนุบำรุงทหารไทย ให้มีกำลังใจ อยู่เสมอ เพื่อให้ทหารมีความสุขสมบูรณ์ แต่ต้องเป็นทหารที่สมศักดิ์อย่างแท้จริง ซึ่งโดยปกติพระองค์จะโปรดให้ทหารทำการ ฝึกซ้อมการใช้อาวุธ และ ฝึกการรบพุ่ง เพื่อให้เกิดความชำนิชำนาญในกระบวนรบตามเหล่าของตนๆ จนสามารถแสดงเป็นยุทธกีฬาได้อย่างแคล่วคล่อง ว่าถึงชั้นนายทหาร แม้จะมีตำแหน่งสูงเป็นนายพันนายกองแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินก็ยังทรงพระกรุณาโปรดให้มีการอบรมวิชารบกลยุทธ์เพิ่มเติมเสมอ ทรงพระอุตสาหะอบรมสั่งสอนด้วยพระองค์เอง ฤดูฝนปีใดไม่มีราชการทัพศึก ก็เรียกประชุมแม่ทัพนายกอง รับการอบรมอย่างขมักเขม้นเพื่อให้มีสมรรถภาพสูงกว่าฝ่ายข้าศึกยิ่งขึ้น จะได้ทำการรบมีชัยชนะตลอดไป

4.2 การ สะสมอาวุธยุทธภัณฑ์ นอกจากให้ทหารฝึกฝน และนอกจากอบรมนายทหารชั้นผู้ใหญ่กวดขันแล้ว ยังทรงรีบสั่งสมอาวุธยุทธภัณฑ์ให้เพรียบพร้อม ถึงกับมีปืนใหญ่หล่อแบบยุโรป … ที่พอจะสั่งซื้อได้ ก็ให้หาซื้อส่งเข้ามา … ถ้าปืนชนิดไหนพอจะหล่อเองได้ ก็เร่งมือหล่อขึ้นโดยเร็ว เพราะถือว่าปืนเป็นกระทู้สงคราม … ในการใช้ปืนใหญ่ โปรดให้ทหารฝึกยิงหมู่ พยายามยิงพร้อมกันหลายสิบกระบอก เพื่อทำลายหน่วยข้าศึก หรือที่มั่นข้าศึกโดยฉับพลัน ให้ได้ผลคล้ายทิ้งระเบิดขนาดหนักที่สุด ทั้งนี้ด้วยหวังจะไม่ให้ฝ่ายข้าศึกรู้ทางปืนก่อนที่จะถูกทำลายย่อยยับลงไป ปรากฏผลสำคัญในการรบคือยิงทำลายข้าศึกมีชัยชนะทุกครั้ง

4.3 ป้อมค่ายในเวลานั้นก็เป็นสิ่งจำเป็นในการทหารมาก โปรดให้เร่ง สร้างป้อม เพิ่มเติมขึ้นในที่สำคัญๆ หลายแห่ง ส่วนป้อมวิไชเยนทร์เดิมที่สร้างในสมัยพระนารายณ์มหาราชนั้น ในสมัยสมเด็จพระเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดให้ปรับปรุงป้อมวิไชเยนทร์นี้ และพระราชทานนามใหม่ว่าป้อมวิไชยประสิทธิ์ในพ.ศ.2314 (สาระน่ารู้กรุงธนบุรี, 2543 : 33)

ป้อมวิไชยประสิทธิ์ (ภาพจากหนังสือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช)
  • 5. ในส่วน ราษฎร นั้น ทรง ปกครองดุจพ่อปกครองลูก โปรดที่จะเรียกพระองค์ว่า ” พ่อ ” กับทหารและราษฎร ในสมัยนั้นกฎหมายว่าด้วยการจุกช่องล้อมวงยังไม่ได้ตราขึ้น ทรงอนุญาตให้ราษฎรได้เฝ้าตามสายทางโดยไม่มีพนักงานตำรวจแม่นปืนคอยยิงราษฎร ซึ่งแม้แต่ชาวต่างประเทศก็ยังชื่นชมในพระราชอัธยาศัยนี้ เช่น เมอซิเออร์เลอบองได้บรรยายไว้ในจดหมายถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศว่า ” บรรดาคนทั้งหลายเรียกพระเจ้าตากว่าพระเจ้าแผ่นดิน แต่พระเจ้าตากเองว่าเป็นแต่เพียงผู้รักษากรุงเท่านั้น พระเจ้าตากหาได้ทรงประพฤติเหมือนอย่างพระเจ้าแผ่นดินก่อนๆ ไม่ และในธรรมเนียมของพระเจ้าแผ่นดินฝ่ายทิศตะวันออก ที่ไม่เสด็จออกให้ราษฎรเห็นพระองค์ ด้วยกลัวจะเสื่อมเสียพระเกียรติยศนั้น พระเจ้าตากไม่ทรงเห็นชอบด้วยเลย พระเจ้าตากทรงพระปรีชาสามารถยิ่งกว่าคนธรรมดา เพราะฉะนั้นจึงไม่ทรงเกรงว่า ถ้าเสด็จออกให้ราษฎรพลเมืองเห็นพระองค์และถ้าจะทรงมีรับสั่งด้วยแล้ว จะทำให้เสียพระราชอำนาจลงอย่างใด เพราะพระองค์มีพระประสงค์จะทอดพระเนตรการทั้งปวงด้วยพระเนตรของพระองค์เอง และจะทรงฟังการทั้งหลายด้วยพระกรรณของพระองค์เองทั้งสิ้น ( กรมศิลปากร ประชุมพงศาวดารภาคที่ 39 : 63-64 เรียบเรียงในหนังสือสมเด็จพระเจ้าตากสินจอมบดินทร์มหาราช , สนั่น ศิลากรณ์, 2531 : 19)

11.2  พระราชกรณียกิจด้านกฎหมายและศาล

11.2.1  ด้านกฎหมายในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เป็นอย่างไร ?
เนื่องจากตลอดรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นช่วงเวลาแห่งการรบทัพจับศึก ซึ่งทำให้ไม่มีเวลาที่จะชำระพระราชกำหนดกฎหมายต่างๆ ในการตัดสินคดีความ จึงยังคงใช้กฎหมายที่มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา โดยให้ กรมวัง หรือกระทรวงวัง เป็นผู้รับผิดชอบในการพิจารณาว่า คดีใดควรขึ้นศาลใด แล้วส่งคดีไปยังศาลกรมนั้นๆ โดยจะแบ่ง งานศาล ออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ

ฝ่ายรับฟ้อง มีหน้าที่ในการเขียนคำฟ้อง และพิจารณาคดีว่าควรฟ้องหรือไม่ ก่อนจะดำเนินการส่งขึ้นศาล ตลอดจนทำหน้าที่ปรับไหมและลงโทษผู้กระทำผิด
ฝ่ายตรวจสำนวนและพิพากษา ซึ่งเดิมเป็นหน้าที่ของพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายแขนงต่างๆ จำนวน 12 คน โดยเรียกว่า ” ลูกขุน ณ ศาลหลวง ” ต่อมาในระยะหลังได้มีคนไทยที่เชี่ยวชาญกฎหมายได้เข้ามาทำหน้าที่นี้ด้วย แต่คณะลูกขุน ณ ศาลหลวงนี้ จะไม่มีอำนาจในการปรับหรือลงโทษ

อย่างไรก็ตาม ในรัชกาลของพระเจ้าตากสิน พระองค์จะทรงใช้ ” ศาลทหาร ” เป็นส่วนใหญ่ โดยการตัดสินคดีทุกครั้งแม้พระองค์จะตัดสินโทษสูงสุดแล้ว แต่ก็จะทรงมีรับสั่งให้ทยอยลงโทษ จากขั้นต่ำสุดก่อนซึ่งหลายครั้งจะปรากฏว่า นักโทษที่มีความผิดร้ายแรง ก็มักจะได้รับการพระราชทานอภัยโทษละเว้นโทษหนักในเวลาต่อมา โดยให้ไปกระทำการอย่างอื่นเป็นการไถ่โทษแทน ( มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานพระราชวังเดิม , 2543 : 86-87)

มีตัวอย่างดังปรากฏบทลงโทษ ผู้กระทำผิดคดโกงแผ่นดินให้ลงโทษอย่างหนัก เช่น การทำเงินปลอมทรงให้ลงโทษประหารชีวิต หรือการโกงข้าวหลวงให้ลงพระอาญาเฆี่ยน 100 ที แล้วปรับไหมใช้ข้าว 10 เท่า แล้วให้ลดยศจากหลวงให้เป็นนายหมวดคุมไพร่และจำบุตรภรรยาไว้ (53 พระมหากษัตริย์ไทย : ธ ทรงครองใจไทยทั้งชาติ, 2543 : 242)

11.2.2  มีตัวอย่างกฎหมายในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ บ้างไหม ?
หนังสือสมเด็จพระเจ้าตากสินจอมบดินทร์มหาราช (สนั่น ศิลากรณ์, 2531 : 27-34) ได้ยกตัวอย่างกฎหมายในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไว้ดังนี้

1. กฎหมายพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิง
กฎหมายสำคัญซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงใช้ชำระความที่เกี่ยวกับพระสงฆ์ ซึ่งมีข้อสงสัยว่าจะไม่อยู่ในศีลอันบริสุทธิ์ ก็คือกฎหมายพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิง อันเป็นกฎหมายเก่าตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา โดยกฎหมายดังกล่าวบัญญัติว่า หากจะมีการพิสูจน์ว่า คู่ความฝ่ายใดพูดจริงหรือพูดเท็จแล้วไซร้ ก็ให้กระทำได้ 7 ประการ คือ ล้วงตะกั่วแข่งกัน , สาบาน , ลุยเพลิงด้วยกัน , ดำน้ำด้วยกัน , ว่ายทวนน้ำหรือว่ายข้ามฟากแข่งกัน และตามเทียนคนละเล่มเท่ากัน แต่วิธีพิสูจน์ที่กฎหมายกำหนดวิธีการไว้โดยละเอียด ก็คือ การพิสูจน์โดยดำน้ำลุยเพลิง ซึ่งในกฎหมายกำหนดให้โจทก์และจำเลยดำน้ำหรือลุยเพลิงด้วยกัน ในการดำน้ำ ใครผุดขึ้นก่อนก็เป็นฝ่ายแพ้ ส่วนในการลุยเพลิงนั้น ใครเท้าพองก็เป็นฝ่ายแพ้ สมเด็จพระเจ้าตากสินได้ทรงนำวิธีการที่กล่าวนี้มาใช้ในการชำระพระสงฆ์หลายครั้งด้วยกัน เช่น

  • 1.1  ชำระสมเด็จพระสังฆราช
    เมื่อขึ้นครองราชสมบัติใหม่ๆ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระราชดำริว่า ” พระพุทธศาสนาจักวัฒนาการรุ่งเรืองนั้นก็โดยอาศัยจตุบริษัททั้งสี่ (ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา) ปฏิบัติตามพระบรมพุทโธวาท และพระสงฆ์ทุกวันนี้ยังปฏิบัติในจตุปริสุทธิศีล บมิได้บริบูรณ์ เพราะเหตุหาพระราชาคณะซึ่งจะทรงปฏิบัติธรรมและสมถวิปัสสนาจะสั่งสอนมิได้ จึงมีพระบรมราชโองการให้สืบเสาะหาพระสงฆ์ผู้รู้ธรรม นิมนต์มาประชุมกัน ตั้งแต่งขึ้นเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อย ทั้งนี้โดยทรงตั้งพระอาจารย์ดี วัดประดู่ เป็นสมเด็จพระสังฆราช แต่ต่อมามีผู้เป็นโจทย์ฟ้องกล่าวโทษสมเด็จพระสังฆราชว่า ” แต่ครั้งอยู่ในค่ายพระนายกองโพธิ์สามต้นนั้น ได้คิดอ่านกับพระนายกองบอกให้เร่งรัดเอาทรัพย์แก่ชาวเมืองซึ่งตกอยู่ในค่าย ส่อว่าผู้นั้นๆ มั่งมี มีทรัพย์มาก … จึงดำรัสให้พระยาพระเสด็จชำระถามสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระสังฆราชไม่รับ จึงโปรดให้พิสูจน์ลุยเพลิงชำระตัวให้บริสุทธิ์เป็นความจริง และสมเด็จพระสังฆราชแพ้แก่พิสูจน์เพลิง จึงดำรัสให้สึกเสีย ซึ่งต่อมาก็ได้ทรงนิมนต์พระอาจารย์ศรีที่หนีทัพพม่า ไปอยู่เมืองนครศรีธรรมราชมาเป็นสมเด็จพระสังฆราชต่อไป
  • 1.2  ชำระพระสงฆ์ฝ่ายเหนือ
    ครั้งกรุงศรีอยุธยาสูญเสียแก่พม่านั้น บ้านเมืองแตกออกเป็นก๊กเป็นเหล่า ทางฝ่ายเหนือก็มีก๊กเจ้าพระฝาง ซึ่งเป็นพระสงฆ์ แต่ตั้งตนเป็นใหญ่รวบรวมสมัครพรรคพวกซึ่งเป็นพระสงฆ์ด้วยกันถืออาวุธรบพุ่งและฆ่าคน รวมทั้งประพฤติผิดศีลด้วยประการต่างๆ เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงปราบปรามก๊กเจ้าพระฝางได้เป็นผลสำเร็จ ก็ทรงดำเนินการชำระพระสงฆ์ฝ่ายเหนือให้บริสุทธิ์ กล่าวคือ ” ให้นิมนต์พระสงฆ์เมืองเหนือมาพร้อมกันหน้าที่นั่ง และให้หาขุนนางผู้ใหญ่น้อยมาประชุมเฝ้าพร้อมกัน จึงดำรัสปรึกษาว่าพระสงฆ์บรรดาอยู่ฝ่ายเหนือนี้ เป็นพรรคพวกอ้ายเรือนพระฝางทั้งสิ้น ย่อมถืออาวุธและปืน รบศึก ฆ่าคน ปล้นทรัพย์สิ่งของ และกินสุราเมรัย ส้องเสพอนาจารด้วยสีกา ต้องจตุปราชิกาบัติต่างๆ ขาดจากสิกขาบทในพระพุทธศาสนา ล้วนลามกจะละไว้ให้คงอยู่ในสมณเพศฉะนี้มิได้ อนึ่งพระสงฆ์ฝ่ายเหนือฝ่ายใต้ ก็จะแปลกปลอมปะปนกันอยู่มิรู้ว่าองค์ใดดีองค์ใดชั่ว จะได้ไหว้นบเคารพสักการบูชาให้เป็นเนื้อนาบุญ … ให้พระสงฆ์ให้การไปแต่ตามสัตย์ความจริง ถ้าได้ผิดในจตุปราชิกแต่ประการใดประการหนึ่ง จะพระราชทานผ้าคฤหัสถ์ให้ผลัดสึกออกทำราชการ ที่ไม่รับนั้นจะให้ดำน้ำพิสูจน์นาฬิกาสามกลั้น แม้ชนะแก่นาฬิกาจะได้เป็นอธิการและพระครูราชาคณะฝ่ายเหนือโดยสมควรแก่คุณธรรมที่รู้ แม้แพ้แก่นาฬิกาจะให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนแล้วสักข้อมือ มิให้บวชได้อีก แม้นเสมอนาฬิกาจะถวายผ้าไตรให้บวชใหม่ ถ้าแต่เดิมไม่รับ ครั้นจะให้ลงดำน้ำพิสูจน์ แล้วกลับคืนคำว่าได้ทำผิด จะให้ลงพระราชอาญาประหารชีวิตเสีย …” ครั้งนั้นพระสงฆ์ที่มีศีลบริสุทธิ์ ก็ชนะแก่นาฬิกาบ้าง เสมอบ้าง ที่ภิกษุทุศีลก็แพ้แก่นาฬิกาเป็นอันมาก เสนาบดีก็กระทำตามรับสั่งโดยสมควรแก่คุณและโทษ

    จะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงเอาพระทัยใส่ในกิจการพระศาสนา หวังที่จะให้พระพุทธศาสนารุ่งเรือง มีพระสงฆ์อันบริสุทธิ์สั่งสอนประชาชนและเป็นที่พึ่งของประชาชน ดังจะเห็นได้จากที่พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสตักเตือนพระสงฆ์ทั้งหลายว่า ” ขอพระผู้เป็นเจ้าทั้งปวงจงตั้งใจปฏิบัติสำรวมรักษาในพระจตุปาริสุทธิศีลให้บริสุทธิ์ผ่องใสอย่าให้เศร้าหมอง แม้นพระผู้เป็นเจ้าจะขัดสนด้วยจตุปัจจัยสิ่งใดนั้น เป็นธุระโยมจะรับอุปัฏฐากจากผู้เป็นเจ้าทั้งปวง แม้นถึงจะปรารถนามังสะและรุธิระของโยม โยมก็อาจสามารถจะเชือดเนื้อและโลหิตออกถวายเป็นอัชฌัตติกทานได้ ”

2. กฎมณเฑียรบาล
กฎมณเฑียรบาลเป็นกฎหมายที่วางระเบียบปฏิบัติในราชสำนักและวางหลักความสัมพันธ์ ระหว่างพระมหากษัตริย์กับข้าราชบริพาร เป็นกฎหมายที่เก่าแก่มาตั้งแต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงใช้กฎหมายฉบับนี้ในการวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีหลายครั้ง เช่น

  • 2.1  คดีฝรั่งเป็นชู้กับพระสนม
    พระราชพงศาวดารตอนหนึ่งได้กล่าวว่า เมื่อวันจันทร์ เดือนเจ็ด แรม 1 ค่ำ จุลศักราช 1131 ปีฉลูเอกศก หม่อมเจ้าอุบล บุตรีกรมหมื่นเทพพิพิธ หม่อมเจ้าฉิม บุตรีเจ้าฟ้าพิจิตร ซึ่งเป็นพระสนมของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พร้อมด้วยนางละครอีกสี่คนเป็นชู้กับฝรั่งมหาดเล็กสองคน พิจารณาเป็นสัตย์แล้วให้ตัดแขนตัดศรีษะผ่าอกทั้งชายทั้งหญิงอย่าให้ใครดูเยี่ยงสืบไป หม่อมฉิมและหม่อมอุบลนับได้ว่าเป็นพระสนมซึ่งพระองค์โปรดมาก เมื่อสำเร็จโทษแล้ว ก็ไม่สบายพระทัย ถึงกับตรัสว่าจะตายตามหม่อมอุบล การประหารชีวิตพระสนมและชู้นั้นเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล บทที่ 120 ที่ว่า “ อนึ่งผู้ใดทำชู้ด้วยแม่พระสนมให้ฆ่าผู้นั้นเสีย 3 วันจึงให้ตาย ส่วนหญิงนั้นให้ฆ่าเสียด้วย อย่างไรก็ตาม กฎหมายมิได้กำหนดวิธีการฆ่าเอาไว้ ซึ่งเรื่องนี้ย่อมเป็นไปตามพระราชวินิจฉัยของพระมหากษัตริย์ ว่าจะฆ่าด้วยวิธีใด ”
  • 2.2  ขัดพระบรมราชโองการ
    ตามกฎมณเฑียรบาล บทที่ 101 บัญญัติว่า ” อายการแต่นา 10,000 ถึงนา 800 ขัดพระราชโองการมีโทษ 4 ประการ คือ ขัดคำต่อพระโอษฐ์โทษแหวะปาก ขัดดำเนินพระราชโองการโทษฆ่าเสีย ขัดสั่งพระราชโองการตัดปาก ขัดฎีกาพระราชบันทูลไหมจตุรคูน ในสมัยกรุงธนบุรีมีเรื่องราวที่เกี่ยวกับการขัดพระบรมราชโองการที่สำคัญ คือ

    1. ครั้งเสด็จไปปราบก๊กเจ้าพระยานคร มีเหตุเพลิงไหม้ในเมืองนคร ตำบลนายก่าย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จพระราชดำเนินไปอำนวยการดับเพลิง ทรงเรียกให้ข้าราชบริพารนำช้างมาทลายเรือน ฝ่ายกรมช้างมาไม่ทันเสด็จ จึงลงพระราชอาญาให้เฆี่ยนคนละสามสิบทีบ้าง ห้าสิบทีบ้างตามบรรดาศักดิ์ผู้น้อยผู้ใหญ่ ฝ่ายราชนิกูลที่ตามเสด็จไม่ทันก็ให้ลงพระราชอาญาทุกๆ คน

2. เมื่อครั้งยกทัพเข้าตีเมืองพุทไธมาศ ทรงตรัสสั่งให้ กรมอาจารย์ จัดทัพผู้มีวิชาดีเข้าตี เมืองปรากฏว่าตีเมืองสำเร็จ แต่พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองหนีไปได้ จึงทรงดำรัสถาม นายกองอาจารย์ ว่า เมื่อคุมทัพขึ้นปล้นเอาเมืองนั้นเข้าด้านไหนก่อน อาจารย์ทั้งสาม กราบทูลไม่ตรงกัน จึงเสด็จไปทอดพระเนตรทางที่ทหารเข้า เห็นผิดกับพระราชดำริ ก็ให้ลงพระอาญาเฆี่ยนผู้ซึ่งเข้าเมืองได้ ต่อมาทั้งนายไพร่ที่เข้าได้ก่อนก็ได้รับการปูนบำเหน็จรางวัลเป็นเงิน 325 ชั่ง

3. ครั้งที่เสด็จกลับจากการตีเมืองเชียงใหม่ได้ทรงให้เรือตรวจลงไปเร่งกองทัพ ซึ่งตามเสด็จมาไม่ทันนั้นให้รีบยกมาโดยเร็วอย่าให้ใครแวะเข้าบ้านเป็นอันขาด ถ้าใครแวะเข้าบ้านก่อนจะประหารชีวิตเสีย ขณะนั้นพระเทพโยธาจอดเรือแวะเข้าบ้าน ตำรวจลงมากราบทูลให้ทรงทราบ พระองค์จึงทรงพระพิโรธตรัสให้เอาตัวมาในทันใดนั้น แล้วเอาพระเทพโยธามัดไว้กับเสาพระตำหนักแพ ถอดพระแสงดาบออกฟันศีรษะพระเทพโยธาขาดตกลง ให้นำไปเสียบประจานไว้ที่หน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์ และศพนั้นให้ทิ้งน้ำเสีย อย่าให้ใครดูเยี่ยงสืบไป

แต่มีครั้งหนึ่งที่ทรงงดเว้นการใช้กฎมณเฑียรบาลคือ “ …ในปีมะเมีย พ.ศ.2318 เมื่อพระองค์ปราบพม่าที่เชียงใหม่สำเร็จแล้ว เสด็จกลับมาเมืองตาก เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 3 ขึ้น 2 ค่ำ ทรงจัดกองทัพให้หลวงมหาเทพเป็นแม่ทัพรีบยกไปตีพม่า ซึ่งยกบุกรุกล่วงล้ำเข้ามาทางด่านแม่ละเมา ทรงจัดแจงกองทัพเสร็จแล้ว … เพลา 2 ยาม จึงเสด็จลงเรือหมื่นจง กรมวังล่องลงมา หลวงรักษ์โกษาลงท้ายที่นั่งมาด้วย พบเรือนายควรมาสืบราชการกลับขึ้นไปกราบทูลว่า เห็นกองไฟอยู่ริมน้ำ ได้ยินเป็นเสียงพม่าเห่ขึ้น จึงตรัสว่าจริงหรือประการใด กราบทูลว่าได้ยินมั่นคง จึงให้นายควรนำเสด็จลงไป ครั้นเห็นกองไฟจึงประทับเรือพระที่นั่งไว้ ให้หมื่นจงไปสอดแนมดูก็เห็นเรือตะรางใส่พม่าเมืองเชียงใหม่ พระเพ็ชรปราณีคุมมาให้เห่ขานยาม ครั้นแจ้งประจักษ์แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินลงมา เรือพระที่นั่งกระทบตอไม้ล่มลง จึงเสด็จขึ้นไป ณ หาดทราย … แล้วเสด็จพระราชดำเนินต่อโดยทางสถลมารค เพลาย่ำรุ่งขึ้นถึงพระตำหนักสวนมะม่วงบ้านระแหง จึงทรงพระกรุณาให้ปรึกษาคุณโทษของทหาร ผู้ใดมีความชอบก็พระราชทานรางวัล ในส่วนการที่เรือล่มนั้น พระองค์คงทรงเห็นว่าเป็นเหตุสุดวิสัย จึงมิได้นำขึ้นพิจารณาโทษ ถ้าเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์อื่นๆ ในอดีต พวกนายท้ายและคนเรือจะต้องถูกประหารชีวิตแล้ว แต่พระองค์กลับทรงว่ายน้ำขึ้นหาดทราย และไม่ทรงเห็นเป็นเรื่องที่จะขุ่นเคืองพระทัย แม้พระองค์จะทรงเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง โดยตลอดวันขึ้น 2 ค่ำนั้น พระองค์มิได้มีโอกาสบรรทมเลย ทั้งเมื่อเวลาค่อนรุ่งเมื่อเรือล่มอย่างฉุกละหุกแล้วพระองค์ยังต้องเสด็จโดยพระบาทเป็นระยะไกลเหมือนทหารธรรมดา ก็ไม่ทำให้ทรงพระพิโรธประการใด (พ.ย.ร., 2496 : 74-75)

3. พระไอยการอาชญาหลวง
กฎหมายฉบับนี้ได้วางบทบัญญัติเกี่ยวกับการกระทำผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์และโทษที่ได้รับโดยละเอียด ซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสินได้ทรงใช้กฎหมายฉบับนี้ใน 2 เรื่อง คือ

  • 3.1 กรณีกองทัพพระยาราชภักดียกติดตามพม่าไปทางด่านเมืองอุทัยธานี พอฝนตกหนักน้ำนองท่วมป่าจะติดตามไปลำบากนัก จึงถอยทัพกลับมาแล้วบอกลงมากราบทูล ณ กรุงธนบุรีว่า พม่ายกหนีไปโดยเร็วยกตามไปไม่ทัน เมื่อทรงทราบก็ทรงพระพิโรธว่าเกียจคร้านย่อท้อต่อราชการศึก ให้ประหารชีวิตทั้งสิ้น พระยาราชภักดีทราบทูลว่าตนผิดแต่ผู้เดียว ขอรับพระราชอาญาตายแต่ตัวผู้เดียว ทรงมีพระดำรัสว่า “ นายทัพนายกองทั้งปวงไม่ทัดทานกัน ลงใจพร้อมกันทั้งสิ้น ครั้นจะไว้ชีวิตก็จะเป็นเยี่ยงอย่างสืบไป จงตายเสียด้วยกันเถิด ” ทั้งนี้เป็นไปตามพระไอยการอาชญาหลวง บทที่ 5 ที่ว่า “ มีพระราชโองการตรัสใช้เสนามนตรีลูกขุนให้ไปการณรงค์สงครามก็ดี แล กระทำประการใดใดก็ดี พระสุรัศวดีกะเกนตนไป แลตนมิไปการณรงค์ตามตรัสใช้ แลมิไปกระทำการตามกะเกนนั้นก็ดี … ท่านว่าเลมิด ให้ลงโทษ 8 สถาน …”
  • 3.2 กรณีเจ้าพระยาพิชัยราชาผู้เป็นเจ้าพระยาสวรรคโลกลงมารับราชการอยู่ ณ กรุงธนบุรี แต่งผู้เฒ่าผู้แก่เข้าไปขอน้องสาวเจ้าจอมฉิมพระสนมเอก บุตรีเจ้านครศรีธรรมราชซึ่งอยู่ในพระราชวังจะมาเลี้ยงเป็นภรรยา ทรงทราบก็ทรงพระพิโรธดำรัสว่ามันทำบังอาจจะมาเป็นคู่เขยน้อยเขยใหญ่กับกูผู้เป็นเจ้าแผ่นดิน จึงดำรัสให้เอาตัวเจ้าพระยาพิชัยราชาไปประหารชีวิตเสีย ตัดศีรษะมาเสียบประจานไว้ที่ริมประตูข้างฉนวนลงพระตำหนักแพ อย่าให้ใครเอาเยี่ยงอย่างกันสืบไปภายหน้า ซึ่งเป็นไปตามพระไอยการอาชญาหลวง บทที่ 1 ที่ว่า “ ผู้ใดใจโลภนัก มักทำใจใหญ่ใฝ่สูงให้เกินศักดิ์ กระทำให้ล้นพ้นล้ำเหลือบรรดาศักดิ์อันท่านให้แก่ตน แลมิจำพระราชนิยมพระเจ้าอยู่หัว … ท่านว่าผู้นั้นทนงองอาจ ท่านให้ลงโทษ 8 สถาน …”

4. กฎหมายห้ามเข้ารีตและนับถือศาสนาอิสลาม
ตามหลักฐานที่ปรากฏในประวัติศาสตร์พบว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเอาพระทัยในกิจการศาสนา และมีความสัมพันธ์เกี่ยวพันกับศาสนาอื่นๆ เช่น คริสตศาสนาอย่างใกล้ชิด ดังจะเห็นได้จากรายงานของบาทหลวง ชื่อ Corre ที่มีไปถึงผู้อำนวยการคณะเผยแพร่ศาสนาในต่างประเทศ ที่กรุงปารีส ลงวันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ.1770 ที่ว่า “ ในวันที่ 25 เดือนพฤษภาคม ปีนี้ (พ.ศ.2313) พระเจ้ากรุงสยามได้เสด็จมาเยี่ยมข้าพเจ้าด้วยพระองค์เอง ซึ่งเป็นการไม่เคยมีตัวอย่างมาเลย พวกขุนนางผู้ใหญ่ไม่กล้าจะมาสนทนากับสังฆราชที่บ้านบาทหลวง พระเจ้ากรุงสยามเสด็จมาครั้งนี้ ได้ทอดพระเนตรเห็นว่าที่ของเราคับแคบมาก จึงมีคำสั่งให้รื้อศาลาที่อยู่ ในที่ของเราลงหลังหนึ่ง และรับสั่งให้ขุดคูเอาดินขึ้นถมที่ และให้ก่อผนังโบสถ์ซึ่งเปิดอยู่ทุกด้าน แล้วได้รับสั่งสรรเสริญชมเชยพวกเข้ารีตเป็นอันมาก ” นอกจากนี้สังฆราช Le Bon ได้มีรายงานลงวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.1772 ว่า “ เมื่อวันที่ 2 เมษายน ได้มีพระราชโองการให้เราไปเฝ้าอีก และในครั้งนี้ได้มีรับสั่งให้พระสงฆ์ที่สำคัญๆ กับพระจีนไปเฝ้าด้วย วันนั้นเป็นวันรื่นเริงทั่วราชอาณาเขตเพราะเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย พระเจ้าแผ่นดินกำลังสำราญพระทัย จึงได้ลงประทับกับเสื่อธรรมดาอย่างพวกเราเหมือนกัน … บรรดาคนทั้งหลายเรียกพระเจ้าตากว่าพระเจ้าแผ่นดิน แต่พระเจ้าตากเองเรียกพระองค์ว่าเป็นแต่เพียงผู้รักษากรุงเท่านั้น พระองค์ทรงทนทานต่อความเหน็ดเหนื่อย ทั้งทรงกล้าหาญ และพระปัญญาก็เฉียบแหลม มีพระนิสัยกล้าได้กล้าเสีย และพระทัยเร็ว ถ้าจะว่าก็เป็นทหารอันกล้าหาญคนหนึ่ง ” จากรายงานของสังฆราช Le Bon ฉบับลงวันที่ 26 มีนาคม ค.ศ.1775 เราจึงได้ทราบว่าในแผ่นดินกรุงธนบุรีได้มีการออกกฎหมายฉบับหนึ่งเกี่ยวกับการห้ามคนไทย และมอญเข้ารีตและนับถือศาสนาอิสลาม รายงานนั้นกล่าวว่า “ เมื่อ 2-3 วันที่ล่วงมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินได้รับสั่งให้พระสงฆ์ไทย บาทหลวงมิชชันนารีฝรั่ง กับพวกมะหะหมัด มาโต้เถียงกันเรื่องศาสนา ครั้นทรงฟัง ความเห็นของพวกเข้ารีตและพวกมะหะหมัดว่าการฆ่าสัตว์ไม่บาปก็ไม่พอพระทัย พอรุ่งขึ้นก็ได้ออกประกาศพระราชโองการนี้ทีเดียว … คือ ออกประกาศห้ามคนไทยและมอญมิให้เข้ารีต และนับถือศาสนามะหะหมัด มีวางโทษถึงประหารชีวิต ทั้งคนชักชวนและคนไทยคนมอญที่ไปเข้ารีต และนับถือศาสนามะหะหมัด ”

อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ระหว่างสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับคริสตศาสนาก็ได้จืดจางลง เมื่อเกิดเรื่องเกี่ยวกับการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ หากผู้ใดขาดถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา มีโทษถึงตาย ตามกฎมณเฑียรบาล บทที่ 81 ปรากฏว่าสังฆราชมีคำสั่งห้ามพวกเข้ารีตร่วมพิธี แต่ให้สาบานตัวว่าจะซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดินในโบสถ์คริสตัง และสังฆราชก็กำกับอยู่ด้วย สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงทรงให้จับข้าราชการเข้ารีตและสังฆราชกับบาทหลวงอีก 2 คน เข้าคุก มีการเฆี่ยนและจำ 5 ประการ แต่ต่อมาก็ถูกปล่อยตัวให้พ้นโทษ

5. พระไอยการกระบดศึก
เหตุการณ์หนึ่งซึ่งถือได้ว่าเป็นการแสดงออกซึ่งพระปรีชาญาณอันเฉียบแหลม และเล็งเห็นการณ์ไกลของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ก็คือการพิจารณาคดีเจ้านครฯ ตามพระไอยการกระบดศึกเมื่อครั้งที่ทรงตีเมืองนครศรีธรรมราช และจับตัวเจ้านครฯได้ ทรงให้ออกประกาศไปทั่วกองทัพ ห้ามมิให้ไพร่พลไทยจีนทั้งปวงฆ่าโคกระบือ ข่มเหงสมณะชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎรให้ได้ความเดือดร้อน ครั้นเสร็จการสมโภชพระบรมสารีริกธาตุแล้ว จึงดำรัสให้เสนาบดีและลูกขุนปรึกษาโทษเจ้านครฯ เสนาบดีก็ปรึกษาโทษพร้อมกันว่า โทษถึงประหารชีวิต ทั้งนี้เป็นไปตามพระไอยการกระบดศึก บทที่ 5 ที่ว่า “ เป็นข้าพระเจ้าอยู่หัวเลี้ยงให้มียศถาศักดิ์ แลมันโมหะจริตคิดใหญ่ใจใคร่ฝ่ายสูงศักดิ์ ทำกระบดประทุศร้ายต่อรบพุ่งเมืองท่าน ทำดั่งนั้นท่านว่าโทษหนักให้ฆ่าเสียสิ้นทั้งโคต ” แต่ปรากฏว่าพระองค์ทรงไม่เห็นด้วย โดยตรัสว่า “ เจ้านครฯ ยังมิได้เป็นข้าราชการแห่งเรา ฝ่ายเจ้านครฯก็ตั้งตัวเป็นใหญ่ ฝ่ายเราก็ถือว่าเราเป็นใหญ่ไม่ง้องอนแก่กัน จึงได้มารบสู้กัน ทั้งนี้ถ้าและเจ้านครทำราชการอยู่ด้วยเราแล้วคิดกบฏต่อไป แม้นเสนาบดีปรึกษาโทษถึงตาย เราจะเห็นด้วย ” ทรงให้จำเจ้านครฯเข้าไปให้ถึงกรุงก่อนจึงปรึกษากันใหม่ และต่อมาก็พระราชทานอภัยโทษให้ถอดออกจากพันธนาการ แล้วให้รับพระราชทานน้ำพระพิพัฒน์สัตยาอยู่เป็นข้าราชการ พระราชทานบ้านเรือนที่อยู่อาศัยให้อยู่เย็นเป็นสุข ต่อมาเมื่อเจ้าหลานเธอ เจ้านราสุริยวงศ์ ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ครองเมืองนครศรีธรรมราชถึงแก่พิราลัย จึงทรงให้เจ้านครฯกลับคืนไปครองเมืองนครศรีธรรมราชดังเก่า

หมายเหตุ :
เจ้านราสุริยวงศ์
เจ้านราสุริยวงศ์เป็นพระเจ้าหลานเธอในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ให้มาเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ในปี พ.ศ.2312 โดยมีพระยาราชสุภาวดี พระศรีไกรลาศ พระไชยนาท เป็นเสนาบดีข้าหลวงผู้รักษาเมืองและเป็นที่ปรึกษาในการครองเมืองให้แก่พระเจ้าหลานเธอเจ้านราสุริยวงศ์ และสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้โปรดให้ยกหัวเมืองนครศรีธรรมราชเป็นประเทศราช เจ้าเมืองอยู่ในฐานะเจ้าประเทศราช และให้ปกครองเมืองปัตตานี ไทรบุรี ตรังกานู ตลอดจนหัวเมืองชายทะเลด้านนอกทั้งหมด จะเห็นได้ว่าเมืองนครศรีธรรมราชเป็นหัวเมืองฝ่ายใต้ที่คอยปกป้องขอบขัณฑสีมา และมีความสำคัญมากที่สุดเมืองหนึ่ง ในรัชกาลของเจ้านราสุริยวงศ์ไม่มีเหตุการณ์อะไรเป็นพิเศษ และครองเมืองอยู่จนถึงปีพ.ศ.2319 จึงถึงแก่พิราลัย ( http://www.navy.mi.th/navy88/files/Nakorn.doc 31/03/2547)