สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

บทที่ 10 พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ด้านการทหาร

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงปฏิบัติราชการด้านทหาร โดยตั้งพระราชปณิธานที่สำคัญไว้ 3 ประการ คือ

1. ปราบปรามก๊กต่าง ๆ ภายในประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า โดยที่บรรดาหัวเมืองสำคัญของไทยตั้งตนเป็นใหญ่ จำเป็นต้องปราบลงให้ได้       เพื่อรวบรวมให้เป็นราชอาณาจักรเดียวกัน
2. ป้องกันพระราชอาณาจักร ซึ่งจะต้องเกิดศึกสงครามขึ้นอย่างแน่นอน เพราะศัตรูภายนอกประเทศยังมิได้ยุติเด็ดขาด
. แผ่พระบรมเดชานุภาพ ขยายราชอาณาจักรและขยายอำนาจของไทยในแหลมอินโดจีน ให้กว้างใหญ่ไพศาลยิ่งขึ้น

10.1 สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงปราบปรามชุมนุมอะไรบ้าง ?

แผนที่แสดงที่ตั้งของชุมนุม ที่มีอิทธิพลในต้นสมัยกรุงธนบุรี
(ภาพจากหนังสือสาระน่ารู้กรุงธนบุรี)

การปราบปรามชุมนุมทั้งสี่เพื่อรวมชาติ

การที่จะรวบรวมอาณาจักรไทยขึ้นใหม่ให้เป็นปึกแผ่น จำเป็นจะต้องปราบปรามชุมนุมต่างๆ แม้สมเด็จพระเจ้าตากสินจะทรงเสียเปรียบชุมนุมต่างๆ ตรงที่ไม่มีถิ่นฐานภูมิลำเนาเป็นของตนเอง (ขณะนั้นตั้งฐานทัพอยู่ที่เมืองจันทบุรี) อีกทั้งไม่ได้เป็นเจ้า หรือเป็นขุนนางผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียงเหมือนคนอื่นๆ แต่พระองค์ก็ทรงได้เปรียบในด้านที่ทรงอยู่ในวัยฉกรรจ์ กำลังว่องไวทั้งกำลังใจและกำลังความคิด

10.1.1 สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงมีแผนการในการรวบรวมชุมนุมต่างๆ อย่างไร ?

ในชั้นต้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงดำริ จะใช้วิธียกกำลังเข้าโจมตีกลุ่มที่มีความเข้มแข็งเสียก่อน โดยทรงหวังว่า ถ้าทรงสามารถเอาชนะกลุ่มที่มีความเข้มแข็งได้ กลุ่มอื่นๆ ซึ่งอ่อนแอกว่าคงจะยำเกรงและยอมรับอำนาจของพระองค์โดยไม่ต้องใช้กำลัง แต่การณ์ไม่เป็นไปดังที่คาดหวังไว้ ดังนั้นต่อมาพระองค์จึงทรงเปลี่ยนพระบรมราโชบาย กลับไปรวบรวมกลุ่มที่มีกำลังอ่อนแอก่อน เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้กับกำลังของพระองค์ แล้วจึงหวนกลับไปปราบกลุ่มที่เข้มแข็ง

ขั้นตอนในการรวบรวม

ขั้นที่ 1 ยกกำลังไปปราบ กลุ่มเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ในปี พ.ศ. 2311 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงยกกองทัพไปหมายจะปราบกลุ่มเจ้าพระยาพิษณุโลก แต่เมื่อทรงยกไปถึงตำบลเกยไชย (แขวงนครสวรรค์) กำลังของพระองค์ก็ได้ปะทะกับกำลังของกลุ่มเจ้าพระยาพิษณุโลก สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ถูกปืนที่พระชงฆ์เบื้องซ้าย จึงโปรดฯให้ถอยทัพกลับ เจ้าพระยาพิษณุโลกจึงตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดิน แต่อยู่ได้ประมาณ 7 วัน เกิดเป็นฝีขึ้นในลำคอ (ประเสริฐ ณ นคร, 2534 : 22 ) ก็ถึงพิราลัย พระอินทอากรผู้น้องได้ครองเมืองต่อมา แต่ไม่นานเจ้าพระฝางได้ยกกองทัพลงมาตี และพระอินทอากรถูกประหารชีวิตที่เมืองพิษณุโลก (สาระน่ารู้กรุงธนบุรี , 2543 : 141)

ขั้นที่ 2 ยกไปปราบ ชุมนุมเจ้าพิมาย ในปี พ.ศ. 2311 เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงตั้งราชธานีมั่นคงแล้ว มีพระราชประสงค์จะปราบปรามก๊กเจ้าพิมาย จึงทรงนำทัพเข้าตีเมืองนครราชสีมาก่อนและทรงได้ชัยชนะ เจ้าพิมายเมื่อทราบข่าวก็ไม่คิดสู้รบ พาครอบครัวและพรรคพวกหนีจากเมืองพิมายจะขึ้นไปในแดนกรุงศรีสัตนาคนหุต แต่ขุนชนะกรมการเมืองนครราชสีมาจับพระองค์ได้ นำมาถวายสมเด็จพระเจ้าตากสิน เจ้าพิมาย หรือกรมหมื่นเทพพิพิธจึงถูกประหารชีวิต ส่วนขุนชนะได้รับความชอบเป็นพระยากำแหงสงครามครองเมืองนครราชสีมาต่อไป (สาระน่ารู้กรุงธนบุรี , 2543 : 132-133)

ขั้นที่ 3 ยกไปปราบ ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช ในปีพ.ศ.2312 พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ยกทัพ ทั้งทางบกและทางเรือไปปราบชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช เจ้านครฯเห็นว่าไม่สามารถต้านทานกองทัพหลวงได้จึงพาครอบครัวและสมัครพรรคพวกหนีไปอยู่เมืองตานี แต่ถูกพระยาตานีจับตัวแล้วส่งตัวมาให้เจ้านครศรีธรรมราชคนใหม่ คือ เจ้านราสุริยวงศ์ ต่อมาสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมีพระราชประสงค์ให้คุมตัวเจ้านครฯส่งเข้าไปกรุงธนบุรีเพื่อปรึกษาโทษ ครั้นเมื่อเจ้านครฯมาถึงกรุงธนบุรีได้ทรงอภัยโทษ แล้วให้รับพระราชทานน้ำพระพิพัฒน์สัตยาอยู่เป็นข้าราชการ พร้อมทั้งพระราชทานที่ให้อาศัย เจ้านครศรีธรรมราช (หนู) ได้ถวายบุตรสาว ชื่อ ฉิม เป็นบาทบริจาริกา

ครั้นถึงปลาย พ.ศ.2319 เจ้านราสุริยวงศ์ผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราชถึงแก่พิราลัย จึงทรงพระกรุณาโปรดฯให้เจ้านคร(หนู) กลับไปครองเมืองนครศรีธรรมราช แต่สถาปนาให้มียศอย่างเจ้า ประเทศราช เป็นพระเจ้านครศรีธรรมราช

หมายเหตุ จนกระทั่ง พ.ศ.2328 ในสมัยรัชกาลที่ 1 เจ้านครฯ ถูกเจ้าพัฒน์บุตรเขยฟ้องกล่าวโทษในหลายข้อหา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ จึงทรงให้เข้ามาชำระความ พระเจ้านครศรีธรรมราชแพ้ความ ขออยู่รับราชการในกรุงเทพมหานคร อยู่ได้ประมาณเกือบปีก็ถึงแก่กรรม ส่วนเจ้าพัฒน์ได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราชแทน (สาระน่ารู้กรุงธนบุรี , 2543 : 138-139) ( ดูรายละเอียดเกี่ยวกับนครศรีธรรมราชใน 10.3.1)

ขั้นที่ 4 การยกไปปราบ ชุมนุมเจ้าพระฝาง เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าแล้ว มหาเรืองได้ทำการซ่องสุมผู้คนได้หลายเมือง ตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าทั้งๆ ที่ไม่ได้สึก แต่เปลี่ยนมานุ่งห่มผ้าแดงแทน คนทั่วไปเรียกว่า เจ้าพระฝาง นับเป็นชุมนุมใหญ่อยู่ทางเหนือ ครั้นพ.ศ.2311 เจ้าพระฝางรู้ข่าวว่าเจ้าพระยาพิษณุโลกถึงพิราลัยและพระอินทรอากรผู้น้องได้ครองเมือง จึงยกทัพมาตีเมืองพิษณุโลก และได้รับการช่วยเหลือจากชาวเมืองที่ไม่สนับสนุนพระอินทรอากร จึงทำการได้สำเร็จ จากนั้นจึงสั่งให้ประหารชีวิตพระอินทรอากร ริบทรัพย์สมบัติ อาวุธต่างๆ และอพยพผู้คนไปยังเมืองฝาง

ใน พ.ศ.2313 เจ้าพระฝางได้ประพฤติพาลทุจริตทุศีลมากขึ้น มีการเสพสุราและประกอบกรรมปาราชิก ทั้งที่ยังอยู่ในผ้ากาสาวพัสตร์ พวกสงฆ์อลัชชีที่เป็นนายทัพนายกองก็ออกเที่ยวปล้นเอาข้าวปลาอาหารจากราษฎร เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงทราบ จึงมีพระบรมราชโองการให้เกณฑ์กองทัพไปปราบ เจ้าพระฝางสู้รบอยู่ได้สามวันก็พาสมัครพรรคพวกหนีออกจากเมืองพร้อมด้วยลูกช้างพังเผือกที่เกิดใหม่ กองทัพธนบุรีจับได้แต่ช้างพังเผือก ส่วนเจ้าพระฝางหายสาบสูญไป(สาระน่ารู้กรุงธนบุรี , 2543 : 139-140)

หม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล ได้กล่าวถึงพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในการปราบก๊กต่าง ๆ ไว้ในเรื่อง “ พระเจ้ากรุงธนบุรี ” และในหนังสือ “ มหาวิทยาลัย ” เล่มที่ 15 ฉบับที่ 2, พ.ศ. 2480 ว่า

“ พระปรีชาสามารถของพระเจ้ากรุงธนบุรีในการกู้กรุงศรีอยุธยาให้ได้รับอิสรภาพอย่างเต็มที่นั้น เป็นข้อที่ควรจะสรรเสริญเป็นอย่างยิ่ง หากจะพิจารณาถึงฐานะขององค์พระเจ้ากรุงธนบุรีเปรียบเทียบกับฐานะของผู้มีอำนาจอื่นๆ ในยุคเดียวกัน จะเห็นได้ว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีมีส่วนที่จะกู้ชาติได้น้อยที่สุด เจ้าพระยาพิษณุโลกมีหลักฐานมั่นคง มีกำลังทหารเป็นปึกแผ่น เจ้าพระฝางมีราษฎรนิยมมาก เพราะเชื่อกันว่ามีเวทย์มนต์คาถา เจ้านครฯ ก็มีทั้งกำลังและฝีมือเข้มแข็ง อาจตั้งเป็นเอกราชอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งผู้ใด เจ้าพิมายก็มีศักดิ์เป็นราชตระกูล ราษฏรนิยมชมชื่นในบุญญาอภินิหารกันมาก พระนายกอง (พม่าเรียกสุคยี หมายถึง นายกอง แต่ไทยเอามาเรียกเป็นชื่อว่า สุกี้) และเจ้าทองอิน หรือที่จดหมายเหตุเรียกว่านายบุญส่งนั้น ก็ได้กำลังพม่าหนุนหลังอยู่ พระเจ้ากรุงธนบุรีพระองค์เดียวเท่านั้น เป็นผู้ที่มีฐานะด้อยกว่าคนอื่นๆ มีทหารอยู่ห้าร้อย ปืนกระบอกเดียว ไม่มีบ้านเรือนจะอาศัย ต้องระเหเร่ร่อนไปในที่ต่างๆ ด้วยความลำบาก เป็นอย่างยิ่ง และการที่พระองค์

เสด็จไปตั้งฐานอยู่ที่จันทบุรีนั้น ก็ไม่ได้เป็นไปตามพระราชดำริอันมีอยู่แต่เดิม หากความจำเป็นบังคับจึงต้องไปทางนั้น ฐานะของพระเจ้ากรุงธนบุรีผิดกับคนอื่นๆ ต้องต่อสู้ด้วยกำลังความสามารถและสติปัญญาของพระองค์เอง อาศัยความเป็นหนุ่มคะนองและความชำนาญในการปกครองเป็นเครื่องประกอบ ”

พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ กล่าวถึงการปราบปรามก๊กต่างๆ ที่เหลือ 4 ก๊ก คือ เจ้าพระยาพิษณุโลก เจ้าพระฝาง เจ้านครศรีธรรมราช และเจ้าพิมายไว้ในหนังสือ “ สยามกับสุวรรณภูมิ (ประพัฒน์ ตรีณรงค์ : วารสารไทย 20(72) : ตุลาคม – ธันวาคม , 2542 : 16) ว่า

“ ได้ทรงปราบก๊กต่างๆ ทีละก๊ก โดยความช่วยเหลือของวีรบุรุษทั้งสอง คือ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และกรมพระราชวังบวร (เจ้าพระยาสุรสีห์) ในชั่วระยะเวลา 3 ปี ก๊กต่างๆ ก็ถูกปราบหมดไป กรุงสยามได้กลับรวบรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2313 และทำให้อาณาจักรกลับเป็นปึกแผ่นอีกครั้งหนึ่ง ”

10.2 ในการป้องกันพระราชอาณาจักร สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงมีพระราชกิจอะไรบ้าง ?

การป้องกันพระราชอาณาจักร อันได้แก่การทำศึกสงครามกับพม่า และการกำจัดอิทธิพลของพม่าให้หมดไปจากลานนาไทย

10.2.1 การสงครามกับพม่า ภายหลังการกอบกู้กรุงศรีอยุธยา พระราชกิจที่สำคัญลำดับแรกและเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ คือการป้องกันพระราชอาณาจักรให้พ้นจากการคุกคามของพม่า หลังจากได้รับชัยชนะในการรบกับพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2310 แล้ว ไทยได้รบกับพม่าในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอีกถึง 9 ครั้ง ดังรายละเอียดต่อไปนี้

สงครามครั้งที่ 1 : คราวรบพม่าที่บางกุ้ง | ปีกุน พ ศ .2310

เมื่อเจ้าตากตีกรุงศรีอยุธยาคืนจากข้าศึก ( ในการตีค่ายโพธิ์สามต้นแตกและสุกี้พระนายกองเสียชีวิตในการรบครั้งนั้น ) กิตติศัพท์ทราบไปถึงไหน เกียรติยศของเจ้าตากก็แพร่หลายออกไป ว่าเป็นผู้สามารถกู้แผ่นดินไทยให้พ้นพม่าได้ เจ้าตากลงมาตั้งอยู่ที่เมืองธนบุรี จึงทำพิธีปราบดาภิเษกในปีกุน พ.ศ.2310 หัวเมืองใหญ่น้อยพากันยินดี มีผู้คนมาอ่อนน้อมยอมเป็นข้าเจ้าตากเป็นอันมาก ถึงพวกชาวต่างประเทศที่มาค้าขายคือพวกจีนเป็นต้น เห็นว่าเจ้าตากได้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ก็นับถือว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินไทย

เมื่อเจ้าตากทำพิธีปราบดาภิเษก และประกาศพระเกียรติยศเป็นเจ้ากรุงศรีอยุธยามหากษัตริย์แบบโบราณราชประเพณีอย่างแต่ก่อน แล้วปูนบำเหน็จนายทัพนายกองที่มีความชอบ ครั้งนั้นนาย สุดจินดาได้เป็นที่พระมหามนตรีเจ้ากรมตำรวจ แล้วไปชวนหลวงยกกระบัตร เมืองราชบุรีผู้เป็นพี่ ( คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแห่งราชวงศ์จักรี ) เข้ามารับราชการ ก็ได้เป็นที่พระราชวรินทร์ เจ้ากรมตำรวจด้วย)

การปกครองหัวเมืองทั้งปวงในหนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวว่า เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรี(คือสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ)ราชาภิเษกแล้ว ทรงตั้งข้าราชการออกไปรักษาหัวเมืองน้อยใหญ่ทั้งปวง แต่หัวเมืองในสมัยนั้นประมาณดูตามเรื่องราวที่ปรากฏในพงศาวดาร จะมีผู้คนพอรวบรวมตั้งเป็นเมืองได้โดยเร็วเห็นจะมีไม่กี่เมือง ถ้าจะลองคะเนนับดู หัวเมืองข้างเหนือมีกรุงเก่า (อยุธยา), เมืองลพบุรี, เมืองอ่างทอง, หัวเมืองตะวันออก มีเมืองฉะเชิงเทรา, เมืองชลบุรี, เมืองระยอง, เมืองจันทบุรี เมืองตราด หัวเมืองตะวันตก มีเมืองนครชัยศรี, เมืองสมุทรสงคราม, เมืองเพชรบุรี รวม 11 เมือง นี้เห็นจะมีผู้คนเหลืออยู่พอจะตั้งเป็นเมืองได้ ถึงกระนั้นก็จำเป็นต้องตั้งผู้ปกครองให้มีดังแต่ก่อนทั่ว

ทุกเมือง สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงแบ่งทหารออกไปเป็นกำลังตั้งประจำอยู่ตามหัวเมืองหลายแห่ง ปรากฏในหนังสือพงศาวดารแต่ว่า ให้ทหารจีนไปตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลบางกุ้ง ที่แดนเมืองสมุทรสงคราม ต่อแดนเมืองราชบุรี แห่งหนึ่ง เชื่อว่าคงมีกำลังรักษาอย่างเดียวกันนี้ทางอื่นแต่มิได้กล่าวไว้

เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ตีได้กรุงศรีอยุธยาคืนนั้น เจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต เมืองเวียงจันทน์ ซึ่งฝักใฝ่อยู่กับพม่าในสมัยนั้น ไปทูลพระเจ้าอังวะว่าได้ทราบว่าที่ในเมืองไทย พระยาตากตั้งตัวเป็นใหญ่ กลับตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ฝ่ายพระเจ้าอังวะเวลานั้นกำลังกังวลอยู่ด้วยจะเกิดสงครามกับจีน ไม่เชื่อว่าเหตุการณ์ทางเมืองไทยเป็นการใหญ่โตมากมาย ด้วยเห็นว่าเมืองไทยยับเยิน ผู้คนพลเมืองก็เหลืออยู่น้อย จึงเป็นแต่ให้มีท้องตราสั่ง แมงกี้มารหญ่า เจ้าเมืองทวาย ให้คุมกำลังเข้ามาตรวจตราดูในเมืองไทย ถ้ามีใครกำเริบตั้งตัวขึ้นก็ให้ปราบปรามเสียให้เรียบร้อย พระยาทวายจึงเกณฑ์กำลังยกเป็นกองทัพ เข้ามาทางเมืองไทรโยค เมื่อฤดูแล้ง ปลายปีกุน พ.ศ.2310

ขณะนั้นเมืองกาญจนบุรี และเมืองราชบุรีอันอยู่ในทางพม่าเดินทัพยังร้างอยู่ทั้ง 2 เมือง เรือรบของพม่ายังอยู่ที่เมืองไทรโยค และค่ายคูของพม่าที่ตั้งตามริมน้ำเมืองราชบุรี แต่ยังไม่มีใครรื้อถอน พระยาทวายก็ยกกองทัพมาตามสบาย ครั้นมาถึงบางกุ้งเห็นค่ายทหารจีนของพระเจ้ากรุงธนบุรีตั้งอยู่ พระยาทวายก็ให้กองทัพเข้าล้อมไว้ พระเจ้ากรุงธนบุรีให้พระมหามนตรีคุมทัพหน้า พระองค์คุมทัพหลวงรีบยกกระบวนทัพไปที่เมืองสมุทรสงคราม และเข้าโจมตีข้าศึก พระยาทวายเห็นเหลือกำลังที่จะต่อสู้ ก็รวบรวมไพร่พลกลับไปเมืองทวาย ทางด่านเจ้าขว้าว (เป็นด่านเมืองราชบุรี ตั้งอยู่ริมน้ำพาชี) กองทัพไทยได้เรือรบของพม่าทั้งหมดและได้เครื่องศัสตราวุธ เสบียงอาหารด้วยเป็นอันมาก

สงครามครั้งที่ 2 : คราวพม่าตีเมืองสวรรคโลก | ปีขาล พ..2313

สงครามครั้งนี้ เกิดเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรี ขยายพระราชอาณาเขตขึ้นไปถึงแดนพม่าข้างเมืองเหนือ ก็ได้เมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยาในราชอาณาเขตทั้งหมด ยังขาดแต่เมืองตะนาวศรี และเมืองมะริดที่ตกอยู่กับพม่า กับกรุงกัมพูชา และเมืองมาลายู ประเทศราชยังตั้งแข็งเมืองอยู่ พระเจ้ากรุงธนบุรีประทับจัดการปกครองหัวเมืองเหนืออยู่ตลอดฤดูน้ำ ให้เกลี้ยกล่อมราษฎรที่แตกฉานซ่านเซ็นให้กลับมาอยู่ตามภูมิลำเนาเดิม แล้วสำรวจจำนวนไพร่พลเมืองเหนือทั้งปวง เมืองพิษณุโลกมีพลเมือง 15,000 คน เมืองสวรรคโลกมีพลเมือง 7,000 คน เมืองพิชัย ( รวมทั้งเมืองสวางคบุรี ) มี 9,000 คน เมืองสุโขทัยมี 5,000 คน เมืองกำแพงเพชร กับเมืองนครสวรรค์ มีเมืองละ 3,000 คนเศษ

จึงทรงตั้งข้าราชการซึ่งมีบำเหน็จความชอบในการสงครามครั้งนั้น คือพระยายมราช ( กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ) ให้เป็นเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราชอยู่สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลก ให้พระยาพิชัยราชาเป็นเจ้าพระยาสำเร็จราชการเมืองสวรรคโลก ให้พระยาสีหราชเดโชชัยเป็นพระยาพิชัย ให้พระยาท้ายน้ำเป็นพระยาสุโขทัย ให้พระยาสุรบดินทร์ เมืองชัยนาท เป็นพระยากำแพงเพชร ให้พระยาอนุรักษ์ภูธรเป็นพระยานครสวรรค์ ทรงแต่งตั้งพระยาอภัยรณฤทธิ์ ( รัชกาลที่ 1 แห่งกรุง รัตนโกสินทร์ ) เป็นพระยายมราช และให้บัญชาการกระทรวงมหาดไทยแทนสมุหนายก ซึ่งถูกสั่งปลดจากตำแหน่งเพราะอ่อนแอในการสงคราม ครั้นจัดการหัวเมืองเหนือเสร็จแล้วจึงเสด็จกลับลงมายังกรุงธนบุรี

ในเวลานั้นพม่าปกครองเมืองเชียงใหม่อยู่ พระเจ้าอังวะตั้งให้อภัยคามณี ซึ่งได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็น โปมะยุง่วน เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่มาแต่กรุงเก่ายังไม่สิ้น เมื่อกองทัพกรุงธนบุรีขึ้นไปตีเมืองสวางคบุรี มีพวกเจ้าพระฝางหนีไปพึ่งพม่าทางเมืองเชียงใหม่ โปมะยุง่วนได้ท่วงทีที่จะแผ่อาณาเขตต่อลงมา เพราะไทยพวกเมืองสวางคบุรีไปเข้าด้วย จึงยกกองทัพลงมาตีเมืองสวรรคโลก เมื่อเดือน 3 ปีขาล พ.ศ.2113 ขณะนั้นเจ้าพระยาพิชัยราชาเพิ่งไปอยู่เมืองสวรรคโลก ยังไม่ถึง 3 เดือน กำลังรี้พลยังมีน้อย แต่เมืองสวรรคโลกมีป้อมปราการสร้างไว้แต่โบราณมั่นคง เจ้าพระยาพิชัยราชาจึงรักษาเมืองมั่นไว้ แล้วบอกหัวเมืองใกล้เคียงขอกำลังไปช่วยรบพม่า ทัพพม่าที่ยกมาตีสวรรคโลกคราวนั้นเป็นแม่ทัพพม่าเมืองเชียงใหม่ รี้พลเป็นคนพื้นเมืองโดยมาก เป็นแต่พม่าควบคุมมา เห็นพวกชาวเมืองสวรรคโลกไม่สู้ก็ล้อมเมืองไว้ ครั้นเจ้าพระยาสุรสีห์ พระยาพิชัย พระยาสุโขทัยยกกองทัพไปถึงเข้าตีขนาบ กองทัพพม่าก็แตกพ่ายหนีไปหมด ในคราวนี้หาต้องเดือดร้อนถึงกองทัพธนบุรีไม่

สงครามครั้งที่ 3 : คราวไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรก | ปีเถาะ พ..2314

เหตุที่พระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งนี้ ทำนองจะเป็นด้วยทรงพระราชดำริว่า กำลังพม่าที่เมืองเชียงใหม่ไม่สู้มากมายใหญ่หลวงนัก ทางเมืองอังวะก็กำลังติดศึกจีน ยังจะส่งกำลังมาช่วยไม่ได้ พม่าเมืองเชียงใหม่แตกไปจากเมืองสวรรคโลกใหม่ๆ กำลังครั่นคร้าม ถ้าติดตามขึ้นไปทันทีบางทีจะตีเมืองเชียงใหม่ได้ อนี่ง กองทัพที่จะไปตีเมืองเชียงใหม่ ทั้งทัพหลวงและทัพหัวเมืองก็มีพร้อมอยู่แล้ว ถึงจะตีเมืองเชียงใหม่ไม่ได้ ก็ยังเป็นประโยชน์เป็นการตัดกำลังพม่า และได้รู้ภูมิลำเนาไว้สำหรับคิดการข้างหน้า คงเป็นเพราะทรงพระราชดำริดังว่ามานี้ จึงยกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ เมื่อต้นปีเถาะ พ.ศ.2314

ภาพซากป้อม และกำแพงเมืองภายในเมืองเชียงใหม่ (เดิม) และปัจจุบันได้รับการอนุรักษ์ไว้
(ภาพจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ; www.chiangmaihandicrafts.com/. ../wallandmoat.htm)

กองทัพพระเจ้ากรุงธนบุรียกขึ้นไปตีเชียงใหม่ครั้งนี้ ตั้งประชุมพลที่เมืองพิชัย รวมจำนวนพลได้ 15,000 คน ให้เจ้าพระยาสุรสีห์เป็นนายทัพหน้า พระองค์คุมทัพหลวง ยกขึ้นไปถึงเมืองลำพูน ได้โดยสะดวก ฝ่าย โปมะยุง่วน เห็นข้าศึกยกขึ้นไปได้อย่างรวดเร็วก็ไม่มาต่อสู้กลางทาง เป็นแต่ให้แต่งกองทัพให้ออกมาตั้งค่ายรับอยู่นอกเมือง กองทัพเจ้าพระยาสุรสีห์ตีค่ายนั้นแตก โปมะยุง่วนให้กองทัพถอยกลับเข้าเมืองตั้งรักษาป้อมปราการไว้มั่นคง กองทัพกรุงธนบุรีก็เข้าไปตั้งล้อมเมืองไว้ แล้วเข้าปล้นเมือง 1 ครั้ง รบกันกลางคืนตั้งแต่เวลา 3 นาฬิกา จนรุ่งสว่างเข้าเมืองไม่ได้ก็ต้องถอยกลับออกมา พระเจ้ากรุงธนบุรีดำรัสว่า เมืองเชียงใหม่มีป้อมปราการมั่นคง จึงดำรัสให้ถอยทัพกลับมา มีคำปรัมปรากล่าวกันว่า พระมหากษัตริย์พระองค์ใดเสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรกคงตีไม่ได้ ต้องตีครั้งที่ 2 จึงได้ ก็อาจเป็นเหตุหนึ่งทำให้พระเจ้ากรุงธนบุรีถอยทัพกลับ

โปมะยุง่วนเห็นไทยถอยทัพ ได้ทีก็ให้กองทัพออกติดตามตี พวกพม่าก้าวสกัดยิงกองทัพหลังระส่ำระสายตื่นแตกมาถึงกองทัพหลวง พระเจ้ากรุงธนบุรีเห็นกองทัพหลังเสียทีข้าศึกก็เสด็จลงไปคุมกองหลัง ทรงพระแสงดาบเข้าสู้รบข้าศึกเอง พวกทหารก็เข้ารุกรบข้าศึกถึงตะลุมบอน ข้าศึกต้านทานไม่ไหวก็ถอยหนีกลับไป พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จกลับลงเรือพระที่นั่งที่เมืองพิชัย แล้วก็ล่องลงมายังพระนคร (รายละเอียด ดูได้จากหัวข้อ 10.2.2 การกำจัดอิทธิพลพม่าให้หมดไปจากล้านนาไทย )

สงครามครั้งที่ 4 : คราวพม่าตีเมืองพิชัยครั้งแรก | ปีมะโรง พ.ศ .2315

สงคราม 2 ครั้งต่อไปนี้ (ครั้งที่ 4,5) รบกันแต่น้อย เกิดขึ้นเพราะนายทัพพม่าทะนงใจ มิใช่พม่าตั้งใจจะมาทำศึกสงครามใหญ่โตแต่อย่างใด เมื่อปีเถาะ พ.ศ.2314 ในแคว้นศรีสัตนาคนหุต เจ้า

สุริยวงศ์ซึ่งเป็นเจ้าเมืองหลวงพระบางเกิดวิวาทกับเจ้าบุญสาร ซึ่งเป็นเจ้าเวียงจันทน์ เจ้าหลวงพระบางยกทัพไปตีเวียงจันทน์ เจ้าเวียงจันทน์ไปทูลพระเจ้าอังวะขอกำลังมาช่วย พระเจ้าอังวะจึงให้ ชิกชิงโบ เป็นกองหน้า โปสุพลา เป็นแม่ทัพยกทัพมาช่วย เจ้าหลวงพระบางทราบข่าวรีบถอยทัพมารักษาเมืองหลวงพระบาง เพราะเป็นเมืองต้นทางที่กองทัพพม่าจะผ่านไปเวียงจันทน์ โปสุพลายกทัพเข้าตีเมืองหลวงพระบาง เจ้าหลวงพระบางสู้ไม่ได้ จึงยอมอ่อนน้อมต่อพม่า พระเจ้าอังวะสั่งให้โปสุพลายกทัพมาตั้งอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ คอยป้องกันเมื่อไทยจะยกขึ้นไปตีอีก โปสุพลาจึงเดินทัพมาทางเมืองน่าน ครั้นมาใกล้แดนไทย ทำนองจะเป็นเพราะโปสุพลาอยากจะใคร่อวดฝีมือทหารของตน ข่ม โปมะยุง่วน เจ้าเมืองเชียงใหม่ ด้วยรู้ว่าโปมะยุง่วนเคยมาเสียทีไทยที่เมืองสวรรคโลก จึงแบ่งกองทัพพม่าให้ชิกชิงโบนายทัพหน้า คุมมาตีเมืองไทยที่ปลายแดน ชิกชิงโบยกเข้ามาที่เมืองลับแล (ในปัจจุบันอยู่ในจังหวัดอุตรดิตถ์) ไม่มีใครจะต่อสู้ ก็ได้เมืองลับแลโดยง่าย พม่าเก็บทรัพย์จับผู้คนได้ที่เมืองลับแลไม่พอต้องการ จึงยกเลยเข้ามาตีเมืองพิชัยเมื่อฤดูแล้ง ปลายปีมะโรง รี้พลเมืองพิชัยเวลานั้นยังมีน้อย พระยาพิชัยจึงรักษาเมืองไว้มั่น ยังไม่ออกไปรบ บอกมาขอกำลังเมืองพิษณุโลกขึ้นไปช่วย เจ้าพระยาสุรสีห์ก็รีบเกณฑ์กองทัพยกขึ้นไปยังเมืองพิชัย ขณะนั้นพม่าตั้งค่ายอยู่ที่วัดเอกา กองทัพเมืองพิษณุโลกขึ้นไปถึงก็เข้าตีค่ายพม่า ฝ่ายพระยาพิชัยก็ยกออกมาตีกระหนาบอีกด้านหนึ่ง ได้รบพุ่งกันเป็นตะลุมบอน กองทัพพม่าต้านไม่ไหวก็แตกหนีไปเมืองเชียงใหม่

เรื่องสงครามครั้งนี้ไม่มีในพงศาวดารพม่า ในพระราชพงศาวดารว่า ตัวโปสุพลายกมาเอง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพิจารณาดูรายละเอียดการรบ เห็นว่าแพ้ง่ายนัก คงมิใช่ทัพใหญ่ จึงเข้าใจว่าจะเป็นแต่โปสุพลาแบ่งกำลังให้นายทัพรองยกลงมา มาเสียที ตัวโปสุพลาจึงยกมาเองอีกคราวหนึ่ง ซึ่งจะ ปรากฏต่อไปข้างหน้า

สงครามครั้งที่ 5 :
คราวพม่าตีเมืองพิชัยครั้งที่ 2 | ปีมะเส็ง พ..2316

เมื่อต้นปีมะเส็ง พวกเมืองเวียงจันทน์เกิดวิวาทกันเอง พวกหนึ่งจึงขอกำลัง โปสุพลา ไปช่วย โปสุพลายกกองทัพไประงับวิวาท ค้างฤดูฝนอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ เกิดไม่ไว้ใจเจ้าบุญสาร เจ้านครเวียงจันทน์ จึงบังคับให้ส่งบุตรธิดา กับเสนาบดีผู้ใหญ่ไปเป็นตัวจำนำอยู่ที่เมืองอังวะ ครั้นสิ้นฤดูฝน โปสุพลายกทัพกลับมาจากเมืองเวียงจันทน์ จึงเลยมาตีเมืองพิชัย

เหตุที่โปสุพลาเลยมาตีเมืองพิชัยคราวนี้ อาจจะเป็นด้วยเหตุ 2 ประการ คือ

ประการที่ 1 ทำนองโปสุพลาจะได้ทราบความมาจากเมืองอังวะว่า พระเจ้ามังระกะจะให้แม่ทัพยกมาตีกรุงธนบุรีทางหนึ่ง ( ดังเรื่องจะปรากฏต่อไปข้างหน้า ) โปสุพลาประสงค์จะลองฝีมือคนไทยว่ารบพุ่งเข้มแข็งขึ้นกว่าแต่ก่อนอย่างไร ด้วยเชื่อว่ารี้พลของตนได้รบพุ่งชำนาญศึก เคยมีชัยชนะได้เมืองหลวงพระบางมา ก็คงสู้ไทยที่เมืองพิชัยได้

ประการที่ 2 อาจจะเป็นเพราะโปสุพลามีความอัปยศอดสู ที่รี้พลของตนมาแตกหนีไปจากเมืองพิชัย เมื่อปีมะโรง จึงยกมาแก้มือเองก็เป็นได้

ในหนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวว่า พอสิ้นฤดูฝนในปี พ.ศ.2316 โปสุพลาก็ยกกองทัพมาหมายจะมาตีเมืองพิชัยอีก แต่คราวนี้ฝ่ายไทยรู้ตัวก่อน เจ้าพระยาสุรสีห์และพระยาพิชัย ยกกองทัพไปตั้งซุ่มสกัดอยู่ ณ ที่ชัยภูมิในกลางทาง กองทัพพม่ายกมาถึง ไทยก็ยกออกระดมตี ตีทัพโปสุ พลาแตกไป เมื่อวันอังคาร เดือนยี่ แรม 7 ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ.2316 รบกันครั้งนี้ เมื่อเข้าประจัญบานพระยาพิชัยถือดาบสองมือ เข้าไล่ฟันพม่าจนดาบหัก เลื่องลือชื่อเสียงถึงเรียกชื่อกันว่า “ พระยาพิชัยดาบหัก ” แต่นั้นมา

สงครามครั้งที่ 6 : คราวไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ 2 | ปีมะเมีย พ..2317

พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีพระราชดำริการที่จะต่อสู้อยู่ พอได้ข่าวว่ามอญเป็นกบฏต่อพม่าลุกลามใหญ่โต เห็นว่าพม่าจะต้องคิดปราบปรามพวกมอญกบฏอยู่นาน จะยกเข้ามาตีไทยยังไม่ได้ มีช่องควรจะตีเมืองเชียงใหม่ ตัดกำลังพม่าเสียก่อน จึงยกทัพขึ้นทางเมืองกำแพงเพชร ได้ประชุมกันที่บ้านระแหง ( ตรงที่ตั้งเมืองตากทุกวันนี้ ) ก็ได้ข่าวมาว่าพระเจ้าอังวะให้อะแซหวุ่นกี้ เป็นแม่ทัพใหญ่ลงมาปราบพวกมอญกบฏที่ขึ้นไปตีเมืองร่างกุ้ง พวกมอญสู้ไม่ได้แตกหนีพม่าลงมา พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงดำรัสสั่งให้เจ้าพระยาจักรี ( รัชกาลที่ 1) เป็นแม่ทัพใหญ่ คุมกองทัพหัวเมืองเหนือ ยกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่กับเจ้าพระยาสุรสีห์ ส่วนกองทัพหลวงนั้นต้องรอฟังข่าวทางเมืองเมาะตะมะอยู่ที่เมืองตาก กองทัพเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ก็ยกขึ้นไปทางนครลำปาง

ขณะเมื่อเจ้าพระยาจักรีได้เมืองนครลำปางนั้น พระเจ้ากรุงธนบุรีประทับอยู่ที่บ้านระแหง มีพวกมอญหนีพม่าเข้ามาทางด่านเมืองตาก ขุนอินทคีรีนายด่านพาตัวนายครัวชื่อสมิงสุหร่ายกลั่นมาเฝ้า ดำรัสถามได้ความว่า มอญเสียทีแตกหนีพม่าลงมาจากเมืองร่างกุ้ง อะแซหวุ่นกี้ยกกองทัพติดตามลงมา พวกมอญกำลังอพยพครอบครัวเข้ามาเมืองไทยเป็นอันมาก พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงได้ข่าวว่า พระยากาวิละพาพวกชาวเชียงใหม่ ลำปางมาเข้ากับไทยทรงพระราชดำริเห็นว่า การสงครามทางเชียงใหม่ได้ทีอยู่ จึงดำรัสสั่งลงมายังกรุงธนบุรีให้พระยายมราชแขก (ลูกเจ้าพระยาจักรีแขก ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมไปแล้ว พระยายมราชแขกนี้ เดิมมีตำแหน่งเป็นพ ระยาราชบังสัน) คุมกองทัพออกไปตั้งดักด่านตำบลท่าดินแดง คอยรับครัวมอญที่จะเข้าทางด่านเจดีย์สามองค์ และให้พระยากำแหง

วิชิตคุมทัพตั้งที่บ้านระแหง คอยรับครัวมอญที่เข้าทางด่านตากอีกทาง แล้วเสด็จยกกองทัพหลวงจากบ้านระแหง เมื่อเดือนอ้าย แรม 5 ค่ำปีมะเมีย พ.ศ.2317 ตามกองทัพเจ้าพระยาจักรีขึ้นไปยังเมืองเชียงใหม่

ฝ่ายกองทัพเจ้าพระยาจักรี ยกขึ้นไปจากเมืองนครลำปาง ไปถึงเมืองลำพูนพบกับกองทัพพม่ามาตั้งค่ายสกัดทางอยู่ริมลำน้ำปิงเก่าข้างเหนือลำพูน ก็ให้เข้าตีค่ายพม่า รบพุ่งกันหลายวัน กองทัพหลวงยกไปถึงเมืองลำพูน พอเจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์และเจ้าพระยาสวรรคโลกตีทัพพม่าแตกหนีกลับไปเชียงใหม่ กองทัพหลวงตั้งอยู่ที่เมืองลำพูน ส่วนกองทัพเจ้าพระยาจักรี ก็ยกติดตามไปล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้

ฝ่าย โปสุพลา โปมะยุง่วน ที่เป็นนายทัพพม่า รักษาเมืองเชียงใหม่ เห็นไทยไปตั้งค่ายล้อมเมืองก็คุมพลออกมาตั้งค่ายประชิด แล้วให้มาปล้นค่ายไทยหลายครั้ง ถูกไทยยิงไพร่พลล้มตายต้องถอนกลับเข้าค่ายทุกที ขณะนั้นพวกชาวเมืองเชียงใหม่ที่ซ่อนอยู่ตามป่า ก็มาเข้ากับกองทัพไทย พวกอยู่ในเมืองก็หลบหนีมาเข้ากับไทยเป็นจำนวนมาก

ประตูช้างเผือกสร้างขึ้นใหม่อีกครั้ง ระหว่าง พ.ศ. 2509 – 2512 ประตูท่าแพ
สร้างขึ้นอีกครั้งเมื่อพ.ศ.2528 –2529 ซึ่งเทศบาลนครเชียงใหม่และกรมศิลปากร
สร้างขึ้นโดยอาศัยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ประกอบกับภาพถ่าย
(ภาพจากหนังสือ Seen: architectural forms of Northern Siam and old Siamese fortifications)

ถึง ณ วันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น 3 ค่ำ พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จยกกองทัพหลวงจากเมืองลำพูนไปประทับที่ค่ายหลวงริมน้ำ ใกล้เมืองเชียงใหม่ แล้วไปทอดพระเนตรค่ายที่ตั้งล้อมเมืองเชียงใหม่ หวังจะเร่งให้ตีเมืองเชียงใหม่ให้ได้โดยเร็ว ในวันนั้นเจ้าพระยาจักรีก็ยกกองทัพเข้าตีค่ายพม่าซึ่งออกมารับอยู่นอกเมือง ข้างด้านใต้กับด้านตะวันตกแตกหมดทุกค่าย เจ้าพระยาสุรสีห์ก็ยกเข้าตีค่ายพม่าที่ออกมาตั้งรับตรง ประตูท่าแพ ด้านตะวันออกได้ 3 ค่าย ในค่ำวันนั้น โปสุพลา โปมะยุง่วน ก็ทิ้งเมืองเชียงใหม่อพยพผู้คนหนีไปทาง ประตูช้างเผือก ข้างด้านเหนือ ซึ่งเป็นด้านหน้าเจ้าพระยาสวรรคโลก

ตั้งค่ายล้อมเมืองยังไม่เสร็จ จึงตีหักออกไปได้ กองทัพไทยไล่ติดตาม ชิงครอบครัวพลเมืองกลับคืนมาได้มาก และฆ่าฟันพม่าล้มตาย

รุ่งขึ้นวันอาทิตย์ เดือนยี่ ขึ้น 4 ค่ำ พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จโดยกระบวนพยุหยาตราเข้าเมืองเชียงใหม่ พอได้เมืองเชียงใหม่แล้ว ต่อมาในวันสองวันนั้นเอง ใบบอกเมืองตากก็ขึ้นไปถึง ว่ามีกองทัพพม่ายกตามครัวมอญล่วงแดนเข้ามาอีกทัพหนึ่ง พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีรับสั่งให้เจ้าพระยาจักรีคุมกองทัพอยู่จัดการเมืองเชียงใหม่ให้เรียบร้อย ส่วนพระองค์เองประทับที่เมืองเชียงใหม่ได้ 7 วัน ก็เสด็จยกกองทัพหลวงกลับลงมายังเมืองตาก

ฝ่ายเจ้าพระยาจักรีตั้งอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ ให้พวกท้าวพระยาเที่ยวเกลี้ยกล่อมไพร่บ้านพลเมืองให้กลับคืนมาอยู่ตามภูมิลำเนาเดิม พวกชาวเมืองในแว่นแคว้นลานนาเป็นชาติไทย ต้องอยู่ในอำนาจพม่าด้วยความจำใจ ก็พากันอ่อนน้อมโดยดี ไม่ต้องใช้กำลังปราบปราม ครั้งนั้นเจ้าพระยาจักรีไปเกลี้ยกล่อมเจ้าฟ้าเมืองน่าน ก็ยินดีมาสวามิภักดิ์ เป็นข้าขอบขัณฑสีมาอีกเมืองหนึ่ง จึงได้เมืองเชียงใหม่ ลำพูน นครลำปาง เมืองน่าน และเมืองแพร่กลับมาอยู่ในพระราชอาณาเขตกรุงไทยในครั้งนั้น (รายละเอียดดูที่ 10.2.2)

สงครามครั้งที่ 7 : คราวรบพม่าที่บางแก้วเมืองราชบุรี (ไทยล้อมพม่า ทำให้ทหารพม่าเริ่มอดอยาก) | ปีมะเมีย พ.ศ .2317

พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จกลับจากเมืองเชียงใหม่มาถึงพระนคร พอมาถึงก็ได้ข่าวว่ากองทัพพม่ายกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ตีกองทัพพระยายมราชแขกซึ่งไปตั้งอยู่ที่ท่าดินแดงหนีกลับมาอยู่ที่ปากแพรก (คือเมืองกาญจนบุรีในปัจจุบัน) ในขณะนั้นกองทัพหลวงที่ตามเสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่กำลังลงเรือล่องกลับมา ยังไม่ถึงกรุงธนบุรีโดยมาก จึงมีรับสั่งให้รีบเกณฑ์กองทัพในกรุงฯ ให้พระองค์เจ้าจุ้ยลูกเธอ กับพระยาธิเบศร์บดีจางวางมหาดเล็กถือพล 3,000 ยกออกไปตั้งรักษาเมืองราชบุรี แล้วให้เจ้ารามลักษณ์หลานเธอถือพล 1,000 ยกหนุนไปอีกทัพ และมีคำสั่งให้กองทัพเมืองเหนือยกลงมาด้วย แล้วมีรับสั่งให้ขึ้นไปเร่งกองทัพกรุงฯ ที่ยังกำลังอยู่กลางทางให้รีบลงมาโดยเร็ว

ตามพงศาวดารพม่าว่า อะแซหวุ่นกี้ให้ งุยอคงหวุ่น ( หรือฉับพญาโกงโบ หรือ ฉับกุงโบ ) ยกกองทัพเข้ามาในเมืองไทยคราวนี้ ประสงค์แต่จะให้ตามมาต้อนครัวมอญกลับออกไป ถ้าได้ครัวมอญก็ดีหรือติดตามไม่ทัน ก็ให้เลิกทัพกลับไป แต่งุยอคงหวุ่นถือตัวว่าเคยปราบไทยมาก่อน เมื่อตีกองทัพพระยายมราชแขกแตกหนีเข้ามาจากท่าดินแดงแล้ว ก็ยกเข้ามาถึงปากแพรก ฝ่ายพระยายมราชแขกก็ทิ้งค่ายหนีมาตั้งอยู่ที่ดงรังหนองขาว งุยอคงหวุ่นเห็นไทยไม่ต่อสู้ จึงแบ่งกองทัพเป็น 2 กองให้มองจายิกควบคุมกองหนึ่งตั้งค่ายที่ปากแพรก เที่ยวปล้นทรัพย์ จับผู้คนในแขวงเมือง

กาญจนบุรี สุพรรณบุรีและนครชัยศรี อีกกองหนึ่งให้ปล้นแถวเมืองราชบุรี สมุทรสงคราม และเพชรบุรี โดยงุยอคงหวุ่นคุมทัพเอง ครั้นยกมาถึงบางแก้วได้ทราบความว่า มีกองทัพไทยยกออกไปตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรี งุยอคงหวุ่นก็ให้ตั้งค่ายมั่นที่บางแก้ว 3 ค่าย

ฝ่ายพระองค์เจ้าจุ้ย ตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรี ทราบว่า พม่ามาตั้งค่ายที่บางแก้ว เห็นว่าพอจะสู้ได้และกองทัพกรุงฯ ก็กำลังตามมาเพิ่มเติมออกไป จึงยกทัพขึ้นไปที่ตำบลโคกกระต่ายในทุ่งธรรมเสน ห่างค่ายพม่าลงมาประมาณ 80 เส้น (7.8 กิโลเมตร) แล้วให้หลวงมหาเทพคุมกองหน้าไปตั้งค่ายโอบพม่าข้างตะวันตก ให้กองทัพเจ้ารามลักษณ์ยกไปตั้งค่ายโอบด้านตะวันออก แล้วบอกความเข้ามายังกรุงธนบุรี

พระเจ้ากรุงธนบุรีรับสั่งให้พระยาพิชัยไอศวรรย์ ไปรักษาเมืองนครชัยศรี พระองค์เองยกทัพไปเมืองราชบุรี เสด็จไปทอดพระเนตรค่ายตั้งโอบพม่าที่บางแก้ว ทรงพิจารณาดูภูมิแผนที่แล้ว มีรับสั่งให้นายทัพนายกองคุมกำลังไปตั้งค่ายล้อมพม่าเพิ่มเติมขึ้นอีกจนรอบ แล้วให้เจ้าพระยาอินทรอภัยไปตั้งรักษาหนองน้ำที่เขาชั่วพรวนอันที่ที่ข้าศึกอาศัยเลี้ยงช้างม้าพาหนะ และเป็นทางลำเลียงเสบียงอาหารของข้าศึกแห่งหนึ่ง ให้พระยารามัญวงศ์คุมกองทัพมอญไปรักษาหนองน้ำที่เขาชะงุ้มอันอยู่ในทางลำเลียงของข้าศึกข้างเหนือขึ้นไป ระยะทางประมาณ 120 เส้น (11.7 กิโลเมตร) ด้วยอีกแห่งหนึ่ง

งุยอคงหวุ่น เห็นไทยตั้งล้อมแข็งแรงขึ้น ค่ำวันหนึ่งจึงให้มาปล้นค่ายเจ้าพระยาอินทรอภัย ไทยตีแตกไป พม่ามาปล้นอีกในคืนเดียวกัน 3 ครั้ง แต่ถูกตีแตกไปหมด ที่ล้มตายก็มีมาก ที่ถูกไทยจับตัวก็มี งุยอคงหวุ่นเห็นไทยมีกำลังมาก จึงขอกำลังไปที่กองทัพที่ปากแพรกให้มาช่วย อะแซหวุ่นกี้จึงให้มองจายิดคุมกองทัพลงมาช่วย ( อะแซหวุ่นกี้คอยอยู่ที่เมาะตะมะ เห็นงุยอคงหวุ่นหายไปจึงตามมาดู ยกมาถึงปากแพรกพอดีทราบข่าว )

เจ้าพระยาจักรีกลับจากเชียงใหม่จึงยกทัพมาช่วย พม่าถูกล้อมอยู่นานจนเสบียงอาหารร่อยหรอลงและถูกปืนฝ่ายไทยยิงระดมเข้าไปถูกพม่าล้มตายเป็นอันมาก จนในที่สุดนายทัพพม่าจึงยอมจำนนอ่อนน้อมต่อพระเจ้ากรุงธนบุรี ขณะนั้นอะแซหวุ่นกี้กลับไปเมาะตะมะแล้ว พอได้ค่ายพม่าที่บางแก้ว พระเจ้ากรุงธนบุรีก็มีรับสั่งให้เจ้าพระยาจักรี ยกขึ้นไปตีค่ายพม่าที่เขาชะงุ้ม ในค่ำวันนั้น เวลาเที่ยงคืนพม่าในค่ายเขาชะงุ้มยกค่ายวิหลั่น ( คือการอำพรางกาย ค่อยๆ ขยับลุกเข้ามาหาค่ายไทยทีละน้อย เมื่อถึงจุดที่จะโจมตีก็ปฏิบัติการเข้าโจมตีกันทุกทิศทุกทางเป็นการจู่โจมระยะใกล้ๆ , รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์ , 2543 : 10) ออกมาปล้นค่ายพระมหาสงคราม หมายจะหักมาช่วยพม่าที่ค่ายบางแก้ว คราวนี้พม่ารบพุ่งแข็งแรงกว่าคราวก่อนๆ เห็นจะได้ทราบข่าวอยู่เพียงว่าที่ค่ายบางแก้วจวนจะเสียแก่ข้าศึก จึงพยายามจะลงมาช่วยให้ได้ พม่าเอาไฟเผาค่ายพระมหาสงคราม เจ้าพระยาจักรีไปช่วยทัน รบพุ่งชิงเอาค่ายคืนได้ พม่ากลับเข้าค่าย เวลากลางคืนพม่าในเขาชะงุ้มก็พากันทิ้งค่ายหนีกลับไปทางเหนือ ถูกกองทัพไทยไล่ติดตามฆ่าฟันล้มตายเป็นจำนวนมาก พวกนายทัพนายกองพม่าหนีขึ้นไปถึงปากแพรก ตะแคงมรหน่องรู้ว่ากองทัพพม่าเสียทีแก่ไทยหมดแล้ว ก็ไม่รอต่อสู้ รีบยกหนีกลับไปหาอะแซหวุ่นกี้ที่เมืองเมาะตะมะ ฝ่ายพระเจ้ากรุงธนบุรีมีรับสั่งให้กองทัพยกติดตามพม่าที่แตกหนีไปจนสุดแดนพระราชอาณาเขต แล้วก็ให้ยกกองทัพกลับคืนพระนคร พระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่แม่ทัพนายกองผู้ใหญ่ผู้น้อยตามสมควรแก่ความชอบ ที่มีชัยชนะพม่าครั้งนั้นทั่วกัน

ศึกบางแก้วเป็นตัวอย่างสำคัญของ ยุทธศาสตร์การรับศึกนอกพระนครหลวง ในยุคสมัยธนบุรี ซึ่งมีทั้งยุทธศาสตร์การรุก ( offensive strategy ) และยุทธศาสตร์การรับ ( defensive strategy ) ความสำคัญของศึกครั้งนี้อาจดูคล้ายไม่โดดเด่น หากยึดข้อสันนิษฐานของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงให้ไว้ใน “ ไทยรบพม่า ” ว่าศึกบางแก้วนี้แท้จริงเป็นเพียงศึกติดพัน สืบเนื่องมาจากการตามจับครัวมอญ ที่หนีเข้ามาในเขตไทยของงุยอคงหวุ่น ทางพม่าโดยเฉพาะแม่ทัพใหญ่คือ

อะแซหวุ่นกี้ ไม่ได้มีความประสงค์ที่จะ “ ทำสงครามขับเคี่ยวไทย ” แต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะยังไม่ได้รับคำสั่งจากพระเจ้ามังระ ให้ยกทัพเข้ามาตีเมืองไทย

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าหลักฐานทั้งทางฝ่ายไทย และพม่ายืนยันสอดคล้องต้องกันว่า ศึกครั้งนี้พม่ามีเจตจำนงแน่วแน่ที่จะทำศึกกับไทยโดยตรง การปะทะหาได้เพียงเป็นผลสืบเนื่องจากการตามจับครัวมอญไม่

แผนที่สังเขปการล้อมพม่าที่บางแก้ว พ.ศ.2317
(ภาพจากหนังสือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช)

พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวถึงราชการศึกครั้งนี้ว่า พระเจ้ามังระทรงถึงกับให้ข้าหลวงมาเร่งกองทัพอะแซหวุ่นกี้ ซึ่งขณะนั้นตั้งอยู่ที่เมืองเมาะตะมะให้ “ ยกตามมอญกบฏเข้าไปตีเอาเมืองไทยให้ได้ ” อะแซหวุ่นกี้จึงจัดทัพทั้งทัพหน้าและทัพหนุน ทัพหน้าเข้าตีกองทัพไทยที่ตั้งรับอยู่ ณ ท่าดินแดง

หลักฐานข้างฝ่ายพม่า อาทิ คำให้การชาวอังวะระบุว่า “ ครั้นศักราชได้ 1136 ปี อะแซหวุ่นกี้ยกกองทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา กองทัพหน้าก็ยกเข้ามาถึงเมืองราชบุรี กองทัพไทยจึงล้อมไว้ ” ส่วนหลักฐานในพงศาวดารฉบับหอแก้วและพงศาวดารฉบับราชวงศ์คองบองระบุอย่างชัดเจนว่า พระเจ้ามังระทรงโปรดให้อะแซหวุ่นกี้ยกทัพเข้าตีไทยให้ได้ชัยชนะโดยเด็ดขาด

ศึกบางแก้วจึงสมควรเป็นศึกใหญ่ หาได้เพียงเป็นศึกล้อมจับทัพพม่าที่ยกตามตีครัวมอญ และเข้ามายึดทรัพย์จับเชลยราวกองโจรตามแต่อำเภอใจไม่

หลักฐานทางฝ่ายไทยและพม่ายืนยันสอดคล้องกันว่าเป้าหมายสำคัญของแม่ทัพพม่า ในศึกบางแก้วนี้อยู่ที่การเข้ายึดครองเมืองราชบุรี เมืองราชบุรีจึงเป็นพื้นที่หรือจุดยุทธศาสตร์สำคัญของสงครามบางแก้ว แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ความสำคัญของราชบุรีในด้านยุทธศาสตร์การทหารที่เป็นสงครามข้ามภูมิภาค จะเพิ่งปรากฏเอาครั้งสงครามบางแก้ว ความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของเมืองนี้มีปรากฏมาแต่ครั้งศึกอลองพญา (พ.ศ.2303) อันเป็นผลตามมาจากการเปลี่ยนเส้นทางเดินทัพมาใช้เส้นทวาย ซึ่งเป็นเส้นทางที่พม่าต้องนำทัพตีตัดขึ้นมาทางเพชรบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ตามลำดับ ผลจากการเปลี่ยนเส้นทางเดินทัพทำให้เมืองราชบุรีกลายเป็นเมืองด่านบนเส้นทางยุทธศาสตร์ไปโดยปริยาย

กระนั้นก็ดี ความสำคัญของเมืองราชบุรีหาได้เพียงเป็นเมืองบนเส้นทางยุทธศาสตร์ เช่นเมืองใหญ่เมืองน้อยอีกหลายเมืองไม่ ในทัศนะของนักการทหารไทยและพม่า เมืองราชบุรีเป็นเมืองยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เพราะเปรียบเสมือนเป็น “ ปราการด่านสุดท้าย ” ที่ทัพข้าศึกจะหักตีเข้าศูนย์กลางทางอำนาจของรัฐไทยได้ มีหลักฐานปรากฏว่าเมืองราชบุรีถูกใช้เป็นเมืองยุทธศาสตร์รับศึกพม่ามาแต่ครั้งศึกอลองพญา ในคราวสงครามเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2310 กองทัพใหญ่ของไทยก็ยกลงมาสกัดทัพมังมหานรธา ที่ตีตะลุยเข้ามาทางใต้ที่เมืองราชบุรี เมื่อพม่าตีราชบุรีได้ ก็ใช้เมืองนี้เป็นฐานทัพชุมนุมพลเพื่อแบ่งกำลังเข้าตีกรุงศรีอยุธยาเป็น 2 ทาง

กำลังส่วนหนึ่งตีปิดสกัดหัวเมืองทางด้านตะวันตก มีเมืองกาญจนบุรี และสุพรรณบุรีเป็นเป้าหมาย
กำลังอีกส่วนหนึ่งเข้าปิดสกัดหัวเมืองตอนใต้กรุงศรีอยุธยา โดยมีเมืองธนบุรีและนนทบุรีเป็นเป้ายึดครอง

ความสำคัญของเมืองราชบุรีในฐานะเมืองยุทธศาสตร์ทางทหาร ทวีสูงขึ้นในยุคธนบุรี ถึงแม้ยุคสมัยธนบุรีนี้พม่าจะเปลี่ยนมาใช้เส้นด่านพระเจดีย์สามองค์เป็นเส้นทางเดินทัพก็ตาม ความสำคัญที่ทวีสูงขึ้นเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงภายในทางฝ่ายไทย รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ได้ตั้งข้อสังเกตว่า “ ในสมัยกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองหลวงของราชอาณาจักรย้ายมาอยู่ที่กรุงธนบุรีและกรุงเทพพระมหานครที่อยู่ใต้กรุงศรีอยุธยาลงมา ทำให้เส้นทางเดินทัพมีอันที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไป นั่นก็คือในการเข้าตีกรุงเทพพระมหานคร ( หรือกรุงธนบุรี ) นั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องเดินทัพผ่านเมืองกาญจนบุรีไปพนมทวน สุพรรณบุรี และอ่างทอง หากผ่านกาญจนบุรีลงมาราชบุรี และนครปฐม ธนบุรีเลย ในการนี้การเดินทัพจึงมาได้ทั้งทางน้ำและทางบก โดยเฉพาะทางน้ำนั้นเดินทางตามลำน้ำแควน้อยได้โดยตลอด จนถึงปากแพรกแล้วล่องมายังราชบุรีตามลำน้ำแม่กลองได้

จะเห็นได้ว่า ยุทธศาสตร์การรับศึกพม่าในสมัยธนบุรีนั้นแปรเปลี่ยนไปจากสมัยอยุธยาตอนปลาย ด้วยสงครามจะ “ แพ้ – ชนะ ” นั้น ไม่ได้ตัดสินกันที่ยุทธภูมิที่มีพระนครหลวงเป็นฐานประจัญบาน แต่อยู่ที่ชัยชนะอันได้แก่กันในพื้นที่หรือจุดยุทธศาสตร์ตามหัวเมืองสำคัญ

ในกรณีศึกบางแก้วปัจจัยสำคัญที่จะตัดสินผล “ แพ้ – ชนะ ” อยู่ที่การเข้ายึดครองและรักษาเมืองราชบุรีของแม่ทัพทั้งสองฝ่าย จึงไม่เป็นเรื่องแปลกอะไรที่พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงจัดปฏิบัติการทางทหารอย่างรวดเร็วและเฉียบขาด เพื่อจะยึดเอาเมืองราชบุรีเป็นฐานปฏิบัติการรบ

หลักฐานในพงศาวดารระบุว่า ทันทีที่ทรงทราบว่ามีทัพพม่ายกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ก็ทรงโปรดให้ “ พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าจุ้ย กับพระยาธิเบศร์บดีเป็นแม่ทัพ ถือพล 3,000 แยกไปตั้งค่ายรับ ณ เมืองราชบุรี ” และโปรดให้เจ้ารามลักษณ์หลานเธอถือพล 1,000 ยกหนุนออกไปอีก

ทัพหนึ่ง ส่วนทัพใหญ่ที่ตามเสด็จไปตีเชียงใหม่ และกำลังอยู่ในระหว่างการล่องเรือกลับลงมายังกรุงธนบุรีนั้นทรงให้เรือตำรวจขึ้นไปรับลงมา “ อย่าให้ใครแวะเข้าบ้านเป็นอันขาด ผู้ใดแวะเข้าบ้านจะประหารชีวิตเสีย ” และเมื่อเรือท้าวพระยาพระหลวงขุนหมื่นข้าราชการทั้งปวงนั้น รีบเร่งลงมาถึงหน้าพระตำหนักแพ “ พอกราบถวายบังคมลา แล้วก็โบกพระหัตถ์สั่งให้รีบออกไปเมืองราชบุรี ”

เห็นได้ว่าราชการศึกครั้งนี้เป็นราชการศึกเร่งด่วนที่ต้องทำการแข่งกับเวลา ผู้ใดขัดพระบรมราชโองการเป็นเหตุให้เกิดความล่าช้าจะถูกลงพระอาญาอย่างรุนแรง ปรากฏหลักฐานว่าขณะนั้นพระเทพโยธาจอดเรือแวะขึ้นบ้าน ครั้นทรงทราบถึงกับลงพระอาญาตัดหัวด้วยพระหัตถ์พระองค์เอง และยังมีพระบัญชาให้ “ ตำรวจนำเอาศีรษะ ไปเสียบประจานไว้ที่หน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์ และศพนั้นให้ทิ้งน้ำเสียอย่าให้ใครดูเยี่ยงอย่างสืบไป”

ทัพที่โปรดให้ยกออกไปรับศึกครั้งนี้ ยังมีกองมอญภายใต้การนำทัพของพระยารามัญวงศ์ และยังมีทัพเจ้าพระยาจักรีและทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือและฝ่ายตะวันออกสมทบตามไปอีก ส่วนตัวพระเจ้ากรุงธนบุรีเองนั้นก็ยกเป็นทัพใหญ่ตามไปสมทบทัพอื่นๆ ด้วยกำลังพล 8,800 โดยเสด็จตรงไปยังค่ายมั่นเมืองราชบุรีเช่นกัน

ข้างทัพพม่านั้น อะแซหวุ่นกี้ซึ่งเป็นแม่ทัพที่เชี่ยวชาญชำนาญศึกผู้หนึ่ง ก็เข้าใจถึงเงื่อนไขทางยุทธศาสตร์ที่มีความจำเป็นจะต้องเข้ายึดเมืองราชบุรีเป็นฐานกำลังให้ได้ ก่อนที่ทัพใหญ่ทางฝ่ายไทยจะเคลื่อนพลเข้ายึดครอง ความพ่ายแพ้ในศึกบางแก้วของอะแซหวุ่นกี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความล้มเหลวในการยึดครองเมืองราชบุรี เพราะทัพหน้าที่ส่งเข้ามาถูกทัพทางฝ่ายไทยตรึงเอาไว้ได้ เมื่อทัพหน้าไม่สามารถกระทำการตามแผนยุทธศาสตร์ ทัพหลวงที่ชุมนุมอยู่ที่เมืองเมาะตะมะก็ยากจะเคลื่อนพลลงมาหนุนทัพหน้าได้

เส้นทางเดินทัพผ่านด่านพระเจดีย์สามองค์ที่อะแซหวุ่นกี้เลือกใช้ในศึกบางแก้วนั้น ถึงแม้จะเป็นเส้นทางลัดตัดเข้าตีกรุงธนบุรีได้เร็วกว่าเส้นทางอื่น แต่เส้นทางก็ทุรกันดาร นอกจากนี้หากเดินทัพล่าช้าเป็นเหตุให้ทัพฝ่ายตรงข้ามเข้ายึดพื้นที่ปิดสกัดเส้นทางและตัดเสบียงได้ ก็จะทำให้เกิดความยากลำบากแก่กองทัพ โดยเฉพาะทัพหลวงที่มีกำลังพลจำนวนมาก และต้องอาศัยพื้นที่เป็นบริเวณกว้างในการผ่อนปรนผู้คนและตั้งค่าย

หลักฐานข้างฝ่ายพม่าสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของอะแซหวุ่นกี้ ที่จะจัดกองทัพเข้าตีทางฝ่ายไทยอย่างฉับพลัน แต่ปรากฏว่าเกิดความแตกแยกขึ้นภายในกองทัพ ทำให้เกิดความล่าช้าขึ้น กล่าวโดยย่อคือในชั้นต้นอะแซหวุ่นกี้ได้สั่งให้นายทัพใหญ่ เมงจี สะยาจอ ( Minye Zeya Kyaw) ซึ่งมีฐานะเป็นนายทัพคุมทหารรักษาพระองค์จำนวน 3,000 เข้าตีทะลวงทัพไทยที่ตั้งปิดสกัดเส้นทางเดินทัพของพม่า ปรากฏว่า เมงจี สะยาจอ ปฏิเสธที่จะดำเนินการตามคำสั่ง โดยอ้างว่ากำลังมีไม่พอ ทางอะแซหวุ่นกี้ จึงมีรายงานไปยังพระเจ้ามังระ เมงจี สะยาจอทราบเรื่องจึงถอนกำลังของตนถอยไปตั้งที่เมาะตะมะ อะแซหวุ่นกี้จึงจำต้องส่ง ฉับพญาโกงโบ (ฉับกุงโบ หรือ งุยอคงหวุ่น ใน “ ไทยรบพม่า ” ) ไปกระทำการแทน ซึ่งก็ช้าเกินการณ์เพราะเมื่อทัพหน้าพม่ายกไปถึงปากแพรกและบ้านบางแก้ว ก็ปรากฏว่าทัพไทยยกมาตั้งมั่นคอยรับอยู่ที่เมืองราชบุรีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ความล้มเหลวของอะแซหวุ่นกี้ในคราวศึกบางแก้วนี้ ทำให้อะแซหวุ่นกี้เปลี่ยนยุทธศาสตร์การรบใหม่ คือหันไปใช้เส้นทางทางเหนือเป็นเส้นเดินทัพ มุ่งเข้าตีเมืองพิษณุโลกเช่นครั้งที่พระเจ้าบุเรงนองและเนเมียวสีหบดียกมาทำการ ในเงื่อนไขทางยุทธศาสตร์ศึกบางแก้วจึงเป็นศึกที่ต่อเนื่องกับศึกอะแซหวุ่นกี้ ซึ่งไม่เพียงเป็นศึกที่ใหญ่และสำคัญที่สุดในรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่ยังเป็นศึกที่ทั้งท้าทาย และสามารถเอาชัยเหนือยุทธศาสตร์การตั้งรับของฝ่ายไทย ที่ปรับเปลี่ยนจากประสบการณ์ที่ได้จากสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2310

ยุคสมัยธนบุรีต่อรัตนโกสินทร์ตอนต้นเป็นยุคสมัยที่หัวเมืองที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ ได้กลายมาเป็นสมรภูมิตัดสินผลแพ้ชนะของสงคราม ราชบุรีเป็นหนึ่งในจำนวนหัวเมืองลักษณะดังกล่าว ศึกบางแก้วแท้จริงแล้วก็คือศึกตีหัวเมืองราชบุรี เช่นเดียวกับที่ศึกอะแซหวุ่นกี้ก็คือศึกตีเมืองพิษณุ-โลก

ผลแพ้ชนะไม่เพียงยุติที่การเสียหัวเมืองยุทธศาสตร์สำคัญ แต่อาจรวมหมายถึงการแพ้ สงครามและเสียกรุงได้ในที่สุด (สุเนตร ชุตินธรานนท์ , 2543 : 173-178)

ศรีชลาลัย (นามปากกา) ( 2482 ) เขียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไว้ในเรื่อง “ ไทยต้องจำ ” ว่า

“ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ไม่ใช่แต่ทรงเป็นยอดแห่งนักรบไทยโดยเฉพาะเท่านั้น พระองค์ยังทรงพยายามทำให้โลกเห็นว่า ไทยเป็นชาตินักรบที่ดำรงภูมิธรรมชั้นสูง อีกด้วย จะเห็นได้เมื่อคราวพม่ายกกองทัพเข้ามารุกรานทางเมืองกาญจนบุรี ราชบุรี นครชัยศรีในปีมะเมีย พ.ศ. 2317 (ปีที่ 7 ในสมัยกรุงธนบุรี) ขณะนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเพิ่งเสด็จกลับมาจากปราบปรามเชียงใหม่ และบังเอิญสมเด็จพระราชมารดากำลังประชวรมีพระอาการหนัก แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงหักพระทัยพยายามเสด็จพระราชดำเนินออกไปต่อต้านกองทัพพม่าที่เมืองราชบุรีโดยด่วน เพราะไม่ต้องพระราชประสงค์ให้พม่ามาเหยียบชานพระนครให้เสื่อมเสียเกียรติยศของชาติไทย และไม่ทรงปรารถนาจะให้ไทยเสียขวัญลงไปอีก ครั้นเสด็จออกไปเพียง 9 วัน ขุนวิเศษโอสถรีบไปกราบทูลพระอาการของสมเด็จพระราชมารดาซึ่งเพียบมาก เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงทราบแล้วถึงกับตรัสออกพระโอษฐ์ว่า พระโรคเห็นหนักจะมิได้ไปทันเห็นพระองค์ ด้วยการแผ่นดินครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก ครั้นจะไปบัดนี้ ไม่เห็นผู้ใดที่ไว้ใจให้อยู่ต้านต่อข้าศึกได้ ” ในที่สุดสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชหักพระทัยไม่เสด็จกลับ เพราะทรงเป็นห่วงการแผ่นดิน ทรงบากบั่นขับเคี่ยวอยู่กับกองทัพพม่า ฝ่ายสมเด็จพระมารดาสวรรคต ส่วนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพยายามต่อรบ ล้อมกองทัพพม่าไว้อยู่ เมื่อไม่มีทางใดที่พม่าจะตีหักหนีออกมาได้ ถ้าพวกทหารจะยิงปรำ (ยิงพร้อมๆ กัน) เข้าไปในค่ายพม่า ให้ทหารพม่าตายหมด ก็อาจทำได้ แต่ไม่โปรดให้ทำเช่นนั้น เพราะทรงรักษาเกียรติยศของนักรบไทย ซึ่ง เมื่อข้าศึกหมดทางสู้แล้ว นักรบไทย

ย่อมไม่ทำอันตราย ในที่สุดกองทัพพม่าสิ้นฤทธิ์ ยอมออกมาสวามิภักดิ์ในวันที่ 31 มีนาคม ปีนั้น เพราะฉะนั้น วันที่ 31 มีนาคม จึงควรเป็นที่ระลึกอันสำคัญยิ่งของทหารไทย ซึ่งสมบูรณ์ด้วยคุณธรรมชั้นสูง ถือเป็นที่ระลึกอย่างน่าปลื้มใจว่า

          1 . ทหารไทยถือเอาการของชาติเป็นใหญ่ยิ่ง ยอมสละการส่วนตัวทั้งที่เป็นส่วนสำคัญแม้ว่าจะต้องเผชิญกับความเศร้าโศกอย่างสุดซึ้ง ก็ยอมทั้งสิ้น ขอแต่ให้งานของชาติสำเร็จลุล่วงไปเป็นที่ตั้ง
          2 . ชาติไทยไม่รุกรานชาติอื่น ถ้าชาติใดบังอาจบุกรุกเข้ามา ทหารไทยจะไม่ปล่อยให้ข้าศึกเหลือกลับไปได้เลย
          3 . แม้ข้าศึกตกอยู่ในที่ล้อมหมดทางสู้ พวกไทยจะยิงปรำเสียก็ตายสิ้น แต่ทหารไทยไม่ต้องการทำอันตรายแก่ปรปักษ์ที่ไม่มีโอกาสต่อสู้ ให้เสียเกียรติยศสักอย่างเดียว
          4 . เมื่อปรปักษ์ยอมอ่อนน้อมแล้ว ไทยก็เอ็นดูชุบเลี้ยงพอสมกับเหตุการณ์ มิได้แสดงความอาฆาตประทุษร้ายต่อไป
          5 . แผ่นดินไทยทุกกระเบียดนิ้ว ยืนอยู่เป็นเอกราชได้เพราะไทยเป็นนักรบที่เข้มแข็ง
(ประพัฒน์ ตรีณรงค์ , วารสารไทย 20 (72) : ตุลาคม – ธันวาคม , 2542 : 18-19)

สงครามครั้งที่ 8 : คราวอะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ | ปีมะแม พ.ศ. 2318

สงครามครั้งนี้เป็นศึกใหญ่ยิ่งกว่าทุกคราวในสมัยเมื่อกรุงธนบุรีเป็นราชธานี สงครามครั้งนี้ อะแซหวุ่นกี้ได้ประกาศแก่นายกองของตนว่า เดี๋ยวนี้คนไทยไม่เหมือนแต่ก่อนเสียแล้ว เป็นอันว่า ต่อไปพม่าจะเอาชนะไทยอีกไม่ได้ มูลเหตุที่จะเกิดสงครามครั้งนี้ คือเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีตั้งเมืองไทยกลับเป็นอิสระขึ้นนั้น เป็นเวลาพม่ากำลังติดสงครามอยู่กับจีน ครั้นเสร็จศึกจีน เมื่อปีเถาะ พ.ศ. 2314 พระเจ้าอังวะจึงดำริการจะมาตีเมืองไทยอีก คิดจะให้โปสุพลาเป็นแม่ทัพยกลงมาจากเมืองเชียงใหม่ และให้ปะกันหวุ่นเป็นแม่ทัพยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ มาล้อมตีกรุงธนบุรีเหมือนเมื่อครั้งตีกรุงศรีอยุธยา แต่เกิดเหตุขัดขวางเสียทั้ง 2 ทาง ทางเมืองเชียงใหม่ ไทยยกไปตีเมืองเชียงใหม่ได้เสียก่อน ทางเมืองเมาะตะมะพอทำทางจะยกกองทัพ พวกมอญก็เป็นกบฏขึ้นวุ่นวายใหญ่โต การที่จะมาตีเมืองไทยจึงเป็นอันไม่สำเร็จตามที่พระเจ้าอังวะได้ทรงดำริไว้

เจดีย์ชเวดากอง เมืองร่างกุ้ง
(ภาพจาก www.trekkingthai.com/cgi-bin/webboard/generat… )

ครั้นถึงปีมะเมีย พ.ศ. 2317 พระเจ้าอังวะเสด็จลงมายกฉัตรยอดพระเกศธาตุ เจดีย์ชเวดากอง ที่เมืองร่างกุ้ง ขณะนั้นอะแซหวุ่นกี้ปราบปรามพวกมอญกบฏเสร็จแล้ว เป็นแต่ยังรอกองทัพพม่าที่เข้ามาตามครัวมอญ ที่เมืองเมาะตะมะ พระเจ้าอังวะทรงดำริเห็นว่ามีกองทัพใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเมาะตะมะแล้ว จึงมีรับสั่งมอบการที่จะตีเชียงใหม่ ให้อะแซหวุ่นกี้คิดอ่านต่อไป

อะแซหวุ่นกี้รับรับสั่งของพระเจ้าอังวะกลับมาถึงเมืองเมาะตะมะในเดือน 5 ปีมะแม พ.ศ. 2318 พอกองทัพตะแคงมรหน่องหนีไทยกลับไปถึง ชี้แจงการที่กองทัพพม่าเข้ามาเสียที ไทยจับกองทัพงุยอคงหวุ่นได้ และตีพม่าอีกกองทัพหนึ่งแตกยับเยินไปจากเขาชะงุ้ม ตะแคงมรหน่องจึงต้องหนีกลับออกไป

อะแซหวุ่นกี้คิดแผนการตีไทยตามแบบอย่างครั้งพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง คือจะยกกองทัพใหญ่เข้ามาตีหัวเมืองเหนือตัดกำลังไทยเสียชั้นหนึ่งก่อน แล้วเอาหัวเมืองเหนือเป็นที่มั่น ทั้งยกกองทัพบก ทัพเรือลงมาตีกรุงธนบุรีทางลำน้ำเจ้าพระยาทางเดียวดังนี้ จึงให้พักบำรุง

รี้พลอยู่ที่เมืองเมาะตะมะ แล้วมีคำสั่งขึ้นไปยังโปสุพลา โปมะยุง่วนซึ่งถอยหนีไทยไปตั้งอยู่ที่เมืองเชียงแสน ให้ยกกลับลงมาตีเมืองเชียงใหม่ให้ได้แต่ในฤดูฝน แล้วให้เตรียมเรือรบ เรือลำเลียงและรวบรวมเสบียงอาหารลงมาส่งกองทัพอะแซหวุ่นกี้ ซึ่งจะยกเข้ามาในต้นฤดูแล้ง โปสุพลา โปมะยุง่วน จึงรวบรวมกำลังยกลงมาตีเชียงใหม่ เมื่อเดือน 10 ปีมะแม พ.ศ.2318

ฝ่ายกรุงธนบุรี ตั้งแต่มีชัยชนะที่บางแก้วแล้วมีเวลาว่าง 5-10 เดือน ก็ได้ข่าวว่าโปสุพลา โปมะยุง่วนจะยกกองทัพมาตีเชียงใหม่ พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงดำรัสให้มีตราสั่ง เจ้าพระยาสุรสีห์ ให้ยกกองทัพหัวเมืองเหนือขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่ แล้วให้เจ้าพระยาจักรีคุมกองทัพหนุนขึ้นไปอีก รับสั่งไปว่า ถ้าตีพม่าถอยไปจากเมืองเชียงใหม่แล้ว ให้เลยตามขึ้นไปตีเอาเมืองเชียงแสน

โปสุพลา โปมะยุง่วน ยกกองทัพพม่าลงมาตีเมืองเชียงใหม่ก่อนกองทัพไทย ตั้งค่ายประชิดเตรียมจะตีเมือง แต่กำลังที่รวบรวมลงมาได้ไม่แข็งแรงเท่าไรนัก ครั้นได้ข่าวว่ากองทัพไทยยกขึ้นไป พม่าก็ถอยหนีกลับไปเมืองเชียงแสน หารอต่อสู้ไม่

ฝ่ายอะแซหวุ่นกี้เตรียมทัพพร้อมแล้ว ถึงเดือน 11 ก็ให้ กะละโบ่ กับ มังแยยางู ผู้เป็นน้องชายคุมกองทัพหน้า ยกออกจากเมืองเมาะตะมะ แล้ว อะแซหวุ่นกี้ ยกทัพหลวงหนุนมา ทัพพม่าเดินทางด่านแม่ละเมาเข้ามาเมืองตาก จากเมืองตากมาตามทาง มาบ้านด่านลานหอย ตรงมาเมืองสุโขทัย จึงให้ทัพหน้าลงมาตั้งที่บ้านกงธานี ที่ริมน้ำยมใหม่ ส่วนทัพหลวงตั้งพักที่เมืองสุโขทัย

ฝ่ายเจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์ ตั้งอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ กำลังตระเตรียมจะยกขึ้นไปตีเมืองเชียงแสน ได้ข่าวว่าพม่ายกกองทัพใหญ่เข้ามาทางด่านแม่ละเมา ก็รีบยกกองทัพกลับทางเมือง

สวรรคโลก เมืองพิชัย ครั้นมาถึงเมืองพิษณุโลก เจ้าพระยาทั้งสองจึงปรึกษากันถึงการต่อสู้ข้าศึก เจ้าพระยาจักรีเห็นว่าพม่ายกมาเป็นกองทัพใหญ่ กำลังไทยที่มีอยู่เมืองเหนือน้อยกว่าพม่ามากนัก ควรตั้งรับอยู่ที่พิษณุโลก คอยกองทัพจากกรุงธนบุรียกไปช่วย แต่เจ้าพระยาสุรสีห์อยากจะยกไปตีพม่าก่อน จึงรวบรวมกองทัพหัวเมือง ยกไปรบพม่าที่บ้านกงธานี เจ้าพระยาสุรสีห์ยกตามไปตั้งอยู่ที่บ้านไกรป่าแฝก พม่ายกมาตีกองทัพพระยาสุโขทัยแตกถอยมา แล้วยกติดตามมาถึงค่ายเจ้าพระยาสุรสีห์ๆ ตั้งสู้รบอยู่ 3 วัน เห็นพม่ามากกว่ามากนัก จึงถอยกลับมาพิษณุโลก

อะแซหวุ่นกี้ แบ่งกองทัพพม่าให้รักษาเมืองสุโขทัย แล้วคุมพลยกตามมาถึงพิษณุโลก ให้ตั้งค่ายรายล้อมเมืองทั้งสองฟากแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองก็จัดการป้องกันเมืองเป็นสามารถ ในเวลาเมื่อ อะแซหวุ่นกี้ตั้งล้อมเมืองพิษณุโลกอยู่ก่อนกองทัพกรุงธนบุรีขึ้นไปถึงนั้น อะแซหวุ่นกี้ยกพลเลียบค่ายไปเที่ยวตรวจตราหาชัยภูมิทุกวัน

ฝ่ายกรุงธนบุรีเมื่อได้ข่าวว่า อะแซหวุ่นกี้ยกกองทัพใหญ่เข้ามาทางหัวเมืองเหนือ ขณะนั้นมีใบบอกหัวเมืองปักษ์ใต้เข้ามาว่า พม่ายกมาจากเมืองตะนาวศรีอีกทางหนึ่ง พระเจ้ากรุงธนบุรี ไม่ไว้พระทัยจึงดำรัสสั่งให้เกณฑ์กองทัพ ไปรักษาเมืองเพชรบุรี คอยป้องกันพม่าที่จะยกมาทางด่านสิงขร ครั้นจัดการป้องกันข้าศึก ซึ่งจะยกมาทางทิศใต้ฝ่ายตะวันตกแล้ว พระเจ้ากรุงธนบุรีก็เสด็จยกกองทัพหลวงมีจำนวน 12,000 เศษ ออกจากพระนครเมื่อวันอังคาร เดือนยี่ แรม 11 ค่ำ ปีมะแม ขึ้นไปต่อสู้ข้าศึกซึ่งยกมาทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ

กระบวนศึกตอนที่ 1

เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จขึ้นไปถึงเมืองนครสวรรค์ ในชั้นต้นทรงจัดวางการคมนาคมที่จะให้กองทัพหลวงไปมาถึงกันกับกองทัพเจ้าพระยาจักรี ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองพิษณุโลกได้สะดวก มีรับสั่งให้พระยาราชาเศรษฐีคุมกองทัพจีน ตั้งอยู่ที่เมืองนครสวรรค์ คอยระวังทางลำเลียงและระวังข้าศึกซึ่งจะยกลงมาทางลำน้ำพิง แล้วเสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นทางลำน้ำแควใหญ่ไปถึงปากพิง แขวงเมืองพิษณุโลก ให้ตั้งค่ายหลวงประทับอยู่ที่ปากพิงนั้น ด้วยเป็นปากคลองลัดทางเรือไปมา ในระหว่างลำน้ำแควใหญ่ที่ตั้งเมืองพิษณุโลกกับลำน้ำยม ที่ตั้งเมืองสุโขทัย อยู่ใต้เมืองพิษณุโลกลงมาระยะทางพอวันหนึ่ง แล้วตรัสสั่งให้ข้าราชการที่เป็นแม่ทัพนายกองคุมพลไปตั้งค่ายทั้งสองฟากลำน้ำ เป็นระยะขึ้นไปแต่กองทัพหลวงจนถึงเมืองพิษณุโลก

          – ระยะที่ 1 ตั้งที่บางทราย พระยาราชสุภาวดี เป็นนายทัพ
          – ระยะที่ 2 ตั้งที่ท่าโรง เจ้าพระยาอินทรอภัย เป็นนายทัพ
          – ระยะที่ 3 ตั้งที่บ้านกระดาษ พระยาราชภักดี เป็นนายทัพ
          – ระยะที่ 4 ตั้งที่วัดจุฬามณี จมื่นเสมอใจราช เป็นนายทัพ
          – ระยะที่ 5 ตั้งที่วัดจันทร์ท้ายเมืองพิษณุโลก พระยานครสวรรค์ เป็นนายทัพ

ให้จัดกองตระเวนออกตรวจตรารักษาทางคมนาคมทุกระยะ และให้มีกองปืนใหญ่ทหารเกณฑ์หัดเตรียมไว้เป็นกองหน้า สำหรับจะให้ไปช่วยที่ค่ายไหนๆ ได้ในเวลาทันท่วงที แล้วให้พระยาศรีไกรลาศคุมพล 500 ทำทางริมลำน้ำสำหรับเดินกองทัพแต่ปากพิงผ่านไปตามค่ายที่ตั้งอยู่ ตลอดถึงเมืองพิษณุโลก

พอกองทัพหลวงยกขึ้นไปติดต่อกับกองทัพที่รักษาเมืองพิษณุโลก อะแซหวุ่นกี้ก็รีบลงมือรบรุกกองทัพธนบุรี

รายการรบตอนนี้ปรากฏในหนังสือพงศาวดารว่าพอไปตั้งค่ายตามริมแม่น้ำ เป็นระยะขึ้นไปทั้งสองฟากดังกล่าวมาแล้ว อะแซหวุ่นกี้ก็ให้กองทัพพม่ามาตั้งค่ายตรงหน้าที่จมื่นเสมอใจราชที่วัดจุฬามณี ข้างฝั่งตะวันตก 3 ค่าย แล้วให้กองทัพอีกกองหนึ่งยกลงมาลาดตระเวณตรวจกำลังข้าศึกทางฝั่งตะวันตก ได้รบกับไทยตั้งแต่ค่ายระยะที่ 3 ลงมาจนถึงระยะที่ 1 ที่บางทราย พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงให้กองเกณฑ์หัดคุมปืนใหญ่รางเกวียน 30 กระบอก ขึ้นไปช่วยพระยาราชสุภาวดีรักษาค่าย พม่ารบพุ่งอยู่จนเวลาค่ำก็ถอยกลับไปถึง ณ วันพฤหัสบดี เดือน 3 ขึ้น 12 ค่ำ พระเจ้ากรุงธนบุรีดำรัสสั่งให้พระธรรมไตรโลก พระยารัตนพิมล พระยาชลบุรีคุมพลอยู่รักษาค่ายหลวงที่ปากน้ำพิง แล้วเสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปตั้งที่บางทรายฝั่งตะวันออก ไปช่วยพระยาราชสุภาวดี ในค่ำวันนั้นพม่ายกมาทางฝั่งตะวันตก เข้าปล้นค่ายเจ้าพระยาอินทรอภัย ที่ตั้งเป็นระยะที่ 2 ที่ท่าโรง รบพุ่งกันเป็นสามารถ พระเจ้ากรุงธนบุรีให้กองเกณฑ์หัด 200 คน (คุมปืนใหญ่) ขึ้นไปช่วย พม่าตีไม่ได้ค่ายก็เลิก

ตอนนี้อะแซหวุ่นกี้ รู้สึกว่า กองทัพไทยที่ยกขึ้นไปจากข้างใต้มีกำลังมากกว่าที่คาดไว้แต่แรก ครั้นจะแบ่งกำลังที่ล้อมเมืองพิษณุโลกมาช่วยตีกองทัพไทยข้างใต้ ก็เกรงว่าเจ้าพระยาทั้งสองจะออกระดมตีทางข้างเหนือ จึงให้งดการรบรุกกองทัพกรุงธนบุรีไว้ แล้วมีหนังสือส่งไปยังกองทัพหนุนที่ตั้งอยู่เมืองสุโขทัย 5,000 ให้แยกลงมาตีตัดลำเลียงของกองทัพกรุงธนบุรี 3,000 จำนวนพลที่เหลืออีก 2,000 ให้ยกไปช่วยรบกับไทยทางเมืองพิษณุโลก

กระบวนศึกตอนที่ 2

ฝ่ายพระเจ้ากรุงธนบุรี เห็นกองทัพพม่าที่ลงมาตีค่าย เลิกกลับไปทางเมืองพิษณุโลกหมด ก็ทรงเตรียมการที่จะตีกองทัพพม่าซึ่งล้อมเมืองพิษณุโลก ถึงวันพุธ เดือน 3 ขึ้น 13 ค่ำ มีรับสั่งให้พระยารามัญวงศ์คุมพลกองมอญผ่านทางในเมืองพิษณุโลก ขึ้นไปตั้งประชิดค่ายพม่าข้างด้านเหนือ ให้เจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์เพิ่มกำลังออกไปตั้งค่ายประชิดพม่าข้างด้านตะวันออก ข้างด้านใต้นั้นให้พระยานครสวรรค์ ซึ่งตั้งอยู่ ณ วัดจันทร์ ท้ายเมืองพิษณุโลก ตั้งค่ายชักปีกกาประชิดค่ายพม่าออกไปเป็นหลายค่าย พม่ายกเข้าตีกองมอญ พวกมอญยิงปืนตับต้องพม่าเจ็บป่วยล้มตายถอยหนีกลับเข้าค่าย กองมอญก็ตั้งค่ายลงได้ ส่วนกองทัพเจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์ที่ไปตั้งค่ายนั้น แต่แรกพม่ารบชิงเอาค่ายได้ เจ้าพระยาสุรสีห์เข้ารบชิงเอาค่ายคืนมาได้ แล้วขับทหารเข้าตั้งค่ายประชิดพม่าได้ตลอดด้าน พม่ายกมาตีค่ายก็ถูกไทยตีแตกพ่ายไปอีก พม่าจึงขุดคูเข้ามาเป็นหลายสาย เอาคูบังตัวเข้ามาตีค่ายไทย ฝ่ายไทยก็ขุดคูออกไปให้ทะลุถึงคูของพม่า รบพุ่งกันในคูทุกๆ ค่าย รบกันมาหลายวัน ไทยตีค่ายพม่าไม่แตก

ครั้น ณ วันอังคาร เดือน 3 แรม 2 ค่ำ พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จขึ้นไปถึงค่ายที่วัดจันทร์ เพลาค่ำ 22 นาฬิกา ดำรัสสั่งให้นัดสัญญาแก่นายทัพนายกองที่ไปตั้งประชิดพม่า ให้เตรียมตัวพร้อมกันทุกกอง พอถึงเพลาดึก 5 นาฬิกา ก็บอกสัญญาให้กองทัพไทยเข้าระดมตีค่ายพม่าที่ล้อมเมืองข้างด้านตะวันออกพร้อมกันทุก ๆ ค่าย รบกันอยู่นานจนเช้า ไทยเข้าค่ายพม่าไม่ได้ก็ต้องถอยมา เพราะอะแซหวุ่นกี้เห็นไทยตั้งค่ายประชิดข้างด้านตะวันออกมาหลายวัน คาดว่าไทยคงจะระดมตีค่ายทางด้านนั้น อะแซหวุ่นกี้มีรี้พลมากกว่า จึงส่งกำลังเพิ่มเติมมาต่อสู้แข็งแรงนัก

พระเจ้ากรุงธนบุรี ตีค่ายพม่าไม่ได้สมพระประสงค์ รุ่งขึ้นจึงมีรับสั่งให้ประชุมแม่ทัพนายกองพร้อมกันที่ค่ายวัดจันทร์ ทรงปรึกษาการที่จะตีกองทัพพม่าต่อไป ตกลงจะเปลี่ยนการรบ กำหนดให้เจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์ รวมกำลังในเมืองยกออกตีค่ายพม่า ให้ตีเฉพาะแต่ค่ายทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ จะให้กองทัพอีกกองหนึ่งแยกไปจากกองทัพหลวง ตีกระหนาบพม่าเข้าไปข้างด้านหลัง ให้พม่าแตกโดยกระบวนตีโอบเป็นลำดับไป เมื่อปรึกษากันแล้วพระเจ้ากรุงธนบุรีก็เสด็จกลับลงมาตั้งกองทัพหลวงอยู่ที่ค่ายท่าโรง อันเป็นระยะที่ 2 แต่ค่ายปากพิงขึ้นไปนั้น

รุ่งขึ้น จึงดำรัสสั่งให้กองทัพพระยานครสวรรค์ ที่ตั้งอยู่ที่ค่ายวัดจันทร์ถอยลงมายังกองทัพหลวง และให้หากองทัพพระโหราธิบดีและกองมอญพระยากลางเมืองขึ้นมาจากค่ายบางทราย แล้วรวมพลังจัดเข้าเป็นกองทัพหนึ่ง จำนวนพล 5,000 ให้พระยานครสวรรค์เป็นทัพหน้า ให้ยกขึ้นไปซุ่มอยู่ทางด้านหลังค่ายพม่า ฝั่งตะวันตก ถ้าเห็นพม่ารบพุ่งติดพันกับกองทัพเจ้าพระยาจักรีเมื่อใด ก็ให้ตีกระหนาบเข้าไป แล้วโปรดให้พระราชสงครามลงมาเอาปืนใหญ่ที่กรุงธนบุรีเพิ่มเติมขึ้นไปอีกด้วย

ฝ่ายกองทัพพม่าที่ตั้งอยู่ที่เมืองสุโขทัย ได้รับคำสั่งอะแซหวุ่นกี้ก็แบ่งกำลัง ยกเป็นกองทัพลงมาทางเมืองกำแพงเพชร ประสงค์จะให้มาตีตัดลำเลียงของกองทัพไทย และยกไปตีเมืองพิษณุโลกตามคำสั่ง กองสอดแนมของพระยาสุโขทัยได้ความว่า พม่าให้กองทัพยกไป 2 ทางนั้น จึงมากราบทูลพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงทรงแก้ไขกระบวนทัพให้ถอนพระยาราชภักดีกับพระยาพิพัฒโกษาซึ่งตั้งอยู่บ้านกระดาษ ให้ลงมาช่วยพระยาราชาเศรษฐีรักษาเมืองนครสวรรค์ และให้กองมอญพระยาเว่งสมทบกับกองหลวงภักดีสงคราม รีบยกไปคอยสอดแนมข้าศึกที่บ้านลานดอกไม้แขวงเมืองกำแพงเพชร ให้รู้ว่าพม่าจะยกไปทางไหน ถ้าพบข้าศึกได้ทีก็ให้โจมตี ถ้าไม่ได้ทีก็ให้ล่าถอยมา ส่วนกองทัพพระยามหามณเฑียร ที่ยกไปซุ่มคอยตีกระหนาบพม่านั้นคงให้ไป และให้พระยาธรรมาหนุนไปอีกกองหนึ่ง

ฝ่ายเจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์ ยกออกไปตีค่ายพม่าที่ล้อมเมืองอยู่ข้างด้านตะวันตกเฉียงใต้ ได้รบกับพม่า แต่ตีค่ายพม่าไม่แตก ด้วยกองทัพที่กะว่าจะไปช่วยตีกระหนาบอีกทางหนึ่ง ยกไปไม่ถึงตามกำหนด เพราะกองทัพพระยานครสวรรค์อันเป็นกองหน้าของพระยามหามณเฑียรยกไปถึงบ้านส้มป่อย ไปพบกับพม่าต้องรบพุ่งติดพันกันอยู่ จึงไปติดอยู่เพียงแค่นั้น เจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์ก็ต้องรักษาค่ายมั่นอยู่ ส่วนกองทัพพระยามหามณเฑียรจะทำอย่างไรต่อไปไม่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร ปรากฏแต่ว่ากองทัพพระยานครสวรรค์กลับมาตั้งที่บ้านแขก

จึงเข้าใจว่าเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีเห็นว่าจะตีโอบพม่าโดยไม่ให้รู้ตัวไม่ได้แล้ว ก็ให้กลับมาทั้งกองทัพพระยานครสวรรค์และพระยามหามณเฑียร

กระบวนศึกตอนที่ 3

ฝ่ายอะแซหวุ่นกี้เห็นกองทัพไทยที่ตั้งค่ายตามริมแม่น้ำใต้เมืองพิษณุโลกย้ายถอนไปที่อื่นเสียหลายกอง ก็ให้กะละโบ่คุมกองทัพลงมาตั้งสกัดตัดลำเลียงเสบียงอาหารที่ส่งเข้าไปในเมืองพิษณุโลก พม่าตีเอาไปได้หลายครั้ง

ถึงวันศุกร์ เดือน 3 แรม 12 ค่ำ มีใบบอกขึ้นไปจากกรุงธนบุรีว่า พม่ายกเข้ามาทางด่านสิงขรขึ้นมาตีเมืองกุย เมืองปราณแตก กรมขุนอนุรักษ์สงครามซึ่งรักษาเมืองเพชรบุรีแต่งกองทหารไปตั้งขัดตาทัพอยู่ที่ด่านช่องแคบในแขวงเมืองเพชรบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ไว้พระทัยเกรงพม่าจะยกเข้ามาตีกรุงธนบุรีอีกทางหนึ่ง จึงดำรัสสั่งให้เจ้าประทุมไพจิตรคุมกองทัพกลับลงมารักษาพระนครกองหนึ่ง กองทัพหลวงก็ถอยกำลังลงไปอีก

ฝ่ายกองมอญที่พระเจ้ากรุงธนบุรี ให้พระยาเจ่งคุมไปดักพม่าที่เมืองกำแพงเพชร ไปถึงก่อนพม่าจึงตั้งสกัดทางอยู่ พอพม่าที่ยกไปจากเมืองสุโขทัยไปถึง พระยาเจ่งออกโจมตี พม่าไม่รู้ตัวก็แตกหนี ได้เครื่องศัตราวุธของข้าศึกส่งมาถวาย แต่พม่ามากกว่ามากนัก พอกองช้างหลังตามมาทัน พระยาเจ่งก็ต้องล่าถอย มาซุ่มสะกดรอยคอยสืบข่าวกองทัพพม่านั้นตามรับสั่ง และกองทัพพม่าซึ่งยกลงมาเมืองกำแพงเพชรนั้น อะแซหวุ่นกี้สั่งให้ลงมาตีเมืองนครสวรรค์ อันเป็นที่รวบรวมเสบียงกองทัพไทย หวังจะตัดกำลังกองทัพไทยที่ขึ้นไปช่วยเมืองพิษณุโลกด้วย พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระราชดำริเห็นความคิดพม่า จึงให้กองทัพพระยาราชภักดี และพระยาพิพัฒโกษาถอยลงมาสมทบกองทัพพระยาราชาเศรษฐี รักษาเมืองนครสวรรค์ดังกล่าวมาแต่ก่อน ครั้นพม่ายกลงมาถึงกำแพงเพชร สืบสวนได้ความว่าไทยตั้งรักษาเมืองนครสวรรค์แข็งแรง พม่าจึงยับยั้งตั้งค่ายอยู่เพียงเมืองกำแพงเพชร แล้วแต่งกองโจรให้เดินลัดป่าทางฝั่งตะวันตกอ้อมหลังเมืองนครสวรรค์ลงไปเมืองอุทัยธานี (เก่า) กองหนึ่ง

วันเสาร์ เดือน 3 แรม 13 ค่ำ พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทราบความตามใบบอกว่า พม่าที่เมืองกำแพงเพชรตั้งค่ายอยู่ที่บ้านโนนศาลาค่ายหนึ่ง บ้านถลกบาตรค่ายหนึ่ง บ้านหลวงค่ายหนึ่ง แล้วยกแยกลงไปทางเมืองอุทัยธานีกองหนึ่งไปเผาบ้านอุทัยธานีเสียแล้ว จะยกไปทางไหนสืบไม่ได้ความ

ณ วันอังคาร เดือน 4 ขึ้น 2 ค่ำ พระยารัตนพิมล ซึ่งรักษาค่ายปากพิงบอกขึ้นไปกราบทูลพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า กองสอดแนมเห็นพม่าถางป่าจะตั้งค่ายในคลองพิง ห่างเข้าไปสัก 3 คุ้ง จึงดำรัสสั่งให้หลวงวิสูตรโยธามาตย์ หลวงราชโยธาเทพเอาปืนใหญ่รางเกวียน 8 กระบอกไปเพิ่ม รักษาเมืองค่ายปากพิงข้างฟากตะวันตก ในวันนั้นพม่ายกมาตั้งค่ายประชิดค่ายพระยาธรรมา และพระยานครสวรรค์ ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านแขก 4 ค่าย แล้วกรุยทางจะตั้งค่ายโอบลงมา

ครั้น ณ วันพุธ เดือน 4 ขึ้น 3 ค่ำ พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาท แต่ค่ายบ้านท่าโรง ขึ้นไปจนถึงบ้านแขกที่พม่าตั้งค่ายโอบ ดำรัสสั่งให้กองทัพพระยาสีหราชเดโชชัย กับกองจมื่นทิพเสนายกไปสมทบช่วยพระยานครสวรรค์รักษาค่าย แล้วเสด็จกลับลงมายังค่ายท่าโรง มีรับสั่งให้หาตัวเจ้าพระยาจักรีมาเฝ้าทรงปรึกษาราชการทัพ ในขณะทรงปรึกษานั้น พม่าเข้าปล้นค่ายที่ปากพิง จึงดำรัสสั่งให้เจ้าพระยาจักรีอยู่รักษาค่ายหลวง ส่วนพระองค์เสด็จยกกองทัพเรือลงมาจากท่าโรง มาช่วยรักษาค่ายปากพิง อยู่จนเวลาเช้าเห็นพม่าไม่ยกลงมาตี จึงมอบหมายให้พระยาเทพอรชุนกับพระพิชิตณรงค์เป็นผู้จัดการ แล้วกลับขึ้นไปยังเมืองพิษณุโลก

พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จลงมาถึงปากพิงในตอนกลางคืน พอ 5 นาฬิกาวันนั้นพม่าก็เข้ามาตีค่ายพระยาธรรมไตรโลก พระยารัตนพิมล ข้างด้านคลองกระพวง รบกันอยู่จนสว่าง พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระดำเนินข้ามสะพานเรือกไปข้างตะวันตก ทรงจัดกำลังไปช่วยรบพม่ารักษาค่ายคลองกระพวง ให้พระยาสุโขทัยยกหนุนไปตั้งค่ายชักปีกกาและขุดสนามเพลาะให้ติดต่อกับค่ายที่พม่าตี โปรดให้กองหลวงรักษาโยธา หลวงภักดีสงครามยกไปตั้งค่ายประชิดพม่าข้างด้านปากคลองกระพวง และให้หลวงเสนาภักดีคุมพลกองแก้วจินดายกไปตีกระหนาบหลังพม่าอีกด้านหนึ่ง

ถึงวันเสาร์ เดือน 4 ขึ้น 6 ค่ำ กองทัพพระยาสุโขทัย กองหลวงรักษาโยธา กองหลวงเสนาภักดียกเข้าตีค่ายพม่าที่คลองกระพวง แต่เวลาเช้าพร้อมกันทั้ง 3 กอง ได้รบพุ่งกันเป็นสามารถ จึงใช้อาวุธสั้น ไทยตีพม่าไม่แตก ด้วยกำลังพม่ามีมากกว่า

ถึงวันอาทิตย์ เดือน 4 ขึ้น 7 ค่ำ พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีรับสั่งให้กองทัพเจ้าพระยาอินทร อภัยซึ่งตั้งอยู่ที่ท่าโรง และกองมอญ พระยากลางเมืองยกลงมาช่วยรบพม่าอยู่ที่คลองกระพวง ดำรัสสั่งให้ตั้งค่ายชักปีกกาต่อออกไปจากค่ายใหญ่อีกเป็นระยะทาง 22 เส้น (2.15 กิโลเมตร) ครั้นจวนพลบค่ำเวลาวันนั้น พม่ายกออกปล้นค่ายไทยรบพุ่งกันอีก พม่าตีค่ายไทยไม่ได้ก็ตั้งรอกันอยู่ พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงรับสั่งให้หา พระยายมราช ลงมาจากค่ายวัดจันทร์ โปรดให้ถืออาญาสิทธิ์บังคับกองทัพไทยที่ตั้งรบพุ่งพม่าที่คลองกระพวงทุก ๆ กอง

ราววันอังคาร เดือน 4 ขึ้น 9 ค่ำ อะแซหวุ่นกี้ ให้กะละโบ่คุมกำลังมาตีค่ายไทยที่ตั้งอยู่เหนือปากพิงอีกทัพหนึ่ง กะละโบ่ยกกองทัพมาตั้งค่ายประชิดค่ายพระยานครสวรรค์ซึ่งตั้งอยู่ริมลำน้ำแควใหญ่ ฟากตะวันตกที่บ้านแขก ครั้นวันพฤหัสบดี เวลากลางคืน กะละโบ่ให้กองทัพยกข้ามลำน้ำมาปล้นค่ายกรมแสงใน ซึ่งอยู่ที่วัดพริกฟากตะวันออก พวกกรมแสงรักษาค่ายอยู่ 240 คน สู้รบพม่าไม่ไหว พม่าก็ตีค่ายข้างฝั่งตะวันออกได้หมดทั้ง 5 ค่าย

ถึง ณ วันศุกร์ เดือน 4 ขึ้น 12 ค่ำ พระยานครสวรรค์ซึ่งตั้งอยู่บ้านแขกบอกลงมากราบทูลว่า พม่าตั้งค่ายโอบลงมาถึงริมน้ำและข้ามไปตีค่ายวัดพริกแตกทั้ง 5 ค่าย เห็นพม่าจะตีวกหลัง จะขอล่าถอยกองทัพลงมาตั้งทางฝั่งตะวันออก พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงดำรัสให้กองทัพหลวงรักษามณเฑียรกับพระโหราธิบดีซึ่งตั้งอยู่ที่โคกสลุด และกองทัพพระยานครชัยศรีซึ่งตั้งอยู่ที่โพธิ์ประทับช้างข้างใต้ ให้ยกขึ้นไปที่ปากพิง แล้วให้กองมอญพระยากลางเมือง กองพระโหราธิบดียกขึ้นไปสมทบ กองพระยาเทพอรชุน กองพระยาวิชิตณรงค์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ท่าโรงรวมเป็นกองทัพพระยายมราช ยกไปรบพม่าที่วัดพริก พอตั้งค่ายลงกะละโบ่ก็ยกเข้าตี กองทัพไทยยังไม่ทันพร้อมมูล พม่าก็ชิงเอาค่ายได้ ครั้นพระยายมราชขึ้นไปถึงผู้คนพรักพร้อม จึงยกเข้ารบพม่าชิงเอาค่ายคืนมาได้ พม่าก็ถอยกลับไปค่ายเดิม ต่างตั้งมั่นสู้รบกันอยู่

ในขณะนั้นอะแซหวุ่นกี้ให้มังแยยางูน้องชายคุมกองทัพพม่าอีก 1 กอง ข้ามฟากมาโอบหลังกองทัพหลวงที่ปากพิงทางด้านตะวันออก ตั้งค่ายรายประชิดกองทัพหลวงเป็นหลายค่าย สู้รบกันอยู่หลายวันไทยตีพม่าไม่แตกไป พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระราชดำริเห็นว่ากำลังข้าศึกมากนัก จะตั้งสู้รบอยู่ที่ปากพิงต่อไปจะเสียที ครั้น ณ วันพฤหัสบดีเดือน 4 แรม 10 ค่ำ จึงให้ถอยทัพหลวงจากปากพิงลงมาตั้งมั่นอยู่ที่บางข้าวตอก ในแขวงเมืองพิจิตร กองทัพข้าราชการที่ตั้งรักษาตามระยะต่าง ๆ ก็ถอยตามกองทัพหลวงลงมาโดยอันดับหมดทุกกอง

กระบวนศึกตอนที่ 4

ฝ่ายเจ้าพระยาจักรี ตั้งแต่มาเฝ้าพระเจ้ากรุงธนบุรี กลับไปถึงเมืองพิษณุโลก ปรึกษากับเจ้าพระยาสุรสีห์เห็นพร้อมกันว่าเหลือกำลังที่จะรักษาเมืองต่อไปได้ ด้วยขัดสนเสบียงอาหารยิ่งนัก จึงตกลงกันให้เตรียมการที่จะทิ้งเมืองพิษณุโลก ให้ทหารในค่ายซึ่งออกไปตั้งประชิดพม่าถอยกลับเข้าเมือง พม่าก็ตามเข้ามาประชิดกำแพงเมือง พวกทหารที่รักษาหน้าที่เชิงเทินระดมยิงปืนใหญ่ป้องกัน พม่าเข้าเมืองไม่ได้ก็ถอยไป ตั้งปืนยิงโต้ตอบกัน

ถึงวันศุกร์ เดือน 4 แรม 11 ค่ำ เจ้าพระยาทั้งสองได้ทราบความว่ากองทัพหลวงล่าถอยไปตั้งแต่วันก่อนแล้ว จึงให้เจ้าหน้าที่ระดมยิงปืนมากขึ้นกว่าทุกวัน แล้วเอาปี่พาทย์ขึ้นไปติดตามป้อม ลวงให้พม่าเข้าใจว่าตระเตรียมจะตั้งสู้อยู่ในเมืองให้นานวัน แล้วให้จัดกระบวนทัพเป็น 3 กอง ครั้นจัดกระบวนทัพพร้อมเสร็จ ถึงเวลาค่ำ 21 นาฬิกา ก็ให้เปิดประตูเมืองยกกองทัพออกตีค่ายพม่าข้างด้านตะวันออก ไทยตีหักค่ายพม่าเปิดเป็นทางไปได้ เจ้าพระยาทั้งสอง ก็ให้รีบเดินกองทัพไปทางบ้านมุงดอนชมพู แต่ครอบครัวราษฎรมาด้วยกัน ตามกองทัพเจ้าพระยาทั้งสอง ไปได้บ้าง แตกลงมาหากองทัพหลวงที่บางข้าวตอกบ้าง ที่ปลกเปลี้ยเมื่อยล้าพม่าตามจับไปได้บ้าง เจ้าพระยาทั้งสองก็ยกกองทัพข้ามเขาบรรทัดไปตั้งรวบรวมรี้พลอยู่ที่เมืองเพชรบูรณ์ แต่ พม่าตั้งล้อมเมืองพิษณุโลกอยู่ 4 เดือน จึงได้เมือง

ฝ่ายอะแซหวุ่นกี้รู้ว่ากองทัพไทยตีหักหนีไปจากเมืองแล้ว ก็เข้าตั้งอยู่ในเมืองพิษณุโลก เมื่อเห็นว่าเสบียงอาหารฝืดเคืองมาก จึงจัดกองทัพสองกอง ให้มังแยยางูคุมมาทางเมืองเพชรบูรณ์ ให้มารวบรวมเอาเสบียงอาหารที่เมืองเพชรบูรณ์และเมืองหล่มสักส่งไป และอีกประการหนึ่ง บางทีจะให้มาตีซ้ำเติมกองทัพเจ้าพระยาทั้งสอง ก็ได้ แล้วให้กะละโบ่คุมกองทัพ ยกมาทางเมืองกำแพงเพชร ให้มาลาดตะเวนหาเสบียงอาหาร พอแยกกันไปแล้ว อะแซหวุ่นกี้ก็ได้รับท้องตราว่า พระเจ้าอังวะสิ้นพระชนม์ จิงกูจาราชบุตร ได้รับราชสมบัติ มีรับสั่งให้หากองทัพกลับไปเมืองอังวะโดยเร็ว อะแซหวุ่นกี้ได้ทราบก็ตกใจจะให้คนถือหนังสือไปตามกองทัพมังแยยางูก็ไม่ทัน จะรั้งรออยู่ก็เกรงความผิด จึงรวบรวมทรัพย์สมบัติและกวาดต้อนครอบครัวที่จับได้ ยกทัพกลับไปทางเมืองสุโขทัย เมืองตาก ออกทางด่านแม่ละเมาโดยทางที่มา สั่งให้กองทัพกะละโบ่รออยู่ในเมืองไทยคอยกลับไปพร้อมมังแยยางู ด้วยเหตุนี้กองทัพพม่าจึงตกค้างอยู่ 2 กองทัพ ไทยยังต้องปราบปรามกันต่อมาอีกหลายเดือน กองทัพที่ยกไปติดตามพม่า คือกองทัพพระยาพลเทพ พระยาราชภักดี ซึ่งยกไปทางเมืองเพชรบูรณ์ ไปพบกองทัพมังแยยางูตั้งอยู่ที่บ้านนายมข้างใต้เมืองเพชรบูรณ์ กองทัพไทยเข้าระดมตี พม่าจึงพากันหนีขึ้นไปทางเหนือไปเข้าในแดนลานช้าง แล้วกลับเข้าพม่าทางเมืองเชียงแสน

เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จขึ้นไปค่ายหลวง เมืองชัยนาท ดำรัสสั่งให้กรมขุนอนุรักษ์สงคราม กรมขุนรามภูเบศร์ กับพระยามหาเสนา ยกขึ้นไปตีทัพกะละโบ่ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองนครสวรรค์ แล้วเสด็จยกกองทัพหลวงติดตามไป เมื่อ ณ วันจันทร์ เดือน 8 ขึ้นค่ำ 1 แต่จะมีเหตุใดเกิดขึ้นหาปรากฏไม่ ปรากฏแต่ว่า ถึง ณ วันพุธ เดือน 8 ขึ้น 3 ค่ำเสด็จกลับลงมายังกรุงธนบุรี

ฝ่ายกองทัพกรมขุนอนุรักษ์สงคราม กรมขุนรามภูเบศร์ และพระยามหาเสนายกขึ้นไปตีค่ายพม่าที่เมืองนครสวรรค์ พม่าตั้งค่ายอยู่ประมาณจำนวนพลสัก 1,000 เศษ กองทัพไทย เข้าตีค่าย พม่าต่อสู้แข็งแรงรบพุ่งติดพันกันอยู่หลายวัน พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงเสด็จยกทัพหลวงขึ้นไปจากกรุงธนบุรีอีก พอเสด็จขึ้นไปถึงเมืองชัยนาท ก็ได้ความว่า พม่าทิ้งค่ายที่เมืองนครสวรรค์หนีลงมาทางเมืองอุทัยธานี พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีรับสั่งให้กองทัพพระยายมราชกับกองทัพพระยาราชสุภาวดีและกองมอญ พระยารามัญวงศ์ยกไปสมทบกับกองทัพเจ้าอนุรุทเทวา ซึ่งยกลงไปแต่ก่อนช่วยกันติดตามตีทัพพม่าให้แตกฉาน กองทัพไทยไปทันพม่าที่บ้านเดิมบางนางบวช แขวงเมืองสุพรรณบุรี ได้รบพุ่งกัน พม่าสู้ไม่ได้ก็แตกหนีไปทางด่านพระเจดีย์สามองค์

เมื่อ ณ วันพฤหัสบดี เดือน 9 แรม 2 ค่ำ พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปจากเมืองชัยนาท เลยขึ้นไปเมืองตาก ให้นายทัพนายกองออกเที่ยวติดตามพม่า จับเป็นมาได้ 300 เศษ พม่าหลบหนีออกไปนอกพระราชอาณาเขตหมดแล้ว จึงเสด็จกลับคืนมายังกรุงธนบุรี

การสงครามคราวอะแซหวุ่นกี้มาตีหัวเมืองเหนือครั้งนี้ ไทยกับพม่ารบกันมาตั้งแต่เดือนอ้าย ปีมะแม พ.ศ. 2318 จนเดือน 10 ปีวอก พ.ศ. 2319 นับเวลาได้ 10 เดือนจึงเลิกรบ ผลของการสงครามครั้งนี้ควรยุติได้ว่า ไม่ได้ชัยชนะทั้ง ฝ่าย

ศึกอะแซหวุ่นกี้ ในปี พ.ศ. 2318-2319 นั้น หลักฐานยังสับสนอยู่ กล่าวคือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีพระดำริว่า สงครามครั้งนั้นไม่มีฝ่ายใดแพ้ฝ่ายใดชนะ ส่วนศาสตราจารย์ขจร สุขพานิช ได้เสนอหลักฐานจากพงศาวดารพม่าฉบับหอแก้วและหนังสือประวัติศาสตร์พม่า ซึ่งเขียนโดย เซอร์ อาเธอร์ แฟร์ ( Sir Arthur Phayre) ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำพม่า ตลอดจนจดหมายเหตุความทรงจำ ซึ่งถ้าพิจารณาหลักฐานที่ศาสตราจารย์ขจร สุขพานิชเสนอเพิ่มเติมใหม่ทั้ง 3 หลักฐานนี้ แสดงให้เห็น ว่าผลของสงครามครั้งนั้น มิใช่ไม่มีฝ่ายใดแพ้ฝ่ายใดชนะตามที่เข้าใจกันแต่เดิม กล่าวคือ

พงศาวดารพม่าฉบับหอแก้วบันทึกไว้ว่า เมื่อได้พิษณุโลกแล้ว อะแซหวุ่นกี้ได้ปะทะกับกองทัพของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ณ ที่แม่น้ำทั้งสองประสบกัน แต่อะแซหวุ่นกี้ ได้รับท้องตราว่า พระเจ้ามังระสิ้นพระชนม์ จิงกูจา (สินคูมิน) พระราชโอรสได้รับราชสมบัติ ได้มีรับสั่งให้กองทัพพม่ายกกลับไปอังวะโดยด่วน เมื่อไปถึงอะแซหวุ่นกี้ผู้เคยมีชื่อเสียงและความดีความชอบมาตั้งแต่ ครั้งที่สามารถเอาชนะศึกจีนได้กลับถูกลงโทษ ถูกถอดจากตำแหน่งฐานบังคับบัญชากองทัพไม่ดี กองทัพขาดระเบียบวินัย และยุทธวิธีที่ใช้ในการรบกับไทยก็ไม่ดี ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานของเซอร์ อาเธอร์ แฟร์ที่ว่า

“ …เมื่อสิ้นฝน มหาสีหสุระ ( อะแซหวุ่นกี้ ) ก็นำทัพเข้าทางด่านระแหงได้พบการต่อสู้ไม่เข้มแข็งเท่าใดนัก แต่เกิดการขัดแย้งขึ้นในกองทัพพม่า แม่ทัพรอง เซยาคะโย ( Zeya Kyo ) ไม่เห็นด้วยกับแผนการรบ แต่มหาสีหสุระก็ปฏิบัติไปตามแผนของท่าน ท่านตีได้เมืองพิษณุโลก เมืองสุโขทัย แล้วก็ ประสบความพ่ายแพ้อย่างใหญ่หลวง ต้องถอยทัพกลับไปสู่พรมแดนอย่างแสนอัปยศ …นายทหารหลายคนถูกลงโทษประหารชีวิต ตัวมหาสีหสุระถูกถอดจากยศตำแหน่ง ได้รับความอัปยศยิ่งนัก… ” ส่วนจดหมายเหตุความทรงจำของฝ่ายไทยบันทึกไว้ว่า

“ …ปีมะโรง เมืองเมาะตะมะแตก พระยาเจ่ง พาครัวหนีมาพึ่งพระบารมี พระยาจ่าบ้านแข็งเมืองอยู่ไม่ลงมา เสด็จขึ้นไปตีไม่ได้ ถอยล่าทัพยั้งอยู่เนิน รื้อกลับขึ้นไปตีเชียงใหม่กลับลงมา ณ ปลายปี พม่ายกไล่หลังมา 5 ทาง ล้วนทัพหมื่น แต่สู้รบกันอยู่เป็น 3 ปี เสียพิษณุโลก กลับขุดอุโมงค์เข้าไปตีค่าย พม่าแตกออกจากค่าย รื้อตั้งล้อมกลางแปลง จับได้พม่าแม่ทัพใหญ่ ได้พม่าหลายหมื่น พม่าแตกเลิกทัพไป… ”

หลักฐานต่างๆ เหล่านี้แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าอะแซหวุ่นกี้จะตีเมืองพิษณุโลกได้ แต่ในที่สุดก็ถูกสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตีแตกพ่ายไป (ภารดี มหาขันธ์ , 2526 : 24-25)

หมายเหตุ : อะแซหวุ่นกี้ เป็นชื่อตำแหน่งขุนนางของพม่า ในพงศาวดารพม่าเรียกเป็น 2 อย่างคือ เรียกตามตำแหน่งว่าอะแทหวุ่นคยี ซึ่งแปลว่า มหาอำมาตย์ ผู้เก็บส่วยพระราชทานทหาร ส่วนอีกอย่างหนึ่ง ตามราชทินนามพม่าจะเรียกว่า หวุ่นคยีมหาสีหะสุระ

อะแซหวุ่นกี้ ในสมัยกรุงธนบุรีนี้ ในพงศาวดารพม่าว่าเป็นแม่ทัพคนสำคัญของพม่าที่เป็นเชื้อพระวงศ์ ได้เป็นแม่ทัพใหญ่ไปต่อสู้มีชัยชนะในจีน ใน พ.ศ.2317 เมื่อพระเจ้ามังระเตรียมการจะมาตีกรุงธนบุรีได้เกณฑ์พวกมอญมาทำทาง พวกมอญไม่พอใจ รวมกำลังกันยึดเมืองเมาะตะมะ รวมทั้งรวบรวมผู้คนเป็นกองทัพใหญ่ไปตีเมืองสะโตง เมืองหงสาวดีได้ และจะเลยไปตีเมืองร่างกุ้ง อะแซหวุ่นกี้จึงยกมาปราบ ไล่ติดตามพวกมอญลงมาถึงเมืองเมาะตะมะ แต่พระยาเจ่งกับพวกหัวหน้ามอญหนีเข้ามาพึ่งไทยทางด่านเจดีย์สามองค์

ต่อมาพระเจ้ามังระได้มีรับสั่งให้อะแซหวุ่นกี้คิดการตีเมืองไทย อะแซหวุ่นกี้เตรียมทัพแบ่งกำลังเป็น 2 ส่วน ยกเข้ามาทางเมืองตาก ไล่ตีมาจนถึงเมืองสุโขทัย และได้พยายามตีเมืองพิษณุโลกอยู่นาน ซึ่งขณะนั้นเจ้าพระยาจักรีรักษาการณ์อยู่ อะแซหวุ่นกี้ชื่นชมในฝีมือของเจ้าพระยาจักรีถึงกับขอดูตัว ในที่สุดฝ่ายไทยจำต้องทิ้งเมือง เนื่องจากขาดเสบียงอาหาร แต่เป็นเวลาเดียวกับที่พระเจ้ามังระสิ้นพระชนม์ จิงกูจาราชบุตรได้รับราชสมบัติ มีรับสั่งให้อะแซหวุ่นกี้พากองทัพกลับ

ประวัติชีวิตในบั้นปลายของอะแซหวุ่นกี้ มีการบันทึกไว้แตกต่างกัน แต่หากอ้างอิงตามสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทยนั้น เมื่อจิงกูจาราชบุตรมีรับสั่งให้อะแซหวุ่นกี้ยกทัพกลับแล้ว จากนั้นได้พาลหาเหตุถอดอะแซหวุ่นกี้ออกจากยศถาบรรดาศักดิ์

ภายหลังอะแซหวุ่นกี้ได้ร่วมมือกับอะตวนหวุ่นกำจัดพระเจ้าจิงกูจา แล้วยกราชสมบัติถวายมังหม่อง แต่มังหม่องนั่งเมืองอยู่ได้เพียง 11 วัน พระเจ้าปดุงก็จับสำเร็จโทษเสีย เมื่อพระเจ้าปดุงได้ราชสมบัติแล้ว ได้แต่งตั้งอะแซหวุ่นกี้ให้ไปเป็นอุปราช สำเร็จราชการหัวเมืองฝ่ายใต้ อยู่ที่เมืองเมาะตะมะจนสิ้นชีวิตเมื่อ พ.ศ.2333 (สาระน่ารู้กรุงธนบุรี, 2546 : 173-174) สงครามครั้งที่ 9

คราวพม่าตีเมืองเชียงใหม่ปีวอก พ.ศ. 2319

มูลเหตุที่เกิดสงครามครั้งนี้ ทำนอง พระเจ้าจิงกูจา ซึ่งได้เป็นพระเจ้าอังวะขึ้นใหม่ มีพระประสงค์จะตีเมืองเชียงใหม่ ซึ่งจัดเป็นเมืองในแว่นแคว้นลานนาไทย 57 หัวเมือง จึงจัดกองทัพพม่ามอญให้ อำมลอกหวุ่น เป็นแม่ทัพ ให้ ตอหวุ่น กับ พระยาอู่มอญ เป็นปลัดทัพ ยกมาจากเมืองพม่า ให้มาสมทบกับกองทัพ โปมะยุง่วน ซึ่งตั้งอยู่ ณ เมืองเชียงแสน พร้อมกันลงมาตีเมืองเชียงใหม่

ขณะนั้นพระยาจ่าบ้าน ซึ่งพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งให้เป็นพระยาวิเชียรปราการ ได้ครองเมืองเชียงใหม่มาตั้งแต่ไทยตีเมืองได้จากพม่า เห็นกองทัพพม่ายกมาเหลือกำลังที่จะต่อสู้ได้ พอมีใบบอกลงมายังกรุงธนบุรีแล้ว พระยาวิเชียรปราการก็อพยพครอบครัวทิ้งเมืองเชียงใหม่หนีลงมาเมืองสวรรคโลก พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงทราบว่าพม่ายกกองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ และพระยาวิเชียรปราการทิ้งเมืองหนีมาดังนั้น จึงโปรดให้รับพระยาวิเชียรปราการลงมายังกรุงธนบุรีแล้ว ให้มีตราสั่งเจ้าพระยาสุรสีห์ให้คุมกองทัพหัวเมืองเหนือขึ้นไปสมทบกับพระยากาวิละ เจ้าเมืองนครลำปาง ยกไปตีเอาเมืองเชียงใหม่คืน กองทัพไทยยกขึ้นไป พม่าสู้ไม่ได้ก็ทิ้งเมืองเชียงใหม่ เลิกทัพกลับไป

เมื่อพม่าถอยไปจากเมืองเชียงใหม่แล้ว พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระราชดำริว่า เมืองเชียงใหม่ไพร่พลบ้านเมืองระส่ำระสายเสียมากแล้ว จะรวบรวมกลับทั้งเป็นบ้านเมืองอย่างเดิม ผู้คนก็ไม่พอจะเป็นกำลังรักษาบ้านเมืองได้ เมื่อกองทัพไทยกลับลงมาแล้ว พม่ายกกลับมาใหม่ก็จะเสียเมืองเชียงใหม่อีก จึงมี รับสั่งให้ทิ้งเมืองเชียงใหม่เสีย เมืองเชียงใหม่จึง เป็นเมืองร้าง ตั้งแต่นั้นมากว่า 15 ปี จนในรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้กลับตั้งขึ้นอีก

สงครามครั้งที่ 9 นี้ เป็นสงครามครั้งสุดท้ายที่ไทยรบกับพม่า เมื่อสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี (จากเรื่องไทยรบพม่า พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) (คัดลอกมาจากหนังสือสมเด็จพระเจ้าตากสิน จอมบดินทร์มหาราช. สนั่น ศิลากรณ์, 2531 : 66-88)

10.2.2 การกำจัดอิทธิพลพม่าให้หมดไปจากลานนาไทย อาณาจักรลานนาไทยเป็นดินแดนที่เชื่อมระหว่าง อาณาจักรไทยทางเหนือกับพม่า อันได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ และน่าน ซึ่งเป็นแคว้นอิสระที่ปกครองตนเอง โดยเจ้าผู้ครองนคร มีความสำคัญในแง่ยุทธศาสตร์ทั้งแก่ไทยและพม่า ทั้งไทยและพม่าต่างแก่งแย่งกัน

เพื่อเข้าไปมีอิทธิพลในดินแดนดังกล่าว อาณาจักรนี้จึงถูกพม่าปกครองบ้าง ไทย (อยุธยา) ปกครองบ้าง แล้วแต่ว่าฝ่ายใดจะมีกำลังเข้มแข็งกว่ากัน หลังจากเชียงใหม่ตกเป็นของพม่าตั้งแต่สมัยพระเจ้าบุเรงนอง เมื่อ พ.ศ. 2101 เป็นต้นมา มีความพยายามเคลื่อนไหวเพื่อ “ ฟื้นม่าน ” (ต่อต้านพม่า) ภายในเชียงใหม่เป็นระยะ ซึ่งประสบผลสำเร็จบ้าง ในช่วงพม่ามีปัญหาการเมืองภายใน เช่น ช่วง พ.ศ. 2270-2306 ภายใต้การนำของเทพสิงห์แห่งเมืองยวม แต่ไม่นานพม่าก็มาปราบได้อีก (สมโชติ อ๋องสกุล , 2545 : 1)

แผนที่แสดงอาณาจักรลานนาไทย
(ภาพจากหนังสือ แผนที่-ภูมิศาสตร์ : ประโยคมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย)

ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อพระองค์รวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของพระราชอาณาจักรได้ในปี พ.ศ. 2313 แล้ว พระองค์ได้เสด็จยกกองทัพขึ้นไปตีเชียงใหม่ เพื่อกำจัดอิทธิพลของพม่าให้หมดไป

ด้วยปรากฏว่า โปมะยุง่วน นำทัพเชียงใหม่มาล้อมเมืองสวรรคโลก เมื่อเดือน 3 ปีขาล พ.ศ. 2313 ถึงเดือน 4 ปีขาลนั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็เสด็จยกกองทัพออกจากพระนครไปตีเมืองเชียงใหม่ รายการในระหว่างนั้นพอจะสันนิษฐานได้ว่า เมื่อพระยาพิไชยราชาได้ทราบข่าวว่าพม่าจะยกกองทัพมา คงมีใบบอกลงมายังกรุงธนบุรี ครั้นเมื่อยกกองทัพมาถึงเมืองสวรรคโลกก็คงบอกตามลงมาอีกครั้งหนึ่ง ใบบอกเห็นจะมาถึงกรุงธนบุรีในเดือน 3 ขณะนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จยกกองทัพลงมาจากเมืองเหนือ เพิ่งมาถึงกรุงธนบุรีไม่ช้านัก ผู้คนและพาหนะกองทัพเห็นจะยังไม่ทันกระจัดกระจายไป ครั้นได้ทราบความตามใบบอกว่า โปมะยุง่วนเจ้าเมืองเชียงใหม่ยกมาเอง ก็ทรงพระวิตก ด้วยหัวเมืองเหนือเพิ่งตีได้ใหม่ๆ ผู้คนพลเมืองยังไม่เป็นปึกแผ่นและยังไว้ใจไม่ได้ที

เดียว เพราะเป็นข้าศึกกันมาไม่ช้านัก ด้วยเหตุนี้จึงรีบรวบรวมผู้คนเข้ากองทัพหลวง เสด็จยกกลับขึ้นไปอีกในเดือน 4 ปีขาล เมื่อเสด็จขึ้นไปถึงกลางทาง เห็นจะเกือบถึงเมืองนครสวรรค์ จึงทราบข่าวว่า พวกชาวเมืองเหนือได้ช่วยกันรบพุ่งตีพม่าแตกหนีไปหมดแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ไม่เสด็จกลับลงมาพระนคร เลยยกกองทัพหลวงขึ้นไปเมืองพิไชย เรียกกองทัพหัวเมืองเข้าสมทบ แล้วเสด็จเลยไปตีเมืองเชียงใหม่

เหตุที่พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จไป ตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรก นี้ ทำนองจะเป็นด้วยทรงพระราชดำริเห็นว่า กองทัพพม่าที่เมืองเชียงใหม่มีกำลังไม่สู้มากมายใหญ่หลวงนัก ทางเมืองอังวะก็กำลังติดศึกจีนจะยังส่งกำลังมาช่วยไม่ได้ พม่าเมืองเชียงใหม่แตกไปจากเมืองสวรรคโลกใหม่ๆ กำลังครั่นคร้าม ถ้าติดตามขึ้นไปทันทีบางทีจะตีเมืองเชียงใหม่ได้ อนึ่ง กองทัพที่จะไปตีเมืองเชียงใหม่ทั้งทัพหลวงและทัพหัวเมืองก็มีพร้อมอยู่แล้ว ไม่ต้องกะเกณฑ์ผู้คนมาใหม่ เป็นแต่จะสั่งให้ยกต่อขึ้นไป ถ้าตีเมืองเชียงใหม่ได้สำเร็จก็จะเป็นประโยชน์อย่างสำคัญ เหมือนกับตัดกำลังพม่ามิให้มาทำร้ายได้เหมือนครั้งกรุงศรีอยุธยา โดยหากจะตีเมืองเชียงใหม่ไม่ได้ ก็ยังเป็นประโยชน์ที่จะได้รู้ภูมิประเทศไว้สำหรับคิดการข้างหน้าต่อไป ดังนั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงยกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่เมื่อต้นปีเถาะ พ.ศ. 2314

กองทัพสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่ยกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรกนี้ เสด็จโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค จากพระนครไปประชุมพลที่เมืองพิไชย รวมจำนวนพลทั้งไทย จีน แขก ฝรั่งได้ 15,000 ให้เจ้าพระยาสุรสีห์เป็นนายทัพหน้า คุมพลหัวเมืองยกไปก่อน แล้วสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จเป็นจอมทัพยกกองทัพหลวงตามไป เดินทัพไปทางเมืองสวรรคโลก เมืองเถิน และเมืองลี้

ขณะนั้นเจ้ามังไชย เจ้าเมืองแพร่พาขุนนางและไพร่พลลงมาเฝ้ากราบถวายบังคม ขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมา จึงทรงพระกรุณาโปรดตั้งให้เป็นพระยาศรีสุริยวงศ์ ให้เกณฑ์เข้าในขบวนทัพแล้วดำรัสสั่งให้เจ้าพระยาจักรีแขก กับพระยามหาราชครูประโรหิตาจารีย์เป็นผู้ดูแลรักษากระบวนเรืออยู่ที่เมืองพิชัย แล้วเสด็จพระราชดำเนินโดยพยุหโยธาทัพหลวงไปโดยทางสถลมารค สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จทรงช้างพระที่นั่งประทับรอนแรมไปหลายวัน ถึงตำบลกุ่มหลวง เสด็จหยุดประทับแรม ณ พลับพลาในค่าย ซึ่งสร้างขึ้นในแถบเชิงเขาม้าพลาด ผู้นำทางกราบบังคมทูลว่า แต่เชิงเขาข้างนี้จะข้ามภูเขาไปลงถึงเชิงเขาข้างโน้นเป็นระยะทางไกลมากหามีแหล่งน้ำไม่ ไพล่พลจะอดน้ำเพราะภูมิประเทศกันดารนัก สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงฟังแล้วจึงดำรัสว่า อย่าปรารมภ์เลยเป็นธุระของเรา ค่ำวันนี้อย่าให้ตีฆ้องยามเป็นอันขาด จงกำหนดแต่นาฬิกาเท่านั้น เพลาห้าทุ่มเราจะให้ฝนตกลงให้จงได้ แล้วจึงทรงดำรัสสั่งให้พระยาราชประสิทธิ์ไปปลูกศาลเพียงตา ตั้งเครื่องพลีกรรมบวงสรวงเทพยดาบนเขาเสร็จแล้ว จึงทรงตั้งสัตยาธิษฐาน เอาพระบรมโพธิสมภารบารมีของพระองค์ซึ่งทรงสันนิจยการมาแต่อดีตบุพชาติตราบเท่าถึงปัจจุบันภพนี้ จงเป็นที่พึ่งพำนักแก่ไพร่พล

ทั้งปวง กับทั้งอานุภาพแห่งเทพยดาจงบันดาลให้ท่อธารวโสทราจงตกลงมาในราตรีวันนี้ให้เห็นประจักษ์ และในเพลาวันนั้นพื้นอากาศก็ปราศจากเมฆผ่องแผ้วเป็นปกติอยู่ ด้วยเดชะอำนาจกำลังอธิษฐานบารมีกับทั้งอานุภาพแห่งเทพยดา พอถึงเพลาสี่ทุ่มแปดบาท (22.48 นาฬิกา) บันดาลให้ฝนห่าใหญ่ตกลงหนักจนน้ำไหลนองไปทั่วทั้งป่าเป็นอัศจรรย์ยิ่งนัก ครั้นเพลาเช้าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็เสด็จทรงช้างพระที่นั่ง ยกพลโยธาหาญข้ามเขานั้นไปตามลำดับวิธีสถลมารค ประทับรอนแรมไปโดยระยะทางถึงเมืองลำพูนโดยสะดวก

ฝ่ายโปมะยุง่วน เจ้าเมืองเชียงใหม่เห็นข้าศึกขึ้นไปได้รวดเร็ว ก็ไม่มาต่อสู้กลางทาง เป็นแต่แต่งกองทัพออกมาตั้งค่ายรับอยู่นอกเมือง กองทัพเจ้าพระยาสุรสีห์ยกขึ้นไปถึงก็ยกเข้าตีค่ายพม่าแตกพ่ายไป โปมะยุง่วนให้กองทัพของตนถอยกลับเข้าเมือง ตั้งรักษาป้อมปราการไว้มั่นคง

กองทัพหน้าก็ยกติดตามไปล่วงเข้าไปในกำแพงดินชั้นนอกแล้วตั้งค่ายรายล้อมกำแพงชั้นในไว้ ส่วนกองทัพหลวงก็ยกเข้าไปตั้งค่ายใหญ่ในกำแพงดิน แล้วสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระราชดำรัสให้กองทัพหน้าและกองทัพหลวงยกพลเข้าปล้น เอาบันไดพาดปีนกำแพงในเพลารัตติกาลประมาณสามยามเศษ เพื่อจะดูกำลังข้าศึก ทหารพม่าและทหารชาวเมืองซึ่งประจำรักษาหน้าที่เชิงเทินก็ยิงปืนใหญ่น้อย และพุ่งแทงศัสตราวุธต่อรบต้านทานเป็นสามารถ รบกันอยู่จนรุ่งเช้าทหารไทยก็หักเอาเมืองมิได้ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีพระราชดำรัสว่า “ …เมืองเชียงใหม่มีป้อมปราการมั่นคงนัก จึงมีคำปรัมปรากล่าวกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาว่า พระมหากษัตริย์พระองค์ใดเสด็จมาตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรกคงตีไม่ได้ ต้องตีครั้งที่สองดังนี้ …” กองทัพที่ยกขึ้นไปครั้งนั้นก็รีบรวบรวมยกไปโดยปัจจุบันทันด่วน ทั้งจำนวนพลและเสบียงอาหารไม่พอจะทำการขับเคี่ยวตีเอาเมืองเชียงใหม่ได้ ก็สมกับคำพยากรณ์อยู่แล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จประทับอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ได้ 9 วัน จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้เลิกทัพหลวงล่วงหน้ามาก่อน 1 วัน แล้วจึงให้กองทัพหน้าเลิกเลื่อนถอยตามมาต่อภายหลัง

ครั้งนั้นโปมะยุง่วน เจ้าเมืองเชียงใหม่เห็นไทยถอยทัพ ได้ทีก็ให้กองทัพออกติดตามตี พวกพม่าก้าวสกัดยิงกองทัพหลังระส่ำระสาย ตื่นแตกมาจนถึงทัพหลวง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระวีรกษัตริย์ เห็นกองทัพหลังเสียทีข้าศึก ก็เสด็จลงไปคุมกองทัพหลังถอดพระแสงดาบเข้าสู้รบกับข้าศึกด้วยพระองค์เอง พวกนายไพร่พลทหารก็กลับใจ ได้เข้ารบข้าศึกถึงตลุมบอน ทหารพม่าล้มตายลงเป็นอันมาก ข้าศึกต้านทานไม่ไหวก็ถอยหนีกลับไป แต่นั้นกองทัพกรุงธนบุรีก็กลับมาได้สะดวก สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็เสด็จกลับลงเรือพระที่นั่งที่เมืองพิชัย แล้วล่องลงมายังกรุงธนบุรี

การตีเมืองเชียงใหม่ ครั้งที่ 2

ต่อมาในปี พ.ศ. 2316 แม่ทัพ ปะกันหวุ่น เจ้าเมืองพุกาม ซึ่งได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าเมืองเมาะตะมะ ตำแหน่งเทศาภิบาลมณฑลหัวเมืองมอญใต้ ได้รับพระบัญชาจากพระเจ้ามังระ ให้เกณฑ์มอญตามหัวเมืองชายแดนที่ติดต่อกับไทย 3,000 คน โดยมี แพกิจจา กับทหารพม่า 500 คนมาทำทาง กองทัพจะยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ด้วยเหตุว่าทางเดินทัพทางตอนนั้นเป็นตอนที่จะต้องข้ามเขาบรรทัดเป็นทางกันดาร จึงคิดจะตั้งยุ้งฉางวางเสบียงรายทาง เป็นระยะๆ ตั้งแต่เชิงเขาทางแดนพม่ามาจนถึงตำบลสามสบ ท่าดินแดงในเขตไทย มิให้ทางกองทัพเป็นภาระต้องขนเสบียงมาด้วยในตอนนี้

ฝ่ายพวกมอญไม่ชอบพม่าอยู่แล้วโดยธรรมดา เหตุที่ถูกพม่ากดขี่ข่มเหงมาช้านาน เมื่อพม่าเกณฑ์มาทำทางก็จำต้องมาด้วยความจำใจ มีพระยามอญเป็นหัวหน้ามาด้วย 4 คน คือ พระยาเจ่ง เจ้าเมืองเตรีนเป็นใหญ่กว่าเพื่อนคนหนึ่ง พระยาอู่ คนหนึ่ง ตละเซียง คนหนึ่ง ตละเกล็บ คนหนึ่ง ขณะเมื่อมอญพวกนี้มาทำงานอยู่ในป่าเมืองเมาะตะมะ ปะกันหวุ่นก็เกณฑ์มอญเข้ากองทัพอีกพวกหนึ่ง มีคนหลบหนี พม่าจึงสั่งจับคนในครัวเรือนไว้เป็นตัวจำนำ จับได้พวกลูกหลานญาติพี่น้องของพวกมอญที่มาทำทาง พม่าจับเอาไปจำจองเร่งรัดลงอาชญาได้รับความเดือดร้อนเป็นอันมาก ที่บางคนหนีได้ตามมาบอกแก่พวกมอญที่ทำทาง ต่างก็โกรธแค้นว่า พม่าใช้ตัวมาแล้วยังข่มเหงครอบครัวซึ่งอยู่ข้างหลังอีกเล่า พวกมอญจึงคบคิดพร้อมใจกันทั้งนายไพร่จับแพกิจจากับทหารพม่ามาฆ่าเสียที่ท่าดินแดงในเขตไทยทั้งหมด แล้วรวมกันเป็นกองทัพกลับสู่ดินแดนมอญ

สตรีสูงศักดิ์มอญ
(ภาพจากหนังสือ บุเรงนองกะยอดินนรธา)

ฝ่ายพวกมอญที่อยู่ตามหัวเมืองรายทางทราบเรื่องเข้า ก็พากันมาเข้ากับพวกพระยาเจ่งเป็นอันมาก พวกมอญกบฏเมื่อเห็นพวกตนมีกำลังมาก ก็พากันยกตรงไปตีเมืองเมาะตะมะ เข้าปล้นเมืองในเวลากลางคืน แกล้งโห่ร้องเป็นเสียงไทย ให้พม่าสำคัญว่ากองทัพไทยยกออกไป ฝ่ายปะกันหวุ่นกับพวกกรรมการพม่าทั้งปวงไม่รู้ตัวก็ตกใจไม่สู้รบ พากันทิ้งเมืองเมาะตะมะลงเรือหนีกลับไปเมืองร่างกุ้ง พวกมอญก็ได้เมืองเมาะตะมะ แล้วพระยามอญที่เป็นหัวหน้าปรึกษากันเห็นเป็นโอกาส ที่จะรวบรวมหัวเมืองมอญให้เป็นปึกแผ่น เพื่อเข้าตีเมืองพม่าต่อไป ได้ตั้งชุมนุมพลเกลี้ยกล่อมพวกมอญ ที่อยู่เมืองเมาะตะมะและหัวเมืองใกล้เคียง ก็มีพวกมอญมาเข้าด้วยเป็นอันมาก จนพระยาเจ่งมีรี้พลควบคุมกันได้เป็นกองทัพใหญ่ ยกขึ้นไปตีเมืองสะโตงและเมืองหงสาวดี ก็ตีได้ทั้งสองเมือง เพราะพลเมืองเป็นมอญไม่มีใครต่อสู้ จึงยกเลยไปตีเมืองร่างกุ้ง รบพุ่งกับพม่าเป็นสามารถ

ฝ่ายข้างกรุงธนบุรีตั้งแต่ได้ทราบข่าวว่า พม่าเตรียมกองทัพจะมาตีเมืองไทย พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีพระราชดำริที่จะคิดต่อสู้อยู่แล้ว พอได้ข่าวมาว่าพวกมอญเป็นกบฏต่อพม่าลุกลามใหญ่โต เห็นว่าพม่าจะต้องคิดปราบปรามพวกมอญกบฏอยู่นาน จะยกเข้ามาตีเมืองไทยยังไม่ได้ มีช่องทางที่จะตีเมืองเชียงใหม่เป็นการตัดกำลังพม่าเสียขั้นหนึ่งก่อน จึงมีพระบรมราชโองการสั่งให้เกณฑ์กองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือจำนวน 20,000 คน ให้ยกไปคอยรับเสด็จอยู่ที่บ้านระแหง แขวงเมืองตาก แล้วให้เกณฑ์คนในกรุงและหัวเมืองชั้นในเป็นกองทัพหลวง มีจำนวนพล 15,000 คน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็เสด็จลงเรือพระที่นั่งกาบยาวสิบวา พลพายสี่สิบคนพร้อมด้วยเรือท้าวพระยาข้าราชการผู้ใหญ่น้อยไทยจีนและทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนทั้งหลาย โดยเสด็จขบวนทัพหลวงเป็นอันมาก จึงเสด็จพยุหยาตรานาวาทัพหลวงออกจากกรุงธนบุรีโดยทางชลมารค เมื่อวันอังคาร เดือน 12 แรม 11 ค่ำ ปีมะเมีย พ.ศ. 2317 ประทับรอนแรมไปตามระยะทาง เสด็จมาถึงเมืองกำแพงเพชร เมื่อวันพุธ เดือน 1 ขึ้น 4 ค่ำ แล้วยกไปถึงบ้านระแหง เมืองตากตรงที่ตั้งเมืองตากปัจจุบัน เสด็จประทับแรม ณ พระตำหนักสวนมะม่วง ได้ประชุมกองทัพ ณ ที่บ้านระแหงนี้

ขณะเมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีชุมนุมกองทัพอยู่ที่เมืองตากนั้น ก็มีข่าวเข้ามาว่าพระเจ้ามังระให้ อะแซหวุ่นกี้ เชื้อพระวงศ์เป็นแม่ทัพใหญ่ลงมาปราบปรามพวกมอญกบฏที่ขึ้นไปตีเมืองร่างกุ้ง พวกมอญสู้ไม่ได้แตกหนีพม่าลงมาแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรงพระวิตก ด้วยเห็นว่าโอกาสที่จะขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่มีเวลาน้อยเสียแล้ว เพราะพม่าติดตามพวกมอญลงมาตีถึงเมืองเมาะตะมะ พวกมอญก็คงหนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารเหมือนเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา พม่าก็เห็นจะยกกองทัพตามเข้ามาในไม่ช้า แต่หากจะงดการไปตีเมืองเชียงใหม่เสียเล่า ก็น่าเสียดาย ด้วยได้ยกกองทัพขึ้นไปถึงเมืองตากแล้ว ถ้าตีเมืองเชียงใหม่ได้ก่อนพม่ายกเข้ามาทางใต้ การสู้รบก็คงจะเพลามือเพราะได้ตัดกำลังพม่าที่จะยกมาทางเหนือไว้ได้เสียทางหนึ่งแล้ว แต่ถ้าไปตีเมืองเชียงใหม่ไม่สำเร็จ หรือว่าได้เมืองช้าไป ก็อาจถูกข้าศึกยกเข้ามาตีตัดข้างหลัง ทั้งมาตีกรุงธนบุรีทางเมือง

กาญจนบุรีและมาตีเมืองตากตัดเส้นทางคมนาคมกับราชธานี จึงจำเป็นที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจะต้องตัดสินพระราชหฤทัยเข้าตีเมืองเชียงใหม่ให้ได้โดยรีบด่วน แล้วกลับมารับศึกพม่าทางใต้ จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้เจ้าพระยาจักรี (นายทองด้วง) เป็นแม่ทัพใหญ่คุมกองทัพหัวเมืองเหนือยกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ กับเจ้าพระยาสุรสีห์ (นายสุดจินดา) ส่วนกองทัพหลวงตั้งรอฟังข่าวทางพม่าอยู่ที่เมืองตาก กองทัพเจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์ ก็ยกขึ้นไปทางเมืองเถิน นครลำปางตามพระกระแสรับสั่ง

เมื่อ โปสุพลา ทราบว่ากองทัพไทยยกขึ้นไปครั้งนั้น ก็ให้ โปมะยุง่วน ซึ่งเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่อยู่รักษาเมือง แล้วจัดกองทัพให้ พระยาจ่าบ้าน กับ พระยากาวิละ คุมพวกชาวเมืองจำนวน 1,000 คน เป็นกองหน้ายกมาก่อน แล้วตัวโปสุพลาคุมกองทัพมีจำนวน 9,000 คน ยกตามลงมา หมายจะมาตั้งต่อสู้อยู่ที่เมืองนครลำปาง พระยาจ่าบ้านกับพระยากาวิละเป็นไทยชาวลานนา ต้องอยู่กับพม่าด้วยความจำใจ ครั้นยกลงมาถึงเมืองนครลำปาง ทราบว่ากองทัพไทยข้างเมืองใต้ยกขึ้นมามีกำลังพอที่จะเป็นที่พึ่งได้แล้ว ก็พาพวกที่เป็นกองข้างหน้าเข้าสวามิภักดิ์ต่อเจ้าพระยาจักรีๆ ก็ให้พระยาจ่าบ้าน กับพระยากาวิละถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา แล้วจึงให้คุมพลชาวลานนา กลับนำกองทัพไทย ขึ้นไปเชียงใหม่ ฝ่ายโปสุพลายกลงมาถึงกลางทาง จึงรู้ว่าพระยาจ่าบ้านกับพระยากาวิละกลับไปเข้ากับไทยแล้วก็ตกใจ รีบยกกองทัพถอยกลับไปรักษาเมืองเชียงใหม่ ให้กองทัพพม่ามาตั้งค่ายสกัดทางอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิงเก่า ข้างเหนือเมืองลำพูนกองหนึ่ง ส่วนตัวโปสุพลากับโปมะยุง่วนนั้น เตรียมต่อสู้อยู่ที่เมืองเชียงใหม่

เรื่องเกี่ยวกับเชียงใหม่ในตอนนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงนิพนธ์ไว้ในเรื่องไทยรบกับพม่าว่า

“ เรื่องพระยาจ่าบ้านกับพระยากาวิละมาเข้ากับไทยครั้งนั้นปรากฏในพงศาวดารพม่ากับหนังสือตำนานโยนก มีเรื่องพิศดารว่า เมื่อพระเจ้าอังวะให้โปมะยุง่วนมาเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่นั้น

มีท้าวพระยาเมืองเชียงใหม่เป็นผู้ใหญ่อยู่ 4 คน คือ พระยาแสนหลวงคนหนึ่ง พระยาสามล้านคน หนึ่ง พระยาจ่าบ้านคนหนึ่ง และพระยากาวิละเจ้าเมืองนครลำปางคนหนึ่ง

มีเรื่องราวปรากฏว่า เมื่อโปมะยุง่วนมาเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่มาตัดรอนอำนาจและผลประโยชน์ของพวกท้าวพระยาลงกว่าแต่ก่อน พวกท้าวพระยาพากันไม่พอใจ แต่มิรู้ที่จะทำประการใด ด้วยเกรงอำนาจพม่าก็ต้องนิ่งอยู่ ครั้นมีศึกจีนมาติดเมืองพม่า พระเจ้าอังวะเกณฑ์กำลังเมืองเชียงใหม่ ไปช่วยรักษาเมืองพม่า พระยาจ่าบ้านกับพระยากาวิละคุมกำลังไปคราวนั้น ครั้นเสร็จสงครามจึงทูลขอต่อพระเจ้ามังระให้ได้มีอำนาจว่ากล่าวผู้คน และมีผลประโยชน์เหมือนอย่างแต่ก่อน พระเจ้ามังระเห็นว่าพระยาทั้งสองมีความชอบในครั้งนั้น ก็ประทานอนุญาตให้ตามประสงค์ เสนาบดีจึงทำสารตราตามกระแสรับสั่งให้พระยาจ่าบ้านถือมา ครั้นพระยาจ่าบ้านกลับมาถึงเมือง

เชียงใหม่ให้น้องชายเชิญสารตราไปวางไว้ที่สนามหลวง ฝ่ายโปมะยุง่วนไม่พอใจอยู่แล้วก็ไม่ยอมรับสารตรา ว่าพระยาจ่าบ้านไม่ไปวางตราด้วยตนเองผิดธรรมเนียม เป็นการลบหลู่พระเกียรติยศของพระเจ้าอังวะ โปมะยุง่วนให้หาตัวพระยาจ่าบ้านๆ ก็ขัดขืนเสียไม่ไป โปมะยุง่วนจึงให้ทนายไปจับตัวพระยาจ่าบ้าน พวกพระยาจ่าบ้านไม่ยอมให้จับ เกิดต่อสู้กับทนายของโปมะยุง่วนฆ่าฟันกันล้มตายทั้งสองฝ่าย พระยาจ่าบ้านจึงหนีออกจากเมืองเชียงใหม่ ตามไปหาโปสุพลาแม่ทัพพม่า ซึ่งตั้งค่ายค้างฝนอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. 2316 ไปเล่าความที่โปมะยุง่วนกดขี่ข่มเหงให้โปสุพลาฟัง ฝ่ายโปสุพลานั้นไม่ชอบโปมะยุง่วนอยู่ ก็รับพระยาจ่าบ้านไว้ในกองทัพจนยกกลับมาเมืองเชียงใหม่ โปมะยุง่วนบอกกล่าวโทษพระยาจ่าบ้านกับพระยากาวิละออกไปยังเมืองอังวะว่า ตั้งแต่กลับมาจากเมืองพม่ามาก็ก่อการกำเริบต่างๆ ครั้นกองทัพไทยยกขึ้นไปคราวนี้ โปสุพลาแม่ทัพก็ให้พระยาจ่าบ้านคุมคนลงมาชำระแก่ง แต่งทางน้ำสำหรับกองทัพเรือจะล่องลงมาเมืองตาก โปมะยุง่วนเจ้าเมืองเชียงใหม่ขัดขวางอ้างว่าพระยาจ่าบ้านมีความผิดติดตัวอยู่ ขอให้โปสุพลาส่งไปให้ ฝ่ายโปสุพลาไม่ยอมส่งอ้างว่า พระยาจ่าบ้านจะต้องคุมคนลงไปชำระแก่ง พวกไพล่พลที่เกณฑ์ลงไปแล้วล้วนแต่ชาวเมือง จะผู้อื่นลงไปบังคับบัญชาไม่ได้ โปมะยุง่วนก็จนใจมิรู้จะทำประการใด ครั้นพระยาจ่าบ้านยกลงมาแล้ว ทางโน้นพอมีท้องตรามาจากเมืองอังวะตอบในใบบอกที่โปมะง่วนกล่าวโทษพระยาจ่าบ้านกับพระยากาวิละไปแต่ก่อน สั่งว่าให้ส่งพระยาทั้งสองไปพิจารณาคดีที่เมืองอังวะ โปมะยุง่วนจึงให้ไปขอตัวพระยาทั้งสองที่โปสุพลาๆ ก็ไม่ยอมส่งให้ ว่าพระยาจ่าบ้านคุมคนไปเสียแล้ว พระยากาวิละนั้นก็ให้ไปช่วยนายทัพพม่ารักษาเมืองนครลำปางอยู่ จะไปถอนตัวกลับมาเกรงจะเสียราชการสงคราม โปมะยุง่วนก็ขัดใจ เห็นว่าจะเอาตัวพระยาจ่าบ้านกับพระยากาวิละไม่ได้ จึงให้จับ เจ้าฟ้าชายแก้ว บิดาพระยากาวิละ กับบุตรภรรยาพระยาจ่าบ้านเป็นตัวจำนำ คุมส่งไปเมืองอังวะ ขณะนั้นพระยาจ่าบ้านอยู่ที่เมืองฮอด ทราบความจึงให้รีบไปบอกพระยากาวิละ นัดหมายกันแล้ว พระยาจ่าบ้านก็ฆ่าพวกพม่าที่กำกับเสียทั้งสิ้น แล้วพาพรรคพวกมาสามิภักดิ์ต่อเจ้าพระยาจักรี นำกองทัพไทยขึ้นไปเมืองนครลำปาง ฝ่ายพระยากาวิละครั้นทราบว่าพม่าจับบิดาไป ก็ฆ่านายทัพพม่าที่อยู่เมืองนครลำปางเสีย แล้วคุมพรรคพวกรีบตามไปชิงเอาตัวบิดาของตัวกับครอบครัวของพระยาจ่าบ้านกลับมาได้ ครั้นกองทัพเจ้าพระยาจักรียกขึ้นไป พระยากาวิละก็ออกมาสามิภักดิ์ต่อไทย รับกองทัพไทยเข้าเมืองนครลำปาง แล้วรับอาสาจะช่วยรบพม่าต่อไป

ขณะเมื่อเจ้าพระยาจักรีได้เมืองนครลำปางนั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ประทับอยู่ที่บ้านระแหง แขวงเมืองตาก มีครอบครัวมอญหนีพม่าเข้ามาทางด่านเมืองตากพวกหนึ่ง ขุนอินทคีรีนายด่านพาตัวหัวหน้าพวกมอญชื่อสมิงสุหร่ายกลั่นมาเฝ้า ทรงมีพระราชดำรัสถามได้ความว่ามอญเสียทีแตกหนีพม่าลงมาจากเมืองร่างกุ้ง อะแซหวุ่นกี้ยกกองทัพติดตามลงมา พวกมอญกำลังอพยพครอบครัวจะเข้ามาเมืองไทยเป็นอันมาก สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เห็นจะได้ทรงทราบข่าวนี้พร้อมๆ กับทรงได้รับข่าวจากเจ้าพระยาจักรี ว่าพระยาจ่าบ้านกับพระยากาวิละพาพวกเมืองเชียงใหม่ นครลำปางมาเข้ากับไทย ทรงพระราชดำริเห็นว่าการสงครามทางเมืองเชียงใหม่ฝ่ายเรากำลังได้เปรียบ จึงมีพระราชดำรัสสั่งลงมายังกรุงธนบุรีให้พระยายมราชแขก คุมกองทัพออกไปตั้งกักด่านที่ตำบลท่าดินแดง แขวงเมืองท่าขนุน ใกล้ลำน้ำไทรโยค คอยรับครอบครัวมอญที่จะเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ทางหนึ่ง ให้พระยากำแหงวิชิตคุมกองทัพจำนวนพล 2,000 ตั้งอยู่ที่บ้านระแหง คอยรับครอบครัวมอญที่เข้ามาทางด่านเมืองตากอีกทางหนึ่ง

ครั้นถึง ณ วันศุกร์ เดือน 1 แรม 5 ค่ำ เพลาเช้าฝนห่าใหญ่ตกลงมาเป็นมหาพิชัยฤกฺษ์ จึงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จทรงช้างต้นพังเทพลีลา ให้ยาตราพลทัพหลวง ดำเนินโดยสถลมารค รอนแรมไป ตามระยะทางหลายเพลา ถึงตำบลพาเมียวเหนือ เมืองนครลำปาง แล้วเสด็จดำเนินกองทัพต่อไปถึงเมืองลำพูน ณ วันอังคาร เดือน 2 ขึ้น 2 ค่ำ รับสั่งให้ทำค่ายประทับอยู่ที่นั้น ขณะนั้นกองทัพเจ้าพระยาจักรีก็ยกขึ้นไปถึงแม่น้ำใกล้เมืองเชียงใหม่ ทัพพม่ายกออกมาขุดสนามเพลาะคอยสกัดรบตามริมแม่น้ำ จะข้ามทัพไปยังมิได้ จึงให้หมื่นศรีหเทพลงมากราบทูลให้สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงทราบ จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้เอาปืนจ่ารงกลมทำร้านขึ้นยิงให้ทัพพม่าแตก แล้วจึงยกข้ามแม่น้ำ อันจะรั้งรออยู่เช่นนี้ไม่ได้ การศึกจะเนิ่นช้า หมื่นศรีหเทพก็กลับไปเรียนเจ้าพระยาจักรีตามรับสั่ง พอกองทัพเจ้าพระยาจักรีตีทัพพม่าแตกแล้วก็ยกข้ามน้ำไปได้ ทัพพม่าแตกหนีกลับไปเมืองเชียงใหม่ กองทัพหลวงก็เข้าตั้งอยู่ในเมืองลำพูน ส่วนกองทัพเจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์ เจ้าพระยาสวรรคโลกก็ยกติดตามกองทัพพม่าไปล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้ ให้ตั้งค่ายล้อมเมืองไว้ถึง 34 ค่าย ชักปีกกาถึงกันตลอดทั้งสามด้าน ยังด้านเหนืออันเป็นหน้าที่ของเจ้าพระยาสวรรคโลก ลงมือทีหลังค่ายยังไม่แล้วเสร็จ เจ้าพระยาจักรีจึงให้พระยาธิเบศร์บดีลงมากราบทูลพระกรุณาให้ทรงทราบ

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงทราบก็ทรงพระโสมนัส จึงพระราชทานม้าพระที่นั่งกับพระแสงปืนสั้นกระบอกหนึ่งไปให้เจ้าพระยาจักรี แล้วพระราชทานพระแสงปืนสั้นอีกสองกระบอก ไปให้เจ้าพระยาสุรสีห์กระบอกหนึ่ง ให้เจ้าพระยาสวรรคโลกกระบอกหนึ่ง

เหตุการณ์ตอนนี้ทั้งทางด้านเหนือและทางใต้ติดพันกันยิ่งขึ้น พอสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จไปถึงเมืองลำพูนไม่ช้านักก็ได้ข่าวจากเมืองตากว่า พม่ายกกองทัพตามครอบครัวมอญเข้ามาทางด่านบ้านนาเกาะดอกเหล็ก แขวงเมืองตากกองหนึ่ง ประมาณพลสัก 2,000 จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้แบ่งพลในกองหลวง 1,800 คน ให้เจ้ารามลักษณ์พระเจ้าหลานเธอคุมยกลงมาทางบ้านจอมทอง มาต่อสู้พม่าซึ่งยกเข้ามาทางด่านบ้านนาเกาะดอกเหล็ก ครั้นต่อมาได้รับใบบอกเมืองตากว่า มอญชื่อสุวรรณเทวะกับทามุมวยคุมครอบครัวมอญเมืองเริง เข้ามาถึงเมืองตาก ให้การว่าเดิมครอบครัวมอญมาด้วยกันประมาณ 1,000 เศษ มาถึงตำบลอุวาบ พม่าตามมาทัน พวกครอบครัวมอญ

ยิงต่อสู้ ยิงจักกายวอซึ่งเป็นแม่ทัพพม่าตาย แล้วพากันแตกหนีมาทางบ้านนาเกาะดอกเหล็ก ได้ทรงทราบทรงพระราชดำริเห็นว่า พวกพม่าที่ตามครอบครัวมอญเห็นจะไม่แข็งแรงดังที่เมืองตากบอกไปครั้งก่อน จึงให้หากองทัพเจ้ารามลักษณ์กลับไปช่วยรบทางเมืองเชียงใหม่ แล้วทรงมีพระราชดำรัสให้มีตราถึงพระยากำแหงวิชิต ให้แบ่งกำลังที่เมืองตากออกไปตั้งค่ายรักษาด่านบ้านนาเกาะดอกเหล็ก คอยรับครอบครัวมอญที่จะตามเข้ามาทีหลังต่อไป

ส่วนทางด้านเมืองเชียงใหม่ เจ้าพระยาจักรีให้พระยาวิจิตรนาวีลงมากราบทูลว่าพอตั้งค่ายด้านเหนือแล้ว จะให้เข้าปล้นเมืองเชียงใหม่พร้อมกันทีเดียว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงสดับไม่เห็นด้วย ทรงมีพระราชดำรัสว่า พม่าตั้งค่ายรับอยู่ในเมือง ซึ่งจะกรูกันเข้าไปเกลือกจะเสียที แล้ว ทหารก็จะถอยกำลัง ถ้าล้อมรอบเมืองได้แล้วจะหักเข้าที่ไหน ก็ให้ตั้งหน้าทำเข้าไปเฉพาะที่ตรงนั้น และบรรดาค่ายทั้งปวงให้ขุดคูลงขวากกันข้าศึก แต่ซึ่งค่ายประชิดหามแล่นนั้นให้ขุดคลองเป็นบังปืนพม่า ให้ดูที่ค่ายใดซึ่งตั้งเข้าใกล้เมืองได้ ก็ให้ขุดคลองโปรยขวากกระจับที่ค่ายนั้น แม้นข้าศึกจะยันออกมาหักค่าย ก็ให้ไล่คลุกคลีติดตามเข้าเมืองทีเดียว พระยาวิจิตรนาวีก็กราบถวายบังคมลากลับไปแจ้งข้อรับสั่งแก่เจ้าพระยาจักรีๆ ก็จัดการตระเตรียมตามกระแสพระราชดำรัสทุกประการ

ฝ่ายโปสุพลา โปมะยุง่วน นายทัพพม่าที่รักษาเมืองเชียงใหม่ เห็นฝ่ายไทยเข้าไปตั้งค่ายล้อมเมือง ก็คุมพลออกมาตั้งค่ายประชิด แล้วให้ออกมาปล้นค่ายไทยหลายครั้ง ถูกฝ่ายไทยยิงไพร่พลพม่าล้มตายลงเป็นอันมาก ต้องล่าถอยกลับเข้าค่ายทุกที คราวหนึ่งทัพพม่าออกปล้นค่ายเจ้าพระยาจักรี ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกในเวลากลางวัน เจ้าพระยาจักรีก็มิได้ครั่นคร้าม นั่งเล่นหมากรุกอยู่ในค่าย พลางร้องสั่งทหารให้วางปืนใหญ่น้อยออกไปจากค่ายยิงพม่าๆ ถูกปืนล้มตายลงมาก จะปล้นเอาค่ายมิได้ ก็ถอยยกกลับเข้าค่าย จนไพร่พลพม่าย่อท้อ ก็ได้แต่รักษาค่ายป้องกันเมืองไว้ ขณะนั้นชาวเมืองเชียงใหม่ที่แตกฉานไปเที่ยวซุกซ่อนอยู่ในป่า เห็นกองทัพไทยไปตั้งค่ายล้อมพม่าอยู่ ก็พากันออกมาเข้ากับกองทัพไทยเป็นอันมาก ทั้งพวกที่อยู่ในเมืองก็พากันเล็ดลอดหลบหนีออกมาหากองทัพไทยเนืองๆ ได้ครอบครัวชาวเชียงใหม่มาเข้ากับกองทัพไทยมีจำนวนกว่า 5,000 คน

ครั้น ณ วันเสาร์ เดือน 2 ขึ้น 13 เวลาย่ำรุ่ง จึงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็ทรงเครื่องวิภูษิตสำหรับราชรณยุทธ ทรงราชาวุธพร้อมสรรพ ขึ้นทรงช้างต้นพลายคเชนทรบรรยงค์เป็นราชพาหนะ ให้ยาตราพลากรทัพหลวงจากค่ายริมเมืองลำพูน ขึ้นไป ณ เมืองเชียงใหม่ หยุดประทับรอนแรม ณ พลับพลาไชย ไกลจากเมืองเชียงใหม่ในระยะทาง 352 เส้น (34.33 กิโลเมตร) แล้วดำเนินกองทัพหลวงไปประทับ ณ ค่ายมั่นริมแม่น้ำปิงใกล้เมือง แล้วเสด็จไปทอดพระเนตรค่ายที่ตั้งล้อมเมืองเชียงใหม่ ทรงมีพระราชประสงค์จะให้ตีเมืองเชียงใหม่ให้ได้โดยเร็ว ในวันนั้นเจ้าพระยาจักรีก็ยกกองทัพเข้าตีค่ายพม่า ซึ่งออกมาตั้งรับอยู่นอกเมือง ข้างด้านใต้กับด้านตะวันตกแตกหมดทุกค่าย

เจ้าพระยาสุรสีห์ก็ยกกองทัพเข้าตีค่ายพม่าที่ออกมาตั้งรับตรงประตูท่าแพด้านตะวันออกได้ทั้ง 3 ค่าย ในค่ำวันนั้น โปสุพลากับโปมะยุง่วน ก็ทิ้งเมืองเชียงใหม่อพยพผู้คนหนีออกไปทางประตูช้างเผือก ซึ่งเป็นด้านของเจ้าพระยาสวรรคโลกๆ ตั้งค่ายล้อมเมืองยังไม่เสร็จจึงตีหักออกไปได้ กองทัพไทยไล่ติดตามฆ่าฟันพม่าล้มตายลงเป็นอันมาก และชิงเอาครอบครัวพลเมืองกลับคืนมาได้

รุ่งขึ้นวันอาทิตย์ เดือน 2 ขึ้น 14 ค่ำ ปีมะเมีย พ.ศ. 2317 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จโดยกระบวนพยุหยาตราเข้าเหยียบเมืองเชียงใหม่ เสด็จทรงช้างพระที่นั่งไปทอดพระเนตรค่ายซึ่งตั้งล้อมเมืองเชียงใหม่ มีท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวงมาเฝ้ากราบถวายบังคมพร้อมกัน จึงมีพระราชดำรัสถามขึ้นว่า “ พม่ายกทัพหนีไปคราวนี้ ด้วยอุบายความคิดฝีมือของผู้ใด ” เจ้าพระยาจักรีแล้วท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวงพร้อมกันกราบทูลว่า “ ซึ่งพม่าแตกหนีไปครั้งนี้ด้วยพระกฤษดาเดชา นุภาพเป็นแท้ เพราะเหตุพระสงฆ์ในเมืองมาบอกข้าพระพุทธเจ้าว่า ณ วันศุกร์ เดือน 4 ขึ้น 12 ค่ำ กลางคืนเวลายามเศษ บังเกิดอัศจรรย์ในเมืองเชียงใหม่แผ่นดินไหว พอรุ่งเช้ากองทัพหลวงก็เสด็จมาถึงเมือง “ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานฉลองพระองค์เข้มขาบกับผ้าส่านแก่เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ทั้งสองพี่น้องเป็นรางวัลเสมอกัน แล้วให้ปรึกษาโทษเจ้าพระยาสวรรคโลก ซึ่งมิได้ปลงใจในราชการสงคราม ตั้งค่ายไม่แล้วเสร็จเปิดทางให้พม่าหนีไปได้ ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยน 50 ที แล้วจำไว้

เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้เมืองเชียงใหม่ครั้งนั้น ได้พาหนะและเครื่องศัสตราวุธเป็นอันมาก มีปรากฏจำนวนแต่ปืนใหญ่น้อยรวม 2,110 กระบอก กับม้า 220 ม้า ฆ้อง 32 คู่ ไทยมอญ 500 ครอบครัว ไทยเมืองสวรรคโลก 500 เศษ แต่ก็ทรงปิติโสมนัสเป็นอย่างยิ่งที่เสร็จสงครามได้ตามพระราชประสงค์ยิ่งกว่าอื่นใด ด้วยการที่ไปตีเมืองเชียงใหม่ ครั้นนั้น เมื่อคิดดูทางได้ทางเสียแล้ว เป็นทางเสียเปรียบข้าศึกถึงสองเอาหนึ่ง ถ้าไปแพ้ข้าศึกก็ดี หรือแม้แต่เพียงไปทำสงครามติดพันอยู่นานวันไม่ได้เมืองเชียงใหม่ก็ดี กองทัพพม่าก็จะยกเข้ามาตีตัดข้างหลัง ทั้งที่เมืองตากและกรุงธนบุรีในเวลานั้นกำลังทหารของไทยขึ้นไปติดอยู่เสียทางเมืองเชียงใหม่ส่วนมาก การที่ยกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้นนั้น เป็นการกล้าขึ้นไปอย่างเด็ดเดี่ยว โดยที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมั่นพระทัยว่า จะชนะได้ก่อนข้าศึกทางใต้เข้ามาถึงด้วย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีคงจะทรงห่วงหน้าพะวังหลัง ร้อนพระราชหฤทัยอยู่ตลอดเวลาที่ยังไม่ได้เมืองเชียงใหม่ เพราะเหตุนี้จึงปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารและจดหมายเหตุเก่าๆ ว่า วันเมื่อเจ้าพระยาจักรีกับเจ้าพระยาสุรสีห์ยกเข้าตีค่ายพม่าที่รักษาเมืองเชียงใหม่นั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีรับสั่งให้ข้าหลวงไปสืบรายละเอียดของการรบมากราบทูลทุกระยะ พอข้าหลวงกลับมาทูลว่า เจ้าพระยาจักรีได้ตีค่ายพม่าทางด้านใต้ด้านตะวันตกหมดแล้ว ข้าหลวงอีกคนหนึ่งก็เข้ามาถึงในขณะนั้นกราบทูลว่าเจ้าพระยาสุรสีห์ตีค่ายประตู

ท่าแพทางด้านตะวันออกได้หมดแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงฟัง ก็ยกพระหัตถ์ตบพระเพลาทั้งสองข้างออกพระโอษฐ์ว่า “ นี่จะว่าพี่หรือน้องดีกว่ากันไฉนในครั้งนี้ ” ดังนี้ก็เพราะรู้สึกสิ้นวิตกโล่งพระราชหฤทัยในทันทีด้วยเห็นว่าพม่าหมดหนทางสู้ คงได้เมืองเชียงใหม่ในวันสองวันนั่นเป็นมั่นคง ก็ได้จริงทันตามพระราชประสงค์

ครั้น ณ วันพุธ เดือน 2 แรม 2 ค่ำ เวลาเช้าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จพระราชดำเนินเข้าไปนมัสการพระพุทธปฏิมากร พระพุทธสิหิงค์ ในเมืองเชียงใหม่ ทอดพระเนตรเรือนโปมะยุง่วนเจ้าเมือง

ครั้น ณ วันพฤหัสบดี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จออก ณ ท้องพระโรง มีท้าวพระยาข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนเข้าเฝ้าพร้อมกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พระยาจ่าบ้าน เป็ นพระยาวิเชียรปราการ ถืออาญาสิทธิ์ครองเมืองเชียงใหม่ ให้ พระยากาวิละ ถืออาญาสิทธิ์ครองเมืองนครลำปาง ให้พระยาลำพูนเป็น พระยาไวยวงศา ถืออาญาสิทธิ์ครองเมืองลำพูนตามเดิม แล้วโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าราชการตำแหน่งรองๆ ลงมาทั่วกัน และโปรดให้เจ้าพระยาจักรีอยู่ช่วยจัดการราชการบ้านเมืองให้ราบคาบเป็นปกติก่อน

พอได้เมืองเชียงใหม่แล้ว ต่อมาไม่กี่วันก็มีใบบอกจากเมืองตากขึ้นไปถึงว่า มีกองทัพพม่ายกตามครอบครัวมอญล่วงล้ำเขตแดนเข้ามาอีกทัพหนึ่ง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อได้มีพระราชดำรัสสั่งมอบหมายราชการเรียบร้อยแล้ว พระองค์ประทับอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ได้ 7 วัน ถึงวันศุกร์ เดือน 2 แรม 4 ค่ำ เวลาเช้าก็เสด็จพระราชดำเนินกลับจากเมืองเชียงใหม่ ลงมาหยุดประทับแรมอยู่ ณ เมืองนครลำปาง นมัสการลาพระบรมธาตุ ทรงถวายสักการะบูชาด้วยดอกไม้ทองเงิน แล้วเสด็จยกกองทัพหลวงรีบกลับลงมายังเมืองตาก

ฝ่ายเจ้าพระยาจักรีตั้งอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ ให้พวกท้าวพระยาไปเที่ยวเกลี้ยกล่อมไพร่บ้านพลเมืองที่แตกฉานซ่านเซ็น ไปเที่ยวซุ่มซ่อนอยู่ตามห้วยเขาลำเนาไพรต่างๆ ให้กลับคืนมาอยู่ตามภูมิลำเนาเดิม พวกชาวเมืองในแว่นแคว้นลานนาเป็นชนชาติไทย ต้องอยู่ในอำนาจพม่าด้วยความจำใจ ครั้นไทยชาวใต้ขึ้นไปเป็นใหญ่ ก็พากันมีความยินดียอมมาอ่อนน้อมโดยดี ไม่ต้องใช้กำลังปราบ ครั้งนั้นเจ้าพระยาจักรีให้ไปเกลี้ยกล่อมเจ้าฟ้าเมืองน่านๆ ก็ยินดีมาสามิภักดิ์ เป็นข้าขอบขัณฑสีมาอีกเมืองหนึ่ง จึงเป็นอันว่าการศึกที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งนั้น กรุงสยามได้ขับไล่อิทธิพลพม่าไปจากแว่นแคว้นแดนไทยทางภาคพายัพ ได้เมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูน เมืองนครลำปาง เมืองน่าน เมืองแพร่ กลับเข้ามาอยู่ในพระราชอาณาเขตกรุงสยาม ตั้งแต่ปีมะเมีย พ.ศ. 2317 เป็นต้นมาตราบเท่าทุกวันนี้

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จประทับแรมที่เมืองตาก เมืองซึ่งพระองค์ได้เป็นเจ้าเมืองอยู่เมื่อรับราชการอยู่ในกรุงศรีอยุธยา พระองค์ได้เสด็จไปที่วัดข่อยเขาแก้ว วัดกลาง ไปนมัสการพระพุทธปฏิมากร ณ วัดกลาง ทรงเยี่ยมพระภิกษุสามเณร ได้ทรงเจรจาถึงความเก่าที่พระองค์ได้ทรงตั้งสัตยาธิษฐานเสี่ยงบารมีไว้ พระสงฆ์ทั้งนั้นก็ถวายพระพรว่า “ จริงดังพระกระแสพระราชดำรัส ” ครั้น ณ วันพฤหัสบดี เดือน 3 ขึ้น 9 ค่ำ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็เสด็จลงเรือพระที่นั่งล่องลงมาโดยทางชลมารค รอนแรมมาโดยระยะทาง 5 วัน จึงเสด็จถึงพระนครกรุงธนบุรี (ทวน บุณยนิยม, 2513 : 99-101, 106-117)

หมายเหตุ
เมื่อพระเจ้าอังวะให้โปมะยุง่วนมาเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่นั้น มีท้าวพระยาเมืองเชียงใหม่เป็นใหญ่อยู่ 4 คน คือ พระยาจ่าหลวง พระยาสามล้าน พญาจ่าบ้าน และพระยากาวิละ เจ้าเมืองนครลำปาง

วงศ์สกุลของพระยากาวิละ
พระยากาวิละ เป็นบุตรเจ้าชายแก้ว ซึ่งพระเจ้าอังวะ ตั้งให้เป็นเจ้าเมืองนครลำปาง จึงเรียกกันว่า เจ้าฟ้าชายแก้วๆ มีบุตร 7 คน (เรียกกันว่า เจ้าเจ็ดตน) มีธิดา 3 คน รวมเป็น 10 คน มีลำดับดังต่อไปนี้

พระเจ้ากาวิละ เจ้านครเชียงใหม่ องค์ที่ 1
(ภาพจากหนังสือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชจักรีวงศ์ กับนครเชียงใหม่)

หมายเหตุ
เมื่อพระเจ้าอังวะให้โปมะยุง่วนมาเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่นั้น มีท้าวพระยาเมืองเชียงใหม่เป็นใหญ่อยู่ 4 คน คือ พระยาจ่าหลวง พระยาสามล้าน พญาจ่าบ้าน และพระยากาวิละ เจ้าเมืองนครลำปาง

วงศ์สกุลของพระยากาวิละ
พระยากาวิละ เป็นบุตรเจ้าชายแก้ว ซึ่งพระเจ้าอังวะ ตั้งให้เป็นเจ้าเมืองนครลำปาง จึงเรียกกันว่า เจ้าฟ้าชายแก้วๆ มีบุตร 7 คน (เรียกกันว่า เจ้าเจ็ดตน) มีธิดา 3 คน รวมเป็น 10 คน มีลำดับดังต่อไปนี้

ที่ 1 บุตรชื่อ กาวิละ เมื่อโปมะยุง่วนมาเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ ทำนองจะไม่ไว้วางใจเจ้าฟ้าชายแก้ว สั่งเจ้าฟ้าชายแก้วไปอยู่ช่วยราชการที่เมืองเชียงใหม่ พระยากาวิละนี้ได้เป็นพระยาเมืองเชียงใหม่เมื่อรัชกาลที่ 1 และได้โปรดให้เลื่อนยศขึ้นเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่
ที่ 2 บุตรชื่อ คำโสม ได้เป็นพระยานครลำปาง เมื่อรัชกาลที่ 1
ที่ 3 บุตรชื่อ น้อยธรรม ได้เป็นพระยาเมืองเชียงใหม่ ในรัชกาลที่ 2 เรียกกันว่า พระยาเชียงใหม่ช้างเผือก เพราะได้พระเศวตไอยรามาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ที่ 4 บุตรชื่อ ดวงทิพย์ ได้เป็นเจ้านครลำปาง ในรัชกาลที่ 2
ที่ 5 ธิดาชื่อ ศิริรจนา (ชาวมณฑลพายัพเรียกกันว่า เจ้าศรีอโนชา หรือ เจ้าดอกฟ้าศรีอโนชา) ได้เป็นพระอัครชายาในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท (คือเจ้าพระยาสุรสีห์ในสมัยกรุงธนบุรี)
ที่ 6 ธิดาชื่อ ศรีปัญญา ถึงแก่กรรมเมื่อยังเยาว์วัย
ที่ 7 บุตรชื่อ หมูหล้า ได้เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ ในรัชกาลที่ 2
ที่ 8 บุตรชื่อ คำฝั้น ได้เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ ในรัชกาลที่ 2 ชาวเชียงใหม่เรียกกันว่า “ เจ้าหลวงเศรษฐี ” หรือ เจ้าหลวงเสฏฐีคำฝั้น
ที่ 9 ธิดาชื่อ ศรีบุญทัน ถึงแก่กรรมเมื่อยังเยาว์วัย
ที่ 10 บุตรชื่อ บุญมา ได้เป็นพระเจ้านครลำพูน ในรัชกาลที่ 3 (รวมศักดิ์ ชัยโกมินทร์, 2543 : 127-128 ; เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ http://www.yupparaj.ac.th/webpage/computer/student /topic9/ indext.html , 10/9/2547)

เจ้าหลวงเสฏฐีคำฝั้น เจ้านครเชียงใหม่ องค์ที่ 3 (ภาพจากหนังสือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชจักรีวงศ์ กับนครเชียงใหม่)

10.3  สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงทำศึกสงครามเพื่อขยายราชอาณาจักรไทยกับเมืองใดบ้าง ?
             การแผ่พระบรมเดชานุภาพ และขยายราชอาณาจักรไทย ในสมัยกรุงธนบุรี

10.3.1 เมืองนครศรีธรรมราช
ในปลายปี พ.ศ. 2311 เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้เมืองนครราชสีมา ปราบชุมนุมเจ้าพิมายลงไปแล้ว ก็เป็นอันว่าได้ขยายราชอาณาเขตทางทิศตะวันออกได้บริบูรณ์เหมือนเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาแล้ว ก็มีพระราชดำรัสให้เตรียมกองทัพเพื่อจะลงไปตีเมืองนครศรีธรรมราช ปราบชุมนุมเจ้านคร (หนู) ต่อไป

แผนที่แสดงเขตแดนจังหวัดนครศรีธรรมราช
(ภาพจากหนังสือ รายงานการวิจัยสนองพระราชประสงค์ เรื่อง นครศรีธรรมราช)

เมื่อกองทัพที่เตรียมจะไปปราบชุมนุมเจ้านคร (หนู) เมืองนครศรีธรรมราชพร้อมเสร็จ

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดเกล้าฯ สั่งให้เจ้าพระยาจักรีแขก (เดิมเป็นหลวงนายศักดิ์ ครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นเชื้อแขก) เป็นแม่ทัพใหญ่ พระยายมราช พระยาศรีพิพัฒน์ พระยาเพชรบุรี เป็นนาย กองคุมทัพบกจำนวนพล 5,000 ยกลงไปตีเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อราวเดือน 5 ปีพ.ศ. 2312 ด้วยเวลานั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีพระราชประสงค์จะรอฟังข่าว การตีเมืองนครศรีธรรมราชที่กรุงธนบุรีก่อน

ฝ่ายกองทัพเจ้าพระยาจักรี (แขก) ยกลงไปถึงเมืองชุมพร เมืองไชยา พวกกรมการเก่าก็เข้ามาอ่อนน้อมโดยดีไม่ต้องรบพุ่ง แต่ข้าราชการที่เป็นแม่ทัพใหญ่กับนายกอง ที่ยกไปครั้งนั้นไม่สามัคคีกัน ครั้นยกเข้าไปในแดนเมืองนครศรีธรรมราช ข้ามแม่น้ำตาปี (แขวงเมืองสุราษฎร์ธานี) ไปถึงท่าหมาก แขวงอำเภอลำพูน พบข้าศึกตั้งค่ายสกัดอยู่ กองทัพกรุงธนบุรีเข้าตีค่ายไม่พรักพร้อมกัน ก็เสียทีแก่ข้าศึก พระยาศรีพิพัฒน์ พระยาเพชรบุรี ตายในที่รบและข้าศึกจับหลวงลักษมานา บุตรเจ้าพระยาจักรีแขกไปได้ เจ้าพระยาจักรีแขกก็ถอยทัพกลับมาตั้งอยู่ที่เมืองไชยา

พระยายมราชมีหนังสือกราบบังคมทูลเข้ามาว่า เจ้าพระยาจักรีแขกมิได้เอาใจใส่ในราชการสงคราม ครั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงทราบ ก็ทรงพระราชดำริว่า ลำพังกองทัพที่มีรับสั่งให้ไปทำการนั้นเห็นทีจะตีเอาเมืองนครศรีธรรมราชมิได้ และขณะนั้นกองทัพหลวงตระเตรียมพร้อมที่จะไปตีกรุงกัมพูชาก็ยังเตรียมพร้อมอยู่ พอดีได้ข่าวแจ้งมาว่า เมืองเสียมราฐ พระตะบอง นายทหารเอกสองพี่น้อง (พระยาอภัยรณฤทธิ์ (ร. 1) และพระยาอนุชิตราช (เจ้าพระยาสุรสีห์ในเวลาต่อมา) กับพระยาโกษาธิบดีตีและยึดครองไว้ได้แล้ว ก็ทรงพระราชดำริจะไปตีเมืองนครศรีธรรมราชก่อน แล้วจึงไปตีกรุงกัมพูชาต่อไป จึงมีพระราชดำรัสให้จัดทัพเรือพร้อมด้วยพลรบหมื่นหนึ่ง ศัตราวุธพร้อมทั้งปืนใหญ่น้อยทั้งปวง

ครั้นถึงมหาพิชัยฤกษ์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงเสด็จลงเรือพระที่นั่งสุวรรณพิชัยนาวายาว 11 วา ปากกว้าง 3 วาเศษ พลกรรเชียง 29 คน พร้อมด้วยเรือรบท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาท นายทัพนายกองทั้งปวง โดยเสด็จพระราชดำเนินเป็นขบวนพยุหยาตราหน้าหลัง เสด็จกรีธานาวาทัพหลวงออกจากกรุงธนบุรี ทางชลมารค ออกปากน้ำเมืองสมุทรสงครามออกสู่ทะเล ครั้นถึงวันอาทิตย์ เดือน 9 แรม 3 ค่ำ พ.ศ. 2312 เพลาสามโมงเช้า ถึงตำบลบางทะลุ (ปัจจุบันคือหาดเจ้าสำราญ จังหวัดเพชรบุรี) ได้บังเกิดพายุคลื่นลมจัด เรือรบข้าราชการในกองทัพเรือหลวงและกองหน้ากองหลังบางลำล่ม บางลำแตก บางลำก็ต้องจอดแอบกำบังอยู่ในอ่าว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีพระราชดำรัสให้เข้าพักจอดกระบวนเรือ สั่งให้ปลูกศาลเพียงตาขึ้นบนฝั่ง ให้แต่งเครื่องสังเวยบวงสรวงเทพารักษ์อันพิทักษ์ท้องมหาสมุทร จุดธูปเทียนกระทำการสักการะบูชา แล้วทรงตั้งสัตยาธิษฐาน เอาคุณพระศรีรัตนตรัยเป็นที่ตั้ง กับพระบารมีซึ่งทรงบำเพ็ญมาแต่บุรพชาติและในปัจจุบัน ให้คลื่นสงบลงในบัดนี้ ด้วยเดชะอำนาจพระกฤษฎาภินิหาร บารมีเป็นมหัศจรรย์ คลื่นลมนั้นก็สงบราบคาบเห็นประจักษ์ในขณะที่ทรงตั้งสัตยาธิษฐาน ครั้นแล้วขบวนพยุหยาตราก็เดินทางต่อไปได้ในทะเลหลวง หามีเหตุการณ์อันตรายอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ ครั้นเสด็จถึงเมืองไชยาจึงให้จอดประทับ ณ ท่าพุมเรียง เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปประทับแรมบนพลับพลา ซึ่งกองทัพหน้าตกแต่งไว้รับเสด็จ เพื่อจะให้เป็นศรีสวัสดิ์มงคลแก่เมืองไชยานั้น แล้วมีพระราชดำรัสให้รวบรวมพลจัดเป็นกองทัพ มอบให้พระยายมราชเป็นกองหน้า ให้เจ้าพระยาจักรี (แขก) กับพระยาพิชัยราชาเข้าบรรจบกันเป็นทัพหนุน เร่งรีบยกไปทางบก ส่วนสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีคุมกองทัพเรือไปทางหนึ่ง กำหนดให้เข้าตีเมืองนครศรีธรรมราชพร้อมกันทั้งสองทาง แล้วกองทัพบกก็กราบถวายบังคมลา ยกออกไปตามพระราชกำหนด ส่วนสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จลงเรือพระที่นั่งคุมกองทัพเรือให้ยาตรานาวาทัพไปทางทะเลโดยรีบเร่ง (สมเด็จพระปิยมหาราชทรงวิจารณ์ตอนนี้ว่า การตีเมืองนครศรีธรรมราชนี้ เพราะกองทัพส่งออกไปตีไม่ได้ ถอยเข้ามาอยู่ไชยา เสด็จด้วยเรือพายนั้นอยู่ข้างจะแข็งมาก)

ฝ่ายกองทัพบกซึ่งพระยายมราชเป็นกองหน้าได้ยกข้ามท่าข้ามไปถึงลำพูน เข้าตีค่ายกองทัพเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งตั้งรับอยู่ ณ ท่าหมากแตกพ่ายหนีไป จึงยกติดตามไปตั้งอยู่ ณ เขาหัวช้าง

ครั้งนั้นเจ้านครฯ สำคัญว่ากองทัพกรุงธนบุรียกลงไปแต่ทางบกทางเดียวเหมือนคราวก่อน หาได้เตรียมต่อสู้กองทัพเรือไม่ กองทัพของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจู่ไปถึงปากพญาอันเป็นปากน้ำ

เมืองนครศรีธรรมราช เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 10 แรม 6 ค่ำ เจ้านครทราบก็ตกใจรีบกะเกณฑ์ผู้คนให้อุปราชจันทร์ตั้งค่ายคอยต่อสู้อยู่ที่ท่าโพธิ์ อันเป็นนิวาสถานของอุปราชจันทร์และเป็นท่าขึ้นเมืองนครศรีธรรมราช ห่างจากตัวเมืองประมาณ 30 เส้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกขึ้นไปตีค่ายท่าโพธิ์แตก จับอุปราชจันทร์ได้ พวกไพร่พลก็แตกหนีเข้าเมือง เจ้านครฯ จำใจเกรงพระเดชานุภาพเป็นกำลัง ก็สิ้นความคิดที่จะต่อสู้ จึงทิ้งเมืองพาญาติวงศ์ออกจากเมืองหนีลงไปเมืองสงขลา ในเวลานั้น นายคงไพร่นายกองพระเสนาภิมุข เห็นช้างพลายเพชรช้างที่นั่งเจ้านครฯผูกเครื่องสรรพปล่อยอยู่ จึงจับเอามาถวายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีๆ เสด็จขึ้นทรงช้างพลายเพชร เสด็จเข้าเมืองนครศรีธรรมราช ขณะเมื่อรบกับอุปราชจันทร์ เสียนายเพชร ทนายเลือกถูกปืนตายในที่รบคนเดียว จับได้ธิดาและญาติวงศ์ของเจ้านคร นางสนม เหล่าชาวแม่พนักงานและบริวารของเจ้านคร พร้อมทั้งอุปราชจันทร์ และขุนนางทั้งปวง รวมทั้งทรัพย์สมบัติเป็นอันมาก สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ได้เมืองนครศรีธรรมราชโดยง่าย เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 10 แรม 6 ค่ำ

ฝ่ายเจ้านครฯ นั้นพาบุตร ธิดา ญาติวงศ์พร้อมทั้งทรัพย์สินติดตัวหนีลงเรือไปยังเมืองสงขลา และหลวงสงขลาพาหนีต่อไปจนถึงเมืองเทพาอันเป็นเมืองขึ้นของเมืองสงขลา ส่วนกองทัพบกซึ่งเจ้าพระยาจักรีแขกเป็นแม่ทัพนั้น พระยายมราชกองหน้าตีได้ค่ายข้าศึกที่ท่าหมาก แล้วยกต่อลงไปพบค่ายเมืองนครตั้งมั่นอยู่ที่เขาหัวช้างอยู่อีกแห่งหนึ่ง แต่ยังไม่ทันที่จะสู้รบกัน เพราะทหารเหล่านั้นพากันเสียขวัญเมื่อได้ทราบว่าเมืองนครศรีธรรมราชแตกแล้ว ก็พากันหนีหมดสิ้น เจ้าพระยาจักรี (แขก) จึงรีบนำทัพเข้าไปในเมืองนครศรีธรรมราชอย่างรีบเร่ง เพราะเกรงจะไม่ทันการณ์ ตามที่ได้รับสั่งให้กองทัพบกสมทบกันเข้าตีพร้อมกับกองทัพเรือ แม้กระนั้นก็ยกไปถึงช้ากว่ากองทัพเรือถึง 8 วัน เข้ากราบทูลความผิดและขอรับพระราชทานอาญา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงภาคทัณฑ์โทษไว้ โดยให้เจ้าพระยาจักรี (แขก) กับพระยาพิชัยราชาคุมกำลังทางบกทางเรือไปตามจับเจ้านครฯเป็นการแก้ตัว แล้วสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรงยกกองทัพหลวงจากเมืองนครศรีธรรมราชตามไปยังเมืองสงขลา ณ วันศุกร์ เดือน 11 ขึ้น 6 ค่ำ

กองทัพเจ้าพระยาจักรี (แขก) กับพระยาพิไชยราชาลงไปถึงเมืองสงขลาได้ความว่า พระยาพัทลุงกับหลวงสงขลาพาเจ้านครฯ หนีลงไปข้างใต้ ก็ยกตามลงไปถึงเทพา ซึ่งอยู่ต่อแดนกับเมืองมะลายู สืบถามได้ความว่าเจ้านครฯหนีลงไปอาศัยพระยาปัตตานีศรีสุลต่าน เจ้าพระยาจักรี (แขก) จึงมีศุภอักษรลงไปยังพระยาปัตตานีว่า เจ้านครฯ นั้นเป็นศัตรูของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีๆ มีรับสั่งให้มาติดตามเอาตัว ให้พระยาปัตตานีส่งตัวเจ้านครฯกับพรรคพวกที่หนีไปอยู่ในแดนเมืองปัตตานีมาถวายเสียโดยดี ถ้าไม่ส่งมาก็จะต้องยกกองทัพเข้าไปในแดนเมืองปัตตานี เห็นว่าพระยาปัตตานีจะได้รับความเดือดร้อนเปล่าๆ พระยาปัตตานีมีความกลัวกองทัพไทย ก็ให้จับเจ้านครฯ เจ้าพัฒน์บุตรเขย กับเจ้ากลาง และพระยาพัทลุง หลวงสงขลา รวมทั้งพรรคพวก ส่งเข้ามายังกองทัพเจ้าพระยา

จักรี (แขก)ๆ ก็เลิกทัพ กลับมาเฝ้าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่เมืองสงขลา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงจัดการเมืองสงขลาและเมืองพัทลุงเรียบร้อยแล้ว ก็เสด็จกลับมายังเมืองนครศรีธรรมราช มาถึง ณ วันศุกร์ เดือน 12 ขึ้น 12 ค่ำ พอดีมรสุมลงทางชายทะเลปักษ์ใต้ คมกล้าคลื่นใหญ่ฝนก็ตกชุกจะเสด็จกรีธาทัพกลับพระนครหลวงมิได้ จึงจำต้องยับยั้งอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชก่อน

หมายเหตุ การยกทัพเพื่อมาปราบชุมนุมของเจ้าพระยานครศรีธรรมราชของสมเด็จพระเจ้าตากสิน

สุภัทร สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง (2538 : 203-204) ได้กล่าวถึงผลการรบในครั้งนี้ว่า “ …การที่สมเด็จพระเจ้าตากสินสามารถเอาชนะเจ้าพระยานครศรีธรรมราชได้ โดยไม่จำเป็นต้องยกกองทัพเข้าสู้รบห้ำหั่นประหัตประหารกันจนเลือดนองแผ่นดิน แต่ก็ทรงได้รับผลพวงแห่งชัยชนะอย่างสมบูรณ์ในครั้งนี้ ก็เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมีบุญญาบารมีสูงมาก จนเป็นที่หวาดกลัวเกรงขามแก่เจ้าพระยานครศรีธรรมราช และสุลต่านแห่งเมืองปัตตานี มิหนำซ้ำบรรดาแม่ทัพนายกองแต่ละท่านต่างก็มีเกียรติคุณชื่อเสียง และเก่งกล้าสามารถในการยุทธสงครามเป็นอย่างดี

แต่ประการที่สำคัญยิ่งก็คือ การที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมีความรู้ความเข้าใจในกลวิธีการปลุกกำลังใจให้พลรบของพระองค์มีความฮึกเหิม และมีความเชื่อมั่นในตัวของพระองค์ว่าจะสามารถนำกองทัพและเหล่าพลรบทั้งหมดไปสู่ชัยชนะได้อย่างแน่นอน กลยุทธ์ในการสร้างขวัญกำลังใจและความเชื่อมั่นของเหล่านักรบเช่นนี้ นอกจากจะอาศัยสิ่งต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว ไสยศาสตร์ คาถาอาคม และสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างอื่นๆ ก็มีอิทธิพลที่เป็นคุณูปกการต่อการสร้างขวัญ และกำลังใจของทหารหาญมากอยู่เหมือนกัน

ด้วยเหตุนี้ สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงทรงได้รับความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ที่สุด ดีกว่าการทำสงครามแบบเข่นฆ่าประหัตประหารกันจนเลือดนองแผ่นดิน ทั้งนี้ นับเป็นชัยชนะที่ได้ผลดีสูงสุด แต่มีความสูญเสียน้อยที่สุด

สิ่งที่น่าสนใจต่อไปก็คือว่า อักขระเลขยันต์และสัญลักษณ์ต่างๆ ที่เขียนลงบนผ้าประเจียดที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงนำมาแจกจ่าย ให้แก่บรรดาแม่ทัพนายกองตลอดจนหัวหมู่ พร้อมกับการประพรมน้ำพระพุทธมนต์ที่ได้มาจากวัดโพธิแห่งเมืองไชยา ศูนย์อารยธรรมอันเก่าแก่ของอาณาจักรศรีวิชัยที่ไชยา ในภาคใต้ของสยาม ตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 13 นั้น ประกอบด้วย สัญลักษณ์ หรือ เครื่องหมายที่มีความสำคัญๆ ว่ากระไรบ้าง นั่นคือ “ ลายแทงบนผ้าประเจียดของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ” ผืนนี้คือลายแทงที่แจ้งให้ทราบถึงลักษณะการจัดทัพหลวง ที่มีสมเด็จพระเจ้าตากสินเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด การจัด “ ทัพหลวง ” แบบนี้ โดยปกติจะมีกองทัพนำหน้าที่เรียกว่า “ ทัพหน้า ” ซึ่งมีแม่ทัพเป็นของตนเอง และมีกองทัพตามหลังอีกทัพหนึ่งที่เรียกว่า “ ทัพหลัง ” ซึ่งก็มีแม่ทัพเป็นของเป็นของตนเองเช่นเดียวกัน

การจัด “ กองทัพหลวง ” ตามภาพลายแทงบนผ้าประเจียดผืนนี้ เมื่อพิจารณาดูโดยละเอียดถึงสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นลวดลายของผ้าประเจียดแล้ว ก็จะบอกได้เลยว่าเป็นการจัดทัพแบบ “ จตุรงคเสนา ” อันเป็นการจัดทัพหลวงตามแบบที่นิยมกันอยู่ ในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ.2133-2143) นักรบบนหลังช้างที่ยิ่งใหญ่ของกรุงศรีอยุธยา

ลายแทงบนผ้าประเจียด ของสมเด็จพระเจ้าตากสิน
(ภาพจากวารสารศิลปวัฒนธรรม)
ลายแทงบนผ้าประเจียดของสมเด็จพระเจ้าตากสินกับการจัดทัพแบบจตุรงคเสนา
(ภาพจากวารสารศิลปวัฒนธรรม)

คำว่า “ จตุรงคเสนา ” นี้ เป็นคำศัพท์ในภาษสันสกฤต (จตุร+องค+เสนา) แปลว่า “ เสนามีองค์สี่ ” ซึ่งหมายถึงเสนาประจำเท้าช้างทั้ง 4 เท้า เพื่อป้องกันภัยให้แก่ “ ช้างศึก ” ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือพระมหาอุปราช ที่กำลังกระทำยุทธหัตถีกันอยู่ แล้วต่อมาทางราชสำนักกรุงศรีอยุธยา จึงได้นำเอา “ เสนามีองค์สี่ ” นี้มาตั้งเป็นนามฐานันดรศักดิ์ของทหารคนสนิทแห่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีราชทินนามบรรดาศักดิ์ต่างๆ กัน ตามลำดับของฐานันดรที่มีอยู่ 4 ลำดับชั้นด้วยกันดังนี้คือ

          1. ชั้นไพร่พล ได้แก่ 1.ไอ้อิน 2. ไอ้จันท์ 3. ไอ้มั่น 4. ไอ้คง
          2. ชั้นหัวหมู่ ได้แก่ 1.จ่าเรศวร์ 2. จ่ารงค์ 3. จ่ายง 4.จ่ายวด
          3. ชั้นนายหมวด ได้แก่ 1.นายกวด 2.นายเสน่ห์ 3.นายเล่ห์อาวุธ 4.นายสุจินดา (บางที่เรียก นายสุดจินดา)
          4. ชั้นนายกอง ได้แก่ 1.หลวงศักดิ์ 2.หลวงสิทธิ์ 3.หลวงฤทธิ์ 4.หลวงเดช

ในจำนวนจตุรงคเสนาหรือเสนามีองค์สี่นี้มีใคร ยืนอยู่ตรงไหนบนลายแทงของผ้าประเจียดผืนนี้บ้าง ซึ่งจะพบว่าดังนี้
1-2-3-4 คือ หลวงศักดิ์ หลวงสิทธิ์ หลวงฤทธิ์ หลวงเดช
5-6-7-8 = คือ จ่าเรศวร์ จ่ารงค์ จ่ายง จ่ายวด
9-10-11-12 = คือ นายกวด นายเสน่ห์ นายเล่ห์อาวุธ นายสุจินดา
13-14-15-16 = คือ ไอ้อิน ไอ้จันท์ ไอ้มั่น ไอ้คง
17 = ธงฉาน คือ ธงนำหน้าขบวนเสด็จและดาบหน้า
18 = ธงริ้ว คือ ธงตามหลังขวนเสด็จและดาบหลัง
19-20 = เรียกว่า “ วชิรปราการ ” หรือ “ กำแพงเพชร์ ” เป็นแถวอารักขาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
21 = เสือในช่องกลาง คือสมเด็จพระเจ้าตากสิน ซึ่งทรงพระราชสมภพเมื่อปี จ.ศ.1096 ตรงกับปีขาล พ.ศ.2277

อย่างไรก็ดี โปรดสังเกตดูให้ดีๆ จะเห็นได้ว่าตรงกลางของ “ กำแพงเพชร์ ” (หมายเลข 19 และ 20) ทั้งที่ด้านซ้ายมือและด้านขวามือนั้น มีการลงอักขระเป็นบรรทัดยาวด้วยอักษร “ อารบิค ” ที่เห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งเมื่อได้สอบถามโต๊ะครูผู้มีความรู้ในเรื่องผ้ายันต์และอักขระอารบิคเป็นอย่างดีแล้ว ท่านดะโต๊ะก็ได้อธิบายให้ฟังว่า อักขระอารบิคที่จารึกอยู่นั้น เป็นคำสวดสรรเสริญพระเจ้า และเป็นคำสอนของพระนะบี มูฮัมหมัด (ชอล) เพื่อขอความคุ้มครองปลอดภัยและขอให้ประสบชัยชนะในการยุทธ์

ระหว่างที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีประทับอยู่ ณ เมืองนครศรีธรรมราชนี้ พระองค์ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจหลายประการอันเกี่ยวแก่การปกครอง การพระศาสนามากมาย มีเหตุการณ์ที่ได้มีบันทึกบางประการ เช่น มีการเสด็จบัญชาการดับเพลิงที่เกิดไหม้ขึ้นในเมืองนครศรีธรรมราช ทรงมีพระบรมราชโองการให้ประกาศไปทั่วทั้งกองทัพ ห้ามมิให้ไพร่พลไทยจีนทั้งปวงฆ่าโค กระบือ และมิให้ข่มเหงสมณะพราหมณ์และบรรดาประชาราษฎร์ให้ได้รับความเดือดร้อน

ทรงพระกรุณาให้ขนข้าวเปลือกลงบรรทุกสำเภาเข้ามาพระราชทานแก่บรรดาข้าราชการทั้งทหารและพลเรือน เมื่อทรงทราบว่าบุคคลที่มีทรัพย์เก็บไว้มาก ก็ทรงอนุญาตให้เปิดการเล่นการพนัน มีการกำถั่วโป หน้าพระที่นั่ง มีบันทึกว่าเป็นการเล่นที่สนุกกว่าครั้งใดๆ ทรงพระราชศรัทธาให้สังฆการีธรรมการไปนิมนต์พระภิกษุ สามเณร ชี ทั่วทั้งเมืองนครศรีธรรมราชมาพร้อมกัน ทรงถวายข้าวสาร องค์ละถัง เงินตราองค์ละบาท ที่ขาดผ้าสะบงจีวรก็ถวายทุก ๆ องค์ แล้วทรงแจกยาจก วณิพกทั้งปวงคนละสลึง ทุกๆ วันอุโบสถ แล้วทรงสั่งให้ต่อเรือรบเพิ่มเติมขึ้นอีกร้อยลำเศษ เพื่อสำหรับจะได้ใช้ในราชการสงครามในภายหน้า และทรงพระกรุณาให้จ้างข้าราชการ และราษฎรให้บูรณะปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ วิหาร การเปรียญ พระระเบียง ศาลา กุฎี ในพระอารามใหญ่น้อยเป็นอันมาก สิ้นพระราชทรัพย์เป็นอันมาก แล้วให้มีการมหรสพสมโภชเวียนเทียนพระมหาธาตุเจดีย์ใหญ่ในเมืองนั้นครบสามวัน

พระมหาธาตุเจดีย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
(ภาพจาก sunsite.au.ac.th/…/Thailand76/South/nakornsri/ )

ครั้นเสร็จการสมโภชพระบรมสารีริกธาตุแล้ว จึงมีพระราชดำรัสให้เสนาบดีและลูกขุนปรึกษาโทษเจ้านครฯ เสนาบดีและลูกขุนปรึกษาเห็นพร้อมกันว่า โทษถึงประหารชีวิต สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงฟังมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ว่า “ เรายังไม่เห็นด้วย เจ้านครยังมิได้เป็นข้าราชการแห่งเรา ฝ่ายเจ้านครก็ตั้งตัวเป็นใหญ่ ฝ่ายเราก็ถือว่าเราเป็นใหญ่ ไม่ง้องอนแก่กัน จึงได้มาสู้รบกันครั้งนี้ ถ้าเจ้านครทำราชการอยู่ด้วยเราแล้วคิดกบฏต่อไป แม้เสนาบดีปรึกษาโทษถึงตายเราจะเห็นด้วย ที่รบพุ่งต่อสู้จะเอาเป็นความผิดไม่ได้ ครั้นจับตัวมาได้เจ้านครก็อ่อนน้อมยอมจะเป็นข้าโดยดี ควรจะเอาตัวเข้าไปไว้รับราชการที่ในพระนคร ”

ครั้นแล้วสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ พระเจ้าหลานเธอ เจ้านราสุริยวงศ์ ให้ครองเมืองนครศรีธรรมราช และให้พระยาราชสุภาวดีกับพระศรีไกลลาศอยู่ช่วยราชการ แล้วทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราโชวาท ให้ประพฤติปรนนิบัติเลี้ยงดูเสนาบดี สมณะพราหมณาจารีย์ อาณาประชาราษฎรทั้งปวงโดยยุติธรรม ตามโบราณประเพณีกษัตริย์แต่ก่อน แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้รั้งกรมการแขวงเมืองนครไว้ทุกๆ เมือง

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงเล็งเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาได้ถูกพม่าข้าศึกเผาทำลายสิ้น รวมทั้งพระไตรปิฎกและบรรดาวรรณคดี จึงทรงมีคำสั่งให้จัดพระไตรปิฎกของเมืองนครศรีธรรมราชลงบรรทุกเรือเชิญเข้ามาในพระนคร เมื่อได้คัดลอกไว้ทุกคัมภีร์แล้ว จึงจะเชิญออกมาส่งไว้ตามเดิม อนึ่งให้สังฆการีนิมนต์พระอาจารย์ศรี วัดพนัญเชิง ซึ่งหนีพม่าออกมาอยู่เมืองนครนั้น ให้รับเข้ามาอยู่ในพระนครพร้อมกับพระสงฆ์และสามเณรและศิษย์ทั้งปวง

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ประทับอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชจนถึงเดือน 4 ปีฉลู ครั้นสิ้นมรสุมแล้ว จึงดำรัสสั่งให้จัดแจงตระเตรียมกองทัพจะยกกลับคืนยังกรุงธนบุรีราชธานี ครั้นแล้วก็ยาตราพยุหนาวาทัพคืนพระนคร การเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคในครั้งนั้น ด้วยพระกฤษดานุภาพบารมี ก็เสด็จมาได้โดยสะดวกหาภัยอันตรายมิได้

ส่วนเจ้านครฯนั้น เมื่อเข้ามาอยู่ในพระนครก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ อภัยโทษให้เข้ารับราชการอยู่ในกรุงธนบุรี ได้รับพระราชทานน้ำพระพิพัฒน์สัจจา พระราชทานบ้านเรือนให้อยู่เป็นสุข ในระหว่างที่เจ้านครฯรับราชการอยู่ในพระนครนั้น ได้ทำความดีความชอบไว้คือ ได้ไปช่วยในราชการสงครามกับพม่าข้าศึก และยังได้ถวายธิดามีนามว่าหม่อมฉิมเป็นบาทบริจาริกาในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ต่อมาเจ้านราสุริยวงศ์ถึงแก่พิราลัย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงไว้วางพระราชหฤทัยจึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านครฯกลับไปครองเมืองนครศรีธรรมราชตามเดิมเมื่อพ.ศ. 2319 ได้รับสุพรรณบัตรเป็น พระเจ้านครศรีธรรมราช เจ้าขัณฑสีมา มีเกียรติยศเสมอเจ้าประเทศราช มีอำนาจแต่งตั้งพระยาอัครมหาเสนาบดีจตุสดมภ์ สำหรับเมืองนครศรีธรรมราชได้ กับทั้งโปรดอนุญาตให้มีละครหญิงได้อีกด้วย แต่เดิมนั้น นอกจากพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ผู้ใดจะมีละครผู้หญิงไม่ได้เป็นอันขาด ละครของเจ้านครนี้ เวลามีงานใหญ่ๆ ในกรุงธนบุรี ก็โปรดให้เรียกเข้ามาเล่นประชันกับละครหลวงด้วยแทบทุกคราว สมเด็จพระปิยมหาราช (รัชกาลที่ 5) ได้ทรงวิจารณ์ไว้ว่า จะฉลองพระแก้วก็ต้องให้พาตัวเจ้านครเข้ามา เพื่อจะให้เอานางละครลงเรือประพาสและเล่นสมโภชน์พระแก้ว ถึงให้มาเล่นประชันกับละคร เห็นทีละครของเจ้านครฯจะดี และน่าจะไม่ใช่ละครชาตรี ที่จะดีก็เพราะไม่ได้บ้านแตกเมืองเสียด้วยพม่า ยังคุมโรงกันติดอยู่ ส่วนละครหลวงนั้นคงจะเพิ่งผสมขึ้นใหม่ (ทวน บุณยนิยม , 2513 : 84-90)

10.3.2 ความสัมพันธ์กับญวน (เวียดนามในปัจจุบัน)
ในสมัยธนบุรีความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญวน แบ่งออกเป็น 2 ระยะคือ

ระยะแรก ญวนเป็นมิตรกับไทย เพราะญวนหวังพึ่งไทยในการขจัดความยุ่งยากที่เกิดขึ้นภายในประเทศ

ระยะต่อมา ไทยมีเรื่องบาดหมางกับญวนในกรณีกัมพูชา ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญวนในตอนปลายรัชกาลตึงเครียด จนเกือบต้องทำสงครามกัน

ในต้นปี พ.ศ. 2312 ทางเมืองจันทบุรีมีใบบอกแจ้งเข้ามาว่า ญวนยกกองทัพเรือขึ้นมาที่เมืองบันทายมาศ (อยู่ในเขมร) ลือกันว่าจะเข้ามาตีกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ไม่ไว้พระทัยจึงตรัสสั่งให้เตรียมรักษาปากน้ำทั้งสี่ทาง และโปรดเกล้าฯให้พระยาพิไชย หรือพิชัย (นายทหารจีนข้าหลวงเดิม เลื่อนขึ้นเป็นพระยาโกษาธิบดี) บังคับการรักษาปากน้ำ แต่ไม่ช้าก็ได้ความว่า กองทัพญวนหาได้ตั้งใจมาตีเมืองไทยไม่ ที่ยกมาครั้งนั้นเหตุด้วยในกรุงกัมพูชา นักองค์นนท์ซึ่งเป็นพระรามราชา ชิงราชสมบัติกับนักองค์ตน (สมเด็จพระนารายณ์ราชา) ซึ่งขอกำลังญวนมาช่วย พระรามราชาสู้ไม่ได้ก็หนีเข้ามาพึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสิน ขอให้ช่วยป้องกันฉันท์เป็นข้าขอบขัณฑสีมา ขอให้ไทยยกทัพไปจัดการเรื่องราวต่าง ๆ ทำให้เหตุการณ์ในเขมรสงบลงได้

แผนที่แสดงอาณาเขตประเทศเวียดนาม
ในปัจจุบัน (ภาพจากวารสารศิลปวัฒนธรรม)
จักรพรรดิมิน หม่าง ( Emperor Minh-mang)
(ภาพจากหนังสือ Imperial Britain in South-East Asia)

ใน พ.ศ. 2316 เกิดกบฏไกเซินหรือไตเซิน ( Tay-Son) ขึ้นในญวนใต้ กองทหารฝ่ายรัฐบาลพ่ายแพ้แก่ญวนกบฏ ขณะที่ญวนใต้มัวแต่ปราบกบฏอยู่นั้น ทัพตังเกี๋ยของพวกตริญก็ถือโอกาสยกเข้ามายึดเมืองเว้ พวกกบฏยึดเมืองไซ่ง่อนได้ พวกสกุลเหงียนพยายามต่อสู้กับพวกกบฏจนเสียชีวิตไปหลายคน องเชียงชุน น้องชายคนหนึ่งของอุปราชเมืองเว้หนีมาอาศัยพระยาราชาเศรษฐี ที่เมืองบันทายมาศ ต่อมาพวกกบฏยกกองทัพมาตีเมืองบันทายมาศแตก พระยาราชาเศรษฐีกับองเชียงชุนจึงพาครอบครัวลงเรือ หนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ณ กรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระ

กรุณาให้รับไว้แล้วพระราชทานบ้านเรือนให้ แต่ “ ฝ่ายองเชียงชุนซึ่งเข้ามาอยู่ ณ กรุงธนบุรีนั้น มิได้มีจิตสวามิภักดิ์ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดชุบเลี้ยง คิดการจะหนีกลับไปเมืองญวน ครั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงทราบ จึงให้จับตัวองเชียงชุนกับทั้งบุตรภรรยาสมัครพรรคพวกกว่า 50 คน ประหารชีวิตเสียทั้งสิ้นด้วยกัน ” (พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา พิมพ์ พ.ศ. 2505 : 411)

เชื้อสายของสกุลเหงียนอีกผู้หนึ่งที่จะมีความสำคัญต่อเมืองญวนต่อมาคือ องเชียงสือ ซึ่งเป็นหลานอาขององเชียงชุน (พงศาวดารญวนเรียกองเชียงสือว่า เหงียนอาน -Nguyen-Anh ) ซึ่งเวลานั้นมีอายุเพียง 15 ปี หนีพวกกบฏไปยังเกาะ ปูโล ปันยัง ( Pulo Panjang ) ด้วยความช่วยเหลือของบาทหลวงคาธอลิคชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งชื่อ ปิญโญ เดอ เบแอน ( Pigneau de Behaine ) ผู้ได้รับตำแหน่งสังฆราชแห่งอาดรัง ( Bishop of Adran ) องเชียงสือสามารถรวบรวมสมัครพรรคพวกสู้รบกับพวกกบฏ จนตีเมืองไซ่ง่อนคืนจากไตเซินได้ บรรดาขุนนางในเมืองไซ่ง่อนจึงยกองเชียงสือเป็นเจ้าเมืองไซ่ง่อน (เรียกว่า พระเจ้าเวียดนามยาลอง) ระหว่างนั้นได้ส่งทูตมาเจริญทางพระราชไมตรีกับพระราชอาณาจักรไทยอีกครั้งหนึ่ง

ระยะนั้นเกิดการจลาจลขึ้นในเมืองเขมร ผู้ครองเมืองจัมปาศักดิ์ ฟ้าทะละหะ (มู) เป็นกบฏต่อพระรามราชา (นักองค์โนนหรือนนท์) กษัตริย์เขมรผู้ที่ไทยได้แต่งตั้งให้ครองอยู่ แล้วฟ้าทะละหะ (มู) ได้หันไปขอความช่วยเหลือจากญวน เจ้านายเขมรระหว่างนั้นยังเหลืออยู่แต่นักองค์เองโอรสของสมเด็จพระนารายณ์ราชา (นักองค์ตน) ซึ่งยังทรงพระเยาว์อยู่ (ขณะนั้นพระชนม์ 4 พรรษา) ครองเมืองเขมรโดยมีฟ้าทะละหะ (มู) เป็นผู้สำเร็จราชการ และพยายามตีตนออกหากจากไทย ดังนั้น ในพ.ศ. 2323 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงส่งกองทัพไปเขมร มีสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพใหญ่ และให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ไปในกองทัพด้วย มีรับสั่งว่าถ้าปราบปรามเมืองเขมรเรียบร้อยแล้ว ให้อภิเษกเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ครองกรุงกัมพูชา ต่อไป

พระราชวังเก่าของจักรพรรดิเวียดนาม ที่เมืองเว้ (ภาพจากวารสารศิลปวัฒนธรรม)

หมายเหตุ : ความในพระราชพงศาวดารตรงนี้มีความสันนิษฐาน ของท่านผู้ศึกษาโบราณคดี ว่า ที่พระเจ้ากรุงธนบุรีให้พาเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ ไปอภิเษกเป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชานั้น มูลเหตุอาจจะเป็นด้วยทรงพระราชดำริ ถึงการสืบสันตติวงศ์ในกรุงธนบุรี ด้วยลูกเธอที่สำคัญในเวลานั้น มี 2 พระองค์ คือเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์นี้พระองค์หนึ่ง เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ ซึ่งเรียกกันว่าเจ้าฟ้าเหม็น (ที่เป็นกรมขุนกษัตรานุชิตเมื่อในรัชกาลที่ 1 ) พระองค์หนึ่ง เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ถึงยังทรงพระเยาว์อยู่ในเวลานั้นก็จริง แต่เป็นพระนัดดาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระเจ้ากรุงธนบุรีปลงพระทัยจะให้เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์เป็นผู้รับรัชทายาท จึงตั้งเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ให้ไปครองกรุงกัมพูชา เพื่อจะมิให้เกิดแก่งแย่งในการสืบสันตติวงศ์ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ทรงเห็นว่าความวินิจฉัยข้อนี้ชอบกลอยู่จึงได้จดลงไว้ ” (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ , พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2, 2459 : 75-76 )

เจ้า ฟ้าทะละหะมู จึงอพยพครอบครัวลงไปอยู่เมืองพนมเปญ แล้วไปอ่อนน้อมขอกองทัพญวนที่เมืองไซ่ง่อนมาช่วย เจ้าญวนก็ให้กองทัพขึ้นไปตั้งที่พนมเปญ เจ้าพระยาสุรสีห์ยกกองทัพติดตามเจ้าฟ้าทะละหะมูลงไป ทราบว่ามีกองทัพญวนมาตั้งอยู่ที่เมืองพนมเปญ ก็ให้รีบบอกมายังสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ แล้วตั้งค่ายคอยฟังคำสั่งแม่ทัพใหญ่อยู่ ยังหาได้รบกับญวนไม่ (เสทื้อน ศุภโสภณ , 2513 : 161-163 ) แต่การยกกองทัพไปเมืองเขมรครั้งนั้นยังไม่สำเร็จความประสงค์ เกิดการจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรีเสียก่อน สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจึงต้องยกทัพกลับ

ขณะนั้นพอดีที่ไซ่ง่อน พวกกบฏยกกลับมาตีเมืองจากองเชียงสือได้อีกครั้งหนึ่ง องเชียงสือเกณฑ์กองทัพเขมรไปช่วยรบ ฟ้าทะละหะ(มู) จัดกองทัพไปช่วย แต่สู้พวกกบฏไม่ได้ องเชียงสือจึงต้องหนีไปอยู่ตามป่าและเกาะแถบเมืองเขมร จนในที่สุดต้องเข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารที่กรุงเทพฯ ในปลายพ.ศ. 2325 พวกไตเซินครั้นได้ญวนภาคใต้แล้ว ก็บุกขึ้นไปทางเหนือต่อไปจนได้ครอบครองญวนหมดทั้งประเทศเมื่อ พ.ศ. 2328 กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์เว้ (หรือเล้) หนีไปอยู่เมืองจีนและสิ้นพระชนม์ที่นั่น การที่อาณาจักรญวนเกิดจลาจลและผู้ครอบครองเมืองก็พากันแตกฉานซ่านเซ็นนี้ เปิดโอกาสให้ไทยเข้าไปจัดการเรื่องเมืองเขมรได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องเป็นกังวลว่าญวนจะเข้ามาแทรกแซง จะเห็นได้จากการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯได้โปรดให้นำนักองค์เองเข้ามาชุบเลี้ยงไว้ในกรุงเทพฯ แล้วทรงตั้งเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ออกไปครองเมืองเขมร (มรว.แสงโสม เกษมศรี และวิมล พงศ์พิพัฒน์ , 2523 : 83-84)

10.3.3 สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงฟื้นฟูอำนาจของไทยในเขมร

เขมรเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีปัญหาเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองภายในไม่มั่นคง อันมีสาเหตุเนื่องมาจากความขัดแย้งภายในกลุ่มผู้ปกครองอยู่เสมอ และทุกครั้งที่เกิดความขัดแย้ง เขมรจะขอความสนับสนุนจากไทยและญวน เมื่อใดที่ไทยมีอำนาจมั่นคง เขมรก็จะยอมเป็นรัฐบรรณาการ (ประเทศราช) ของไทย ในตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาเขมรยังเป็นรัฐบรรณาการของไทยอยู่ แต่เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่ 2 แล้ว เขมรก็เป็นอิสระ ในปีพ.ศ. 2312 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงมีพระราชสาส์นไปถึงสมเด็จพระนารายณ์ราชาธิบดี กษัตริย์เขมร เตือนให้ส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองเหมือนเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แต่กษัตริย์เขมรไม่ทรงยอมรับอำนาจของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ดังปรากฏพระราชดำริของพระองค์ในราชพงศาวดารกัมพูชาว่า

แผนที่แสดงประเทศกัมพูชา ( ภาพจากหนังสือประวัติศาสตร์กัมพูชา)

“ พระเจ้าตากนี้เป็นเสมอเพียงแต่บุตรจีนไหหง ตระกูลราษฎรสามัญ แลมาตั้งตัวเองขึ้นเป็นกษัตริย์ จะให้เรานำเครื่องราชบรรณาการดอกไม้ทองเงินไปถวายยอมเป็นเมืองขึ้นเช่นนี้ดูกระไรอยู่” เมื่อเป็นเช่นนี้ ในปี พ.ศ. 2312 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีพระราชดำรัสสั่งให้จัดกองทัพยกไปตีเมืองเขมรเป็น 2 ทัพ ให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ (ทองด้วง) กับพระยาอนุชิตราชา (บุญมา) คุมพล 2,000 ยกไปทางเมืองนครราชสีมา ลงทางช่องเสม็ดไปตีเมืองเสียมราฐทางหนึ่ง ให้พระยาโกษาธิบดีคุมพล 2,000 ยกไปทางเมืองปราจีนบุรี ไปตีเมืองพระตะบองทางหนึ่ง กองทัพไทยตีได้เมืองพระตะบอง เสียมราฐ และโพธิสัตว์ แต่ยังไม่ทันตีเมืองหลวงของเขมรได้ ก็ได้ทราบข่าวลือว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จสวรรคตที่นครศรีธรรมราช กองทัพไทยจึงยกกลับ

กองทัพเขมรและสยาม
(ภาพจาก ประวัติศาสตร์สังคม และวัฒนธรรมสยามประเทศไทย)
(ภาพจากหนังสือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช)

ฝ่ายกรุงกัมพูชา ตั้งแต่กองทัพไทยถอยออกจากเมืองพระตะบอง และเมืองเสียมราฐ เมื่อต้นปีขาล พ.ศ.2313 สมเด็จพระนารายณ์ราชาเข้าพระทัยว่าคงมีเหตุการณ์อย่างไร เกิดขึ้นในไทยก็คอยสดับตรับฟังอยู่ ครั้นต่อมาได้ข่าวว่าพม่ายกทัพลงมาทางเหนือ ก็คาดว่าไทยจะแพ้พม่าอีก เห็นเป็นท่วงที จึงให้พระโสตทัต เจ้าเมืองเปียม เชื้อพระวงศ์เขมรให้เกณฑ์คนแขวงเมืองพุทไธมาศ ยกมาโจมตีเมืองจันทบุรี และตราดของไทยในตอนปลายปีขาล (พ.ศ.2313) ขณะนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ และทัพเมืองจันทบุรีสามารถตีทัพเขมรแตกกลับไป

ครั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จกลับลงมาจากเชียงใหม่ ทรงขัดเคืองเขมร จึงโปรดฯ ให้จัดทัพทั้งทัพบกและทัพเรือ (พ.ศ.2314) ให้เจ้าพระยาจักรี เป็นแม่ทัพยกกำลัง 10,000 ไปทางปราจีนบุรีพร้อมนำนักองค์โนน (หรือนนท์) พระอนุชาของกษัตริย์เขมรที่หนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร อยู่ที่กรุงธนบุรี ไปในกองทัพสำหรับจะได้เกลี้ยกล่อมพวกเขมรด้วย ให้กองกองทัพบกโจมตีหัวเมืองรายทางเรื่อยไป ฝ่ายเจ้าพระยาจักรียกกองทัพบกลงไปตีได้เมืองพระตะบอง เมืองโพธิสัตว์ และเมืองบริบูรณ์ตามลำดับ ยังแต่จะถึงเมืองบันทายเพชร สมเด็จพระนารายณ์ราชาเห็นว่าจะสู้รบไม่ไหวก็ทิ้งเมืองบันทายเพชรหนีไปญวน

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้เสด็จยกทัพเรือไปด้วยพระองค์เอง (เป็นทัพหลวง) มีเรือรบ 200 ลำ เรือทะเล 100 ลำ ไพร่พล 15,000 คนเศษ ให้พระยาโกษาธิบดีเป็นกองหน้า เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพหลวงเสด็จถึงเมืองบันทายมาศ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 12 ขึ้น 8 ค่ำ ทรงให้เกลี้ยกล่อมพระยาราชาเศรษฐี เจ้าเมืองบันทายมาศให้มาอ่อนน้อม แต่ไม่ได้ผล จึงมีรับสั่งให้ตีเมืองบันทายมาศ ได้เมืองเมื่อวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 12 พระยาราชาเศรษฐีหนีออกไปได้ ครั้งได้เมืองบันทายมาศแล้วจึงเสด็จยกกระบวนทัพเรือเข้าคลองขุดไปยังเมืองพนมเปญ

สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขมร
(ภาพจาก สยามไซเบอร์เอ็ด : ห้องสมุดภาพ : ประเทศกัมพูชา http://www.cybered.co.th/library/combodia/level3.htm)

หมายเหตุ ตอนหนึ่งของประวัติศาสตร์ช่วงนี้เองสันนิษฐานว่า กองทัพของพระเจ้ากรุงธนบุรีพักไพร่พลอยู่ที่วัดโยธานิมิตร (วัดโบสถ์) เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติแก่อดีตพระมหากษัตราธิราช ทางราชการได้ยกฐานะของวัดโยธานิมิตเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญตั้งแต่ พ.ศ. 2523 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นพระอารามหลวงวัดเดียวในจังหวัดตราด นัยว่าเมืองตราดใช้อุโบสถหลังเก่าของวัดนี้เป็นที่ถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของบรรดาข้าราชการในอดีต และมีการขึ้นบัญชีพระอุโบสถเก่าเป็นโบราณสถานด้วย (จากหนังสือจังหวัดตราด : 2192-2193)

กองทัพไทยสามารถยึดเมืองบันทายเพชรได้ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดเกล้าฯ ให้นักองค์โนนเป็นกษัตริย์ครองเขมร ทรงพระนามว่า พระรามราชาธิราช หรือ พระรามาธิบดี ส่วนพระนารายณ์ราชาธิบดีเสด็จหนีไปพึ่งญวน แต่ขณะนั้นการเมืองภายในประเทศญวนไม่มั่นคงพอที่จะช่วยพระองค์ได้ ประกอบกับมีพระประสงค์จะให้บ้านเมืองสงบสุข พระนารายณ์ราชาธิบดีจึงยอมลดพระองค์เป็นมหาอุปโยราช ให้พระอนุชาเป็นกษัตริย์ (พ.ศ. 2318) ตามความประสงค์ของไทย ไทยจึงได้เข้าไปมีอำนาจในเขมรเหมือนเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา

ในปี พ.ศ. 2323 กรุงกัมพูชาเกิดจราจลด้วยสมเด็จพระรามราชา (นักองค์โนน หรือนนท์) กับสมเด็จพระนารายณ์ราชา (นักองค์ตน) แย่งชิงราชสมบัติกัน แต่ต่อมาปรองดองกันได้ สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ จึงทรงแต่งตั้งให้ นักองค์นนท์ (สมเด็จพระรามราชา) เป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชาต่อไป โปรดให้ นักองค์ตน (สมเด็จพระนารายณ์ราชา) เป็นพระมหาอุปโยราช และ นักองค์ธรรม เป็นมหาอุปราช ต่อมาพระมหาอุปราชถูกลอบปลงพระชนม์ และต่อมาไม่ช้าพระมหาอุปโยราชก็สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคปัจจุบัน บรรดาขุนนางคิดว่าเป็นแผนของสมเด็จพระรามราชา จึงจับสมเด็จ

พระรามราชาถ่วงน้ำเสีย กรุงกัมพูชาจึงเหลือเพียง นักองค์เอง พระโอรสของนักองค์ตน ซึ่งมีพระชนม์เพียง 4 ชันษา ปกครองโดยมีฟ้าทะละหะ (มู) ว่าราชการแทน ต่อมาฟ้าทะละหะมู หันไปเอาใจ ฝักใฝ่ญวน ไม่ยอมอ่อนน้อมต่อไทย

สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพไปปราบปราม และมีพระบรมราชโองการให้อภิเษกสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุน อินทรพิทักษ์ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ขึ้นครองกรุงกัมพูชา ฝ่ายฟ้าทะละหะมู ก็ขอกำลังญวนมาช่วย ทัพไทยตีเมืองรายทางได้ จนถึงเมืองบันทายเพชรซึ่งเป็นเมืองหลวง ส่วนทัพญวนตั้งคุมเชิงอยู่ที่เมืองพนมเปญ พอดีกรุงธนบุรีเกิดจลาจล สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ จึงเลิกทัพกลับ (สนั่น ศิลากรณ์, 2531 : 17-18)

10.3.4  การขยายอำนาจไปยังราชอาณาจักรลาว

ในสมัยกรุงธนบุรี ราชอาณาจักรลาว แบ่งแยกเป็นนครรัฐใหญ่ ๆ 3 นครรัฐคือ

ทางเหนือ ได้แก่ หลวงพระบาง (อาณาจักรล้านช้าง ) มี เจ้าสุริยวงศา ปกครอง

ถัดลงมา ได้แก่เวียงจันทน์ (ศรีสัตนาคนหุต) เจ้าสิริบุญสาร เป็นกษัตริย์ปกครอง

ทางใต้ ได้แก่ นครจำปาศักดิ์ มี เจ้าโอหรือโอ้ ปกครอง

สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ได้ขยายอำนาจไปยังราชอาณาจักรลาว 2 ครั้ง คือ

1. ในปี พ.ศ. 2318 เจ้าเมืองนางรอง ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของนครราชสีมา เกิดขัดใจกับเจ้าเมืองนครราชสีมา จึงไปขอขึ้นกับนครจำปาศักดิ์ เจ้าโอก็ทรงรับไว้ ทางฝ่ายไทยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้โปรดฯ ให้เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพไปตีเมืองนางรอง และจำปาศักดิ์ ทัพไทยตีได้จำปาศักดิ์ เมืองโขง และอัตปือในปี พ.ศ. 2319 สงครามคราวนี้เมืองเขมรป่าดง คือเมืองตะลุง สุรินทร์ สังขะและขุขันธ์ ได้เข้ามาขอสวามิภักดิ์ต่อไทยด้วย ไทยจึงได้ ดินแดนลาวทางใต้ มาอยู่ภายใต้อิทธิพลของไทยทั้งหมด

แผนที่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
( ภาพจากหนังสือ Laos)

2. การขยายอำนาจเข้าไปในราชอาณาจักรลาว ในส่วนที่เกี่ยวกับศรีสัตนาคนหุต ในสมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ ดินแดนอันเป็นที่ตั้งของเมืองหรือจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดใกล้เคียงในปัจจุบันได้มีกลุ่มชนตั้งหลักแหล่งทำมาหากินอยู่ประปรายบ้างแล้ว ส่วนใหญ่เป็นพวกที่สืบเชื้อสายมาจากขอมหรือที่เรียกกันในสมัยต่อมาว่าพวกข่า ส่วย กวย ฯลฯ ในราวพุทธศตวรรษที่ 20 ได้เกิดการแย่งชิงราชสมบัติขึ้นในกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) ไพร่บ้านพลเมืองต่างอพยพหลบภัยสงครามข้ามลำน้ำโขงมาทางฝั่งตะวันตก และได้ตั้งหลักแหล่งทำมาหากินอยู่ตามบริเวณพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดและบริเวณใกล้เคียง (ในปัจจุบัน) เรื่อยลงไปโดยตลอดจนถึงเมืองนครจำปาศักดิ์ โดยแยกย้ายกันตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นกลุ่มๆ ในท้องที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ บุคคลผู้เป็นที่เคารพนับถือของแต่ละกลุ่มชน ก็จะได้รับการยกย่องนับถือและยอมรับให้เป็นหัวหน้าปกครองดูแลพลเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุข และพ้นจากการรุกรานของกรุงศรีสัตนาคนหุต

ต่อมาเมื่อปีพ.ศ. 2310 ขณะที่กรุงศรีอยุธยากำลังจะเสียแก่พม่านั้น ได้เกิดสงครามกลางเมืองเพื่อแย่งชิงราชสมบัติในกรุงศรีสัตนาคนหุตอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพราะพระเจ้าองค์หล่อผู้ครองกรุงศรีสัตนาคนหุตถึงแก่พิราลัย โดยไม่มีโอรสสืบราชสมบัติเลย แสนท้าวพระยา นายวอ และนายตา จึงพร้อมใจกันอัญเชิญกุมารองค์หนึ่ง (ในจำนวน 2 องค์ ที่สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคน- หุตองค์ก่อนและได้หลบหนีภัยการเมืองมาอยู่กับนายวอ นายตา เมื่อคราวพระเจ้าองค์หล่อยกกำลังกองทัพมาจับพระยาแสนเมืองฆ่าเสีย เมื่อ พ.ศ. 2275) ขึ้นครองกรุงศรีสัตนาคนหุตทรงพระนามว่า “ พระเจ้าสิริบุญสาร 

เมื่อพระเจ้าสิริบุญสาร ครองกรุงศรีสัตนาคนหุต พระองค์ทรงแต่งตั้งราชกุมารผู้อนุชาเป็นพระมหาอุปราช พร้อมทั้งทรงแต่งตั้งนายวอ นายตา เป็นเสนาบดี ให้มีบรรดาศักดิ์เป็นพระ เป็นผลให้ พระวอ พระตา เกิดความโทมนัสเป็นอย่างยิ่ง ด้วยมิได้เป็นพระมหาอุปราชดังประสงค์ ดังนั้น พระวอพระตาจึงอพยพครอบครัวไพร่พลจากกรุงศรีสัตนาคนหุตข้ามลำน้ำโขงมาทางฟากตะวันตก

ตั้งหลักแหล่งอยู่เมืองหนองบัวลำภู ดำเนินการปรับปรุงสภาพเมืองใหม่ สร้างค่ายประตูหอรบให้แข็งแรง เปลี่ยนนามเมืองใหม่ว่า “ เมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน ” หรือที่ปรากฏในเอกสารบางแห่งว่า “ เมืองจำปานครขวางกาบแก้วบัวบาน ”

พระเจ้าสิริบุญสารทรงทราบข่าวสารการสร้างเมืองใหม่ของพระวอ พระตา พระองค์เข้าพระทัยว่าการที่พระวอ พระตาปรับปรุงสร้างบ้านเมืองก็เพราะคิดการศึกต่อพระองค์ จึงทรงให้แสน

ท้าวพระยาไปห้ามปรามพระวอ พระตาไว้ แต่ทั้งสองกลับไม่ยอมรับฟัง พระเจ้าสิริบุญสารทรงมีรับสั่งให้ยกกองทัพไปปราบปราม ทั้งสองฝ่ายสู้รบกันอยู่เป็นเวลานานถึงสามปีก็ไม่สามารถจะเอาชนะกันได้ พระวอ พระตา เห็นว่ากำลังของฝ่ายตนมีน้อยกว่าคงจะต้านทานไว้ไม่ได้ ในที่สุดจึงได้แต่งเครื่องราชบรรณาการไปอ่อนน้อมต่อพม่า พร้อมทั้งขอกำลังกองทัพมาช่วยการศึกที่เกิดขึ้น แต่เมื่อทัพพม่ายกมาถึง มองละแงะ แม่ทัพพม่ากลับนำทัพเข้ามาช่วยพระเจ้าสิริบุญสารทำสงครามกับพระวอ พระตา แม้ว่าพระวอ พระตา และไพร่พลจะพยายามต้านทานกองทัพฝ่ายพระเจ้าสิริบุญสารและทัพมองละแงะอย่างสุดความสามารถก็ตาม แต่ด้วยจำนวนไพร่พลน้อยกว่าจึงพ่ายแพ้ไปในที่สุด พระตาเสียชีวิตในสงคราม ดังนั้น พระวอ ท้าวคำผง ท้าวฝ่ายหน้า ท้าวทิดพรหม บุตรพระตา และท้าวก่ำบุตรพระวอ จึงพากันอพยพครอบครัวไพร่พลหนีภัยลงมาทางใต้ จนถึงเมืองนครจำปาศักดิ์ ได้รับความอนุเคราะห์จากพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร เจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ ให้ตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ในบริเวณตำบลเวียงดอนกอง หรือที่เรียกว่าบ้านดู่ บ้านแก แขวงเมืองนครจำปาศักดิ์

ต่อมาในปี พ.ศ. 2314 ( จ.ศ. 1133 ปีเถาะ ตรีศก) พระเจ้าสิริบุญสารทราบว่า พระวออพยพครอบครัวไพร่พลมาตั้งอยู่ที่เวียงดอนกอง แขวงเมืองนครจำปาศักดิ์ จึงให้อัครฮาดคุมกำลังกองทัพลงมาปราบปรามพระวออีก เมื่อพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร ทราบเหตุ จึงให้พระยาพลเชียงสายกกองทัพจากเมืองนครจำปาศักดิ์ มาช่วยพระวอต้านทานทัพของพระเจ้าสิริบุญสาร พร้อมทั้งทรงมีศุภอักษรไปถึงพระเจ้าสิริบุญสาร เพื่อขอยกโทษให้พระวอ พระเจ้าสิริบุญสารมีพระราชสาส์นตอบมาว่า “ พระวอเป็นคนอกตัญญู จะเลี้ยงไว้ก็คงไม่มีความเจริญ แต่เมื่อเจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ให้มาขอโทษไว้ดังนี้แล้ว ก็จะยกให้ มิให้เสียไมตรี ” จากนั้นพระองค์จึงโปรดให้อัครฮาดยกกำลังกองทัพกลับกรุงศรีสัตนาคนหุต

ในปลายปี พ.ศ. 2314 พระวอเกิดขัดใจกับพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร เกี่ยวกับกรณีการสร้างเมืองใหม่ที่ตำบลศรีสุมังของพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร จึงอพยพครอบครัวไพร่พลมาอยู่ที่บริเวณดอนมดแดง (ริมฝั่งซ้ายแม่น้ำมูล ห่างจากที่ตั้งศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ไปทางทิศตะวันออกระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร) และได้แต่งตั้งให้ท้าวเพี้ยคุมเครื่องราชบรรณาการไปถึงเจ้าเมืองนครราชสีมา ขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมาของราชอาณาจักรสยามเพื่อหามิตรประเทศเพราะมีศัตรูอยู่รอบด้าน

ทางเหนือก็พระเจ้าสิริบุญสารแห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต ทางใต้ก็พระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารแห่งเมืองนครจำปาศักดิ์ ประกอบกับยังไม่มีกองกำลังที่เข้มแข็งพอที่จะต่อสู้กับข้าศึกศัตรูได้ในยามที่ถูกศัตรูรุกราน แต่สมเด็จพระเจ้าตากสิน ก็มิได้ทรงดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่ประการใด คงเนื่องด้วยเพราะกำลังติดพันกับศึกพม่า และอีกประการหนึ่งในช่วงระยะเวลานั้น ดินแดนที่ราบสูงเลยเมืองนครราชสีมาขึ้นไปนั้น เป็นอาณาเขตของกรุงศรีสัตนาคนหุต ซึ่งพระเจ้าสิริบุญสาร และสมเด็จพระเจ้าตากสินได้เคยทำสัญญาทางพระราชไมตรีกันไว้ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2319 (จ.ศ. 1138 ปีวอก อัฐศก) พระเจ้าสิริบุญสารทราบข่าวการทะเลาะวิวาทระหว่างพระวอกับพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร พระวอพาครอบครัวไพร่พล มาอยู่ที่ดอนมดแดง พระองค์จึงแต่งตั้งให้พระยาสุโพคุมกำลังกองทัพไปรุกรานพระวออีกครั้งหนึ่ง พระวอเห็นว่ากำลังของตนมีน้อยคงไม่สามารถจะต้านทานไว้ได้ จึงอพยพครอบครัวไพร่พลกลับไปอยู่ที่เวียงดอนกองตามเดิม พร้อมกับขอกำลังกองทัพจากพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร เมืองจำปาศักดิ์มาช่วยเหลือ แต่เจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ไม่ยอมให้เพราะความบาดหมางใจกันเมื่อหลายปีก่อน

ผลที่สุดกองกำลังของพระวอจึงพ่ายแพ้ พระวอถูกจับได้และถูกประหารชีวิตที่เวียงดอนกองนั้นเอง ส่วนท้าวคำผง ท้าวฝ่ายหน้า ท้าวทิดพรหม บุตรพระตา และท้าวก่ำบุตรพระวอจึงได้พาครอบครัวไพร่พลหนีออกจากวงล้อมของกองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุต และได้นำใบบอกแจ้งความไปยังเมืองนครราชสีมา เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าตากสินขอกำลังกองทัพมาช่วย แต่ทางกรุงธนบุรีก็มิได้ดำเนินการเป็นประการใด ต่อมา พ.ศ. 2321 ( จ.ศ. 1140 สัมฤทธิศก) สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก) และสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (เมื่อครั้งดำรงยศเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์) นำทัพขึ้นไปปราบ พระยาสุโพ ที่เวียงดอนกอง แขวงเมืองนครจำปาศักดิ์ เมื่อพระยาสุโพทราบข่าวจึงรีบยกทัพกลับกรุงศรีสัตนาคนหุต ขณะเดียวกัน พระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร เกรงว่าจะไม่สามารถที่จะต้านทานกองทัพไทยไว้ได้ จึงอพยพครอบครัวไพร่พลหนีไปอยู่ที่เกาะไชย ในที่สุดกองทัพไทยตีได้นครจำปาศักดิ์ และตามจับพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารไว้ได้

หลังจากนั้นกองทัพไทยก็ตีได้เมืองนครพนม หนองคาย และเข้าล้อมเมืองเวียงจันทน์ไว้อยู่เกือบปี จึงตีได้ในปลายปี พ.ศ. 2321 สงครามครั้งนี้ เจ้าสุริยวงศา แห่งหลวงพระบางได้ยกมาช่วยตีกรุงศรีสัตนาคนหุตทางด้านเหนือด้วย พระเจ้าสิริบุญสารหนีไปอาศัยอยู่ที่เมืองคำเกิด กองทัพไทยก็ยึดเมืองเวียงจันทน์ไว้ได้และให้พระยาสุโพเป็นผู้รั้งเมือง แล้วนำตัวพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารพร้อมทั้งอัญเชิญ พระแก้วมรกต และ พระบาง ที่อยู่เมืองเวียงจันทน์มายังกรุงธนบุรี ต่อมาอีกไม่นานสมเด็จพระเจ้าตากสินจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารกลับไปครอง เมืองนครจำปาศักดิ์ตามเดิม ดังนั้นเมืองนครจำปาศักดิ์จึงกลายเป็นเมืองประเทศราชของไทยตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ท้าวคำผง บุตรพระตา ได้สมรสกับนางตุ่ย บุตรีของเจ้าอุปราชธรรมเทโว (อนุชาของพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร) พระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารกับท้าวคำผง จึงมีความเกี่ยวดองในฐานะเป็นเขย และเป็นผู้ที่มีครอบครัวไพร่พลมาก จึงให้เป็นพระประทุมสุรราชนายกองใหญ่ควบคุมครอบครัวตัวเอง ขึ้นตรงต่อเมืองนครจำปาศักดิ์ โดยให้ตั้งมั่นอยู่ที่เวียงดอนกองนั้นเอง ตั้งแต่ในราวปี พ.ศ. 2322-2323 และอยู่ที่เดิมต่อมาจนสิ้นรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน ( http://www.nso.go.th/provweb/cwdweb/ubon/ubonll.htm : 28/11/44)

ตามหลักฐานของฝ่ายลาวกล่าวว่า กรุงศรีสัตนาคนหุต และกรุงล้านช้างได้กลายเป็นเมืองขึ้นของไทย ในปีพ.ศ. 2321

จึงกล่าวได้ว่าในสมัยกรุงธนบุรีไทยสามารถขยายอำนาจเข้าไปในอาณาจักรลาวได้ทั้ง 3 อาณาจักรและลาวมีฐานะเป็นประเทศราชของไทยจนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ภารดี มหาขันธ์ , 2526 : 28)

หมายเหตุ พระแก้วมรกต สังเกตจากพุทธลักษณะน่าจะสันนิฐานได้ว่าเป็นฝีมือช่างไทยพายัพ สร้างตามแบบพระพุทธรูปลังกา สมัยเมื่อรับลัทธิลังกาวงศ์เข้ามาเป็นศาสนาประจำประเทศล้านนาแล้ว พระแก้วมรกตได้เคยตกไปอยู่ตามเมืองต่างๆ หลายเมืองได้แก่ลังกา (ศรีลังกาในปัจจุบัน)

เชียงราย เชียงใหม่ หลวงพระบาง และเวียงจันทน์ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ได้ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตจากเมืองเวียงจันทน์มากรุงธนบุรี และเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้วได้ทรงสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้น และอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2377 และได้ทรงสร้างเครื่องทรงองค์พระแก้วมรกตฤดูร้อน

และฤดูฝนเป็นพุทธบูชา ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างเครื่องทรงฤดูหนาวถวายเพื่อให้ครบ 3 ฤดู (ธนากิต, 2543 : 201-202)

พระบาง เป็นพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่ง ซึ่งเคยประดิษฐานคู่กับพระแก้วมรกต เป็นที่รู้จักกันมาในประวัติศาสตร์ เป็นที่เคารพสักการะบูชาของพระพุทธศาสนิกชนทั่วไป

ประวัติความเป็นมา ในหนังสือตำนานพระพุทธรูปสำคัญ และหนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ 5 ได้กล่าวไว้ว่า เมื่อศักราช 418 (พ.ศ.1599) พระยาศรีจุลราชเจ้าเมืองอินทปัตตนคร (เขมร) ได้จัดให้ราชทูตไปขอพระบางจากพระเจ้าสุบินราชเจ้าเมืองลังกา และพระเจ้าสุบินราชก็ยินดีถวายพระบาง ให้แก่เจ้าเมืองอินทปัตตนครตามพระราชประสงค์ จึงโปรดฯ ให้อาราธนาอัญเชิญพระบางไปประดิษฐานในวิหารกลางเมือง

วัดหอพระแก้ว (ภาพจากหนังสือ Laos)

ครั้นต่อมา พระยาฟ้างุ้ม ซึ่งเป็นบุตรเขยของพระยาศรีจุราช จึงได้อาราธนาพระบางไปประดิษฐานไว้ ณ เมืองศรีสัตนาคนหุต ล้านช้างร่มขาว (เมืองหลวงพระบาง) ครั้นขึ้นไปถึงเมือง เวียงคำ พระยาเวียงคำขออาราธนาอัญเชิญพระบาง ไปประดิษฐานเพื่อกระทำสักการะบูชาพระบางจึงได้ตกไปอยู่เมืองเวียงคำ ครั้นต่อมาถึง ศักราช 789 (พ.ศ.1970) เจ้าเมืองศรีสัตนาคนหุต ล้านช้างร่มขาว พระชัยจักรพรรดิผ่านแผ้ว โปรดฯ ให้อัญเชิญพระบางจากเวียงจันทน์บรรทุกเรือมา เรือได้ล่มที่แก่งจันทน์ ใต้เมืองเชียงคาน พระบางจึงได้จมน้ำหายไป อยู่มาไม่นานก็ได้เสด็จไปประดิษฐานอยู่ในวิหารเมืองเวียงจันทน์ตามเดิม ต่อมาเมื่อศักราช 838 (พ.ศ.2019) รัชกาลของพระยาล่าน้ำแสนไทยภูวนาถ ได้โปรดให้อัญเชิญพระบางจากเวียงคำ นำมาประดิษฐาน ณ วัดเชียงกลางเมืองศรีสัตนาคนหุต ล้านช้างร่มขาว (หลวงพระบาง) แล้วพระองค์ทรงโปรดให้สร้างพระวิหารวัดมโนรมย์ แล้วอาราธนาอัญเชิญพระบางไปประดิษฐานไว้ในพระวิหารแห่งวัดนั้น

ครั้นลุถึงรัชสมัยของพระยาวิชุลราชธิบดี ราวศักราช 921 (พ.ศ.2112) พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช เสด็จมาตั้งเมืองหลวงใหม่ที่เมืองเวียงจันทน์ทรงขนานพระนามเมืองว่า จันทบุรีศรีสัตนาคนหุต ล้านช้างร่มขาว สำหรับพระบาง พระแก้วมรกต พระแซกคำ ยังประดิษฐานอยู่ในวัดวิชุลราชศรัทธาราม เมืองเดิม ฉะนั้น จึงได้เปลี่ยนนามเป็น “ เมืองพระบางราชธานีศรีสัตนาคณหุตล้านช้างร่มขาว ”

ต่อมา เมื่อศักราช 1057 (พ.ศ.2238) ท้าวนอง ซึ่งเป็นผู้รักษาเมืองหลวงพระบาง จึงได้อาราธนาอัญเชิญพระบาง พระแก้วมรกตและพระแซกคำ หนีข้าศึกนำมาประดิษฐาน ณ นครหลวงเวียงจันทน์ ครั้นถึงรัชสมัยรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรีได้โปรดให้ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นจอมทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ พระองค์โปรดให้อาราธนาอัญเชิญพระแก้วมรกตกับพระบางมายังกรุงธนบุรีด้วย

ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อได้ทรงสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว ได้โปรดอาราธนาพระแก้วมรกตกับพระบางมาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถนี้ด้วย ครั้นต่อมา เจ้านันทเสน บุตรพระเจ้าล้านช้างได้กราบบังคมทูลขออย่าให้ประดิษฐานพระแก้วมรกตกับพระบางร่วมกัน โดยอ้างว่ามีผีรักษา พระพุทธรูปทั้งสองพระองค์นี้ไม่ถูกกัน ถ้าอยู่ร่วมกันมักจะเกิดเหตุร้ายภยันตราย เกิดจลาจลต่างๆ เช่นเดียวกับเมืองหลวงพระบางและเมืองเวียงจันทน์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงดำริเห็นว่า พระบางไม่ใช่เป็นพระพุทธรูปที่สวยงาม แต่ชาวเมืองศรีสัตนาคนหุตนับถือกัน จึงได้โปรดให้อัญเชิญพระบางกลับคืนไปยังเมืองเวียงจันทน์

ครั้นต่อมาถึงรัชสมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระเจ้านครเวียงจันทน์ (เจ้าอนุวงศ์) แข็งเมืองตั้งตนเป็นเอกราช สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ จึงเสด็จเป็นจอมทัพ ยกพลเข้าไปตีเมืองเวียงจันทน์ ชาวเวียงจันทน์พ่ายหนีภัยข้าศึก และได้นำเอาพระบางหนีไปด้วย ต่อมาภายหลังเจ้าพระยาบดินเดชาขึ้นไปติดตามเจ้าอนุวงศ์และนำเอาพระบาง พระแซกคำ พระฉันสมอลงมากรุงเทพมหานครด้วย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้อาราธนาพระพุทธรูปเหล่านั้น นำไปประดิษฐานไว้ตามวัดนอกพระนคร คือ

พระแซกคำ นำไปประดิษฐานไว้ ณ พระอุโบสถวัดคฤหบดี นครหลวงกรุงเทพธนบุรี
พระฉันสมอ นำไปประดิษฐานไว้ ณ วัดอัปสรสวรรค์ นครหลวงกรุงเทพธนบุรี
พระบาง นำไปประดิษฐานไว้ ณ วัดจักรวรรดิราชาวาส กรุงเทพมหานคร

ครั้นต่อมาถึงรัชกาลพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปีมะเมีย พ.ศ.2401 ได้เกิดมีดาวหางขึ้น ฝนก็แล้งและเกิดโรคระบาด มีไข้ติดต่อกันถึงสามปี คนทั้งหลายพากันโจษขานต่างๆ นานาว่า เมื่อเกิดเหตุขึ้นเช่นนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงวิตก และได้โปรดให้อัญเชิญพระบางจากวัดจักรวรรดิราชาวาส กลับคืนไปยังเมืองหลวงพระบางแล้วพระราชทานพระนาคไว้แทน

แผนที่แสดงดินแดนมาลายู
(ภาพจากหนังสือ แผนที่ภูมิศาสตร์ : ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย)

สถานที่ประดิษฐาน พระพุทธรูปองค์นี้ เคยนำมาประดิษฐานอยู่ที่พระวิหาร วัดจักรวรรดิราชาวาส ตำบลจักรวรรดิ อำเภอสัมพันธ์วงศ์ กรุงเทพมหานคร แต่ในรัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานคืนไปยังเมืองหลวงพระบาง พระพุทธรูปองค์นี้ จึงประดิษฐานอยู่ในพระวิหารในวังเจ้าเมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว ตราบเท่าทุกวันนี้

10.3.5  หัวเมืองมลายู

หัวเมืองมลายูเป็นประเทศราชของไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย มีแคว้นที่สำคัญได้แก่ ปัตตานี ไทรบุรี เประ กลันตัน และตรังกานู ต่อมาเมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก แคว้นเหล่านี้ได้ตั้งตัวเป็นอิสระ ต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงมีพระราชดำริที่จะขยายอำนาจเข้าในหัวเมืองมลายู หัวเมืองมลายูที่เคยเป็นประเทศราชของไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้แก่ ไทรบุรี ปัตตานี กลันตัน และตรังกานู หัวเมืองเหล่านี้ได้ตั้งตัวเป็นอิสระขึ้น เมื่อไทยเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่า ในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีพระองค์มิได้ทรงส่งกองทัพขึ้นไปปราบปราม เพียงแต่มีรับสั่งให้เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ลองใจสุลต่านแห่งไทรบุรีและปัตตานี โดยการติดต่อขอยืมเงินมาซื้ออาวุธเมืองละ 1,000 ชั่ง แต่สุลต่านทั้งสองเมือง ก็มิได้ให้ขอยืม ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ตอนหนึ่งว่า

“ …เมืองแขกคือเมืองไทรบุรี และเมืองปัตตานี ซึ่งเคยขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยามาแต่ก่อน ยังไม่ได้มาอ่อนน้อม ให้เจ้านครฯ คิดอ่านไปยืมเงินเมืองทั้ง 2 นี้ สำหรับที่จะซื้อศัสตราวุธเมืองละ 1,000 ชั่ง ลองใจพระยาไทร พระยาปัตตานีดูว่าจะทำประการใด ” ความข้อนี้ไม่พบจดหมายเหตุว่าเจ้านครฯ ได้ไปทำอย่างไร แต่พิเคราะห์ตามเหตุการณ์ที่มีในภายหลัง เชื่อได้ว่าพระยาไทร และพระยาปัตตานีไม่ยอมให้ยืมเงิน 1,000 ชั่ง แต่จะเป็นเพราะคำตอบที่ตอบมาไม่พูดจาท้าทายให้เกิดอริ หรือจะเป็นเพราะพระเจ้ากรุงธนบุรียังติดการศึกสงครามทางอื่นอยู่ ทั้งเมืองไทรและเมืองปัตตานีไม่ยอมขึ้นกับพระเจ้ากรุงธนบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ไม่ได้ให้กองทัพลงไปปราบปรามจนตลอดรัชกาล

หลักฐานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงมีพระราชดำริที่จะขยายอำนาจลงไปยังหัวเมืองมลายู แต่คงจะเป็นด้วยหัวเมืองทั้งสองอยู่ห่างไกลมาก ไม่คุ้มกับความยากลำบาก และความสิ้นเปลืองในการยกทัพไปปราบปราม หรือไม่พระองค์ก็ทรงมีพระราชภาระในด้านอื่นที่สำคัญกว่า ดังนั้น หัวเมืองมลายูจึงเป็นอิสระจากไทยจนกระทั่งสิ้นรัชกาล (ภารดี มหาขันธ์ , 2526 : 28-29)

สรุป พระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้บรรลุผลสำเร็จทุกประการ ภายในระยะเวลาที่ทรงดำรงสิริราชสมบัติอยู่เป็นเวลา 15 ปีเศษนั้น ตามหลักฐานราชการสงครามปรากฏในพระเกียรติยศอยู่ 16 ครั้ง แต่หากจะรวมถึงราชการสงครามตั้งแต่ยังเป็นพระยาวชิรปราการ ซึ่งลงมารักษากรุงศรีอยุธยา และตีฝ่าวงล้อมของพม่าออกไป เพื่อทรงรวบรวมไพร่พลกลับมากู้กรุงศรีอยุธยาอีก 14 ครั้ง ก็รวมเป็น 30 ครั้ง และทรงออกรบด้วยพระองค์เอง 23 ครั้ง ให้ผู้อื่นเป็นแม่ทัพไปรบ ครั้ง (ประพัฒน์ ตรีณรงค์ , สดุดีบุคคลสำคัญ เล่ม 12, สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี , 2534 : 4)

10.4 ยุทธวิธีทางทหาร (ด้านการรบ) ของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เป็นอย่างไร ?
            ยุทธวิธีของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ

ประวัติการกู้ชาติของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นเรื่องการปฏิบัติการยุทธในแบบฉบับของพระองค์เองโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นที่รับรองและยกย่องกันทั่วไป แม้ในหมู่นักการทหารว่า ทรงมียุทธวิธีอันยอดเยี่ยมนอกเหนือไปจากตำรับดั้งเดิม ประกอบทั้งมีแม่ทัพนายกองผู้แกล้วกล้าสามารถร่วมพระราชหฤทัยทำศึกกับอริราชศัตรู ด้วยเหตุนี้ หลังจากเสียกรุงได้ไม่นาน พระองค์ก็ทรงสามารถขับไล่พม่าออกจากประเทศได้อย่างเด็ดขาด แล้วสถาปนาราชธานีใหม่ขึ้นที่กรุงธนบุรี ประเทศไทยจึงกลับคืนสู่ความมีเอกราชสมบูรณ์อีกครั้ง

สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เป็นพระมหากษัตริย์นักรบที่ดีเยี่ยมที่สุดของไทยพระองค์หนึ่ง ทรงมีพระทัยเข้มแข็ง และทรงปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างแก่ทหารใต้บังคับบัญชา โดยทรงนำ ทัพออกต่อสู้กับข้าศึกด้วยพระองค์เองทุกครั้ง หรือเสด็จคุมทัพหลวงด้วยพระองค์เองเพื่อประโยชน์ในการที่จะได้ทอดพระเนตรเหตุการณ์ และสามารถตรัสสั่งการได้ทันท่วงที ตลอดจนเป็นการเสริมกำลังใจแก่ทหารในคราวที่มีเหตุการณ์คับขัน ทรงสามารถตัดสินพระทัยแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้อย่างรวดเร็ว และถูกต้อง ทรงมีความอดทนเป็นเยี่ยมทั้งพระวรกายและพระราชหฤทัย ทำให้บรรดาข้าราชบริพารและทหารทั้งปวงต่างจงรักภักดีและเคารพยำเกรงในพระองค์เป็นอย่างที่สุด

ยุทธวิธีที่พระองค์ทรงนำมาใช้และเป็นที่ยกย่องกันทั่วไป คือ

1. ทรงริเริ่มการใช้กองทัพเรือในการทำสงคราม ในสมัยก่อนไม่ค่อยมีการใช้เรือในการต่อสู้อย่างจริงจัง แต่พระองค์ได้ทรงนำกองทัพเรือรบออกใช้ในการศึกเป็นครั้งแรก เมื่อทรงยกทัพเรือจากเมืองจันทบุรีไปตีพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น เป็นผลให้ต่อมามีการใช้กองทัพเรือในการศึก พระเจ้าตากทรงทำการรบไม่น้อยกว่า 30 ครั้ง และในจำนวนการรบนี้ได้ทำการรบทางบก 19 ครั้ง ส่วนอีก 11 ครั้ง เป็นการรบทางเรือ ทั้งทางแม่น้ำและทางทะเล

ในปี พ.ศ.2314 ได้ทรงกรีฑาทัพเรือ ซึ่งมีเรือรบจำนวน 200 ลำ และเรือสำหรับเดินทะเล 100 ลำ มีกำลังพล 15,000 คน จากกรุงธนบุรีพระองค์ได้ยกทัพไปทางทะเลเพื่อตีเมืองกัมพงโสม เมืองฮาเตียน (เมืองฮาเตียน ไทยเรียกกันว่า เมืองพุทไธมาศ บันทายมาศ หรือไผทมาศบ้าง ภาษาเขมรเรียกว่า บันเตยเมี้ยด จีนเรียกว่า เหอเซียนเจิ้น เมืองนี้ตั้งอยู่ชายทะเลระหว่างเมืองประจันตคิรี หรือเกาะกงกับเมืองไซ่ง่อน, สาระน่ารู้กรุงธนบุรี, 2543 : 184) เมืองพุทไธเพชร ไปจนถึงกรุงพนมเปญ และพระองค์ได้ยาตราทัพกลับมาโดยได้รับชัยชนะอย่างเป็นทางการ (ศิริ ศิริรังษี, พลเรือโท, 2529 : 63)

2. ทรงเปลี่ยนแปลงแผนการรบ จากเดิมซึ่งใช้ตัวเมืองเป็นที่มั่นตั้งรับข้าศึกมาเป็นการส่งกำลังส่วนย่อยออกไป สกัดข้าศึกไว้แต่ระยะไกล ๆ แล้วกำลังส่วนใหญ่ตามออกไปทำลายล้าง

3. ทรงใช้ปืนใหญ่สนับสนุนการรบ เป็นเหตุให้เกิดการขุดคู สนามเพลาะ เพื่อกำบังกระสุน และใช้ปืนใหญ่ยิงต่อสู้ข้าศึกสลับกับการเข้าโจมตีด้วยอาวุธสั้น ซึ่งได้ผลดีอย่างยิ่ง

4. ทรงแก้ไขปรับปรุงการจัดกองทัพ โดยยุบทัพหลังซึ่งเคยมีในสมัยก่อนเหลือแต่เพียงทัพหน้าและทัพหลวง ซึ่งรวมส่วนสัมภาระเลี้ยงดูและหน่วยช่วยรบอื่นๆ กองทัพหลวงในสมัยของกรุงธนบุรีจึงเป็นกำลังหนุนส่วนใหญ่ และสามารถแบ่งแยกเป็นกองรบเฉพาะกิจไปปฏิบัติงานพิเศษได้ ดังการรบกับอะแซหวุ่นกี้เพื่อป้องกันเมืองพิษณุโลก เมื่อพ.ศ. 2318 ทรงจัดทัพหลวงและกองกำลังรักษาพระนคร เป็นกองรบพิเศษออกไปป้องกันพม่าตามจุดสำคัญต่างๆ เช่น ด่านแม่สอดฯลฯ นอกจากนี้ ยังทรงจัดกองปืนใหญ่หนุนทั่วไป ขึ้นเป็นกองพิเศษอีกกองหนึ่งในกองทัพหลวง เมื่อการรบด้านไหนถูกข้าศึกกวนหนักก็จะส่งไปช่วยยิงถล่มค่ายเพื่อเบิกทางให้ สิ่งที่ทรงริเริ่มอีกประการก็คือ ในการจัดขบวนรบ ทรงเริ่มการวางกำลังเป็นแนวๆ ซ้อนกันในทางลึกในการศึกป้องกันเมืองพิษณุโลก พ.ศ. 2318 เพื่อว่าแม้ข้าศึกจะตีแนวแรกๆ ได้ก็ต้องพบกับแนวต้านทานต่อๆ มา

5. ทรงให้ความสำคัญแก่การวางสายข่าว ทั้งการหาข่าวและการส่งข่าว ด้วยเหตุนี้ ทุกครั้งที่พระองค์ทรงบังคับบัญชาการรบ จะมีข่าวจากที่ใกล้และไกลหลั่งไหลเข้าสู่พระองค์อย่างไม่ขาดสาย ทำให้ทรงสามารถพิจารณาสั่งการได้ทันทีและรวดเร็ว

6. ทรงจัดหน่วยสนับสนุน (หน่วยช่วยรบ) อันได้แก่ กองเสบียง กองยานพาหนะ และอื่นๆ อย่างมีระเบียบและถูกต้องตามหลักการ โดยทรงพยายามลำเลียงสิ่งของต่างๆ ไปจากในกรุง เพราะข้าวปลาอาหารตามหัวเมืองต่างๆ ยังไม่บริบูรณ์พอแก่การเรียกเกณฑ์ นอกจากนี้ ยังทรงใช้การลำเลียงหน่วยทหารในเขตหลังที่ปลอดจากการถูกโจมตีทางเรือให้มากที่สุด เพราะสามารถลำเลียงทหารได้มากและเป็นการออมกำลังด้วย

จากยุทธวิธีอันล้ำเลิศของพระองค์ ได้ทรงนำทหารไทยประสบชัยชนะในการศึกกับพม่าแทบทุกครั้ง จนแม้กระทั่งอะแซหวุ่นกี้ แม่ทัพพม่าที่ยกมาตีพิษณุโลกในปีพ.ศ. 2318 ก็ยังประกาศแก่แม่ทัพนายกองทั้งปวงว่า

“ ไทยเดี๋ยวนี้ฝีมือเข้มแข็งนัก ไม่เหมือนไทยแต่ก่อน และเมืองพิษณุโลกเสียครั้งนี้ ใช่จะแพ้เพราะฝีมือทะแกล้วทหารนั้นหามิได้ เพราะเขาอดข้าวขาดเสบียงอาหารจึงเสียเมือง และซึ่งจะมารบเมืองไทยสืบไปภายหน้านั้น แม่ทัพมีสติปัญญาและฝีมือแต่เพียงเสมอเรา และต่ำกว่าเรานั้น อย่ามาทำสงครามตีเมืองไทยเลย จะเอาชัยชำนะเขามิได้ แม้นดีกว่าเรา จึงจะมาทำศึกกับไทยได้ชัยชำนะ ”

(พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี , อนุสรณ์งานศพ น.ส.ผัน ณ นคร , 20 กันยายน 2524 : 3-4)

10.5 อาณาจักรไทยสมัยกรุงธนบุรีกว้างใหญ่แค่ไหน และต่างจากในสมัยกรุงศรีอยุธยามากน้อยแค่ไหน?

1. อาณาเขตของราชอาณาจักรไทยสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชครองราชย์ ณ กรุงธนบุรี พระราชอาณาจักรไทยได้ขยายกว้างขวางมากกว่าสมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะได้รวมเมืองต่างๆ เข้าไปด้วย ได้แก่ ธนบุรี อยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด นครชัยศรี นครปฐม สุพรรณบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์

แผนที่ประเทศไทย สมัยกรุงธนบุรี
(ภาพจากหนังสือ สาระน่ารู้กรุงธนบุรี)

สรุปอาณาเขตประเทศไทยในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ มีดังนี้

ทิศเหนือ ตลอดลานนา (อาณาจักรล้านนา) ถึงสิบสองปันนา ไทยใหญ่
ทิศใต้ ตลอดเมือง ไทรบุรี ปะริด กลันตัน ตรังกานู และเมืองยักตรา เมืองปัตตานี ก็มาผูกไมตรีด้วย
ทิศตะวันออก ตลอดประเทศเขมร จดญวนใต้
ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตลอดนครเวียงจันทน์ เมืองพวน (หรือพาน) เมืองหลวงพระบาง หัวพันทั้งห้าทั้งหก สิบสองจุไทย จดฮุนหนำของจีน
ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดเมืองบันทายมาศ (หรือเมืองพุทไธมาศ หรือเมืองฮาเตียน) คือที่ต่อจากเมืองตราดออกไป
ทิศตะวันตก จดเมืองมะริด ตะนาวศรี ออกมหาสมุทรอินเดีย (แผ่นดินไทย , กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์ , ม.ป.ป. : 42 และ มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม , สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช , 2543 : 107-109)

2. อาณาเขตสมัยกรุงศรีอยุธยา

ในหนังสือ “ ประมวลหลักฐานสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีภาค 1” ของคณะผู้ลงทุนสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จัดพิมพ์เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2481 (อ้างโดย ประพัฒน์ ตรีณรงค์ วารสารไทย 20 (72) : ตุลาคม – ธันวาคม , 2542 : 17-18) กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

“ ปีวอก พ.ศ. 2309 ก่อนเสียกรุงแก่พม่า 3 ปี ประเทศสยาม เวลานั้น

ทิศเหนือ เพียงจดแดนเมืองเถิน ลำปาง
ทิศใต้ ตลอดไทรบุรี
ทิศตะวันออก ตลอดแดนเขมร
ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพียงนครราชสีมา
ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดเมืองพุทไธมาศ
ทิศตะวันตก ตลอดเมืองทะวาย ตะนาวศรี มะริด ”

แผนที่ประเทศไทย สมัยอยุธยา
(ภาพจากหนังสืออยุธยา)