พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

บทที่ 8 พระราชกรณียกิจด้านการศึกษาในระบบการศึกษาในโรงเรียน

ในช่วง พ.ศ.2489 – ปัจจุบัน ได้มีการตราพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการศึกษา และพระราชบัญญัติจัดตั้งหน่วยงานทางการศึกษาขึ้น ตามความจำเป็นของการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา ในฐานะปัจจัยหนึ่งของการพัฒนาประเทศ ดังเช่น พระบรมราโชวาทด้านการศึกษาที่พระราชทานแก่คณะครูและนักเรียน ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2504

“… การศึกษาเป็นปัจจัยในการสร้างและพัฒนาความรู้ ความคิด ความประพฤติ และคุณธรรมของบุคคล สังคมและบ้านเมืองใดให้การศึกษาที่ดีแก่เยาวชนได้อย่างครบถ้วนพอเหมาะทุกๆ ด้าน สังคมและบ้านเมืองนั้นก็จะมีพลเมืองที่มีคุณภาพ ซึ่งสามารถธำรงรักษาความเจริญมั่นคงของประเทศชาติไว้และพัฒนาให้ก้าวหน้าต่อไปได้ตลอด …”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงชี้ให้เห็นความสำคัญของการให้การศึกษาแก่ประชาชน ดังพระบรมราโชวาทที่พระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ( ประสานมิตร ) เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2510 ความตอนหนึ่งว่า

“… งานด้านการศึกษาเป็นงานสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชาติ เพราะความเจริญและความเสื่อมของชาตินั้นขึ้นอยู่กับการศึกษาของพลเมืองเป็นข้อใหญ่ ตามข้อเท็จจริงที่ทราบกันดีแล้ว ระยะนี้บ้านเมืองของเรามีพลเมืองเพิ่มขี้นอย่างรวดเร็ว

ทั้งมีสัญญาณบางอย่างเกิดขี้นด้วยว่า พลเมืองของเราบางส่วนเสื่อมทรามลงไปในความประพฤติและจิตใจ ซึ่งเป็นอาการที่น่าวิตก ถ้าหากยังคงเป็นอยู่ต่อไปเราอาจจะเอาตัวไม่รอด ปรากฏการณ์เช่นนี้ นอกจากเหตุอื่นแล้ว ต้องมีเหตุมาจากการจัดการศึกษาด้วยอย่างแน่นอน … เราต้องจัดงานด้านการศึกษาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น …”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเห็นความสำคัญ ของการศึกษาทั้งในระบบการศึกษาในโรงเรียน และในระบบการศึกษานอกโรงเรียน ( เกี่ยวกับระบบการศึกษานอกโรงเรียน รายละเอียดอยู่ในบทที่ 9 : พระราชกรณียกิจด้านการศึกษาในระบบการศึกษานอกโรงเรียน )

1. การศึกษาในระบบการศึกษาในโรงเรียน

1.1 โรงเรียนจิตรลดา

นับตั้งแต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างโรงเรียนขึ้นในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐานเมื่อ พ.ศ.2501 และพระราชทานนามโรงเรียนว่า “ โรงเรียนจิตรลดา ” เพื่อเป็นสถานศึกษาสำหรับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และพระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์แล้ว ในด้านพระบรมราโชบายเกี่ยวกับโรงเรียน ได้มีบันทึกไว้ในเอกสารเกี่ยวกับโรงเรียนจิตรลดาว่า

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงสนพระทัยต่อการเรียนการสอนของโรงเรียนอยู่เป็นนิจ และได้พระราชทานพระบรมราโชบายด้านการศึกษา เพื่อให้ครูในโรงเรียนดำเนินตามพระราชประสงค์หลายประการ เช่น ด้านการสอนการอบรมและการวางตัวของครู ได้มีพระราชกระแสว่า … ครูทุกคนต้องนึกว่าตนเป็นครู ต้องมีความยุติธรรม ต้องหนักแน่น ขอให้ครูฝึกฝนอบรมเด็กๆ ให้เป็นนักเรียนที่ดี มีระเบียบ มีความรับผิดชอบในหน้าที่ รู้จักทำตนให้ตรงต่อเวลา ฝึกให้มีสมาธิในการงาน รู้จักรักษาสมบัติส่วนตัวและส่วนรวม รู้จักมีเมตตา นึกถึงผู้อื่น รู้จักทำตนให้เข้ากับส่วนรวม ครูจะต้องไม่ถวายสิทธิพิเศษแด่พระราชโอรส และพระราชธิดา …”

ในด้านการรับนักเรียนเข้าศึกษาในโรงเรียนจิตรลดา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระบรมราโชบาย ซึ่งเปี่ยมไปด้วยน้ำพระราชหฤทัยเมตตาว่า “ ให้โรงเรียนรับนักเรียนทั่วไปโดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นเชื้อพระวงศ์ ” ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เยาวชนได้เข้ามาเรียนในโรงเรียนนี้โดยมิได้เลือกเชื้อชาติ ชั้น วรรณะ ให้นักเรียนได้รับความรู้ตามควรแก่อัตภาพ ทั้งให้อบรมให้มีความประพฤติดี เพื่อดำรงตนเป็นพลเมืองดีสืบไป

1. 2 โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงรับโรงเรียนไว้ให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ เรียกว่า โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยทรงให้การช่วยเหลือ อุปถัมภ์ พระราชทานพระราชทรัพย์ หรือทรงให้คำแนะนำเป็นประจำตลอดมา ทั้งยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียน และพระราชทานพระบรมราโชวาทเพื่อให้ความสนับสนุน และเป็นกำลังใจแก่ครูและนักเรียนในโรงเรียนเหล่านั้น ทั้งที่เป็นโรงเรียนของรัฐบาลและโรงเรียนเอกชน อาทิ

1.2.1  โรงเรียนราชวินิต เป็นโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริให้ตั้งขึ้น เพื่อรับนักเรียนที่เป็นบุตรหลานข้าราชบริพาร ข้าราชการในสำนักพระราชวัง และบุคคลทั่วไป สอนในระดับประถมศึกษา (ป .1 – ป .7) ในปี พ.ศ.2507 และปี พ.ศ.2520 เริ่มก่อตั้งโรงเรียนราชวินิตมัธยมศึกษาขึ้น ส่วนโรงเรียนราชวินิตบางแก้วนั้นมีผู้บริจาคที่ดิน 30 ไร่ น้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในปี พ.ศ.2513 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จึงโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งโรงเรียนมัธยมแบบสหศึกษาขึ้น

1.2.2 โรงเรียนวังไกลกังวล  ตั้งอยู่ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลมีพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น โดยใช้ค่าใช้จ่ายจากเงินพระราชกุศลเป็นรายปี มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การศึกษาแก่บุตรหลานของเจ้าหน้าที่ผู้รักษาวังไกลกังวล ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีสถานที่เล่าเรียน เป็นลักษณะโรงเรียนราษฎร์ ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2481

ในปี พ.ศ.2526 คณะกรรมการบริหารโรงเรียนได้จัดให้มีศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน เพื่อให้การศึกษาอบรมเลี้ยงดูแก่เด็กก่อนวัยเรียน

ในปี พ.ศ.2527 คณะกรรมการบริหารโรงเรียนได้ประสานงานกับกรมอาชีวศึกษากระทรวงศึกษาธิการ จัดเปิดสอนหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น (225 ชั่วโมง ) หลักสูตรประกาศ นียบัตรวิชาชีพช่างฝีมือ และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ วิชาที่เปิดสอนจะคำนึงถึงอาชีพของท้องถิ่นเป็นสำคัญ มีจำนวนถึง 17 แผนกวิชา

โรงเรียนวังไกลกังวลเปิดสอน ตั้งแต่ชั้นเด็กเล็ก จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในปัจจุบันได้พระราชทานเงินเพื่อใช้ในการดำเนินงานของโรงเรียนจากงบเงินใช้สอยตามพระราชอัธยาศัย ปีละ 1,200,000 บาท และเป็นโรงเรียนต้นแบบในลักษณะการสอนกึ่งทางไกล ซึ่งมีโรงเรียนอื่นๆ ร่วมเครือข่ายทั่วประเทศ

คุณขวัญแก้ว วัชโรทัย ได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับ กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับโรงเรียนวังไกลกังวล หัวหิน จัดการศึกษาในลักษณะการสอนกึ่งทางไกล เพื่อเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติ 50 ปี (2542 : 869-887) ไว้ดังนี้

กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาประกาศให้การศึกษาภาคบังคับ จากประถมปีที่หกเป็นประถมปีที่เก้า หรือมัธยมปีที่สามในปีแห่งการเฉลิมฉลอง 50 ปี การครองสิริราชสมบัติ หมายถึง การขยายชั้นเรียนภาคบังคับต่อไปอีกสามปี ปกติเด็กนักเรียนจบชั้นประถมหกอายุประมาณ 12 ปี เมื่อเรียนถึง ม 3 แล้วจะมีอายุเพิ่มขึ้นเป็น 15 ปี แปลว่า โตขึ้น และมีความคิดดีขึ้น ตัดสินใจถูกต้องเพิ่มขึ้น แต่ถ้าสามารถเรียนต่อจนถึงมัธยม 6 อายุประมาณ 18 ปี ยิ่งเป็นผู้ใหญ่ ตัดสินใจดีและถูกต้องยิ่งขึ้นไปอีก

โรงเรียนวังไกลกังวล หัวหิน เป็นโรงเรียนราษฎร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มีนักเรียน 1,900 คน รับนักเรียนตั้งแต่อายุ 3 ขวบ จบชั้นสูงสุดถึงปริญญาตรี มีวิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล กรมอาชีวศึกษารองรับในเรื่องหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น และวิทยาเขตวังไกลกังวลของสถาบันราชมงคลสอนหลักสูตร ปวส . และปริญญาตรี ได้รับการพิจารณาจากกรมสามัญ กระทรวงศึกษาธิการให้เป็นโรงเรียนตัวอย่าง รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการได้จัดตั้งโรงเรียน แบบโรงเรียนวังไกลกังวลในจังหวัดที่มีพระราชฐานที่ประทับ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทั้งสามแห่งคือ โรงเรียนพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เชียงใหม่ โรงเรียนภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร โรงเรียนทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส

โรงเรียนวังไกลกังวล เป็นโรงเรียนที่กระทรวงศึกษาให้ความร่วมมือปรับปรุงจนได้มาตรฐานดีพอสมควร มีการสนับสนุนในเรื่องการกีฬา นาฏศิลป์ ดนตรีไทย และสากล มีทั้งวงมโหรีและแตรวง ตลอดการฝึกวิชาทหาร มีโรงเรียนของกรมสามัญที่เข้ามาช่วยพัฒนาถึง 19 โรงเรียน ทั้งยังเป็นโรงเรียนราษฎร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โรงเรียนวังไกลกังวลจึงเหมาะสมที่จะเป็นแม่ข่าย ในการเป็นโรงเรียนที่นำสื่อในการศึกษาทางไกล สายสามัญ ตั้งแต่ชั้นมัธยม 1, 2, 3, 4, 5, 6 ไปสู่โรงเรียนในชนบททั่วทุกแห่งหนในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย เป็นการพระราชทานการศึกษาเพิ่มให้แก่ประชาชนด้วย

กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้ทำการถ่ายทอดผ่านดาวเทียม การเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นมัธยม 1, 2, 3, 4, 5, 6 พร้อมๆ กัน ตั้งแต่ชักธงชาติขึ้นสู่เสาจนเลิกเรียน หมายความว่าโรงเรียนในสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาที่กำลังสอนถึงชั้นประถม 6 จำนวนประมาณสามหมื่นกว่าโรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งมีโรงเรียน ตชด. และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ อยู่ในจำนวนนี้ในต่างจังหวัด โรงเรียนในสังกัด กทม. และโรงเรียนเอกชนที่สอนชั้นสูงสุดถึงมัธยม 3 เช่น

โรงเรียนดลวิทยา โรงเรียนบูรณวิทย์ เป็นต้น หรือโรงเรียนเอกชนในจังหวัดต่างๆ โรงเรียนนำร่องของ สปช. ก็สามารถเปิดชั้นเรียนมัธยมสี่ถึงมัธยมหกได้ การนำการศึกษาที่ถ่ายทอดสู่ดาวเทียม และรับในพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ เป็นการประหยัดงบประมาณในการสร้างห้องเรียนและครู ซึ่งเป็นบุคลากรที่หาได้ยากที่สุดขณะนี้

1.2.3 โรงเรียนราชประชานุเคราะห์

รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการได้นำคณะผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการไปดูงานในจังหวัดต่างๆ ได้เห็นเด็กขาดความอบอุ่น ขาดการดูแลอบรมตามที่ทรงเล่าทุกประการ จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานโรงเรียนประจำที่เรียกว่าโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์นี้อีกห้าแห่ง คือจังหวัดแพร่ อำเภอร้องกวาง จังหวัดลำพูน อำเภอป่าซาง จังหวัดหนองคาย อำเภอโพนพิสัย จังหวัดยโสธร อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอเมือง ขณะนั้นกำลังสร้างโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ที่อำเภอจุน จังหวัดพะเยา และอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สร้างทั้ง 5 โรงเรียน และพระราชทานเงินทุนจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ สร้างหอพักหญิง – ชาย โรงครัว ถังน้ำ และอาคารเรียน กระทรวงศึกษาธิการได้ลงมือดำเนินการสร้างทันที และขอพระราชทานนามโรงเรียนว่า โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ขณะนี้เปิดสอนแล้ว รับนักเรียนได้แห่งละ 250 – 300 คน เมื่อครบตามโครงการจะสามารถรับนักเรียนได้แห่งละ 900 คน ฉะนั้น ในปี พ.ศ.2537 ได้พระราชทานเงินให้สร้างโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ถึง 7 แห่งในเจ็ดจังหวัด ในปี พ.ศ.2546 มีโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ รวม 35 โรงเรียน

แผนที่แสดงที่คั้งของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
ในปี พ.ศ.2506 – 2546 รวม 35 โรงเรียน
(40 ปี มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ 2506 – 2546, 2546 : 207)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงเล่าให้รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฟังว่า ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมประชาชนในจังหวัดต่างๆ ปรากฎว่า เด็กจะอยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย ซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีไปแล้ว ส่วนพ่อแม่ไม่ได้เลี้ยงดูเด็ก เพราะแยกไปประกอบอาชีพที่กรุงเทพมหานครบ้าง ในภาคใต้บ้าง

เสด็จฯ เปิดอาคารโรงเรียนราชประชาสมาสัย อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9  ทรงเป็นห่วงเด็กเหล่านี้ว่าจะไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนได้ดีพอ และปู่ ย่า ตา ยาย อายุมากแล้ว จึงทรงสนับสนุนให้กระทรวงศึกษาสร้างโรงเรียนประจำ รับนักเรียนตั้งแต่ประถมหนึ่ง มัธยมหนึ่ง และมัธยมสี่ ที่เรียกว่า โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์พระราชทาน ตั้งแต่เกิดภัยที่อำเภอพิบูน คีรีวงศ์ คือโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ที่ 19 สร้างที่อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อสร้างเสร็จ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพร้อมทั้งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ปัจจุบันมีเด็กนักเรียน 600 คน ได้ดำเนินการฝึกอบรมตามพระบรมราโชบาย ที่พระราชทานไว้ทุกประการ คืออบรมให้เป็นคนดี มีเมตตากรุณา ให้ตั้งใจเล่าเรียน เมื่อจบการศึกษาจะได้มีงานที่สามารถเลี้ยงตนเองได้

1.2.4  โรงเรียนราชประชาสมาสัย  อยู่ที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชประสงค์ให้เป็นโรงเรียนสำหรับบุตรผู้ป่วยแต่แรกเกิด ที่เลี้ยงแยกจากบิดามารดาที่เป็นโรคเรื้อน เพราะเด็กเหล่านี้ยังไม่ได้รับเชื้อโรคเรื้อน แต่มีพระราชบัญญัติควบคุมโรคติดต่อบังคับมิให้โรงเรียนใดรับบุตรผู้ป่วยโรคเรื้อนเข้าเป็นนักเรียน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าเพื่อความเป็นธรรม เด็กเหล่านี้ควรมีสิทธิเสรีภาพเช่นเดียวกับเด็กอื่นๆ และได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้จัดตั้งโรงเรียนประจำขึ้นในปี พ.ศ.2506 เปิดรับนักเรียนรุ่นแรก 40 คน มีครู 3 คน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตั้งมูลนิธิโรงเรียนราชประชาสมาสัยขึ้น เพื่อรับเป็นเจ้าของโรงเรียน และจดทะเบียนเป็นโรงเรียนเอกชน สอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย

1.2.5  โรงเรียน ภ...ราชวิทยาลัย เดิมชื่อ โรงเรียนราชวิทยาลัย ตั้งขึ้นตามพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เป็นโรงเรียนสำหรับนักเรียนประจำ เพื่อให้ได้รับความรู้อย่างเต็มบริบูรณ์ตามวิธีของประเทศตะวันตก ซึ่งต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้โรงเรียนราชวิทยาลัยรวมกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นโรงเรียนเดียวกัน และอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ พระราชทานนามว่า “ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย 

ต่อมาในปี พ.ศ.2507 ครูและนักเรียนซี่งเป็นสมาชิกของสมาคมราชวิทยาลัย มีความประสงค์จะให้มีชื่อของ “ โรงเรียนราชวิทยาลัย ” ขึ้นใหม่อีก จึงตั้งราชวิทยาลัยมูลนิธิเพื่อการศึกษา และได้รับความช่วยเหลือจากกระทรวงศึกษาธิการในการตั้งโรงเรียนขึ้นใหม่ โดยใช้สถานที่ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาสามพรานเดิม และขอพระราชทานนามโรงเรียนที่จัดตั้งนี้ว่า “ โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงเรียน เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2507

1.3  โรงเรียนลูกหลานชนบท  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงห่วงใยในเรื่องการศึกษาของประชาชนโดยทั่วไปเป็นอย่างมาก ทรงเกรงว่าประชาชนจะได้รับการศึกษาไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่อยู่ตามชายแดนและแถบถิ่นทุรกันดาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงทราบดีว่ามีนักเรียนที่ยากจน ขาดแคลนอุปกรณ์ปัจจัยต่างๆ ที่จะส่งเสริมการเล่าเรียนอยู่จำนวนมาก

ดังนั้นเมื่อถึงวาระที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมด้วยพระราชโอรส พระราชธิดา เสด็จเยี่ยมประชาชนในท้องถิ่นดังกล่าว ทุกพระองค์จะเสด็จไปเยี่ยม โรงเรียนต่างๆ อยู่เสมอ เพื่อพระราชทานอุปกรณ์การศึกษา เสื้อผ้า อาหารและทุนการศึกษา และจะทรงแนะนำครู ให้ส่งเสริมนักเรียน ให้ขวนขวายศึกษา หาความรู้รอบตัว เพื่อตัวเอง และท้องถิ่น

สำหรับทางภาคเหนือ มีเด็กชาวเขาอยู่เป็นจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 
ทรงห่วงใยมากเช่นเดียวกัน พระองค์ได้พระราชทานเงินทุน สร้างโรงเรียน สำหรับเด็กชาวเขาขึ้น โดยอาศัยตำรวจตระเวนชายแดน เป็นครู และได้พระราชทานชื่อโรงเรียนว่า “ โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ ” และ “ โรงเรียน เจ้าแม่หลวงอุปถัมภ์ 

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้ทหารที่ปฏิบัติราชการในท้องถิ่นทุรกันดาร ซึ่งร่วมมือกับชาวบ้านในท้องถิ่นนั้นสร้างโรงเรียน ทั้งระดับประถมและมัธยมศึกษาขึ้น พระราชทานชื่อ “ โรงเรียนร่มเกล้า ” เช่น โรงเรียนร่มเกล้าที่บ้านหนองแคน ตำบลดงหลวง อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม เป็นโรงเรียนร่มเกล้าแห่งแรกและเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา

“ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในอำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส ความทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า นักเรียนในเขตอำเภอยี่งอที่ประสงค์จะเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษา จะต้องเข้าไปศึกษาในตัวจังหวัด ซึ่งเป็นการเสียเวลาในการเดินทางและทุนทรัพย์เป็นจำนวนมาก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า หากอำเภอจะปรับปรุงโรงเรียนบ้านบุเก๊ะกอตอ ในเขตอำเภอยี่งอ ซึ่งเป็นโรงเรียนประถมศึกษา ให้รับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาได้แล้ว ก็จะมีผลในการช่วยเหลือเยาวชนในบริเวณนี้ได้  สำหรับการสำรวจพื้นที่ปรับปรุงที่ดิน เพื่อแก้ปัญหาน้ำป่าไหลท่วมบริเวณโรงเรียนในฤดูมรสุมนั้น ควรเป็นภารกิจของทหารช่างมณฑลทหารบกที่ 5 ส่วนการก่อสร้างอาคารและครุภัณฑ์ ควรดำเนินการโดยข้าราชการในอำเภอยี่งอ โดยพระองค์จะทรงสนับสนุนในด้านวัสดุ อุปกรณ์ในการก่อสร้าง ”

โรงเรียนแห่งนี้เมื่อสร้างเสร็จ กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศเปิดเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2518 ให้ชื่อว่าโรงเรียนยี่งอ ต่อมาเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2518 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานชื่อว่า “ โรงเรียนร่มเกล้า 

โรงเรียนร่มเกล้าที่เกิดจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ยังมีที่อื่นอีกคือ โรงเรียนร่มเกล้า กาญจนบุรี ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี โรงเรียนร่มเกล้า สกลนคร ซึ่งตั้งอยู่ที่กิ่งอำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร โรงเรียนร่มเกล้าปราจีนบุรี อยู่ที่อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี

โรงเรียนร่มเกล้า จังหวัดบุรีรัมย์ อยู่ที่อำเภอหานทราย โรงเรียนร่มเกล้าที่จังหวัดอุดรธานี โรงเรียนร่มเกล้าที่จังหวัดเลย โรงเรียนร่มเกล้าที่เขาค้อ ซึ่งตั้งอยู่ที่กิ่งอำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเปิดใช้ได้ทันพระราชพิธีเฉลิมฉลองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา

นอกจากโรงเรียนต่างๆ ที่อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการได้จัดสร้าง โรงเรียนนวมินทราชูทิศ ขึ้น จำนวน 5 โรงเรียน เพื่อเฉลิมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2530 โรงเรียนนวมินทราชูทิศ จำนวน 5 โรงดังกล่าว อยู่ตามภาคภูมิศาสตร์ของประเทศภาคละ 1 โรง ดังนี้

โรงรียนนวมินทราชูทิศ กรุงเทพมหานคร

กรุงเทพมหานคร ชื่อโรงเรียนนวมินทราชูทิศ กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ที่ซอยอมรวิวัฒน์ ถนนสุขาภิบาล 1 เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร
ภาคอีสาน ชื่อโรงเรียนนวมินทราชูทิศ อีสาน ตั้งอยู่ที่ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร
ภาคใต้ ชื่อโรงเรียนนวมินทราชูทิศ ทักษิณ ตั้งอยู่ที่ตำบลพะวง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
ภาคเหนือ ชื่อโรงเรียนนวมินทราชูทิศ พายัพ ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
ภาคกลาง ชื่อโรงเรียนนวมินทราชูทิศ มัชฌิม ตั้งอยู่ที่ตำบลวัดไทรย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์

2. ด้านการส่งเสริมการจัดทำตำรา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริให้การสนับสนุนจัดการทำตำรา จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้ง โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ขึ้นเป็นหนังสือชุดรวมความรู้ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำขึ้นเพื่อเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะ เมื่อ พ.ศ.2511 โดยเหตุที่ทรงห่วงใยถึงโอกาสในการศึกษาหาความรู้ของเด็กและเยาวชน ผู้อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดาร ผู้ไม่มีโอกาสศึกษาในโรงเรียน ได้อย่างต่อเนื่องจนจบการศึกษา

เพราะพ่อแม่ยากจน หรือต้องอพยพโยกย้ายที่ทำมาหากินบ่อยๆ จึงพระราชปรารถว่าควรมีหนังสือทางวิชาความรู้สักชุดหนึ่ง สำหรับเด็กและยาวชนเหล่านี้ให้ได้อ่านเองได้ หนังสือนี้ควรมีเรื่องราวทางวิชาการสาขาต่างๆ ทุกวิชา ควรเน้นเรื่องราวที่เกี่ยวกับประเทศไทย เพื่อให้รู้ว่าในประเทศของเราก็มีความเจริญก้าวหน้าในทางวิชาการอันเป็นสากล พระองค์ได้พระราชทานกระแสพระราชดำริและพระราชประสงค์แก่คณะอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญคณะนี้ๆ จึงได้สนองพระราชประสงค์โดยจัดตั้ง โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนโดยพระราชประสงค์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน

“… สารานุกรมนี้จุดประสงค์อันแรกอันสำคัญที่สุดก็คือ ให้ผู้ที่ใช้สารานุกรมนี้ให้เกิดควมรู้สึกว่า โลกนี้มันเป็นอันหนึ่งเดียวกัน โลกหมายถึงโลกความรู้ โลกกลม โลกของวิทยาศาสตร์และโลกของวิชาต่าง ๆ อันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ถ้าได้ความคิดอันนี้อย่างหนึ่ง ก็จะเกิดความรู้สึกว่าชีวิตของตนจะต้องอยู่ในส่วนรวม และจะต้องพยายามปฏิบัติเพื่อส่วนรวม ศิลปะดนตรีก็จะต้องรวมกับวิทยาศาสตร์ซึ่งคนทั่ว ๆ ไป ไม่เข้าใจ แต่ว่าอ่านสารานุกรมแล้วก็จะเข้าใจ ก็เกิดความเชื่อถือ …”

วัตถุประสงค์

โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เป็นพระราชดำริริเริ่มของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โดยมีพระราชประสงค์จะให้มีการจัดทำหนังสือประเภทสารานุกรมซึ่งประกอบด้วยลักษณะ และรูปแบบพิเศษผิดแยกจากสารานุกรมชุดต่างๆ ที่เคยมีผู้ผลิตมาแล้วทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ กล่าวคือ เป็นสารานุกรมอเนกประสงค์บรรจุสรรพวิชาการอันเป็นสาระไว้ครบทุกแขนง โดยมีเรื่องต่างๆ ซึ่งแต่ละเรื่องมีวิทยากรเขียน โดยแบ่งเนื้อหาของเรื่องเดียวกันนั้นเป็นสามตอน หรือสามระดับ คือเรื่องเดียวกันแบ่งออกเป็นสามส่วน ส่วนแรกเขียนอย่างง่าย พิมพ์ด้วยอักษรตัวใหญ่ สำหรับเด็กเล็ก ส่วนที่สอง เพิ่มความยากของเนื้อหา และความยาวของคำให้มากกว่าส่วนแรก

สำหรับเด็กที่มีความรู้ระดับประถมปลาย และมัธยมตอนต้น ส่วนที่สามเนื้อหายากขึ้นและยากมากขึ้น มีรายละเอียดเพิ่มขึ้น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมตอนปลาย และนักศึกษาในปีแรกในระดับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย

ผู้ใดมีความต้องการหรือพอใจจะเรียนรู้เรื่องใด ตอนใด ก็สามารถค้นหาอ่านทราบได้โดยสะดวก นับว่าเป็นหนังสือที่มีประโยชน์เกื้อกูลการศึกษา เพิ่มพูนปัญญาด้วยตนเองของประชาชนทุกรุ่นทุกวัยอย่างสำคัญ โดยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปรารภว่า หนังสือเล่มเดียวกันควรให้อ่านกันได้ทั้งครอบครัว พี่ช่วยน้องอ่าน แม่ช่วยลูก ในโรงเรียนเดียวกันนักเรียนชั้นประถมต้น ประถมปลาย ชั้นมัธยมตอนต้น ตอนปลาย จะใช้ด้วยกันได้

ประวัติความเป็นมา

โดยพระราชดำริดังกล่าว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งโครงการสารานุกรมไทย สำหรับเยาวชนไทยขึ้น ดำเนินการโดยคณะกรรมการ และพระราชทานพระบรมราโชวาทให้คณะกรรมการโครงการฯ ชุดเริ่มงานเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อรับสนองพระราชกระแสรับสั่งเกี่ยวกับวัตถุประสงค์แนวความคิด และวิธีปฏิบัติในการจัดทำสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2511

ในการปฏิบัติงาน คณะกรรมการโครงการฯ ได้วางแผนและดำเนินงานเป็นขั้นตอน แต่เนื่องจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับสารานุกรมในรูปลักษณะเช่นนี้ เป็นแนวความคิดใหม่ ไม่ปรากฏว่ามีประเทศใดกระทำเป็นตัวอย่างมาก่อน ดังนั้น การดำเนินปฏิบัติงานต่างๆ จึงจำเป็นต้องมีการศึกษามีการทดลอง และกระทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วยความรอบคอบ การดำเนินงาน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนเล่ม 1 ซึ่งสำเร็จเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2516 ประกอบด้วยเรื่องดวงอาทิตย์ สุริยุปราคาและจันทรุปราคา ท้องฟ้ากลางคืน นก ปลา เครื่องจักรกล พลังงาน (การควบคุมและการใช้ประโยชน์) อากาศยานและดนตรีไทย รวม 9 เรื่อง มีความหนาของเล่ม 284 หน้า ส่งตีพิมพ์สำหรับพระราชทาน 5,000 เล่ม ราคาจำหน่ายเล่มละ 100 บาท และสิ้นเงินค่าว่าจ้างพิมพ์ที่โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว เป็นจำนวนเงิน 639,000 บาท (หกแสนสามหมื่นเก้าพันบาทถ้วน)

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนเล่ม 2 ซึ่งสำเร็จเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2518 ประกอบด้วยเรื่องการจำแนกและจัดลำดับหมวดหมู่ของสัตว์ เวลาอุตุนิยมวิทยา 1- บรรยากาศ อุตุนิยมวิทยา 2- การตรวจอากาศ อุตสาหกรรม อุปกรณ์ขยายขอบเขตของสัมผัส มหาราชในประวัติศาสตร์ไทย การศึกษา กรุงเทพมหานคร และตราไปรษณียากรไทย รวม 10 เรื่อง มีความหนาของเล่ม 254 หน้า ส่งตีพิมพ์สำหรับพระราชทาน 5,000 เล่ม และจำหน่าย 7,000 เล่ม ราคาจำหน่ายเล่มละ 120 บาท และสิ้นเงินค่าว่าจ้างพิมพ์ที่โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว เป็นจำนวนเงิน 1,020,000 บาท ( หนึ่งล้านสองหมื่นบาทถ้วน )

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม 3 ประกอบด้วยเรื่อง ข้าว ข้าวโพด ฝ้าย ยางพารา การทำไม้ ทรัพยากรป่าไม้ ผลิตผลป่าไม้ วัชพืช วัวควาย ช้าง ครั่ง และการเลี้ยงครั่ง รวม 12 เรื่อง และพิมพ์แล้วเสร็จในเดือนธันวาคม พ.ศ.2518

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม 4 ประกอบด้วยเรื่อง การเรืองแสงของสิ่งมีชีวิต การหายใจ ความสมดุลของของเหลวในร่างกาย ไวรัส ปรากฏการณ์ของอากาศ ภูมิอากาศ รถไฟ การศาสนา การต่างประเทศสมัยรัตนโกสินทร์ และลำดับพระมหากษัตริย์ไทย รวม 10 เรื่อง และพิมพ์ แล้วเสร็จใน พ.ศ.2521

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม 5 ประกอบด้วยเรื่องผัก ไม้ผล อ้อย มันสำปะหลัง พืชหัว การขยายพันธุ์พืช เป็ด ไก่ และพันธุ์ไม ้ ป่า รวม 9 เรื่อง และพิมพ์ แล้วเสร็จใน พ.ศ.2523

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม 6 ประกอบด้วยเรื่องคณิตศาสตร์เบื้องต้น ประวัติและพัฒนาการเกี่ยวกับจำนวนเซต ตรรกวิทยา ฟังก์ชัน สมการและอสมการ จุดเส้น และผิวโค้ง ระยะทาง พื้นที่ปริมาตร สถิติความน่าจะเป็น เมตริก กราฟ และคณิตศาสตร์ ธรรมชาติและศิลปะ รวม 15 เรื่อง และพิมพ์ แล้วเสร็จใน พ.ศ.2525

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม 7 ประกอบด้วยเรื่องกล้วยไม้ ผีเสื้อในประเทศไทย การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม โรคพืช การเลี้ยงปลา การชลประทาน บ้านเรือนของเรา และโทรคมนาคม (ภาคแรก) รวม 8 เรื่อง และพิมพ์ แล้วเสร็จใน พ.ศ.2525

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม 8 ประกอบด้วยเรื่องประวัติการแพทย์และเภสัชกรรมไทย กายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยา การกำเนิดของโรค การบริบาลทารกและโรคทางกุมารเวชศาสตร์ ศัลยศาสตร์และวิสัญญีวิทยา เลือดและธนาคารเลือดในประเทศไทย และอุบัติเหตุและการปฐมพยาบาล รวม 7 เรื่อง และพิมพ์ แล้วเสร็จใน พ.ศ.2526

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม 9 ประกอบด้วยเรื่องของยา สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา วิธีการทางการแพทย์ในการควบคุมการเจริญพันธุ์ การทำแท้ง การสาธารณสุข โรคมะเร็ง รังสีวิทยา ฟันและเหงือกของเรา เวชศาสตร์ชันสูตร เวชศาสตร์ฟื้นฟู นิติเวชศาสตร์ โภชนาการ และยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท รวม 13 เรื่อง และพิมพ์ แล้วเสร็จใน พ.ศ.2528

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม 10 ประกอบด้วยเรื่องโรคทางยุรศาสตร์ โรคติดต่อและโรคเขตร้อน โรคภูมิแพ้ โรคผิวหนังที่พบบ่อยในประเทศไทย โรคตา โรคหู คอ จมูก จิตเวชศาสตร์และสุขภาพจิต สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ และการปลูกกระดูกข้ามคน รวม 10 เรื่อง และพิมพ์ แล้วเสร็จใน พ.ศ.2530

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม 11 ประกอบด้วยเรื่องวิวัฒนาการของคอมพิวเตอร์ ส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ ระบบการสั่งงานของคอมพิวเตอร์ การประยุกต์คอมพิวเตอร์ การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการออกแบบ สิ่งประดิษฐ์จากการพัฒนาการด้านคอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์อุตสาหกรรม ผลของการใช้คอมพิวเตอร์ และพัฒนาการอักษรไทยในเครื่องคอมพิวเตอร์ รวม 9 เรื่อง และพิมพ์ แล้วเสร็จใน พ.ศ.2531

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม 12 ประกอบด้วยเรื่องการแพทย์ การศึกษา การสังคมสงเคราะห์ การพัฒนาชาวเขาและการเกษตรที่สูง การพัฒนาการเกษตรในชนบท การศึกษาการพัฒนาการสหกรณ์ การพัฒนาแหล่งน้ำ การพัฒนาปัจจัยการผลิต และแผนที่ รวม 10 เรื่อง และพิมพ์ แล้วเสร็จใน พ.ศ.2531

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม 13 ประกอบด้วยเรื่อง เรือนไทย ชีวิตชนบท หัตถกรรมพื้นบ้าน จิตรกรรมไทย นาฎศิลป์ไทย ตุ๊กตาไทย การละเล่นของไทย อาหารไทย การประดิษฐ์ผักและผลไม้ การเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกราม และธนาคาร รวม 11 เรื่อง และพิมพ์ แล้วเสร็จใน พ.ศ.2532

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม 14 ประกอบด้วยเรื่องพระราชวังในกรุงเทพมหานคร พระราชวังในส่วนภูมิภาค ประติมากรรมไทย อาหารสัตว์ พืชอาหารสัตว์ การปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ ข้าวฟ่าง เทคโนโลยีชีวภาพ สารพิษและสิ่งปนเปื้อนอาหาร และสมุนไพร รวม 10 เรื่อง และพิมพ์ แล้วเสร็จใน พ.ศ.2533

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม 15 ประกอบด้วยเรื่องผึ้ง การเลี้ยงผึ้งโพรงไทย ยาสูบ ไม้สัก ผ้าไทย ชุมชนโบราณในเมืองไทยจากหลักฐานการถ่ายทางอากาศ น้ำเสีย ขยะมูลฝอย มลพิษทางอากาศ และปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับสากล รวม 10 เรื่อง และพิมพ์ แล้วเสร็จใน พ.ศ.2534

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม 16 ประกอบด้วยเรื่องการบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระไตรปิฎก การอนุรักษ์โบราณสถานและโบราณวัตถุ ศิลาจารึก และการอ่านจารึก สังคมและวัฒนธรรมไทย การผลิตหนังสือ การดนตรีสำหรับเยาวชน การช่างและหมู่บ้านช่าง การเกษตร และการฟื้นฟูสมรรถภาพเยาวชนผู้พิการทางด้านการศึกษา รวม 10 เรื่อง และพิมพ์ แล้วเสร็จใน พ.ศ.2535

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม 17 ประกอบด้วยเรื่องช้างเผือก ฉันทลักษณ์ไทย ระบบนิเวศและความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับสิ่งมีชีวิต โรคตับอักเสบจากไวรัส ของเสียที่เป็นอันตราย การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ปอแก้วปอกระเจา พืชเส้นใย การปรับปรุงพันธุ์พืช และข้าวสาลี รวม 10 เรื่อง และพิมพ์ แล้วเสร็จใน พ.ศ.2536

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม 18 ประกอบด้วยเรื่องสภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย ประเพณีหลวงและประเพณีราษฎร์ การแต่งกายของคนไทย กฎหมายกับสังคมไทย ประวัติการพิมพ์ไทย ภาษาและอักษรไทย ยาฆ่าแมลง ดินและปุ๋ย การเลี้ยงหมู และระบบการค้าผลิตผลการเกษตร รวม 10 เรื่อง และพิมพ์ แล้วเสร็จใน พ.ศ.2537

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม 19 ประกอบด้วยเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พืชน้ำมัน การถนอมผลิตผลการเกษตร ม้า แมลง เครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ศิลปะการนับเบื้องต้น ภูมิปัญญาชาวบ้าน และสารกึ่งตัวนำ รวม 9 เรื่อง และพิมพ์ แล้วเสร็จใน พ.ศ.2538

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม 20 ประกอบด้วยเรื่องศาสนาและระบบความเชื่อในประเทศไทย ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับต่างประเทศ จิตรกรรมไทยแบบประเพณี เสียงและมลภาวะทางเสียง

เลเซอร์ เซลล์แสงอาทิตย์ อัญมณี เวชศาสตร์การบิน ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือโรคเอดส์ และการปลูกถ่ายอวัยวะ รวม 10 เรื่อง และพิมพ์ แล้วเสร็จใน พ.ศ.2538

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม 21 ประกอบด้วยเรื่องขบวนพยุหยาตรา วีรสตรีไทย ศิลปะการทอผ้าไทย เครื่องถม เครื่องปั้น การตลาดและการส่งออกศิลปหัตถกรรม พฤกษศาสตร์พื้นบ้าน การอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ และองค์การสหประชาชาติและองค์การในเครือ รวม 9 เรื่อง และพิมพ์ แล้วเสร็จใน พ.ศ.2539

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม 22 ประกอบด้วยเรื่องภาษาศาสตร์ เครื่องถ้วยไทย เครื่องจักสาน ไม้ดอกหอมของไทย เครื่องทุ่นแรงและเครื่องจักรกลเกษตร อาชีวอนามัย ครอบครัวไทย สัตว์ทะเลหน้าดิน และท่าอากาศยาน รวม 9 เรื่อง และพิมพ์ แล้วเสร็จใน พ.ศ.2540

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม 23 ประกอบด้วยเรื่องภูมิปัญญาไทย วัฒนธรรมทางละครไทย (ละครรำ) การละเล่นพื้นเมือง ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย ชาติพันธุ์ เฟิร์นไทย ไม้วรรณคดีไทย (ตอน 1) การทำงานใต้น้ำ ระบบวิทยุ และการผลิตเบียร์ รวม 10 เรื่อง และพิมพ์ แล้วเสร็จใน พ.ศ.2541

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม 24 ประกอบด้วยเรื่องวรรณคดีมรดก ไม้ในวรรณดคีไทย (ตอน 2) เมืองหลวงเก่าของไทย การผลิตรถยนต์ การผลิตรถจักรยานยนต์ การผลิตปูนซีเมนต์ ปิโตรเลียมและการผลิต โรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ และแผนพัฒนาประเทศ รวม 9 เรื่อง และพิมพ์ แล้วเสร็จใน พ.ศ.2542

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม 25 ประกอบด้วยเรื่องซอฟต์แวร์พื้นฐานสำหรับสำนักงาน วิวัฒนาการของไมโครคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต แนวโน้มของเทคโนโลยีสารสนเทศต้นศตวรรษที่ 21 ระบบฐานข้อมูล โครงข่ายประสาทเทียม การประยุกต์ใช้ภาษาไทยในคอมพิวเตอร์ และการพัฒนาซอฟต์แวร์ รวม 8 เรื่อง และพิมพ์ แล้วเสร็จใน พ.ศ.2544

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม 26 ประกอบด้วยเรื่อง สัตว์ที่เข้ามาอยู่ในบริเวณป่าชายเลนนั้นแบ่งออกได้เป็นกี่กลุ่ม ปั จจัยที่ทำให้เกิดความหลากหลายของกลุ่มประชากรสัตว์ในระบบนิเวศป่าชายเลนมีอะไรบ้าง ทรัพยากรประมงกับระบบนิเวศป่าชายเลนมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ป่าชายเลนบริเวณอ่าวไทยเป็นอย่างไร การเสื่อมสภาพของป่าชายเลน การทำนากุ้งหรือขุดบ่อเลี้ยงปลา การฟื้นฟูและการปลูกป่าชายเลน รวม 8 เรื่อง และพิมพ์ แล้วเสร็จใน พ.ศ.2545

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม 27 ประกอบด้วยเรื่อง ลิเก การบริหารราชการแผ่นดิน การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เทคนิคการผลิตไม้ผลนอกฤดู ไฮโดรฟอนิกส์ พิษภัยของแอลกอฮอล์ ผู้สูงอายุ พลังงานนิวเคลียร์ และ การปฏิวัติทางพันธุกรรม รวม 9 เรื่อง และพิมพ์แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2546

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม 28 ประกอบด้วยเรื่องวัดไทย ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน ตลาด ทุเรียน เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร พิษภัยของบุหรี่ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ พลาสติกกับชีวิตในปัจจุบัน และ แผ่นดินไหว รวม 9 เรื่อง และพิมพ์แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2547

หนังสือสารานุกรมไทยที่ได้จัดพิมพ์ออกมาแล้วทั้งหมด 28 เล่ม มีเรื่องในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ แพทยศาสตร์ คณิตศาสตร์ ฯลฯ แต่ละเรื่องนอกจากมีคำอธิบายวิชาโดยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละเรื่องแล้ว ยังมีภาพประกอบสวยงาม เป็นภาพเกี่ยวข้องกับเรื่องราวเหล่านั้นในประเทศไทยด้วย ท้ายเล่มจะมีดรรชนีคำศัพท์และคำบอกเรื่องแต่ละเรื่องในแต่ละเล่ม

ในการจัดพิมพ์หนังสือชุดนี้ ในตอนเริ่มแรก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนจัดพิมพ์ ต่อมา สโมสรไลออนส์ภาค 350 ประเทศไทย ได้รวบรวมเงินทูลเกล้าฯ ถวายเป็นค่าจัดพิมพ์ตลอดมา ผู้เขียนและคณะทำงานฝ่ายบรรณาธิการ ฝ่ายศิลป์ ฝ่ายการเงิน การจัดการ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ได้อุทิศกำลังกาย กำลังสติปัญญาความรู้ถวายโดยเสด็จพระราชประสงค์

เนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ คณะกรรมการบริหารโครงการได้จัดพิมพ์ สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มพิเศษ รวมวิชาการในสาขาต่างๆ ซึ่งใช้ในโครงการพัฒนาหลายด้าน ตลอดจนการสังคมสงเคราะห์ ซึ่งเกิดขึ้นโดยพระราชดำริ หรือพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มีโครงการนับจำนวนร้อยซึ่งนอกจากมีพระราชดำริแล้ว ยังได้ทรงพระวิริยะอุตสาหะควบคุมการดำเนินงานด้วยพระองค์เอง แม้ว่าโครงการนี้จะทำอยู่ในท้องถิ่นทุรกันดาร เช่น การปลูกพืชบนยอดเขาทดแทนการปลูกฝิ่น ซึ่งชาวเขาปลูกกันแต่เดิมก่อนการดำเนินโครงการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงใช้หลักวิชา ที่เกี่ยวข้องเป็นพื้นฐาน สารานุกรมเล่มพิเศษนี้ จึงมีหลักวิชาการต่าง ๆ ที่ทรงใช้ นอกจากนี้จะได้ประมวลโครงการพัฒนาด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยพระราชดำริ และพระราชประสงค์อีกด้วย

หนังสือสารานุกรมไทย สำหรับเยาวชนฯ นี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่โรงเรียนในท้องถิ่นกันดารทุกแห่ง ต่อมามีผู้ซื้อหนังสือบริจาคให้โรงเรียนโดยเสด็จพระราชกุศล ในพ.ศ.2530 เนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัย กระทรวงศึกษาธิการก็ได้ซื้อหนังสือชุดนี้ แจกแก่โรงเรียนประถมศึกษาเกือบทุกแห่ง คงจะครบทุกโรงเรียนในที่สุด

เนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เจริญพระชนมพรรษาครบ 75 พรรษา คณะกรรมการบริหารโครงการได้จัดพิมพ์ สารานุกรมไทย ฉบับกาญจนาภิเษก ใน พ.ศ.2542 มีทั้งหมด 9 หมวด ประกอบด้วยเรื่อง พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจสำคัญ พระราชวงค์ องค์กรและส่วนราชการ มูลนิธิ ทุน รางวัล และโรงเรียน พระราชสถานะและพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ราชธรรมและพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับศาสนา พระราชพิธีในรัชกาลปัจจุบัน พระบรมราชสัญลักษณ์และเรื่องราวเกี่ยวข้อง เบ็ดเตล็ด

3. การพระราชทานทุนการศึกษา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงตระหนักถึงความเจริญสมัยใหม่ ที่เข้ามามีบทบาทและมีอิทธิพลต่อแนวความคิด จิตใจ และการดำเนินชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก การจะก้าวให้ทันวิวัฒนาการและความเจริญสมัยใหม่เหล่านี้ ส่วนหนึ่งต้องอาศัยการส่งคนไปศึกษาและดูงานในประเทศที่พัฒนาแล้ว เพื่อนำความรู้มาเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์ และก่อให้เกิดการพัฒนาในวิทยาการต่าง ๆ ของประเทศ พร้อมกับจัดเตรียมความรู้ขั้นพื้นฐานสำหรับผู้ที่จะเข้ามารองรับความรู้เหล่านั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อก่อตั้งกองทุนการศึกษาขึ้นหลายทุน ซึ่งการให้ทุนแต่ละทุนได้มีวัตถุประสงค์แตกต่างกันไป อาทิ

3.1 ทุนอานันทมหิดล

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งทุนการศึกษาและพระราชทานนามว่า “ ทุนอานันทมหิดล ” ขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2498 เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร
อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

และด้วยทรงพระตระหนักว่า ประเทศของเราจำต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในวิชาเทคนิคชั้นสูงเป็นจำนวนมากขึ้น และเพื่อให้ได้บุคคลชั้นนำในวิชานั้นๆ จึงควรส่งเสริมและสนับสนุนนักศึกษาผู้มีความสามารถอย่างยอดเยี่ยมให้มีโอกาสไปศึกษา ณ ต่างประเทศ ในวิชาชั้นสูงบางวิชา โดยเฉพาะเมื่อสำเร็จการศึกษาเพิ่มเติมกลับมาแล้ว จะได้มาทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญในวิชาที่เรียนมา ทุนอานันทมหิดล ได้ให้แก่ นักศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ที่มีคะแนนเป็นเยี่ยมเป็นทุนแรก เพื่อไปศึกษาเพิ่มเติม ณ มหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกา พระราชประสงค์ที่พระราชทานทุนนี้ ปรากฏในพระบรมราโชวาทตอนหนึ่งที่พระราชทานแก่บัณฑิต ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2498 ความว่า

“… ข้าพเจ้าขอถือโอกาสนี้แจ้งวัตถุประสงค์ของทุนที่ข้าพเจ้าได้ให้ไว้แก่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ก็โดยปรารถนาที่จะอุดหนุนเกื้อกูลแก่คนไทย ที่ศึกษาวิชาสำเร็จจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เป็นอย่างดี ปีละหนึ่งคน ให้ได้มีโอกาสไปศึกษาวิชาแพทย์เพิ่มเติมในต่างประเทศ เป็นการเพิ่มพูนความรู้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อจะได้มาช่วยส่งเสริมสวัสดิภาพให้แก่ประชาชนต่อไป …”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จดทะเบียนตราสารทุนอานันทมหิดลเป็น “ มูลนิธิอานันทมหิดล ” เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2502 ได้พระราชทานทุนทรัพย์เริ่มแรกจำนวน 20,000 บาท และเนื่องจากความต้องการผู้เชี่ยวชาญในวิชาแขนงอื่นมีมากขึ้น จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายงานของมูลนิธิฯ โดยได้พระราชทานทุนการศึกษาในแผนกวิชาอื่นด้วย ปัจจุบันได้พระราชทานทุนการศึกษาแผนกต่างๆ คือ แผนกแพทยศาสตร์ แผนกวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ แผนกเกษตรศาสตร์ แผนกธรรมศาสตร์ และแผนกอักษรศาสตร์ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการประจำแต่ละแผนก เพื่อคัดเลือกบัณฑิตที่มีความสามารถยอดเยี่ยมไปศึกษาเพิ่มเติมในสาขาวิชาต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ ณ ต่างประเทศ เพื่อจะได้กลับมาทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญในวิชาที่ได้ศึกษามาตามพระราชประสงค์

นับตั้งแต่ก่อตั้งมูลนิธิอานันทมหิดล เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2502 จนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ.2529 รวม 27 ปี ได้จ่ายเงินพระราชทานเพื่อการศึกษาทั้งสิ้นประมาณ 85 ล้านบาท จำนวนผู้ได้รับพระราชทานทุนการศึกษาของมูลนิธิฯ ไปศึกษาได้สำเร็จกลับมาแล้ว นับถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ.2529 รวม 105 คนและในขณะนั้นมีผู้ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดลกำลังศึกษาอยู่ในต่างประเทศ จำนวน 40 คน

นอกจากนี้ยังมีทุนพระราชทานเรียกว่า “ ทุนส่งเสริมบัณฑิต ” โดยคณะกรรมการแผนกแพทยศาสตร์พิจารณาเห็นว่า แพทย์ผู้ใดเป็นผู้ที่สละเวลา และอุทิศตนปฏิบัติงานเพื่อส่วนรวมโดยมิได้คำนึงถึงความเหนื่อยยาก และประโยชน์ส่วนตน ก็จะได้ขอพระราชทานเงินทุนส่งเสริมบัณฑิตให้เดือนละ 6,000 บาท เพื่อช่วยเป็นค่าใช้จ่ายของแพทย์ผู้นั้น ทุนส่งเสริมบัณฑิตนี้เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2523 สำหรับจำนวนผู้ได้รับพระราชทานทุนส่งเสริมบัณฑิตใน พ.ศ.2529 มีจำนวน 10 คน และนอกเหนือไปจากกิจกรรมในด้านทุนการศึกษาแล้ว มูลนิธิอานันทมหิดลได้ส่งเสริมการศึกษาค้นคว้าวิจัยทางแพทย์เฉพาะด้าน เช่น การวิจัยเกี่ยวกับโลหิตวิทยา การวิจัยโรคระบบประสาท การค้นคว้าและวิจัยทางแพทย์ การวิจัยกระดูกและข้อ และการวิจัยฮอร์โมน เป็นต้น

มูลนิธิอานันทมหิดลที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้น ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะสร้างกลุ่มบุคคลให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในวิชาการชั้นสูงแขนงต่างๆ เพื่อที่จะให้กลุ่มบุคคลเหล่านี้ได้ใช้ความรู้และเป็นผู้นำในการสร้างแหล่งวิชาการชั้นสูงแขนงวิชาต่างๆ ขึ้นในประเทศ ซึ่งผู้ที่ได้รับพระราชทานทุนดังกล่าวต่างได้ปฏิบัติตนสมดังที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ทุกประการ

3.2 ทุนเล่าเรียนหลวง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชประสงค์ฟื้นฟู “ ทุนเล่าเรียนหลวง ” หรือ “ คิงสกอล่าร์ชิป ” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานทุนเพื่อจัดส่งนักเรียนไปเรียนในต่างประเทศ โดยได้มีการวางระเบียบการสอบแข่งขันและตั้งชื่อ “ ทุนเล่าเรียนหลวง ” เป็นทางการ พ.ศ.2440 การพระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงได้มีสืบต่อเนื่องกันมาจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.2475 จึงยุติไป พระราชปรารภในการให้ฟื้นฟู “ ทุนเล่าเรียนหลวง ” ขึ้นนั้น ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 82 ตอนที่ 16 พ.ศ.2508 หน้า 93 ว่า

“… แต่เดิมเคยมีทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศ ให้แก่นักเรียนที่เรียนสำเร็จประโยคมัธยมบริบูรณ์ เมื่อนักเรียนทุนเหล่านี้เรียนสำเร็จแล้ว ก็ได้กลับมารับราชการเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติได้เป็นอย่างดี แต่ต่อมาการให้ทุนเล่าเรียนหลวงได้ยุติลง สมควรที่จะได้จัดเรื่องนี้ขึ้นอีก …”

คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาลงมติสนองพระราชปรารภ ให้รื้อฟื้นการให้ทุนเล่าเรียนหลวงขึ้นใหม่โดยการประกาศใช้ “ ระเบียบ ก.ว่าด้วยทุนเล่าเรียนหลวง พ..2508 

ทุนเล่าเรียนหลวงเป็นทุนพระราชทานแก่นักเรียนที่สอบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย สายสามัญของกระทรวงศึกษาธิการ ได้ดีเยี่ยมปีละ 9 ทุน แบ่งเป็นแผนกดังนี้
แผนกศิลปะ 3 ทุน แผนกวิทยาศาสตร์ 3 ทุน และแผนกทั่วไป 3 ทุน ซึ่งทุนทั้งหมดนี้ให้เพื่อการศึกษาขั้นอุดมศึกษาถึงระดับปริญญาตรี และไม่มีข้อผูกพันที่จะต้องกลับมารับราชการ

นับตั้งแต่ พ.ศ.2508 ถึง พ.ศ.2529 ได้มีผู้ได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษา วิชาการระดับปริญญาตรี ทั้งในต่างประเทศและในประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 97 ทุน

ส่วนทุนเล่าเรียนหลวงในระดับการศึกษาที่สูงกว่าปริญญาตรีนั้น ได้จัดให้มีขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2514 เนื่องในมหามงคลสมัยที่รัฐบาลได้จัดพระราชพิธีรัชดาภิเษกเฉลิมฉลองครบ 25 พรรษาแห่งการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ เพื่อสนองพระราชประสงค์เกี่ยวกับทุนเล่าเรียนหลวงโดยจัดตั้ง เงินทุนการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก แก่นักศึกษาที่มีผลการเรียนดีเด่นเป็นพิเศษของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย ทั้งนักศึกษาที่เป็นคนไทยและนักศึกษาชาวต่างประเทศ ในปัจจุบันพระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงแก่นักศึกษาของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซียปีละ 16 ทุนๆ ละ 220,000 บาท ต่อปี

นับตั้งแต่ พ.ศ.2514 จนถึง พ.ศ.2530 นักศึกษาที่มีผลการเรียนดีเด่นได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียนหลวง ในระดับปริญญาโท 156 คน ระดับปริญญาเอก 17 คน รวมทั้งสิ้น 173 คน ผู้ที่ได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงนี้เป็นนักศึกษาของประเทศไทย 45 คน และเป็นนักศึกษาจากประเทศต่างๆ 128 คน

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูทุนเล่าเรียนหลวง และพระราชทานทุนดังกล่าวแก่นักศึกษาที่เป็นคนไทยและคนต่างชาติ ได้ยังความปลาบปลื้มแก่ผู้ที่ได้รับพระราชทานทุนเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะชาวต่างชาตินั้นได้ชื่นชมและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสมอมา ดังจะเห็นได้จากเขาเหล่านั้นจะกล่าวสรรเสริญพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ทุกครั้ง ที่ได้พบปะกับคนไทยในที่ต่างๆ

3.3 ทุนการศึกษาสงเคราะห์สำหรับครอบครัวที่ประสบสาธารณภัย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ก่อตั้ง
“ 
มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ” โดยมีพระราชประสงค์ให้มูลนิธินี้ใช้ดอกผล ช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน อันเนื่องจากสาธารณภัยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ในทันทีที่เกิดสาธารณภัยนั้นๆ นอกจากนี้สาธารณภัยยังก่อให้เกิดเด็กกำพร้าอนาถาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่กำลังอยู่ในวัยศึกษา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดทุนการศึกษาสงเคราะห์ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ สำหรับเด็กนักเรียนซึ่งบิดามารดาหรือผู้ปกครองได้เสียชีวิต ในเหตุการณ์สาธารณภัย ทั้งนี้เพื่อเด็กเหล่านั้นจะได้รับการศึกษาอย่างเต็มความสามารถ

นับแต่ พ.ศ.2509 จนถึง พ.ศ.2529 มีผู้ได้รับทุนการศึกษาสงเคราะห์จากมูลนิธิราชประ – ชานุเคราะห์ ที่สำเร็จการศึกษาในระดับต่างๆ รวม 139 คน จำแนกเป็นระดับปริญญาตรี 22 คน อาชีวศึกษา 65 คน มัธยมศึกษา 48 คน และในปีการศึกษา 2529 มีนักเรียนที่กำลังศึกษาระดับต่างๆ จำนวน 43 คน สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วแต่ละคนได้มีอาชีพ มีรายได้พอช่วยตนเองและครอบครัวอันจะเป็นกำลังของชาติสืบไป

3.4 ทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนขาดแคลนทั่วไป
ในด้านทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนขาดแคลน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณาริเริ่มก่อตั้งกองทุนการศึกษา “ ทุนนวฤกษ์ ” ในมูลนิธิช่วยนักเรียนขาดแคลนในพระบรมราชู – ถัมภ์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยผู้ที่จบการศึกษาภาคบังคับที่มีผลการเรียนดี ความประพฤติดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้ได้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับการศึกษาต่างๆ ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา ฝึกหัดครู และอุดมศึกษา ซึ่งตั้งแต่ พ.ศ.2508 ถึง พ.ศ.2529 คณะกรรมการบริหารทุน นวฤกษ์ได้พิจารณาคัดเลือกให้นักเรียนรับพระราชทาน “ ทุนนวฤกษ์ ” จนเรียนจบจากโรงเรียนและวิทยาลัยในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไปแล้วมากกว่า 2,400 คน สำหรับปีการศึกษา 2529 มีผู้ได้รับพระราชทานทุนทั้งหมด 332 คน

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานความช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่บุตรในครอบครัวที่เดือดร้อนมากหรือขาดผู้อุปการะ เช่น กำพร้าบิดามารดา โดยพระองค์ทรงรับเด็กเหล่านั้นไว้เป็นนักเรียนในพระบรมราชานุเคราะห์ ซึ่งในแต่ละปีนักเรียนดังกล่าวมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ในพ.ศ.2529 พระองค์ได้พระราชทานค่าใช้จ่ายสำหรับทุนการศึกษาของนักเรียนในพระบรมราชานุเคราะห์มากกว่า 3 ล้านบาท

3.5 รางวัลพระราชทานแก่นักเรียนและโรงเรียนดีเด่น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานรางวัล เพื่อเป็นกำลังใจแก่นักเรียนและสถานศึกษาต่างๆ โดยพระราชทานรางวัลแก่นักเรียนและโรงเรียนดีเด่น ซึ่งเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2507 ได้แบ่งรางวัลพระราชทานเป็น 2 รางวัล คือ ประเภทนักเรียน และประเภทโรงเรียน

ปีการศึกษา 2528 ได้พระราชทานรางวัลนักเรียนดีเด่นซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยคัดเลือกจากนักเรียนที่มีความประพฤติดี มีผลการเรียนดีเด่น และสอบได้คะแนนยอดเยี่ยม จากโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนขนาดกลาง และโรงเรียนขนาดใหญ่ ทุกเขตการศึกษาทั่วประเทศ มีนักเรียนได้รับพระราชทารางวัล 111 คน เป็นนักเรียนระดับประถมศึกษา 39 คน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 39 คน ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 33 คน

ส่วนรางวัลประเภทโรงเรียนนั้น ได้คัดเลือกโรงเรียนที่จัดการศึกษาได้มาตรฐานดีเด่น จากทุกเขตการศึกษาทั่วประเทศ มีโรงเรียนได้รับรางวัลพระราชทาน เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา 40 โรง โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา 40 โรง รวมทั้งสิ้น 80 โรง

3.6 ทุนการศึกษาพระราชทานแก่นักเรียนเฉพาะสถานศึกษา
นอกจากทุนการศึกษาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นการทั่วไปแล้ว ยังมีทุนการศึกษาที่ทรงพระกรุณาพระราชทานให้เฉพาะสำหรับแต่ละสถานศึกษา ได้แก่ ทุนการศึกษาพระราชทานสำหรับนักเรียนที่เรียนดีเยี่ยม และนักเรียนที่เรียนดีแต่ขาดทุนทรัพย์ ของโรงเรียนราชประชาสมาสัย “ ทุนน้อมเกล้า ” โรงเรียนราชวินิต โรงเรียนวังไกลกังวล และทรงพระกรุณาก่อตั้งกองทุนการศึกษา “ ทุนภูมิพล ” เพื่อเป็นทุนอุดหนุนส่งเสริมการศึกษา แก่นิสิตและนักศึกษาที่เรียนด ีแต่ขาดทุนทรัพย์ ทุนการศึกษาเป็นรางวัลเรียนดีเยี่ยม และรางวัลการประกวดแต่งหนังสือภาษาไทย สำหรับนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งต่อมาทรงขยายการให้ทุนการศึกษา แก่สถาบันอุดมศึกษาอีกหลายแห่ง คือ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

3.7 มูลนิธิช่วยครูอาวุโส
มูลนิธิช่วยครูอาวุโสเป็นมูลนิธิหนึ่งที่มีความสำคัญต่อวงการศึกษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 100,000 บาท เป็นทุนประเดิมในการจัดตั้งมูลนิธิช่วยครูอาวุโส เมื่อ พ.ศ.2505 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชิดชูเกียรติและสงเคราะห์ครูอาวุโส คุณสมบัติของครูอาวุโส คือ ครูที่เป็นสมาชิกคุรุสภา ทุกคนที่ปฏิบัติหน้าที่ครูสืบต่อกันมาเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 30 ปี จนครบอายุ 60 ปีบริบูรณ์

มีประวัติการทำงานเป็นครูดีมาโดยตลอด มีความประพฤติเป็นแบบอย่างที่ดีตามจารีตของครู และไม่เคยมีความผิดใดๆ ครูอาวุโสผู้นั้นจะอยู่ในตำแหน่งหน้าที่สูงต่ำอย่างไรก็ตาม มูลนิธิจะมอบเครื่องหมายเชิดชูเกียรติให้ทุกคน เป็นการยกย่องคุณงามความดีที่ได้ปฏิบัติมา และถ้าปรากฏว่าครูอาวุโสคนใดประสบความยากจนค่นแค้นจริงๆ หรือขาดผู้อุปการะในบั้นปลายของชีวิต มูลนิธิจะมอบเงินจำนวนพอสมควร ให้เป็นการช่วยเหลือในการดำรงชีพต่อไป

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น ต่อครูอาวุโส พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะครูอาวุโสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และรับพระราชทานเครื่องหมายเชิดชูเกียรติเป็นประจำทุกปี นับแต่มูลนิธิช่วยครูอาวุโส ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เริ่มให้การช่วยเหลือตั้งแต่ พ.ศ.2510 ถึง พ.ศ.2529 รวม 20 ปี มีครูอาวุโสที่ได้รับเครื่องหมายเชิดชูเกียรติไปแล้วจำนวน 18,238 คน และในจำนวนนี้มีครูอาวุโสที่ได้รับการช่วยเหลือทางการเงิน 946 คน คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 7,568,000 บาท

พระมหากรุณาธิคุณนี้ เป็นกำลังใจและโน้มน้าวใจให้ครูทั้งปวงมีมานะเพียรพยายามประกอบอาชีพครูด้วยดี ซึ่งผลดีนี้ย่อมตกแก่เยาวชนของชาติ

ทุนการศึกษาต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตามที่กล่าวมา แสดงให้เห็นชัดถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงห่วงใยในการศึกษาของพสกนิกร ทั้งยังชี้ให้เห็นชัดถึงพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงเน้นให้เห็นถึงคุณค่าของการศึกษา ดังพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่คณะกรรมการการบริหารทุนพระราชทานโรงเรียนราชวินิต และนักเรียนที่ได้รับพระราชทานทุน ณ ตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2514 ความว่า

“… การศึกษาหาความรู้เป็นสมบัติที่ล้ำค่า จึงเป็นที่น่ายินดีที่มีผู้ได้สนับสนุนกิจการของโรงเรียน โดยเฉพาะที่ให้ทุนสำหรับนักเรียนที่เรียนดี ทุนนี้ก็เป็นการสนับสนุนให้นักเรียนพยายามหาความรู้ให้ดีที่สุด เพื่อจะได้มีความก้าวหน้า ทุนที่ได้รับจึงเป็นทุนทรัพย์ที่จะทำให้การศึกษาของอนุชนรุ่นหลังนี้มีความก้าวหน้าดี … แต่รางวัลที่จะได้อย่างสูงที่สุดก็คือความรู้ที่ได้ใส่แก่ตัวไว้ เพราะว่าสมบัตินี้มีคุณค่าอย่างสูงมากจะติดตัวอยู่เสมอ … แล้วความรู้นี้ก็จะเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เรามีชีวิตที่ก้าวหน้าได้ …” (สมาคมสันนิบาตมูลนิธิแห่งประเทศไทย, 2542 และสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2530)