พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

บทที่ 4 พระมหาธรรมิกราชเจ้า

เมื่อสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช (พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอนันทมหิดล รัชกาลที่ 8) เสด็จสวรรคต ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 และพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติและในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 ได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณี

จากปี พ.ศ.2489 – ปัจจุบัน (พ.ศ.2547) เป็นเวลา 58 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงดำรงในทศพิธราชธรรมพร้อมมูล คุณทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา ได้เขียนลงหนังสือ จิตวิทยาความมั่นคง (2530 : 47-58) ความว่า

“ เมื่อไทยได้อพยพมาสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้รับวัฒนธรรมมอญจากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์มาเจือปน ก็เข้ากันได้สนิทดี มีความนิยมที่จะให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็น ธรรมิกราช ดุจดั่งพระเจ้ามหาสมมติราชแห่งคัมภีร์พระธรรมศาสตร์นั้น โดยทรงบำเพ็ญ ทศพิธราชธรรม 10 ประการ ทรงประกอบ “ ราชสังคหวัตถุ ประการ ” และดำรงพระองค์อยู่ใน “ จักรวรรดิวัตร 12 ประการ 

1. ทศพิธราชธรรม

เป็นธรรมที่มีมาก่อนพุทธกาล อาจกล่าวได้ว่าเป็นปรัชญาการเมืองของโลกตะวันออก ที่วางกรอบปฏิบัติของผู้มีอำนาจปกครอง นักปราชญ์ทางพุทธศาสนาได้รับเข้าไว้เป็นธรรมในศาสนาของตน สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาเรื่องทศพิธราชธรรมในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 ความตอนหนึ่งมีว่า “ พระมหากษัตริย์ไทย ต้องยึดถือหลักปฏิบัติ ที่เรียกว่า ทศพิธราชธรรม หรือธรรม 10 ประการของพระมหากษัตริย์ เป็นไปตามหลักพุทธศาสนา ดังคาถาบาลีว่า

ทานํ สีลํ ปริจฺจาคํ
อกฺโกธํ อวิหึสญฺจ
อิจฺเจเต กุสเล ธมฺเม
ตโต เต ชายเต ปีติ

อาชฺชวํ มทฺทวํ ต ปํ
ขนฺติญฺจ อวิโรธนํ
ฐิเต ปสฺสาหิ อตฺตนิ
โสมนสฺสญฺจนปฺปกํ

แปลความว่า ขอพระองค์ผู้เป็นบรมกษัตริย์ธิราช จงทรงพระปรีชาสามารถพิจารณาเห็นราชธรรมที่เป็นกุศลส่วนชอบ 10 ประการ ให้ดำรงในพระราชสันดานเป็นนิตย์ ดังนี้ ทานํ การให้ 1 สีลํ การตั้งสังวร รักษากาย วาจาให้สะอาด ปราศจากโทษ 1 บริจฺจาคํ การบริจาคสละ 1 อาชฺชวํ ความซื่อตรง 1 มทฺทวํ ความอ่อนโยน 1 ตปํ การขจัดความเกียจคร้านและความชั่ว 1 อกฺโกธํ การไม่โกรธ 1 อวิหึสญฺจ การไม่เบียดเบียนผู้อื่น ตลอดถึงสัตว์ให้ได้ทุกข์ยาก 1 ขนฺติญฺจ ความอดทนต่อสิ่งควรอดทน เป็นเบื้องหน้า 1 อวิโรธนํ การปฏิบัติไม่ให้ผิดจากการที่ถูกที่ตรงและดำรงอาการคงที่ ไม่ให้วิการด้วยอำนาจยินดียินร้าย 1 บรรจบเป็นกุศลส่วนชอบ 10 ประการ ลำดับนั้นพระปิติ และพระโสมนัสไม่น้อยจักเกิดมีแต่พระองค์ เพราะได้ทรงพิจารณาเห็นกุศลธรรมเหล่านี้มีในพระองค์เป็นนิตย์ ”

ต่อไปนี้จะได้ขออัญเชิญพระราชกรณียกิจ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาประกอบคำอธิบายทศพิธราชธรรม 10 ข้อ ดังนี้

พระราชธรรม ข้อที่ 1 ราชธรรม “ ทานํ ” การให้

ราชธรรม “ ทาน ” คือการให้ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น อาจกล่าวได้ว่าเหลือที่จะพรรณนาได้สุดสิ้น มีการพระราชทานพระราชทรัพย์ไปยังองค์การ คณะบุคคลและรายบุคคลหลายอาชีพหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นตำรวจทหารที่รักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติ ประชาชนในถิ่นทุรกันดาร ผู้เจ็บไข้ได้ป่วย นักเรียนนักศึกษา แม้กระทั่งการช่วยเหลือการศพผู้ทำคุณงามความดีไว้แก่ประเทศชาติ

มีตัวอย่างที่ดีที่สุดอันแสดงว่าปีหนึ่งๆ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ในเรื่องใดบ้าง คือ ได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุด นำคณะผู้จัดการเดินการกุศลเทิดระเกียรติเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2527 เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาททูลเกล้าฯ ถวายเงินจำนวน 60 ล้านบาท เพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2528 ได้มีพระราชดำรัสแก่คณะผู้เฝ้า และได้เรียบเรียงขึ้นตามที่ได้บันทึกพระสุรเสียงไว้ ความตอนหนึ่งมีดังนี้

“ พูดถึงเงินที่ได้ให้มาแล้วก็เป็นเงินที่มีการบริจาคมาจากทั่วประเทศ ก็รู้สึกซาบซึ้งในความตั้งใจดีของทุกคนที่ได้บริจาค จะมากหรือน้อยก็แล้วแต่ แต่ก็รวมเข้ามาแล้วก็เป็นจำนวนมากทีเดียว จำนวนมากนี้ก็ต้องยอมรับว่าดีใจ ดีใจที่ได้รับมา เพราะว่าค่าใช้จ่ายในการทำงานก็มีมากไม่น้อย ดังที่ได้รายงานที่กล่าวตะกี้ว่าเห็นว่าไปทำงานในด้านพัฒนาในโครงการต่างๆ ก็สิ้นเปลือง นอกเหนือจากเงินที่มีอยู่เป็นเงินงบประมาณหรือเงินสำหรับงานประจำ เงินของงานประจำก็มีงานพิเศษซึ่งเบิกงบประมาณไม่ได้ นอกจากนั้นก็ได้ช่วยเกี่ยวข้องกับการสาธารณสุขอนามัยของประชาชน และเกี่ยวข้องกับเรื่องของการศึกษาของทั้งเยาวชนทั้งผู้ใหญ่ที่จะต้องให้ความรู้ เพื่อที่จะให้เป็น บุคคลที่มีประโยชน์ได้ต่อส่วนรวม ฉะนั้นก็ต้องใช้เงินมากทีเดียว จึงขอถือโอกาสแจ้งให้ท่านทั้งหลายแล้วก็กับผู้ที่บริจาคทั้งหลาย ที่ท่านมาวันนี้เป็นเพียงจำนวนหนึ่งของผู้ที่ได้ทำงานนี้ ยังมีจำนวนอีกตั้ง 6 ล้านคน ประมาณ 6 ล้านคนที่ได้ร่วมในงานนี้ด้วย ยังเข้ามาในนี้ไม่ได้ แต่ก็ต้องขอฝากขอบใจทุกคนที่ได้บริจาคทั้งทรัพย์และได้ร่วมในงานเพื่อสร้างกำลังใจและสร้างความสามัคคี

ตอนนี้ก็ขออนุญาตแจ้งว่าเงินที่ท่านได้มอบมานั้น จะบอกว่าจะนำไปใช้เป็นประโยชน์ก็บอกไม่ได้ เพราะว่าเงินที่ท่านนำมาแล้ว และที่ท่านนำมาเมื่อครู่นี้นั้นใช้หมดแล้ว อันนี้ก็จะดูเหมือนว่าแปลก ทำไมบอกว่าใช้หมดแล้ว แต่เมื่อท่านมาแล้วก็คงอยากทราบว่าจะไปใช้อย่างไร ก็บอกว่าใช้ไปแล้ว แล้วก็ขอได้อ่านรายการโดยสังเขป

… ตะกี้ท่านผู้บัญชาการ ( พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ) ได้อ่านรายการของเงินทางภาครับ ตอนนี้ก็ขออ่านบัญชีเงินในภาคจ่าย คือมีค่าใช้จ่าย อันนี้ก็จ่ายไปแล้ว เพราะว่าเป็นรายการที่เป็นของปี 2527 เดี๋ยวนี้ก็เป็นปี 2528 แล้ว เข้ามาก็มาครึ่งเดือนกว่าแล้ว เกือบเดือน อันนี้เป็นสรุป สรุปว่าเงินที่ท่านได้บริจาคและท่านได้จัดงานเพื่อให้มีผลขึ้นมานั้นได้จ่ายไปอย่างไร อันนี้เป็นส่วนเดียวที่มีค่าใช้จ่ายประจำ หรือเรียกว่าค่าใช้จ่ายตามงบประมาณ งบประมาณนั้นก็หมดแล้ว ตามที่ท่านได้ทราบว่างบประมาณก็จำกัด งบประมาณแผ่นดินก็จำกัด ก็ถูกตัดไปด้วย บางทีก็ต้องใช้เงินเรียกว่าเงินส่วนตัวบ้าง เงินส่วนที่มีสิทธิ์ที่จะใช้ แล้วก็เงินที่มีผู้บริจาค ทั้งหมดนี้ก็ไม่ครบ แต่ว่าจะให้เห็นว่าเงินที่ท่านได้นำมาในวันนี้ ที่มาจากทั่วทุกมุมของประเทศ เข้ามาที่นี่แล้ว แล้วก็ออกไปยังไง

อันนี้ก็มีรายการต่างๆ อันนี้ก็เป็นรายการที่ไม่ครบถ้วน แต่ว่าทำมาเพื่อเป็นตัวอย่าง ว่ามีค่าเวชภัณฑ์และค่ารักษาพยาบาลในปี 24 นี้เป็นสิบหกล้านแปดแสนหกหมื่นเก้าพันเจ็ดร้อยสิบเจ็ดบาทสองสตางค์ แล้วก็มีพระราชทานบำรุงโรงพยาบาลและหน่วยทหารหกล้านสามแสนเจ็ดหมื่นห้าพัน แล้วก็มีสำหรับนักเรียนที่ได้สงเคราะห์อยู่เป็นเงินค่าใช้จ่ายของการให้ค่าหนังสือ ค่าเบี้ยเลี้ยงหรืออะไรของเขา ซึ่งแต่ละคนก็ไม่มากนัก แต่รวมไปก็มากเป็นสี่ล้านหนึ่งแสนเก้าหมื่นเก้าพันสี่ร้อยแปดสิบสองบาทห้าสิบสตางค์ ต่อไปก็มีสิ่งที่เป็นเครื่องอุปโภคบริโภคที่ให้แก่ราษฎร เป็นเงินแปดล้านแปดแสนหนึ่งหมื่นเก้าพันหนึ่งร้อยหกสิบหกบาทเจ็ดสิบห้าสตางค์ และมีที่ให้เครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ นี้ที่ให้ตำรวจ ทหาร แปดล้านหกแสนสี่หมื่นห้าพันสามร้อยเจ็ดสิบสี่บาทตอนนี้ก็มีการกุศลต่างๆ แต่ว่าในที่นี้เขาเขียนไว้ การศพ หมายความว่าคนเราเกิดแล้วก็ต้องตาย ที่ตายไปก็มีคนที่ได้ทำความดีความชอบ ก็ต้องให้ศพเขาทำให้สมเกียรติ คนอาจจะว่าคนตายแล้วเขาก็เอาไปไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามก็เป็นความกตัญญูต่อผู้ล่วงลับไป เพราะว่าบางคนก็ได้ปฏิบัติงานดีเด่น แต่ว่าไม่สามารถที่จะเอาเงินฌาปนกิจอะไรมาให้มาใส่ ก็เลยต้องช่วยบ้าง เป็นเงินสองล้านหกแสนหนึ่งหมื่นหกพันแปดร้อยห้าสิบบาทห้าสิบสตางค์
คราวนี้ก็มีรายการอันหนึ่งที่เขียนไว้ด้วยก็อาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมาใส่ในรายการอย่างนี้ คือการซื้อรถเป็นรถแบบอ้วนๆ ใหญ่ๆ ก็เป็นรถที่ถ้าผู้ที่ติดตามดูรายการทีวีว่าเวลาไปพัฒนาทีไรก็มีกระบวนยาวมาก แล้วก็บางทีอย่างพวกตำรวจที่เขามีหน้าที่ที่จะนำขบวน เขาก็ต้องแจ้งว่ามีรถเท่านั้นคันเท่านี้คัน ก็ทราบดีว่าเป็นกระบวนยาว

ส่วนตำรวจจราจรตามทางเวลาออกไปเขาบอกว่ากระบวนมีความยาวให้ระวัง คือว่าเป็นหน้าที่ของตำรวจที่จะให้ระวัง ก็แจ้งอยู่เสมอว่ากระบวนมีความยาว ก็กลัวความยาว เลยไปซื้อรถมา ซื้อรถมาไอ้แบบอ้วนๆ ใหญ่ๆ นั่นนะ 3 คัน แล้วรถช่างอีก 2 คัน คือเวลาไปที่ไหนเอะอะอะไรก็เดี๋ยวเรียกรถช่าง เพราะว่าเดี๋ยวไอ้นี่ได้โน่นเสีย บางทีเดินทางไปสะพานขาดก็เรียกรถช่างขึ้นมา มาทำสะพาน ก็เหมือนว่าเป็นฝ่ายช่างของกระบวน ก็ทั้งหมดรถ 3 คัน แล้วก็รถช่างอีก 2 คัน เป็นเงินสองล้านแปดพันสามร้อยหกสิบเจ็ดบาทห้าสิบสตางค์ แล้วก็มีอีกรายการในนี้ รายการสุดท้ายคือรายการพัฒนาชาวเขามีสิบเก้าล้านสี่แสนหนึ่งหมื่นแปดพันเจ็ดร้อยยี่สิบเอ็ดบาท ในการนี้ไปทั้งหมดนี้ก็ยังมีค่าน้ำมัน คือ ค่าน้ำมันตามงบประมาณก็มีอยู่ เขาให้ค่าน้ำมันสำหรับใช้จ่ายในงานกิจการประจำ แต่ว่าส่วนมากเวลาไปต่างจังหวัด โดยที่มีกระบวนยาวแล้วก็มีภารกิจมากออกทุกวัน บางที่ 2-3 ภารกิจ ก็จะต้องใช้น้ำมันพิเศษขึ้นมา ก็แจกจ่ายออกไปอีกเป็นจำนวนหลายแสนบาท หรือจะเป็นหลายพันล้านบาท แต่ก็ไม่ได้อยู่ในนี้ เขาคงอายไม่อยากที่จะให้มากเกินไป แล้วก็อาจจะเห็นว่าถ้ามาใส่ในนี้จะเป็นการบอกบุญมากเกินไป เพราะว่าท่านก็นำเงินมาเป็นจำนวนหกสิบล้านกว่านิดหนึ่ง ก็กลัวว่าจะเป็นการบอกบุญขอเพิ่มเติม ซึ่งที่รายการต่างๆ ที่บอกไว้นี้ก็รวมแล้วเป็น เจ็ดสิบสองล้านสองแสนเก้าหมื่นเจ็ดพันเก้าร้อยสี่สิบสี่บาทเก้าสิบสตางค์ ก็หมายความว่าตอนนี้ก็ยังขาดทุนอยู่ ”

พระราชธรรมข้อที่ 2 “ สีลํ ” ทรงบำเพ็ญศีล

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ของเรานั้น ในฐานะที่ทรงเป็นพุทธมามกะ นอกจากจะได้ทรงศีลตามโอกาสต่างๆ อันควรแก่กาลสมัยแล้ว ก็ได้ทรงถือปฏิบัติตามโบราณประเพณี กล่าวคือเสด็จออกทรงผนวชเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2499 โดยทรงมีพระราชดำรัสในโอกาสดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2499 ความตอนหนึ่งว่า

“ โดยที่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของเรา ทั้งตามความศรัทธาเชื่อมั่นของข้าพเจ้าเองก็เห็นเป็นศาสนาที่ดีศาสนาหนึ่ง เนื่องในบรรดาสัจธรรมคำสั่งสอนอันชอบด้วยเหตุผล จึงเคยคิดอยู่ว่าถ้าโอกาสอำนวย ข้าพเจ้าควรจักได้บวชสักเวลาหนึ่งตามราชประเพณี ซึ่งจัดเป็นทางสนองพระเดชพระคุณพระราชบูรพการีตามคตินิยมด้วย

และนับตั้งแต่ข้าพเจ้าได้ครองราชย์สืบสันตติวงศ์ต่อจากสมเด็จพระเชษฐาธิราช ก็ล่วงมากว่าสิบปีแล้ว เห็นว่าน่าจะถึงเวลาที่ควรจะทำตามความตั้งใจไว้นั้นแล้วประการหนึ่ง อนึ่ง การที่องค์สมเด็จพระสังฆราชหายประชวรมาได้ ในคราวประชวรครั้งหลังนี้ ก่อให้เกิดความปีติยินดีแก่ข้าพเจ้ายิ่งนัก ได้มาคำนึงว่า ถ้าในการอุปสมบทของข้าพเจ้า ได้มีองค์สมเด็จพระสังฆราชเป็นพระอุปัชฌาย์แล้ว ก็จักเป็นการแสดงออกซึ่งความศรัทธาเคารพในพระองค์ท่านของข้าพเจ้าได้อย่างเหมาะสมอีกประการหนึ่ง จึงได้ตกลงใจที่จะบรรพชาอุปสมบทในวันที่ 22 เดือนนี้ ”

เป็นที่น่าสังเกตว่า ลักษณะของพระเจ้าแผ่นดินไทยนั้นคือทรงเป็นอนุศาสก กล่าวคือ ทรงสอนธรรมแก่ประชาชน ซึ่งเราจะได้เห็นพระราชจรรยาวัตรอันนี้มาแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงแห่งกรุงสุโขทัยแล้ว ในการวิเคราะห์พระราชจรรยาวัตรซึ่งเป็นนามธรรมนั้น จำเป็นที่จะต้องอาศัยจากพระบรมราโชวาทหรือพระราชดำรัสประกอบด้วย

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ศีลคู่กับธรรม ศีลคือข้อห้ามและธรรมคือข้อปฏิบัติ ศีลธรรมเป็นเครื่องค้ำจุนโลกและเป็นประทีปส่องทางชีวิต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอนุศาสน์หลักศีลธรรมไว้เสมอ ดังพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและประกาศนียบัตร ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2500 ความตอนหนึ่งว่า

“ อันสิ่งที่เรียกกันว่า “ อุดมคติ ” นั้น คือมโนภาพหรือความนึกคิดถึงความดีความงามอันเลอเลิศในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งถ้าเป็นไปตามมโนภาพนั้นแล้วก็จะจัดว่าเป็นของที่ดีที่งามเลิศด้วยประการทั้งปวง กล่าวโดยทั่วไปมนุษย์เราย่อมปรารถนาจะประสบแต่สิ่งที่ดีที่งามเจริญตาเจริญใจ จึงควรจะได้มีอุดมคติด้วยกันทั้งนั้น แต่หากควรเป็นไปในทางไม่ก่อความเบียดเบียนแก่ผู้อื่น โดยเพ่งเล็งถึงประโยชน์สุขของผู้อื่นหรือส่วนรวมด้วย การเล็งผลดีหรืองานเลิศดังว่านี้ ถ้าหากเป็นไปเพียงแต่เพื่อประโยชน์สุขของตนเท่านั้น และเป็นการเบียดเบียนประโยชน์สุขของผู้อื่นแล้ว ก็จะกลายเป็นความเห็นแก่ตัว หาควรได้ชื่อว่า “ อุดมคติ ” ไม่ การประกอบสร้างอุดมคติขึ้นนั้นย่อมกินเวลา ในบางกรณีอาจได้เริ่มประกอบสร้างกันขึ้นแต่อายุยังน้อย ในบางรายอาจมีอุดมคติขึ้นเมื่อเติบโตอายุมากแล้ว แต่สำหรับท่านที่ผ่านการศึกษาเช่นนี้แล้ว ควรจะต้องได้มีได้ยึดอุดมคติประกอบการที่จะปฏิบัติสิ่งใดไปในภายหน้าด้วย ข้อสำคัญนั้นควรต้องเป็นตัวของตัวเองยึดถืออุดมคติซึ่งชอบด้วยศีลธรรมอันดีทั้งในแง่ความนึกคิด และในทางปฏิบัติ มิใช่ยอมรับทำตามอุดมคติของผู้อื่นโดยมิได้พิจารณาให้ถ่องแท้ ถ้าทุกคนมีอุดมคติอันดีดั่งว่าและต่างปฏิบัติตามโดยสุจริตใจ เพ่งเล็งถึงประโยชน์สุขอันแท้จริงของส่วนรวมกันแล้ว ข้าพเจ้าก็เชื่อว่า จะเป็นผลดี ส่งเสริมความสุขความเจริญของประเทศชาติ ซึ่งก็จัดว่านำความเจริญมาสู่แต่ละคนและตนเองด้วย แม้หากชาติบ้านเมืองต้องเสื่อมหรือสลายลงแล้ว ประโยชน์สุขส่วนบุคคลจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตและนักศึกษาวิทยาลัยวิชาการศึกษาเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2505 ความตอนหนึ่งว่า

“… คนเรานั้นจะว่าไป ก็เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งในบรรดาสัตว์ทั้งหลาย แต่มีการแตกต่างกันหลายประการ ประการที่สำคัญที่สุดก็คือ ความรู้ สัตว์อื่นทั้งหลายที่เกิดมาได้รับการฝึกสอนจากพ่อแม่ ก็เพียงให้รู้ถึงวิธีดำเนินความเป็นอยู่อย่างธรรมดาของสัตว์หรืออาศัยสัญชาตญาณที่มีอยู่ในตัวนั้น ส่วนคนนั้นนอกจากความรู้ที่ได้รับมาตามธรรมชาติแล้ว ยังมีสติปัญญาที่จะค้นคว้าหาความรู้สืบต่อกันมาแต่บรรพบุรุษ มีตำรับตำราเป็นอันมาก ซึ่งได้เขียนไว้ให้คนชั้นหลังได้เรียนรู้ ถึงวิชาการและขนบธรรมเนียมประเพณีอันชอบด้วยศีลธรรม ปัญญานี้แหละเป็นสิ่งสำคัญที่คนจะต้องนำไปใช้ในทางที่ดีที่ชอบประกอบกับตำรา และขนบธรรมเนียมประเพณีอันมีมาแต่โบราณกาลนั้น แต่ถ้านำเอาปัญญาไปใช้ในทางที่มิชอบ ปราศจากศีลธรรม คนก็จะเลวกว่าสัตว์ … ”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตและนักศึกษาวิทยาลัยวิชาการศึกษาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2503 ความตอนหนึ่งว่า

“ … ผู้ที่เป็นอาจารย์นั้น ใช่ว่าจะมีแต่ความรู้ในทางวิชาการและในทางการสอนเท่านั้นก็หาไม่ จะต้องรู้จักอบรมเด็กทั้งในด้านศีลธรรมจรรยาและวัฒนธรรม รวมทั้งให้มีความสำนึกรับผิดชอบในหน้าที่และในฐานะที่เป็นพลเมืองดีของชาติต่อไปข้างหน้า การให้ความรู้หรือที่เรียกว่าการสอนนั้นต่างกับการอบรม การสอนคือการให้ความรู้แก่ผู้เรียน ส่วนการอบรมเป็นการฝึกจิตใจของผู้เรียนให้ซึมซาบจนติดเป็นนิสัย ขอให้ท่านทั้งหลาย จงอย่าสอนแต่อย่างเดียว ให้อบรมให้ได้รับความรู้ดังกล่าวมาแล้ว …”

ศีลเป็นข้อแรกของไตรสิกขา ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ผู้มีศีลเท่านั้นจึงจะมีสมาธิ และผู้มีสมาธิเท่านั้นจึงจะเกิดปัญญา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราทรงถึงพร้อมด้วยศีล ทรงมีสมาธิแน่วแน่ในการทรงปฏิบัติพระราชภารกิจ ทรงมีพระปัญญาสว่างไสวในการคิดพิจารณาถึงปัญหาและทรงแก้ปัญหา ศีลเป็นเครื่องยังกายวาจาใจให้สงบ ผู้สงบแล้วย่อมเบิกบาน มีปรีชาชาญในทุกๆ เรื่อง ซึ่งเราชาวไทยทั้งหลายจะพึงสังเกตเห็นได้จากพระราชจริยาวัตรของพระองค์

พระราชธรรมข้อที่ 3 “ ปริจฺจาคํ ” ทรงบำเพ็ญบริจาค

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงสรุปแนวความคิดว่าทศพิธราชธรรม เปรียบเทียบกับทศบารมีในพุทธศาสนา เถรวาทในพระราชนิพนธ์เรื่อง ทศบารมีในพุทธศาสนาเถรวาท ข้อว่าบริจาคไว้ดังนี้

“ บริจาค คล้ายกับทาน คือ ทานหมายถึงการให้ เป็นการมุ่งให้ผู้รับได้ประโยชน์ ส่วนบริจาค หมายถึง การเสียสละ เช่นเสียสละประโยชน์หรือความสุขส่วนตน เป็นต้น พระมหากษัตริย์หรือผู้ปกครอง ควรจะมีธรรมะในการประพฤติปฏิบัติกิจทั้งปวง เพื่อประโยชน์สุขของคนหมู่มาก ฉะนั้นจะต้องสละความยึดถือประโยชน์ส่วนตน ข้อนี้คล้ายกับบารมี แต่จุดประสงค์ต่างกันเท่านั้น เมื่อพิจารณาชื่อธรรมในทศพิธราชธรรมทั้งหลายเหล่านี้ทีละข้อ จะเห็นได้ว่ามีลักษณะอย่างเดียวกับทศบารมีธรรมที่กล่าวมาแล้ว ”

การบำเพ็ญพระราชกรณียกิจทั้งปวงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โดยมิได้ทรงย่อท้อต่อความเหนื่อยยากตรากตรำ นับเป็นความเสียสละหรือมหาบริจาคะ ตามแนวทางแห่งพระพุทธศาสนาสำหรับการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร ซึ่งถือเป็นพระราชภารกิจหลักนั้น จะเป็นการเสด็จพระราชดำเนินอย่างเป็นทางการ ไปทรงเยี่ยมกิจการโครงการต่างๆ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และเสด็จฯ ทรงเป็นประธานในพิธีต่างๆ ตามที่จังหวัดกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนิน ทั้งนี้จะทรงรับเชิญเสด็จพระราชดำเนินเมื่อโอกาสอำนวยเท่านั้น

การเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์เพื่อการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามเพื่อส่วนรวมก็ได้ชื่อว่าการเสียสละประการหนึ่ง ซึ่งจะเห็นได้ว่าคุณธรรมข้อนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในบุคคลและเหตุการณ์ต่างๆ ได้ ดังพระบรมราโชวาทพระราชทานแก่คณะกรรมการสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2515 ความตอนหนึ่งว่า

“ … นักหนังสือพิมพ์และหนังสือพิมพ์ทั้งหลาย ผู้ที่เกี่ยวข้องกับข่าวการแสดงความคิดเห็นแก่ประชาชน มีหน้าที่สำคัญอีกทางหนึ่ง คือทำให้เกิดความเข้าใจอันดีขึ้นในประเทศ ระหว่างประชาชนทั้งหลายและเสนอข่าวให้ประชาชนทราบการนี้ ถ้าเสนอข่าวและเสนอบทความที่เป็นประโยชน์สร้างสรรค์ก็เท่ากับสร้างสรรค์ความเจริญ ความมั่นคงของบ้านเมือง ฉะนั้น หน้าที่ของหนังสือพิมพ์จึงมีมากและสำคัญ เขาว่าหนังสือพิมพ์เป็นกำลังของบ้านเมือง ถ้าหากว่าใช้กำลังในทางที่ดี ก็จะทำให้บ้านเมืองไปในทางที่ดี แต่ถ้าใช้กำลังในทางที่เรียกว่า ไม่ดี ก็จะทำให้บ้านเมืองเป็นไปในทางที่ไม่ดี คือเสื่อม กำลังที่ไม่ดีนี้จะมาพูดก็ยากที่บ่งว่าคืออะไรบ้าง แต่ส่วนมากเรามองเห็นได้ว่า สิ่งที่ทำใดๆ ถ้าหากว่าเจตนาเพื่อสร้างสรรค์ก็จะเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้ามีเจตนาสร้างสรรค์แต่เฉพาะบุคคลส่วนใดส่วนหนึ่งของธรรมชาติ โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะมีต่อส่วนอื่น ก็เข้าใจว่าจะเรียกได้ว่า เป็นการกระทำในทางที่ไม่ดี ฉะนั้น เมื่อมีพลังนี้ในหนังสือพิมพ์ จึงต้องระมัดระวังและต้องใช้ความพินิจพิเคราะห์ที่ดี และต้องมีสิ่งที่เรียกว่า ความเสียสละบ้าง เพื่อส่วนรวม …”

ในบรรดาราชธรรมทั้ง 10 ประการ แม้ว่าข้อปริจจาคะคือการเสียสละจะเป็นนามธรรมมากกว่า ทาน คือการให้ปันสิ่งของ แต่เมื่อวิเคราะห์พระราชจรรยาวัตรแล้ว ก็ธรรมข้อนี้แลโดดเด่นที่สุด เพราะเป็นข้อที่เกี่ยวข้องกับประชาชนมากที่สุด การบำเพ็ญพระราชกรณียกิจใหญ่น้อยทั้งปวง เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวไทย โดยมิได้ทรงย่อท้อต่อความเหนื่อยยากตรากตรำ สงเคราะห์เข้าในหลักธรรมข้อว่าปริจจาคะ คือความเสียสละนี้ทั้งสิ้น และพระราชจรรยาวัตรข้อนี้เอง ที่ทำให้พระมหากษัตริย์ไทยทรงชำนะจิตใจของประชาชนและโดดเด่นเป็นที่สดุดีของชาวโลก

พระราชธรรมข้อที่ 4 “ อาชฺชวํ ” ทรงบำเพ็ญอาชชวธรรม

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแสดงอรรถาธิบายคำอาชชวะในพระราชนิพนธ์เรื่อง ทศบารมีในพุทธศาสนาเถรวาท ว่า

“ อาชชวะ คือความเป็นผู้มีอัธยาศัยซื่อตรง ไม่ประพฤติหลอกลวงหรือหลีกเลี่ยงแอบแฝง คนที่อยู่ร่วมกันเป็นหมู่ ถ้าปฏิบัติไม่ตรงในงานตามหน้าที่ ไม่ซื่อตรงต่อกันและกัน จะเกิดความแตกร้าว อยู่เป็นสังคมที่สงบสุขไม่ได้

พระมหากษัตริย์จะต้องมีพระอัธยาศัย ประกอบด้วยความเที่ยงตรงต่อประชาชนโดยทั่วไป ไม่ทรงคิดลวงหรือประทุษร้ายผู้ใด ”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ของเรานั้นในฐานะทรงเป็นประมุขของชาติ ทรงเป็นศูนย์รวมใจไทยทั้งชาติ เป็นที่สมัครสมานสามัคคีของทุกหมู่เหล่า ทรงวางพระองค์เป็นกลางต้องอยู่ในหลักพรหมวิหารธรรม ทรงร่วมทุกข์ร่วมสุขกับราษฎร มีพระราชอัธยาศัยซื่อตรงต่อบุคคลทั้งปวงทุกหมู่เหล่า มิได้ทรงแสดงพระอคติลำเอียงให้ปรากฏ ในฐานะพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญก็ได้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจอย่างครบถ้วน เป็นที่เทิดทูนสักการะของพสกนิกรทั่วหน้า

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ของเรานั้นทรงเป็นยิ่งกว่ามหากษัตริย์ คือมิใช่ประมุขของประเทศอย่างที่นานาประเทศเข้าใจ แต่ทรงเป็นผู้นำพัฒนาชุมชน และทรงปฏิบัติต่อพสกนิกรของพระองค์เสมอหน้า ไม่ว่าในเขตกรุงเทพมหานคร หรือในท้องถิ่นทุรกันดาร เช่นชุมชนชาวเขาในท้องที่ห่างไกล

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มีพระราชหฤทัยผูกพันต่อทุกข์สุขของปวงอาณาประชาราษฎร์อยู่ตลอดเวลา ทรงอุทิศเวลาส่วนใหญ่เสด็จฯ เยี่ยมเยียนประชาชนอย่างไม่ทรงคำนึงถึงเชื้อ

ชาติและศาสนา ไปในพื้นที่ต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักร เฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ห่างไกลการคมนาคมที่ความช่วยเหลือของทางราชการยังแผ่กระจายไปไม่ทั่วถึง แม้ว่าพื้นที่บางแห่งจะมีความทุรกันดารต้องทรงพระดำเนินเข้าไปเป็นระยะทางหลายๆ กิโลเมตรก็มิได้ทรงย่อท้อหรือเหนื่อยหน่ายพระราชหฤทัย ดังความตอนหนึ่งในพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เกี่ยวกับการเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรว่า

“ … พระเจ้าอยู่หัวและข้าพเจ้าไม่พึงพอใจกับการที่เพียงแต่เยี่ยมเยียนราษฎร หรือเพียงแต่ทำสิ่งที่เคยทำกันเป็นประเพณี เราต้องพยายามทำดีกว่านั้น เราต้องพยายามช่วยรัฐบาลส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น เพราะเราเป็นประเทศด้อยพัฒนา ดังนั้น การเพียงแต่ไปเยี่ยมเยียนราษฎรเพราะถือว่าเป็นหน้าที่ที่ประมุขของประเทศจะต้องกระทำตามประเพณีนั้น เป็นเรื่องไร้สาระ หากเราไม่สามารถมีส่วนร่วมในการบรรเทาทุกข์ยากของประชาชนแล้ว เราก็ต้องถือว่าการเป็นประมุขของประเทศประสบความล้มเหลว … ”

ในฐานะพุทธมามกะ ก็ทรงบำเพ็ญหน้าที่อย่างบริบูรณ์ ขณะเดียวกันก็ทรงดำรงพระองค์เป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกแห่งศาสนาทั้งปวง ก่อให้เกิดสมานฉันท์และความร่วมมือร่วมใจกันในบรรดาศาสนิกต่าง ๆ ทั้งนี้ก็ด้วยพระบารมีธรรมข้ออาชชวะคือความตรงและความซื่อตรง

อนึ่ง ศาลสถิตยุติธรรม ซึ่งกระทำการตัดสินในพระปรมาภิไธย ก็ยังเป็นที่ยอมรับนับถือของประชาชนโดยทั่วไปว่าบริสุทธิ์ยุติธรรม แม้แต่บุคคลผู้ประกอบเป็นองค์คณะผู้พิพากษาก็ยังได้รับความยกย่อง ให้เป็นผู้ประกอบด้วยอาชชวธรรมและสัจจะความจริงใจ

พระราชธรรม ข้อที่ 5 “ มทฺทวํ ” ความเป็นผู้อ่อนโยน

ราชธรรมมัททวะ ได้แก่ทรงมีพระราชอัธยาศัยอ่อนโยน มีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่ อ่อนโยนต่อผู้เสมอกันและต่ำกว่า วางพระองค์เสมอต้นเสมอปลาย ไม่ทรงกระด้างดูหมิ่นผู้อื่น พระบรมฉายาลักษณ์ ขณะที่เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยม และทรงสักการะพระเถระผู้ใหญ่ยังพระอารามต่างๆ นั้น ก่อให้เกิดความประทับใจแก่ผู้พบเห็นทุกคนทุกครั้ง เช่น ภาพทรงสักการะหลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง จังหวัดเชียงใหม่ และภาพทรงประคับประคองหลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี กรุงเทพมหานคร กลับจากงานพระราชพิธีในพระราชฐาน

มีที่น่าอัศจรรย์ใจเรื่องหนึ่ง คือ พระมหากษัตริย์ไทย 2 พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเฝ้าสันตะปาปา ประมุขของชาวคริสต์ทั่วโลกที่นครวาติกัน ได้ทรงแสดงราชธรรมมัททวะ ข้อนี้เหมือนกัน กล่าวคือ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสทวีปยุโรปครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2440 ได้เสด็จไปเฝ้าสันตะปาปาด้วย ในฐานะที่ทรงเป็นพุทธศาสนิกชนได้ทรงหาทางทำความเคารพสันตะปาปาได้อย่างงดงามที่สุด ดังพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตอนหนึ่งว่า

“… จะต้องทูลสารภาพอย่างหนึ่งเรื่องไปจูบมือโป๊ป ขอให้ทรงเข้าพระทัยว่าตั้งใจจะจูบมือคนแก่เท่านั้น เพราะเจ้าฝรั่งเขาจูบตีนกัน … แต่ความจริงโป๊ปเป็นคนแก่ควรบูชา และความประพฤติก็อยู่ในสุจริต ประกอบไปด้วยมัธยัสถ์และสันโดษ …”

ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนิน เยือนประเทศซีกโลกตะวันตกอย่างเป็นทางราชการ เมื่อ พ.ศ.2503 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นที่ 23 องค์ประมุขแห่งนครรัฐวาติกันและแห่งคริสต์ศาสนจักรโรมันคาทอลิก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงบันทึกเหตุการณ์วันนั้นไว้ในบทพระราชนิพนธ์เรื่อง “ ความทรงจำในการตามเสด็จต่างประเทศทางราชการ ” ความตอนหนี่งว่า

“… เมื่อสันตะปาปาทรงยื่นพระหัตถ์มา พระเจ้าอยู่หัวทรงก้มพระองค์ลงคำนับแล้วจับพระหัตถ์ ทรงเล่าประทานข้าพเจ้าภายหลังว่า สันตะปาปาทรงเอื้อมกรมายึดพระองค์ไว้ไม่ให้ทรงก้มต่ำเกินไป เราทั้งสองคิดเอาเองว่า เห็นจะเป็นเพราะท่านมีพระเมตตา ไม่อยากให้เราทำสิ่งใดที่ไม่ถูกต่อกฎศาสนาของเรากระมัง ส่วนข้าพเจ้าเมื่อท่านส่งหัตถ์มาประทาน ก็ถอนสายบัวถวายท่านด้วยความเคารพ ขณะที่จับพระหัตถ์ เราทั้งสองเห็นว่านอกจากท่านจะทรงมีวัยวุฒิแล้ว ยังมีคุณวุฒิซึ่งสาธุชนนับถือกันทั่วโลกอีกด้วย พระบรมศาสดาของเราก็ทรงสอนเราไว้ว่า การบูชาผู้ควรบูชาเป็นมงคลยิ่งนัก …”

พระราชธรรมข้อที่ 6 “ ตปํ ” ทรงบำเพ็ญตบะ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงให้อรรถาธิบายความหมายของตบะในพระราชนิพนธ์เรื่อง “ ทศบารมีในพุทธศาสนาเถรวาท ” ไว้ดังนี้

“ ตบะ โดยใช้เป็นชื่อของความเพียร หมายถึงการตั้งใจกำจัดความเกียจคร้านและการผิดหน้าที่ มุ่งทำกิจอันเป็นหน้าที่ที่พึงทำอันเป็นกิจดีกิจชอบ ทางลัทธิพราหมณ์ถือว่าตบะของพระมหากษัตริย์ คือการคุ้มครองไพร่ฟ้าประชาชน ฉะนั้น พระมหากษัตริย์ผู้มีตบะจะมีสง่าเป็นที่ยำเกรงของคนทั่วไป เมื่อคนรวมกันเป็นหมู่ ต่างจะต้องรู้หน้าที่ของตน พระมหากษัตริย์จะต้องมีความเพียร ทำหน้าที่โดยไม่เกียจคร้าน เทียบได้กับวิริยบารมี ”

ตบะธรรมในแง่ของวิริยะความเพียรนั้น พระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ย่อมเป็นเครื่องแสดงออกซึ่งพระวิริยะอุตสาหะเป็นอย่างเลิศ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า พระเจ้าแผ่นดินของไทยไม่ว่ายุคใดสมัยใดล้วนทรงไว้ซึ่งความรักใคร่ในอาณาประชาราษฎร์เสมอด้วยบุตรเช่นกัน อันความรู้สึกที่สอดคล้องต้องกันทั้งฝ่ายราษฎรและพระเจ้าแผ่นดินเช่นนี้ จึงย่อมทำให้บังเกิดความสะดวกในงานปกครองประเทศเป็นอย่างยิ่ง สภาพการณ์ต่างๆ ที่สูงส่งและมหัศจรรย์ ซึ่งแวดล้อมฐานะแห่งพระมหากษัตริย์ไทยดังกล่าว หาได้เป็นกำแพงกั้นขวางความสมัครสมานสามัคคีและความรักใคร่กลมเกลียว ร่วมมือร่วมใจกันสร้างชาติให้มั่นคงไม่ ยิ่งไปกว่านั้น พระมหากษัตริย์ไทยกลับทรงพระมหากรุณาธิคุณต่อประชาชน ในการที่มิได้ทรงคิดจะรวบอำนาจอันเป็นสิทธิโดยชอบธรรมไว้แต่เพียงพระองค์เดียว ดังจะเห็นได้จากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชเจ้าผู้ทรงทำการปฏิวัติเปลี่ยนระบอบการปกครอง และบริหารประเทศให้ทันสมัยอย่างชนิดที่เรียกว่ากลับหน้ามือเป็นหลังมือ ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์สุขและความเจริญรุ่งเรืองของชาติเป็นประการสำคัญ ทั้งที่ทรงตระหนักในฐานะและพระราชอำนาจอันสูงส่งของพระองค์ซึ่งอยู่เหนือประชาชนทั้งปวง ดังพระบรมราชาธิบายที่ทรงแถลงให้บรรดาข้าราชการได้ประจักษ์ดังต่อไปนี้

“… พระบรมราชานุภาพของพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามนี้ ไม่ได้มีปรากฏในกฎหมายอันใดอันหนึ่ง ด้วยเหตุถือว่าเป็นที่ล้นพ้นไม่มีข้อสิ่งใด อันใด หรือผู้ใด จะเป็นผู้บังคับขัดขวางได้ แต่เมื่อว่าตามความเป็นจริงแล้วพระเจ้าแผ่นดินจะทรงประพฤติการอันใด ก็ต้องเป็นไปตามทางที่สมควรและที่เป็นยุติธรรม … เช่นเรียกพระนามว่า เจ้าชีวิต ซึ่งเป็นที่หมายว่ามีอำนาจอันจะฆ่าคนให้ตายได้ โดยไม่มีความผิดอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งความจริงสามารถจะทำได้แต่ไม่เคยทำเลย …”

อีกตอนหนึ่งเป็นพระบรมราโชวาทที่พระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ว่า

“… การเป็นเจ้าแผ่นดินไม่ใช่สำหรับมั่งมี ไม่ใช่สำหรับคุมเหงคนเล่นตามชอบใจ มิใช่เกลียดไว้แล้วจะได้แก้เผ็ด มิใช่เป็นผู้สำหรับจะกินสบาย นอนสบาย ถ้าจะปรารถนาเช่นนั้นแล้วมีสองทางคือบวชทางหนึ่ง เป็นเศรษฐีทางหนึ่ง เป็นเจ้าแผ่นดินสำหรับแต่เป็นคนจนและเป็นคนที่อดกลั้นต่อสุขและทุกข์ อดกลั้นต่อความรักและความชัง อันจะเกิดฉิวขึ้นมาในใจ หรือมีผู้ยุยง เป็นผู้ปราศจากความเกียจคร้าน ผลที่จะได้นั้นมีแต่ชื่อเสียงปรากฏเมื่อเวลาตาย แล้วว่าเป็นผู้รักษาวงศ์ตระกูลไว้ได้ และเป็นผู้ป้องกันความทุกข์ของราษฎร ซึ่งอยู่ในอำนาจความปกครอง ต้องหมายใจในความสองข้อนี้ เป็นหลักมากกว่าคิดถึงการเรื่องอื่น ถ้าผู้ซึ่งมิได้ทำใจได้เช่นนี้ก็ไม่แลเห็นเลยว่าจะปกครองรักษาแผ่นดินอยู่ได้ …”

พระบรมราชาธิบายและพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่อัญเชิญมาข้างต้นนี้ ย่อมทำให้ประจักษ์ถึงน้ำพระทัยอันเต็มเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ต่อประชาชนของพระองค์ได้เป็นอย่างดี ยิ่งไปกว่านั้น เอกสารสำคัญสองฉบับนี้ ยังเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอันแสดงให้เห็นน้ำพระทัยที่แท้จริง ของบุคคลผู้ได้ชื่อว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้าชีวิตของคนไทยทั้งชาติ อันพระมหากรุณาธิคุณ ของพระมหากษัตราธิราชเจ้าของชาวไทยในอดีตนั้นมีอยู่มากมายต่างกรรม ต่างวาระ ต่างยุคและต่างสมัยกันออกไป แต่ก็สามารถสรุปรวมได้ว่า พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทรงไว้ซึ่งน้ำพระทัยอันเต็มเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณต่อประชาชนผู้อยู่ในขอบขัณฑสีมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ทั้งหลายทั้งปวง อันเป็นคุณประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองอย่างมากมายมหาศาลนั้น เป็นสิ่งที่ตราตรึงอยู่ในความทรงจำของประชาชนชาวไทยตลอดมา อาจกล่าวได้ว่าเท่าที่สยามรัฐมีความเจริญก้าวหน้ามาจนทุกวันนี้ ก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระมหากษัตริย์ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงสืบราชสันตติวงศ์ โดยตรงจากพระมหากษัตริย์ไทยในพระบรมราชจักรีวงศ์ ดังนั้น จึงไม่ใช่สิ่งที่น่าประหลาดมหัศจรรย์แต่อย่างใดที่พระองค์ได้ทรงเจริญรอยตามสมเด็จพระบุรพกษัตราธิราช ในการที่ทรงแผ่พระเมตตาบารมีคุ้มครองชาวไทยโดยทั่วหน้าให้มีสันติสุข สิ่งที่เป็นอัศจรรย์ก็คือการที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรอย่างมากมายสุดจักพร่ำพรรณนา อันเป็นสิ่งที่ยากยิ่งที่บุคคลธรรดาสามัญจะสามารถปฏิบัติได้เทียมเท่าพระองค์ ในยามบ้านเมืองร่มเย็นก็ทรงสนพระราชหฤทัยในความเป็นอยู่ของราษฎรทุกถ้วนหน้า

หากปรากฏความทุกข์เทวษแม้จะในแดนทุรกันดารแวดล้อมด้วยภัยนานา ประการ ก็จะทรงพระวิริยะอุตสาหะเสด็จไปทรงเยี่ยมเยียน พระราชทานทรัพย์สินสิ่งของเพื่อบรรเทาความลำบาก และด้วยพระเมตตาคุณอันใหญ่หลวง ก่อให้เกิดกำลังใจที่จะต่อสู้ความทุกข์ยาก ในยามบ้านเมืองถูกภัยคุกคาม ก็ทรงเป็นห่วงถึงความเป็นอยู่ทั้งของประชาชนและทหารตำรวจ ตลอดจน ราษฎร อาสาสมัคร ทรงฟันฝ่าภยันตรายเสด็จฯ เยี่ยมเยียนเพื่อพระราชทานกำลังใจแก่บุคคลเหล่านั้นอยู่เนืองนิจ พระราชจริยวัตรอันงดงามนี้เป็นที่ซาบซึ้ง และประทับใจปวงชนอย่างมิมีวันจะลางเลือน

ส่วนพระราชจริยาวัตรพิเศษที่ทรงสู้สละความสุขสนุกสบายส่วนพระองค์ บำเพ็ญคุณความดีเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยามนั้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณมากล้นพ้นประมาณได้ บรรดาผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทจะยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชปณิธานอันแรงกล้า ในอันที่จะสร้างความสงบสุขร่มเย็นให้ปวงประชาของพระองค์ พระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ผู้ใกล้ชิดเกือบจะไม่มีเรื่องอื่นใดนอกเหนือไปจากเรื่องของประชาชน เหตุใดประชาชนจึงเป็นทุกข์ ทำอย่างไรประชาชนจึงจะหมดทุกข์ ทำอย่างไรประชาชนจึงจะเป็นสุข และทำอย่างไรประชาชนจึงจะเป็นสุขยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทรงตระหนักอยู่ตลอดเวลาที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ พระราชปณิธานอันแรงกล้านี้แผ่ขยายไปสู่ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดพระยุคลบาทโดยทั่วถึง นับตั้งแต่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ พระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนข้าราชบริพารและข้าราชการทหาร ตำรวจ และพลเรือน ผู้ที่ได้มีโอกาสเข้าไปในพระราชฐาน ไม่ว่าจะเป็นพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระบรมมหาราชวัง พระราชวังไกลกังวล หรือภูพิงคราชนิเวศน์ ก็ตาม จะเห็นได้ว่า กิจการส่วนใหญ่ที่ดำเนินไปในรั้วในวังนั้นเป็นไปเพื่อสนองพระราชประสงค์ เกี่ยวกับการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชน ทั้งใกล้และไกลทั้งสิ้น

พระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีต่อประชาชนนั้นมากมายสุดจักพร่ำพรรณนาให้หมดสิ้นลงได้ รัชสมัยอันยาวนานถึง 58 ปีแห่งการประกอบพระราชกิจจานุกิจน้อยใหญ่ทั้งส่วนราชการเพื่อประเทศชาติและส่วนพระองค์เพื่อประชาชน ได้เป็นผลให้ประเทศชาติถึงซึ่งความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดยิ่งกว่าสมัยอื่นใด บรรดาอาณาประชาราษฎร์ประสบความผาสุก ร่มเย็นทุกเขตแคว้นแดนไกล ทรงเป็นฉัตรแก้วร่มเกล้าแก่ประชาชนทุกคนทั่วขอบขัณฑสีมา

ที่แสดงมานี้เป็นส่วนเสริมตบะธรรมในแง่วิริยะความเพียร ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวของเราทรงบำเพ็ญ และเนื่องจากความคาบเกี่ยวแห่งราชธรรมแต่ละข้อที่จะสงเคราะห์เข้ากับพระราชจรรยาวัตร พระราชกรณียกิจในลักษณะนี้จะปรากฏชัดเจนอีกครั้งหนึ่งในราชธรรมข้อว่า ขันติ ความอดทน ด้วยเป็นพระราชกรณียกิจที่ทรงตรากตรำ เฉพาะพระองค์ผู้มีขันติธรรมอย่างแรงกล้าเท่านั้น จึงจะทรงปฏิบัติโดยสม่ำเสมอได้

พระราชธรรม ข้อที่ 7 “ อกฺโกธํ ” กริยาที่ไม่แสดงความโกรธให้ปรากฏ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเปี่ยมไปด้วยพระราชธรรม อักโกธะข้อนี้เป็นอย่างยิ่ง แม้แต่ข้าราชบริพารในราชสำนัก ซึ่งรับราชการฉลองพระเดชพระคุณอย่างใกล้ชิดมานับสิบๆ ปี ก็ไม่เคยประสบพระราชอัธยาศัยทรงแสดงพระโทษะจริต เกรี้ยวกราดผู้หนึ่งผู้ใด

พระราชธรรมข้อนี้ได้ถูกทดลองเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปเยือนต่างประเทศเป็นทางราชการ เมื่อ พ.ศ.2505 เมื่อเสด็จไปในพิธีทูลเกล้าฯ ถวายปริญญานิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ณ มหาวิทยาลัยเมลเบอร์น ประเทศออสเตรเลีย ทรงถูกท้าทายจากนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่มีความคิดรุนแรง และไม่เข้าใจพระองค์และเมืองไทยเป็นอย่างดี บ้างก็ถือป้ายที่มีข้อความกล่าวร้ายต่อพระองค์ท่าน บ้างก็ส่งเสียงโห่ปนฮาลบหลู่พระเกียรติ และเกียรติภูมิของชาติไทยอย่างแรง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้ทรงบรรยายถึงเหตุการณ์ในวันนั้นได้เห็นภาพอย่างแจ่มชัด ในบทพระราชนิพนธ์ “ ความทรงจำในการตามเสด็จต่างประเทศทางราชการ ” ตอนหนึ่งของพระองค์ว่า

“… ต่อจากนั้นก็ถึงเวลาที่พระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จไปพระราชทานพระราชดำรัสที่เครื่องขยายเสียงกลางเวที ยังไม่ทันจะอะไร ก็มีเสียงโห่ปนฮาดังขึ้นมาจากกลุ่มปัญญาชนข้างนอกอีกแล้ว ข้าพเจ้ารู้สึกว่ามือเย็นเฉียบ หัวใจหวิวๆ อย่างไรพิกล รู้สึกสงสารพระเจ้าอยู่หัวจนทำอะไรไม่ถูก ไม่กล้าแม้แต่จะมองขึ้นดูพระพักตร์ท่านด้วยความสงสารและเห็นพระทัย ในที่สุดก็ฝืนใจมองขึ้นไปเพื่อถวายกำลังพระทัย แต่แล้วข้าพเจ้านั่นเองแหละที่เป็นผู้ได้กำลังใจกลับคืนมา เพราะมองดูท่านขณะที่ทรงพระดำเนินไปยืนกลางเวทีเห็นพระพักตร์สงบเฉย ทันใดนั้นเองคนที่อยู่ในหอประชุมทั้งหมดก็ปรบมือเสียงสนั่นหวั่นไหวคล้ายจะถวายกำลังพระทัยท่าน พอเสียงปรบมือเงียบลง คราวนี้ข้าพเจ้ามองขึ้นไปบนเวทีอีกก็เห็นพระเจ้าอยู่หัวทรงเปิดพระมาลาที่ทรงคู่กับฉลองพระองค์ครุย แล้วหันพระองค์ไปโค้งคำนับกลุ่มที่ส่งเสียงเอะอะอยู่ข้างนอกอย่างงดงาม และน่าดูที่สุด พระพักตร์ยิ้มนิดๆ พระเนตรมีแววเยาะหน่อยๆ แต่พระสุรเสียงราบเรียบยิ่งนัก

“ ขอขอบใจท่านทั้งหลายเป็นอันมาก ในการต้อนรับอันอบอุ่นและสุภาพเรียบร้อยที่ท่านแสดงต่อแขกเมืองของท่าน ” รับสั่งเพียงเท่านั้นเอง แล้วก็หันพระองค์มารับสั่งต่อกับผู้ที่นั่งฟังอยู่ในหอประชุม ตอนนี้ข้าพเจ้าอยากจะหัวเราะออกมาดังๆ ด้วยความสะใจ เพราะเสียงฮานั้นเงียบลงทันทีราวกับปิดสวิทช์ แล้วตั้งแต่นั้นก็ไม่มีอะไรเลย ทุกคนข้างนอกข้างในต่างนั่งฟังพระราชดำรัสเฉยท่าทางดูขบคิด ข้าพเจ้าเห็นว่าพระราชดำรัสวันนั้นดีมาก รับสั่งสดๆ โดยไม่ทรงใช้กระดาษเลย ทรงเล่าถึงวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของไทยเราว่า เรามีเอกราช มีภาษาของตนเอง มีตัวหนังสือซึ่งคิดค้นขึ้นใช้เอง เราตั้งบทกฎหมายการปกครองของเราเอง ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนมา 700 ปีกว่ามาแล้ว ตอนนี้ข้าพเจ้าขำแทบแย่ เพราะหลังจากรับสั่งว่า 700 ปีกว่ามาแล้ว ทรงทำท่าเหมือนเพิ่งนึกออก ทรงสะดุ้งนิดๆ และทรงโค้งพระองค์อย่างสุภาพ เมื่อตรัสว่า ขอโทษลืมไป ตอนนั้นยังไม่มีประเทศออสเตรเลียเลย แล้วทรงเล่าต่อไปว่า แต่ไหนแต่ไรมาคนไทยเรามีน้ำใจกว้างขวาง พร้อมที่จะให้โอกาสคนอื่นและฟังความเห็นของเขา เพราะเรามักใช้ปัญญาขบคิดไตร่ตรองหาเหตุผลก่อนจึงจะตัดสินว่าสิ่งไรเป็นอย่างไร ไม่สุ่มสี่สุ่มห้าตัดสินอะไรตามใจชอบ โดยไม่ใช้เหตุผล …”

ผลจากการแสดงพระอัจฉริยภาพอย่างสูงในการแสดงพระราชดำรัสในสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น ปรากฏว่าเมื่อเสร็จพิธีแล้ว ผู้ร่วมในพิธีต่างเข้ามากราบบังคมทูลสรรเสริญถึงพระราชดำรัสนั้น และสำหรับกลุ่มนักศึกษาที่มีปฏิกิริยาเหล่านั้น ต่างก็มีอากัปกิริยาเปลี่ยนไปหมด บ้างก็มีสีหน้าเฉยๆ เจื่อนๆ ดูหลบพระเนตร ไม่มีการมองดูพระองค์อย่างประหลาดอีก แต่บางพวกก็มีน้ำใจเป็นนักกีฬาพอที่จะยิ้มแย้มแจ่มใส โบกมือและปรบมือให้แก่ทั้งสองพระองค์ตลอดทางจนถึงที่รถพระที่นั่งจอดอยู่

พระราชธรรมข้อที่ 8 “ อวิหิสา ” ทรงบำเพ็ญอวิหิงสาธรรม

อวิหิงสา ในความหมายโดยทั่วไปคือความไม่เบียดเบียนผู้อื่น มีพรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นเครื่องแสดงออก ซึ่งมีอยู่อย่างเปี่ยมล้น ในพระราชอัธยาศัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ของเราทั้งหลาย

ความไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกันนั้น เกิดเฉพาะความอบรมที่ได้รับจากพระศาสนา ซึ่งก็หมายถึงความไม่เบียดเบียนกันระหว่างศาสนาด้วย ความข้อนี้ปรากฏในพระราชดำรัสในโอกาสที่สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น พอล ที่ 2 เข้าเฝ้าในโอกาสที่เสด็จมาเยือนประเทศไทย ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม 2527 ว่า

“ การที่ประเทศไทยและชาวไทยยินดีต้อนรับผู้เผยแพร่ศาสนาต่างๆ ด้วยไมตรีและด้วยความจริงใจฉันมิตรทุกสมัยมานั้น เป็นเพราะชาวไทยซึ่งเป็นพุทธมามกชน มีจิตสำนึกมั่นคงอยู่ในกุศลสุจริตและในความเมตตาการุญ เห็นว่าศาสนาทั้งปวงย่อมสั่งสอนความดี ให้บุคคลประพฤติปฏิบัติแต่ในทางที่ถูก ที่ชอบ ที่เป็นประโยชน์ให้ใฝ่หาความสงบสุขความผ่องใสให้แก่ชีวิต ทั้งเรายังมีเนติแบบธรรมเนียมให้ต้อนรับนับถือชาวต่างศาสนา ด้วยความเป็นมิตรแผ่ไมตรีแก่กันด้วยเมตตาจิต และด้วยความจริงใจมิให้ดูแคลนเบียดเบียนผู้ถือสัญชาติและศาสนาอื่น ด้วยจะเป็นเหตุนำความแตกร้าวและความรุนแรงเดือดร้อนมาให้ ดังนี้คริสต์ศาสนาจึงเจริญงอกงามขึ้นได้ในประเทศนี้ ชาวไทยต่างรู้จักและเคารพยกย่ององค์พระสันตะปาปาประมุขแห่งชาวคาทอลิกอย่างสูง ในฐานะบุคคลสำคัญผู้หนึ่งผู้แผ่ความสงบร่มเย็นและความสว่างแจ่มใสแก่ชาวโลกถ้วนหน้า

เมื่อคราวที่ข้าพเจ้ามีโอกาสไปเยือนสำนักวาติกัน เมื่อปีคริสต์ศักราช 1960 (พ.ศ.2503) สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ที่ 23 ตรัสถามถึงคนไทยว่านับถือศาสนามากน้อยเพียงใด

ข้าพเจ้าได้ทูลตอบว่าคนไทยเป็นศาสนิกชนที่ดีทั่วกัน ส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาติและนอกนั้นยังนับถือศาสนาอื่นอีกหลายศาสนา เพราะชาวเรามีอิสรภาพและสิทธิเสมอภาคกันทั้งโดยกฎหมายทั้งโดยประเพณีนิยมในการนับถือศาสนา สมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์นั้น ทรงแสดงความชื่นชมยินดีกับข้าพเจ้าเป็นอันมาก ที่ประเทศไทยมีพลเมืองที่ดีมีศีลธรรม ยึดความถูกต้องเที่ยงตรงเป็นหลักปฏิบัติ

ในการเสด็จเยือนประเทศไทยครั้งนี้ พระคุณเจ้าคงจะได้ทรงประจักษ์ชัดว่าชาวคริสต์ในประเทศนี้ต่างปฏิบัติศาสนกิจของตน ๆ อย่างเคร่งครัดด้วยความผาสุก ทั้งยังจะได้สังเกตเห็นด้วยว่าประชาชนชาวไทยมีความนิยมยินดี เต็มใจถวายพระเกียรติที่พระคุณเจ้าเป็นประมุขแห่งศาสนา ผู้ใฝ่สันติเปี่ยมด้วยเมตตาจิตและความบริสุทธิ์เยือกเย็น ข้าพเจ้าเชื่อว่าความเป็นมิตรความมีเมตตาปรารถนาดีต่อกัน ความเอื้ออารีเกื้อกูลกันโดยจริงใจระหว่างศาสนิกชนทั้งมวลนั้น จะเป็นปัจจัยสำคัญอันมีกำลังศักดิ์สิทธิ์ ที่จะยังสันติสุขกับทั้งอิสรภาพ เสรีภาพ และความเสมอภาค ให้บังเกิดขึ้นแก่มวลมนุษย์ได้เป็นแน่แท้ ”

คุณธรรมอันแสดงถึงความไม่เบียดเบียนกัน แต่ให้รักใคร่ปรองดองกัน ได้แก่ความสามัคคี สามัคคีธรรมนี้เป็นกำลังสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยของเรามีแต่ความสงบสุข และสามารถนำประเทศให้ตลอดรอดฝั่งมาได้โดยไม่ตกเป็นทาสของผู้ใด ทั้งนี้เพราะมีพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เป็นที่ยึดเหนี่ยวและทุกคนเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทในคุณธรรมข้อนี้ ลักษณะพิเศษของพระเจ้าแผ่นดินไทยคือ ทรงตั้งอยู่ในฐานะบิดากับบุตรระหว่างพระองค์กับราษฎร ทรงทำหน้าที่อนุสาสน์ คือทรงสั่งสอนราษฎรให้ตั้งอยู่ในคุณธรรม ดั่งบิดาสอนบุตร และครู อาจารย์สอนศิษย์ คือเมตตา ฉะนั้นพระราชจริยาวัตรข้อนี้ปรากฏอย่างเด่นชัดในพระเจ้าแผ่นดินไทยเท่านั้น ซึ่งประวัติศาสตร์ก็ได้จารึกไว้ว่า พระเจ้าแผ่นดินไทยแต่โบราณโปรดให้แขวนกระดิ่งไว้ที่ประตูพระราชวัง เพื่อให้ราษฎรผู้มีทุกข์ร้อน หรือได้รับความไม่เป็นธรรมมาสั่นกระดิ่งร้องทุกข์ต่อพระเจ้าแผ่นดินด้วยตัวเองได้ แม้แต่ในปัจจุบันนี้ ผู้มีความเดือดร้อนก็สามารถจะทูลเกล้าฯ ถวายฎีการ้องทุกข์ได้ทุกโอกาส ในบางกรณีที่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาตัดสินไปแล้ว ผู้ต้องโทษก็ยังมีสิทธิ์ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาได้ ทั้งนี้ก็ด้วยพระบารมีแห่งเมตตาธรรมและอวิหิงสาธรรมนั่นเอง

อนึ่ง ถ้าเราจะวิเคราะห์พระราชจริยาวัตรข้ออวิหิงสา คือความไม่เบียดเบียนนี้ เทียบกับทศพิธราชธรรมแต่ละข้อจะเห็นได้ว่า การที่ทรงบำเพ็ญทาน และบริจาคนั้นก็เพื่ออนุเคราะห์พสกนิกรของพระองค์ ให้ยึดหลักสุจริตธรรมประกอบแต่สัมมาอาชีวะ รู้จักเฉลี่ยแบ่งปันสิ่งที่แสวงหามาได้โดยชอบธรรมเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่นโดยเน้นเพื่อนร่วมชาติ ทรงบำเพ็ญศีลเพื่อควบคุมพระองค์เองในความไม่เบียดเบียนผู้อื่น ปราศจากเสียซึ่งอกุศลกรรมบถ 10 ประการ มีความสงบกายวาจาใจ และเป็นแบบอย่างพสกนิกรของพระองค์ด้วย ทรงบำเพ็ญตบะธรรมด้วยวิริยะกล้าแข็งและทรงข่มเสียได้ซึ่งทุจริตธรรมเป็นพระบารมีที่ทรงอนุเคราะห์ราษฎร ขณะเดียวกันก็ทรงเอาชนะพระองค์เองเพื่อทรงมั่นในราชสังคหวัตถุธรรมและพรหมวิหารธรรม เมื่อทรงประกอบพร้อมด้วยอวิหิงสาธรรม ความโกรธก็ไม่เกิดขึ้นแก่พระองค์ แม้บางครั้งความโกรธอาจกำเริบก็ทรงข่มได้ด้วยพระขันติธรรม มีพระพักตร์เอิบอิ่มเบิกบาน ทรงเป็นที่เคารพรักของปวงชน และโดยสรุปคือเพราะทรงไม่คลาดธรรม กล่าวคือทรงมั่นอยู่ในอวิโรธนธรรม

พระราชธรรมข้อที่ 9 “ ขนฺติ ” ทรงบำเพ็ญขันติธรรม

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงให้อรรถาธิบายคำว่า ขันติในพระราชนิพนธ์เรื่อง “ ทศบารมีในพุทธศาสนาเถรวาท ” ไว้ว่า

“ ขันติ ในทศพิธราชธรรม หมายความถึงกิริยาที่อดทนต่อโลภะ โทสะ โมหะ ไม่แสดงกิริยาวาจาอันชั่วร้ายตามอำนาจโลภะ โทสะ โมหะ และอดทนต่อทุกขเวทนา อดทนต่อถ้อยคำที่มีผู้กล่าวชั่วไม่เป็นที่ชอบใจ พระมหากษัตริย์จะต้องมีพระราชหฤทัยกล้าหาญ สามารถรักษาพระราชหฤทัยและพระอาการทางกาย วาจา ให้สงบเรียบร้อย จึงจะปกครองอาณาประชาราษฎร์ให้อยู่เป็นสุขได้ ”

ความหมายโดยสรุปคือความอดทนทางกาย วาจา และใจ ในทางกายนั้นเห็นได้ง่ายเช่นความอดทน ต่อหน้าที่การงานและอดกลั้นต่อความเหนื่อยยาก ในทางพระพุทธศาสนาท่านถือว่าขันติเป็นธรรมอย่างยอดเยี่ยม ก็การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ของเรานั้น ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจทั้งปวงได้สำเร็จ ไม่หวาดหวั่นต่อความเหนื่อยยากก็ด้วยอาศัยขันติธรรมนี้ประการหนึ่งเป็นหลัก

ในการอภิปรายเรื่อง “ พระเจ้าอยู่หัวของเรา ” ซึ่งจัดโดยสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทยสำนักงาน ก.พ. เมื่อวันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2530 พลตำรวจโท วสิษฐ เดชกุญชร ได้อภิปรายเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจตอนหนึ่งว่า

“ สิ่งที่ผมไม่ตระหนักมาก่อนเป็นสิ่งแรกซึ่งประทับใจมาจนกระทั่งถึงบัดนี้ ก็คือว่าความสนพระราชหฤทัยในความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วทั้งประเทศ และโดยไม่เลือกว่าเป็นประชาชนที่ไหน อาชีพอะไร เรามักจะได้ยินการโฆษณากันว่า เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมชาวเขาที่ภูเขาลูกนั้นดอยลูกนี้ นั่นเป็นแต่เพียงภาพหนึ่งเท่านั้นเอง และก็เป็นภาพที่อาจจะได้รับการโฆษณามากไปหน่อย เพราะเหตุว่าภาพของพระเจ้าแผ่นดินคือพระเจ้าอยู่หัวของเรา กับพระบรมวงศานุวงศ์ที่ถ่ายออกมาร่วมกันกับชาวเขาที่แต่งตัวแปลกๆ มีเครื่องประดับแปลกๆ มันขายดี

แต่ภาพอื่นๆ ที่เราไม่เคยได้เห็นกันในขณะนั้นแต่เดี๋ยวนี้ได้เห็นกันมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนนี้คือ ภาพพระเจ้าอยู่หัวกับราษฎรธรรมดา ซึ่งเห็นอยู่ตลอดเวลา 10 กว่าปีที่ผมรับราชการอยู่ใกล้พระยุคลบาท ภาพเหล่านี้เป็นภาพที่เกิดมาจากความสนพระราชหฤทัยอันแท้จริงของพระเจ้าอยู่หัว

ตั้งแต่วันแรกที่ผมได้มีโอกาสนั่งโต๊ะเสวยแล้วก็ได้ยินพระราชกระแสรับสั่งที่พระราชทานให้คนที่นั่งโต๊ะเสวยด้วยกัน ผมไม่เคยได้ยินเรื่องอื่น ได้ยินแต่เรื่องของชาวบ้านทั้งนั้น เรื่องใครเป็นอะไร ที่ไหน และจะทำอะไร ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินก็เป็นเรื่องรับสั่งหารือว่าจะไปที่ไหน จะไปอย่างไรและจะทรงทำอะไรบ้าง

การตามเสด็จครั้งแรกนั้น ผมได้ตระหนักทันทีว่าพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติอยู่นั้น ทรงปฏิบัติไปเพื่อประชาชนแท้ๆ และมีขั้นตอนสลับซับซ้อน การจะเสด็จออกทรงเยี่ยมราษฎรเป็นส่วนพระองค์ อย่างที่ท่านทั้งหลายอาจจะได้เคยเห็นในภาพยนต์โทรทัศน์ที่พระเจ้าอยู่หัวทรงรถยนต์ไปเอง กล้องถ่ายโทรทัศน์นั้นจะมีโอกาสได้จับภาพเหล่านี้แต่เฉพาะในขณะที่เสด็จพระราชดำเนินออกเท่านั้น

แต่ภาพที่กล้องไม่สามารถไปจับตาม และถ่ายทอดมาให้ท่านทั้งหลายได้เห็นด้วยนั้น คือภาพเจ้าหน้าที่ส่วนล่วงหน้าที่ออกไปเตรียมการเสด็จพระราชดำเนิน เราจะเห็นแต่ภาพในขณะที่ประทับอยู่กับประชาชน ภาพการเตรียมการเราไม่ได้เห็น และเมื่อเสด็จกลับมาแล้ว เหตุการณ์ที่เกิดตามหลังขึ้นมาเราก็ไม่ได้เห็นภาพเหล่านั้นเหมือนกัน เพราะเหตุว่าไม่มีใครที่มีโอกาสจะไปเก็บหรือไปรวบรวมเอามาเสนอให้ท่านทั้งหลายได้ทราบด้วย

ก่อนจะเสด็จออกไปนั้นมีการวางแผนถวายก่อนว่า จะเสด็จที่ไหน การวางแผนถวายเหล่านี้จะทำจากข้อมูลที่เก็บล่วงหน้าเอาไว้แล้วว่า ประชาชนตรงไหนที่กำลังเดือดร้อนหรืออยู่ในฐานะที่ควรจะได้รับการเหลียวแลก่อน ที่เหล่านี้จะได้รับการคัดเลือก โดยเจ้าหน้าที่สำนักราชเลขาธิการ ร่วมกับทางฝ่ายกรมราชองค์รักษ์ และนายตำรวจราชสำนักและร่วมกับทางฝ่ายบ้านเมืองด้วย วางแผนล่วงหน้าไว้เป็นจุดๆ ว่าคราวนี้จะเสด็จที่นี่ ที่นั่น แน่นอน แผนเหล่านี้เปลี่ยนได้ตลอดเวลา

ในการเสด็จพระราชดำเนินนั้น เจ้าหน้าที่ที่ไปวางแผนเตรียมเสด็จพระราชดำเนินนั้น เป็นผู้ที่คุ้นเคยพระยุคลบาทและตระหนักว่าสนพระราชหฤทัยในเรื่องใด เพราะฉะนั้นผู้รู้เรื่องเหล่านี้จะต้องพร้อมที่จะเฝ้า เพื่อที่จะกราบบังคมทูลถวายข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องเหล่านั้นได้

ทั้งหมดนี้เป็นการวางกรอบอย่างกว้างๆ ก่อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ นั้นอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือมีอะไรเพิ่มเติมได้ตลอดเวลา สุดแล้วแต่พระราชอัชฌาสัย

เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปถึงแล้ว ท่านทั้งหลายก็คงจะทราบจากหนังสือจากวิทยุกระจายเสียงหรือจากวิทยุโทรทัศน์ว่า ทั้งพระเจ้าอยู่หัวของเราและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ไม่ทรงรีบร้อนแต่ว่าทรงใช้เวลาอยู่กับประชาชนอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องธรรมดาสามัญเหลือเกิน ที่จะเสด็จไปตั้งแต่ตอนบ่ายแล้วกลับเอาตอนกลางคืนหรือกลับตอนดึก สุดแล้วแต่ว่าคนที่เฝ้ามากน้อยแค่ไหน และเวลาที่ทรงใช้ไปในการรับสั่งถามเกี่ยวกับเรื่องทุกข์สุขของเขา จะมากน้อย ยาวสั้นแค่ไหน

และเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับมาแล้วงานที่แท้จริงหรือพระราชกรณียกิจที่แท้จริงจึงเริ่มต้น ความช่วยเหลือหรือพระบรมราชานุเคราะห์ ที่จะพระราชทานแก่ประชาชนนั้น จะเริ่มตามหลังการเสด็จพระราชดำเนิน และก็ไม่มีวันสิ้นสุด ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ

อันสุดท้ายที่ผมอยากจะพูด และเพื่อท่านผู้อื่นจะได้พูดด้วยบ้าง ความประทับใจอันหนึ่งที่เกิดขึ้นกับตัวผมเอง นั่นคือความมีพระสติที่มั่นคงในวิกฤตการณ์ ในระหว่างที่ผมรับราชการอยู่ใกล้พระยุคลบาทนั้น มีอย่างน้อย 2 ครั้งที่ผมได้แลเห็นตัวอย่างอันชัดเจนของพระสติที่มั่นคง

ครั้งแรกคือเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ซึ่งหลายท่านในที่นี้คงจะจำได้ว่าเกิดวิกฤตการณ์ขึ้นในเมืองไทยถึงขนาดที่ว่า รัฐบาลไทยว่างลงโดยในรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติเอาไว้ว่าจะตั้งรัฐบาลแทนกันโดยวิธีใด ขณะนั้นผู้ที่มีอำนาจวาสนาอยู่ในบ้านเมืองเต็มไปด้วยความหวั่นไหวท้อแท้ตกใจ จนกระทั่งหลายคนรู้สึกว่าเมืองไทยกำลังจะถึงที่สุด พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ของเรานั้นไม่ได้ทรงรู้สึกหวั่นไหวตามคนอื่นไปด้วย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะที่คนกำลังฆ่ากันอยู่ข้างนอกพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ขณะนั้นทรงคิดอยู่ตลอดเวลาว่าจะทรงแก้ไขปัญหานี้อย่างไร ท่านทั้งหลายก็คงจะจำกันได้ว่า วิกฤตการณ์สงบลงโดยรวดเร็ว ท่านอาจารย์สัญญาได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จะเรียกว่าชั่วคราวก็ยังได้คือรักษาการ

จนกระทั่งในที่สุดสามารถที่จะตั้งสภาขึ้นมาได้ เขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ได้ มีรัฐบาลใหม่ให้ได้ล้มกันในภายหลังต่อมาอีก อย่างที่ท่านทั้งหลายทราบกันอยู่แล้ว

ความจริงผมไม่ได้พูดคะนองปากไปเฉยๆ กำลังจะเรียนต่อไปด้วยว่า การที่รัฐบาลล้มแล้วล้มอีกนั้น ถ้าหากปราศจากพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ เมืองไทยอาจจะประสบชะตากรรมที่เราไม่ได้เห็นกันอยู่อย่างในขณะนี้ก็ได้ แต่เพราะเหตุว่าเรามีความต่อเนื่อง มีสถาบันที่ค้ำจุนอยู่ตลอดเวลาการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลเท่าที่แล้วมา หรือที่จะมีต่อไปในอนาคต จึงเป็นเรื่องที่คนไทยทนได้ แล้วในที่สุดผลก็ปรากฏอย่างที่เราเห็นในปัจจุบันนี้ คือความอยู่รอดของเมืองไทย ”

ในทางวาจา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรานั้น ไม่ปรากฏว่าได้เคยทรงแสดงความวิการแห่งวจีกรรมให้ผู้ใดเห็น มีแต่พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทอันเป็นธรรมที่ทรงอนุสาสน์ พสกนิกรของพระองค์ ท่านอาจารย์ภาวาส บุนนาค เคยกล่าวไว้หลายแห่งว่าในหลวงไม่เคยกล่าวร้ายผู้ใด หรือโทษใครไม่เป็น อันนี้ก็ด้วยพระขันติคุณ คือความอดกลั้นและสงบระงับวาจา

พระคุณธรรมอันเป็นข้าศึกต่อโกธะ คือความโกรธหรือโทสะ โทษคือความคิดประทุษร้ายก็มิได้มีในพระกมลสันดาน ทรงรำงับเสียได้ด้วยศีล อาชชวะ และมัททวธรรมดังแสดงมาแล้วข้างต้น ส่วนการข่มโมหะคือ ความหลงนั้น ก็ด้วยพระหฤทัยยึดมั่นในสัมมาปฏิบัติ ทรงสดับและสนทนาธรรมตามกาล ขณะเดียวกันก็ทรงนำธรรมานุธรรมปฏิบัตินั้นๆ มาอนุสาสน์พสกนิกรของพระองค์ในรูปของพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสแก่คณะบุคคล ณ โอกาสต่างๆ ประการสุดท้ายผลแห่งพระขันติธรรมอันปรากฏก็คือความสง่า พระเกียรติยศในความสงบและเยือกเย็น เป็นที่ เคารพเทิดทูนของปวงชนนิรันดร์กาล

พระราชธรรม ข้อที่ 10 “ อวิโรธนํ ” ความโอนอ่อนผ่อนปรน

ที่น่าพิจารณาเป็นพิเศษคือพระราชธรรมประการสุดท้าย อวิโรธนํ คำว่า วิโรธนะ ไทยมาทับศัพท์ว่าพิโรธ แปลว่าโกรธ ถ้าเราจะแปลอวิโรธนะว่าความไม่โกรธก็จะไปตรงกับอักโกธะ เป็นการซ้ำกันไป อวิโรธนะ จึงน่าจะมีความหมายอีกประการหนึ่งตามคำแปลในพจนานุกรมบาลี – อังกฤษ ฉบับของชิลเดอร์ว่า Conciliation คือความโอนอ่อนผ่อนปรน การประสมประสานสร้างเสริมความสามัคคีกลมเกลียว ซึ่งอาจเป็นราชธรรมประการสำคัญที่สุดในบรรดาทศพิธราชธรรมทั้ง 10 ประการนั้น หลักวิชาทางรัฐศาสตร์ก็รับรองต้องกันว่า เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงเป็นกลางในทางการเมือง ไม่ทรงฝักใฝ่เป็นข้างเดียวกับพรรคการเมืองใดหรือบุคคลใดในเรื่องการเมือง ดังนั้นคุณประโยชน์อันสำคัญที่สุดที่องค์พระมหากษัตริย์จะทรงทำให้แก่ประเทศชาติ และเป็นเรื่องยากที่คนอื่นจะสามารถทำได้ นั้นก็คือการประสมประสานสร้างความสามัคคีในชาติ เป็นธรรมดาที่ผลประโยชน์ทางการเมือง อาจทำให้เกิดความแตกแยกในระหว่างพรรคการเมือง หรือการแก่งแย่งแข่งดีในระหว่างบุคคลสำคัญของชาติ แต่องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะของทุกพรรคทุกฝ่าย และเป็นที่เชื่อมั่นได้ว่าทรงยึดมั่นต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นใหญ่ ดังนั้นทุกฝ่ายจึงยอมประนีประนอมข้อขัดแย้งต่างๆ ถวายพระองค์ได้

ประเทศไทยได้มีเหตุการณ์เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ศูนย์นิสิตนักศึกษาได้เป็นผู้นำประชาชนดำเนินการประท้วงรัฐบาลเรียกร้องให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จึงเกิดการจลาจลเผาที่ทำการรัฐบาล เช่น สำนักงานสลากกินแบ่ง สำนักงานคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตและหลีกเลี่ยงภาษีอากร และกองบัญชาการตำรวจนครบาลผ่านฟ้า รัฐบาลได้นำทหารเข้ามาปราบจลาจล มีผู้คนล้มตายหลายคนและกำลังขยายเป็นเหตุใหญ่ถึงเลือดนองท่วมแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงใช้พระบารมี พระเมตตา พระปรีชาญาณ และความจงรักภักดีของประชาชนที่มีต่อพระองค์ ทรงแก้ไขสถานการณ์ที่เลวร้ายนั้นให้ดีขึ้นได้ โดยทรงปรากฏพระวรกายทางวิทยุ โทรทัศน์ พระราชทานพระราชดำรัสเตือนสติและปลอบโยนแก่ทุกฝ่าย ดังตอนหนึ่งว่า

“… ขอให้ทุกฝ่ายทุกคนจงระงับเหตุแห่งความรุนแรง ด้วยการตั้งสติยับยั้ง เพื่อให้ชาติบ้านเมืองคืนสู่สภาพปกติโดยเร็ว …”
และได้ทรงปรามฝ่ายรัฐบาลมิให้ทำร้ายประชาชนของพระองค์ว่า

“… ขอให้ทางฝ่ายรัฐบาลอย่างได้ทำร้ายแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน เป็นอันขาด
ไม่ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจะถูกยั่วโทสะอย่างไร และถึงแม้จะมีการทำร้ายตำรวจทหารก่อน ด้วยมีด ไม้ หรือแม้แต่ระเบิดขวด ก็ขออย่าได้ทำร้ายตอบ 
…”

เมื่อเกิดปะทะกันขึ้น ประชาชนหมดที่พึ่งก็พากันกรูเข้าไปในสวนจิตรลดาอันเป็นที่ตั้งของพระตำหนักที่ประทับ เพื่อขอพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมเป็นที่พึ่งสุดท้าย มีพระบรมราชโองการให้ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ทุกคนถอดกระสุนปืนเก็บให้หมด และทรงต้อนรับประชาชนเหล่านั้น ให้หน่วยแพทย์หลวงรักษาพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บ ต่อมาได้มีกระแสพระราชดำรัสแนะนำให้จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี จอมพล ประภาส จารุเสถียร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และพันเอก ณรงค์ กิตติขจร บุตรชายนายกรัฐมนตรี กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งและเดินทางออกนอกประเทศ พร้อมกันนั้นก็พระราชทาน นายสัญญา ธรรมศักดิ์ องคมนตรี มาเป็นนายกรัฐมนตรี เหตุการณ์จลาจลวุ่นวายก็ยุติลงอย่างฉับพลัน

ต่อจากนั้นนายกรัฐมนตรีได้ลงนามสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งบุคคลที่มีชื่อเสียงจากอาชีพต่างๆ กัน ตั้งแต่ข้าราชการ นักวิชาการ พ่อค้า กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กสิกร ตลอดจนคนขับขี่สามล้อเครื่อง ทั้งหมดมีจำนวน 2,347 คน เป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่เลือกตั้งกันเองขึ้นเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจำนวน 299 คน สภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนี้ได้เร่งร่างรัฐธรรมนูญออกประกาศใช้ใน พ.ศ.2517 ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และจัดตั้งรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตยได้ต่อมา

ในครั้งนั้นประวัติศาสตร์ได้จารึกพระปรีชาญาณ และพระบารมีไว้ตลอดไปว่า หากปราศจากพระมหากษัตริย์เสียแล้ว ไม่มีผู้ใดจะพยากรณ์เหตุการณ์ได้ว่าประเทศไทยจะรอดตลอดมาจนบัดนี้หรือไม่ นอกจากนั้นจะเห็นได้ว่าเมื่อทรงเข้าแก้ไขวิกฤติการณ์ของชาติเรียบร้อยแล้ว ก็ทรงคืนเข้าสู่พระราชฐานะเดิม คือทรงอยู่เหนือการเมืองและทรงเป็นกลางทางการเมืองอีกวาระหนึ่ง โดยทรงมอบภาระให้รัฐบาลเป็นผู้บริหารบ้านเมืองต่อไป (การทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา พระมหากรุณาธิคุณในการพระราชทานความเป็นธรรม และในการพระราชทานอภัยโทษ, 2539 : 25-63)

2. ราชสังคหวัตถุ

หมายถึง สังคหวัตถุของผู้ครองแผ่นดิน อันเป็นหลักการสงเคราะห์ประชาชนของพระเจ้าแผ่นดิน มี 4 ประการ คือ

1. สัสสเมธะ คือ ความฉลาดในการบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหารส่งเสริมการเกษตร
2. ปุริสเมธะ คือ ความฉลาดในการบำรุงข้าราชการ รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามารถ
3. สัมมาปาสะ คือ ความรู้จักผูกผสานรวมใจประชาชนด้วยการส่งเสริมอาชีพแก่ประชาชน เช่น ให้คนจนกู้ยืมทุนไปสร้างตัว เป็นต้น
4. วาจาเปยยะ คือ ความมีวาจาอันดูดดื่มน้ำใจ คือ รู้จักพูด รู้จักปราศัยไพเราะ สุภาพ นุ่มนวล ประกอบด้วยเหตุผลมีประโยชน์เป็นทางแห่งสามัคคี ทำให้เกิดความเข้าใจอันดี และความนิยมเชื่อถือ

3. จักรวรรดิวัตร  มี 10 ประการ คือ

1 . อนฺโตชนสฺมึ พลกายสฺมึ คือ ทรงยึดธรรมเป็นหลักในการปกครอง ทำนุบำรุงพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพาร รวมทั้งกองทัพ หมายถึงการสงเคราะห์ฝ่ายในให้ทั่วหน้า
2. ขตฺติเยสุ คือ สงเคราะห์กษัตริย์ทั้งหลาย (เมืองออกเมืองขึ้นทั้งปวง) หรือข้าราชการฝ่ายปกครอง
3. อนุยนฺเตสุ คือ สงเคราะห์ผู้ติดตามทั้งหลาย อันได้แก่ ข้าราชการฝ่ายพลเรือน
4. พฺราหฺมณฺคหปติเกสุ คือ สงเคราะห์พราหมณ์ และคหบดี อันได้แก่ ผู้ประกอบอาชีพ ทางวิธีการหมอ พ่อค้า และเกษตรกร
5. เนคมชานปเทสุ คือ สงเคราะห์ชาวนิคม และชาวชนบท ซึ่งหมายถึง ราษฎรทั้งปวงทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร
6. สมณพฺราหฺมเนสุ คือ สงเคราะห์พระสงฆ์ และบรรพชิตผู้ทรงศีล ทรงคุณธรรม
7. มิคปกฺขีสุ คือ ( เนื้อ และ นก ) ได้แก่ การสงเคราะห์สัตว์อันควรสงวนทั้งหลาย ในอาณาจักร โดยการห้ามมิให้ราษฎรเบียดเบียนสัตว์เหล่านี้
8. อธมฺมกาปฏิกฺเขโป คือ ทรงจัดการป้องกัน แก้ไข และห้ามปรามราษฎรมิให้มีการกระทำความผิดชั่วร้าย เดือดร้อนเกิดขึ้นในบ้านเมือง
9. อนุปฺปทานํ ธนุปฺทานํ คือ พระราชทานปันทรัพย์เฉลี่ยแก่ชนผู้ไร้ทรัพย์ทั้งหลาย มิให้มีผู้ขัดสนยากไร้ในแว่นแคว้นแผ่นดิน
10. สมณพฺราหฺมณํ อุปสงฺกมิตฺวา ปณฺหปจฺฉนํ คือ ทรงศึกษา สอบถามปัญหากับสมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติดีประพฤติชอบ ผู้ไม่ประมาทมัวเมาอยู่เสมอตามกาลอันควร เพื่อให้รู้ชัดการอันดียิ่งว่าควรประกอบหรือไม่ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขหรือไม่ แล้วทรงประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปโดยถูกต้อง
11. อธมฺมราคสฺส ปหานํ คือ ทรงจัดการป้องกัน มิให้ประพฤติในสิ่งผิด คือการเว้นจากราคะที่ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ได้แก่ การล่วงประเวณี
12. วิสมโลภสฺล ปหานํ คือ การละเว้นจากความโลภ เพื่อประโยชน์ส่วนตน
(พระยาอนุชิต. ราชาศัพท์และคำอธิบาย, 2511 : 115-116)

4. พระจริยวัตรตามแนวพุทธธรรม (เอกกษัตริย์อัจฉริยะ, 2539 : 429-433)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 นอกจากทรงปฏิบัติพระองค์มั่นคงอยู่ในทศพิธราชธรรม จักรวรรดิธรรมและราชสังคหวัตถุธรรมอย่างงดงามสมบูรณ์ยิ่งแล้ว ยังทรงดำรงพระองค์อยู่ในพุทธธรรมประการอื่นๆ ควรที่ราษฎรจักยึดถือเป็นแบบอย่าง ดังจะได้ยกมาแสดงในบางประการต่อไปนี้

ทรงมีความกตัญญูกตเวทีเป็นเลิศ

หลักกตัญญูกตเวทิตาธรรมในพุทธศาสนา เป็นสิ่งที่สังคมไทยให้ความสำคัญเป็นอย่างสูง ถือเป็นเครื่องหมายคนดี สังคมไทยได้ถ่ายทอดคุณธรรมข้อนี้มาแต่โบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความกตัญญูกตเวทิตาธรรมที่มีต่อบุพการี คือ ผู้กระทำอุปการะก่อน ซึ่งมีอยู่ 4 ประการ คือ (1) บิดา มารดา ( 2) ครูอุปัชาฌย์อาจารย์ (3) พระราชามหากษัตริย์ (4) พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และผู้มีพระคุณทั้งหลาย เป็นบุคคลที่ผู้เป็นบุตรธิดา ศิษย์ ราษฎร พุทธศาสนิกชน และผู้ได้รับอุปการคุณทั้งหลายจะต้องแสดงความกตัญญูกตเวทีให้ได้ สังคมยกย่องผู้มีคุณธรรมข้อนี้ว่าเป็นคนดี เป็นบุคคลที่หาได้ยาก และเชื่อว่าผู้มีคุณธรรมข้อนี้จะเป็นผู้เจริญ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชจริยวัตรที่แสดงให้ประจักษ์แก่ชาวโลกแล้วว่า “ พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีความกตัญญูกตเวทีเป็นเลิศ ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชจริยวัตรที่ทรงแสดงต่อสมเด็จพระบรมราชชนนี ตลอดระยะเวลาที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงประชวรจนกระทั่งสวรรคตและพระราชทานเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติคุณธรรมเรื่องนี้อย่างงดงามสมบูรณ์ยิ่งนัก ซึ่ง พระธรรมดิลก ( จันทร์ กุสโล ) วัดป่าดาราภิรมย์ เชียงใหม่ ได้กล่าวถึงพระราชจริยวัตรในเรื่องนี้ไว้ว่า
“… พระองค์ทรงไว้ซึ่งความกตัญญูกตเวทิตาธรรมต่อสมเด็จย่าอย่างหาที่สุดมิได้ ตั้งแต่สมเด็จย่าทรงประชวร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงติดตามพระอาการด้วยความเคารพสม่ำเสมอ ในระหว่างที่สมเด็จย่าประชวร พระองค์ก็ทรงพระประชวรด้วย แต่ก็ทรงทนทุกข์เวทนาส่วนพระองค์แล้วเสด็จเยี่ยมสมเด็จย่าเป็นประจำ

เมื่อสมเด็จย่าสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ บำเพ็ญพระราชกุศลมิได้ขาด จนกระทั่งพระราชทานเพลิงศพเป็นที่เรียบร้อย พระองค์ทรงประพฤติปฏิบัติต่อสมเด็จย่าตามพระราชประเพณีทุกกรณีอย่างสมบูรณ์ยิ่งนัก เป็นต้นว่าพระเมรุมาศ ศาสนพิธี …” ( สัมภาษณ์วันที่ 30 เมษายน 2539 ณ วัดป่าดาราภิรมย์ )

ซึ่งในเรื่องเดียวกันนี้ พระพิศาลธรรมพาที พยอม กลฺยาโณ ได้กล่าวไว้ว่า “… เกี่ยวกับสมเด็จย่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแสดงกตัญญูกตเวทิตาธรรมอย่างสูงสุด พระองค์เสด็จฯ เยี่ยมสมเด็จย่าทุกวัน ทรงจับมือสมเด็จย่าวันละชั่วโมง เสด็จฯ จากพระราชวังเวลาตีสาม ซึ่งไม่มีลูกกตัญญูคนไหนทำได้ และที่ยิ่งกว่านั้นคือ สมเด็จย่าสวรรคตแล้ว พระองค์ทรงปฏิบัติตามหน้าที่พุทธมามกะอย่างสมบูรณ์ ทรงนิมนต์พระสงฆ์ไปแสดงธรรมเทศนาหน้าพระบรมศพทุกวัน วันละสอง – สามกัณฑ์และพระองค์ท่านเสด็จฯ ทุกวัน …” ( สัมภาษณ์ 28 เมษายน 2539 ณ วัดสวนแก้ว )

พระราชจริยวัตรเรื่องความกตัญญูกตเวทิตาธรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ดังกล่าวข้างต้นนี้ จึงเป็นแบบอย่างให้พสกนิกรทั้งมวลได้ถือปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ผู้ที่ได้ปฏิบัติคุณธรรมข้อนี้อยู่แล้วก็มีความพยายามปฏิบัติให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ผู้ที่หลงลืมไปหรือยังไม่ได้ปฏิบัติก็จะได้สติและเริ่มต้นประพฤติปฏิบัติให้ปรากฏ ซึ่งเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาการทอดทิ้งบิดามารดาปู่ย่าตายาย ให้ผจญชะตากรรมตามลำพัง ที่กำลังเกิดขึ้นเป็นปัญหาของสังคมไทยปัจจุบันให้ลดลง เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาผู้ที่อกตัญญูไม่รู้จักคำว่าบุญคุณที่กำลังเป็นปัญหาในปัจจุบัน ผลก็คือสังคมไทยจะมีความน่าอยู่มากยิ่งขึ้น เป็นสังคมที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจ พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน การแสดงออกของสังคมหาใช่เป็นไปตามหน้าที่อย่างเดียวไม่ แต่ทุกคนทุกฝ่ายต่างสำนึกในบุญคุณกันและกัน

ทรงเปี่ยมด้วยพรหมวิหารธรรม

ตามหลักพุทธศาสนา พรหมวิหารธรรม แปลว่า ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของผู้ใหญ่ เช่น พ่อแม่ ครู อุปัชฌาย์ อาจารย์ ท้าวพระยาพระมหากษัตริย์ เป็นต้น เป็นคุณธรรมอีกข้อหนึ่งที่สังคมไทยเน้นปลูกฝังให้ชนในชาติได้ถือปฏิบัติและแสดงออกอย่างเหมาะสม ซึ่งในเรื่องนี้ พระธรรมดิลก วัดป่าดาราภิรมย์ จังหวัดเชียงใหม่ ได้กล่าวไว้ว่า “… ผู้ที่เป็นผู้ใหญ่ เช่น พ่อแม่ ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ หรือ ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบบ้านเมือง จะมีคุณธรรมเป็นคุณสมบัติ 4 ประการ คือ เมตตาธรรม กรุณาธรรม มุทิตาธรรม และอุเบกขาธรรม ที่เรียกว่า ‘ พรหมวิหารธรรม ‘ นั้นเอง ”

เมตตาธรรม คือ ความรู้สึกปรารถนาดีต่อคนทุกระดับ ไม่เลือกชาติชั้นวรรณะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพบปะกับประชาชนทุกระดับชั้น จะเป็นถิ่นทุรกันดารที่ไหนพระองค์ก็เสด็จฯ ไป นอกจากนั้นยังทรงวางพระองค์สม่ำเสมอในเรื่องของศาสนา พระองค์ทรงเป็นพุทธศาสนิกชน เป็นพุทธมามกะ แต่พระองค์ทรงให้พระเมตตาต่อศาสนิกชนทุกศาสนาโดยทั่วถึงกันและทรงยกย่องพระสงฆ์ในลัทธิศาสนานั้นๆ เช่น ญวน จีน ฮินดู เป็นต้น พระองค์ไม่ทรงทำให้ศาสนาใดๆ ผิดหวัง ทรงวางพระองค์อย่างเหมาะสม นี่เป็นพระเมตตาที่พระองค์ทรงมีอยู่

กรุณาธรรม พระองค์ทรงแก้ปัญหาสารพัด จะเห็นได้จากโครงการพระราชดำริต่างๆ ตัวอย่าง โครงการหลวงที่ทรงแก้ปัญหาแก่ชาวเขา ปัญหาใหญ่ของชาวเขา คือ การประกอบอาชีพที่ผิดกฎหมาย เช่น การปลูกฝิ่น อันเป็นยาเสพติดเป็นพิษเป็นภัยต่อสังคม พระองค์ทรงแก้ไขโดยวิธีหาพืชพันธุ์ใหม่ไปชดเชยให้ปลูก ไม่ได้ให้เลิกไปเฉยๆ ถ้าจะทรงพระดำรัสให้เลิกเฉยๆ ให้ตัด ให้เอาไปทิ้ง ให้เอาผู้คนไปลงโทษก็ทรงทำได้

แต่พระองค์ทรงไม่ทำเช่นนั้น พระองค์ทรงแนะนำว่าอาชีพนั้นไม่ดี ให้เลิก แล้วทรงให้เอาต้นไม้นั้นต้นไม้นี้ เป็นพืชพันธุ์เมืองหนาว ทั้งไม้ดอกไม้ผลพืชผัก ไปปลูกแทน จนปัจจุบันนี้ ผลไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ พืชผักต่างๆ ของชาวเขา เป็นพืชพันธุ์ที่อยู่ในโครงการพระราชดำริทั้งสิ้น นี้แสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณ คือทรงปลดเปลื้องความทุกข์ของประชาชน โดยทรงแนะนำและช่วยเหลือเขา แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในการแก้ปัญหา จึงเรียกว่ามี “ พระมหากรุณาธิคุณ 

มุทิตาธรรม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยกย่องบุคคลทุกระดับ ไม่ทรงแสดงความไม่พอพระราชหฤทัยในบุคคลนั้นบุคคลนี้อย่างมนุษย์ทั่วไปแสดงออก ทรงยกย่องให้เกียรติพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกระดับ ทรงยกย่องพระสงฆ์ พระราชทานสมณศักดิ์ เป็นต้น นั่นคือ พระองค์ทรงอนุโมทนาสาธุกับบุคคลทุกระดับที่มีความดี เป็นพระมุทิตาธรรมที่ควรแก่การสรรเสริญยิ่งนัก

อุเบกขาธรรม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงวางพระราชหฤทัยได้อย่างสนิท ไม่มีพระอาการว่าจะเอนเอียงไปในคณะนั้น หมู่นั้น หรือทรงลงอาญาใครอย่างนั้นอย่างนี้ ทรงวางพระราชหฤทัยเป็นกลาง วางเฉยอย่างสนิทใจ ไม่ทรงยกย่องคนนั้นมากคนนี้น้อย ซึ่งหมายความว่าพระองค์ทรงอุเบกขาธรรมไว้อย่างหนักแน่น อนึ่ง เรื่อง พรหมวิหารธรรม นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยกคุณธรรมข้อนี้ ขึ้นพระราชทานเป็นพระบรมราโชวาทแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่เนืองๆ อาทิ พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาแก่นิสิตนักศึกษาวิทยาลัยการศึกษา ณ วิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก เมื่อ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2515 ตอนหนึ่งความว่า

“… ขณะนี้รู้สึกกันทั่วไปว่า มีปัญหาเยาวชนในบ้านเมืองมากขึ้น เนื่องจากเหตุ หลายกระแส ความจริงเยาวชนมิได้ต้องการทำตัวให้ยุ่งยากแต่อย่างใด แต่โดยเหตุที่ไม่ ได้รับความเอาใจใส่ดูแลเท่าที่ควรและขาดที่พึ่ง ขาดผู้ที่จะให้ความรู้คำแนะนำที่ถูกต้อง เหมาะสม เขาจึงกลายเป็นบุคคลที่เป็นปัญหาแก่สังคม

เป็นหน้าที่ของท่านทั้งหลายผู้เป็นครูเป็นอาจารย์ เป็นผู้บริหารการศึกษาที่จะ ต้องช่วยเหลือเขาโดยหลักวิชาและความสามารถ ทุกคนได้เรียนวิชาการแนะแนวมาแล้ว ควรจะได้นำมาปฏิบัติเพื่อให้เยาวชนได้รับประโยชน์อันแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนะ แนวทางความประพฤติและจิตใจซึ่งสำคัญมาก ขอให้เพียรพยายามปลูกฝังความรู้ความ คิดที่ปราศจากโทษให้แก่เขาโดยเสมอหน้า แนะนำอบรมด้วยเหตุผล ด้วยความจริงใจ ประกอบด้วยเมตตาปรานี สงเคราะห์อนุเคราะห์และนำพาไปสู่ทางที่ถูกที่เจริญ เยาวชน ก็จะเกิดความมั่นใจและมีกำลังใจที่จะทำความดี เพื่อจักได้มีอนาคตที่มั่นคงแจ่มใสใน วันหน้า …”

ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงให้ความสำคัญกับคุณธรรมข้อนี้สูงมากหม่อมราชวงศ์อคิน รพีพัฒน์ ซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชนที่ได้ทำงานในโครงการต่างๆ ที่เป็นโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “… พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ทรงเป็นบุคคลที่หาได้ยาก ( บุพการีชน ) คนหนึ่ง คือ พระองค์ทรงพระเมตตาเข้าพระราชหฤทัยในความทุกข์ ความสุขของผู้อื่น และทรงช่วยเหลือแก้ไขให้เขาเหล่านั้นพ้นทุกข์ได้รับความสุขแม้ว่าจะเป็นการปิดทองหลังพระก็ตาม …” ( สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2539 ณ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ )
พระราชจริยวัตรในเรื่องพรหมวิหารธรรมนี้ เป็นพระบารมีธรรมประดุจดังร่มโพธิร่มไทร คอยปกป้องคุ้มครองรักษาพุทธศาสนิกชนและพสกนิกรทุกศาสนาให้มีความอยู่เย็นเป็นสุข สร้างความมั่นคงแก่สังคม และเป็นแบบอย่างสำคัญให้พุทธศาสนิกชนได้เจริญรอยตาม

ทรงเปี่ยมด้วยพระราชวิริยะอุตสาหะเป็นเลิศ

ความวิริยะอุตสาหะ หรือ ความเพียรพยายาม เป็นธรรมะประการหนึ่งที่สังคมไทยหรือพุทธศาสนิกชนมุ่งหวังถ่ายทอดอบรมกุลบุตรกุลธิดาให้ประพฤติปฏิบัติ ด้วยมีความเชื่อว่า ใครก็ตามที่มีหลักธรรมนี้ย่อมจะประสบความสำเร็จตามความหวังในชีวิต มีความสุขความเจริญ ความมั่นคง ทั้งจะช่วยให้สังคมและประเทศชาติเจริญก้าวหน้าด้วย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเปี่ยมด้วยพระราชวิริยะอุตสาหะ ซึ่งในเรื่องนี้ พระธรรมโกศาจารย์ ( ปัญญานันทภิกขุ ) ได้กล่าวไว้ว่า “… ในหลวงพระองค์นี้มีพระราชจริยวัตรอันงดงาม นอกจากทรงมีพระเมตตากรุณาแล้ว ยังมีพระราชวิริยะอุตสาหะพยายามเป็นเลิศ เสด็จไปเยี่ยมประชาชนในที่ต่างๆ ตลอดเวลา เสด็จไปเหนือไปใต้ไปตะวันออกไปตะวันตกทุกแห่ง เพื่อดูแลสุขทุกข์ของประชาชน ที่ใดมีทุกข์พระองค์เสด็จไปช่วย ฝนแล้งก็เสด็จไปช่วย ทรงทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน สมดังพระราชปณิธานที่ว่า ‘ เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ‘ ซึ่งพระองค์ทรงพระราชวิริยะอุตสาหะกระทำทุกอย่างตามเป้าหมายที่ทรงวางไว้ ชีวิตพระองค์เป็นชีวิตแห่งการให้ เสด็จไปไหนก็เสด็จไปเพื่อให้ ให้แต่ความสุขแก่ประชาชนทุกถ้วนหน้า ทรงปฏิบัติงานเหน็ดเหนื่อยตลอดเวลา ข้าราชการทำงานยังมีการพักร้อน แต่ในหลวงทรงทำงานโดยไม่พักร้อน ทำงานตลอดเวลา ไม่จำกัดว่าเช้าสายบ่ายเย็น แม้กลางคืนก็ทรงงาน เมื่ออยู่ในพระราชวังอันเป็นที่ประทับ ก็ทรงปฏิบัติหน้าที่ของพระองค์อยู่ พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินตลอด 24 ชั่วโมง ข้าราชการทำงานไม่ถึง 8 ชั่วโมงก็พักแล้ว ไปทำงานก็สายด้วยซ้ำไป เลิกงานก่อนเวลา แต่ในหลวงนั้นไม่มีเวลาจำกัดในการทำงาน ทรงปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์สุขแห่งประชาชน ไม่ว่าชาวเขา ชาวเรา ชาวเหนือ ชาวใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ล้วนได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ และเป็นที่ประจักษ์แก่ใจคนไทยทุกถ้วนหน้า

คนไทยรู้จักพระองค์ในฐานะพระผู้เมตตากรุณาต่อประชาราษฎร์ เราทั้งหลายอยู่ภายใต้พระบารมีของพระองค์ ควรจะเอาอย่างพระองค์ พระองค์ทรงทำงานเหน็ดเหนื่อยจนพระเสโทไหลตามพระนาสิก ” (สัมภาษณ์ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2539 ณ วัดชลประทานรังสฤษดิ์) ซึ่งเรื่องเดียวกันนี้ พระพิศาลธรรมพาที พระพยอม กลฺยาโณ ) ได้กล่าวไว้ว่า “ ภาพพระเสโทไหลตามพระนาสิกของในหลวงนั้น เป็นภาพพระราชกรณียกิจทีแสดงให้เห็นว่า ในหลวงทรงงานเพื่อพสกนิกรจนเหน็ดเหนื่อย พูดตามภาษาชาวบ้านว่าทำงานจนเหงื่อไหลไคลย้อย เป็นภาพที่เป็นแรงบันดาลใจให้พุทธศาสนิกชนได้ทุ่มเท เสียสละ อดทนทำงานเพื่อพระศาสนา เพื่อสังคมให้มากยิ่งขึ้น …” (สัมภาษณ์เมื่อ 28 เมษายน พ.ศ.2539 ณ วัดสวนแก้ว)

ในเรื่องของพระวิริยะอุตสาหะนี้ ศาสตราจารย์ระพี สาคริก อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เล่าไว้ว่า “ ครั้งหนึ่งได้มีโอกาสตามเสด็จฯ ไปสำรวจพื้นที่บริเวณดอยอ่างขาง เพื่อจัดทำโครงการพัฒนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปบนสันเขา ไหล่เขา อันเป็นเส้นทางธรรมชาติที่ทุรกันดาร สูงๆ ต่ำๆ ประมาณ 8-9 กิโลเมตร พระองค์มิได้ทรงย่อท้อ แม้จะเหน็ดเหนื่อยจนพระเสโทไหลอาบพระวรกายก็ตาม ทรงพักเสวยพระกระยาหารกลางวันซึ่งเป็นข้าวห่อ บนแคร่ไม้ไผ่ที่ทำขึ้นอย่างง่ายๆ พระองค์มุ่งทรงงานให้บรรลุพระราชประสงค์ที่ตั้งพระราชหฤทัยไว้ ขณะเสด็จฯ นั้น ในพระหัตถ์ทรงแผนที่และกล้องถ่ายภาพ ทรงเก็บข้อมูลและวิเคราะห์พื้นที่อยู่ตลอดเวลา ซึ่งผลจากการสำรวจครั้งนั้นได้กลายมาเป็นโครงการหลวงพัฒนาดอยอ่างขางในเวลาต่อมา ” (สัมภาษณ์วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2539)

อนึ่ง ในเรื่องพระราชวิริยะอุตสาหะนี้ ศาสตราจารย์ระวี ภาวิไล ผู้อำนวยการธรรมสถานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวไว้ว่า “ ภาพที่พระองค์ทรงงานหลังพระสงฆ์สวดพระอภิธรรมพระบรมศพสมเด็จย่าเสร็จแล้ว ทุกคืนพระองค์ทรงให้บุคคลต่างๆ ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครและบริเวณพื้นที่โดยรอบเข้าเฝ้าฯ โดยพระองค์ทรงให้แนวคิด แนวทางในการแก้ปัญหา และทรงใช้แผนที่และผังทางกายภาพมาประกอบการอธิบาย ทรงให้ข้อแนะนำชี้แจงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจ ได้นำไปปฏิบัติ จนสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรลงได้ และในเวลาต่อมาได้เกิดเป็นโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมทั้งระยะสั้นระยะยาวขึ้นหลายโครงการ ทั้งๆ ที่ในช่วงเวลาดังกล่าวพระองค์ทรงมีพระราชกิจมากมาย นี้แสดงให้เห็นว่า นอกจากพระองค์ทรงมีพระเมตตาเป็นล้นพ้นแล้ว ยังทรงมีพระราชวิริยะอุตสาหะเป็นเลิศด้วย …” (สัมภาษณ์วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2539)

พระราชจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในเรื่องนี้จึงเป็นแบบอย่างและเป็นแรงบันดาลใจ สอนใจให้อาณาประชาราษฎร์ได้เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทที่จะเสียสละทุ่มเททำงานแก่ส่วนรวมมากยิ่งขึ้น

นายภาวาส บุนนาค อดีตรองราชเลขาธิการสำนักพระราชวัง ได้ให้ข้อสรุปพระราชจริยวัตรอันเป็นปกติวิสัย 5 ประการ ดังมีข้อความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น นอกจากจะมีทศพิธราชธรรมประจำพระองค์แล้ว ยังทรงดำรงพระองค์อยู่ในฐานะเบญจทายาท 5 ประการ คือ
1. รัชทายาท ทรงเป็นผู้รักษาไอศูรย์สมบัติสืบต่อราชประเพณีตามกฎมณเฑียรบาล
2. กุลทายาท ทรงเป็นกุลเชษฐ์ของราชตระกูล ตามพระราชประสงค์ของอดีตพระมหากษัตริยาธิราช ในพระบรมโกศทุกพระองค์
3. ศาสนทายาท ทรงดำรงอยู่ในฐานะเอกอัครศาสนูปถัมภกตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
4. ธรรมทายาท ทรงสนพระทัยและดำรงมั่นในพระสัทธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง
5. ปิยทายาท ทรงดำรงพระองค์เป็นที่รักของปวงชน เช่นเดียวกับสมเด็จพระปิยมหาราชจนกระทั่งราษฎรถวายพระนามพระองค์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช (กวี อิศริวรรณ . 2536)

5. พระราชปณิธาน และอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์แผ่นดินไทยให้เป็นแผ่นดินทอง

“ การสร้างสรรค์แผ่นดินไทยให้เป็นแผ่นดินทอง หรือการช่วยตัวเองในปัจจุบันนี้ เห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความสงบให้เกิดขึ้นก่อนโดยเร็ว เพราะถ้าความสงบยังไม่เกิด เราจะคิดอ่านแก้ปัญหาหรือจะรวมกำลังกันทำการงานช่วยตัวเองไม่ได้ ความสงบนั้น ภายนอก ได้แก่ สภาวการณ์อันเป็นปกติ ไม่มีความวุ่นวายขัดแย้ง ไม่มีการเอาเปรียบเบียดเบียนหรือมุ่งร้ายทำลายกัน ภายใน ได้แก่ ความคิดจิตใจที่ไม่ฟุ้งซ่าน หวั่นไหว หรือเดือดร้อนกระวนกระวาย ด้วยอำนาจความมักได้เห็นแก่ตัว ความร้ายกาจเพ่งโทษ ความหลงใหล เห่อเหิมอันเป็นต้นเหตุของอกุศลทุจริตทั้งหมด การทำความสงบนั้นต้องเริ่มที่ภายในตัวในใจก่อน 

พระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และอุดมการณ์แผ่นดินธรรมแผ่นดินทองนี้ ศาสตราจารย์ ดร.กระมล ทองธรรมชาติ ได้อภิปรายเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2529 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ ในการประชุมใหญ่ของสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย (2530 : 1-7) และให้คำจำกัดความคำว่าอุดมการณ์ ดังนี้

“… อุดมการณ์ทุกอุดมการณ์ หมายถึง ระบบความคิด ความเชื่อเกี่ยวกับเป้าหมาย และแนวทางที่ดีงามในการดำเนินชีวิต จะไม่สามารถดำรงอยู่หรือแพร่หลายต่อไปได้ หากไม่มีกระบวนการของประชาชนผู้มีความเชื่อมั่นคอยเผยแพร่ ปลูกฝัง และทำให้เห็นเป็นจริงในทางปฏิบัติ …”

“… อุดมการณ์ มี 2 ส่วน ส่วนที่เป็นเป้าหมายสูงสุด และส่วนที่เป็นแนวทางที่จะทำให้บรรลุถึงเป้าหมายอันดีงาม ตามที่ปรากฏนั้นอุดมการณ์ไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่เกิดขึ้นโดยมีผู้สร้าง …”

“… สำหรับอุดมการณ์ทางสังคม โดยเฉพาะอุดมการณ์ในการสร้างชาต ิและในการทำให้ชีวิตของการอยู่ร่วมกันมีความมั่นคง มีความผาสุกร่วมกันนั้น ผู้ที่จะสร้างให้เกิดความเชื่อร่วมกันได้ทั้งในเป้าหมายของชาติ และแนวทางที่คนในชาติจะพึงกระทำเพื่อบรรลุเป้าหมายของชาติ ก็คือผู้ที่เป็นหัวหน้าของสังคม ถ้าเป็นสังคมเล็กก็เรียกพ่อ ส่วนสังคมใหญ่ก็เรียกว่า พระมหากษัตริย์ หรือ พระเจ้าจักรพรรดิ์ เป็นต้น …”

พระมหากษัตริย์จึงทรงอยู่ในฐานะที่เหนือกว่าผู้ปกครองอื่นใดที่จะเป็นผู้กำหนดอุดมการณ์ของชาติ และอุดมการณ์ชีวิตของคนในชาติ และก็เป็นเช่นนั้นเรื่อยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นพระราชปณิธานของพระมหากษัตริย์ คืออุดมการณ์ของชาติ และถ้าคนประพฤติปฏิบัติตามแล้วก็จะเกิดผลดีต่อประเทศชาติ

สำหรับอุดมการณ์ของชาติไทยในสมัยรัตนโกสินทร์นั้นมีปรากฏชัดอยู่ในพระราชนิพนธ์ หรือพระราชปณิธานที่แสดงออกในรูปของบทความ หรือพระราชดำรัสของพระมหากษัตริย์ทั้ง 9 พระองค์ ในรัชกาลที่ 9 ของเรานี้ พระราชปณิธานของพระองค์ปรากฏในปฐมบรมราชโองการที่ว่า “ เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม 

ข้อความตอนแรกในพระราชดำรัสนี้ว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม ก็คือแผ่นดินธรรม คือทำแผ่นดินนี้เป็นแผ่นดินธรรม ข้อความตอนที่ 2 ที่ว่า เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ก็คือ แผ่นดินทอง เพราะฉะนั้น แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง จึงมีความหมายว่า เป็นแผ่นดินของปวงชนผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมและอยู่ร่วมกันอย่างมีความผาสุก

ดังนั้น แผ่นดินธรรม แผ่นดินทองจึงไม่ได้หมายถึงแผ่นดินที่มีความเจริญทางวัตถุเท่านั้น แผ่นดินทอง คือแผ่นดินที่มหาชนอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุก ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกคนตั้งมั่นอยู่ในธรรม และขณะนี้เรามีประทีปที่ส่องนำทางเราแล้ว นั่นก็คือพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันที่ได้ทรงปฏิบัติทศพิธราชธรรม และทรงปฏิบัติตามราชสังคหวัตถุ 4 ประการ และจักรวรรดิวัตร 12 ประการอย่างครบถ้วนทุกประการ ด้วยคุณธรรมทั้งหมดที่กล่าวมาจึงทรงเป็นที่เคารพรักเทิดทูนของคนไทยทั้งปวง และทรงเป็นจุดศูนย์รวมจิตใจของชนทุกหมู่เหล่า หรือที่เรียกว่า ความเป็นอันเดียวกันของชาติ (จิตวิทยาความมั่นคง, 2530 : 7)