พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

บทที่ 3 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชสมภพในต่างประเทศ เนื่องจากขณะนั้นสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกกำลังทรงศึกษาวิชาแพทย์ ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาแล้วได้เสด็จกลับประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.2471 และได้เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2472 ในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระชนมายุ 2 พรรษา

การศึกษา

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมายุได้ 5 พรรษา ในปี พ.ศ.2475 ได้ทรงศึกษาวิชาสามัญชั้นต้นที่โรงเรียนมาแตร์เดอี ถนนเพลินจิต กรุงเทพมหานคร ในปีนั้นเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลง การปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย เหตุการณ์บ้านเมืองอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ราบรื่นนัก ประกอบกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงปรารถนาจะให้พระราชโอรส และพระราชธิดาได้รับการศึกษาแผนใหม่ จึงได้ขอพระบรมราชานุญาต พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) พาพระราชธิดาและพระราชโอรสทั้งสามพระองค์เสด็จไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในต้นปี พ.ศ.2476

ภาพขณะทรงพระเยาว์เมื่อประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเริ่มศึกษาในชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียน Mirmont ( เมียร์มองต์ ) และมีพระอาจารย์มาถวายการสอนภาษาต่างๆ ที่จำเป็นหลายภาษา อาทิ ฝรั่งเศส เยอรมัน และอังกฤษ ที่พระตำหนักหลังจากกลับจากโรงเรียน ทรงได้รับความชื่นชมจากพระอาจารย์ว่า ทรงพระปรีชาสามารถเข้าพระทัยบทเรียนได้อย่างรวดเร็ว เมื่อทรงเจริญพระชนมพรรษาขึ้นก็ทรงมีพระราชหฤทัยในงานวิชาแขนงอื่นๆ เช่น งานช่างฝีมือ งานจักรกล งานเกษตร และด้านศิลปการดนตรี ทรงพระปรีชาทั้งในด้านการบรรเลงเครื่องดนตรี และทางด้านพระราชนิพนธ์บทเพลงต่างๆ ได้รับการยอมรับว่าทรงมีพระอัจฉริยะภาพอย่างสูง การที่ทรงสนพระราชหฤทัยในวิชาการหลายแขนงเหล่านี้ ล้วนเป็นปัจจัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาประเทศต่อมา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงศึกษาต่อในระดับมัธยมที่โรงเรียน นูแวล เดอลา สวิส โรมางค์ (Ecole Nouvelle de la Suisse Romande) เมืองแชลลี ซูร์ โลซานน์ (Chailly-sur-Lausanne) ทรงสอบไล่ได้ประกาศนียบัตร Bachelier des Lettres จาก Gymnase Classique Cantonal แห่งเมืองโลซานน์ แล้วทรงเข้าศึกษาขั้นอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยโลซานน์ โดยทรงเลือกศึกษาในแขนงวิชาวิทยาศาสตร์ สาขาวิศวกรรมศาสตร์

ในปี พ.ศ.2477 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระเชษฐา เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 8 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลฯ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช จึงทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เมื่อ พ.ศ.2478

พระที่นั่งบรมพิมาน

และได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จพระราชดำเนินนิวัติประเทศไทยเป็นครั้งแรกใน พ.ศ.2481 โดยประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เป็นการชั่วคราว แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จนถึง พ.ศ.2488 จึงโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จพระราชดำเนินนิวัติประเทศไทยเป็นครั้งที่สอง ครั้งนี้ประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง

เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ

วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จสวรรคตอย่างกระทันหัน คณะรัฐบาลด้วยความเห็นชอบจากรัฐสภา พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการ ได้เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท สมเด็จพระบรม ราชชนนี ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพล อดุลยเดช ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุ 19 พรรษา เสด็จขึ้น เสวยราชสมบัติ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 9 แห่ง พระบรมราชจักรีวงศ์ และได้ทรงสืบราชสันตติวงศ์โดย มีสายพระโลหิตโดยตรง จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมอัยกาธิราชเจ้า

ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นองค์ พระประมุข ซึ่งจะต้องมีพระราชภาระหน้าที่ในการ บริหารและปกครองประเทศ จึงได้เสด็จพระราชดำเนิน กลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในปี พ.ศ.2489 เพื่อ ทรงศึกษาวิชาที่เป็นหลักในการบริหารและการปกครอง ประเทศ คือ วิชากฎหมาย ( นิติศาสตร์ ) และวิชารัฐศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมรส

ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับศึกษาอยู่ในต่างประเทศนั้น ทรงพบหม่อมราชวงศ์ สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาในหม่อมเจ้านักขัตมงคล กิติยากร และหม่อมหลวงบัว ( สนิทวงศ์ ) กิติยากร และต้องกับพระราชอัธยาศัย

เมื่อ พ.ศ.2492 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ในประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ ต้องประทับรักษาพระองค์ในสถานพยาบาล ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมหลวงบัว กิติยากร พาธิดาทั้งสองคือ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ และหม่อมราชวงศ์บุษบา เข้าเฝ้าเยี่ยมพระอาการประจำ จนพระอาการประชวรทุเลาลง เสด็จกลับพระตำหนักได้ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้รับสั่งขอให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ อยู่ศึกษาต่อที่เมืองโลซานน์ ในโรงเรียนประจำมีชื่อที่สอนวิชาพิเศษแก่กุลสตรี คือภาษา ศิลปะ ดนตรี และประวัติศาสตร์ ต่อมาทรงหมั้น หม่อมราชวงศ์ สิริกิติ์ กิติยากร ในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2492 ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ในปี พ.ศ.2493 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนคร ได้ประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตั้งการพระราชพิธีถวายพระเพลิง พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ( รัชกาลที่ 8) ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2493

ต่อมาในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2493 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ พระตำหนักสระปทุม ของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

           ทรงรับน้ำพระมหาสังข์จาก สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี         พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ณ พระตำหนักสระปทุม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และหม่อมราชวงศ์ สิริกิติ์ กิติยากร

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ในวันที่ 4-5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธี
บรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง เฉลิมพระบรมนามาภิไธย ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ” พร้อมทั้งพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า “ เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ” แล้วทรงหลั่งทักษิโณทกตั้งพระราชสัตยาธิษฐาน จะปกครองพระราชอาณาจักรโดยทศพิธราชธรรมจริยา และในโอกาสนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรด กระหม่อมสถาปนาเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี

พระราชพิธีทรงพระผนวช

โดยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก กอปรกับทรงมีพระราชศรัทธาแรงกล้าในพระพุทธศาสนา และพระราชประเพณี อีกทั้งทรงพระราชดำริว่าศาสนาพุทธ เป็นศาสนาประจำชาติ อันประชาชนของพระองค์เลื่อมใสกันอยู่เป็นส่วนมาก ต่อมาเมื่อได้มีโอกาสทรงคุ้นเคยกับหลักการ และทางปฏิบัติของพุทธศาสนิก ในระหว่างที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนี้ ก็ทรงมีพระราชศรัทธายิ่งขึ้น เพราะความประจักษ์แก่พระราชหฤทัยว่า พระธรรมคำสั่งสอน ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกอบด้วยเหตุผล และสัจจธรรม แม้ผู้ใดจะวิจารณ์ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ ก็จะไม่เสื่อมถอยในความนิยมเชื่อถือ

ต่อมาในระหว่าง พ.ศ.2499 นี้ สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ พระสังฆราชเจ้า วัดบวรนิเวศวิหาร (ม.ร.ว. ชื่น นพวงศ์ ฉายา สุจิตโต ป .7) ผู้ที่ทรงนิยมนับถือ โดยวิสาสะอันสนิท และทรงถือว่ามีคุณูปการส่วนพระองค์มามากนั้นได้ประชวรลง พระอาการเป็นที่วิตกกันทั่วไป จนแทบไม่มีหวัง แต่เดชะบุญได้หายประชวรมา ได้อย่างน่าอัศจรรย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จึงได้ทรงพระราชดำริว่า ถ้าได้ทรงพระผนวชโดยที่สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นพระอุปัชฌาย์แล้ว จะเป็นที่สมพระราชประสงค์ในอันที่จะได้ทรงแสดงพระราชคารวะ และศรัทธาในพระองค์ท่านเป็นอย่างดี

อีกทั้งพระคุณธรรมเปี่ยมด้วยความกตัญญูกตเวที ทรงมีพระราชประสงค์จะสนองพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระบรมชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนี อีกส่วนหนึ่งด้วย จึงได้ตกลงพระราชหฤทัยที่จะทรงผนวช (ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง) เพื่อทรงอุทิศพระราชกุศลสนองพระเดชพระคุณ ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม ถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2499 เป็นเวลา 15 วัน ทรงได้รับฉายาว่า “ ภูมิพโลภิกขุ ” และประทับจำพรรษา ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ ในระหว่างที่ทรงพระผนวชอยู่นั้น พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงบำเพ็ญพระราชวัตรดุจพระนวกะทั่วไป ทรงศึกษาพระธรรม และทรงปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นพระธิดาองค์ใหญ่ของ พลเอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ ( พระนามเดิมหม่อมเจ้านักขัตมงคล กิติยากร ) และหม่อมหลวงบัว ( สนิทวงศ์ ) กิติยากร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า “ สิริกิติ์ ” แปลว่า ผู้เป็นศรีแห่งกิติยากร

นายพันเอกหม่อมเจ้านักขัตรมงคล
และหม่อมหลวง บัว ( สนิทวงศ์ ) กิติยากร (ยศขณะนั้น)

เสด็จพระราชสมภพ วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2475 ที่บ้านถนนพระรามหก จังหวัดพระนคร ของพลเอกเจ้าพระยาวงศานุประพันธ์ ผู้เป็นบิดาของหม่อมหลวงบัว กิติยากร ขณะนั้นหม่อมเจ้านักขัตมงคล กิติยากร พระบิดาทรงดำรงยศพันเอก และรับราชการในตำแหน่ง ผู้ช่วยเสนาธิการกองทัพบก ( ในสมัยนั้นมีตำแหน่งเดียว )

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย หม่อมเจ้านักขัตมงคล กิติยากร ทรงออกจากราชการทหาร และรัฐบาลได้แต่งตั้งให้ไปรับราชการในตำแหน่งเลขานุการเอก ประจำสถานอัครราชฑูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดี. ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา

หม่อมหลวงบัว กิติยากร ยังคงอยู่ในประเทศไทย เมื่อให้กำเนิดหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากรแล้ว จึงเดินทางไปสมทบ และได้มอบธิดาน้อยไว้ในความดูแลของพลเอก เจ้าพระยาวงศานุประพันธ์ และท้าววนิดาพิจาริณีผู้เป็นเจ้าคุณตา และคุณยาย

ในปี พ.ศ.2477 หม่อมเจ้านักขัตมงคล กิติยากร ทรงลาออกจากราชการ กลับประเทศไทยพร้อมครอบครัว ได้รับหม่อมราชวงศ์อดุลยกิติ์ กิติยากร บุตรชายรองซึ่งฝากฝังไว้กับหม่อมเจ้าหญิงอัปสรสมาน (เทวกุล) กิติยากร และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ซึ่งอยู่กับเจ้าคุณตาและคุณยาย ให้กลับมาอยู่ร่วมกันที่ตำหนัก ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนกรุงเกษม เทเวศร์ กรุงเทพมหานคร

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับการศึกษาเบื้องต้นที่แผนกอนุบาล โรงเรียนราชินี จากนั้นทรงเข้าโรงเรียนเซ็นต์ฟรังซีสซาเวียร์ คอนแวนต์ ในชั้นประถม และมัธยม ระยะนี้ทรงเรียนเปียโนควบไปด้วย จนถึงชั้นมัธยมปีที่ 3 พระชนมายุ 14 พรรษา จึงทรงลาออกจากโรงเรียน ด้วยหม่อมเจ้านักขัตมงคล กิติยากร รับแต่งตั้งเป็นอัครราชทูต ประจำสำนักเซ็นต์เจมส์ ประเทศอังกฤษ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงศึกษาทางภาษา และดนตรี โดยเฉพาะเปียโน เพราะทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยการดนตรีที่มีชื่อของกรุงปารีส

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร)

หม่อมเจ้านักขัตมงคล กิติยากร ทรงย้ายเป็นราชทูตหลายประเทศ จนกระทั่งปี พ.ศ.2491 ขณะที่ประทับที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชหลายครั้ง เมื่อทรงมีพระราชกิจต่างๆ ทางกรุงปารีส จึงเป็นโอกาสให้ครอบครัวได้เฝ้า และถวายความสะดวกต่างๆ ทุกคราวที่เสด็จฯ ด้วย จนเป็นที่คุ้นเคยต่อเบื้องพระยุคลบาท

ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้านักขัตมงคล กิติยากร และครอบครัวมาเฝ้า แล้วสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีรับสั่งขอหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ต่อหม่อมเจ้านักขัตมงคล และทรงประกอบพระราชพิธีหมั้นอย่างเงียบๆ ในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2492 ทรงใช้พระธำมรงค์ที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรฯ ทรงหมั้นสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นพระธำรงค์หมั้น

ในปี พ.ศ.2493 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนคร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2493 ต่อมาในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2493 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ วังสระปทุม พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงรับน้ำพระมหาสังข์จากสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

ทรงรับน้ำพระมหาสังข์จาก
สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง และในโอกาสนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น “ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ” ทรงหลั่งน้ำพระมหาสังข์ ทรงเจิม และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันเป็นมงคลนพรัตน์ราชวราภรณ์

ในงานพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสนี้ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์

และในปี พ.ศ.2499 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระผนวชเป็นเวลา 15 วัน ( ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม ถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน ) ได้ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างที่ทรงพระผนวช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ทรงปฏิบัติพระราชกิจน้อยใหญ่แทนพระองค์สนองพระราชประสงค์ด้วยพระปรีชาสามารถและเป็นที่เรียบร้อย จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระนามาภิไธยว่า “ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ”

พระราชโอรส และพระราชธิดา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชโอรส และพระราชธิดา 4 พระองค์ คือ

1. หลังจากการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงรักษาพระสุขภาพ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตามที่คณะแพทย์ได้ถวายคำแนะนำ และระหว่างที่ประทับในเมืองโลซานน์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี มีพระประสูติกาลพระราชธิดาพระองค์แรก คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ซึ่งประสูติ ณ โรงพยาบาลมองชัวซีส์ เมืองโลซานน์ เมื่อวันพฤหัสบดี แรม 14 ค่ำเดือน 4 ปีเถาะ ตรงกับวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2494

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี

เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์แรกเจริญพระชันษาได้ 7 เดือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนคร ประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

พระราชวังดุสิต ( พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ในสวนจิตรลดา เป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังดุสิต อยู่ระหว่างถนนราชวิถี ถนนพระราม 5 ถนนศรีอยุธยา และถนนสวรรคโลก ( อยู่ด้านทิศตะวันออก ) พระตำหนักจิตรลดา เป็นตำหนัก 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูน มีลวดลายปูนปั้นประดับอย่างวิจิตร ภายในตกแต่งฝาประดับด้วยไม้จำหลักลายสวยงาม

อยู่ด้านเหนือของพระตำหนักปารุสกวัน ซึ่งเป็นพระตำหนักแบบเดียวกัน ) จากนั้นทรงย้ายไปประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เนื่องจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ปรับปรุงพระตำหนักจิตรลดารโหฐานสำหรับเป็นที่ประทับแทนการที่รัฐบาลจะจัดสร้างพระตำหนักขึ้นใหม่ และที่พระที่นั่งอัมพรสถานนี้เอง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี มีพระประสูติกาลพระราชโอรสและพระราชธิดาอีกสามพระองค์ คือ

พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

2. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ฯ ประสูติเมื่อวันจันทร์ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 9 ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2495 ทรงเป็นพระราชโอรสองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ สกลมหาสังฆปรินายก ถวายพระนามาภิไธยว่า “ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรดิศรสันตติวงศ์ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการ มหิตลาดุลยเดช ภูมิพลนเรศร์วรางกูร กิติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร คชนาม ”

ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2515 ทรงได้รับสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ดังนี้

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพวรางกูร สิริกิติยสมบูรณ์สวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธ สยามมกุฏราชกุมาร

3. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ประสูติเมื่อวันเสาร์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 5 ปีระกา ตรงกับวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2498

ต่อมาในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2520 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาขึ้นเป็น “ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ”

4. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 8 ปีระกา ตรงกับวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2500

และในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2500 หลังจากทรงประกอบพิธีเฉลิมพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ซึ่งได้ต่อเติมขึ้นใหม่แล้ว ได้ทรงย้ายที่ประทับจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต กลับไปประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต จนถึงปัจจุบัน

ในปี พ.ศ.2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระประชวร แพทย์ถวายคำแนะนำให้ทรงพัก จึงเสด็จออกบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเช่นเคยมิได้ แต่ทรงห่วงใยว่าโครงการตามพระราชดำริจะชะงัก จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จฯ แทนพระองค์เยี่ยมราษฎร และสดับตรับฟังทุกข์สุขของประชาชนในจังหวัดต่างๆ

สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ทรงรักธรรมชาติมาแต่ทรงพระเยาว์ ทรงผูกพันพระทัยอยู่กับธรรมชาติของสัตว์ และป่าเขาลำเนาไพร ทรงตระหนักถึงความสำคัญของกฎแห่งความอยู่รอดร่วมกัน ของชีวิตมนุษย์กับธรรมชาติแวดล้อม

จากการเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรทำให้ สมเด็จฯ ทรงพบว่า ชาวชนบทประสบปัญหาการขาดน้ำ สมเด็จฯ ทรงตระหนักดีว่า ปัญหาร้ายแรงเรื่องการขาดน้ำมาจากการตัดต้นไม้ทำลายป่า ทำลายแหล่งต้นน้ำลำธาร เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของราษฎร ซึ่งชอบทำไร่เลื่อนลอย แต่ก็ทำไปเพื่อหาเลี้ยงชีพ การแก้ไขจะต้องค่อยทำค่อยไป ชี้แจงให้เขาเห็นผลเสียในการกระทำเช่นนั้น ขณะเดียวกันต้องหาอาชีพใหม่เป็นการทดแทน นอกจากนั้นผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ยังตัดไม้ เพื่อนำไปปลูกหรือซ่อมแซมที่พักอาศัย และรับจ้างนายทุนโค่นไม้ป่า เพื่อนำส่งขายต่างประเทศ ทรงมีพระราชปรารภว่า ควรสอนให้คนทั่วไปทราบว่า การมีป่าไม้เป็นของมีประโยชน์ และควรทำให้เขาเห็นว่าป่าไม้เป็นของประชาชน คงจะลดการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าลงได้บ้าง

ด้วยเหตุนี้ โครงการ “ ป่ารักน้ำ ” ในพระราชดำริของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ จึงบังเกิดขึ้นที่อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร โดยเสด็จฯ ไปทรงปลูกต้นไม้ ในที่ทดลองเตรียมไว้ให้ราษฎรที่มาร่วมในพิธี ีเห็นการปลูกต้นไม้อย่างถูกวิธี แล้วทรงมอบหมายให้ราษฎรดูแล พระราชทานเงินเดือนครอบครัวละ 1,500 บาท และทรงเช่าที่ดินรกร้างของราษฎร เพื่อปลูกต้นไม้เพิ่มเติมอีก จากเนื้อที่ดินครั้งแรกเพียง 1 ไร่ เป็น 142 ไร่

โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ (ป่ารักน้ำ)

สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ทรงปลูกต้นไม้ในที่ส่วนพระองค์ ตำบลหาดทรายใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นที่กันดารน้ำแห้งแล้ง ทรงปลูกต้นไม้ที่เติบโตง่าย เช่น ต้นกระถินณรงค์ ต้นขี้เหล็ก ฯลฯ เพื่อทดลองดูว่าถ้าสามารถขึ้นที่นี่ได้ ก็จะสามารถเจริญเติบโตได้ในทั่วทุกภาคของประเทศ

นอกจากนี้ยังมีโครงการต่างๆ ในพระราชดำริของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ อีกเป็นจำนวนมาก อาทิ โครงการศิลปาชีพ ที่ปัจจุบันได้เจริญก้าวหน้า มีสมาชิกทั่วประเทศ โครงการหม่อนไหมสมเด็จฯ เป็นต้น

ทรงส่งเสริมให้ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้าไหม

โครงการหม่อนไหมสมเด็จฯ

ปีที่เริ่มโครงการ
 พุทธศักราช 2516

วัตถุประสงค์

1. เพื่อผลิตรังไหมสำหรับจำหน่ายโรงสาวไหม ในอันที่จะส่งเสริมให้ราษฎรมีเส้นไหม เพื่อใช้ทอผ้าไหมเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน
2. เพื่อส่งเสริมให้ราษฎรผู้สนใจ ได้มีประสบการณ์เกี่ยวกับการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพื่อนำไปดำเนินงานในท้องถิ่นของตนๆ

ประวัติความเป็นมา

ด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชประสงค์ที่จะให้มีการทอผ้าไหมเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนให้มากขึ้น ซึ่งเป็นการส่งเสริมประเพณีแต่ดั้งเดิมของสตรีไทยไม่ให้สูญหายไป อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มรายได้ของครอบครัวจากการจำหน่ายผ้า และซิ่นไหม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานไหมเข็ดให้ราษฎรตามหมู่บ้านต่างๆ ในภูมิภาคใช้ทอผ้าไหม และพระราชทานพระราชดำริว่า หากมีการส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพื่อผลิตเส้นไหมในประเทศได้มากขึ้นแล้ว จะเป็นการช่วยเหลือราษฎรให้มีอาชีพเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเป็นการทุ่นค่าใช้จ่ายในการที่จะต้องซื้อเส้นไหมจากต่างประเทศ ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับ การจัดสร้างอ่างเก็บน้ำและการวางท่อน้ำมาแต่เริ่มแรกของการดำเนินงานโครงการฯ และสมาชิกนอกโครงการฯ โดยมีพระราชประสงค์ที่จะให้มีการดำเนินงานในลักษณะที่ชาวบ้านจะสามารถนำไปใช้ในหมู่บ้านได้ ควบคู่ไปกับงานของโครงการฯ ซึ่งดำเนินงานในลักษณะซึ่งราษฎรตามหมู่บ้านเล็กๆ อาจไม่สามารถทำตามแบบอย่างได้ ซึ่งโครงการฯ ได้วางแผนรับสนองพระราชดำริต่อไป

สถานที่จัดตั้ง 
สถานที่จัดตั้งโครงการฯ ใช้ที่ดินที่มีชื่อเรียกกันว่า “ หนองเหียง ” อยู่ในอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระยะทางห่างจากตัวอำเภอ 6 กิโลเมตร จำนวนเนื้อที่ทั้งสิ้น 300 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินซึ่งผู้มีจิตศรัทธาน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และที่ดินซึ่งจัดซื้อด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์

วิธีการดำเนินงาน

1. จัดส่งพัฒนากรของโครงการฯ ไปศึกษาฝึกอบรมการปลูกหม่อน และเลี้ยงไหมที่ศูนย์วิจัยและอบรมไหมที่จังหวัดนครราชสีมา และที่จังหวัดขอนแก่น
2. ในระยะเริ่มแรกให้มีสมาชิกโครงการฯ รวม 6 ครอบครัว ทำการปลูกหม่อน เลี้ยงไหมโดยการดูแลของพัฒนากรโครงการฯ
3. ได้มีการเปิดรับสมาชิกนอกโครงการฯ เข้ารับการอบรมและฝึกงานเพื่อได้นำประสบการณ์ไปใช้พัฒนาท้องถิ่นของตนๆ

การดำเนินงาน

ปี พ.ศ.2515 ได้มีการทดลองปลูกต้นหม่อนที่ “ หนองเหียง ” จำนวน 5 ไร่ ผลปรากฏว่าต้นหม่อนขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ จึงจัดส่งพัฒนากรของโครงการฯ ไปศึกษาฝึกอบรมการปลูกหม่อน และเลี้ยงไหมที่ศูนย์วิจัย จังหวัดนครราชสีมา และที่จังหวัดขอนแก่น

ปี พ.ศ.2516 แขวงการทางหัวหินและกรมทางหลวง ได้ดำเนินการตัดถนนเข้าสู่โครงการฯ กรมชลประทานได้เริ่มงานขุดอ่างเก็บน้ำ และกรมพัฒนาที่ดินได้บุกเบิกถากถางพื้นที่ เพื่อเตรียมงานการปลูกต้นหม่อน

ปี พ.ศ.2517 ตำรวจพลร่มจากกองกำกับการสนับสนุนทางอากาศ ตำรวจตระเวนชายแดน ( ค่ายนเรศวร ) หัวหิน ได้ช่วยควบคุมงานการปลูกต้นหม่อน และกรมการทหารช่าง กองทัพบก เริ่มงานก่อสร้างบ้านพักสมาชิก และบ้านพักพัฒนากร โรงเลี้ยงไหมวัยแก่ อีกทั้งหอถังเก็บน้ำ และวางท่อรดน้ำต้นหม่อน โดยมีบริษัทห้างร้าน เอกชน และหน่วยราชการน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายวัสดุ และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินเพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลในโครงการนี้

ปี พ.ศ.2518 ได้ปรับปรุงตบแต่งพื้นที่บริเวณโครงการฯ ทำการก่อสร้างโรงเลี้ยงไหม โดยได้จำหน่ายรังไหมไปแล้วครั้งแรกในเดือนตุลาคม พ.ศ.2518 นับเป็นผลงานที่คืบหน้าเป็นที่น่าพอใจยิ่ง และในปี พ.ศ.2520 โครงการฯ ได้สร้างโรงสาวไหมเพื่อดำเนินงานสาวไหมของโครงการฯ และรับซื้อรังไหมจากราษฎรทั่วไป ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ราษฎรประกอบอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมได้เพิ่มขึ้นสมดังพระราชประสงค์

โครงการศิลปาชีพพิเศษ

ในการดำเนินงานต่างๆ ตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ด้วยว่าการพัฒนาส่งเสริมให้ประชาชนชาวไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ทรงกระทำในทุกด้านไปพร้อมๆ กัน พร้อมกับมีการพัฒนาส่งเสริมอุตสาหกรรมในครัวเรือนควบคู่ไปด้วยเสมอ

การอุตสาหกรรมในครัวเรือน เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่จะช่วยให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น จากการดำรงชีพตามปกติ ซึ่งในเรื่องนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นผู้ดำเนินงานอย่างแข็งขัน เพื่อช่วยสนับสนุนพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของราษฎรให้เกิดเป็นจริงขึ้นได้

แนวพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการศิลปาชีพพิเศษ

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับสนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ว่าจะบำบัดทุกข์บำรุงสุขแห่งอาณาประชาราษฎร์ของพระองค์ จึงทรงอุทิศกำลังพระวรกาย ตลอดจนพระราชทานพระราชทรัพย์ เพื่อดำเนินการสนับสนุนส่งเสริมอุตสาหกรรมในครัวเรือน โดยมีพระราชดำริให้จัดตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษขึ้น และทรงรับไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วยทรงเห็นว่าประชาชนชาวไทยนั้นเป็นผู้ที่มีฝีมือในด้านศิลปาชีพหัตถกรรมสืบทอดกันมาช้านาน แต่ปัจจุบัน ผู้ที่มีฝีมือดังกล่าวนับวันจะลดน้อยถอยลงไปทุกที และวันหนึ่งข้างหน้าอาจสูญหายไปอย่างน่าเสียดาย จึงมีพระราชประสงค์ที่จะให้มีการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งนอกจากจะช่วยยกฐานะราษฎรในชนบทที่ยากจน และชาวนาชาวไร่ที่ทำการเกษตรกรรมไม่เป็นผล ให้มีอาชีพเสริมและมีรายได้เพิ่มขึ้นเพียงพอที่จะดำรงชีวิต และครอบครัวให้อยู่ดีมีสุขแล้ว ยังเป็นการฟื้นฟูสงวนไว้ซึ่งศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านอันเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ ให้ฟื้นคืนกลับมา และสามารถสืบทอดให้ยั่งยืนเป็นมรดกศิลปสมบัติของชาติสืบต่อไปด้วย

การดำเนินการ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษฯ ได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2519 ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงดำรงตำแหน่งองค์ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิ

มูลนิธินี้มีวัตถุประสงค์หลัก คือ การส่งเสริมการหารายได้พิเศษให้แก่ครอบครัวชาวนา ชาวไร่ ผู้มีรายได้น้อยนอกฤดูกาลการทำนา โดยให้ความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมในครัวเรือน คือ การประดิษฐ์ศิลปหัตถกรรมต่างๆ ตลอดจนส่งเสริมจัดหาตลาดให้กับผลิตผลจากอุตสาหกรรมครัวเรือนเหล่านี้ด้วย

งานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านและงานช่างฝีมือนี้ ได้ทรงส่งเสริมในทุกภาค ตามความคุ้นเคยของประชาชน ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรม ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ที่จะพึ่งพาได้ในท้องถิ่นนั้นๆ โดยที่ภาคกลางได้นำป่านศรนารายณ์ ลาน หรือหางอวน มาถักทอเป็นกระเป๋า หมวก รองเท้า ที่รองจาน และอื่นๆ มีการส่งครูไปฝึกการทอผ้าฝ้าย รวมทั้งให้มีการปั้นตุ๊กตาชาววัง หรือตุ๊กตาไทย ซึ่งโครงการปั้นตุ๊กตาไทยนี้ นอกจากเป็นการส่งเสริมอาชีพแก่ราษฎรแล้ว ยังเป็นการรักษาศิลปวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของไทย เป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยไปในต่างประเทศ เพราะตุ๊กตาไทยได้จำลองกิริยาท่าทาง การแต่งกาย ชีวิตความเป็นอยู่ และประเพณีวัฒนธรรมไว้เป็นอย่างดี

ทางภาคเหนือ โปรดเกล้าฯ ให้มีโครงการทอผ้าไหม ผ้ายก ผ้าตีนจก และผ้าฝ้ายเนื้อหนา เกี่ยวกับงานเย็บปักถักร้อย ทำไม้แขวนเสื้อ และเครื่องเงินชาวเขาที่ใช้เป็นเครื่องประดับ เนื่องด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้โดยเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชาวไทยภูเขา ได้ทรงทราบว่า ชาวไทยภูเขาเผ่าเย้ามีเครื่องแต่งกายที่ปักเป็นลวดลายและสีสันงดงาม ทั้งเป็นศิลปะที่ได้สืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว จึงทรงส่งเสริมและสนับสนุนงานปักของชาวเย้าไว้มิให้สูญหายไปด้วย

ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ราษฎรนิยมทอผ้ามัดหมี่ และผ้าไหมใช้เองอยู่ก่อนแล้ว แต่ขาดแคลนไหมที่ใช้ทอ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้สนับสนุนการเลี้ยงไหมพันธุ์พื้นเมือง และการทอซิ่นไหมมัดหมี่ โดยการทอจากลายเก่าๆ แบบพื้นเมือง และได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นค่าวัสดุและค่าแรง แล้วทรงรับซื้อผ้าที่ราษฎรทอขึ้น นอกจากนั้น ผู้ที่ทอผ้ามีฝีมือดีเด่น ก็จะได้รับพระราชทานรางวัลพิเศษต่างหากจากค่าแรง

ทางภาคใต้ เดิมมีการทอผ้าที่มีลักษณะเฉพาะของภาคใต้ เช่น ผ้าลายต่างๆ ( ผ้าลายดอกพิกุล ลายราชวัตร ลายดอกมะลิ ) ต่อมาการทอผ้าขาดผู้นิยมเท่าที่ควร จึงโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูการทอผ้าพื้นเมืองให้เป็นที่นิยมสูงขึ้น นอกจากนี้ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้มีโครงการประดิษฐ์ดอกไม้จากเศษผ้าฝ้าย ผ้าไหม และผ้าชนิดต่างๆ รวมทั้งได้มีการส่งเสริมงานหัตถกรรมพื้นบ้านของชาวภาคใต้อีกหลายอย่าง เช่น การสานเสื่อกระจูด การจักสานย่านลิเพา ซึ่งเป็นไม้เลื้อยที่มีอยู่ทั่วไปในภาคใต้ สามารถนำมาจักสานเป็นเครื่องมือเครื่องใช้หลายอย่าง เช่น กระเป๋าถือ ถาด พาน และที่รองแก้ว เป็นต้น

ต้นย่านลิเพา
กระเป๋าย่านลิเพา

นอกจากโครงการส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษตามท้องถิ่นทั่วๆ ไปแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ยังมีพระราชดำริจัดตั้งศูนย์ศิลปาชีพพิเศษ เป็นโครงการฝึกอบรมเกษตรกรขึ้นในเขตปฏิรูปที่ดิน อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศูนย์ศิลปาชีพพิเศษนี้ ใช้พื้นที่ประมาณ 700 ไร่ เพื่อทำการฝึกอบรมเกษตรกรในท้องถิ่นใกล้เคียงในด้านศิลปาชีพนานาชนิด ตามความเหมาะสมของสภาพท้องถิ่น ในการจัดหาวัสดุและความถนัดของเกษตรกร บางชนิดอาจเป็นศิลปหัตถกรรมของท้องถิ่นอยู่แล้ว บางชนิดอาจนำมาดัดแปลงจากท้องถิ่นอื่นก็ได้ ศูนย์ฝึกอบรมอาชีพแห่งนี้ได้เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 แล้ว

กิจกรรมต่างๆ ในเรื่องศิลปาชีพนี้ ปัจจุบัน ได้ขยายผลออกไปอย่างกว้างขวางในแทบทุกจังหวัดของประเทศ เป็นผลให้ครอบครัวเกษตรกรหรือผู้ยากไร้โดยทั่วไป โดยเฉพาะครอบครัวที่มีลักษณะของการว่างงานแอบแฝง ได้มีรายได้เพิ่มขึ้นมาจุนเจือครอบครัวให้มีความสุขตามอัตภาพได้เป็นอย่างดีในระดับหนึ่ง ส่วนในด้านผลผลิตและฝีมือในการผลิตก็เพิ่มปริมาณและมีคุณภาพมากขึ้นเป็นลำดับ จนเป็นที่แพร่หลายและยอมรับกันทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

และสิ่งหนึ่งที่นอกเหนือจากผลแห่งความสำเร็จในการยกระดับรายได้ให้แก่ประชาชนก็คือ การกลับคืนมาแห่งศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งของประเทศไทยที่ กำลังจะสูญหายให้คงอยู่ได้ต่อไป

พระราชกรณียกิจดังกล่าวนี้ ได้แสดงให้ปรากฏชัดแจ้งว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระปรีชาสามารถและพระราชอุตสาหวิริยะเป็นอย่างยิ่ง ที่จะทรงดำเนินการใดๆ ในทุกกรณีให้เป็นการสอดคล้องและสนับสนุนงานและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะสร้างความร่มเย็นเป็นสุขแก่พสกนิกรชาวไทย และประเทศไทยสืบไป