พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

บทที่ 21 พระสถิตอยู่ในใจประชา ชุบวิญญาปวงข้าฯ ชาวไทย

1. พระสมัญญานาม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระคุณอันประเสริฐ  ทรงเพียบพร้อมด้วยทศพิธราชธรรม ราชสังคหวัตถุ และราชจักรวรรดิวรรต พระมหากรุณาธิคุณยิ่งล้น อีกทั้งพระจริยวัตรงดงามเป็นสง่า พระองค์ทรงเป็นที่รักและเทิดทูนอย่างสูงสุด ทรงเป็นที่รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ ดังนั้นจึงมีพระสมัญญานามที่ประชาชนหลายหมู่เหล่าคิดถวาย เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศให้ปรากฏ ดังต่อไปนี้

1.1 ทบวงมหาวิทยาลัยได้รวบรวมบทความเฉลิมพระเกียรติจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ได้เรียบเรียง สดุดีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เมื่อทรงเจริญพระชนมายุ 72 พรรษา ในปี พ.ศ.2542 ซึ่งปรากฏพระสมัญญานามในหนังสือ “ เอกกษัตริย์อัจฉริยะ ” (2539) ดังนี้

1.1.1 “พระมหาธรรมิกราชเจ้า” อันหมายถึง พระมหากษัตริย์ที่สนพระทัย ในพระธรรมคำสอน ในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง (2539 : 364)

1.1.2 “พระมหากษัตริย์นักพัฒนาชนบท” หมายถึง การที่ทรงทุ่มเทพระวรกายและพระปรีชา สามารถเพื่อการปฏิบัติพระราชภารกิจในด้านการพัฒนาชนบท (2539 : 369)

1.1.3 “คีตราชัน” คือกษัตริย์ผู้ทรงเป็นเลิศทางดนตรี (2539 : 204)

1.2 คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ รวมใจกันถวายพระสมัญญานามแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ว่า

“ อัครศิลปิน” อวบ เหมรัชตะ ได้กล่าวไว้ในหนังสือที่ระลึกงานมหาดุริยางค์สังคีตเฉลิมพระเกียรติ (2530 : 1) ว่า

“… พระราชกรณียกิจทางดนตรี นั้นมิได้ทรงกระทำเพื่อพระองค์เอง และผู้ใกล้ชิดพระยุคลบาทเท่านั้น หากยังทรงเผื่อแผ่ไปยังพสกนิกรไพร่ฟ้าของพระองค์ และเพื่อการส่งเสริม สงวนรักษาไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมทางดนตรีของชาติให้เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป และคงอยู่คู่ชาติไทยต่อไปอีกด้วย ”

1.3 กระทรวงคมนาคม ได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระสมัญญานามว่า “อัครมหาราชาปิ่นฟ้าคมนาคม” ในหนังสือเฉลิมพระเกียรติฯ (2544 : ปกหน้า)

1.4 หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2544 ได้ลงข่าวเรื่องการร่วมเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ว่าทรงเป็น “ พระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย ” ดังรายละเอียดดังนี้

“ พระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย ” คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้วันที่ 19 ตุลาคมของทุกปี เป็น “ วันเทคโนโลยีของไทย ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะทรงเป็น “ พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย ” โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2544 เป็นปีแรก ดังนั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ( เนคเทค ) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ( สวทช .) รับผิดชอบในการจัดทำเว็บไซต์วันเทคโนโลยี ของชาติขึ้น เนคเทคได้ประสานงานร่วมกับหลายๆ หน่วยงานที่ได้รับแนวพระราชดำริมาดำเนินงานใน โครงการต่างๆ อาทิ กรมชลประทาน กรมโยธาธิการ กรมทางหลวง สภากาชาดไทย ฯลฯ จัดทำเว็บไซต์ www.technology.thai.net ขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติ “ พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของชาติ ”

1.5 นายวิลาส มณีวัต ผู้เขียน “ พระราชอารมณ์ขัน ” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 (2543 :95) ได้กล่าวว่าพระองค์ทรงเป็น  “ เจ้าพ่อหลวง ”   ของชาวเขา

1.6 หนังสือวารสารราชินีบนสัมพันธ์ ชุดที่ 11 ฉบับที่ 1 ( มกราคม 2543 : 1) ได้เทิดพระเกียรติว่าทรงเป็น “ พระภัทรมหาราช ”

มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ได้มีโอกาสได้รับ พระราชทาน พระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และอีกจำนวนมาก ที่ได้มีโอกาส ได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด ได้ฟังพระราชดำริ หรือได้เห็นพระจริยวัตรของพระองค์ ท่าน จากสื่อ และสิ่งพิมพ์ต่างๆ คนไทยทุกคนต่างซาบซึ้ง และภาคภูมิใจ ที่ได้เกิดมาเป็นคนไทย ภายใต้พระบารมี

1.7 นายหลวง นายช่างใหญ่ของแผ่นดิน เป็นพระสมัญญานามที่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ได้คิดขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า ทรงมีพระอัจฉริยภาพเชิงช่าง (2544 : 1)

1.8  มหาราชนักคอมพิวเตอร์ ( บทที่ 17 หน้า 17-27)

2. ด้วยจิตจงรักและภักดี ชีวีนี้ถวายไท้ทรงธรรม์

มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่มีโอกาสได้รับพระราชทาน พระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และความรู้สึกนี้คงจะตราตรึงในจิตใจตลอดไป

เรื่องที่ 1
คุณแมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ผู้มีโอกาสได้เข้าเฝ้าถวายตัวและร่วมเล่นในวงดนตรี ส่วนพระองค์มาเป็นเวลา 30 กว่าปีแล้ว ได้เล่าเกี่ยวกับการทรงดนตรีของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ตั้งแต่สมัยต้นๆ จนถึงปัจจุบันนี้ว่า

“ ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงดนตรีที่พระที่นั่งอัมพรฯ ผมมีโชคดีอย่างมหาศาลที่มีโอกาสได้เข้าไปถวายตัว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกมากที่คนธรรมดาๆ อย่างผมมีโอกาสเข้าไปรับใช้เบื้องพระยุคลบาท อย่างใกล้ชิดในทางดนตรีเช่นนั้น

เดิมทีผมมีชื่อว่า เรมอนด์ ซีการ่า เพราะคุณปู่เป็นชาวโปรตุเกส แต่ก็เป็นไทยถึง 75% ผมจึงอยากจะมีชื่อไทย และมีความใฝ่ฝันอย่างเหลือเกินที่จะมีชื่อพระราชทาน จึงได้ขอความช่วยเหลือจากท่านผู้ใหญ่ คือ ท่านเจ้าคุณชาติเดชอุดม ซึ่งได้กรุณาติดต่อรองราชเลขาธิการฯ ในสมัยนั้นให้ ท่านรองราชเลขาธิการฯ บอกว่า ตามกฎเกณฑ์แล้วผมไม่มีสิทธิ์ที่จะขอชื่อพระราชทาน เพราะไม่ได้เป็นลูกหลานข้าราชการ แต่ก็จะนำความขึ้นกราบบังคมทูลให้ ส่วนจะได้หรือไม่นั้นสุดแต่บุญแต่กรรมเถิด

หลังจากนั้นไม่นานนักก็ได้ทราบว่า ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อและนามสกุลให้ผม ซึ่งผมปลาบปลื้มจนบอกไม่ถูก แต่ก็ยังไม่มีโอกาสไปกราบพระบาทจนกระทั่งผมไปเล่นปีอาโนให้วงจุฬาลงกรณ์ และวงจุฬาฯ เข้าไปเล่นในพระที่นั่งสวนอัมพร ผมก็มีโอกาสเฝ้าห่างๆ เพราะเสด็จลงที่สถานีวิทยุ อ.ส. เลิกแล้วผมก็เข้าไปถวายตัวขอเป็นข้าพระบาทรับใช้ จะโปรดเกล้าให้เล่นดนตรีหรืออะไรก็สุดแต่จะโปรด ต่อมาก็มีมหาดเล็กมาบอกว่าโปรดเกล้าให้เฝ้าฯ ในตอนที่ทรงดนตรีวันศุกร์ ผมก็ตื่นเต้นมาก หาชุดขาว เนคไทสีเรียบร้อย รองเท้าใหม่ เตรียมชุดที่สะอาดเรียบร้อยที่สุด พอถึงวันศุกร์ก็ลาครึ่งวันเลย เตรียมตัวแล้วก็เข้าไป พอเข้าไปถึง คุณขวัญแก้ว วัชโรทัยก็กรุณาคอยรับอยู่ แล้วก็พาเข้าไปเฝ้าฯ ที่ตรงวงดนตรีลายครามเลย ก็โปรดเกล้าฯ ให้ผมเล่นปีอาโนถวายร่วมกับวงของท่าน เล่นกันจนถึงสองทุ่มกว่า ก็เสวยพระกระยาหาร โปรดเกล้าฯ ให้นักดนตรีทั้งหมดร่วมโต๊ะเสวย ตอนนั้นผมก็เป็นเด็กที่สุดในวง แล้วก็ได้นั่งข้างสุภาพสตรีที่สวยที่สุด สวยมาก ไม่ได้แต่งอะไรเลย ภายหลังจึงได้ทราบว่า ท่านคือท่านผู้หญิงเกนหลง ภรรยาพล.ท.ม.ล.จินดา สนิทวงศ์ เสวยเสร็จแล้วก็เสด็จขึ้น ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะต้องเข้าไปอีกหรือเปล่า ก็ทูลถามท่านชุมฯ ท่านก็รับสั่งว่าถวายตัวแล้ว และก็มีงานประจำคือการดีดปีอาโนแล้ว ก็ต้องเข้ามาซิ ตอนนั้นผมก็ยังเล่นดนตรีเป็นอาชีพอยู่ ก็มีวงคีตะเสวีของผมเอง กับวงคีตะวัต แล้วก็มีโอกาสเข้าไปเล่นถวายบ้าง จนกระทั่งผมเกิดป่วย ต้องไปผ่าตัดไต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบก็โปรดเกล้าฯ ให้คุณขวัญแก้วไปเยี่ยมที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ทรงรับไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทรงเอาพระทัยใส่และมีพระเมตตาต่อนักดนตรีมาก ทรงเห็นว่าการที่ผมผ่าตัดเช่นนี้แล้วกลับไปเล่นดนตรีเป็นอาชีพจะต้องสมบุกสมบันมาก ผมก็ได้รับพระเมตตามาตั้งแต่นั้น ไปทำงานบริษัท แล้วก็เข้าไปเล่นถวายกับวงลายครามทุกอาทิตย์ เลิกเล่นวงอาชีพ ผมมีชีวิตอยู่จนทุกวันนี้ ก็ด้วยพระองค์ท่านที่ทรงชุบชีวิตผมมา ผมรู้สึกอยู่เสมอว่า พระองค์ท่านมิได้พระราชทานให้ผมเพียงชื่อและนามสกุลเท่านั้น แต่พระราชทานชีวิตทั้งชีวิต

พระเมตตาที่พระราชทานให้แก่นักดนตรีทั้งหลายนั้นยิ่งใหญ่นัก ทรงห่วงใยในสวัสดิภาพของนักดนตรีเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น วงดนตรีสุนทราภรณ์ ซึ่งแม้จะได้รับสวัสดิการจากกรมประชาสัมพันธ์บ้างแล้ว แต่เวลาที่มีผู้ใดเจ็บป่วย ก็จะโปรดเกล้าฯ ให้มารับการรักษาพยาบาลที่หน่วยแพทย์หลวง ได้รับพระราชทานยาฟรีทุกอย่าง …” ( สุวิชา. 2539 : 47-49)

เรื่องที่ 2
“ เมื่อ พ.ศ.2523 ผมอายุห้าปี ใครๆ เรียกผมด้วยท่าทีดูถูกเหยียดหยามและเกลียดชังว่า มะ สุแง เจ้าเด็กผู้ชายบ้านอยู่ริมน้ำ

เดี๋ยวนี้ พ.ศ.2539 ผมอายุยี่สิบเอ็ดปีแล้ว ใครๆ ก็ยังเรียกผมว่า มะ สุแง แต่เรียกด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน และท่าทีเป็นมิตร

ผมเต็มใจและมีความสุขที่จะเล่าให้ฟังว่า เหตุใดผู้คนที่แวดล้อมตัวผมจึงได้เปลี่ยนท่าทีที่เคยร้ายมาดีต่อผม เมื่อผมอายุห้าปี ผมเป็นเด็กที่เลวจริงๆ ความเลวทั้งหลายในโลกนี้ ดูเหมือนจะมีอยู่ในตัวผมทั้งสิ้น เพราะอะไรหรือครับ ?….. เพราะความจนน่ะสิ …. เมื่อท้องหิวก็จำเป็นต้องทำทุกอย่างให้ชีวิตรอด ทำดีไม่ได้ ก็ต้องทำชั่ว เพื่อไม่ให้ตัวเองอดตาย ความจริงผมไม่อยากเล่าหรอกครับเรื่องความชั่วความเลวที่ผมเคยทำมา แต่ก็คงต้องเล่าบ้าง เพื่อให้เห็นว่าผมดิ้นรนเพียงไร และผมเลิกทำความชั่วร้ายนั้นได้อย่างไร อย่าเอาอย่างผมนะครับ

ตั้งแต่ผมจำความได้ ก็เห็นแต่แม่มารีเยาะผู้เดียวอยู่เคียงข้างผมในกระต๊อบผุพัง ริมแม่น้ำสุไหงโกลก แม่มารีเยาะ ผู้มีร่างกายผ่ายผอมมีเสียงไอแห้งๆ มากกว่าเสียงพูด ตอนนั้นแม่อายุแค่ยี่สิบสามปี แต่ดูแม่แก่มาก เพราะความอดอยากและทุกข์ระทม ไม่มีพ่อ ไม่มีญาติพี่น้องมาเหลียวแล กระต๊อบของเราอยู่ห่างจากบ้านคนอื่นๆ …”

“ ในใจของมะสุแงในขณะนั้นคือ ขอให้แม่หาย ขอให้แม่หายไข้ ขอให้แม่หายไอ โอ … พระอัลเลาะห์เจ้า ได้โปรดด้วย ”

ผมกลับมาที่กระต๊อบ และผมก็ตกใจแทบสิ้นสติแม่นอนฟุบหน้า อยู่กับกองเลือดสดๆ กลิ่นคาวคลุ้งไปทั่วกระต๊อบ ผมวิ่งออกไปเหมือนคนบ้า ด้วยหัวใจสั่นระริก ด้วยความหวาดหวั่นพรั่นพรึง แลเห็นผู้คนเดินมุ่งไปข้างหน้าเป็นกลุ่มใหญ่ หูได้ยินเสียงพูดว่า “ ในหลวงมา … ในหลวงมา …”

ในหลวง ! ผมเคยได้ยินชื่อนี้ เคยเห็นภาพในหลวงในธนบัตร เห็นภาพในหลวงในร้านค้า และที่สถานีรถไฟ เคยได้ยินว่าในหลวงใจดี ในหลวงช่วยทุกคน โอ้ … ในหลวง มาแล้ว ! ผมวิ่งอย่างไม่คิดชีวิตจนมาถึงบริเวณที่ผู้คนทั้งหลายมาเฝ้าฯ รับเสด็จ มีตำรวจและเจ้าหน้าที่ยืนเรียงราย รักษาความปลอดภัย ประชาชนนั่งเป็นแถวอยู่สองข้างทาง ผมเห็น … ผมเห็นในหลวง … ในหลวงผู้สง่างาม

และสมเด็จพระเทพฯ ทรงพระดำเนินทักทายประชาชน ท่ามกลางแสงแดดยามบ่าย หัวใจของผมเร่าร้อนจนไม่กลัวตำรวจ ไม่กลัวอะไรทั้งสิ้น วิ่งแหวกผู้คนจะเข้าไปให้ถึงพระองค์ คนที่ถูกผมเหยียบพากันร้องเอะอะ และผลักไสผมจนเกิดชุลมุน ตำรวจกรูกันเข้ามาจับตัวผม ผมดิ้นรนและตะโกนร้องสุดเสียง ด้วยจิตที่แน่วแน่จะให้ความทุกข์ของผมได้ยินไปถึงพระกรรณของพระองค์ “ รายอ !… โอรายอ มีเต๊าะรายอ นาตีดูลู มีเต๊าะรายอ นาตีดูลู โอรายอ 1 ” แล้วผมก็หมดสติ

ผมรู้ตัวขึ้นที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน ผมถามหาแม่ทันที
“ อิสมาแอ ” ผู้ใหญ่บ้านผู้ใจดีเรียกชื่อจริงของผมด้วยเมตตา “ ในหลวงให้หมอพาแม่ของเจ้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลในจังหวัดแล้ว ไม่ช้าก็จะหาย เจ้าต้องอยู่กับตาไปก่อน วันหลังตาจะพาไปเยี่ยมแม่ ”

ผมร้องไห้ด้วยความตื้นตันใจ ถึงจะห่วงหาแม่แต่ก็สบายใจเป็นล้นพ้น โอ้ในหลวง … ผมอยู่กับครอบครัวผู้ใหญ่บ้าน บางวันก็กลับไปดูกระต๊อบของผม วันหนึ่งผมพูดกับตามะหะหมัดว่า
“ ในหลวงใจดีจังนะตา ”
“ ในหลวงใจดี ให้หมอรักษาแม่ของเจ้า แล้วเจ้ารักในหลวงไหม ” ผมตอบโดยไม่ลังเลว่า “ รัก ”
“ ถ้ารัก เจ้าต้องเป็นคนดี ในหลวงชอบให้ทุกคนเป็นคนดี ”
“ เป็นคนดีทำอย่างไรล่ะตา ”
“ เลิกขโมย ” ตามะหะหมัดเน้นเสียง

ผมนิ่งคิดอยู่ครู่หนึ่งจึงตอบอย่างมั่นใจว่า “ ถ้าในหลวงให้เลิกขโมย ผมก็เลิกขโมย ”
————————————————————————————————————————-
1 “ ในหลวงครับ โอในหลวง หยุดก่อนในหลวง รอด้วยครับ หยุดก่อนครับในหลวง รอด้วย โอในหลวง ”

“ ดีแล้ว ……. แล้วเจ้าว่าตาใจดีไหม ”
“ ตาใจดี ให้ข้าวสาร ให้ผมอยู่ด้วย ”
“ เจ้ารักตาไหม ”
“ รัก ”
“ ถ้ารักก็ต้องเป็นคนดี ช่วยตาทำงาน ทำได้ไหม ”
“ ทำได้ซิ ตาจะให้ผมทำอะไร ”
“ ช่วยตาทำงาน กวาดบ้าน ถูบ้าน เลี้ยงนกเขา ล้างกรงนก ทำได้ไหม ”
“ ทำได้ ”

แล้วผมก็ช่วยตามะหะหมัดทำงานทุกอย่างที่ผมช่วยทำได้ ทำด้วยความเต็มใจ ตามะหะหมัดสอนให้ผมเรียนรู้ เมื่อผมอายุห้าปีว่า ถ้าใครดีต่อเรา เราต้องดีต่อเขา ช่วยเขาทำงาน และทำตัวเป็นคนดี ผมยังจำวิธีพูด วิธีสอนของตามะหะหมัดได้จนทุกวันนี้

“ ในหลวงอยากให้ผมทำอะไรอีก ” ผมถาม
“ อยากให้เรียนหนังสือจะได้ไม่เป็นคนโง่ จะได้รู้จักทำมาหากิน ไม่ไปเป็นขโมย ” ตามะหะหมัดตอบ

แม่รักษาตัวอยู่หลายเดือน ตามะหะหมัดพาผมไปเยี่ยมครั้งหนึ่ง แม่ดีใจมาก ผมก็ดีใจเป็นที่สุด ผมกลับมาช่วยตามะหะหมัดเลี้ยงนกเขา และรอคอยวันที่แม่จะกลับมา

แล้ววันนั้นก็มาถึง แม่รักษาตัวอยู่ถึงสี่เดือนเศษ ตามะหะหมัดพาผมไปรับแม่กลับมา แม่แข็งแรงดี เราพากันกลับไปอยู่ที่กระต๊อบ แม่ขอบคุณตามะหะหมัด และสอนให้ผมสวดเพื่อขอบคุณในหลวง แม่บอกว่าในหลวงมีพระคุณ แม่กับผมต้องตอบแทนพระคุณในหลวง

ผมรู้แล้วว่าผมจะตอบแทนพระคุณท่านอย่างไร ตามะหะหมัดช่วยให้แม่เข้าทำงาน เป็นคนทำความสะอาดที่โรงแรม ส่วนผมช่วยเลี้ยงนกเขาและทำความสะอาดกรงนกอย่างเดิม พอเปิดเรียนปีการศึกษา 2524 ผมก็ได้เข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนบ้านสุไหงโก – ลก ผมตั้งใจเรียนจนเรียนเก่งกว่าคนอื่นๆ ตอนนี้เสียงเรียก มะ สุแง ค่อยน่าฟังขึ้น ผมกำลังตอบแทนบุญคุณในหลวงด้วยการเป็นเด็กดี

วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ.2524 เวลาบ่ายแก่ๆ แม่พาผมไปเฝ้ารับเสด็จในหลวงที่บ้านกูแบอีแก ตำบลปูโยะ ค่ำวันนั้นเราสองคนแม่ลูกกลับมาถึงกระต๊อบด้วยความสุขและอิ่มเอิบใจที่สุด หลังจากนั้นผมก็ได้ไปเฝ้าในหลวงอีกหลายครั้ง

มีเพลงอยู่เพลงหนึ่งที่คุณครูชั้นป.2 สอนให้นักเรียนร้อง ผมชอบมาก ชอบมาจนบัดนี้ ผมจะร้องเพลงนี้ด้วยหัวใจที่เป็นสุขที่สุด ตั้งใจที่จะออกเสียงคำทุกคำในเนื้อเพลงให้ไพเราะที่สุด ผมจำเนื้อเพลงได้ไม่ลืมจนทุกวันนี้

โลกนี้ไม่มีใคร ห่วงใยประชา
รักและเมตตา ขจัดทุกข์ภัย
เหมือนพ่อเหมือนแม่ มีแต่ห่วงใย
รู้ไหมว่าใคร ในหลวงเราเอง

วรรคสุดท้ายผมจะตะโกนร้องสุดเสียง ไม่มีใครว่าผม เพราะทุกคนรู้ว่าผมรักในหลวง เดี๋ยวนี้ พ.ศ.2539 ผมอายุยี่สิบเอ็ดปีแล้ว ใครๆ ก็ยังเรียกผมว่า มะ สุแง แต่เรียกด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนและท่าทีเป็นมิตร เพราะผมเป็นคนดี เป็นอิสลามิกชนที่ดี เป็นคนงานตัวอย่างที่ซื่อสัตย์ และขยันขันแข็งของโรงงานทำผ้าบาติกที่ใหญ่ที่สุดในสุไหงโกลก เป็นที่พึ่งของเด็กกำพร้าที่ยากจนทุกคน ชีวิตของผมเป็นสุขเพราะ ……. ในหลวงของผม ” ( รัชนี ศรีไพรวรรณ . 2539 : 23-32)

เรื่องที่ 3 :….. อยากให้อ่าน …..( เรื่องดีๆ )
บางส่วน …… บันทึกความทรงจำของ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ……… นสพ . มติชน (ผู้พิมพ์) (อาจจะยาวหน่อยแต่ดี)

ในคืนวันหนึ่งของปี พ.ศ.2510 (ยศในขณะนั้นพันตำรวจโท)…. หลังจากได้รับพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำแล้ว ในวังไกลกังวล ……..
……. ผมจำได้ว่า คืนนั้นผู้โชคดีได้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานพระจิตรลดา เป็นนายตำรวจ 8 นาย และนายทหารเรือ 1 นาย ….

….. พระเจ้าอยู่หัว เสด็จลงมาพร้อมด้วยกล่องใส่พระเครื่องในพระหัตถ์ ทรงอยู่ในฉลองพระองค์ชุดลำลอง …..
….. ขณะที่ทรงวางพระลงบนฝ่ามือที่ผมแบรับอยู่นั้น ผมมีความรู้สึกว่าองค์พระร้อนเหมือนเพิ่งออกจากเตา …..
….. ภายหลัง เมื่อมีโอกาสกราบบังคมทูลถาม จึงได้ทราบว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระเครื่ององค์นั้น ด้วยการนำเอาวัตถุมงคลหลายชนิดผสมกัน เช่นดินจากปูชนียสถานต่างๆ ทั่วประเทศ ดอกไม้ที่ประชาชนทูลเกล้าฯ ถวายในโอกาสต่างๆ และเส้นพระเจ้า ( เส้นผม ) ของพระองค์เอง เมื่อผสมกันโดยใช้กาวลาเท็กซ์เป็นตัวยึดแล้ว จึงทรงกดลงในพิมพ์ (อ.ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ซึ่งต่อมาเป็นศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้แกะถวาย) โดยไม่ได้เอาเข้าเตาเผา ………
….. หลังจากที่ได้รับพระราชทานแล้ว ทรงกรุณาพระราชทานพระบรมราโชวาทมีความว่า “ ….พระที่ให้ไปน่ะ ก่อนจะเอาไปบูชา ให้ปิดทองเสียก่อน แต่ปิดเฉพาะหลังพระเท่านั้น… ” พระราชทานพระบรมราชาธิบาย ที่ให้ปิดทองหลังพระก็เพื่อเตือนตัวเองว่า การทำความดีไม่จำเป็นต้องอวดใคร หรือประกาศให้ใครรู้ ให้ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ และถือว่าความสำเร็จในการทำหน้าที่เป็นบำเหน็จรางวัลที่สมบูรณ์แล้ว 
….. ผมเอาพระเครื่องพระราชทานไปปิดทองที่หลังพระแล้วก็ซื้อกรอบใส่ หลังจากนั้นมา สมเด็จจิตรลดาหรือพระกำลังแผ่นดินองค์นั้น ก็เป็นพระเครื่องเพียงองค์เดียวที่ห้อยคอผม ………
….. หลังจากที่ไปเร่ร่อนปฏิบัติหน้าที่อยู่ไกลห่างพระยุคลบาท ผมได้มีโอกาสกลับไปเฝ้าฯ ที่วังไกลกังวลอีก ….. ความรู้สึกเมื่อได้เฝ้าฯ นอกจากจะเป็นความปีติยินดีที่ได้กราบพระยุคลบาทอีกครั้งหนึ่งแล้ว ก็มีความน้อยใจที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตั้งใจ ลำบาก และเผชิญอันตรายนานาชนิด บางครั้งจนแทบเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ปรากฏว่ากรมตำรวจมิได้ตอบแทนด้วยบำเหน็จใดๆ ทั้งสิ้น ………
…… ก่อนเสด็จขึ้นคืนนั้น ผมก้มลงกราบบนโต๊ะเสวยแล้วกราบบังคมทูลว่า ใคร่ขอพระราชทานอะไรสักอย่างหนึ่ง ……….
…….. พระเจ้าอยู่หัวตรัสถามว่า “ จะเอาอะไร ?” และผมก็กราบบังคมทูลอย่างกล้าหาญชาญชัยว่า จะขอพระบรมราชานุญาต ปิดทองบนหน้าพระ ที่ได้รับพระราชทานไป พระเจ้าอยู่หัวตรัสถามเหตุผลที่ผมขอปิดทองหน้าพระ …..
…….. ผมกราบบังคมทูลอย่างตรงไปตรงมาว่า …. พระสมเด็จจิตรลดาหรือพระกำลังแผ่นดินนั้น นับตั้งแต่ได้รับพระราชทานไปห้อยคอแล้ว ต้องทำงานหนักและเหนื่อยเป็นที่สุด เกือบได้รับอันตรายร้ายแรงก็หลายครั้ง มิหนำซ้ำกรมตำรวจยังไม่ให้เงินเดือนขึ้นแม้แต่บาทเดียวอีกด้วย ……
…… พระเจ้าอยู่หัวทรงแย้มพระสรวล ( ยิ้ม ) ก่อนที่จะมีพระราชดำรัสตอบด้วยพระสุรเสียงที่ส่อพระเมตตาและพระกรุณาว่า ปิดทองไปข้างหลังพระเรื่อยๆ แล้วทองจะล้นออกมาที่หน้าพระเอง …….

จากคุณ : ลำนำเมือง http://pantip.inet.co.th/caf?/rajdumnern/topic/P1186435.html

ข้อคิดเห็นจาก CS.I (16 พฤศจิกายน 2544 : 14) ตอบ “ ลำนำเมือง 
ความรับผิดชอบ

………. “ รับผิด ” จักต้องรู้ว่าสิ่งใดที่คิดและกระทำเกิดขึ้นนั้น มันผิดอย่างไรจะได้นำมาแก้ไขให้มันถูกต้องต่อไป “ รับชอบ ” หมายความว่า สิ่งใดที่คิดและทำที่ชอบแล้วนั้น จักต้องรักษาไว้และกระทำอย่างต่อเนื่องสืบไป ……. หากเข้าใจว่ารับผิดชอบเป็นเช่นใด ในการใดๆ ก็จะทำได้สำเร็จ แม้นอุปสรรคนั้นจะมีมากเพียงใด ………

ชั่วชีวิตหนึ่งขอเพียงมีในหลวงปกเกล้าปกกระหม่อมก็ไม่เสียดายที่จะตายไป แต่ปลื้มใจและสุขมากที่ได้เกิดในแผ่นดินใต้พระบรมโพธิสมภารพระเจ้าข้า ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

เรื่องที่ 4
สุวิชาผู้เขียนเรื่อง “ ตะวันส่องหล้า ” เล่าเรื่องน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ.2526 ความว่า

“ ครั้งหนึ่งเมื่อเกิดน้ำท่วมกรุงฯ เมื่อปี พ.ศ.2526 เป็นเวลานานพอสมควร ยังความเดือดร้อนให้แก่ชาวเมืองหลวงกันเป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงช่วยเหลือราษฎร ที่ถูกน้ำท่วมโดยไม่มีการเตรียมก่อนล่วงหน้าเลย เพราะมีพระราชประสงค์ที่จะทรงเห็นสภาพที่แท้จริง ”

ภายหลังได้ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการเสด็จวันนั้นว่า
“ ฉันไปรถติดด้วยนะ ที่ฝั่งธนติดเป็นชั่วโมง ตำรวจจะนำทาง ก็บอกเขาว่าอย่านำเลย ยิ่งนำ รถคันอื่นยิ่งติดใหญ่ แล้วก็ไม่อยากให้รู้ล่วงหน้ากันด้วย ”
ฟังแล้วก็ซาบซึ้งใจในความมีน้ำพระทัยทรงคำนึงถึงคนอื่นตลอดเวลา (สุวิชา . 2539 : 12)

เรื่องที่ 5 : ทรงเสี่ยงเพื่อพสกนิกร
สุวิชา (2539 : 12) เล่าว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเล่าพระราชทานดังนี้

“… ฉันไปที่อโศก ไปทางด่วน แล้วก็ไปลอดใต้สะพานลอย นั่งเรือไปนะ ได้เห็นอะไรแปลกๆ รู้ไหมใต้สะพานมีอะไร มีสายไฟต่อแบบ unofficial ระโยงระยางเต็มไปหมด น้ำท่วมห่างจากใต้สะพานสักเมตรเดียวมั้ง ความจริงเขาไม่อยากให้ไปกันหรอก เขากลัวโดนสายไฟ แต่อยากจะไปเห็นด้วยตัวเอง จะได้หาทางแก้ไขก็เลยไป ต้องนั่งก้มหัวแบบนี้ ( ทรงก้มพระเศียรลงมาที่พระเพลา ) ก็ไม่ถูกสายไฟ …”

เรื่องที่ 6
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงห่วงใย และเอาพระทัยใส่ต่อความเป็นอยู่ของทหารตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ตามท้องถิ่นต่างๆ เมื่อใดที่ทรงว่างจะเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมทหารตำรวจเพื่อเป็นมิ่งขวัญและกำลังใจ

แม้จะอยู่ในถิ่นที่เสี่ยงภัยก็ตาม และทรงจัดสิ่งของไปให้แก่ทหารตำรวจตามท้องถิ่นต่างๆ ด้วยเสมอ แสดงให้เห็น น้ำพระทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 อย่างเห็นได้ชัด ก็คือ เมื่อคราวตำรวจที่กุยบุรีถูกผู้ก่อการร้าย ดักซุ่มโจมตี และไม่มีรถจิ๊ปใช้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ก็ได้พระราชทานรถจิ๊ปจำนวน 6 คัน ด้วยทุนทรัพย์ ส่วนพระองค์ให้แก่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่กุยบุรีในทันที เพื่อตำรวจเหล่านั้นสามารถปฏิบัติหน้าที่ ได้อย่างรวดเร็วปลอดภัย ยิ่งขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งว่า “… แม้พลทหารและพลตำรวจชีวิตย่อมมีค่ากว่ารถ ที่ทรงพระราชทานให้เป็นอย่างมาก …”

เรื่องที่ 7 : จะทรงเผชิญภัยร่วมกับประชาชน
สมุหราชองครักษ์ (ม.จ.กาฬวรรณดิศ ดิศกุล) ทรงกล่าวว่า พระราชกรณียกิจที่นับว่าสำคัญมาก ก็คือทรงเสี่ยงภัยเข้าช่วยเหลือทหารและตำรวจ ให้รอดพ้นจากการสูญเสียชีวิตในการต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย โดยไม่ทรงหวั่นเกรงภัยที่อาจทรงได้รับแต่อย่างใด พระราชกรณียกิจที่กล่าวนี้ก็คือเมื่อคราวสู้รบกันอย่างหนัก ระหว่างทหารและตำรวจที่จังหวัดน่านและที่หล่มสัก ในทันที่ทรงทราบข่าวซึ่งขณะนั้นทรงเสด็จเยี่ยมราษฏร ที่จังหวัดขอนแก่น ทั้งสองพระองค์เสด็จโดยเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ไปยังบริเวณที่มีการรบกัน และทรงอำนวยการให้ความช่วยเหลือทหารตำรวจให้รอดพ้นจากการต้องสูญเสียชีวิตออกมาได้

พล.ร.อ.ม.จ.กาฬวรรณดิศ ดิศกุล สมุหราชองครักษ์ทรงเปิดเผยให้ทราบถึงน้ำพระทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถที่สุดว่า ทั้งสองพระองค์ทรงมีน้ำพระทัยอันแน่วแน่ ที่จะไม่ทรงทอดทิ้งประชาชน แต่ ทรงอยู่ร่วมเผชิญภัยที่จะมาสู่ประเทศชาติร่วมกับประชาชนอย่างเต็มที่ (อ.ประมวลวิทยา . 2517 : 203)

เรื่องที่ 8
วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ.2526 เสด็จฯ ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่นักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีผู้สำเร็จการศึกษาถึง 2,661 คน จะต้องใช้เวลาเกือบทั้งวันในการพระราชทานทีละคน มีผู้กราบบังคมทูลถวายความเห็นว่า ควรจะใช้วิธีให้ผู้แทนนักศึกษาแต่ละคนขึ้นไปรับพระราชทานจากพระหัตถ์แล้วนำไปแจกแก่ผู้อื่นอีกทีหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ไม่ทรงเห็นด้วย มีพระราชกระแสรับสั่งว่า “… ทำอย่างนั้นไม่ได้ ใครๆ เขาก็ต้องการรับจากมือฉันทั้งนั้น …” ดังนั้นการพระราชทานปริญญาบัตรในวันนั้นจึงต้องเริ่มตั้งแต่เวลา 9 นาฬิกา โดยพักเพื่อเสวยพระกระยาหารกลางวันเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น (สุวิชา . 2539 : 12)

เรื่องที่ 9 : เมื่อน้ำท่วมครั้งใหญ่คนไทยทุกข์ตรม
เมื่อเกิดน้ำท่วมใน พ.ศ.2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริให้เจ้าหน้าที่มูลนิชัยพัฒนาช่วยแก้ไขปัญหาเร่งด่วน

เด็ก 12 ขวบ สะท้อนความปลาบปลื้มใจเป็นบทกลอน
ขณะที่เจ้าหน้าที่มูลนิธิชัยพัฒนา ได้ปฏิบัติงานสนองพระราชดำริในการแก้ปัญหาน้ำท่วม ก็ได้รับจดหมายจากเด็กหญิงกรกช จันทร์เทิน ถึงมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นการสะท้อนความรู้สึกปลาบปลื้มใจในพระมหากรุณาธิคุณ ที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยทุกข์สุขของราษฎรตลอดมา จึงได้สะท้อนความรู้สึกออกมาเป็นบทกลอนดังต่อไปนี้

เกิดภัยน้ำท่วม                  ทุกคนรวมใจ
ช่วยเหลือผ่อนภัย            ให้พ้นทุกข์ตรม
ในหลวงทรงห่วง               กลัวเมืองจะจม
ให้คนระดม                          ไปช่วยเร็วไว
แม้ท่านประชวร                 ยังทรงห่วงใย
เราต้องร่วมใจ                   ให้สมพระทัย
                     ในหลวงของเรา

หลั่งน้ำตา ตื้นตันใจ

นายบุญต่อ บุญหสูตร ราษฎรหมู่ที่ 7 ริมคลองบางกอกน้อย อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยในครั้งนี้อย่างหนัก น้ำท่วมบ้านจนเกือบถึงที่นอน แทบจะอยู่ไม่ได้ซ้ำร้ายกว่านั้นนายบุญต่อ ยังเป็นอัมพาต ไม่สามารถช่วยเหลือและเลี้ยงตัวเองได้ มีเพียงภรรยา ชื่อ นางพิมภา บุญหะสูตร เป็นผู้ดูแล เพียงคนเดียว เมื่อเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิชัยพัฒนาได้เข้าไปสำรวจสภาพน้ำท่วมในบริเวณนั้น และได้พบกับนายบุญต่อ จึงได้มอบถุงยังชีพพระราชทาน จำนวน 2 ถุง ให้แก่นายบุญต่อ เมื่อนายบุญต่อทราบว่ามาจากมูลนิธิชัยพัฒนาและเป็นของพระราชทาน ถึงกับร่ำไห้ออกมาอย่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 (ชัยพัฒนา , มูลนิธิ . ธันวาคม 2538 : 21-22)

ราษฎรปลื้มมีน้ำดื่มเพื่อยังชีพ
เครื่องกลั่นน้ำพระราชทาน ซึ่งมีลักษณะเป็นรถเคลื่อนที่นำไปบริจาคให้แก่ชาวบ้านตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งคณะเจ้าหน้าที่ได้เข้าสอบถามกับผู้มารับน้ำดื่ม น้ำดื่มมีราคาแพงมากและมีความลำบากในการขนส่ง เมื่อมีรถเครื่องกลั่นน้ำพระราชทานมาติดตั้งให้รู้สึกดีใจเป็นอย่างมาก

สำนึกพระมหากรุณาธิคุณความช่วยเหลือจากมูลนิธิชัยพัฒนา
จนเกิดอุทกภัยอย่างใหญ่หลวง
ลุยขึ้นล่องท่องน้ำระกำทรวง
โรคท้องร่วงน้ำกัดเท้าเยือนเช้าเย็น
มูลนิธิชัยพัฒนา มาช่วยเหลือ
ประทานเผื่อแผ่สุขสิ้นทุกข์เข็ญ
มอบทรัพย์สินกินใช้คลายลำเค็ญ
ประชาเห็นพระคุณอุ่นเกล้าเอย

ชมรมบรรเทาสาธารณภัยวัดรวกบางบำหรุ (ชัยพัฒนา, มูลนิธิ. ธันวาคม 2538 : 21 – 22)

เรื่องที่ 10 : ร่วมแรง ร้อยดวงใจ ถวายพ่อหลวง
…ผลประโยชน์ต่างๆ ที่ได้รับมาไม่อาจจะมีความสำคัญเทียบเท่ากับผลของการกระทำที่กลุ่มได้ร่วมใจกันดำเนินการ กลุ่มเกษตรรวมตัวสามัคคีได้นัดหมายกันเป็นประจำทุกเดือนในการร่วมปลูกต้นไม้ และปลูกป่าในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ในลักษณะที่เรียบง่าย ตามแบบธรรมชาติ โดยให้ป่าที่มีอยู่แล้วเป็นป่าพี่เลี้ยง เตรียมน้ำ และอาหารกลางวัน เครื่องมือไปกันเอง เมื่อปลูกต้นไม้เสร็จจะร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นอันเสร็จภารกิจในเดือนนี้ แล้วกลับมารวมตัวกันใหม่ในเดือนถัดไป เสมือนปฏิญญาของกลุ่มเกษตรรวมตัวสามัคคีที่ตั้งไว้อย่างแน่วแน่ว่า “ คลื่นไม่เลิกกระทบฝั่งฉันใด คลื่นแห่งความจงรักภักดีจะไม่เลิกก่อตัวฉันนั้น ” และนี่คือประสิทธิผลของการพัฒนา ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ของพ่อที่ได้เพียรพยายามสร้าง …

พ่อผู้มีแต่ให้ … พ่อของแผ่นดิน

(ชัยพัฒนา , มูลนิธิ . ธันวาคม 2542 : 37)

เรื่องที่ 11 : ข้อคิดควรทำ
“… ในปีนี้เป็นปีที่พระองค์มีพระชนมายุ 72 พรรษา หรือครบ 6 รอบ นั่นเอง เย็นวันหนึ่งของเดือนธันวาคม ถ้าจำไม่ผิดคงเป็นวันที่ 2 หรือ 3 ธันวาคม โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย พร้อมใจกันแพร่ภาพพระราชกรณียกิจของพระองค์ เย็นวันนั้นผู้แต่งก็ได้เปิดโทรทัศน์ดูด้วย แต่สารภาพจริงๆ ว่าไม่ได้ตั้งใจดูเท่าไหร่เพราะอ่านหนังสือพิมพ์ไปด้วย แต่ทันใดนั้นเอง ( พูดเหมือนนิยายน้ำเน่า ) ผู้แต่งถึงกับต้องวางหนังสือพิมพ์ลงทันที ขนลุกซู่ น้ำตาคลอเบ้าด้วยความปิติ อยากทราบไหมว่าทำไม ก็ผู้บรรยายบทโทรทัศน์เขาอ่านข้อความหนึ่งออกมา “ บ้านเมืองนี้โชคร้ายที่ต้องพบกับมรสุมทางเศรษฐกิจ บ้านเมืองนี้โชคร้ายที่ต้องพบกับอากาศที่วิปริตแปรปรวน บ้านเมืองนี้โชคร้ายหลายอย่าง แต่บ้านเมืองนี้โชคดีเหลือเกินที่มีพ่อภูมิพล …”
“ การที่เราได้เกิดเป็นคนไทยไม่ได้หมายความว่าเราวิเศษไปกว่าชาวพม่า เขมร หรือติมอร์เลย รู้ไหมสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราโชคดีกว่าประชาชนพวกนั้น ผู้แต่งขอยืนยันนั่งยันเลยว่าเหตุผลเดียวเท่านั้น นั่นคือเรามีองค์พระมหากษัตริย์ที่ทรงพระนามว่า “ ภูมิพลอดุลยเดช ” บ้านเมืองเราจึงได้อยู่กันร่มเย็นเป็นสุข การที่นักเรียนอยู่กินอย่างสุขสบายได้ทุกวันนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพ่อแม่ของเธอ แต่ส่วนใหญ่เป็นเพราะพระมหากษัตริย์ของเราต่างหาก ”
“ บ้านเราไม่ได้ดีไปกว่าประเทศเพื่อนบ้านสักเท่าไหร่เลย แต่การที่เรายังร่มเย็นเป็นสุขอยู่ได้เพราะพระบารมีของพระองค์คุ้มเกล้า ผู้แต่งไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าให้นักเรียนทุกคนรักในหลวงของเรา ทำเพื่อในหลวงบ้าง พระองค์ทรงเหนื่อยมามากแล้ว การที่จะทำอะไรให้พระองค์มิได้หมายความว่า ให้เธอลาออกจากโรงเรียนแล้วไปสมัคร เป็นทหารหญิงเข้ารบตามชายแดนพลีชีพเพื่อชาติ การที่เธอทำตัวเป็นคนดี อยู่ในกฎระเบียบของโรงเรียน ประหยัดในสิ่งที่ควรประหยัด เพียงเท่านี้ก็ “as good as it gets””

จากประชาชนผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยความจงรักภักดีต่อพระองค์ท่าน
ครูปอ ราชินีบนสัมพันธ์ ชุดที่ 11 ฉบับที่ 1 (1 มกราคม พ.ศ. 2543 : 4)

เรื่องที่ 12 : ละอองพิรุณ จากล้นเกล้าฯ
ในโอกาสที่ใครๆ พากันตื่นเต้นกับศตวรรษที่ 2000 หรือสหัสวรรษ อันกำลังจะย่างกรายมาถึงในไม่ช้า ผู้เขียนคิดว่าคงจะมีคนใจตรงกันทั้งประเทศที่ได้ฟังพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ประทานเตือนสติพสกนิกรไทยให้คำนึงถึงข้อเท็จจริงประการหนึ่งคือ ความพอเพียง เมื่อวันเฉลิมพระชนม์พรรษา 5 ธันวาคม 2540 ที่ว่า “ การเป็นเสือไม่สำคัญ สำคัญที่การเป็นอยู่พอมีพอกิน หมายความว่าพึ่งตนเองได้ ให้มีความพอเพียงกับตัวเอง ……..”

จากพระราชดำรัสที่อัญเชิญมาเพียงส่วนหนึ่งนี้คงจะชี้ให้เห็นความจริงในการดำรงชีวิตว่า หากเราไม่ทำตนหรูหรา ไม่นิยมใช้ของราคาแพง แต่พอใจในคุณค่าของความพอเพียงแก่การดำรงชีวิตและการดำเนินชีวิต ละสิ่งเพ้อเจ้อ เพ้อฝัน การเอาอย่างผู้อื่นที่รักความหรูเป็นสรณะ นิยมความสุขสบายที่ฉาบฉวย เดินอยู่บนถนนแห่งความโอ่อ่า ทั้งๆ ที่บางคนแท้จริงไม่มีแม้แต่เงินและขาดซึ่งเกียรติภูมิแห่งความเป็นมนุษย์ เป็นผู้ที่เหงาอยู่ตามลำพัง แต่ลิงโลดอยู่กับแสงสีและหลงใหลกับชีวิตที่หาคุณค่ามิได้และถ้าจะหันกลับมาดูภาพ (ผลงานของคุณศักดิ์ชัย กาย) อาจได้ข้อคิดเตือนสติให้กลับมาพร้อมกับอุดมคติ หรืออุดมการณ์ที่ถือความพอเพียงเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ตามแนวพระราชดำริของพระองค์ท่านได้บ้าง

ขอถวายเป็นพระราชกุศล อันจะพูนเพิ่มให้พระองค์เสวยสุข ทรงชนม์ยืนนาน เป็นสิริมงคลคุ้มเกล้าพสกนิกรชาวไทยต่อไปนานแสนนาน ด้วยพระพลานามัยที่แข็งแรง และประทานพระราชดำรัสแก่พวกเราเป็นเครื่องรั้งสติมิให้ลืมตนได้ทุกๆ ปี (ราชินีบนสัมพันธ์ ชุดที่ 11 ฉบับที่ 1, 1 มกราคม 2543 : 5)

เรื่องที่ 13
“… พระเมตตาบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อพสกนิกรประชาชนคนไทย เป็นสิ่งที่หลั่งไหลออกมาจากพระราชหฤทัยอย่างต่อเนื่อง ไม่มีขาดสาย เสมือนกับสายฝนที่โปรยปรายจากฟากฟ้าอย่างไม่ขาดสาย ไหลหลั่งลงสู่แม่น้ำน้อยใหญ่ คลองคู และลำราง ทั้งยังซึมซาบไปในพื้นปถพีทุกแห่งหนไปอย่างยิ่งใหญ่ไพศาล ไม่มีว่างเว้น ไม่มีข้อจำกัด ไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งคำพระท่านเรียกว่า “ อัปปมัญญา ” อันเป็นคุณลักษณะสำคัญของผู้ที่ประเสริฐยิ่ง ผู้ที่มีจิตใจกว้างขวางยิ่งใหญ่ หรือ ยิ่งใหญ่ด้วยคุณธรรมความดีงาม เป็นคุณลักษณะหนึ่งของความเป็นพรหม

คำว่า “ พรหม ” หรือ “ พระพรหม ” นั้น หลักศาสนาฮินดูพราหมณ์ หมายความถึง พระพรหมซึ่งเป็นเทพเจ้าชั้นสูงที่สำคัญยิ่งพระองค์หนึ่ง เพราะเป็นผู้สร้างโลก จึงได้มีการนิยมสร้างรูปปั้น รูปหล่อแทนพระองค์ของท่าน แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานอยู่ตามสถานที่สำคัญต่างๆ เพื่อเคารพสักการะบูชาเป็นที่พึ่งทางใจ จะมีพระองค์จริงหรือไม่นั้นยากที่จะพิสูจน์ทราบได้ แต่ตามหลักของพระพุทธศาสนา หมายถึง บุคคลที่มีคุณลักษณะสำคัญดังกล่าวข้างต้น

ผมกล้ากล่าวได้อย่างเต็มปากว่า พระพรหมของชาวไทยนั้นมีพระองค์จริง คือ ในหลวงของเรา เพราะพระองค์ท่านทรงเป็นทั้งผู้สร้าง และผู้ให้ สิ่งที่ได้พระราชทานให้แก่ประชาชนคนไทย นั้นปรากฏให้เห็นเป็นผล เป็นรูปธรรมดังเช่นศูนย์แพทย์พัฒนาพระราม 9 แห่งนี้ และโครงการตามกระแสพระราชดำริอื่นๆ เหลือคณานับ การโดยเสด็จพระราชกุศลกับพระองค์ท่าน จะโดยวิธีการหนึ่งวิธีการใดย่อมจะได้รับอานิสงส์ เป็นผลตอบแทนอย่างสมบูรณ์ตามหลักพระพุทธศาสนา โดยไม่ต้องสงสัย ” ( พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์ . http://www.dabos.or.th/ro17.html )

เรื่องที่ 14 : ทรงเป็นที่พึ่งของประชาชนทั่วทั้งประเทศ
ไม่ว่าจะมีภัยพิบัติทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นจาก ไฟไหม้ น้ำท่วม พายุใหญ่พัดพังทำลายบ้านเรือนพินาศ หรือเหตุการณ์วิกฤตใดๆ เกิดขึ้น ณ ภาคพื้นถิ่นใด ประชาชนทุกคนในประเทศย่อมหวังพึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 หรือในหลวงของพวกเขา

ที่ประทับใจอย่างยิ่งก็คือ ทรงเป็นที่พึ่งของผู้ที่เสียสละอุทิศทั้งใจกายเป็นชาติพลีจะเป็นทหาร ตำรวจ หรือราษฎรคนใดที่ต้องพิการบาดเจ็บ พิการเพราะทำหน้าที่ป้องกันชีวิตของประชาชนและบ้านเมือง เขาเหล่านั้นได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณมิได้เว้น พระราชทานพระบรมราโชบายที่ว่า เมื่อบุคคลเช่นนี้พิการทางกายแล้วก็ไม่ควรพิการทางใจอีก จะต้องให้เขาได้รับการฟื้นฟูทั้งใจกาย สามารถช่วยตนเองได้โดยไม่ต้องเป็นภาระของสังคม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงอยู่ในทศพิธราชธรรม ทรงรับการอบรมจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ให้เป็น “ คนดี มีเมตตา กรุณา ” จึงทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ที่ประชาชนพลเมืองรักและบูชาทั่วทั้งประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติมา 50 ปี

ทรงเจริญด้วยพระเมตตาคุณ พระมหากรุณาธิคุณเพิ่มขึ้น กอปรทั้งยังทรงเจริญด้วยสมาธิในพระราชกรณียกิจทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อทรงเริ่มกระทำสิ่งใด ก็จะทรงติดตามอย่างใกล้ชิดจนประสบความสำเร็จ ทำให้เพิ่มพูนพระบารมีและพระกำลังทางจิตให้เจริญยิ่งๆ ขึ้น ถ้าจะเปรียบกระแสจิตกับกระแสคลื่นวิทยุ กระแสจิตของพระองค์ท่านเปรียบเสมือนพละกำลังของคลื่นที่ยิ่งใหญ่สามารถส่งกระแสจิต เข้าถึงประชาชนคนไทยได้ทั่วทั้งประเทศ ทุกคนจะมีใจจดจ่อ อยากจะได้เฝ้าแหน เป็นห่วงเป็นใยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคราวที่ทรงพระประชวร

ทรงเป็นพระธรรมิกราชผู้ประเสริฐของชาวไทยทั้งหลายโดยแท้ พระองค์ทรงอุบัติมาเพื่อเป็นมหากษัตราธิราชภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร เป็นพระบิดาของคนไทยทั้งประเทศ ทรงเป็นที่พึ่งของผู้ที่ได้รับความทุกข์ยากจากภัยนานาชนิด ทรงเป็นมิ่งขวัญเป็นหลักชัยของประชาชนคนไทยทุกระดับ ตั้งแต่ชนผู้ขาดแคลน กสิกร ชาวนา นักบริหาร นักการทูต นักศึกษา ข้าราชการ และพสกนิกรทั่วหน้า

ขอให้ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
(คุณขวัญแก้ว วัชโรทัย : 45 ปี สถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต. 2541 : 871-872)

3. พระเกียรติขจรไปไกลทั่วหล้า

มิใช่เพียงแต่คนไทยเท่านั้นที่รู้สึกจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 แม้แต่ชาวต่างประเทศก็เทิดทูน และชื่นชมในพระจริยวัตรของพระองค์ ดังปรากฏในบทความและข้อความที่ตัดตอน ดังนี้

3.1 มหาวิทยาลัยในต่างประเทศหลายแห่งได้ทูลเกล้าฯถวายปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตด้วย ตระหนักและยอมรับในพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในด้านกฎหมาย อาทิ
มหาวิทยาลัยไซ่ง่อน สาธารณรัฐเวียดนาม
มหาวิทยาลัยแกดจาห์มาดา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
มหาวิทยาลัยเปซาวาร์ สาธารณรัฐปากีสถาน
มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์
มหาวิทยาลัยวิลเลี่ยมส์ สหรัฐอเมริกา
มหาวิทยาลัยเมลเบอร์น ประเทศออสเตรเลีย และ
มหาวิทยาลัยทัฟทส์ สหรัฐอเมริกา

ในวโรกาสทูลเกล้าฯ ถวายปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2527 อธิการบดี ยีน เมเยอร์ แห่งมหาวิทยาลัยทัฟทส์ได้กล่าวคำสดุดีเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่รัชกาลที่ 9 หัวมีใจความว่า ทรงมีบทบาทโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ในด้านความคิดริเริ่ม ทันต่อเหตุการณ์ ทรงมีพระปรีชาสามารถและเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณ

อธิการบดี ยีน เมเยอร์ ได้อัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขึ้นเน้นเป็นพิเศษที่ทรงรับสั่งว่า หากกฎหมายและความยุติธรรมขัดแย้งกัน ความยุติธรรมต้องมาก่อน เพราะวัตถุประสงค์ประการแรกที่สุดของการดูแลสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์ คือ ความยุติธรรม

ในพระราชวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบรอบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2530 ฯพณฯ นาย ชิ โอ ยัง คณบดีคณะทูตที่ประจำอยู่ในกรุงเทพฯ ได้กราบบังคมทูลถวายพระพร

ในนามคณะทูตและคณะกงสุล มีความตอนหนึ่งกล่าวถึงพระปฐมบรมราชโองการ ที่พระราชทานในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 ที่ว่า “ เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ” และกราบบังคมทูลยกย่องว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจครบถ้วนทุกประการ ตามพระปฐมบรมราชโองการดังกล่าว โดยเหตุนี้ จึงได้รับความเคารพอย่างยิ่ง ความจงรักภักดีอย่างใหญ่หลวง และความรักอย่างสูง สุดประมาณจากประชาชนชาวไทย

จากคำกราบบังคมทูลถวายพระพรของคณบดีคณะทูตข้างต้นทำให้ทราบว่า คณะทูตานุทูตต่างประเทศในประเทศไทยต่างก็ให้ความสนใจ และทราบความเป็นมาของพระราชสัตยาธิษฐานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่จะทรงปกครองแผ่นดินโดยทศพิธราชธรรมจริยา จึงเป็นสิ่งที่คาดหมายได้อย่างแน่นอนว่า เรื่องราวเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทยและบรรดาพระราชกรณียกิจ

ทั้งหลายทั้งปวงเพื่อประเทศชาติและประชาชน จะเป็นหัวข้อที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่ง ปรากฏเป็นประจำและอย่างต่อเนื่อง ในรายงานของหัวหน้าคณะผู้แทนทางทูต ในประเทศไทยไปยังรัฐบาลของตน

พระปรีชาสามารถและพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ตลอดจนความเทิดทูนรักใคร่ห่วงแหน และความซื่อสัตย์จงรักภักดีสูงสุดอันมิอาจ คำนวณนับประมาณได้ที่พสกนิกรทั่วประเทศ มีต่อพระองค์ จึงเป็นที่เลื่องลือและกล่าวขานทั่วทุกภูมิภาคของโลก (ทบวงมหาวิทยาลัย . 2539 : 665)

3.2 โลกรับรู้ ‘ ไทม์ ‘ เชิดชู ‘ ในหลวง ‘ อุทิศพระองค์เพื่อทวยราษฏร์

มีนัยสำคัญบางประการจากการที่นิตยสารระดับโลกอย่าง “ ไทม์ ” นำเสนอบทความเชิง แสดงความคิดเห็น ในหลากหลายเรื่องราว เกี่ยวกับองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ไว้ในฉบับประจำวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2541 นั่นคือ ยิ่งนับวัน พระเกียรติคุณ พระวิริยอุตสาหะ และพระราชกรณียกิจทั้งปวง ที่ทรงทำเพื่อปวงชน ของพระองค์ ได้รับการยอมรับมากขึ้น ในวงกว้าง นับจากการที่นิตยสารระดับภูมิภาคเอเชียกล่าวถึง เกียรติภูมิของพระองค์ท่านบ่อยครั้ง ในที่สุดนิตยสารระดับโลก อย่างไทม์ ก็ตระหนัก ถึงคุณลักษณะโดดเด่นจำเพาะ แห่งองค์กษัตริย์ ไทย เหมือนเช่นปรากฏอยู่ในข้อเขียนของเทอร์รี่ แม็ก คาร์ธี ข้างต้นนี้ ที่สำคัญก็คือ

คำที่อ้างอิงถึงองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ไม่จำกัดอยู่แค่การเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุด ซึ่งยังทรงพระชนม์ชีพอยู่อีกต่อไป แต่ยังเชิดชูพระองค์เป็นกษัตริย์ เพียงหนึ่งเดียวที่ทวนกระแสมัวหมอง และถดถอยความนิยม ที่เกิดขึ้น กับราชวงศ์ต่างๆ ทั่วโลกอีกด้วย

ต่อไปนี้คือข้อความที่เรียบเรียงและตัดทอนเพื่อความเหมาะสมจากข้อเขียนของนิตยสารไทม์ ดังกล่าว ซึ่งสะท้อนให้เห็นความจงรักภักดีที่ทวยราษฎร์มอบถวายให้ โดยน้อยคนนักที่จะตระหนักชัดเจนว่า พระองค์ทรงเหนื่อยยาก ตรากตรำพระวรกายอย่างสูงสุดเพียงไร ตลอดระยะเวลาครองราชย์ 53 ปีที่ผ่านมา “ มีความลับประการหนึ่งขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นหัวใจของประเทศไทยในยุคปัจจุบัน นั่นคือ ทำไมพระเจ้าอยู่หัวของดินแดนแห่งรอยยิ้ม ไม่เคยแย้มพระสรวลใดๆ ในงานรัฐพิธี ที่ดูจะขัดแย้งกันอยู่ในท ีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นศูนย์รวมแห่งความจงรักภักดีของคนไทยทั้งชาติ คำที่ใช้ร่วมกันเป็นสามัญเมื่อจะเอ่ยถึงพระองค์ก็คือ พระเจ้าอยู่หัว อันหมายถึง พระผู้ที่ต้องเทิดไว้เหนือเกล้าทุกผู้คน ตามหมู่บ้านห่างไกล หลายคนยังยำเกรงเกินกว่าที่จะจับจ้องพระองค์ตรงๆ หากแต่ใช้วิธีปูลาดผ้าเช็ดหน้าของตนไว้ให้ทรง พระราชดำเนินผ่าน เพื่อเก็บรอยพระบาทไว้สักการะในบ้านเรือน ”

ไทม์ ขยายความจงรักภักดีที่ปวงชนชาวไทยมีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไว้ด้วยถ้อยคำให้สัมภาษณ์ของคนไทยหลายระดับชั้น ตั้งแต่แม่ค้าขายดอกไม้วัย 72 ที่ถนนสุขุมวิท ไปจนถึงนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์อย่าง ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ สมรักษ์ คำสิงห์ นักชกเหรียญทองโอลิมปิก คนแรกของไทยที่อัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไว้เหนือเกล้าแล้วเดินไปรอบเวที “ พระองค์ทรงมีพระหฤทัยขาวผุดผ่อง มีพลังและความมหัศจรรย์แห่งคุณงามความดีอยู่ใน พระราชหฤทัยของพระองค์ ” “ เมืองไทยไม่มีค่าพอที่จะอยู่อาศัยหากไม่มีพระองค์อยู่ด้วย ” และ “ อาจบางทีพระองค์คือกษัตริย์องค์เดียวในโลกที่มีแต่ความรักโดยปราศจากความหวั่นกลัว ”

ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช
สมรักษ์ คำสิงห์

“ หลังจากครองราชย์มายาวนาน 53 ปี พระมหากษัตริย์ของไทยทรงสถิตอยู่อย่างโดดเด่นเงียบๆ ในฐานะพระมหากษัตริย์ มหัศจรรย์แห่งพระองค์ไม่ใช่มหัศจรรย์จากหน้าหนังสือแท็บลอยด์ ความชั่วร้ายที่ติดตามต่อต้านพระองค์ก็ไม่ได้อยู่ในรูปของปาปาราซซี ( ช่างภาพอิสระที่สอดรู้ไปทุกเรื่อง ) บนอานมอเตอร์ไซค์ ”

ไทม์ระบุว่า สังคมไทยไม่ได้เป็นสังคมที่ราบรื่นสว่างไสวไปทั้งหมด ตรงกันข้ามในห้วงที่ผ่านมา ยังมีผู้คนที่เห็นแก่ตัว กระหายอำนาจ ยกตนข่มท่าน ที่ฉีกกระชากทำลายเส้นใยที่ถักทอความเป็นหนึ่งเดียว ของคนในชาติออกจากกันเพื่อความพึงพอใจส่วนตัว

“ ไทยมี 2 ด้าน และในขณะที่คนต่างชาติส่วนใหญ่มักมองเห็นแต่เพียงรอยยิ้ม คนไทยทุกคนตระหนักดีว่ามีอีกด้านหนึ่งของประเทศนี้อยู่เสมอ ”

เหตุการณ์เช่น กรณีฆ่าแขวนคอที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ.2519 เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ โสเภณีเด็กในซ่องกรุงเทพฯ การข่มขืนและฆ่าคนเรือเวียดนามในทะเลหลวง การค้ายาเสพติด และการคอร์รัปชั่นในระดับมหึมา คือสรรพสิ่งที่ล้วนมาจากด้านมืดของสังคมอันซับซ้อนของประเทศนี้

“ และสิ่งต่างๆ ทั้งหมดนั้นเป็นความที่ทราบถึงพระเนตรพระกรรณแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะองค์กษัตริย์ผู้ซึ่งจำต้องอยู่เหนือสิ่งเหล่านี้ ทรงยอมแม้กับความเจ็บปวดเนื่องจากทรงปรารถนา ที่จะแสดงพระองค์ออกมาต่อต้านสิ่งเหล่านี้ ”

แต่ไทม์บอกว่า บางครั้งพระองค์ก็ไม่อาจทรงนิ่งเฉยอยู่ได้
“ และนั่นก็คือเมื่อบังเกิดห้วงเวลาแห่งความเจ็บปวดสูงสุด … ที่พระองค์ทรงใช้พระราชอำนาจ เพื่อสยบความปั่นป่วนและความรุนแรงที่ไม่ทรงโปรด ”

“ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงวางพระองค์อยู่เหนือการเมืองอันสับสนวุ่นวายของไทย เป็นส่วนใหญ่ ทรงรักษาพระราชอำนาจอัศจรรย์ที่แก้ปัญหาสารพัดไว้เพื่อใช้ในยามที่เกิดความจำเป็นสูงสุด … ”

“ …เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปตามหมู่บ้านต่างๆ ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับชาวบ้านทั่วไป โดยไม่ทรงกังวลต่อถ้อยคำที่พวกเขาใช้ว่าเป็นคำราชาศัพท์ที่เหมาะสมหรือไม่ ตรงกันข้ามทรงกระตุ้นให้พวกเขาใช้ถ้อยคำธรรมดาสามัญนี่แหละ …”

พล.อ.สายหยุด เกิดผล อดีตผู้บัญชาการทหารบกผู้ตามเสด็จบ่อยครั้งบอกกับไทม์ไว้เช่นนั้น

โครงการหลวงในพระราชูปถัมป์แห่งแรก ในจำนวนมากกว่า 2,000 โครงการก็คือ โครงการสหกรณ์หมู่บ้านตามพระราชดำริที่จังหวัดเพชรบุรีเมื่อปี พ.ศ.2507

พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร ที่เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าราชองครักษ์ ระหว่างปี พ.ศ.2513-2524 ให้คำอธิบายถึงการที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปในทุกที่ โดยอาศัยประโยชน์สุขของราษฎรเป็นที่ตั้ง และมิได้ทรงคำนึงถึงความปลอดภัยส่วนพระองค์ไว้ในข้อเขียนของไทม์ว่า เนื่องเพราะมิได้ถือพระองค์ว่าเป็น พระมหากษัตริย์ หากเป็นเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ทรงถือคติตามพุทธศาสนาที่ว่า ไม่มีความเป็นตัวตน เป็นสุญญตา

เหตุระเบิดที่เกิดขึ้น 2 ครั้งห่างจากจุดที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ประทับอยู่เพียง 150 เมตรที่จังหวัดยะลา เมื่อปี พ.ศ.2522 ถูกนำมาถ่ายทอดไว้อีกคำรบหนึ่ง เพื่อแสดงให้เห็นน้ำพระทัย อันเด็ดเดี่ยวของพระองค์ที่ทรงมุ่งมั่น เพื่อสร้างประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับพระองค์เอง

ในข้อเขียนของนิตยสารไทม์ระบุไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงตื่นบรรทมเมื่อเวลาประมาณ เที่ยงวัน เสวยพระกระยาหารกลางวันในห้องทรงพระอักษรในตอนบ่าย เสวยพระกระยาหารค่ำพร้อมสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถค่อนข้างดึก หลังจากนั้นพระองค์จะทรงงาน หรือไม่ก็ทรงพระอักษรจนดึกดื่น บ่อยครั้งที่การทรงงานยืดเยื้อไปกระทั่งย่ำรุ่ง

“ ตลอดช่วงชีวิตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สิ่งเดียวที่ช่วยให้พระองค์สามารถเร้นหนีจาก พระราชกรณียกิจได้โดยแท้จริงคือ การทรงดนตรีแจ๊ซที่ทรงโปรดปราน เนิ่นนานก่อนหน้าที่พระสุขภาพ จะเสื่อมถอยลง จะมีการบันทึกเสียงของวงดนตรีประจำพระองค์เพื่อออกอากาศทางวิทยุทุกสุดสัปดาห์ ไม่ว่านักดนตรีแจ๊ซที่มีชื่อเสียงของโลกคนไหนเดินทางมาเยือนไทย จะได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ร่วมเล่นดนตรีกับพระองค์ ”
“ บางคนบอกว่า ดนตรีเป็นพระโอสถขนานเอกสำหรับพระองค์ ทรงแซ็กโซโฟนได้หวานซึ้งจับใจอย่างมาก ”

แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ นักเปียโนชื่อดังของเมืองไทย ซึ่งร่วมเล่นดนตรีถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มานับตั้งแต่ พ.ศ.2499 กล่าวกับไทม์พร้อมกับเล่าด้วยว่าแม้เมื่อต้องเสด็จแปรพระราชฐาน ไปยังพระราชวังไกลกังวลหัวหิน ระหว่างหน้าร้อน การทรงดนตรีแจ๊ซของพระองค์ก็ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

“ เราเคยเล่นดนตรีพร้อมกับพระองค์ท่านตลอดคืนจนกระทั่งรุ่งสางที่หัวหิน จากนั้นก็ร่วมเสด็จพระราชดำเนินไปตามชายหาด ”

ปัจจุบันนี้ แมนรัตน์ยังคงเดินทางไปพระราชวังเพื่อเล่นดนตรีถวายอยู่ประจำทุกวันศุกร์ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงดนตรีน้อยลง และระหว่างทรงดนตรีก็ต้องพักเป็นระยะอีกด้วย

ในตอนท้ายข้อเขียนของไทม์พูดถึงพระราชกรณียกิจที่ยังคงต้องทรงปฏิบัติต่อไป และแสดงความคิดเห็นไว้ว่า หลังจากทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมาเกินกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว พระองค์ควรอยู่เหนือความกังวลทั้งปวงเสียที เนื่องเพราะพระองค์ทรงประกอบพระราชกุศลไว้มากเกินพอสำหรับแผ่นดินนี้แล้ว พร้อมกับคาดหวังเป็นเชิงถวายพระพรชัยเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบด้วยว่า นับแต่นี้ต่อไป คงไม่มีสิ่งใดมากางกั้นองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับรอยยิ้มชวนปิติแบบที่ปรากฏ อยู่บนพระพักตร์ของพระพุทธรูปอีกต่อไป
( จากมติชน วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2542 หน้า 20)

3.3 หนังสือพิมพ์ในฮอโนลูลูกล่าวชื่นชมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า ‘poised, serious, soft- spoke ‘—-‘ a true picture of Royalty for Americans’…’ His friendly charm endeared him to everyone’…’ Destined to be long-remembered 20 th century monarch in these parts of the world …’
( พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงวิภาวดี. 2503 : 13)

3.4 พิทยาจัดหาน้ำมาให้คุณยายดื่ม แล้วกล่าวว่า “ เรื่องเกี่ยวกับพระเจ้าอยู่หัวฟังแล้วไม่เบื่อ คุณยายเล่าอีกซีคะ ”
คุณยายจึงเล่าต่อไปว่า “ พูดถึงพระราชจริยวัตรของพระองค์นั้นไม่ใช่ชาวไทยเราเท่านั้นที่ประทับใจ ชาวต่างชาติที่พบเห็นก็พากันสรรเสริญยกย่องทั้งนั้น อย่างเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหภาพพม่า อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2503 ไง

ในวันที่เสด็จไปที่พระเจดีย์ชเวดากอง อันเป็นศาสนสถาน ก็ได้ทรงถอดฉลองพระบาท ทรงพระราชดำเนินด้วยพระบาทเปล่า เช่นเดียวกับพุทธศาสนิกชนพม่า พม่าถือนักถือหนาว่า ผู้ที่จะเข้าเฝ้ากษัตริย์ของเขา หรือว่าเข้าไปในวัดวาอารามก็ต้องถอดรองเท้า พระองค์ทรงปฏิบัติตามประเพณีจึงมีแต่ผู้สรรเสริญ ”

(รสา วงศ์ยังอยู่ “ พระมหากรุณาธิคุณยิ่งล้น ” วันเด็กแห่งชาติ 2531 ‘ ร่มเกล้า ‘ ลาดพร้าว. 2531 : 29)

3.5 ภรรยาของผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติคนหนึ่ง ซึ่งนั่งโต๊ะเดียวกับคุณหญิงทรงสุดายอดมณี กล่าวว่า “.. ที่สำคัญกว่านั้นก็คือราชวงศ์ของไทย แปลกกว่าที่อื่นๆ เพราะว่าทรงทำงานหนักอย่างที่ฉันไม่เคยคิดมาก่อนเลย ทั้งพระเจ้าอยู่หัว พระบรมราชินีนาถ และเจ้าฟ้าทุกพระองค์ต่างก็ทำงานด้วยกันทั้งนั้น ทรงสนพระทัยและทรงงานในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นที่แปลกประหลาดมากทีเดียว ไม่เห็นมีประเทศไหนในโลกเลย …” (สุวิชา. 2539 : 203)

3.6 ทูตโปรตุเกสเล่าว่า “ เมื่อวานนี้เราได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว ท่านดูมีพระพลานามัยแข็งแรงมาก เรื่องที่รับสั่งกับประชาชนชาวไทยนั้นก็ไม่สงสัยเลยว่า ทำไมประเทศไทยจึงได้รอดพ้นช่วงวิกฤตมาได้ทุกครั้ง เพราะคุณมีพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระปรีชาสามารถมากนี่เอง พวกคุณโชคดีจริงๆ ”

ทูตสวีเดนซึ่งเป็นผู้หญิงได้เข้ามาร่วมวงด้วยบอกว่า เห็นด้วยอย่างที่ทูตโปรตุเกสพูดทุกอย่าง ทูตอังกฤษซึ่งมีรูปร่างสูงใหญ่เสียจนเวลาผู้หญิงพูดต้องแหงนคอตั้งบ่าบอกว่า “ พวกเราเองชาวต่างประเทศที่ได้มาพำนักอยู่ในเมืองไทยยังรู้สึกมีความสุขด้วย จึงไม่สงสัยเลยว่าทำไมพวกคุณถึงได้บูชาพระองค์ท่านเช่นนี้ …”

มาได้ยินอีกทีตอนทูตรัสเซียพูดว่า “ ผมได้ประจักษ์เมื่อมาอยู่ประเทศไทยนี่เองว่า สถาบันพระมหากษัตริย์มีความสำคัญยิ่งเพียงไร ” ไม่ทราบว่าพวกท่านทูตจะเสียดายหรือเปล่า ว่าประเทศของเขาเคยมีกษัตริย์มาก่อน แต่ก็ไปล้มเสีย ไม่งั้นสหภาพโซเวียตคงไม่แตกกันเป็นหลายประเทศ ออกไปแบบนี้หรอก (สุวิชา . 2539 : 157)

3.7 สุวิชา (2539 : 71-87) ลงพิมพ์ในหนังสือตะวันส่องแสง แปลจากวารสาร The Plain Truth ประจำเดือน กรกฎาคม / สิงหาคม 2527 หัวข้อ “More than a Monarch” โดย John Halford มีตอนหนึ่งว่า

“ ชาวเขานิยมปลูกฝิ่นเป็นรายได้หลัก โดยเฉพาะในระยะปีหลังๆ นี้ เพราะพวกเขาไม่มีความรู้ เพียงพอว่าการกระทำเช่นนั้นจะทำความเสียหายให้แก่ประเทศชาติโดยส่วนรวม

การที่จะชักจูงให้ชาวเขาพวกนี้เลิกการปลูกฝิ่นแล้วหันมาปลูกข้าว ผลไม้ ผัก และพืชเศรษฐกิจอื่นๆ นั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถมากทีเดียว อาจจะใช้วิธีการบังคับให้ทำตามก็ได้ แต่นั่นไม่ใช่วิธีการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ พระองค์ทรงทราบว่า การที่จะช่วยเหลือพสกนิกรของพระองค์นั้นจะต้องให้เขามีความไว้วางใจด้วย และความไว้เนื้อเชื่อใจนั้นไม่สามารถทำได้ด้วยการบังคับข่มขู่ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเหตุผลที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนิน ไปยังที่ที่จะพัฒนาแห่งใหม่ด้วยพระองค์เอง …”

“ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระดำเนินเร็ว นำหมู่เจ้าหน้าที่ไป แม้ว่าจะเป็นการเสด็จส่วนพระองค์ แต่ทุกคนก็ถวายความเคารพอย่างสูง พระองค์ทรงสนองตอบด้วยการเคารพแผ่นดินของพระองค์เองทุกตารางฟุต พระองค์ทรงเตือนช่างภาพซึ่งชิงกันถ่ายภาพเพื่อให้ได้ภาพที่ดีที่สุดอย่างนุ่มนวล มิให้เหยียบย่ำลงไปบนพุ่มไม้ต่างๆสองข้างทาง พระองค์รับสั่งเตือนว่าเราจะต้องดูแลธรรมชาติให้ดี แล้วธรรมชาติจะให้ประโยชน์แก่เราได้

หลังจากที่เดินผ่านทางแคบๆ นี้ไปหลายนาที เราก็ถึงสถานที่ที่กำหนดจะสร้างเขื่อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงซักถามถึงปัญหาต่างๆ โดยละเอียด ในขณะที่ทรงพิจารณาสถานที่ นั้นอย่างรอบคอบ โดยมีแผนที่แผ่นใหญ่ประกอบ พระองค์ท่านแทบจะไม่เคยปรากฏพระองค์โดยปราศจาก แผนที่ในพระหัตถ์เวลาที่เสด็จเยี่ยมตามชนบทต่างๆ …”
“ พระองค์ได้ทรงแสดงให้เห็นว่าประเทศชาติจะสามารถเฟื่องฟูขึ้นได้ และประชาชนจะมีชีวิตความเป็นอยู่ ที่ดีขึ้น ถ้าหากว่าประมุขของประเทศมีความเมตตา มีความอดทน และมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รู้จักการให้และการแบ่งปัน …”

“… หลังจากที่ทรงปรึกษาหารือเกี่ยวกับโครงการสร้างเขื่อนกับข้าราชการต่างๆ แล้ว ก็ได้ทรงรับฟังความคิดเห็น ของหัวหน้าท้องถิ่น ทรงซักถามเขาเหล่านั้นว่า มีความเห็นเกี่ยวกับโครงการอย่างไร  พระองค์ทรงรับฟัง ความคิดเห็นเหล่านั้นด้วยความอดทน ทรงบันทึกปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากความไม่แน่ใจหรือความลังเลใจ ของชาวบ้าน อย่างละเอียด ผู้นำท้องถิ่นเหล่านั้นเป็นเพียงชาวเขาธรรมดา แต่ด้วยพระจริยวัตรที่ทรงเป็นกันเอง ของพระองค์ ทำให้เขาเหล่านั้นหายประหม่าและกราบทูลเรื่องราวได้ตามสบาย

สิ่งเหล่านี้มิใช่เป็นการประชาสัมพันธ์ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์อย่างแท้จริง ที่จะทราบถึงความรู้สึกของพวกเขา พระองค์มีพระราชดำรัสกับพวกเขาเบาๆ เต็มไปด้วยความจริงใจเสมอ เหมือนเป็นพี่ชายของพวกเขาเหล่านั้นมากกว่าที่จะเป็นผู้ทรงอำนาจยิ่งใหญ่ …”

“ หลังจากที่ทรงพิจารณาสถานที่สองแห่งแล้ว ก็ได้ทรงแนะนำข้าราชการท้องถิ่นว่าให้ทำอย่าง ค่อยเป็นค่อยไป ตอนแรกควรจะทำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำเล็กๆ ก่อน แล้วแสดงให้ชาวเขาเห็นประโยชน์ที่จะได้รับ จากการชลประทานและจากพืชทดแทน เมื่อชาวเขาเชื่อถือแล้ว พวกเขาก็จะขอให้สร้างเขื่อนใหญ่ขึ้น และอ่างเก็บน้ำที่จะสามารถเก็บน้ำได้มากขึ้นเอง การทำเช่นนี้จะต้องใช้เวลาและความอดทน แต่ระยะยาวจะชนะใจพวกชาวเขาให้ดำเนินชีวิตที่มั่นคงกว่าตลอดไปได้

ผู้ที่ทำงานในโครงการตามพระราชดำริต่างก็มีความเชื่อมั่นในพระราชวินิจฉัยของพระองค์ ในเรื่องต่างๆ เหล่านี้

หลังจากที่ได้รับกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อไปอีกเล็กน้อย พวกชาวเขาก็ตกลงใจที่จะเลิกการปลูกฝิ่น แล้วปลูกพืชทดแทนโดยใช้น้ำชลประทานจากเขื่อนที่สร้างใหม่ …”

“ ทรงช่วยเหลือทุกคน ”
“… พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้มิได้เดินอยู่ท่ามกลางประชาชนของพระองค์ด้วยความหวาดกลัวแต่ประการใด

“… พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้มีพระราชปฏิสันถารกับพี่น้องสองคน ซึ่งเป็นหญิงอายุ 108 และ 101 ปี หญิงชราทั้งสองได้รอคอยมาชั่วชีวิตของเธอเพื่อที่จะได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงทักทายหญิงทั้งสองอย่างนุ่มนวลและนับถือ ทรงไต่ถามถึงสุขภาพของทั้งสองคน ซึ่งทั้งสองได้กราบบังคมทูลว่า พวกเธออ่อนเพลีย และอีกคนหนึ่งมีอาการไอด้วย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 รับสั่งให้แพทย์หลวงทำการตรวจร่างกายทันที ปรากฏว่าคนหนึ่งมีปัญหานิดหน่อย เกี่ยวกับทรวงอก แพทย์หลวงเขียนใบสั่งยาและวิตามิน ซึ่งพระราชทานให้โดยไม่คิดมูลค่า ทหารที่ตามเสด็จนำใบสั่งยานั้นไปรับยาที่โต๊ะยา ซึ่งมีแพทย์อาสาสมัครและนางสนองพระโอษฐ์ซึ่งตามเสด็จ ไปทำหน้าที่พยาบาล ทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินไปที่ใดๆ ก็ตาม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับหญิงชราทั้งสองอีกพักหนึ่ง จึงได้เสด็จต่อไป ”

“… ด้วยพระจริยวัตรที่ไม่เร่งร้อน … ทรงรับฟังความต้องการอันแท้จริงของเขาเหล่านั้นแล้วทรงให้การช่วยเหลือที่จะเป็นหลักต่อไปได้
ชาวชนบทรู้สึกมีความสุขมาก พวกเขาซาบซึ้งกับพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยพวกเขาอย่างแท้จริง
ของธรรมดาๆ ที่ชาวบ้านนำมาถวาย ซึ่งอาจจะเป็นผลไม้เล็กๆ น้อยๆ ผัก หรือแม้แต่เพียงดอกฝิ่นสักดอกหนึ่ง ก็จะทรงรับไว้ด้วยความเต็มพระทัย

การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนประชาชนแต่ละครั้ง จะเป็นผลทางจิตใจแก่ทุกคน ไม่มีใครที่จะถูกละเลยหรือกีดกั้นไม่ให้มีโอกาสเข้าเฝ้า

บ่ายมากแล้ว การเสด็จพระราชดำเนิน ช้ากว่าหมายกำหนดการมาก เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังคนหนึ่งกล่าวว่า “ เป็นเช่นนี้เป็นประจำ เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ ไม่โปรดที่จะให้ผู้ใดเกิดความรู้สึกว่าถูกละเลย ”

ด้วยเหตุนี้สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย จึงดำรงอยู่อย่างมั่นคงในสถานการณ์ของโลกปัจจุบัน ซึ่งเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย พระมหากษัตริย์ทรงปกครองด้วยพระมหากรุณาธิคุณ และทรงได้รับความร่วมมือด้วยพระเมตตาธรรม พระองค์ทรงรักประชาชนของพระองค์อย่างแท้จริง และประชาชนก็ถวายความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ของเขา ”

3.8 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงวิภาวดี ทรงนิพนธ์ในหนังสือ “ เสด็จพระราชดำเนินสหรัฐอเมริกา พ.ศ.2503” (2503 : 147) ว่า ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ได้มีหนังสือทูลท่านว่า

“… I want very much to express my deep gratification for having had the good fortune to travel with Their Majesties, yourself and all the other wonderful people in your party. It was easily one of the happiest and most rewarding experiences of my life, one I dare say will not be duplicated. Beyond establishing fond friendships which I hope someday to renew, I was able, you will recall, to enjoy some molodious close harmony, thanks to Her Majesty, yourself and –not least of all – Phya Srivisarn. We were fortunate indeed to have achieved such camaraderie. For this we have Their Majesties particularly to thank. The warmth and relaxed informality which they demonstrated was simply contagious.

Officially, the visit was by all odds one of the most successful ever made by heads of state to our country. I can attribute this comment to numerous State Department officials, who have many means for comparison, as well as to hundreds of private citizens with whom I personally have come in contact. …”