พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
บทที่ 2 ราชสกุลมหิดล

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช และสมเด็จพระพี่นางเธอ
เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ผู้ทรงเป็นต้นราชสกุลมหิดล และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ( สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ )

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงกล่าวไว้ในบทนำของหนังสือเรื่องเจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์ (2530 : บทนำ ) ถึงที่มาของราชสกุลมหิดลว่า ” ราชสกุลมหิดล “
ก่อนสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คนไทยยังไม่ได้ใช้นามสกุลกัน เมื่อชื่อเหมือนกันจะต้องระบุว่าเป็นลูกใครหรือมาจากที่ไหน พระราชบัญญัติขนานนามสกุลได้มีขึ้นในปี พ.ศ.2456 สำหรับเจ้านายนั้น ไม่มีปัญหามากนัก เพราะส่วนมากพระนามจะยาวและไม่เหมือนของใคร แต่สำหรับสตรีที่มามีสามีเป็นเจ้านั้น เมื่อยังไม่มีนามสกุลชี้ว่าเป็นสะใภ้ในราชสกุลใด จำเป็นต้องระบุว่าเป็นหม่อม ( สำหรับหญิงสามัญ ) หม่อมหลวง หม่อมราชวงศ์ ( สำหรับหม่อมหลวง หม่อมราชวงศ์ ) ชายา ( สำหรับหม่อมเจ้าหญิง ) พระชายา ( สำหรับพระองค์เจ้าหญิง ) ใน …( พระนามของเจ้านายผู้สามี ) เช่น เมื่อแม่ได้รับพระราชทานน้ำสังข์แล้วเป็นหม่อมสังวาลย์ ในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ เพราะยังไม่ได้รับพระราชทานนามสกุล เมื่อเขียนชื่อเป็นภาษาอังกฤษ หม่อมในสมัยนั้นไม่ใช้คำนำชื่อว่า Princess จะใช้ Madame เช่น Madame de Pitsanulok ( หม่อม Caterine ในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ) หรือ Madame de Songkla ( คือแม่ ) เมื่อประทับอยู่อเมริกา สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงใช้พระนามเป็น Mr. Mahidol Songkla และ แม่ก็ใช้ Mrs. Songkla ลูกๆ จึงใช้นามสกุล “ สงขลา ” กันทุกคน

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
สมเด็จมหิตลาธิเบศรฯ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 69 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ( พระปิยมหาราช ) และทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 7 ของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกา เจ้า ( สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี )
มีผู้มาขอพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมากมาย จะเป็นพระราชวงศ์หรือข้าราชบริพารก็ดี จนยังมิได้พระราชทานราชสกุลแก่พระราชโอรส ของรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงต้องเป็นผู้พระราชทานเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2472 คือสามเดือนก่อนที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ กรมขุนสงขลานครินทร์จะสิ้นพระชนม์ ไป และได้สถาปนาเป็นกรมหลวงฯ หลังจากสิ้นพระชนม์แล้ว 2 เดือน แม่จึงเป็นหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา ส่วนลูกๆ ก็ไม่ได้ใช้นามสกุล เพราะตามประกาศของสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เจ้าขึ้นไปไม่ต้องใช้นามสกุล แต่เมื่อไปอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เราได้ใช้นามสกุล “ มหิดล ” กันทุกคน เพราะไปอยู่อย่าง incognito คือไม่ต้องการให้คนทราบว่าเป็นใคร จึงต้องมีนามสกุลเพราะชาวสวิสไม่เข้าใจ ว่าเกิดมาเป็นคนแล้วไม่มีนามสกุลได้อย่างไร ”


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสา
อัยยิกาเจ้า ( สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี )
เสด็จพระราชสมภพวันศุกร์ เดือนยี่ ปีเถาะ ตรงกับวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2434 ทรงมีพระนามในพระสุพรรณบัฏ ดังนี้
สมเด็จเจ้าฟ้าชายมหิดลอดุลยเดชนเรศวร มหาราชาธิบดินทร์ จุฬาลงกรณนรินทรวรางกูร สมบูรณ์เบ็ญจพรสิริสวัสดิ์ ขัตติยโรภโตสุชาติ คุณสังกาศเกียรติประกฤษฐ์ ลักษณวิจิตรพิสิษฐบุรุษย์ ชนุตมรัตนพัฒนศักดิ์ อรรควรราชกุมาร
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรฯ ทรงเริ่มการศึกษาในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาเมื่อมีพระชนมายุประมาณ 13 ชันษา ได้เสด็จไปศึกษายังประเทศอังกฤษ ในปีแรก ได้ประทับอยู่กับครอบครัวพระอาจารย์ จากนั้นเสด็จไปทรงศึกษาที่โรงเรียนแฮโรว์ (Harrow) เป็นเวลาปีกว่า แล้วขอพระบรมราชานุญาตย้ายไปศึกษาวิชาทหารที่ประเทศเยอรมัน

ทรงเครื่องแบบปกติน้ำเงินดำ นักเรียนนายเรือเยอรมัน ประดับอินทรธนูตราหน้าหมวก
และมีดเหน็บมีพู่อย่างนายทหารเรือเยอรมัน ปี พ.ศ.2454-2455
โดยทรงศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยขั้นต้นที่ปอตสดัม (Potsdam) จากนั้นทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อย ที่โกรสลิชเตอร์เฟลเด้ (Grosslichterfelde) ชานเมืองเบอร์ลิน (Berlin) ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) มีรับสั่งให้ย้ายไ ปเรียนที่โรงเรียนนายทหารเรือ

ทรงเครื่องแบบเต็มยศนายเรือตรี แห่งจักรพรรดินาวีเยอรมัน
ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย ปี พ.ศ.2454-2455
ทรงศึกษาจนจบหลักสูตร ยกเว้นยังไม่ได้ฝึกเป็นผู้บังคับเรือ ต้องเสด็จกลับประเทศไทย เพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ประทับทรงงานในกองทัพเรือไทยเกือบ 1 ปี จึงขอพระบรมราชานุญาตไปเรียนวิชาแพทย์ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ทรงศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard) เมื่อทรงศึกษาถึงปีที่ 3 ได้ทรงหันไปศึกษาทางสาธารณสุขศาสตร์ ทรงสำเร็จการศึกษา เมื่อวันที่ 31 มิถุนายน พ.ศ.2464 เมื่อเสด็จกลับประเทศไทย ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีกรมมหาวิทยาลัย กระทรวงธรรมการ ( กระทรวงศึกษาธิการ ในปัจจุบัน ) ต่อมาได้ขอพระบรมราชานุญาตเสด็จไปอเมริกา เพื่อศึกษาวิชาแพทย์ที่ทรงศึกษาค้างไว้ 1 ปี ที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดให้จบ และเพื่อรักษาพระองค์ด้วย เพราะทรงมีพระวรกายที่ไม่สมบูรณ์
เนื่องจากทรงงานตรากตรำอย่างหนัก ทรงจบการศึกษาในปี พ.ศ.2471 ได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยม และทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกของชมรม ALPHA OMEGA ALPHA
จากนั้นได้เสด็จนิวัติประเทศไทย สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรฯ ทรงตั้งพระทัยจะทำหน้าที่แพทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาลศิริราช แต่ทรงมีอุปสรรคด้วยพระอิสริยยศ (ขณะนั้น ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอฯ ในรัชกาลที่ 7) พระองค์จึงเสด็จไปทรงงานที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค

โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
จังหวัดเชียงใหม่ ทรงอุทิศเวลาทั้งหมดเพื่อการรักษาผู้ป่วย ทรงงานได้ 3 สัปดาห์ก็ทรงพระประชวร ต้องเสด็จกลับมารักษาพระองค์ที่พระตำหนักสระปทุม ทรงมีพระอาการประชวรด้วยพระโรคพระยกนะอักเสบ ( โรคตับอักเสบ ) เป็นเวลา 4 เดือน เสด็จสวรรคตในวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2472 เวลา 16.45 น . รวมสิริพระชนมายุ 38 ปี 8 เดือน 23 วัน ยังความวิปโยคอย่างใหญ่หลวง
พระนามที่ได้รับพระราชทานและทรงได้รับสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธยดังนี้ :-
พ.ศ.2434 สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ
พ.ศ.2446 กรมขุนสงขลานครินทร์
พ.ศ.2472 กรมหลวงสงขลานครินทร์
พ.ศ.2513 สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
( พระนามเดิม นางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ )
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ( พระนามเดิม นางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ ) แต่เดิมเป็นสามัญชนในครอบครัวช่างทอง ประสูติ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2443 บิดาชื่อชู มารดาชื่อคำ ทรงมีพี่ 2 คนและน้อง 1 คน เมื่อพระชนม์ได้ 7-8 ชันษา ญาติทางบิดาได้นำมาถวายตัวเป็นข้าหลวงในสมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ฯ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินทร พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ฯ ทรงเป็นพระเชษฐภคินี ( พี่สาว ) ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรฯ

สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ฯ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินทร สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
และสมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์
สมเด็จพระศรีนครินทรา ทรงศึกษาที่โรงเรียนสตรีวิทยา ต่อมาเมื่อพระชนม์ได้ 13 พรรษาได้เข้าเรียนโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลแห่งศิริราช เมื่อจบหลักสูตร 3 ปี แล้ว ทรงได้รับเลือกเป็นหนึ่งในนักเรียนทุน ( มี 2 ทุน ) ของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีไปศึกษาที่สหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2460 ขณะนั้นสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรฯ ทรงศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยในบอสตัน (Boston) และทรงมีพระเมตตาสนพระทัยในทุกข์สุขของนักเรียนไทยทุกคน ได้เสด็จมารับนักเรียนที่มาจากประเทศไทย จึงเป็นครั้งแรกที่ได้ทรงพบสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ต่อมาได้ทรงหมั้นเป็นพิธีการเงียบๆ สมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ ทรงศึกษาแผนกวิชาการสาธารณสุขศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเสตส์ (MIT) ทรงเลือกศึกษาวิชาอนามัยโรงเรียนจนจบหลักสูตร
เมื่อเสด็จกลับประเทศไทยแล้ว สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรฯ ทรงขอพระบรมราชานุญาต อภิเษกสมรสกับสมเด็จพระศรีนครินทราฯ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานน้ำสังข์ที่วังสระปทุม เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2463 แล้วในปีเดียวกันได้เสด็จไปสหรัฐอเมริกาเพื่อทรงศึกษาต่อ โดยสมเด็จพระศรีนครินทราทรงศึกษาที่ Simmons College ที่ Boston เป็นนักเรียนพิเศษในหลักสูตรเตรียมพยาบาลอยู่ประมาณ 1 ภาคการศึกษา และทรงสอบไล่ได้ จากนั้นทรงศึกษาเกี่ยวกับ School Health ( การสาธารณสุขสำหรับโรงเรียน ) ในภาคฤดูร้อนของมหาวิทยาลัย MIT ในปี พ.ศ.2469-2471 ทรงเรียนที่ Simmon College อีกระยะหนึ่ง โดยทรงเรียนด้านจิตวิทยา การทำกับข้าว และ ด้านโภชนาการ (Dietetics)
ต่อมาเมื่อเสด็จกลับมาเมืองไทย (ช่วง พ.ศ.2472-2473) ทรงเรียนวิชาภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส พีชคณิต และ Botany ซึ่งมหาวิทยาลัย Columbia สหรัฐอเมริกาจัดสอนทางไปรษณีย์อีกพักหนึ่ง และก่อนเสด็จไปประทับที่โลซานน์ สวิสเซอร์แลนด์ ในปี พ.ศ.2476 ได้ทรงเรียนภาษาฝรั่งเศสที่สมาคมฝรั่งเศส (Alliance Francaise) จัดสอนให้ประชาชนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมื่อสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรฯ เสด็จสวรรคต ในปี พ.ศ.2472 สมเด็จพระศรีนครินทราฯ ทรงมีพระชนมายุ 29 พรรษา ทรงรับหน้าที่อภิบาลบำรุง พระราชธิดาและ พระราชโอรส ทั้งในขณะที่ทุก พระองค์ประทับในประเทศไทย และเสด็จฯไปทรง ศึกษายังต่างประเทศ สมเด็จพระศรีนค-รินทราฯ ทรงเป็นพระราชชนนีที่ทรงมีพระราชโอรส ครองราชย์สืบสันตติวงศ์เป็น พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวของปวงชนชาวไทยถึงสองพระองค์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ทรงเป็นแบบอย่างที่ดียิ่งด้านคุณธรรม ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้วยพระวิริยะอุตสาหะ อันเป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองและประชาชนเป็นอเนกประการ ทรงสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรฯ ทรงมีพระหฤทัยที่เปี่ยมด้วยพระเมตตากรุณาธิคุณ ทรงห่วงใยความเป็นอยู่ของประชาชนโดยทั่วไป
ประมาณปี พ.ศ.2490 ขณะที่ประทับอยู่ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ สมเด็จพระศรีนคริน ทราฯ ทรงสนพระราชหฤทัยภาษาสันสกฤต จึงทรงเริ่มศึกษาภาษาสันสกฤตที่มหาวิทยาลัยเมือง โลซานน์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งตอนแรกมีนักศึกษา 10 คน ต่อมาภายหลังนักเรียนก็ร่อยหรอเหลือพระองค์เพียงองค์เดียว เพราะเป็นวิชาที่ศึกษายากมาก Professor Regamey เป็นผู้ถวายพระอักษร ต่อมาทรงศึกษาภาษาบาลี จึงทรงค้นคว้าเรื่องข้อพระธรรมต่างๆ ในพระพุทธศาสนา ดังนั้นพระราชดำริเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาจึงแตกฉานยิ่ง
ขณะที่ประทับอยู่ในประเทศไทย สมเด็จพระศรีนครินทราฯ ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ ในทางการศึกษา ศาสนา และสงเคราะห์ประชาชน ทรงตั้งมูลนิธิตำรวจชายแดนและครอบครัว ทรงสละพระราชทรัพย์ และทรงชักชวนผู้อื่นให้โดยเสด็จพระราชกุศล สร้างโรงเรียนตำรวจตระเวณชายแดน และโรงเรียนตามท้องถิ่นทุรกันดาร เป็นจำนวนประมาณ 200 แห่งทั่วประเทศ

ทรงเสด็จเยี่ยมตำรวจตระเวนชายแดน
ในปี พ.ศ.2512 ได้ทรงริเริ่มจัดตั้งหน่วยแพทย์อาสาออกปฏิบัติงานโดยไม่คิดมูลค่า ต่อมาได้ทรงจัดตั้งมูลนิธิ พอสว. เพื่ออุดหนุนกิจการของหน่วยแพทย์อาสา ทรงจัดตั้งกองทุนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และได้พระราชทานทรัพย์อุดหนุนกิจการสาธารณประโยชน์ต่างๆ

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และกิจการของหน่วยแพทย์อาสาฯ (พอสว.)
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณยิ่งจึงทรงเป็นที่เคารพรักของประชาชนตลอดมา และต่างถวายพระนามใช้เรียกขานกันเองว่า “ แม่ฟ้าหลวง ” บ้าง “ สมเด็จย่า ” บ้าง อันล้วนแต่เป็นพระนามที่เรียกด้วยความเคารพรักและผูกพันอย่างลึกซึ้งยิ่ง
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเป็นสตรีผู้ประเสริฐสุดพระองค์หนึ่งของประเทศ และทรงเป็นแบบฉบับของการดำรงชีวิตที่น่ายกย่อง ทรงเป็นนักกีฬา โปรดสกี การทรงม้า แบดมินตัน และเปตอง ทรงเป็นนักถ่ายภาพและนักอนุรักษ์ภาพชั้นดีเยี่ยม ทรงมีพระดำริกว้างไกล ทรงเป็นสตรีที่ทันสมัย ทรงส่งเสริมการคุมกำเนิดและการพัฒนาคุณภาพประชากรมาตั้งแต่เมื่อมีคนไทยนับตัวได้ที่รู้จักเรื่องนี้ พระองค์โปรดความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ไม่หรูหรา
ในระยะหลัง สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีโปรดประทับ ณ พระตำหนักดอยตุง จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีทัศนียภาพสวยงาม อากาศเย็นสบาย ถูกกับพระสุขภาพ เหมาะแก่การสำราญพระราชอิริยาบถและการทรงงานด้านเกษตร

พระตำหนักดอยตุง จังหวัดเชียงราย

ตุง สัญลักษณ์แห่งอารยธรรมล้านนา ที่มีพระพุทธศาสนาเป็นจุดยืน หมู่ตุงหน้าทางเข้าอุทยานพระตำหนักดอยตุง จังหวัดเชียงราย
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเจริญพระชนมายุยืนนาน จึงอุดมด้วยพระประสบการณ์ และยิ่งด้วยพระบุญญาธิการยากจักหาผู้ใดเสมอเหมือน ด้วยพระชนมายุถึงปานนี้ นับว่าทรงเป็นหลักแห่งพระราชวงศ์และประเทศชาติพระองค์หนึ่ง พระองค์ได้เจริญพระชนมายุมาถึง 5 รัชกาลแห่งพระมหากษัตริย์เจ้า ทรงผ่านเหตุการณ์ทั้งที่เป็นความสุขและที่นำมาซึ่งความวิปโยค จนทรงเข้าพระทัยได้ดีถึงสภาพอันเป็นธรรมดาของโลก ทรงดำรงพระองค์ได้หมดจดงดงาม จนถึงเมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในพ.ศ.2513 ทรงสถิตในที่อิสริยยศสูงยิ่งในพระบรมราชจักรีวงศ์
สมเด็จพระศรีนครินทราฯ ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลาเกินกว่า 50 ปี ทรงเป็นมิ่งขวัญของชาวไทยทั้งมวล ทรงเป็นศรีแห่งพระนครโดยแท้จริง พระองค์ทรงมีชันษายืนกว่า 90 พรรษา ทรงมีพระอาการประชวรและได้เสด็จประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลศิริราช สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีสวรรคต วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2538 เวลา 21.17 น . ยังความวิปโยคโศกเศร้าอย่างใหญ่หลวงทั้งแผ่นดิน

พระบรมโกศที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง
พระนามที่ได้รับพระราชทานและทรงได้รับสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย ดังนี้
พ.ศ.2463 หม่อมสังวาลย์ ในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์
พ.ศ.2472 หม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา
พ.ศ.2477 พระราชชนนีศรีสังวาลย์
พ.ศ.2481 สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์
พ.ศ.2513 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

พระอิริยาบถขณะทรงพระเยาว์
พระราชโอรสและพระราชธิดา
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนี ทรงมีพระราชธิดา และพระราชโอรส รวม 3 พระองค์ คือ

1. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ปีกุน ตรงกับวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2466 ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
พระนามที่ได้รับพระราชทาน และทรงได้รับสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย ดังนี้ พ.ศ.2466 หม่อมเจ้าหญิงกัลยาณิวัฒนา
พ.ศ.2470 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา
พ.ศ.2477 สมเด็จเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
พ.ศ.2538 ทรงกรมเป็นกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
2. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล อดุลยเดชวิมลรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช
เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 10 ปีฉลู ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2468 ณ เมืองไฮเดลแบร์ก ประเทศเยอรมัน พระนามที่ได้รับพระราชทาน และทรงได้รับสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย ดังนี้
พ.ศ.2468 หม่อมเจ้าอานันทมหิดล
พ.ศ.2470 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล
วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2477 เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ


3. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
พระนามเดิม “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร”
เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น 12 ค่ำ ปีเถาะ นพศก จุลศักราช 1289 ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2470 ณ โรงพยาบาลเมานท์ ออเบอร์น (Mount Auburn) เมืองเคมบริดจ์ (Cambridge) รัฐแมสสาชูเซตส์ (Massachusetts) สหรัฐอเมริกา พระนามที่ได้รับพระราชทาน และทรงได้รับสถาปนาเฉลิมนามาภิไธย ดังนี้
พ.ศ.2470 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช
พ.ศ.2477 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ
หมายเหตุ พระปรมาภิไธย “ ภูมิพล ” หมายถึง “ พลังของแผ่นดินเป็นอำนาจที่หาใดเปรียบมิได้ ”