พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
บทที่ 19 พระราชพิธีเฉลิมพระเกียรติ และตราสัญลักษณ์
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ มหาราช ทรงครองสิริราชสมบัติยั่งยืนนาน พระราชพิธีเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่สำคัญๆ ซึ่งควรจะบันทึกไว้มีดังนี้
1. พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.2493
2. พระราชพิธีรัชดาภิเษก (ครองราชย์ครบ 25 ปี) พ.ศ.2514
3. พระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พ.ศ.2525
4. พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ (60 พรรษา) พ.ศ.2530
5. พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พ.ศ.2531
6. พระราชพิธีกาญจนาภิเษก (ครองราชย์ครบ 50 ปี) พ.ศ.2539
7. พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ (72 พรรษา) พ.ศ.2542

1.พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ความสำคัญของพิธีอยู่ที่ทรงรับน้ำอภิเษก แต่ปัจจุบันถือเอาการ สวมพระมหามงกุฎเป็นสำคัญ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 เป็นพระราชพิธีที่สำคัญที่สุด ในการที่พระมหากษัตริย์ทรงรับพระราชสมบัติตามขั้นตอนแห่งโบราณราชประเพณี ดังนี้
1.1 สำหรับน้ำอภิเษกนั้นมีพิธีการเตรียม คือ
1) ตั้งพิธีทำน้ำอภิเษก ณ พุทธเจดียสถานสำคัญตามภูมิภาค 18 แห่งในราชอาณาจักรไทย
1. จังหวัดสระบุรี ตั้งที่พระพุทธบาท
2. จังหวัดพิษณุโลก ตั้งที่วัดพระศรีมหาธาตุ
3. จังหวัดสุโขทัย ตั้งที่วัดมหาธาตุ อำเภอสวรรคโลก
4. จังหวัดนครปฐม ตั้งที่พระปฐมเจดีย์
5. จังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งที่วัดมหาธาตุ
6. จังหวัดลำพูน ตั้งที่พระธาตุหริภุญชัย
7. จังหวัดนครพนม ตั้งที่พระธาตุพนม
8. จังหวัดน่าน ตั้งที่พระธาตุแช่แห้ง
9. จังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งที่บึงพระลานชัย
10. จังหวัดเพชรบุรี ตั้งที่วัดมหาธาตุ
11. จังหวัดชัยนาท ตั้งที่วัดพระบรมธาตุ
12. จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งที่วัดโสธร
13. จังหวัดนครราชสีมา ตั้งที่วัดพระนารายณ์มหาราช
14. จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งที่วัดศรีทอง
15. จังหวัดจันทบุรี ตั้งที่วัดพลับ
16. จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งที่วัดพระมหาธาตุ อำเภอไชยา
17. จังหวัดปัตตานี ตั้งที่วัดตานีนรสโมสร
18. จังหวัดภูเก็ต ตั้งที่วัดพระทอง
2) น้ำอภิเษกนั้น ข้าหลวงประจำจังหวัดจะได้ให้ราชบุรุษไปทำพลีกรรมตักน้ำที่เป็นสิริมงคล ณ สถานศักดิ์สิทธิ์ในจังหวัดนั้นมาบรรจุภาชนะ แล้วนำเข้าพิธีประกอบด้วยเครื่องสักการะบูชา
3) วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2493 เวลา 16.00 น. ข้าหลวงประจำจังหวัดไปยังพิธีมณฑลจุดธูปเทียน เครื่องนมัสการสมาทานศีลแล้ว ประธานสงฆ์ประกาศเทวดา
4) เวลา 15.06 – 17.14 น.ประธานสงฆ์จุดเทียนชัย ประโคมฆ้องชัยดุริยางค์ แล้วพระสงฆ์ 30 รูป เจริญพระพุทธมนต์จบแล้วจะได้ผลัดเปลี่ยนกันสวดภาณวารต่อไป

5) วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2493 เวลา 10.00 น. ข้าหลวงประจำจังหวัดไปยังมณฑลจุดธูปเทียน เครื่องนมัสการสมาทานศีลแล้ว ประธานสงฆ์ดับเทียนชัยแล้ว เจือน้ำพระพุทธมนต์ลงไปในน้ำอภิเษก แล้วข้าราชการประเคนภัตตาหาร พระสงฆ์ 30 รูป ฉันเสร็จแล้ว ข้าหลวงประจำจังหวัดประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนา
6) เวลา 12.00 น. ตั้งบายศรีเวียนเทียนสมโภชน้ำอภิเษกแล้ว ข้าหลวงประจำจังหวัดทุกจังหวัดจะได้จัด ข้าราชการเชิญน้ำอภิเษกนั้น มายังกระทรวงมหาดไทย เพื่อนำส่งถึงสำนักพระราชวัง ก่อนวันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2493 การแต่งกายเครื่องแบบเต็มยศ
1.2 ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 เวลา 9.30 น . พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ สู่มณฑป พระกระยาสนาน ประทับเหนืออุทุมพรพระราชอาสน์สรงพระมุรธาภิเษก และสมเด็จพระสังฆราชฯ ถวายน้ำพระพุทธมนต์ จากนั้นทรงเครื่องต้นเสด็จออกประทับเหนือพระที่นั่งอัฐทิศ ภายใต้สัตปฎลเศวตฉัตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถวายน้ำอภิเษก และพราหมณ์พิธีถวายน้ำเทพมนต์เวียนไปครบแปดทิศ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ประธานวุฒิสภาถวายพระพรเป็นภาษามคธ และประธานสภาผู้แทนราษฎรถวายพระพรเป็นภาษาไทย พระราชครูวามเทพมุนีถวายนพปฎลมหาเศวตฉัตร แล้วเสด็จพระราชดำเนินสู่พระที่นั่งภัทรบิฐ พราหมณ์ร่ายเวทเปิดศิวาลัยไกลาศ ทูลเกล้าฯ ถวายพระสุพรรณบัฏ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชูปโภค และพระแสงอัษฎาวุธ ด้วยภาษามคธ จากนั้นพระครูวามเทพมุนีถวายพระพรชัยมงคลด้วยภาษามคธ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการพระราชทานความคุ้มครองแก่ประชาชนชาวไทยว่า
“ เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ”
แล้วทรงหลั่งทักษิโณทก ตั้งพระราชสัตยาธิษฐานจะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจปกครองราชอาณาจักรไทย โดยทศพิธราชธรรมจริยา จากนั้นทรงเปลื้องพระมหาพิชัยมงกุฎ พระธำมรงค์รัตนวราวุธ และพระธำมรงค์วิเชียรจินดา จมื่นสิริวังรัตน (เฉลิม คชาชีวะ) เลขาธิการพระราชวังทูลเกล้าฯ ถวายดอกพิกุลทอง พิกุลเงิน ทรงโปรยพระราชทานแก่พราหมณ์ แล้วเสด็จฯ ออกจากพระที่นั่งไพศาลทักษิณสู่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงประเคนปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์ 80 รูป พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา สมเด็จพระสังฆราชถวายอดิเรก สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ถวายพระพรลา แล้วเสด็จขึ้น สมเด็จพระสังฆราชดับเทียนชัย
เวลาบ่าย เสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ให้คณะรัฐมนตรี คณะทูตสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทน และข้าราชการเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล

พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย
ในปีต่อๆ มา ทางราชการเรียกวันที่ 5 พฤษภาคม ว่า “ วันฉัตรมงคล ”ตลอดเวลาที่ผ่านมา คนไทยย่อมจะสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณว่า ได้ทรงรักษาพระปฐมบรมราชโองการไว้อย่างมั่นคงเพียงใด ในยามปกติพระองค์จะเสด็จไปช่วยราษฎรให้ประกอบอาชีพดีขึ้น ในยามราษฎรประสบความทุกข์เพราะมีภัยร้ายแรง เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม พายุใหญ่ พระองค์จะพระราชทานอาหาร และเครื่องใช้ที่จำเป็นให้ตำรวจ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ส่วนพระองค์ นำไปยังที่เกิดเหตุโดยด่วน
พระองค์ทรงระลึกถึงความเดือดร้อนของราษฎร แม้แต่เวลาที่ทรงพระประชวรประทับอยู่ในโรงพยาบาลศิริราช เมื่อเดือนมีนาคม และเดือนกันยายน พ.ศ.2538 วันใดที่อาการพระประชวรทุเลาลงบ้าง
พระองค์จะทรงงานแก้ไขการจราจรติดขัดซึ่งเป็นความทุกข์ใหญ่ยิ่งของชาวกรุงเทพฯ และเมืองใกล้เคียง พระองค์ทรงวางแผนการสร้างถนนวงแหวน สร้างทางยกระดับ สร้างสะพานคู่ขนานลอยฟ้า สร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น และขยายผิวจราจรให้รถเข้าออกกรุงเทพฯ ได้ทั้ง 4 ทิศ เรียกว่า “ จตุรทิศ ” ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าทรงห่วงใยในความทุกข์ของราษฎรยิ่งกว่าความสุขสบายส่วนพระองค์
2. พระราชพิธีรัชดาภิเษก
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2514 เป็น วันครบ 25 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จขึ้นครองราชสมบัติต่อจากสมเด็จ พระบรมเชษฐาธิราชในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนชาวไทยและชาวต่างประเทศแล้วว่า ทั้งๆ ที่ดูเหมือนว่าตามระบอบการปกครองของไทยในปัจจุบันนี้ พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเบาบางลง แต่ที่จริงตรงกันข้ามกลับต้องปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ มากยิ่งขึ้น เพราะสถานการณ์ของโลกและภาวะการณ์ของบ้านเมืองในขณะนี้ไม่เหมือนกับสมัยก่อน แต่ด้วยบุคลิกลักษณะอันอุดมด้วยพระเมตตา พระวิริยะอดทน และพระปรีชารอบรู้ของพระองค์ ได้อำนวยให้พระราชกรณียกิจหนักเบาเหล่านั้นบรรลุผลสำเร็จเป็นอย่างดีเสมอมา และเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนชาวไทยอย่างใหญ่หลวงตลอดเวลา 25 ปี ที่ครองราชสมบัติ มิใช่ว่า “ ดำรงราชสมบัติอยู่นานเสียเปล่า ”
โดยเหตุนี้ประชาชนและรัฐบาลจึงพร้อมใจกันกันขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัด พระราชพิธีรัชดาภิเษกขึ้นถวายเพื่อเป็นมงคลแก่สิริราชสมบัติ เพื่อเป็นการระลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และเป็นมิ่งขวัญแก่ประเทศชาติดังที่เคยจัดมาในรัชกาลที่ 5 มีกำหนด 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 8 ถึง 10 มิถุนายน พ.ศ.2514 จัดว่าเป็นงานฉลองเป็นงานใหญ่ครั้งแรกของรัชกาลปัจจุบัน และได้แบ่งงานออกเป็น 4 งาน ได้แก่
ก. งานพระราชพิธี เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โดยตรง เช่น การเสด็จออกรับคำถวายพระพรชัย จากพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ฝ่ายทหาร พลเรือน และสมาชิกรัฐสภา สำหรับชาวต่างประเทศก็ได้แก่ คณะทูตานุทูต ซึ่งเป็นผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ
ข. งานเฉลิมฉลอง ได้แก่ ผู้แทนศาสนาทุกศาสนาจัดงานพิธีถวายพระพรชัยมงคล การตกแต่งโคมไฟทั่วประเทศ ข้าราชการและประชาชนทุกจังหวัด ทำพิธีถวายพระพรชัยมงคล มูลนิธิ เอกชน และสมาคมต่าง ๆทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศล กองทัพไทยจัดงานสวนสนาม และรัฐบาลจัดงานสโมสรสันนิบาต เพื่อถวายพระพรชัยมงคล

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพิธีก่อพระฤกษ์พระที่นั่งอนัตสมาคม
เช้าวันพุทธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2451 ระหว่างพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก (สมโภชราชสมบัติ 41 ปี)
ค. งานกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ ได้แก่ การจัดทำหนังสือที่ระลึก การประกวดแต่งคำประพันธ์เฉลิมพระเกียรติ การพระราชทานอภัยโทษผู้ต้องขัง การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ การสังคมสงเคราะห์ การตั้งมูลนิธิ และกองการกุศลต่าง ๆ

ง. งานรัชดาภิเษกอนุสรณ์ เช่นการสร้างวัตถุมงคลและถาวรวัตถุ ได้แก่พระพุทธรูป เหรียญรัชดาภิเษก เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก ส่วนการสร้างสถานที่ระลึก ได้แก่ ถนน เช่น ถนนรัชดาภิเษก โรงเรียนในต่างจังหวัด สระน้ำ วัด และสะพาน เป็นต้น
ส่วนราชการ องค์การ สมาคม บริษัทห้างร้านต่างๆ และเอกชนได้ร่วมใจร่วมมือกันจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองพระราชพิธีนี้ ดังรายละเอียดดังนี้
วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2514
1. ทหาร ตำรวจ และหน่วยอาสาสมัครกระทำการสวนสนาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทูลเกล้าฯ ถวายดอกไม้ธูปเทียนทอง และกราบบังคมทูลถวายพระพร
2. คณะรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา และเหรียญรัชดาภิเษก
3. เสด็จฯ ทรงวางศิลาฤกษ์การสร้างถนนวงรอบ
วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2514
1. เสด็จฯ ออกจากพระที่นั่งอมรินทรวินิฉัย เพื่อทรงรับคำถวายพระพรจากพระบรมวงศานุวงศ์ คณะรัฐมนตรี ข้าราชการและสมาชิกรัฐสภา มีพระราชดำรัสตอบ
2. เสด็จฯ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล พระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชชนก และพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอนันทมหิดล ณ วัดสุทัศน์เทพวราราม
วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2514
1. นายกรัฐมนตรี และท่านผู้หญิงพร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีและภรรยา เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อถวายพระพรและทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึก
2. คณะทูตานุทูตเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อถวายพระพรและทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึก
3. รัฐบาลจัดถวายพระกระยาหาร ณ ทำเนียบรัฐบาล

วัดสุทัศน์เทพวราราม
ส่วนงานที่นอกเหนือไปจากพระราชพิธีดังกล่าว ก็มีกิจกรรมต่างๆ อยู่เป็นจำนวนมากไม่อาจนำมาพรรณนาไว้ ณ ที่นี้ให้หมดสิ้นได้ จึงขอนำเอาแต่กิจกรรมใหญ่ๆ มารวมกล่าวไว้เป็นพวกๆ ดังนี้
1. ขอพระราชทาน ทูลเกล้าฯ ถวายพระยศ พลตรี พลเรือตรี และพลอากาศตรี แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี (สมเด็จพระศรีนครินทราฯ บรมราชชนนี) ขอพระราชทานยศร้อยโท เรือโท และเรืออากาศโท ถวายสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ ขอพระราชทานเลื่อนพระยศพันเอก (พิเศษ) พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุยุคล เป็นพลตรี
2. จัดทำเหรียญรัชดาภิเษก และเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกด้วยทองคำและเงินออกจำหน่าย
3. จัดประกวดเรียงความร้อยแก้ว เนื่องในพระราชพิธีรัชดาภิเษก
4. จัดพิมพ์ดวงตราไปรษณียากรที่ระลึกเป็นพิเศษ
5. เพื่อเป็นที่ระลึกในพระราชพิธีนี้ได้สร้างวิทยาลัยครู 3 แห่ง วิทยาลัยพลศึกษา 1 แห่งโรงเรียนนาฎศิลป์ 1 แห่ง โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ 3 แห่ง โรงเรียนมัธยมประจำทิศทั้งแปดกับในจังหวัดพระนครธนบุรีอีก 1 แห่ง รวม 9 แห่ง และโรงเรียนอนุบาล 4 แห่ง
6. จัดให้มีการมหรสพ 3 วัน (วันที่ 8-10 มิถุนายน พ.ศ.2514) ให้มีการสร้างซุ้ม และตกแต่งสถานที่ราชการ และชักชวนให้ประชาชนประดับบ้านเรือนของตนเองด้วยธงทิวโคมไฟ ให้ความสะดวกแก่ประชาชนที่ต้องการเข้าร่วมงานนี้ในจังหวัดพระนครและธนุบรี
7. ขอให้วัดในพุทธศาสนา และในศาสนาอื่นๆ กระทำพิธีถวายชัยมงคลและย่ำฆ้องกลองและตีระฆังในเวลามหาฤกษ์ของวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2514
8. บูรณะปฎิสังขรณ์วัด เพื่อปูชนียสถานประจำทิศทั้งแปด กับในจังหวัดพระนคร ธนบุรี1 แห่ง รวม 9 แห่ง
9. สำนักราชเลขาธิการจัดพิมพ์ประมวลพระราชดำรัส และพระบรมราโชวาทที่พระราชทานในโอกาสต่างๆ และสถาบันอื่นๆ ได้จัดพิมพ์หนังสือและเอกสารในรูปอื่นๆ เพื่อเป็นที่ระลึกในพระราชพิธีรัชดาภิเษก อีกหลายฉบับออกเผยแพร่
10. ตั้งมูลนิธิรัชดาภิเษก “ ทุนวิจัยรัชดาภิเษก ร.9”
11. จัดแสดงภาพฝีพระหัตถ์ทั้งที่เป็นภาพเขียนและปั้น ณ ท้องพระโรงวังท่าพระ
12. สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย มีแผนงานจะสร้างพระพุทธรูปที่ระลึก 10,000 องค์
นอกจากนั้นยังมีรายการอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งล้วนแต่เป็นพยานให้เห็นถึงความสำนึก ในพระมหากรุณาธิคุณ และชื่นชมยินดีในความยั่งยืนในรัชกาลนี้ทั้งสิ้น

วังท่าพระ
3. พระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี

เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ที่ได้ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ทรงทำนุบำรุงประเทศชาติให้มีเอกราชเจริญรุ่งเรืองสืบมา และแสดงถึงความมั่นคง และเสถียรภาพของพระราชอาณาจักรไทย เสริมสร้างพลังสามัคคี และสมานฉันท์ในหมู่ปวงชนชาวไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดการในส่วนที่จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศล พระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ และฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยอนุโลมตามราชประเพณีที่มีมาแล้วในรัชกาลก่อน ทั้งให้สอดคล้องพอเหมาะพอควรแก่กาลสมัยในปัจจุบันดังนี้
- วันอาทิตย์ที่ 4 เมษายน พ.ศ.2525
เวลา 16.30 น. พระราชกุศลทักษิณานุประทาน ณ พระทั่งอมรินทรวินิจฉัย - วันจันทร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ.2525
เวลา 8.00 น. พระราชพิธีบวงสรวงบูรพกษัตริยาธิราชเจ้า ณ ท้องสนามหลวง
เวลา 17.00 น. พระราชพิธียกช่อฟ้าพระอุโบสถฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม - วันอังคารที่ 6 เมษายน พ.ศ.2525
เวลา 10.30 น. เลี้ยงพระและเวียนเทียนฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
เวลา 16.30 น. วันที่ระลึกมหาจักรีถวายบังคมพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ณ ปฐมบรมราชานุสรณ์ - วันพุทธที่ 7 เมษายน พ.ศ.2525
เวลา 10.30 น. พระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท - วันศุกร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ.2525
เวลา 19.00 น. งานมหามงคลสโมสรสันนิบาต - วันพุทธที่ 21 เมษายน พ.ศ.2525
เวลา 10.00 น. พระราชพิธีสมโภชหลักเมือง ณ ศาลหลักเมือง

พระสยามเทวาธิราช

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

ศาลหลักเมือง
4. พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ (60 พรรษา)
ในศุภวาระที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2530 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จออกมหาสมาคมรับการถวายชัยมงคลาภิเษก ณ ท้องสนามหลวง โดยนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา และประธานศาลฎีกาจะกราบบังคมทูลพระกรุณาถวายชัยมงคล และถวายน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ที่พลีกรรมจากแหล่งน้ำสำคัญทุกจังหวัด ทั่วพระราชอาณาจักร ดังรายละเอียดดังนี้
เนื่องในวาระสำคัญนี้ รัฐบาลได้มอบหมายให้กรมศิลปากร ปลูกสร้างพระที่นั่งชัยมังคลาภิเษก ณ บริเวณท้องสนามหลวง มีนายประเวศ ลิมปรังษี ขณะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองหัตถศิลป์เป็นผู้ออกแบบ (ปัจจุบันคือ สถาบันศิลปกรรม) โดยอาศัยรูปลักษณะจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แต่ทำเป็นพระที่นั่งโถงอาคารไม้ปราสาทจตุรมุข ยอดทรงมณฑป องค์พระที่นั่งทาสีขาวภายในประดับลวดลายฉลุสีทอง ภายนอกเป็นลายซ้อนไม้ ช่อฟ้าใบระกาเป็นสีทอง เพื่อใช้เป็นสถานที่กราบบังคมทูลเชิญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 รับการถวายชัยมงคล เฉลิมพระเกียรติและถวายน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นน้ำสรงมูรธาภิเษก


พระที่นั่งชัยมังคลาภิเษก
สำหรับน้ำที่นำมาทูลเกล้าฯ ถวาย เป็นน้ำสรงมูรธาภิเษก ในวันเสด็จออกมหาสมาคมนั้นกระทรวงมหาดไทย ได้ประกอบพิธีพลีกรรม ตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ หรือแหล่งน้ำที่จังหวัดเคยใช้ทำน้ำศักดิ์สิทธิ์ในพระราชพิธี บรมราชาภิเษกแต่ละสมัยและแม่น้ำสำคัญในจังหวัด ประกอบพิธีเสกทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ในวันและเวลา เดียวกันพร้อมทั่วทุกจังหวัดคือ ประกอบพิธีกรรมตักน้ำจากสถานที่ในวันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2530 ประกอบพิธีเสกน้ำศักดิ์สิทธิ์ ณ พระอารามสำคัญของจังหวัดในวันที่ 11 พฤศจิกายน นำส่งมายังมหาดไทย เพื่อประกอบรัฐพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ณ พระวิหารหลวงวัดสุทัศน์เทพวราราม ในวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2530
สำหรับพระราชพิธีและพิธีสำคัญต่างๆ ที่จัดขึ้นเนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบนี้ ได้แก่
พระราชพิธีหล่อพระพุทธรูปประจำพระชนมวารและพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษามหามงคล 5 รอบ (10 สิงหาคม พ.ศ.2530)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีนี้ขึ้น ณ เกยหน้าพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามในวันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2530 โดยทรงเททองหล่อพระพุทธรูปทั้งสองตามเวลาพระฤกษ์ 17.49 น. ถึง 18.09 น.
พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร ในวาระมหามงคลครั้งนี้เป็นปางห้ามญาติ ซึ่งเป็นปางประจำวันพระบรมราชสมภพหล่อด้วยเงินกะไหล่ทองสูง 9 นิ้ว ส่วนพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาเป็นแบบ พระพุทธนวราชบพิตรแต่เป็นปางสมาธิกะไหล่ทอง ขนาดหน้าตัก 18 นิ้ว โดยนายไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ เป็นผู้ปั้นหุ่นพระพุทธรูปถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรวจพุทธลักษณะและแก้ไข นายแก้ว หนองบัว ช่างโรงหล่อธรรมรังสี แขวงบ้านช่างหล่อ เป็นผู้หล่อพระพุทธรูป

พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค (16 ตุลาคม พ.ศ.2530)
การเสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐินครั้งนี้ เป็นการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค ( ใหญ่ ) ตามแบบอย่างเมื่อครั้งงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ประกอบด้วยเรือในกระบวน 51 ลำ โดยมีเรือสุพรรณหงส์ทอดบัลลังก์กัญญาเป็นเรือพระที่นั่งทรง เรืออเนกชาติภุชงค์ทอดบัลลังก์กัญญา เป็นเรือพระที่นั่งรอง และเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชตั้งบุษบกประดิษฐานผ้าไตรสำหรับองค์พระกฐิน กำลังพลประจำเรือ 2,069 คน ใช้เส้นทางเสด็จจากท่าวาสุกรีล่องตามแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังวัดอรุณราชวราราม และเสด็จกลับที่ท่าราชวรดิษฐ์
พระราชพิธียกนพปฎลเศวตฉัตรยอดพระที่นั่งชัยมงคลาภิเษก (4 พฤศจิกายน พ.ศ.2530)
เป็นพระราชพิธียกยอดพระที่นั่ง ซึ่งเป็นพุ่มหรือฉัตรตามประเพณี โดยมีวัตถุประสงค์ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือผู้เป็นประธานรับผิดชอบการสร้างได้มีโอกาสตรวจตรา ความเรียบร้อย ของการก่อสร้าง ครั้งนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมงกุฎราชกุมาร เสด็จฯ แทนพระองค์
อนึ่งในวันฉัตรมงคลที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2530 ในท่ามกลางสโมสรสันนิบาต ณ ทำเนียบรัฐบาล ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ประกาศความสมานฉันท์ของรัฐบาลและปวงชนชาวไทยขอพระราชทาน พระบรมราชานุญาต ถวายพระราชสมัญญา “ มหาราช ” แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้
5. พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก
พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกคือพระราชพิธีที่จัดขึ้น ในวาระซึ่งพระมหากษัตริย์ผู้ทรงครองราชสมบัติในขณะนั้น มีเวลาปกครองประเทศนานกว่าพระมหากษัตริย์องค์อื่นในอดีต ทั้งนี้มิได้จำกัดจำนวนปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งได้ประกอบพระราชพิธีนี้ใน ร.ศ.126 (พ.ศ.2450) เมื่อพระองค์ได้ครองราชย์ย่างเข้าปีที่ 40
หากนำเวลาครองราชย์ของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยามาเปรียบเทียบแล้ว จะปรากฏว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ซึ่งมีเวลาครองราชย์ยืนนานที่สุดในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และจำนวนปีใกล้เคียงกับรัชกาลที่ 5 ดังที่ภาษาราชการเรียกว่า “ เสมอด้วยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2” ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำริที่จะเสด็จไปยังพระนครศรีอยุธยา เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2
ตลอดจนพระมหากษัตราธิราชทุกพระองค์แห่งกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี ได้เสด็จพระราชดำเนินจากกรุงเทพพระมหานครไปประทับแรมที่อยุธยา ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 2 ธันวาคม ร.ศ.126 ทรงประกอบพระราชพิธีบวงสรวงอดีตพระมหากษัตราธิราช และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลตามโบราณราชประเพณีทุกประการ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการและประชาชน ต่างก็ทราบว่าเป็นวาระมงคลของพระองค์ จึงพร้อมใจกันจัดงานเฉลิมพระเกียรติในโอกาสนี้ด้วย คือจัดข้าราชการและประชาชนเข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคล มีการสมโภชโดยจัดมหรสพโบราณ การละเล่นและกีฬาพื้นเมือง เช่น ระเบง โมงครุ่ม รำโคม สิงห์โตมังกร กระตั้วแทงควาย แทงวิไสย เป็นต้น ส่วนในเวลากลางคืนมีการแข่งขันการจุดดอกไม้เพลิง หลายชนิด หลากสีเป็นจำนวนถึง 4,430 ชุด เป็นงานยิ่งใหญ่ด้วยเหตุว่า เหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นได้โดยยาก เพราะระหว่างเวลา 556 ปี เกิดขึ้นเพียง 2 ครั้ง เท่านั้น ในปีต่อมาคือ ร.ศ.127 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครองราชสมบัติครบ 40 ปีบริบูรณ์ และย่างเข้าปีที่ 41 จึงนับได้ว่ามีเวลาครองราชย์ยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ที่ผ่านมา
การจัดพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกในปี ร.ศ.126 นั้น ถือได้ว่าเป็นงานสำคัญใหญ่ยิ่ง มีการเตรียมงานล่วงหน้าจัดขึ้นก่อนเวลา 1 ปี ประธานจัดงานคือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร (รัชกาลที่ 6) มีคณะกรรมการ ประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ คณะกรรมการมีมติว่าจะหาเงินถวายเพื่อให้ทรงใช้ตามพระราชหฤทัย และราษฎรทุกคนซึ่งมีความจงรักภักดี ควรจะได้มีส่วนร่วมด้วย ดังนั้น ในการบอกบุญจึงเปิดโอกาสให้ราษฎรได้ถวายเงินตามฐานะของตน คือระบุให้ถวายตั้งแต่ 1 สตางค์ขึ้นไปและให้จดชื่อไว้ทุกคน จำนวนเงินที่ได้รับมาทั่วประเทศจึงได้มากมาย เกินคาด ระหว่างเดือนมีนาคม ร.ศ.125 ถึงต้นพฤศจิกายน ร.ศ.126 นั้น พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงประเทศฝรั่งเศส ได้เสด็จไปที่พระราชวังแวร์ซาย ทรงพอพระราชหฤทัยพระบรมรูปทรงม้าของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14

พระบรมรูปทรงม้า ภาพนี้ถ่ายเมื่อ พ.ศ.2540 ในสตูดิโอของจอร์จ เซาโล ณ กรุงปารีส ในภาพจะเห็นทั้งปฏิมากรและบรรดาผู้ช่วย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จ พระราชดำเนินเยือนสตูดิโอแห่งนี้เพื่อประทับ เป็นแบบ ให้เซาโล ระหว่างการเสด็จฯ ประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2449
ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่ลานกว้างหน้าพระราชวังแห่งนั้น และทรงมีพระราชปรารภว่า ถ้าคณะกรรมการจะสร้าง พระบรมรูป เช่นนี้ถวายในพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ก็จะต้องด้วยพระราชประสงค์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ( รัชกาลที่ 6) จึงทรงนำพระราชปรารภเข้าสู่ที่ประชุมกรรมการ และตกลงกันว่าถ้าสร้าง พระบรมรูปทรงม้า ดังกล่าว ประดิษฐานไว้ที่ลานหน้า พระที่นั่งอนันตสมาคม
ซึ่งจะก่อสร้างขึ้นเป็นตึกแบบยุโรป คงจะงดงามเหมาะสมกับสถานที่ยิ่งนัก สำหรับราคาค่าหล่อพระบรมรูปนั้น ประมาณสองแสนบาทในขณะนั้น คณะกรรมการได้เงินมาแล้วหนึ่งล้านสองแสนบาทเศษ มีเงินเกินกว่าที่ต้องการถึงหกเท่า องค์ประธานจัดงานจึงตกลงติดต่อให้ช่างหล่อลงมือทำงานได้ทันที นายช่างหล่อจึงมีโอกาสได้เข้าเฝ้า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่ยังประทับอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ได้มีโอกาสปั้นหุ่นเปรียบกับพระองค์จริง ด้วยเหตุนี้ พระบรมรูปทรงม้าจึงมีพระลักษณะงดงามคล้ายพระองค์ มีเวลาทำอย่างไม่รีบเร่ง และเสร็จทันเวลาที่กำหนดให้

พระที่นั่งอนันตสมาคม
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าพระเจ้าอยู่หัว ทรงทราบถึงความจงรักภักดีของบุคคลทุกฝ่ายที่จัดงานสมโภชถวาย จึงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้จัดคณะบุคคลต่างๆ เข้าเฝ้ารับเสด็จตามสถานที่เสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชพิธี และเสด็จพระราชดำเนินไปตามสถานที่ต่างๆ ที่ได้จัดงานถวาย ตลอดเวลาที่มีคณะบุคคลเข้าเฝ้ารับเสด็จ จะโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลี้ยงอาหารว่างและอาหารค่ำ ตามความเหมาะสมของสถานที่และเวลาที่เข้าเฝ้า ในระหว่างงานนี้ มีเหตุการณ์ที่สมควรนำมาบันทึกเพื่อเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์คือ วันที่ 11 พฤศจิกายน ร.ศ.127 เวลา 7.29 น. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินวางศิลาฤกษ์ก่อราก พระที่นั่งอนันตสมาคม

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ประทับยืนใต้ฉัตร 9 ชั้น) ทรงชักเชือกเปิดพระบรมรูปทรงม้า
วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2451 ระหว่างพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก
ครั้นต่อมาเวลา 19.30 น. เสด็จมาที่บริเวณนี้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อทรงเปิดพระบรมรูปทรงม้า เป็นพระราชานุสาว – รีย์แห่งแรกในประเทศที่สร้างขึ้นในขณะที่พระมหากษัตริย์พระองค์นั้นยังทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่ และคำว่า “ ปิยมหาราช ” ก็ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในแผ่นจารึกที่ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้หลังจาก หักค่าใช้จ่ายในการสร้างพระบรมรูปทรงม้าแล้ว ยังมีเงินเหลืออยู่ 982,672.47 บาท มิได้ทรงนำไปใช้จ่ายจึงอยู่ครบตามจำนวนนี้ จนเสด็จสวรรคตในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงนำเงินจำนวนนี้ไปขยายกิจการ โรงเรียนข้าราชการพลเรือน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มสอนวิชาต่างๆ อีกหลายวิชาจนเข้าลักษณะเป็นมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังขยายพื้นที่ให้กว้างขวางกว่าเดิม และพระราชทานนามว่า “ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ” เมื่อ พ.ศ.2459 ที่กล่าวมาแล้วอย่างย่อๆ คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเนื่องในพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ครั้งที่ 2 เมื่อ 80 ปีมาแล้ว

ตึกบัญชาการซึ่งเป็นอาคารหลังแรก ของมหาวิทยาลัย ออกแบบโดยนายเอ็ดเวิร์ด ฮีลี สร้างเมื่อ พ.ศ.2456 ปัจจุบัน คือตึกอักษรศาสตร์ 1
สำหรับ พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ครั้งที่ 3 ได้มีขึ้นในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2531 อันเป็นพระราชพิธี เนื่องในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงครองราชย์ยาวนานกว่า รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งรวมเวลาได้ 43 ปี ดังนั้นเมื่อถึงวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2531 เป็นต้นไป จึงเป็นมหามงคลสมัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มหาราช ทรงดำรงรัชยืนนานกว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดๆ ที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ไทย รายละเอียดของพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก มีดังนี้
วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2531 การพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ทรงถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย แล้วเสด็จฯ ไปยังหอพระราชกรมานุสรและหอพระราชพงษานุสร ทรงถวายเครื่องราชสักการะพระพุทธรูปประจำรัชกาลของสมเด็จพระมหากษัตริยาราชทุกพระองค์ในอดีต
วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2531 พระราชพิธีสมโภชสิริราชสมบัติรัชมังคลาภิเษก ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ทุกรัชกาลประดิษฐานที่พระแท่นมุก และเครื่องราชกกุธภัณฑ์ พระแสงราชศรัตราวุธประจำรัชกาล พระกรัณฑ์ทองคำลงยาบรรจุดวงพระบรมราชสมภพ

ซ้าย ด้านหลังของพระอุโบสถ(ด้านตะวันตก) ส่วนตรงกลางคือ หอพระราชกรมานุสร
พระสุพรรณบัฏพระปรมาภิไธย ประดิษฐานที่พระแท่นราชบัลลังก์ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญ พระสยามเทวาธิราชออกประดิษฐานที่พระที่นั่งมุขเด็จ ตั้งเครื่องบวงสรวงสังเวย แล้วพระครูพราหมณ์ อ่านประกาศบวงสรวง นอกจากนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะพราหมณ์เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภชสิริราชสมบัติรัชมังคลาภิเษก
วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2531 ได้เสด็จไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพื่อบวงสรวงสังเวย และบำเพ็ญพระราชกุศลถวายอดีตพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ โดยอนุโลมตามแบบเมื่อครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว ซึ่งการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลเรียกว่า พระราชพิธีรัชมงคล การประกอบพระราชพิธีบวงสรวงสังเวยครั้งนี้ ได้อัญเชิญพระพุทธรูปปางประจำรัชกาลพระเจ้าอู่ทองประดิษฐานเป็นองค์ประธาน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายภาวาส บุนนาค รองราชเลขาธิการขณะนั้น เป็นผู้อ่านประกาศพระบรมราชโองการสดุดีบวงสรวง
6. พระราชพิธีกาญจนาภิเษก

วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2539 เป็นวาระมหามงคลที่ประชาชนชาวไทยได้ปลาบปลื้มอีกวาระหนึ่ง เนื่องด้วยเป็นมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จดำรงสิริราชสมบัติครบ 50 ปี งานนี้เป็นงานครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของชาติไทย เพราะตลอดเวลากว่า 700 ปี ยังไม่เคยมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดทรงครองราชย์ถึง 50 ปี
รัฐบาลได้จัดงานเฉลิมฉลองเพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในมหามงคลวโรกาสนี้ และได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับ ชื่อของงานเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อการจัดงานและชื่อพระราชพิธีว่า การจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พระราชพิธีกาญจนาภิเษก
ภาคภาษาอังกฤษ ให้รวมเรียกชื่อเดียวกันว่า “ The Fiftieth Anniversary (Golden Jubilee) Celebrations of His Majesty’s Accession to the Throne ”
ในการที่ทรงใช้ Golden Jubilee นี้ทรงรับพระราชนิยมตามพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงจัดงานครบ 25 ปี วันครองราชย์ เมื่อจุลศักราช 1255 (ตรงกับ พ.ศ.2436) โดยมีพระราชดำริว่า การที่พระเจ้าแผ่นดินชาวตะวันตก ฉลองการครองราชย์ครบ 25 ปี และ 50 ปี ที่เรียกว่า Silver Jubilee และ Golden Jubilee นั้น เป็นพิธีที่ดี เป็นการทำเพื่อความสิริมงคล สมควรรับหลักการมาประกอบกับพระราชพิธีไทยได้ นอกจากนี้ยังทรงแปลคำ Silver Jubilee อย่างไพเราะ พระราชพิธีรัชดาภิเษก รัชดา แปลว่า เงิน อภิเษก ตามศัพท์เดิมหมายถึง “ การรดน้ำ ” แต่ภายหลังนำมาใช้เปลี่ยนความหมายเป็น พระราชพิธีขึ้นครองราชสมบัติของพระเจ้าแผ่นดิน โดยที่การจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปีนี้เป็นครั้งแรก ยังไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของชาติไทย คณะกรรมการจึงดำริที่ให้นำแนวทางในการจัดงานพระราชพิธีรัชดาภิเษกเป็นแบบอย่าง โดยแบ่งงานเป็น 4 ส่วน คือ 1. งานพระราชพิธี 2. งานเฉลิมฉลองกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ 3. งานสร้างสิ่งอนุสรณ์ 4. งานสร้างถาวรวัตถุ
ระยะการจัดงาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชกระแสรับสั่ง ให้งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2538 อันเป็นวันขึ้นต้นปีที่ 50 ในรัชกาลปัจจุบัน ( ตามปฏิทินหลวง ) และจะให้สิ้นสุดในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2539 หรือให้เลยไปจนถึงสิ้นปี 2539 ก็ได้
พระราชพิธีกาญจนาภิเษก กำหนดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ 8-12 มิถุนายน พ.ศ.2539 หลังจากพิธีดังกล่าวได้มีพระราชพิธีอื่นที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธีโดยสังเขปคือ
วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2539 พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอนันทมหิดลและพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิฉัย
วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2539 พระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระมหากษัตริย์ในอดีตและเสด็จฯ ออกมหาสมาคม ถวายพระพรชัยมงคล ณ พลับพลามณฑลพิธีท้องสนามหลวง
ในเวลาค่ำมีพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล ณ ท้องสนามหลวง และการแสดงมหรสพสมโภช พร้อมทั่วประเทศ
วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2539 คณะทูตต่างประเทศและผู้แทนฝ่ายกงสุลถวายพระพรชัยมงคล ณ ท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท


วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ.2539 พิธีงานสโมสรสันนิบาตเฉลิมพระเกียรติและถวายพระพรชัยมงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ณ ทำเนียบรัฐบาล
วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2539 พิธีสวนสนามแสดงแสนยานุภาพของกองทัพไทย บริเวณถนนราชดำเนิน
วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2539 พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารคจากท่าวาสุกรีไปยังท่าวัดอรุณราชวราราม
นอกจากจะมีงานพระราชพิธีตามที่กำหนดไว้แล้ว รัฐบาลในสมัยนั้นได้ให้ข้อคิดแก่ประชาชน คือ “ กิจกรรมต่าง ๆ ที่หน่วยราชการ เอกชน มูลนิธิ ได้กระทำมาแล้วบ้าง เช่น การปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ การจัดงานการกุศลหาเงินเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศล การจัดทำหนังสือที่ระลึก และการจัดงานสังคมสงเคราะห์ต่างๆ สำหรับพสกนิกร และเยาวชนทั้งหลาย ซึ่งต้องการจะแสดงความปีติยินดีสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหากมิได้มีโอกาสจะร่วมงานต่างๆ ดังกล่าวมาแล้วทางที่ดีที่สุดคือประพฤติตนตาม ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตักเตือนอยู่เสมอ คือ
คนไทยต้องรู้รักสามัคคี
คนไทยต้องรู้จักหน้าที่ ซึ่งมีต่อประเทศชาติ
คนไทยต้องรู้จักการเสียสละความสะดวกสบายของคนส่วนน้อย เพื่อประโยชน์ของคนส่วนรวม
คนไทยต้องรู้จักการให้ด้วยสุจริตใจ เช่นการให้น้ำใจ การให้อภัย การให้ความร่วมมือเพื่อประสานประโยชน์ของชาติ
ในวาระอันเป็นมหามงคลสมัยนี้ ขอให้คนไทยทุกคนร่วมใจกันประพฤติตนตามที่ทรงตักเตือนไว้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐจะทรงปรารถนาไม่น้อยไปกว่าคำถวายพระพรชัยมงคล
ข้อคิดนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนน่าจะนำมาประพฤติปฏิบัติให้เป็นนิสัยตลอดไป เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และเป็นผลดีต่อประเทศชาติสืบไป
สำหรับ ตราสัญลักษณ์ ประจำงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปีนี้ คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฯ มุ่งหมายให้ตราสัญลักษณ์ฯ สื่อความหมาย ดังนี้
1. เป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมราชวงศ์จักรี
2. จะต้องแสดงให้ประจักษ์ในศิลปวัฒนธรรมของประเทศไทย ตลอดทั้งเอกลักษณ์ของชาติอย่างถูกต้อง
3. แสดงให้ประจักษ์ในความภาคภูมิที่ชาวไทยได้มีพระมหากษัตริยาธิราช ผู้ทรงพระปรีชาญาณยิ่ง และทรงปกครองประชาชนชาวไทยในระบอบประชาธิปไตยอย่างร่มเย็นเป็นสุขมาถึง 50 ปี
4. แสดงให้ประจักษ์ในความเป็นชาติที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน
ตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี

ออกแบบโดย นางสาววิยะดา เจริญสุข
ความหมายของตราสัญลักษณ์ฯ
แบบตราสัญลักษณ์ที่ชนะการประกวด และได้รับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้เป็นสัญลักษณ์ ประจำพระราช พิธีกาญจนาภิเษก มีส่วนประกอบที่สื่อความหมาย และแสดงออกถึงเอกลักษณ์ของชาติหลายประการ กล่าวคือ
ตราพระราชลัญจกร อันเป็นตราประจำพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เป็นหลักสำคัญ มีตราพระบรมราชวงศ์จักรี และพระมหามงกุฎอยู่ด้านบน เป็นเครื่องแสดงถึงความเป็นพระมหากษัตริย์ แห่งราชวงศ์จักรี มีพานเครื่องสูง 2 ชั้น ที่มักอยู่ในมโนภาพของผู้คนทั่วไป เมื่อนึกถึงสัญลักษณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่เป็นเครื่องหมาย แสดงถึงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยมีช้าง 2 เชือก เทินตราอยู่ภายใต้เศวตฉัตร ซึ่งสามารถตีความหมายได้หลายประการ ดังนี้
ความหมายที่ 1 ช้างเป็นพาหนะ ของพระเจ้าแผ่นดิน เป็นเหมือนข้าช่วงใช้ของพระมหากษัตริย์ จึงเปรียบได้กับประชาชน ซึ่งเป็นเหมือนข้ารับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท ในสัญลักษณ์จึงเสมือนพสกนิกรเทิดทูน และเชิดชูองค์พระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์จักรี ขณะเดียวกันก็ได้อยู่เย็นเป็นสุขภายใต้ร่มฉัตร
ความหมายที่ 2 ช้างเผือกเป็นสัตว์คู่บารมีขององค์พระมหากษัตริย์ อีกทั้งตามความเชื่อทางพราหมณ์ ช้างเผือกที่มีลักษณะตรงตามตำราจะมีส่วนช่วยหนุนให้เกิดทั้งแสนยานุภาพ และพระปรีชาสามารถความรอบรู้แก่องค์พระมหากษัตริย์ จึงแสดงถึงความเป็นผู้มีบุญญาธิการและทรงพระปรีชาญาณ
ความหมายที่ 3 ช้างมีความเป็นมาคู่กับประวัติศาสตร์ของชาติมาโดยตลอดอีกทั้งเป็นสัญ ลักษณ์ที่เคยใช้ในธงชาติไทยในอดีต และเป็นสัตว์ที่มีอายุยืนยาว จึงเปรียบกับประเทศไทย ซึ่งมีอายุและประวัติศาสตร์ยาวนานเช่นกัน
เหตุผลประกอบอื่นๆ ช้างเป็นหนึ่งในสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ที่สมควรช่วยกันอนุรักษ์ไว้ การนำมาใช้ในสัญลักษณ์ ก็หวังผลต่อเนื่องที่อาจจะช่วยกระตุ้นให้คนมองเห็นถึงความสำคัญของช้าง และหากแม้นว่าวันข้างหน้าช้าง สูญพันธุ์ไป อย่างน้อยก็มีรูปพรรณและความเป็นมาของช้าง เหลือไว้ในสัญลักษณ์ให้คนรุ่นหลังระลึกถึงกันบ้าง
ส่วนล่างสุดของตราสัญลักษณ์ มีแถบริบบิ้นที่ปรากฏตัวอักษรบ่งบอกว่าเป็นสัญลักษณ์ ประจำงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในส่วนนี้คณะกรรมการฯ มิได้ระบุว่าต้องมี แต่ผู้ออกแบบตราสัญลักษณ์ฯ นี้เห็นว่าหากมีจะช่วยสื่อความเข้าใจให้เด่นชัดมากยิ่งขึ้น
7. พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ (72 พรรษา)
วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2542 นับเป็นวันมหามงคลสำคัญยิ่งใหญ่ของแผ่นดินไทยอีกวาระหนึ่ง ที่ประชาชนชาวไทย ได้ร่วมกันถวายความจงรักภักดี เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิม พระชนมพรรษา 6 รอบ ระยะเวลาของการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2541 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2541 โดยสาธารณชนทั่วไปได้ประดับ ตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติฯ ตามสถานที่ของหน่วยงาน อาคารบ้านเรือน และสถานที่ที่เหมาะสม เพื่อร่วมเฉลิมฉลองและถวายความจงรักภักดี
ความหมายของตราสัญลักษณ์
ความหมายตามนัยศิลปะแห่งดวงตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม พ.ศ.2542 มีดังนี้
อักษรพระปรมาภิไธย ภปร ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎอยู่ตรงกลางตราสัญลักษณ์ฯ ประดิษฐานอยู่เหนือพระที่นั่งอัฐทิศ เป็นการแสดงความหมายว่า “ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นศูนย์รวมดวงใจของคนไทยทั้งชาติ ทรงเป็นที่ยึดเหนี่ยวและเคารพบูชาอย่างสูงสุดของประชาชน ”
สีเหลืองของอักษรพระปรมาภิไธย ภปร เป็นสีประจำวันพระราชสมภพ (วันจันทร์) อยู่บนพื้นวงกลมสีน้ำเงิน ซึ่งหมายถึงพระมหากษัตริย์
ล้อมรอบด้วยตราพระแสงจักรและมีเลข 9 บนอักษรพระปรมาภิไธย ภปร ซึ่งหมายถึงทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ มีสัปตปฎลเศวตฉัตรประกอบอยู่สองข้าง ซ้าย – ขวา และมีนพปฎลมหาเศวตฉัตรประดิษฐานอยู่เบื้องบนสุด
เส้นกรอบรอบนอกที่ออกแบบให้มีลักษณะเป็นสี่แฉกหรือสี่ส่วน แทนประชาชนชาวไทยทั่วทุกภาคของประเทศที่อยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารของพระองค์ ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข สีพื้นจึงเป็นโทนสีเขียวอันแสดงถึงความสงบร่มเย็นและอุดมสมบูรณ์
ดอกบัวสี่ดอก แทรกตรงกลางระหว่างแฉกทั้งสี่ แสดงความหมายเป็นการเทิดทูนบูชาในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ
รัศมีสีทองโดยรอบตราสัญลักษณ์ฯเปรียบได้ดังพระบุญญาบารมี พระมหากรุณาธิคุณ และน้ำพระราชหฤทัยที่แผ่ไพศาลไปทั่วทุกทิศทั้งในและต่างประเทศทั่วโลก ยังความปลาบปลื้มมาสู่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า เบื้องล่างตราสัญลักษณ์ฯ ออกแบบเป็นแพรแถบสีน้ำเงินแสดงข้อความพระราชพิธีมงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 ตราสัญลักษณ์นี้ออกแบบ โดยนายนิรันดร์ ไกรสรรัตน์
วาระมหามงคลนี้เป็นห้วงปีติเกษมแห่งชาวไทยทั้งมวล ล้วนแต่เฝ้ารอคอยที่จะได้ถวายความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ มหาราช ที่ทรงมีพระชนมายุ 72 พรรษา
ขอถวายพระพรชัยมงคล ขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ทรงพระเกษมสำราญพระราชหฤทัย รอดพ้นจากอุปัทวภัยอันตรายใดมากล้ำกราย ปลอดภัยจากโรคาพยาธินานาประการ สถิตเป็นมิ่งขวัญปกเกศเกล้าเหล่าทวยราษฎร์ไทยไปตราบกาลนิรันดร์
สัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9
เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542
สำหรับการจัด งานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เนื่องในมหามงคลครั้งนี้ประกอบขึ้นด้วยพระราชพิธี รัฐพิธี งานเฉลิมฉลอง และโครงการกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ ดังนี้

7.1 พระราชพิธี ประกอบด้วย
7.1.1 พระราชพิธีหล่อพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรมหามงคลเฉลิมพระเกียรติ พระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2542 เวลา 17.39 น. ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยนายโสฬิศ พุทธรักษ์ จากสถาบันศิลปกรรม กรมศิลปากร ได้ร่างแบบพระพุทธรูปที่จะนำไปประกอบพระราชพิธีหล่อ เป็นแบบพระพุทธรูปทรงเครื่อง ห่อคลุมแต่งเครื่องประดับและพระมหามงกุฎ มีลักษณะต่างจากแบบต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ขนาดสูง 172 เซนติเมตร ไม่รวมฐานและมงกุฎ จะทำการหล่อด้วยโลหะทองเหลือง ลงรักปิดทองหรือกะไหล่ทองประดับอัญมณี โดยกรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินงานเพื่อทูลเกล้าฯ ถวาย โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
7.1.2 พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตรา ชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม โดยกำหนดวันประกอบพิธี ในวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2542 เวลา 15.30 น. เป็นการจัดขบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) ตามแบบอย่าง เมื่อครั้งพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พ.ศ.2539 โดยประกอบริ้วกระบวน 5 ริ้ว ใช้เรือทั้งสิ้น 52 ลำ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นเรือพระที่นั่งทรง เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เป็นเรือทรงผ้าไตร เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์เป็นเรือพระที่นั่งรอง
7.1.3 พระราชพิธีฉลองสมโภชพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรมหามงคลเฉลิมพระ ชนมพรรษา 6 รอบ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันพุธที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2542 เวลา 16.30 น.
7.1.4 พระราชพิธีเสกทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวาย ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม วันศุกร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ.2542 เวลา 15.09 น. โดยกระทรวงมหาดไทยกำหนดให้กรุงเทพมหานคร และทุกจังหวัดทั่วประเทศประกอบพิธีพลีกรรม ตักน้ำจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนเคารพเลื่อมใส หรือจากแหล่งน้ำสำคัญของจังหวัด หรือแหล่งน้ำที่เคยใช้ทำน้ำศักดิ์สิทธิ์ เมื่อครั้งพระราชพิธี เฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ในวันพฤหัสที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2542 เวลา 16.39 น.

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
กรุงเทพมหานคร และทุกจังหวัดประกอบพิธีเสกทำน้ำพร้อมกัน ณ พระอุโบสถ หรือวิหารสำคัญของจังหวัดในวันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2542 เวลา 14.59 น. และนำส่งน้ำพระพุทธมนต์ ซึ่งบรรจุในพระเต้าหุ้มผ้าขาว และประทับตราส่งกระทรวงมหาดไทย เพื่อนำเข้าประกอบพิธีเสกทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ณ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ในวันศุกร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ.2542 เวลา 15.09 น.
7.1.5 พระราชกุศลทักษิณานุประทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิฉัย ในพระบรมมหาราชวัง ในวันเสาร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2542 เวลา 16.30 น.
7.1.6 พระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคม ถวายพระพรชัยมงคลในวันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2542 เวลา 10.30 น . ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม ลานพระราชวังดุสิต ดำเนินการโดยคณะอนุกรรมการฝ่ายประสานงาน การจัดพระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคม รับการถวายพระพรชัยมงคล โดยมีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะอนุกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยพระราชกิจดังนี้
– ในช่วงเช้า รัฐพิธีแห่เชิญน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ โดยเคลื่อนกระบวนจากวัดเบญจมบพิตรฯ เข้าสู่ลานพระราชวังดุสิต บริเวณพระบรมรูปทรงม้า
– พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ออกสีหบัญชร มุขด้านใต้ พระที่นั่งอนันตสมาคม
– สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา กราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคล เฉลิมพระเกียรติ ทูลเกล้าฯ ถวายน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ (วัดทั่วทั้งประเทศเจริญชัยมงคลคาถา ประมุขศาสนาต่างๆ ประกอบพิธีตามลัทธิ)

7.1.7 พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2542 เวลา 16.30 น. ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ประกอบด้วยพระราชกิจตามลำดับดังนี้
– พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง
– พระราชทานสัญญาบัตรพัดยศแก่บรรพชิตจีนและญวน และทรงรับการถวายพระพร พระสงฆ์สวดนวัคคหายุสมธัมม์ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
– สถาปนาสมณศักดิ์ ตั้งสมณศักดิ์พระสงฆ์และฐานันดรศักดิ์พราหมณ์ประจำราชสำนัก ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง
7.1.8 พระราชพิธีพระราชกุศลเลี้ยงพระเทศน์มงคลวิเศษ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในวันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2542 เวลา 10.30 น.
7.1.9 คณะทูตานุทูตเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ในวันพุธที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2542 เวลา 17.00 น. ณ ท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง
7.1.10 พระราชพิธีเปิดเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ณ อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2542 (เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันดำเนินการ ก่อสร้างเป็นเขื่อนดินที่มีสันยาวที่สุดในประเทศไทย สามารถเก็บกักน้ำ และเริ่มใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำเพื่อประโยชน์แก่เกษตรกร และประชาชนทั่วไปอย่างทั่วถึงได้ ตั้งแต่ปลายปี 2542 เป็นต้นไป)
7.2 รัฐพิธี ประกอบด้วย
7.2.1 พิธีถวายสัตย์ปฎิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ ในวันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2542 เวลา 16.30 น . ณ ลานพระราชวังดุสิต
7.2.2 พิธีถวายพระพรชัยมงคลของเหล่าข้าราชการและประชาชน ณ ท้องสนามหลวง ในวันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2542 ในตอนค่ำประกอบพิธีถวายเครื่องราชสักการะ และจุดเทียนชัยถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ
7.2.3 งานสโมสรสันนิบาต และถวายพระกระยาหารค่ำเฉลิมพระเกียรติพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันพฤหัสบดีที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2542 โดยเสด็จฯ ออกมหาสมาคม ณ สนามหน้าตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาล โดยมีพิธีการตามลำดับ ได้แก่
– นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลถวายชัยมงคล และขอพระบรมราชานุญาตกล่าวเชิญชวนผู้ที่เฝ้าฯ ร่วมดื่มถวายชัยมงคลวโรกาส
– การแสดงนาฎศิลป์จากกรมศิลปากร เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติและถวายพระพร
– การแสดงประกอบแสง – เสียง โดยระบบภาพบนม่านน้ำ (Water Screen) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดแทนการจุดพลุ
7.2.4 การทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึกในงานสโมสรสันนิบาตเฉลิมพระเกียรติ ณบริเวณสนามหน้าตึกไทยคู่ฟ้า และตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยคณะกรรมการอำนวยการเฉลิมพระเกียรติฯ ได้เห็นชอบให้น้อมเกล้าฯ ถวายพระที่นั่งที่จัดสร้างตามโครงการบูรณะป้อมพระสุเมรุเป็นของที่ระลึกจากรัฐบาล โดยจัดทำรูปแบบจำลอง (Model) ของพระที่นั่งทูลเกล้าฯถวายในงานด้วย ซึ่งพระที่นั่งดังกล่าวได้รับพระราชทานชื่อว่า พระที่นั่งสันติชัยปราการ จากนั้นเป็นการถวายพระกระยาหารค่ำ ณ ทำเนียบรัฐบาล
7.3 งานเฉลิมฉลอง ประกอบด้วย
7.3.1 งานตกแต่งธงทิวประดับโคมไฟ และตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธี (ตราสัญลักษณ์ออกแบบโดยนายนิรันดร์ ไกรสรรัตน์ ผู้ชนะการประกวดจากการ ดำเนินการของกระทรวงศึกษาการ) ซึ่งในส่วนนี้รัฐบาลได้เชิญชวนให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคหน่วยงานเอกชนและประชาชนทั่วไป ดำเนินการตกแต่งธงทิวประดับไฟและตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธีตามสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม พ.ศ.2542 โดยให้ถือปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับการใช้ชัก และแสดงธงทิวตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
7.3.2 การจัดงานมหรสพสมโภชทั่วภูมิภาคของประเทศ ในวันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2542 โดยมีกรมการปกครองรับผิดชอบดำเนินการ สำหรับส่วนภูมิภาคได้กำหนดให้จัดงานมหรสพ สมโภชตามประเพณี โดยมอบให้วิทยาลัยนาฎศิลป์และสถาบันราชภัฎในจังหวัดต่างๆ เป็นผู้รับผิดชอบ
7.4 กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ ประกอบด้วย โครงการกิจกรรมที่หลายฝ่ายจัดขึ้น เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติ หลายโครงการ (สรุปข้อมูลจากเอกสารการประชุมของคณะกรรมการอำนวยการจัดงาน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม พ.ศ.2542 เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2542) กล่าวโดยสังเขป ได้แก่
7.4.1กิจกรรมเชิดชูสดุดีพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โดยกระทรวงศึกษาธิการ และทบวงมหาวิทยาลัย เป็นฝ่ายร่วมกันพิจารณาและจัดรูปแบบกิจกรรม อาทิ การประกวดบทความ บทกลอน ภาพเขียน การจัดนิทรรศการ ฯลฯ ให้โรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกแห่งทั่วประเทศพิจารณา จัดกิจกรรมในช่วงตลอด ระยะเวลาขอบเขตของการเฉลิมฉลอง (1 มกราคม – 31 ธันวาคม พ.ศ.2542) พร้อมกับจะได้นำบทพระราชนิพนธ์ เรื่องพระมหาชนก นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ และติโต มาพิจารณาจัดเป็นกิจกรรมเชิดชูสดุดีพระเกียรติคุณ เพื่อเผยแพร่พระปรีชาสามารถด้านการประพันธ์
7.4.2 โครงการและกิจกรรมที่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเสนอเข้าร่วม เป็น โครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ได้แก่ โครงการและกิจกรรมที่ทั้งภาครัฐและเอกชนเสนอเข้ามาให้พิจารณา มีจำนวนทั้งสิ้น 464 โครงการ (กิจกรรมเป็นของภาครัฐ 408 โครงการ กิจกรรมเป็นของเอกชน 56 โครงการ) ซึ่งคณะกรรมการได้พิจารณาให้ความเห็นชอบไปแล้วบางส่วน นอกจากนี้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนยังได้จัดทำโครงการ หรือกิจกรรมทั่วไปที่มีลักษณะเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ อยู่แล้ว เช่น การจัดนิทรรศการพระราชกรณียกิจ การตกแต่งประดับไฟ การเดินวิ่งเฉลิมพระเกียรติ การจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ การบริจาคโลหิต การอุปสมบทหมู่ รวมอีก 58 โครงการ หรือกิจกรรม ตัวอย่างเช่น
7.5 โครงการและกิจกรรมตามแนวทางการดำเนินงานเฉลิมพระเกียรติฯ
7.5.1การจัดสร้างดวงตราไปรษณียากรที่ระลึกมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ประกอบด้วย
– ชุดที่ 1 ภาพชุดพระตำหนัก 4 ภาค วันแรกจำหน่าย 5 พฤษภาคม พ.ศ.2542
– ชุดที่ 2 ภาพพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันแรกจำหน่าย 10 กันยายน พ.ศ.2542
– ชุดที่ 3 ภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับประชาชน วันแรกจำหน่าย 21 ตุลาคม พ.ศ.2542
– ชุดที่ 4 ภาพแสตมป์ทองคำ เงิน นาก เริ่มจำหน่าย 5 ธันวาคม พ.ศ.2542
7.5.2 การจัดทำบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศ THAICARD เฉลิมพระเกียรติ
7.5.3 การจัดสร้างเหรียญที่ระลึก เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกและเหรียญที่ระลึกประดับแพรแถบ
7.6 โครงการบูรณะป้อมพระสุเมรุและปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์โดยรอบ เป็นสวนสาธารณะประกอบด้วย 3 แผนงานได้แก่
7.6.1 แผนงานการบูรณะป้อมพระสุเมรุ
7.6.2 แผนงานการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์โดยรอบเป็นสวนสาธารณะ (ได้รับพระราชทานชื่อว่า สวนสาธารณะสันติชัยปราการ)
7.6.3 แผนงานการก่อสร้างพระที่นั่งประดับตราสัญลักษณ์พระราชพิธีพร้อมทุ่นท่าเสด็จฯ
7.7 งานจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติและจดหมายเหตุ
7.7.1 หนังสือที่พิมพ์ในนามคณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ 12 รายการ
7.7.2 หนังสือที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนขอนุญาตจัดพิมพ์เพื่อร่วมงานเฉลิมพระเกียรติฯ โดยใช้งบประมาณของตนเอง 30 รายการ
7.7.3 หนังสือจดหมายเหตุพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม พ.ศ.2542 และงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จัดทำต้นฉบับและจัดพิมพ์โดย หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร