พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
บทที่ 10 พระราชกรณียกิจด้านการเกษตรและการพัฒนาชนบท

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักการเกษตรและนักพัฒนา ทรงเห็นว่าราษฎรซึ่งเป็นเกษตรกรนั้นประสบปัญหาต่างๆ มากมาย อาทิ การขาดแคลนแหล่งน้ำ การเพาะปลูกไม่ได้ผล การขาดแคลนที่ดินทำกิน ขาดการสาธารณสุขที่ดี จึงทรงริเริ่มให้แก้ปัญหาต่างๆ อย่างครบวงจร คือ
1. การพัฒนาแหล่งน้ำ
2. การพัฒนาที่ดิน
3. การอนุรักษ์ดิน และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
4. การจัดตั้งศูนย์การศึกษาการพัฒนา
5. การจัดตั้งสหกรณ์
6.โครงการธนาคารข้าว
7.โครงการธนาคารโค-กระบือ
1. การพัฒนาแหล่งน้ำ
นายเล็ก จินดาสงวน ได้เขียนลงในหนังสือจิตวิทยาความมั่นคง (2530 : 29 – 46) ดังนี้
งานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อประโยชน์สำหรับประชาชนในชนบทรวมทั้งตามท้องถิ่นทั่วๆ ไป ให้มีน้ำกินน้ำใช้และจัดหาน้ำเพื่อการเกษตร ตลอดจนเพื่อประโยชน์อื่นๆ อีกหลายด้านนับเป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญอย่างหนึ่ง ในพระราชกรณียกิจทั้งหลาย ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงปฏิบัติต่อเนื่องมาอย่างสม่ำเสมอ
ซึ่งยังประโยชน์อันไพศาลให้แก่พสกนิกรผู้ยากไร้ตามท้องถิ่นทุรกันดารจำนวนมาก ทั้งนี้

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณและพระเมตตาธิคุณเป็นล้นพ้นของพระองค์ ซึ่งต้องพระราชประสงค์จะทรงช่วยให้ประชาชนเหล่านั้น ได้ผ่อนคลายหรือบรรเทาความยากลำบากเดือดร้อนต่อการดำรงชีพ และทำมาหากินในสภาพที่ขาดแคลนน้ำใช้เพาะปลูก หรือในกรณีที่ฝนฟ้าไม่ตกตามฤดูกาลเป็นประจำ ให้สามารถยืนหยัดหรือพัฒนาตนเอง และครอบครัวจนมีฐานะ “ พออยู่ พอกิน ” ในขั้นแรกไปถึงขั้น “ มีกิน มีใช้ ” ในที่สุด
โครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่ก่อสร้างขึ้นอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เพื่อจัดหาน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกของราษฎรในท้องถิ่นต่างๆ ที่ขาดแคลนน้ำ ให้สามารถมีน้ำใช้ทำการเพาะปลูกได้ตลอดปี และเพื่อประโยชน์อื่นด้วยนั้น มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน ดำเนินการเพื่อสนองพระราชดำริ กระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศ ตามความเหมาะสมกับสภาพของท้องถิ่น ลักษณะภูมิประเทศ และแหล่งน้ำธรรมชาติที่จะเอื้ออำนวยให้สามารถทำการก่อสร้างขึ้นได้
โดยทั่วไปโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จะมีลักษณะโครงการพื้นฐานในการช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรเกี่ยวกับน้ำเป็นหลัก โดยเกิดขึ้นจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรตามหมู่บ้านต่างๆ ทั่วทั้งประเทศนั้น ทั้งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคกลาง ซึ่งทรงปฏิบัติเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอทุกปีตลอดมารวมประมาณปีละ 8 เดือน เมื่อพระองค์ทรงทราบถึงสาเหตุแห่งความทุกข์ยากของราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการทำมาหากินในท้องถิ่นทุรกันดารตามหมู่บ้านชนบทที่อยู่ห่างไกล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวนาและชาวไร่ ที่มักประสบปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำทั้งน้ำกินและน้ำใช้เพื่อการเกษตร อันเป็นเหตุให้ราษฎรในชนบทดังกล่าวมีความยากจน และมักขาดแคลนอาหารสำหรับบริโภคโดยทั่วไป เนื่องจากทุกครั้งที่ทรงซักถามข้อมูลจากราษฎรที่เฝ้ารับเสด็จฯ ปรากฏว่าราษฎรส่วนใหญ่จะกราบบังคมทูลพระกรุณาถึงความทุกข์ยากในการขาดแคลนน้ำเพื่อการเพาะปลูก หรือมีบ้างแต่ไม่เพียงพอใช้
ทำให้การเพาะปลูกแม้แต่ในฤดูฝนหรือการทำนาปีก็ได้รับความเสียหายเนื่องจากขาดแคลนน้ำในระยะต้นฤดู – ปลายฤดู หรือในระยะฝนทิ้งช่วง ทำให้ผลผลิตต่ำ และบางปีเกือบไม่ได้ผลเลย ส่วนในฤดูแล้งลำห้วยลำธารตามธรรมชาติต่างๆ ส่วนใหญ่น้ำแห้ง ไม่มีน้ำใช้ทำการเพาะปลูกแม้แต่น้ำอุปโภค – บริโภค แต่ในบางท้องที่ เช่น ภาคใต้ ซึ่งมีฝนตกชุกในฤดูฝน ราษฎรจะกราบบังคมทูลพระกรุณาเกี่ยวกับพื้นที่เพาะปลูกมีน้ำมากเกินไปในฤดูฝน เป็นเหตุให้ทำการเพาะปลูกไม่ได้เนื่องจากน้ำท่วมขังพื้นที่เพาะปลูกเป็นเวลานานหรือน้ำท่วมขังพื้นที่เพาะปลูกเสียหาย เหล่านี้เป็นต้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชหฤทัยห่วงใยในความทุกข์ยากของราษฎร เกี่ยวกับการทำมาหากินเป็นอย่างยิ่ง เมื่อทรงทราบว่า “ น้ำ ” เป็นปัจจัยอันสำคัญ และเป็นความต้องการอย่างมากของราษฎรส่วนใหญ่ในชนบท ทั้งน้ำกินน้ำใช้ และน้ำเพื่อการเกษตรดังกล่าวแล้ว พระองค์จึงทรงทุ่มเทพระราชหฤทัยในด้านงานพัฒนาแหล่งน้ำตลอดมา เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำให้กับราษฎรของพระองค์ ทั้งในด้านการจัดหาน้ำให้มีเพียงพอใช้เพื่อการเกษตร และสำหรับใช้ในการอุปโภค – บริโภค ตลอดจนการพัฒนาแหล่งน้ำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในด้านอื่นๆ อีกตามความเหมาะสมกับสภาพท้องที่ เพราะพระองค์ทรงเชื่อมั่นว่า เมื่อใดราษฎรและพื้นที่เพาะปลูกไม่มีปัญหาเกี่ยวกับน้ำ หรือราษฎรมีน้ำกินและน้ำใช้เพื่อการเกษตรอย่างสมบูรณ์แล้ว ย่อมจะทำให้ราษฎรมีการกินดีอยู่ดีขึ้น และจะเป็นผลทำให้การพัฒนาทุกด้านในชนบทได้รับความสำเร็จตามไปด้วย
เนื่องด้วยกรมชลประทานเป็นส่วนราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดหาน้ำเพื่อการเพาะปลูกโดยตรง จึงได้รับพระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการก่อสร้างงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั่วทั้งประเทศ เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่กรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้าง เพื่อสนองพระราชดำริเป็นแห่งแรกได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่า โดยการก่อสร้างเขื่อนดินปิดกั้นห้วยตะกาด ที่บริเวณหมู่บ้านชายทะเลเขาเต่า อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ความจุอ่างเก็บน้ำประมาณ 600,000 ลูกบาศก์เมตร สำหรับเก็บกักน้ำจืดไว้ใช้เพื่อการอุปโภค – บริโภคของราษฎรและสัตว์เลี้ยงในหมู่บ้านดังกล่าว ซึ่งได้เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.2506 และสร้างเสร็จในปีเดียวกัน ครั้นต่อมา ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระตำหนักในภาคต่างๆ และเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในแต่ละภูมิภาคเป็นประจำทุกปีตลอดมาจนถึงปัจจุบัน จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการ และดำเนินการก่อสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำประเภทต่างๆ ต่อเนื่องมาโดยตลอด ทั้งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ เป็นต้น
1.1 ประเภทของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
โครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานพระราชดำริให้ส่วนราชการต่างๆ เช่น กรมชลประทาน นำไปพิจารณาวางโครงการและดำเนินการก่อสร้างตามแนวพระราชดำริ สามารถแบ่งออกได้ 5 ประเภทด้วยกัน ดังต่อไปนี้
1.1.1 โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกและอุปโภค – บริโภค เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำซึ่งส่วนราชการต่างๆ ทำการก่อสร้างเพื่อสนองพระราชดำริ มีจำนวนมากกว่าโครงการประเภทอื่นๆ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกและการอุปโภค – บริโภคในแต่ละท้องที่จะมีลักษณะโครงการอย่างไรนั้น ต้องมีการพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและแหล่งน้ำสำหรับแต่ละท้องที่เสมอ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำลักษณะนี้มี 2 ประเภท คือ

– โครงการอ่างเก็บน้ำ ประกอบด้วยงานสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำปิดกั้นลำน้ำระหว่างหุบเขาหรือ
ลูกเนินจนสามารถเก็บน้ำได้มาก เรียกว่า “ อ่างเก็บน้ำ ” พร้อมกับสร้างอาคารระบายน้ำล้น เพื่อควบคุมระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำไม่ให้ล้นข้ามสันเขื่อน และสร้างท่อส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่ตัวเขื่อนสำหรับส่งและควบคุมจำนวนน้ำที่จะส่งให้กับพื้นที่เพาะปลูก โครงการอ่างเก็บน้ำนิยมก่อสร้างกันอยู่ทั่วไป เพราะสามารถเก็บน้ำตอนฤดูน้ำหลากไว้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนเก็บสำรองไว้ใช้เมื่อถึงคราวจำเป็น
– โครงการฝายทดน้ำ ประกอบด้วยงานสร้างอาคารปิดขวางทางน้ำไหลที่เรียกว่า “ ฝาย ” เพื่อทดน้ำที่ไหลมาให้มีระดับสูงจนสามารถผันเข้าไปตามคลอง หรือคูส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกบริเวณสองฝั่งลำน้ำ ส่วนน้ำที่เหลือก็จะไหลล้นข้ามสันฝายไปเอง เราจะสามารถสร้างฝายปิดขวางลำน้ำธรรมชาติทุกแห่งได้ตามที่ต้องการ แต่การสร้างฝายจะให้เป็นประโยชน์ต่อการเพาะปลูกได้อย่างเต็มที่ ก็เฉพาะลำน้ำที่มีน้ำไหลมามากเพียงพอ และมีปริมาณสม่ำเสมอในฤดูกาลเพาะปลูก หากลำน้ำสายใดมีปริมาณน้ำไหลมาในอัตราที่ไม่แน่นอน การสร้างฝายก็จะไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ตามต้องการนัก เหมือนกับโครงการประเภทอ่างเก็บน้ำดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

1.1.2 โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการรักษาต้นน้ำลำธาร เป็นโครงการสร้างฝายขนาดเล็กเป็นระยะๆ ทางต้นน้ำของลุ่มน้ำต่างๆ เพื่อเก็บน้ำไว้ในลำน้ำคล้ายกับอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก เพื่อให้น้ำที่เก็บกักไว้ซึมเข้าไปในดินตามตลิ่งและท้องน้ำ เป็นการช่วยเพิ่มจำนวนน้ำให้ถูกเก็บกักไว้ในดินที่บริเวณต้นน้ำลำธาร เพื่อความชุ่มชื้นของพื้นที่ให้ได้ระยะเวลานานขึ้น ซึ่งจะช่วยในการอนุรักษ์ป่าไม้บริเวณต้นน้ำลำธารได้เป็นอย่างดี
1.1.3 โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงสนพระทัยในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้า สำหรับชนบทที่อยู่ห่างไกลเช่นกัน ได้พระราชทานพระราชดำริให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาวางโครงการและจัดการก่อสร้างโครงการพัฒนา แหล่งน้ำ เพื่อการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กในชนบทหลายแห่งในภาคเหนือ
โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ ประกอบด้วยงานสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ โดยสภาพภูมิประเทศบริเวณที่จะสร้างเขื่อนและโรงผลิตกระแสไฟฟ้านั้น ต้องมีระดับความสูงแตกต่างกันมาก ซึ่งน้ำที่ส่งลงมาตามท่อส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำในระดับสูงนั้นสามารถหมุนเครื่องกังหันสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าได้ และน้ำที่ผ่านการผลิตกระแสไฟฟ้านั้นก็นำไปใช้ในการเพาะปลูกและการอุปโภค – บริโภคต่อไปอีกด้วย
1.1.4 โครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม
1. การก่อสร้างคันกั้นน้ำ เป็นวิธีป้องกันน้ำท่วมที่นิยมทำกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ กรมชลประทานได้ก่อสร้างสนองพระราชดำริไว้หลายแห่ง เช่น ที่ภาคใต้ ได้แก่ คันกั้นน้ำของโครงการมู-โนะ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และคันกั้นน้ำของโครงการปิเหล็ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาสเป็นต้น สำหรับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กรมชลประทาน กรมทางหลวง และกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกันก่อสร้างคันกั้นน้ำป้องกันน้ำท่วมบริเวณต่างๆ ในโครงการป้องกันน้ำจากแม่น้ำน้ำเจ้าพระยา และน้ำตามคลองโดยรอบกรุงเทพมหานครทางด้านทิศเหนือ และทิศตะวันออก ไม่ให้ไหลบ่าเข้ามาท่วมกรุงเทพฯ ชั้นในและพื้นที่เศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี
2. การก่อสร้างทางผันน้ำ เป็นการก่อสร้างทางผันน้ำ หรือขุดคลองสายใหม่เชื่อมต่อกับลำน้ำที่มีปัญหาน้ำท่วม เพื่อผันน้ำทั้งหมดหรือน้ำเฉพาะบางส่วนที่จะล้นตลิ่ง ออกไปจากลำน้ำ โดยให้ไหลไปตามทางผันน้ำที่ขุดขึ้นใหม่ไปลงลำน้ำสายอื่น หรือระบายออกสู่ทะเลตามความเหมาะสม การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมด้วยการก่อสร้างทางผันน้ำนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริเมื่อ พ.ศ.2517 ให้กรมชลประทานพิจารณาแก้ไขปัญหาน้ำจากแม่น้ำโก-ลก ที่กั้นชายแดนประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย กรมชลประทานได้ขุดคลองมูโนะสนองพระราชดำริเมื่อ พ.ศ.2518 มีขนาดก้นคลองกว้าง 20 เมตร คลองยาว 15.60 กิโลเมตร และได้ช่วยบรรเทาน้ำท่วมให้ลดลงได้เป็นอย่างดี
3. การปรับปรุงและตกแต่งสภาพลำน้ำ เป็นการปรับปรุงและตกแต่งลำน้ำ เพื่อช่วยให้น้ำ สามารถไหลตามลำน้ำได้สะดวก หรือเพื่อให้กระแสน้ำที่ไหลมีความเร็วเพิ่มขึ้น เพื่อที่ในฤดูน้ำหลาก น้ำจำนวนมากที่ไหลจะได้มีระดับลดต่ำลงไปจากเดิม เป็นการช่วยบรรเทาความเสียหายเนื่องจากน้ำท่วมได้ โดยใช้วิธีการดังนี้
– ขุดลอกลำน้ำตื้นเขินให้น้ำไหลสะดวกขึ้น
– ตกแต่งดินตามลาดตลิ่งให้เรียบมิให้เป็นอุปสรรคต่อทางเดินของน้ำ
– กำจัดวัชพืช ผักตบชวา และรื้อทำลายสิ่งกีดขวางทางน้ำไหลให้ออกไปจนหมดสิ้น
– หากลำน้ำคดโค้งมาก ให้หาแนวทางขุดคลองใหม่เป็นลำน้ำสายตรง ให้น้ำไหลสะดวก
4. การก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ เป็นมาตรการป้องกันน้ำท่วมที่สำคัญประการหนึ่ง ในการเก็บกักน้ำที่ไหลท่วมล้นในฤดูน้ำหลาก โดยเก็บไว้ทางด้านเหนือเขื่อนในลักษณะอ่างเก็บน้ำ ซึ่งปัจจุบันมีการดำเนินการตามพระราชดำริมากมายหลายแห่งในประเทศไทย ส่วนการป้องกันน้ำท่วมใหญ่ในระดับประเทศนั้น ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินงานหลายจุดคือ

– โครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

– โครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

– โครงการพัฒนาลุ่มน้ำนครนายกตอนบน จังหวัดนครนายก
4. การก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ เป็นมาตรการป้องกันน้ำท่วมที่สำคัญประการหนึ่ง ในการเก็บกักน้ำที่ไหลท่วมล้นในฤดูน้ำหลาก โดยเก็บไว้ทางด้านเหนือเขื่อนในลักษณะอ่างเก็บน้ำ ซึ่งปัจจุบันมีการดำเนินการตามพระราชดำริมากมายหลายแห่งในประเทศไทย ส่วนการป้องกันน้ำท่วมใหญ่ในระดับประเทศนั้น ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินงานหลายจุดคือ
5. โครงการระบายน้ำแก้มลิง


การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลตามพระราชดำริ “ แก้มลิง ” จากสภาพธรรมชาติดั้งเดิมของกรุงเทพมหานคร มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มต่ำ ทำให้การระบายน้ำยามเกิดภาวะน้ำท่วม ให้ออกจากพื้นที่เป็นไปอย่างล่าช้า คูคลองจำนวนมากมีความลาดเทน้อย อีกทั้งมีจำนวนคลองหลายคลองที่ตื้นเขิน มีวัชพืชปกคลุมกีดขวางทางน้ำไหล ทำให้เกิดเป็นสาเหตุในหลายปัจจัย ของการเกิดน้ำท่วมขังในกรุงเทพมหานคร และเขตปริมณฑลเป็นระยะเวลานาน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานแนวพระราชดำริ ให้มีระบบการบริหารจัดการด้านน้ำท่วม ในวิธีการที่ตรัสว่า “ แก้มลิง ” ซึ่งได้พระราชทานพระราชอรรถาธิบายว่า
“ ลิงโดยทั่วไป ถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกแล้วเอาเข้าปากเคี้ยว แล้วเอาไปเก็บไว้ที่แก้ม ลิงจะเอากล้วยเข้าไปไว้ที่กระพุ้งแก้มได้เกือบทั้งหวี โดยเอาไปไว้ที่แก้มก่อนแล้วจึงนำมาเคี้ยวบริโภค และกลืนกินเข้าไปภายหลัง”
เปรียบเทียบได้กับเมื่อเกิดน้ำท่วมขุดคลองต่างๆ เพื่อชักน้ำให้มารวมกันแล้วนำมาเก็บไว้เป็นบ่อพัก อันเปรียบได้กับแก้มลิง แล้วจึงระบายน้ำลงทะเลเมื่อปริมาณน้ำทะเลลดลง
โครงการแก้มลิงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีลักษณะงานเป็นการระบายน้ำออกจากพื้นที่ตอนบน ไปตามคลองในแนวเหนือ-ใต้ ลงคลองพักน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่บริเวณชายทะเล ซึ่งเมื่อระดับน้ำทะเลลดลงต่ำกว่าระดับน้ำในคลอง ก็จะระบายน้ำจากคลองดังกล่าวออกทางประตูระบายน้ำ โดยวิธีใช้แรงโน้มถ่วงของโลก (gravity) และสูบน้ำออกเพื่อให้น้ำในคลองพักน้ำมีระดับต่ำที่สุด ซึ่งจะทำให้น้ำจากคลองตอนบนไหลลงสู่คลองพักน้ำได้ตลอดเวลา แต่เมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับน้ำในคลองก็จะปิดประตูระบายน้ำ เพื่อไม่ให้น้ำไหลย้อนกลับ จากแนวพระราชดำริดังกล่าว กรมชลประทานได้ดำเนินการศึกษา และพิจารณากำหนดรูปแบบ ของโครงการแก้มลิงออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ

5. 1 โครงการแก้มลิงในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา จะรับน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่จังหวัดสระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร มาตามคลองสายต่างๆ โดยใช้คลองชายทะเลที่ตั้งอยู่ริมทะเลด้านจังหวัดสมุทรปราการ ทำหน้าที่เป็นบ่อพักน้ำหรือรับน้ำ และพิจารณาจาหนองบึงหรือพื้นที่ว่างเปล่าตามความเหมาะสม เป็นบ่อพักน้ำเพิ่มเติม โดยใช้คลองธรรมชาติในแนวเหนือใต้ เช่น คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต คลองบางปลา คลองด่าน คลองบางปิ้ง คลองตำหรุ คลองชายทะเล เป็นแหล่งระบายน้ำเข้าและออกบ่อพักน้ำ
5.2 โครงการแก้มลิงในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำหน้าที่รับน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่จังหวัดอ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นครปฐม กรุงเทพ มหานคร และสมุทรสาคร ไปลงคลองมหาชัย-สนามชัย และแม่น้ำท่าจีน เพื่อระบายน้ำออกสู่ทะเลด้านจังหวัดสมุทรสาคร
เนื่องจากสภาพพื้นที่ทั่วไปแถบนั้นยังไม่มีคันกั้นน้ำริมฝั่งเจ้าพระยาและคันกั้นน้ำขนานกับชายทะเล ส่วนคลองต่างๆ ที่มีทางน้ำไหลเชื่อมต่อกับชายทะเลก็ยังไม่มีการควบคุมเพียงพอ ดังนั้นเมื่อน้ำทะเลมีระดับสูงขึ้นจึงหนุนไม่ให้น้ำจืดไหลออกทะเล หรือไหลออกทะเลได้ช้ามาก ก่อให้เกิดภาวะน้ำท่วมรุนแรงและท่วมขังนานวัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานพระราชดำริ เพื่อให้การระบายน้ำท่วมออกทะเลเร็วขึ้นด้วยวิธีการต่างๆ ดังนี้
โครงการแก้มลิง “ แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง ” ซึ่งใช้หลักในการควบคุมแม่น้ำท่าจีนคือ เปิดระบายน้ำจำนวนมากลงสู่อ่าวไทยเมื่อระดับน้ำทะเลต่ำ ปิดกั้นไม่ให้น้ำจากทางด้านท้ายน้ำไหลรุกล้ำเข้าไปในแม่น้ำเมื่อน้ำทะเลมีระดับสูง ถือเป็นโครงการเอนกประสงค์ที่สำคัญยิ่งในอนาคตด้วย
โครงการแก้มลิง “ คลองมหาชัย-คลองสนามชัย ” ดำเนินการก่อสร้างทำนบปิดกั้นในคลองมหาชัย-คลองสนามชัย พร้อมกับก่อสร้างประตูระบายน้ำรวมทั้งคลองสาขาต่างๆ พื้นที่ทั้งหมดนี้จะทำหน้าที่รับน้ำและน้ำท่วมขังจากพื้นที่ตอนบนมาเก็บไว้พร้อมกับระบายลงสู่อ่าวไทย ตามจังหวะการขึ้น-ลงของระดับน้ำทะเล โดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลกและการสูบน้ำที่เหมาะสมและสอดคล้องกัน
โครงการแก้มลิง “ คลองสุนัขหอน ” ประกอบด้วยประตูปิดกั้นคลองสุนัขหอน พร้อมอาคารประกอบ สถานีสูบน้ำจากคลองสุนัขหอน
โครงการแก้มลิง นับเป็นนิมิตหมายอันดีและเป็นสิ่งที่ช่วยให้ชาวไทยทั้งหลาย ได้รอดพ้นจากทุกข์ภัยที่นำความเดือดร้อนแสนลำเค็ญมา สู่ชีวิตที่อบอุ่นปลอดภัย ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านน้ำท่วมนี้ว่า
“ ได้ดำเนินการในแนวทางที่ถูกต้องแล้ว ขอให้รีบเร่งหาวิธีปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพต่อไป เพราะโครงการแก้มลิงในอนาคต จะสามารถช่วยพื้นที่ได้หลายพื้นที่ ”
นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงมีพระราชดำริ เพื่อการแก้ไข และการกำจัดน้ำเสียในกรุงเทพมหานครในเมืองหลัก และในต่างจังหวัดด้วยวิธีการต่างๆ อีก เช่น
– การใช้ผักตบชวาช่วยกรองความสกปรกในน้ำเสีย
– การใช้น้ำดีขับไล่น้ำเสีย
– การใช้กังหันน้ำชัยพัฒนา เพื่อบำบัดน้ำเสีย
– การกำจัดขยะอย่างถูกต้องและไม่เป็นการทำลายสภาพแวดล้อม ทั้งในแหล่งน้ำใต้ดินและสภาพอากาศ
1.1.5 โครงการบำบัดน้ำเสีย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงสนพระราชหฤทัยในการแก้ไข และบำบัดน้ำเสียในชุมชนเขตกรุงเทพมหานคร และเมืองใหญ่ โดยพระราชทานพระราชดำริแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ร่วมมือกันทดลองหาวิธีแก้ไข และบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีการง่ายๆ และเหมาะสม ขณะนี้การลำบัดน้ำเสียตามแนวพระราชดำริด้วยวิธีการต่างๆ ได้ส่งผลเป็นที่น่าพอใจและกำลังเผยแพร่ไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศมากขึ้น การบำบัดน้ำเสียตามแนวพระราชดำรัสที่พระราชทานให้เป็นแนวในการปฎิบัติงานนั้น จะเป็นประโยคง่ายๆ และได้ผ่านการกลั่นกรองมาแล้วเป็นอย่างดี เป็นข้อความง่ายๆ ที่มีความหมายลึกซึ้ง และบางครั้งบอกถึงวิธีการดำเนินการไว้ด้วย ดังพระราชดำริในเรื่องต่อไปนี้

1.การบำบัดน้ำเสียโดยการทำให้เจือจาง หรือ “ น้ำดีไล่น้ำเสีย ”
ทรงแนะนำให้ใช้หลักการ แก้ไข โดยใช้น้ำที่มีคุณภาพดีจากแม่น้ำเจ้าพระยาช่วยผลักดัน และเจือจางน้ำเน่าเสียให้ออกจากแหล่งน้ำของชุมชน ในเขตเมือง ตามคลองต่างๆ เช่น คลองบางเขน คลองบางซื่อ คลองแสนแสบ คลองเทเวศร์และคลองบางลำภู เป็นต้น วิธีนี้จะกระทำได้ด้วยการเปิด-ปิดประตูอาคารควบคุมน้ำ รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงจังหวะน้ำขึ้น และระบายน้ำสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในจังหวะน้ำลง ผลก็คือตามลำคลองต่างๆ มีโอกาสไหลถ่ายเทหมุนเวียนกันมากขึ้น น้ำก็จะกลับกลายเป็นน้ำที่มีคุณภาพ ด้วยวิธีธรรมชาติง่ายๆ
2. การบำบัดน้ำเสียโดยการ กรองน้ำเสียด้วยผักตบชวา หรือ “ ไตธรรมชาติ ”
บึงมักกะสันเป็นบึงขนาดใหญ่ที่อยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ที่การรถไฟได้ขุดขึ้นมาประมาณ 68 ปีมาแล้ว มีขนาด 60 x 2.38 x 1.5 เมตร โดยมีเนื้อที่ผิวน้ำรวมทั้งสิ้นประมาณ 92 ไร่ เพื่อใช้เป็นแหล่งระบายน้ำและรองรับน้ำเสียจากชุมชนแออัด ได้แก่ชุมชนสามเสนและชุมชนทับแก้ว ส่วนใหญ่เป็นสิ่งปฏิกูล และขยะมูลฝอยรวมทั้งน้ำมันเครื่อง จากโรงงานรถไฟมักกะสัน ของเสียเหล่านี้กลายเป็นสาเหตุทำให้บึงมักกะสันตื้นเขิน เนื่องจากการตกตะกอนของสารแขวนลอย ซึ่งส่งผลตามมาคือ ทำให้เกิดน้ำเน่าเสีย

กลายเป็นแหล่งเพราะเชื้อโรคจนเกิดเป็นปัญหาภาวะแวดล้อมเสื่อมโทรม ท่ามกลางความเจริญทางด้านวัตถุของสังคมเมืองที่มี การพัฒนาความเจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงตระหนักถึงภัยแห่งภาวะมลพิษดังกล่าว ที่พสกนิกรของพระองค์ได้รับผลกระทบโดยตรง หากมิได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที จึงพระราชทานพระราชดำริให้หน่วยงานต่างๆ ร่วมกันปรับปรุงบึงมักกะสัน เพื่อใช้ประโยชน์ในการช่วยระบายน้ำ และบำบัดน้ำเสียโดยใช้วิธีการที่เป็นรูปแบบเครื่องกรองน้ำธรรมชาติ โดยใช้พืชบางชนิด เช่น ผักตบชวา ต้นธูปฤาษี เป็นต้น

ผักตบชวา

ต้นธูปฤษี
กรณีของบึงมักกะสันพระองค์ทรงเลือกใช้ผักตบชวา ซึ่งเป็นวัชพืชที่ต้องการกำจัดอยู่แล้ว มาทำหน้าที่ดูดซับความโสโครกและสารพิษจากแหล่งน้ำเน่าเสีย ทรงเน้นให้ทำการปรับปรุงอย่างประหยัด ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า “ …บึงมักกะสันนี้ทำโครงการที่เรียกว่า แบบคนจน โดยใช้ผักตบชวาที่ยังมีอยู่นั้นเป็นพืชดูดความโสโครกออกมา แล้วก็ทำให้น้ำสะอาดขึ้นได้เป็นเครื่องกรองธรรมชาติ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และธรรมชาติของการเจริญเติบโตของพืช… ”
แนวทางพระราชดำริทรงให้ทำโครงการง่ายๆ โดยให้สูบน้ำจากคลองสามเสนเข้าบึงทางหนึ่ง และสูบน้ำออกจากคลองสามเสนอีกทางหนึ่ง หรือฝังท่อระบายน้ำออกทางท่อระบายน้ำอโศกดินแดง และมีผักตบชวาอยู่ในบึงมักกะสัน ทำหน้าที่กรองน้ำเสีย (ดูดซับน้ำเสีย) เมื่อมีผักตบชวาจำนวนมากให้นำมาทำปุ๋ยหมัก เชื้อเพลิง แต่ห้ามนำไปทำอาหารสัตว์เพราะมีโลหะหนักซึ่งเป็นสารที่มีพิษ การนำผักตบชวามาใช้เป็นเชื้อเพลิงเป็นการลดปริมาณการทำลายป่าอีกประการหนึ่งด้วย
พระราชดำริในการบำบัดน้ำเสียของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โดยทรงเปรียบเทียบว่า “ บึงมักกะสัน ” เป็นเสมือน “ ไตธรรมชาติ ” ของกรุงเทพมหานครที่เก็บกักและฟอกน้ำเสีย ตลอดจนเป็นแหล่งกักเก็บและระบายน้ำในฤดูฝน และโปรดเกล้าฯ ให้มีการทดลองใช้ผักตบชวา ซึ่งเป็นวัชพืชที่ต้องการกำจัดอยู่แล้วมาช่วยดูดซับความสกปรกปนเปื้อน รวมตลอดทั้งสารพิษต่างๆ จากน้ำเน่าเสีย ประกอบเข้ากับเครื่องกลบำบัดน้ำเสียแบบต่างๆ ที่ได้ทรงประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาเอง โดยเน้นวิธีการที่เรียบง่าย ประหยัด บึงมักกะสันในปัจจุบันได้ทำหน้าที่ “ ไตธรรมชาติ ” ของกรุงเทพมหานครอย่างมีประสิทธิภาพ ได้มีส่วนช่วยบรรเทามลพิษทางน้ำ และเป็นแหล่งศึกษาทดลองด้านการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ดังพระราชทานกระแสที่พระราชทานแก่เจ้าหน้าที่ความตอนหนึ่งว่า

“ ในกรุงเทพมหานครต้องมีพื้นที่หายใจ แต่ที่นี่เราถือว่าเป็นไตกำจัดสิ่งสกปรกและโรค สวนสาธารณะถือว่าเป็นปอด แต่นี่เหมือนไตที่ฟอกเลือด ถ้าไตทำงานไม่ดีเราตาย อยากให้เข้าใจหลักการของความคิดนี้ ”
3. การบำบัดน้ำเสียโดยกระบวนการทางชีววิทยาผสมผสานกับเครื่องกลเติมอากาศแบบ “ สระเติมอากาศชีวภาพบำบัด ”
บึงพระราม 9 เป็นบึงขนาดใหญ่ เนื้อที่ประมาณ130 ไร่ มีความยาวถึง 1,300 เมตร ตั้งอยู่ในเขตที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ติดกับคลองลาดพร้าวบรรจบกับคลองแสนแสบในท้องที่เขตห้วยขวาง ซึ่งมีปัญหาภาวะมลพิษ น้ำเน่าเสียอย่างรุนแรงและมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากคลองลาดพร้าวเป็นคลองระบายน้ำหลักคลองหนึ่ง ของกรุงเทพมหานครซึ่งรับน้ำเสียมาจากแหล่งชุมชนที่อยู่ 2 ฝั่งคลอง ที่มีความกว้าง 20-30 เมตร ลึกประมาณ 3 เมตร น้ำไม่ใส มีตะกอนสีค่อนข้างดำ และมีกลิ่นเน่าเหม็นของก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานพระราชดำริมีใจความว่า “ …การใช้วิธีการทางธรรมชาติแต่เพียงอย่างเดียว ไม่พอเพียงในการบำบัดน้ำเสียให้ดีขึ้น จำเป็นต้องใช้เครื่องเติมอากาศในน้ำ โดยทำเป็นสระเติมอากาศ ซึ่งเป็นการใช้เครื่องจักรกลเติมอากาศมาช่วยเพิ่มออกซิเจนละลายน้ำ เพื่อให้แบคทีเรียชนิดที่ออกซิเจนช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสียแบบสระเติมอากาศ สามารถบำบัดน้ำเสียได้ดีกว่าบ่อเขียวที่ใช้ออกซิเจนตามธรรมชาติจากพืชน้ำ และสาหร่าย… ”

บึงพระราม 9
4. หลักการบำบัดน้ำเสียด้วยการผสมผสานระหว่างพืชน้ำกับระบบการเติมอากาศ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการแก้ไขโดยเร็วเกี่ยวกับปัญหาน้ำเน่าเสียที่ปล่อยลงหนองหาน และหนองสนม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร การบำบัดน้ำเสียที่หนองหานกระทำได้โดยให้รวบรวมน้ำเสียจากชุมชนในเขตเทศบาลที่ระบายลงในหนองหาน ซึ่งอยู่ใกล้กับโรงงานผลิตน้ำประปา และโรงพยาบาลมารวมกันที่จุดระบายน้ำทิ้ง ณ บริเวณใกล้ฌาปนสถาน ภูหมากเสือ ปริมาณน้ำเสียคิดเป็นร้อยละ 70 จากเขตเทศบาลแล้วให้จัดการโครงการบำบัดน้ำเสียโดยวิธีธรรมชาติผสมผสานกับเทคโนโลยีแบบประหยัด เพื่อสามารถรองรับการระบายด้วยชุมชนเทศบาลเมืองในอนาคต ระบบบำบัดน้ำเสียประกอบด้วยท่อรับน้ำเสียในเขตเทศบาลเมืองมาเข้าระบบบำบัดน้ำเสียในบ่อผึ่ง ( Waste water stabilization ponds ) โดยมีลานก้อนกรวดเพื่อทำหน้าที่กรองสารแขวนลอยและช่วยเติมออกซิเจนให้กับน้ำเสีย ตลอดจนช่วยให้เกิดจุลินทรีย์เกาะที่ก้อนกรวด ส่งผลให้มีการย่อยสารอินทรีย์ที่มีอยู่ในน้ำเสียให้ลดลงได้ก่อนน้ำเสีย ผ่นตะแกรงกระบะเพื่อรองรับเศษขยะ
5. หลักการบำบัดน้ำเสียด้วยระบบบ่อบำบัดน้ำเสียและวัชพืชบำบัดที่แหลมผักเบี้ย
โครงการวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อม แหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เป็นโครงการศึกษาวิจัยวิธีการบำบัดน้ำเสีย กำจัดขยะมูลฝอยและการรักษาสภาพป่าชายเลนด้วยวิธีธรรมชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ประกอบด้วยมูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร) กรมชลประทาน กรมป่าไม้ กรมประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันราชภัฏเพชรบุรี และเทศบาลเมืองเพชรบุรี ร่วมกันดำเนินงาน พระองค์ทรงมีความคิดในการกำจัดสิ่งที่เป็นพิษพวกโลหะหนักออกจากน้ำ และนำน้ำเสียที่บำบัดแล้วมาใช้ในการเกษตร ส่วนน้ำที่เหลือใช้ให้ปล่อยลงทะเล พระองค์ได้มีพระราชดำรัสว่า “ …ทางใต้ของประเทศออสเตรเลีย มีโครงการนำน้ำเสียไปใส่คลองแล้วระบายไปตามท่อ ลงบ่อใหญ่ที่อยู่ใกล้ทะเล ซึ่งมีพื้นที่หลายร้อยไร่แล้วบำบัดน้ำเสียให้หายสกปรก แล้วจึงปล่อยลงสู่ทะเล… ” จากนั้นจึงส่งเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กปร และกรมชลประทานเดินทางไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการบำบัดน้ำเสีย และการกำจัดขยะมูลฝอยที่ประเทศออสเตรเลีย โดยศึกษารูปแบบ และวิธีการมาปรับปรุงใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย

พระองค์ได้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยเห็นด้วย กับคณะทำงานที่จะบำบัดน้ำเสียที่ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี โดยการสร้างท่อระบายน้ำ รวบรวมน้ำเสียมารวมกันที่คลองยาว ที่จุดนี้ทำหน้าที่เป็นบ่อดักขยะ แยกถุงพลาสติก เศษผ้า เศษไม้ และตกตะกอนสารแขวนลอยขนาดใหญ่เพื่อลดความสกปรก และลดการทำงานของเครื่องปั๊มแล้วสูบน้ำเสีย จากคลองยาว มาบำบัดที่แหลมผักเบี้ย
6. การบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีการเติมอากาศ “ กังหันน้ำชัยพัฒนา ” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงห่วงใยในความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชนทั้งหลายเป็นอย่างมาก ได้เสด็จพระราชดำเนินพบเห็นสภาพน้ำเน่าเสียในพื้นที่หลายแห่งหลายครั้งทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและต่างจังหวัด พระราชทานพระราชดำริเรื่องการแก้ไขน้ำเน่าเสีย เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นเป็นภาวะมลพิษ และมีอัตราปริมาณน้ำเน่าเสียของประเทศสูงขึ้นเป็นลำดับ จนยากแก่การแก้ไขให้บรรเทาเบาบางลงได้ ส่งผลต่อสุขภาพพลานามัยที่เสื่อมโทรมแก่พสกนิกรทั้งหลาย
ระยะแรกปี พ.ศ.2527 – 30 พระองค์ทรงใช้น้ำที่มีคุณภาพดีช่วยบรรเทาน้ำเสียและวิธีกรองน้ำเสียด้วยผักตบชวา และพืชต่างๆ ซึ่งแก้ไขปัญหาได้ระดับหนึ่งเท่านั้น
ระยะที่สองปี พ.ศ.2531 สภาพความเน่าเสียของน้ำบริเวณต่างๆ มีอัตรารุนแรงมากยิ่งขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงพระราชทานพระราชดำริให้ประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศแบบประหยัดค่าใช้จ่าย สามารถผลิตขึ้นเองได้ในประเทศโดยได้แนวคิดมาจาก “ หลก ” ซึ่งเป็นอุปกรณ์การวิดน้ำเข้านาอันเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาสนับสนุนด้วยงบประมาณเพื่อการศึกษา และวิจัยสิ่งประดิษฐ์เครื่องกลแบบเติมอากาศชนิดนี้เรียกว่า กังหันน้ำชัยพัฒนา

7. การบำบัดน้ำเสีย โดยกระบวนการทางฟิสิกส์ “ สารเร่งตกตะกอน ” เป็นการบำบัดน้ำเสียโดยการใช้สารเคมีให้ตกตะกอนโดยการประดิษฐ์เครื่องบำบัดน้ำเสียให้มีสภาพดีขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานชื่อโมเดลของเครื่องนี้ว่า “TRX -1 ” โดยเติมสารเคมีที่ช่วยทำให้ตกตะกอน หรือสารเร่งตะกอน มีอยู่หลายชนิด เช่น สารส้ม เฟอร์ริกคลอไรด์ไอร์ออน (III) คลอไรด์เฟอร์ริกซัลเฟตไอร์ออน (III) ซันเฟต โซเดียมอลูมิเนต และปูนขาว ซึ่งการใช้สารเร่งตะกอนดังกล่าว น้ำที่บำบัดแล้วต้องใช้โซดาไฟปรับสภาพความเป็นกรด-เบสของน้ำให้เหมาะสม น้ำเสียประเภทต่างๆ จากแหล่งที่แตกต่างกัน เช่น คลองสามเสน คลองเปรมประชากร และคลองแสนแสบ ก่อนทำการบำบัดโดยใช้สารเคมีนี้ต้องตรวจสอบตุณภาพน้ำเสียก่อนและหลังบำบัด โดยเฉพาะเชื้อโรคและโลหะหนัก เพื่อที่จะได้นำตะกอนที่เกิดขึ้นภายหลังการบำบัดแล้วไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และบางครั้งต้องเติมก๊าซออกซิเจนลงไปด้วย นอกเหนือจากโครงการบำบัดน้ำเสียจากแหล่งต่างๆ ซึ่งแต่ละแหล่งอาจจะใช้วิธีการที่แตกต่างกันไป หรือผสมผสานกันแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ยังทรงมีพระราชหฤทัยห่วงใยถึงปัญหาวิกฤตการณ์น้ำคือ ปัญหาน้ำท่วมกับปัญหาน้ำแล้ง ซึ่งเกิดขึ้นสลับกันอยู่ตลอดเวลา ซึ่งพระองค์ได้คิดทฤษฎีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งดังต่อไปนี้
1.1.6 โครงการแก้ไขปัญหาน้ำแห้งแล้ง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยปัญหาวิกฤตการณ์ น้ำที่จะเกิดขึ้นของประเทศไทยในอนาคต เนื่องจากเกิดปัญหาน้ำท่วมกับปัญหาน้ำแล้งสลับกันอยู่ตลอดเวลา สร้างความสูญเสียอันยิ่งใหญ่แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป จำเป็นจะต้องสร้าง อ่างเก็บน้ำ ขนาดใหญ่เพื่อเป็นแหล่งต้นทุนน้ำในการชลประทานด้านเกษตรกรรมในฤดูแล้งและป้องกันอุทกภัยในฤดูน้ำหลาก อันเกิดจากลุ่มน้ำป่าสักและลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนกลาง จึงได้สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่งคือ ที่แม่น้ำป่าสักและอีกแห่งหนึ่งคือที่แม่น้ำนครนายก อ่างเก็บน้ำ 2 แห่งนี้มีความสามารถในการกักเก็บปริมาณน้ำรวมกันเพียงพอในการบริโภคและอุปโภค ทั้งนี้เนื่องจากแม่น้ำป่าสักมีปริมาณน้ำไหลเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 2,400 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคมมีปริมาณน้ำฝนถึง 1,600 ล้านลูกบากศ์เมตร และเป็นที่น่าเสียดายที่น้ำเหล่านี้ถูกปล่อยทิ้งลงทะเลโดยเปล่าประโยชน์ แทนที่จะเก็บไว้ใช้ เพื่อการอุปโภคและการเกษตร
นอกจากโครงการบำบัดน้ำเสียจากแหล่งต่างๆ การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และปัญหาน้ำแล้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ยังทรงตระหนักถึงปัญหาน้ำท่วม น้ำจืด น้ำเปรี้ยวและน้ำเค็ม ซึ่งทางภาคใต้ของประเทศไทยประสบปัญหาอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณพื้นที่รอบเขตดินพรุ และพื้นที่ใกล้กับเขตดินพรุ เช่น บริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช บริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำบางนรา จังหวัดนราธิวาส เป็นต้น พระองค์ได้ทรงจัดตั้งโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำเปรี้ยว จากเขตพื้นที่พรุที่ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมเป็นกรด ระบบป้องกันน้ำเค็มบุกรุก และระบบส่งน้ำจืดช่วยเหลือพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อการอุปโภคบริโภค เกี่ยวกับโครงการนี้พระองค์ได้ทรงวางแนวคิด และวิธีการในเรื่องการแยกน้ำแต่ละประเภทในพื้นที่เดียวกัน ให้แยกออกจากกันด้วยวิธีการที่แยบยล อันแสดงถึงพระราชอัจฉริยะภาพในศาสตร์ของน้ำอย่างแท้จริง
การแก้ไขปัญหาความแห้งแล้ง และการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรกรรม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีปรีชาสามารถ และพระราชอัจริยภาพส่วนพระองค์ในการแก้ไขปัญหาความแห้งแล้ง
และการขาดแคลนน้ำเพื่อเกษตรกรรม โดยดำเนินการตาม แนวทฤษฎีใหม่ ขณะเดียวกันก็มีน้ำไว้ใช้ตลอดปี เป็นการอำนวยประโยชน์ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน ทีเดียว
รูปแบบของทฤษฎีใหม่นี้ เกษตรกรจะแบ่งสัดส่วนพื้นที่ที่ดินโดยถัวเฉลี่ยประมาณ 15 ไร่ แบ่งเป็นนาข้าว 5 ไร่ พืชไร่และพืชสวน 5 ไร่ สระน้ำ 3 ไร่ (ลึกประมาณ 4 เมตร) และที่อยู่อาศัยอื่นๆ 2 ไร่ ทฤษฎีใหม่นี้มีจุดมุ่งหมายให้เกษตรกรมีความพอเพียง แบบเลี้ยงตัวเองได้ (Self sufficiency) โดยใช้จ่ายประหยัดและมีความสามัคคีในท้องถิ่น

ทฤษฎีใหม่
1.2 พระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำ พระราชดำริในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ ส่วนใหญ่เป็นพระราชดำริในพระองค์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จะทรงศึกษา และวางโครงการพัฒนา แหล่งน้ำระดับเบื้องต้นด้วยพระองค์เองก่อน หลังจากนั้นจึงพระราชทานพระราชดำริให้กับเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง นำไปพิจารณาวางโครงการ ในขั้นรายละเอียด และดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ จนถึงการก่อสร้างตามความเหมาะสม
ส่วนมากก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จะเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎร ณ หมู่บ้านใด จะทรงศึกษาสภาพภูมิประเทศ สภาพลำน้ำลำธารต่างๆ ตลอดจนสภาพหมู่บ้านนั้นและหมู่บ้านใกล้เคียงด้วย แล้วจะทรงพิจารณาวางโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเบื้องต้นเป็นเลาๆ ขึ้น โดยอาศัยแผนที่มาตราส่วน 1:50,000 เพื่อเตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำหรับช่วยเหลือราษฎรหมู่บ้านที่จะเสด็จพระราชดำเนิน บางครั้งพระองค์จะพระราชทานแผนที่ที่ทรงวางโครงการให้กับเจ้าหน้าที่กรมชลประทานรับไปพิจารณา และจัดทำรายงาน เบื้องต้นตามความเหมาะสม เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายก่อน สำหรับจะทรงใช้ประกอบในการพิจารณาหาทางช่วยเหลือราษฎรหมู่บ้านนั้นๆ ในวโรกาสที่จะเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรต่อไป

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงนำแผนที่มาตราส่วน 1:50,000 ไปกับพระองค์ทุกครั้ง ในระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรตามหมู่บ้านต่างๆ ทุกครั้งจะทรงสอบถามข้อมูลจาก กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และราษฎรที่มาเฝ้ารับเสด็จฯ เป็นต้นว่า การประกอบอาชีพ สภาพการทำนาและการเพาะปลูกอย่างอื่น สภาพฝนและแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีในบริเวณนั้นมีเพียงพอใช้ หรือขาดแคลนประการใดบ้าง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงศึกษาข้อมูลที่ทรงทราบ จากราษฎรโดยละเอียด หากปรากฏว่ามีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่เหมาะสม สร้างเสร็จในปีเดียว และเสียค่าลงทุนน้อย แต่ราษฎรได้รับประโยชน์มาก หรือเป็นการปรับปรุงทำนบดิน และฝายทดน้ำของราษฎรที่ชำรุด
จะมีรับสั่งให้เจ้าหน้าที่ของกรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างให้โดยเร่งด่วน ต่อหน้าราษฎรที่เฝ้ารับเสด็จฯ อยู่นั้น พร้อมทั้งทรงแนะนำให้ราษฎรรู้จักกับนายช่างที่จะเข้ามาช่วยจัดหาน้ำให้อีกด้วย หากเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สร้างไม่เสร็จในปีเดียวและใช้ค่าลงทุนสูง แต่ถ้าก่อสร้างแล้วจะให้ประโยชน์กับราษฎรในบริเวณนั้นอย่างมากแล้ว จะทรงวางโครงการเบื้องต้นไว้ในแผนที่มาตราส่วน 1:50,000 ซึ่งทรงนำไปทันที และทรงร่วมพิจารณากับเจ้าหน้าที่ของกรมชลประทาน รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องที่ตามเสด็จ ฯ ไปด้วย พร้อมกับพระราชทานแนวพระราชดำริในด้านต่างๆ รวมทั้งทรงรับฟังข้อคิดเห็นทางวิชาการและความเหมะสมจากการกราบบังคมทูลพระกรุณาของเจ้าหน้าที่ด้วย เพื่อให้ได้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สามารถอำนวย ประโยชน์ และสามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรได้อย่างครบถ้วน ตามความประสงค์ที่แท้จริงของราษฎร
พระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำที่พระราชทานให้กับส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการเพื่อช่วยเหลือราษฎรต่อไปนั้น เป็นแต่เพียงพระราชทานเป็นแนวทางให้เจ้าหน้าที่นำไปพิจารณาเท่านั้น โดยส่วนราชการที่รับพระราชทานพระราชดำริไป จะต้องพิจารณาและศึกษาและวางโครงการโดยละเอียดให้ถูกต้อง ตามหลักวิชาการเสมอไปทุกโครงการ หากโครงการใดทำการศึกษาโดยละเอียดแล้วไม่เหมาะสม เช่น ฐานรากเขื่อนไม่ดี ค่าก่อสร้างเขื่อนสูงมากไม่เหมาะสม หรือบางโครงการที่วางโครงการไว้ในแผนที่มาตราส่วน 1:50,000 ดูเหมาะสม แต่เมื่อไปสำรวจรายละเอียดภูมิประเทศจริงๆ แล้วปรากฏว่าภูมิประเทศไม่เป็นไปตามนั้น เนื่องจากแผนที่ 1:50,000 คลาดเคลื่อนจึงไม่เหมาะสม ก็ให้ส่วนราชการนั้นงดการก่อสร้างโครงการนั้นได้
นอกเหนือจากพระราชดำริในพระองค์ดังกล่าวข้างต้น บางครั้งในบางวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในชนบทตามหมู่บ้านต่างๆ ราษฎรจะกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานความช่วยเหลือเกี่ยวกับการจัดหาแหล่งน้ำ สำหรับให้ราษฎรได้มีน้ำกินและน้ำใช้เพื่อการเกษตร ซึ่งราษฎรจะรวมกันทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โดยจะรายงานข้อมูลและความต้องการไว้โดยละเอียด และบางรายจะวาดแผนที่สังเขปแนบกับฎีกาเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย สำหรับฎีกาที่ราษฎรทูลเกล้าฯ ถวายนั้น อาจจะกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานหลายเรื่องด้วยกัน เช่น แหล่งน้ำ ถนน ไฟฟ้า โรงเรียน ฯลฯ เป็นต้น
เกี่ยวกับเรื่องแหล่งน้ำหากทรงพิจารณาเห็นว่ามีทางที่จะจัดหาแหล่งน้ำช่วยเหลือราษฎรได้อย่างเหมาะสม จะพระราชทานพระราชดำริกับเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและตามเสด็จฯ ไปด้วย ให้รับไปพิจารณาดำเนินการช่วยเหลือตามความเหมาะสมทันที หากโครงการใดพิจารณาได้ยังไม่ชัดแจ้ง ก็จะทรงรวบรวมไว้ก่อนเพื่อพิจารณาศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับหาทางช่วยเหลือต่อไป โดยฎีกาของราษฎรทั้งหมดนี้ จะพระราชทานให้กับเจ้าหน้าที่ของสำนักราชเลขาธิการที่ตามเสด็จฯ เพื่อติดต่อประสานงานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณาวางโครงการในด้านหาทางช่วยเหลือราษฎรตามที่ ขอพระราชทานด้วย ซึ่งเรื่องเกี่ยวกับการขอพระราชทานแหล่งน้ำ ทางสำนักราชเลขาธิการจะจัดส่งให้ทางกรมชลประทานพิจารณา
จัดเข้าเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และพิจารณาความเหมาะสมแล้วดำเนินการสำรวจ ออกแบบ และก่อสร้างเพื่อสนองพระราชดำริต่อไป
นอกจากฎีกาของราษฎรที่ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรตามหมู่บ้านต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ยังมีราษฎรในชนบทหมู่บ้านต่างๆ อีกเป็นจำนวนมากทั่วประเทศที่ยังไม่มีโอกาสได้เฝ้ารับเสด็จฯ ก็มีความเดือดร้อนเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำกินและน้ำใช้เพื่อการเกษตรเช่นกัน ซึ่งราษฎรหมู่บ้านต่างๆ ดังกล่าวนี้อาจร่วมกันทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาโดยผ่านทางสำนักราชเลขาธิการ เมื่อสำนักราชเลขาธิการได้รับฎีกาขอพระราชทานแหล่งน้ำของราษฎร
แล้ว จะจัดส่งหนังสือติดต่อพร้อมด้วยสำเนาฎีกาดังกล่าว ให้กรมชลประทานช่วยพิจารณาความเหมาะสมของโครงการพร้อมข้อเสนอแนะต่าง ๆ ให้ หลังจากกรมชลประทานได้พิจารณาวางโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามที่ราษฎรทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาโดยละเอียดแล้ว หากโครงการมีความเหมาะสมก็จะเสนอแนะว่าเห็นสมควรรับไว้เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งกรมชลประทานจะได้พิจารณาดำเนินการสำรวจ ออกแบบ เพื่อดำเนินการก่อสร้างตามความเหมาะสม โดยส่งรายงานเบื้องต้นให้ทางสำนักราชเลขาธิการทราบ แล้วสำนักราชเลขาธิการก็จะนำผลการพิจารณาของกรมชลประทานพร้อมรายงานโครงการขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทต่อไป
ในการดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริโดยทั่วไปที่สำคัญทรงมี พระบรมราโชบายให้ราษฎรที่ได้รับประโยชน์ ควรมีส่วนร่วมในโครงการด้วย เพราะนอกจากทางราชการจะประหยัดงบประมาณของประเทศ และประหยัดเวลาในการดำเนินงานให้ครบถ้วนสมบูรณ์ตามโครงการแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้ราษฎรมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ และหวงแหนสิ่งก่อสร้างนั้น ซึ่งจะได้ช่วยกันทำนุบำรุงให้มีสภาพใช้การได้ดีตลอดไป และรู้จักแบ่งปันผลประโยชน์อันจะได้จากโครงการซึ่งกันและกันภายในหมู่บ้านและระหว่างหมู่บ้านต่อหมู่บ้านอีกด้วย
1.3 หลักและวิธีการดำเนินงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ต่อโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระปรีชาสามารถในด้านงานพัฒนาแหล่งน้ำเป็นอย่างยิ่ง พระองค์ทรงมีหลักและวิธีการดำเนินงานต่อการพัฒนาแหล่งน้ำให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ ทรงพิจารณาถึงความเหมาะสมเกี่ยวกับสภาพแหล่งน้ำ และทรงพิจารณาถึงความเหมาะสมในด้านเศรษฐกิจและสังคมเสมอ อาทิ จะทรงพิจารณา สภาพภูมิประเทศจากข้อมูลที่แสดงในแผนที่ รวมทั้งข้อมูลที่ทรงได้รับจากราษฎรว่ามีลู่ทางสามารถจัดทำโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในรูปแบบใด จึงจะมีความเหมาะสมกับความต้องการและเหมาะกับสภาพภูมิประเทศแต่ละแห่งนั้น
ในด้านความเหมาะสมเกี่ยวกับสภาพแหล่งน้ำ ซึ่งจะต้องพิจารณาให้เหมาะสมร่วมกับสภาพภูมิประเทศและความต้องการของราษฎรดังที่ได้กล่าวมาแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จะทรงพิจารณาวางโครงการพัฒนาแหล่งน้ำให้เหมาะสมกับสภาพแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่มีในแต่ละท้องถิ่นเสมอ กล่าวคือ จะทรงศึกษา คำนวณ สภาพของลำห้วย ณ บริเวณนั้นว่ามีปริมาณน้ำมากหรือน้อยเท่าใดก่อนทุกครั้ง เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับสภาพน้ำในการพิจารณาวางโครงการเบื้องต้นต่อไป เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปยังบริเวณดังกล่าว ก็มักเสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรสภาพการไหลของน้ำและขนาดของลำน้ำทุกคราวไป ทั้งนี้ เพื่อประกอบการพิจารณาวางโครงการของพระองค์ให้เหมาะสมกับแหล่งน้ำ สำหรับการพิจารณาในด้านความเหมาะสมเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม โดยจะทรงพิจารณาถึงค่าลงทุนในการก่อสร้างโครงการ ว่าจะคุ้มกับค่าลงทุนและเกิดประโยชน์ที่คาดว่าราษฎรในท้องถิ่นนั้นจะได้รับมากเพียงพอหรือไม่
ในด้านเกี่ยวกับสภาพท้องถิ่นและสังคม ทรงหลีกเลี่ยงการเข้าไปสร้างปัญหาความเดือดร้อนให้กับคนกลุ่มหนึ่ง โดยสร้างประโยชน์ให้กับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ การทำงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทุกแห่งจึงพระราชทานพระราชดำริไว้ว่าราษฎรในหมู่บ้าน หรือระหว่างหมู่บ้าน ซึ่งได้รับประโยชน์จะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดิน โดยจัดการช่วยเหลือราษฎรที่เสียประโยชน์ตามความเหมาะสมที่จะตกลงกันเอง เพื่อให้ทางราชการสามารถเข้าไปใช้ที่ดินทำการก่อสร้างได้โดยไม่ต้องจัดซื้อที่ดิน ซึ่งเป็นพระบรมราโชบายที่มุ่งหวังให้ราษฎรมีส่วนร่วมกับรัฐบาล และช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายในสังคมของตนเอง และมีความหวงแหนที่จะต้องดูแลบำรุงรักษาสิ่งก่อสร้างนั้นต่อไปด้วย ดังนั้น โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เช่น โครงการประเภทอ่างเก็บน้ำซึ่งราษฎรได้บุกรุกที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ แล้วไม่ยินยอมตกลงเรื่องที่ดินให้สร้างอ่างเก็บน้ำ จะทรงให้ระงับการดำเนินงานไว้ก่อน ก็มีอยู่หลายโครงการด้วยกัน
การปฏิบัติพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในด้านโครงการพัฒนาแหล่งน้ำนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เคยพระราชทานสัมภาษณ์พิเศษอยู่ในเรื่อง “ พระภัทรมหาราชกับงานช่าง ” พิมพ์ในวารสารวิศวกรรมสาร เล่มที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2527 ซึ่งเป็นวารสารรายสองเดือนของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ทรงเล่าถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เกี่ยวกับงานวิศวกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ด้านโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ มีรายละเอียดที่สมควรเผยแพร่เป็นอย่างยิ่ง จึงขออัญเชิญมาเพียงตอนหนึ่งมีใจความว่า …
“… ที่คนเห็นกันมาก ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติในด้านวิศวกรรม คือ งานพัฒนาแหล่งน้ำและการชลประทาน เท่าที่ได้ฟังกระแสพระราชดำรัสนั้น ท่านเห็นว่าเรื่องน้ำเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในงานเกษตรกรรม แม้แต่ดินจะไม่ดีบ้างหรือมีอุปสรรคด้านอื่นๆ ถ้าแก้ปัญหาในเรื่องแหล่ง น้ำที่จะใช้ในการเพาะปลูกได้แล้ว เรื่องอื่นๆ ก็จะพลอยดีขึ้นติดตามมา ในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำนั้น ส่วนใหญ่ก็จะใช้รวมๆ กัน ทั้งในด้านน้ำชลประทานนำมาใช้ในการเพาะปลูกโดยตรง กับน้ำที่ใช้ในครัวเรือนคือ น้ำกินน้ำใช้ มักจะรวมอยู่เบ็ดเสร็จในโครงการเดียวกัน คือ เมื่อมีโครงการหนึ่งแล้วก็ต้องให้ประโยชน์ในทุก ๆ ด้าน ในระยะหลัง ๆ นี้สังเกตว่าในการวางแผนการพัฒนาแหล่งน้ำนั้นท่านมุ่งลงไปในรายละเอียดด้วย
ในการควบคุมน้ำจะต้องพยายามคำนึงถึงทั้งงานด้านชลประทาน การควบคุมน้ำท่วมและทำในเรื่องการระบายน้ำไปด้วยในคราวเดียวกัน ไม่ให้เกิดปัญหา ถ้าสมมุติว่าการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของน้ำหรือระดับน้ำ จะมีผลต่อปัจจัยอื่น ๆ ในการเกษตร เช่น คุณภาพของดิน ก็ต้องเอาปัจจัยอันนั้นมาคิดและพิจารณาด้วยในการวางแผนการชลประทาน ในเวลาเดียวกันท่านก็นึกถึงว่าในช่วงเวลาทั้งปีนั้น จะมีน้ำดื่มน้ำใช้เพียงพอหรือเปล่า และไม่ได้คำนึงถึงเฉพาะแต่คนเท่านั้น ท่านก็ถามถึงว่า วัวควาย หรือปศุสัตว์นั้นมีน้ำกินเพียงพอหรือเปล่า ในบางท้องถิ่นที่ทำการเกษตรหลาย ๆ ประเภท ไม่เพียงแต่ทำนาอย่างเดียว ก็ต้องคำนึงว่าการใช้น้ำในรอบปีหนึ่งนี้จะพอเพียงในการทำกิจการอะไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการปลูกปอ ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นเสมอ ๆ คือ ชาวบ้านที่ทำปอนั้นจะเอาปอมาแช่ในแหล่งน้ำทำให้น้ำเน่า และน้ำนั้นก็คุณภาพไม่ดี ไม่สามารถ ใช้ทำนาและให้ปศุสัตว์กินได้ การวางแผนการชลประทานก็ต้องมีการแบ่งน้ำว่าน้ำส่วนนี้จะใช้ในการแช่ปอ น้ำส่วนนี้เป็นน้ำในการทำนา ส่วนนี้ใช้ให้ปศุสัตว์ได้กิน และในการวางแผนนั้น ก็ต้องคำนึงถึงคนที่อยู่ในบริเวณนั้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น บางครั้งทำอ่างเก็บน้ำ บริเวณที่เป็นอ่างเก็บน้ำมักจะเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน หรือเป็นไร่นา ก็ต้องคำนวณว่าเมื่อกั้นทำเป็นอ่างเก็บน้ำไปแล้ว จะท่วมที่ทำกินของชาวบ้านเท่าไร แล้วผลได้ผลเสียจากการทำนั้นจะเป็นอย่างไร ท่วมที่นาเข้าไปจำนวนหนึ่งผลประโยชน์คือจะได้นำไปเลี้ยงนาจำนวนมากกว่าที่เคย จะช่วยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอาจจะจาก 5 ถัง 10 ถังต่อไร่ เป็น 30 – 40 ถังต่อไร่ ก็ต้องทำในการทำนี้ถ้าไม่ได้รับความยินยอมพร้อมใจจากราษฎรในท้องที่ ถึงแม้ว่าในเชิงวิศวกรรมจะทำได้ ท่านก็ต้องรอไว้ก่อน ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ย่อมจะเป็นผู้ตัดสินใจเอาว่าจะทำหรือไม่ทำ บางครั้งทำแล้วท่วมที่นาของคนหนึ่ง แต่ว่าจะไปทำให้ได้ประโยชน์ต่ออีกคนกลุ่มหนึ่ง ก็ต้องเอามาปรึกษาหารือกันให้พร้อมหน้าอีกหนหนึ่ง แล้วจัดแบ่งรูปที่ดินเสียใหม่ให้คนที่ได้รับประโยชน์คือเดิมมีนา 5 ไร่ พอได้อ่างนี้ก็เนื้อที่ เท่าเดิมแต่เปรียบเสมือนว่ามีนา 50 ไร่ ก็ต้องแบ่งปันบางส่วนให้เพื่อนฝูงในหมู่บ้าน ที่เสียประโยชน์จากการทำอ่างน้ำอันนี้ …”
หลักและวิธีดำเนินงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่มีต่อการพัฒนาแหล่งน้ำสรุปได้ดังนี้
1. ทรงพิจารณาถึงความเหมาะสมเกี่ยวกับสภาพภูมิประเทศ ทรงพิจารณาร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ที่ตามเสด็จพระราชดำเนิน เพื่อหาลู่ทางในการดำเนินงานให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศไทย
2. ทรงพิจารณาถึงความเหมาะสมเกี่ยวกับสภาพแหล่งน้ำ โดยพิจารณาให้เหมาะสมกับสภาพแหล่งน้ำร่วมกับสภาพภูมิประเทศ และความต้องการของราษฎร
3. ทรงพิจารณาถึงความเหมาะสมในด้านเศรษฐกิจและสังคม ค่าใช้จ่ายในการลงทุน ประโยชน์ที่คาดว่าราษฎรในท้องถิ่นที่จะได้รับว่ามากเพียงพอหรือไม่ พระองค์ท่านทรงหลีกเลี่ยงการเข้าไปสร้างความเดือดร้อนให้แก่คนกลุ่มหนึ่ง โดยสร้างประโยชน์ให้แก่คนอีกกลุ่มหนึ่ง ด้วยเหตุนี้การทำงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทุกแห่งจึงพระราชทานพระราชดำริไว้ว่า ราษฎรในหมู่บ้านซึ่งได้รับประโยชน์ จะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหา เช่น เรื่องที่ดิน โดยจัดการช่วยเหลือผู้เสียประโยชน์ตามความเหมาะสมที่จะตกลงกันเอง ซึ่งเป็นพระบรมราโชบายที่มุ่งหวังให้ราษฎรมีส่วนร่วมกับรัฐบาล และช่วยเหลือเกื้อกูลกันเองในสังคมของตนเอง และมีความหวงแหนที่จะต้องดูแลรักษาสิ่งที่ก่อสร้างนั้นต่อไปด้วย
1.4 ประโยชน์ของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
จากการที่ส่วนราชการต่างๆ ได้ก่อสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำสนองพระราชดำริมาตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริสามารถให้ประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติเป็นส่วนรวม ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวในด้านต่างๆ โดยสรุป ดังนี้
1) พื้นที่เพาะปลูกจำนวนมากในเขตโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการเพาะปลูกอันเนื่องมา จากพระราชดำริ มีน้ำอย่างอุดมสมบูรณ์ สามารถทำการเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝน ฤดูแล้ง ช่วยให้ราษฎรในท้องที่ต่างๆ ซึ่งแต่เดิมทำการเพาะปลูกไม่ค่อยได้ผล แม้กระทั่งการทำนาปี ส่วนในฤดูแล้งทำการเพาะปลูกไม่ได้เลย เนื่องจากขาดแคลนน้ำเพราะต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลักสามารถทำการเพาะปลูกในฤดูฝนได้ผลผลิตมากขึ้น และมีความแน่นอน นอกจากนั้น ยังมีน้ำให้ทำการเพาะปลูกในระยะฤดูแล้งได้อีกด้วย
2) ในท้องที่บางแห่งซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยมีน้ำท่วมขังจนไม่สามารถใช้ทำการเพาะปลูกได้ หรือ ทำการเพาะปลูกไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร โครงการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ช่วยให้พื้นที่ต่างๆ เหล่านั้นสามารถใช้ทำการเพาะปลูกอย่างได้ผล ได้ผลผลิตสูงขึ้นและมีความแน่นอน ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้น
3) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งอ่างเก็บน้ำเหล่านั้นทางกรมประมงได้นำพันธุ์ปลา และพันธุ์กุ้งไปปล่อยไว้ทุกอ่างตามความเหมาะสม และอ่างเก็บน้ำใดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการ จะทรงปล่อยพันธุ์ปลา และอาจจะมีพันธุ์กุ้งด้วยเกือบทุกครั้ง ทำให้ราษฎรตามหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงกับอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ นอกจากจะมีอาหารปลาสำหรับบริโภคภายในครอบครัวแล้ว ราษฎรบางรายอาจจะมีเหลือนำไปขายเป็นรายได้เสริมหรือรายได้หลักของครอบครัวอีกด้วย
4) ช่วยส่งเสริมให้ราษฎรในเขตโครงการต่าง ๆ มีน้ำเพื่อการอุปโภค – บริโภคอย่างเพียงพอ ตลอดปี รวมทั้งสำหรับสัตว์เลี้ยงด้วย
5) พื้นที่เพาะปลูกและเขตชุมชนหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชุมชนเมืองใหญ่ๆ ย่อม มีปัญหาเกี่ยวกับน้ำท่วมหรืออุทกภัยอยู่เนืองๆ ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐบาลเป็นอันมาก โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประเภทโครงการบรรเทาอุทกภัยสามารถช่วยลดความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจดังกล่าว ให้ลดน้อยลงไปได้เป็นอย่างมาก เช่น บริเวณทุ่งฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
6) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริจะช่วยให้ ราษฎรตามชนบทที่อยู่ตามป่าเขา หรือในท้องที่ทุรกันดาร ซึ่งอยู่ห่างไกลจากเขตชุมชนได้มีไฟฟ้าใช้สำหรับให้แสงสว่างในครัวเรือน ทำให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ดีขึ้น และหากราษฎรทั้งหมู่บ้านสามารถร่วมมือกันก่อสร้างโรงสีข้าวชนิดใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กขึ้น ซึ่งจะใช้ไฟฟ้าสีข้าวในเวลากลางวันได้
7) ช่วยส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมด้านเกษตรอุตสาหกรรม ตามหมู่บ้านชนบทมากขึ้นโดยใช้ ผลิตผลเกษตรที่ได้จากหมู่บ้านซึ่งสามารถจะควบคุมได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ มาทำการผลิตได้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ซึ่งผลิตภัณฑ์เกษตรอุตสาหกรรมดังกล่าว จะเป็นสินค้าออกของประเทศได้เป็นอย่างดี
8) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในการจัดหาน้ำ สนับสนุนราษฎรชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ ให้มีพื้นที่ทำกินเป็นหลักแหล่ง โดยมีน้ำสำหรับการเพาะปลูกไม้เมืองหนาว และพืชเมืองหนาว รวมทั้งการปลูกข้าว เพื่อทดแทนการบุกรุกทำลายป่าบริเวณต้นน้ ลำธารสำหรับทำไร่เลื่อนลอย และปลูกฝิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคเหนือนั้น จะช่วยรักษาพื้นที่ป่าไม้บริเวณต้นน้ำลำธาร ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่าของชาติไว้ และเป็นการกำจัดแหล่งผลิตฝิ่นภายในประเทศ ซึ่งเป็นต้นตอของยาเสพติดของประเทศพร้อมกันไปด้วย
9) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการรักษาต้นน้ำลำธารอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยการสร้างฝายเก็บกักน้ำบริเวณต้นน้ำลำธารเป็นชั้น ๆ พร้อมระบบกระจายน้ำจากฝายต่าง ๆ ไปสู่พื้นที่สองฝั่งของลำธาร ทำให้พื้นดินสองฝั่งลำธารชุ่มชื้น และป่าไม้ตามแนวสองฝั่งลำธารเขียวชอุ่มตลอดปี ลักษณะเป็นป่าเปียกสำหรับป้องกันไฟเป็นแนวๆ กระจัดกระจายไปทั่วบริเวณต้นน้ำลำธารนั้น จะช่วยอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้บริเวณต้นน้ำลำธาร ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์ไว้ต่อไป
10) ราษฎรในชนบทที่อยู่ในเขตโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริจะมีรายได้สูงขึ้น มีการอยู่ดีกินดี โดยอาจมีรายได้หลักจากการเพาะปลูก และมีรายได้เสริมจากการประมง การเลี้ยงสัตว์ หรือการเกษตรอุตสาหกรรม นอกจากนั้น ยังมีน้ำเพื่อการอุปโภค – บริโภคตลอดปีอีกด้วย ทำให้สังคมในหมู่บ้านชนบทมีความเป็นอยู่ดีขึ้น และราษฎรประกอบอาชีพโดยสุจริตอย่างผาสุกกว่าแต่ก่อน เมื่อราษฎรในชนบทมีฐานะดีขึ้น ย่อมสามารถสนับสนุนให้บุตรหลานเข้ารับการศึกษาได้ในระดับสูงกว่าแต่ก่อน เป็นการยกระดับความรู้ของเยาวชนซึ่งจะเป็นกำลังของชาติ และยกระดับสังคมในชนบทขึ้นอีกด้วย อันจะเป็นการพัฒนาบุคคลหรือสังคมของชาติโดยส่วนรวมต่อไป นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณมากล้นสุดที่จะประมาณได้ต่อปวงชนชาวไทยทั้งหลายทุกหมู่เหล่า

2. การพัฒนาที่ดิน
การใช้ทรัพยากรดินของประเทศไทยในปัจจุบัน มีปัญหาทางด้านการใช้ที่ดินผิดประเภท เช่นการบุกรุกทำลายป่า ซึ่งควรสงวนไว้เป็นต้นน้ำลำธารมาทำไร่เลื่อนลอย หรือการใช้ที่ดินที่เหมาะสมต่อการเกษตรมาใช้เป็นที่อยู่อาศัย หรือเขตอุตสาหกรรม ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีอยู่ประมาณ 30 ล้านไร่ (คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงาน กปร., 2531 : 93) นอกจากนั้นปัญหาครอบครองและกรรมสิทธิ์ในที่ดินก็เป็นปัญหาสำคัญอีกปัญหาหนึ่งสำหรับเกษตรกร มีพื้นที่ 66.3 ล้านไร่ ซึ่งมีเกษตรกรทำกินอยู่โดยไม่มีเอกสารสิทธิ์ใดๆ เลย และมีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยกว่า 5 แสนครอบครัว หรือ 10.7 % ของครอบครัวเกษตรกรทั่วประเทศอยู่ในสภาพไร้ที่ทำกิน เมื่อรวมการเช่าที่ดินทั้งจากเกษตรกรที่มีที่ทำกินไม่เพียงพอ และเกษตรกรที่ไร้ที่ทำกินแล้ว รวมพื้นที่เช่าหมด 14 ล้านไร่
การจัดสรรและพัฒนาที่ดินทำกิน สำหรับราษฎรที่ไม่มีที่ดินทำกิน ทำให้ชาวชนบทจำนวนมากไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้มีการอพยพโยกย้ายเข้าไปเปิดที่ดินทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และทำลายพื้นที่ป่าไม้ลงเป็นจำนวนมาก เพื่อทำการเกษตร จำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ที่ทำกินไม่งอก จำเป็นต้องมีการวางแผนการใช้ที่ดินที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด และต้องมีการจัดและพัฒนาที่ดินอย่างเป็นระบบให้กับราษฎรที่ไม่มีที่ดินทำกิน แนวพระราชดำริที่พระราชทานให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีดังนี้
1. ให้สร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ควบคู่ไปกับการขยายพื้นที่ทำกินให้กับราษฎร
2. ในการหาที่ทำกินให้ราษฎร ต้องคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมบริเวณใกล้เคียงด้วย
3. ต้องมีการฝึกอาชีพให้ราษฎรสามารถเลี้ยงตัวเองได้และทำกินเป็นหลักแหล่ง
4. ให้มีการจัดระเบียบหมู่บ้านในรูปสหกรณ์
5. ให้มีการแบ่งประเภทการใช้ที่ดินให้เหมาะสมกล่าวคือ ที่ดินที่สามารถทำเกษตรกรรมได้ก็
ให้ใช้ทำเกษตรกรรม และให้มีการรักษาสภาพป่าไว้ตามความเหมาะสมด้วย โดยการปลูกป่าทดแทนด้วยไม้ 3 ชนิด หรือที่เรียกว่า “ ป่า 3 อย่าง ” คือไม้สำหรับใช้สอย ไม้ผล และไม้สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานทานพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำโครงการจัด และพัฒนาที่ดินเพื่อการเกษตร สำหรับราษฎรที่ไม่มีที่ดินทำกินขึ้นในท้องที่ต่างๆ โดยจัดสรรพื้นที่ที่ไร้ประโยชน์หรือพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม พื้นที่แห้งแล้ง ให้เกษตรกรมีสิทธิทำกินชั่วลูกหลายแต่มิได้ให้สิทธิในการซื้อขาย โดยนำเทคโนโลยีการเกษตรแผนใหม่มาใช้พัฒนาสภาพที่ดิน และใช้หลักการ วิธีการ ตลอดจนอุดมการณ์ของสหกรณ์มาทำการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ให้มีการสร้างถนน สาธารณูปโภคที่จำเป็นสำหรับชุมชน การสร้างโรงงานสำหรับผลผลิตในแต่ละหมู่บ้าน เป็นต้น

โครงการพัฒนาที่ดินทำกินโครงการแรกที่ทรงมีพระราชดำริให้ตั้งขึ้นคือ โครงการจัดพัฒนาที่ดินหุบกระพงตามพระราชประสงค์ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2506 มีการพัฒนาที่ดินจัดระบบชลประทาน การศึกษาทดลองการทำการเกษตรในที่ดังกล่าวเป็นเวลา 5 ปี เมื่อได้ผลจึงได้
อพยพครอบครัวเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน 82 ครอบครัว รวมทั้งเกษตรกรที่อาศัยในพื้นที่เดิมอยู่เดิมอีก 46 ครอบครัว เข้าไปอยู่อาศัยครอบครัวละ 25 ไร่ ตั้งเป็นหมู่บ้านเกษตรกรโดยได้รับความช่วยเหลือ จากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน และกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม
ในปีพ.ศ.2518 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และที่ดินที่มีผู้น้อมเกล้าฯ ถวายในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา นครปฐม เพชรบุรี สุพรรณบุรี ปทุมธานี สระบุรี และนครนายก ให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร จัดโครงการปฏิรูปที่ดินเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน โดยให้สิทธิที่ทำกิน แต่ไม่ให้สิทธิในการซื้อขายและให้มีการพัฒนาเป็นหมู่บ้านสหกรณ์ด้วย
นอกจากนี้พระองค์ได้พระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฏร ที่ไม่มีที่ทำกินในลักษณะของโครงกา รจัดพัฒนาที่ดินอีกหลายโครงการ เช่น โครงการห้วยองคต อันเนื่องมาจากพระราชดำริ กิ่งอำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี ในพื้นที่ 20,625 ไร่ แต่เดิมนั้นเป็นป่าสงวนที่ได้มีการจัดสรรที่อยู่อาศัยให้ราษฏรครอบครัวละ 1 ไร่ ที่ดินทำกินครอบครัวละ 8 ไร่ จัดให้มีตลาด สถานีขนส่ง ศาลาประชาคม ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สนามกีฬา สิ่งสาธารณูปโภคต่างๆ อ่างเก็บน้ำ พร้อมระบบส่งน้ำไปยังพื้นที่การเกษตรทั่วถึงทุกแปลง โรงเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาและปวช. ตลอดจนโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง
พื้นที่ของโครงการฯ จำนวน 4,030 ไร่ ได้มีการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าที่เสื่อมโทรมให้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง และมีการป้องกันการบุกรุกป่าด้วย
โครงการพัฒนาที่ดิน
2.1 โครงการจัดพัฒนาที่ดิน ฯ ตามพระราชประสงค์
“ หุบกระพง ”
“….. อย่างที่เคยบอกเอาไว้เมื่อประมาณ สิบ ….. สิบห้าปีมาแล้วว่าเริ่มต้นอย่างไร บ้าน เป็นบ้านไม้ไผ่ พื้น เป็นดินธรรมดา ต่อไปเราจะมีบ้านเป็นไม้กระดาน เราจะมีพื้นเป็นซิเมนต์ เป็นคอนกรีต แล้วต่อไปเราก็คงมีบ้านเป็นตึกได้อย่างดี ….. เรื่องบ้านเป็นไม้ไผ่ เป็นตึก หรือว่าอิฐนั้น มัน
เป็นสิ่งภายนอก แต่เป็นสิ่งที่แสดงให้เราเห็นว่า เรามีความเจริญขึ้น และความเจริญนี้สร้างด้วยอะไร สร้างด้วย ความตั้งใจ สร้างด้วยความขยัน สร้างด้วยความสามัคคีของเหล่าสมาชิก สร้างด้วยความบริสุทธิ์ใจ ด้วยความสุจริตใจ …..”
ปีที่เริ่มโครงการ
พุทธศักราช 2507
วัตถุประสงค์
1. เพื่อช่วยเหลือสมาชิกกลุ่มไร่ผัก ตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ ให้มีที่ทำกินเพียงพอแก่อัตภาพ ทั้งในด้านประกอบอาชีพและอยู่อาศัย
2 . เพื่อทดลองดำเนินการเป็นตัวอย่างในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ให้เกิดประโยชน์ด้านผลผลิตทางการเกษตรที่สูงสุด
3. เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรได้ประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และมีความรู้ความเข้าใจในการช่วยตนเอง ตามหลักพัฒนาชุมชน
4. เพื่อส่งเสริมให้ราษฎรที่เข้ามาเป็นสมาชิกในที่ดินจัดสรร มีการรวมกลุ่มในการประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน อันเป็นพื้นฐานในการจัดตั้งเป็นรูปสหกรณ์ต่อไป
ประวัติความเป็นมา
ในปีพ.ศ.2505 ราษฎร 40 ครอบครัวซึ่งได้อาศัยที่ดิน 90 ไร่ ในเขตนิคมสร้างตนเอง “ เขื่อนเพชร ” สำหรับปลูกผักสวนครัวเลี้ยงชีพ ได้ประสบปัญหาในการขายผลิตผลแล้วมีกำไรน้อยไม่เพียงพอกับการครองชีพ จึงได้ขอความช่วยเหลือจากฝ่ายเอกชนและฝ่ายราชการ โดยได้รับการแนะนำแก้ปัญหาในเรื่องเงินทุน ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช และการจัดหาตลาดจำหน่ายผลิตผล ต่อมาในการเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานประทับแรม ณ พระราชวังไกลกังวล ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทถึงความเป็นอยู่ของกลุ่มชาวไร่สวนผัก ซึ่งพยายามดำรงชีพโดยการพัฒนาตนเอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ จึงได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยี่ยมราษฎรกลุ่มนี้ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์สิ่งอุปโภคบริโภคและด้านปัจจัยในการผลิตอยู่เป็นนิจ อีกทั้งได้พระราชทานพระราชดำริแก่เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยว่า ควรมีการจัดพัฒนาที่ดินที่ยังรกร้างว้างเปล่าอยู่ ให้ราษฎรที่ต้องการจะช่วยตนเอง และช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ได้เข้ามาทำมาหากินให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง ซึ่งพระราชดำรินี้ รัฐบาลได้รับสนองดำเนินการโดยการจัดตั้งโครงการไทย – อิสราเอล เพื่อพัฒนาชนบทขึ้น ในปี พ.ศ.2507
สถานที่จัดตั้ง
สถานที่จัดตั้งโครงการ ฯ ใช้ที่ดินที่มีชื่อเรียกกันว่า “ หุบกระพง ” หรือ “ หุบตาพง ” อยู่ในอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ระยะทางห่างจากหลักกิโลเมตรที่ 199 ของถนนเพชรเกษมเข้าไปประมาณ 5 กิโลเมตร จำนวนเนื้อที่ รวม 10,000 ไร่ มีสภาพแห้งแล้งเพราะขาดแหล่งน้ำ ซึ่งได้ถูกทอดทิ้งให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า
วิธีการดำเนินงาน
1. ให้มีการจัดตั้งศูนย์สาธิตและทดลองเกษตร ในเนื้อที่ 500 ไร่ เพื่อทำการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตพืชผลชนิดต่างๆ รวมทั้งการแสวงหาตลาดเพื่อรับผลผลิต ก่อนที่จะจัดตั้งหมู่บ้านสหกรณ์ตัวอย่าง
2. ให้มีการจัดสรรที่ดินสำหรับสมาชิกได้เข้าอยู่อาศัยและประกอบอาชีพทางการเกษตร โดยจัดสรรที่ดินออกเป็นแปลง ครอบครัวละประมาณ 25 ไร่ ซึ่งสมาชิกที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าทำกินมีสิทธิในการทำมาเลี้ยงชีพในที่ดิน ตลอดชั่วชีวิตลูกหลาน แต่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในการซื้อขายที่ดิน
3 . ให้มีการส่งเสริมอาชีพสมาชิกโดยเน้นหนักด้านการส่งเสริมการเกษตร ในการแนะนำให้สมาชิกมีความรู้วิธีการเพาะปลูกให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ
การดำเนินงาน
พ.ศ.2507 – 2509 หน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้วยความร่วมมือจากที่ปรึกษาจากประเทศอิสราเอล ได้จัดตั้งศูนย์สาธิตและทดลองเกษตรของโครงการไทย – อิสราเอล เพื่อพัฒนาชนบท ทำการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับพืชผล การแสวงหาตลาดเพื่อรับผลผลิต ตลอดจนการบุกเบิกพื้นที่ การตัดถนน การสร้างอาคารโครงการฯ และการขุดสร้างบ่อน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร
พ.ศ.2510 ภายหลังจากการดำเนินงานหาข้อมูลจนเป็นที่มั่นใจพอสมควรแล้วได้มีการคัดเลือกเกษตรกร 2 ครอบครัว เข้าทดลองผลิตและจำหน่ายพืชผลต่าง ๆ ในลักษณะที่เกษตรกรจะพึงปฏิบัติได้ในเนื้อที่ครอบครัวละ 25 ไร่ โดยให้แยกเป็นแปลงสำหรับพืชน้ำชลประทาน ( พืชผักและพืชสวน อาทิ มะเขือเทศ หน่อไม้ฝรั่ง พริกหยวก หอมต่าง ๆ มะม่วง ชมพู่ ละมุด เป็นต้น ) 7 ไร่ และแปลงสำหรับปลูกพืชน้ำฝน ( พืชไร่ อาทิ ข้าวโพด แตงโม ข้าวฟ่าง อ้อย เป็นต้น ) 18 ไร่
พ.ศ.2511 ในเมื่อผลการทดลองด้านการผลิต และการตลาดแสดงให้เห็นว่าพืชผลที่ได้จากสองครอบครัวแรก พอจะทำให้เห็นลู่ทางแห่งความสำเร็จได้ จึงได้มีการอนุญาตให้เกษตรกรจำนวน 120 ครอบครัว จากไร่สวนผัก เข้ามาตั้งรกรากทำมาหากินในบริเวณโครงการฯ
พ.ศ.2514 เมื่อกิจการหมู่บ้านเกษตรกรตัวอย่างได้ดำเนินไปด้วยดีพอสมควรแล้ว เกษตรกรได้พร้อมใจกันตั้งสหกรณ์การเกษตรหุบกระพง จำกัด ขึ้น โดยได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2514 เพื่อร่วมกันดำเนินงานในด้านธุรกิจต่างๆ ของหมู่บ้านตัวอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสินเชื่อการเกษตร รวมทั้งด้านการซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคมาจำหน่ายแก่สมาชิก
พ.ศ.2515 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานพระราชานุญาตให้สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยดำเนินการจัดซื้อวัสดุ อาทิ ป่านศรนารายณ์ และจัดหาผู้ฝึกสอนการจักสานเครื่องใช้ในครัวเรือนมาร่วมโครงการฝึกอาชีพกลุ่มสตรีหุบกระพง ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณให้นักวิชาการมาฝึกสอนวิชาชีพแก่กลุ่มสตรีมาตั้งแต่เริ่มแรก เพื่อให้ครอบครัวของเกษตรกรได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
พ.ศ.2516 ได้มีการจัดสร้างโรงอบกล้วย เพื่อทำกล้วยตากออกจำหน่าย ได้มีการจัดตั้งร้านค้าสหกรณ์ และได้จัดซื้อรถแทรกเตอร์มาใช้ในการเตรียมดินสำหรับการเพาะปลูก โดยสหกรณ์จะคิดค่าบริการแก่สมาชิกในอัตราย่อมเยา
พ.ศ.2517 ได้มีการสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โดยการสร้างฝายน้ำล้นในที่สูงสำหรับกักน้ำในลำธารให้ค่อยๆ ไหลซึมตามลำธารใต้ดินไปยังพื้นที่ของเกษตรกรในที่ต่ำ เพื่อที่จะได้มีน้ำเกิดขึ้นเมื่อมีการขุดบ่อน้ำใช้ในอนาคต และได้มีการจัดสร้างโรงงานสกัดน้ำมันเมนธอลจากต้นมินต์ และจัดตั้งศูนย์โภชนาการเด็ก
พ.ศ.2518 ได้จัดสร้างสำนักงานสหกรณ์การเกษตรหุบกระพง จำกัด ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางสำหรับการติดต่อประสานงานระหว่างสมาชิกสหกรณ์ฯ ตลอดจนเกษตรกรผู้สนใจเข้าชมการดำเนินงานของสมาชิกสหกรณ์ฯ
ทุกครั้งที่มีการเสด็จพระราชดำเนิน ทั้งที่เป็นทางราชการและที่เป็นการส่วนพระองค์ เพื่อทรงเยี่ยมเยียนสมาชิกสหกรณ์การเกษตรหุบกระพง จำกัด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จะพระราชทานกระแสพระราชดำรัสและพระราชดำริเกี่ยวกับการเกษตรกรรม อีกทั้งทรงพระราชปฏิสันถารเกี่ยวกับความทุกข์สุข ตลอดจนความเป็นอยู่ของเกษตรกรและครอบครัว ซึ่งกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มักแสดงออกถึงความพอพระราชหฤทัย ที่ฝ่ายราชการและฝ่ายเกษตรกรได้ร่วมมือกันเป็นอย่างดีในการพัฒนาที่ดิน และพัฒนาบุคคลให้มีความรับผิดชอบ มีความขยันหมั่นเพียรและมีความสามัคคี อันจะนำมาซึ่งความเจริญและความมั่นคงของส่วนรวม
การดำเนินงานของสมาชิกสหกรณ์การเกษตรหุบกระพง จำกัด ได้ประสบความสำเร็จเจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ กล่าวคือสมาชิกฯ สามารถยกระดับความเป็นอยู่ของตนเองให้ดีขึ้น และได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกันสมดังพระราชประสงค์ ทั้งนี้เมื่อถึงเวลาอันสมควรที่สมาชิก ฯ สามารถที่จะยืนอยู่ได้ด้วยลำแข้งของตนเองแล้ว หน่วยราชการต่าง ๆ ซึ่งเปรียบเสมือนพี่เลี้ยงของสมาชิกฯ ตลอดมา ก็จะต้องถอนตัวออกไป เพื่อไปปฏิบัติภารกิจอย่างเดียวกันนี้ในท้องถิ่นชนบทตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศต่อไป อันเป็นภาระหน้าที่ที่ไม่มีวันจบสิ้น
ผู้รับผิดชอบโครงการ : สหกรณ์การเกษตรหุบกระพง จำกัด อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
2.2 โครงการจัดพัฒนาที่ดิน ฯ ตามพระราชประสงค์ “ หนองพลับ ”
ปีที่เริ่มโครงการ
พุทธศักราช 2513
วัตถุประสงค์
1. เพื่อนำทรัพยากรธรรมชาติ ออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านการผลิตอย่างสูงสุด
2. เพื่อส่งเสริมให้ราษฎรมีที่ดินอย่างเพียงพอสำหรับประกอบอาชีพ และอยู่อาศัยตลอดไป
3. เพื่อส่งเสริมให้ราษฎรรู้จักการช่วยตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางที่จะเกิดประโยชน์แก่ตนเองและส่วนรวม ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม โดยการอยู่อาศัยในหมู่บ้านสหกรณ์
ประวัติความเป็นมา
โครงการจัดพัฒนาที่ดินฯ ตามพระราชประสงค์ หนองพลับ เกิดขึ้นเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเห็นว่า ยังมีราษฎรอยู่อีกเป็นจำนวนมากที่ขาดที่ดินทำมาหากินเป็นหลักแหล่ง และได้บุกรุกเข้าไปครอบครองที่ดินของรัฐบาลโดยพลการเพิ่มขึ้นทุกที ซึ่งการกระทำเช่นนี้ นอกจากจะเป็นการบุกรุกทำลายป่าไม้ของชาติแล้ว ราษฎรยังไม่สามารถที่จะดำรงชีพโดยการประกอบเกษตรกรรมอย่างเป็นหลักแหล่งถาวรอีกด้วย ดังนั้น จึงมีพระราชประสงค์ที่จะทดลองดำเนินการโครงการจัดพัฒนาที่ดินแผนใหม่ ซึ่งรัฐบาลได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายที่ดินของรัฐในหุบเขาซึ่งมีอาณาบริเวณติดต่อกันในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และในจังหวัดเพชรบุรี ให้เป็นแหล่งสำหรับราษฎรใช้เป็นที่ประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม โดยมีสิทธิครอบครองให้คงอยู่ชั่วลูกชั่วหลาน แต่ไม่มีกรรมสิทธิ์การซื้อขายที่ดินนั้นๆ
สถานที่จัดตั้ง
สถานที่จัดตั้งโครงการฯมีอาณาบริเวณติดต่อกันอยู่ในท้องที่ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตำบลห้วยทรายเหนือ อำเภอชะอำ และตำบลกลัดหลวง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ระยะทางห่างจากตัวอำเภอหัวหิน 33 กิโลเมตร จำนวนเนื้อที่รวม 50,000 ไร่ มีสภาพพื้นที่ราบอยู่ในหุบเขา ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินได้ทำการสำรวจคุณภาพของดิน ได้ผลโดยสรุปว่า เนื้อที่ประมาณ 25,000 ไร่ เหมาะแก่การเพาะปลูก ส่วนที่เหลือเป็นที่ดินที่มีสภาพเหมาะที่จะพัฒนา ให้เป็นที่ดินสำหรับการปลูกทุ่งหญ้าและการปศุสัตว์
วิธีการดำเนินงาน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราโชบายในหลัก และวิธีการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ การแบ่งเนื้อที่ดำเนินการ การจัดที่ดินให้ราษฎรเพื่ออยู่อาศัยและประกอบอาชีพ และการส่งเสริมสนับสนุนการประกอบอาชีพของราษฎร โดยการสาธิตและการแนะนำหลักวิชาการเกษตรกรรมที่ถูกต้อง
การดำเนินงาน
ในปีพ.ศ.2513 – 2514 ข้าราชการกรมพัฒนาที่ดินพร้อมด้วยข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการสำรวจจำแนกที่ดิน และตรวจสภาพเศรษฐกิจและสังคมของราษฎรที่อาศัยทำกินอยู่ในที่สงวนของรัฐ เพื่อเตรียมการจัดตั้งโครงการพัฒนาที่ดินฯ ตามพระราชประสงค์หนองพลับ เพื่อที่จะให้ราษฎรประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม โดยเป็นสมาชิกหมู่บ้านสหกรณ์การเกษตร มีสิทธิทำกินในที่ดินชั่วลูกชั่วหลาน แต่ไม่มีกรรมสิทธิ์การซื้อขายที่ดินนั้นๆ ด้วยเหตุที่ที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของสมาชิกหมู่บ้านสหกรณ์การเกษตรโดยส่วนรวม
ปีพ.ศ.2515 สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท ด้วยความร่วมมือของรัฐบาลออสเตรเลียในเรื่องเครื่องจักรกล ได้ทำการบุกเบิก ปราบและปรับที่ได้ 3,540 ไร่ สร้างถนนในบริเวณโครงการฯ เป็นถนนมาตรฐาน 7 สาย และสร้างบ่อน้ำในไร่นา 2 บ่อ ตามลำดับ โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมแผนที่ทหารบกในการสำรวจระดับพื้นดิน และกรมทรัพยากรธรณีในการขุดบ่อน้ำบาดาลเพื่อใช้อุปโภคบริโภครวม 4 บ่อ ในขณะเดียวกันกรมพัฒนาที่ดินได้สำรวจวิเคราะห์สภาพดิน และปลูกสร้างอาคาร กรมป่าไม้ได้เตรียมการเพาะกล้าไม้และปลูกไม้ริมถนน และกรมอุตุนิยมวิทยาได้ติดตั้งเครื่องตรวจสอบอากาศ
ระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงตุลาคม พ.ศ.2515 กรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินการให้ราษฎรจับสลากเข้าทำกินในที่ดิน ครอบครัวละประมาณ 25 ไร่ รวม 47 ราย โดยได้ประมาณว่า ราษฎรผู้เข้าทำกินจะต้องชำระเงินช่วยรัฐบาลลงทุนไร่ละ 200 บาท โดยผ่อนเงินระยะยาวไม่เกิน 12 ปี ซึ่งเงินจำนวนนั้นจะนำไปบำรุงเป็นทุนหมุนเวียนของสหกรณ์การเกษตรหนองพลับ จำกัด และได้ดำเนินการเลือกตั้งกรรมการดำเนินงานของสมาชิกโครงการฯ เพื่อบริหารงานของสมาชิกและประสานงานกับศูนย์โครงการ ฯ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ให้การสนับสนุนและแนะนำทางด้านวิชาการ ซึ่งในปีแรกนี้สมาชิก
โครงการฯ ได้ตัดสินใจจดทะเบียนเป็นสหกรณ์การเกษตรหนองพลับ จำกัด เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2515 และได้กู้เงินจากเงินทุนส่งเสริมสหกรณ์ในวงเงิน 50,000 บาท เพื่อใช้ในการปลูกข้าวโพดสมาชิกละ 11 ไร่ ถั่วลิสงสมาชิกละ 4 ไร่ และพืชผลอื่นตามความสมัครใจ ซึ่งเมื่อปิดบัญชีสหกรณ์การเกษตรหนองพลับ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2516 ปรากฏว่าสหกรณ์ฯ มีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 31,722.01 บาท อันเป็นผลให้สมาชิกได้รับเงินปันผลตามส่วนธุรกิจเพิ่มขึ้นอีกในอัตราร้อยละ 5
ปี พ.ศ.2516 ได้มีการบุกเบิกปราบและปรับพื้นที่เพิ่มขึ้น โดยปรับพื้นที่ตามแบบขั้นบันไดเพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาน้ำฝนชะดินทลาย และได้ไถพรวนเตรียมดินเพื่อการเพาะปลูกรวม 1,600
ไร่ พร้อมทั้งเปิดหมู่บ้านสหกรณ์ที่ 1 จับสลากรับสมาชิกเพิ่มเติมอีก 65 ครอบครัว และขยายงานการจัดแปลงสาธิตและทดลองพืชไร่ และพืชผักของศูนย์โครงการฯ
ปี พ.ศ.2517 ได้มีการก่อสร้างถนน การทำแนวคันดินกั้นน้ำ การก่อสร้างทางระบายน้ำ ตลอดจนบ่อน้ำในไร่นา และการเจาะบ่อบาดาล พร้อมสร้างกังหันลมเหล็กหนึ่งอัน ซึ่งรัฐบาลประเทศออสเตรเลียได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเพื่อสูบน้ำขึ้นจากบ่อบาดาล อีกทั้งได้เปิดที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น 2,500 ไร่ พร้อมทั้งจับสลากรับสมาชิกเข้าอีก 21 ครอบครัว
ปี พ.ศ.2518 ได้มีการบุกเบิกพื้นที่เพิ่มขึ้นเพื่อเตรียมเปิดหมู่บ้านสหกรณ์ที่ 2 ซึ่งงานต้องล่าช้าเกินคาดหมายเนื่องจากปัญหาดินฟ้าอากาศไม่อำนวยต่อการบุกเบิกพื้นที่ แต่ได้มีการก่อสร้างบ่อน้ำในไร่นา และการทำอ่างเก็บน้ำในหุบเขาสำเร็จลงตามคาดหมาย พร้อมทั้งทำการสำรวจระดับพื้นดินเพื่อเตรียมการบุกเบิกพื้นที่ต่อไป
ทุกครั้งที่มีการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโครงการจัดพัฒนาที่ดินฯ ตามพระราชประสงค์ หนองพลับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานกระแสพระราชดำรัสแก่สมาชิกสหกรณ์ฯ ถึงความสำคัญที่จำต้องมีความสามัคคีในการทำมาหากิน ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ตลอดจนพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการประสานงานระหว่างสมาชิกสหกรณ์ฯ และหน่วยราชการต่างๆ เพื่อการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะนำมายังความเจริญของสมาชิกสหกรณ์ฯ ตลอดจนครอบครัว
สรุปกระแสพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่คณะกรรมการและเจ้าหน้าที่โครงการ ฯ ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโครงการจัดพัฒนาที่ดิน ฯ ตามพระราชประสงค์ ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
วันจันทร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2518
1. นโยบายของโครงการ ฯ
1.1 เมื่อจัดสรรที่ดินในโอกาสต่อไป (หมู่บ้านที่ 3 ขึ้นไป) ควรมีการลดจำนวนที่ดินเพื่อการเพาะปลูก จาก 25 ไร่ เป็น 15 ไร่ ซึ่งควรเพียงพอสำหรับการทำกินของราษฎร (ตามแนวทฤษฎีใหม่)
1.2 จำนวนพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกซึ่งจะจัดสรรให้ใหม่นั้น ไม่จำเป็นต้องเท่ากันเสมอไป ทั้งนี้ หากมีการจับสลากได้พื้นที่ที่ดินไม่ดี หรือเป็นหลุมเป็นบ่อ อาจพิจารณาเพิ่มจำนวนที่ดินให้ได้
1.3 จำนวนพื้นที่สำหรับการปลูกบ้านและทำสวนครัวนั้น หากกำหนดให้ 4 ไร่ ก็ควรจะเพียงพอ
1.4 หมู่บ้านแต่ละหมู่บ้านควรมีขอบเขต และที่ดินเพื่อการเพาะปลูกนั้น ควรอยู่บริเวณใกล้เคียงหมู่บ้าน เพื่อความสะดวกของเกษตรกร
1.5 ไม่ควรมีการแบ่งเขตรับผิดชอบงานระหว่างอำเภอหรือจังหวัด เพราะเป็นหน้าที่ของข้าราชการที่จะต้องให้บริการแก่ประชาชน ฉะนั้นหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของจังหวัดเพชรบุรี และของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ควรตกลงผลัดเปลี่ยนวันเข้าไปตรวจรักษาประชาชนในเขตของโครงการฯ โดยทั่วถึง
1.6 ควรมีการประกาศเกี่ยวกับป่าเตรียมสงวน โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายจังหวัด และกรมป่าไม้ควรวางมาตรการป้องกันมิให้มีการทำลายป่า และควรชี้แจงให้ประชาชนทราบถึงความสำคัญของการมีป่า ทั้งนี้ การที่ให้เรียกว่า “ ป่าเตรียมสงวน ” นั้น ก็เพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้บุกรุกเข้ามาจับจองที่ดินในป่า แต่หากเรียกว่า “ ป่าสงวน ” แล้วผู้ที่อาศัยอยู่ในป่ามาเป็นเวลานานจะถูกกล่าวหาว่าบุกรุกป่าสงวนและถูกไล่ที่ ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อทางราชการเพิ่มขึ้น
1.7 จำต้องมีการเปลี่ยนกฎหมายให้หมู่บ้านสหกรณ์เป็นนิติบุคคล เพื่อที่สมาชิกหมู่บ้านสหกรณ์จะได้มีสิทธิ์โดยส่วนรวมในการครอบครองที่ดิน ซึ่งโครงการฯ ได้จัดสรรให้ ซึ่งการดำเนินงาน จัดสรรที่ดินโดยรัฐบาลเพื่อให้ราษฎรปกครองในรูปของสหกรณ์ดังทิ่ริเริ่มที่หนองพลับนั้น เป็นตัวอย่างการดำเนินงานจัดตั้ง “ สหกรณ์อเนกประสงค์ ” ต่อไป
2. การพัฒนา
2.1 การสร้างถนนใหม่ตามลักษณะสูงต่ำของภูมิประเทศ เป็นการดำเนินงานที่ถูกต้อง และควรมีการป้องกันไม่ให้น้ำป่าชะถนนขาดดังที่เคยปรากฏโดยการฝังท่อลอดถนนตามแนวทางน้ำไหล
2.2 ควรมีการสำรวจทางน้ำไหลตามไหล่เขา และสร้างฝายกั้นน้ำในราคาถูก เพื่อกักน้ำให้ค่อย ๆ ซึมลงดิน และไหลตามลำธารใต้ดินลงจากเขามายังเขตโครงการ ฯ ซึ่งอยู่ในที่ต่ำ ทั้งนี้ เมื่อมีการขุดบ่อน้ำในอนาคตแล้ว จะได้มีน้ำพุขึ้น สำหรับใช้
2.3 ควรมีการปลูกต้นไม้ไผ่ และต้นกระถินในบริเวณพื้นที่ซึ่งดินไม่ดี เพื่อเป็นการบำรุงดินให้ดีขึ้นโดยไม่ต้องลงทุนใช้ปุ๋ยเคมี และต้นไผ่นั้น สมาชิกอาจใช้ให้เป็นประโยชน์ในการปลูกสร้างได้
2.4 ควรมีการปลูกหญ้าในบริเวณที่ไม่เหมาะสำหรับการเพาะปลูก เพื่อเป็นทุ่งหญ้าสำหรับส่งเสริมการเลี้ยงโคพันธุ์
2.5 ควรมีการเลี้ยงโคพันธุ์แล้ว ควรมีการแนะนำให้สมาชิกใช้ปุ๋ยคอกและทำปุ๋ยหมักไว้ใช้ เพื่อเป็นการประหยัดทุนทรัพย์ในการซื้อปุ๋ยเคมี
2.6 ควรมีการคำนึงถึงนโยบายการพัฒนาที่ดินในอนาคต อาทิ ความเหมาะสมของการใช้เครื่องจักรกลของรัฐบาลเพื่อบุกเบิกที่สำหรับบุคคลส่วนน้อย
3. ศูนย์ส่งเสริมการเกษตร
3.1 มีหน้าที่สำคัญในการที่จะต้องอบรมให้สมาชิกหมู่บ้านสหกรณ์มีความสามัคคีและมีเมตตาจิตซึ่งกันและกัน เพื่อที่จะให้สมาชิกสามารถยืนได้ด้วยตนเอง
3.2 มีหน้าที่แนะแนวให้กรรมการหมู่บ้านมีความรับผิดชอบต่อสมาชิกมากขึ้น เพื่อความอยู่ดีกินดีของส่วนรวม
3.3 มีหน้าที่แนะนำส่งเสริมการเกษตร ให้มีผลในการที่สมาชิกจะสำนึกถึงบุญคุณของรัฐบาลที่ได้บุกเบิกที่ดิน และให้ความช่วยเหลืออยู่ทุกระยะ
3.4 มีหน้าที่ติดตามข้อมูลเพื่อวิเคราะห์สาเหตุของความเหลื่อมล้ำ ระหว่างสมาชิกผู้มีรายได้สูง และสมาชิกผู้มีรายได้น้อย และหากมีสาเหตุเนื่องจากการเจ็บไข้แล้ว ควรมีการตรวจตรา การรักษาพยาบาลให้สม่ำเสมอ
3.5 ควรมีการจัดตั้งศูนย์ย่อยตามหมู่บ้าน สำหรับเป็นแหล่งประสานงานของเจ้าหน้าที่ศูนย์ใหญ่ และสมาชิกหมู่บ้าน โดยศูนย์ใหญ่อาจกำหนดวันเวลาที่เจ้าหน้าที่จะมาประชุมศูนย์ย่อย เพื่อพบปะกรรมการหมู่บ้านและสมาชิก
3.6 ศูนย์ย่อยควรขอความร่วมมือจากกรรมการหมู่บ้าน ในการรวบรวมสถิติของสมาชิก ซึ่งจะเป็นการทุ่นเวลาของเจ้าหน้าที่ศูนย์ใหญ่ ในการที่จะต้องไปสอบถามข้อมูลต่าง ๆ จากสมาชิกเป็นรายบุคคล ดังที่ได้ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน
3.7 ศูนย์ย่อยควรจะอาศัยใช้ศาลาประชาคมในหมู่บ้าน ร่วมกับกรรมการหมู่บ้านสำหรับการปฏิบัติงาน ซึ่งศาลาประชาคมนั้นอาจจะรวมเป็นร้านค้าย่อยของสหกรณ์ฯ ในการบริการสมาชิก ดังเช่นร้านสหกรณ์สมาชิกนิคมสร้างตนเอง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีข้าวจำหน่ายให้สมาชิก สหกรณ์ฯ ในราคาถูก
3.8 ศูนย์ใหญ่ในอนาคต นอกเหนือจากการสนับสนุนส่งเสริมการเกษตรของสมาชิกหมู่บ้านสหกรณ์แล้ว สามารถจะเป็นแหล่งสำหรับหน่วยราชการต่าง ๆ จะอาศัยใช้สถานที่สำหรับค้นคว้าและวิจัยในเรื่องเกี่ยวกับการเกษตร ส่วนงานด้านสหกรณ์นั้น คาดว่าบุคคลที่สนใจจะชมกิจการต่าง ๆ จะติดต่อกรรมการหมู่บ้านสหกรณ์โดยตรง ซึ่งมีตัวอย่าง เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม นี้ ในการที่กลุ่มเกษตรกรในอำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ได้เดินทางมาดูกิจการของสหกรณ์การเกษตรหุบกระพง จำกัด
4. กรรมการหมู่บ้านสหกรณ์
4.1 สมาชิกควรเลือกกรรมการหมู่บ้าน ประมาณ 12 หรือ 16 คน โดยมีประธานกรรมการและกรรมการฝ่ายต่าง ๆ เพื่อดูแลทุกข์สุขของส่วนรวม และประสานงานระหว่างสมาชิก และเจ้าหน้าที่ศูนย์
4.2 กรรมการหมู่บ้านควรรับผิดชอบในการเพิกถอนสิทธิ์ในการทำกินในที่ดินของสมาชิก ซึ่งประสงค์จะโยกย้ายออกจากการเป็นสมาชิก โดยพิจารณาให้ค่าตอบแทนสำหรับสิ่งก่อสร้างและพืชผลในที่ดิน อีกทั้งพิจารณาการคัดเลือกสมาชิกใหม่เข้าทำกินในที่ดินที่ว่างลง โดยไม่ถือว่าเป็นการเซ้งที่ดินระหว่างสมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ แต่ถือว่าเป็นการเก็บเงินเพื่อผลประโยชน์ของสมาชิกสหกรณ์เพราะที่ดินทั้งสิ้นเป็นของสมาชิกโดยส่วนรวม
4.3 กรรมการหมู่บ้านมีหน้าที่แก้ไขปัญหาของหมู่บ้านโดยรอบคอบ จึงควรมีการตั้งตัวแทนกรรมการหรือผู้แทนจากหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อประชุมหารือกันเกี่ยวกับปัญหาระหว่างหมู่บ้าน อาทิ ปัญหาการปล่อยน้ำใช้จากหมู่บ้านในพื้นที่สูงให้แก่หมู่บ้านในพื้นที่ต่ำ ซึ่งการปรึกษาหารือระหว่างสมาชิกและกรรมการหมู่บ้านระหว่างกรรมการหรือผู้แทนหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้าน และระหว่างกรรมการหมู่บ้านและเจ้าหน้าที่ศูนย์ ล้วนเป็นการฝึกให้สมาชิกปกครองตนเอง และเป็นการชี้ทางให้เห็นว่า จำต้องมีความสามัคคีระหว่างบุคคล และระหว่างกลุ่ม เพื่อความอยู่ดีกินดีของส่วนรวม
• โครงการจัดพัฒนาที่ดิน ฯ ตามพระราชประสงค์ “ ทุ่งลุยลาย ”
ปีที่เริ่มโครงการ
พุทธศักราช 2515
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการบุกรุกหักร้างถางป่ามิให้เพิ่มขึ้นอีก จนเป็นผลเสียหายแก่ทรัพยากรของชาติ โดยทำการบำรุงรักษา สงวนต้นน้ำลำธาร และป้องกันการเสียหายของอ่างเก็บน้ำจุฬาภรณ์ ด้วยการปลูกป่าทดแทนบริเวณที่ถูกบุกรุกไปแล้ว
2. เพื่อให้ราษฎรที่บุกรุกเข้าไปยึดครองป่าสงวนของชาติอยู่หลายจุดในขณะนั้น ได้เข้ามาอยู่รวมกันโดยมีที่อยู่และที่ทำกินในลักษณะที่ถาวร ด้วยการจัดสรรที่ดินให้แก่ราษฎรที่อยู่ในข่ายควรได้รับความช่วยเหลือ และจัดการอพยพราษฎรที่เข้ามาบุกรุกถือครองที่ดินภายหลังการสำรวจ ให้ย้ายออกไปอยู่นอกเขตป่าสงวนแห่งชาตินี้
3. เพื่อพัฒนาอาชีพ ส่งเสริมการเศรษฐกิจ และสังคมของราษฎรด้วยการจัดบริการสาธารณะที่จำเป็นสำหรับท้องถิ่น ส่งเสริมและแนะนำให้ราษฎรปลูกพืชพันธุ์ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ และตรงกับความต้องการของตลาด ส่งเสริมให้รู้จักการช่วยตนเองและช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ในอันที่จะเกิดประโยชน์แก่ตนเองและส่วนรวม
ความเป็นมาของโครงการ
ตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการสร้างเขื่อนกั้นน้ำที่แม่น้ำพรม เพื่อติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังน้ำในท้องที่อำเภอคอนสาร ต่อเนื่องกับอำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมินั้น ปรากฏว่าได้มีราษฎรตามเข้าไปหักร้างถางพงเพื่อทำการเพาะปลูกและอยู่อาศัย ทั้งในบริเวณขอบอ่างเก็บน้ำและบริเวณสองข้างทางที่ตัดถนนเข้าไปยังโครงการเป็นจำนวนมาก ซึ่งถ้าปล่อยให้เหตุการณ์เป็นอยู่อย่างนี้ จะทำให้ป่าไม้ในบริเวณนั้นถูกทำลายลงจนหมดสิ้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตและกรมป่าไม้ จึงได้ร่วมมือกันหาทางป้องกันและดำเนินการปราบปราม ซึ่งถ้าพิจารณาตามกฎหมายและระเบียบปฏิบัติแล้ว ราษฎรจะเข้ามาอยู่อาศัยและทำกินในบริเวณดังกล่าวไม่ได้เลย แต่เมื่อได้มีราษฎรเข้าไปอยู่กันเป็นจำนวนมากแล้ว การบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายจึงเป็นสิ่งที่เดือดร้อน เมื่อทางราชการได้ดำเนินการอย่างเข้มงวด ราษฎรเหล่านั้นจึงได้ร้องทุกข์ไปยังคณะปฏิวัติ และในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จไปประทับแรมและทรงเยี่ยมราษฎรบริเวณเขื่อนน้ำพรม เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2515 นั้น ราษฎรผู้บุกรุกเหล่านี้ ได้ร่วมกันทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายฎีกา
ต่อมาในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนจุฬาภรณ์ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ.2516 ได้พระราชทานพระราชดำริแก่นายกรัฐมนตรี ในปัญหาเกี่ยวกับราษฎรบุกรุกป่า ในบริเวณเขื่อนจุฬาภรณ์ เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหานี้ โดยให้รัฐบาลจัดถวายที่ดินส่วนหนึ่ง เพื่อจัดดำเนินการเช่นเดียวกับที่หมู่บ้านหุบกระพง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามพระราชประสงค์ ในระหว่างที่กรมประชาสงเคราะห์ ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าของเรื่อง กำลังดำเนินการเพื่อให้ได้ที่ดินมาทำการจัดสรร และนำขึ้นน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายนั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ขอความร่วมมือจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณาวางหลักดำเนินการตามแนวพระราชประสงค์ เช่น หลักการเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินและหลักการเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ซึ่งระบุว่า ที่ดินตามโครงการนี้จะคงให้เป็นที่ดินของรัฐ สมาชิกของโครงการมีสิทธิ์ในการครอบครองที่ดิน ในฐานะผู้ที่ได้รับการอนุมัติให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของโครงการเท่านั้น เมื่อสมาชิกถูกให้ออกจากโครงการ สิทธิในการครอบครองที่ดินของสมาชิกจะสิ้นสุดลงทันที และจะใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ ไม่ได้ทั้งสิ้น และให้สมาชิกมีสิทธิ์แจ้งความจำนงเสนอชื่อสามี ภรรยา หรือบุตรของสมาชิกเข้ารับช่วงเป็นสมาชิกแทน เมื่อตนถึงแก่กรรมได้ เป็นต้น
การบริหารและการดำเนินงานของโครงการ
เพื่อให้การปฏิบัติงานโครงการนี้ ได้รับผลสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี จึงได้จัดแบ่งสายการปฏิบัติงานให้มีหน้าที่และความรับผิดชอบเป็นลำดับขั้นไป ตั้งแต่คณะกรรมการที่ปรึกษา คณะกรรมการดำเนินงาน ศูนย์ปฏิบัติการหมู่บ้าน และคณะผู้ทำงานเฉพาะแขนง ส่วนแนวการดำเนินงานนั้น ได้ยึดตามพระราชดำริทุกประการ ตั้งแต่การจัดหาพื้นที่มาดำเนินงานตามโครงการ การจัดพัฒนาที่ดิน การแบ่งแปลงที่ดิน การจัดหมู่บ้าน การส่งเสริมและจัดตั้งบริการสาธารณะ การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ การจัดรูปเศรษฐกิจและสังคม และการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการบริโภคและการเกษตร
แผนการดำเนินงานระหว่างปีงบประมาณ 2517-2520
1 . งานสำรวจ ในปี พ.ศ.2517 ได้ทำการสำรวจพื้นที่ส่วนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในการจัดสรรตามโครงการนี้ เป็นเนื้อที่ประมาณ 25,000 ไร่ สำรวจลักษณะภูมิประเทศและแหล่งน้ำบริเวณบ้านหนองอีโก้ง บ้านซับยายตุ้ม บ้านโนนอีร้อย – มอตาเจ็ก บ้านหนองเชียงรอด และบ้านหนองจาน เพื่อเก็บข้อมูลไว้ประกอบการพิจารณาจัดวางผังหมู่บ้าน รวมเนื้อที่สำรวจประมาณ 33,400 ไร่ ปี พ.ศ.2518 ทำการสำรวจลักษณะภูมิประเทศและแหล่งน้ำบริเวณบ้านลุยลายส่วนที่หนึ่ง เนื้อที่สำรวจประมาณ 5,000 ไร่ และในปี พ.ศ.2520 ทำการสำรวจหมู่บ้านลุยลายส่วนที่ 2 อีก 5,000 ไร่
2. งานออกแบบ ทำการออกแบบจัดผังหมู่บ้านจัดสรรในพื้นที่ที่ทำการสำรวจไปแล้วโดยลำดับ รวมทั้งการออกแบบจัดผังที่ทำการของเจ้าหน้าที่ บ้านพักและอาคารสาธารณประโยชน์อื่นๆ
3. งานก่อสร้าง ในปี พ.ศ.2517 ได้ทำการสร้างหมู่บ้านจัดสรรที่บ้านหนองอีโก้ง และบ้านซับยายตุ้ม ประมาณ 196 ครอบครัว ประกอบด้วยถนนลูกรังกว้าง 6 เมตร ยาวประมาณ 17.5 กิโลเมตร การถางป่าขุดตอปรับพื้นที่ในบริเวณหมู่บ้านเป็นเนื้อที่ประมาณ 3,400 ไร่ และจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการบริโภคและการเกษตรแก่สมาชิก ในปี พ.ศ.2518 ได้ทำการสร้างหมู่บ้านจัดสรรในพื้นที่บริเวณบ้านโนนอีร้อย – มอตาเจ็ก บ้านหนองเชียงรอด และบ้านหนองจาน ประกอบด้วยถนนลูกรัง กว้าง 6 เมตร ยาวประมาณ 25 กิโลเมตร ถางป่าปราบที่ประมาณ 5,000 ไร่ จัดหาแหล่งน้ำ และจัดสร้างศูนย์ปฏิบัติการหมู่บ้าน ศาลาประชาคมและสุขศาลา ในปี พ.ศ.2519 ได้ทำการจัดสร้างหมู่บ้านจัดสรรในบริเวณบ้านลุยลาย ส่วนที่หนึ่งประมาณ 300 ครอบครัว พร้อมทั้งสร้างถนนยาวประมาณ 25 กิโลเมตร ปราบที่ประมาณ 5,000 ไร่ จัดหาแหล่งน้ำและสร้างโรงเรียนกับบ้านพักเจ้าหน้าที่หนึ่งหลัง และในปี พ.ศ.2520 ทำการจัดสร้างหมู่บ้านจัดสรรในบริเวณบ้านลุยลายส่วนที่สอง พร้อมทั้งการสร้างถนน ปรับที่ หาแหล่งน้ำ และการก่อสร้างอาคารสถานที่ที่ยังเหลือ
4. งานจัดหมู่บ้าน ในปี พ.ศ.2517 ได้ทำการสำรวจจำนวนประชากรหัวหน้าครอบครัวที่ทำกินอยู่ในหมู่บ้านต่างๆ รวม 17 หมู่บ้าน จัดให้ราษฎรที่อยู่ในข่ายรับการช่วยเหลือเข้าทำกินและอยู่อาศัย ส่วนราษฎรที่ไม่อยู่ในข่ายดังกล่าว ได้จัดการอพยพออกไปยังนิคมสร้างตนเองของกรมประชาสงเคราะห์แห่งอื่น หรือส่งกลับภูมิลำเนาเดิม ในปี พ.ศ.2518 ได้จัดให้ราษฎรที่ทำกินในบริเวณบ้านโนนอีร้อย – มอตาเจ็ก บ้านหนองเชียงรอด บ้านหนองจาน และหมู่บ้านอื่น ๆ ที่มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือจับสลากแปลงที่ดินและเข้าอยู่ทำกิน ส่วนผู้ที่ไม่มีสิทธิ์นั้นได้จัดส่งภูมิลำเนาเดิมหรือนิคมสร้างตนเองแห่งอื่น ในปี พ.ศ.2519 จัดให้ราษฎรที่ทำกินอยู่ในบริเวณบ้านลุยลายส่วนที่หนึ่ง และหมู่บ้านอื่น ๆ ที่มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือจับสลากแปลงที่ดินและเข้าทำกิน นอกนั้นส่งกลับภูมิลำเนาเดิมหรือส่งเข้านิคมสร้างตนเองของกรมประชาสงเคราะห์แห่งอื่น ส่วนในปี พ.ศ.2520 จัดให้ราษฎรที่ทำกินอยู่ในบ้านลุยลายส่วนที่สอง ประมาณ 300 ครอบครัวที่มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือจับสลากเข้าทำกินเช่นเดียวกับปี พ.ศ.2519
5 . งานป้องกันการบุกรุกทำลายป่า ได้ดำเนินการหาลู่ทางและให้ความร่วมมือในการป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า และให้ความร่วมมือในการปลูกป่าทดแทน ในปี พ.ศ.2518 ได้ปลูกป่าทดแทนในพื้นที่นอกบริเวณโครงการ 2,000 ไร่ ปีพ.ศ.2519 ดำเนินการปลูกป่าทดแทนอีก 3,000 ไร่ และในปี พ.ศ.2520 อีกเป็นเนื้อที่ประมาณ 4,000 ไร่
6. งานส่งเสริมและพัฒนาอาชีพราษฎร ปี พ.ศ.2517 ได้จัดหาวัสดุที่จำเป็นในการเกษตรและพันธุ์พืชที่เหมาะสมให้แก่สมาชิก แนะนำ ฝึกอบรม และทำแปลงสาธิตการเกษตรแผนใหม่ ส่งเสริมและเผยแพร่การอนุรักษ์ดินและน้ำ และการทดสอบพันธุ์พืชที่เหมาะสมแก่ท้องถิ่น และขยายขอบเขตการดำเนินงานนี้ขึ้นอีกทุกปี จนถึงปี พ.ศ.2520
7. งานสหกรณ์การเกษตร ในปี พ.ศ.2517 ได้จัดตั้งสหกรณ์การเกษตรจำนวนสมาชิกประมาณ 196 คน และขยายในปี พ.ศ.2518 ให้มีสมาชิก 300 คน และเพิ่มขึ้นอีกทุกปี ปีละ 300 คน
แผนการดำเนินการนี้ ได้จัดให้มีการประเมินผลในทุกๆ สิ้นปีงบประมาณ เพื่อศึกษาปัญหาและหาลู่ทางวางแผนงานในปีต่อไปให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
งบประมาณและทุนดำเนินการ
โครงการได้รับงบประมาณ และทุนดำเนินการจากแหล่งต่างๆ คือ
1 . งบประมาณของรัฐ โดยส่วนราชการที่มีหน้าที่ช่วยเหลือโครงการนี้ทำงบประมาณ ส่วนที่ตนต้องดำเนินการ ในแต่ละปีให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จักได้รวบรวมดำเนินการขอใช้งบประมาณจากรัฐ
2 . เงิน หรือสิ่งของที่ได้รับพระราชทาน
3 . เงิน หรือสิ่งของที่ได้รับบริจาค หรืออุดหนุนจากบุคคล หรือสถาบัน อื่นๆ
4. เงินรายได้อื่นๆ ของโครงการ
ผู้รับผิดชอบโครงการ : การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

3. การอนุรักษ์ดิน และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
3.1 แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่องดิน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงสนพระราชหฤทัยในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างยิ่ง มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ที่ถูกทำลายให้กลับคืนสู่สภาพเดิม ทรงเห็นว่าการพัฒนาเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาการเกษตร โดยเฉพาะโครงการพัฒนาที่ดินในพื้นที่ต่างๆ ดังต่อไปนี้
3.1.1 การพัฒนาดินดาน
เป็นพื้นที่ซึ่งอยู่ในเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน อันเป็นที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชโองการประกาศให้เป็นที่หลวงเมื่อ พ.ศ.2466 และพ.ศ.2467 เดิมพื้นที่แห่งนี้มีสภาพป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าประเภทเนื้อทรายอยู่เป็นจำนวนมาก จึงได้ชื่อว่าห้วยทราย ต่อมาราษฎรได้เข้ามาทำกินบุกรุกแผ้วถางป่าประกอบอาชีพตามยถากรรม ภายในระยะเวลา 40 ปี ป่าไม้ได้ถูกทำลายเป็นจำนวนมาก ทำให้ฝนไม่ตกเป็นไปตามฤดูกาล และมีปริมาณน้ำลดน้อยลงจนกระทั่งพื้นดินมีลักษณะขาดแคลนน้ำ ดินขาดการบำรุงรักษาทำให้เกิดความไม่สมดุลทางธรรมชาติ มีการพังทลายของผิวดินค่อนข้างสูงประกอบกับราษฎรส่วนใหญ่ปลูกสับปะรด ซึ่งต้องใช้สารเคมีมาก ทำให้คุณภาพของดินตกต่ำไปอีก ดินมีลักษณะเป็นดินเหนียว ทรายแข็ง หินปูนและแร่ธาตุต่างๆ รวมตัวกันเป็นแผ่นแข็งคล้ายหิน กลายเป็นดินดาน ทำให้พืชชั้นสูงไม่สามารถเจริญเติบโตหากปล่อยทิ้งไว้จะกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด พระองค์ได้ทรงศึกษาถึงศักยภาพของ หญ้าแฝก

ซึ่งเป็นพืชที่มีสมบัติพิเศษในการช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน และอนุรักษ์ความชุ่มชื้นใต้ดินไว้ หญ้าแฝกเป็นพืชที่มีระบบรากลึกและแผ่กระจายลงไปในดินตรงๆ เป็นแผ่นเหมือนกำแพงช่วยกรองตะกอนดินและรักษาหน้าดินได้ดี อีกทั้งเป็นพืชพื้นบ้านไทยปลูกขึ้นง่ายเกษตรกรสามารถดำเนินได้เอง หญ้าแฝกเป็นพืชที่มีคุณค่าหลายประการ อาทิเช่น การใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยา ใช้ทำสมุนไพร น้ำหอม ปุ๋ยหมัก เป็นอาหารสัตว์และมุงหลังคา ผลการศึกษาและปฏิบัติการประโยชน์จากหญ้าแฝกจนเป็นที่ยอมรับจากธนาคารโลกว่า ประเทศไทยทำได้ผลอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพยอดเยี่ยม เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2536 International Erosion Control Association (IECA) ได้มีมติถวายรางวัล The International Merit Award แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในฐานะที่ทรงเป็นแบบอย่างในการนำหญ้าแฝกมาใช้อนุรักษ์ดินและน้ำ และเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2536 ผู้เชี่ยวชาญเรื่องหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำแห่งธนาคารโลก ได้นำคณะเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาททูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเกียรติบัตรเป็นภาพรากหญ้าแฝกชุบสำริด ซึ่งเป็นรางวัลสดุดีพระเกียรติคุณ ( Award of Recognition ) ในฐานะทรงมุ่งมั่นในการพัฒนาและส่งเสริมการใช้หญ้าแฝกในประเทศไทยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ไปทั่วโลก
3.1.2 การพัฒนาดินทราย
เป็นพื้นดินที่อยู่ที่ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา นายทองอยู่ อุดมวัฒนา ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินจำนวน 264 ไร่ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เมื่อเสด็จทอดพระเนตรที่ดินดังกล่าว พบว่าดินที่มีสภาพเป็นดินทรายเกิดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากการบุกเบิกป่าที่อุดมสมบูรณ์ เพื่อทำการปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ยูคาลิปตัส ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานดินที่เคยอุดมก็แปรสภาพเป็นทรายจัด เกิดปัญหาดินเสื่อมโทรม ไม่สามารถทำการเพาะปลูกพืชได้อีกต่อไป ที่ดินที่นายทองอยู่ อุดมวัฒนา ราษฎรผู้น้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระองค์เพื่อให้ทรงสร้างเป็นที่ประทับสำหรับแปรพระราชฐานในภาคตะวันออก และเนื่องจากที่ดินแถบนี้ถูกตัดไม้เพื่อการทำไร่จนเป็นทะเลทราย ปลูกอะไรไม่ได้แม้แต่มันสำปะหลังยังไม่ขึ้น พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้พัฒนาพื้นที่แห่งนี้ เป็นศูนย์ตัวอย่างที่รวบรวมการพัฒนาที่ทำกินของตนเองต่อไป รวมทั้งส่งเสริมงานศิลปาชีพและศิลปกรรมเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ เป็นตัวแทนสภาพปัญหา และวิธีการพัฒนาของพื้นที่ต่างๆ ในภาคกลาง และเป็นแห่งแรกของศูนย์ศึกษาการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และเป็นศูนย์ตัวอย่างของศูนย์ศึกษาการพัฒนา ในลักษณะเดียวกันนี้ที่กำลังจะตามมาอีก 5 แห่ง ซึ่งกระจายอยู่ในพื้นที่สภาพมีปัญหาในภาคต่างๆ ของประเทศ
ด้วยความที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นอัจฉริยะ สิ่งต่างๆ ที่พระองค์ทรงกำหนดไว้ในแผนที่ก็ถูกสร้างให้เป็นแหล่งน้ำบนพื้นที่จริง ต้นไม้ตามโครงการต้นแรกเริ่มหยั่งรากลงไปในดิน งานต่างๆ ก็ถูกกำหนดสร้างขึ้น เช่นงานจัดหาแหล่งน้ำและจัดระบบการให้น้ำในไร่นา งานฟื้นฟูสภาพป่า และการอนุรักษ์ธรรมชาติ งานจัดการอนุรักษ์ดินและน้ำ งานเลี้ยงสัตว์และทำทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ งานจัดระบบและการวางแผนปลูกพืชและงานฝึกอบรม บริการช่วยเหลือเกษตรกร ฯลฯ
สำหรับการศึกษาและพัฒนาเขาหินซ้อนที่มีทรัพยากรดินเสื่อมโทรมจัด ดินเป็นทรายขาดความอุดมสมบูรณ์ใช้หญ้าแฝกเป็นคันดินเพื่อป้องกันการชะล้างพังทะลายของดิน เป็นการอนุรักษ์ดินและน้ำ การปรับปรุงดินโดยใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกและปุ๋ยพืชสดด้วยความที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเป็นอัจฉริยะ สิ่งต่างๆ ที่พระองค์ทรงกำหนดไว้ในแผนที่ก็ถูกสร้างให้เป็นแหล่งน้ำบนพื้นที่จริง ต้นไม้ตามโครงการต้นแรกเริ่มหยั่งรากลงไปในดิน งานต่างๆ ก็ถูกกำหนดสร้างขึ้น เช่นงานจัดหาแหล่งน้ำและจัดระบบการให้น้ำในไร่นา งานฟื้นฟูสภาพป่า และการอนุรักษ์ธรรมชาติ งานจัดการอนุรักษ์ดินและน้ำ งานเลี้ยงสัตว์และทำทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ งานจัดระบบและการวางแผนปลูกพืชและงานฝึกอบรม บริการช่วยเหลือเกษตรกร ฯลฯ
สำหรับการศึกษาและพัฒนาเขาหินซ้อนที่มีทรัพยากรดินเสื่อมโทรมจัด ดินเป็นทรายขาดความอุดมสมบูรณ์ใช้หญ้าแฝกเป็นคันดินเพื่อป้องกันการชะล้างพังทะลายของดิน เป็นการอนุรักษ์ดินและน้ำ การปรับปรุงดินโดยใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกและปุ๋ยพืชสด
3.1.3 การพัฒนาดินพรุ หรือดินเปรี้ยว
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐาน ไปยังพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส เป็นประจำทุกปี ราษฎรหลายแห่งในจังหวัดนราธิวาสได้กราบบังคมทูลร้องทุกข์ ถึงความเดือดร้อนที่ต้องประสบปัญหา ที่เกิดจากน้ำท่วมไหลบ่าจากป่าพรุในช่วงฤดูฝน ทำให้ราษฎรทำมาหากินไม่ได้ และมีเกษตรกรจำนวนมาก ขาดแคลนพื้นที่ทำมาหากิน พระองค์ทรงตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงพระราชทานความช่วยเหลือดังพระราชดำรัสที่ว่า “… ที่ที่น้ำท่วมนี้หาประโยชน์ไม่ได้ ถ้าจะทำให้มันโผล่น้ำขึ้นมา มีการระบายน้ำออกไปก็จะเกิดประโยชน์กับประชาชน ในเรื่องของการทำมาหากินอย่างมหาศาล …”

ป่าพรุ
ลักษณะดินเปรี้ยว
ดินพรุเป็นดินที่พบในป่าพรุ ซึ่งเป็นป่าไม้ทึบหรือป่าดงดิบไม่ผลัดใบ พบอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทยเป็นป่าที่มีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี ป่าพรุเกิดจากธรรมชาติสร้างขึ้นโดยคลื่นลมทะเลซัดดินทรายแถบชายฝั่งปิดกั้นเป็นแนวสันเขื่อน จนกลายเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่เมื่อซากพืชหล่นทับถมกันมาก เกิดการเน่าเปื่อยเป็นอินทรีย์วัตถุ ดินชั้นล่างเป็นดินเลนสีเทาปนน้ำเงินเป็นสารประกอบไพไรท์ (Pyrite: FeS) อยู่จำนวนมากเมื่อดินแห้ง สารประกอบนี้จะทำปฏิกิริยากับอากาศเกิดก๊าซที่รวมกับความชื้นหรือน้ำได้เป็นกรดกำมะถัน ดินมีลักษณะเป็นกรด หรือเปรี้ยวจัดจึงเรียกดินพรุได้อีกอย่างหนึ่งว่าดินเปรี้ยว ซึ่งพระองค์พระราชทานพระราชดำริ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง ( ตันหยง = ดอกพิกุล , มัส = ทอง ) แก้ปัญหาดินเปรี้ยวโดยวิธีแกล้งดินเพื่อให้ดินเปรี้ยวสุดขีดแล้วใช้วิธีการแก้ไขดินเปี้ยว โดยวิธีการควบคุมระดับน้ำใต้ดินควบคู่กับการระบายน้ำออกจากพื้นที่และใช้ปูนมาร์ล (Marl) หรือปูนฝุ่น (Line dust) ปรับความเป็นกรดของดินเปรี้ยวเพื่อให้เหมาะสมกับระดับพีเอช (pH) ของดินที่ปลูกพืชชนิดต่างๆ

3.2.1 การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ป่าไม้ของประเทศไทยถูกทำลายอย่างรวดเร็ว ตามสัดส่วนของประชากรที่เพิ่มขึ้น และพลังผลักดัน ทางเศรษฐกิจระบบทุนนิยมเสรีที่มุ่งค้าขายโดยใช้ป่าไม้เป็นตัวสำคัญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานแนวคิดของการผสมผสานความต้องการ ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ควบคู่ไปกับความต้องการด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยป้องกันมิให้เกษตรกรบุกรุกทำลายป่าไม้ เนื่องจากปริมาณป่าไม้ลดลงเป็นอย่างมาก จึงทรงพยายามค้นหาวิธีนานประการที่จะเพิ่มปริมาณ ของป่าไม้ในประเทศไทยให้เพิ่มมากขึ้นอย่างมั่นคงและถาวร แนวทางความคิดที่พระองค์ได้ทรงใช้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้มีหลายอย่าง ดังต่อไปนี้
1. การปลูกป่า 3 อย่าง ให้ได้ประโยชน์ 4 อย่าง
เป็นการรู้จักใช้ทรัพยากรธรรมชาติด้วยพระปรีชาญาณอย่างชาญฉลาด ให้เกิดประโยชน์แก่ปวงชนมากที่สุด ยาวนานที่สุดและทั่วถึงกัน
การปลูกป่าอย่างที่หนึ่ง เป็นการปลูกไว้ใช้สอย พันธุ์ไม้ที่ปลูกเป็นไม้โตเร็ว เช่น ยูคาลิปตัส ขี้เหล็ก ประดู่ แค กระถินยักษ์ และสะเดา ประโยชน์ใช้ตัดกิ่งมาทำฟืนเผาถ่านก่อสร้างและหัตถกรรม
การปลูกป่าอย่างที่สอง เป็นการปลูกป่าไว้ใช้เป็นผลรับประทานได้ เป็นไม้พืชผลนานาชนิดเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และสิ่งแวดล้อม เช่น มะพร้าว ขนุน มะม่วง มะละกอ กล้วย รวมทั้งพืชผักต่างๆ ตลอดจนผักสวนครัว
การปลูกป่าอย่างที่สาม เป็นการปลูกป่าไว้ใช้เป็นฟืน จะต้องคำนวณพื่นที่ที่ใช้ปลูกตามสัดส่วนของผู้ใช้จะต้องมีการปลูกทดแทนและระบบหมุนเวียน เพื่อช่วยให้มีไม้ฟืนไว้ใช้ตลอดเวลา
ประโยชน์ที่ 4 เป็นผลพลอยได้จากการปลูกป่าทั้งสามชนิดช่วยอนุรักษ์ดินและต้นน้ำลำธารด้วย ในการปลูกป่านั้นจะต้องปลูกพันธ์ไม้ประเภทต่างๆ คละกันไป โดยมีพันธุ์ไม้ยืนต้น ไม้ผล และไม้ทำฟืน ซึ่งจะช่วยป้องกันมิให้ดินพังทลายในฤดูฝน และรักษาความชุ่มชื้นของดินด้วย เกิดป่าไม้แบบผสมผสานและสร้างความสมดุลแก่ธรรมชาติอย่างยั่งยืนสามารถตอบสนองความต้องการได้
3.2.2 การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงห่วงใยในปัญหาปริมาณไม้ลดลงเป็นอย่างมาก จึงพยายามค้นหาวิธีที่จะเพิ่มปริมาณป่าไม้ในประเทศ ให้เพิ่มอย่างมั่นคงและถาวร ทรงใช้วิธีการต่างๆ ดังนี้
3.2.2.1 การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก
ซึ่งมีความหมายดังนี้คือ ถ้าเลือกได้ที่ที่เหมาะสมแล้วก็ทิ้งป่าไว้ตรงนั้น ไม่ต้องไปทำอะไรเลย ป่าจะเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นป่าสมบูรณ์ไม่ไปรังแกป่าหรือตอแยต้นไม้ เพียงแต่คุ้มครองให้ขึ้นได้เองเท่านั้นและในสภาพป่าเต็งรัง ป่าเสื่อมโทรม ไม่ต้องทำอะไร เพราะตอไม้ก็จะแตกกิ่งออกมาอีก ถึงแม้ต้นไม่สวยแต่ก็เป็นต้นใหญ่ได้
3.2.2.2 การปลูกป่าในที่สูง
ให้ใช้ต้นไม้ที่มีเมล็ดทั้งหลายขึ้นไปปลูกบนยอดที่สูงเมื่อโตแล้ว ออกฝัก ออกเมล็ดก็จะแตกลอยตกลงมาแล้วงอกเป็นต้นใหม่ เป็นการขยายพันธุ์โดยธรรมชาติ
3.2.3 ปลูกป่าต้นน้ำลำธาร หรือปลูกป่าธรรมชาติ
ปลูกต้นไม้ที่ขึ้นอยู่เดิม หรือพืชพันธุ์ไม้ดังเดิม ขาดอะไรให้ปลูกแซมตามชนิดที่สูญหายตายไปและงดปลูกไม้ผิดแผกจากถิ่นเดิม ไม่ควรนำไม้แปลกปลอมต่างพันธุ์ต่างถิ่นเข้ามาปลูกโดยไม่ได้ศึกษา อย่างชัดเจนเสียก่อน
3.2.4 การปลูกป่าทดแทน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานคำแนะนำให้มีการปลูกป่าทดแทนตามสภาพภูมิศาสตร์ และสภาวะแวดล้อมของพื้นที่ที่เหมาะสมดังนี้
3.2.4.1 การปลูกป่าทดแทนในพื้นที่ป่าไม้ถูกบุกรุกแผ้วถางและพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม
“… การปลูกป่าทดแทนในพื้นที่เสื่อมโทรมหรือพื้นที่ต้นน้ำลำธารที่ถูกบุกรุกแผ้วถางจนเป็นภูเขาหัวโล้น จำเป็นต้องปลูกป่าทดแทนเร่งด่วน ควรจะทดลองปลูกต้นไม้ชนิดโตเร็ว คลุมแนวร่องน้ำก่อนเพื่อทำให้ชุ่มชื้นค่อยๆ ทวีเพิ่มขึ้นและแผ่ขยายออกไปทั้งสองฝากของร่องน้ำซึ่งจะทำให้ต้นไม้งอกงามและมีส่วนช่วยป้องกันไฟป่า เพราะไฟจะเกิดง่ายหากป่าขาดความชุ่มชื้น ในปีต่อไปให้ปลูกต้นไม้ในพื้นที่ที่ถัดขึ้นไป ความชุ่มชื้นก็จะแผ่ขยายกว้างต่อไปอีก ต้นไม้จะงอกงามดีตลอดทั้งปี …”
3.2.4.2 การปลูกป่าทดแทนตามไหล่เขา
“… จะต้องปลูกต้นไม้หลายๆ ชนิดเพื่อให้ได้ประโยชน์อเนกประสงค์คือมีน้ำ ไม้ผล ไม้ก่อสร้าง และไม้ทำฟืนซึ่งเกษตรกรจำเป็นต้องใช้ประจำและเมื่อตัดไม้ใช้แล้วให้ปลูกป่าทดแทนหมุนเวียนทันที …”
3.2.4.3 การปลูกป่าทดแทนบริเวณต้นน้ำบนยอดเขาและเนินเขาสูง
“… ต้องมีการปลูกป่าโดยปลูกไม้ยืนต้นและปลูกไม้ฟืนซึ่งไม้ฟืนนั้นราษฎรสามารถตัดไปใช้ได้แต่ต้องมีการปลูก ทดแทนเป็นระยะ ส่วนไม้ยืนต้นจะช่วยให้อากาศมีความชุ่มชื้นขึ้นเป็นขั้นตอนหนึ่งของระบบการให้ฝนแบบธรรมชาติ ทั้งยังช่วยยึดดินบนเขาไม่ให้พังทลายเมื่อเกิดฝนตก …”
3.2.4.4 การปลูกป่าบนยอดเขา
สภาพป่าบนเขาที่สูงและมีสภาพที่ทรุดโทรม จะมีผลกระทบต่อลุ่มน้ำตอนล่าง ควรคัดเลือกพันธุ์ที่มีเมล็ดเป็นฝัก เพื่อให้เป็นกระบวนธรรมชาติ ปลูกต่อไป จนถึงตีนเขา นอกจากนี้มีการปลูกป่าที่บริเวณอ่างเก็บน้ำเพื่อพัฒนาลุ่มน้ำ และแหล่งน้ำให้สะอาดเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับราษฎร เกี่ยวกับการปลูกป่า เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า
ตัวอย่างของโครงการที่เป็นการปลูกป่า ได้แก่ โครงการปลูกป่าชัยพัฒนาแม่ฟ้าหลวง ที่ดอยตุง จังหวัดเชียงรายและที่หนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โครงการปลูกสร้างป่าในศูนย์ศึกษาพัฒนาต่างๆ โครงการสวนป่าสิริเจริญวรรษ จังหวัดชลบุรี โครงการปลูกป่าเสริมธรรมชาติในและนอกเขตภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร
โดยสรุปใน การปลูกป่าทดแทน พื้นที่ป่าที่มีสภาพเสื่อมโทรม ทรงให้ฟื้นฟู ปรับปรุงและรักษาป่า ให้มีความสมดุลทางธรรมชาติกลับคืนสู่สภาพดังเดิม มีหลักการในการดำเนินการ ได้แก่ การพิจารณาพันธุ์ไม้ที่จะปลูกให้สามารถเอื้อประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่พร้อมกับปลูกฝังจิตสำนึกรักป่า และเห็นความสำคัญของป่าไปพร้อมกัน
การปลูกป่า มิใช่เพียงการปลูกต้นไม้ลงดิน หรือปลูกในพื้นที่ที่มีน้ำฝนเท่านั้น แต่ให้มีการจัดการให้ได้รับผลดี เช่น มีการนำระบบชลประทานที่ใช้แหล่งน้ำจากภายนอกพื้นที่มาช่วยเสริม ปลูกป่าตามแนวร่องหุบเขาโดยการทำฝายเก็บกักน้ำ พัฒนาปรับปรุงบำรุงดิน (จัดการดิน) เพื่อเพิ่มผลิตโดยการไถกลบหน้าดิน การปลูกหญ้าแฝกขวางความลาดเทของพื้นที่เพื่อลดปัญหาการพังทะลายของดิน นอกจากนี้ให้ศึกษาวิธีป้องกันไฟไหม้ป่าใน “ ระบบป่าเปียก ” และให้ราษฎรสร้างรายได้จากผลิตผลป่าไม้ และปลูกพืชชนิดต่างๆ ควบคู่ไปด้วย
แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับพัฒนาฟื้นฟูป่าไม้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงตระหนักถึงคุณค่าอเนกอนันต์ของน้ำและทรงคำนึงว่าทุกสรรพสิ่ง ในสภาพแวดล้อมของมนุษย์จะเกื้อกูลซึ่งกันได้หากรู้จักนำไปประยุกต์ให้เป็นประโยชน์ได้ การพัฒนาฟื้นฟูป่าไม้ทำได้หลายวิธี
1. การพัฒนาป่าไม้โดยการใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการสร้างแนวป้องกัน ไฟเปียก “ ป่าเปียก ”
“ ป่าเปียก ” คือการพัฒนาป่าไม้โดยใช้ความชุ่มชื้นเป็นหลัก ช่วยให้ป่าเขียวสดอยู่ตลอดปี ทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายไปตรงบริเวณที่ต้นไม้ขึ้นเป็นป่า กลายเป็นป่าเปียก ซึ่งเป็นหลักการที่ง่าย และมีประโยชน์อย่างมหาศาล ในการป้องกันไฟไหม้ป่า วิธีการสร้างป่าเปียกทำได้หลายวิธีดังนี้
1.1 ปลูกพืชชนิดต่างๆ ตามแนวคลองส่งน้ำ โดยอาศัยการชลประทานและน้ำฝน
1.2 ปลูกต้นไม้โตเร็วคลุมแนวร่องน้ำ เพื่อให้ความชุ่มชื้นค่อยทวีขึ้น และแผ่ขยายออก ไปทั้งสองร่องน้ำ
1.3 สร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น (Check Dam) เพื่อปิดกั้นร่องน้ำ หรือลำธารขนาดเล็ก เป็นระยะๆ เป็นการเก็บกักน้ำและตะกอนดินไว้บางส่วน น้ำที่จะเก็บไว้จะซึมเข้าไปสะสมในดิน ทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายกว้างออกไป
1.4 ปลูกป่าบนภูเขาสูง โดยการสูบน้ำขึ้นไปในระดับที่สูงที่สุดที่จะทำได้ แล้วเสริมการปลูกป่าบนพื้นที่สูง
1.5 ปลูกต้นกล้วยในพื้นที่ที่เป็นช่องว่างของป่า หากเกิดไฟไหม้ป่าจะปะทะต้นกล้วยซึ่งอุ้มน้ำไว้ได้มากกว่าพืชอื่นๆ
2. การพัฒนาฟื้นฟูป่าไม้ โดยใช้ความรู้เบื้องต้นทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมา
เป็นหลักในการดำเนินการ “ ภูเขาป่า ”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานแนวความคิดมิติใหม่ในการพัฒนาฟื้นฟูสภาพป่าไม้ ในบริเวณที่สูงให้สมบูรณ์แก่วงการป่าไม้ 2 ประการ คือ
2.1 สืบหาแหล่งน้ำบริเวณใกล้เคียง เพื่อขยายฝายขนาดเล็กปิดกั้นร่องน้ำในเขตต้นไม้ลำธาร เพื่อช่วยให้ความชุ่มชื้นแผ่กระจายกว้างออกไป เป็นการช่วยฟื้นฟูสภาพในบริเวณที่สูงให้สมบูรณ์ขึ้น กลายเป็นภูเขาป่าในอนาคต ต้นไม้นานาชนิดที่เจริญงอกงามจะช่วยปกคลุมดิน ช่วยรักษาระดับความชุ่มชื้นในธรรมชาติ ให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอเหมาะไม่แห้งแล้งเกินไป และยังช่วยยึดผิวดินอันมีค่าไม่ให้ถูกน้ำเซาะทลายมายังพื้นราบ
2.2 ในกรณีที่ไม่มีแหล่งน้ำให้ใช้วิธีส่งน้ำขึ้นไปยังจุดที่สูงที่สุดเท่าที่จะดำเนินการได้
ทั้งนี้เพื่อให้สามารถหล่อเลี้ยงกล้าไม้อ่อนที่ปลูกทดแทน ไว้บนภูเขาได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งกล้าไม้มักจะมีอัตราการตายค่อนข้างสูง เมื่อกล้าไม้เจริญเติบโตพอสมควรแล้วจนสามารถทนทานต่อสภาวะ แห้งแล้งได้แล้ว ในอนาคตภูเขาบริเวณดังกล่าวก็จะคืนสู่สภาพเดิม เป็นภูเขาป่าที่มีความชุ่มชื้นพอสมควร ตลอดจนเป็นการฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมตอนล่าง ไม่ให้กลายเป็นดินแดนแห้งแล้ง การสูบน้ำขึ้นที่สูงใช้พลังงานธรรมชาติ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์กับพลังงานลม ซึ่งเป็นการประหยัด ภูเขาป่าที่เขียวขจี จากพระราชดำรินี้มีหลายแห่งด้วยกัน ที่เห็นเด่นชัด เช่นศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
ด้วยพระอัจฉริยะภาพที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงคุณลักษณะแห่งความเป็นผู้นำของประเทศอย่างสมบูรณ์ พระองค์ได้ทรงเล็งเห็นและแก้ไขปัญหาของชาติได้อย่างถูกต้อง จึงทรงเริ่มโครงการตามพระราชดำริที่จะมุ่งแก้ไขปัญหาของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยทรงเอาพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะแก้ไขและปรับปรุงฐานะของเกษตรกรที่ยากจน และอยู่ในสภาพล้าหลัง แก้ไขปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน เสริมฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนให้สามารถพึ่งตนเองได้ จัดทำโครงการศูนย์ศึกษาพัฒนาต่างๆ ที่ทำหน้าที่ศึกษาวิจัยค้นคว้าการพัฒนาในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนโครงการอื่นๆ อันยังประโยชน์แก่ประชาชนชาวไทย พระราชกรณียกิจทั่วประเทศนี้พสกนิกรชาวไทยล้วนรู้สึกสำนึกและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น
ดังนั้นโครงการปลูกป่าจึงเป็นหัวใจสำคัญอีกอย่างหนึ่งของการเกษตรในการสร้างทรัพยากรอันมีค่าสำหรับอนาคต เพื่อชดเชยความสูญเสียป่าไม้ที่ถูกตัดและนำมาใช้ รวมทั้งที่ถูกลักลอบโค่นล้มทำลายลงไปอย่างน่าวิตก ว่าจะทำให้ต้นน้ำลำธารเกิดการตื้นเขินแห้งแล้ง ในเวลาเดียวกันโครงการนี้ย่อมจะช่วยรักษาแหล่งน้ำ สำหรับใช้ในเกษตรกรรม และช่วยลดอุทกภัยอีกทางหนึ่งด้วย
3.2. 5 ทฤษฎีการอนุรักษ์และพัฒนาป่าชายเลน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระราชดำริแก่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ( นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ) ในพระราชพิธีแรกนาขวัญหว่านข้าวบริเวณสวนจิตรลดา สรุปแนวพระราชดำริว่า “ ป่าชายเลนมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศน์ของพื้นที่ชายทะเลและอ่าวไทย แต่ปัจจุบันป่าชายเลนของประเทศไทยกำลังถูกบุกรุก และทำลายไปโดยผู้แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน จึงควรหาทางป้องกันอนุรักษ์และขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะต้นโกงกาง เป็นไม้ชายเลนที่แปลก และขยายพันธุ์ค่อนข้างยากเพราะต้องอาศัยระบบน้ำขึ้นน้ำลงในการเจริญเติบโตด้วย จึงขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องคือ กรมป่าไม้ กรมประมง กรมชลประทาน และกรมอุทกศาสตร์ร่วมกันหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการทดลองขยายพันธุ์โกงกาง และปลูกสร้างป่าชายเลนกันต่อไป …”

ป่าชายเลนเรียกชื่อกันหลายอย่างว่า ป่าชายเลนน้ำเค็มหรือป่าเลน หรือป่าโกงกาง เป็นป่าที่เกิดขึ้นตามชายฝั่งทะเล และปากแม่น้ำของประเทศไทย ป่าชายเลนจัดเป็นป่าไม้ผลัดใบมีต้นไม้ขึ้นหนาแน่นแต่ละชนิดมีรากค้ำยัน หรือรากหายใจ ตามแต่ชนิดของต้นไม้นั้นๆ

สภาพการบุกรุกป่าชายเลน
ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าชายเลนอยู่ประมาณ 1,679,335 ไร่ โดยลดลงประมาณเกือบร้อยละ 50 จากที่เคยมี 2,229,375 ไร่ ในปี พ.ศ.2504 ป่าชายเลนพบแถบชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยและชายฝั่งทะเลด้านอันดามัน สภาพป่าชายเลนโดยทั่วไปพบว่า ทางภาคใต้ของประเทศไทยแถบชายฝั่งทะเลอันดามันมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์มากที่สุด ส่วนทางภาคใต้ฝั่งตะวันออกของอ่าวไทยและภาคกลางบริเวณปากอ่าวไทยมีสภาพค่อนข้างเสื่อมโทรม ประกอบด้วยไม้ขนาดเล็กและถูกรบกวนจากมนุษย์ในการเปลี่ยนสภาพป่าชายเลนมาเป็นนากุ้ง นาเกลือ และแหล่งอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับภาคตะวันออก การทำนากุ้งได้ส่งผลกระทบต่อความเสื่อมโทรมของป่าชายเลนเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ป่าชายเลนยังถูกทำลายด้วยเหตุอื่นอีกเช่น การทำเหมืองแร่ การเกษตรกรรม การขยายตัวของชุมชน การสร้างท่าเทียบหรือการสร้างถนน รวมทั้งการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เหล่านี้ ทำให้จำนวนป่าชายเลนลดลงอย่างที่มิอาจประมาณการได้
ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าชายเลนอยู่ประมาณ 1,679,335 ไร่ โดยลดลงประมาณเกือบร้อยละ 50 จากที่เคยมี 2,229,375 ไร่ ในปี พ.ศ.2504 ป่าชายเลนพบแถบชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยและชายฝั่งทะเลด้านอันดามัน สภาพป่าชายเลนโดยทั่วไปพบว่า ทางภาคใต้ของประเทศไทยแถบชายฝั่งทะเลอันดามันมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์มากที่สุด ส่วนทางภาคใต้ฝั่งตะวันออกของอ่าวไทยและภาคกลางบริเวณปากอ่าวไทยมีสภาพค่อนข้างเสื่อมโทรม ประกอบด้วยไม้ขนาดเล็กและถูกรบกวนจากมนุษย์ในการเปลี่ยนสภาพป่าชายเลนมาเป็นนากุ้ง นาเกลือ และแหล่งอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับภาคตะวันออก การทำนากุ้งได้ส่งผลกระทบต่อความเสื่อมโทรมของป่าชายเลนเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ป่าชายเลนยังถูกทำลายด้วยเหตุอื่นอีกเช่น การทำเหมืองแร่ การเกษตรกรรม การขยายตัวของชุมชน การสร้างท่าเทียบหรือการสร้างถนน รวมทั้งการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เหล่านี้ ทำให้จำนวนป่าชายเลนลดลงอย่างที่มิอาจประมาณการได้
3.2.6 การสนองพระราชดำริด้านการอนุรักษ์ และพัฒนาป่าชายเลน
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่บังเกิดขึ้นด้วยกระแสพระราชดำริร่วมกับ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2536 โดยได้พระราชทานพระราชกระแส กับหม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และนายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาให้ร่วมกันเป็นแกนกลางในการดำเนินการ ปลูกป่าพระราชทานแก่ประชาชนทั้งมวล ในวโรกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษกเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติเป็นปีที่ 50 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยทรงตั้งมั่นในพระราชหฤทัยที่จะฟื้นฟูสภาพแวดล้อม และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติให้มีสภาพยั่งยืน

ป่าพระราชทานมูลนิธิชัยพัฒนา – มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง มี 3 โครงการ ได้แก่
1. โครงการชุมชนพัฒนาป่าชายเลน ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัด สงขลา
2. โครงการศูนย์การศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนยะหริ่ง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี
3. โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการฟื้นฟูป่าชายเลน อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี
นอกจากนี้ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไป ประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2524 ได้พระราชทานพระราชดำริแก่นายบุญนาค สายสว่าง ผู้ว่าจังหวัดจันทบุรี สรุปได้ว่า “… ให้พิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมจัดทำโครงการพัฒนาด้านอาชีพการประมง และการเกษตรในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกของจังหวัดจันทบุรี …” โดยพระราชทานเงินที่ราษฎรได้ร่วมทูลเกล้าฯ ถวายในโอกาสดังกล่าวเป็นทุนเริ่มดำเนินการ และในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2524 ได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติม ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเกี่ยวกับโครงการที่จะจัดทำขึ้นในเขตจังหวัดจันทบุรี สรุปได้ว่า “… ให้พิจารณาจัดหาพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม หรือพื้นที่สาธารณประโยชน์เพื่อจัดตั้งศูนย์ การศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้เป็นศูนย์การพัฒนาในเขตที่ดินชายทะเล …” เป็นพื้นที่บริเวณอ่าวคุ้งกระเบน ตำบลสนามไชย อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ศูนย์ศึกษาฯ ได้ศึกษาวิจัยวิธีบำบัดน้ำเสียจากบ่อกุ้งกุลาดำ ส่งเสริมการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม และรักษาดุลยภาพของทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอนุรักษ์ และรวบรวมพันธุ์ไม้ป่าชายเลนที่สมบูรณ์จำนวน 610 ไร่ รอบอ่าวคุ้งกระเบน และป่าบกบนเขาต่างๆ รอบอ่าวคุ้งกระเบนให้คงอยู่ อนุรักษ์และปลูกป่าชายเลนเพิ่มเติมทุกปี รวมป่าชายเลนรอบอ่าวคุ้งกระเบนประมาณ 1,000 ไร่ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาด้านนิเวศน์วิทยา และมุ่งหวังให้ป่าชายเลนได้ดูดใช้แร่ธาตุอาหารที่เกิดจากกิจกรรมเลี้ยงกุ้งกุลาดำ การอนุรักษ์และควบคุมดูแลหญ้าทะเลที่มีอยู่ในอ่าวคุ้งกระเบนให้สมบูรณ์ตลอดไป เพื่อเป็นแหล่งเลี้ยงตัวของสัตว์น้ำทะเลวัยอ่อนและวัยรุ่นและพืชน้ำที่ใช้แร่ธาตุอาหารต่างๆ ที่เกิดจกกิจกรรมเลี้ยงกุ้งกุลาดำจากโครงการต่างๆ อีกด้วย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงให้ความสำคัญและทรงสนพระทัยในเรื่อง การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทฤษฎีการพัฒนาฟื้นฟูป่าไม้ ทฤษฎีการแก้ไขปัญหาความแห้งแล้ง และการขาดแคลนน้ำเพื่อเกษตรกรรม ทฤษฎีการอนุรักษ์และพัฒนาป่าชายเลน โดยได้พระราชทานแนวคิด คำแนะนำ ทรงคิดทฤษฎีการพัฒนารูปแบบต่างๆ เช่น ทฤษฎีใหม่และแนวพระราชดำริในด้านต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น เป็นผลทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของพื้นแผ่นดินในรูปแบบลักษณะธรรมชาติต่างๆ เช่น ดินดาน ดินทราย ตลอดจนการนำน้ำเสียมาบำบัดและการอนุรักษ์น้ำเป็นการเพิ่มพูนความชุ่มชื้นและอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินได้ นับว่าเป็นเพราะพระวิริยะอุตสาหะและพระปรีชาญาณอันยาวไกลของพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงศึกษาวิเคราะห์ตลอดจนคาดการณ์ด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย ทั้งนี้เพื่อความมั่งคั่งสมบูรณ์พูนสุขของประชาชนทั้งหลายทั่วหน้ากัน
4. การจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนา
เพื่อหาวิธีการเพาะปลูกที่เหมาะสมแต่ละพื้นที่แล้วสาธิตแก่เกษตรกร โดยทรงเน้นให้เพาะปลูกพืชที่อยู่ในความนิยมของตลาด และเหมาะสมกับภูมิอากาศท้องที่ ควบคู่กับการเลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภคและจำหน่ายเป็นรายได้เสริม ม.ล.ทวีสันต์ ลดาวัลย์ ราชเลขาธิการ (2530 : 23-24) ได้บรรยายพิเศษเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2529 ณ ห้องประชุมสารสนเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจัดโดยสถาบันอุดมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังนี้
“… มีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาในภูมิภาคต่าง ๆ ขึ้น เป็นศูนย์ที่รวบรวมกำลังทั้งหมดของเจ้าหน้าที่ทุกกรมกอง ทั้งในด้านเกษตรหรือในด้านสังคม ทั้งในด้านหางานการส่งเสริมการศึกษามาอยู่ด้วยกัน ก็หมายความว่า ประชาชนซึ่งจะต้องใช้วิชาการทั้งหลายก็สามารถที่จะมาดู ส่วนเจ้าหน้าที่ที่จะให้ความอนุเคราะห์แก่ประชาชนก็มาอยู่พร้อมกัน ในที่นี้ที่เป็นที่เดียวกันเหมือนกัน ซึ่งเป็นสองด้านก็หมายถึงว่าความสำคัญปลายทาง ประชาชนจะได้รับประโยชน์ และต้นทางของผู้เป็นเจ้าหน้าที่ที่จะให้ประโยชน์

แผนที่แสดงที่ตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนา ที่ครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทย
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาจำนวน 6 แห่งนี้กระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย คือ
4.1 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพื้นที่ห้วยฮ่องไคร้ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
4.2 ศูนย์ศึกษาพัฒนาภูพาน อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร
4.3 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
4.4 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
4.5 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
4.6 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อำเมืองเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส
วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเหล่านี้ ก็เพื่อที่จะศึกษาค้นคว้า ทดลองวิจัยปัญหาเกษตรกรรมในท้องที่ ทั้งด้านทฤษฎีและด้านปฏิบัติ ตลอดจนแสวงหาแนวทางกับวิธีการพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและการประกอบอาชีพของราษฎรที่อาศัยอยู่ในแต่ละท้องถิ่น เพื่อให้ราษฎรสามารถรับไปปฏิบัติได้อย่างจริงจัง เมื่อสามารถค้นพบหรือค้นวิธีแก้ไขปัญหาส่วนใดหรือสามารถค้นพบวิธีการหรือประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นแล้ว ก็จะ จัดการสาธิต ภายในบริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนา สำหรับปัญหาที่ยังเป็นปัญหาอยู่ก็ดำเนินการศึกษาต่อไป เนื่องจากปัญหาแต่ละปัญหามีความยากง่ายไม่เท่ากัน ในที่สุดประชาชนในท้องที่ตลอดจนที่มาจากท้องถิ่นใกล้เคียง ก็สามารถเดินทางมาศึกษาดูงานวิทยาการแผนใหม่ จากการสาธิตการพัฒนาเบ็ดเสร็จ ซึ่งจะทำให้ทราบถึงวิธีการทำมาหากินให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังสามารถสมัครเข้าฝึกอบรมทั้งในด้านการเกษตรอุตสาหกรรมในครัวเรือนและด้านศิลปาชีพพิเศษ กิจกรรมทั้งหมดของศูนย์การศึกษาพัฒนาทุกแห่งมีลักษณะคล้ายพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาที่มีชีวิต ซึ่งนักเรียน นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไปสามารถเดินทางไปชมในแง่การทัศนศึกษานอกสถานที่ ตลอดจนพักผ่อนหย่อนใจไปในโอกาสเดียวกัน ภารกิจหลักอีกประการหนึ่ง ก็คือ การกระจายผลที่ได้จากการศึกษาในรูปของวิธีการพัฒนาไปสู่ท้องถิ่นอื่นๆ
ในภูมิภาคเดียวกัน จนกระทั่งขยายผลแผ่กระจายกว้างไปเรื่อยๆ หากพบว่าพื้นที่ใดในแต่ละภาคประสบปัญหามากและอาจมีลักษณะแตกต่างกันไป ก็อาจพิจารณาจัดตั้งศูนย์สาขาขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนในทุกด้านจากศูนย์ใหญ่ …”
รายละเอียดเกี่ยวกับศูนย์การศึกษาพัฒนาทั้ง 6 แห่งนี้มาจากหนังสือ “ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ” ซึ่งจัดพิมพ์โดยคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) และสำนักราชเลขาธิการ (2527 : 5-46)
4.1.1 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพื้นที่ห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
ภาคเหนือ : ต้นน้ำลำธารเสื่อมโทรม
ปัจจุบันพื้นที่ต้นน้ำลำธารทางภาคเหนือของประเทศอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม ไม่สามารถจะให้ประโยชน์ได้อย่างสมบูรณ์ ถึงแม้จะมีการศึกษาและพยายามที่จะพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำ โดยหน่วยงานต่างๆ หลายหน่วยงาน แต่ก็ยังไม่สามารถจะนำผลการศึกษาออกไปพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำให้สำเร็จอย่างกว้างขวางได้ และปัญหาเกี่ยวกับพื้นที่ต้นน้ำลำธารโดยทั่วไปก็นับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
พระราชดำริ : ที่มาของโครงการ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงทราบปัญหาต่างๆ เหล่านี้เป็นอย่างดีจึงได้พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2525 ให้พิจารณาจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพื้นที่ห้วยฮ่องไคร้ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีพระราชประสงค์ที่จะใช้เป็นศูนย์กลางในการศึกษา เพื่อหารูป แบบการพัฒนาต่างๆ ในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำที่เหมาะสม และเผยแพร่ให้ราษฎรนำไปปฏิบัติต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำลำธาร โดยการใช้ระบบชลประทานเข้าเสริมการปลูกป่า 3 อย่าง 3 วิธี (การปลูกป่าไม้ใช้สอย ป่าไม้ผลและไม้ฟืน โดยการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้น อาศัยน้ำจากน้ำฝน และปลูกตามแนวร่องหุบเขาคือ ทำฝายต้นน้ำลำธาร (check dam) เพื่อรักษาความชุ่มชื้น) และการใช้ลุ่มน้ำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
ส่วนในเรื่องของกิจกรรมการพัฒนา ได้พระราชทานแนวทางการพัฒนาไว้ว่าพื้นที่ตอนบนเหนืออ่างให้เน้นเรื่องการพัฒนาป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร ส่วนปลายทางหรือพื้นที่ตอนล่างเป็นเรื่องของประมง ในระหว่างกลางก็ให้พิจารณาพัฒนากิจกรรมด้านปศุสัตว์ และกสิกรรม
เมื่อหน่วยงานต่างๆ ได้รับทราบพระราชดำริแล้ว จึงได้มีการปรึกษาหารือกันในการดำเนินงาน และได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารศูนย์ศึกษาการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำห้วยฮ่องไคร้ขึ้น และมีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ นอกจากนี้ยังมีคณะอนุกรรมการวางแผนแม่บท และคณะอนุกรรมการดำเนินงานในระดับพื้นที่ เพื่อทำหน้าที่ในการปฏิบัติงานให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนานี้ดำเนินงานให้สอดคล้องตามพระราชประสงค์อย่างแท้จริง
ศูนย์ศึกษา : สภาพพื้นที่
โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพื้นที่ห้วยฮ่องไคร้นี้ ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าขุนแม่กวง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 8,500 ไร่ ซึ่งคณะรัฐมนตรี ได้มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2526 ให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวได้ ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นป่าเขา มีพื้นที่ค่อนข้างราบอยู่บ้างตามสองฝั่งห้วยฮ่องไคร้ ด้านทิศเหนือ เป็นป่าไม้เบญจพรรณสภาพสมบูรณ์เหมาะที่จะใช้ในการศึกษาเพื่ออนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำลำธาร พื้นที่ตอนกลางและตอนใต้ เป็นป่าแดงหรือป่าแพะ ลักษณะเป็นป่าซึ่งมีสภาพค่อนข้างเสื่อมโทรม เหมาะสำหรับใช้เป็นพื้นที่ศึกษาการพัฒนาเกษตรกรรมด้านต่างๆ
งานหลักที่ต้องทำ
กิจกรรมต่างๆ ที่จะดำเนินงานในศูนย์ศึกษาฯ ประกอบด้วย
1. การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านต่างๆ ภายในศูนย์
2. ศึกษาการพัฒนาและอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำลำธาร ได้แก่ การรักษาความชุ่มชื้นของต้นน้ำ การพัฒนาป่าไม้และระบบการควบคุมไฟป่าด้วยแนวป้องกันไฟป่าเปียก โดยอาศัยน้ำจากระบบชลประทานและน้ำฝน
3. ศึกษาการพัฒนาด้านปศุสัตว์ โดยเน้นด้านโคนม และทุ่งหญ้า
4. ศึกษาการพัฒนาการปลูกพืชพันธุ์ต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับท้องถิ่นภาคเหนือ จัดพื้นที่สาธิตและทดลองในการพัฒนาการเกษตรแบบประณีต และศึกษาถึงรูปแบบที่ราษฎรสามารถผลิตได้ตั้งแต่ระดับพอมีพอกินจนถึงระดับมีกินมีใช้
5. ศึกษาการพัฒนาการประมง โดยเน้นในด้านการบริหารเกี่ยวกับการจับปลา การทดลองและสาธิตการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่ การเลี้ยงปลาในกระชัง ในอ่างเก็บน้ำ การขุดบ่อเลี้ยงปลาในบริเวณบ้าน การใช้เครื่องมือทำการประมง และการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างถูกวิธี
6. ศึกษาการพัฒนาด้านเกษตรอุตสาหกรรม ได้แก่ การพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูป ขยายผลิตผลเกษตรกรรมต่างๆ
การสนองพระราชดำริ
งานด้านชลประทาน
ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ 1 ขนาดความจุ 250,000 ลูกบาศก์เมตร และอ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ 2 ขนาดความจุ 900,000 ลูกบาศก์เมตร ก่อสร้างท่อส่งน้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.30 เมตร จากน้ำแม่ลาย ไปลงอ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ 1 ระยะทาง 8 กิโลเมตร
ก่อสร้างท่อส่งน้ำสายใหญ่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.30 เมตร จากอ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ 1 ไปยังอ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ 2 ระยะทาง 3.2 กิโลเมตร ก่อสร้างท่อส่งน้ำสายใหญ่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.40 เมตร จากอ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ 2 ไปยังพื้นที่เกษตร ระยะทาง 5 กิโลเมตร ก่อสร้างฝายเก็บน้ำขนาดเล็ก (Check dam) จำนวน 80 แห่ง
งานศึกษาการพัฒนาป่าไม้ ได้แก่ รังวัดแนวเขตพื้นที่โครงการครอบคลุมพื้นที่ 8,500 ไร่ ดำเนินการปลูกป่า 3 อย่าง 3 วิธี ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ทั้งหมด 28 ชนิด
งานการเกษตรและการเกษตรอุตสาหกรรม
– งานศึกษาการพัฒนาเกษตรกรรมแบบประณีตครอบคลุมพื้นที่ 50 ไร่ โดยปลูกต้นไม้ที่ทำ การศึกษา คือ พันธุ์ไม้ผล มี ส้มโอ มะม่วง มะนาว น้อยหน่า และ พันธุ์ไม้เกษตรอุตสาหกรรม มี ปอสา มะตูม มะขามป้อม ตลอดจน พันธุ์ไม้ฟืน มี ขี้เหล็ก สะเดา
– งานศึกษาและทดสอบการปลูกพืชครอบคลุมพื้นที่ 50 ไร่ โดยบุกเบิก ไถพรวน และจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ปลูกถั่วมะคาเดเมีย มะม่วง ลิ้นจี่ ปลูกข้าวไร่ ข้าวทดสอบ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และข้าวโพด เตรียมแปลงปลูกผักหลาย ๆ พันธุ์ อีกทั้งสร้างโรงเพาะเห็ด โรงพักเชื้อหม้อนึ่ง ลานหมักวัสดุทำการเพาะเห็ด และทดสอบ มีเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า เห็ดหูหนู และเห็ดกระดุม
งานการปศุสัตว์และโคนม
จัดทำพื้นที่และปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ ครอบคลุมพื้นที่ 200 ไร่ ก่อสร้างโรงเลี้ยงโคนม และจัดหาอุปกรณ์ ตลอดจนงานจัดหาแม่โค
งานสาธิตส่งเสริมและบริหารงานแหล่งน้ำเพื่อการประมง โดยการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรผู้นำการประมงเสร็จเรียบร้อย ปล่อยพันธุ์ปลาชนิดต่างๆ ในอ่างเก็บน้ำ ทดลองการเลี้ยงปลานิลสีแดงและธรรมดา ในบ่อซีเมนต์กลมและทดลองการเลี้ยงปลาหัวโต
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพื้นที่ห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ นี้ จะเป็นศูนย์กลางในเขตพื้นที่ภาคเหนือในการสาธิต อบรม และเผยแพร่ความรู้แก่ราชการและประชาชน ทางด้านรูปแบบของการพัฒนาพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร และการใช้พื้นที่ป่าต้นน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด การอนุรักษ์ป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร ได้แก่ การรักษาความชุ่มชื้นของต้นน้ำ การพัฒนาป่าไม้ และระบบการควบคุมไฟป่าด้วยแนวป้องกันไฟป่าเปียกโดยอาศัยน้ำจากระบบชลประทาน และจะได้เห็นถึงรูปแบบของการพัฒนาในศูนย์ศึกษาฯ นี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์โคนม การเกษตร การเกษตรอุตสาหกรรม และการบริหารการประมง ในลักษณะที่เป็นแบบที่ง่าย และราษฎรสามารถนำไปปรับใช้กับหมู่บ้านของตนได้ นอกจากนี้ ยังจะเป็นการชี้ให้เห็นว่า พื้นที่ที่มีสภาพแห้งแล้ง ดินเลวนั้นสามารถที่จะพัฒนานำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้หากมีการจัดการที่ดี และศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ นี้ จะเป็นตัวอย่างของการประสานงานกันระหว่างส่วนราชการต่างๆ ในการที่จะปฏิบัติงานร่วมกันอีกด้วย
4.2 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร
อีสาน : ปัญหาสำคัญคืออะไร
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรืออีสานนั้น เป็นภาคที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เมื่อพิจารณาในเรื่องพื้นที่และจำนวนประชากร กล่าวคือมีพื้นที่ทั้งสิ้น 106.4 ล้านไร่หรือ 170,218 ตารางกิโลเมตรหรือคิดเป็นร้อยละ 33.1 ของพื้นที่ทั้งประเทศ ในด้านประชากร ภาคอีสานมีประชากรสูงถึง 17 ล้านคน หรือร้อยละ 34.2 ของประเทศในปี พ.ศ.2526 ภูมิภาคพื้นที่ประกอบด้วย 19 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร หนองคาย สุรินทร์ อุดรธานี อุบลราชธานี มุกดาหาร หนองบัวลำพู และอำนาจเจริญ สภาพภูมิประเทศทั่วไปของภูมิภาคนี้ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง ซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเลระหว่าง 100-200 เมตร โครงสร้างของพื้นดินเป็นดินทราย เนื่องจากในแต่ละจังหวัดของภาคอีสานเองมีความแตกต่างกัน ในด้านโครงสร้างตลอดจนความเคลื่อนไหวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ดังนั้นเพื่อความสะดวกทางวิชาการจึงได้จัดแบ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็น 2 ส่วนคือภาคอีสานตอนบนและภาคอีสานตอนล่าง สำหรับทรัพยากรของภาคอีสาน ซึ่งได้แก่ป่าไม้ ดิน น้ำ และแร่ธาตุต่างๆ นั้น ปรากฏว่าอยู่ในลักษณะที่ไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนภาคอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องดินและน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญในการเกษตร กล่าวคือ ลักษณะของดินมีคุณภาพต่ำ ในขณะเดียวกันแหล่งน้ำจากธรรมชาติก็ไม่เพียงพอ ปริมาณน้ำฝนในภาคนี้ก็ต่ำกว่าภาคอื่น จึงมีผู้พูดอยู่เสมอว่าภาคอีสานเป็น ภาคที่แห้งแล้งที่สุดของประเทศ
และทำให้การเกษตรของภาคอีสานไม่ได้ผลเท่าที่ควร จึงเป็นผลให้ภาคอีสานเป็นภาคที่ยากจนที่สุดเพราะมีรายได้ต่ำ จากสาเหตุดังกล่าวจึงทำให้ราษฎรที่ยากจนเหล่านี้ เริ่มบุกรุกทำลายป่า ทั้งนี้เนื่องจาก ประการแรก การตัดไม้ได้มีส่วนช่วยให้ปัญหาความยากจนผ่อนคลายลงได้บ้างและ ประการที่สอง ช่วยให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งทางออกในอดีตของเกษตรกรชาวอีสานนี้ได้ส่งผลกระทบถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นรุนแรงในปัจจุบันนี้คือ ปัญหาที่ทำให้พื้นดินขาดความชุ่มชื้น เพราะขาดแคลนป่าไม้ที่จะอุ้มน้ำไว้ เป็นผลให้ฝนยิ่งตกน้อยลงและทำให้เกิดความแห้งแล้งมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้แล้วการบุกรุกทำลายป่าทำให้เกิดน้ำท่วมโดยฉับพลันได้ และยังเป็นการทำลายคุณภาพของดินด้วยสาเหตุและผลกระทบดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น นอกจากจะชี้ให้เห็นถึงปัญหาการผลิตด้านเกษตรที่เกิดจากปัจจัยการผลิตที่ไม่พร้อมแล้ว ยังชี้ให้เห็นตัวปัญหาที่เกิดจากเกษตรกรเอง นั่นคือการขาดความรู้ในเรื่องเทคนิคที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้การผลิตมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและนอกจากนี้แล้ว เกษตรกรยังขาดความรู้เรื่องการตลาด ทั้งนี้เพราะในปัจจุบันสินค้าเกษตรมักจะมีปัญหาเรื่องราคา โดยมักจะถูกกดให้ต่ำลง เกษตรกรจึงควรมีความรู้ ความสามารถพอที่จะพัฒนาสินค้าเกษตรให้แปรรูปจากวัตถุดิบมาเป็นสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมได้
พระราชดำริ : จุดเริ่มต้นโครงการ
เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ผลการพัฒนาประเทศเท่าที่ผ่านมานั้น แต่ละภาคของประเทศมิได้รับผลเท่าเทียมกัน ทั้งนี้เพราะภูมิภาคแต่ละแห่งมีความแตกต่างกันทั้งในด้านสภาพภูมิประเทศ ทรัพยากรธรรมชาติ ขนบธรรมเนียมประเพณี และความนึกคิดของประชาชนในแต่ละท้องถิ่น ตลอดจนการศึกษา ดังนั้นการใช้รูปแบบการพัฒนาอันเดียวกันมาพัฒนาทุกภาคย่อมมีปัญหาและอุปสรรค จึงทำให้ผลของการพัฒนาออกมาไม่เท่ากัน เรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพัฒนาในแต่ละแห่งแต่ละพื้นที่ที่มีสภาพพื้นที่ และขนบธรรมเนียมประเพณีแตกต่างกันไป จึงควรจะมีการศึกษาถึงปัญหาสภาพท้องถิ่นหรือวิถีชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นเสียก่อน เพื่อจะได้รูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นนั้น ดังนั้นจึงทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาขึ้นในภูมิภาคต่างๆ สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้จัดตั้งให้มี “ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ” ขึ้นในเขตบ้านนานกเค้า ตำบลห้วยยาง อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร
เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานกระแสพระราชดำริให้กรมชลประทาน พิจารณาวางโครงการจัดหาน้ำสนับสนุนโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานตามพระราชดำริ สกลนคร โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อการศึกษาและทดลองงานพัฒนาการเกษตรต่างๆ ตามความเหมาะสมสำหรับเป็นตัวอย่างให้ราษฎรนำไปใช้ปฏิบัติต่อไป
หลังจากรับพระราชทานพระราชดำริในเรื่องนี้แล้ว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีหนังสือขออนุมัติคณะรัฐมนตรี เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานตามพระราชดำริ และคณะรัฐมนตรีได้ลงมติเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2526 อนุมัติให้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานตามพระราชดำริขึ้นคณะหนึ่ง โดยมีหน้าที่ที่สำคัญคือกำหนดวัตถุประสงค์ นโยบาย เป้าหมาย แนวทางการบริหารโครงการ รวมทั้งควบคุมแผนงาน กำกับ ติดตามผลและแก้ไขอุปสรรคในการบริหารโครงการ ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวได้ประชุมปรึกษาหารือเพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินงานเมื่อ 9 ธันวาคม พ.ศ.2526 และที่ประชุมได้พิจารณาเห็นควรแต่งตั้งคณะอนุกรรมการวางแผนแม่บทขึ้นคณะหนึ่ง ซึ่งประธานคณะกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานตามพระราชดำริ ได้อนุมัติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการวางแผนแม่บท โดยมีผู้ช่วยอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานคณะอนุกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการ กปร . เป็นรองประธานให้คณะอนุกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่กำหนดวัตถุประสงค์ แนวทางและเป้าหมายการดำเนินงานรวม ทั้งจัดทำแผนแม่บทโครงการให้สอดคล้องกับแนวพระราชดำริ
ข้อเท็จจริง
ที่ตั้งและสภาพพื้นที่
โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานตามพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่บ้านนานกเค้า ตำบลห้วยยาง อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร อยู่ห่างอำเภอเมืองสกลนครไปทางทิศตะวันตกประมาณ 10 กิโลเมตร ศูนย์มีพื้นที่ประมาณ 2,100 ไร่ มีเขตปริมณฑลเพื่อการพัฒนาป่าไม้เป็นพื้นที่ประมาณ 11,000 ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ชื่อป่าภูล้อมข้าวและป่าภูเพ็ก สภาพพื้นที่บริเวณตอนกลางเป็นที่ราบซึ่งเกิดจากตะกอนลำน้ำเก่าทับถมกัน ซึ่งบริเวณนี้ใช้ทำนาเป็นหลัก ถัดจากบริเวณนี้ไปเป็นพื้นที่ที่ใช้ทำไร่และเป็นป่าเต็งรัง พื้นที่บางส่วนได้มีการบุกรุกเพื่อใช้ทำการเกษตร เช่น มันสำปะหลัง ฝ้าย และอื่นๆ ลักษณะของดินเป็นดินร่วนปนทราย นอกจากนี้แล้วโครงการนี้ยังมีลำห้วยหลายสายไหลผ่าน ที่สำคัญได้แก่ ห้วยเดียก ห้วยตาดไฮใหญ่ ห้วยยาง ห้วยไร่และอ่างเก็บน้ำ ห้วยเดียก ซึ่งกรมชลประทานได้สร้างให้มีความจุ 4 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างนี้สามารถส่งน้ำให้พื้นที่ตอนบนของโครงการฯ ได้ประมาณ 5,500 ไร่ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาแหล่งน้ำอื่นๆ อีก
วัตถุประสงค์
เพื่อให้การดำเนินงานของศูนย์ฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับพระราชดำริ จึงได้กำหนดวัตถุประสงค์ของของโครงการฯ ไว้ 4 ประการ คือ
1. เพื่อให้เป็นศูนย์ศึกษาและทดลองงานพัฒนาการเกษตรต่างๆ ตามความเหมาะสม สำหรับเป็นตัวอย่างให้ราษฎรนำไปใช้ปฏิบัติในพื้นที่ของตนเอง
2. เพื่อส่งเสริมให้มีการบำรุงรักษาและพัฒนาป่าไม้ในเขตปริมณฑลของศูนย์ฯ ด้วยระบบชลประทาน
3. เพื่อมุ่งส่งเสริมให้มีการปลูกพืชเศรษฐกิจผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม
4. เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอาชีพทางการเกษตรต่าง ๆ เช่นการกสิกรรม การประมง การปศุสัตว์ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ราษฎรมีอาชีพที่มั่นคงและมีรายได้พอเลี้ยงครอบครัวได้
การสนองพระราชดำริ
งานชลประทาน มีดังนี้ การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ พร้อมด้วยระบบท่อส่งน้ำคือ อ่างเก็บน้ำห้วยตาดไฮใหญ่กับอ่างเก็บน้ำภูไม้รวก เพื่อนำน้ำมาสนับสนุนโครงการศูนย์ และการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยเวียนไพร พร้อมด้วยระบบส่งน้ำโดยท่อ เพื่อนำน้ำมาสนับสนุนพื้นที่จัดสรรของหมู่บ้านป่าไม้ประมาณ 100 ไร่ และเพื่อส่งน้ำไปเสริมให้อ่างเก็บน้ำลาดกะเฌอด้วย อีกทั้งก่อสร้างฝายต้นน้ำลำธารขนาดเล็ก จำนวน 20 แห่ง ตามลำน้ำสายต่างๆ ไว้เป็นช่วงๆ ลดหลั่นกันลงมาเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ป่าและต้นน้ำลำธาร
งานพัฒนาหมู่บ้านตัวอย่าง ( บ้านนานกเค้า )
ปรับปรุงผิวถนนในหมู่บ้านด้วยดินลูกรังบดอัดแน่น
งานศึกษาการพัฒนาการกสิกรรม
ศึกษาและทดลองการปลูกพืชต่าง ๆ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและการเพาะเห็ด
งานสาธิต ส่งเสริม และพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการประมง โดยการขุดบ่อ การสร้างบ่อคอนกรีต และก่อสร้างกระชังไม้ เพื่อสาธิตการเลี้ยงปลา ปรับปรุงแปลงนาเพื่อการเลี้ยงปลาในนาข้าว ก่อสร้างโรงเรือนเลี้ยงสุกร เพื่อการเลี้ยงปลาร่วมกับเลี้ยงสุกร และฝึกอบรมเกษตรกร
งานส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัว โดยส่งเสริมอาชีพการตีเหล็กทำมีดและเครื่องมือการเกษตร ส่งเสริมอาชีพทอผ้าด้วยมือ
งานศึกษาการพัฒนาด้านปศุสัตว์ โดยพัฒนาพื้นที่ปลูกพืชอาหารสัตว์และพัฒนาการเลี้ยงสัตว์
งานศึกษาและพัฒนาปรับปรุงบำรุงดิน
ปรับปรุงคุณภาพดิน โดยจัดทำปุ๋ยหมัก และปรับปรุงบำรุงดิน
งานศึกษาและพัฒนาป่าไม้ มีดังนี้
งานอนุรักษ์ป่าไม้ ปลูกเสริมป่าธรรมชาติที่มีสภาพป่าเสื่อมโทรม และบำรุงป่าธรรมชาติ งานปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ที่ดิน จัดที่ดินให้แก่ราษฎรตัวอย่างในรูปหมู่บ้านป่าไม้ ปลูกป่าฟืนและไม้ใช้สอย และงานส่งเสริมการเพาะเลี้ยงครั่ง เมื่อมีการจัดตั้งโครงการศูนย์ศึกษาฯ นี้แล้ว ผลที่ตามมาก็คือศูนย์ฯ นี้จะเป็นศูนย์กลางในการอบรมและเผยแพร่การศึกษาแก่ข้าราชการและเกษตรกรในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตลอดจนเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ปริมณฑลของโครงการประมาณ 11,000 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าภูล้อมข้าว และป่าภูเพ็ก อันเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของลำน้ำต่าง ๆ และยังสามารถส่งเสริมอาชีพให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และพัฒนาหมู่บ้านในด้านต่างๆ ด้วย
4.3 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ภาคตะวันออก : ปัญหายังมีอยู่
ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะได้มีการวางแผนการพัฒนาชนบทอย่างเป็นระบบแล้วก็ตาม แต่พื้นที่บางส่วนของภาคกลางด้านตะวันออกก็ยังมีราษฎรที่ยากจนอยู่ ซึ่งเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าราษฎรเหล่านี้ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาน้อย หรือแทบจะไม่ได้รับอะไรเลยจากการพัฒนา ทั้งนี้ อาจเนื่องจากสาเหตุหลายประการ เช่น การขาดกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน ความแห้งแล้งของดินฟ้าอากาศ ขาดแคลนแหล่งน้ำ ขาดความรู้ในการใช้วิทยาการใหม่ๆ ทำให้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นไปอย่างไม่เหมาะสม เกิดความเสื่อมโทรมในคุณภาพของชีวิตราษฎร จึงน่าจะมีการกำหนดทิศทางการศึกษาเพื่อการจัดสรรและระดมทรัพยากรที่มีอยู่ให้พัฒนาไปอย่างถูกต้อง และเหมาะสม
สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกนั้น ทรัพยากรธรรมชาติได้ถูกทำลายไปมากรวมตั้งแต่ความอุดมสมบูรณ์ของดิน เนื่องจากการปลูกพืชเศรษฐกิจที่ใช้ปุ๋ยมากกว่าปกติ คือ มันสำปะหลัง การตัดไม้ทำลายป่า และยังประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำทั้งเพื่อการอุปโภค บริโภค และเพื่อการเกษตร ดังนั้นปัญหาต่างๆ เหล่านี้ควรจะได้รับการแก้ไขปรับปรุงและวางแนวทางในการพัฒนาให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ต่อไป
พระราชดำริ : จุดเริ่มของศูนย์ศึกษาการพัฒนา
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสภาพของพื้นที่ที่ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งราษฎรได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน ประมาณ 1,227 ไร่ และทรงทราบปัญหาต่างๆ เป็นอย่างดีจึงได้มีพระราชดำริให้ใช้ที่ดินดังกล่าวเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาทางด้านการเกษตรเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ในท้องที่นี้ และเปิดโอกาสให้ราษฎรที่สนใจเข้ามาศึกษาหาความรู้ และนำความรู้ไปพัฒนาพื้นที่ทำกินของตนเองต่อไป
ดังนั้น หน่วยราชการต่างๆ จึงได้มีการปรึกษาหารือและกำหนดโครงสร้างการบริหารโครงการขึ้น มีกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนจากหน่วยราชการต่างๆ รวมทั้ง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษเข้าร่วมในการบริหารโครงการ ทั้งนี้ ได้กำหนดระยะเวลาดำเนินงานไว้ ประมาณ 6 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524-2529
ศูนย์การศึกษาพัฒนา : สภาพข้อเท็จจริง
ที่ตั้งและสภาพพื้นที่
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ตั้งอยู่ในตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา มีเนื้อที่ 1,227 ไร่ และพื้นที่ใกล้เคียงอีก 40,000 ไร่ เป็นเขตติดต่อกับศูนย์ศึกษาฯ และได้รับการพัฒนาไปด้วย สภาพภูมิประเทศ ร้อยละ 50 เป็นพื้นที่เกือบราบเรียบ และมีลูกคลื่นเป็นเนินลอนลาดกระจายทั่วไป มีอาณาเขตดังนี้
ทิศเหนือ ติดทางหลวงสายพนมสารคาม – กบินทร์บุรี
ทิศตะวันออก ติดบริเวณเขาหน้ามอดและบ้านเขาหินซ้อน
ทิศตะวันตก ติดตำบลเกาะขนุนและคลองท่าลาด
ทิศใต้ อาณาเขตเป็นแนวขนานทางหลวงสายพนมสารคาม – กบินทร์บุรี โดยลึกจากถนนเข้าไปประมาณ 4 กิโลเมตร
สำหรับสภาพของดินมีความสมบูรณ์ต่ำ ปลูกพืชไร่และทำนาได้พอประมาณ จำเป็นต้องปรับปรุงดินและน้ำ การพังทลายของดินมีมาก ขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ฤดูฝนมีแหล่งน้ำธรรมชาติพอประมาณ ประชากรที่ได้รับผลการพัฒนามี 1,000 ครอบครัว ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกร และมีการถือครองที่ดินเป็นของตนเองถึงร้อยละ 75
วัตถุประสงค์ของโครงการ
1. เพื่อยกระดับรายได้ของราษฎรในพื้นที่โครงการและบริเวณใกล้เคียงให้มีรายได้พอเพียง ต่อการยังชีพคือ ประมาณ 20,000 บาทต่อครอบครัวต่อปี
2. เพื่อให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ตัวอย่างให้เป็นแนวทางการพัฒนาท้องที่อื่น ๆ ต่อไป
3. เพื่อเป็นแหล่งศึกษาทางวิชาการในการหาลู่ทางพัฒนาการเกษตรและอาชีพของเกษตรกรในภาคตะวันออก โดยเฉพาะในจังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดปราจีนบุรี
4. เพื่อเป็นแหล่งฝึกอบรมให้ความรู้ทางวิชาการเกษตรและศิลปาชีพพิเศษแก่เกษตรกร
5. เพื่อเป็นแหล่งผลิตและขยายพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์สำหรับบริการแก่เกษตรกร
6. เพื่อเป็นแหล่งเข้ามาศึกษาหาความรู้และพักผ่อนหย่อนใจแก่ประชาชนทั่วไป
การสนองพระราชดำริ
ได้มีหน่วยราชการต่างๆ ร่วมมือกันดำเนินงาน ดังนี้
กรมชลประทาน จัดสร้างอ่างเก็บน้ำ 7 แห่ง ทั้งในพื้นที่โครงการและพื้นที่เกษตรกรคือ
อ่างเก็บน้ำห้วยเจ๊ก ความจุ 120,000 ลูกบาศก์เมตร
อ่างเก็บน้ำห้วยแยก 1 ความจุ 9,000 ลูกบาศก์เมตร
อ่างเก็บน้ำห้วยแยก 2 ความจุ 92,000 ลูกบาศก์เมตร
อ่างเก็บน้ำสำโรงใต้ ความจุ 625,000 ลูกบาศก์เมตร
อ่างเก็บน้ำห้วยสำโรงเหนือตอนบน ความจุ 608,000 ลูกบาศก์เมตร
อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำโจนตอนบน ความจุ 1,800,000 ลูกบาศก์เมตร
อ่างเก็บน้ำห้วยมันปลา ความจุ 250,000 ลูกบาศก์เมตร
กรมป่าไม้ ดำเนินการสร้างสวนป่า สวนรุกขชาติ สวนพฤกษศาสตร์ สวนสมุนไพรและป่าไม้โตเร็ว ส่งเสริมแนะนำให้เกษตรกรเห็นความสำคัญและประโยชน์ของป่าไม้ ได้จัดตั้งศูนย์เพาะชำกล้าไม้เพื่อผลิตกล้าไม้บริการแก่เกษตรกร
กรมประมง ทำหน้าที่อนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ อบรมแนะนำเกษตรกรในการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ สาธิตการเลี้ยงปลา ผลิตและแจกจ่ายพันธุ์ปลา
กรมปศุสัตว์ ร่วมกับ กรป. กลาง และบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ ทำหน้าที่อบรม แนะนำเกษตรกรในการเพิ่มผลผลิตปศุสัตว์ สาธิตและส่งเสริมการทำทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ปรับปรุงพันธุ์สัตว์ และขยายพันธุ์สัตว์ เช่น โค สุกร จัดตั้งธนาคารโค กระบือ เพื่อบริการแก่เกษตรกรในรูปแบบของการให้ยืมและขายโดยวิธีผ่อนส่ง
กรมพัฒนาที่ดิน ทำการสำรวจดิน จำแนกการถือครองที่ดิน วางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของเกษตรกร สาธิตวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำ และการปรับปรุงบำรุงดินเพื่อเพิ่มผลผลิต วางมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดินซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในภูมิภาคแถบนี้ เป็นผลให้ดินเสื่อมความอุดมสมบูรณ์ ทำการเพาะปลูกได้ผลผลิตต่ำ จึงต้องการมาตรการการอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อการอนุรักษ์ดินและบำรุงดินบริการแก่เกษตรกร พร้อมกับอบรมส่งเสริม แนะนำช่วยเหลือเกษตรกรในการอนุรักษ์ดินควบคู่ไปกับการบำรุงดิน กระตุ้นให้เกษตรกรรู้ถึงคุณประโยชน์ของปุ๋ยหมักและผลิตปุ๋ยหมักขึ้นใช้เอง
กรมวิชาการเกษตร ทำหน้าที่สาธิตพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น จำพวกพืชทนแล้ง เช่น มะม่วงหิมพานต์ เพื่อปลูกทดแทนมันสำปะหลัง และสาธิตข้าวพันธุ์ต่าง ๆ ยางพารา ตลอดจนสาธิตการใช้เครื่องมือทางเกษตรวิศวกรรมที่ใช้พลังงานธรรมชาติ
กรมส่งเสริมการเกษตร ทำหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริม สาธิตการขยายพันธุ์ และการปลูกไม้ผล พืชผักสวนครัว เป็นหน่วยงานฝึกอบรมวิชาการด้านการขยายพันธุ์ไม้ผล การปลูก การปราบศัตรูพืช ตลอดจนการปฏิบัติดูแลรักษาไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชไร่ และพืชผัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์มะม่วงพันธุ์ดีในประเทศไทย
จังหวัดฉะเชิงเทรา รับผิดชอบต่อพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อำนวยความสะดวกให้หน่วยราชการต่างๆ ในการปฏิบัติงานในพื้นที่ จัดสร้างศูนย์ประสานงานเพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับต้อนรับผู้เข้าเยี่ยมชมศูนย์ฯ สำหรับประชุมและอบรมเกษตรกร พร้อมทั้งจัดตลาดนัดขายผลผลิตทางการเกษตรที่ผลิตได้จากโครงการ และจัดร้านจำหน่ายวัสดุการเกษตรที่มีคุณภาพดี
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริสวนป่าสมุนไพร ได้รวบรวมพันธุ์พืชสมุนไพรมาปลูกเพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาและนำไปปลูกเป็นยาประจำบ้าน บางประเภทเป็นพืชสวนครัว เพื่อช่วยเศรษฐกิจของครอบครัว ปัจจุบัน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริสวนป่าสมุนไพร ได้ทำการอบรมวิทยาการ เพื่อออกเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับรู้ถึงประโยชน์และสรรพคุณของสมุนไพรอย่างกว้างขวาง
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำหน้าที่เผยแพร่งานของโครงการในรูปแบบต่างๆ
กรมการพัฒนาชุมชน ทำหน้าที่ฝึกอบรมเกษตรกรในด้านศิลปาชีพ เช่น จักรสาน ทอผ้า และส่งเสริมให้ประกอบเป็นอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง
กรมโยธาธิการ จัดสร้างระบบประปา บริการจัดหาน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภค บริโภค
กรมส่งเสริมสหกรณ์ ดำเนินการในด้านกิจการโรงสีเพื่อช่วยเหลือราษฎร
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รับหน้าที่ด้านติดตั้งระบบไฟฟ้าบริการด้านแสงสว่าง
กองทัพภาคที่ 1 สนับสนุนในด้านความมั่นคงควบคู่กับการพัฒนา
สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท จัดทำถนนในพื้นที่โครงการ
นอกจากหน่วยงานดังกล่าวแล้ว ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนยังได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากกรมอาชีวศึกษา จัดตั้งวิทยาลัยเกษตรกรรมฉะเชิงเทรา จัดให้มีการศึกษาอาชีวเกษตรในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาเกษตรกรรม รวมทั้งให้การสนับสนุนการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมในด้านต่างๆ
นอกจากนี้โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ยังได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนหลายแห่งที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน เช่น บริษัทน้ำมันคาลเท็กซ์ (ไทย) จำกัด ให้เครื่องแปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นกระแสไฟฟ้า ใช้สำหรับส่งน้ำขึ้นเก็บสำรองในสระซึ่งอยู่บนเนิน เพื่อปล่อยให้แก่พื้นที่ด้านล่างสระดังกล่าว สามารถเก็บกักน้ำได้โดยใช้วิธีปูแผ่นพลาสติกรองพื้นที่ ซึ่งบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีคัลไทย จำกัด ได้บริจาคแผ่นพลาสติก LDPE และทำการปูแผ่นพลาสติกดังกล่าวจนเสร็จเรียบร้อย ภายใต้การแนะนำของสมาคมวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งประเทศไทย บริษัทอุสาอุตสาหกรรม จำกัด ร่วมจัดสร้างกังหันลมเพื่อใช้พลังงานธรรมชาติสูบน้ำ บริษัทอุตสาหกรรมท่อน้ำไทย บริการด้านท่อส่งน้ำในโครงการฯ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด จัดสร้างเล้าหมูและให้การสนับสนุนพันธุ์หมู เป็นต้น นับได้ว่าโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนเป็นโครงการตัวอย่างอีกด้านหนึ่งในด้านการร่วมมือร่วมใจ ประสานงานกันอย่างใกล้ชิด ระหว่างหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน และหลังสุดประเทศญี่ปุ่นได้น้อมเกล้าฯ ถวายโรงสีที่ทันสมัยพร้อมดำเนินการติดตั้งให้อย่างเรียบร้อย ซึ่งเปิดบริการสีข้าวให้แก่เกษตรกรแล้ว
ความน่าประทับใจอีกอย่างหนึ่งในการปฏิบัติงานของโครงการนี้ คือ ทุกหน่วยงานดำเนินงานโดยยึดถือพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นหลัก ด้วยการนำเอาวิธีการปฏิบัติที่ได้ผล ถูกต้อง ประหยัด และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดมาเป็นนโยบายในการดำเนินงาน ซึ่งมีผลที่เกษตรกรจะนำไปปฏิบัติตามได้ และนับตั้งแต่มีศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนเกิดขึ้น ได้มีเกษตรกร ประชาชน นักศึกษา อาจารย์ และชาวต่างประเทศ เข้าชมกิจการการดำเนินงานของศูนย์ฯ และเข้ารับการอบรมภายในศูนย์ฯ มากกว่า 10,000 รายต่อปี แต่สิ่งที่ไม่สามารถจะนับแจกแจงเป็นปริมาณได้คือ เกษตรกรในพื้นที่โครงการ ต่างมีความมั่นใจในการที่จะพัฒนาพื้นที่ทำกินของตนเองอย่างมีมานะ ไม่ท้อถอย และมีความหวัง สมดังพระราชดำริที่ให้พัฒนาสถานที่นี้เป็นตัวอย่างในการพัฒนาด้านการเกษตร และศิลปาชีพให้ประชาชน ได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ เพื่อนำไปพัฒนาพื้นที่ทำกินให้สามารถเพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ ในอันจะยกระดับมาตรฐานฐานะความเป็นอยู่ของครอบครัวและสังคมให้ดีขึ้น
เมื่อมีการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนขึ้นแล้ว ได้ก่อให้เกิดประโยชน์นานาประการ คือ
1. ทำให้พื้นที่โครงการและบริเวณใกล้เคียงเกิดความชุ่มชื้น คลายความแห้งแล้ง
2. ราษฎรในพื้นที่โครงการและบริเวณใกล้เคียงมีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้นทั้งทางด้านเกษตร และศิลปาชีพพิเศษ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
3. ผลของการดำเนินงานพัฒนาสามารถเป็นตัวอย่างแก่ราษฎรในพื้นที่ภาคตะวันออกที่จะไปใช้ในพื้นที่ของตน
4. สนับสนุนทางด้านการศึกษาแก่นักศึกษาระดับ ปวช. ปวส. ที่ศึกษาทางด้านเกษตรกรรม ให้มีความรู้ทั้งทางด้านทฤษฎี และเชิงปฏิบัติการ
5. เป็นแหล่งค้นคว้า ทดลองพันธุ์พืชใหม่ ๆ และเป็นแหล่งทดลองขยายพันธุ์สัตว์น้ำ สัตว์ปีกและปศุสัตว์ต่างๆ
6. เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและมีจำนวนนักท่องเที่ยวมากกว่า 10,000 รายต่อปี
4.4 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
ชายฝั่งทะเลตะวันออก : บางจุดของปัญหา
ในภูมิภาคที่ดูเหมือนจะเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศนั้น พื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกซึ่งมีชายฝั่งทะเลเป็นแนวยาวติดต่อกันถึง 3,675 กิโลเมตร เป็นแหล่งประกอบอาชีพ สร้างผลผลิตและรายได้ให้แก่ประเทศชาติ จากผลิตผลด้านการเกษตร พืชไร่ สวนผลไม้ ป่าไม้ แร่ธาตุ ป่าชายเลน และผลิตผลจากการประมงต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน
แต่ทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างจำกัด วงจรแห่งการเจริญเติบโตทดแทน สิ่งที่ถูกใช้ไป ต้องอาศัยเวลา และต้องการวิธีการที่เหมาะสม ในขณะที่วิทยาการ ความรู้ และเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าขึ้น ทรัพยากรต่างๆ ก็ถูกทำลายลงอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้นด้วย ในทศวรรษที่ผ่านมาความเสื่อมโทรมของพื้นที่เพาะปลูก ทำให้ผลผลิตต่อพื้นที่ทำการเกษตรลดต่ำลง ป่าไม้ชายเลนซึ่งเป็นแหล่งอาหาร และเป็นแหล่งเจริญเติบโตของสัตว์น้ำวัยอ่อนถูกบุกรุกทำลาย กลายเป็นพื้นที่รกร้าง ที่ไร้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ ความทันสมัยของเครื่องมือจับสัตว์น้ำทำให้ปริมาณสัตว์น้ำในท้องทะเลไทย ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ความเสื่อมโทรมของพื้นที่ที่เคยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ ส่งผลกระทบกระเทือนต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และต่อเศรษฐกิจของประเทศชาติโดยส่วนรวม และปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้มีแนวโน้มที่จะขยายความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในระยะเวลาต่อไป
พระราชดำริ : จุดเริ่มของโครงการ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงห่วงใยราษฎรที่ประสบปัญหาเหล่านี้ จึงมีพระราชดำริที่จะทำการศึกษาการพัฒนาพื้นที่ในเขตที่ดินชายทะเล เพื่อแนะนำให้ประชาชนได้มีความรู้และเห็นความสำคัญของการใช้ และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติด้านต่าง ๆ อย่างเหมาะสม จึงพระราชทานพระราชดำริแก่นายบุญนาค สายสว่าง ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีในขณะนั้น ในการเสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2524 โดยสรุปว่า ให้พิจารณาหาพื้นที่ที่เหมาะสม จัดทำโครงการพัฒนาด้านอาชีพ การประมงและการเกษตรในเขตพื้นที่ดินชายฝั่งทะเลของจังหวัดจันทบุรี โดยพระราชทานเงินที่ราษฎร จังหวัดจันทบุรีได้ร่วมกันทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายโดยเสด็จพระราชกุศลในโอกาสดังกล่าวเป็นทุนริเริ่มดำเนินการ
ต่อมาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้มีพระราชดำริเพิ่มเติม ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน กับนายเล็ก จินดาสงวน และนายสุหะ ถนอมสิงห์ เกี่ยวกับโครงการพัฒนาที่จะจัดทำขึ้นในเขตจังหวัดจันทบุรี สาระโดยสรุปว่าให้พิจารณาจัดหาพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรมหรือพื้นที่สาธารณประโยชน์ เพื่อจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนา เช่นเดียวกับโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ให้เป็นศูนย์ศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาในเขตที่ดินชายทะเล จังหวัดจันทบุรีได้ร่วมหารือกับผู้เกี่ยวข้องต่างๆ และพิจารณาความเหมาะสมแล้วจึงกำหนดพื้นที่ตำบลสนามไชย อำเภอท่าใหม่ เป็นพื้นที่จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน
จากนั้น ได้มีการศึกษารายละเอียดภูมิประเทศและสภาพพื้นที่ในบริเวณที่จะจัดทำโครงการ ทรงเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวเหมาะสมที่จะพัฒนาการเพาะเลี้ยงชายฝั่งทะเลและจัดตั้งสถานีเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ซึ่งกรมประมงได้รับไปดำเนินการ
กรมประมงจึงได้ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ และจัดทำโครงการเร่งด่วนขั้นต้นขึ้น มีกิจกรรมหลักเกี่ยวกับการศึกษา สาธิต และการพัฒนาการเพาะเลี้ยงและการประมงชายฝั่ง ซึ่งคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ได้พิจารณาอนุมัติโครงการและวงเงินงบประมาณจำนวนหนึ่งเพื่อเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2525
ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2525 สำนักงานเลขานุการ กปร . ได้ทำการสำรวจพื้นที่ในเขตโครงการบริเวณอ่าวคุ้งกระเบน ศึกษาสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของราษฎร เพื่อเป็นพื้นฐานในการวางแนวทางการพัฒนาและการจัดทำโครงการที่เหมาะสม และพร้อมกันนี้ได้จัดทำแผนแม่บทเพื่อเป็นแนวทางการดำเนินการด้วย
ข้อเท็จจริง
สภาพทั่วไป
พื้นที่บริเวณอ่าวคุ้งกระเบน อยู่ในอำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี อันเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญในหลายด้านกล่าวคือ เป็นแหล่งการประมงใหญ่แหล่งหนึ่งของจังหวัดจันทบุรี และมีความสำคัญทางสภาวะแวดล้อมนับตั้งแต่ชายฝั่งซึ่งเป็นเขตสงวนของป่าไม้ชายเลนที่มีค่าในทางเศรษฐกิจ ป่าชายเลนอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้โตเร็ว เป็นแหล่งอาหารของสัตว์น้ำจำนวนมาก และใช้เป็นแนวป้องกันชายฝั่งที่ดีได้ นอกจากนั้นภูมิประเทศ ทิวทัศน์ และทำเลที่ตั้ง ก็มีความงดงามอยู่โดยธรรมชาติ ทรัพยากรเหล่านี้เริ่มเสื่อมโทรมลงในทุกด้าน มีการจับสัตว์น้ำในปริมาณที่เกินระดับความเหมาะสมของการขยายพันธุ์ ทำให้แหล่งประมงที่เคยอุดมสมบูรณ์ลดปริมาณลง การเพาะปลูกได้รับความเสียหายจากการที่น้ำทะเลเอ่อล้นถึงป่าชายเลน พื้นที่เขตสงวนก็ถูกบุกรุกรกร้าง และกลายเป็นป่าเสื่อมโทรมเป็นจำนวนมาก ผลกระทบเหล่านี้ จะก่อผลเสียหายต่อชีวิตความเป็นอยู่ได้ในอนาคต
แนวความคิดในการพัฒนา
แนวทางสำหรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น คือการวางแนวทางในการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เหมาะสม ( Resource Allocation ) โดยการเลือกสรรและใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ เสริมสร้างผลผลิตและทรัพยากรให้เพิ่มขึ้นด้วยการพัฒนาด้านต่างๆ รวมทั้งดูแลรักษาสภาวะแวดล้อมให้อยู่ในสภาพที่ดีและเหมาะสมที่สุด การวางแผนพัฒนาจึงต้องเป็นไปในลักษณะผสมผสาน ( Integrated Development )
จุดมุ่งหมาย
จุดมุ่งหมายของการพัฒนา คือ มุ่งยกระดับฐานะความเป็นอยู่ อาชีพ และรายได้ ของราษฎรในพื้นที่บริเวณอ่าวคุ้งกระเบนและชุมชนโดยรอบ และพัฒนาด้านการประมงและการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเพิ่มผลผลิตการประมง และส่งเสริมความก้าวหน้าทางวิชาการด้านการประมง รวมทั้งการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมและดุลยภาพทางธรรมชาติให้คงไว้
พื้นที่เป้าหมาย
แบ่งออกได้เป็น 2 พื้นที่ คือ
พื้นที่ศูนย์กลาง ได้แก่ บริเวณอ่าวคุ้งกระเบนซึ่งครอบคลุมบริเวณชายฝั่งโดยรอบและพื้นที่น้ำในอ่าวด้วย รวมเนื้อที่ทั้งสิ้นราว 4,000 ไร่
พื้นที่รอบนอก ได้แก่ พื้นที่ในเขตตำบลคลองขุดและตำบลสนามไชย อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี และเขตพื้นที่ใกล้เคียงซึ่งเป็นทั้งเขตเกษตรกรรมและเขตหมู่บ้านประมง ซึ่งตั้งอยู่เรียงรายตลอดแนวชายฝั่งทะเล ดังนั้น ด้วยสภาพแวดล้อมและทรัพยากรที่มีซึ่งสามารถจะพัฒนาให้ถูกต้องและเหมาะสม จำเป็นต้องมีการจัดสรรพื้นที่ให้เหมาะสมแก่กิจกรรมและเป้าหมายการพัฒนาเพื่อการใช้ประโยชน์ที่ดินไว้ ดังนี้คือ
1. เขตพื้นที่สงวน (Preservation area) เป็นสภาพพื้นที่ที่มีลักษณะเฉพาะของท้องถิ่น ซึ่งมีคุณค่าอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งอาจสูญเสียไปหากได้รับผลกระทบทางใดทางหนึ่ง บริเวณที่มีลักษณะดังกล่าวต้อง ดูแลรักษาไว้เป็นพิเศษ ไม่พยายามปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใดๆ นอกจากจะให้เป็นไปตามขบวนการพัฒนาตามธรรมชาติเท่านั้น
2. เขตอนุรักษ์ (Conservation area) ได้แก่ บริเวณที่สภาพแวดล้อมเดิมมีประโยชน์ต่อพื้นที่และชุมชนอยู่ตามธรรมชาติในบางด้านอยู่แล้ว เช่น เป็นพื้นที่ป่าสงวนชายเลน เป็นพื้นที่สีเขียวของชุมชน (Green belt) เป็นแนวป้องกันชายฝั่ง หรือมีทิวทัศน์ภูมิประเทศงดงามเหมาะสมจะเป็นแหล่งท่องเที่ยว การพัฒนาจึงจำเป็นต้องรักษาสภาพธรรมชาติที่ดีไว้ และป้องกันมิให้เกิดผลเสียหายต่อทรัพยากรที่มีอยู่เดิมด้วย
3. เขตพัฒนา (Development area) ได้แก่ บริเวณพื้นที่ที่มิได้มีการใช้ประโยชน์ที่เหมาะสม เช่น เขตป่าเสื่อมโทรม พื้นที่รกร้างว่างเปล่า หรือบริเวณที่สภาพดินมีปัญหา พื้นที่เพาะปลูกที่น้ำทะเลเอ่อล้นถึง ก่อผลเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตร
ระยะเวลาดำเนินงาน
แผนการพัฒนาควรแบ่งระยะการพัฒนาออกเป็น 2 ช่วงคือ
1. การพัฒนาในระยะสั้น อยู่ในช่วงเวลาระหว่าง 1-4 ปี (2525-2528) เป็นระยะที่รัฐเข้าไปเป็นผู้นำในการพัฒนาให้การดูแล ทำการฝึกอบรมราษฎรและเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด เพื่อสนับสนุนการวางรากฐานด้านต่างๆ ที่เกินขีดความสามารถที่ราษฎรจะช่วยตนเองได้
2. การพัฒนาในระยะยาว ในระยะนี้ราษฎรควรได้ใช้ความรู้สมัยใหม่ที่ได้รับการอบรมเพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้า และร่วมมือกันแก้ไขปัญหาในชุมชนของตนเองได้ อันสืบเนื่องมาจากการรวมกลุ่มหรือการจัดตั้งสหกรณ์ เพื่อให้ราษฎรสามารถยืนหยัดอยู่ได้
รูปแบบการพัฒนา
การพัฒนาด้านการประมง
เนื่องจากราษฎรส่วนใหญ่ในบริเวณอ่าวคุ้งกระเบน มีอาชีพประมงชายฝั่งขนาดเล็กจะเห็นได้ว่าการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง เป็นการเพิ่มผลผลิตทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีผลตอบแทนในเชิงเศรษฐกิจสูง แต่ก็จำเป็นต้องอาศัยการลงทุนในระยะเริ่มแรกสูงเช่นกัน รัฐจึงต้องรับภาระการลงทุนให้ในบางส่วน จนกว่าราษฎรจะสามารถดำเนินการด้วยตนเองได้ สำหรับราษฎรที่ประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง เป็นกิจกรรมเพิ่มรายได้ต่างๆ เช่น การแปรรูปอาหาร ให้การฝึกอบรม และเผยแพร่วิธีการและการใช้เครื่องมือชนิดใหม่ๆ ให้ความรู้และส่งเสริมให้เกิดทัศนคติที่ถูกต้อง ในเรื่องของการสงวนรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำ มิให้ทำลายอย่างรวดเร็วเกินไป เช่น ความรู้เกี่ยวกับการขยายพันธุ์ การละเว้นที่จับสัตว์น้ำบางพันธุ์ในบางฤดูกาล เป็นต้น แผนงานด้านการประมง ประกอบด้วย การจัดตั้งศูนย์ศึกษาและพัฒนาการประมง เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการดำเนินงาน เป็นการพัฒนาอาชีพการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง จัดสรรที่ดินรกร้างว่างเปล่าให้ราษฎรเข้าประกอบอาชีพ โดยรัฐเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนด้านเทคนิคการเลี้ยง จัดหาพันธุ์สัตว์น้ำให้และเร่งรัดการผลิตพันธุ์ปลาเพื่อนำมาขยาย และแพร่พันธุ์ในบริเวณอ่าวคุ้งกระเบน ตลอดจนให้การอบรมและให้ความรู้เกี่ยวกับการประกอบอาชีพและการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ
การพัฒนาด้านการเกษตร
จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของสำนักงานเลขานุการ กปร . ปรากฏว่าราษฎรส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 40 มีอาชีพหลัก 2 อย่าง คือ การเพาะปลูกกับการประมงและมีรายได้อยู่ระหว่าง 10,000 – 40,000 บาท ต่อปี แต่ยังมีปัญหาเกี่ยวกับน้ำเค็มเอ่อล้นที่ทำความเสียหายให้แก่พื้นที่เพาะปลูก และการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งเท่านั้น การพัฒนาอาชีพด้านการเกษตร จึงเน้นหนักที่การกระตุ้นให้ราษฎรพัฒนาการเพาะปลูก โดยอาศัยวิชาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่รัฐนำมาเสนอแนะให้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเพิ่มผลผลิตตามแนวทางการพัฒนาชนบทของประเทศ แผนงานด้านการเกษตร จึงได้มีแนวทางการพัฒนาโดยการสาธิตและทดลองการปลูกพืชเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับสภาพดินชายทะเล ดำเนินการสำรวจ อนุรักษ์และบำรุงรักษาดินให้มีคุณภาพเหมาะสมต่อการเพาะปลูก และส่งเสริมการปลูกพืชหมุนเวียน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดิน ส่งเสริมการปลูกพืชสวนครัว เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองด้านการผลิตเพื่อบริโภคได้ แนะนำเผยแพร่และฝึกอบรมเกษตรกรให้ทราบและเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี การใช้น้ำ ปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ ยาปราบศัตรูพืช และการทดลองใช้พันธุ์พืชใหม่ๆ เพื่อยกระดับการผลิต และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ของพื้นที่การเกษตรในโครงการ
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
เนื่องจากพื้นที่โครงการอยู่ติดชายฝั่งทะเล ปัญหาการขาดแคลนน้ำและการเอ่อท้นของน้ำเค็ม จึงเป็นปัญหาสำคัญของราษฎร ผลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคม ระบุความต้องการการช่วยเหลือจากรัฐ 2 ลำดับแรก คือ เขื่อนกั้นน้ำเค็มและแหล่งเก็บกักน้ำจืด แผนงานด้านน้ำ จึงควรจะตอบสนองการแก้ไขปัญหาของราษฎรในพื้นที่ ดังนี้คือ พิจารณาความเหมาะสม ความเป็นไปได้เพื่อกำหนดแผนการจัดสร้างเขื่อนกั้นน้ำเค็ม ในบริเวณพื้นที่เพาะปลูกที่ได้รับความเสียหายจากน้ำเค็ม โดยอาจให้ราษฎรร่วมลงทุนกับรัฐด้วย และจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกและการบริโภค โดยเลือกใช้วิธีการวางระบบส่งน้ำที่เหมาะสมโดยอาศัยความร่วมมือจากราษฎรในท้องถิ่น
การดูแลรักษาและพัฒนาสภาพแวดล้อม
การรักษาสภาพแวดล้อมเป็นจุดมุ่งหมายหลักที่สำคัญประการหนึ่งของโครงการ จะเน้นหนักด้านการศึกษา และวิจัยปัญหาสภาพแวดล้อม และค้นหาแหล่งทรัพยากร จึงเห็นว่าแผนงานด้านการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมควรจะวางแนวทางดำเนินการดังนี้ คือ บำรุงรักษาและปลูกป่าชายเลนฟื้นฟู สภาพป่าเสื่อมโทรม และให้การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมแก่ราษฎรในพื้นที่โครงการ ตลอดจนส่งเสริมการสำรวจและการศึกษาวิจัยแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ที่มีค่า เพื่อวางแผนอนุรักษ์และพัฒนาต่อไป และศึกษาผลกระทบของโครงการต่อสภาพแวดล้อม เพื่อจัดระบบ กำจัดมลภาวะที่อาจเกิดขึ้นจากการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง สนับสนุนให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมกับภาครัฐบาลในการดำเนินงานพัฒนาสภาพแวดล้อม เช่น ส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นต้น
การพัฒนาด้านสังคม
เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายของการพัฒนาในระยะสั้น คือการจัดเตรียมราษฎรให้มีศักยภาพและสามารถพึ่งตนเองได้ต่อไป จึงได้เน้นหนักในการเปิดโอกาสให้ราษฎรมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาให้มากที่สุด ตามแผนงานด้านการส่งเสริมให้องค์กรในระดับท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทและเข้าร่วมในการพัฒนาอย่างกว้างขวาง เช่น สภาตำบล สหกรณ์การเกษตร หรือกลุ่มอาชีพในท้องถิ่น และให้บริการด้านสาธารณสุขมูลฐาน การศึกษาภาคบังคับ และการศึกษานอกโรงเรียนอย่างทั่วถึง ส่งเสริมอบรมให้ราษฎรรู้จักสิทธิหน้าที่ ตามวิธีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้มีโอกาสเข้าร่วมในการพัฒนาและการปกครองตนเอง โดยอาศัยสถาบันทางสังคมที่มีอยู่ในชุมชนเป็นแกนกลาง เช่น วัด โรงเรียน สภาตำบล ฯลฯ ส่งเสริมการรวมกลุ่มของราษฎรเป็นสหกรณ์ประมง หรือสหกรณ์การเกษตร เพื่อดำเนินธุรกิจสหกรณ์ให้ราษฎรได้ร่วมมือกันในด้านการผลิต การตลาด และการรักษาระดับราคาผลผลิต เป็นการยกระดับรายได้และฝึกฝนการรวมกลุ่มและการช่วยเหลือตนเองโดยถาวรต่อไป
การสนองพระราชดำริของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
กรมประมง ในปีงบประมาณ 2525–2529 จัดตั้งศูนย์ศึกษาและพัฒนาการประมงและได้เพาะพันธุ์กุ้งทะเล ปลากะพงขาว และสัตว์น้ำอื่นๆ และได้ส่งเสริมสาธิต ให้บริการคำแนะนำฝึกอบรมแก่ชาวประมงในโครงการฯ
กรมที่ดิน ดำเนินการสำรวจ รังวัด ทำแผนที่ กำหนดขอบเขตพื้นที่โครงการ เพื่อการแบ่งแปลงที่ดินให้ราษฎร จัดทำเอกสารสิทธิ เพื่อมอบที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรในโครงการฯ รายละ 10-15 ไร่
กรมชลประทาน ดำเนินการทำถนนในโครงการขุดคลอง ทำทางระบายน้ำในพื้นที่โครงการจัดแบ่งแปลงที่ดินของกรมที่ดิน เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ น้ำ
กรมวิชาการเกษตร
ในปี พ.ศ.2525–2528 ได้ทำการทดลองสาธิตการปลูกมะพร้าวพันธุ์ดี มะม่วงหิมพานต์และพืชที่เหมาะสมกับพืชที่ชายฝั่งทะเล ปลูกไม้โตเร็วเพื่อป้องกันลม (Wind break) เช่น ยูคาลิปตัส กระถินยักษ์ และสน อีกทั้งฝึกอบรมราษฎรเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตร
กรมส่งเสริมสหกรณ์ รวบรวมตระเตรียมสมาชิก จัดกลุ่มราษฎรและจัดการด้านเงินทุนเพื่อให้ราษฎรใช้เป็นทุนดำเนินการต่อไป
กรมป่าไม้ ได้ดำเนินการฟื้นฟูสภาพป่าชายเลน และพัฒนาโครงการป่าไม้ประมง โดยการปลูกไม้สองข้างทาง ปลูกสนทะเล จัดทำสวนหย่อม ปลูกสนที่ดินดอน และปลูกไม้โกงกาง ในที่ดินชายเลนเพื่อฟื้นฟู และศึกษาสภาพ
กรมพัฒนาที่ดิน ดำเนินการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ำ และแนะนำการปรับปรุงบำรุงดินในพื้นที่โครงการ
กรมปศุสัตว์ ดำเนินการส่งเสริมสาธิต ทดลองและแจกจ่ายพันธุ์ให้แก่ราษฎรที่เข้าอยู่ในโครงการโดยทั่วไป
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
เมื่อมีการจัดตั้งศูนย์ศึกษาและพัฒนาการแล้ว ผลที่จะได้รับคือ
1. ราษฎรผู้มีฐานะยากจนจำนวน 100-160 ครอบครัว จะสามารถประกอบอาชีพการเพาะเลี้ยงกุ้ง และปลาในแปลงเลี้ยงขนาด 10 ไร่ ซึ่งจะมีรายได้ปีละประมาณ 90,000 บาทต่อครอบครัว
2.เกษตรกรและชาวประมง จำนวนดังกล่าวจะมีอาชีพเสริมในการเลี้ยงหอย เลี้ยงปลา เลี้ยงปู และเลี้ยงกุ้ง ในบริเวณอ่าวคุ้งกระเบน โดยจะมีรายได้เพิ่มขึ้นครอบครัวละ 10,000-30,000 บาทต่อปี
3. ราษฎรจำนวน 400 ครอบครัวซึ่งอาศัยในบริเวณโครงการรวม 7 หมู่บ้าน จะได้รับผลประ-โยชน์จากโครงการในแง่อาหารโปรตีน และรายได้สมทบจากการจับสัตว์น้ำเป็นครั้งคราว รวมทั้งได้รับบริการขั้นมูลฐาน เช่น ระบบไฟฟ้า ถนน และแหล่งน้ำบริโภคอุปโภค
4. ทรัพยากรสัตว์น้ำในอ่าวคุ้งกระเบนจะได้รับการบำรุงพันธุ์ ซึ่งจะเป็นแหล่งพันธุ์สัตว์น้ำที่สำคัญต่อไป
5. ผลการศึกษาพัฒนาจะเป็นแบบอย่างและให้ข้อมูลในการพัฒนาแหล่งอื่นๆ ต่อไป
6. โครงการจะผลิตพันธุ์สัตว์น้ำชายฝั่งออกจ่ายแจกให้นำไปเพาะเลี้ยงปีละ 12 ล้านตัว มูลค่า 2.4 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำของภาคตะวันออกต่อไป
7. จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในอนาคต
ผลจากการพัฒนาประเทศในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐานในเรื่องการชลประทาน และเทคโนโลยีทางการเกษตร ทำให้ภาคกลางเปลี่ยนแปลงแผนการผลิตเกษตรจากระบบ “ ดั้งเดิมพึ่งธรรมชาติ ” หรือที่เรียกว่า “ ระบบทำมาหากิน ” มาสู่ระบบเกษตรแผนใหม่ ซึ่งมุ่งทำการผลิตเพื่อการค้า อย่างไรก็ดี แม้ว่าภาคกลางจะได้รับผลการพัฒนาสูง แต่ยังคงมีกลุ่มประชาชนคนยากจนอยู่เป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 10.9 ซึ่งเป็นผลมาจากสาเหตุหลักๆ 3 ประการด้วยกันคือ ปัญหาการไร้ที่ทำกิน ปัญหาการเช่าที่ดิน และปัญหาเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดิน
ภาคตะวันตก : การอนุรักษ์ป่าไม้กับความต้องการขยายพื้นที่เพาะปลูกในอัตราที่สูง
ข้อขัดแย้งระหว่างความอยู่รอดเฉพาะหน้า กับความจำเป็นในการออมทรัพยากรป่าไม้ไว้เพื่อสร้างความสมดุลย์ของสภาพธรรมชาตินั้น ยังคงดำเนินไปในลักษณะที่เด่นชัดในสายตาประชาชน นั่นก็คือยังมีการบุกรุกทำลายป่าสงวนเพื่อหาผลประโยชน์จากการทำไม้ และการขยายพื้นที่เพาะปลูก เพื่อให้เพียงพอกับจำนวนผู้ไร้ที่ทำกิน ซึ่งมีอยู่สูงมากถึงร้อยละ 20-50 ในภาคกลาง
ปัญหาการบุกรุกเพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูกในภาคตะวันตกทวีความรุนแรงเด่นชัดมากขึ้น และขยายขอบเขตครอบคลุมเข้าไปในเขตของพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการฯ ให้ประกาศไว้เป็นที่อภัยทานแก่สัตว์ นานาชนิด ตั้งแต่ปี พ.ศ.2467 ปัจจุบันพื้นที่อภัยทานแก่สัตว์ดังกล่าวได้ถูกผู้ไร้ที่ทำกินบุกรุกถากถางป่า เพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูกและตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยเกือบเต็มพื้นที่
พระราชดำริ : ที่มาของโครงการ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนพสกนิกรในทุกๆ พื้นที่และได้ทรงเข้าพระราชหฤทัยถึงความรุนแรงของปัญหานี้เป็นอย่างดี จึงได้มีพระราชดำริที่จะทำการศึกษาการพัฒนาป่าไม้ โดยพยายามหาวิธีการให้ราษฎรเข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกป่า โดยที่สามารถทำการเกษตรแบบต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการป่าไม้ และสามารถมีรายได้จากการอุตสาหกรรมโดยใช้ผลผลิตจากป่าไม้ที่ปลูกขึ้นและศึกษาระบบป้องกันไฟมิให้ไหม้ป่า
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้มีพระราชดำริ เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2526 ให้ทำการพัฒนาพื้นที่ส่วนหนึ่งของพระราชนิเวศน์มฤคทายวันในลักษณะของศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้านเกษตรกรรม โดยจัดหาแหล่งน้ำเพื่อสนับสนุนการปลูกป่าไม้เอนกประสงค์ และการปลูกพืชชนิดต่างๆ ควบคู่ไปกับการปลูกป่า พร้อมทั้งศึกษาวิธีการทำระบบป้องกันไฟไหม้ป่า โดยระบบเปียก และให้นำราษฎรในพื้นที่โครงการเข้ามาร่วมในกิจกรรมของศูนย์ด้วย โดยมุ่งหมายที่จะศึกษารูปแบบการพัฒนาเกษตรกรรมควบคู่ไปกับการปลูกป่า และสร้างรายได้จากผลิตผลจากป่าไม้ โดยให้ราษฎรเข้ามาร่วมปลูกและดูแลรักษา
ป่าไม้ และทำการเพาะปลูกพืชชนิดต่างๆ ควบคู่กันไป แล้วจัดตั้งเป็นกลุ่มเพื่อพัฒนาให้กลุ่มราษฎรสามารถดูแลรักษาป่าไม้ในเขตชุมชนของตนได้ แล้วนำผลของการศึกษาต่างๆ นี้ไปใช้ในการพัฒนาป่าไม้และการเกษตรในพื้นที่ใกล้เคียงต่อๆ ไป
ศูนย์ฯ ห้วยทราย : ที่ตั้งและสภาพพื้นที่
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ตำบลห้วยทราย ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี มีพื้นที่ประมาณ 15,880 ไร่
ทิศเหนือ จรดห้วยทรายเหนือ และเขาเสวยกะปิ
ทิศตะวันออก จรดคลองชลประทานสายหัวหิน
ทิศใต้ จรดบ้านห้วยทรายใต้และเขาสามพระยา
ทิศตะวันตก จรดเขาสามพระยาและเขาเสวยกะปิ
สภาพเดิมของพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ป่าอุดมสมบูรณ์สลับกับพื้นที่ภูเขาประมาณ 20% ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันตกในพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด โดยเฉพาะเนื้อทรายมีมากในพื้นที่นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการฯ ให้ประกาศไว้เป็นที่อภัยทานแก่สัตว์นานาชนิด ตั้งแต่ปี พ.ศ.2467 ปัจจุบันราษฎรเข้าไปบุกรุกถากถางทำไร่สับปะรดเกือบเต็มพื้นที่ ทำให้ความสมบูรณ์ของพื้นที่ลดลง การพังทลายของดินมีสูง เป็นสาเหตุแห่งความแห้งแล้ง และความเสื่อมโทรมของดินในบริเวณดังกล่าว
วัตถุประสงค์
1. เพื่อพัฒนาพื้นที่ของพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้านเกษตรกรรมเพื่อทดลองการใช้ระบบชลประทานที่เหมาะสม ตลอดจนศึกษาการพัฒนาป่าไม้เอนกประสงค์
2. จัดหาแหล่งน้ำพร้อมระบบส่งน้ำเพื่อสนับสนุนการปลูกพืชเศรษฐกิจต่างๆ และการปลูกป่าไม้เอนกประสงค์
3. เพื่อสร้างแนวป้องกันไฟป่าโดยใช้ระบบเปียก เช่น แนวคูคลอง และพืชเศรษฐกิจสีเขียวตามแนวคูคลอง เพื่อเป็นการทดลองสำหรับใช้เป็นแนวป้องกันไฟไหม้ป่า
4. จัดตั้งและพัฒนาหมู่บ้านโดยให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่า และได้ใช้ประโยชน์จากป่าไม้เพื่อทำการอุตสาหกรรมเผาถ่าน ฯลฯ โดยจัดตั้งเป็นกลุ่มและพัฒนากลุ่มให้สามารถบริหารงานด้วยตนเองต่อไป
การสนองพระราชดำริ
สำนักงานเลขานุการ กปร. ได้ประสานกับหน่วยงานที่ร่วมรับผิดชอบ ทำการวางกรอบนโยบายของแผนแม่บทไว้ เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานเสนอคณะกรรมการโครงการ และได้มีการมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินงานเป็นขั้นตอนดังนี้
งานด้านชลประทาน กรมชลประทาน ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 3 อ่างพร้อมระบบส่งน้ำคือ อ่างเก็บน้ำห้วยทราย ความจุ 1.95 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำหนองไทร ความจุ 0.11 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำห้วยตะแปด ความจุ 2.55 ล้านลูกบาศก์เมตร
งานศึกษาและพัฒนาป่าไม้
กรมป่าไม้ ดำเนินการปลูกป่าเสริมในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมไปแล้ว ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2527
งานวางแผนการใช้ที่ดิน และการจัดระเบียบการใช้ที่ดิน
กรมพัฒนาที่ดิน ได้ทำการสำรวจสมรรถนะดินและเสนอแผนการใช้ที่ดิน กรมที่ดินเป็นผู้จัดรูปที่ดินโดยวางหมุดแบ่งแปลง และตัดถนนในพื้นที่ให้เป็นไปตามผังของโครงการฯ ต่อไป
สำหรับงานด้านอื่นๆ เช่น งานศึกษาการพัฒนาปศุสัตว์ และทุ่งหญ้า งานด้านการศึกษาทดลองวิชาการเกษตร งานศึกษาการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมผลผลิตจากป่า งานศึกษาการพัฒนาด้านสมุนไพร งานศึกษาการพัฒนาองค์กรประชาชน ฯลฯ หน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบได้ดำเนินการให้สอดคล้องกับกิจกรรมอื่นๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มีพระราชประสงค์จะให้ศึกษาการพัฒนาเกษตรกรรม รูปแบบที่สามารถใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมิต้องทำลายป่าไม้เพิ่มขึ้น ตลอดจนศึกษาหาวิธีที่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมควบคู่ไปกับการป่าไม้ โดยสามารถที่จะเพิ่มเนื้อที่ป่าไม้ได้มากขึ้น ให้ราษฎรปลูกป่าเพิ่มในที่ของตนเอง และมีผลผลิตจากป่าดังกล่าวในอัตราที่เท่าเทียมหรือมากกว่าการปลูกพืชชนิดต่างๆ โครงการนี้ใช้ระยะเวลาของการศึกษาการพัฒนาในช่วงประมาณ 6 ปี เมื่อได้ผลแล้วประชาชนจะมีรายได้จากการปลูกป่าควบคู่ไปกับการเกษตรแบบต่าง ๆ ซึ่งสามารถใช้เป็นแนวป้องกันไฟไหม้ป่าที่เรียกว่า “ ระบบเปียก ” ได้ด้วย และจะสามารถขยายผลการดำเนินงานไปสู่พื้นที่ใกล้เคียงต่อๆ ไป ซึ่งคาดว่า จะจำกัดการบุกรุกทำลายป่าไม้ ในขณะเดียวกันก็จะปลูกป่าไม้เพิ่มขึ้นได้เป็นจำนวนมาก หากแนวพระราชดำริดังกล่าวได้รับการปฏิบัติอย่างมีผล และอย่างแพร่หลาย ปัญหาการทำลายป่าไม้เพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูก ที่มีค่อนข้างรุนแรงในภาคนี้ก็จะหมดไปในที่สุด
4 .6 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส
ย่อมเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ลักษณะพื้นที่ของภาคใต้ทั้งหมด 72,961 ตารางกิโลเมตร ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 40 เป็นบริเวณภูเขาและที่สูง จะมีพื้นที่ราบที่เหมาะแก่การเพาะปลูกเพียง 6,400 ตารางกิโลเมตร หรือ 4 ล้านไร่ ซึ่งนับได้ว่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ทั้งหมด มีประชากรรวมประมาณ 6,032,400 คน (สถิติปี พ.ศ.2526) และมีลักษณะดินฟ้าอากาศที่แตกต่างไปจากภาคอื่นๆ กล่าวคือมีสภาพอากาศเพียง 2 ฤดู คือฤดูร้อน 4 เดือน และฤดูฝน 8 เดือน ซึ่งจะมีฝนตกชุกมากในช่วงระหว่างเดือนกันยายน ถึงเดือนมกราคม ภาคนี้ประกอบด้วย 14 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล เนื่องจากจังหวัดต่างๆ มีความแตกต่างกันในด้านโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคม และโดยเฉพาะมีปัญหาด้านความมั่นคงเกี่ยวข้องด้วย จึงได้จัดแบ่งภาคใต้เป็น 2 ส่วน คือภาคใต้ตอนบน และภาคใต้ตอนล่าง (5 จังหวัดชายแดนภาคใต้)
จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดสงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล มีเนื้อที่รวมกันทั้งสิ้น 21,258 ตารางกิโลเมตร (ประมาณ 13.2 ล้านไร่) คิดเป็นร้อยละ 29.2 ของพื้นที่ทั้งหมดใน 14 จังหวัด มีประชากรรวม 2.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 37.4 ของประชากรทั้งภาค เมื่อพิจารณาดูเนื้อที่ถือครองทางการเกษตร ปรากฏว่าเกษตรกรใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเนื้อที่ทำกินโดยเฉลี่ย 12 ไร่ต่อครัวเรือน ต่ำกว่าระดับชาติซึ่งมีจำนวน 18 ไร่ต่อครัวเรือน จึงเป็นข้อเสียเปรียบประการหนึ่งของเกษตรกร ที่มีเนื้อที่ถือครองเพื่อการเกษตรน้อย ก่อให้เกิดปัญหาผลผลิตต่ำและเกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดที่ดินเพาะปลูก
จังหวัดนราธิวาสเป็นจังหวัดหนึ่งที่ประสบกับปัญหาการขาดพื้นที่เพาะปลูก และผลผลิตทางด้านการเกษตรต่ำ จากเนื้อที่ทั้งหมดของจังหวัด 2,642,343 ไร่ มีพื้นที่ทำการเกษตรเพียง 1,497,205 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 57 ของพื้นที่ทั้งหมด จังหวัดนราธิวาสยังมีพื้นที่อีกจำนวนมาก ซึ่งเป็นบริเวณที่ลุ่มต่ำ และจากการที่มีฝนตกมากจนไม่สามารถระบายออกทะเลได้ทันท่วงที ทำให้เกิดน้ำขังในที่ลุ่มบริเวณนี้ เมื่อนานๆ เข้าก็จะเกิดมีสภาพเป็นกรด ทำให้ดินเปรี้ยวเรียกว่า “ ดินพรุ ” มีอาณาเขตกว้างขวางมากถึง 283,350 ไร่ ซึ่งเป็นดินที่มีปัญหาไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกอย่างมากเนื่องจากมีความเป็นกรดจัด คุณภาพต่ำ มีธาตุอาหารน้อย แม้เมื่อระบายน้ำออกหมดแล้วก็ยังยากที่จะใช้ประโยชน์ทางการเกษตรให้ได้ผล
พระราชดำริ : ที่มาของโครงการ
การพัฒนาในเขตพื้นที่ภาคใต้ นับว่าแตกต่างจากการพัฒนาในภาคอื่นๆ เนื่องจากเป็นภาคที่มีสภาพภูมิประเทศ ทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณี ที่แตกต่างจากภาคอื่น ดังนั้นจึงควรที่จะศึกษาถึงสภาพปัญหาของท้องถิ่นก่อนที่จะดำเนินการพัฒนา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ ตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาสเป็นประจำทุกปี พระองค์เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในพื้นที่และได้ทอดพระเนตรเห็นสภาพพื้นที่ ทรงทราบถึงปัญหาและความจำเป็นที่จะต้องยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น จึงได้มีพระราชดำริให้พิจารณาปรับปรุงกิจการพัฒนาด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะพื้นที่พรุ ซึ่งเป็นที่ที่มีน้ำขังตลอดปี ดินมีคุณภาพต่ำ เพื่อนำมาใช้เป็นประโยชน์ในทางเกษตรกรรมให้มากที่สุด
ระหว่างเดือนสิงหาคม – ตุลาคม พ.ศ.2524 ในการเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรได้ทรงพบว่า หลังจากมีการระบายน้ำออกจากดินพรุแล้ว ปรากฏว่าดินพรุแปรสภาพและเป็นกรดจัด ราษฎรทำการเพาะปลูกไม่ได้ผล จึงมีพระราชกระแสว่าควรมีศูนย์ศึกษาการพัฒนาในการศึกษาวิจัยดินพรุ และฝึกอบรมราษฎรในเรื่องการเกษตรและอาชีพอื่นๆ ขึ้น หลังจากนั้น จึงได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างจังหวัดนราธิวาสและสำนักงานเลขานุการ กปร . เพื่อกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการจัดตั้งโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาโดยให้ชื่อว่า “ ศูนย์ศึกษาพัฒนาพิกุลทอง ” สำนักงานเลขานุการ กปร . ได้นำนโยบายดังกล่าวไปประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาปัญหาในพื้นที่และสรุปเป็นข้อเสนอโครงการขออนุมัติจากคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) และ กปร. ได้มีมติอนุมัติหลักการในการดำเนินงานตามโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2525 และเพื่อให้การดำเนินงานโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องมีองค์กรในการกำหนดนโยบาย วางแผนและกำกับการ ดำเนินงาน ดังนั้น เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2525 ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกปร. ได้อนุมัติให้แต่งตั้งองค์กรสำหรับการดำเนินงานโครงการฯ รวม 3 คณะคือ
1. คณะกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง
2. คณะอนุกรรมการจัดทำแผนแม่บทโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง
3. คณะอนุกรรมการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองประกอบด้วยผู้ว่าราช
การจังหวัดนราธิวาส เป็นประธาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นรองประธาน และมีอนุกรรมการอีก 16 คน โดยมีหัวหน้าศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง (กรมพัฒนาที่ดิน) เป็นอนุกรรมการและเลขานุการการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง เป็นแบบผสมผสาน โดยมีหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก จำนวน 16 หน่วยงาน
ศูนย์ศึกษา : ที่ตั้งและสภาพพื้นที่
โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง ตั้งอยู่ระหว่างบ้านพิกุลทอง บ้านโคกสยา ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส อยู่ห่างจากอำเภอเมืองนราธิวาสไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 7 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากทักษิณราชนิเวศน์ไปทางใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร ศูนย์ฯ นี้มีเนื้อที่ประมาณ 468 ไร่ ในจำนวนนี้ 160 ไร่ เป็นพื้นที่ดอนอันเป็นที่ตั้งของศูนย์ฯ และพื้นที่พรุสำหรับการวิจัยทดลอง 308 ไร่ ทางตอนใต้ของศูนย์ฯ มีอ่างเก็บน้ำใกล้บ้าน ขนาดความจุ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมคลองส่งน้ำ – ระบายน้ำ ที่สามารถส่งน้ำเข้าไปในบริเวณแปลงวิจัยได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้ยังมีอ่างเก็บน้ำเขาสำนักซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กอยู่ทางตอนใต้ของศูนย์ฯ ติดกับเขาสำนัก สามารถใช้ประโยชน์ในการส่งน้ำไปยังพื้นที่โครงการสวนยางเอนกประสงค์ ( โครงการปลูกยางพาราพันธุ์ดี พร้อมพืชแซมยาง ) ได้ด้วย สภาพพื้นที่บริเวณพรุนั้น เนื่องจากกรมชลประทานได้ดำเนินการระบายน้ำบางส่วนออก ทำให้พื้นที่พรุเดิมซึ่งมีน้ำขังอยู่ตลอดปี ได้เปลี่ยนสภาพกลายเป็นพื้นที่ทุ่งหญ้า แต่เนื่องจากที่ดินในพรุมีสภาพเป็นดินอินทรีย์ที่เกิดจากการสลายตัวผุพังของซากพืช และเกิดการทับถมกันจนเป็นชั้นหนา ถัดจากดินชั้นอินทรีย์วัตถุจะเป็นดินเลนสีเทาปนน้ำเงิน ดินเลนนี้จะมีสารไพไรท์ที่เป็นสารประกอบพวกเหล็กและกำมะถัน สะสมอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งสารเหล่านี้จะแสดงความเป็นกรดอย่างรุนแรงเมื่อถูกกับอากาศ สภาพเช่นนี้ก่อให้เกิดปัญหาต่อการนำพื้นที่เหล่านี้มาใช้ประโยชน์ จึงจำเป็นต้องมีการทดลองวิจัยหาวิถีทางแก้ไข นอกจากนี้พื้นที่การทดลองวิจัยของศูนย์ฯ ได้ขยายออกไปยังหมู่บ้านรอบๆ โครงการ ซึ่งเรียกกันว่าหมู่บ้านบริวารมีจำนวน 9 หมู่บ้านด้วยกัน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 27,000 ไร่ ทั้งยังมีการจัดตั้งศูนย์สาขาขึ้นในบริเวณต่างๆ เพื่อขยายขอบเขตของการทดลองวิจัย และถ่ายทอดความรู้ไปสู่ประชาชนในบริเวณอื่นๆ ด้วย ศูนย์สาขาเหล่านี้ได้แก่
ศูนย์สาขาที่ 1 โครงการสวนยางเขาตันหยง อยู่ที่เขาตันหยง อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส
ศูนย์สาขาที่ 2 โครงการพัฒนาหมู่บ้านปีแนมูดอ อยู่ที่บ้านปีแนมูดอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส
ศูนย์สาขาที่ 3 โครงการหมู่บ้านปศุสัตว์เกษตรมูโนะ อยู่ที่หมู่บ้านปศุสัตว์เกษตรมูโนะ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
การสนองพระราชดำริ
โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง และหมู่บ้านบริวารทั้ง 9 ได้เริ่มดำเนินกิจกรรมมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2525 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน โดยได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 5 แผนงานดังนี้
แผนงานด้านพื้นฐาน ได้ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ พร้อมด้วยระบบท่อส่งน้ำ คืออ่างเก็บน้ำใกล้บ้าน เพื่อนำน้ำมาสนับสนุนโครงการศูนย์ และได้ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเขาสำนัก รวมทั้งระบบส่งน้ำ เพื่อนำน้ำมาสนับสนุนพื้นที่โครงการสวนยางเอนกประสงค์เขาสำนัก (โครงการพัฒนาการปลูกยางพาราพร้อมพืชแซม)
แผนงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม มุ่งดำเนินการพัฒนาการจัดระเบียบหมู่บ้านต่าง ๆ ในบริเวณพื้นที่โครงการ โดยการส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญๆ โดยเฉพาะโครงการส่งเสริม การปลูกพืชไร่ รวมทั้งการปลูกข้าว ในพื้นที่ขอบพรุ และมีการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ในหมู่บ้านบริวารทั้ง 9 ซึ่งประกอบด้วยการเลี้ยงเป็ด วัว และอื่นๆ
แผนงานฝึกอบรมอาชีพ ได้ดำเนินการฝึกอบรมอาชีพต่างๆ ได้แก่ ช่างไม้ ช่างปูน และจักสาน (เสื่อกระจูด) ให้แก่ราษฎรจากหมู่บ้านบริวารทั้ง 9 ที่สนใจ และเนื่องจากมีราษฎรสนใจขอเข้าฝึกอบรม ด้านการจักสานเพิ่มมากขึ้น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงมีโครงการที่จะขยายการอบรมให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้พอแก่ความต้องการของราษฎร
แผนงานส่งเสริมการเกษตรและการประมง ได้ดำเนินการจัดทำแปลงสาธิต การใช้ประโยชน์ที่ดิน การใช้ปุ๋ย การปลูกพืชไร่ชนิดต่างๆ และทำการทดลองขุดบ่อเลี้ยงปลา โดยพยายามลดความเป็นกรดของน้ำลงจนสามารถเลี้ยงปลาในบ่อทดลองได้
แผนงานทดลองวิจัย ได้มีการทดลองสำรวจสภาพดินพรุ และขอบพรุ นอกโครงการลุ่มน้ำโกลก และมีการวิจัยการวิจัยในพื้นที่ดินพรุ
การดำเนินงานของศูนย์สาขาทั้ง 3
1. โครงการสวนยางเขาตันหยง ( ศูนย์สาขาที่ 1)
ทำการทดลองกรีดยางจากสวนยางของศูนย์ฯ และดำเนินการก่อสร้างโรงอบยางพลังแสงอาทิตย์ภายในศูนย์
2. โครงการพัฒนาหมู่บ้านปิแนมูดอ ( ศูนย์สาขาที่ 2)
ดำเนินการจัดสร้างอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งท่อส่งน้ำลงพื้นที่
3. โครงการหมู่บ้านปศุสัตว์เกษตรมูโนะ ( ศูนย์สาขาที่ 3)
จัดสร้างบ้านเรือนจำนวน 50 หลัง และจัดราษฎรจำนวนหนึ่งเข้าอยู่อาศัย รวมทั้งจัดทำแผนงานด้านการเกษตร และการปศุสัตว์ เพื่อให้ราษฎรเหล่านี้สามารถมีอาชีพเลี้ยงตนเองได้ต่อไป
เนื่องจากจังหวัดนราธิวาส เป็นจังหวัดที่มีชาวไร่ชาวนาที่ยากจนเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เพราะราษฎรส่วนใหญ่ขาดแคลนที่ดินทำกิน รวมทั้งขาดปัจจัยต่างๆ ในการผลิต การจัดตั้งโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ต่อราษฎรเหล่านี้โดยตรง
ประการแรก ผลจากการค้นคว้าทดลองและวิจัยเกี่ยวกับเรื่องดินพรุ ย่อมจะนำมาซึ่งวิถีทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกิน โดยเฉพาะดินพรุที่มีอยู่ทั้งหมดประมาณ 400,000 ไร่
ประการที่ 2 จะช่วยให้เกษตรกรที่ยากจน มีโอกาสเพิ่มพูนรายได้และยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของตนให้ดีขึ้น โดยเริ่มจาก การสาธิต การฝึกอบรมและเผยแพร่การศึกษา ทั้งในด้านการเกษตรกรรม เกษตรอุตสาหกรรม และศิลปหัตถกรรม
ถ้าสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องความล้าหลังอันเนื่องมาจากการขาดแคลนที่ดินทำกิน การขาดปัจจัยต่างๆ ในการผลิต เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของราษฎรเหล่านี้ให้ดีขึ้นได้ ย่อมจะทำให้ปัญหาความยากจนของชาวไร่ ชาวนาในจังหวัดนี้ และจังหวัดใกล้เคียงลดน้อยลงไปด้วยอย่างแน่นอน โดยสรุป สำหรับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาชนบทที่สำคัญ คือโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนา ซึ่งมีอยู่ในทุกภาคทั่วประเทศ
โดยทั่วไปศูนย์ศึกษาการพัฒนา คือศูนย์รวมของการศึกษาค้นคว้าทางด้านการพัฒนาในแขนงต่างๆ ในพื้นที่ชนบทของประเทศ วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้และความเข้าใจในข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่ ตลอดจนสภาพปัญหาและข้อจำกัดของการพัฒนา การศึกษาค้นคว้านี้ครอบคลุมถึงการทดลอง การวิจัย การแสวงหา วิธีการแก้ปัญหา และแนวทางการพัฒนา ตลอดจนเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม และการประกอบอาชีพของราษฎรที่อยู่ในพื้นที่นั้น รวมทั้งการขยายผลจากความรู้หรือผลจากการทดลองและการวิจัยให้กระจายไปสู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง ด้วยเทคนิควิธีการอย่างง่ายโดยผ่านการสาธิตและการอบรมในรูปแบบต่างๆ
การมุ่งศึกษาเพื่อการพัฒนาตามรูปแบบนี้ เป็นการเน้นแนวทางการพัฒนาโดยยึดข้อเท็จจริงในแต่ละพื้นที่เป็นหลัก หลักการนี้เป็นผลมาจากสภาพความเป็นจริงที่ว่าท้องถิ่นแต่ละแห่งย่อมมีความแตกต่างกันในด้านต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นปัญหาหลักของพื้นที่ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องศึกษา ค้นคว้า ทดลอง เพื่อประโยชน์ในการปรับแนวความคิดในการพัฒนาให้เหมาะสมสอดคล้อง กับสภาพแวดล้อมและปัญหาของแต่ละพื้นที่ และเนื่องจากปัญหาของแต่ละพื้นที่มีรายละเอียดทางเทคนิค และวิชาการที่ต้องการความเชี่ยวชาญจากหลายสาขาวิชาร่วมกัน รวมทั้งความต่อเนื่องของระยะเวลาการศึกษาค้นคว้าในพื้นที่จริง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาจึงเป็นศูนย์รวมของหน่วยงานต่างๆ ของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาในทุกด้านได้เข้ามารวมกันเพื่อให้บริการช่วยเหลือแก่ประชาชนอย่าง เป็นระบบและต่อเนื่อง ในทางปฏิบัติ งานสำคัญของศูนย์ศึกษาการพัฒนา คือการแก้ไขปัญหาหลักที่ชาวชนบทเผชิญอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากวัตถุประสงค์สำคัญของศูนย์ศึกษาการพัฒนาคือ การให้ราษฎรที่อยู่ในชนบทได้มีโอกาสที่จะได้รู้ ได้เห็น ได้สัมผัส วิทยาการเกษตรแผนใหม่เพื่อช่วยให้การทำมาหากินมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อันจะทำให้สามารถพึ่งตนเองได้ในระยะยาว
ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาจะเป็นแหล่งกลางของการประสานการช่วยเหลือของฝ่ายต่างๆ อย่างเป็นระบบต่อเนื่อง ทั้งในฝ่ายรัฐบาลด้วยกันเอง และฝ่ายรัฐบาลร่วมกับเอกชน โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะร่วมมือ ค้นคว้า ทดลอง วิจัยทางด้านเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ ทั้งในส่วนที่ได้คิดขึ้นตามความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ และส่วนที่ประสบผลแล้วในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งจนเป็น “ ตัวอย่างของความสำเร็จ ” ที่สามารถแสดงสาธิตให้แพร่หลายไปสู่ชนบทได้อย่างกว้างขวาง กล่าวโดยสรุป ศูนย์ศึกษาการพัฒนาจะเป็นจุดศูนย์กลางในการกระจายรากฐานการพึ่งตนเอง ทั้งในแง่แนวความคิดและวิธีการปฏิบัติออกไปสู่ประชาชนในภูมิภาคนั้นๆ

ปัจจุบันมีการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนา จำนวน 6 ศูนย์ กระจายอยู่ในภาคต่างๆ ทั้ง 4 ภาคคือ
ภาคกลาง – ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา งานหลักคือการค้นคว้า ทดลอง สาธิต เกี่ยวกับการพัฒนาที่ทำกินของราษฎรให้มีความอุดมสมบูรณ์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของพืชหลายชนิด
ภาคกลางด้านตะวันตก – ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่บริเวณอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ศูนย์ฯ นี้ มุ่งเน้นในการศึกษาแนวทาง วิธีการที่จะพัฒนาฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรม โดยพยายามหาวิธีการที่จะให้เกษตรกรมีส่วนในการปลูก ปรับปรุง และรักษาสภาพป่า พร้อม ๆ กับมีรายได้และผลประโยชน์จากป่าด้วยในขณะเดียวกัน
ภาคกลางด้านตะวันออก – ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เป็นศูนย์ที่มีเป้าหมายในการศึกษา ค้นคว้า เพื่อพัฒนาปรับปรุงสภาพแวดล้อมด้านประมงชายฝั่ง เพื่อให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิต เพื่อการพึ่งตนเองในระยะยาว
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ – ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่บริเวณอำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร เป็นศูนย์ฯ ที่มุ่งศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมที่เหมาะสม กับสภาพแวดล้อมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเน้นในด้านการปรับปรุงบำรุงดิน การเร่งรัดพัฒนาป่าไม้โดยอาศัยระบบชลประทาน และการปลูกพืชเศรษฐกิจที่มีผลต่อการเพิ่มรายได้ของเกษตรกร
ภาคเหนือ – ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่บริเวณดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ สำหรับงานหลักของศูนย์ฯ คือ การศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับรูปแบบที่เหมาะสมของการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำลำธาร เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ รวมทั้งรูปแบบการพัฒนาต่างๆ ที่ทำให้เกษตรกรพึ่งตนเองได้โดยไม่ทำลายสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ
ภาคใต้ – ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส เป็นศูนย์ฯ ที่มีเป้าหมายในด้านการศึกษาวิจัยดินพรุที่มีอยู่ประมาณ 400,000 ไร่ ในภาคใต้ ให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านเกษตรกรรมให้ได้มากที่สุด อาจจะกล่าวได้ว่า การพัฒนาชนบทตามโครงการพระราชดำรินั้น เป็นกิจกรรมที่กระจายครอบคลุมอย่างกว้างขวางในพื้นที่ต่างๆ ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ล้าหลังและทุรกันดาร ซึ่งมักจะทรงให้ความสำคัญเป็นพิเศษและเสด็จฯ เยี่ยมพื้นที่เหล่านั้นอยู่เสมอ จากเป้าหมายของการพัฒนาชนบทที่ทรงมุ่งเน้นในเรื่องพื้นฐานการพึ่งตนเอง ของประชาชนในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นฐานในเรื่องของปัจจัยการผลิตที่จำเป็น เช่น แหล่งน้ำ ที่ดิน ป่าไม้ ตลอดจนความรู้ในการที่จะใช้ทรัพยากรเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์สูงสุด ทั้งหมดนี้ได้ทำให้ชนบทภายใต้โครงการพัฒนาตามแนวพระราชดำริในปัจจุบัน ได้รับประโยชน์อย่างมาก และมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดสมดังที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสว่า “… ที่ซึ่งเคยเสด็จพระราชดำเนินไปแล้ว ในปีต่อ ๆ มาจะดีขึ้น คนมีสุขภาพดี สภาพแวดล้อมดีขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น คุ้มกับแรงที่เราเหนื่อยและเงินทองที่เสียไป …”
5 . การจัดตั้งโครงการสหกรณ์
เกษตรกรส่วนใหญ่มีปัญหาด้านที่ดินทำกินที่มิใช่ของตน และปัญหาพ่อค้าคนกลางที่จะเป็นผู้กำหนดราคาพืชผล ซึ่งในบางครั้งทำให้เกษตรกรหมดกำลังใจที่จะประกอบอาชีต่อไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นปัญหาเรื่องที่ทำกินว่า เกษตรกรจะไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองอย่างเป็นหลักแหล่งเพียงพอ จึงทรงมีพระราชดำริให้มีการดำเนินการพัฒนาที่ดินที่รกร้างว่างเปล่า ที่หมดสภาพจากการเป็นป่าสงวนของชาติ ให้เป็นดินที่อุดมสมบูรณ์ แล้วนำมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรที่ต้องการจะช่วยตนเองได้เข้าทำกินในที่ดินจัดสรรนี้
โดยให้ผู้ครอบครองมีสิทธิ์เข้าไปทำมาหากินตลอดชั่วลูกชั่วหลาน แต่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในการซื้อขายที่ดิน เพื่อป้องกันที่ดินต้องตกไปเป็นของนายทุน และให้เกษตรกรร่วมกันทำมาหากินเลี้ยงชีพในรูปของสหกรณ์ เมื่อสมาชิกในหมู่บ้านเกษตรกรมีความพร้อมจึงได้ดำเนินการขอจดทะเบียนในรูปสหกรณ์การเกษตร โดยเริ่มในปี พ.ศ.2514 มีสหกรณ์การเกษตรหุบกะพงจำกัด และจากความสำเร็จของโครงการจัดพัฒนาที่ดินหุบกะพงตามพระราชประสงค์ ส่งผลให้มีการพัฒนาพื้นที่ที่มีลักษณะเดียวกันตามภูมิภาคต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก เช่น
1. ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
2. ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการทุ่งลุยลาย อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ
3. ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการบ้านเจ้าเณร อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี
4. ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการดอนขุนห้วย อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
5. ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการโป่งกระทิง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี
6. ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการห้วยมะนาว อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่
7. ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการทุ่งลิปะสะโง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดโครงการสหกรณ์นี้ ควบคู่ไปกับทุกโครงการที่เกี่ยวกับการเกษตร เพื่อเป็นการตัดปัญหาเรื่องคนกลาง และเป็นการให้การศึกษากับประชาชนในการดำเนินงานตามโครงการด้วยกลุ่มของตนเอง มีการหาตลาดที่จะให้ราคาผลผลิตที่ผลิตได้ ด้วยราคาที่ยุติธรรม โครงการเหล่านี้ ได้แก่สหกรณ์โคนมหนองโพ จังหวัดราชบุรี โครงการสหกรณ์หุบกะพง จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น
บันทึก หลักการตั้งสหกรณ์อเนกประสงค์
1. ที่มาของที่ดิน
1.1 ที่ดินที่รัฐมีอยู่แล้ว
1.2 ที่ดินที่มีผู้บริจาค
1.3 ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินซื้อ
1.4 ใช้เงินบริจาค (ซึ่งมาตั้งเป็นกองทุน) ชำระค่าที่ดิน เมื่อมีงบประมาณจึงมาชดใช้กองทุน
2. กรรมสิทธิ์ที่ดิน
2.1 ระหว่างระยะจัดตั้ง ที่ดินเป็นของรัฐ หรือของผู้บริจาค หรือของกองทุน
2.2 เมื่อตั้งสหกรณ์เรียบร้อย โอนกรรมสิทธิ์ให้สหกรณ์ (หมู่บ้านสหกรณ์) โดยกรรมการสหกรณ์รับผิดชอบดำเนินงาน
3. กองทุน (ซึ่งมีผู้บริจาค)
3.1 ระยะแรกใช้ทดลองจ่ายค่าที่ดิน
3.2 ถ้ามีพอ และ/หรือ เมื่อรัฐชดใช้ค่าที่ดิน ใช้สำหรับสร้างส่วนประกอบสำคัญ (ยุ้ง ฉาง โรงสี ถนน คลอง ร้านสหกรณ์ ฯลฯ)
3.3 ให้เป็นทุนหมุนเวียนของสหกรณ์
4. การบริการ
4.1 ขั้นต้น กรมส่งเสริมสหกรณ์มีเจ้าหน้าที่ทางราชการช่วย
4.2 เมื่อสมาชิกสามารถ ให้โอนกิจการให้กรรมการสหกรณ์ (ทางราชการถอนตัวได้)
(บันทึกพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2518)
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราโชวาทแก่คณะผู้แทนกรรมการสหกรณ์การเกษตร สหกรณ์นิคม และสหกรณ์ประมงทั่วประเทศ เนื่องในโอกาสเข้าเฝ้าฯ ณ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา วันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2533 ในฐานะผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความตอนหนึ่งว่า
“… สหกรณ์ เป็นกระบวนการบริหารงานอย่างหนึ่งสำหรับผู้มีกิจการงานอย่างเดียวกัน จะมาร่วมแรงร่วมความคิดกันประกอบอาชีพด้วยความปรองดองและแข็งขยัน ให้เกิดผลไพบูลย์เป็นกอบเป็นกำเกินกว่าที่แต่ละคนจะทำได้โดยลำพัง เหตุนี้ จึงถือว่าสหกรณ์เป็นปัจจัยประกอบการอย่างสำคัญที่สามารถส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ และฐานะความเป็นอยู่ให้แก่คนส่วนใหญ่ของประเทศ …”
“… สหกรณ์แต่ละแห่งจะดำเนินงานบรรลุเป้าหมายได้สมบูรณ์เพียงใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถและคุณสมบัติของมวลสมาชิกอย่างหนึ่ง สมาชิกสหกรณ์ควรจะต้องมีความรู้ความเข้าใจอันชัดเจนตรงกัน ในเรื่องการสร้างสรรค์ประโยชน์และความเจริญส่วนรวม แล้วมุ่งมั่นประกอบการเพื่อประโยชน์และความเจริญส่วนรวมอย่างเข้มแข็งเหนียวแน่นและพร้อมพรัก อีกอย่างหนึ่ง จะต้องมีวินัยเคร่งครัดและสม่ำเสมอในอันที่จะปฏิบัติตัว ปฏิบัติงานตามระบบและระเบียบแบบแผนของสหกรณ์ พร้อมกับต้องกระตือรือร้นสนใจที่จะแสวงหาความรอบรู้ และฝึกฝนตนเองให้คล่องแคล่ว แยบคายในการประสานงาน ประสานประโยชน์กับทุกๆ ฝ่าย และสำคัญที่สุดจะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต มีความจริงใจและเมตตากรุณาต่อกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน แม้จะมีโอกาสอำนวยให้ทำได้ …”
ตัวอย่างของสหกรณ์การเกษตรที่ประสบความสำเร็จ เช่น สหกรณ์การเกษตรสันป่าตอง จำกัด จังหวัดเชียงใหม่
และกลุ่มเกษตรหมู่บ้านไทยพุทธ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
ได้ผลิตผักปลอดภัยจากสารพิษออกสู่ตลาดภายใต้ชื่อ “ กลุ่มเกษตรรวมตัวสามัคคี ”
วารสารมูลนิธิชัยพัฒนา ฉบับกันยายน (2536 : 23-27) ได้กล่าวถึง สหกรณ์ตัวอย่างไว้ดังนี้
สหกรณ์การเกษตรสันป่าตอง จำกัด เป็นสหกรณ์หนึ่งที่ประสบความสำเร็จเจริญก้าวหน้าและเป็นตัวอย่างในด้านของการบริหารงาน ที่มีประสิทธิภาพจนได้รับพระราชทาน โล่เกียรติยศจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในปี พ.ศ.2519 กิจการที่สหกรณ์ดำเนินอยู่ในปัจจุบันสามารถกล่าวได้ว่าครบวงจร เพราะเป็นทั้งผู้จัดหาเงินกู้ยืมเพื่อการประกอบอาชีพ รับฝากเงินจากสมาชิก จัดหาวัสดุอุปกรณ์การเกษตรและเครื่องอุปโภคบริโภคมาจำหน่ายในราคายุติธรรม รวบรวมผลผลิตจากสมาชิกเพื่อจำหน่ายให้ได้ราคาดี จัดให้มีอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกในการเก็บรวบรวมสินค้า จัดหาแหล่งน้ำสำหรับใช้ในการเพาะปลูก แนะนำและส่งเสริมการประกอบอาชีพแผนใหม่ แปรรูปผลผลิตเพื่อนำออกขายในรูปของผลิตภัณฑ์ ตลอดจนให้สวัสดิการสังคมแก่สมาชิกและชุมชน ฯลฯ ในปี พ.ศ.2536 มีสมาชิกสหกรณ์การเกษตรสันป่าตอง จำกัด จำนวน 7,239 คน กลุ่มสมาชิก 102 กลุ่ม กิจการของ สหกรณ์เจริญก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ ทำให้สมาชิกมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่ละปีแต่ละครอบครัวมีรายได้เฉลี่ยถึง 51,544.95 บาท ซึ่งนับว่าเป็นรายได้ที่สูงเมื่อเทียบกับเกษตรกรทั่วๆ ไป ในภาคเหนือ
ในระยะแรก (ประมาณปี พ.ศ.2511) สหกรณ์ได้จัดสร้างโรงสีขนาดกลางมีกำลังผลิต 15 เกวียน/วัน การดำเนินธุรกิจโรงสีประสบความสำเร็จดี สามารถขยายกิจการได้มากขึ้น ต่อมาจึงได้มีการปรับปรุงโรงสีให้มีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็น 24 เกวียน/วัน ได้จัดสร้างอาคาร สำนักงาน อาคารร้านค้า โกดังสินค้า ต่อมาในปี พ.ศ.2520 ได้ซื้อที่ดินเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 14 ไร่ โดยสหกรณ์ได้กันที่ดินส่วนหนึ่งประมาณ 13 ไร่ เพื่อทำแปลงสาธิตขยายพันธุ์ที่ดีให้แก่สมาชิก
นอกจากนี้ สหกรณ์การเกษตรสันป่าตอง จำกัด ยังได้ดำเนินกิจการด้านอื่นอีก อาทิเช่น การให้สินเชื่อการเกษตร โดยจัดหาเงินทุนให้สมาชิกกู้ยืมไปลงทุนประกอบอาชีพในระหว่างปี ทั้งเงินกู้ระยะสั้น ระยะปานกลาง และสินเชื่อในรูปของวัสดุการเกษตร ในปี พ.ศ.2535 ซึ่งให้สมาชิกกู้เงินเพื่อไปลงทุนประกอบอาชีพจำนวน 101,615,455 บาท การรับเงินฝากจากสมาชิก เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกรู้จักการออมทรัพย์ และเป็นการสร้างนิสัยการประหยัดตามอุดมการณ์ของสหกรณ์ อีกทั้งยังเป็นการระดมทุน เพื่อช่วยให้สหกรณ์มีฐานะการเงินมั่นคงขึ้น สมาชิกได้ฝากเงินในปี พ.ศ.2535 รวมทั้งสิ้นเป็นจำนวน 86,476,014 บาท การจัดหาวัสดุอุปกรณ์การเกษตร และเครื่องอุปโภคบริโภคมาจำหน่าย สหกรณ์ได้จัดหาปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช วัสดุอุปกรณ์การเกษตร เมล็ดพันธุ์ ตลอดจนเครื่องอุปโภคบริโภค ที่สมาชิกต้องการมาจำหน่าย การรวบรวมผลผลิตจากสมาชิก สหกรณ์ได้จัดสร้างฉางข้าว พร้อมทั้งเครื่องชั่งขนาดใหญ่ที่ได้มาตรฐาน รถยนต์บรรทุก รถตัก ฯลฯ ไว้บริการแก่สมาชิก ในระหว่างปี สหกรณ์สามารถรวบรวมข้าวและถั่วเหลืองได้เป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มที่จะขยายปริมาณธุรกิจเพิ่มขึ้น การแปรรูปผลผลิตสหกรณ์ได้ร่วมดำเนินการตามโครงการเชื่อมโยงสินเชื่อเพื่อการผลิต และบริการตลาดข้าวของสหกรณ์มาโดยตลอด ทั้งนี้เนื่องจากสหกรณ์มีโรงสีขนาดกำลังผลิต 24 เกวียน / วัน เพื่อแปรรูปข้าวสารออกจำหน่ายให้ได้ราคาดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการเพาะปลูก สำหรับส่งน้ำเข้าสู่ไร่นาสมาชิกรวม 5 ตำบล พื้นที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 6,200 ไร่ มีการให้บริการ สวัสดิการสังคมแก่สมาชิก และชุมชน สหกรณ์มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยเหลือครอบครัวสมาชิก และพัฒนาสังคมในชนบท อาทิเช่น การให้ความช่วยเหลือสมาชิกที่เจ็บไข้ได้ป่วย ประสบภัยพิบัติ หรือถึงแก่กรรม ตลอดจนการส่งเสริมกิจกรรมโครงการสหกรณ์ในโรงเรียน แต่การดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรสันป่าตอง จำกัด ยังมิได้หยุดลงเพียงกิจกรรมทางการเกษตรเท่านั้น เพื่อความก้าวหน้าของสหกรณ์และสมาชิกได้รับผลประโยชน์สูงสุดในปี พ.ศ.2535 จึงได้เปิดปั๊มน้ำมันให้บริการแก่สมาชิกและบุคคลทั่วไป ในปี พ.ศ.2536 ก็ได้เปิดกิจการจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภค ในลักษณะของร้านค้าสหกรณ์ ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้คนในอำเภอสันป่าตองมาก
นอกจากนั้นยังมีสาขาของร้านสหกรณ์ในหมู่บ้านอีกด้วย โดยเปิดเป็นร้านค้าเล็ก ๆ ในบ้านของสมาชิก สินค้าที่ขายก็จะเป็นของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน ร้านค้าเหล่านี้ได้รับความนิยมจากสมาชิกพอสมควรเช่นกัน ซึ่งจะมีการขยายร้านค้าเพิ่มเติมต่อไปอีกตามความต้องการของสมาชิก ด้วยกิจกรรมที่หลากหลายและครบวงจรนั่นเอง ปัจจุบันสหกรณ์การเกษตรสันป่าตอง จำกัด มีเงินทุนหมุนเวียนถึง 200 ล้านบาท
คณะกรรมการสหกรณ์ คือ บุคคลสำคัญยิ่งที่จะทำให้การดำเนินงานของสหกรณ์ประสบความสำเร็จหรือไม่ ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 50-67 ปี พอใจที่จะทำประโยชน์ให้กับสังคม เป็นผู้ที่มีความรัก ความศรัทธาในระบบสหกรณ์ มีความมั่นใจว่าระบบสหกรณ์สามารถทำให้สมาชิกมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ละคนมักจะเป็นสมาชิกสหกรณ์มาตั้งแต่ระยะแรก ซึ่งมากกว่า 10 ปี และได้รับเลือกเป็นกรรมการหลายครั้ง เป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจจากสมาชิก กรรมการหลายคนเป็นผู้นำชุมชนมาก่อน เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หรือกรรมการหมู่บ้าน และในปัจจุบันก็ยังเป็นกรรมการชุมชนหลายๆ ด้าน มีฐานะทางเศรษฐกิจดี เป็นผู้อุทิศตนให้แก่สหกรณ์ เสียสละเวลาส่วนตัวผลัดเปลี่ยนกันมาดูแลกิจการของสหกรณ์ และแบ่งงานกันรับผิดชอบ ควบคุมกิจการของสหกรณ์กันคนละอย่าง แม้ว่ากรรมการส่วนใหญ่จะมีการศึกษาสูงสุดระดับประถมศึกษา แต่บุคคลเหล่านี้มีประสบการณ์เกี่ยวกับสหกรณ์มานาน เป็นผู้ที่มีแนวความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ มีความซื่อสัตย์ ใฝ่หาความรู้อยู่ตลอดเวลา แต่ละปีจึงมีคณะกรรมการไปศึกษาดูงานในจังหวัดต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จ เพื่อนำมาปรับใช้กับสหกรณ์การเกษตรสันป่าตอง จำกัด และได้ขยายกิจการสหกรณ์เสมอมา จนเป็นการดำเนินงานที่ก้าวหน้าในปัจจุบัน
สำหรับสมาชิกของสหกรณ์นั้น เป็นเกษตรกรทุกเพศทุกวัย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายที่อยู่ในวัยทำงานคือ ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาปลูกข้าวเหนียวพันธุ์พื้นเมือง เพื่อบริโภคภายในครัวเรือน เหลือจากนั้นจึงนำไปขายให้กับสหกรณ์ สหกรณ์จึงได้ส่งเสริมให้สมาชิกปลูกข้าวหอมมะลิ ซึ่งทำรายได้ให้แก่ สมาชิกสูงเป็นที่น่าพอใจ เมื่อหมดฤดูการทำนาแล้ว สมาชิกเกือบครึ่งหนึ่งได้ปลูกถั่วเหลือง ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของสันป่าตองในที่นา นอกจากนั้นยังมีผู้ปลูกหอมใหญ่ ไม้ดอก และพืชอื่นๆ ขณะเดียวกันสมาชิกจำนวนไม่น้อยเลี้ยงหมูขายเป็นอาชีพ ซึ่งเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง จึงกล่าวได้ว่าสมาชิกของสหกรณ์นี้ เป็นคนที่ขยันในการประกอบอาชีพไม่ปล่อยให้เวลาว่างเสียไป แต่ละคนจะปลูกพืชหลายอย่างตามที่สิ่งแวดล้อมและเวลาจะอำนวยให้ ดังนั้น แต่ละปีแต่ละครอบครัวจึงมีรายได้เฉลี่ยถึง 51,544.95 บาท ซึ่งนับว่าเป็นรายได้ที่สูง เมื่อเทียบกับเกษตรกรทั่วๆ ไป ในภาคเหนือ ในเรื่องของความรู้ สิทธิ และหน้าที่ของสมาชิกสหกรณ์นั้น สมาชิกเหล่านี้เข้าใจหลักการสหกรณ์ดี เชื่อว่าสหกรณ์นั้นเป็นของสมาชิก
หากมีกำไรสมาชิกก็จะได้รับเงินปันผล จึงเข้ามาเป็นสมาชิกด้วยความสมัครใจของตนเอง แสดงให้เห็นว่าสมาชิกเหล่านี้มีความศรัทธาต่อสหกรณ์ เชื่อว่าสามารถพิทักษ์ผลประโยชน์ของสมาชิกได้ ดังนั้นกิจการต่างๆ ที่ดำเนินการ สมาชิกเหล่านี้จึงร่วมมือเต็มที่ ใช้บริการทุกอย่างที่สหกรณ์ให้บริการ ผลผลิตที่เกิดขึ้นไม่ว่าข้าว หรือถั่วเหลือง ก็ล้วนแต่ขายให้กับสหกรณ์ทั้งสิ้น การซื้อวัสดุทางการเกษตรก็ซื้อจากสหกรณ์ การกู้เงินสหกรณ์ สมาชิกเกือบทั้งหมดกู้เงินจากสหกรณ์เพียงแห่งเดียว ทั้งนี้ในขั้นต้นก็เพื่อลงทุนในการประกอบอาชีพทางการเกษตร เมื่อฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้นก็จะกู้มาเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย และอำนวยความสะดวกอื่นๆ การเป็นสมาชิกนั้นมิได้กู้เงินเพียงอย่างเดียว มีสมาชิกมากกว่าครึ่งได้ฝากเงินออมทรัพย์กับสหกรณ์ เมื่อถามสมาชิกว่าสหกรณ์ควรจะขยายกิจการไปในเรื่องใดอีก สมาชิกที่มีผลผลิตอย่างอื่นเช่นไม้ดอก หรือผักสวนครัว ต้องการให้สหกรณ์เป็นตัวแทนของสมาชิกในการจำหน่ายผลผลิตเหล่านี้ แม้ว่าในบางครั้งราคาของผลผลิตต่อหน่วยที่ดำเนินการโดยสหกรณ์จะถูกกว่าราคาที่ขายให้กับพ่อค้าทั่วไป แต่สมาชิกก็ต้องการขายให้กับสหกรณ์ ทั้งนี้เพราะสมาชิกเชื่อมั่นในความเที่ยงตรงของการชั่ง ตวง วัด และมีเงินปันผลที่สมาชิกจะได้รับ สมาชิกมีความภูมิใจอย่างยิ่งในการเป็นสมาชิกสหกรณ์ สมาชิกจึงให้ความร่วมมือกับสหกรณ์ในการดำเนินงานเป็นอย่างดี เพราะว่าสหกรณ์นั้นทำหน้าที่พิทักษ์ผลประโยชน์ต่างๆ ให้แก่สมาชิก ทั้งนี้พอจะสรุปได้ว่า สหกรณ์การเกษตรสันป่าตอง จำกัด ที่ประสบความสำเร็จได้จนทุกวันนี้ เกิดขึ้นจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกสหกรณ์ฯ และด้วยความร่วมมือร่วมใจกันของทุกๆ ฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง กล่าวคือ มีการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร นอกจากนั้นยังมีทุนในการดำเนินงานสูง สามารถที่จะอำนวยประโยชน์ให้แก่สมาชิกได้อย่างกว้างขวางตามที่สมาชิกต้องการ คณะกรรมการบริหารสหกรณ์ฯ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุและมีประสบการณ์มาก อีกทั้งยังเป็นผู้นำชุมชน มีความซื่อสัตย์ และพยายามใฝ่หาความรู้อยู่เสมอด้วยสายตาที่กว้างไกล ดำเนินกิจการ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมโดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว สมาชิกเองก็มีความสำนึกการเป็นเจ้าของสหกรณ์ฯ ศรัทธาในการดำเนินงานของสหกรณ์ว่า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เหล่าสมาชิก สมาชิกให้ความร่วมมือในการดำเนินงานของสหกรณ์เป็นอย่างดี
ผลผลิตที่ได้มาก็ส่งขายแก่สหกรณ์ นอกจากนั้นสมาชิกยังมีความซื่อสัตย์ต่อ สหกรณ์ พนักงานของสหกรณ์ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นลูกหลานของบรรดาสมาชิกมีจำนวนค่อนข้างมาก มีความซื่อสัตย์สุจริตร่วมในการปฏิบัติงาน ไม่แสวงหาประโยชน์ส่วนตนในทางพิเศษ ด้านเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ก็มีความตั้งใจจริงในการปฏิบัติงาน กองแนะนำส่งเสริมสหกรณ์ได้นำเอาวิธีการสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ ในขณะเดียวกันก็ไม่กระทำการก้าวก่ายงานของสหกรณ์
ทั้งนี้มุ่งเน้นที่จะให้สหกรณ์สามารถดำเนินงานได้ด้วยตนเอง สหกรณ์ยังได้รับการสนับสนุนจากส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับอย่างดียิ่ง ทั้งในระดับอำเภอ จังหวัดและกรม ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะขาดเสียมิได้ก็คือ สำนักงานสหกรณ์ฯ ตั้งอยู่ในเขตชุมชน การคมนาคมติดต่อกับตัวจังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอใกล้เคียงสะดวก และยังสะดวกต่อการให้บริการธุรกิจกับบรรดาสมาชิกทั้งหลาย ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ สหกรณ์ฯ อื่นสามารถที่จะนำเอาข้อดีต่างๆ ของสหกรณ์การเกษตรสันป่าตอง จำกัด เป็นตัวอย่างในการปรับปรุงระบบการดำเนินงาน และขยายกิจการต่างๆ ของสหกรณ์ให้ครบวงจร เพื่อจะได้อำนวยความสะดวก และให้บริการสมาชิกให้ได้รับประโยชน์สูงสุด
วารสารมูลนิธิชัยพัฒนา ฉบับเดือนธันวาคม (2542 : 35-36) ได้กล่าวถึง กลุ่มเกษตรรวมตัวสามัคคีไว้ดังนี้
กลุ่มเกษตรรวมตัวสามัคคี หมู่บ้านไทยพุทธ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นกลุ่มพลังเล็กๆ เกิดจากความสมัครใจของเกษตรกรเอง โดยในช่วงเริ่มต้นมีเพียง 10 คน ที่มุ่งมั่นจะรวมกลุ่มเพื่อผลิตพืชผลผักปลอดภัยจากสารพิษที่จะเกิดประโยชน์ทั้งตัวเกษตรกรเองและผู้บริโภค รวมทั้งยังเกิดเป็นมิติใหม่ที่ยิ่งใหญ่ในการพัฒนาภาคการเกษตร
พัฒนาจากฐานรากด้วยก้าวย่างที่มั่นคง
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ได้ผนึกกำลังเจ้าหน้าที่จากทุกส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมในกระบวนการพัฒนา โดยเริ่มจากการถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยี เกี่ยวกับการปลูกพืชผักปลอดภัยจากสารพิษให้แก่กลุ่มเกษตรกร สร้างเสริมการเรียนรู้จากการศึกษาดูงานขั้นตอนการผลิตผักปลอดภัยจากสารพิษ ที่ประสบผลสำเร็จทั้งในด้านระบบการปลูก การบรรจุภัณฑ์ และการตลาด ณ โครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดกาญจนบุรี จนเมื่อเกษตรกรเกิดความเข้าใจในกระบวนการต่างๆ อย่างถ่องแท้ จึงเริ่มวางแผนการผลิตผักปลอดภัยจากสารพิษออกสู่ท้องตลาดภายใต้ชื่อ “ กลุ่มเกษตรกรรวมตัวสามัคคี ” โดยมี นายสมภพ จิตต์ปลื้ม เป็นประธานกลุ่ม มูลนิธิชัยพัฒนา ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ( สำนักงาน กปร .) ร่วมดำเนินการกับกลุ่มเกษตรกลุ่มนี้มาตั้งแต่เริ่มต้น ทั้งในส่วนของร่วมการวางแผนพัฒนา โครงการการร่วมทุน ตลอดจนการประสานกับองค์กรที่เกี่ยวข้องในการเข้ามาถ่ายทอดให้ความรู้ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดแง่มุมแง่คิดอันหลากหลายจากตัวเกษตรกรเอง
มีการดำเนินการในลักษณะกลุ่มร่วมทุนซึ่งมีมูลนิธิชัยพัฒนาร่วมหุ้นอยู่ด้วย โดยเป็นผู้เข้ามาช่วยเหลือในด้านค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการผลิต ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ มุ้ง และวัสดุอุปกรณ์การเกษตรต่างๆ ให้แก่กลุ่มเกษตรกรรายละ 20,000 บาท จนเมื่อผลผลิตพืชผักปลอดภัยจากสารพิษออกสู่ตลาด เกษตรกรจึงเริ่มผ่อนชำระคืนในรูปแบบของพืชผล โดยใช้ผักสวนครัวหลังบ้านที่ปลูกควบคู่กันไปเป็นค่าตอบแทน รวมทั้งบริหารจัดการเงินกองกลางกลุ่มที่ได้จากการจัดจำหน่ายผลผลิตให้แก่สมาชิก เพื่อเก็บรวบรวมไว้ใช้ในกิจกรรมของกลุ่มและปันผลให้แก่สมาชิกกลุ่มต่อไป
นอกจากนี้ได้จัดทำ โครงการรวมพลังเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวพระราชดำริ โดยความร่วมมือจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัทการบินไทย จำกัด และตลาดไท ประสานพลังจากทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการและข้าราชการร่วมแลกเปลี่ยนทัศนคติและร่วมถ่ายทอดความคิดเห็นจากประสบการณ์ เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจเกษตร กระบวนการตลาดผักปลอดภัยจากสารพิษ เพื่อให้เกิดมุมมองแง่คิด อันหลากหลายที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับกลุ่มเกษตรรวมตัวสามัคคีในอนาคต
จัดทำ โครงการศึกษาและพัฒนาทักษะการคิดเพื่อปลูกฝังค่านิยม และแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ โดยความร่วมมือจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้เกษตรกรทราบและเข้าใจถึงปรัชญาการดำเนินชีวิตตามวิถีไทย ที่สอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ รวมทั้งการนำไปปฏิบัติตนในชีวิตประจำวัน เพื่อเป็นการพัฒนารากฐานให้มีการดำเนินชีวิตที่มั่นคงและยั่งยืนสืบไป
ล้มลุกคลุกคลานบนทางสายใหม่
การปลูกพืชผักปลอดภัยจากสารพิษของกลุ่มเกษตรรวมตัวสามัคคีใน รุ่นที่ 1 และ รุ่นที่ 2 นั้น มี เกษตรกร 9 ใน 10 รายที่ไม่ประสบความสำเร็จในการดำเนินการ ผลผลิตไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐานทั้ง ปริมาณและคุณภาพ เนื่องจากประสบปัญหาอุปสรรคนานาประการทั้งจากตัวเกษตรกรที่ยังขาดความรู้ ความชำนาญ สภาพดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์และศัตรูพืชระบาด รวมทั้งการจัดการดำเนินการด้านการตลาด ที่ขาดประสิทธิภาพ แหล่งตลาดที่ยึดไว้ กับ Lemon farm เพียงแหล่งเดียว ไม่สามารถรองรับ ปริมาณผลผลิตของกลุ่มได้ทั้งหมด ทำให้รายได้จากการขายผลผลิตไม่คุ้มกับค่าขนส่ง แต่ด้วยความตั้งใจอันแน่วแน่ และพลังอันเข้มแข็งของเกษตรกรกลุ่มนี้ กอร์ปด้วยแรงสนับสนุนที่ดียิ่ง ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ทำให้สามารถต่อสู้ฟันฝ่ากับปัญหาอุปสรรคต่างๆ จนสามารถดำเนินการผลิต พัฒนาระบบการตลาดและยืนหยัดอยู่ได้จนปัจจุบัน
เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากปัญหามาเรียงร้อยเป็นปัญญา
ปัจจุบันการรวมกลุ่มผลิตผักปลอดภัยจากสารพิษของกลุ่มเกษตรรวมตัวสามัคคีมีสมาชิกกลุ่มเพิ่มขึ้น เป็น 22 คน โดยสมาชิกกลุ่มเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากข้อผิดพลาดและปัญหาอุปสรรคที่ผ่านมา ทั้งการพัฒนาดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์โดยนำหญ้าแฝกพืชบำรุงดิน และวิธีปรับปรุงดินมาพัฒนาดิน ตลอดจนถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการผลิต และการตลาดของพืชผักปลอดภัยจากสารพิษให้แก่สมาชิกด้วยกันเอง จนสามารถร่วมกันดำเนินการวางแผนการผลิต และหาแหล่งตลาดในท้องถิ่นด้วยตนเอง โดยมีศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ คอยเป็นเสมือนพี่เลี้ยงอยู่ห่าง ๆ โดยปัจจุบันสมาชิกในกลุ่มมีรายได้จากผลผลิตผักปลอดภัยจากสารพิษ รายละ 3,000 – 4,500 บาท / เดือน มียอดเงินกองกลางสะสมอยู่ในบัญชีออมทรัพย์กลุ่มเกษตรรวมตัวสามัคคีจำนวน 27,140 บาท ซึ่งจะนำมาใช้จ่ายในกิจการกลุ่มเป็นครั้งคราวและปันผลคืนแก่สมาชิกต่อไป

6. โครงการธนาคารข้าว
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผลผลิตข้าวปีละประมาณ 19 ล้าน ตัน เป็นประเทศส่งออกข้าวรายใหญ่รายหนึ่งของโลก นับเป็นประเทศที่มีธัญพืชและทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ยิ่งแห่งหนึ่ง แต่ก็ยังมีผู้คนในชนบทจำนวนมาก ภายหลังจากที่ได้เก็บเกี่ยวข้าวในนาของตนไปแล้ว กลับขาดแคลนข้าวที่จะบริโภค หรือใช้ทำพันธุ์ในฤดูเพาะปลูกครั้งต่อไป การขาดแคลนข้าวของชาวนาในชนบท เป็นความเดือดร้อนอย่างยิ่ง ครัวเรือนที่ยากจนมักแก้ไขปัญหาโดยวิธีกู้ยืมจากพ่อค้าคนกลาง ซึ่งอาจจะกู้ยืมเป็นข้าวหรือเป็นเงินโดยต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราที่สูงมาก เฉลี่ยแล้วราวร้อยละ 30-120 บาทต่อปี ในบางกรณีก็ต้องกู้ยืมโดยวิธีการขายข้าวเขียว ซึ่งเป็นผลให้ผู้กู้เสียเปรียบอย่างมาก ทำให้ผลผลิตข้าวที่ดีไม่เพียงพอสำหรับการบริโภค และการชำระหนี้ ในที่สุดก็กลายเป็นผู้ที่มีหนี้สินพอกพูน ตกอยู่ในสภาพที่ยากจน ล้าหลัง ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ และเป็นที่มาของปัญหาการพัฒนาด้านอื่นๆ ต่อไปอีก
การที่ประเทศไทยมีธัญพืชมากพอที่จะเลี้ยงดูคนทั้งประเทศ แต่ก็ยังมีผู้ที่ไม่มีข้าวพอกินเป็นสองภาพที่ขัดแย้งกันของชนบทไทย ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นด้วยปัจจัยหลายประการประกอบกัน นับแต่ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดินและน้ำ ประสิทธิภาพของการผลิต การควบคุมระบบตลาด กลไกราคา และภาวะการค้าต่างประเทศ แม้ว่ารัฐบาลจะกำหนดนโยบายและวางแผนที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ด้วยมาตรการต่างๆ จำนวนมาก แต่การเปลี่ยนแปลงแก้ไขก็เป็นเรื่องระยะยาวที่มองไม่เห็นผลในทันที
แนวพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการธนาคารข้าว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงริเริ่มและพระราชทานแนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาในระดับต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะให้ประชาชนพึ่งตนเอง ให้พึ่งพาอาศัยปัจจัยภายนอกให้น้อยที่สุด ในบางเรื่องทรงเห็นว่าการจัดสรรทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญๆ จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ในระยะยาว และในบางกรณีก็ทรงเห็นว่าจำเป็นต้องมีมาตรการแก้ไขความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องข้าว ทรงพยายามทำทุกวิถีทางให้เกษตรกรมีข้าวพอกิน อาจกล่าวได้ว่า “ ธนาคารข้าว ”
เป็นผลมาจากพระปรีชาดังกล่าว เป็นความพยายามด้านหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และเป็นพระราชประสงค์โดยตร งที่จะให้ทางราชการไปช่วยเหลือ ในการจัดตั้งธนาคารข้าว เพื่อประโยชน์แก่เกษตรกรที่ยากจนโดยทั่วไป อาจกล่าวได้ว่าพระองค์ทรงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการก่อรูป “ ธนาคารข้าว ” ขึ้น และทำให้ธนาคารข้าวกลายเป็นแนวคิดที่แพร่หลาย เป็นนโยบายของรัฐ และเป็นแผนงานสำคัญแผนหนึ่ง ของการพัฒนาชนบทยากจนที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนับสนุน ให้มีการจัดตั้งธนาคารข้าว ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2519

เสด็จฯ เยี่ยมชมธนาคารข้าว
เมื่อครั้งทรงเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ในเขตอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ได้พระราชทานข้าวเปลือกจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้ใหญ่บ้านหลายหมู่บ้าน เพื่อให้เป็นทุนเริ่มดำเนินกิจการธนาคารข้าว ได้พระราชทานแนวทางดำเนินงานไว้อย่างละเอียดชัดเจน ดังบันทึกต่อไปนี้
“… ให้มีคณะกรรมการควบคุม ที่คัดเลือกจากราษฎรในหมู่บ้าน เป็นผู้เก็บรักษาพิจารณาจำนวนข้าวที่จะให้ยืมและรับข้าวคืน ตลอดจนจัดทำบัญชีทำการของธนาคารข้าว ราษฎรที่ต้องการข้าวไปใช้บริโภคในยามจำเป็นให้ลงบัญชียืมข้าวไปใช้จำนวนหนึ่ง เมื่อสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้แล้ว ก็นำมาคืนธนาคาร พร้อมด้วยดอกเบี้ยจำนวนเล็กน้อยตามแต่ตกลงกัน ซึ่งข้าวที่เป็นดอกเบี้ยดังกล่าวก็จะเก็บรวมไว้ในธนาคาร และถือเป็นสมบัติของส่วนรวม สำหรับกรรมการควบคุมข้าวนั้น มีสิทธิในการขอยืมข้าวเท่ากับราษฎรทุกประการ ต้องอธิบายให้กรรมการ และราษฎรเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ถึงหลักการของธนาคารข้าว โดยพยายามชี้แจงอย่างง่ายๆ แต่ต้องให้แน่ใจว่าทุกคนเข้าใจดี กรรมการ และราษฎรก็ต้องมีความซื่อสัตย์ต่อหลักการ เมื่อยืมข้าวจากธนาคารข้าวซึ่งเป็นของส่วนรวมไปใช้ และถึงกำหนดเวลาที่สัญญาไว้ ก็ต้องนำข้าวมาคืนพร้อมด้วยดอกเบี้ย นอกจากว่ามีเหตุสุดวิสัย ซึ่งต้องชี้แจงให้กรรมการ พิจารณาข้อเท็จจริง ราษฎรต้องร่วมมือกันสร้างยุ้งที่แข็งแรง ทั้งนี้หากปฏิบัติตามหลักการที่วางไว้ จำนวนข้าวที่หมุนเวียนในธนาคารจะไม่มีวันหมด แต่จะค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้นและจะมีข้าวสำหรับบริโภคตลอดไปจนถึงลูกหลาน ในที่สุดธนาคารข้าวก็จะเป็นแหล่งที่รักษาผลประโยชน์ของราษฎรในหมู่บ้าน และเป็นแหล่งอาหารสำรองของหมู่บ้านด้วย …”
โดยสรุป รัฐบาลโดยหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะกรมการพัฒนาชุมชน ได้รับสนองพระบรมราโชบาย ขยายขอบเขตการดำเนินงานธนาคารข้าวออกไปอย่างกว้างขวาง จนถึงปี พ.ศ.2528 มีธนาคารข้าวที่จัดตั้งขึ้นในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ มากกว่า 4,300 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 57 จังหวัด จำนวนข้าวหมุนเวียนในธนาคารข้าว มากกว่า 14.5 ล้านกิโลกรัม หลักการดำเนินงานของธนาคารข้าวปัจจุบันสามารถปรับใช้ได้กับสภาพปัญหา และความจำเป็นที่แตกต่างกันของแต่ละพื้นที่ เช่น ลักษณะการให้บริการซึ่งมีทั้งให้เปล่า ให้โดยแลกแรงงาน ให้ยืมหรือให้กู้ สำหรับทุนดำเนินงานนั้นอาจหาทุนได้หลายวิธี เช่น การรับบริจาค การเรียกหุ้น ฯลฯ และในกรณีที่ไม่สามารถจัดตั้งกองทุนเริ่มต้นขึ้นมาได้เอง ก็อาจเสนอแผนงานเพื่อขอรับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐได้
ธนาคารข้าว เป็นโครงการในเชิงการให้สวัสดิการสังคม สิ่งที่เกิดขึ้นเท่ากับเป็นการโอนรายได้ (Transfer income) จากคนรวยไปยังคนจน และเป็นการกระจายรายได้ที่ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ ราษฎรมีแหล่งข้าวกลางของหมู่บ้านที่สามารถกู้ยืมไปบริโภคหรือทำพันธุ์ โดยเสียดอกเบี้ยในอัตราต่ำกว่าอัตราซึ่งต้องเสียให้แก่พ่อค้าคนกลางเป็นอันมาก ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากการอดอยากขาดแคลน
ช่วยยกระดับฐานะความเป็นอยู่ และระดับรายได้ของเกษตรกรที่ยากจน เป็นการแก้ปัญหาที่ได้ผล และตรงจุดประการหนึ่ง สิ่งที่ได้มานอกจากนั้น เป็นเรื่องที่มองไม่เห็นผลโดยตรง แต่เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง เพราะเป็นการสร้างพื้นฐานสำคัญของการพัฒนา สร้างความสมัครสมานสามัคคีของชุมชน ในการที่จะเรียนรู้และดำเนินการแก้ไขปัญหาของตน ซึ่งเป็นสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงย้ำอยู่เสมอในเรื่องความเข้าใจของราษฎร ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ และความรู้สึกมีส่วนร่วม พระองค์ทรงเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ปลูกฝังได้ ธนาคารข้าวอาจทำหน้าที่เป็นโรงเรียนที่ดี ในขณะเดียวกันก็เป็นตัวชี้ถึงประสิทธิภาพ และความเข้มแข็งของชุมชนนั้นๆ ธนาคารข้าวที่ประสบความสำเร็จมิได้บรรลุเพียงจุดมุ่งหมายพื้นฐานในการบรรเทาการขาดแคลนข้าวเท่านั้น แต่ยังได้สร้างกิจกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพ สร้างการมีส่วนร่วม ภาวะผู้นำ และความร่วมมือในระดับชุมชนอีกด้วย ( พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ กับงานพัฒนา. 2531 : 129-131 )
แนวพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการธนาคารโค – กระบือ
ปัจจุบัน ธนาคารโค – กระบือ เป็นที่รู้จักกันกว้างขวางขึ้น ว่าเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่จะช่วยเหลือเกษตรกรยากจนที่ไม่มีโค – กระบือ เป็นของตนเอง โดยการแบ่งเบาภาระค่าเช่า หรือดำเนินการเพื่อให้เกษตรกรมีโอกาสได้เป็นเจ้าของโค – กระบือเพื่อใช้แรงงานต่อไป

คนทั่วไปมักจะนึกว่า ธนาคารเป็นเรื่องที่ต้องเกี่ยวข้องกับกระแสเงินตรา แต่สำหรับธนาคารโค – กระบือ นี้ ขออัญเชิญพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งพระราชทานแก่สมาชิกกลุ่มเกษตรกรทั่ว ประเทศ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2523 อัน เป็นที่มาของคำว่า “ ธนาคารโค – กระบือ ” ดังต่อไปนี้
“… ธนาคารโคและกระบือ ก็คือ การรวบรวมโคและกระบือ โดยมีบัญชี ควบคุมดูแล รักษา แจกจ่าย ให้ยืม เพื่อใช้ประโยชน์ในการเกษตร และเพิ่มปริมาณโคและกระบือ ตามหลักการของธนาคาร ธนาคารโคและกระบือเป็นเรื่องใหม่ของโลกที่มีความจำเป็นเกิดขึ้น เพราะปัจจุบัน มีความคิดแต่จะใช้เครื่องกลไกเป็นเครื่องทุ่นแรงในกิจการเกษตร แต่เมื่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแพงขึ้น ความก้าวหน้าในการใช้เครื่องกลไกเสียไป จำเป็นต้องหันมาพึ่งแรงงานจากสัตว์ที่เคยใช้อยู่ก่อน เมื่อหันกลับมาก็ปรากฏว่ามีปัญหามาก เพราะชาวนาไม่มีเงินซื้อโคและกระบือมาเลี้ยงเพื่อใช้แรงงาน ธนาคารโคและกระบือ พอจะอนุโลมใช้ได้เหมือนธนาคารที่ดำเนินการเกี่ยวกับการเงิน เพราะโดยความหมายทั่วไป ธนาคารก็ดำเนินกิจการเกี่ยวกับสิ่งมีค่ามีประโยชน์ การตั้งธนาคารโคและกระบือ ก็มิใช่ว่าตั้งโรงขึ้นมาเก็บโคและกระบือ เพียงแต่มีศูนย์กลางขึ้นมา เช่น อาจจัดให้กรมปศุสัตว์เป็นศูนย์รวม …”
รัฐบาลโดยกรมปศุสัตว์ ได้เริ่มดำเนินการตามโครงการธนาคารโค – กระบือตามพระราชดำริ มา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 เมื่อเริ่มดำเนินการได้ใช้กระบือของกรมปศุสัตว์จำนวน 280 ตัว ไปช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากจนในพื้นที่ราบเชิงเขา จังหวัดปราจีนบุรี โดยการให้เช่าซื้อและผ่อนส่งใช้คืนในระยะเวลา 3 ปี หลังจากนั้นได้มีผู้ร่วมบริจาคสมทบโครงการอีกจำนวนมาก โครงการจึงขยายไปดำเนินงานในพื้นที่ต่างๆ อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
ปัจจุบัน ธนาคารโค – กระบือ ตามพระราชดำริ มีวิธีการให้บริการแก่เกษตรกรในลักษณะต่างๆ ดังนี้คือ
1. การให้เช่าซื้อผ่อนส่งระยะเวลายาว
เกษตรกรที่ยากจนที่ใคร่จะได้มีโอกาสเป็นเจ้าของโค – กระบือของตนเอง ทางธนาคารฯ จะจัดหาโค – กระบือมาจำหน่ายให้ในราคาถูก โดยเกษตรกรจะต้องผ่อนส่งใช้เงินคืนให้แก่ธนาคารฯ โดยการผ่อนส่งในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งผู้ซื้อจะต้องให้ผู้ใหญ่บ้านหรือกำนัน หรือคนอื่นที่เชื่อถือได้เป็นผู้ค้ำประกันการผ่อนชำระดังกล่าว
2. การให้เช่าเพื่อใช้งาน
เกษตรกรที่ไม่มีโค – กระบือ ใช้งานของตนเอง อาจจะติดต่อขอเช่าโค – กระบือจากธนาคารฯ ไปใช้งานได้โดยทางธนาคารฯ จะพิจารณาให้เช่าในราคาถูก แต่ผู้เช่าจะต้องมีผู้ใหญ่บ้านหรือกำนัน หรือผู้อื่นที่เชื่อถือได้เป็นผู้ค้ำประกันไว้กับธนาคารโค – กระบือ นี้
3. การให้ยืมเพื่อทำการผลิตพันธุ์
เกษตรกรที่ยากจนหากต้องการจะยืมโค – กระบือ เพศเมีย จากธนาคารฯ ไปใช้เลี้ยงเพื่อผลิตลูกโค – กระบือ ก็อาจติดต่อขอยืมโค – กระบือจากธนาคารฯ ได้โดยผู้ยืมจะต้องแบ่งลูกโค – กระบือ ที่คลอดออกมาคนละครึ่งกับธนาคารฯ โดยลูกตัวที่ 1, 3, 5 ฯลฯ จะเป็นของธนาคารฯ ส่วนลูกตัวที่ 2, 4, 6 ฯลฯ จะเป็นของเกษตรกร ทั้งนี้ ผู้ยืมจะต้องให้ผู้ใหญ่หรือกำนัน หรือผู้ที่เชื่อถือได้ ค้ำประกันไว้กับธนาคาร
4. การยืมใช้งาน
เกษตรกรหรือทหารผ่านศึกที่ยากจน ไม่สามารถจะช่วยตนเองได้จริงๆ อาจติดต่อขอรับความช่วยเหลือขอยืมโค – กระบือ ไปใช้งานได้ โดยธนาคารฯ จะได้จัดเจ้าหน้าที่ไปพิจารณาให้ความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษเป็นราย ๆ ไป การจัดตั้งธนาคารโค – กระบือ แต่ละแห่งจะเริ่มต้นด้วยสมาชิกอย่างต่ำสุด 10 ราย ซึ่งเป็นเกษตรกรยากจนอยู่ในพื้นที่ที่มีความเดือดร้อนในการหาโค – กระบือเพื่อมาใช้งาน คณะกรรมการหมู่บ้านจะเป็นผู้คัดเลือกผู้ที่มีฐานะยากจน มีความประพฤติดี ขยันหมั่นเพียรและไม่มีโค – กระบือเป็นของตนเอง จัดเรียงลำดับไว้ ธนาคารฯ จะจัดสรรโค – กระบือให้แก่ราษฎรในหมู่บ้านที่ได้รับการคัดเลือกไว้แล้วตามจำนวนโค – กระบือที่ธนาคารฯ มีอยู่ ซึ่งได้รับบริจาคจากประชาชนทั่วไป หรือจากงบประมาณของรัฐ ผู้ที่ยังไม่ได้รับโค – กระบือจากธนาคารฯ ในครั้งแรกก็จะมีโอกาสได้รับในคราวต่อไป เมื่อธนาคารฯ มีโค – กระบือเพิ่มขึ้น
ธนาคารโค – กระบือในหมู่บ้านที่มีการบริหารและการจัดการโครงการที่ดีก็จะเกิดผลประโยชน์เพิ่มพูนขึ้น ลูกโค – กระบือที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นของธนาคารโค – กระบือ ได้นำไปหมุนเวียนให้บริการแก่เกษตรกรรายอื่น ๆ ต่อไป การดำเนินงานในลักษณะนี้ทำให้โครงการธนาคารโค – กระบือเกิดผลประโยชน์ต่อเนื่องไม่สิ้นสุด เกษตรกรได้รับบริการอย่างทั่วถึง โดยที่รัฐไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากธนาคารโค – กระบือ นั้น ส่งผลโดยตรงกับตัวเกษตรกรที่ยากจน คือได้ช่วยเหลือให้เกษตรกรสามารถมีปัจจัยการผลิตเป็นของตนเอง ไม่ต้องเสียค่าเช่าแรงงานโค – กระบือ ในอัตราสูง เป็นหลักประกันอย่างหนึ่งซึ่งเอื้ออำนวยให้การผลิตเกิดผลอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ส่วนผลประโยชน์ทางอ้อมนั้น เกิดขึ้นจากการเลือกใช้กลยุทธที่เหมาะสมในการพัฒนา เพราะแรงงานแบบดั้งเดิมนี้ เป็นสิ่งที่เหมาะสมกับระบบเกษตรกรรมแบบยังชีพซึ่งเกษตรกรมีฐานะยากจนและมีพื้นที่ทำกินขนาดเล็ก แรงงานแบบดั้งเดิมนี้ไม่ต้องการความรู้ทางเทคนิควิชาการขั้นสูงใด ๆ ในการบำรุงรักษา การใช้แรงงานโค – กระบือในการทำนา ปลูกข้าว เป็นลักษณะของการอยู่ร่วมกันและการพึ่งพากันตามธรรมชาติ เกษตรกรสามารถเรียนรู้ได้เองจากการดำรงชีพ
อีกทางหนึ่ง การใช้แรงงานสัตว์ก็เป็นการเลือกใช้พลังงานจากธรรมชาติ แทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นทรัพยากรที่นับวันจะเหลือน้อยลงไป และมีราคาสูงขึ้น ดูจะเป็นประโยชน์หลายทางซึ่งสอดคล้องกันอย่างพอเหมาะยิ่ง ( พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ กับงานพัฒนา. 2531 : 139-142)
บทสรุป
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงทุ่มเททั้งพระวรกาย และพระราชทรัพย์ ทรงสอดส่องดูแลทุกข์สุขของประชาราษฎร์มาตลอด 57 ปี โดยไม่ทรงย่อท้อด้วยพระอัจฉริยภาพ ทรงพระปรีชาสามารถในการปัดเป่า และขจัดความเดือดร้อนของพสกนิกรได้เป็นผลสำเร็จทุกเรื่อง และทุกครั้งอย่างรวดเร็วฉับไว ทั้งนี้เพราะทรง “ เข้าถึง ” แก่นแท้ของปัญหา และทรงแก้ไขด้วยพระราชวินิจฉัยบนพื้นฐานของความเป็นจริงและความเหมาะสมกับสภาวการณ์ ดังที่ได้มีผู้สดุดีพระเกียรติคุณ ดังนี้
“ …ทรงตระหนักถึงความทุกข์ยากของราษฎร และทรงวิเคราะห์ถึงต้นเหตุแห่งปัญหาแจ่มชัด
… ทรงศึกษาวิธีการการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยหลักวิชาการที่ถูกต้อง
… ทรงมอบหมายให้บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปแก้ปัญหา ทรงติดตามผล และทรงใช้ “ การจัดการ ” ให้กลุ่มต่างๆ ทำงานร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพ… ”
สรุปคือ โครงการในพระราชดำริมุ่งเน้นการพัฒนาทางด้าน “ จิตใจ ” ควบคู่ไปกับ “ วัตถุ ” นั่นเอง ดังจะวิเคราะห์ได้จากการประมวลลักษณะและบทสรุปจากการพัฒนาที่เขียนไว้ในหนังสือ “ เอกกษัตริย์อัจฉริยะ ” (2539 : 36-38 ) ดังนี้
การสำรวจลักษณะของงานพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริส่วนใหญ่ในภาพรวมพอจะประมวลได้ว่า เป็นพระราชภาระพิเศษที่พระมหากษัตริย์ของประเทศประชาธิปไตยที่กำลังพัฒนาทรงอาสาและสมัครพระทัยรับ ดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อช่วยเหลือพสกนิกรของพระองค์ นอกเหนือจากราชการแผ่นดินตามปกติ งานพัฒนาดังกล่าวมีหลายลักษณะเมื่อพิจารณาในแง่ความสัมพันธ์กับราชการแผ่นดิน เติมในส่วนที่มีช่องว่าง เสริมในส่วนที่พร่อง บูรณาการหรือผนึกส่วนที่แยกกันทำและนำส่วนที่ล้าหลัง สำหรับลักษณะ (Characteristics) ของงานพัฒนาเหล่านี้ เมื่อพิจารณาโดยอาศัยกรอบความคิดด้านการพัฒนาทั่วไป ก็อาจประมวลลักษณะหรือคุณสมบัติเด่นหลายประการได้ดังต่อไปนี้
1. เป็นโครงการ การมีโครงสร้างและลักษณะงานเป็นโครงการ เป็นระบบที่สอดคล้องกับ ลักษณะของงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพราะเป็นงานเสริมงานประจำ ส่วนลักษณะเฉพาะของงานโครงการก็คือมีการกำหนดอายุการดำเนินงานไว้
2. การให้ความสำคัญแก่การแก้ปัญหา ( Problem oriented ) ทรงใช้เวลาพบปะเยี่ยมเยียนประ-ชาชนอย่างใกล้ชิดเป็นเวลานาน ทรงสัมผัสและรับฎีกากราบทูลปัญหา ความทุกข์ยากเดือดร้อนต่างๆ อย่างกว้างขวางและหลากหลาย เป็นธรรมดาที่พระราชดำริมุ่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในวิสัยจะทรงโปรดสงเคราะห์หรือผ่อนบรรเทาลงได้ การแก้ปัญหาไม่จำเป็นจะต้องเป็นปัญหาเฉพาะหน้า มีหลายโครงการที่มุ่งแก้ไขปัญหาระยะยาว เช่น โครงการหลวง
3. พื้นฐานการดำเนินงานจากระบบสนเทศและการวิจัย (Research based) ถึงแม้ว่าโครงการจะมีลักษณะเน้นการแก้ปัญหา แต่แนวการวาง และวิเคราะห์โครงการมิได้เป็นแบบตอบโต้ฉับพลันต่อปัญหา หรือคิดอ่านดำเนินการอย่างไม่รอบคอบ ตรงกันข้าม พระองค์ทรงใช้ฐานข้อสนเทศและเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ที่ครอบคลุมและทันสมัย เสริมด้วยข้อสนเทศจากการพบปะซักถามชาวบ้านในสนาม ประเด็นวิชาการ ทรงอาศัยนักวิชาการอภิปรายแลกเปลี่ยนข้อคิดและทัศนะกันได้อย่างเสรี เรื่องที่วิชาการยังไม่เพียงพอก็โปรดเกล้าฯ ให้วิจัยหรือทดลองเพื่อขยายพรมแดนความรู้ออกไป
4. ใช้เทคโนโลยีเหมาะสม ง่าย ต้นทุนต่ำ ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายของการพัฒนาคือมวลชน ( mass) ยากไร้ชาวชนบท ไม่สามารถซื้อหาเทคโนโลยีสมัยใหม่ราคาสูงได้ก็เลือกใช้เทคโนโลยีและวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น โดยใช้ความคิดและนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ เช่น หญ้าแฝก ผักตบชวา ทฤษฎีใหม่ โครงการแก้มลิง ฯลฯ
5. เน้นการให้ความรู้ การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการขยายผล การนำความรู้ไปถึงท้องถิ่นและสาธิตให้เห็นรูปแบบที่เป็นรูปธรรม เข้าใจง่าย นั่นคือวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาขึ้นในทุกภูมิภาค และเปิดโอกาสให้ชาวบ้านเข้าไปศึกษา
6. การดำเนินโครงการมีลักษณะฉับพลัน ทันท่วงทีในการรับมือกับปัญหา (Responsive) เช่น
การศึกษาและวางแผนเพื่อรับมือกับปัญหาวิกฤตจราจรหรือน้ำท่วมกรุงเทพฯ ทรงศึกษาและติดตามข่าวสารทุกด้านและทุกระยะ เมื่อทรงเห็นว่ามาตรการของหน่วยงานปกติยังไม่เพียงพอ ก็โปรดเกล้าฯประชุมเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องบางส่วน ได้ข้อยุติประการใดแล้วก็ให้ลงมือปฏิบัติโดยทันที
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ได้บรรยายในที่ประชุมสมัชชาแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง เมื่อเมษายน พ.ศ.2539 ไว้ว่า
… ล่าสุดเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา น้ำท่วม ทรงงานทั้งวันทั้งคืน ทรงงานชนิดที่ว่ากรมหลายๆ กรมไม่มีทางทาบติด ทรงติดตามเหตุการณ์ตั้งแต่ก่อน (พายุ) มาถึงเมืองไทยด้วยซ้ำไป ในขณะที่พวกเรานั่งเอ้อระเหยอยู่ ในขณะที่หน่วยงานราชการหลายหน่วย แม้กระทั่งรัฐบาลเอง น้ำท่วมเดี๋ยวก็จัดรายการเรี่ยไรเงิน ไม่มีใครพะวงว่าจะแก้ไขอย่างไร ทรงติดตามทุกนาที …
… วิธีการทางอ้อม คือเรียกประชุมแล้วหยิบยกปัญหานี้ขึ้นมาชี้ให้เห็นว่ามาแล้วนะอันตราย และคำนวณแน่ชัดเลยว่าเวลาไหน ปริมาณแน่ชัดว่าเท่าไหร่ ขณะที่ทุกคนบอกว่า โอเค ประชุมเสร็จพรุ่งนี้จะเริ่มงาน พระองค์ท่านรับสั่ง “ ไม่ใช่พรุ่งนี้ เดี๋ยวนี้ ” …
7. การติดตามและประเมินผลโครงการ (Monitoring & Evaluation) แม้การเกิดโครงการอาจจะเน้นการแก้ปัญหา การเปิดฉากปฏิบัติการโดยฉับพลัน แต่ก็ไม่ใช่ลักษณะไฟไหม้ฟางชั่วครู่ชั่วยาม ทั้งนี้เพราะสนพระทัยตรวจสอบและติดตามความก้าวหน้าและผลงานอย่างสม่ำเสมอ
8. ลักษณะการพัฒนา ใช้ความรู้ประสานกันหลายสาขา และบูรณการบุคลากรและทรัพยากรของหลายส่วนราชการ (Interdisciplinary & Intersectoral) โครงการส่วนใหญ่มุ่งหวังผลงานโดยเร็ว จึงมีการระดมพลังจากส่วนต่างๆ มาร่วมมือกันทำงานเป็นแนวทาง (Approach) ที่แตกต่างจากวัฒนธรรมการปฏิบัติงานแบบราชการ ซึ่งมักถือแนวทางเอกเทศเป็นส่วนมาก
9. ปรัชญาการทำงานแบบมนุษยนิยม ( Humanistic หรือ People oreiented) ข้อใหญ่ใจความของการพัฒนาคือการบำบัดทุกข์บำรุงสุข การจรรโลงคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน
10. การพัฒนาส่งเสริมให้บุคคลเพิ่มขีดความสามารถเพื่อช่วยเหลือตนเองและพึ่งตนเองได้ (Self reliance)
11. แนวทางการพัฒนาเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน ( Sustainability ) ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์การใช้ทรัพยากร ธรรมชาติอย่างประหยัดและสมเหตุผล