นักวิทย์ นักคิดของโลกในสมัยรัชกาลที่ 4

The Pioneer

นีเซฟอร์ เนียปส์ (Nicéphore Niépce)

          ผู้คนในยุคสมัยปัจจุบันอาจจะนึกไม่ออกว่า ในยุคแรกเริ่มจุดกำเนิดของภาพถ่ายใบแรกเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญของนักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศสผู้นี้ ผู้ที่ได้ชื่อว่ามีส่วนในการบุกเบิกการถ่ายภาพมีชื่อว่านีเซฟอร์ เนียปส์’ (Nicéphore Niépce) เขาค้นพบวิธีการบันทึกอีกแบบหนึ่งที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา จนได้เป็นภาพถ่ายถาวรที่เกิดขึ้นใบแรกของโลก และพัฒนาเป็นเทคโนโลยีการถ่ายภาพจนถึงในยุคสมัยใหม่นี้ 

Table of content

ประวัติ

           โจเซป นีเซฟอร์ เนียปส์ (Joseph Nicéphore Niépce) เกิดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ.1765 ที่เมืองชาลง-ซูร์-โซน (Chalon-Sur-Saone) ตะวันออกของประเทศฝรั่งเศส เป็นบุตรคนรองในครอบครัวที่มั่งคั่ง มีบิดาประกอบอาชีพทนายความ ได้รับการศึกษาทางด้านฟิสิกส์และเคมีมหาวิทยาลัยในเมืองอ็องเฌ (Angers) และยังได้มีโอกาสเข้าเป็นทหารประจำการในกองกำลังปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1792 เมื่อออกจากราชการทหาร เนียปส์ไปอาศัยอยู่กับพี่ชายที่เมืองนีซ (Nice) ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส 

แรงบันดาลใจในการบันทึกภาพ

          ในวันหนึ่งขณะที่เขาและครอบครัวเดินทางท่องเที่ยวไปยังแคว้นซาร์ดิเนีย (Sardinia) ของประเทศอิตาลีซึ่งมีพรมแดนติดกับเมืองที่เขาพักอาศัย เขาเกิดแรงบันดาลใจในการถ่ายภาพขึ้น เนียปส์ตัดสินใจเดินทางกลับไปอาศัยอยู่เมืองชาลง-ซูร์-โซน บ้านเกิดหลังการเสียชีวิตของบิดา ในปี ค.ศ.1801 และได้ทำการศึกษาวิธีการพิมพ์ภาพลงบนวัสดุอย่างจริงจัง  เริ่มศึกษาจากเทคนิคการทำภาพพิมพ์หิน” ซึ่งเป็นเทคนิคการสร้างงานศิลปะโดยการวาดภาพลายเส้นบนหินผิวเรียบและพิมพ์ลงบนกระดาษโดยมีสารเคมีจำพวกไขมันมาช่วยในการทำให้ภาพติดบนกระดาษได้ดียิ่งขึ้น เป็นวิธีการที่รู้จักกันดีในชื่อlithography” ทั้งที่เนียปส์ไม่มีความถนัดในด้านการวาดภาพและยังไม่สามารถหาวัสดุที่เหมาะสมอย่างพวกหินปูนเพื่อมาใช้เป็นวัสดุในการพิมพ์ภาพได้ แต่เขาก็ยังทดสอบเพื่อค้นหาวิธีการทำให้ภาพถูกผนึกติดอยู่บนแผ่นหินให้คงทนโดยใช้แสงแดดเป็นตัวช่วยให้เกิดปฏิกิริยา ในเวลาต่อมา เขาใช้แผ่นโลหะผสมซึ่งมีดีบุกเป็นองค์ประกอบหลัก (Pewter) นำไปเคลือบด้วยสารเคมีชนิดต่าง ที่มีปฏิกิริยาไวต่อแสง จากนั้นนำลายเส้นที่วาดไว้บนกระดาษปิดทับลงบนผิวหน้าก่อนนำไปวางไว้ในจุดที่ถูกแสงแดดสม่ำเสมอระยะหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไปบนแผ่นดีบุกส่วนใหญ่ก็ยังไม่ปรากฏภาพใด เขาล้มเหลวในการทดลองอยู่หลายครั้ง  

(รูปตัวอย่างการใช้กล้องทาบเงาวาดภาพของจิตรกรสมัยนั้น)

เมื่อได้พบจูเดีย

(รูป View from the Window at Le Gras)

          จนกระทั่งเขาได้พบวัสดุเคลือบผิวชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นยางมะตอยที่ชื่อว่า จูเดีย หรือ Bitumen of Judea ที่มีคุณสมบัติแข็งตัวเมื่อถูกแสงแดด แต่จะอ่อนและนิ่มเมื่ออยู่ในที่ร่มหรือได้รับแสงในปริมาณน้อย สามารถล้างออกได้ง่ายด้วยน้ำมันลาเวนเดอร์และน้ำมันสน เขาจึงนำมาทดสอบ และพบว่า แผ่นดีบุกที่เคลือบด้วยยางมะตอยจูเดียนั้นเมื่อนำไปล้างออกด้วยน้ำมันทั้งสองชนิดจะปรากฏภาพลายเส้นบนกระดาษที่ถูกรังสรรค์ขึ้นจากแสงแดดผนึกอยู่บนแผ่นดีบุก โดยการค้นพบนี้เนียปส์ได้ตั้งชื่อเทคนิคของเขาว่า “โฮลิโอกราฟฟี (Heliography)” หรือ “การวาดภาพด้วยแสง (Sun Drawing) 

          ค.ศ.1822 เนียปส์ได้พัฒนาการทดลองของเขาโดยใช้กล้องทาบเงา (camera obscura) มาผนวกกับเทคนิคการวาดภาพด้วยแสง และเปิดกล้องให้แสงผ่านนานถึง 8 ชั่วโมงก่อนนำไปล้าง 

อุปสรรคจากการเผยแพร่ผลงาน

          เมื่อประสบความสำเร็จในการถ่ายภาพ เนียปส์ ตัดสินใจเดินทางไปเยี่ยมพี่ชายที่กำลังป่วยหนักที่เมืองคิว (Kew) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงลอนดอน ในปี ค.ศ. 1827 ทำให้เขาได้มีโอกาสรู้จักกับฟรานซิส บาวเออร์ (Francis Bauer) ผู้เห็นความสำคัญของผลงานค้นพบของเนียปส์ และแนะนำให้เขาส่งผลงานเข้าไปที่ ราชสมาคมแห่งลอนดอน หรือ Royal Society ซึ่งเป็นสมาคมนักปราชญ์ทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เพื่อทำการจัดแสดงผลงาน ทว่า ราชสมาคมต้องการทราบรายละเอียดและวิธีการสร้างผลงานซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่เต็มใจบอกเล่าในขณะนั้น ทำให้เขาล้มเลิกความตั้งใจ และทิ้งผลงานทั้งหมดให้กับฟรานซิส บาวเออร์ ก่อนเดินทางกลับฝรั่งเศส หลังจากนั้น เนียปส์ยังคงทุ่มเทให้กับการศึกษาค้นคว้าและพัฒนาเทคนิควิธีการถ่ายภาพอย่างต่อเนื่อง จนได้พบกับ หลุยส์ ฌาคส์ มังเด ดาแกร์ (Louis Jacques Mandé Daguerre) ผู้เชี่ยวชาญด้านกล้องทาบเงา และได้ร่วมงานกันจนสามารถพัฒนาเทคนิคใหม่ ขึ้นอีกหลายอย่าง รวมถึงวิธีการผนึกภาพถ่ายลงบนแผ่นกระดาษ หลังจากทำงานร่วมกับหลุยส์ ดาแกร์ ได้เพียง 4 ปี จนกระทั่งวันที่ 5 กรกฎาคม ค.ศ. 1833 เนียปส์ได้ถึงแก่กรรมในวัย 68 ปี ด้วยอาการหัวใจล้มเหลว ซึ่งขณะนั้นเขามีสถานภาพยากจน และยังไม่มีสิ่งประดิษฐ์หรือผลงานใดได้รับการยอมรับในนามของเขาเลยแม้แต่ชิ้นเดียว 

เพื่อนที่ระลึก

          หลุยส์ ดาแกร์ ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนางานของเขาต่อไป เขาใช้เทคนิคของเนียปส์มาต่อยอดพัฒนาร่วมกับเทคนิคการถ่ายภาพที่เขาคิดขึ้นใหม่ จนทำให้สามารถถ่ายภาพได้คมชัดและใช้เวลาน้อยลง เขาให้ชื่อเทคนิคใหม่นี้ว่าดาแกโรไทป์ (Daguerreotype)” ทำให้ดาแกร์กลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงทันทีหลังประกาศเกี่ยวกับการค้นพบนั้นในเดือนมกราคม ค.ศ. 1839 แต่แล้วกัลยาณมิตรอย่างฟรานซิส บาวเออร์ ได้ช่วยตัดสินใจเรียกร้องสิทธิ์ในการเป็นผู้คิดค้นกระบวนการถ่ายภาพได้สำเร็จเป็นคนแรกให้กับเนียปส์ จนในที่สุดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ. 1839 ราชสมาคมแห่งลอนดอนจึงยอมรับและทำการจัดแสดงผลงานตัวอย่างบางส่วนของเนียปส์ที่เคยทิ้งไว้ให้ฟรานซิส บาวเออร์ แต่บาวเออร์เสียชีวิตลงเสียก่อนภาพถ่ายใบแรกของโลกนั้นจึงถูกตกทอดและเปลี่ยนผู้ครอบครองไปเรื่อย ๆ ปัจจุบันได้รับการเก็บรักษาอย่างดีไว้ที่ ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ Harry Ransom Center ในมหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน สหรัฐอเมริก  

สุดท้ายนี้ หากใครสนใจหรืออยากอ่านหนังสือต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัว นีเซฟอร์ เนียปส์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรื่องที่เกี่ยวกับองค์ความรู้เฉพาะทาง หรือความรู้รอบตัว สามารถเข้าไปอ่านบทความแนะนำหนังสือของ นีเซฟอร์ เนียปส์ ได้ที่ https://kmutt.me/book-niepce