พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

บทที่ 20 ถาวรวัตถุที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 9

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ พระมหากรุณาธิคุณยิ่งล้นสุดจะพรรณนา ทรงมี พระจริยาวัตรงดงาม ทรง เป็นที่รักและเทิดทูนอย่างสูงสุด ของปวงราษฎร์ คนไทยทุกคนต่าง สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ดังนั้น ในวาระอันเป็นมงคล พสกนิกรทุกหมู่เหล่าต่างร่วมใจกันจัดสร้างถาวรวัตถุและสิ่งอนุสรณ์ต่างๆ ขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และเพื่อเป็นเครื่อง แสดง ถึง ความจงรักภักดี ที่ไม่มีวัน เสื่อมคลาย

สิ่งที่ได้จัดสร้างขึ้น เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายหรือที่สร้างขึ้น เพื่อ เฉลิมพระเกียรตินั้นมีมากมาย อาทิ
1. เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9
2. ประภาคารกาญจนาภิเษก แหลมพรหมเทพ
3. เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลใหม่ ‘ ดิเรกคุณาภรณ์ ‘
4. พุทธมณฑล
5. พระที่นั่งสันติชัยปราการ และป้อมพระสุเมรุ
6. พระพุทธมหาวชิรอุตตโมภาสศาสดา
7. พระพุทธนิรโรคันตราย
8. สวนหลวง ร 9
9. อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
นอกจากนี้ยังมีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รถไฟลอยฟ้า และรถไฟใต้ดิน เป็นต้น

1. เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9

ประวัติความเป็นมา เรือนารายณ์ทรงสุบรรณนั้นมีชื่อเดิมว่า “ มงคลสุบรรณ ” พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาเจษฎาบดินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ต่อขึ้นตามแบบอย่างสมัยอยุธยา โดยมีพระราชประสงค์ตามที่ปราก ฏ ความในพระราชพงศาวดารว่า “ ไว้เป็นเกียรติยศ สำหรับแผ่นดิน ” ลักษณะของเรือลำนี้มีความยาว 17 วา 3 ศอก กว้าง 5 ศอก 5 นิ้ว ลึก 1 ศอก 6 นิ้ว กำลัง 6 ศอก 6 นิ้ว พื้นท้องเรือภายนอกทาสีแดง กำลังฝีพาย 65 คน โขนเรือแต่เดิมจำหลักไม้ รูปพญาสุบรรณ หรือ พญาครุฑยุดนาค เท่านั้น มีช่องกลมสำหรับติดตั้งปืนใหญ่อยู่ที่หัวเรือใต้ตัวครุฑ

จวบจนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีพระราชดำริให้เสริมรูป พระนารายณ์ประทับยืนบนหลังพญาสุบรรณ เพื่อความสง่างามของลำเรือ และเพื่อให้ต้องตามคติในเทพปกรณ์ณัมของศาสนาพราหมณ์ว่า พญาสุบรรณนั้นเป็นเทพพาหนะ ของพระนารายณ์ เทวรูปพระนารายณ์ที่สร้างขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ 4 นั้น สร้างด้วยไม้จำหลักปิดทองประดับกระจกสีขาบ (สีน้ำเงินเข้ม) มี 4 พระกร ทรงเทพศาสตราในพระกรทั้ง 4 คือ ตรี คทา จักร สังข์ เมื่อเสริมรูปพระนารายณ์แล้ว โปรดเกล้าฯให้ขนานนามเรือลำนี้ใหม่ว่า “ พระนารายณ์ทรงสุบรรณ ” จากหลักฐานประเภทบันทึก การจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในสมัยรัตนโกสินทร์ พบหลักฐานการนำเรือพระที่นั่งมงคลสุบรรณ หรือนารายณ์ทรงสุบรรณลำนี้ เข้าร่วมในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคเป็นครั้งสำคัญ 2 ครั้ง คือ

โขนเรือพระที่นั่งเดิม

กระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในการเสด็จเลียบพระนครของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2394 ซึ่งในขณะนั้นเรือลำนี้ยังไม่มีการเสริมรูปพระนารายณ์ทั้งยังคงมีชื่อมงคลสุบรรณ

และอีกครั้งหนึ่งในการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในการพระราชพิธีสถาปนา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ.2429 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

ส่วนเครื่องแต่งกายของเจ้าพนักงานและฝีพายประจำเรือนั้น มีปรากฏข้อความในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ตอนที่ว่าด้วยการเสด็จเลียบพระนครทางชลมารค ในพ.ศ.2394 ดังนี้

“ เจ้าพนักงานเป็นยานกำกับลำ นุ่งปูม สวมเสื้อเข้มขาบ โพกขลิบทอง ฝีพายลำละ 65 คน ฝีพายใส่เสื้อสักหลาด ขลิบโหมด หมวกกลีบลำดวน กางเกงมีกรวยเชิง ใช้พายทอง ”

สันนิษฐานว่าตัวเรือนารายณ์ทรงสุบรรณ คงเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา จึงไม่พบหลักฐานการนำออกมาร่วมในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในรัชกาลต่อ ๆ มา คงเหลือแต่โขนเรือซึ่งกระทรวงทหารเรือเก็บรักษาไว้จนถึงปี พ.ศ.2496 จึงมอบให้กรมศิลปากรเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จนถึงปัจจุบัน

โขนเรือนารายณ์ทรงสุบรรณเป็นงานประณีตศิลป์ชิ้นเอกชิ้นหนึ่งของสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นงานแกะสลักและปิดทองประดับกระจก ที่ ได้พัฒนาไปจนถึงขั้นสูงสุด มีการคิดวิธีการประดับกระจกและลวดลายในการประดับกระจกขึ้นอีกหลายแบบ

นอกจากนี้โขนเรือลำนี้ยังมีความสำคัญในด้านความหมายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยเหตุที่ลักษณะอันงดงามของโขนเรือลำนี้ สะท้อนคติความเชื่อในการเทิดทูนสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชของชาวไทยโบราณว่าทรงเป็นสมมติเทพ คือปางอวตารของพระผู้เป็นเจ้าตามคติพราหมณ์ที่มีอิทธิพลต่อภูมิปัญญา และความเชื่อของคนไทยร่วมกับคติพุทธศาสนา

ดังนั้นการต่อเรือซึ่งมีโขนเรือเป็นรูปนารายณ์ทรงสุบรรณนี้ กองทัพเรือได้คิดจัดสร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบรอบ 50 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2539 จึงนับว่าเป็นการเหมาะสมเพราะเท่ากับเป็นการเทิดพระเกียรติ และเสริมส่งพระบรมเดชานุภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามคติธรรมเนียมที่บรรพชนไทยได้ยึดมั่นสืบต่อมาแต่โบราณ

เหตุผลของการสร้างเรือขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวาย
วัตถุประสงค์หลักของโครงการนี้ ก็คือการเฉลิมพระเกียรติ โดยการสร้างเรือพระที่นั่งลำใหม่ขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งโขนเรือเป็นรูปนารายณ์ทรงสุบรรณอันเป็นมงคลนามตามประวัติ จำนวน 1 ลำ ซึ่งมีฐานะเป็นเรือพระที่นั่งรอง ทอดบัลลังก์กัญญา เทียบเท่า เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์

นอกจากนี้ยังมีวัตถุประสงค์ ที่จะรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมไทย ได้แก่ การสร้างเรือพระที่นั่งลำใหม่ โขนเรือเป็นรูปนารายณ์ทรงสุบรรณ โดยใช้ต้นแบบเดิมที่เป็นฝีมือช่างยุครัตน – โกสินทร์ตอนต้นในรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 ซึ่งตัวเรือชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา คงเหลือแต่โขนหัวเรือประกอบด้วยพญาสุบรรณ และพระนารายณ์ซึ่งอยู่ในสภาพดี

ที่สำคัญจะเป็นการอนุรักษ์เรือลำนี้ไว้ในกระบวนเรือพระราชพิธี ทำให้กระบวนเรือมีความสมบูรณ์ดีขึ้น และจะได้อนุรักษ์ฝีมือช่างยุครัตนโกสินทร์ไว้มิให้สูญหาย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเรือพระที่นั่งที่ต่อใหม่ และเป็นเรือพระราชพิธีลำแรกที่สร้างขึ้นในรัชกาลนี้ว่า “ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9” ซึ่งจักปรากฏ เป็นสัญลักษณ์แห่งพระบรมเดชานุภาพ และเป็นพระเกียรติยศ สำหรับแผ่นดินสืบไปชั่วกาลนาน

คณะกรรมการในการสร้างเรือพระราชพิธีนี้ ประกอบด้วยข้าราชการกองทัพเรือ และข้าราชการระดับสูง ของกรมศิลปากร ร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของกองทัพเรือ ดังนี้

การสร้างเรือพระที่นั่งลำใหม่ โขนเรือเป็นรูปนารายณ์ทรงสุบรรณนั้น จะมีขนาดเท่าลำเดิม ได้แก่ ตัวเรือกว้าง 3.20 เมตร ยาว 44.30 เมตร กินน้ำลึก 1.10 เมตร น้ำหนัก 20 ตัน

ส่วนฝีพายซึ่งเรือลำเดิมใช้ 65 นายนั้น มีแนวความคิดที่ใช้ฝีพายเพียง 50 นาย ด้วยเหตุผลดังนี้ คือ

ต้องการพื้นที่สำหรับทอดบัลลังก์กัญญาและพื้นที่ประดับเครื่องสูงทั้งหลายให้กว้างกว่าเท่าที่เป็นอยู่เดิม เพื่อให้สมพระเกียรติเมื่อใช้เป็นเรือพระที่นั่ง

ฝีพาย 50 นาย นับว่าเพียงพอจะขับเคลื่อน บังคับควบคุมเรือได้โดยปลอดภัย และทำความเร็วได้ทัน เรือพระราชพิธีอื่นๆ ในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ซึ่งเป็นเรือพระที่นั่งลำทรงใช้ฝีพายเพียง 50 นาย โดยที่เรือมีขนาดใกล้เคียงกัน จึงเห็นว่าเรือพระที่นั่งลำใหม่นี้ไม่ควรมีฝีพายเกินกว่าเรือพระที่นั่งลำทรง การใช้ฝีพาย 50 นาย เป็นการแสดงความหมายสอดคล้องกับวโรกาสครบ 50 ปี แห่งการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

สำหรับโขนเรือนั้น แต่เดิมในชั้นต้น กองทัพเรือได้มีแนวความคิดจะนำโขนเรือเก่ามาซ่อมตกแต่ง แต่เมื่อได้ทบทวนและไตร่ตรอง โดยรอบคอบใหม่อีกครั้งหนึ่ง แล้วเห็นว่าการสร้างโขนเรือใหม่ จะมีความเหมาะสมกว่า เนื่องจากจะได้สามารถบันทึกให้ปรากฏ ในประวัติศาสตร์ได้ว่า เรือพระที่นั่งลำใหม่นี้ ได้สร้างขึ้นในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช โดยสมบูรณ์ทั้งลำ

ในโอกาสจัดสร้างโขนเรือใหม่ดังกล่าว กองทัพเรือได้หารือกับกรมศิลปากรแล้วมีความเห็นว่าควรที่จะปรับปรุงออกแบบใหม่ให้สวยงามกว่าของเดิม เช่นส่วนอกและจงอยปากครุฑ พร้อมกับเพิ่มความสูงของโขนเรือขึ้นอีกประมาณ 50 เซนติเมตร เพื่อให้ดูเด่นเป็นสง่าเช่นเดียวกับเรือพระที่นั่งลำอื่นๆ ดังนั้น โขนเรือตามแบบเรือเดิมซึ่งสูง 3.85 เมตร จึงเพิ่มขึ้นเป็น 4.35 เมตร และสัดส่วนนี้จะทำให้โขนเรือสูงพอดีรับกับท้ายเรือดูสวยงามยิ่งขึ้น

ขั้นตอนการดำเนินการในการสร้างเรือ พระที่นั่ง 
กองทัพเรือได้ประสานงานกับกรมศิลปากร เขียนรูปโขนเรือในอัตราส่วน 1:1 เฉพาะลายเส้นไม่มีลวดลายให้กรมอู่ทหารเรือเพื่อจะได้โกลนหุ่นขึ้นรูป เพื่อว่าจ้างแกะสลักลวดลายต่อไป โดยกองทัพเรือเป็นผู้จัดหาไม้ซุงรวมกับไม้ที่จะต้องใช้ในการต่อเรือและซ่อมเรือตามโครงการ

สำหรับรูปแบบเรือพระที่นั่งนั้น กองทัพเรือได้ออกแบบโครงสร้างตัวเรือและส่วนประกอบต่างๆ โดยกรมศิลปากรเป็นผู้เขียนลวดลาย และงานที่ทำคู่ขนานกันไปก็คือการสร้างบัลลังก์กัญญา ซึ่งแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2538 ส่วนหางของเรือนั้น กรมอู่ทหารเรือได้โกลนไม้เพื่อว่าจ้างแกะสลัก รวมทั้งไม้แก้มเรือ เพื่อดำเนินการและแกะสลักทั้ง 4 แก้ม เมื่อโขนเรือ ตัวเรือ บัลลังก์กัญญา หางเรือพร้อมเกรินไม้แก้มเรือทั้ง 4 แก้ม เสร็จเรียบร้อยแล้วกองทัพเรือ จึงได้ดำเนินการประกอบส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกันโดยใช้เวลาประมาณ 7 เดือน คือแล้วเสร็จในประมาณเดือนตุลาคม 2538 นอกจากนั้นจะมีเวลาเหลือไว้ 15 วันสำหรับการแก้ไขเล็กๆ น้อยๆ ถ้าหากมี

ข้อมูลเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9
ขนาดของตัวเรือ

ความยาวทั้งหมด L.O.A.
ความยาวแนวน้ำหนักบรรทุก
เต็มที่ L.W.L.
ความกว้างของเรือ BMLD
ความลึกของเรือ DMLD
กินน้ำลึก T
ระวางขับน้ำบรรทุกเต็มที่ 4
FL.
ฝีพาย

44.30 เมตร

34.60 เมตร
3.20 เมตร
1.10 เมตร
0.40 เมตร

20 ตัน
50 ฝีพาย

ค่าใช้จ่ายในการสร้างเรือ
ประมาณ 11.7 ล้านบาท ซึ่งกองทัพเรือรับผิดชอบออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด เมื่อสร้างแล้วเสร็จใช้เงินรวมทั้งสิ้น 15 ล้านบาท โดยมิได้ใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน แต่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณค่าใช้จ่ายในการสร้างทั้งหมด จากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นหลักการในการระดมทุน รวมทั้งองค์กรต่างๆ และประชาชนชาวไทย

ลักษณะการวางฉัตร
กัญญาเรือ
ลวดลายบัลลังก์กัญญา
หลังคากัญญา
ส่วนที่เป็นศิลปกรรม

ส่วนที่เป็นโครงและหุ่นลำเรือ
เฉพาะโขนเรือนารายณ์ทรงสุบรรณ

เว้น 2 กระทงต่อ 1 ฉัตร
เช่นเดียวกับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
ออกแบบลวดลายใหม่
ออกแบบลายทองแผ่ลวดใหม่
กรมศิลปากรรับผิดชอบ โดยกองทัพเรือออกค่าใช้จ่าย

กองทัพเรือรับผิดชอบทั้งหมด
เนื้อไม้ แกะสลัก ลงรักปิดทองประดับกระจก

ส่วนที่เป็นศิลปกรรม
ผู้ออกแบบได้พิจารณาลวดลายจากโขนเรือนารายณ์ทรงสุบรรณที่มีให้เห็นอยู่เล็กน้อย ซึ่งมีหลักฐานได้ว่าเรือลำนี้เป็นเรือแกะสลักไม้ลงรักปิดทองประดับกระจกตลอดทั้งลำเรือ ลวดลายเป็นลายพุดตานพื้น

ส่วนท้ายเรือ
ลักษณะท้ายเรือคล้ายเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช แต่ส่วนเหนือมาลัยท้ายเป็นสร้อยหางครุฑ ส่วนปลายหางสุดของท้ายเรือเป็นกนกหางครุฑ ท้องลายของท่อนหางเป็นขนครุฑ

สีพื้นเรือหรือสีท้องเรือนารายณ์ทรงสุบรรณ ฯ
เป็นสีแดงชาด ( ตามแบบเดิม )

กัญญาเรือผ้าคาดหลังคาเรือนารายณ์ทรงสุบรรณ ฯ
เป็นทองแผ่ลวด ลายโคมแย่งพื้นแดงลายจั่วและลายผ้าม่าน โดยรอบประดับด้วยทองแผ่ลวด ลักษณะลวดลายเช่นเดียวกับหลังคา

ตัวบัลลังก์กัญญา
เป็นลวดลายแกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก แผงพนักพิงแกะสลักลวดลายเป็นรูปครุฑยุดนาค ลงรักปิดทอง ประดับกระจก ส่วนภายในเหมือนเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์

ลูกแก้วรับขื่อ
เป็นไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก เสา 2 ต้น ทาสีดำ

ฉากกับพาย
ลงรักปิดทอง

หมายเหตุ ระยะเวลาดำเนินการวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2537 ถึงวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2539 เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณฯ นี้ได้นำเข้าร่วมในกระบวนพยุหยาตราชลมารคในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม และในมหามงคลวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในปี พ.ศ.2539

นาวาโททองย้อย แสงสินชัย ประพันธ์เป็นบทประพันธ์ชนะเลิศการประกวดแต่งกาพย์เห่เรือ โครงการสร้างเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 จัดโดยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (จากวารสารรังสิตสารสนเทศ ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 มิถุนายน – ธันวาคม 2539 : 66-72)

กาพย์เห่เรือ
เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9

2. ประภาคารกาญจนาภิเษก แหลมพรหมเทพ

เนื่องในวโรกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในปี พ.ศ.2539 กองทัพเรือได้จัดโครงการขึ้นรวม 7 โครงการ น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ พระองค์ท่านในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก

โครงการจัดสร้างประภาคารกาญจนาภิเษก บริเวณแหลมพรหมเทพ จังหวัดภูเก็ต เป็นหนึ่งในเจ็ดโครงการที่กองทัพเรือจัดสร้างถวายร่วมกับพสกนิกรชาวไทย โดยมี พลเรือเอกวิญญาณ สันติวิสิฎฐ์ รองผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานกรรมการอำนวยการโครงการที่กองทัพเรือ จะน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายในมหามงคลวโรกาสอันสำคัญยิ่ง โดยร่วมกับหน่วยราชการและประชาชนชาวภูเก็ต ร่วมกันแสดงความจงรักภักด ีในการจัดสร้างประภาคารกาญจนาภิเษกขึ้น

การจัดสร้างประภาคารกาญจนาภิเษกบริเวณแหลมพรหมเทพจากการพิจารณาความเหมาะสมในด้านต่างๆ กล่าวคือ นอกเหนือจากพื้นที่บริเวณดังกล่าว เนินชมวิวแหลมพรหมเทพ ตำบลราไวย์ อำเภอเมือง ภูเก็ต เป็นสถานที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของโลก ทางกองทัพเรือจึงได้พิจารณาจัดสร้างประภาคารขึ้นร่วมกับชาวภูเก็ต เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติแด่พระองค์ท่าน และได้ขอพระราชทานชื่อประภาคารแห่งนี้ว่า “ ประภาคารกาญจนาภิเษก แหลมพรหมเทพ ” ตามที่ขอพระมหากรุณาธิคุณ

การก่อสร้างประภาคารดังกล่าวใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 24 ล้านบาท ซึ่งประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ได้ร่วมบริจาคสมทบทุนในการก่อสร้างเพื่อร่วมเทิดพระเกียรติและแสดงความจงรักภักดี และนับว่าเป็นสิ่งก่อสร้างถาวรวัตถุที่จะมีคุณประโยชน์อเนกอนันต์ในอนาคต โดยกรมช่างโยธาทหารเรือได้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดทรัพย์สินสัตหีบก่อสร้างทำการก่อสร้า ง และได้เริ่มลงมือก่อสร้างวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2538 โดยกำหนดส่งมอบภายใน 180 วัน การก่อสร้างทั้งหมดแล้วเสร็จตั้งเด่นเป็นสง่า ใน เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2539 สำหรับขนาดและความหมายของประภาคารกาญจนาภิเษกที่จัดสร้างมีรายละเอียดประกอบ ด้วย

1) รูปทรงของประภาคาร ด้านหน้าเป็นบันไดทางขึ้นมีห้องโถงทางเข้าด้านหลังโล่ง เหนือทางเข้าด้านหน้ามีตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ด้านข้างตราสัญลักษณ์ประดับธงชาติ ด้านใต้ตราสัญลักษณ์เป็นเครื่องแสดงเวลาระบบไฟวิ่ง ขนาด 1.50 คูณ 7.00 เมตร ชั้นล่างภายในเป็นห้องกระโจมไฟ 1 ห้อง และห้องแสดงนิทรรศการทางอุทกศาสตร์ และมีแท่นจารึกชื่อของผู้ที่ให้การสนับสนุนบริจาคเงิน ซึ่งมองเห็นได้เมื่อเข้ามาภายในอาคาร มีบันไดโค้งครึ่งวงกลมขึ้นมาจากห้องกระโจมไฟไปยังดาดฟ้าชั้นบนสามารถชมวิวทิวทัศน์โดยรอบบริเวณได้ จากระดับดาดฟ้าชั้นบนมีบันไดเวียนขึ้นไปยังกระโจมไฟและระเบียงดาดฟ้ากระโจมไฟ

วัสดุที่นำมาสร้าง ใช้ชนิดที่คุณภาพดีเยี่ยมมีความสวยงามและความทนทานสูง โดยใช้โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กกรุหินแกรนิต กระจกสะท้อนแสง 2 ชั้นสีทอง กระจกใสเจียระไน กรอบอะลูมิเนียมสีทองโลหะปิดทองคำหรือหุ้มทองคำและทองเหลือง

3) ลักษณะ ขนาด และความหมายที่สำคัญ กระโจมไฟเป็นกระจกใสเจียระไน ที่ประกอบกันเป็นกระจก 10 ด้าน เป็นรูปผลึกแก้ว ภายในมีโคมไฟหมุนส่องสว่างรอบทิศ เปรียบประดุจพระบารมีส่องสว่างไปรอบทิศ ฐานรับกระโจมประกอบด้วยโลหะปิดทองหรือหุ้มทองคำ 10 เส้น มีความหมายถึง ทิศพิธราชธรรมในแต่ละด้านคือ 1. ทาน 2. ศีล 3. บริจาค 4. ความซื่อตรง (อาชวะ) 5. ความอ่อนโยน (มัทวะ) 6. ความเพียร (ตบะ) 7. ความไม่โกรธ (อักโกธะ) 8. การไม่เบียดเบียน (อวิหิงสา) 9. ความอดทน (ขันติ) และ 10. ความเที่ยงธรรม (อวิโรธนะ) โดยจะสลักข้อความดังกล่าวพร้อมบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับ ทศพิธราชธรรม 10 ประการ ที่มีปรากฏ อยู่ในคัมภีร์พระบวรพุทธศาสนา ซึ่งเป็นพระราชจริยาวัตร ที่พระมหากษัตริยาธิราชเจ้าทรงปฏิบัติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ฯ ได้ทรงบำเพ็ญอย่างไพบูลย์เต็มที่ทุกประการ ต้องตามขัตติยราชประเพณี นับแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติตราบเท่าถึงกาลปัจจุบัน

ส่วนโลหะปิดทองหรือหุ้มทองคำ มีความหมายถึงปีกาญจนาภิเษก ความสูง 50 ฟุต มีความหมายถึง ทรงครองราชย์มาครบ 50 ปี เส้นผ่าศูนย์กลางฐานกว้าง 9 เมตร มีความหมายถึงรัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี มองเห็นได้ไกล 39 กิโลเมตร มีความหมายถึงในปี 2539 ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี

เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชฯกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงวางศิลาฤกษ์ประภาคารกาญจนาภิเษก แหลมพรหมเทพ ณ บริเวณแหลมพรหมเทพ ตำบลราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต และ ต่อไปจากนี้ บริเวณแหลมพรหมเทพ ณ หลังเนินชมวิว จะมีสิ่งก่อสร้างที่ล้ำค่าทางจิตใจของพสกนิกรชาวไทยร่วมกับกองทัพเรือจัดสร้างถวายให้ตั้งเด่นสง่า เป็นถาวรวัตถุที่ทรงคุณค่าทั้งการใช้สอยและจิตใจสืบไป (จากวารสารรังสิตสารสนเทศ ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 มิถุนายน – ธันวาคม (2539 : 78 – 80)

3. เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลใหม่ ‘ ดิเรกคุณาภรณ์ ‘

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ หมายถึง อาภรณ์หรือเครื่องประดับที่พระมหากษัตริย์พระราชทานให้แก่บุคคล เพื่อใช้เป็นเครื่องประดับหรือตกแต่งเสื้อผ้าอาภรณ์

ประเทศไทยมีเครื่องราชอิสริยาภรณ์มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ในสมัยนั้น ยังมิได้พระราชทานให้แก่บุคคลทั่วไปอย่างแพร่หลายนัก มาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) จึงได้มีพระราชดำริให้จัดสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ 2 ตระกูล คือ “ ตระกูลมงกุฎไทย ” และ “ ตระกูลช้างเผือก ” เพื่อพระราชทานแก่ข้าราชการทั่วๆ ไป และเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในรัชสมัยต่อมา

ในปี พ.ศ.2534 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้รัฐบาลดำเนินการจัดสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขึ้น สำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบแก่พ่อค้า ประชาชนที่ได้มีส่วนร่วมทำคุณประโยชน์ ในการช่วยเหลือราชการแผ่นดินเป็นการเฉพาะ และพระราชทาน ชื่อเครื่องราชอิสริยาภรณ์นั้นว่า “ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ 

ที่มาของการสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูล ใหม่ เนื่องมาจากแต่เดิมนั้นผู้ที่ทำคุณความดีไม่ว่าจะเป็นข้าราชการที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามลำดับอายุราชการ หรือผู้ที่ไม่ได้เป็นข้าราชการแต่ได้ทำคุณงามความดีด้วยการบริจาคเงินเพื่อการกุศล ก็จะได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎไทยและช้างเผือกเหมือนกับข้าราชการ ซึ่งก็มีปัญหา

เพราะข้าราชการจะรู้สึกน้อยใจว่าต้องรับใช้ราชการนานกว่าจะได้เครื่องราชอิสริยาภรณ์แต่ละชิ้น แต่ผู้บริจาคเงินหากบริจาคเงินเป็นจำนวนมากอาจได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ในลำดับชั้นที่สูงกว่าผู้ที่ได้รับราชการมาเป็นเวลานาน นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ทำคุณงามความดีในการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่สามารถนำหลักเกณฑ์การขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์าตระกูลมงกุฎไทยหรือช้างเผือกมาใช้ได้

ดังนั้น ในปี พ.ศ.2534 รัฐบาลจึงได้ขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลใหม่แยกจาก ตระกูลมงกุฎไทยและตระกูลช้างเผือก เพื่อพระราชทานให้แก่ผู้ที่ทำคุณงามความดีแก่ประเทศชาติ ศาสนา และประชาชนเป็นหลัก โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาและไม่ใช่เรื่องทางราชการโดยตรง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ พระราชทานชื่อและพระราชาธิบายว่า เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ หรือ ความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน หลังจากได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในปี พ.ศ.2534 แล้ว ได้ใช้เวลาอีก 4 ปี ในการตราพระราชกฤษฎีกา เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การขอรับพระราชทาน ดังนั้น ในปี พ.ศ.2538 พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ จึงมีการประกาศใช้ ซึ่งเป็นการประกาศในวโรกาสเดียวกับการเฉลิมฉลองพิธีกาญจนาภิเษกในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ 50 ปี

องค์ประกอบของเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ องค์ประกอบสำคัญเป็นรูปครุฑและมีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ “ ภปร.” อยู่ด้านหลังดวงตราและดารา ซึ่งเป็นที่หมายสำคัญว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ ให้สร้างขึ้นสำหรับพระราชทานแก่ผู้กระทำความดีความชอบเป็นการเฉพาะในรัชสมัยปัจจุบัน

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์แบ่งเป็น 7 ชั้น คือ

ชั้นที่ 1 ปฐมดิเรกคุณาภรณ์
อักษรย่อ ป.ภ.

ชั้นที่ 2 ทุติยดิเรกคุณาภรณ์
อักษรย่อ ท.ภ.

ชั้นที่ 3 ตติยดิเรกคุณาภรณ์
อักษรย่อ ต.ภ.

ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์
อักษรย่อ จ.ภ.

ชั้นที่ 5 เบญจมดิเรกคุณาภรณ์
อักษรย่อ บ.ภ.

ชั้นที่ 6 เหรียญทองดิเรกคุณาภรณ์
อักษรย่อ ร.ท.ภ.

ชั้นที่ 7 เหรียญเงินดิเรกคุณาภรณ์
อักษรย่อ ร.ง.ภ.

หลักเกณฑ์การขอพระราชทาน
1. ผู้ที่มีผลงานอันเป็นประโยชน์ยิ่งแก่ประเทศ ชาติ ศาสนาและประชาชน โดยส่วนราชการที่ได้รับประโยชน์ต้องรับรองผลงานความดีความชอบ และปกติจะเริ่มขอพระราชทานชั้น ร.ง.ภ. หากมีผลงานดีความชอบเพิ่มเติม อาจขอพระราชทานเลื่อนชั้นตราตามลำดับได้ โดยเว้นระยะเวลาขึ้นตราละ 5 ปี

2. ผู้ที่กระทำความดีความชอบที่เป็นการบริจาคทรัพย์สินเพื่อสาธารณะประโยชน์ด้านศาสนา การศึกษา การสาธารณสุข การแพทย์ การพัฒนาชุมชน การสังคมสงเคราะห์ หรือความมั่นคงของชาติ โดยมีหลักเกณฑ์กำหนดวิธีการรับรองการบริจาคทรัพย์สิน และกำหนดชั้นตราตามเกณฑ์วงเงินทรัพย์สินที่บริจาคเพื่อสาธารณประโยชน์ คือ

ร.ง.ภ.
ร.ท.ภ.
บ.ภ.
จ.ภ.
ต.ภ.
ท.ภ.
ป.ภ.

– 100,000 บาท
– 200,000 บาท
– 500,000 บาท
– 1,500,000 บาท
– 6,000,000 บาท
– 14,000,000 บาท
– 30,000,000 บาท

(จากวารสารรังสิตสารสนเทศ ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 มกราคม – มิถุนายน 2539 : 62-65)

4.พุทธมณฑล

พุทธศักราช 2500 ในรัชสมัยแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ศาสนาพุทธเจริญมาได้ 2500 ปี และวันวิสาขบูชา (เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพาน ในวันเพ็ญ เดือน 6 ตรงกันทั้ง 3 วัน นับเป็นอัศจรรย์ยิ่ง) ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2500 คณะกรรมการจัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษได้พิจารณาเห็นว่าควรจะได้สร้างปูชนียสถานเป็นพุทธอุทยานศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนา ขึ้นไว้ในประเทศให้ยิ่งใหญ่กว่าปูชนียสถานใด ๆ ที่เคยมีมาก่อน รัฐบาลในสมัยนั้นเห็นชอบและมีมติให้สร้าง “ พุทธมณฑล ” ขึ้นในบริเวณกลางแจ้ง เนื้อที่ 2,500 ไร่ ณ อาณาเขตติดต่อระหว่างตำบลบางกระทึก อำเภอสามพราน และตำบลศาลายา อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

และได้ถวายบังคมทูลอัญเชิญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จฯไปทรงประกอบรัฐพิธีก่อฤกษ์ ณ ตำแหน่งฐานพระพุทธรูปประธานพุทธมณฑล จากนั้นโปรดเกล้าฯ ให้จำลองพระพุทธรูปปางลีลา ซึ่งจะจัดสร้าง ณ พุทธมณฑลมาประดิษฐาน ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวงด้วย ในระหว่างงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ที่ท้องสนามหลวง

วัตถุประสงค์ในการจัดสร้างพุทธมณฑล

1 . เพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษาค้นคว้าด้านพระพุทธศาสนา
2 . เพื่อเป็นพุทธบูชาและเป็นพุทธานุสรณ์สถาน ในโอกาสที่พระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติไทย เจริญรุ่งเรืองมาจนครบ 2500 ปี ในปี พ.ศ.2500
3 . เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทย
4 . เพื่อเป็นที่สงบร่มรื่นและเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป ในบรรยากาศอันเป็นกุศล
5 . เพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน
6 . เพื่อเป็นสำนักงานกลางการบริหารงานของคณะสงฆ์แห่งประเทศไทย
7. เพื่อเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่พระพุทธศาสนา
8 . เพื่อเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางด้านธรรมะแก่พุทธศาสนิกชน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระพุทธรูปประธานพุทธมณฑลว่า “ พระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ ”

วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2526 เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นการส่วนพระองค์เพื่อทรงพิจารณาสถานที่ก่อสร้าง พระมณฑปทางด้านหลังองค์พระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์

วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2525 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ทรงประกอบพิธีสมโภชพระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ และทรงเปิดพุทธมณฑลให้ประชาชนเข้านมัสการพระพุทธรูปและใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ในการสร้าง งานก่อสร้างพุทธมณฑล สามารถเสร็จสิ้นในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ในปี พ.ศ.2530

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2526 เป็นต้นมา ได้การจัดพิธีบำเพ็ญกุศล ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเป็นทางการที่พุทธมณฑล ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศ์ เสด็จฯ แทนพระองค์ในการประกอบพิธีร่วมกับประชาชนในตอนบ่ายของวันสำคัญทางพระพุทธศาสนานั้นๆ คือ พิธีวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา

5. พระที่นั่งสันติชัยปราการ และป้อมพระสุเมรุ

สวนสันติชัยปราการ บริเวณรอบป้อมพระสุเมรุคือ สวนสันติชัยปราการ สวนสาธารณะริมน้ำเจ้าพระยา พื้นที่ 8 ไร่ จัดสร้างขึ้นตามแนวพัฒนาพื้นที่บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ โดยมีการออกแบบ ตกแต่งภูมิทัศน์อย่างงดงาม ลดหลั่นกลมกลืนไปกับโบราณสถานป้อมปราการเก่าแก่ ทั้งยังมี ลำพู แหล่งสุดท้ายสัญลักษณ์ของถิ่นย่านใกล้เคียง ล้อมรักษาไว้ให้ชุมชนได้ชื่นชมตรงชายน้ำ

ทัศนียภาพรอบสวนสันติชัยปราการ
พระที่นั่งสันติชัยปราการและต้นลำภู ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ
” บางลำภู ” และเหลือต้นใหญ่เพียงต้นเดียวในภาพ
ต้นลำพู ( Cork Tree)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sonneratia caseolaris Gaerth.

รวมทั้งมีทางเดินเลียบลำน้ำเจ้าพระยายาวไปถึงใต้สะพานพระปิ่นเกล้า มีจุดนั่งชมพระอาทิตย์อัสดงเป็นระยะ

ป้อมพระสุเมรุ ตั้งอยู่บนระหว่างถนนพระอาทิตย์ และถนนพระสุเมรุ

ป้อมพระสุเมรุ เป็น 1 ใน 2 ป้อมพระนครยุคแรกสถาปนา ที่ยังคงเหลือให้เห็นเช่นเดียวกับป้อมมหากาฬ ที่ได้เกณฑ์ลาวเวียงจันทร์ 5,000 คนมาช่วยสร้าง อีก 12 ป้อมที่ทรุดโทรมและถูกรื้อลงไม่เหลือแล้ว ได้แก่ จักรเพชร ผีเสื้อ พระจันทร์ พระอาทิตย์ มหาชัย มหาปราบ มหายักษ์ มหาฤกษ์ ยุคลธร อิสินธร เสือทยาน และหมูทลวง

ป้อมพระสุเมรุ มีลักษณะเป็นรูปแปดเหลี่ยมฐาน 2 ชั้น ชั้นแรกเดินได้โดยรอบ กำแพงฐานชั้นสองทำเป็นรูปใบเสมา ประตูหน้าต่างเจาะเหลี่ยม และมีช่องลมเป็นรูปวงโค้งแหลมเป็นระยะ ผนังเจาะรูปกากบาท หลังคาโครงไม้ฉาบปูน มีหอรบและหลังคาป้อมที่พังลงในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 7 ครั้น พ.ศ.2502 กรมศิลปากรจึงบูรณะขึ้น และอีกครั้งในช่วงฉลองกรุง 200 ปี คือ พ.ศ.2524 เป็นการบูรณะตามแบบภาพถ่ายครั้งรัชกาลที่ 5

จากพระที่นั่งสันติชัยปราการ มองเห็นทัศนียภาพแม่น้ำเจ้าพระยา และสะพานพระราม 8

พระที่นั่งสันติชัยปราการ
ในสวนสาธารณะนี้ มีพระที่นั่งสันติชัยปราการสร้างจากไม้ทั้งหลัง แกะสลักอย่างงามเป็นของขวัญที่ประชาชนน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในมหามงคลเฉิมพระชนมพรรษา 6 รอบ เมื่อปี พ.ศ.2542

ซุ้มประตูวังกรมหลวงจักรเจษฎา
ซุ้มประตูวังกรมหลวงจักรเจษฎา หรือซุ้มประตูวัง ถนนพระสุเมรุ เป็นส่วนที่เหลืออยู่ของวังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา สมเด็จพระอนุชาพระองค์เล็ก ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทั้งเป็นนิเวศน์สถานเดิมของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท วังหน้าในรัชกาลที่ 1

ซุ้มประตูก่ออิฐมอญ สูง 4 เมตร กว้าง 1.8 เมตร ยาว 3.8 เมตร ตรงกลางมีศาลไม้ จารึกว่า “ กรมหลวงจักรเจษฎา ” (ถนนสายวัฒนธรรมกรุงรัตนโกสินทร์ : ฉลองครบรอบ 220 ปี, กรุงเทพฯ : กระทรวงศึกษาธิการ, 2545 : 89-90 )

6. พระพุทธมหาวชิรอุตตโมภาสศาสดา

“ พระพุทธมหาวชิรอุตตโมภาสศาสดา ” เป็นนามพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันมีความหมายถึง พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระศาสดาที่รุ่งเรืองสว่าง ประเสริฐดุจดังพระมหาวชิระ

วัตถุประสงค์ในการจัดสร้างพระพุทธมหาวชิรอุตตโมภาสศาสดา เพื่อให้เป็นพระพุทธรูปแกะสลักหินประจำรัชกาลที่ 9 และเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เนื่องในมหามงคลที่ทรงครองราชย์ 50 ปี โดยเมื่อเริ่มแรกในปี พ.ศ.2527 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ได้เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดสร้างพระพุทธรูปแกะสลักขึ้นที่หน้าผาเขาชีจรรย์ ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี อยู่ห่างจากวัดญาณสังวรารามไปทางใต้ประมาณ 2 กิโลเมตร เขาชีจรรย์มีความสูงประมาณ 169 เมตร แต่เดิมเขาชีจรรย์ได้ถูกการระเบิด เพื่อนำหินไปใช้ประโยชน์มาเป็นเวลาหลายปี ส่วนที่เหลืออยู่เป็นหน้าผาสูงชัน เหมาะที่จะแกะสลักพระพุทธรูปไว้บนหน้าผาหิน เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างปูชนียสถานทางพระพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์เขาชีจรรย์ให้คงสภาพที่ควรเป็น

จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน 2533 คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ( กปร. ) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดรูปแบบพระพุทธรูปแกะสลักที่หน้าผาเขาชีจรรย์ โดยได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรธรณีสำรวจร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการ แกะสลักหินจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ( มณฑลเสฉวน ) เกี่ยวกับคุณลักษณะสภาพหินผาเขาชีจรรย์ ว่าสามารถสร้างพระพุทธรูปในเนื้อหินตามธรรมชาติของเขาชีจรรย์ได้เฉพาะแบบนูนต่ำหรือลายเส้น คณะกรรมการฯ จึงได้ทำเป็นโครงการฯ แล้วนำความขึ้นกราบบังคมทูล เพื่อทรงทราบและพระราชทานพระราชวินิจฉัย เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2535 และเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยแบบพระพุทธรูปแล้ว สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ได้กราบทูลเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมารให้ทรงเป็นองค์ประธานอำนวยการโครงการฯ พร้อมกันนี้ กปร. ก็ได้ดำเนินการขอใช้ประโยชน์จากกองทัพเรือ ( ฐานทัพสัตหีบ ) และกรมที่ดิน

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร ทรงคุมงานก่อสร้าง

พระพุทธรูปมหาวชิรอุตตโมภาสศาสดา เป็นพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัย เลียนแบบพระพุทธนวราชบพิตร ขนาดองค์พระพุทธรูปสูง 109 เมตร มีฐานบัวรวมความสูงทั้งหมด 150 เมตร ความกว้าง 100 เมตร อาจารย์กนก บุญโพธิ์แก้ว รองอธิบดีกรมศิลปากร ผู้ออกแบบได้กล่าวถึงแนวคิดในการออกแบบว่า ต้องการให้พระพุทธรูปมีความสวยงามได้สัดส่วนตามพุทธลักษณะ เป็นศิลปะผสมผสานระหว่าง ศิลปะสุโขทัยกับเชียงแสน คือมีรูปแบบองค์พระพุทธรูปแบบสุโขทัยซึ่งมีลายเส้นที่ดูแล้วสบายตา สบายใจ โดยทั่วไปแล้วพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยจะไม่มีฐานบัวรองรับ แต่ผู้ออกแบบมีความชื่นชอบศิลปะของทั้งสุโขทัย และเชียงแสน จึงได้นำฐานบัวของเชียงแสนมาผสมผสานกันเป็นรูปแบบเฉพาะ ส่วนสาเหตุที่ออกแบบเป็นปางมารวิชัย เพราะพระสุโขทัยส่วนมากเป็นปางมารวิชัย และมีจังหวะของรูปทรงที่พอเหมาะกับพื้นที่บนหน้าผา

ในครั้งแรกผู้ออกแบบได้ออกแบบพระพุทธรูปเป็นทรงนูนต่ำ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทาน พระบรมราชวินิจฉัยว่าสมควรจัดสร้างเป็นแบบลายเส้น แต่ให้มีความลึกและเห็นชัดว่าเป็นรูปพระพุทธรูป ได้ในระยะไกล จะดีกว่าการสร้างแบบนูนต่ำ ซึ่งจะมีปัญหาในการบำรุงรักษาและความคงทน เนื่องจากเป็นภูเขาหินปูน

ส่วนแนวความคิดในการออกแบบภูมิทัศน์โดยรอบพื้นที่ประมาณ 193 ไร่ แบ่งออกเป็น 4 แนวคิด คือ บริเวณลานหินหน้าองค์พระ ได้ออกแบบตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชกระแส และความคิดในการป้องกันอันตรายจากหินบริเวณใกล้เคียงองค์พระ โดยจัดทำเป็นสระบัวขนาดใหญ่สองระดับ ลดหลั่นชั้นตามแนวระดับธรรมชาติ มีสิ่งเชื่อมโยงสระน้ำสองระดับด้วยน้ำตก เพื่อให้เกิดความกลมกลืนและเน้นความโดดเด่นขององค์พระพุทธรูป นอกจากนี้ยังได้ออกแบบเป็นลักษณะสวนหิน โดยใช้หินที่มีอยู่ในพื้นที่มาจัดวางให้เกิดองค์ประกอบที่เหมาะสม

บริเวณพื้นที่ดินด้านหน้าองค์พระซึ่งโอบล้อมด้วยถนนทางเข้าหน้าผา ได้มีการปรับระดับเป็นเนิน และเป็นทางเข้าได้ถึง 3 ทาง คือ จากถนนด้านหน้า จากบริเวณด้านหลังที่จอดรถ และจากบริเวณลานหินหน้าพระพุทธรูป เพื่อใช้เป็นพื้นที่ตั้งอาคารอเนกประสงค์และศาลาชมวิว นอกจากนี้กรมป่าไม้ยังได้ทำการปลูกป่าเลียนแบบธรรมชาติ ตามแบบภูมิสถาปัตย์ของกรมโยธาธิการที่ดำเนิน การออกแบบไว้อย่างสวยงาม ซึ่งป่าไม้นี้จะมีไม้ในพุทธประวัติ 18 ชนิด และพรรณไม้มงคลอีก 9 ชนิด

สำหรับต้นไม้ในพุทธประวัติ ได้แก่ ต้นโพธิ์ ต้นนิโครธหรือไทรนิโครธ ต้นจิก ต้นเกด ต้นหว้า ต้นกุ่มบก ประดู่ลาย สีเสียด สะเดาอินเดีย ตะเคียนทอง มะม่วง มะขามป้อม ส้ม ปาริชาติ ปาริฉัตรหรือทองหลางด่าง ไผ่ตาล ฝ้าย และสาละ เป็นต้น

สวนพรรณไม้มงคลมี ต้นกันเกรา สัก ทองหลาง ทองหลางลาย หรือทองหลางต่าง ๆ ราชพฤกษ์หรือคูน กัลปพฤกษ์ พยุง ขนุน ทรงบาดาล และไผ่สีสุก เป็นต้น

ส่วนพื้นที่ด้านข้างขวาองค์พระพุทธรูปได้จัดเป็นส่วนบริการประชาชน ประกอบด้วยสระบัวขนาดใหญ่รายล้อมด้วยศาลาอเนกประสงค์ ศาลาพักผ่อน ลานจอดรถและสวนสนามหญ้าที่ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ที่ปลูกเรียงราย

ในส่วนของการดำเนินการก่อสร้างองค์พระนั้น ได้มีการนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ และผสานกันในการสร้างงานศิลปะด้วยการวาดแบบด้วยแสงเลเซอร์ที่ฉายแสงไปที่หน้าผาแล้ววาดด้วยสีฝุ่น จากนั้นจึงระเบิดแกะสลักตามแบบลายเส้นที่กำหนดไว้

อาจารย์กนก บุญโพธิ์แก้ว
รศ. ดร.พิเชษฐ์ ลิ้มสุวรรณ

รองศาสตราจารย์ ดร.พิเชษฐ์ ลิ้มสุวรรณ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีผู้รับหน้าที่เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติงานเลเซอร์ ได้กล่าวถึงขั้นตอนการสร้างภาพด้วยแสงเลเซอร์ว่า เป็นการทำงานประสานกัน 2 ส่วน ระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์กับเครื่องอาร์กอนเลเซอร์ที่ให้แสงสีเขียว ซึ่งเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ชัดที่สุด

การดำเนินงานเริ่มต้นด้วยการนำภาพพระพุทธรูป ที่ได้ตามการออกแบบป้อนเข้าเครื่องสแกนเนอร์ เมื่อภาพไปปรากฏบนจอคอมพิวเตอร์ หากต้องการแก้ไขรายละเอียดส่วนใดสามารถทำได้ในเวลาอันรวดเร็ว หลังจากบันทึกภาพพระพุทธรูปเข้าคอมพิวเตอร์แล้ว จะถูกโปรแกรมส่งไปยังเครื่องสแกนเนอร์อีกชุดหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยมอเตอร์ 2 ตัว

โดยมอเตอร์แต่ละตัวมีกระจกขนาดเล็กประมาณ 1 มิลลิเมตรติดไว้ มอเตอร์จะทำหน้าที่หมุนกระจกด้วยความเร็วกว่า 600 ครั้ง / วินาที โดยลักษณะการหมุนจะเป็นไปตามโปรแกรมคำสั่งที่ตั้งไว้ในคอมพิวเตอร์

กระจกทั้งสองแผ่นบนเครื่องสแกนเนอร์ จะทำหน้าที่เป็นตัวสะท้อน ลำแสงอาร์กอนเลเซอร์ที่ถูกยิงออกจากเครื่องกำเนิด ซึ่งรูปแบบการหมุนของกระจกตามโปรแกรมคำสั่ง จะทำให้ลำแสงเลเซอร์สะท้อนและไปปรากฏบนจอรับภาพ คือ หน้าผาเขาชีจรรย์ในรูปแบบต่าง ๆ ตามต้องการ การกำหนดระยะห่างจากเครื่องเลเซอร์กับจอภาพนั้น ขึ้นอยู่กับขนาดของภาพที่ต้องการให้ปรากฏ ซึ่งการปฏิบัติงานครั้งนี้ได้ตั้งห้องปฏิบัติการเลเซอร์ ห่างจากหน้าผาเขาชีจรรย์ ซึ่งเป็นจอรับภาพประมาณ 215 เมตร

สำหรับเครื่องเลเซอร์ที่ใช้ในการปฏิบัติงานครั้งนี้ สั่งซื้อมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา โดย บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนลบลาสเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาปรับหน้าผาและแกะสลัก นับเป็นเครื่องเลเซอร์ที่ให้กำลังแสงสูงสุด ที่ใช้งานอยู่ในประเทศไทย คือให้กำลังแสงเลเซอร์สูงถึง 20 วัตต์ และทำงานต่อเนื่องได้นานถึง 3 ชั่วโมง

แม้อุปกรณ์เลเซอร์จะมีข้อจำกัดในการทำงานต่อเนื่อง ได้เพียง 3 ชั่วโมง แต่ก็สามารถวาดภาพตามแสงเลเซอร์ ที่ฉาย ไปบนหน้าผาเป็นรูปพระพุทธรูปได้แล้วเสร็จ ภายในระยะเวลาเพียง 2 วัน คือระหว่างเวลา 19.00 น. ถึง 01.00 น. ของวันที่ 6-7 มกราคม พ.ศ.2539

ส่วนการเตรียมการปรับพื้นผิว หรือหน้าผาให้มีความเรียบ และเหมาะต่อการวาดภาพตามแสงเลเซอร์นั้น เนื่องจากหน้าผาเขาชีจรรย์เป็นเขาหินปูนที่เปราะกร่อน และบอบช้ำจากการถูกระเบิดมาก่อน

ทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อนำไปบรรจุที่พระอุระของพระพุทธรูป มหาวชิรอุตตโมภาสศาสดา

การถล่มหรือการแตกหักในส่วนหนึ่งส่วนใดของหน้าผาเป็นสิ่งที่เกิดได้ไม่ยากนัก ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงาน ดังนั้นคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หรือ AIT ( เอไอที) จึงได้แนะนำให้บริษัทรับเหมา ทำการเย็บหน้าผาด้วยเหล็กเส้นตามขนาด และตำแหน่งที่ได้จากการคำนวณ ทางวิศวกรรม

เพื่อเสริมความแข็งแรง และการยึดเกาะของหน้าผาก่อนที่จะส่งผู้ปฏิบัติงานขึ้น ไปวาดรูปด้วยสีฝุ่น และสีพลาสติกตามแนวของ แสงเลเซอร์ที่ฉายขึ้นไปบนหน้าผา

และหลังจากที่ภาพวาดลายเส้นเสร็จเรียบร้อยลงตัวแล้ว ได้ดำเนินการแกะสลักลายเส้นตามขนาด ที่กำหนดไว้ตามแบบ โดยใช้วิธีการระเบิดหินตามเส้น ด้วยเครื่องเจาะขนาด 45 Cfm สำหรับงานหยาบ หรือส่วนของลายเส้นขนาดใหญ่ สำหรับงานละเอียด ได้ใช้เครื่องเจาะที่เรียกว่า Hand Breaker เพื่อเก็บรายละเอียดของงาน

และเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2539 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธี กดปุ่มจุดชนวนระเบิด ในการแกะสลัก ส่วนยอดพระเกตุของพระพุทธมหาวชิรอุตตโมภาส เป็นปฐมฤกษ์ ได้ดำเนินงานก่อสร้าง และเสร็จทันร่วมเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสมหามงคล ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2539 (จากวารสารรังสิตสารสนเทศ ปีที่ 2 ฉบับ ที่ 1 มิถุนายน-ธันวาคม, 2539 : 73-76)

7. พระพุทธนิรโรคันตราย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 คือ ศูนย์กลางแห่งความรัก และความศรัทธาของคนไทยทั้งชาติ เมื่อพระองค์ทรงประชวรด้วยโรคพระหทัยในเดือนมีนาคม พ.ศ.2538 จึงเป็นที่วิตกกังวลของพสกนิกรทุกๆ คน และเมื่อทรงหายจากพระอาการประชวรในเวลาต่อมา จึงเป็นความปิติยินดีเป็นล้นพ้นของคนไทยทั้งประเทศ ดังนั้นกระทรวงมหาดไทยร่วมกับประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า จึงสมานสามัคคีจัดสร้างพระพุทธรูปทองคำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อจะได้คุ้มครองป้องกันรักษาองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงพระสำราญปราศจากโรคาพาธ ทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรงตลอดไป ถือว่าพระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้น จากจิตใจของคนไทยทุกภูมิภาคและทุกสาขาอาชีพ

กระทรวงมหาดไทยจึงได้นำเรื่องขอจัดสร้างพระพุทธรูปนี้ไปปรึกษาราชเลขาธิการ (ม.ล.ทวีสันต์ ลดาวัลย์) ซึ่งได้กรุณาแนะนำว่าสมควรนำความกราบทูลปรึกษา สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกุล มหาสังฆปรินายก เพื่อทรงวินิจฉัยความเหมาะสม ก่อนที่จะนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อขอพระราชดำริ ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงเห็นชอบด้วยในการจะจัดสร้างพระพุทธรูปทองคำขึ้นองค์หนึ่ง โดยขอพระบรมราชานุญาตจำลองพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ เป็นแบบเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ก็ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราชานุญาต

และพระราชทานนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “ พระพุทธนิรโรคันตราย ” เป็นพระพุทธรูปทองคำมีขนาดหน้าตักกว้าง 19 นิ้ว ปางสมาธิ ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีการจัดสร้างเพียง 1 องค์ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในสมัยของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก องค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ฯ ได้กำหนดส่วนฐานกว้าง 30 นิ้ว ส่วนสูงจากฐานถึงพระเกศ รวม 40 นิ้ว กำหนดเริ่มงานปั้นตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม และสิ้นสุดเป็นองค์พระพุทธรูปก่อนวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2538 เพื่อจะได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายทันวันพระราชสมภพในปี พ.ศ.2538 นั้น

การสร้างฉัตรทองคำ 9 ชั้นประดับเพชรพลอยนพเก้าแท้ อาจารย์มนตรี จันทพันธ์ อาจารย์วิทยาลัยเพาะช่าง เป็นผู้ออกแบบและคุมการจัดสร้างฉัตร โดยใช้เวลา 2 สัปดาห์ในการออกแบบ เป็นฉัตร 9 ชั้นฉลุดุนนูนทองคำ ฝังเพชรพลอยนพเก้าแท้ ลวดลายเป็นใบลายเทศก้านแย้งหางนกยูง ประมาณการว่าจะใช้ทองคำ 8 กิโลกรัม เพชรพลอยนพเก้า 3,427 เม็ด (กำหนดให้สร้างแล้วเสร็จภายในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2538)

ค่าใช้จ่าย กระทรวงมหาดไทยรวบรวมทองคำได้ 61.57 กิโลกรัม และซื้อจากกรมศุลกากร 65.95 กิโลกรัม ซื้อจากเอกชน 5 กิโลกรัม รวมทองคำทั้งสิ้น 132.52 กิโลกรัม เมื่อหักทองคำที่เป็นสายชนวน และเศษทองคำที่เหลือจากการตกแต่งองค์พระรวมทั้งหมด 19.22 กิโลกรัม องค์พระหนักทั้งสิ้น 113.30 กิโลกรัม ส่วนทองคำที่คงเหลือ 19.22 กิโลกรัมนี้ กระทรวงมหาดไทยจะได้นำไปจัดสร้างพระบรมสาทิศลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบนเหรียญเสมาที่ระลึก เพื่อหารายได้ทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศลสมทบทุนมูลนิธิชัยพัฒนาต่อไป

นอกจากนั้นกระทรวงมหาดไทย ได้รวบรวมบริจาคเป็นเงินสด 27.5 ล้านบาท

คุณฉันท์ทิพย์ กลิ่นโสภณ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระพุทธรูปทองคำปางประทานพร ขนาดหน้าตัก 3 นิ้ว น้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม เพื่อบรรจุไว้ในพระพุทธรูป และกระทรวงมหาดไทยได้ขอพระราชทาน พระบรมสารีริกธาตุจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่มาบรรจุในองค์พระด้วย รวมรายจ่ายในการสร้างพระพุทธนิรโรคันตราย 31,581,141.08 บาท

พระราชพิธีเททองหล่อพระพุทธรูป สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีเททอง เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2538 เวลา 16.45 น. และทรงประกอบพิธีพุทธาภิเษกพระพุทธนิรโรคันตราย ในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2538 เวลา 16.30 น. ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม การทูลเกล้าฯ

ถวายพระพุทธนิรโรคันตราย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทาน พระบรมราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรี (นายบรรหาร ศิลปอาชา) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประธานศาลฎีกา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และประชาชนเข้าเฝ้าฯ น้อมเกล้าฯ ถวายพระพุทธนิรโรคันตราย ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2538 เวลา 16.00 น. ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งถึงการทูลเกล้าฯ ถวายพระพุทธนิรโรคันตรายว่า “ … ขอขอบใจที่ได้นำพระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์มาให้ชื่อว่า นิรโรคันตรายเข้าใจว่าจะเป็นพระพุทธรูปที่คุ้มครองไม่ให้มีอันตรายทั้งหลายโดยเฉพาะโรคภัย ซึ่งเป็นประโยชน์เพราะจำเป็นต้องรักษาสุขภาพให้ดี … ”

8 . สวนหลวง ร 9

กรุงเทพมหานครร่วมกับมูลนิธิสวนหลวง ร 9 และปวงชนชาวไทย สร้าง สวนหลวง ร 9 ขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นราชสักการะเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ฯ มหาราช เนื่องในวโรกาสมีพระชนมายุครบ 5 รอบ (60 พรรษา) ในปี พ.ศ.2531 ทั้งนี้เพื่อให้เป็นปอดของคนกรุงเทพฯ อีกแห่งหนึ่ง ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทาน พระราชดำริ และเพื่อเป็นศูนย์รวมความรู้ทางพฤกษศาสตร์ และเป็นแหล่งปลูกฝังคนให้หันมารักต้นไม้ รักธรรมชาติ อีกทั้งเป็นแหล่งปลอดมลพิษ ที่ยังหลงเหลืออยู่ในกรุงเทพมหานคร

กรุงเทพมหานครได้ยกที่ดินที่มีอยู่และได้ทำการแลกเปลี่ยนที่ดินเพิ่มเติมกับ เอกชนในบริเวณใกล้เคียงจนมีพื้นที่ก่อสร้างสวนหลวง ร 9 ทั้งหมดประมาณ 500 ไร่

สวนนี้สร้างขึ้นจากเงินบริจาคที่ประชาชนชาวไทยพร้อมใจกันมอบผ่านมูลนิธิสวนหลวง ร 9 ประมาณ 100 ล้านบาท และกรุงเทพมหานครร่วมใจสมทบอีก 120 ล้านบาท จึงถือว่าเป็นสวนสาธารณะแห่งแรกที่ประชาชนเป็นผู้ร่วมมือกันสร้างและพร้อมใจกันน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นราชสักการะ เริ่มโครงการการก่อสร้าง พ.ศ.2525 และสร้างแล้วเสร็จในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2530

สวนหลวง ร 9 อยู่ในแขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร มีถนนสุขุมวิท 103 (ซอยอุดมสุข) ผ่านด้านหน้าสวน ด้านหลังมีถนนศรีนครินทร์ มีประตูทางเข้าออกถึง 6 ประตู เนื้อที่สวน 500 ไร่นี้ แบ่งออกเป็น 6 บริเวณ คือ

บริเวณที่ 1 เป็นบริเวณเฉลิมพระเกียรติ ประกอบด้วย “ หอรัชมงคล ” และปริมณฑล หอรัชมงคลจะเป็นที่รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ ที่ได้รับยกย่อง รวมทั้งเครื่องใช้ส่วนพระองค์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน หอรัชมงคลนี้ถือว่าเป็นถาวรวัตถุส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ แห่งรัชกาลปัจจุบัน

หอรัชมงคล ลักษณะอาคารเป็นศิลปไทยประยุกต์ สมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 9 รูปเก้าเหลี่ยมด้านเท่า หลังคาโครงสูง ลักษณะเป็นเสาวิทยุ ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลืองทอง อันเป็นสีวันพระบรมราชสมภพ ตั้งอยู่บนเนิน 3 ระดับ ภายในมีห้อง 9 ห้อง ฝาโดยรอบเป็นกระจกให้ประชาชนชมได้ ภายนอกจัดแสดงหุ่นจำลองโครงการในพระราชดำริ และของใช้ส่วนพระองค์ที่ทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทาน บริเวณศูนย์กลางของอาคารเป็นห้องกว้างขนาดใหญ่ ใช้เป็นที่แสดงดนตรีหรือฉายภาพยนต์ จุผู้ชมได้ประมาณ 500 คน

บริเวณที่ สวนพฤกษศาสตร์ มีเนื้อที่ประมาณ 184 ไร่ อยู่ด้านเหนือ เป็นสวนพฤกษศาสตร์สมบูรณ์แบบแห่งแรกในประเทศไทย มีหลักการจัดแบบอนุกรมวิธานและนิเวศวิทยา ซึ่งเป็นหัวใจของสวนสาธารณะระดับนคร เป็นที่รวบรวมพันธุ์ไม้ต่างๆ ของไทย รวมทั้งไม้ที่หายากและสมุนไพร มีอาคารเรือนกระจกสำหรับพันธุ์ไม้ต่างประเทศ และพืชที่ต้องการควบคุมอุณหภูมิ พร้อมทั้งสวนนานาชาติ เช่น สเปน ฝรั่งเศส อิตาลีและอังกฤษ สวนในส่วนนี้จะใช้เป็นประโยชน์ในทางวิชาการ เป็นแหล่งค้นคว้าวิจัยเผยแพร่ความรู้ทางพฤกษศาสตร์แก่นักเรียน นักศึกษา รวมทั้งประชาชนทั่วไป

บริเวณนี้มีการปลูกสร้างอาคารต่างๆ ดังนี้ จิออเดสิกโดม เป็นอาคารรวบรวมพันธุ์ไม้ทะเลทราย อาคารพันธุ์ไม้ในร่ม สวนญี่ปุ่น เรือนกล้วยไม้ อาคารถกลพระเกียรติจิออเดสิกโดม เป็นโดมหรืออาคารที่รวบรวมต้นไม้ในทะเลทราย แทนที่จะปล่อยให้มันอยู่แบบธรรมชาติในพื้นที่ทุรกันดาร กลับได้รับการดูแลอย่างดี หลังคาโดมทำด้วยวัสดุพิเศษ เพื่อควบคุมอุณหภูมิ ข้างในมีเทอร์โมมิเตอร์ใช้วัดอุณหภูมิให้อยู่ระหว่าง 40 องศา ซึ่งอากาศภายในโดมจะร้อนกว่าข้างนอก ภายในอาคารมีตะบองเพชรหลากหลายชนิดทั้งจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและไทย บางชนิดไม่ได้อยู่ในเมืองร้อนอย่างเดียว อยู่ในเมืองหนาวก็มาก ขณะนี้มีตะบองเพชรที่รวบรวมไว้ประมาณ 200 กว่าชนิด

บริเวณที่ ตระพังแก้ว เก็บน้ำอยู่ส่วนกลางของพื้นที่ มีเนื้อที่ 45 ไร่ เป็นที่พักน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม ขังบริเวณเมืองชั้นใน ใช้ประโยชน์เพื่อการกีฬาทางน้ำ การละเล่นทางน้ำ

ตลอดจนอนุรักษ์สัตว์น้ำ ตระพังแก้วนี้มีปลาหลายชนิด เช่นปลาตะเพียน ปลาสวาย ปลาเทโพ บางตัวอายุยืนประมาณ 10 ปี มาจากบ่อบ้านซอยสวนพลูของพลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี ศิลปินและนักเขียน ฯลฯ ซึ่งให้คนนำมาปล่อยลงในตระพังแก้ว เมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา

บริเวณที่ 4 สวนรมณีย์ มีเนื้อที่ 49 ไร่ อยู่ทางด้านตะวันออกเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งมีลักษณะเลียนแบบ ธรรมชาติของท้องถิ่นที่สวยงาม มีการจัดสร้างน้ำตก ลำธาร ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ โดยนำวัสดุต่างๆ ตลอดจนพันธุ์ไม้ และสัญลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นนั้นๆ มาเป็นส่วนประกอบในการจัดทำให้ดูน่ารื่นรมย์ และต่อเนื่องสอดคล้องกับคลอง บึงต่าง ๆ ภายในบริเวณสวนสาธารณะแห่งนี้ และภายในบริเวณสวนรมณีย์ ยังมีสิ่งที่น่าสนใจ คือ สวนจีน ซึ่งสถานทูตจีนสร้างถวายเป็นราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 นอกจากนี้ยังมีสวนกำแพงหิน ซึ่งประดับด้วยหินที่สวยงามและสวนเชิงผาปลูก ประดับด้วยพันธุ์ไม้ชนิดต่างๆ

สวนมิตรภาพไทย-จีนนี้มีชื่อเรียกว่า สวนจื้อเล่อหยวน อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของสวนหลวง ร 9 มีเนื้อที่ประมาณ 2,000 กว่าตารางเมตร รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ส่งช่างฝีมือมาสร้างเพื่อ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัทการก่อสร้างสวนอุทยานจีน สาขาเมืองหังโจว ซึ่งส่งผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปงานสร้างจำนวน 18 คน มาคุมงาน ใช้เวลาในการก่อสร้าง 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม ถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2531 วัสดุก่อสร้างทั้งหมดมีน้ำหนักกว่า 300 ตัน ใส่ตู้ (Container) มา 17 ตู้ โดยการขนส่งทางเรือ

คำว่า “ จื้อเล่อหยวน ” นี้คัดมาจากคติพจน์ของท่านขงจื้อ นักปราชญ์จีน แปลความว่า “ ผู้เปี่ยมด้วยภูมิปัญญาอภิรมย์ศิขร ผู้เปี่ยมด้วยความเมตตาอภิรมย์ศิรา หมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งราชอาณาจักรไทยผู้เปี่ยมล้นด้วย ภูมิปัญญาสูงล้ำเท่ากับภูเขา ประชาชนชาวไทยได้อยู่เย็นเป็นสุขก็ด้วยพระบารมีของพระองค์ ” สวนจื้อเล่อหยวนจึงเป็นสัญญลักษณ์แห่งมิตรภาพระหว่างประชาชนจีนกับประชาชนไทย ที่จะวัฒนาสถาพรสืบไป

บริเวณที่ สวนน้ำ ติดกับสนามราษฎร์และสวนรมณีย์ มีเนื้อที่ประมาณ 32 ไร่ สวนนี้ได้เพิ่มเติมขึ้นใหม่ เพื่อจัดให้เห็นส่วนที่เป็นลำธาร สามารถพายเรือเล่นได้ มีแมกไม้สองข้างฝั่ง และเป็นที่รวบรวมพันธุ์ไม้น้ำที่สวยงาม

บริเวณที่ สนามราษฎร์ หรือบริเวณกิจกรรมกีฬาและลานอเนกประสงค์อยู่ทางตอนใต้ มีเนื้อที่ประมาณ 43 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่ลานสนามกว้าง เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบการแสดงทางวัฒนธรรมประเพณี ในกิจกรรมกีฬาต่างๆ และใช้เป็นสถานที่ประกวดผลิตผลทางการเกษตร และยังเป็นสถานที่สำหรับฝึกซ้อมกีฬาสำหรับประชาชน รวมทั้งเวทีแสดงกลางแจ้งอีกด้วย

(จากหนังสือพิมพ์ : ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 24 พฤศจิกายน, 2530 โดย ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี และหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 27 พฤศจิกายน 2531 โดย ศักดิ์เดชน์ พิทักษ์ชาติ และบ้านเมือง 10 พฤศจิกายน 2544 โดย มนู จรรยงค์)

9. อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มีพระราชกระแสให้สร้างอุทยานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 ซึ่งตั้งอยู่บริเวณหลังวัดอนงคาราม เขตคลองสานกรุงเทพฯ เพื่ออนุรักษ์อาคารเก่าซึ่งมีลักษณะ และที่ตั้งใกล้เคียงบ้านที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เคยประทับเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์เทิดพระเกียรติ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพัฒนาพื้นที่เป็นสวนสาธารณะระดับชุมชน ซึ่งนายแดง นานา และนายเล็ก นานา ผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินจำนวน 4 ไร่ ทั้งนี้โปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาเป็นเจ้าของที่ดิน

การจัดสร้างอุทยานมีหลายหน่วยงานเข้าร่วมดำเนินการ ดังนี้ สำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระองค์ บริษัทนนท์-ตรึงใจ กรมศิลปากร กองทัพอากาศ กรุงเทพมหานคร กรมธนารักษ์ และมูลนิธิชัยพัฒนา การจัดสร้างอุทยานได้ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2539

การจัดสวนสาธารณะระดับชุมชน
สวนแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนหน้าและส่วนใน สำหรับให้ประชาชนทั่วไปใช้เป็นสถานที่พักผ่อนฟื้นฟูสุขภาพ หรือร่วมชุมนุมประกอบพิธีหรือกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งเป็นแหล่งศึกษาพันธุ์ไม้

สวนส่วนหน้า เป็นบริเวณรอบนอกของกลุ่มอาคารพักอาศัยเดิม จัดเป็นลานอ่างน้ำพุกลม มีม้านั่งรอบอ่าง ลานส่วนหน้าปลูกหญ้า ไม้ดอก ไม้ประดับนานาพรรณพร้อมทั้งอนุรักษ์ต้นโพธิ์ ต้นไทร เดิมไว้ จัดม้านั่งตั้งไว้ใต้ต้นไม้ใหญ่และบริเวณรอบๆ สวน

สวนส่วนใน เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติสองหลัง ซึ่งบูรณะอาคารโบราณ เพื่อปรับใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการถาวร เกี่ยวกับพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระจริยาวัตรในยามว่างของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หินสลักภาพนูนต่ำ แสดงพระราชกรณียกิจด้านต่างๆ ภายในจะประกอบด้วย ซุ้มทางเดินปลูกไม้เลื้อยคลุมลานอเนกประสงค์ ศาลาทรงไทยร่วมสมัย (ศาลาแปดเหลี่ยม) สำหรับแสดงดนตรี และจัดกิจกรรมต่างๆ ซึ่ง

ซากประตูและกำแพง บ้านเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี ที่ยังคงเหลือไว้ให้เห็น

เดิมเป็นที่ตั้งของบ้านเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) อธิบดีพระคลังสินค้าสมัยพระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อาคารสำนักงาน อาคารบริการเครื่องดื่มและอาหารว่าง ซึ่งเป็นอาคารเดิมที่ได้บูรณะ และต่อเติมโดยคงรูปลักษณะของอาคารเดิมไว้ทุกประการ

การจำลองอาคาร “ บ้านเดิม ”
มุมหนึ่งของสวน หน้าพิพิธภัณฑ์ได้จัดสร้างบ้านจำลอง ที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เคยประทับแต่ครั้งทรงพระเยาว์ ด้านในบ้านจำลองได้จัดองค์ประกอบตามหนังสือ “ แม่เล่าให้ฟัง ” พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

การสร้างภาพแกะสลักหิน
งานแกะสลักหิน นับเป็นผลงานด้านประติมากรรมที่สำคัญชิ้นหนึ่ง ตั้งอยู่บริเวณลานภายในอุทยานฯ ต่อจากอาคารบ้านจำลอง เป็นหินทรายซึ่งกองทัพอากาศรับหน้าที่จัดหา และขนย้ายจากแหล่งหินที่กิ่งอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา แผ่นหินทรายสีเขียวมีขนาดกว้าง 1.60 เมตร ยาว 8 เมตร หนา 90 เซนติเมตรตั้งอยู่บนฐานที่มีความสูง 80 เซนติเมตร ภาพด้านหนึ่งของแผ่นหิน เป็นภาพพระราชกรณียกิจ

ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นภาพริ้วกระบวนไหว้สาแม่ฟ้าหลวง บริเวณหน้าพระตำหนักดอยตุง และที่สันแผ่นหินทั้งสองด้านนั้น ด้านหนึ่งแกะสลักอักษรพระปรมาภิไธย ภปร และคำประพันธ์ร้อยกรองเกี่ยวกับแนวพระราชดำริในการจัดสร้างอุทยานฯ และอีกด้านหนึ่งแกะสลักอักษรพระนามาภิไธย สว และคำประพันธ์ร้อยกรองอาเศียรวาทเทิดพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ดังนี้

1. ด้านที่แกะสลักอักษรพระปรมาภิไธย ภปร

โปรดเกล้าฯ ให้อนุรักษ์เป็นหลักฐาน
และสร้างเป็นอุทยานโดยถวิล
เฉลิมพระเกียรติพระราชชนนีศรีนครินทร์
ปองประโยชน์ทั้งสิ้นแก่ปวงชน

และเพื่อผู้สนใจใคร่ศึกษา
พระราชประวัติบรรดาอนุสนธิ์
พระราชกิจสฤษฎิ์ไว้ในสากล
ดั่งรอยพระบาทยุคลอันฝากไว้

ขอให้อุทยานสถานนี้
อันใกล้ที่เคยประทับในสมัย
จงสำเร็จประโยชน์แท้แก่ชาวไทย
เฉลิมพระเกียรติคุณไปนิรันดร

คำจารึกประวัติความเป็นมา
นายชำนาญ แย้มผกา
ผู้อำนวยการ
กองงานในพระองค์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าโสมสวลี
พระวรราชาทินัดดามาตุ
ผู้ประพันธ์

2. ด้านที่แกะสลักอักษรพระนามาภิไธย สว

แม่ฟ้าหลวงดวงประทีปชาวป่าเขา
และเหล่าทวยหาญไทยในไพรเถื่อน
ไม่มีวันที่พระจะลืมเลือน
ผองเพื่อนผู้ทุกข์ยากลำบากลำบน

ทรงสละสิ่งสินยอมสิ้นสุข
เสด็จประเทาทุกข์ไทยไม่เบื่อบ่น
พระคุณเพียบแผ่นพื้นภูวดล
เหลือล้นถ้อยคำร่ำพรรณนา

บัดนี้โอ้อนิจจาแม่ฟ้าหลวง
เสด็จทิ้งลูกทั้งปวงไว้ใต้หล้า
แม้นชาติหน้ามีจริงดังวาจา
ขอเกิดใหม่ใต้บาทาแม่ฟ้าเทอญ

คำจารึกเทิดพระเกียรติ
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ท่านผู้หญิง
สมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา
ผู้ประพันธ์

การเดินทางเข้าอุทยานฯ
สถานที่ตั้งอุทยานฯ สามารถเข้าถึงได้ทั้งทางบกและทางน้ำ โดยมีถนนเข้า 2 ทาง คือ จากสะพานสมเด็จเจ้าพระยา เข้าทางซอยวัดอนงคาราม และจากถนนพญาไม้ข้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า ส่วนทางแม่น้ำเจ้าพระยามีท่าน้ำ หน้าศาลเจ้ากวนอู ซึ่งสามารถเดินตามทางเดินเข้าสู่อุทยานฯ ได้อีกทางหนึ่ง

อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีแห่งนี้ นับเป็นสถานที่ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็น “ อุทยานแห่งประวัติศาสตร์ ” เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังร่วมกันรำลึกถึง “ สมเด็จย่าของปวงชนชาวไทย ” ซึ่งพระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้วยความเต็มพระทัย เพื่อประโยชน์ สุขของพสกนิกร อีกทั้งยังเป็นสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริ ให้จัดสร้างขึ้นเพื่อเทอดพระเกียรติสมเด็จพระราชมารดา และเพื่อให้ราษฎรเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ด้วย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นหาที่เปรียบมิได้แก่ปวงชนชาวไทย

(วีณา โรจนราธา และสุวคนธ์ ตังสุหน. วารสารมูลนิธิชัยพัฒนา ฉบับธันวาคม , 2539 : 52-61)