พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

บทที่ 5 พระราชกรณียกิจในรอบปี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มหาราชเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติรวมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 58 ปี (พ.ศ.2489 ถึงปัจจุบัน พ.ศ.2547) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงปฏิบัติพระราชกิจจานุกิจน้อยใหญ่นานัปการ ทั้งนี้เพื่อความพัฒนาสถาพรของประเทศชาติ และเพื่อความผาสุกของพสกนิกร รวมทั้งผู้ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ด้วยเดชะพระบารมีที่ทรงกระทำแล้วจนเกิดผลดีอันประมาณมิได้ สามารถแยกออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. พระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติสม่ำเสมอตามปกติของทุกปี ซึ่งหนังสือบางเล่มใช้ชื่อเรียกพระราชกรณียกิจในรอบปี
2. พระราชกรณียกิจ หรือพระราชภารกิจ ที่ก่อให้เกิดเป็นโครงการต่างๆ ประมาณ 2,500 โครงการ

1.พระราชกรณยกิจในรอบปี

ได้มาจากหนังสือพระราชกรณียกิจ ซึ่งสำนักราชเลขาธิการได้ประมวลไว้ในแต่ละปี และจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มพร้อมคำบรรยาย และพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งพระราชกรณียกิจนี้สามารถสรุปได้เป็น 8 หัวข้อ คือ

  • 1. พระราชพิธี รัฐพิธี และพิธีทางศาสนา หมายถึงพระราชพิธี รัฐพิธีทั้งที่มีเป็นการประจำ พระชนมพรรษา พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน รัฐพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ และพิธีทางศาสนาที่ทรงรับเชิญเสด็จฯ ไปทรงเป็นประธาน เช่น พิธีหล่อพระพุทธรูป พิธียกช่อฟ้า พิธีฝังลูกนิมิต พิธีพระราชทานเพลิงศพผู้เสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ และบุคคลสำคัญผู้ได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ ฯลฯ
  • 2. เสด็จฯ ในงานการกุศล หมายถึงการเสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานในงานที่จัดขึ้นเพื่อการกุศล เช่น เสด็จฯ ในการแข่งขันกีฬา เสด็จฯ ทอดพระเนตรมหรสพและงานสังคมต่างๆ
  • 3. เสด็จฯ ในงานเกี่ยวกับการศึกษา เช่น เสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตร วุฒิบัตร ประกาศนียบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันการศึกษา ทุกประเภท เสด็จฯ ไปในงานแสดงศิลปกรรม
  • 4. เสด็จฯ เยี่ยมราษฎร เยี่ยมสถานที่ต่างๆ และพระราชทานธงประจำรุ่นแก่ลูกเสือชาวบ้านเสด็จฯ เยี่ยมและเปิดสถานที่ต่างๆ เช่น เสด็จฯ เยี่ยมมหาวิทยาลัย เสด็จฯ เปิดโรงพยาบาล โรงเรียน เป็นต้น
  • 5. ประมุขและบุคคลสำคัญ เช่น ทรงรับราชอาคันตุกะ และ เสด็จออกรับคณะทูตานุทูต
  • 6. ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ทั้งชาวไทยและ ชาวต่างประเทศเข้าเฝ้าฯ
  • 7. ทรงประกอบ พิธีสมรสพระราชทาน
  • 8. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์ไปในงานต่างๆ

    จากสถิติที่สำนักราชเลขาธิการได้รวบรวมไว้ จะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชกรณียกิจที่ได้ทรงบำเพ็ญในด้านต่างๆ ในปีหนึ่งๆ เป็นอันมาก เช่น ระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ.2531 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ.2532 รวมพระราชกรณียกิจมีกำหนดการ 1,181 ครั้ง ระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ.2537 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ.2538 รวมพระราชกรณียกิจมีกำหนดการ 1,314 ครั้ง แสดงว่ายิ่งจำนวนปีครองราชย์เพิ่มขึ้น จำนวนกำหนดการต่างๆ ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นตามลำดับ จึงยากที่จะหาพระมหากษัตริย์พระองค์ใด ที่จะทรงมีพระราชกรณียกิจที่ได้ทรงบำเพ็ญเพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติและราษฎร ได้เทียบเท่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน และยากที่จะพรรณนาโดยละเอียดได้ จึงขอเชิญบทอาศิรวาทราชสดุดี ซึ่งนายวงศ์ เชาวนะกวี แต่งถวายเนื่องในมหามงคลสมัยพระราชพิธีรัชดาภิเษก ( พุธที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2514 ) มาบรรยายแทน

พระราชกรณียกิจ

2. การปฏิบัติพระราชกิจ หรือพระราชกรณียกิจ อันก่อให้เกิดโครงการต่างๆ ประมาณ 2,500 โครงการ

รองศาสตราจารย์ ดร . ปฐม มณีโรจน์ ได้เรียบเรียงในหนังสือเอกกษัตริย์อัจฉริยะของทบวงมหาวิทยาลัย ( 2539 : 22-25 ) และได้อธิบายถึงการพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแนวทางหนึ่ง ได้แก่ การพิจารณาลักษณะของโครงการประเภทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้ซึ่ง พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ อดีตองคมนตรี ได้เคยประทานอรรถาธิบายไว้ว่า บรรดาโครงการที่อยู่ในข่ายที่เกี่ยวข้องมีหลายประเภท ได้แก่ โครงการตามพระราชประสงค์ โครงการหลวง โครงการตามพระราชดำริ และโครงการในพระบรมราชานุเคราะห์ ดังจะพิจารณารายละเอียดของโครงการแต่ละประเภทได้ดังต่อไปนี้

  • 1. โครงการตามพระราชประสงค์ คือ โครงการซึ่งทรงศึกษาและทดลองปฏิบัติเป็นการส่วนพระองค์ ทรงศึกษาและหารือกับผู้เชี่ยวชาญในวงงาน ทรงแสวงหาวิธีทดลองปฏิบัติ ทรงพัฒนาและส่งเสริมแก้ไขดัดแปลงวิธีการเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อดูแลผลผลิตทั้งในพระราชฐานและนอกพระราชฐาน ซึ่งทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการดำเนินงานทดลองจนกว่าจะเกิดผลดี เมื่อทรงแน่พระทัยว่าโครงการนั้น ๆ จะได้ผลดี เป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริงแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้รัฐบาลได้เข้ามาร่วมสนับสนุนงานในภายหลัง

  • 2. โครงการหลวง เป็นโครงการที่ทรงเจาะจงดำเนินการและพัฒนาบำรุงรักษาต้นน้ำลำธาร ในบริเวณป่าเขาทางภาคเหนือเพื่อบรรเทาอุทกภัยในที่ลุ่มล่าง ทั้งภาคเหนือตอนใต้และภาคกลาง เพื่อถนอมน้ำไว้เลี้ยงแม่น้ำลำธารของที่ลุ่มล่างในฤดูแล้ง และด้วยเหตุที่พื้นที่เหล่านี้เป็นแดนชาวเขาจึงได้พัฒนาชาวเขาชาวดอยให้อยู่ดีกินดี ให้เลิกการปลูกฝิ่น เลิกการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย และเลิกการค้าของเถื่อนผิดกฎหมาย ทรงพัฒนาช่วยเหลือให้ปลูกพืชหมุนเวียนที่มีคุณค่าสูง ปลูกข้าวไร่และเลี้ยงสัตว์ไว้เพื่อบริโภค รวมคุณค่าแล้วให้ได้คุ้มค่าแทนการปลูกฝิ่น ดังนั้น โครงการหลวงก็คือ โครงการตามพระราชดำริที่ร่วมปฏิบัติผสมผสานกับหน่วยงานของรัฐบาลในบริเวณดอยต่าง ๆ ในภาคเหนือเพื่อพัฒนาอาชีพชาวเขาชาวดอยนั่นเอง

  • 3. โครงการตามพระราชดำริ เป็นโครงการที่ทรงวางแผนการพัฒนา ทรงเสนอแนะให้รัฐบาลร่วมดำเนินการตามพระราชดำริ หน่วยงานร่วมของรัฐบาลนั้นมีทั้งฝ่ายพลเรือนเฉพาะก็มี ฝ่ายทหารเฉพาะก็มี ฝ่ายทหารและพลเรือนร่วมกันก็มี โครงการประเภทนี้ ในปัจจุบันมีอยู่ทั่วทุกภาคในประเทศ

  • 4. โครงการในพระบรมราชานุเคราะห์ เป็นโครงการที่พระองค์ได้พระราชทานข้อแนะนำและแนวพระราชดำริให้เอกชนรับไปดำเนินการด้วยกำลังเงิน กำลังปัญญา และกำลังแรงงาน พร้อมทั้งติดตามผลงานต่อเนื่องโดยภาคเอกชนเอง เช่น โครงการพัฒนาหมู่บ้านสหกรณ์เนินดินแดง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคิรีขันธ์ ซึ่งสโมสรโรตารี่แห่งประเทศไทยเป็นผู้จัดและดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ

โครงการทุกประเภทดังกล่าวข้างต้นล้วนเป็น “ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ” ทั้งสิ้น จำนวนโครงการที่เริ่มใหม่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงจำนวนจำกัดในระยะต้นเป็นจำนวนมากขึ้นในระยะหลัง มนูญ มุกข์ประดิษฐ์ ได้เสนอผลการวิเคราะห์ลักษณะของโครงการในระยะเริ่มแรกไว้ว่าอาจจะพิจารณาแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ

  • 1. โครงการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง เพื่อจะนำผลการศึกษาไปประยุกต์ใช้ สาขาการศึกษาที่ทรงเน้นหนัก ได้แก่ ด้านเกษตร เช่น เรื่องข้าว พืชไร่ น้ำ และประมง เป็นต้น

  • 2.โครงการปฏิบัติการพัฒนาหรือแก้ปัญหาในพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นระบบการพัฒนาแบบผสมผสาน (integrated development)

จุดเน้นของโครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการศึกษาหรือโครงการปฏิบัติการพัฒนาก็ตาม จะให้ความสำคัญต่อปัจจัยหลักต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง 5 ประการอย่างครบวงจร ได้แก่ น้ำ ที่ดินทำกิน ทุน ความรู้และเทคโนโลยี และการตลาด

ในระยะหลังๆ จำนวนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมีจำนวนมากขึ้น และเขตพื้นที่ปฏิบัติการกว้างขวางขึ้นทั่วราชอาณาจักร ผลการสำรวจเมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2538 ปรากฏว่ามีโครงการทั้งที่ดำเนินการเสร็จแล้วและดำเนินการอยู่ทั้งสิ้นถึง 2,416 โครงการ