พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

บทที่ 1 พระบรมราชจักรีวงศ์

ปูมโหรเล่มหนึ่งบันทึกไว้เมื่อ 221 ปี มาแล้วว่า

“ณ วันเสาร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 5 ปีขาล จุลศักราช 1144 จัตวาศก เพลา 2 โมงเศษ ศุภสวัสดิ์ฤกษ์ มีพระบรมราชโองการ รับสั่งให้ตั้งกรุงเทพพระมหานครยังฝั่งบูรพาทิศ พระอาทิตย์ทรงกลด 7 วัน ณ วันอาทิตย์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 6 ปีขาล จุลศักราช 1144 จัตวาศก เวลา 6 นาฬิกา 54 นาที ทรงวางพระฤกษ์ฝังเสาหลักเมือง”

เสาหลักเมือง
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า
จุฬาโลกมหาราช

พระบรมราชจักรีวงศ์ ซึ่งมีพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า จุฬาโลกมหาราชทรงเป็นพระปฐมกษัตริย์ ได้ทรงกำหนด นามของพระบรมราชจักรีวงศ์ว่า “ จักรี ” นั้น เนื่องมาจาก ทรงมีพระราชดำริว่าสมเด็จพระปฐมบรมราชชนก ทรงมี ตำแหน่งเจ้าพระยาจักรีเมืองพิษณุโลก พระองค์ท่านเองก็เคย ได้รับสถาปนาเป็นเจ้าพระยาจักรี เช่นกันในสมัยกรุงธนบุรี ดังนั้น เพื่อเป็นนิมิตรหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างดวงจักรี และ ตรีศูล เป็นสัญลักษณ์ประจำ พระบรมราชวงศ์จักรีขึ้น โดยดวงจักรและตรีศูลนั้นสร้างขึ้น ด้วยเหล็กผสม มีเส้นผ่าศูนย์กลางดวงจักร 17.5 เซนติเมตร คร่ำทองเป็นลายจักร ที่คมของจักร โปรดเกล้าฯ ให้เลี่ยมด้วย ทองคำโดยรอบ ทองคำที่เลี่ยมไว้นี้สามารถถอดออกได้ ส่วนตรีศูลนั้นประกอบไปด้วย ส่วนที่เป็นด้ามและใบพระแสง จำนวน 3 ใบ มีลักษณะคมสองด้านทุกใบคล้ายใบพระขรรค์ ตัวด้ามหุ้มด้วยทองคำจำหลักลายตลอด ปลายด้ามฝังทับทิม ที่คอพระแสงองค์กลาง หล่อรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ คร่ำลายทองติดกับ พระแสงองค์กลางยาว 15 เซนติเมตร เสร็จแล้วโปรดเกล้าฯ ให้นำเข้ามณฑลพิธีในการประกอบ พระราชพิธี ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ของพระองค์

ทั้งนี้ จักร และตรีศูล ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในครั้งนั้น จัดว่าเป็น พระแสง ที่อยู่ในชุด พระแสงอัษฎาวุธ หรือพระแสง 8 ประการของพระมหากษัตริย์ ได้แก่ พระแสงหอกเพชรรัตน์ พระแสงดาบเชลย พระแสงตรีศูล พระแสงจักร พระแสงดาบเขน พระแสงธนู พระแสงของ้าวพลพ่าย และพระแสงปืนข้ามแม่น้ำสะ-โตง

ดวงจักรี และ ตรีศูล

ที่มาของคำว่า ‘ จักรี ‘

จักรี และ ตรีนั้น นอกจากจะเป็นเครื่องหมายของพระบรมราชวงศ์จักรีแล้ว ยังมีความหมายที่เกี่ยวพันกับความเชื่อ ในด้านต่างๆ ของไทยเราอีกหลายประการ จักร ที่มีคมและรู้จักกันว่าเป็นจัก – ราวุธนั้น ในเรื่องรามเกียรติ์ เล่าว่า เป็นเทพอาวุธของมหาเทพ องค์สำคัญองค์หนึ่งในศาสนาพราหมณ์ คือ พระนารายณ์ ซึ่งจักรของพระองค์ มี ชื่อเฉพาะว่า “ จักรสุทรรศน์ ” หรือ “ วัชรนารา ” จักรเทพอาวุธคู่หัตถ์ของพระนารายณ์นี้ เมื่อเกิดกลียุคสำคัญ ขึ้นในโลกครั้งใดและพระนารายณ์จะต้องอวตารลงมาปราบทุกข์เข็ญของโลกแล้ว จักรดวงนี้ก็จะลงมาเกิดเป็น อาวุธหรือเครื่องมือของพระนารายณ์ด้วย เช่น เมื่อพระนารายณ์อวตารลงมาเกิดเป็นพระรามในเรื่องรามเกียรติ์ นั้น จักรคู่บุญนี้ก็ลงมาเกิดเป็นพระพรตเพื่อช่วยปราบยักษ์ในครั้งนั้นด้วย

พระนารายณ์

ความเชื่อในเรื่องที่ว่าจักรย่อมจะเกิดมีขึ้นเป็นของคู่บุญบารมีของผู้มีบุญมากนี้ ได้สืบเนื่องต่อมาจนในยุคหลังๆ จึงเชื่อกันว่า ถ้าพระมหากษัตริย์องค์ใดมีบุญญาธิการมากปราบได้ทั่วทุกทิศ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช หรือเมื่อใดที่เกิดมีพระเจ้าจักรพรรดิราชขึ้นในโลกแล้ว ก็จะมีจักรมาเกิดเป็นของคู่บุญบารมีด้วย

จึงเป็นความเชื่อหรือคติในหมู่พราหมณ์ว่า ผู้ที่มีบุญและอำนาจอย่างมากเท่านั้นจึงจะมีจักรเป็นของคู่บารมีได้ และพระราชาแห่งตนนั้นก็เป็นเช่นเดียวกับสมมุติเทพอยู่แล้ว ดังนั้น พระราชาที่มีอำนาจยิ่งกว่าพระราชาทั้งหลาย สามารถปราบประเทศต่างๆ ไว้ในอานุภาพได้ โดยมีพระมหาสมุทรทั้ง 4 เป็นเขตของประเทศ ประกอบทั้งเป็นพระราชาที่มีความประพฤติดี ทั้งยังสักการะเคารพ นับถือ ยำเกรง และบูชาธรรม ซึ่งจัดได้ว่าเป็นธรรมิกราช หรือพระเจ้าราชาธิบดี แล้วก็ย่อมมีสมบัติพิเศษ คือ รัตนะทั้งเจ็ดเกิดขึ้นเองด้วยอานุภาพบุญญาธิสมภารของพระเจ้า จักรพรรดิราชพระองค์นั้น สมบัติพิเศษที่กล่าวนี้ ได้แก่ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว มณีแก้ว นางแก้ว ขุนคลังแก้ว ขุนพลแก้ว หรือลูกแก้วหนึ่งพันองค์ ( บุตรอันประเสริฐ )

จักรแก้ว
ช้างแก้ว
ม้าแก้ว
มณีแก้ว
นางแก้ว
ขุนคลังแก้ว
ขุนพลแก้ว (ปริณายกรัตนะ) หรือลูกแก้วหนึ่งพันองค์ ( บุตรอันประเสริฐ )
รัตนะ 7 ประการ ถ่าย จากภาพปั้นที่จำลองขึ้นใหม่ เพื่อกิจการแห่งโรงมหรสพทางวิญญาณ
ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

รัตนะ 7 ประการ นับเรียงไปจากทางซ้ายมือก็คือ นางแก้ว, จักรแก้ว, ปริณายกแก้ว, คฤหบดีแก้ว, ช้างแก้ว, ม้าแก้ว, และแก้วมณี (ก้อนกลมๆ ที่อยู่ตรงหน้าคนที่กำลังพนมมือ), องค์พระจักรพรรดิคือผู้ที่นั่งอยู่ใต้ฉัตร ซึ่งมีคนคนหนึ่งถืออยู่ข้างหลัง, ส่วนคนที่กำลังพนมมือนั้นเป็นเพียงสัญลักษณ์ของการถวาย หรือผู้ถวายสมบัติทั้งหมด

หมายเหตุ รัตนะทั้งเจ็ดอันได้แก่ นางแก้ว จักรแก้ว ปริณายกแก้ว คฤหบดีแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว และแก้วมณี จาก ภาพพระจักรพรรดิในท่ามกลางรัตนะ 7 ประการ (ถ่ายจากภาพปั้นที่จำลองขึ้นใหม่ เพื่อกิจการแห่งโรงมหรสพทางวิญญาณ ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี, พุทธทาสภิกขุ รวบรวมและอธิบาย, http://www.buddhadasa.org/html/life-work/theatre/sculpture/sculpture 32.html, 12/4/2547) มีความหมายดังนี้ นางแก้ว ย่อมหมายถึง ภรรยาที่ดี อันย่อมจะรวมถึงกิจการฝ่ายในทั้งหมดที่ดีที่สุดด้วยเป็นธรรมดา, จักรแก้ว คือแสนยานุภาพที่ดีที่สุด, ปริณายกแก้ว คือข้าราชการที่ดีที่สุด, คฤหบดีแก้ว คือเศรษฐีและพลเมืองที่ดีที่สุด, ช้างแก้ว คือยานพาหนะขนาดหนักที่ดีที่สุด ซึ่งถ้าเป็นสมัยนี้ก็ได้แก่กิจการรถไฟเป็นต้น, ม้าแก้ว ก็คือการคมนาคมที่ดีที่สุด ซึ่งถ้า เป็นสมัยนี้ก็ได้แก่กิจการระบบโทรคมนาคมอีกนั่นเอง เพราะสมัยโบราณใช้ม้าเป็นเครื่องมือสื่อสาร แก้วมณี นั้น เล็งถึงสติปัญญาอันเลิศของพระจักรพรรดิเอง เพราะเล็งถึงสิ่งที่ให้เกิดความสำเร็จได้อย่างสารพัดนึก . ดังนั้นใคร ๆ ก็อาจจะมองเห็นได้เองว่า สิ่งที่เรียกว่าแก้ว 7 ประการนั้นเป็นสิ่งจำเป็นแก่พระราชาเพียงไร แม้กระทั่งแก่ระบบการปกครองบ้านเมือง

อรรถกถาสุมังคลวิลาสินี ภาค 2 ได้กล่าวถึงคุณสมบัติของจักรแก้ว หรือจักรรัตน์ และความเป็นจักรพรรดิราชไว้ ความว่า จักรรัตน์จะปรากฏในมนุษย์เท่านั้น ประมาณค่าไม่ได้ ไม่เหมือนรัตนะทั้งหลายในโลก หาได้ยาก และมีเกิดขึ้นเป็นบางครั้งเท่านั้น ทั้งจะปรากฏแก่ผู้มีคุณสมบัติที่ดีทั้งรูป ชาติตระกูล ความประพฤติ และอิสริยสมบัติ ดังนั้นพระเจ้าจักรพรรดิราชจึงมีพระรูปโฉมงดงาม พระชนม์ยืนยาว ปราศจากโรคาพาธ เป็นที่รักใคร่ของประชาชนทุกชั้น และมีสมบัติพิเศษที่เรียกว่ารัตนะทั้ง 7 เกิดขึ้น มีความประพฤติอันประเสริฐ ชนะศัตรูได้โดยธรรม ปกครองแผ่นดิน บำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชนโดยมีสาครเป็นขอบเขต และพระจักรพรรดินั้นทรงเป็นผู้ทำให้จักรรัตน์นั้นหมุนไป

โดยเฉพาะคติของพราหมณ์ในไทย จะเห็นได้จากการตั้งชื่อเมืองหลวงของประเทศไทยที่จะมีคำว่า อโยธยา หรือ อยุธยา หรือ การใช้นามว่า ราม ประกอบอยู่ในพระนามของพระมหา – กษัตริย์ของไทยเราในสมัยต่างๆ นั้น ย่อมมีรากฐานมาจากชื่อของพระราม กษัตริย์ผู้ครองกรุงอโยธยา ในเรื่องรามเกียรติ์นั้นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ พระมหากษัตริย์จึงทรงใช้ตราจักร เทพอาวุธของพระนารายณ์ทั้งในฐานะ ที่สืบเนื่องมาจากพระนารายณ์ หรือมีอำนาจดังพระนารายณ์ในลักษณะต่างๆ กันมาตั้งแต่สมัยก่อนแล้วเช่นกัน ดังเช่นใช้เป็นตราแผ่นดินบ้าง ใช้ตอกลงในเงินโบราณที่เรียกว่า เงินพดด้วง เป็นต้น

ส่วน ตรีศูล เทพอาวุธอีกชนิดหนึ่งนั้น เป็นอาวุธประจำหัตถ์ของ พระศิวะ หรือ พระอิศวร มีชื่อเฉพาะว่า “ ปินาถ ” ในเรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้ทรงไว้ซึ่งความรู้ในศาสตร์ต่างๆ ของอินเดียโบราณอย่างลึกซึ้ง จนได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า “ สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ” นั้น ได้ทรงอรรถาธิบายไว้ในเรื่องเทพเจ้าและสิ่งน่ารู้ว่า “ ตรีศูล นั้นไม่ใช่อาวุธของพระนารายณ์ เป็นของพระอิศวร ” ทั้งยังปรากฏในลิลิตนารายณ์สิบปาง พระราชนิพนธ์ของพระองค์ในตอนขอพรพระเป็นเจ้าว่า

0 วิษณุนาถกาจแกล้ว       สรวงทรง ฤทธิ์แฮ แผ้วปลอดมฤตยู งูเป็น     เดชห้าว       อาสนะองค์ เทพแกว่น      ผทมสุข            กลืนฟ้าด้าว                          แด่นดิน

0 ปิ่นเอาครุฑขี่ดั้น กรสี่กุม เมฆี                สังข์จักร                                      เพริดแพร้ว
คฑาอีกธรณี                            ถือเหมาะ
บำราบอสูรแล้ว                       แหลกลาน

ถาวรวัตถุและถาวรสถานเกี่ยวกับ ‘ จักรี ‘

ทั้งจักร และตรีศูล เมื่อรวมกันเข้าเป็นคำว่า “ จักรี ” แล้วก็ย่อมนับเป็นมงคล และมีความหมายทีดียิ่ง สืบเนื่องมาจากพระนาม “ จักรี ” แห่งพระบรมราชวงศ์นี้เอง ที่ในบางโอกาส สมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชแห่งพระบรมราชวงศ์นี้ ได้โปรดให้สร้างสิ่งต่างๆ รวมทั้งพิธีการที่ใช้ชื่อตามพระนามแห่งพระบรมราชวงศ์นี้อีกด้วย ดังเช่น ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนั้น ได้ทรงมีพระบรมราชโองการให้ทำจักรีสีขาวอันเป็น นามแห่งพระบรมราชวงศ์ติดไว้กลางธงแดงเป็นเครื่องหมายของเรือหลวง และได้ใช้ธงตราจักรนี้มาตลอดรัชกาล

ธงสีแดงจักรสีขาว
ธงสีแดงจักรสีขาวมีช้างเผือกตรงกลาง

ในรัชกาลที่ 2 นั้น โดยเหตุที่ปรากฏว่ามีช้างเผือกเอกมาสู่พระบรมโพธิสมภารถึง 3 เชือก ดังนั้นจึงโปรดให้เพิ่มรูปช้างเผือกเข้าไปในวงจักรในรัชกาลนี้

ครั้นต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริว่า ตราจักรเป็นเครื่องหมายเฉพาะของพระเจ้าแผ่นดิน จึงโปรดให้เอารูปจักรออกเสีย

และเพื่อให้ธงเรือหลวงแตกต่างจากธงชาติที่ราษฎรใช้ จึงโปรดให้เรือหลวงใช้ธงสีน้ำเงินมีรูปช้างสีขาวอยู่กลาง ต่อมาในปี พ.ศ.2434 ได้มีการปรับปรุงใหม่โดยใช้พื้นธงสีแดง กลางธงมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น ที่มุมธงด้านบนมีรูปจักรติดอยู่

ธงสีแดง กลางธงมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นที่มุมธงด้านบนมีรูปจักร

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5 เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ ในการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช   ได้ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นราชธานี มีอายุยืนยาวมาครบ 100 ปี ใน พ.ศ.2425 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ขึ้น โดยเริ่มลงมือก่อสร้างตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2418 และเสร็จสมบูรณ์ใน พ.ศ.2425 เป็นแบบสถาปัตยกรรมผสม โดยองค์พระที่นั่งเป็นแบบสถาปัตยกรรมยุโรปในขณะนั้น ส่วนหลังคาเป็น แบบสถาปัตยกรรมไทยเป็นยอดปราสาทสามยอดเรียงกันจากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

นอกจากนี้ในการจัดพระราชพิธีสมโภชพระนครขึ้นในปี พ.ศ.2425 นั้น พระองค์ท่านยังได้โปรดให้สร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขึ้นชนิดหนึ่ง พระราชทานนามว่า เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ เพื่อใช้พระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งสืบเชื้อสายโดยตรงในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือผู้ที่ได้สมรสกับพระบรมวงศานุวงศ์ดังกล่าว หรือผู้อื่นอันสูงศักดิ์ซึ่งสมควรจะได้รับพระราชทาน

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่ง มหาจักรีบรมราชวงศ์

นอกจากจะได้มีการสร้างถาวรวัตถุ ถาวรสถานขึ้นแล้ว ยังได้มีการนำคำว่า “ จักรี ” มาใช้ในชื่อของพระราชพิธีที่เนื่องด้วยพระบรมราชวงศ์จักรีอีกด้วย โดยในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดให้มีประเพณีการถวายบังคมขึ้นในวันที่ 6 เมษายน ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ( พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ) ได้เสด็จสู่พระนคร และโปรดให้เรียกวันดังกล่าวนี้เป็นวัน “ มหาจักรี ” สืบไป

วัน “ มหาจักรี ”
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

พระราชวงศ์ในประเทศไทย

พระบรมราชวงศ์จักรีนี้นับเป็นพระราชวงศ์ในลำดับที่ 8 นับแต่ประเทศไทยเคยมีพระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์ต่างๆ ปกครองสืบต่อกันมา ได้แก่ พระราชวงศ์พระร่วง ในสมัยสุโขทัย พระราชวงศ์เชียงราย พระราชวงศ์สุพรรณภูมิ พระราชวงศ์สุโขทัย พระราชวงศ์ปราสาททอง พระราชวงศ์บ้านพลูหลวง ในสมัยอยุธยา พระราชวงศ์แห่งกรุงธนบุรี และพระราชวงศ์จักรีในสมัยรัตนโกสินทร์ อันเป็นสมัยปัจจุบัน

หลังจากที่ได้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นเมืองหลวง ของประเทศแล้ว พระมหากษัตริย์ในพระบรมราชวงศ์จักรี ก็ได้ขึ้นเสวยราชย์สืบต่อกันมาจนทุกวันนี้ โดยไม่ขาดสาย เป็นเวลาได้ 222 ปี (พ.ศ .2325 ถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2547) นับจำนวนรัชกาลถึงปัจจุบันรวม 9 รัชกาล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงสืบ พระราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ องค์ที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ดังจะเห็นได้จากแผนผังต่อไปนี้

พระบรมราชจักรีวงศ์

สถาบันพระมหากษัตริย์                                                                                                             ประเทศไทยเรานั้น มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจ ศูนย์รวมความรัก ความสามัคคี ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับราษฎร เป็นไปในลักษณะพ่อกับลูก มีความผูกพันลึกซึ้งต่อกันมา ตั้งแต่เริ่มสร้างชาติบ้านเมืองมาตราบเท่าทุกวันนี้ สถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นสถาบันที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นศูนย์รวมทางจิตใจที่ทำให้สังคมมีความมั่นคงสูง เป็นผลดีต่อการพัฒนาและแก้ปัญหาของประเทศในทุกๆ ด้าน

ความจงรักภักดีของคนไทยที่มีต่อองค์พระมหากษัตริย์นั้น แตกต่างจากคนในสังคมอื่น คือมีความรู้สึกผูกพันอย่างซาบซึ้ง ลึกซึ้ง มั่นคง เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ยิ่งชีวิต และหากมีเหตุการณ์วิกฤตใดๆ ไม่ว่าจะภายในหรือภายนอกประเทศ พระมหากษัตริย์ก็จะทรงช่วยคลี่คลายสถานการณ์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งแตกต่างกับพระมหากษัตริย์ในประเทศอื่นในโลก นับได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของไทยอย่างหนึ่งที่มีมาเป็นเวลาช้านาน