สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
บทที่ 19 ทหารเอกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ในสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงมีทะแกล้วทหารหาญคู่พระทัยหลายคน คือ
1. พระยาสุรบดินทร์
2. พระยาอนุรักษ์ภูธร
3. พระยากำแหงสงคราม
4. พระยาพิชัยดาบหัก
5. พระยาท้ายน้ำ
6. พระยาพิพิธราชา
7. เจ้าพระยาจักรี (แขก)
8. เจ้าพระยาพิชัยราชา (หรือพิไชยราชา)
9. เจ้าพระยาสุรสีห์
10. สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ
19.1 พระยาสุรบดินทร์
เดิมเป็นเจ้าเมืองชัยนาท ต่อมาโปรดฯ ให้เป็นพระยากำแพงเพชรในคราวชนะศึกเจ้าพระฝาง (เมืองสวางคบุรี) และเมื่ออะแซหวุ่นกี้ยกทัพกลับไปพม่าทางเมืองตาก โปรดฯ ให้เป็นกองหลวงตามตีกองทัพพม่า (ทวน บุณยนิยม, 2513 : 98, 150)
19.2 พระยาอนุรักษ์ภูธร
ได้รับพระราชทานยศให้เป็นพระยานครสวรรค์ในการต่อสู้ต้านทัพศึกเจ้าพระฝาง ต่อมาเมื่อมีศึกอะแซหวุ่นกี้ ก็ได้เป็นนายทัพควบคุมกองกำลังที่วัดจันทร์ท้ายเมืองพิษณุโลก และในการศึกราชบุรีท่านได้ขึ้นไปช่วยพระยาธิเบศร์บดีในการสู้กับพม่า ท่านเคยป็นกองหน้าโดยมีพระมหามณเฑียรเป็นแม่ทัพยกไปสู้พม่า ซึ่งยกพลไปบ้านส้มป่อย รบพุ่งติดพันกัน อีกครั้งหนึ่งพระยาอนุรักษ์ภูธรตามตีกองทัพกะละโบ่ออกไปทางเมืองเพชรฯ และครั้งหลังสุดโปรดฯ ให้เป็น ยกกระบัตรไปตีนครกัมพูชา จะเห็นได้ว่าพระยาอนุรักษ์ภูธรกรำศึกตลอดรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ทวน บุณยนิยม, 2513 : 98, 128, 141, 145, 162)
19.3 พระยากำแหงสงคราม
เดิมชื่อขุนชนะ เป็นกรมการเมืองนครราชสีมา ผูกใจเจ็บเจ้าพิมายว่าเป็นผู้ฆ่าเจ้าพระยานครราชสีมานายเก่าตนตาย จึงรับอาสาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไปจับตัวเจ้าพิมายมาได้ จึงทรงตั้งขุนชนะเป็น พระยากำแหงสงคราม ครองเมืองนครราชสีมา พระยากำแหงสงครามกรำศึกมาทุกสมรภูมิกับสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ อาทิ ทรงให้พระยานครราชสีมายกไปประชิดค่ายพม่าที่เขาชะงุ้ม จังหวัดราชบุรีในคราวศึกบางแก้วที่ล้อมพม่าจนอดอยาก ให้พระยานครราชสีมาไปช่วยพระยานครสวรรค์ข้างด้านใต้ ในศึกอะแซหวุ่นกี้ที่พิษณุโลก และให้คุมกำลังป้องกันการลำเรียงขึ้นไปตีที่พิษณุโลก แต่เข้าเมืองไม่ได้ต้องคุมเสบียงกลับคืนมาค่ายหลวง
เมื่อพระยาเจ้าเมืองนางรองไปขอขึ้นต่อเจ้าโอนครจำปาศักดิ์ พระยานครราชสีมามีใบบอกมายังกรุงธนบุรี ว่าพระยานางรองเป็นกบฏ พ.ศ.2319 ต่อมาโปรดให้ลงมารับราชการที่กรุงธนบุรี ครั้นไปศึกกัมพูชา โปรดให้เป็นเกียกกาย (ทวน บุณยนิยม, 2513 : 83, 132, 144, 146, 154, 162)
19.4 พระยาพิชัยดาบหัก

อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก

สนั่น ศิลากรณ์ กำลังปั้นอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก
(ภาพจากวารสารศิลปวัฒนธรรม)
พระยาพิชัยฯ เป็นทหารเอก ราชองครักษ์คู่พระทัย มีชื่อเดิมว่า จ้อย ต่อมาได้ชื่อว่า ทองดี ฟันขาว เป็นบุตรชาวนาอยู่บ้านห้วยคา เมืองพิชัย (ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดอุตรดิตถ์) ได้ศึกษาวิชามวยกับครูที่มีชื่อหลายคน ออกชกมวยจนมีชื่อเสียงเลื่องลือ และได้หัดฟันดาบที่สวรรคโลกจนเก่งกล้า เมื่อมีโอกาสได้ไปเมืองตาก เป็นช่วงที่มีงานถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และมีมวยฉลองด้วยพอดี นายทองดีก็เข้าเปรียบกับมวยชั้นครู และชกชนะสองคนรวด พระยาตากติดใจในฝีมือมวยก็ชวนให้มาอยู่ด้วย ต่อมาได้รับราชการเป็น หลวงพิชัยอาสา นอกจากวิชาชกมวย ฟันดาบแล้ว ท่านยังเก่งด้านกระบี่ กระบอง ด้วย

แม่ไม้มวยไทยท่าต่างๆ (ภาพจากหนังสือ Thai Culture Magazine)
หมายเหตุ แม่ไม้มวยไทย หมายถึง ท่าของการผสมผสานการใช้หมัด เท้า เข่า ศอก เพื่อการรุกหรือรับ ในการต่อสู้ด้วยมวยไทย การจะใช้ศิลปะไม้มวยไทยได้อย่างชำนาญ จะต้องผ่านการฝึกเบื้องต้น ในการใช้หมัด เท้า เข่าศอกแต่ละอย่างให้คล่องแคล่วก่อน จากนั้นจึงจะหัดใช้ผสมผสานกันไปทั้งหมัด เท้า เข่า ศอกและศิลปะการหลบหลีก ซึ่งขึ้นอยู่กับครูมวยที่จะคิดดัดแปลงพลิกแพลงเพื่อนำไปใช้ได้ผล แล้วตั้งชื่อท่ามวยนั้นๆ ตามลักษณะท่าทางให้จดจำได้ง่าย เมื่อมีท่ามวยมากขึ้น จึงจัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ หรือตั้งชื่อให้เรียกขานคล้องจองกัน เพื่อลูกศิษย์จะได้ท่องจำและไม่ลืมง่าย ในอดีตมวยไทยไม่ได้ใส่นวมจะชกกันด้วยมือเปล่าหรือใช้ผ้าดิบพันมือจึงสามารถใช้มือจับคู่ต่อสู้เพื่อทุ่ม หัก หรือบิดได้ นักมวยจึงใช้ชั้นเชิงในการต่อสู้มากกว่าการใช้พละกำลัง จึงเกิดท่ามวยมากมาย ต่อมามีการกำหนดให้นักมวยไทยใส่นวม ในขณะขึ้นชกแข่งขันเช่นเดียวกับมวยสากล และมีการออกกฎกติกาต่างๆ เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่นักมวย และง่ายต่อการตัดสิน ท่ามวยที่มีมาแต่อดีตบางท่าจึงไม่สามารถนำมาใช้ในการแข่งขันได้ ถือว่าผิดกติกา และบางท่านักมวยก็ไม่สามารถใช้ได้ถนัดเนื่องจากมีเครื่องป้องกันร่ายกายมาก ท่ามวยบางท่าจึงถูกลืมเลือนไปในที่สุด (http://www.msu.ac.th/satit/stu_project/pj102-2-2546/thaiBoxing/, 24/8/2547) ในพระราชพงศาวดารได้กล่าวถึงช่วงก่อนสิ้นกรุงศรีอยุธยาว่า เมื่อครั้งพระยาตากสินตีฝ่าวงล้อมพม่าออกมา หลวงพิชัยอาสาเป็นกำลังตีฝ่ากองทัพพม่าออกมาด้วย

เจดีย์เล็ก ณ วัดราชคฤห์ ที่เชื่อว่าบรรจุอัฐิพระยาพิชัย
(ภาพจากวารสารศิลปวัฒนธรรม)
หลังจากที่ซ่องสุมผู้คน และเตรียมกำลังรบอยู่ที่เมืองจันทบุรี จนพอเหมาะแก่การรุกไล่ทัพพม่าแล้ว เจ้าตากสินจึงยกกองทัพเรือขึ้นมาตีเมืองธนบุรีได้ แล้วให้หลวงพิชัยอาสาเป็นทัพหน้ายกขึ้นไปตีค่ายโพธิ์สามต้นได้สำเร็จ ครั้นเมื่อเจ้าตากได้ปราบดาภิเษกแล้วได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งหลวงพิชัยอาสาให้เป็น เจ้าหมื่นไวยวรนาถ ทหารเอกราชองครักษ์ ครั้นเมื่อทรงปราบเจ้าพิมายได้แล้ว ก็โปรดฯ ให้เป็น พระยาสีหราชเดโชชัย ต่อมาในปี พ.ศ.2313 เมื่อปราบหัวเมืองเหนือได้แล้ว ก็โปรดให้รั้งเมืองพิชัย ตำแหน่งพระยาพิชัย มักเรียกขานกันว่า พระยาพิชัยอาสา
ตลอดระยะเวลาที่ทำสงครามปราบชุมนุมต่างๆ เพื่อรวมไทยให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พระยาพิชัยอาสา มีความจงรักภักดีและกล้าหาญมาก ได้ถือดาบออกหน้าทหาร และต่อสู้อย่างเต็มความสามารถ เมื่อได้ครองเมืองพิชัยอยู่นั้น โปสุพลาได้ยกทัพลงมาตีเมืองพิชัย คราวนั้นพระยาพิชัยได้ถือดาบสองมือคุมทหารออกต่อสู้ป้องกันพม่าจนดาบหักไปข้างหนึ่ง (ศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์ เขียนว่า ดาบหักทั้ง 2 มือ ดูรายละเอียดในบทนำ) เป็นที่เลื่องลือจึงได้นามว่า พระยาพิชัยดาบหัก มาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อต้นปี พ.ศ.2325 ในขณะที่พระยาพิชัยดาบหักมีอายุได้ 41 ปี สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ปราบดาภิเษกเป็น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ พระมหากษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์ พระยาพิชัยฯ ถูกเรียกตัวเข้าเฝ้ามีรับสั่งถามว่าจะอยู่รับราชการกับพระองค์หรือไม่ พระยาพิชัยฯ ทูลตอบอย่างกล้าหาญว่า “ไม่ขออยู่เป็นข้าสองเจ้า บ่าวสองนาย ขอตายตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าตากสิน” จึงโปรดฯ ให้นำตัวไปประหารชีวิต แสดงให้เห็นว่า พระยาพิชัยดาบหักมีความจงรักภักดีอย่างไม่เสื่อมคลายยิ่งด้วยชีวิตในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และคงจะเห็นว่าตัวของท่านเป็นข้าหลวงเดิมของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เกรงว่านานไปจะเป็นที่ระแวงของพระเจ้าแผ่นดินใหม่ และจะหาความสุขได้ยาก ประกอบกับมีความเศร้าโศกอาลัยในสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ อย่างมาก จึงได้กราบทูลว่าจะขอตายตามสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ด้วย พระยาพิชัยดาบหักเป็นต้นตระกูล “วิชัยขัธคะ, วิชัยลักขณา, ศรีศรากร, พิชัยกุล, ศิริปาลกะ, ดิฐานนท์ ฯลฯ ” (เสทื้อน ศุภโสภณ, 2527 : 105)
19.5 พระยาท้ายน้ำ (พระเชียงเงิน)
เดิมเป็นเจ้าเมืองเชียงเงิน หัวเมืองชั้นจัตวาขึ้นกับเมืองระแหง เข้ามาสวามิภักดิ์พระยาตาก และร่วมรบตั้งแต่ครั้งตีฝ่าทัพพม่าออกมาจนถึงจันทบุรี พระเชียงเงินไม่มีชื่อเสียงในด้านการทัพเป็นพิเศษ และออกจะอ่อนแอในบางครั้งด้วยซ้ำ จนเกือบจะถูกประหารชีวิตไปแล้ว แต่ก็เป็นข้าราชการที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระเมตตาเป็นพิเศษ และเป็นเจ้าเมืองคนหนึ่งที่โปรดให้มาเฝ้าเพื่อทรงสั่งสอน “วิธีการ” ต่อสู้ข้าศึก
หลักฐานทางประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า ในคราวที่ทรงต่อสู้เหล่าร้ายที่เมืองระยองนั้น พระเชียงเงินได้กลายเป็นที่ “ท้ายน้ำ” ไป แล้วเรียกในพระราชพงศาวดารว่า พระเชียงเงินท้ายน้ำ ครั้นเมื่อปราบเมืองเหนือได้เรียบร้อยแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้พระท้ายน้ำผู้นี้รั้งเมืองสุโขทัย ท่านเป็นข้าราชการที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยอย่างสูง (มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถาน, 2546 : 51-52)
19.6 พระยาพิพิธราชา
ขุนพลคนสำคัญของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ในช่วงห้าหกปีแรก คือ เจ้าขรัวเหลียน จีนแต้จิ๋ว แซ่ตั้งหรือที่มักเรียกกันในภาษาไทยว่า ตังเลี้ยง เมื่อแรกเข้ามาสวามิภักดิ์ได้รับตำแหน่ง ขุนพิพิธวาที แต่ด้วยความสามารถ และความกว้างขวางในหัวเมืองฝั่งทะเลตะวันออก จึงได้เลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งปี ก็ได้เป็น พระยาพิพิธราชา หนึ่งในแม่ทัพผู้ยกทัพเข้าตีค่ายโพธิ์สามต้น ฐานกำลังของพม่าที่รักษากรุงศรีอยุธยา นิธิ เอียวศรีวงศ์ เชื่อว่าพระยาพิพิธท่านนี้เป็นโกษาธิบดีผู้มีหน้าที่ดูแลงานพระคลังคนแรกของรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
พระยาพิพิธ หรือ พระยาโกษาฯ ท่านนี้ดูจะเกี่ยวข้องเป็นพิเศษกับเมืองจันทบูร (หรือจันทบุรี) เมืองท่าที่ใช้เป็นฐานสนับสนุนทางเศรษฐกิจให้กับกองทัพสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในยุคเริ่มต้น เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกทัพไปตีกัมพูชา และพุทไธมาศพร้อมกัน มีกองทัพพระยาพิพิธ (ตังเลี้ยง) ซึ่งมีพล 1,481 คน รวมอยู่ด้วย ต่อมาเมื่อทรงยึดเมืองพุทไธมาศ (หรือฮาเตียน) ได้แล้ว ทรงแต่งตั้งพระยาพิพิธเป็น พระยาราชาเศรษฐี แทนม่อเทียนซื่อๆ หนีไปพึ่งกษัตริย์ญวน เพื่อขอกำลังกลับมาตีกองทัพไทย สงครามครั้งนี้ยืดเยื้อระหว่าง ค.ศ.1771-1773 จนม่อเทียนซื่อส่งทูตเข้ามาขอเจรจาสงบศึก สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงได้ทรงคืนเมืองฮาเตียนให้ม่อเทียนซื่อ (พระยาราชาเศรษฐี ญวน) และเรียกพระยาราชาเศรษฐี (ตังเลี้ยง) กลับคืนกรุงธนบุรี พระยาพิพิธ หรือพระยาราชาเศรษฐี (จีนตังเลี้ยง) นี้เป็นผู้นำชุมชนแต้จิ๋วที่อาศัยอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณพระบรมมหาราชวัง ต่อมาในสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงค์จักรี ก็โปรดให้พระยาราชาเศรษฐี (จีนตังเลี้ยง) กลับออกไปครองเมืองพุทไธมาศดังเก่า (พิมพ์ประไพ พิศาลกุล, 2541 : 98, 101-102, 155)
19.7 เจ้าพระยาจักรีแขก (หมุด)
เจ้าพระยาจักรีแขก เป็นบิดาของพระยาราชวังสัน (หวัง) ในสมัยธนบุรี มีบ้านอยู่ริมวัดหงส์รัตนาราม (สมัยธนบุรี เรียกว่า วัดหงษ์อาวาสวิหาร)
เจ้าพระยาจักรี (แขก) เดิมชื่อ มะหะหมุด เป็นเชื้อสายสุลต่านสุลัยมาน ซึ่งครองเมืองพัทลุง ตั้งแต่สมัยพระเจ้าปราสาททอง
เจ้าพระยาจักรี (หมุด) ขึ้นมาถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระเจ้าเอกทัศน์ (ขุนหลวงขี้เรื้อน-พระที่นั่งสุริยาสอมรินทร์) มีตำแหน่งหลวงศักดิ์นายเวร หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า “ หลวงนายศักดิ์ ” ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตก หลวงนายศักดิ์ ได้รับพระบรมราชโองการให้ไปเก็บส่วยสาอากร จากหัวเมืองภาคตะวันออก หลวงนายศักดิ์เก็บเงินจากพระยาจันทบุรี ได้ 300 ชั่ง (24,000 บาท) พอดีมีข่าวกรุงแตกจึงนำเงินไปฝังไว้ที่วัดจันทร์ ตกค่ำจึงแต่งจีนมาโห่ร้องทำทีปล้น แล้วบอกพระยาจันทบุรีว่า โจรปล้นเงินไปหมด พระยาจันทบุรีไม่เชื่อสั่งให้จับหลวงนายศักดิ์ ประจวบกับเจ้าตากยกกองทัพถึงจันทบุรี หลวงนายศักดิ์จึงหนีออกไปเฝ้าเพราะรู้จักคุ้นเคยกันมาก่อน แต่เมื่อต่างเป็นมหาดเล็กกรุง และได้มอบ จีนพรรคพวกให้ 500 คน กับเงินส่วยสาอากร 300 ชั่ง ที่เก็บไว้นั้น ร่วมกันกับเจ้าตากตีเมืองจันทบุรีแตก หลวงนายศักดิ์ (หมุด) เป็นผู้มีความชำนาญในการเดินเรือและการต่อเรือ และได้เป็นกำลังจัดสร้างเรือรบ ขึ้นที่จันทบุรี (จำนวน 100 ลำ) ในระยะเวลาอันสั้น เจ้าตากยกกองเรือเข้ากรุงศรีอยุธยาตีพม่าแตกพ่าย ไปด้วยระยะเวลาเพียง 7 เดือนตั้งแต่เสียกรุง
เมื่อเจ้าตากขึ้นครองราชย์แล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้หลวงศักดิ์นายเวร (หมุด) เป็นพระยายมราช ว่าที่แม่ทัพเรือ และได้มีพระราชโองการให้ยกทัพเรือไปตีเมืองนครศรีธรรมราช ก็ตีได้สำเร็จจึงโปรดฯ ตั้งให้เป็น “ เจ้าพระยาจักรี ศรีองครักษ์ ” ว่าที่ สมุหนายก นับเป็นเจ้าพระยาจักรีคนแรกในแผ่นดินกรุงธนบุรี คนทั้งหลายมักเรียกกันว่า “ เจ้าพระยาจักรีแขก หรือจักรีแขก ” เจ้าพระยาจักรี (แขก) ถึงแก่อสัญกรรม ในปีเถาะ พ.ศ. 2314 (จุลลดา ภักดีภูมินทร์, สกุลไทย 48(2480) : อังคาร 30 เมษายน 2545 : 32 และจุลลดา ภักดีภูมินทร์, สกุลไทย 50(2565) : อังคาร 16 ธันวาคม 2546)
ศพของท่านฝังไว้ ณ มัสยิดต้นสน ปากคลองบางกอกใหญ่ ในวันทำพิธีฝังศพนั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้เสด็จมาเป็นองค์ประธาน ในพิธีด้วยพระองค์เอง (ประยูรศักดิ์ ชลายนเดช, ม.ป.ป. : 55)
ท่านหมุดมีสายสกุลสืบต่อมากมาย ทุกสายสกุลของสุลต่านสุลัยมานถือเป็นสายสกุลของมุสลิมสุนนีทุกสกุล แม้ปัจจุบันผู้ใช้นามสกุลเหล่านี้จะนับถือศาสนาพุทธไปเป็นส่วนมากแล้วก็ตาม ส่วนที่ยังคงนับถือศาสนาอิสลามอยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดพัทลุง จังหวัดสงขลา และยังมีสาขาสกุลแยกออกไปอีกมาก อาทิ เช่น เอียดตรง หวันมุกดา มุดาอุเส็น คชสวัสดิ์ ชัยชนะ พลายแก้ว ขุนจำเริญ รองเดช เพชรกาล สุจริพันธ์ สุพรรณชนะบุรี บุณโยดม เนาวเกตุ มิตรกูล บุณยภักดี สพสมัย เชาวนะกวี เทพเสนา ชนะพันธ์ เสนาทิพย์ คงสมัย เศวตกุล พลสังข์ รังษี และพรหมปลัด เป็นต้น สกุลเหล่านี้หลายสกุลยังคงเป็นมุสลิมที่เคร่งครัดอยู่จนทุกวันนี้ และกระจายไปอยู่หลายจังหวัดในภาคใต้ ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร (ประยูรศักดิ์ ชลายนเดช, ม.ป.ป. : 52)

กุบุร (สุสาน) มัสยิดต้นสนที่ฝังศพแม่ทัพนายกอง สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีหลายท่าน
(ภาพจากหนังสือสำเภาสยาม : ตำนานเจ๊กบางกอก)
19.8 เจ้าพระยาพิชัยราชา (เดิมเป็นหลวงพิชัยราชา)
เป็นทหารเอกอีกคนหนึ่งที่ติดตามพระยาวชิรปราการ (สิน) ตีฝ่าวงล้อมของพม่าไปสะสมผู้คนที่เมืองระยอง และเป็นทูตนำอักษรสารไปเกลี้ยกล่อมพระยาราชาเศรษฐี ณ พุทไธมาศ ให้เข้ามาเป็นพวกได้สำเร็จ ภายหลังเมื่อเจ้าตากปราบเมืองจันทบุรีได้แล้ว หลวงพิชัยราชา มีหน้าที่ควบคุมดูแลการต่อเรือรบ และเป็นกองหน้าตีตะลุยขับไล่พม่าตั้งแต่เมืองธนบุรีไปจนถึงโพธิ์สามต้น หลวงพิชัยราชาได้เป็นทหารเอกของเจ้าตากตลอดมา
เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จยกทัพไปตีเมืองนครศรีธรรมราช พ.ศ.2312 หลวงพิชัยราชาได้รับสถาปนาเป็ นพระยาพิชัยราชา เมื่อครั้งปราบหัวเมืองเหนือได้แล้ว ในปี พ.ศ.2313 สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงไว้วางพระทัยใช้ใกล้ชิด โปรดฯ ให้เป็นหนึ่งในแม่ทัพหน้ายกขึ้นไปก่อน ครั้นเสร็จศึกแล้ว ได้เลื่อนเป็น เจ้าพระยาพิชัยราชา และโปรดให้รั้งเมืองสวรรคโลก เป็น เจ้าพระยา สวรรคโลก นับเป็นข้าหลวงเดิมที่ ได้รับยศถาบรรดาศักดิ์สูงอย่างรวดเร็ว

กำแพงเมืองนครเชียงใหม่ และ ส่วนของที่เป็นแจ่งหัวริน แจ่ง หมายถึง แนวกำแพงเมืองเดิม คูเมือง และป้อมกำแพงเมืองทั้งสี่มุมเมืองได้แก่ แจ่งหัวริน แจ่งสรีภุม แจ่งกระต้ำและแจ่งกู่เรือง
(ภาพจากหนังสือ Seen: architectural forms of North Siam and old Siamese fortifications)
มื่อครั้งตีเมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ.2317 ท่านเจ้าพระยาเจ้าเมืองสวรรคโลกทำการรบเป็นที่พอพระราชหฤทัย ได้รับพระราชทานพระแสงปืนสั้นกระบอกหนึ่ง แต่ต่อมาตอนตีเมืองเชียงใหม่ เช่นกัน ในวันพุธ เดือนยี่ ขึ้น 1 ค่ำ ทรงวางแผนให้ขุดคูล้อมเมือง ด้านค่ายเจ้าพระยาสวรรคโลกยังตั้งล้อมไม่ตลอด เจ้าเมืองเชียงใหม่ชาวพม่าคือ โปสุพลา และ โปมะยุง่วน พาครอบครัวหนีออกจากเมืองได้ทางประตูช้างเผือก ซึ่งเป็นทางด้านค่าย ของเจ้าพระยาสวรรคโลก โปรดฯ ให้พิจารณาโทษเจ้าพระยาสวรรคโลกว่ามิได้ปลงใจในราชการสงคราม ตั้งค่ายไม่ตลอดด้าน ไว้หนทางให้พม่าหนีไปได้ ให้ลงพระอาญาเฆี่ยน 50 ที แล้วจำครบไว้ และเข้าใจว่าคงจะถูกย้ายเข้ามารับราชการในกรุงธนบุรีตั้งแต่นั้น
เจ้าพระยาพิชัยราชามิได้กลับไปรับราชการที่สวรรคโลกอีก เมื่อเกิดเรื่องถูกกริ้วจนถึงขั้นประหารเพราะขณะที่เจ้าพระยาพิชัยราชาอยู่ที่กรุงธนบุรี ได้แต่งเถ้าแก่ไปทูลขอเจ้าจอมปราง น้องของพระสนมเอกบุตรีเจ้านครศรีธรรมราช จึงถูกตัดศีรษะเสียบประจานเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป ท่านถึงแก่อสัญกรรมในราวปี พ.ศ.2319 เจ้าพระยาพิชัยราชา เป็นต้นสกุลบุญหลง พลางกูร และ กรีวัตร (ประพัฒน์ ตรีณรงค์, วารสารไทย 20 (12) : ตุลาคม – ธันวาคม 2542 “ แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ” , 2542 : 13-20)
19.9 เจ้าพระยาสุรสีห์ ซึ่งต่อมา คือ สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท เดิมชื่อ บุญมา

สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท
เมื่อทรงเจริญวัยได้ 16 พรรษา พระราชบิดาได้ทรงนำตัวเข้าถวายเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสุริยามรินทร์ หรือพระเจ้าเอกทัศน์กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา ทำงานอยู่ 3 ปี ก็ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นนายสุดจินดา มหาดเล็กหุ้มแพร ( “นายสุดจินดา” เป็นบรรดาศักดิ์ (แบบนายวรการบัญชา) ส่วน หุ้มแพร เป็นยศเท่ากับยศร้อยเอกในปัจจุบัน)
ขณะที่กรุงศรีอยุธยาถูกข้าศึกตั้งทัพล้อมอยู่ เมื่อพ.ศ.2310 นั้น นายสุดจินดาเห็นว่ากรุงต้องแตกเสียแก่ข้าศึกเป็นแน่นอน หากขืนอยู่ต่อไป ก็จะถูกพม่าจับเป็นเชลยหรืออาจถูกฆ่าตาย ซึ่งไม่มีประโยชน์อันใด สู้หนีออกไปเสียก่อน แล้วหาหนทางร่วมมือกับผู้สามารถ กลับมากู้บ้านเมืองในภายหน้าจะดีกว่า ดังนั้นนายสุดจินดากับเพื่อนอีก 3 คน จึงใช้อุบายหลบหนีจากกรุงศรีอยุธยาหลบหลีกข้าศึกล่องเรือไปตามลำน้ำเจ้าพระยาทางทิศใต้ มุ่งไปเฝ้าเจ้าตากซึ่งรวมพลตีฝ่าข้าศึกออกจากกรุงศรีอยุธยาทางทิศตะวันออก สามารถไปรวมพลได้ที่เมืองจันทบุรี เพื่อช่วยจัดการกองทัพเข้ามากู้กรุงศรีอยุธยา ให้พ้นจากเงื่อมมือของพม่า
เจ้าตากทรงรู้สึกดีพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ที่เห็นนายสุดจินดาไปพบ เพราะเคยรับราชการร่วมกัน และมีความคุ้นเคยรักใคร่กันมาก่อน ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยายังรุ่งเรืองอยู่ เจ้าตากจึงแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งนายสุดจินดาเป็ นพระมหามนตรี เจ้ากรมตำรวจในขวา ศักดินา 2,000 ขณะนั้น พระมหามนตรี (บุญมา) มีพระชนม์เพียง 24 พรรษาเท่านั้น
พระมหามนตรี (บุญมา) หรือกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ในกาลต่อมานั้น หากจะพูดอย่างภาษาธรรมดาสามารถกล่าวได้ว่า “ท่านเกิดมาเป็นนักรบโดยสายเลือด” หรือ “เกิดมาพร้อมด้วยดาบอยู่ในมือ” ตลอดชีวิตมีแต่คุมกำลังทหารไปรบที่นั่นที่นี่ทั่วทุกทิศ และสามารถรบชนะแทบทุกครั้ง ถึงกับแม่ทัพพม่าที่เป็นคู่อริ (อะแซหวุ่นกี้) ได้ตั้งสมัญญาว่า “พระยาเสือ” ซึ่งตรงกับพระนามที่ได้รับอุปราชาภิเษกว่า “ มหาสุรสิงหนาท ” และสามารถกล่าวได้ว่า ความยิ่งใหญ่ของพระองค์ อยู่ที่ความเป็นนักรบโดยแท้ทีเดียว พระองค์ทรงอุบัติขึ้นมาเป็นนักรบปรีชาสามารถในการรบ งานราชการสงครามที่พระองค์ทรงร่วมรบด้วยและทรงเป็นแม่ทัพรวมทั้งสิ้น 24 ครั้ง อาทิ
ก. ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (พ.ศ. 2310-2325) เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ได้ปฏิบัติราชการสงคราม 16 ครั้ง คือ
การศึกครั้งที่ 1 คราวตีค่ายพม่าที่โพธิ์สามต้น พ.ศ.2310 หลังจากพระยาตาก (สิน) ตีฝ่าพม่าออกมาทางทิศตะวันออก ได้ตั้งตัวที่เมืองจันทบุรีและในเดือน 11 พ.ศ. 2310 เจ้าตาก (สิน) ยกทัพเรือจำนวนเรือรบประมาณ 100 ลำ มีทหารไทยจีนราว 5,000 คน เคลื่อนทัพขึ้นไปตามลำน้ำเจ้าพระยา เข้าตีทำลายกองกำลังพม่าที่ยึดเมืองธนบุรี มีนายทองอิน (ซึ่งเข้ากับฝ่ายพม่า) เป็นผู้สำเร็จราชการแล้วจึงยกพลขึ้นไปตีค่ายของสุกี้แม่ทัพพม่าที่โพธิ์สามต้นทางทิศเหนือพระนครศรีอยุธยา เวลานั้น ตัวเกาะและรอบๆ พระนครศรีอยุธยาว่างเปล่าไม่มีผู้คน บ้านเรือนวัดวาอารามถูกเผาสิ้น เป็นอันว่าได้ขับไล่ทหารพม่าออกไปพ้นกรุงศรีอยุธยาเดิมได้ พระมหามนตรี (บุญมา) ได้รวมอยู่ในการเข้าตีครั้งนั้นด้วย แต่ในครั้งนั้นยังไม่ได้รับหน้าที่สำคัญประการใด ถึงกระนั้นก็ได้แสดงฝีมือยอดเยี่ยมในการรบให้เป็นที่ประจักษ์แก่ทหารในกองทัพของเจ้าตากไว้แล้ว จึงได้รับหน้าที่สำคัญในการทัพครั้งต่อๆ มามิได้ขาด เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินได้สถาปนาตั้งกรุงธนบุรีเป็นนครหลวง และได้ทรงประกอบพิธีปราบดาภิเษกเรียบร้อยแล้ว พระมหามนตรี (บุญมา) ก็ได้ออกไปรับหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี (ชื่อเดิมทองด้วง) ซึ่งเป็นพี่ชาย เข้ามารับราชการอยู่ในกรุงธนบุรีด้วย สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงโปรดเกล้าฯ เลื่อนหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรีขึ้นเป็นพระราชวรินทร์
การศึกครั้งที่ 2 ตีค่ายพม่าที่บางกุ้ง พ.ศ. 2310 ในฤดูแล้งปลาย พ.ศ.2310 ปีเดียวกันนั้น แมงกี้มานอย่า เจ้าเมืองทะวาย ได้ยกทหาร 3,000 เข้ามาลาดตะเวนสถานการณ์ในเมืองไทยตามที่พระเจ้าอังวะทรงรับสั่ง ได้พบกองทัพทหารจีน ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดให้ไปตั้งรักษาความเรียบร้อยอยู่ที่ตำบลบางกุ้ง เมืองสมุทรสงคราม จึงได้เข้าล้อมไว้ สมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดเกล้าฯ ให้พระมหามนตรี (บุญมา) เป็นแม่ทัพหน้า ส่วนทัพหลวงพระองค์ทรงเป็นแม่ทัพ ยกไปตีข้าศึกดังกล่าวนั้นแตกพ่ายไป
การศึกครั้งที่ 3 ทำลายกำลังเจ้าเมืองพิษณุโลกผู้ตั้งตัวเป็นใหญ่ ในปี พ.ศ.2311 เดือน 11 สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงยกกองทัพเรือขึ้นไปทางทิศเหนือใกล้เมืองพิษณุโลก แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงได้รับบาดเจ็บกระสุนถูกพระชงฆ์ จากหน่วยซุ่มโจมตีของเจ้าเมืองพิษณุโลก ที่ตำบลเกยไชยใต้เมืองพิษณุโลก กองทัพจึงต้องถอยกลับ การศึกครั้งนี้ แม้ไม่ปรากฏชื่อพระราชวรินทร์และพระมหามนตรี แต่ก็เชื่อได้ว่าต้องไปราชการทัพด้วย เพราะขณะนั้นทั้งสองพี่น้อง เป็นนายทหารเอกคู่พระทัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินอยู่แล้ว
การศึกครั้งที่ 4 ปราบเจ้าพิมาย (กรมหมื่นเทพพิพิธ ในรัชกาลพระเจ้าเอกทัศน์) เมื่อสิ้นฤดูฝนแล้ว ในพ.ศ.2311 สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงยกกองทัพไปปราบเจ้าพิมายที่เมืองนครราชสีมา ได้โปรดให้พระราชวรินทร์กับพระมหามนตรี นำกองทัพแยกไปตีค่ายส่วนหนึ่งของเจ้าพิมายที่ด่านขุนทด ได้ใช้เวลาถึง 3 วันจึงได้ชัยชนะ เพราะฝ่ายตรงข้ามตั้งรับแข็งแรงมาก เมื่อเสร็จการศึกครั้งนี้ พระราชวรินทร์ ได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์ พระมหามนตรีได้เลื่อนขึ้นเป็น พระยาอนุชิตราชา ตำแหน่งจางวางตำรวจทั้งสองคน ในขณะนั้น ทั้งสองพี่น้องยังอยู่ที่นครราชสีมา ทรงโปรดเกล้าฯ ให้อยู่จัดการปกครองเมืองนั้นให้เรียบร้อยก่อน ส่วนพระองค์ทรงถอนทัพกลับกรุงธนบุรี
การศึกครั้งที่ 5 ตีเมืองเขมร พ.ศ.2312 เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงทราบว่ากรุงกัมพูชาไม่ยอมอ่อนน้อมต่อกรุงธนบุรีเหมือนครั้งกรุงศรีอยุธยา จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาอภัยรณฤทธิ์กับพระยาอนุชิตราชายกกำลัง 2,000 จากเมืองนครราชสีมา และพระยาโกษาธิบดีคุมกำลังอีก 2,000 จากเมืองปราจีนบุรีเพื่อไปปราบเขมรในฤดูแล้ง พ.ศ.2312
พระยาอภัยรณฤทธิ์และพระยาอนุชิตราชา ตีได้เมืองเสียมราฐ พระยาโกษาธิบดี ตีได้เมืองพระตะบองในต้นฤดูฝน แล้วหยุดพักในเมืองนั้นรอทัพหลวงที่สมเด็จพระเจ้าตากสินจะทรงยกไปสมทบ เพื่อตีกรุงกัมพูชาในฤดูแล้งตามแผนการที่วางไว้ แต่เมื่อถึงฤดูแล้งสมเด็จพระเจ้าตากสินก็ยังไม่ยกทัพมา กลับได้ข่าวลือว่าได้เสด็จสรรคตไปเสียแล้วที่เมืองนครศรีธรรมราช พระยาอภัยรณฤทธิ์และพระยาอนุชิตราชาทราบเรื่องเข้าก็ตกใจ เกรงจะเกิดจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี จึงถอยกองทัพกลับมาเมืองนครราชสีมา ขณะนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินเพิ่งเสด็จกลับจากการไปตีเมืองนครศรี ธรรมราชพอดี เมื่อทราบเรื่องก็ทรงพิโรธ ให้เรียกตัวพระยาทั้งสองเข้ามาซักถาม เมื่อทรงทราบรายละเอียดแล้ว ทรงพระราชทานอภัยโทษให้
การศึกครั้งที่ 6 ตีทัพเจ้าพระฝาง พ.ศ.2313 การสงครามครั้งนี้ พระยาอนุชิตราชา (บุญมา) ได้เลื่อนขึ้นเป็น พระยายมราช แล้ว โปรดเกล้าฯ ให้ยกกำลัง 5,000 ไปตีหัวเมืองเหนือ ร่วมกับกองทัพหลวงของสมเด็จพระเจ้าตากสินและกองทัพพระยาพิชัยราชา ตีได้เมืองสวางคบุรีที่เจ้าพระฝางยึดอยู่ ส่วนทัพหลวงเข้ายึดเมืองพิษณุโลก เป็นอันว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงได้หัวเมืองภาคเหนือและกลางไว้ในพระราชอำนาจทั้งหมดแล้ว เสร็จการทัพครั้งนี้ ได้โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระยายมราช (บุญมา) ขึ้นเป็น เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช ผู้สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลก (ยศสูงกว่าขุนนางชั้นจตุสดมภ์) เมื่ออายุได้ 28 ปี (พิศาล เสนะเวส, 2515 : 321) ส่วนตำแหน่งพระยายมราชที่ว่างลง โปรดเกล้าให้เลื่อนพระยาอภัยรณฤทธิ์ (ทองด้วง) ขึ้นเป็นแทน
การศึกครั้งที่ 7 ตีทัพพม่าที่เมืองสวรรคโลก พ.ศ.2313 เมื่อโปมะยุง่วนพม่าเจ้าเมืองเชียงใหม่ทราบข่าวว่า กองทัพกรุงธนบุรีตีเมืองพิษณุโลกได้แล้ว ก็เกรงว่าเชียงใหม่จะเป็นอันตราย จึงยกทัพมาล้อมเมืองสวรรคโลกไว้ เจ้าพระยาพิชัยราชาผู้ครองเมืองสวรรคโลกได้ขอให้หัวเมืองใกล้เคียงยกกองทัพมาช่วย เจ้าพระยาสุรสีห์ฯ และพระยาสุโขทัย จึงยกทัพของตนไปช่วยระดมตีกองทัพพม่าแตกพ่ายไป
การศึกครั้งที่ 8 ตีพม่าที่เชียงใหม่ พ.ศ.2313 การที่พม่ายกทัพมาล้อมเมืองสรรคโลกนั้น เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงทราบข่าว ก็ทรงยกกองทัพขึ้นไปช่วยในเดือน 4 ของปีนั้น พอไปถึงกลางทางก็ทราบข่าวพม่าถอยกองทัพกลับไปแล้ว จึงมีพระราชดำริจะเสด็จไปตีพม่าให้ออกไปจากเชียงใหม่เสียเลย ในการทัพครั้งนี้ เจ้าพระยาสุรสีห์ฯ คุมกองทัพหน้ากำลัง 15,000 ยกไปก่อน เจ้าเมืองต่างๆ ที่กองทัพผ่าน เห็นว่าเป็นคนไทยด้วยกันก็ยอมเข้าสวามิภักดิ์ด้วยดี จึงสามารถเคลื่อนทัพถึงเชียงใหม่ได้รวดเร็วมาก และสามารถตีค่ายนอกเมืองแตกหมดแล้ว ปิดล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้ พอกองทัพหลวงไปถึงก็เข้าร่วมปิดล้อมอีกชั้นหนึ่ง ได้พยายามเข้าตีเมืองครั้งหนึ่งแต่ไม่สำเร็จ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเห็นว่ากำลังพลน้อยกับทรงเกรงว่าเสบียงจะไม่พอ จึงโปรดเกล้าให้ถอนทัพกลับ
การศึกครั้งที่ 9 ตีพม่าที่เมืองพิชัย พ.ศ.2315 โปสุพลา นายกองพม่าที่ยกกำลังเข้ามาเสริมกองทัพพม่าที่เชียงใหม่ ประสงค์จะอวดฝีมือทหารของตน จึงได้ส่งกองทหารเข้ามาตีเมืองลับแล แล้วเลยเข้ามาถึงเมืองพิชัย พระยาพิชัยป้องกันเมืองไว้ แล้วขอความช่วยเหลือจากเจ้าพระยาสุรสีห์ซึ่งขณะนั้นควบคุมทัพอยู่เมืองพิษณุโลก เจ้าพระยาสุรสีห์จึงยกกำลังไปช่วยเจ้าเมืองพิชัย โดยตีกระหนาบพม่าที่ล้อมอยู่นอกเมือง พระยาพิชัยตีกระหนาบออกมาจากในเมือง กองทัพพม่าจึงแตกไป
การศึกครั้งที่ 10 ตีพม่าที่เชียงใหม่ครั้งที่ 2 พ.ศ.2317 สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงยกกองทัพไปถึงเมืองตาก พอดีได้ทราบข่าวว่า มีชาวมอญหนีพม่าเข้ามาทางด่านแม่สอด และอาจมีผ่านเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ด้วย จึงโปรดเกล้าให้เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) กับเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ยกทัพขึ้นไปตีเชียงใหม่ ส่วนพระองค์ยั้งทัพอยู่ที่เมืองตากเพื่อรอดูเหตุการณ์ของพวกมอญอพยพ การทัพครั้งนี้ก็เหมือนครั้งก่อน เจ้าเมืองต่างๆ ที่ผ่านไปเข้ามาสวามิภักดิ์ด้วยดี คงปะทะกับกำลังพม่าที่ขัดขวางอยู่ทางตอนใต้เชียงใหม่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อขับไล่แล้วจึงเข้าล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้ ไม่นานกองทัพหลวงก็ขึ้นไปสมทบ เจ้าพระยาจักรี และเจ้าพระยาสุรสีห์ ได้คุมกำลังทหารเข้าตีเชียงใหม่คนละด้านอย่างรุนแรง ไม่นานเชียงใหม่ก็แตก สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงรับสั่งให้เจ้าพระยาสองพี่น้อง ช่วยกันจัดการปกครองหัวเมืองในแคว้นลานนาอยู่ที่เชียงใหม่ก่อน ส่วนพระองค์รีบยกทัพหลวงกลับกรุงธนบุรี เพราะทรงทราบข่าวว่าพม่าส่งกองทหารติดตามมอญอพยพเข้ามาเมืองไทย ทรงเกรงว่าจะเข้ายึดเมืองต่าง ๆ ตามรายทางทางด้านทิศตะวันตกของกรุงธนบุรี
การศึกครั้งที่ 11 รบพม่าที่บางแก้วราชบุรี พ.ศ.2317 เหตุการณ์เป็นไปตามที่ทรงคาดคิดไว้ งุยอคงหวุ่นยกกำลังพม่าเข้ามายึดบางแก้วเหนือเมืองราชบุรีไว้แห่งหนึ่ง กับยึดเขาชงุ้มและปากแพรกแขวงเมืองกาญจนบุรีไว้อีกสองแห่ง ครั้งแรกสมเด็จพระเจ้าตากสินไม่ทรงทราบแน่ชัดว่า ฝ่ายพม่าที่ยกเข้ามาประหนึ่งหยั่งดูกำลังฝ่ายไทยเช่นนี้ ยกมามีกำลังเท่าใด จึงทรงเรียกกำลังไม่มาก ด้วยประสงค์จะจับทหารพม่าให้ได้ทั้งเป็นๆ ได้รับสั่งให้เจ้าพระยาจักรีรีบนำทัพเมืองเหนือ ไปล้อมทัพพม่าที่บางแก้วไว้ ส่วนเจ้าพระยาสุรสีห์ ทรงรับสั่งให้ไปล้อมพม่าที่เขาชงุ้ม ในที่สุดกองทัพพม่าที่บางแก้วต้องอดอาหารอย่างหนักและยอมแพ้ในที่สุด ส่วนที่เขาชงุ้มและปากแพรกได้ถูกทหารของเจ้าพระยาสุรสีห์ตีแตกไป
การศึกครั้งที่ 12 รบกับอะแซวุ่นกี้ที่เมืองพิษณุโลก พ.ศ.2317 อะแซวุ่นกี้คิดจะยกกองทัพมาตีเมืองไทยจากทางเหนือลงมา ในปี พ.ศ.2318 จึงสั่งให้โปสุพลา ยกมาตีเชียงใหม่แล้วยกกำลังมาบรรจบกับตนที่เมืองพิษณุโลก แต่พอโปสุพลายกไปตีเชียงใหม่ สมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุรสีห์ยกกำลังจากพิษณุโลกขึ้นไปขับไล่ และเจ้าพระยาจักรียกกำลังขึ้นไปช่วยอีกทัพหนึ่ง แต่ไม่ทันปะทะกันโปสุพลาชิงถอนทัพกลับพม่าเสียก่อน
ฝ่ายอะแซวุ่นกี้ ยกพลประมาณ 20,000 มาตั้งที่เมืองสุโขทัยจะเข้าตีเมืองพิษณุโลก แต่รอให้กองทัพเจ้าพระยาสุรสีห์เข้าเมืองเสียก่อน เพื่อทัพพม่าจะได้ล้อมทัพไทยทั้งสองกองทัพไว้ที่เดียวกัน พอกองทัพไทยทั้งสองกองเข้าตั้งมั่นอยู่ในเมืองพิษณุโลก สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงยกทัพจากกรุงธนบุรีไปช่วย ทั้งสองฝ่ายรุกรบกันประมาณ 4 เดือน อาหารภายในเมืองพิษณุโลกหมดลง เจ้าพระยาทั้งสองจึงต้องพาทหารตีฝ่าทัพพม่าไปทางตะวันออก ไปอยู่ที่เมืองเพชรบูรณ์ ฝ่ายพม่าเมื่อเข้าเมืองพิษณุโลกได้ ได้เผาสถานที่ต่างๆ เก็บริบทรัพย์สินจนหมดสิ้นแล้ว ก็ถอนกำลังกองทัพกลับพม่า ผ่านตากและแม่สอด เพราะได้ข่าวว่าพระเจ้าแผ่นดินของพม่า (พระเจ้ามังระ) เสด็จสวรรคต เจ้าพระยาทั้งสอง เมื่อทราบว่าพม่าถอนทัพจากเมืองพิษณุโลก จึงเกณฑ์กำลังพลและเสบียงอาหารจากนครราชสีมา แล้วติดตามตีกองทัพพม่าที่กำลังถอยร่น จนทัพพม่าเสียหายล้มตายเป็นจำนวนมาก
การศึกครั้งที่ 13 ป้องกันเชียงใหม่ พ.ศ.2319 พระเจ้าจิงกูจา กษัตริย์องค์ใหม่ของพม่าใคร่จะทรงได้หัวเมืองเหนือจากไทย จึงให้กำมะลอวุ่น คุมกำลัง 6,000 คน เข้ามาสมทบกับโปมะยุง่วนที่เชียงแสน ยกมาตีเชียงใหม่ พระยาวิเชียรปราการ (พระยาจ่าบ้านเดิม) สู้ไม่ได้ จึงหนีลงมายังกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงให้เจ้าพระยาสุรสีห์ ยกกองทัพไปร่วมกับกองทัพพระยากาวิละเจ้าเมืองลำปางขับไล่พม่าที่ยึดเมืองเชียงใหม่อยู่แตกหนีไป จากนั้น เมืองเชียงใหม่ก็ร้างไปถึง 15 ปี จึงได้ตั้งเมืองขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ 1
การศึกครั้งที่ 14 ตีนครจำปาศักดิ์ พ.ศ. 2320 เจ้าโอกับเจ้าอินแห่งนครจำปาศักดิ์เตรียมพล 10,000 จะมาตีเมืองทางภาคอิสานของไทย สมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุรสีห์ยกกำลังจากกรุงธนบุรี ไปสมทบกับทัพเจ้าพระยาจักรีที่เมืองนครราชสีมา แล้วยกไปตีนครจำปาศักดิ์ได้ในต้นปี พ.ศ.2320 และยังได้เมืองอัตปือ, เมืองสุรินทร์, เมืองสังขละและเมืองขุขันธ์มาขึ้นต่อกรุงธนบุรีด้วย หลังจากเสร็จศึกครั้งนี้แล้ว โปรดเกล้าฯ เลื่อนเจ้าพระยาจักรี เป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เทียบเท่าเจ้ากรม ดำรงตำแหน่งสมุหนายก
การศึกครั้งที่ 15 ตีกรุงศรีสัตนาคนหตุ พ.ศ. 2321 เนื่องด้วยพระวอ (ซึ่งเป็นขุนนางเก่าของเจ้านครเวียงจันทน์ ซึ่งยอมสวามิภักดิ์ต่อกรุงธนบุรี ได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านดอนมดแดง ริมฝั่งแม่น้ำมูล ตั้งแต่ครั้งไทยไปตีได้นครจำปาศักดิ์) ถูกเจ้านครเวียงจันทน์ ส่งกองทัพมาจับฆ่าเสีย สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกับเจ้าพระยาสุรสีห์ ยกทัพไปตีเวียงจันทน์ในเดือนอ้าย พ.ศ.2321 สมเด็จเจ้าพระยาฯ ยกกองทัพ 20,000 ไปทางบก ส่วนเจ้าพระยาสุรสีห์ เกณฑ์ทัพเรือจากกัมพูชา 10,000 ยกขึ้นไปตามลำแม่น้ำโขง เจ้าหลวงพระบางมาขอขึ้นด้วยและอาสาช่วยตีเวียงจันทน์ กองทัพกรุงธนบุรีได้ล้อมอยู่ 4 เดือน ก็ตีเวียงจันทน์ได้ และได้หัวเมืองต่างๆ ในแคว้นลาว จนจดแคว้นตั๋งเกี๋ยของญวนมาขึ้นกับกรุงธนบุรีด้วย การศึกครั้งนี้ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (แก้วมรกต) และพระบาง จากเวียงจันทน์ลงมาประดิษฐานในกรุงธนบุรีด้วย
การศึกครั้งที่ 16 การปราบจลาจลในกรุงกัมพูชา พ.ศ.2323 ได้เกิดจลาจลประหัตประหารกันเองในกัมพูชา จนเหลือเพียงนักองค์เอง ตำแหน่งมหาอุปราช มีพระชนม์เพียง 4 ขวบ เจ้าฟ้าทะละหะ (มู) จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแทน แต่กลับไปเอาใจฝักใฝ่กับญวนเพื่อจะตั้งตัวเป็นกษัตริย์เสียเอง สมเด็จพระเจ้าตากสิน จึงโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพใหญ่ เจ้าพระ ยาสุรสีห์เป็นแม่ทัพหน้า และเจ้าฟ้ากรมขุนอินทร์พิทักษ์ ลูกยาเธอองค์ใหญ่เป็นแม่ทัพหนุน รวมกำลัง 20,000 ยกไปตีกรุงกัมพูชา และมีรับสั่งว่า เมื่อตีได้แล้วให้อภิเษกเจ้าฟ้ากรมขุนอินทร์พิทักษ์ ขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกัมพูชา แต่ยังไม่ทันจะรบกัน เกิดการจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก กับเจ้าพระยาสุรสีห์จึงยกกองทัพกลับมาปราบปรามการจลาจล เมื่อสิ้นบารมีสมเด็จพระเจ้าตากสินแล้ว สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก จึงได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ตามความเห็นของขุนนาง และอาณาประชาราษฎร และได้ย้ายนครหลวงมาตั้งที่กรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ.2325 (กองพลทหารราบที่ 9 อนุสรณ์งานฉลองวันชนะศึกทุ่งลาดหญ้า ประจำปี 2527 : 15-22)
ข. สมัยแผ่นดินสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (พ.ศ. 2325-2346)
เมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นแล้ว เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช (บุญมา) ได้รับสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ตำแหน่งมหาอุปราช (วังหน้า) รับหน้าที่แม่ทัพเอกของ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบรมเชษฐาธิราช ต่อมาอีกจนกระทั่งสวรรคต ท่านได้ทรงยกกำลังทหารออกไปรบหลายครั้ง ฐานะของพระองค์ในขณะนั้นคือ “ แม่ทัพแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ” พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถสูงส่ง เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ของสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช
แต่เดิมบ้านพัก หรือตำหนักของเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) อยู่ที่ปากคลองบางลำพู ใกล้วัดตองปุ หรือวัดชนะสงคราม เจ้าศรีอโนชา (ชายา) ได้อยู่ที่บ้านพักแห่งนี้ และมีธิดาด้วยกัน 1 คน เมื่อพ.ศ.2320 ต่อมาเมื่อเจ้าพระยาสุรสีห์ ได้รับสถาปนาเป็นวังหน้า จึงเรียกธิดาว่า เจ้าฟ้าพิกุลทอง
หลักฐานร่วมสมัยกรุงธนบุรีคือ จดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวีกล่าวว่า ปลายรัชกาลธนบุรี “ เกิดโกลี ” เมื่อธิดา (เจ้าฟ้าพิกุลทอง) อายุได้ 4 ขวบนั้น กรุงธนบุรีก็มีเหตุร้าย ขณะที่แม่ทัพใหญ่ 2 พี่น้องคือ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และเจ้าพระยาสุรสีห์ไปราชการทัพที่ญวนและเขมร พระยาสรรค์และพวกยกกำลังเข้าปล้นบ้านพระยาสุริยอภัย หลานสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์
หนังสือไทยรบพม่าได้บันทึกบทบาทของเจ้าศรีอโนชา หรือเจ้าศิริรจนาตอนนี้ว่า “ …เมื่อเกิดการรบขึ้นนั้น เจ้าศิริรจนาท่านผู้หญิงของเจ้าพระยาสุรสีห์ อยู่ที่บ้านปากคลองบางลำภู รู้ข่าวว่าข้าศึกมาปล้นบ้านพระยาสุริยอภัย จึงคิดอ่านกับพระยาเจ่ง พระยาราม นายกองมอญ เพื่อปราบกบฏ ขณะเดียวกันตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ บันทึกว่า “ เจ้าศรีอโนชาได้ใช้ดั้น (จดหมาย) ไปหาชาวปากเพรียวเข้ามา แล้วมีอาชญาว่า “ คันสูยังอาษาพระยาสิงพระยาสันได้ ในเมื่อกูมีชีวิต กูบ่หื้อสูได้ทำการบ้านเมือง จะหื้อสูสะดวกค้าขายตามสะบายเท่า เว้นไว้แต่การกูต้องประสงค์ว่าฉันนั้น ” ชาวปากเพรียวอาษาเข้ายับ (จับ) เอาพระยาสิง พระยาสันได้แล้วฆ่าเสีย
เจ้าศรีอโนชา “ หงายเมือง ” ได้ไว้แล้วไปเชิญสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เจ้าพระยาสุรสีห์สองพี่น้องเข้ามาผ่านพิภพ ขึ้นเสวยราชย์… ” (ดูตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ 700 ปี 2539 หน้า 118)
ชาวปากเพรียวที่อาสาเข้ามา คงเป็นคนลาวหรือยวนในสังกัดของเจ้าศรีอโนชาจึงมีจดหมายฉบับ (ดั้น) สั่งไปให้มาปราบกบฏได้ บริเวณปากเพรียวนี้ต่อมาเป็นที่อยู่ของชาวยวนเชียงแสนจำนวนมาก หลังจากเจ้ากาวิละพี่ชายของเจ้าศรีอโนชา นำทัพตีเชียงแสนแตกเมื่อ พ.ศ.2347 หลักฐานดังกล่าวแสดงถึงบทบาทของเจ้าศรีอโนชาในฐานะอยู่เบื้องหลังของการสถาปนาราชวงศ์จักรีอย่างชัดเจน หลังจากปราบดาภิเษกและสถาปนาราชวงศ์จักรีเมื่อ พ.ศ.2325 แล้ว สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) ก็สถาปนาเป็นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ส่วนพระอนุชาคือ เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ก็ได้รับสถาปนาเป็นกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (พ.ศ.2286-2366)
กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท โปรดฯ ให้สร้างพระราชวังบวรอย่างใหญ่โตบน “ พื้นที่ท่าพระจันทร์ ” ประกอบด้วยพระราชมณเฑียรที่ประทับสร้างเป็นวิมาน 3 หลัง พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน พระพิมานดุสิดา โปรดให้สร้างพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ที่ทรงนำมาจากเชียงใหม่ โปรดให้สร้างทุกอย่างในวังหน้าบนพื้นที่ท่าพระจันทร์ เหมือนในวังหลวง เช่น โรงช้าง โรงม้า ศาลาลูกขุน คลัง วัดพระแก้ววังหน้า ฯลฯ ต่างกันตรงที่ตำหนักข้างใน วังหลวงสร้างด้วยไม้ แต่ตำหนักชั้นในวังหน้าสร้างเป็นตึก โดยเฉพาะตำหนักของเจ้าศิริรจนา หรือเจ้าศรีอโนชาพระอัครชายาสร้างเป็นหมู่ตำหนักยกหลังคาเป็นสองชั้น และตำหนักของเจ้าฟ้าพิกุลทองพระราชธิดา รอบวังหน้ามีป้อม 10 ป้อม เช่นป้อมพระจันทร์ ป้อมพระอาทิตย์ ฯลฯ นอกกำแพงพระราชวังบวรฯ ด้านใต้มีวัดแห่งหนึ่ง เดิมชื่อวัดสลัก กรมพระราชวังบวรฯ โปรดให้เรียกว่า วัดนิพพานาราม และเมื่อจะทำสังคายนาพระไตรปิฎกใน พ.ศ.2331 โปรดให้เรียกว่า วัดพระศรีสรรเพชญ์ ทรงออกผนวชวัดนี้ 15 วัน ปี พ.ศ.2345 พม่ายกทัพมาตีเชียงใหม่ กรมพระราชวังบวรฯ ยกทัพขึ้นไปปราบ
แต่เมื่อถึงเมืองเถิน พระอาการนิ่วกำเริบ ทรงมอบอำนาจให้กรมพระราชวังหลัง (คือพระยาสุริยอภัย) คุมทัพแทนแล้วทรงกลับกรุงเทพ เมื่อ พ.ศ.2346 และสวรรคต เมื่อพระชนมายุ 60 พรรษา (ดู ม.ร.ว.แสงโสม เกษมศรี และวิมล พงศ์พัฒน์. ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 (พ.ศ.2325-2394). กรุงเทพฯ : คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี 2515 หน้า 20-21, 34-36)
หลังจากกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทสวรรคตแล้ว ไม่พบบันทึกเรื่องราวของพระอัครชายาเจ้าศรีอโนชา แต่คงอยู่ในพระราชบวรจนสิ้นพระชนม์ และคงมีการนำอัฐิมาไว้ที่นครลำปาง เพราะปัจจุบันยังมีที่ประดิษฐานพระอัฐิของพระอัครชายาเจ้าศรีอโนชา ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง นครลำปาง ส่วนพระราชธิดาคือ เจ้าฟ้าพิกุลทอง ได้ทรงกรมเป็นกรมขุนศรีสุนทร เมื่อปีมะโรง พ.ศ.2351 และสิ้นพระชนม์เมื่อปีมะเมีย พ.ศ.2353 พระชันษา 34 ปี นับเป็นนัดดาของเจ้ากาวิละแห่งนครเชียงใหม่ พระอัครชายาเจ้าศรีอโนชา “ แม่หญิงแห่งล้านนา ” ได้สร้างวีรกรรม “ หงายเมือง ” ให้สองพี่น้องแม่ทัพเอกแห่งกรุงธนบุรี ผู้เป็นอดีตขุนนางแห่งกรุงศรีอยุธยาได้ปราบดาภิเษก และสถาปนาราชวงศ์ใหม่ ซึ่งสองพี่น้องผู้เป็น “ วังหลวง” และ “วังหน้า” แห่งกรุงรีตนโกสินทร์ ตระหนักและยกย่อง พระนางจึงเป็นพลังสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสัมพันธ์อันดีระหว่าง ราชวงศ์จักรีกับตระกูลเจ้าเจ็ดตนแห่งล้านนา
บริเวณที่ตั้งพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ ” วังหน้า ” ซึ่งเป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทและพระอัครชายาเจ้าศรีอโนชาเป็น “ แผ่นดินทางการเมือง ” ที่มีประวัติศาสตร์ระทึกใจตลอด 2 ศตวรรษนับแต่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ใน พ.ศ.2325 เป็นต้นมา เพราะราชธรรมเนียมที่กำหนดไว้คือ “เมื่อสิ้นพี่ก็ต้องเป็นของน้อง”
ดังนั้นทั้งวังหลวงและวังหน้าจึงมีทุกอย่างเสมอเหมือนกัน การถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองก็ต้องมี 2 ชุด ทั้งวังหลวงและวังหน้า แต่น้องผู้เป็น “ วังหน้า ” ต้องสิ้นพระชนม์ก่อนพี่ผู้เป็น “ วังหลวง ” ดังนั้นจึงมีเรื่องเล่าว่า ระหว่างทรงพระประชวร กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท โปรดฯ ให้เชิญพระองค์ขึ้นเสลี่ยงเสด็จออกไปวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ (ต่อมาเรียกวัดมหาธาตุ) เพื่อนมัสการพระประธานในพระอุโบสถ ทรงจับพระหัตถ์อุทิศถวายพระแสงเพื่อเป็นพุทธบูชาเพื่อให้ทำราวเทียน จึงเป็นที่มาของรูปแบบพระบวรอนุสาวรีย์หน้าวัดมหาธาตุในปัจจุบัน
ครั้งนั้นเล่ากันว่าทรงบ่นว่า “ ของนี้กูอุตส่าห์ทำด้วยความคิดและเรี่ยวแรงป็นหนักหนา …ต่อไปก็จะเป็นของท่านผู้อื่น… ” และทรงแช่งตอนหนึ่งว่า “… นานไปใครที่มิใช่ลูกกู ถ้ามาเป็นเจ้าของเข้าครอบครอง ขอผีสางเทวดาจงบันดาลอย่ามีความสุข… ” (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ “ ตำนานวังหน้า ” ประชุมพงศาวดารภาค 13 อ้างในสมโชติ อ๋องสกุล “ วังหน้า : ประวัติศาสตร์เมื่อ 200 ปี บนดินแดนธรรมศาสตร์ ” 2525 : 4-5 )
หมายเหตุ
กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทประชวรพระโรคนิ่ว เมื่อครั้งเสด็จยกทัพขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่ในปีจอ จัตวาศก พ.ศ.2345 พระอาการมาก เวลามีพิษร้อนถึงต้องเสด็จลงแช่อยู่ในน้ำ ต้องเสด็จรักษาพระองค์อยู่ที่เมืองเถิน โปรดฯ ให้นายทัพนายกองอันมีกรมพระราชวังหลัง ซึ่งเสด็จตามขึ้นไปภายหลังเป็นประธานยกทัพไปตีพม่าซึ่งล้อมเมืองเชียงใหม่อยู่แตกฉาน เมื่อสำเร็จราชการศึกแล้ว กรมพระราชวังบวรฯ ค่อยคลายพระโรคขึ้น จึงเสด็จยกทัพกลับลงมาถึงกรุงเทพฯ ในปีกุน พ.ศ.2346 ต่อมาพระโรคกำเริบขึ้น สวรรคต ณ พระที่นั่งบูรพาภิมุขภายในพระราชวังบวรสถานมงคล ในเดือน 12 แรม 4 ค่ำ ปีกุน พ.ศ.2346 พระชนมายุ 60 พรรษา (พระบวรราชประวัติและพระบวรราชนิพนธ์, 2515 : 5)
กรมพระราชวังบวรฯ ทรงมีพระราชโอรส 18 พระองค์ พระราชธิดา 25 พระองค์ รวมทั้งสิ้น 43 พระองค์ ทรงมีพระราชทายาทสืบสายสกุลรวม 4 สกุล โดยเรียงตามลำดับพระชันษาดังนี้ อสุนี ณ อยุธยา สังขฑัต ณ อยุธยา ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา และนีรสิงห์ ณ อยุธยา การเมืองที่พลิกผันชุดแรกของดินแดนนี้ เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญทิวงคต ในวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2428 รัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้ยุบเลิกตำแหน่ง “ วังหน้า ” และสถาปนาตำแหน่ง “ พระบรมโอรสาธิราช ” ขึ้นแทน เปลี่ยนธรรมเนียมการสืบราชสมบัติ “ จากพี่มายังน้อง ” เป็น “ จากพ่อมายังลูก ” เรื่องราวของ “ วังหน้า ” ก็กลายเป็นตำนานที่ไม่ค่อยเปิดเผยตั้งแต่นั้นมา พื้นที่อาคารส่วนหนึ่งของดินแดนนี้ก็ถูกปรับเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โรงละคอนแห่งชาติ ส่วนตำหนักฝ่ายในเช่น ตำหนักเจ้าฟ้าพิกุลทอง ซึ่งอยู่ด้านท่าพระจันทร์ต่อมาถูกรื้อเป็นที่สมบัติกระทรวงกลาโหม เป็นที่ตั้งทหารกองต่างๆ ตามลำดับคือ เป็นที่ตั้งกองทหารเรือ เป็นที่ตั้งกองทหารรักษาพระองค์ราบที่ 11 เป็นกองพันทหารราบที่ 4 และ 5 (สมโชติ อ๋องสกุล, 2545 : 3-8)
19.10 สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง)

โกษาปาน (ภาพจากหนังสือประวัติโกษาปาน และบันทึกการเดินทางไปฝรั่งเศส)
ท่านโกษาปาน ผู้ซึ่งเคยเป็นราชทูตไทยไปเจริญพระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส และท่านโกษาเหล็กทหารเอกของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นบุตรของเจ้าแม่วัดดุสิตซึ่งเป็นพระนมของเจ้าฟ้านารายณ์ราชกุมาร เนื่องจากพระราชมารดาของเจ้าฟ้านารายณ์ราชกุมารสิ้นพระชนม์ ตั้งแต่เมื่อท่านยังทรงพระเยาว์ ท่านโกษาปาน ผู้นี้เป็นต้นกำเนิดของราชวงศ์จักรี (สมชาย พุ่มสะอาด, 2538 : 1-42)
ท่านโกษาปานมีบุตรชายคนโตชื่อ “นายขุนทอง” ต่อมาได้เป็นเจ้าพระยาวรวงศาธิราช มีตำแหน่งเป็นเสนาบดีกรมพระคลัง บุตรคนโตของท่านขุนทองชื่อ “นายทองคำ” ต่อมาได้เป็นพระยาราชนิกูลปลัดทูลฉลองมหาดไทย ท่านมีบุตรชายคนหนึ่งชื่อ “นายทองด” ซึ่งต่อมาได้เป็นหลวงพินิจอักษร
หลวงพินิจอักษรได้แต่งงานกับดาวเรือง หรือหยก พำนักอยู่ภายในกำแพงพระนครเหนือป้อมเพชร ครอบครัวนี้ได้ให้กำเนิดบุตรธิดารวม 5 คน
คนแรกเป็นธิดาชื่อสา แต่งงานกับเสม บุตรเจ้ากรมพระตำรวจ ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรมพระยาเทพสุดาวดี คนที่สองเป็นขุนรามณรงค์ เสียชีวิตก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาให้กับพม่า คนที่สามเป็นหญิงชื่อแก้ว แต่งงานกับเจ้าขรัวเงิน ซึ่งเป็นจีนแซ่ตัน ต่อมาเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรมพระศรีสุดารักษ์ โอรสและธิดาคือต้นสกุลเทพหัสดิน ณ อยุธยา มนตรีกุล ณ อยุธยา และอิศรางกูร ณ อยุธยา คนที่สี่คือ ทองด้วง ประสูติเมื่อวันพุธที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2279 อันเป็นปีมะโรง ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้ปราบดาภิเษกเป็น สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช คนที่ห้าคือบุญมา ซึ่งก็คือกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท คนที่หก พระองค์เจ้าหญิงกุ หรือเจ้าครอกวัดโพธิ์ คือต้นสกุลนรินทรกุล ณ อยุธยา คนที่เจ็ดชื่อลา ต่อมาได้เป็นเจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา ต้นสกุลเจษฎางกูล ณ อยุธยา (ราชสกุลวงศ์ 2512 พระนามเจ้าฟ้าและพระองค์เจ้าในกรุงรัตนโกสินทร์ โรงพิมพ์พระจันทร์ พระนคร หน้า 1-2)
มีเรื่องราวอัศจรรย์เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่เด็กชายทองด้วงยังเยาว์วัย มีเรื่องเล่าขานกันว่า เด็กชายทองด้วงในวัย 5 ขวบ เคยล้มคว่ำเข้าไปในกองไฟ แต่ไม่เป็นอะไร ต่อมาเด็กชายทองด้วงได้เข้าศึกษากับพระอาจารย์หลายท่าน จึงมีความรอบรู้ในวิทยาการด้านต่างๆ ในวัย 13 ขวบได้เข้าพิธีโกนจุก ซึ่งเจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต ได้เสด็จมาตัดจุกด้วยพระองค์เอง หลังจากนั้นจึงถวายตัวเป็นมหาดเล็กของพระองค์เช่นเดียวกับนายสิน ผู้ซึ่งต่อมาได้เป็นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในปี พ.ศ.2300 เมื่อนายทองด้วงมีอายุได้ 22 ปี จึงได้กราบถวายบังคมลาออกบวชที่วัดมหาทะลาย ขณะที่นายสินได้บวชที่วัดโฆษาวาสมาแล้วถึง 3 พรรษา
3 ปีต่อมา ในแผ่นดินของสมเด็จพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์หรือสมเด็จพระเจ้าเอกทัต (หรือเอกทัศน์) อันเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา นายทองด้วงได้แต่งงานกับบุตรีของท่านเศรษฐีทอง และท่านส้ม มีชื่อว่า “ นาค ” สาวงามผู้นี้เป็นคนอำเภออัมพวา แขวงเมืองราชบุรี ต่อมานายทองด้วงได้โยกย้ายงานไปทำที่ราชบุรี และได้รับตำแหน่งเป็น หลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี ในช่วงที่เสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่านั้น หลวงยกกระบัตรยังอยู่ที่ราชบุรี ช่วงนั้นภรรยาท่านมีครรภ์แก่ เมื่อนายบุญมาน้องชายมาชวนให้ไปทำราชการกับพระยาตาก จึงมีเหตุจำเป็นที่จะต้องชะลอเวลาไปก่อน และให้นายบุญมาช่วยนำนางนกเอี้ยง (มารดาของพระยาตาก) ซึ่งหลบซ่อนอยู่ที่บ้านแหลม พร้อมทั้งมอบดาบคร่ำทองของเก่า แหวนพลอยไพฑูรย์ 1 วง แหวนพลอยบุษราคัมน้ำทองอีก 1 วง ไปมอบให้กับพระยาตากด้วย
ในปี พ.ศ.2311 หลวงยกกระบัตรได้เริ่มทำราชการที่กรุงธนบุรี ได้รับฐานนันดรศักดิ์เป็น พระราชรินทร์ (บางท่านก็เรียกว่า พระราชวรินทร์) มีหน้าที่เป็นเจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา และพำนักอยู่ใกล้กับวัดบางหว้าใหญ่ หรือวัดระฆัง ในปีนั้นได้ออกรบเป็นครั้งแรก และได้ปราบพระยาวรวงศาธิราชที่ด่านขุนทด เมื่อปราบกบฏพิมายได้แล้ว จึงได้รับการเลื่อนยศเป็น พระยาอภัยรณฤทธิ์ จางวางกรมพระตำรวจ
ในปี พ.ศ.2312 ไปตีเมืองพระตะบองและเสียมราฐได้ และในปี พ.ศ.2313 ได้ตามเสด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไปปราบชุมนุมเจ้าพระฝางที่เมืองสวางคบุรี ได้เลื่อนขึ้นเป็น พระยายมราช ขณะนั้นมีอายุได้ 34 ปี ในปีต่อมา (พ.ศ.2315) ได้รับการสถาปนาเป็น เจ้าพระยาจักรี และได้ยกกองทัพไปตีเมืองเขมร ตีได้เมืองบาพนม บันทายเพชร และเมืองโพธิสัตว์
ต่อมาในปี พ.ศ.2316 เป็นทัพหน้าของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชตีเมืองเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และเมืองน่าน ในปีนี้พม่ายกทัพมาตีราชบุรี จึงใช้ทัพจากหัวเมืองเหนือตีแตกพ่ายไปในปี พ.ศ.2317 พม่ายกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าตากสินมหาราชให้เจ้าพระยาจักรียกทัพไปต่อสู้ แต่พม่าถอยทัพกลับไปเสียก่อน (สุรีย์ ภูมิภมร, 2539 : 154-157)
พ.ศ.2318 เสด็จเป็นแม่ทัพยกขึ้นไปช่วยรบพม่าที่มาตีเชียงใหม่ พม่าทราบข่าวก็ถอยทัพกลับไปเสียก่อน ต่อมา อะแซหวุ่นกี้ยกมาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ และมาพักทัพอยู่ที่กรุงสุโขทัย ขณะนั้นเจ้าพระยาจักรี และเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ กำลังยกกองทัพขึ้นไปตีเชียงแสน เมื่อทราบข่าวศึกจึงรับยกทัพกลับมารับทัพพม่าที่เมืองพิษณุโลก ก่อนที่อะแซหวุ่นกี้ยกทัพมาตั้งค่ายรายล้อมเมืองพิษณุโลก กองทัพพม่าพยายามเข้าตีค่ายไทยหลายครั้ง แต่ถูกฝ่ายไทยตอบโต้กลับไปได้ทุกครั้ง อะแซหวุ่นกี้ถึงกับยกย่องแม่ทัพฝ่ายไทยและขอให้ทั้งสองฝ่ายหยุดรบกัน 1 วัน เมื่อแม่ทัพไทยและแม่ทัพพม่ายืนม้าเจรจากันในสนามรบ อะแซหวุ่นกี้เห็นรูปร่างลักษณะของเจ้าพระยาจักรีแล้วจึงได้กล่าวสรรเสริญว่า “ …ท่านนี้รูปงาม ฝีมือก็เข้มแข็งอาจสู้รบกับเราผู้เป็นผู้เฒ่าได้ จงอุตส่าห์รักษาตัวไว้ภายหน้าจะได้เป็นกษัตริย์… ” และบอกเจ้าพระยาจักรีว่า “ …จงรักษาเมืองไว้ให้มั่นคงเถิด เราจะตีเอาเมืองพิษณุโลกให้จงได้ในครั้งนี้… ” (ปราณี แจ่มขุนเทียน, 2534 : 24)
สังข์ พัธโนทัย (ม.ป.ป. : 86) กล่าวว่า อะแซหวุ่นกี้มีเจตนายุแหย่ให้คนไทยแตกแยกกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าคิดพิจารณา
พ.ศ.2319 เสด็จฯ เป็นแม่ทัพยกไปตีหัวเมืองลาวตะวันออก ได้เมืองนครจำปาศักดิ์ ศรีทันดร อัตปือ และ เมืองเขมรป่าดงหลายเมือง ได้เลื่อนพระเกียรติยศขึ้นเป็น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พิลึกมหิมา ทุกนคราระอาเดช นเรศวรราชสุริยวงศ์ องค์บาทมุลิกากร บวรรัตนปรินายก มีเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรม
พ.ศ.2321 เสด็จฯ เป็นแม่ทัพยกไปตีเมืองล้านช้าง เวียงจันทน์ ตีได้เมืองเวียงจันทน์ เป็นเมืองขึ้น ได้เมืองหลวงพระบางมาเป็นข้าขอบขัณฑสีมาด้วย ขากลับได้ทรงเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกต และพระบางลงมาไว้ ณ กรุงธนบุรี
พ.ศ.2323 เกิดจลาจลในประเทศเขมร เสด็จฯ เป็นแม่ทัพออกไปปราบปราม แต่ทำการยังไม่ตลอด ทางกรุงธนบุรีก็เกิดเรื่องวุ่นวาย จนต้องเสด็จกลับมากรุงธนบุรี ในปี พ.ศ. 2325 และได้ปราบดาภิเษกในปีนั้น ขณะมีพระชนมายุได้ 47 พรรษา (สาระน่ารู้กรุงธนบุรี, 2546 : 148-151)
หลังงานฉลองวัดพระแก้วมรกตในปี พ.ศ.2352 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงพระประชวร ด้วยโรคพระชราและสวรรคต ณ พระที่นั่งหลังสิบเอ็ดห้อง

พระราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ปรากฏอยู่ซุ้มเหนือบานประตูทางเข้าพระพุทธปรางค์ วัดอรุณราชวราราม และใบปกคัมภีร์โบราณฉบับหลวงตามลำดับ
(ภาพจากหนังสือพระราชลัญจกร)
พระราชลัญจกรมีลักษณะกลม รูปปทุมอุณาโลม ซึ่งเป็นตาที่สามของพระอิศวร ที่มีอิทธิ ฤทธิมากตรงกลางมีอักขระว่า อุ อันเป็นเครื่องหมายแทนคำว่า ด้วง มีกลีบบัวประดับอยู่โดยรอบ บอกถึงจิตใจที่เป็นธรรม ธงนี้ได้โบกสะบัดอีกครั้งเมื่อคนไทยได้ฉลองกรุงเทพมหานคร 200 ปี และร่วมกันสถาปนาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็น มหาราช
ยามนั้นราชพฤกษ์ต้นไม้โปรดของพระองค์ ออกดอกสีเหลืองบานสะพรั่งไปทั่วปริมณฑล
หมายเหตุ
สุรีย์ ภูมิภมร (2539 : 160-161) ได้กล่าวถึง ต้นไม้ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงโปรดว่าเป็นราชา แห่งพฤกษ์ คือ ไม้ราชพฤกษ์ เป็นไม้ที่ใช้ในพิธีกรรมศาสนาฮินดู คนโบราณในไทยมีความเชื่อว่า หลุมเสาเรือนนั้นให้เอาไม้ราชพฤกษ์ และเมื่อปลูกเสาเรือนจะต้องเอาใบราชพฤกษ์ 5 ใบ มาใช้ร่วมกับใบกล้วย 3 ใบ และอ้อยอีก 1 ใบ ผูกไว้ที่ปลายเสาจั่ว ส. พลายน้อย (2527 พืชพรรณไม้มงคล อักษรพิทยา) ได้เขียนไว้ว่า
ไม้ราชพฤกษ์เหมาะกับการปลูกเรือนในปีชวด จะทำให้ฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น ไม้ราชพฤกษ์หมายถึงความเป็นใหญ่และมีอำนาจ เป็นราชาแห่งพฤกษ์ ดอกราชพฤกษ์จะใช้ในการไหว้ครูละครหลวง คนโบราณแนะนำว่าถ้าจะปลูกต้นราชพฤกษ์ใกล้ที่อยู่อาศัยให้ปลูกทางด้านหรดี หรือทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ จะมีมงคลเป็นอย่างยิ่ง

ราชพฤกษ์ (Cassia fistula Linn)
ไม้ราชพฤกษ์ มีชื่อภาษาละตินว่า Cassia fistula Linn อยู่ในสกุล Caesalpiniaceae ในไทยนั้นมีเรียกกันหลายชื่อ ได้แก่ ชัยพฤกษ์ (ไทย) คูณ หรือลมแล้ง (พายัพ) กลักเกลือกเคย (ปัตตานี) กุเพยะ (กะเหรี่ยงกาญจนบุรี) ปือยู ปูโย เปอโซ แมะหล่ายู (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน)
ไม้ราชพฤกษ์เป็นไม้ที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติทั่วประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย และนำไปปลูกในหลายประเทศเช่น เนปาล ฟิลิปปินส์ มีการเรียกออกไปแตกต่างกัน เช่น โซนาลิ (เบงกอล) โซนาลุ (เนปาล) มีชื่อทั่วไปว่า Indian Laburnum, Golden Shower, Purging Cassia และ Pudding Pipe Tree
ราชพฤกษ์เป็นไม้ผลัดใบที่ขึ้นอยู่ในป่าเบญจพรรณแล้ง เมื่อต้นอายุน้อยจะมีเปลือกสีเทาอมเขียว แต่เมื่ออายุมาขึ้นจะมีสีน้ำตาลปนแดง ใบประกอบมี 4-6 คู่ ดอกออกเป็นช่อ มีสีเหลืองสด โดยจะออกในหน้าร้อน จึงนิยมปลูกราชพฤกษ์เป็นไม้ประดับทั่วไป ผลเป็นฝักยาวและกลม ใบราชพฤกษ์ใช้เลี้ยงสัตว์ในอินเดีย
เนื้อไม้มีสีน้ำตาลแกมเหลือง เสี้ยนสั้น ทำให้ไสกบตกแต่งยาก เนื้อไม้แข็ง มีความทนทาน
เนื้อในฝักรับประทานได้ ใช้เป็นยาระบาย นิยมใช้ในกลุ่มประเทศอาหรับและประเทศจีน
เนื้อในฝักใช้ได้ผลดีในช่วงสตรีมีครรภ์ แต่ควรระวังส่วนนอกของผลที่อาจทำให้ผู้หญิงแท้งได้ ความจริงแล้วผลใช้ทำยาได้ 16 ชนิด ส่วนเยื่อภายในทำได้ 15 ชนิด รากใช้รักษาโรคจับไข้ โรคหัวใจ ใบใช้ไล่พยาธิตัวกลม บางทีก็ใช้ใบเป็นยารักษาช้าง เมล็ดเป็นยาทำให้อาเจียน
คนไทยนิยมเอาไม้ราชพฤกษ์มาทำเสา เสาสะพาน สากตำข้าว ล้อเกวียน คานเกวียน คันไถ เครื่องกลึง ด้ามเครื่องมือ ทำกลองโทน กลองรำมะนา คนไทยบางกลุ่มเอายางฝาดมากินแทนหมาก มีปริมาณน้ำฝาดชนิด pyrogallol จากไม้และจากเปลือกไม้สูงประมาณ 10-12 เปอร์เซ็นต์ เปลือกจึงใช้ฟอกหนังได้ดี ที่อินเดียใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ ไม้แกะสลัก ไม้กระดาน จึงนับได้ว่าราชพฤกษ์นั้นเป็นไม้ที่ให้คุณประโยชน์แก่ผู้ปลูกเป็นอย่างมาก
ลำดับบรรพชนของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
และกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท

