สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
บทที่ 18 พระราชวงศ์และตระกูลอันเป็นเชื้อพระวงศ์
พระราชวงศ์ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีจำนวนทั้งหมดเท่าใด มีพระนามว่าอย่างไร ?
สมเด็จพระเจ้าตากสินผู้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี ทรงมีพระราชโอรส พระราชธิดา และมีเจ้านายเชื้อพระวงศ์ อีกทั้งตระกูลอันสืบเนื่องจากพระองค์ท่าน ดังต่อไปนี้
18.1 ราชสกุลวงศ์ชั้นปฐมวงศ์ ได้แก่
- 1. สมเด็จพระราชชนนี พระนามเดิมว่าเอี้ยงหรือนกเอี้ยง ซึ่งเป็นที่สันนิษฐานว่าเป็นกุลสตรีในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติได้สถาปนาสมเด็จพระชนนีเป็น “กรมพระเทพามาตย์” ก่อนสิ้นพระชนม์ทรงพระประชวรหนักด้วยพระยอดอัคเนสัน (วรมัย กบิลสิงห์, 2540 : 71)
- 2. สมเด็จพระน้าเธอ พระนามเดิมว่าอั๋น ทรงสถาปนาพระอิสริยยศเป็น “กรมหลวงเทวินสุดา” เมื่อเปลี่ยนรัชกาลถูกลดพระยศเป็นหม่อมอั๋น
- 3. สมเด็จพระอัครมเหสี พระนามเดิมว่า สอน สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงสถาปนาพระอิสริยยศเป็น “กรมหลวงบาทบริจา” แต่เป็นที่เรียกกันทั่วๆ ไปว่า สมเด็จพระอัครมเหสีหอกลาง เมื่อเปลี่ยนรัชกาลถูกลดพระยศเป็น หม่อมสอน
- 4. เจ้าจอมมารดาเจ้าหญิงฉิม เจ้าจอมในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีฐานันดรศักดิ์เป็นเจ้าหญิง เนื่องจากเป็นพระธิดาองค์กลางในเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) หัวหน้าชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จยกทัพไปปราบชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราชนั้น เจ้านครศรีธรรมราชหนีไปพึ่งพระยาตานี แต่ถูกคุมตัวส่งมาจำขังไว้ที่ธนบุรี และได้ถวายพระธิดาเป็นข้าบาทบริจาริกา เจ้าหญิงฉิมได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระสนมเอก ที่กรมหลวงบริจาภักดีศรีสุดารักษ์
ต่อมาได้เป็นเจ้าจอมมารดาในสมเด็จฯ เจ้าฟ้าชายทัศพงศ์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าชายทัศไภย สมเด็จฯ เจ้าฟ้าชายนเรนทรราชกุมาร และสมเด็จฯ เจ้าฟ้าหญิงปัญจปาปี ซึ่งภายหลังในรัชกาลพระบาทสมเด็จ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 พระราชโอรสทั้งสามถูกลดพระยศเป็นที่พระพงศ์นรินทร์ พระอินทร์อภัย และ พระนเรนทรราชา ตามลำดับ เจ้าจอมมารดาเจ้าหญิงฉิมสิ้นพระชนม์ปีใด ไม่ปรากฏหลักฐาน
หมายเหตุ : เมืองนครศรีธรรมราช
ในสมัยกรุงธนบุรี พระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) เป็นผู้ครองนครฯ ซึ่งเมื่อก่อนกรุงศรีอยุธยาจะเสียแก่พม่า เมืองนครศรีธรรมราชเป็นประเทศราช จึงมีตำแหน่งขุนนางต่างๆ อย่างประเทศราช มีทั้งอุปราช พระยาจักรี ขุนนางทำนองจตุสดมภ์ ฯลฯ ส่วนวงศาคณาญาติก็แต่งตั้งขึ้นเป็นเจ้าพระยาจักรีเป็นต้น พระเจ้านครฯ (หนู) มีธิดา 3 องค์ คือ
องค์ใหญ่ ชื่อ ชุ่ม บางทีเรียกนวล เรียกกันในสมัยนั้นว่า “ ทูลกระหม่อมหญิงใหญ่ ” เป็นชายาของเจ้าอุปราช เมืองนคร (พัฒน์) (เสทื้อน ศุภโสภณ, 2527 : 101 ; สังข์ พัฒโนทัย , ม.ป.ป. : 260)
องค์กลาง ชื่อ ฉิม ถวายเป็นพระสนมในสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เป็นที่โปรดปรานมาก ทรงยกย่องเป็นมเหสีฝ่ายซ้าย สถาปนาเป็น กรมหลวงบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ ชาวนครฯ เรียกเจ้าหญิงฉิมนี้ว่า “ทูลกระหม่อมหญิงกลาง” ท่านมีพระโอรสเป็นเจ้าฟ้าชาย 3 องค์ และเจ้าฟ้าหญิง 1 องค์
องค์สุดท้าย ชื่อ ปราง (หรือหนูเล็ก) เป็นพระสนมในสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ชาวนครฯ เรียกท่านว่า “ทูลกระหม่อมหญิงเล็ก” องค์นี้ต่อมาเมื่อทูลกระหม่อมหญิงใหญ่ ‘ ชุ่ม ‘ สิ้นชีพแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงยกพระราชทานเจ้าอุปราช (พัฒน์) ทั้งๆ ที่ เจ้าจอมมารดาปราง หรือทูลกระหม่อมหญิงเล็ก ทรงพระครรภ์อยู่ ซึ่งหากประสูติพระราชโอรสหรือพระราชธิดาก็จะเป็นบุตรเลี้ยงของเจ้าอุปราช (พัฒน์) และจะได้มีอำนาจวาสนาในเมืองนครฯ ซึ่งเป็นประเทศราชอยู่ทางภาคใต้ (จุลลดา ภักดีภูมินทร์. “พระองค์เสือ และพระองค์ช้าง,” สกุลไทย 48(2488) : 25 มิถุนายน 2545 : 27, 49)
- 5. เจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่
เจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นพระราชธิดาองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี สันนิษฐานว่าประสูติเมื่อ พ.ศ.2304 ด้วยเหตุที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกผู้บิดาเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ และทำความชอบมาก ดังนั้น คุณฉิมจึงได้รับการยกย่องขึ้นเป็นพระสนมเอก (พระราชชายา) หรือที่เรียกกันว่า เจ้าจอมฉิมใหญ่
เจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.2322 (ในสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี) พระชนมายุ 18 พรรษา หลังจากการประสูติพระราชโอรส เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ ได้เพียง 12 วัน ครั้นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกลับจากราชสงคราม จึงได้จัดงานศพอย่างสมเกียรติยศทุกประการ ภายหลังเมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกปราบดาภิเษกเถลิงถวัลยราชสมบัติ จึงได้โปรดฯ สถาปนาเจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่ในฐานะพระราชธิดาเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฉิมใหญ่ ส่วนเจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์โปรดฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช


- 6. พระราชชายา ได้แก่ เจ้านายพระราชวงศ์ครั้งกรุงศรีอยุธยา มาเป็นพระราชชายาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช 12 พระองค์ คือ
6.1 พระองค์เจ้าหญิงสุริยา
6.2 เจ้าฟ้าหญิงจันทวดี
6.3 เจ้าฟ้าหญิงพินทวดี
6.4 พระองค์เจ้าหญิงฟักทอง
ทั้งสี่พระองค์เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
6.5 พระองค์หญิงทับทิม พระราชธิดาในสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือ
6.6 พระองค์เจ้าหญิงมิตร พระธิดาในกรมพระราชวังบวร มหาเสนาพิทักษ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง)
6.7 พระองค์เจ้าหญิงประทุม เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร
6.8 หม่อมเจ้าหญิงบุบผา (หรือบุปผา) พระธิดาในกรมหมื่นจิตรสุนทร หลานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
6.9 หม่อมเจ้าหญิงอุบล พระธิดาในกรมหมื่นเทพพิพิธ หลานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
6.10 หม่อมเจ้าหญิงมณี พระธิดาในกรมหมื่นเสพภักดี หลานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
6.11 หม่อมเจ้าหญิงฉิม พระธิดาในเจ้าฟ้าจีด (หรือจิตร)
6.12 หม่อมเจ้าหญิงกระจาด พระธิดาในกรมหมื่นจิตรสุนาม หลานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
- 7. ชายาเจ้าจอมหม่อมห้าม อื่น ๆ ได้แก่
7.1 เจ้าจอมมารดาอำพัน ธิดาเจ้าอุปราชจันทร์ (นครศรีธรรมราช) ต้นตระกูลจันทโรจนวงศ์
7.2 เจ้าจอมมารดาเงิน
7.3 เจ้าจอมมารดาทิม ธิดาท้าวทรงกันดารทองมอญ
หมายเหตุ สมโชติ อ๋องสกุล (2454 : 1-3) ได้เขียนเล่าไว้ในหนังสือ “ ความรักเพื่อแผ่นดิน จากล้านนามาถึงท่าพระจันทร์ ” ว่า “… หลังศึกฟื้นม่านที่เชียงใหม่ ปี พ . ศ .2313 สาวงามจากนครลำปางได้ติดตามเป็นบาทบริจาริกาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี 1 คน โดยถวายงานเพื่อแผ่นดิน และสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกรุงธนบุรีกับล้านนา แต่เรื่องราวของนารีผู้ติดตามท่านนี้ไม่พบบันทึก …” รายละเอียดมีดังนี้
ถวายนัดดานารีครั้งที่หนึ่ง พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) บันทึกเรื่องราวหลังฟื้นม่านใน เชียงใหม่ สำเร็จแล้ว ตอนหนึ่งดังนี้ “… วันพฤหัสบดี เดือนยี่ แรม 3 ค่ำ เสด็จอยู่ ณ พระตำหนักริมน้ำเมืองเชียงใหม่ ทรงตรัสว่า พระยาลาวมีชื่อสวามิภักดิ์เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ได้ทำราชการช่วยรบพม่ามีความชอบ ทรงพระราชทานพระแสงปืนยาว ปืนสั้น หอก เสื้อผ้าแก่พระยาจ่าบ้านให้ถือพระราชอาญาสิทธิ์เป็น พระยาวิเชียรปราการ ครองเมืองเชียงใหม่ … ในวันนั้นพระยาวิเชียรปราการถวายนัดดานารี เป็นบาทบริจาริกาผู้หนึ่ง (สมโชติ อ๋องสกุล อ้างอิงจากพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี และจดหมายเหตุรายวันทัพสมัยกรุงธนบุรี ประชุมพงศาวดารเล่ม 40 กรุงเทพฯ : คุรุสภา 2512 หน้า 67-68)
แต่พระเจ้าตากไม่ทรงรับเพราะถือว่า “ เป็นการพรากลูกเขา ” จึงพระราชทานคืนพร้อมเงิน 1 ชั่ง และผ้า 1 สำรับ ดังพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี บันทึกว่า “… ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงิน 1 ชั่ง และผ้าสำรับหนึ่ง แล้วส่งตัวนารีผู้นั้นคืนให้พระยาวิเชียรปราการ …” (เรื่องเดียวกัน หน้า 68)
ถวายนัดดาครั้งที่สอง ทัพหลวงกรุงธนบุรีออกเดินทางจากเชียงใหม่มาถึง ลำปาง ซึ่งมีพระยากาวิละรอรับเสด็จ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีบันทึกว่า “… ครั้นรุ่ง ณ วันอังคาร เดือนยี่แรม 8 ค่ำ ยกจากห้างฉัตรมาประทับแรมลำปาง เพลาบ่าย 4 โมงเสด็จมานมัสการลาพระบรมธาตุ บูชาด้วยดอกไม้ทองเงิน แล้วโปรยเงินพระราชทานแก่ลาวเป็นอันมาก … อนึ่งพระยากาวิละถวายนัดดานารีเป็นบาทบริจาจาริกาผู้หนึ่ง (เรื่องเดียวกัน หน้า 69)
พระเจ้าตากโปรดให้นำนัดดานารีคืนพระยากาวิละ และพระราชทานเงิน 1 ชั่ง พร้อมผ้าสำรับหนึ่งเพราะไม่ประสงค์ “ พรากลูกเขา ” เหมือนดังได้พระราชทานให้พระยาวิเชียรปราการที่เชียงใหม่ แต่พระยากาวิละ และพระยาอุปราชาแห่งลำปางกราบทูลดังบันทึกว่า “… บัดนี้เจ้าตัวก็สมัคร บิดามารดาญาติพี่น้องทั้งปวงก็ยอมพร้อมกันอันจะเป็นโทษด้วยพลัดพรากจากบิดามารดา …” พระเจ้าตากทรงรับไว้ ดังพระราชพงศาวดารบันทึกว่า “… ทรงพระดำริเห็นว่าตั้งใจสวามิภักดิ์เป็นแท้แล้ว จึ่งพาตามเสด็จฯ มาด้วย …” (เรื่องเดียวกัน หน้า 69-70) นัดดานารีจากนครลำปางก็เข้าสู่ราชสำนักกรุงธนบุรี ตามความประสงค์ของเจ้ากาวิละแห่งนครลำปาง (ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้แต่งตั้งเป็นพระยามังราวชิรปราการกำแพงแก้ว ครองเมืองเชียงใหม่, http://www.lannaworld.com/person/kingcm1.htm , 16/9/2547)
18.2 สกุลวงศ์ชั้นพระราชโอรสและพระราชธิดา
มีทั้งหมด 30 พระองค์ เป็นชั้นเจ้าฟ้า 12 พระองค์ ชั้นพระองค์เจ้า 16 พระองค์ บุคคลธรรมดา 2 คน หลายพระองค์ไม่ปรากฏพระนามพระราชมารดา
- ชั้นเจ้าฟ้า มีทั้งหมด 12 พระองค์ มีพระนามตามลำดับพระชันษาดังนี้
1. สมเด็จพระมหาอุปราช เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ (จุ้ย) โอรสในสมเด็จพระอัครมเหสีกรมหลวงบาทบริจา ถูกสำเร็จโทษตามพระราชบิดา เมื่อ พ.ศ.2325
1.1 พระโอรสและพระธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ (จุ้ย) มี 4 พระองค์ ได้แก่ เจ้าหญิงมะเดื่อ เจ้าหญิงสาลี่ เจ้าชายไม่ปรากฏพระนาม และเจ้าชายทองอิน (หรือทองอินทร์)
หมายเหตุ เจ้าหญิงมะเดื่อ เป็นหม่อมห้ามในกรมหมื่นนราเทเวศร์ พระโอรสองค์ใหญ่ในกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง) เจ้าหญิงสาลี่ เป็นหม่อมห้ามในกรมหลวงเสนีบริรักษ์ พระโอรสองค์เล็กในกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข เช่นกัน ส่วนเจ้าทองอิน รับราชการในรัชกาลที่ 1 ได้เป็นพระยากลาโหมราชเสนา (จุลลดา ภักดีภูมินทร์, “ พระราชวงศ์กรุงธนบุรีกับพระราชจักรีวงศ์,” สกุลไทย 48(2483) : 21 พฤษภาคม 2545 : 78)
1.2 วงศ์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ (จุ้ย) พระมหาอุปราชกรุงธนบุรี มีแยกเป็น 2 สาย คือ
ก . สาย “ สินสุข” ซึ่งเจ้าพระยายมราช (สุข) บุตรเจ้าชายทองอินทร์ พระราชโอรสของสมเด็จพระมหาอุปราชเป็นต้นสาย
ข . สาย “ อินทรโยธิน” คุณชายนุด น้องเจ้าพระยายมราช (สุข) บุตรเจ้าชายทองอินทร์ เป็นต้นสาย
หมายเหตุ :
ก . เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ (จุ้ย)
เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ พระนามเดิมว่า จุ้ย เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และสมเด็จพระอัครมเหสีกรมหลวงบาทบริจา (สอน) มีบรรดาศักดิ์เป็นสมเด็จพระมหาอุปราช ดำรงตำแหน่งรัชทายาท ทรงช่วยราชการทำศึกสงครามอย่างหนักตลอดพระชนม์ชีพ ในคราวที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงให้แต่งทัพขึ้นไปตีเขมรในกลางปี พ . ศ . 2324 เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ทรงผนวชอยู่ ก็ได้ทรงลาผนวชและเสด็จเป็นทัพหนุนในศึกครั้งนี้ด้วย เนื่องจากสมเด็จพระบรมชนกได้มีพระราชดำริจะทรงสถาปนาให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินเขมร กล่าวกันโดยสันนิษฐานว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ อาจทรงมีพระราชดำริจะขยายพระราชอาณาเขต และอำนาจให้กว้างออกไป จึงทรงส่งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ พระราชโอรสในพระมเหสีใหญ่ ไปปกครองกัมพูชา โดยมีพระราชดำรัสสั่งสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ว่า เมื่อเหตุการณ์ในเขมรสงบราบคาบแล้ว (ขณะนั้นเขมรเกิดศึกแย่งชิงราชสมบัติกัน) ก็ให้สมเด็จเจ้าพระยาฯ ทำพิธีสถาปนา กรมขุนอินทรพิทักษ์ ขึ้นเป็นเจ้าครองนครกัมพูชา (จุลลดา ภักดีภูมินทร์, “ พระองค์เสือ และพระองค์ช้าง,” สกุลไทย 48(2488) : 25 มิถุนายน 2545 : 27, 119)
แต่เกิดเหตุการณ์จลาจลในกรุงธนบุรี ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแผ่นดินเสียก่อน ช่วงปลายรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชบ้านเมืองเป็นจลาจล สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้เข้าทำการสงบระงับเหตุจลาจล และเหล่าข้าราชการลงความเห็นให้สำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี
เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ยังคงประทับที่เขมร เมื่อผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน ภายหลังได้หนีไปยังเขาน้อย แต่ก็ถูกจับได้ และทรงถูกสำเร็จโทษตามพระราชบิดาพร้อมกับพระยากำแหงสงคราม (คือพระยานครราชสีมา (ปิ่น) นายทหารผู้ร่วมกรำศึกมาทุกสมรภูมิกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหา ราช) สมเด็จพระอัครมเหสี กรมหลวงบาทบริจา (สอน) ถูกลดพระยศเป็น “หม่อมสอน” รวมทั้งพระโอรส และพระธิดา ชั้นพระองค์เจ้า ถูกลดพระยศ แต่ก็ยังเป็นที่เคารพรักของราษฎร และผูกพันกับเจ้านายในพระราชวงศ์จักรี และผูกสายสัมพันธ์ทางการสมรสกับเจ้านายผู้ทรงเป็นต้นราชสกุลหลายพระองค์ และมีสายสืบราชสกุลมาจนทุกวันนี้ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ทรงเป็นต้นราชสกุล สินสุข และ อินทรโยธิน (เล็ก พงษ์สมัครไทย, สายสัมพันธ์ราชสกุลพระเจ้าตากกับราชวงศ์จักรี, ศิลปวัฒนธรรม 23(6) : เมษายน 2545 : 63)
ข . เจ้าชายทองอิน (คุณชายทองอิน) เป็นโอรสของเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ (เจ้าจุ้ย) พระอุปราชซึ่งเป็นเสมือนโอรสองค์ใหญ่ของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ
คุณชายทองอิน ต่อมาได้เป็น พระยากลาโหมราชเสนา กล่าวกันว่าสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ในรัชกาลที่ 1 โปรดปรานมากมีรับสั่งว่าเป็นเสมือนโอรสบุญธรรม เมื่อพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัต คิดกบฏ หลังจากสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ สวรรคต พระยากลาโหมราชเสนา (ทองอิน) จึงได้เข้าร่วมด้วย จึงต้องพระราชอาญาประหารชีวิตพร้อมกับพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัต และผู้สมรู้ร่วมคิด อีกหลายคน (จุลลดา ภักดีภูมินทร์, “พระองค์เสือ และพระองค์ช้าง,” สกุลไทย 48 (2493) : 30 กรกฎาคม 2545 : 86)
2. สมเด็จเจ้าฟ้าชายน้อย โอรสในสมเด็จพระอัครมเหสีกรมหลวงบาทบริจา ถูกสำเร็จโทษตามพระราชบิดา
3. สมเด็จเจ้าฟ้าชายทัศพงศ์ โอรสในกรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ (เจ้าหญิงฉิม ธิดาเจ้านครฯ) ต่อมาได้รับราชการเป็นหมอหลวงในรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 ทรงเป็นต้นสกุล พงษ์สิน
3.1 พระโอรสและพระธิดา ใน เจ้าฟ้าชายทัศพงศ์ มี 17 พระองค์ ได้แก่ คุณหญิงศิลา รับราชการฝ่ายใน คุณชายสวาสดิ์ เป็น คุณชายพลพ่าย คุณหญิงเสงี่ยมเป็นภริยาพระยาเสน่หามนตรี (น้อยเอียด) สกุล จาตุรงคกุล
หมายเหตุ พระยาเสน่หามนตรี (น้อยเอียด) เป็นบุตรชายของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ผู้เป็นราชโอรสสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเจ้าจอมปราง ( น้องสาวกรมหลวงบริจาภักดีศรีสุดารักษ์) ดังนั้นคุณหญิงเสงี่ยมกับพระยาเสน่หามนตรี (น้อยเอียด) จึงเป็นลูกพี่ลูกน้องกับทางบิดานั่นเอง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 คุณหญิงเสงี่ยมมีตำแหน่งเป็นปลัดของเจ้าคุณหญิงนุ่ม ธิดาสมเด็จเจ้าพระยายมราชมหาพิชัยญาติ เจ้าคุณหญิงนุ่มนับเป็นเจ้าคุณพระราชพันธ์ ชั้น 3 เป็นหลานย่าของเจ้าคุณหญิงนวล เจ้าคุณพระราชพันธ์ ชั้น 1 (น้องนางในสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ 1) คุณปลัดเสงี่ยมเคยเป็นพระพี่เลี้ยงในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง (รัชกาลที่ 5) เป็นที่โปรดปรานมาก ตรัสเรียก “คุณหรัดน้อย” (คงมาจากคำว่า “ คุณปลัดน้อย ”)
– คุณหญิงกุหลาบ คุณหญิงเผือก คุณหญิงจีน คุณหญิงกลีบ
– คุณหญิงเวก คุณชายนุด
– คุณชายราช เป็นพระนรินทร ต้นสกุล พงษ์สิน
– คุณหญิงพลับ เป็นพระชายากรมหมื่นภูมินทรภักดีต้นราชสกุล ลดาวัลย์
หมายเหตุ คุณพลับมีโอรสธิดา 3 องค์ ธิดาองค์ใหญ่ชื่อหม่อมเจ้าสารภี หม่อมเจ้าสารภีนี้ เป็นที่โปรดปรานในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมาก สมเด็จเจ้าฟ้า พระราชโอรสธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง และพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธสินีนาฏฯ ทรงเรียกว่า “ป้าภี” พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จึงพลอยตรัสเรียกว่า “ป้าภี” ตามไปด้วย ในพระราชนิพนธ์เรื่อง “ไกลบ้าน” ทรงเอ่ยถึง “ป้าภี” หลายครั้ง
– คุณหญิงจั่น เป็นพระนมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
– คุณหญิงจีบ คุณหญิงหรุ่น คุณชายชุบ คุณชายฉาย
– คุณหญิงขาว เป็นพระนมของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงศ์ พระราชอนุชาพระองค์กลางร่วมพระราชชนนี ในสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง
3.2 วงศ์สมเด็จเจ้าฟ้าทัศพงศ์ มี 1 สายคือ “พงษ์สิน” ซึ่งคุณชายราช (พระนรินทร) พระโอรสเจ้าฟ้าชายทัศพงศ์เป็นต้นสาย
4. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงโกมล ไม่ทราบพระนามพระมารดา
5. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงบุปผา ไม่ทราบพระนามพระมารดา
6. สมเด็จเจ้าฟ้าชายสิงหรา ไม่ทราบพระนามพระมารดา
7. สมเด็จเจ้าฟ้าชายศิลา ไม่ทราบพระนามพระมารดา ต้นสกุล ศิลานนท์
7.1 พระโอรสและพระธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้าชายศิลามี 4 พระองค์ ได้แก่ คุณหญิงทับ เป็นพระชายากรมพระอิศเรศต้นราชสกุล สุริยกุล คุณหญิงพลับ เป็นพระชายากรมหมื่นกษัตริย์ศรีสักดิเดช ต้นราชสกุล อิศรเสนา คุณหญิงหนู คุณชายอิ่ม เป็นหลวงราชนรารักษ์ ต้นสกุล ศิลานนท์
7.2 วงศ์สมเด็จเจ้าฟ้าชายศิลา มีสกุลสืบสายตรงจากพระโอรส คือ คุณชายอิ่ม ซึ่งเป็นหลวงราชนรารักษ์ คือ วงศ์ “ศิลานนท์”
8. สมเด็จเจ้าฟ้าชายเล็ก ไม่ทราบพระนามพระมารดา
9. สมเด็จเจ้าฟ้าชายทัศไภย โอรสในกรมหลวงบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ ถูกสำเร็จโทษเมื่อ พ.ศ.2328 ฐานเป็นชู้กับเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
9.1 พระโอรสและพระธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้าชายทัศไภย มี 13 พระองค์ ได้แก่
– คุณชายดั่น เป็นหลวงมงคลรัตน์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
– คุณหญิงน้อย เป็นเจ้าจอมมารดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (และมีพระราชโอรสก่อนเสวยราชย์ 2 พระองค์ คือ พระองค์เจ้าชาย นพวงศ์ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ และพระองค์เจ้าชายสุประดิษฐ์ กรมหมื่นวิศณุนาถนิภาธร)
– คุณหญิงลูกอิน
– คุณหญิงอรัญ (หรือหิรัญ)
– คุณชายเหรา
– คุณหญิงพุ่ม
– คุณหญิงไฝ
– คุณชายมังกร
– คุณชายเล็ก
– คุณหญิงเผือก
– คุณหญิงหนู
– คุณชายจุ้ย
– คุณชายน้อย
หมายเหตุ :
ก . พระพงษ์นรินทร์ – พระอินทร์อภัย ( สมเด็จเจ้าฟ้าทัศพงศ์ และสมเด็จเจ้าฟ้าทัศไภย ) เจ้าฟ้าทัศพงศ์นี้เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงผนวช ได้ติดตามสมเด็จพระราชบิดาเข้าไปประทับอยู่ในโบสถ์ด้วย เวลานั้นชันษาได้ 12 ปี ยังไม่ทันได้โสกันต์
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงมีความเคารพรักในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองสงบเรียบร้อยแล้วทรงโปรดให้ขุดพระศพ ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ขึ้นมาถวายพระเพลิง ที่วัดบางยี่เรือใต้ โดยพระองค์ได้เสด็จฯ พร้อมสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท และทรงฉลองพระองค์พระภูษาขาวอันเป็นการถวายความเคารพ และถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอย่างยิ่ง
ในส่วนของพระโอรสและพระธิดาแห่งองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี ก็ทรงให้ความเมตตาชุบเลี้ยงและให้รับราชการในตำแหน่งต่างๆ ทรงโปรดให้สมเด็จเจ้าฟ้าทัศพงศ์ และสมเด็จเจ้าฟ้าชายทัศไภยเป็นที่ “พระพงษ์นรินทร์” และ “พระอินทร์อภัย” ที่หม่อมราชนิกุลรับราชการในราชสำนัก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ทรงพระเมตตาโปรดปรานเจ้าฟ้าทัศพงศ์มาก โปรดชุบเลี้ยงคู่กันกับนักองค์เอง (โอรสของพระเจ้ากัมพูชา) ซึ่งทรงรับเป็นราชบุตรบุญธรรม โปรดฯ ให้อุปสมบทพร้อมกับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์ ทรงผนวชสมโภชพร้อมกันอย่างมโหฬาร (จุลลดา ภักดีภูมินทร์ , “ พระราชวงศ์กรุงธนบุรีกับพระราชจักรีวงศ์ ,” สกุลไทย 48(2483) : 21 พฤษภาคม 2545 : 78)
เนื่องด้วยพระโอรสทั้งสองของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีความรู้ทางการแพทย์ และมีตำแหน่งเข้าเฝ้าต่อจากเสนาบดี และด้วยหน้าที่ทางการแพทย์ที่มีความสนิทคุ้นเคยและเข้านอกออกในได้ ทำให้พระอินทร์อภัยมีสัมพันธ์สวาทกับเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ความทราบถึงพระกรรณทรงโปรดให้ไต่สวน ได้ความเป็นสัตย์ จึงโปรดให้ประหารชีวิตเสียทั้งพระอินทร์อภัย และเจ้าจอม เหตุเกิดเดือน 10 ปีวอก พ.ศ.2355 ( http://pantip.inet.co.th/caf?/library/topic/K1578551 /K1578551.html, 27/6/2002)
ข . เจ้าจอมมารดาน้อย
ธิดาคนที่สองของพระอินทร์อภัย (สมเด็จเจ้าฟ้าทัศไภย) คือ คุณหญิงน้อย หรือ เจ้าจอมมารดาน้อย ได้เป็นหม่อมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ ประสูติพระราชโอรส 2 พระองค์ คือ พระองค์เจ้านพวงศ์ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส องค์ต้นราชสกุล นพวงศ์ ณ อยุธยา และ พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร องค์ต้นราชสกุล สุประดิษฐ์ ณ อยุธยา
ปีวอก พ.ศ.2367 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงโปรดให้สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จทรงผนวช ซึ่งขณะนั้นพระองค์เจ้านพวงศ์และพระองค์เจ้าสุประดิษฐ์มีพระชันษาได้ 2 ปีและ 2 เดือนตามลำดับ
ระหว่างที่สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎทรงผนวชอยู่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคตโดยมิได้ทรงมอบราชสมบัติแก่เจ้านายพระองค์ใด ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และพระบรมวงศานุวงศ์ได้ถวายสิริราชสมบัติแด่พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ซึ่งต่อมาทรงเป็นรัชกาลที่ 3 แห่งพระราชวงศ์จักรี สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎจึงครองสมณเพศต่อมาตลอด 27 ปี ในช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3)
เจ้าจอมมารดาน้อย ได้อาศัยอยู่กับพระพงษ์นรินทร์ (สมเด็จเจ้าฟ้าทัศพงศ์) ผู้เป็นลุงและเลี้ยงดูพระองค์เจ้านพวงศ์ ส่วนพระองค์เจ้าสุประดิษฐ์นั้น สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ซึ่งประทับอยู่ ณ พระราชวังเดิมธนบุรีทรงเป็นผู้ชุบเลี้ยงให้การอุปถัมภ์
เจ้าจอมมารดาน้อยเป็นสตรีผู้น่าสงสาร เนื่องด้วยสมเด็จพระอัยกาคือพระเจ้าตากสินมหาราชก็ถูกสำเร็จโทษ พระบิดาคือสมเด็จเจ้าฟ้าชายทัศไภย หรือพระอินทร์อภัยก็ถูกประหารชีวิต ชีวิตส่วนตัวก็ตกระกำลำบาก เพราะพระสวามีเสด็จทรงพระผนวชอยู่ถึง 27 พรรษา เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จครองราชย์ แล้วก็ไม่โปรด และไม่ยกย่องเจ้าจอมมารดาน้อยเป็นพิเศษแต่ประการใด เจ้าจอมมารดาน้อยจึงมีพฤติกรรมการแสดงออกแปลกๆ ซึ่งอาจจะเป็นการเรียกร้องความสนใจก็เป็นได้
ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จด้วยกระบวนเรือจากตำหนักน้ำถึงวัดเขมาตลาดแก้ว มีเรือเก๋งลำหนึ่งพายตามขึ้นมาแข่งกับเรือพระที่นั่ง เจ้าหมื่นสรรเพธภักดี (เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง) ร้องถามก็ไม่บอก บ่าวผู้หญิงในเรือเก๋งนั้นพากันหัวเราะเยาะ เมื่อสอบปรากฏว่าเรือเก๋งลำนั้นเป็นของเจ้าจอมมารดาน้อย การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้ขัดเคืองพระราชหฤทัย ทำให้ความสัมพันธ์ที่ห่างเหินอยู่แล้วยิ่งไม่มีหนทางจะมาบรรจบกันได้อีกเลย ดังปรากฏหลักฐานที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล่าเรื่องนี้ให้เจ้าจอมมารดาผึ้ง ในลายพระราชหัตถเลขาลงวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 พ.ศ.2398 ความว่า
“ ข้าออกเรือกระบวรมาจากตำหนักน้ำ วัน ๑ ๖ ๙ ๑๒ ค่ำ จวนรุ่งเวลาตี ๑๑ กับ ๖ บาท ขึ้นมาถึงวัดเขมาตลาดแก้วเวลาเช้าโมงครึ่งกับ 4 บาท มีเรือเก๋งลำหนึ่งพายตามขึ้นมาแข่งเรือที่นั่งของข้า เกินหน้าเรือตำรวจ เรือที่นั่งรองทุกลำ แข่งจนเก๋งเคียงกันยาเรือที่นั่ง แต่แรกข้าสำคัญว่านางหนูลูกรำเพย (ทรงหมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าหญิงจันทรมณฑล) จะร้องไห้ มารดาจะให้เอาใส่เรือเก๋งขึ้นมาส่งให้ข้ากระมัง ข้าจึงร้องถามไปว่าเรือใครเรือนั้น มีม่านบังมิดมีผู้หญิงนั่งท้ายหลาย (คน) เรือตำรวจตามไปก็สำคัญว่าเรือข้างใน ในกระบวร จึงไม่มีใครห้ามปล่อยให้พายขึ้น สรรเพธภักดีร้องถามหลายคำก็ไม่บอก ข้าถามหลายคำว่าอะไรๆ เรือใครก็ไม่บอก บ่าวผู้หญิงข้างท้ายก็หัวร่อเยาะด้วยบานเต็มที จนคนในเรือที่นั่งโกรธว่าหัวร่อเยาะ
ข้าคิดจะให้เอาปืนยิงตามกฎหมาย ก็กลัวจะถูกคนตายเขาจะลือไปว่าดุร้ายใจเบาทำคนตายง่ายๆ พายแข่งไล่เรือที่นั่งอยู่นาน เห็นผิดทีแล้วจึงได้ร้องให้ตำรวจไล่จับ ครั้นเรือไปจับจะฉุดเรือมาจึงพายห่างออกไป ไล่ไปไกลจึงได้ตัวเรือมา ได้ความว่าเป็นเรือมารดากรมหมื่นมเหศวรศิววิลาสมาทำหน้าเป็นเล่นตัว ล้อข้าต่อหน้าทารกำนัลน่าชังนักหนา ข้าสั่งให้พระอินทรเทพจับกุมเรือลงมาส่งตัวนายเข้ามาให้จำไว้ บ่าวให้จำไว้ข้างหน้า
ข้าได้เขียนหนังสือมาให้กรมหมื่นมเหศวรทราบ แล้วได้มีใบสั่งถึงท้าวศรีสัจจา ท้าวโสภานิเวศน์ ให้จำตัวไว้ให้มั่นคงกว่าข้าจะกลับลงไป อยากจะใคร่ให้เอาไปตัดหัวเสียตามสกุลพ่อมัน แซ่นี้มักเป็นเช่นนั้นเหมือนคุณสำลี มารดาพระองค์เจ้านัดดา ถึงลูกท่านรัก ท่านเลี้ยงเป็นหนักหนา มารดาท่านเอาไว้ไม่ได้เอาไปตัดหัวเสียเป็นอย่างนี้มาแล้ว ”
ในพระราชหัตถเลขาฉบับนี้แสดงให้เห็นความขัดเคืองพระทัย… ส่วนชาตากรรมของเจ้าจอมมารดาน้อยต่อจากนั้นจะเป็นอย่างไรไม่มีหลักฐานแน่ชัด คงทราบแต่ว่า ถูกกักตัวไว้ในพระราชวังชั้นใน พร้อมๆ กับแม่ตลับ และแม่ย้อย ซึ่งร่วมนั่งอยู่ในเรือลำเดียวกัน (ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, 2539 : 80-82)
เมื่อเจ้าจอมมารดาน้อยถึงแก่อนิจกรรม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้พระราชทานเพลิงศพที่สวนท้ายวังของพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร เมื่อเสร็จงานศพเจ้าจอมมารดาน้อยแล้ว กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธรจึงทรงกะการสร้างวัดขึ้นบริเวณสวนท้ายวังที่เป็นที่ปลงศพเจ้าจอมมารดาน้อย วิธีการที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธรทรงกะการสร้างวัดคือทรงโปรยเงินไปทั่วบริเวณพื้นที่ที่ทรงกำหนดว่าเป็นที่สร้างวัด แล้วโปรดให้บ่าวไพร่ในพระองค์พากันแผ้วถางต้นไม้ใบหญ้าเพื่อเก็บเอาเงินนั้น ซึ่งก็คือวิธีการจ่ายค่าแรงของพระองค์นั่นเอง
การสร้างวัดยังไม่แล้วเสร็จ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธรสิ้นพระชนม์ลงเมื่อปีจอ พ.ศ.2405 พระชันษาเพียง 38 ปี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาสทรงสร้างวัดต่อ แต่กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาสก็สิ้นพระชนม์ลงไป อีกเมื่อปีเถาะ พ.ศ.2410 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงรับเอาการสร้างวัดนั้นมาดำเนินการต่อ
โดยทรงโปรดให้พระยาราชสงครามเป็นแม่กองก่อสร้างต่อจนแล้วเสร็จ จึงพระราชทานนามวัดว่า “ วัดตรีทศเทพ ” ซึ่งมีความหมายว่า “เทวดาสามนายสร้าง” แล้วโปรดให้แห่ พระครูจุลานุนายก (คง) พระครูปลัดซ้ายฐานานุกรมของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์จากวัดบวรนิเวศวิหาร มาครองวัดตรีทศเทพเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก
ค . กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส และ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส เมื่อแรกประสูติมีพระยศเป็นหม่อมเจ้า พระนามว่า หม่อมเจ้านพวงศ์ (หรือ นภวงศ์ ) เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว โปรดให้เลื่อนพระยศเป็นพระองค์เจ้า มีพระนามตามพระสุพรรณบัฏว่า “ พระองค์เจ้านพวงศ์ วรองค์เอกอรรคมหามกุฎ ปรมุตมราโชรส ” และได้รับสถาปนาเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามว่า “ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส ” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาสมิได้รับราชการใดๆ แต่มาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถ ได้ทรงเป็น ผู้กำกับกองทหารล้อมวัง
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร เมื่อแรกประสูติมีพระยศเป็น หม่อมเจ้าสุประดิษฐ์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จครองราชย์แล้ว ทรงโปรดให้เลื่อนพระยศเป็น “ พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ วรฤทธิราชมหามกุฎ บุรุษยรัตนราชวโรรส” และเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม ทรงพระนามว่า พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร ซึ่งได้ทรง กำกับราชการกรมพระคลังสมบัติ และได้เสด็จไปศึกษาดูงานการปกครอง และการพัฒนาบ้านเมืองยังสิงคโปร์ โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณา ให้เสด็จไปดูงานพร้อม สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งในขณะนั้นท่านมีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธรจึงเป็นเจ้านายชั้นพระราชโอรสพระองค์แรกที่เสด็จไปศึกษาดูงานยังต่างประเทศ
10. สมเด็จเจ้าฟ้าชายนเรนทรราชกุมาร โอรสในกรมหลวงบริจาภักดีศรีสุดารักษ์
10.1 พระโอรสและพระธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้าชายนเรนทรราชกุมาร มี 18 พระองค์ ได้แก่
– คุณชายจุ้ย เป็นนายฉลองไนยนาถ ในรัชกาลสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
– คุณชายวงศ์ เป็นพระณรงค์
– คุณชายเกษม เป็นหลวงมหาวิสูตรโกษา (มีธิดาคือ เจ้าจอมมารดาเอี่ยมและเจ้าจอมมารดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว)
– คุณหญิงขำ
– คุณชายนุด เป็นพระบำเรอราช แล้วเลื่อนเป็นพระยาอุทัยธรรม (มีหลานปู่เป็นหญิงคนเดียวชื่อศิลา แต่งงานกับสกุลธรรมสโรช)
– คุณชายนัด เป็นพระราชาภิมณฑ์
– คุณชายนาค เป็นหลวงพิพัฒนสุนทร
– คุณหญิงจัน
– คุณหญิงแสง
– คุณชายรุ่ง เป็นพระยาสามภพพ่าย แล้วเลื่อนเป็นพระยาจิรายุมนตรี ต้นสกุล รุ่งไพโรจน์
– คุณหญิงอ่วม คุณหญิงฝอย คุณหญิงทับ คุณหญิงปรีก คุณชายอินทนิล
– คุณหญิงอำพร คุณหญิงอำพัน
– คุณหญิงสุด มีธิดาชื่อมาลัย เป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว 10.2 วงศ์สมเด็จเจ้าฟ้าชายนเรนทรราชกุมาร มีสกุลสืบสายตรงจากพระโอรส คือ คุณชายรุ่ง หรือ พระยาสามภพพ่าย คือ วงศ์ “ รุ่งไพโรจน์ ”
11. สมเด็จเจ้าฟ้าชายสุพันธุวงศ์ กรมขุนกษัตรานุชิต (เจ้าฟ้าเหม็น) โอรสในเจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่ พระราชธิดาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ถูกสำเร็จโทษในปี พ . ศ . 2352
11.1 พระโอรสและพระธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้าชายสุพันธุวงศ์ กรมขุนกษัตรานุชิต ซึ่งราชวงศ์จักรียินยอมให้มีพระยศเป็นเจ้านั้นมี 13 พระองค์ ได้แก่
– หม่อมเจ้าชายใหญ่ ถูกสำเร็จโทษตามพระบิดา
– หม่อมเจ้าหญิงตลับ
– หม่อมเจ้าหญิงป้อม
– หม่อมเจ้าชายสุวรรณ ถูกสำเร็จโทษตามพระบิดา
– หม่อมเจ้าหญิงยี่สุ่น
– หม่อมเจ้าชายหนูเผือก ถูกสำเร็จโทษตามพระบิดา
– หม่อมเจ้าชายสวัสดิ์ ถูกสำเร็จโทษตามพระบิดา
– หม่อมเจ้าหญิงสำลี
– หม่อมเจ้าหญิงสารภี
– หม่อมเจ้าชายเล็ก ถูกสำเร็จโทษตามพระบิดา
– หม่อมเจ้าหญิงมุ้ย
– หม่อมเจ้าชายแดง ถูกสำเร็จโทษตามพระบิดา
– หม่อมเจ้าหญิงไม่ปรากฏพระนาม

วังท่าพระ ปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัย ศิลปากรวิทยาเขต วังท่าพระ
(ภาพจากหนังสือที่ระลึกเนื่องในวาระครบรอบ 60 ปี มหาวิทยาลัยศิลปากร)
หมายเหตุ :
ก . สมเด็จเจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ กรมขุนกษัตรานุชิต
เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชปราบดาภิเษก เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ขณะดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้ถวายพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงฉิมใหญ่ (เจ้าครอกหญิงใหญ่) ให้เป็นพระราชชายาในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และได้ประสูติพระราชโอรสคือสมเด็จเจ้าฟ้าชายสุพันธุวงศ์ แต่คนทั่วไปเรียกว่า เจ้าฟ้าเหม็น เมื่อ พ.ศ.2322 หลังจากประสูติได้ 12 วัน พระราชมารดาก็สิ้นพระชนม์ สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงยกย่องเกียรติยศสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงฉิมใหญ่ในการพระราชทานเพลิงศพ เจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่เท่ากับพระศพเจ้าฟ้า เพราะเจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์เป็นหลานตาของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จเจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ทรงอยู่ในฐานะพระราชนัดดา ได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า เจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์ พวกข้าราชการเรียกพระนามโดยย่อว่าเจ้าฟ้าอภัย รัชกาลที่ 1 ทรงเห็นว่าไปพ้องกับพระนามเจ้าฟ้า 2 พระองค์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงโปรดฯ พระราชทานนามใหม่เป็น เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานพระยศเป็น เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต ทรงมีวังที่ประทับอยู่ที่ถนนหน้าพระลานด้านตะวันตกที่เรียกว่า วังท่าพระ
สันนิษฐานว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงมีพระราชดำริจะให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ พระโอรสในเจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่ ขึ้นครองราชย์ พระอัยกา (ตา) ต่อมาคือรัชกาลที่ 1 จะได้เป็นกำลังสำคัญ เพราะเจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่เป็นพระธิดาองค์ใหญ่ของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ซึ่งต่อมาคือ รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงค์จักรี) (จุลลดา ภักดีภูมินทร์ ‘พระองค์เสือและพระองค์ช้าง,’ สกุลไทย 48(2488) : 25 มิถุนายน 2545 : 119)
วันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายน พ.ศ.2352 เวลาดึก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าเสด็จสวรรคต เช้าวันศุกร์สรงน้ำพระบรมศพ แล้วเชิญไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
เช้าวันอาทิตย์ที่ 10 กันยายน พ.ศ.2352 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จออกทรงบาตรที่ชลาหน้าพระมหาปราสาท กาคาบไข่มากินที่บนต้นแจงแล้วทิ้งเปลือกไข่ลงมายังพื้นดิน พระยาอภัยภูธร (น้อย) สมุหนายก ขณะเป็นที่พระยาอนุชิตราชา จางวางพระตำรวจ เก็บเอาเปลือกไข่มาดู เห็นมีหนังสืออยู่ข้างในเป็นบัตรสนเท่ห์ความว่า พระโอรสและพระธิดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช คือ เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต พระองค์เจ้าชายอรนิภา (หนูดำ) และ เจ้าจอมมารดาสำลีวรรณ
คบคิดกับข้าราชการหลายคนจะก่อการกบฏแย่งชิงเอาราชสมบัติ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ คือ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงสอบสวนได้ความเป็นสัตย์ รวมทั้งมีการพาดพิงซัดทอดข้าราชการหลายคน เช่น เจ้าพระยาพลเทพ (บุนนาค บ้านแม่ลา) พระยาเพ็ชรปาณี (กล่อม) พระยาราม (ทอง) พระอินทเดช (กระต่าย) จมื่นสท้านมณเฑียร (อ่อน) นายขุนเนน หลานเจ้าพระยาพลเทพ สมิงรอดสองราม สมิงศิริขุนโดด บุตรเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) สมิงพัตเบิด (ม่วง) สมิงปินทะละ ข้าในเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต 10 คน รวม 40 คน กับพระราชวงศ์อีก 3 พระองค์ (สุจิตต์ วงษ์เทศ คัดลอกมาจากบทนิพนธ์บางเรื่องของหลวงพานิชยลักษณ์ (เพิ่มยศ อิศรเสนา, ม,ล,, 2528 : 62)
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงโปรดให้ถอดยศเจ้าฟ้า กรมขุนกษัตรานุชิต เป็น หม่อมเหม็น แล้ว สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ ที่วัดปทุมคงคา
ส่วนพระองค์เจ้าชายอรนิภา (หนูดำ) พระองค์เจ้าหญิงสำลีวรรณและข้าราชการสมรู้ร่วมคิดนั้น ทรงโปรดให้ลงโทษด้วยการตัดศีรษะเสียทั้งสิ้น
ส่วนโอรสของเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิตหรือหม่อมเหม็นจำนวน 6 พระองค์ ก็ต้องโทษ ทรงถูกนำไปถ่วงน้ำที่ปากอ่าว (บ้างก็ว่าที่ปากน้ำเจ้าพระยา) (ปรามินทร์ เครือทอง, 2547 : 108-115 ; สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2531 : 62-63 และ http://pantip.inet.co.th/caf?/library/topic/K157851 /K1578551 .html , 27/6/2545)

พระพุทธรูปบริเวณวิหารคด วัดปทุมคงคา
สำหรับคดีกบฏเจ้าฟ้าเหม็นนี้ ปรามินทร์ เครือทอง (2547 : 108-115) ได้ตั้งข้อคำถามไว้ในบทความเรื่อง “คดีกบฏเจ้าฟ้าเหม็น : รัชทายาทพระเจ้าตาก” ว่าคดีนี้น่าจะ “ …มีเบื้องหน้าเบื้องหลังมากกว่าที่ปรากฏตามหลักฐาน มีมูลเหตุหลายประการ ประกอบกับมีความไม่สมเหตุสมผลในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะกรณีผู้ก่อการทั้งหมด ล้วนแต่เป็น “ ข้าหลวงเดิม” ของรัชกาลที่ 1 จึงขัดแย้งกับหลักฐานที่ว่า เหตุใดกลุ่มกบฏจึงคิดยกเอาเจ้าฟ้าเหม็นเป็นกษัตริย์ ทั้งที่ “ ข้าหลวงเดิม” เหล่านี้คือผู้ร่วมก่อการเมื่อครั้งโค่นบัลลังก์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทั้งสิ้น”
12. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงปัญจปาปี พระราชธิดาในกรมหลวงบริจาภักดีศรีสุดารักษ์
สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงปัญจปาปี ทรงเป็นพระธิดาพระองค์ที่ 11 และทรงเป็นพระธิดาในสมเด็จ พระเจ้าตากสินมหาราชอีกพระองค์หนึ่งที่ทรงมีสายสัมพันธ์ทางการสมรสกับเจ้านายฝ่ายหน้า ในพระราชวงศ์จักรี คือ ได้ทรงเสกสมรสกับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ พระโอรสในสมเด็จ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ซึ่งเป็นพระพี่นางในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเจ้าขรัวเงิน
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ทรงรับราชการกำกับกรมมหาดไทยในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเป็นต้นราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา (เล็ก พงษ์สมัครไทย. “ สายสัมพันธ์ราชสกุลพระเจ้าตากกับราชวงศ์จักรี ,” ศิลปวัฒนธรรม. 23(6) : เมษายน 2545 : 63, 65) พระโอรสและพระธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงปัญจปาปี ซึ่งเป็นพระชายาในเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ (พระโอรสในสมเด็จพระพี่นางพระองค์น้อย ในรัชกาลที่ 1) ต้นราชสกุล อิศรางกูร มี 5 พระองค์ ได้แก่
– หม่อมเจ้าชายใหญ่ อิศรางกูร
– หม่อมเจ้าชายกลาง อิศรางกูร
– หม่อมเจ้าหญิงศรีฟ้า อิศรางกูร
– หม่อมเจ้าชายสุนทรา อิศรางกูร
– หม่อมเจ้าหญิงรสสุคนธ์ อิศรางกูร
- ชั้นพระองค์เจ้า มี 16 พระองค์ มีพระนามตามลำดับพระชันษาดังนี้
1. พระองค์เจ้าชายอัมพวัน โอรสใน เจ้าจอมมารดาทิม พระองค์เจ้าอัมพวัน เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ กับหม่อมทิม ซึ่งเป็นธิดาคนที่ 3 ของท้าวทรงกันดาร (ทองมอญ) ซึ่งควบคุมดูแลรักษากุญแจพระราชวังที่กรุงธนบุรีสันนิษฐานว่าท้าวทรงกันดารเป็นหม่อมห้ามของหม่อมเจ้า (พระโอรสของพระองค์เจ้าหรือเจ้าฟ้าในพระราชวงศ์อยุธยา) ตั้งบ้านเรือนอยู่ท่าสิบเบี้ย อยุธยา อันเป็นถิ่นของมอญอพยพ ) หม่อมทิมมีพระองค์เจ้าพระองค์เดียว คือ พระองค์เจ้า (ชาย) อัมพวัน เป็นพระราชโอรสอันดับที่ 3 ในจำนวน 30 องค์ในสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ซึ่งต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์จะเรียกว่า ‘คุณวัน’
คุณวัน นี้มีบุตรชายหัวปีเพียงคนเดียวชื่อ ‘ คุณชายร้าย ‘ จากนั้นเป็นธิดาอีก 6 ท่าน (จุลลดา ภักดีภูมินทร์, “ พระราชวงศ์กรุงธนบุรี ” สกุลไทย 48(2493) : 30 กรกฎาคม 2545 : 86)
1.1 พระโอรสและพระธิดาในพระองค์เจ้าชายอัมพวัน มี 7 องค์ ได้แก่
– คุณชายร้าย มีธิดาคือ คุณกลิ่น เป็นพระพี่เลี้ยงสมเด็จกรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
– คุณหญิงแสง เป็นพระชายาในกรมพระพิทักษ์เทเวศร ต้นราชสกุล กุญชร
– คุณหญิงสงวน
– คุณหญิงถมยา เป็นหม่อมห้ามในกรมพระพิทักษ์เทเวศร
– คุณหญิงพึ่ง เป็นหม่อมห้ามในกรมขุนราชสีหวิกรม ต้นราชสกุล ชุมสาย
– คุณหญิงพรหม
– คุณหญิงลูกอิน เป็นหม่อมห้ามในกรมพระพิทักษ์เทเวศร
2. พระองค์เจ้าชายอรนิภา (หนูดำ) โอรสใน เจ้าจอมมารดาอำพัน (เป็นเชษฐาร่วมจอมมารดาเดียวกันกับเจ้าจอมมารดาสำลีวรรณ) ถูกสำเร็จโทษในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พ . ศ . 2352 ในฐานะร่วมคิดล้มล้างราชวงค์จักรี พระโอรสและพระธิดาในพระองค์เจ้าชายอรนิภา มี 6 พระองค์ ได้แก่
– คุณชายกลิ่น
– คุณชายเพ็ง
– คุณชายช้าง
– คุณชายปาน
– คุณชายตลับ
– คุณหญิงคลี่
3. พระองค์เจ้าหญิงสุมาลี ไม่ทราบพระนามพระมารดา
4. พระองค์เจ้าชายธำรง ไม่ทราบพระนามพระมารดา พระธิดาในพระองค์เจ้าชายธำรง มี 3 พระองค์ ได้แก่
– คุณหญิงส้มทับ
– คุณหญิงพลับจีน
– คุณหญิงสายสร้อย
5. พระองค์เจ้าชายละมั่ง ไม่ทราบพระนามพระมารดา ในรัชกาลที่ 3 ได้เป็นพระยาสมบัติบาล
6. พระองค์เจ้าหญิงจามจุรี ไม่ทราบพระนามพระมารดา
7. พระองค์เจ้าหญิงสังวาลย์ ไม่ทราบพระนามพระมารดา
8. พระองค์เจ้าหญิงสำลีวรรณ ธิดาใน เจ้าจอมมารดาอำพัน ถูกสำเร็จโทษในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในฐานะร่วมคิดล้มล้างราชวงศ์จักรี
หมายเหตุ :
เจ้าจอมมารดาสำลีวรรณ
พระองค์เจ้าหญิงสำลีวรรณเป็นพระธิดาองค์ที่ 8 ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาอำพันผู้เป็นธิดาคนเดียวของอุปราชจันทร์ (หรืออุปราชจันทร, สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2528 : 63-64) เมืองนครศรีธรรมราช เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตีเมืองนครศรีธรรมราชได้ ทรงโปรดให้เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช (หนู) และ อุปราชจันทร์ เข้ามารับราชการในกรุงธนบุรี แล้วได้เป็นพระยาอินทรอัครราช ในกรมช้าง แล้วเลื่อนเป็นพระยาสุรินทรราชานราบดีศรีสุริยศักดิ์ สมุหคชบาลซ้าย แล้วโปรดให้ออกไปอยู่เมืองถลางกำกับหัวเมืองภูเก็ต (ทำนองสมุหเทศาภิบาล) แล้วเลื่อนเป็นเจ้าพระยาสุรินทราชา เมื่อเจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) ถึงอสัญกรรม ในรัชกาลที่ 1 จะเปิดให้เจ้าพระยาสุรินทรราชา เข้ามาเป็นที่สมุหกลาโหม ก็ได้กราบทูลขอตัวว่า แก่แล้ว จึงรับราชการหัวเมืองอยู่จนถึงอสัญกรรม ชั้นลูกพระยาวรวุฒิชัยได้รับพระราชทานนามสกุลว่า “ จันทโรจนวงศ์ ” (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2528 : 63-64)
พระองค์เจ้าหญิงสำลีวรรณได้เป็นพระราชชายาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ (วังหน้าในรัชกาลที่ 2 ซึ่งกล่าวกันว่ามีพระรูปพระโฉมงามมาก พระทัยดี พระทัยอ่อน และทรงเป็นลูกแม่ เพราะเป็นพระราชโอรสพระองค์เล็ก ซึ่งมีพระชนม์ห่างจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ 5 พรรษา)
เจ้าจอมมารดาสำลีวรรณเป็นพระราชชายาของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์มาแต่ในรัชกาลที่ 1 ว่ากันว่า เจ้าจอมมารดาสำลีวรรณนั้น ท่านเป็นคนใจคอเด็ดเดี่ยว และเห็นจะมีพระอุปนิสัยแข็งกว่าพระสวามี ท่านมีพระโอรสธิดา 6 พระองค์ และในสมัยรัชกาลที่ 2 ท่านถูกตัดสินว่าสมรู้ร่วมคิดกับเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต (เจ้าฟ้าเหม็น) พระเชษฐาต่างพระมารดา จึงถูกสำเร็จโทษ เล่ากันว่า สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ ทรงพระอาลัยอาดูรในพระราชชายายิ่งนัก แต่เจ้าจอมมารดาสำลีวรรณท่านยอมรับโทษของท่านอย่างองอาจ (จุลลดา ภักดีภูมินทร์, “ วังหน้าในต้นรัตนโกลินทร์,” สกุลไทย. 48(2490) : 9 กรกฎาคม 2545 : 64)
8.1 พระโอรสและพระธิดาในพระองค์เจ้าสำลีวรรณ ซึ่งเป็นพระราชชายาในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ วังหน้าในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มี 6 พระองค์ ได้แก่
– พระองค์เจ้าชายใหญ่ ประสูติปีกุน พ.ศ.2334 สิ้นพระชนม์แต่ทรงพระเยาว์
– พระองค์เจ้าหญิงประชุมวงศ์ ประสูติปีขาล พ.ศ.2337
– พระองค์เจ้าหญิงนัดดา ประสูติปีมะโรง พ.ศ.2339
– พระองค์เจ้าหญิงขนิษฐา ประสูติปีมะเมีย พ.ศ.2341
– พระองค์เจ้าชายพงศ์อิศเรศร์ กรมหมื่นกระษัตริย์ศรีศักดิเดช ประสูติปีวอก พ.ศ.2343 ต้นราชสกุลอิศรเสนา ณ อยุธยา
– พระองค์เจ้าหญิงนฤมล ประสูติปีชวด พ.ศ.2347
( http://pantip.inet.co.th/caf?/library/topic/K157851 /K1578551.html , 27/6/2545 ; สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2528 : 63 )
หมายเหตุ :
พระองค์เจ้าชายพงศ์อิศเรศร์ กรมหมื่นกระษัตริย์ศรีศักดิเดช
พระองค์เจ้าชายพงศ์อิศเรศร์ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 8 ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ และพระองค์เจ้าหญิงสำลีวรรณ ประสูติเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีวอก พ.ศ.2343 ทรงเป็นพระราชโอรสที่สมเด็จพระราชบิดาโปรดปรานยิ่งนัก ด้วยทรงเป็น “ หลานปู่ ” ของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และทรงเป็น “ หลานตา ” ของ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเป็นเจ้านายฝ่ายหน้าพระองค์เดียวที่เป็นพระราชนัดดา ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ข้างต้น ถึงปีจอ พ.ศ.2405 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาให้สถาปนาพระองค์เจ้าพงศ์อิศเรศร์ เป็น พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นกระษัตริย์ศรีศักดิเดช ซึ่งทรงเป็นต้นราชสกุล อิศรเสนา ณ อยุธยา
ชายาของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นกษัตริย์ศรีศักดิเดช คือ คุณหญิงพลับ ธิดา สมเด็จเจ้าฟ้าชายศิลา พระราชโอรสพระองค์ที่ 8 ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
คุณหญิงพลับมีพระโอรส 3 พระองค์ คือ หม่อมเจ้ากระจ่าง อิศรเสนา หม่อมเจ้าจันตรี อิศรเสนา และ หม่อมเจ้าเสาวรส อิศรเสนา
หม่อมเจ้าเสาวรสเป็นบิดาของ เจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ (หม่อมราชวงศ์เย็น อิศรเสนา) เสนาบดีกระทรวงวังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นกระษัตริย์ศรีศักดิเดช สิ้นพระชนม์เมื่อเดือน 8 ปีจอ พ.ศ.2417 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ขณะพระชันษาได้ 75 ปี (เล็ก พงษ์สมัครไทย. “สายสัมพันธ์ ราชสกุลพระเจ้าตากสินกับราชวงศ์จักรี,” ศิลปวัฒนธรรม. 23(6) : เมษายน 2545 : 64-65)
หมายเหตุ พระราชโอรสธิดาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใช้คำนำหน้าพระนามว่า ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ‘ หรือ ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ‘ สำหรับเจ้าฟ้า ส่วนพระราชโอรสธิดา ใน ‘ วังหน้า ‘ รัชกาลที่ 1-4 ใช้คำนำหน้าพระนามว่า ‘ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ‘ แต่ ‘ วังหน้า ‘ ในรัชกาลที่ 5 ใช้คำนำหน้าพระนามว่า “พระราชวรวงศ์เธอ”
9. พระองค์เจ้าชายคันธวงศ์ ไม่ทราบพระนามพระมารดา
10. พระองค์เจ้าชายเมฆิน ไม่ทราบพระนามพระมารดา
11. พระองค์เจ้าชายอิสินธร ไม่ทราบพระนามพระมารดา
12. พระองค์เจ้าหญิงประไพพักตร์ ธิดาในเจ้าจอมมารดาเงิน
13. พระองค์เจ้าชายบัว ไม่ทราบพระนามพระมารดา
14. พระองค์เจ้าชาย ไม่ทราบพระนามพระมารดา
15. พระองค์เจ้าชายหนูแดง ไม่ทราบพระนามพระมารดา
16. พระองค์เจ้าหญิงสุดชาตรี ไม่ทราบพระนามพระมารดา
- สกุลวงศ์ที่เป็นบุคคลธรรมดา มี 2 ท่าน คือ
1. วงศ์เจ้าพระยานคร (น้อย) สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีพระราชทานเจ้าจอมปราง (หรือคุณหนูเล็ก) ธิดาเจ้าพระยานครไปเป็นภริยาเจ้าพัฒน์อุปราชเมืองนครศรีธรรมราชทั้งที่มีครรภ์ไปแล้ว และเจ้าพัฒน์ก็จำต้องรับไว้เป็นศรีเมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาได้คลอดบุตรชายที่นครศรีธรรมราชมีชื่อว่า “น้อย” ในปีมะเมีย พ.ศ.2317 (สังข์ พัฒโนทัย, ม.ป.ป. : 262) แต่เอกสารบางฉบับระบุว่า เจ้าพระยานครน้อย เกิดเมื่อวันจันทร์ ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 10 ปีจอ อัฐศก จ.ศ.1138 ตรงกับวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2319 ณ เมืองนครศรีธรรมราช ในขณะที่เจ้าจอมปรางประสูตินั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดให้อัญเชิญเครื่องยศอย่างพระเจ้าลูกยาเธอไปพระราชทานที่เมืองนครศรีธรรมราช (http://www.navy.mi.th/navy88/files/Nakorn.doc , 31/03/2547)

กุฏิทรงไทย วัดวังตะวันออก จังหวัดนครศรีธรรมราช (ภาพจากวารสารไทย)
หมายเหตุ เมทินี ศรีรุ่งเรือง (2547 : หน้ารองปกหลัง) ได้เขียนถึงนิวาสสถานของเจ้าจอมปรางไว้ในวารสารไทย เรื่อง “กุฏิทรงไทย วัดวังตะวันออก จังหวัดนครศรีธรรมราช” ว่า “…วัดวังตะวันออก ตั้งอยู่ริม ถนนราชดำเนิน เดิมชื่อว่าเป็น อุทยานของวังตะวันออก อันเป็นนิวาสสถานของเจ้าจอมปราง ต่อมา เจ้าพระยานคร (น้อย) ยกวังตะวันออกและอุทยานให้เป็นวัดเ ช่นเดียวกัน บริเวณอุทยานจึงเป็นวัดวังตะวันตก เมื่อ พ.ศ.2431 พระครูกาชาด (ย่อง พร้อมด้วยสานุศิษย์ได้สร้างกุฏิขึ้นหมู่หนึ่ง เป็นเรือนเครื่องสับ 3 หลัง มีหลังคาจั่วแต่ละหลังคลุมเชื่อมต่อกัน ตัวเรือนฝาปะกนตามประตู หน้าต่าง และช่องลมประดับลวดลาย ที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองนคร และปี พ.ศ.2353 สมาคมสถาปนิกสยามคัดเลือกกุฏิวัดวังตะวันออก เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประเภทปูชนียสถานและวัดวาอาราม ต่อมาท่านน้อย บุตรเจ้าจอมปรางได้เป็นเจ้าพระยานครฯ (น้อย) ๆ นี้ บางทีก็เรียกกันว่า “น้อยคืนเมือง” (กล่าวกันว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สมญาเจ้าพระยานครท่านนี้, ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, 2539 : 81) เพราะเมื่อหนุ่มเข้าไปรับราชการอยู่ในกรุงเทพฯ หลายปี แล้วกลับไปครองเมืองนครศรีธรรมราชต่อจากเจ้าพัฒน์ (บิดาบุญธรรม) และพระเจ้านครศรีธรรมราช (ปลัดหนู) บิดาเจ้าพัฒน์ผู้เคยครองเมืองนครมาก่อน เจ้าพระยานครน้อยนับว่าเป็นเจ้าเมืองนครฯ ที่มีอำนาจมากที่สุด ท่านมีอำนาจในการปกครองหัวเมืองฝ่ายใต้ทั้งหมด ตลอดถึงไทรบุรี ตรังกานู เประ และยังเป็นผู้สำเร็จราชการทัพศึกฝ่ายใต้ ฝ่ายตะวันตกอีกด้วย ภารกิจที่ท่านปฏิบัติในสมัยของท่านมีดังนี้
1. ด้านการสงคราม ได้ทำสงครามหลายครั้งดังนี้
1.1 เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นพระบริรักษ์ภูเบศร ขณะที่เป็นผู้ช่วยราชการเมืองนครฯนั้น ท่านได้คุมกองทัพไปต่อเรือรบ เรือไล่ และยกทัพไปตีพม่า ณ เมืองถลาง จนเสร็จราชการ จับพม่าและปืนส่งไปยังกรุงเทพฯ เป็นอันมาก ทำให้เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเป็นอย่างยิ่ง
1.2 เมื่อดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชแล้ว ได้ทำสงครามถึง 4 ครั้งกับเมืองไทรบุรีคือ
ครั้งที่ 1 ยกไปโจมตีไทรบุรีในปี พ.ศ.2364 เมืองไทรบุรีเป็นประเทศราชของไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2328 คือในสมัยของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ในสมัยของพระยาไทรบุรีชื่อ “ โมกุรัมซะ ” ครั้นพระยาไทรบุรีองค์นี้ถึงแก่กรรม จึงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ “ตนกูปะแงรัน” เป็นเจ้าเมืองไทรบุรีคนใหม่ที่ “ พระยารัตนสงครามรามภักดี ศรีซุลต่านมหะหมัด รัตนราชบดินทร์สุรินทรวังษา พระยาไทรบุรี ” สาเหตุที่ต้องไปทำสงครามในครั้งนี้ เนื่องจากพระยาไทรบุรีคนนี้สวามิภักดิ์ต่อไทยได้ไม่นาน ก็หันไปสวามิภักดิ์ต่อพม่าจนทำให้เจ้าพระยานครน้อยทราบเรื่องนี้เข้า ก็เริ่มสงสัยในพฤติกรรมของพระยาไทรบุรีปะแงรัน จึงว่าจ้างชาวจีนชื่อ “ถาไหล” ให้ไปสืบความพระยาไทรบุรีปะแงรันที่อยู่ที่เกาะปีนังและประกอบกับตนกูหม่อมน้องชายของปะแงรัน ไม่พอใจการปกครองของพี่ชายจึงได้เข้ามาแจ้งถึงการกระทำของพี่ชายต่อพระยานครน้อย
นอกจากนี้ยังมีพ่อค้าจีนชาวเมืองหลวงชื่อ “ลิมหอย” ซึ่งกลับมาจากการค้าที่เกาะปีนัง ได้ตรวจเรือพม่าลำหนึ่ง พบหนังสือลับของพระเจ้าปดุงกษัตริย์พม่าซึ่งแปลได้ความว่า “ให้พระยาไทรบุรีปะแงรันเอาใจออกห่างจากไทย และชักชวนให้เมืองไทรบุรียกทัพมาตีไทยทางตอนใต้ร่วมกับพม่า” เมื่อเจ้าพระยานครศรีธรรมราชทราบเป็นที่แน่ชัดดังนี้ จึงได้กราบบังคมทูลไปยังสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทางกรุงเทพฯ จึงโปรดเกล้าให้เจ้าพระยานครน้อยยกทัพไปตีไทรบุรีความว่า “… เจ้าพระยาไทรบุรีเอาใจเผื่อแผ่ข้าศึกเป็นแน่แท้แล้ว ละไว้เมืองไทรบุรีเป็นไส้ศึกอีกทางใต้ ให้เจ้าพระยานครน้อยยกทัพหัวเมืองปักษ์ใต้ลงไปตีเมืองไทรบุรีไว้ในอำนาจเสียให้สิทธิ์ขาด ในการไปตีไทรบุรีในครั้งนี้เจ้าพระยานครน้อยมิได้ไปโจมตีโดยทันทีอย่างผู้มีอำนาจแต่ ใช้กุศโลบายทางการเมืองโดยการมีใบบอกไปยังเจ้าเมืองไทรบุรีปะแงรัน ให้จัดเตรียมซื้อข้าวขึ้นฉางไว้เป็นเสบียงแก่ทางกองทัพในทันทีโดยจะรบกับพม่า ซึ่งจะยกทัพมาตีเมืองไทยทางใต้ ซึ่งแน่นอนพระยาไทรบุรีต้องปฏิเสธในทันทีตรงกับความคาดหมาย ของเจ้าพระยานครน้อย เจ้าพระยานครจึงอ้างเอาเป็นเหตุที่ไม่ทำตามคำสั่ง จึงได้ยกทัพมาตีในทันที โดยเจ้าพระยานครน้อยได้นำทัพเมืองนครฯ สงขลาและพัทลุง เข้าโจมตีไทรบุรีพร้อมกัน มีพลทั้งหมด 7 , 000 คน ทั้งทัพบกและทัพเรือ ทางฝ่ายไทยเสียพลไป 700 คนแต่ทางฝ่ายไทรบุรี เสียพลไป 1,500 คน ส่วน พระยาไทรบุรีปะแงรันได้พาสมัครพรรคพวก หลบหนีไปอาศัยอยู่อังกฤษที่เกาะหมาก (ปีนัง) เป็นอันว่าเมืองไทรบุรีต้องตกอยู่ในอำนาจของเจ้าพระยานครน้อยตั้งแต่นั้นมา
เมื่อตีไทรบุรีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เจ้าพระยานครน้อยก็มอบหมายให้ “ พระภักดีบริรักษ์ (แสง) ” บุตรชายของตนเองเป็นผู้รักษาเมืองไทรบุรี และให้บุตรอีกคนหนึ่งชื่อนายนุช เป็นปลัดเมืองไปพลางก่อน ส่วนตนเองได้กราบบังคมทูลไปยังพระบาทสมเด็จพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์จึงทรงโปรดเกล้าให้เลื่อนบรรดาศักดิ์ของพระภักดีบริรักษ์ (แสง) ขึ้นเป็นที่ “ พระยาอภัยธิเบศร มหาประเทศราชธิบดินทร์ อินทรไอสวรรย์ขัณฑเสมา มาตยานุชิตสิทธิสงครามรามภักดี พิริยา พาหะพระยาไทรบุรี ” และโปรดให้เลื่อนนายนุชขึ้นเป็นที่ “ พระเสนานุชิต ” ในตำแหน่งปลัดเมืองไทรบุรี
ในปีเดียวกันนั่นเองพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณโปรดเกล้าให้เลื่อนบรรดาศักดิ์พระยานครศรีธรรมราช เป็น “ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช ” และพระราชทานเมืองไทรบุรี เมืองเประ ให้อยู่ในสิทธิ์ขาดของเจ้าพระยานครศรีธรรมราชในฐานะผู้สำเร็จราชการปกครองดูแลเมืองทั้ง 2 ตั้งแต่นั้นมา ทำให้ฐานะของเจ้าพระยานครน้อยเด่นและสูงขึ้นทางการเมืองเป็นอย่างมาก
ครั้งที่ 2 ยกไปตีไทรบุรีใน พ.ศ.2365 ในปีดังกล่าวเกิดกบฏขึ้นในไทรบุรี โดยตนกู มหะหมัด ตนกูโยโส และรายาปัตตานีซินดรา ซึ่งเป็นญาติของพระยาไทรบุรีปะแงรัน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในเมืองไทรบุรี ได้นำสมัครพรรคพวกประมาณ 2,000 คนคบคิดกันทำการกบฏ ในวันถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา แต่เจ้าพระยานครศรีธรรมราชรู้เรื่องเสียก่อน จึงสามารถตีกบฏจนแตกพ่ายไปไม่ทันรู้ตัว
ครั้งที่ 3 ยกไปตีไทรบุรีใน พ.ศ.2369 การตีไทรบุรีทุกครั้งที่ผ่านมา แม้ฝ่ายไทรบุรีพ่ายแพ้ทุกครั้ง นั้นเป็นเพราะความจำยอม บ้านเมืองหาได้สงบอย่างแท้จริงไม่ คงมีคลื่นใต้น้ำอยู่ตลอดเวลา เพราะพระยาไทรบุรีปะแงรันถือว่าเมืองไทรบุรีเป็นของตน โดยได้สืบมรดกตกทอดมาแต่ปู่ย่าตาทวด และพยายามเอาคืนอยู่ตลอดเวลา จึงได้ไปขอความช่วยเหลือจากอังกฤษแต่ทางอังกฤษวางเฉย ดังนั้นพระยาไทรบุรีปะแงรันจึงมีหนังสือทักท้วงไปยังผู้ว่าราชการเกาะปีนังชื่อ “ฟูลเลอตัน” มีใจความว่า “ถ้าบริษัทอังกฤษไม่ช่วยเหลือตนแล้วก็จะขอไปตามโชคชะตาของตนเอง แต่ไม่สามารถที่จะปฏิบัติตามสนธิสัญญา “เบอร์นี่” ได้เพราะถือว่าเมืองไทรบุรีไม่ได้เป็นของกำนัลที่ตนได้รับมาจากไทย หรือได้รับการสถาปนาให้เป็นเจ้าเมืองจากไทยแต่ประการใดก็หาไม่ เมืองไทรบุรีเป็นสมบัติของพระยาไทรบุรีปะแงรัน โดยผ่านทางการเมืองสืบมรดกตกทอดมาจากปู่ย่าตาทวดต่างหาก ตนจะยอมตายเสียดีกว่าที่จะปฏิบัติตามสนธิสัญญา”
เกี่ยวกับเรื่องนี้เจ้าพระยานครน้อย ได้ทำการเจรจากับนายเฮนรี่ เบอร์น ี่(Henry Berney) ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทอังกฤษที่นครศรีธรรมราช และมีการทำสัญญากันระหว่างรัฐบาลไทย กับตัวแทนบริษัทอังกฤษที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2369 ทำให้ผู้ว่าราชการเกาะปีนังได้สั่งย้ายพระยาไทรบุรีปะแงรันออกไปจากเกาะปีนัง พระยาไทรบุรีปะแงรันจึงไม่สามารถใช้เกาะปีนังเป็นฐานในการก่อกบฏได้อีกต่อไป แต่หันมาสนับสนุนให้หลานชายของตนเองชื่อ “ ตนกูเด่น” ซึ่งเป็นบุตรของตนกูรายาในเวลาต่อมา ในปี พ.ศ.2374
ในปี พ.ศ.2374 นี่เองตนกูเด่นได้นำสมัครพรรคพวกประมาณ 3,000 คน เข้ายึดเมืองไทรบุรีทางด้านโปรวินซ์ เวลสเล่ย์ พร้อมด้วยกองทัพเรือเข้าปิดปากน้ำไทรบุรี พระยาอภัยธิเบศร (แสง) เจ้าเมืองไทรบุรีในขณะนั้นสู้ไม่ได้ จึงพากันหนีไปอยู่ที่เมืองพัทลุง ทำให้ตนกูเด่นสามารถเข้าไปทำการยึดเมืองไว้ได้โดยง่าย เมื่อเจ้าพระยานครน้อยทราบข่าวศึกเช่นนี้ พิจารณาแล้วเห็นว่าศึกครั้งนี้เหลือกำลังของนครศรีธรรมราชแต่เพียงลำพังที่จะปราบได้ จึงได้ขอให้พระสุรินทร์ซึ่งเป็นข้าหลวงกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งขณะนั้นมาช่วยเมืองนครศรีธรรมราช อยู่ ไปเกณฑ์กองทัพเมืองสงขลา และเมืองแขกทั้งหมดมี ยะหริ่ง ยะลา สายบุรี หนองจิก ปัตตานี ระมันห์ ระแงะให้ไปช่วยศึกไทรบุรีด้วย แต่ปรากฏว่าเจ้าเมืองสงขลาไม่ยอมร่วมมือด้วย เพราะไม่พอใจเจ้าพระยานครน้อยมาก่อน และเมืองยะหริ่งก็ไม่ยอมร่วมมือด้วยเช่นกันซ้ำยังก่อกบฏขึ้นอีก เจ้าพระยานครน้อยจึงต้องเอาทหารจากนครฯ จำนวน 7,000 คน พร้อมด้วยช้างศึก 300 เชือก ยกไปตีไทรบุรีใน พ.ศ.2374
การศึกในครั้งนี้เจ้าพระยานครน้อยสามารถตีไทรบุรีให้แตกได้อย่างง่ายดาย ตีป้อมไทรบุรีแตกยกเข้าเมือง ได้ในปีเดียวกันนั่นเอง ตนกูเด่นหัวหน้ากบฏตายในที่รบ และถูกตัดหัวส่งไปยังกรุงเทพฯ หลังเสร็จศึกแล้วเจ้าพระยานครน้อยได้ยกทัพไปตีเมืองแขกที่เป็นกบฏโดยแยกกองทัพออกเป็น 2 กอง คือทัพเรือยกไปปิดปากน้ำไทรบุรี ส่วนทัพบกยกไปสมทบกับกรุงเทพฯ และสงขลา แยกย้ายกันเข้าไปตีหัวเมืองแขก ปรากฏว่าสามารถปราบกบฏได้อย่างราบคาบ ง่ายดายและรวดเร็วเกินคาด
อนึ่งในการศึกไทรบุรีในครั้งนี้ ทำให้เจ้าพระยานครน้อยมีความโกรธบุตรชายทั้ง 2 ของตนเป็นอย่างมาก คือพระยาอภัยธิเบศร (แสง) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองไทรบุรี และพระเสนานุชิต (นุช) ซึ่งพ่ายแพ้แก่ตนกูเด่น โดยมิได้แสดงฝีมือให้สมกับเป็นเจ้าเมือง ซ้ำยังพากันหลบหนีไปเสียอีกจึงได้สั่ง ให้โบยบุตรชายของตนคนละ 30 ที ทั้งๆ ที่บุตรชายของตนได้โดนอาวุธของข้าศึกมาแล้ว เพื่อมิให้ใครเอาเป็นเยี่ยงอย่างแก่ทหารในกองทัพสืบไป
ครั้งที่ 4 ยกไปตีไทรบุรีใน พ.ศ.2381 พระยาไทรบุรีปะแงรันยังไม่ละความพยายามที่จะเอาไทรบุรีคืนไปจากไทย จึงได้เตรียมการกบฏอีกครั้งหนึ่ง โดยมีตนกูหมัดสอัด และมีตนกูอับดุลลาห์ ซึ่งเป็นโจรสลัดในทะเลฝ่ายตะวันตก เป็นหัวหน้าแสมทบกับหวันมาลีหัวหน้าโจรสลัดแขกที่เกาะยาว (เขตจังหวัดพังงาในปัจจุบัน) อีกแรงหนึ่ง เข้ายึดเมืองไทรบุรีทั้งทางบกและทางเรือ พระยาอภัยธิเบศร (แสง) เจ้าเมืองไทรบุรีพร้อมด้วยข้าราชการฝ่ายไทยได้หนีมายังเมืองพัทลุงอีกครั้งหนึ่ง พวกกบฏเข้ายึดเมืองไทรบุรีไว้ได้แล้ว ก็ยกทัพมาตีเมืองตรัง และอีกสายหนึ่งก็ยกเข้าตีเมืองสงขลา ปัตตานี และหัวเมืองแขกทั้ง 7 หัวเมือง ในขณะนั้นเจ้าเมืองสงขลา (เซ่ง) และเจ้าพระยานครน้อย อยู่ในระหว่างการพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระศรีสุลาไลยสมเด็จพระพันปีหลวง เมื่อทราบข่าวกบฏ เจ้าพระยานครน้อยจึงเดินทางกลับมาเกณฑ์คนในนครศรีธรรมราชและพัทลุงจัดเป็นกองทัพ ได้มอบหมายให้พระยาอภัยธิเบศร (แสง) พระยาวิชิตสรไกร (กล่อม) พระเสนานุชิต (นุช) ซึ่งเป็นบุตรของท่านทั้ง 3 คน คุมกำลังพลประมาณ 4,000 คน ยกไปตีไทรบุรีได้รับชัยชนะเป็นผลสำเร็จ ส่วนเจ้าพระยานครน้อยได้ป่วยเป็นโรคลมปัจุบันหลังจากตีไทรบุรีได้แล้ว และยังมิทันจะยกทัพกลับ ท่านก็ได้ถึงแก่อนิจกรรมในเวลาต่อมา ทางกรุงเทพฯ ก็ได้ส่งพระวิชิตณรงค์ (พัด) และพระราชวรินทร์ คุมทหารจากกรุงเทพฯ ประมาณ 800 คน เดินทางมาช่วยรักษาเมืองสงขลาไว้ก่อน พวกกบฏที่ล้อมเมืองสงขลาอยู่พอทราบข่าวว่าไทรบุรีถูกตีแตกแล้ว และฝ่ายไทยกำลังยกพลบ่ายหน้ามาสู่สงขลาพร้อมกับทัพทางกรุงเทพฯ พวกกบฏเกิดความกลัวพากันแตกหนี ไม่ยอมเข้าตีเมืองสงขลาแต่อย่างใด เป็นอันว่าทัพนครศรีธรรมราช สามารถปราบไทรบุรีลงได้อย่างง่ายดาย อีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าเจ้าพระยานครน้อย ไม่มีโอกาสได้แสดงฝีมือในการรบในครั้งนี้ เพราะท่านได้ถึงแก่อนิจกรรมเสียก่อนด้วยเป็นโรคลมปัจจุบัน
บทบาทของเจ้าพระยานครน้อยในฐานะผู้สำเร็จราชการเมืองไทรบุรีและเมืองเประ ที่สำคัญมี 2 ประการคือ
1. สามารถรักษาเมืองไทรบุรีไว้ได้โดยไม่เสียให้แก่พวกกบฏ ไทรบุรีจึงยังเป็นของไทย
2. ทำการติดต่อและเจรจากับบริษัทอังกฤษ จนในที่สุดฝ่ายบริษัทอังกฤษยอมรับว่า เมืองไทรบุรีเป็นเมืองประเทศราชของไทย และไม่ยอมสนับสนุนให้พระยาไทรบุรีปะแงรันกลับมาครอง เมืองไทรบุรีอีกต่อไป
นอกจากนั้นทางกรุงเทพฯ ได้มอบหมายให้เจ้าพระยานครน้อย ได้ขยายอำนาจลงไป ยังเมืองเประอีกด้วย แต่สามารถควบคุมได้ในระยะหนึ่ง จึงจำต้องปล่อยเมืองเประให้ตกอยู่ในอิทธิพลของอังกฤษ ในราวปี พ.ศ.2369 เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นศัตรูกับบริษัทอังกฤษในเวลานั้น
2. ด้านการฑูต
เจ้าพระยานครน้อยนับเป็นนักการฑูตที่สำคัญคนหนึ่งของประเทศ ท่านมีปฏิภาณไหวพริบในความเมืองที่ชาญฉลาด ทำให้เมืองนครศรีธรรมราช มีอิทธิพลต่อหัวเมืองมลายูและเป็นที่ยำเกรงแก่บริษัทอังกฤษ ซึ่งแผ่อิทธิพลทางการค้าและการเมืองมายังภาคพื้นเอเซียอาคเนย์ ผลงานทางการฑูตของท่านมีดังนี้
2.1 การเจรจากับยอห์น ครอเฟิร์ด (John Crawfurd) ใน ปี พ.ศ.2365
หลังจากเจ้าพระยานครน้อยยกทัพไปตีไทรบุรี ใน พ.ศ.2364 ในฐานะเอาใจออกห่างไปติดต่อกับทางพม่า และพระยาไทรบุรีปะแงรันได้หลบหนีไปพึ่งอังกฤษที่เกาะปีนัง เจ้าพระยานครน้อยได้ติดต่อขอตัว พระยาไทรบุรีปะแงรันต่อผู้ว่าราชการเกาะปีนัง (Robert Philipps) แต่ฟิลลิปส์ขัดขืนไม่ยอมส่งตัวพระยาไทรบุรีปะแงรัน เจ้าพระยานครแค้นเคืองมากและไปต่อว่าบริษัทอังกฤษ ฝ่ายผู้ว่าราชการอังกฤษประจำอินเดียทราบเหตุ จึงส่งตัวยอห์น ครอเฟิร์ดจากอินเดียมายังเกาะปีนัง โดยย้ำเรื่องการค้ามากกว่าเรื่องไทรบุรีและเประ การเจรจาครั้งแรกเริ่มในวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2365 การเจรจาในครั้งนี้เจ้าพระยานครน้อยไม่ได้เข้าร่วมด้วยเพราะท่านทราบดีว่า ครอเฟิร์ดมีท่าทีโอนอ่อนยอมตามผู้ว่าราชการเกาะปีนัง ผลเป็นไปตามคาดหมาย ผู้ว่าราชการเกาะปีนังยอมให้พระยาไทรบุรีปะแงรันกลับไปครองไทรบุรีตามเดิม ฝ่ายไทยไม่ยินยอมทำให้การเจรจาล้มเหลว
2.2 การเจรจากับบริษัทอังกฤษที่เกาะปีนัง พ.ศ.2365
ภายหลังที่ครอเฟิร์ดกลับไปแล้ว เจ้าพระยานครน้อยก็ได้รับคำสั่งจากทางกรุงเทพฯ ให้พยายามติดต่อกับผู้ว่าราชการเกาะปีนังอีกหลายครั้ง เพื่อขอตัวพระยาไทรบุรีปะแงรันซึ่งมีความผิดฐานกบฏ แต่ถูกปฏิเสธตลอดมา เจ้าพระยานครน้อยจึงหาทางโต้ตอบ โดยการให้เจ้าหน้าที่ไทยที่อยู่ในไทรบุรีเก็บภาษีสินค้าขาออก ที่อังกฤษซื้อจากไทรบุรี ทำให้อังกฤษได้รับความเดือดร้อน ได้มาขอให้ไทยคือเจ้าพระยานครน้อยงดเก็บภาษีสินค้าขาออกจากไทรบุรี โดยอ้างว่าเมื่อครั้งพระยาไทรบุรี (โมกุรัมซะ) ได้อนุญาตให้อังกฤษเช่าเกาะปีนังนั้น ได้สัญญาต่อกันว่า จะไม่เก็บภาษีสินค้าที่บริษัทอังกฤษซื้อจากไทรบุรีไปยังเกาะปีนัง เจ้าพระยานครน้อยเห็นท่าทีดังนั้น จึงตอบไปว่าเมืองไทรบุรีเป็นเมืองขึ้นของกรุงเทพฯ ไม่ได้เคยอนุญาตให้พระยาไทรบุรี (โมกุรัมซะ) ทำสัญญากับอังกฤษแต่อย่างใด แต่อังกฤษไปทำสัญญากับโมกุรัมซะเองโดยพลการ ตนจึงยอมตามสัญญานั้นไม่ได้ เป็นอันว่าอังกฤษต้องยอมรับความเดือดร้อนเอง เพราะไปสนับสนุนพระยาไทรบุรีปะแงรันโดยปริยาย การเจรจาครั้งนี้ทำให้สามารถลดอิทธิพลของอังกฤษลงไปได้มากพอสมควร
2.3 การเจรจากับเฮนรี่ เบอร์นี่ที่นครศรีธรรมราช ในปี พ.ศ.2368
บริษัทอังกฤษที่เกาะปีนังได้พยายามติดต่อขอเจรจากับเจ้าพระยานครน้อยหลาย ครั้งด้วยได้รับความเดือดร้อนในเรื่องภาษีสินค้าขาออกจากไทรบุรี และต้องการให้ปะแงรันไปครองไทรบุรีอีก แต่ทางเจ้าพระยานครน้อยเฉยเสีย เมื่อติดต่อมาไม่ได้ผลข้าหลวงใหญ่ของบริษัทอังกฤษ ซึ่งประจำอยู่ที่เบ็งกอล ในอินเดียได้แต่งตั้งนายเฮนรี่ เบอร์นี่ เป็นฑูตเข้ามาเพื่อขอเจรจากับไทยซึ่งในเวลาเดียวกันนั้น เจ้าพระยานครน้อยกำลังประชุมทัพเมืองตรัง และสตูล เพื่อยกไปตีเประและสลังงอ เพื่อเป็นการยับยั้งไม่ให้เจ้าพระยานครน้อยขยายอาณาเขตไปในดินแดนของมลายู บริษัทอังกฤษหาทางยับยั้งโดย ส่งเรือรบไปปิดปากอ่าวเมืองตรังไว้ทำให้เจ้าพระยานครน้อยชะงักในการไปตีเมืองทั้ง 2 ไว้ก่อนทำให้ต้องมีการเจรจากันที่นครศรีธรรมราช ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2368 ผลของการเจรจาทำไห้เกิดสัญญาเบื้องต้นซึ่งลงนามกันในวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2368 ที่นครศรีธรรมราช เพื่อเป็นแนวทางในการเจรจากับรัฐบาลไทยอีกครั้งหนึ่ง โดยมีความย่อๆว่า
– เจ้าพระยานครน้อยจะไม่ส่งทหารเข้าไปยังเประและสลังงออีก ส่วนอังกฤษก็จะไม่เข้ายึดครองหรือแทรกแซงเมืองทั้ง 2 เช่นกัน – บริษัทอังกฤษจะไม่แทรกแซงการปกครองของไทรบุรี เพื่อให้พระยาไทรบุรี ปะแงรันได้กลับเข้ามาเป็นเจ้าเมืองไทรบุรีอีก บริษัทอังกฤษจะบังคับให้ทางไทรบุรี ส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองให้ไทยปีละ 4,000 ดอลล่าร์ และเจ้าพระยานครน้อยสัญญาว่า ถ้าพระมหากษัตริย์ไทยยินยอมให้ปะแงรันได้เข้ามาครองเมืองไทรบุรีได้อีก เจ้าพระยานครน้อยจะถอนเจ้าหน้าที่ไทยออกจากไทรบุรีทั้งหมดและจะไม่โจมตีไทรบุรีอีก เหตุผลที่เจ้าพระยานครน้อยต้องยินยอมทำไปเช่นนี้ ก็เพราะต้องการใช้วิธีที่นุ่มนวล ถ้าหากดื้อดึงไม่ผ่อนปรนกันบ้างก็จะทำให้เกิดความขัดแย้งกับบริษัทอังกฤษ และปัญหาเมืองแขกที่คาราคาซังมานานก็จะยุติลงได้โดยยาก ตรงกันข้ามยิ่งเพิ่มพูนปัญหาให้มากยิ่งขึ้น เพราะอยู่ในช่วงที่อังกฤษกำลังล่าเมืองขึ้นมาทางเอเซีย และถ้าหากดื้อดึงจนเกิดการรบกันขึ้นก็จะไม่พ้นไปจากความรับผิดชอบของเจ้าพระยานครน้อยอีกอย่างแน่นอน
2.4 การเจรจากับคณะฑูตของเฮนรี่ เบอร์นี่ ที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ.2368
เบอร์นี่ได้เดินทางไปอินเดียเพื่อขออนุมัติการเจรจากับรัฐบาลไทยที่กรุงเทพฯ ต่อข้าหลวงใหญ่ประจำรัฐเบ็งกอล และได้เดินทางกลับมาทางปีนัง สิงคโปร์ ตรังกานู และมาถึงนครศรีธรรมราชเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2368 พักอยู่ที่นครฯ 8 วัน จึงได้เดินทางเข้ากรุงเทพโดยทางเรือ โดยให้บุตรชายของเจ้าพระยานครน้อยเป็นผู้นำทาง ส่วนเจ้าพระยานครน้อยได้เดินทางไปทางบกตามไปภายหลัง และถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2369 หลังจากที่เบอร์นี่ได้ถึงแล้วประมาณ 2 เดือน
การเจรจาที่กรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้จัดให้มีคณะเจรจาที่สำคัญหลายคนคือ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร เจ้าพระยามหาเสนา เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) และที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยมากที่สุดคือเจ้าพระยานครน้อย ซึ่งต้องรับภาระหนักเป็นตัวกลางคอยประสานความเข้าใจ ระหว่างพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวกับคณะฑูตของเบอร์นี่ การเจรจาได้ดำเนินไปด้วยดีและได้ลงนามในสัญญากันเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2369 ข้อความสำคัญมีดังนี้
มาตรา 12 ไทยจะไม่ทำการขัดขวางการค้าขายในเมืองตรังกานูและกลันตัน พ่อค้า และคนในบังคับอังกฤษสามารถไปมาค้าขายได้โดยสะดวกต่อไปในเมืองทั้งสอง อังกฤษจะไม่ไปรบกวนโจมตี หรือก่อความไม่สงบในเมืองทั้งสองแต่ประการใดทั้งสิ้น
มาตรา 13 ไทยขอสัญญาต่ออังกฤษว่าจะปกครองเมืองไทรบุรีต่อไป จะให้ความคุ้มครองแก่เมืองไทรบุรีและประชาชนชาวเมืองทุกคนตามความเหมาะสม และไทยสัญญาว่าเมื่อเจ้าพระยานครน้อยออกไปจากกรุงเทพฯ แล้ว ก็จะปล่อยครอบครัวทาสบ่าวไพร่ของพระยาไทรบุรีคนเก่า ให้กลับคืนไปตามใจชอบ อังกฤษได้สัญญาต่อไทยว่าไม่ต้องการเอาเมืองไทรบุรีอีกต่อไป และไม่ให้พระยาไทรบุรีคนเก่ากับบ่าวไพร่ ไปรบกวนทำอันตรายต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดในเมืองไทรบุรีและเมืองอื่นๆ ซึ่งขึ้นกับไทรบุรี และอังกฤษสัญญาว่าจะจัดแจงให้พระยาไทรบุรีคนเก่าปะแงรัน ไปอยู่ที่เมืองอื่น โดยไม่ให้ปะแงรันไปอยู่ที่ไทรบุรี ปีนัง เประ สลังงอ และเมืองพม่า ถ้าอังกฤษไม่ให้ปะแงรันไปอยู่เมืองอื่นตามสัญญาก็ให้ไทยเก็บภาษีข้าวเปลือก ข้าวสาร ที่ออกจากไทรบุรีเหมือนแต่ก่อน
มาตรา 14 ไทยกับอังกฤษสัญญากันว่าให้พระยาเประครองเประ ให้พระยาเประถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทองตามแต่ก่อนก็ตามใจปรารถนาของพระยาเประ อังกฤษไม่ห้ามปราม เจ้าพระยานครน้อยจะใช้ไทยแขกจีนคนฝ่ายไหนแต่โดยดี ไปเมืองเประ40 – 50 คนอังกฤษไม่ห้ามไทย อังกฤษไม่ยกทัพไปรบกวนเมืองเประและไม่ให้เมืองสลังงอไปรบกวนเมืองเประ และไทยก็ไม่รบกวนเมืองเประ
ผลของสัญญาฉบับนี้ทำให้ทั้งไทยและอังกฤษมีความพอใจทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งอังกฤษ เองก็สามารถยับยั้งไม่ให้เจ้าพระยานครน้อย ขยายอาณาเขตไปทางเมืองมลายูอีก และรวมทั้งไม่ต้องเสียภาษีเช่นเดิมอีกต่อไป ทางฝ่ายไทยก็ทำให้อังกฤษยอมรับว่า เมืองไทรบุรีเป็นเมืองประเทศราชของไทยอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรได้สำเร็จ ทั้งยังสามารถยุติปัญหาความขัดแย้งที่สำคัญ ระหว่างไทยกับบริษัทอังกฤษที่เกาะปีนังลงไปได้อีกด้วย ในระยะแรกของการเจรจากล่าวกันว่า ผู้แทนไทยหลายคนขัดและไม่เห็นด้วยกับเจ้าพระยานครน้อยด้วยเห็นว่าไทยเสียเปรียบมาก แต่ด้วยความชาญฉลาดของเจ้าพระยานครน้อย จึงทำให้ปัญหานี้ลุล่วงไปได้ ด้วยเห็นว่าหนทางออกที่จะแก้ปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศนั้น ไม่ใช่การทำสงครามแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่หากต้องนำวิธีทางการฑูตเข้าร่วมแก้ปัญหาด้วยการต่างๆก็จะยุติลงได้ด้วยดี
3. ทางด้านการต่อเรือ เจ้าพระยานครน้อยมีความเชี่ยวชาญทางด้านการต่อเรือคือ
3.1 ได้ต่อเรือกำปั่นหลวงสำหรับการบรรทุกช้างไปขายยังต่างประเทศ ทำให้ประเทศชาติมีรายได้จากการขายช้างเป็นอย่างมาก
3.2 ได้ต่อเรือรบขนาดย่อมไปจนถึงเรือรบขนาดใหญ่ ที่ต้องใช้กรรเชียง 2 ชั้น เรือรบที่ต่อขึ้นในสมัยของท่านก็มี ขนาดใหญ่กว่าที่เคยมีมาแต่ก่อน และได้ต่อเรือรบมากถึง 150 ลำ และเจ้าพระยานครน้อยเองท่านมีเรือรบ ขนาดใหญ่มาก อยู่ที่เมืองตรังถึง 300 ลำซึ่งเข้าใจว่าเป็นกองทัพเรือ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในขณะนั้น แม้ทางกรุงเทพฯ เองก็เพิ่งมาตื่นตัวในการสร้างกองทัพเรือในสมัยรัชกาลที่ 3 พ.ศ.2371 เมื่อไทยเริ่มเป็นศัตรูกับญวน
3.3 ได้ต่อเรือรบที่ใช้ได้ทั้งในลำคลองและในทะเลหลวง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ให้เจ้าพระยานครน้อยต่อเรือ โดยมีหัวเรือเป็นปากปลาและท้ายเรือเป็นกำปั่น แปลงให้มีพลแจว 2 แคม มีเสาใบสำหรับแล่นในทะเล ปากเรือกว้าง 9 ศอก 1 คืบ ยาว 11 วาขึ้นถวาย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานนามว่า “เรือมหาพิไชยฤกษ์” และเรือลำนี้ได้เป็นต้นแบบเพื่อการต่อเรืออีก 30 ลำ และได้ตรัสชมไว้ในคราวนั้นว่า “… บรรดาเจ้าเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตกไม่รู้การพินิจเหมือนเจ้าพระยานครคนนี้ จะทำการสิ่งใดก็หมดจดเกลี้ยงเกลาเป็นช่าง และรู้พิเคราะห์การดีและชั่ว …” พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้สมญานามท่านว่า “นาวีสถาปนิก”
4. ทางด้านการปกครอง
เจ้าพระยานครน้อยได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย จากทางเมืองหลวงเป็นอย่างมาก และทางเมืองหลวงได้มอบหมายให้อำนาจดังนี้
4.1 มีอำนาจในการปกครองหัวเมืองฝ่ายใต้ทั้งหมด ตลอดจนถึงตรังกานู ไทรบุรี เประ นับเป็นเจ้านครที่มีอำนาจมากกว่าเจ้าเมืองคนอื่นๆ
4.2 เป็นผู้สำเร็จราชการทัพศึกทางภาคใต้ฝ่ายตะวันตกอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
4.3 ได้รับมอบหมายให้เป็นคณะฑูตในการเจรจากับบริษัทอังกฤษ โดยท่านเอง เป็นบุคคลที่มีความสำคัญที่สุดในคณะฑูตชุดนั้น และได้บรรลุผลดีเป็นอย่างยิ่ง
4.4 เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองไทรบุรีและเประ ทำให้ท่านมีอำนาจเด็ดขาดในการปกครองเมืองนั้น โดยได้รับความไว้วางใจจากเมืองหลวงอย่างเต็มที่
4.5 เป็นนักการปกครองที่มีความเข้มแข็ง เด็ดขาดและไม่เห็นแก่หน้าใคร จะเห็นได้จากการสั่งให้โบยลูกชายทั้ง 2 คน ในฐานะที่ละทิ้งเมืองโดยไม่ได้แสดงความสามารถในทางการรบอย่างเต็มที่เสียก่อน แม้กระทั่งคำอธิษฐานของคุณพุ่ม (บุษบาท่าเรือจ้าง) กวีหญิงสมัยรัตนโกสินทร์ได้กล่าวไว้ว่า “ ขออย่าให้เป็นพลพายของเจ้าพระยานคร ” เพราะเล่ากันว่า พลพายเรือนั้นต้องพายเรือได้เร็ว และอย่างพร้อมเพรียงกัน และรู้กระบวนการท่าทุกท่า ถ้าทำการบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่ง จะต้องหามเรือขึ้นบกโดยคว่ำเรือลง แล้วพลพายทุกคนจะต้องถองเรือพร้อมๆ กัน อันเป็นการทำโทษอย่างหนึ่งแก่พลพายเรือ
เจ้าพระยานครน้อยเกิดเมื่อวันจันทร์ ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 10 ปีจอ อัฐศก จ.ศ.1138 ตรงกับวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2319 ณ เมืองนครศรีธรรมราช และท่านได้ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคลมปัจจุบันทันด่วน ภายหลังที่ได้เข้าโจมตีไทรบุรีได้รับชัยชนะและยังมิทันจะยกทัพกลับนครศรีธรรมราช โดยท่านมีอาการวิงเวียนอาเจียรเป็นน้ำลายเหนียวมีเสมหะปะทะหน้าอก โดยมีอาการตั้งแต่วัน แรม 8 ค่ำเดือน 6 ครั้นถึงวันแรม 14 ค่ำเดือน 6 จ.ศ.1210 ปีเดียวกันเวลา 5 ทุ่มเศษ ตรงกับวันอังคารที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2382 ก็ถึงแก่อสัญกรรม รวมอายุได้ 64 ปี
**ส่วนผู้ที่สืบเชื้อสายจากเจ้าพระยานคร (น้อย) ต้นสกุล ณ นคร , โกมารกุล ณ นคร และจาตุรงคกุล นั้น เป็นบุตรชายหญิงรวม 34 ท่าน ฝ่ายชายรับราชการในราชสำนักพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี 3 ท่าน เป็นเจ้าเมือง 3 ท่าน เป็นผู้รักษาเมือง 5 ท่าน เป็นปลัดเมือง 3 ท่าน เป็นผู้ช่วยราชการเมือง 1 ท่าน ฝ่ายหญิงเป็นเจ้าจอมมารดาและเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว 10 ท่าน เป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 2 ท่าน เป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว 1 ท่าน เป็นข้าราชสำนักฝ่ายใน 1 ท่าน และมีหญิงที่มิได้รับราชการ 5 ท่าน
**วงศ์เจ้าพระยานคร (น้อย) มีสกุลสายตรงซึ่งแยกออกเป็น 3 สาย คือ
สาย “ณ นคร” เจ้าพระยานคร (น้อย) เป็นต้นสายตรง
สาย “โกมารกุล ณ นคร” สืบตรงจากเจ้าพระยามหาศิริธรรม (เมือง หรือ น้อยใหญ่) บุตรเจ้าพระยานคร (น้อย) กับท่านผู้หญิงอิน (ราชนิกุล บางช้าง)
สาย “ จาตุรงคกุล ” สืบตรงจากคุณชาย “ น้อยเอียด ” บุตรเจ้าพระยานคร ( น้อย ) กับท่านผู้หญิงอิน
2. วงศ์เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์ หรือทองอิน) ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม (2509) ได้ค้นคว้าเรียบเรียงไว้ในหนังสือ “โอรสลับพระเจ้าตากสิน” ว่า ในการที่เจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น) ได้เป็นกองหน้าคราวสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกทัพไปปราบเมืองเวียงจันทน์ และท่านผู้หญิงเผอิญถึงแก่อนิจกรรมลง จึงพระราชทานเจ้าหญิง ยวน หรือ จวน ซึ่งก็เป็นเจ้าจอมผู้เป็นน้องสาวกรมหลวงบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ (ธิดา เจ้าพระยานคร (หนู) เจ้าหญิงก็ทรงครรภ์อยู่ด้วย เมื่อไปอยู่เมืองนครราชสีมาก็คลอดบุตรชาย ซึ่งเจ้าพระยานครราชสีมาบิดาบุญธรรมให้ชื่อว่า “ทองอินทร์” ผู้ที่ต่อมาก็ได้เป็น เจ้าพระยานครราชสีมา (หรือเจ้าพระยากำแหงสงคราม) ถึงไม่มีหลักฐานในจดหมายเหตุหรือพงศาวดาร ท่านทั้งสองคือ เจ้าพระยานคร (น้อย) และ เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์) ก็เป็นที่รับรองกันทั่วไปว่า เป็นโอรสในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
2.1 ผู้ที่สืบเชื้อสายจากเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์) นั้นยังหารายละเอียดไม่ได้ครบทุกท่าน ทราบแต่ชื่อและจำนวน คือ มีชาย 28 ท่าน หญิง 22 ท่าน ฝ่ายชายที่รับราชการและมีบรรดาศักดิ์ 20 ท่าน ฝ่ายหญิงเป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว 3 ท่าน เป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว 1 ท่าน
2.2 วงศ์เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์) หรือเจ้าพระยากำแหงสงคราม ซึ่งมีภริยาและอนุภรรยาหลายคน บุตรของท่านซึ่งแยกสายสกุลไป 13 สาย ได้แก่ สายอินทรกำแหง มหาณรงค์ อินทโสพัศ นิลนานนท์ เนียมสุริยะ ชูกฤส อินทนุชิต คชวงศ์ ศิริพร เชิญธงไชย เมนะรุจิ อธินันทน์ พรหมนารท
18.3 สกุลวงศ์ชั้นพระนัดดา
(หลานปู่, หลานตา) มีทั้งหมด 105 พระองค์
- พระนัดดา (ชาย) เท่าที่มีหลักฐานปรากฏมีอยู่ 4 พระองค์ คือ
1. เจ้านราสุริยวงศ์ ทรงเป็นพระเจ้าหลานเธอชั้นผู้ใหญ่ ที่ไม่ปรากฏชัดว่าเป็นโอรสผู้ใด ทรงได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราชสืบต่อจากเจ้านครฯ (หนู) สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.2319 ไม่ปรากฏว่ามีวงศ์สายสืบราชสกุล 2. กรมขุนอนุรักษ์สงคราม พระนามเดิมว่าบุญมี ก่อนตั้งพระราชวงศ์ได้รับสถาปนาเป็น “เจ้ารามลักษณ์” ได้มีความดีความชอบในราชการสงคราม แต่ก็ถูกสำเร็จโทษเมื่อ พ.ศ.2325
3. กรมขุนรามภูเบศร์ พระนามเดิมว่า “ บุญจันทร์ ” ก่อนตั้งพระราชวงศ์ได้รับสถาปนาเป็นเจ้าบุญจันทร์ ถูกข้าราชบริพารในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชล้อมจับปลงพระชนม์เสียขณะไปราชการสงคราม ณ ประเทศเขมรเมื่อปี พ.ศ.2325
4. กรมขุนสุรินทรสงคราม ไม่ปรากฏพระประวัติแต่อย่างใด
- พระนัดดา (หญิง) ในสมเด็จพระเจ้าตากสิน ที่รับราชการเป็น
1. เจ้าจอมมารดา พระนัดดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่รับราชการเป็น เจ้าจอมมารดา ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ ธิดาของเจ้าพระยานคร (น้อย) ซึ่งท่านถวายธิดาเกือบทุกคนเป็นบาทบริจาริกาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์
1.1 ธิดาคนโต คือ เจ้าจอมมารดาน้อยใหญ่ (เกิดแต่ท่านผู้หญิงอิน ราชนิกุลบางช้าง) เป็นเจ้าจอมมารดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติพระราชโอรส คือ พระองค์เจ้าเฉลิมวงศ์
1.2 ธิดาคนที่ 13 คือ เจ้าจอมมารดาบัว (เกิดแต่อนุภรรยา) เป็นเจ้าจอมมารดา ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติพระราชโอรส พระราชธิดา ดังนี้
– พระองค์เจ้าเฉลิมลักษณเลิศ สิ้นพระชนม์แต่ยังทรงพระเยาว์
– พระองค์เจ้าศรีสิทธิธงไชย กรมขุนสิริธัชสังกาศ ต้นราชสกุล ศรีธวัช ณ อยุธยา
– 3. พระองค์เจ้าหญิงอรไทยเทพกัญญา
– 4. พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ กรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์ ต้นราชสกุล วัฒนวงศ์ ณ อยุธยา
– 5. พระองค์เจ้าดำรงฤทธิ์ สิ้นพระชนม์แต่ยังทรงพระเยาว์
2. ชายา และ หม่อมของเจ้านายฝ่ายหน้าแห่งพระราชวงค์จักรี พระนัดดาของสมเด็จพระเจ้า ตากสินมหาราชหลายท่านได้เป็นชายาและหม่อมของเจ้านายฝ่ายหน้าแห่งพระราชวงศ์จักรี อาทิ 2.1 คุณหญิงแสง ธิดาคนโตของ พระองค์เจ้าอัมพวัน พระราชโอรสพระองค์ที่ 3 ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้เป็นชายาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 2 กรมพระพิทักษ์เทเวศร์ ต้นราชสกุล กุญชร ณ อยุธยา
กรมพระพิทักษ์เทเวศร์ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 22 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงรับราชการกำกับกรมม้าและได้รับทรงกรมเป็นกรมหมื่นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้เลื่อนพระยศเป็นกรมพระและได้กำกับกรมพระคชบาลอีกตำแหน่งหนึ่ง กรมพระพิทักษ์เทเวศร์เป็นผู้สร้าง วังบ้านหม้อ ขึ้นที่บริเวณคูเมืองด้านตะวันออก ซึ่งที่ตั้งในปัจจุบันคือถนนอัษฎางค์ตรงข้ามกรมการรักษาดินแดน วังบ้านหม้อเป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นในกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งนอกเหนือจากพระบรมมหาราชวัง และพระราชวังบวรสถานมงคล ส่วนที่ยังปรากฏที่เป็นเอกลักษณ์คือ ท้องพระโรงซึ่งถือเป็นแบบฉบับท้องพระโรงของวังเจ้านายระดับพระองค์เจ้า
คุณหญิงแสงมีโอรสและธิดาคือ หม่อมเจ้าสิงหนาท กุญชร ซึ่งเป็นพระโอรสองค์ใหญ่ของกรมพระพิทักษ์เทเวศร์ และ หม่อมเจ้าหญิงลมุน กุญชร หม่อมเจ้าสิงหนาทได้รับราชการในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงบัญชาการกรมพระอัศวราช กรมมหรสพ และได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้ามีพระนามว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงคฤทธิ์ พระองค์เป็นพระบิดาของ เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร) ซึ่งเป็นผู้บัญชาการกรมม้าและกรมมหรสพ ต่อมาเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ ได้เป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการและกระทรวงเกษตราธิการตามลำดับ และถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปีจอ พ.ศ.2465 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
2.2 คุณหญิงพึ่ง ธิดาคนที่ 4 ของ พระองค์เจ้าอัมพวัน ได้เป็นชายาใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม พระราชโอรสพระองค์ที่ 21 ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยศเดิมคือ พระองค์เจ้าชุมสาย ประทับทรงงานที่ วังท่าพระ กรมขุนราชสีหวิกรมทรงเป็นเจ้านายที่มีพระนิสัยดุ เอาจริงเอาจังกับหน้าที่ราชการ ได้ทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระอัธยาศัยเช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ โปรดงานก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ไม่เน้นรายละเอียดวิจิตรตระการตามากนักทรงมีความสามารถ ในการคำนวณตามแบบสถาปัตย กรรมไทย ได้ทรงกำกับราชการกรมช่างศิลาและกรมช่างสิบหมู่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรมทรงเป็นต้นราชสกุล ชุมสาย ณ อยุธยา สิ้นพระชนม์เมื่อปีมะโรง พ.ศ.2411
2.3 คุณหญิงพลับ ธิดาของ สมเด็จเจ้าฟ้าทัศพงศ์ หรือ พระพงษ์นรินทร์ ได้เป็นหม่อมห้ามของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี พระราชโอรสพระองค์ที่ 15 ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับราชการกรมช่างสิบหมู่ คุณหญิงพลับมีโอรส 3 พระองค์ คือ หม่อมเจ้าชายสารภี ลดาวัลย์ หม่อมเจ้าชาย ลดาวัลย์ และ หม่อมเจ้าชายเผือก ลดาวัลย์ เมื่อทรงพระชราภาพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดีทรงประชวร ดวงพระเนตรเป็นต้อ ทอดพระเนตรไม่เห็น และในครั้งนั้น เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ก็ป่วยเป็นโรคตาเช่นเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้ติดต่อแพทย์ตะวันตกเข้ามาผ่าตัดตาของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ มหาโกษาธิบดี และโปรดให้ผ่าตัดพระเนตรของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี จนสายพระเนตรหายเป็นปกติและได้ฉายพระรูปมอบให้แพทย์ฝรั่งเป็นที่ระลึกด้วย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดีสิ้นพระชนม์เมื่อปีจอ พ.ศ.2417 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
2.4 คุณหญิงทับ ธิดาของ สมเด็จเจ้าฟ้าศิลา พระราชโอรสพระองค์ที่ 8 ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เป็นหม่อมของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระรามอิศเรศ พระราชโอรสพระองค์ที่ 22 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งได้รับราชการศาลรับสั่งและความฎีกา ทรงเป็นต้นราชสกุล สุริยกุล ณ อยุธยา
3. รับราชการใกล้ชิดพระราชสำนัก นอกจากการรับราชการฝ่ายในเป็นเจ้าจอมมารดาหรือบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัว หรือเป็นหม่อมในเจ้านายฝ่ายหน้าแห่งพระราชวงศ์จักรีแล้ว กุลสตรีแห่งสกุลวงศ์พระเจ้ากรุงธนบุรีหลายท่านได้รับ ราชการใกล้ชิดพระราชสำนัก เช่น คุณหญิงจั่น และ คุณหญิงขาว ธิดาของสมเด็จเจ้าฟ้าชายทัศพงศ์
3.1 คุณหญิงจั่นเป็นพระนมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกกันทั่วไปว่า “พระนมจั่น” ซึ่งเป็นพระนมที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ความเคารพรัก
3.2 คุณหญิงขาวเป็นพระนมของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงศ์ สมเด็จพระอนุชาร่วมพระครรภ์ กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (เล็ก พงษ์สมัครไทย. “ สายสัมพันธ์ ราชสกุลพระเจ้าตากกับราชวงศ์จักรี,” ศิลปวัฒนธรรม. 23 (6) เมษายน 2545 : (67-69)
ก . สรุปพระราชวงศ์ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สกุลสายตรง ได้แก่
– สินสุข (วงศ์พระมหาอุปราช)
– อินทรโยธิน (วงศ์พระมหาอุปราช)
– พงษ์สิน (วงศ์สมเด็จเจ้าฟ้าทัศพงศ์)
– ศิลานนท์ (วงศ์สมเด็จเจ้าฟ้าศิลา)
– รุ่งไพโรจน์ (วงศ์สมเด็จเจ้าฟ้านเรนทรราชกุมาร)
– โกมารกุล ณ นคร (วงศ์เจ้าพระยานครน้อย)
– จาตุรงคกุล (วงศ์เจ้าพระยานครน้อย)
– ณ นคร (วงศ์เจ้าพระยานครน้อย)
– ณ ราชสีมา (วงศ์เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์) และมีสาขาสกุลอีกดังรายละเอียดเกี่ยวกับเจ้าพระยานครราชสีมา
ข. สกุลที่เกี่ยวพันทางสายหญิง ในที่นี้จะแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ – ฝ่ายเกี่ยวพันทางราชวงศ์จักรีและได้ตั้งเป็นราชสกุลวงศ์ขึ้นใหม่ มี 17 วงศ์ คือ
1. วงศ์อิศรเสนา สืบจากพระองค์เจ้าหญิงสำลีวรรณ พระราชธิดาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งเป็นพระมารดาของพระองค์เจ้าชายพงศ์อิศเรศ กรมหมื่นกษัตริย์ศรีศักดิเดช พระโอรสในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ วังหน้าในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
2. วงศ์อิศรางกูร สืบจากสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงปัญจปาปี พระราชธิดาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งป็นพระชายาของเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ พระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระพี่นางในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
3. วงศ์ปาลกะวงศ์ สืบจากเจ้าหญิงมะเดื่อ พระธิดาในสมเด็จพระมหาอุปราช เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ กับพระองค์เจ้าชายปาน กรมหมื่นนราเทเวศร์ พระโอรสในกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์)
4. วงศ์เสนีวงศ์ สืบจากเจ้าหญิงสาลี่ (ขนิษฐภคินีในเจ้าหญิงมะเดื่อ) กับพระองค์เจ้าชายแดง กรมหลวงเสนีบริรักษ์ พระโอรสในกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ )
5. วงศ์กุญชร สืบจากหม่อมเจ้าหญิงแสง พระธิดาในพระองค์เจ้าชายอัมพวัน กับพระองค์เจ้าชายกุญชร กรมพระพิทักษ์เทเวศร์ พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
6. วงศ์ชุมสาย สืบจากหม่อมเจ้าหญิงพึ่ง (ขนิษฐาของหม่อมเจ้าหญิงแสง) กับพระองค์เจ้าชายชุมสาย กรมขุนราชสีหวิกรม พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
7. วงศ์ลดาวัลย์ สืบจากหม่อมเจ้าหญิงพลับ พระธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้าชายทัศพงศ์ กับพระองค์เจ้าชายลดาวัลย์ กรมหมื่นภูมินทรภักดี พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
8. วงศ์สุริยกุล สืบจากหม่อมเจ้าหญิงทับ พระธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้าชายศิลา กับพระองค์เจ้าชายสุริยา กรมพระรามอิศเรศพระโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
9. วงศ์นพวงศ์ สืบจากหม่อมเจ้าหญิงน้อย (พระธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้าชายทัศไภย) ผู้เป็นพระสนมพระองค์แรกของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เรียกกันว่า “เจ้าจอมมารดาน้อย” พระโอรสองค์ที่ 1 คือ พระองค์เจ้าชายนพวงศ์ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ ทรงเป็นต้นราชสกุลนพวงศ์
10. วงศ์สุประดิษฐ์ สืบจาก “เจ้าจอมมารดาน้อย” เช่นเดียวกัน แต่จากทางพระโอรสพระนามว่า พระองค์เจ้าชายสุประดิษฐ์ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร
11. วงศ์ศรีธวัช สืบจาก “เจ้าจอมมารดาบัว” ธิดาคนที่ 13 ของเจ้าพระยานคร (น้อย) พระสนมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระโอรสองค์หนึ่งของเจ้าจอมมารดาบัวทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ 13 ของสมเด็จพระบรมราชชนก พระนามว่า พระองค์เจ้าศรีสิทธิธงไชย กรมขุนสิริธัชสังกาศ
12. วงศ์วัฒนวงศ์ สืบจาก “เจ้าจอมมารดาบัว” เช่นเดียวกัน แต่ทางพระโอรสผู้ทรงพระนามว่า พระองค์เจ้าชายวัฒนานุวงศ์ กรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์
13. วงศ์ทองใหญ่ สืบจากเจ้าจอมมารดาสังวาลย์ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่ท่านเป็นธิดาของนายศัลยวิไชย (ทองคำ ณ ราชสีมา) บุตรชายเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์) และท่านเป็นพระมารดาของพระองค์เจ้าชายทองกองก้อนใหญ่ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ต้นราชสกุลนี้
14. วงศ์ทองแถม สืบจากเจ้าจอมมารดาสังวาลย์เช่นเดียวกัน โดยทางพระองค์เจ้าชายทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหลวงสรรพศาสตร์ศุภกิจ
15. วงศ์ภาณุมาศ สืบจากเจ้าจอมมารดาเอี่ยม ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่ท่านเป็นธิดาหม่อมเจ้าเกษม (หลวงมหาวิสูตรโกษา) พระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้าชายนเรนทรราชกุมาร และท่านเป็นพระมารดาของพระองค์เจ้าชายภาณุมาศต้นราชสกุลนี้
16. วงศ์กาญจนวิชัย สืบจากเจ้าจอมมารดาปริกเล็ก ในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่ท่านเป็นธิดาคุณหญิงเวก พระธิดาสมเด็จเจ้าฟ้าชายทัศพงศ์ และท่านเป็นพระมารดาของพระองค์เจ้าชายกาญจโนภาศรัศมี กรมหมื่นชาญชัยบวรยศ ต้นราชสกุลนี้
17. วงศ์จรูญโรจน์ สืบจากเจ้าจอมมารดาช้อย ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่ท่านเป็นธิดาของพระยานครราชสีมา (เมฆ ณ ราชสีมา) บุตรเจ้าพระยานครราชสีมา หรือเจ้าพระยากำแหงสงคราม (ทองอินทร์) และท่านเป็นพระมารดาของพระองค์เจ้าชายจรูญโรจน์เรืองศรีกรมหมื่นจรัสพรปฏิภาณ ต้นราชสกุลนี้
– ฝ่ายเกี่ยวพันชั้นใกล้ชิดกับสกุลอื่น ๆ มีอยู่ 21 สกุล คือ
1. ราชสกุลเทพหัสดิน ณ อยุธยา
2. ราชสกุลกมลาสน์
3. สกุลรัตนโกศ
4. สกุลแสง – ชูโต
5. สกุลรัตนภาณุ
6. สกุลธรรมสโรช
7. สกุลวิภาตะศิลปิน
8. สกุลศรีเพ็ญ
9. สกุลศรียาภัย
10. สกุลบุนนาค
11. สกุลบุรานนท์
12. สกุลสุวงศ์
13. สกุลลักษณสุต
14. สกุลสุขกสิกร
15. สกุลบุรณศิริ
16. สกุลแดงสว่าง
17. สกุลแสงต่าย
18. สกุลมิตรกูล
19. สกุลจุลดิลก
20. สกุลสายะศิลปี
21. สกุลจาตุรงคกุล
ค . สกุลวงศ์ที่ไม่ทราบระดับสัมพันธ์ มี 6 พระองค์ คือ
1. หม่อมเจ้าในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ สิ้นพระชนม์ พ.ศ.2320
2. หม่อมเจ้าเส็ง สิ้นพระชนม์ พ.ศ.2321
3. หม่อมเจ้าปทุมไพจิตร ปรากฏพระนามในจดหมายเหตุ ทรงแต่งตั้งให้เป็นพระเจ้านครศรีธรรมราช
4. หม่อมเจ้านราธิเบศร์ มีปรากฏในพระราชพงศาวดาร (ชูศิริ จามรมาน, 2527 : 72-81)
5. พระองค์เจ้าชายอนุรุธเทวา
6. พระองค์เจ้าชายเชษฐกุมาร (ทวน บุณยนิยม , 2513 : 208)