สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

บทที่ 16 เหตุการณ์ปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

เหตุการณ์จลาจลในกรุงธนบุรี พ.ศ.2324
สัญญาวิปลาส ตั้งแต่สงครามอะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือแล้วพระเจ้ากรุงธนบุรีมักเสด็จไปนั่งกรรมฐาน ที่วัดบางยี่เรือ (วัดอินทราราม) ซึ่งได้บูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่เนืองๆ แล้วติดพระทัยในการนั่งกรรมฐานยิ่งขึ้น พระอารมณ์ก็ฟั่นเฟือน เกิดมีอาการดุร้ายยิ่งกว่าแต่ก่อนโดยลำดับมา ครั้นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ ยกทัพไปเมืองเขมรแล้วไม่ช้า ทางนี้พระเจ้ากรุงธนบุรีก็มีสัญญาวิปลาส เกิดสำคัญพระองค์ว่าเป็นพระโสดาบัน มีรับสั่งให้พระราชาคณะทั้งปวงมาประชุมกันในโรงพระแก้ว (ที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตครั้งกรุงธนบุรี คือวิหารหลังเล็กข้างใต้ คู่กับพระอุโบสถเก่า อยู่ริมแม่น้ำแขวงพระปรางค์วัดอรุณฯ) เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2324 แล้วเสด็จออก มีรับสั่งถามพระราชาคณะว่า พระภิกษุอันเป็นปุถุชนจะกราบไหว้คฤหัสถ์ ซึ่งเป็นพระโสดาบันนั้นจะได้หรือไม่ประการใด พระราชาคณะโดยมากพากันกลัวพระราชอาญาถวายพระพรว่าไหว้ได้ แต่สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) วัดบางหว้าใหญ่กับพระพิมลธรรมวัดโพธาราม และพระพุฒาจารย์วัดบางหว้าน้อย (สามวัดที่กล่าวมานี้คือ วัดระฆัง วัดพระเชตุพน และวัดอมรินทร์ตามลำดับ) 3 องค์นี้ถือวินัยมั่นคงไม่ครั่นคร้ามต่อพระราชอาญา ถวายพระพรว่าถึงคฤหัสถ์จะเป็นพระโสดาบัน เพศก็ยังต่ำกว่าพระภิกษุปุถุชนอันทรงผ้ากาสาวพัสตร์และจตุปาริสุทธศีล เพราะฉะนั้นที่พระภิกษุจะกราบไหว้คฤหัสถ์หาควรไม่

พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ฟังก็ทรงพระพิโรธ ดำรัสว่าพระราชคณะทั้งปวงก็ยังเห็นว่าไหว้ได้โดยมาก แต่สามองค์ยังบังอาจโต้แย้งฝ่าฝืนถวายพระพรให้ผิดพระบาลี จึงมีรับสั่งให้ถอดเสียจากสมณศักดิ์ แล้วให้เอาตัวสมเด็จพระสังฆราชกับพระราชาคณะ 2 องค์ที่ถูกถอดนั้น กับพระภิกษุซึ่งเป็นฐานนานุกรมและอันเตวาสิกลัทธิวิหาริกรวมทั้งสิ้นประมาณ 500 รูปไปลงพระอาญาที่วัดหงส์ ให้ตีหลังสมเด็จพระสังฆราชกับพระราชาคณะองค์ละ 100 ที ฐานะเปรียญองค์ละ 50 ที พระอันดับองค์ละ 30 ที แล้วให้เอาตัวขังไว้ ขนอาจม ของโสโครกที่วัดหงส์ทั้งหมด ตั้งแต่นั้นมาพระสงฆ์เข้าเฝ้าหมอบกราบถวายบังคมเหมือนข้าราชการฝ่ายฆาราวาสทั้งปวง

ความวิปริตเกิดขึ้นในบ้านเมือง การกระทำของพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อทราบไปถึงไหนคนทั้งหลายก็พากันตกใจ เห็นว่าเกิดวิปริตขึ้นในบ้านเมือง บางพวกก็โกรธแค้น บางพวกก็พากันสงสารพระสงฆ์ซึ่งต้องรับพระราชอาญา ถึงเข้าขอให้ตีแทนตนก็มี เกิดโกลาหลสะดุ้งสะเทือนทั่วไปทั้งพระนคร ครั้นต่อมาพระเจ้ากรุงธนบุรีซ้ำมีอาการเกิดทรงระแวงว่าข้าราชการพากันลอบลักพระราชทรัพย์ ให้โบยตีจำจองและบางทีก็เอาตัวผู้ต้องหาขึ้นย่างไฟจะให้รับเป็นสัตย์ แล้วพระราชทานรางวัลผู้ที่โจทก์ฟ้องร้อง ยกเป็นบำเหน็จความชอบในราชการ ก็เลยเป็นเหตุให้พาลแกล้งใส่ความฟ้องผู้อื่นชุกชุมขึ้น มีคนต้องโทษกักขังเฆี่ยนตี และประหารชีวิตมากขึ้นทุกที (จรรยา ประชิตโรมรัน , 2543 : 234-236)

16.1 ใครก่อการกบฏในสมัยกรุงธนบุรี ?

พระยาสรรค์เป็นกบฏ
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯ ให้ พระวิชิตณรงค์ (หรือพระพิชิตณรงค์) ที่รับผูกขาดภาษี ขึ้นไปเร่งรัดเรียกเก็บภาษีราษฎรที่กรุงเก่า ราษฎรถูกเร่งรัดเรียกเก็บภาษีโดยไม่เป็นธรรม ความร้อนรนหนักเข้า จึง นายบุนนาก ผู้เป็นหัวหน้าอยู่บ้านแม่ลา (ซึ่งในปัจจุบันเป็นท้องที่อำเภอนครหลวง แขวงกรุงเก่า ) เป็นหัวหน้า หลวงสุระ (หรือขุนสุระ ) และ หลวงชะนะ (หรือขุนชะนะ) ( http://board.dserver.org/n/natshen/00000133.html , 21/11/45) ชักชวนชาวบ้านเข้าเป็นพรรคพวก ยกลงมาจับพระวิชิตณรงค์ และกรมการฆ่าเสียหลายนาย อีกทั้งเผาบ้านผู้รักษากรุง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดให้ พระยาสรรค์ ไปจับกุมพวกบ้านแม่ลา แต่ในกลุ่มจราจลในครั้งนั้นมีขุนแก้ว (น้องพระยาสรรค์ ) รวมอยู่ด้วย พระยาสรรค์ถูกเกลี้ยกล่อมให้เข้าเป็นพวกนายบุนนาก จากนั้นได้ก่อการโดยให้พระยาสรรค์เป็นแม่ทัพ ยกไพร่พลลงมาโดยทางเรือหมายจะยึดกรุงธนบุรี โดยอ้างเหตุผลว่าบ้านเมืองเป็นกลียุค (พระราชพงศาวดารกรุงเก่า , : 70-71 ; ภารดี มหาขันธ์ , 2526 : 32-37)

พระยาสรรค์พร้อมด้วยพวกกบฏยกทัพลงมาถึงกรุงธนบุรี เมื่อวันเสาร์ เดือน 4 แรม 11 ค่ำ ปีฉลู ตรงกับวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2324 (จรรยา ประชิตโรมรัน, 2543 : 237) ลอบเข้ามาในเวลาค่ำ

พอถึงก็ยกเข้าปล้นพระราชวัง ระดมยิงปืน ลูกปืนตกในกำแพงพระราชวัง (เวลานั้นตั้งอยู่ในแนวคลองนครบาล คือคลองเหนือวัดอรุณราชวราราม) เสียงสนั่นหวั่นไหว ผู้คนภายในกำแพงตื่นตระหนกตกใจ ร้องกันอื้ออึงไม่เป็นศัพท์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกำลังบรรทมหลับสนิท ตกพระทัยตื่นคว้าได้พระแสง เสด็จขึ้นบนพระที่นั่งเย็น ตรัสตะโกนเรียกฝรั่งที่ป้อมวิชัยประสิทธิ รับสั่งให้ยิงปืนใหญ่ต่อสู้พวกกบฏ ทางฝ่ายพวกกบฏทำการต่อสู้กับพวกทหารที่รักษาป้อมล้อมวังอยู่จนรุ่งเช้า ก็ยังหักเอาพระราชวังมิได้ และพวกรักษาหน้าที่ก็ไม่เต็มใจจะต่อสู้กับพวกกบฏ มิฉะนั้นจะทำการขับไล่หรือจับกุมได้แล้วแต่ก่อนสว่างนั้นแล้ว และสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระพิโรธยิ่งนัก เมื่อได้ทราบว่าพระยาสรรค์ซึ่งใช้ให้ไปสืบสาวเรื่องราวเอาตัวพวกกบฏ กลับมาเป็นหัวกบฏเสียเอง รับสั่งให้ไปจับกุมบุตร ภรรยา มาขังไว้ แล้วเสด็จเข้าไปฟันประตูที่คุมขังผู้ต้องโทษหญิงปล่อยตัวให้เป็นอิสระหมด ส่วนที่ป้อมวิชัยประสิทธิปากคลองบางหลวงนั้น พระยาธิเบศร์ฯ พระยารามัญ (มะซอน บรรพบุรุษสกุลศรีเพ็ญ) และพระยาอำมาตย์ให้ลากปืนจ่ารงค์ขึ้นป้อม ต่อสู้ป้องกันพวกกบฏมิให้ลุกล้ำเข้าในพระนครทางด้านนั้นได้

พอสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จออกจากข้างใน กลับออกไปมีรับสั่งว่า “ สิ้นบุญพ่อแล้ว อย่าให้ยากแก่ไพร่เลย ” ข้าราชการที่จงรักภักดีต่อพระองค์อยู่อย่างแท้จริง เมื่อได้ฟังสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตรัสออกมาเช่นนั้น ต่างก็พากันเศร้าใจไปตามๆ กัน พระยาทั้งสามคือพระยาธิเบศร์บริรักษ์ พระยารามัญ และพระยาอำมาตย์ ถึงกับกราบบังคมทูลด้วยน้ำตาว่า “ ถ้าเสด็จพ่อมิให้ลูกต่อสู้ด้วยพวกกบฏแล้ว ลูกก็จะขอตายด้วยเจ้าข้าวแดง ขอตายกับเสด็จพ่อด้วย ” เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตรัสห้ามมิให้ต่อสู้ด้วยพวกกบฏนั้น ก็เพราะพระองค์เห็นว่าสู้ไม่ไหวแน่แล้ว จึงให้ไปนิมนต์สมเด็จพระสังฆราช (ชื่น) วัดหงส์ กับพระพิมลธรรม พระรัตนมณี (หรือพระรัตนมุนี) ให้ออกไปเจรจายอมแพ้แก่พวกกบฏ พระยาสรรค์จึงให้พระสมณะทูตกราบทูลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า “ถ้าเสด็จพ่อยอมอ่อนน้อมเช่นนั้นก็ชอบแล้ว พระคุณเจ้าทั้งสามจงถวายพระพรให้ทรงผนวชเสียสักสามเดือน เพื่อชำระพระเคราะห์เมือง ” สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรงยอมรับที่จะปฏิบัติตาม ในการรบพุ่งกันครั้งนี้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีต้องเสียข้าราชการที่จงรักภักดีมั่นคงในพระเดชพระคุณอย่างยิ่ง ถึงสี่สิบนาย และเมื่อรับพระโอษฐ์ว่าจะผนวชแล้วก็ทรงพระสรวลตบพระเพลาแล้วตรัสว่า “เอหิภิกขุ มาถึงแล้ว” (การที่พระองค์ทรงพระสรวล ตบพระเพลาว่า เอหิภิกขุ มาถึงแล้ว สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชวิจารณ์ไว้ว่า “สมสำนวนเจ้ากรุงธนมาก”)

ครั้นแล้วสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็เสด็จออกผนวช ณ พัทธสีมาวัดอรุณราชวราราม เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 4 แรม 12 ค่ำ ปีฉลู ตรงกับวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2324 เพลาสามทุ่ม (แต่ภารดี มหาขันธ์ , 2526 : 34 กล่าวว่าเป็นเวลา 3 โมงเช้า) ตรงกับวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2325 พระองค์อยู่ในราชสมบัติ 14 ปี 4 เดือน ( จดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี ฯ , หน้า 17 ทรงบันทึกไว้ว่า “ พระยาสรรค์ให้นิมนต์พระราชาคณะให้ถวายพระพร ให้ทรงบรรพชาชำระพระเคราะห์เมือง 3 เดือน ทรงพระสรวลตบพระเพลาว่า เอหิภิกขุ มาถึงแล้ว ให้เชิญพระกรรบิด (หรือพระแสงกรรบิด หมายถึง มีดโกน, สุทธิ ภิบาลแทน, ม.ป.ป. : 56) ออกไป เพลา 3 โมง เข้าทรงบรรพชา ณ เดือน 4 แรม 12 ค่ำ พระองค์อยู่ในราชสมบัติ 14 ปี กับ 4 เดือน ทรงผนวช ”) การทรงผนวชของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ครั้งนี้ เป็นการทรงผนวชตามคำขอของพระยาสรรค์ เพื่อเสดาะพระเคราะห์เสียสักสามเดือน การทรงผนวชของพระองค์ที่วัดอรุณราชวราราม นี้ต้องอยู่ในฐานะที่ต้องคุมตัวพร้อมทั้งพระราชโอรส ที่ยังทรงพระเยาว์ (พระพงษ์นรินทร์ หรือเจ้าฟ้าทัศน์พงศ์) ส่วนพระญาติพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น พระยาสรรค์ให้จำเอาไว้ทั้งหมด แล้วพระยาสรรค์ให้ประกาศแก่บรรดาข้าราชการ ทั้งปวงว่า จะรักษาราชการไว้รอท่าสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ ข้าราชการทั้งหลายก็สงบอยู่ไม่มีปฏิกิริยาอันใด ยอมให้พระยาสรรค์เป็นผู้สำเร็จราชการในระหว่างนั้น

เหตุไฉนพวกกบฏจึงขอให้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จออกทรงผนวช ทำไมจึงไม่บุกบั่นเข้าถึงพระองค์แล้วจับสำเร็จโทษเสียเล่า ?
ข้อนี้คงเป็นเพราะกำลังของพวกกบฏยังไม่พอจะทำได้เช่นนั้นประการหนึ่ง หรือบางทีอีกประการหนึ่งคงเป็น เพราะราษฎรไม่ต้องการเช่นนั้น แม้ว่าเหล่าราษฎรที่ถูกหลอกให้เข้ากองทัพมาทำการกบฏ ก็คงจะไม่ลืมพระคุณถึงกับคิดฆ่าพระองค์ทีเดียว ขอเพียงให้พระองค์ทรงผนวชชั่วคราวเท่านั้นก็พอแล้ว หากพวกกบฏแท้ๆ จะคิดหักหาญเกินไป ความลับจะแดงขึ้น ถึงต้องปะทะกับราษฎรอีกก็เป็นได้ จึงจำใจขอเพียงให้ทรงผนวช 3 เดือน เพื่อให้ถูกใจราษฎรที่หลงเชื่อคำปลุกปั่นไปพลางๆ เมื่อราษฎรกลับคืนบ้านเรือนของตนๆ หมดแล้ว เรื่องต่อไปคิดอ่านภายหลังก็คงได้ เพราะผนวชแล้วจะเชือดเนื้อเถือหนังอย่างไร เมื่อไม่เกรงบาปในการทำลายพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ก็ย่อมจะทำได้ง่ายๆ แต่ความโหดร้ายจะติดแผ่นดินอยู่ไม่รู้สิ้น ( http://board.dserver.org/n/natshen/00000133.html , 21/11/45)

เมื่อพระยาสรรค์เป็นผู้สำเร็จราชการอยู่นั้นได้ออกว่าราชการแผ่นดิน ณ ท้องพระโรงในพระราชวัง ได้สั่งให้ปล่อยข้าราชการทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน และราษฎรที่ถูกเวรจำขังโดยพระราชอาญาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีออกเสียทั้งสิ้น เหตุการณ์ในตอนนี้เป็นการเปิดโอกาสให้กรุงธนบุรีเกิดความไม่สงบขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เสมือนบ้านเมืองไม่มีขื่อไม่มีแป พวกราษฎรที่ต้องได้รับโทษทัณฑ์โดยไม่มีความผิด ครั้นถูกปล่อยเป็นอิสระแล้ว คุมแค้นพวกที่เป็นโจทก์ฟ้องร้องทำให้ตนต้องได้รับโทษเป็นกำลัง และเมื่อเห็นว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีออกทรงผนวชไม่มีพระราชอำนาจแล้ว ต่างก็พากันชวนเที่ยวจับกุม พวกโจทก์ มีพันสี พัน ล า เป็นตัวการสำคัญ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในหัวข้อ 16.2 สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงเสียพระจริตจริงหรือ ?) ฆ่าฟันเสียให้สาสมกับความแค้นเป็นอันมาก พวกโจทก์หนีไปซุ่มซ่อนอยู่ตามวัดบ้าง ตามหมู่บ้านทุกหนทุกแห่งที่หนีรอดเหลืออยู่มีน้อย ที่ล้มตายนั้นมาก ในกรุงธนบุรีเกิดมีการฆ่าฟันกันตายทุกวันมิได้ขาด ใครจะฆ่าใครตามชอบใจก็ได้ ไม่มีเจ้าพนักงานจับกุมผู้กระทำผิดไปลงโทษ

ส่วนพระยาสรรค์ผู้สำเร็จราชการนั้น ครั้นเป็นผู้คุมอำนาจไว้ได้เต็มที่แล้ว ก็ให้กระหยิ่มใจกำเริบเห็นทีจะนึกครึ้มใจ อยากจะฟังละครร้องของหลวงขึ้นมาบ้าง คือเพียงอยากฟังเท่านั้นไม่ใช่ต้องการเห็นตัวละครผู้ร้องรำทำเพลงด้วย จึงสั่งให้พวกละครเล่นให้ฟังข้างใน แล้วออกมานอนเล่นฟังเสียงร้องเพราะๆ เสียงหวานๆ อยู่ข้างนอก และการรักษาราชการแผ่นดินอยู่ก็ไม่มีผู้ใดขัดขวางอีกต่อไป ก็ยิ่งทำให้พระยาสรรค์มีใจกำเริบยิ่งขึ้น แต่ยังเกรงกลัวสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกอยู่

พระยาสรรค์จึงคิดหาลู่ทางที่จะกำจัดสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเสีย ก็เห็นแต่กรมขุนอนุรักษ์สงคราม (เจ้ารามลักษณ์ เป็นพระเจ้าหลานเธอในสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ) เจ้านายผู้ใหญ่ซึ่งตนได้สั่งให้เอาไปจำไว้เมื่อยึดอำนาจได้ ถ้าได้ตัวกรมขุนอนุรักษ์สงครามเป็นหัวหน้าไว้ คอยจัดการต่อสู้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพกลับเข้ามา ก็จะเป็นกำลังสำคัญทำการกำจัดได้ พระยาสรรค์จึงลอบไปคิดอ่านกับกรมขุนอนุรักษ์สงครามให้รับทำการในครั้งนี้ ส่วนเงินทองที่จะใช้ในการหากำลังปราบปรามจะเอาพระราชทรัพย์ในพระคลังหลวงออกจ่ายให้จนพอเพียง กรมขุนอนุรักษ์สงครามก็รับเป็นหัวหน้าจัดทำตามความประสงค์ของพระยาสรรค์

แล้วพระยาสรรค์ก็ปล่อยตัวกรมขุนอนุรักษ์สงครามพร้อมด้วยมอบทรัพย์ของหลวงออกไปเที่ยวหาสมัครพรรคพวก เกลี้ยกล่อมได้พระยามหาเสนา พระยารามัญวงศ์ หรือจักรีมอญ (เดิมชื่อหลวงบำเรอภักดิ์ เป็นพี่ชายท้าวทรงกันดาร (ทองมอญ ) และ พระยากลางเมือง นายกองมอญ เป็นต้น ส่วนพระยาสรรค์ทำเป็นว่าไม่รู้ไม่เห็นในเหตุการณ์นี้เลย พวกที่อยากได้เงินครั้นถูกเกลี้ยกล่อม ก็พากันมาเข้าเป็นสมัครพรรคพวกเป็นอันมาก แต่การตั้งตัวเป็นหัวหน้าของ กรมขุนอนุรักษ์สงครามนั้นเห็นจะไม่ซื่อตรงต่อพระยาสรรค์นัก เพราะเมื่อได้สมัครพรรคพวกเป็นของตัวมากเข้า ก็คิดจะชิงเอากรุงธนบุรีเป็นที่มั่นเสียก่อน และเมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ ยกกองทัพกลับเข้ามา ก็จะได้ทำการต่อสู้ได้ดีกว่าไม่มีที่มั่นแข็งแรงไว้ทำการ

ในขณะที่ในกรุงธนบุรีเกิดจลาจลพระยาสรรค์เข้ายึดอำนาจสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ ยังทำการปราบกบฏเขมรอยู่ ฟ้าทะละหะ (มู) หนีไปเมืองญวน ขอให้ญวนช่วย และเจ้าพระยาสุรสีห์ยกกองทัพติดตามฟ้าทะละหะ เจ้าพระยาสุรสีห์ทราบว่ามีกองทัพญวนขึ้นมาตั้งอยู่ ที่เมืองพนมเปญ จึงตั้งทัพรอฟังคำสั่งจากท่านแม่ทัพใหญ่ว่าจะให้รบกับญวนหรือไม่

พระยาสรรค์คุมอำนาจในกรุงธนบุรี ได้ 2 สัปดาห์ พระยาสุริยอภัย (ทองอิน) ผู้ครองเมืองนครราชสีมา (เป็นหลานของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ ต่อมาได้เป็นกรมพระราชวังหลังในสมัยรัชกาลที่ 1) ได้ทราบข่าวว่าในกรุงธนบุรีเกิดจลาจลขึ้น จึงออกไปเมืองเสียมราฐ แจ้งข่าวราชการแผ่นดินให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ ทราบ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ จึงให้พระยาสุริยอภัยยกกองทัพลงไปกรุงธนบุรีก่อน แล้วจะยกกองทัพใหญ่ตามลงไปทีหลัง พระยาสุริยอภัยก็กลับมายังเมืองนครราชสีมา ให้พระยาอภัยสุริยาปลัดผู้น้อง อยู่รักษาเมือง แล้วก็จัดกองทัพได้พล 3,000 เศษ ( ภารดี มหาขันธ์ , 2526 : 34 กล่าวว่า ยกกำลังมาประมาณ 1,000 คน ) เร่งรีบยกลงมายังกรุงธนบุรี

กองทัพเมืองนครราชสีมามาถึงกรุงธนบุรี ณ วันศุกร์ เดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ เป็นเวลาที่พระยาสรรค์ได้เข้ายึดอำนาจไว้ได้แล้ว และได้นั่งเมืองเป็นผู้สำเร็จราชการแล้ว มาทันเหตุการณ์ที่กรมขุนอนุรักษ์สงครามยังไม่ทันเข้ายึดเอาราชธานีเป็นที่มั่น ครั้นพระยาสุริยอภัยนำทัพเข้ามาถึงเขตกรุงธนบุรีแล้ว จึงเข้าหยุดชุมนุมทัพอยู่ที่บ้านเดิม ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลสวนมังคุด สวนลิ้นจี่

ในขณะนั้นขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง แตกออกเป็นสองพวก ที่ได้บำเหน็จรางวัลก็เข้าเป็นพวกพระยาสรรค์ ที่ยังถือบุญญาบารมีของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ ก็มิได้รับรางวัลของพระยาสรรค์ โอนมาเข้าเป็นพวกข้างพระยาสุริยอภัย ฝ่ายพระยาสรรค์ เมื่อเห็นว่าพระยาสุริยอภัยยกกองทัพเข้ามาถึงก็มีความตกใจ เกรงความที่คิดไว้จะแพร่งพราย จึงนัดหมายกับกรมขุนอนุรักษ์สงครามและพรรคพวกเมื่อวันอังคาร เดือน 5 แรม 5 ค่ำ (วันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2325 , จรรยา ประชิตโรมรัน, 2543 : 239) ให้ยกพลขึ้นไปปล้นบ้านพระยาสุริยอภัย ที่ตำบลสวนมังคุด สวนลิ้นจี่ ในค่ำวันนั้นเวลาเที่ยงคืน แต่กรมขุนอนุรักษ์สงครามมีรี้พลน้อย เพราะชาวพระนครไม่เข้าด้วย ได้แต่พวกมอญในกองพระยารามัญและพระยากลางเมืองเป็นพื้น ยกขึ้นไปถึงบ้านปูนข้างใต้สวนมังคุด เห็นเป็นเวลาลมสำเภาพัดกล้า ได้ทีก็ให้เอาไฟจุดเผาบ้านเรือนราษฎรที่บ้านปูน ให้ไฟไหม้ลุกลามขึ้นไปยังคฤหาส ถ์นิวาศน์ สถานของพระยาสุริยอภัย แล้วให้ทหารโอบขึ้นไปทางด้านตะวันตกจนถึงวัดบางหว้าน้อย ให้ยิงปืนเข้าไปในบ้านพระยาสุริย อภัย ฝ่ายพระยาสุริยอภัยไม่ทันรู้ตัว จึงสั่งให้ไพร่พลออกต่อสู้ให้วางปืนตับ ทั้งสองฝ่ายยิงปืนโต้ตอบกันอยู่ ครั้นเห็นไฟไหม้ขึ้นมาทางด้านใต้จวนจะถึงบ้านที่อยู่ก็ตกใจ พระยาสุริยอภัยจึงตั้งสัตยาธิษฐานว่า “ ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญศีลทานการกุศลใดๆ ก็ตั้งใจปรารถนาพระโพธิญาณอย่างเดียว เดชะอำนาจความสัตย์นี้ขอจงยังพระพายให้พัดกลับไป อย่าให้เพลิงไหม้มาถึงบ้านเรือนของข้าพเจ้าเลย ” พอขาดคำอธิษฐานก็พลันบันดาลให้ลมพัดกลับไปทางทิศอื่นเป็นที่ประจักษ์แก่คนทั้งปวง หาได้ไหม้ไปถึงสวนมังคุดไม่ พวกไพร่พลของพระยาสุริยอภัยก็พากันมีใจต่อสู้ข้าศึก และเมื่อเกิดรบกันขึ้นนั้น

เจ้าศิริรจนา หรือ เจ้าศรีอโนชา ท่านผู้หญิงของเจ้าพระยาสุรสีห์ (ท่านเป็นธิดาในเจ้าฟ้าแก้ว และเป็นน้องสาวของพระยากาวิละ หรือเจ้ากาวิละ แห่งเมืองเชียงใหม่ เจ้าเมืองลำปางในขณะนั้น) ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่เหนือกำแพงพระนครฝั่งตะวันออก ปากคลองบางลำภู มีความกล้าหาญเป็นวีรสตรีและความเป็นศรีภริยาของเจ้าพระยาเสือยิ่งนัก ทราบว่ามีโจรมาปล้นบ้านพระยาสุริยอภัย จึงเรียกพระยาเจ่ง พระยาราม นายกองมอญอีกพวกหนึ่งเข้ามาปรึกษาหาทางช่วยเหลือ

หมายเหตุ :
          1. สมโชติ อ๋องสกุล (2545 : 3-4) ได้กล่าวถึง ประวัติเจ้าศรีอโนชา หรือเจ้าศิริรจนา ว่าช่วงเวลาที่พระยากาวิละรับเสด็จทัพหลวงแห่งกรุงธนบุรีและถวายนัดดานารีเป็นบาทบริจาริกานั้น แม่ทัพเอกแห่งกรุงธนบุรีคือ เจ้าพระยาสุรสีห์ฯ (บุญมา) ได้มีโอกาสเห็นโฉมของแม่นางศรีอโนชาน้องสาวของพระยากาวิละรู้สึกต้องใจ จึงให้คนมาทาบทามขอนางดังพงศาวดารบันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า “… เจ้าพระยาสุรสีห์ ก็มีใจรักใคร่ยังนางศรีอโนชา ราชธิดาอันเป็นน้องเจ้ากาวิละ จึงใช้ขุนนางผู้ฉลาดมาขอเจ้าทั้ง 7 พระองค์พี่น้อง มีเจ้าชายแก้ว พระบิดาเป็นประธาน รำพึงเห็นกัลยาณมิตรอันจักสนิทต่อไปภายหน้า ก็เอายังนางศรีอโนชาถวายเป็นราชเทวีแห่งเจ้าพระยาเสือคือ เจ้าพระยาสุรสีห์ นั้นแล (ดูพงศาวดารสุวรรณหอคำ นครลำปาง ตำนานเจ้าเจ็ดพระองค์ กับหอคำมงคล ฉบับสอบทานเอกสาร โดยศักดิ์ รัตนชัย อ้างในทิว วิชัยขัทคะ “ พระอัครชายาเธอเจ้าศรีอโนชา ” เจ้าหลวงเชียงใหม่ . กรุงเทพฯ : คณะทายาทสายสกุล ณ เชียงใหม่ , 2539 หน้า 266)

เมื่อเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ได้รับเจ้าศรีอโนชาจากเจ้าชายแก้วผู้เป็นพ่อและเจ้ากาวิละผู้เป็นพี่ พร้อมเจ้านายแห่งนครลำปาง แล้วก็ “ เสด็จเมือ ” ทางเมืองสวรรคโลกกลับกรุงธนบุรีให้เจ้าศรีอโนชาเป็นท่านผู้หญิงแห่งบ้านปากคลองบางลำพู กล่าวได้ว่า หลังศึกฟื้นม่านที่เชียงใหม่ ปี พ.ศ.2317 สาวงามจากนครลำปางก็ได้ติดตาม(เจ้าพระยาสุรสีห์) … เป็นเทวีของแม่ทัพแห่งกรุงธนบุรี 1 คน โดยได้ทำงานเพื่อแผ่นดินสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างธนบุรีกับล้านนา ”

          2. หนังสือไทยรบพม่า (ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ได้บันทึกบทบาทของเจ้าศรีอโนชา หรือเจ้าศิริรจนาไว้ว่า “ เมื่อเกิดการรบขึ้นนั้น เจ้าศิริรจนา ท่านผู้หญิงของเจ้าพระยาสุรสีห์ อยู่ที่บ้านปากคลองบางลำภู รู้ข่าวว่าข้าศึกมาปล้นบ้านพระยาสุริยอภัย จึงคิดอ่านกับพระยาเจ่ง พระยาราม นายกองมอญเพื่อปราบกบฏ ”

ขณะเดียวกันตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ บันทึกว่า “เจ้าศรีอโนชาได้ใช้ดั้น (จดหมาย) ไปหาชาวปากเพรียวเข้ามา แล้วมีอาชญาว่า “ คันสูยังอาษาพระยาสิง พระยาสันได้ ในเมื่อกูมีชีวิต กูบ่หื้อสูได้ทำการบ้านเมือง จะหื้อสูสะดวกค้าขายตามสบายเท่าเว้นไว้แต่การกูต้องประสงค์ว่าฉันนั้น ชาวปากเพรียวอาษาเข้ายับ (จับ) เอาพระยาสิงห์พระยาสันได้แล้วฆ่าเสีย ” (สมโชติ อ๋องสกุล, 2545 : 4) พระยามอญทั้งสองก็รับอาสา แล้วจึงนำไพร่พลในบังคับบัญชาลงเรือข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปต่อรบกับข้าศึกทันที พระยามอญทั้งสองยกไปแล้วก็ตีกระหนาบเป็นกองหนุน พระยาสุริยอภัยต่อสู้กับข้าศึกอยู่จนรุ่งเช้า พวกกรมขุนอนุรักษ์ฯ สู้ไม่ได้ พากันแตกพ่ายส่วนกรมขุนอนุรักษ์สงครามนั้นหนีไปอยู่ที่วัดยาง (ในคลองบางกอกน้อย ใกล้วัดนายโรง) พระยาสุริยอภัยก็ตามจับตัวได้ในวันนั้น

การสู้รบกันในวันนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงมีพระราชวิจารณ์ไว้ว่า “ ที่ซึ่งเจ้ารามลักษณ์ (กรมขุนอนุรักษ์สงคราม ) จุดไฟนั้นจุดที่เหนือบ้านปูนๆ ในเวลานั้นน่าจะไม่ใช่บ้านปูนบางยี่ขันทุกวันนี้ ชะรอยจะตั้งอยู่ในระหว่างวัดอัมรินทร์ที่เป็นวัดบางหว้าน้อยกับสวนมังคุด เจ้ารามลักษณ์ตั้งค่ายรายโอบขึ้นไป วัดบางหว้าที่กล่าวในพระราชพงศาวดารคงเป็นวัดบางหว้าน้อยคือวัดอัมรินทร์ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กำแพงพระนครด้านเหนือ จุดไฟก็จุดบ้านริมวัดบางหว้า เพื่อให้ไหม้ลามลงมาถึงบ้านปูน ซึ่งอยู่เหนือสวนมังคุด แต่ครั้นไฟไหม้ลงมาจวนจะถึงบ้านปูน ด้วยสัตยาธิษฐานของกรมพระราชวังหลัง (พระยาสุริยอภัย) ลมกลับไปข้างเหนือ ซึ่งเป็นทางเจ้ารามลักษณ์ลงมาจุดไฟ การที่ขึ้นไปจุดไฟข้างเหนือนั้น เจ้ารามลักษณ์คงจะเป็นผู้ตีข้างเหนือลงมา พระยาสรรค์คงจะรับเป็นผู้ตีข้างใต้จากพระราชวังขึ้นไป แต่ครั้นเมื่อเจ้ารามลักษณ์ไปทำการไม่สมคิด ตัวกลับไปอยู่ข้างใต้เปลวไฟ พระยาสรรค์เห็นเสียทีก็คงถอยทีเดียว เพราะพระยาสรรค์มีสันดานไม่แน่นอน ”

ฝ่ายพระยาสรรค์ครั้นทราบว่าพระยาสุริยอภัยจับตัวกรมขุนอนุรักษ์ได้แล้ว ก็ให้วิตกเกรงว่าจะโดนเข้าซัดทอดด้วย แต่มิรู้ที่จะทำประการใด เมื่อความคิดที่คิดไว้ไม่สมหวังก็ได้แต่นิ่งสงบอยู่ภายในพระราชวัง เกรงภัยจะบังเกิดขึ้น แต่ตัวเอง คิดปลอบตัวเองอยู่ว่าการทำการอุดหนุนกรมขุนอนุรักษ์สงครามครั้งนี้เป็นความลับอยู่ ถึงจะมีผู้สงสัย และรู้เห็นในการที่ตัวนำทัพออกช่วยเหลือ ก็เห็นจะพอแก้ตัวได้

ส่วนขุนแก้วตอนนี้เห็นทีจะผิดใจกับพี่ชาย (พระยาสรรค์) รวมทั้งขุนสุระและนายบุนนากคู่คิดเดิมด้วย ไม่ปรากฏว่าได้สมรู้ร่วมคิดด้วยในความคิดมักใหญ่ ใฝ่สูงของพระยาสรรค์ด้วย ปรากฎแต่ว่าตัวขุนแก้วเองได้คุมสมัครพรรคพวกลากปืนใหญ่ออกมาช่วย พระยาสุริยอภัยทำการต่อสู้กับทัพของกรมขุนอนุรักษ์สงคราม

หมายเหตุ :
พระยาสรรค์นี้สมเด็จพระปิยมหาราชได้ทรงวิจารณ์ไว้ว่า “พระยาสรรค์คนนี้อัธยาศัยชอบกล ความปรากฏทั้งในทางพงศาวดารและในจดหมายบันทึกๆ ว่าเป็นผู้ที่เขาจับให้เป็นแม่ทัพลงมา ครั้นเขาลดเจ้ากรุงธนบุรีเสียจากราชสมบัติแล้ว ก็ปรากฏว่าจะตั้งใจถวายสมบัติให้แก่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ ก็ไม่ยั่งยืนอยู่ได้ กลับไปปล่อยเจ้ารามลักษณ์ออกให้ไปทำร้ายกรมพระราชวังหลัง (พระยาสุริยอภัย) จะว่ามีความคิดจะตั้งตัวเองเป็นใหญ่ ก็คิดไม่แข็งแรงตลอดรอดฝั่งอย่างไร ครั้นเมื่อเขาจับเจ้ารามลักษณ์ได้แล้ว ก็ควรจะรู้ว่าเจ้ารามลักษณ์ (กรมขุนอนุรักษ์สงคราม) คงให้การซัดทอดถึงตัว จะแก้โดยทางสารภาพหรือแก้โดยทางต่อสู้ ก็ไม่แก้ นิ่งเฉยอยู่เช่นนั้น ครั้นพระพุทธยอดฟ้า (สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก) เสด็จมาถึงก็ออกไปเฝ้าทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น เห็นจะเป็นคนที่ไม่มีสติปัญญาเป็นหลักสำคัญอันใดเลย ใครจับไสให้ไปทางไหนก็จะไปทางนั้น ”

ฝ่ายพระยาสุริยอภัย ครั้นจับตัวกรมขุนอนุรักษ์สงครามคุมขังไว้แล้ว ก็สั่งให้ตั้งค่ายที่สวนมังคุดรายไปจนถึงคลองนครบาลอันเป็นเขตพระราชวัง แล้วให้สึกสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่กักขังไว้ใกล้พระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม นำมากักขังไว้ที่ค่าย โดยมีความประสงค์ที่จะป้องกันมิให้เกิดเหตุขึ้นได้อีก

พงศาวดารได้เสริมความตอนนี้ให้รุนแรงขึ้นไปอีกว่า พระยาสุริยอภัย (ทองอิน) กับพระยาสรรค์ที่ปรึกษากันให้สึกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชออกจากพระภิกษุแล้ว พันธนาการไว้ด้วยเครื่องสังขลิกพันธ์ (คือโซ่ตรวน )

หมายเหตุ :
แต่ข้อนี้ไม่อาจจะเป็นไปได้ เพราะจดหมายเหตุความทรงจำยืนยันว่า จนถึงเวลาที่พระเจ้าหลานเธอกรมขุนอนุรักษ์สงคราม ยกกองไปปราบกองทัพพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) นั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ยังทรงผนวชอยู่ตามเดิม ทั้งพระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ (ด้วง) ทรงชำระเรียบเรียงพิมพ์เป็นประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 65 ก็รับรองว่า ขณะที่เจ้าพระยาจักรี (ด้วง) ยกทัพรีบรุดเข้ามาถึงกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยังทรงเพศเป็นพระภิกษุอยู่ เป็นอันฟังได้ว่า ในตอนนี้ยังไม่ถูกจับสึก และพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) คงไม่กล้าพอที่จะหักหาญจับพระผู้กู้ชาติสึกง่ายๆ (http://board.dserver.org/n/natshen/00000133.html , 21/11/45)

พระยาสรรค์ก็ไม่กล้าจัดการประการใด พระยาสุริยอภัยมีไพร่พลมาจากเมืองนครราชสีมาเพียง 3,000 คน มีคนของกองพระยามอญทั้งสองอีกเพียงเล็กน้อย การที่จะหักเอาพระนคร เห็นยากนักก็ตั้งคุมเชิงรอสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ อยู่

ฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ ตั้งแต่ให้พระยาสุริยอภัยกลับเข้ามายังกรุงธนบุรี แล้วก็คอยฟังเหตุการณ์อยู่ที่เมืองเสียมราฐ พอได้ข่าวว่าเกิดกบฏขึ้นในกรุงธนบุรี ก็มีความห่วงใยถึงบ้านเมืองและประชาราษฎรยิ่งขึ้น จึงได้มอบหมายการศึกให้เจ้าพระยาสุรสีห์บังคับบัญชา พร้อมกันนั้นก็มีคำสั่งให้กองทัพเขมรล้อม กองทัพกรมขุนอินทรพิทักษ์ ไว้ก่อน (พงศาวดารญวน ฉบับนาย หยง แปล เล่ม 2 หน้า 382 และประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 65 หน้า 95) แล้วบอกไปถึงพระยาธรรมา ซึ่งตั้งทัพอยู่ ณ เมืองกำแพงสวาย ให้จับกรมขุนรามภูเบศร์จำไว้ครบ แล้วให้เลิกทัพตามเข้ามายังพระนคร

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงวิจารณ์ถึงกรมขุนอินทรพิทักษ์ไว้ว่า “ …สังเกตดูเจ้าคนนี้เป็นคนอ่อนแอ ต้องรับโทษทัณฑ์ก็มาก การทัพศึกก็ดูไม่เข้มแข็ง ในจดหมายบางแผนกที่ลงในหนังสือเทษาภิบาลเรียกเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ เจ้ากรุงธนบุรี (คือสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ) จะเห็นอย่างไรอยู่ จึงได้คิดจะเอาหลบออกไปเป็นเจ้ากรุงกัมพูชา

ยกเจ้าฟ้าเหม็นขึ้นเป็นเจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ ดูเหมือนจะเห็นการภายในว่าจะไปไม่ตลอด และดูพระพุทธยอดฟ้าฯ (สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ) ไม่ถือว่าเป็นสำคัญอันใดในเจ้าองค์นี้ เมื่อเวลาทัพออกไปเมืองเขมรด้วยกันพร้อมกับเจ้าบุญจันทร์ (กรมขุนรามภูเบศร์) ให้จับเจ้าบุญจันทร์สำเร็จโทษ แต่เจ้าจุ้ยกรมขุนอินทรพิทักษ์นี้ให้แต่เขมรล้อมไว้เท่านั้น ก็แหกหนีเข้าเมืองปราจีนบุรีได้ แต่ครั้นเมื่อไพร่พลทราบว่าเปลี่ยนแปลงแผ่นดินทิ้งเสีย ก็พากันหนีขึ้น ไป กับพระยานครราชสีมาเก่า ซึ่งถูกเปลี่ยนสำหรับให้กรมพระราชวังหลัง (พระยาสุริยอภัย) ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการเมือง พากันไปอาศัยอยู่ที่เขาน้อยใกล้ปัถวีที่ไปอยู่นานไม่เร็วนักถึงกับปลูกต้นหมากรากไม้ไว้ ครั้นได้ตัวลงมากรุงเทพฯ ก็ทรงพระกรุณาโปรดจะไม่ประหารชีวิต แต่หากตัวไม่ยอมอยู่ ” ครั้น ณ วันเสาร์ เดือน 5 แรม 9 ค่ำ ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช 1144 ตรงกับวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325 กองทัพสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ ก็มาถึงพระนคร ฝ่ายพวกชาวพระนครทราบว่า สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ กลับมาถึง ต่างก็ชื่นชมยินดี มีพวกราษฎรพากันไปคอยรับเป็นอันมาก ต่างร้องขอให้ช่วยปราบยุคเข็ญ ให้บ้านเมืองเป็นสุขสำราญดังแต่ก่อนตลอดทางที่เข้ามา และแสดงความปิติชื่นชมหวังว่าสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ ต้องนำความสันติสุขมาให้แก่ประเทศชาติ ต่อไปได้มั่นคง

พระยาสุริยอภัยครั้นทราบว่าสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ เสด็จมาถึงแล้วก็ดีใจ ทั้งได้ปลูกพลับพลาไว้ต้อนรับที่ริมสะพานท่าน้ำวัดโพธาราม (วัดพระเชตุพน) คือสร้างพลับพลาเป็นที่ประทับที่ตรงพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย และบริเวณระหว่างท่าช้างวังหลวงกับท่าเตียน แต่งเรือพระที่นั่งกราบไว้คอยรับเสด็จ และท้าวทรงกันดารทองมอญซึ่งเป็นใหญ่อยู่ในพระราชวัง ก็ลงเรือมาคอยรับเสด็จด้วย

สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ ครั้นมาถึงพลับพลาแล้ว ก็คงพักแรมอยู่ที่พลับพลาที่พระยาสุริยอภัยสร้างเตรียมไว้ให้ (เดิมคงจะเป็นที่ดินของวัดโพธาราม) และใช้พลับพลานี้เป็นที่ประชุมขุนนางข้าราชการ และวินิจฉัยกรณีจลาจลและกบฏในพระนคร พลับพลาที่ใช้ในราชการครั้งนี้ยังคงมีชื่อว่าพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย

ขณะนั้นพระยาสรรค์ก็ยังอยู่ในพระราชวัง มิได้ทำการขัดขวางแต่ประการใด มีข้าราชการมาคอยต้อนรับแสดงความอ่อนน้อมยินดีโดยพร้อมเพรียงกันเป็นจำนวนมาก ที่จริงเพราะข้าราชการเหล่านี้ก็ทราบดีอยู่แล้วว่า พระยาสรรค์ประกาศตั้งตัวเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินชั่วคราว เพื่อรักษาบ้านเมืองไว้ถวายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ อยู่แล้ว ข้าราชการทั้งหลายจึงไม่มีกิริยา กระด้างกระเดื่องแต่อย่างใด ฝ่ายพระยาสรรค์และพรรคพวกก็ให้รู้สึกเกรงกลัวพระเดชานุภาพ ของสมเด็จเจ้าพระยาฯ เป็นกำลัง มิรู้ที่จะหนีหรือต่อสู้ประการใด เมื่อจนตรอกเข้าแล้วก็มาเฝ้ากราบถวายบังคม พร้อมด้วยขุนนางข้าราชการทั้งปวง ปลอบใจตนเองยอมสู้หน้าไม่คิดหนี ทั้งๆ ที่ตนเองรู้ตัวว่าเป็นผู้มีความคิด อย่างใหญ่หลวงอยู่ อย่างไรเสียกรมขุนอนุรักษ์สงคราม เมื่อถูกนำตัวมาปรึกษาโทษจะต้องให้การซัดทอดถึงตน

สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ จึงทรงปราศัยไต่ถาม จนได้มูลเหตุแต่เดิมมาจนถึงการก่อการจลาจล โดยละเอียดตั้งแต่ต้น แล้วตรัสปรึกษาด้วยมุขมนตรีทั้งหลายว่า “ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเป็นอาสัตย์อาธรรม ดังนั้นแล้ว ท่านทั้งปวงจะคิดอ่านประการใด ” มุขมนตรีทั้งหลายจึงปรึกษากันและกราบทูลว่า “ พระเจ้าแผ่นดินลุสุจริตธรรมเสีย แล้วประพฤติทุจริตฉะนี้ เห็นว่าเป็นเสี้ยนหนามหลักตออันใหญ่อยู่ในแผ่นดิน จะละไว้มิได้ ควรให้สำเร็จโทษเสีย ” แล้วพิจารณาโทษของกรมขุนอนุรักษ์สงคราม กรมขุนอนุรักษ์สงคราม ให้การซัดทอดถึงพระยาสรรค์และผู้ร่วมคิด เมื่อได้ความเป็นสัตย์ทั้งมหาอุปราชแผ่นดินกรุงธนบุรี ผู้สำเร็จราชการและพรรคพวกที่ก่อให้เกิดการสู้รบกันขึ้น ก็ได้รับการพิจารณาโทษตามความผิดหมดทุกคน (ทวน บุณยนิยม , 2513 : 193-200)

ส่วนองค์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ คงจะเสียพระทัยมิใช่น้อย คงจะรำลึกถึงเรื่องส่วนพระองค์ที่มิใช่เป็นราชการ ก็มีความสัมพันธ์กันมิใช่น้อย โดยได้ถวายธิดาคนหนึ่งได้เป็นเจ้าจอมหม่อมห้ามในพระองค์ท่าน อีกทั้งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีพระคุณความดีต่อชาติบ้านเมืองเป็นอเนกอนันต์ แต่หากในขณะนั้นบ้านเมืองไม่ปกติ มีปัญหามากมายทั้งด้านการศึกสงคราม การเศรษฐกิจ การศาสนา การปกครอง ฯลฯ เมื่อมีเหตุการณ์เฉพาะหน้าเช่นนี้ พร้อมทั้งสิ่งแวดล้อมกดดัน และตามราชประเพณีที่ได้เคยปฏิบัติกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา สวรรค์บันดาล

หรืออีกนัยหนึ่ง มนุษย์ทุกรูปทุกนามที่เกิดมาก็ต้องใช้กรรม เมื่อมีกิเลสก็ต้องมีกรรมหรือเมื่อมีกรรมก็ต้องมีวิบาก และเมื่อมีวิบากก็ต้องเกิดมาสร้างกิเลสต่อไปอีก วนเวียนกันไปไม่มีที่สิ้นสุด เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ ก็ต้องอยู่ในกฎเกณฑ์นี้ ทำให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ ตัดสินพระทัยอนุมัติการสำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ให้เป็นไปตามคำกราบทูลของมุขมนตรี

ในบางบทความมิได้กล่าวว่ามุขมนตรีลงมติเป็นเอกฉันท์ ดังข้อคิดในบทความต่อไปนี้
ในวันที่ กองทัพเจ้าพระยาจักรี (ด้วง) เข้ามาถึงนั้นเอง ได้มีการสอบถามความเห็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เป็นจำนวนมาก ว่าเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้แล้วจะควรทำอย่างไรต่อไป

บรรดาข้าราชการที่ยังจงรักภักดีในพระองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเชื่อในพระราชปรีชาสามารถของพระองค์ ก็ยืนคำว่าควรไปกราบทูลอัญเชิญเสด็จ ขอให้ทรงลาผนวชออกมาครองราชสมบัติบริหารการแผ่นดินโดยด่วน

16. 2 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเสียพระจริตจริงหรือ ?

สำหรับเรื่องนี้เป็นการยากที่จะตอบลงไปให้แน่ชัด เพราะในทางประวัติศาสตร์กล่าวไว้อย่างหนึ่ง และมีบุคคลบางคนกล่าวข้อสันนิษฐานที่ต่างออกไป ดังประมวลได้ดังนี้
ก . “เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีครองราชสมบัตินานมา ก็เกิดเสียพระจริตฟั่นเฟือนไป” (พระราชพงศาวดารกรุงเก่า : 70) สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีต้องทรงคร่ำเคร่งกับการทำศึกสงครามเพื่อป้องกันอาณาจักรและรวบรวมอาณาจักร ตลอดจนขยายพระราชอำนาจทางการเมืองของอาณาจักร และยังต้องทรงเผชิญกับปัญหาหนักทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมอีกด้วย พระราชภารกิจอันหนักยิ่งนี้เป็นเหตุให้พระองค์เกิดความเหนื่อยล้าทางจิตใจ จึงทรงหันไปสนพระทัยในการนั่งวิปัสสนา

นอกจากนั้นพระราชภารกิจบางอย่างยังทำให้พระองค์ ต้องทรงกระทำ สิ่งที่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางจิตใจหลายครั้ง พระองค์จึงทรงมีพระทัยฉุนเฉียวผิดไปจากเดิม เมื่อมีเรื่องทำให้ไม่พอพระทัยเกิดขึ้น ก็มักจะรับสั่งให้ลงโทษอย่างรุนแรงไม่ละเว้น ไม่ว่าจะเป็นพระ ขุนนาง พระราชวงศ์ หรือราษฎร ดังปรากฏความในจดหมายเหตุความทรงจำตอนหนึ่งว่า

“ เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เจ้าพระยาสุรสีห์ และพระเจ้าลูกยาเธอ กรมขุนอินทร พิทักษ์คุมกองทัพไปปราบจลาจลในกัมพูชาแล้ว ทางกรุงธนบุรีได้เกิดเหตุวุ่นวายขึ้น กล่าวคือ พัน สี (ขุนจิตรกุล) พันลา (ขุนประมูลพระราชทรัพย์) ได้ยื่นฟ้องว่าขุนนางและราษฎรแอบขายข้าวขายเกลือ รวมทั้งของต้องห้ามบางชนิด โดยแกล้งกล่าวหาผู้ที่ไม่ได้ขายก็บอกว่าขาย เมื่อมีการชำระความไม่รับก็ถูกเฆี่ยน คนที่กลัวต้องโทษยอมรับก็ถูกปรับไหม มีเงินเสียก็ถูกปล่อย ส่วนคนที่ไม่มีเงินก็ถูกเร่งรัดเอาเงินจนกว่าจะได้ ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง ต่อมายังเกิดเรื่องเงินในพระคลังหายไป 2,000 เหรียญ เหรียญละ 1 บาท 3 สลึง 1 เฟื้อง และผ้าแพรเหลืองอีก 10 ม้วน หาตัวผู้เอาไปไม่ได้ เจ้าหน้าที่พระคลังจึงถูกลงโทษอย่างทารุณ พระราชวงศ์ฝ่ายในก็ถูกสงสัยว่าจะมีส่วนรู้เห็นและต้องได้รับโทษจำคุกบ้าง เฆี่ยนบ้าง ถูกปรับบ้างไปด้วย การที่พระองค์ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปในการนั่งวิปัสสนา ทำให้ขุนนางบางคนฉวยโอกาสแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนเพ็ดทูลกล่าวโทษราษฎร และขุนนางอื่นว่ากระทำผิดต่างๆ เมื่อพระองค์ได้รับคำฟ้องแล้ว มิได้ทรงไต่สวนให้แน่ชัด ก็มีรับสั่งให้ลงโทษผู้ถูกกล่าวหาเสียแล้ว ทำให้เกิดความหวาดหวั่นเดือดร้อนขึ้นทั่วไป ” (ภารดี มหาขันธ์ , 2526 : 33)

ข . ภารดี มหาขันธ์ (2526 : 32-37) ได้อ้างอิง นายดับเบิลยู เอ อาร์ วูด (W.A.R. Wood) กงสุลอังกฤษประจำประเทศไทยว่าได้กล่าวถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ว่า

“… ถ้าจะว่าไปแล้ว ไม่มีใครดอก นอกจากจะมีความกล้าอย่างบ้าบิ่นในหัวสมองเท่านั้น จึงจะสามารถทุ่มตัวเข้าทำงานใหญ่เช่นที่พระเจ้าตากสินได้ทรงกระทำจนบรรลุผลสำเร็จนี้ …” (History of Siam : 253-254)

หลักฐานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทุ่มเทกำลังความสามารถ ของพระองค์ประกอบพระราชภารกิจอันยิ่งใหญ่ พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระคุณเลิศล้นแก่ชาวไทย แต่ตอนปลายรัชสมัย พระองค์ได้กลายเป็นพระมหากษัตริย์ที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่พสกนิกร ของพระองค์เองโดยมิได้ทรงล่วงรู้พระองค์ จนเกิดเป็นวิกฤตการณ์ขึ้น

วิกฤติการณ์ครั้งนั้นเชื่อกันว่าเกิดขึ้นเพราะการเสียพระจริตของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สังฆราชเลอบอง (Le Bon) บาทหลวงฝรั่งเศส เข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้บันทึกไว้ว่า “ เวลานี้จะต้องถือว่าพระเจ้าตากสินล้ำมนุษย์ในโลกนี้เสียแล้ว” บาทหลวง คูเด้ (Coude) ซึ่งได้รับตำแหน่งสังฆราชต่อจากสังฆราชเลอบองได้เขียนรายงานที่เกี่ยวกับพระจริยาวัตร ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในตอนปลายรัชสมัยว่า “ทรงสวดมนต์บ้าง อดพระกระยาหารบ้าง จำศีลภาวนาบ้าง เพื่อเตรียมเหาะเหิรเดินอากาศต่อไป” โดยได้เขียนไปถึงอธิบดีของคณะสั่งสอนมิชชันนารีในต่างประเทศ (Directure du Seminaire des Mission) ในปี พ.ศ.2323 ความว่า “ จนกระทั่งถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2322 ทางเมืองไทยเรามีความสวยงามและเรียบร้อยอยู่พอใช้ได้ พระยามหากษัตริย์ นานๆ ก็กริ้วพวกเราเสียบ้างคราวหนึ่ง แต่ในไม่ช้าก็หายกริ้ว แต่ตั้งปีกว่ามาแล้วท่านไม่โปรดให้พวกเราเข้าเฝ้า พระองค์เองหมกมุ่นอยู่ด้วยการสวดมนต์ อดพระกระยาหาร และทรงเคร่งทำวิปัสสนา การทำวิปัสสนานี้เพราะทรงเชื่อว่า จะทำให้พระองค์สามารถเหาะเหินได้” บาทหลวงคูเดมีบันทึกต่อไปว่า “ได้ลองปรับทุกข์กับพระราชโอรสของพระเจ้าตากสินว่าพระเจ้าแผ่นดินได้ทรงถอนสิทธิต่างๆ ซึ่งเคยพระราชทานไว้แก่พวกบาทหลวง และกำลังจะทรงขับไล่ออกไปนอกประเทศไทย พวกบาทหลวงทูลพระราชโอรสพระเจ้าตากสินว่า แต่ก่อนนี้ได้พระราชทานเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการนับถือศาสนาคริสต์มิใช่แต่กับพวกบาทหลวงเท่านั้น แต่รวมทั้งคนไทยซึ่งเข้ารีตเป็นคริสตังด้วย ทั้งยังได้ทรงอุดหนุนบริจาคพระราชทรัพย์ช่วยสร้างโบสถ์ให้แก่พวกคริสตัง” บาทหลวงคูเดบันทึกไว้อีกว่า พระราชโอรสทรงตอบว่า “ ท่านพูดถูกแล้ว สมเด็จพระชนกของข้าพเจ้าทรงเปลี่ยนแปลงไปมาก” (จุลจักรพงศ์, พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า, 2514 : 130-131)

บาทหลวง เดส์ครูเวรียส์ (Descrouvri?res) ได้เขียนไปฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2325 มีความว่า “ เป็นเวลาหลายปีมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินไทย ได้ทรงทำให้บังเกิดความเดือดร้อนแก่พลเมืองของพระองค์และชาวต่างประเทศ ซึ่งมาตั้งภูมิลำเนาในเมืองไทย หรือผ่านมาชั่วคราว เพื่อการค้าขาย ชาวจีนเคยมาทำการค้าขายในเมืองไทย เกือบจะต้องเลิกการค้าเสียเลย ปีกลายนี้พระเจ้าแผ่นดินซึ่งทรงดูเป็นบุคคลกึ่งวิกลจริต ทรงก่อความเดือดร้อนยากเข็ญบ่อยขึ้น และทรงแสดงความทารุณมากขึ้น”

ค . เรื่องพระเจ้าตากสินทรงประชวร ในปลายรัชกาลเกิดจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี กล่าวถึงกรรมบันดาลให้สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชอัธยาศัยผิดปกติไปจากพระองค์เดิม พระจริตฟั่นเฟือนถึงทรงก่อความเดือดร้อนแก่ผู้คน

ในหนังสือเจ้าชีวิตของพระวรวงค์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ (2514 : 128, 131) ได้แสดงแง่คิดดังนี้
1. “ มีผู้ออกความเห็นหลายคนว่า ความเหน็ดเหนื่อยทั้งทางพระวรกายและพระหทัยที่ต้องทรงตรากตรำทำสงครามอยู่ 7 ปี และปกครองประเทศในฐานะเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชอีก 3 ปีนั้น รุนแรงเกินไป จนทำให้พระเจ้าตากสินทรงพระประชวรวิกลจริต ตามเรื่องราวที่มีเล่ากันมานั้น ปรากฏว่าทรงแสดงความทารุณร้ายกาจอย่างประหลาด เช่น ทรงสั่งให้โบยพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เพราะพระภิกษุไม่ยอมกราบ เมื่อพระองค์ทรงอ้างว่าทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ทั้งนี้เพราะพระภิกษุในพุทธศาสนาจะไม่กราบไหว้ผู้คนนอกจากพระพุทธรูปหรือพระภิกษุผู้มีอาวุโสกว่า ไม่เหมือนพระในศาสนาอื่นๆ ซึ่งทำความเคารพคฤหัสถ์ได้ ”

ทวน บุณยนิยม (2513 : 186-187) ได้เขียนบรรยายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า
“ครั้นสมเด็จเจ้าฟ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ ยกกองทัพไปเมืองเขมรแล้วไม่ช้า ทางนี้พระเจ้ากรุงธนบุรี ก็มีสัญญาวิปลาศ เกิดสำคัญพระองค์ว่าเป็นพระโสดาบัน”

“ ครั้นถึง ณ วันอาทิตย์เดือน 9 แรม 6 ค่ำ ( ปีฉลู พ.ศ.2324) สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จออก ณ โรงพระแก้ว ให้ประชุมพระราชาคณะพร้อมกัน และพระองค์มีพระสติฟั่นเฟือนถึงสัญญาวิปลาสสำคัญว่าพระองค์ได้สำเร็จบรรลุโสดาปัติผลแล้ว จึงดำรัสถามพระราชาคณะว่า

“ พระภิกษุสงฆ์ อันเป็นปุถุชน จะไหว้นบกราบเคารพคฤหัส ถ์ ซึ่งเป็นพระโสดาบันบุคคลนั้นจะได้ หรือมิได้ประการใด” และพระราชาคณะที่มีสันดานโลเลมิได้ถือมั่นในพระบาลีบรมพุทโธวาท เกรงพระราชอาญาเป็นคนประจบสอพลอ ประสมประสานสักแต่จะเจรจาให้ได้เข้าผสมรอยพระอัธยาศัย นั้นมีเป็นอันมาก มีพระพุทธโฆษาจารย์วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆัง) พระโพธิวงศ์ พระรัตนมณี (หรือพระรัตนมุนี) วัดหงษ์ เป็นต้น ถวายพระพรว่า “พระสงฆ์ปุถุชน ควรจะไหว้นบกราบคฤหัสถ์ ซึ่งเป็นโสดาบันนั้นได้ ” แต่สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) วัดบางหว้าใหญ่ พระพุฒาจารย์วัดบางหว้าน้อย (วัดอัมรินทร์) พระพิมลธรรม (วัดพระเชตุพน) ซึ่ง 3 องค์นี้มีสันดานมั่นคง ถือพระธรรมวินัยพุทธวัจจนะโดยแท้ มิได้เป็นคนสอพลอประสมประสานจึงถวายพระพรว่า “ ถึงมาทว่าคฤหัสถ์จะเป็นพระโสดาบันก็ดี

แต่เป็นหินะเพศต่ำกว่าพระภิกษุ อันพระสงฆ์ถึงเป็นปุถุชนก็ตั้งอยู่ในอุดมเพศอันสูงสุด เหตุด้วยทรงผ้ากาสาวพัสตร์และพระจัตตุปราวิสุทธศีลอันประเสริฐ ซึ่งจะไหว้นบคฤหัสถ์ อันเป็นพระโสดาบันนั้นหาควรไม่ ” สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ทรงฟังก็พระพิโรธว่า “ ถวายพระพรผิดจากพระบาลี ด้วยพวกที่ว่าควรนั้นเป็นอันมาก ว่าไม่ควรแต่สามองค์เท่านี้ จะใช้ได้หรือ ” จึงดำรัสให้พระโพธิวงศ์ พระพุทธโฆษาจารย์ เอาตัวสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) พระพุฒาจารย์ พระพิมลธรรม กับฐานาเปรียญอันดับซึ่งเป็นอันเตวาสิกลัทธิวิหาริกแห่งราชาคณะทั้งสามนั้นไปลงทัณฑกรรม ณ วัดหงส์ทั้งสิ้น รับสั่งให้ตีหลังพวกพระราชาคณะองค์ละ 100 ที พระฐานาเปรียญให้ตีหลังองค์ละ 50 ที พระสงฆ์อันดับให้ตีหลังองค์ละ 30 ที นับพระสงฆ์ที่ยังตั้งอยู่ในศีลในสัจพวกว่าไหว้ไม่ได้นั้น ทั้งสามพระอารามเป็นพระสงฆ์ถึง 500 รูป ต้องโทษถูกตีทั้งสิ้น และพวกพระสงฆ์ทุศีลอาสัจอาธรรม์ ว่าไหว้ได้มีมากกว่ามากทุกๆ อาราม และพระราชาคณะทั้งสามพระองค์กับพระสงฆ์ อันเตวาสิกซึ่งเป็นโทษทั้ง 500 นั้น ตรัสให้เอาตัวไปขนอาจม ชำระเว็จกุฏิวัดหงส์ทั้งสิ้นด้วยกัน แล้วถอดพระราชาคณะทั้งสามนั้น ออกจากสมณฐานันดรศักดิ์ ชงเป็นอนุจร แล้วทรงตั้งพระโพธิวงศ์เป็นพระสังฆราช พระพุทธโฆษาจารย์ เป็นพระวันรัตน์

ครั้งนั้นมหาภัยพิบัติเกิดในพระพุทธศาสนาควรจะสังเวชยิ่งนัก บรรดาคนทั้งหลายซึ่งเป็น สัมมาทิษฐินับถือพระรัตนตรัยนั้น ชวนกันสลดจิตคิดสงสารพระพุทธศาสนาต่างพากันเทวศทุกข์ร้องไห้ มีหน้านองไปด้วยน้ำตา แสนโศกเศร้าเป็นอันมาก บ้างมีศรัทธาเข้ารับโทษให้ตีหลังตนแทนพระสงฆ์นั้นก็มี และเสียงร้องไห้โศกครวญคร่ำไปทั่วทั้งเมือง เว้นแต่พวกมิจฉาชีพเท่านั้น ตั้งแต่นั้นมาพระราชาคณะ พวกอลัชชีมีสันดานบาปที่ว่าไหว้คฤหัสถ์ได้นั้น ก็เข้าเฝ้ากราบบังคมหมอบกราบเหมือนอย่างข้าราชการฆราวาส สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ดำรัสสั่งพระสังฆราชใหม่ให้เอาตัวพระราชาคณะซึ่งเป็นโทษถอดเสียจาก ที่ทั้งสามพระองค์ (ดำรงอยู่) นั้น คุมตัวไว้ ณ วัดหงส์ อย่าปล่อยให้ไปวัดของตน ให้พระญาณไตรโลกวัดเลียบมาอยู่ครองวัดโพธาราม (วัดพระเชตุพน) แล้วดำรัสสั่งพระรัตนมุนีให้ขนานนามถวายใหม่ พระรัตนมุนีให้ขนานนามพระเจ้ากรุงธนบุรีให้ต้องพระอัธยาศัยว่า “ สมเด็จพระสยามยอดโยคาวจร บวรพุทธางกูล อดุลยขัติยราชวงศ์ ดำรงพิภพกรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดี ศรีอยุธยา มหาดิลก ลพนพรัตน์ราชธานีบุรีรัมย์ อุดมราชนิเวศมหาสถาน” สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรงพระโสมนัสชอบด้วยพระทัยตามพระสติวิปลาสปรารถนาฟั่นเฟือนของพระองค์ ”

“ ครั้นถึง ณ วันพฤหัสบดี เดือน 12 แรม 1 ค่ำ บังเกิดทุนิมิตบนอากาศ เมฆปรากฏเป็นต้นกระแพงฝ่ายบูรพา ”
“ ครั้น ณ วันอาทิตย์ เดือน 1 แรม 9 ค่ำ มีผู้เป็นโจทย์มาฟ้องพระยาราชาเศรษฐีญวนว่า คิดจะหนีเข้าเมืองพุทไธมาศ จึงดำรัสให้จับพระยาราชาเศรษฐีญวนกับพวกญวนให้ประหารชีวิตเสีย 31 คนด้วยกัน ”
“ ครั้น ณ วันพุธ เดือน 2 แรม 12 ค่ำ ให้ประหารชีวิตนักโทษ 9 คน”

2. ทรงให้นำพระสนม พระราชโอรส แม้พระรัชทายาท เข้าที่คุมขังทรมานและเฆี่ยนตามอารมณ์ (จุลจักรพงศ์, พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า, 2514 : 131)

“ ในเดือน 12 นั้น เจ้าพระยาพิไชยราชา (ไม่ใช่พระยาพิไชยดาบหัก) ผู้เป็นเจ้าเมือง เมือง สวรรคโลก ลงมารับราชการอยู่ ณ กรุง แต่งผู้เฒ่า ผู้แก่ เข้าไปขอน้องสาวเจ้าจอมฉิมพระสนมเอก ผู้เป็นบุตรเจ้านครศรีธรรมราช ซึ่งอยู่ในพระราชวัง จะมาเลี้ยงเป็นภรรยา ครั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงทราบ ก็ทรงพิโรธ ดำรัสว่า “มันทำบังอาจจะมาเป็นคู่เขยน้อยเขยใหญ่ กับกูผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน” จึงดำรัสให้เอาตัวเจ้าพระยาพิไชยราชาไปประหารชีวิตเสีย ตัดศีรษะเสียบประจานไว้ที่ริมประตูข้างฉนวนลงพระตำหนักแพ อย่าให้ใครเอาเยี่ยงอย่างสืบไปภายหน้า”

“ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี กอบกู้อิสระเสรีขึ้นครองราชกรุงธนบุรีแล้วทรงให้พระราชวงศ์ ในสมเด็จพระบรมราชาธิราชพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นชายาหลายองค์ เช่นหม่อมเจ้าหญิงบุษบา หรือบุบผา หม่อมเจ้าหญิงประทุมพระธิดาในพระราชวังบวรกรมขุนเสนาพิทักษ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) หม่อมเจ้าหญิงอุบลในกรมหมื่นเทพพิพิธ พระองค์หญิงฉิมพระธิดาในเจ้าฟ้าจีด บรรดาชายาทั้งหลายนั้นทรงโปรดหม่อมฉิมกับหม่อมอุบลมาก จึงทรงโปรดให้บรรทมบนพระที่ทั้งขวาซ้ายคนละข้าง นอกนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรงโปรดตามสมควร อยู่ต่อมาเกิดเรื่องหนูกัดพระวิสูตรในห้องพระบรรทม ทรงทราบถือว่าเป็นเหตุวิบัติที่อุบาทว์ ในครั้งนั้นมีฝรั่งชาติโปรตุเกส เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กใกล้ชิดพระองค์ ทรงโปรดทั้งคู่ เรียกออกชื่อเป็นภาษาไทยตามตำแหน่งว่า ชิตภูบาล ชาญภูเบศร์ ตรัสให้ค้นหา ( หนู ) ให้ได้ ทั้งในพระที่บรรทมและใต้พระที่เสวย และในการที่ทรงโปรดหม่อมทั้งสองอย่างออกหน้า ก็เลยทำให้เกิดการหึงหวงเกิดขึ้นภายใต้เศวตฉัตรแห่งพระราชวังเดิม โดยมีผู้ฟ้องขึ้น (คือหม่อมเจ้าหญิงประทุม : จดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี , หน้า 3) ภายหลังฝรั่งทั้งสองเข้าไปค้นหาหนูว่า

หม่อมฉิมกับหม่อมอุบลเป็นชู้กับฝรั่งคนโปรดของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จะเป็นความสงสัยว่าหม่อมฉิมเกิดหึงหม่อมอุบลด้วยเรื่องอะไรก็เหลือเดา ทั้งๆ ที่โปรดให้บรรทมร่วมรู้เห็นเป็นอยู่ด้วยกัน แกล้งทูลใส่ความ หรือว่าที่แท้อาจเป็นจริงก็ได้ หม่อมอุบลเคยตกไปเป็นเมียนายแก่นพวกหลวงแพ่งครั้งหนึ่งแล้ว หม่อมฉิมก็คงซัดเซพเนจรมาแล้วเหมือนกัน เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าซึ่งก็อาจทำผิดได้ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีรับมาชุบเลี้ยงและทรงโปรดมากเช่นนี้ ครั้นรับฟ้องแล้วเสียพระทัยหนัก รับสั่งถามหม่อมอุบลก็ไม่รับว่าได้เป็นชู้กับฝรั่งจริง หม่อมฉิมเป็นคนมีโวหารกล้าและแก้ความเสียหายด้วยทำเป็นทีว่า แค้นเคืองผู้ใส่ความฟ้อง จึงขอรับสารภาพยอมตาย พูดขึ้นอย่างอาจหาญว่า “ยังจะอยู่เป็นมเหสีคี่ซ้อนหรือ มาตายตามเจ้าพ่อเถิด ”

ดังนี้หม่อมอุบลจึงได้ขอรับสารภาพด้วยว่าเป็นชู้กับฝรั่งด้วยอีกคนหนึ่งจริง จึงชำระโทษสองพระชายา ด้วยความอดสูแค้นพระทัย ตรัสให้เฆี่ยนแล้วเอาน้ำเกลือราด แล้วผ่าอกเอาเกลือทาอีก ตัดมือตัดเท้าทำประจานแสนสาหัส ให้สมกับที่มักมากกามารมณ์ไม่พอสักที

ครั้นสำเร็จโทษสองพระชายาแล้ว พระทัยยิ่งไม่สบายหนักขึ้น ด้วยทรงพระอาลัยรักหม่อมอุบลนัก ทั้งทารกในครรภ์เพิ่งสองเดือนก็พลอยได้รับบาปกรรมตามไปด้วย ที่ทรงอาลัยสงสารหม่อมอุบลมาก เพราะพลอยรับเป็นสัตย์ไปพร้อมกับหม่อมฉิม ความจริงจะเป็นไปได้เช่นนั้นเทียวหรือ ครั้นหวลคิดถึงหม่อมฉิมที่กล้ารับสารภาพอย่างอาจหาญ ก็พลอยสงสารเวทนาไปด้วยอีกคนหนึ่ง ชายาอันเป็นสุดที่รักเป็นนางในดวงใจต้องดับวูบลงไปอย่างน่าใจหาย ทำให้พระองค์ทรงโทมนัสอย่างยิ่ง ตรัสว่า “จะตายตามพระชายา ใครจะตายกับกูบ้าง ” ชายากรมหมื่นเทพพิพิธ หม่อมทองจันทร์ หม่อมเกศ หม่อมลา หม่อมบุษบา จะขอตายตามเสด็จด้วย จึงพระราชทานเงินให้คนละ 1 ชั่ง ให้บังสุกุลทองคำคนละ 1 บาท ให้สร้างพระพุทธรูปกำหนดการไว้ว่า เมื่อบำเพ็ญกุศลเสร็จแล้ว ก็จะประหารชีวิตผู้ที่จะตายตามเสด็จก่อน แล้วจะปลงพระชนม์เองด้วยพระแสงทีหลัง เมื่อการณ์ปรากฏขึ้นเช่นนี้ จึงเกิดการโกลาหลตื่นตระหนกเป็นการใหญ่ เจ้าคุณใหญ่ทรงกันดาล กับเตี่ยหม่อมทองจันทร์ได้สติก่อน จึงรีบไปนิมนต์พระสงฆ์มาในพระราชวังเป็นอันมาก พระสงฆ์พากันถวายพระพรขอชีวิตไว้ ให้พระสติต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า

ในการที่พระองค์จะทรงด่วนปลงพระชนม์เช่นนี้ใช่ที่จะเสด็จไปกับหม่อมทั้งสองได้เมื่อไร เหตุการณ์บ้านเมืองยังคับขันอยู่ ถ้าขาดพระประมุขที่ทรงพระอุตสาหะกอบกู้อิสระเสรีขึ้นมา ต่อไปชาติไทยทั้งชาติจะได้พึ่งพระบารมีอย่างใดได้เล่า ขอถวายพระพรขอพระชีวิตสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไว้ก่อนเถิด สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีครั้นพระสงฆ์ทั้งนั้นให้พระสติ ก็ได้พระสติคืนขึ้นมาได้ พอเห็นทรงสร่างโศกได้สัมปฤดีแล้ว พระสงฆ์ทั้งนั้นก็ถวายพระพรลากลับไป …” ( ทวน บุณยนิยม , 2513 : 179-181)

3. ทรงคุมขังและเฆี่ยนข้าราชการชั้นสูงโดยจะให้บุคคลเหล่านี้รับว่าทำผิดในกรณีต่างๆ ที่ไม่เคยทำผิดเลย (จุลจักรพงศ์, พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า, 2514 : 131) ทวน บุณยนิยม (2513 : 189) บรรยายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ดังนี้ “ พิพากษากลับเอาเท็จเป็นจริงบังคับว่า ถ้าโจทก์สาบาลได้ก็ให้ปรับโทษลง มิรับให้เฆี่ยนกับผูกมือตบต่อย ติดไม้และเอาตัวย่างเพลิงบ้าง ตายบ้าง ลำบากเป็นอันมาก แล้วล่อลวงให้ลุกโทษตามมีและยาก ฝ่ายข้าราชการและราษฎร ( จำเลย ) กลัวภัย ต่างพากันยอมรับลุกโทษเปล่าๆ ว่าขายสิ่งของต้องห้ามสิ่งนั้นไปต่างประเทศเป็นเงินสด เงินกู้บ้างคนละเท่านั้นๆ สำคัญว่าสิ้นโทษแล้ว ครั้นได้มีผู้ฟ้องอีก ที่คนมีก็ได้จำเป็นให้ ที่คนจนขัดสน ต้องทนให้เฆี่ยนไปทุกวันเวลา กว่าจะได้ทรัพย์ บ้างตาย บ้างลำบากยากแค้นทั่วไป คนทั้งหลายมีดวงหน้าสังเวชคร่ำไปด้วยน้ำตา เวทนาเดือดร้อนแผ่นดินทั่วไปทุกเส้นหญ้า ที่หน้าชื่นตาบานอยู่ก็แต่คนพาล บรรดาพวกโจทก์และพระเจ้าแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเห็นว่า พวกพาลรีดนาทาเน้นราษฎรได้ทรัพย์สินส่งเข้ามาเป็นของพระคลัง ก็ทรงพระโสมนัสยิ่ง มิได้คิดถึงความทุกข์ยากเดือดร้อนของราษฎร คิดเห็นผิดเป็นชอบ คิดทรงถือสันโดษ เอาแต่ความพอใจของตนเป็นที่ตั้ง …”

“ แม้จนบุตรภรรยาญาติพี่น้องข้าราชการที่ไปทัพ อยู่ทางนี้ก็ต้องถูกโจทก์ฟ้อง ต้องรับพระราชอาญาโดยมาก กล่าวไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า ในเวลานั้นที่ในบริเวณโรงพระชำระในพระราชวัง เสียงแต่คนร้องไห้และครวญครางเซ็งแซ่ไปทุก ๆ วัน ชาวพระนครก็พากันได้รับความยากแค้นเดือดร้อนไปทั่วหน้า”
ง. บันทึกรับสั่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ประทานหม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล เกี่ยวกับปัญหาในหัวข้อเรื่อง “ขุนหลวงตากเป็นบ้าหรือ” มีดังนี้
เหตุ เนื่องด้วยมีผู้เขียนบทความลงในหนังสือต่างๆ อันเกี่ยวกับขุนหลวงตากเนืองๆ ข้อความสำคัญอยู่ที่ว่า ทรงมีพระสติปกดีอยู่ทุกประการ ซึ่งตรงข้ามกับหลักฐานอันมีในพระราชพงศาวดาร จดหมายเหตุและวรรณคดีที่เขียนขึ้นในครั้งนั้น จึงทูลถามเพื่อขอประทานพระดำริ

ปัญหา เรื่องขุนหลวงตากนั้นไปอย่างไรมาอย่างไรกัน ทำไมจึงมาเป็นเรื่องใหญ่โตกันนัก
ตอบ เรื่องขุนหลวงตากนี้เป็นเรื่องที่น่าเอาใจใส่ นักปราชญ์สมัยใหม่กำลังปรักปรำราชวงศ์จักรี แต่ไม่มีอะไรจะว่านอกจากจะว่าขุนหลวงตากไม่บ้า และเพื่อชี้ให้คนเห็นว่า พระพุทธยอดฟ้าฯเป็นกบฏต่อขุนหลวงตาก ว่าตามจริงในการเขียนเรื่องขุนหลวงตากในพงศาวดารเรารบกับพม่าครั้งกรุงธนบุรีนั้น ได้พยายามให้ความยุติธรรมแก่ขุนหลวงตากอย่างเต็มที่ อันได้ที่จะชี้ให้เห็นถึงคุณงามความดีของขุนหลวงตากแล้ว ก็ได้หยิบยกขึ้นมาพิจารณาให้จนหมดสิ้น ได้พยายามเขียนให้จนสุดฝีมือ ไม่มีที่สงสัยเลยที่ว่าขุนหลวงตากจะไม่บ้า บ้าแน่ๆ แต่ผู้ก่อการจลาจลนั้นเป็นพระยาสรรค์ชาวเมืองธนฯ เอง พระพุทธยอดฟ้าฯ เป็นผู้มาปราบจลาจล และมาพบขุนหลวงตากในสภาวะเช่นว่า ก็ไม่รู้จะทำประการใด เพราะราษฎร ขุนนาง และข้าราชการลงความเห็นให้ปลงพระชนม์ ทั้งขณะนั้นศึกพม่าก็พร้อมที่จะเข้ามายังพระนคร หากไม่ทำการอันใดให้เด็ดขาดลงไป ก็ลำบากแก่การปกครอง พระพุทธยอดฟ้าฯ หาได้สั่งให้ปลงพระชนม์ขุนหลวงตากไม่ แต่ที่จะมีข้อตำหนิก็มีได้อยู่ที่ไม่ห้ามไม่ให้ฆ่า แต่นั่นแหละ เอาใจเราไปใส่ใจพระพุทธยอดฟ้าฯ ใครอยู่ในฐานะเช่นนั้น ก็จะลำบากใจหาน้อยไม่ ถ้าขุนหลวงตากเป็นบ้าอย่างมากมายไม่รู้วันรู้คืน พระพุทธยอดฟ้าฯ ก็คงออกพระโอษฐ์ขอไม่ให้ปลงชีวิต ซึ่งขุนหลวงตากไม่ได้บ้าถึงเพียงนั้น เป็นบ้าคลั่งอันตรายต่อแผ่นดิน นั่นแหละ ใครอยู่ในฐานะพระพุทธยอดฟ้าฯ บ้างก็จะรู้สึกว่าลำบากแค่ไหน เมื่อปลงพระชนม์แล้วก็ได้จัดการสร้างเมรุเป็นการใหญ่ และได้เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงทั้งสองพระองค์ อันคุณงามความดีของขุนหลวงตากนั้นมีมากนัก ได้เขียนไว้ในพงศาวดารเรารบพม่าครั้งกรุงธนบุรีโดยละเอียดแล้ว ควรพิจารณาดูให้ดี อย่าลืมหลักฐาน อย่าเอาโลภจริตเข้าใส่ ในการวินิจฉัยเรื่องราวในพงศาวดารถึงกระทำด้วยความเที่ยงธรรม ” (ประพัฒน์ ตรีณรงค์. “แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ” วารสารไทย 20(12) : ตุลาคม – ธันวาคม 2542 : 19-20)

แต่มีนักประวัติศาสตร์ และนักวิจารณ์หลายท่านที่มี ความคิดเห็นต่างออกไป เช่น
ก . พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ (2542 : 3562) ได้แสดงข้อคิดเห็นว่าเป็นข้ออ้างทางการเมืองถึงสภาพวิกลจริต อันหมายถึงการหมดสิ้นบุญญาธิการในการเป็นพระมหากษัตริย์ของพระองค์ ดังเหตุผลต่อไปนี้

ตลอดระยะเวลา 15 ปี แห่งการเสวยราชสมบัติที่กรุงธนบุรีนั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินต้องทรงตรากตรำต่อการบริหารราชการแผ่นดินที่เพิ่งฟื้นตัวขึ้นมาใหม่อย่างมาก การที่ทรงมีชาติกำเนิดจากครอบครัวพ่อค้า เมื่อรับราชการก็เป็นเพียงเจ้าเมืองขนาดเล็กชายเขตแดน จะเข้ามากรุงศรีอยุธยาก็ต่อเมื่อบ้านเมืองอยู่ในสภาวะคับขันแล้ว ดังนั้น เมื่อต้องดำรงพระอิสริยยศเป็นถึงพระมหากษัตริย์ผู้สืบสมมติวงศ์แห่งราชอาณาจักรสยาม คงทำความลำบากให้แก่พระองค์อยู่มิใช่น้อย การที่ทรงพบความสำเร็จจากการรบก็ดี หรือการที่ทรงพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจของบ้านเมือง จนราชสำนักจีนยอมรับการเป็นกษัตริย์ของพระองค์และให้มีการติดต่อค้าขายด้วยก็ดี หรือการที่ทรงเป็นพุทธมามกะปกป้องส่งเสริมพระพุทธศาสนาก็ดี มิได้ทำให้สถานภาพการเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรสยามของพระองค์มีความสมบูรณ์ได้เลย

พระองค์น่าจะขาดส่วนสำคัญที่ส่งเสริมการเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ไปบ้าง เช่น ขัตติยะราชประเพณีต่างๆ ภายในราชสำนัก ซึ่งสะท้อนภาพให้เห็นได้ในลักษณะที่เป็นรูปธรรมคือ ทรงประทับอยู่ในพระตำหนักเก๋งจีนขนาดเล็ก ท้องพระโรงที่ออกว่าราชการก็เป็นอาคารโถงธรรมดามิได้มียอดปราสาทแสดงความโอ่อ่าแห่งพระราชอำนาจ พระมหากษัตริย์เหมือนกับพระนครหลวงเดิมที่กรุงศรีอยุธยา พระองค์อาจทรงจัดความสำคัญของสิ่งเหล่านี้ไว้อยู่ในลำดับหลังสุดแห่งการฟื้นฟูราชอาณาจักรสยาม ดังนั้น พฤติกรรมของพระองค์ที่มีต่อขุนนาง และอาณาประชาราษฎรจึงผิดไปจากอดีตพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ทั้งๆ ที่ภาพอันศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นเพิ่งผ่านพ้นไปเพียงไม่นาน ยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้คนทั่วไป สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นข้ออ้างทางการเมืองถึงสภาพการวิกลจริต อันหมายถึงการหมดสิ้นบุญญาธิการในการเป็นพระมหากษัตริย์ของพระองค์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงต้องสูญเสียอำนาจและถูกปลงพระชนม์ในที่สุด เมื่อ พ.ศ.2325 ( พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ , สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคกลาง เล่ม 8 บุหลันลอยเลื่อน – เพลง : พรหมพิราม , อำเภอ , 2542 : 3562)

เครื่องราชกกุธภัณฑ์
(ภาพจากหนังสือพระแสงศัสตราประจำเมือง)

ข . สุจิตรา อ่อนค้อม (2543 : 62) ได้กล่าวแสดงความเห็นไว้ดังนี้

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเป็นกษัตริย์ที่ได้รับการถวายพระนาม มหาราช และทรงเป็นมหาราชพระองค์เดียวที่ไม่มี เบญจราชกกุธภัณฑ์ ซึ่งหมายถึง เครื่องหมายความเป็นพระราชามี 5 อย่างคือ พระขรรค์ ธารพระกร อุณหิส ( มงกุฎ ) ฉลองพระบาท และวาลวิชนี ( พัดและแส้จามรี ) ถ้าหากมองในแง่วัตถุดูเหมือนว่าทรงเป็นกษัตริย์ที่อาภัพที่สุด แต่หากมองในแง่ธรรมะแล้ว พระองค์กลับได้รับการสดุดีว่าเป็นกษัตริย์ที่เข้าถึงธรรม ด้านปริยัติและปฏิบัติ โดยเฉพาะด้านการปฏิบัตินั้นทรงเชี่ยวชาญทั้งสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน จากประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ว่าพระองค์มีพระสัญญาวิปลาสนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

การที่ประวัติศาสตร์ต้องบันทึกไว้เช่นนั้น คงเป็นด้วยเหตุผลทางการเมือง ซึ่งยึดความอยู่รอดปลอดภัยของประเทศชาติเป็นสำคัญ ”

ค . ภักดีสยามสมาคม (2541 : 41-42) แสดงความคิดเห็นดังนี้
“ พงศาวดารบางเล่ม กล่าวหาว่าพระเจ้าตากสินโหดร้าย บ้าคลั่ง ฆ่าคน เฆี่ยนพระ ทำทารุณกรรมความไม่ดีด้วยประการต่างๆ นั้น ไม่เป็นความจริงทั้งสิ้น จากจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี และพระราชวิจารณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งหอสมุดแห่งชาติได้พิมพ์ไว้ในเล่มเดียวกัน กรมหลวงนรินทรเทวีเป็นพระขนิษฐภคินี (น้องสาว) ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ความปรากฏในจดหมายเหตุของกรมหลวงนรินทรเทวีกับพระราชวิจารณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ตรงกันทุกประการ กล่าวคือ ตรงกันข้ามกับพงศาวดารทั้งหลายที่กล่าวหาพระองค์ดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้เพราะกรมหลวงนรินทรเทวีเองก็ทรงมีพระชนม์อยู่แลเห็นเหตุการณ์ในสมัยนั้นตลอดเวลา และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็ทรงพระราชวิจารณ์ด้วยความเป็นธรรม มิได้มีอคติแต่ประการใดเลย

มีเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่องที่ใส่ความกันอย่างร้ายแรง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะผู้เรียบเรียงพงศาวดารเข้าใจผิดคิดว่าถ้าได้ทับถมใส่ร้ายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนฯมากเพียงใด ก็จะเป็นคุณแก่ราชวงศ์จักรีมากเพียงนั้น แต่พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีเอง เช่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ และเจ้านายในราชวงศ์จักรี เช่นกรมหลวงนรินทรเทวีทรงคิดเห็นผิดแผกตรงกันข้ามกับข้อเขียนของพงศาวดารนั้นๆ ซึ่งนับได้ว่าทั้งจดหมายเหตุของกรมหลวงนรินทรเทวีและบทพระราชวิจารณ์ของ ร. 5 เป็นเอกสารสำคัญที่ให้ความยุติธรรมแก่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีอยู่เป็นอันมาก

ความยุ่งยากที่บังเกิดขึ้นในตอนปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้นเป็นเรื่องของพวกส่อเสียด พวกทำลาย พวกฉ้อราษฎร์ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ก่อเรื่องให้วุ่นวายขึ้น ลงท้ายเคราะห์กรรมก็ตกอยู่ที่พระเจ้ากรุงธนบุรี ในเวลาที่พระยาสรรค์มาจับนั้น พระองค์ทรงรู้เท่าทันพระยาสรรค์ทุกอย่าง แม้แต่การที่พระยาสรรค์นิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะผู้ใหญ่มาเจรจาขอให้พระเจ้ากรุงธนบุรีฯ ยอมแพ้ต่อพระยาสรรค์นั้น ความในพระราชวิจารณ์ของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็ได้ค้านว่าไม่เป็นความจริง เพราะลักษณะอันแท้จริงของพระเจ้าตากสินแล้ว จะมีลักษณะอ่อนน้อมแต่ไม่ยอมแพ้ใครและทรงเป็นคนกลางอยู่เสมอ

ประวัติศาสตร์กล่าวว่า พระยาสรรค์ก่อการกบฏในกรุงธนบุรี ความทราบถึงเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกซึ่งไปราชการทัพที่ประเทศเขม ร ได้รีบกลับมายังกรุงธนบุรีจับพระยาสรรค์ แล้วปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ (ร.1) ส่วนพระเจ้าตากสินนั้นกล่าวว่า ถูกสำเร็จโทษ ตอนนี้ถ้าพิจารณาโดยท่องแท้แล้วจะเห็นว่า เรื่องราวของพระเจ้าตากสินถูกบิดเบือนโดยผู้บันทึกประวัติศาสตร์สมัยนั้น เข้าใจว่าพระเจ้าตากสินน่าจะถูกนำไปอยู่ในที่ปลอดภัยในต่างจังหวัดภาคใต้และสวรรคตเมื่อถึงอายุขัย มิได้ถูกสำเร็จโทษแต่อย่างใด

รวมความว่าสมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงเป็นวีระกษัตริย์มหาราชพระองค์หนึ่ง ซึ่งประชาชนชาวไทยจะต้องรำลึกถึงพระคุณอยู่ตลอดเวลา ”

ง . ขจร สุขพานิช (ข้อมูลประวัติศาสตร์สมัยบางกอก : 8) กล่าวว่า
“ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชวินิจฉัยเกี่ยวกับพระราชจริยาวัตร ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในช่วงวิกฤติการณ์ไว้ในประกาศเรื่องไทยสถาปนากษัตริย์เขมรว่า “พระเจ้ากรุงธนบุรีเสียพระอารมณ์ไปจึงทรงประพฤติผิดต่างๆ ” ส่วนพระบาทสมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานทรรศนะส่วนพระองค์เกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า “ อยู่ข้างพลุ่งพลั่งแต่ไม่ใช่บ้า ” (อ้างอิงโดย ภารดี มหาขันธ์, 2526 : 33)

จ. พระเทพวราภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุวรวิหารและเจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช พระราชวิสุทธิมุนี เจ้าอาวาสวัดแจ้ง ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์ภาคทักษิณ จังหวัดนครศรีธรรมราช รองเจ้าคณะภาค 16 พระครูจิตรการประสาท เจ้าอาวาสวัดสวนป่าน เจ้าคณะอำเภอพรหมบุรี พระครูพิศาลพัฒนกิจ เจ้าอาวาสวัดประดู่พัฒนาราม เจ้าคณะอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช

พระเถระทั้งหมดที่กล่าวมา ไม่เชื่อว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระสติวิปลาส เพราะทรงเจริญวิปัสสนากรรมฐาน และไม่เชื่อว่าพระองค์ถูกประหารชีวิต แต่เชื่อว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ได้เสด็จหนีมาเมืองนครศรีธรรมราชและทรงออกผนวชที่เขาขุนพนม จนเสด็จสวรรคต (สมพร เทพสิทธา. พระเกียรติคุณสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงพระสติวิปลาสหรือ?, 2540 : 5-6)

สมพร เทพสิทธา (2540 : 6-7) กล่าวไว้ดังนี้ “ ข้าพเจ้าเองก็มีความเชื่อเช่นเดียวกับพระเถระที่กล่าวมา เชื่อว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไม่ทรงพระสติวิปลาส เพราะไม่น่าเป็นไปได้ที่พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นมหาราชที่ยิ่งด้วยพระบารมีและพระปรีชาสามารถอันสูงส่ง ทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทยได้ภายในเวลาเพียง 7 เดือน จะทรงพระสติวิปลาสเพราะทรงเจริญกรรมฐาน และไม่น่าเป็นไปได้ที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัติรย์ศึก ซึ่งเป็นผู้มีคุณธรรมและยึดมั่นในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา เป็นทั้งพระสหายร่วมสาบานและทหารเอกที่ได้ร่วมกันต่อสู้อริราชศัตรูอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่ ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา ตลอดจนได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จะสั่งให้สำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ที่ฝาผนังของพระวิหารวัดอินทาราม บางยี่เรือ ธนบุรี มีหินอ่อนจารึกพระดำรัสของพระเจ้าตากสินมหาราช ที่เมืองพุทไธมาศ ในปี พ . ศ .2314 มีข้อความว่า มิได้ทรงปรารถนาสมบัติพัสถานอันใด หากผู้ใดสามารถอยู่ในราชสมบัติให้สมณชีพราหมณ์และประชาราษฎร์เป็นสุขได้ จะยกสมบัติให้แก่ผู้นั้น เพื่อจะไปบำเพ็ญสมณธรรม แสวงหาโพธิญาณ

พระราชดำรัสของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แสดงให้เห็นถึงพระราชปณิธานอันแน่วแน่ของพระองค์ว่า ทรงปรารถนาพระโพธิญาณ จึงอาจเป็นไปได้ที่ทรงเบื่อหน่ายในราชสมบัติ และได้ทรงพิจารณาเห็นว่าสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทรงเหมาะสม ที่จะครองราชสมบัติต่อไปจึงทรงออกอุบายทำเป็นพระสติวิปลาส แล้วทรงหนีไปผนวชที่เมืองนครศรีธรรมราช ”

ในปีมะแม พ.ศ.2318 พระองค์ได้ทรงเผยโครงการณ์สร้างชาติถวายพระราชาคณะฝ่ายสงฆมณฑลทราบ ทรงกำหนดเวลาสร้างชาติว่าจะสิ้นสุดลงปีมะเส็ง สัปตศก พ.ศ.2328 ดินแดนแหลมไทยจะกลับเป็นของไทยตามเดิมทั้งหมด และเมื่อวางรากฐานมั่นคงดีแล้ว พระองค์จะได้ทรงพักผ่อนพระราชภาระเพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่อไป แต่ยังมิทันครบกำหนดตามที่ทรงมีพระราชดำริ พอขึ้นปีขาล พ.ศ.2325 วันที่ 6 เมษายน ก่อนเที่ยงวัน พระองค์ก็สวรรคต ณ พระวิหารวัดอรุณราชวราราม เป็นอันว่าพระองค์ท่านเสด็จสวรรคตเสียก่อนครบกำหนดสร้างชาติไทย 4 ปี (พ.ย.ร. งานสร้างชาติไทยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช , 2496 : 79)

ฉ . พลตำรวจตรีสุชาติ เผือกสกนธ์ (2543 : 2-7) มิได้เห็นด้วยกับเรื่อง “ สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงมีพระสัญญาวิปลาสจริงหรือไม่ ? ” โดยได้ให้ข้อคิดดังนี้
ได้ปรากฏหลักฐานแน่ชัดในเอกสารประวัติศาสตร์คือ ประชุมพระราชพงศาวดารและจดหมายต่าง ๆ รวมทั้งรายงานของบาทหลวงชาวต่างประเทศที่ได้บันทึกไว้ในสมัยนั้นที่กล่าวถึง เรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ใฝ่พระทัยในพระพุทธศาสนา ทรงสนพระทัยศึกษาปฏิบัติธรรมตามแนวคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างจริงจัง ได้ทรงสะสมบุญบารมีมาโดยตลอดจนวาระที่สุดของพระชนมชีพไว้ดังนี้

“… พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงแสดงพระองค์ยิ่งกว่าอัครพุทธศาสนูปถัมภกอันเป็นบทบาท ของสถาบันพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่ต้นรัชกาลแล้ว หลังศึกอะแซหวุ่นกี้ มีหลักฐานว่า ทรงใฝ่พระทัยในทางศาสนายิ่งขึ้น … ลักษณะที่ทรงใฝ่พระทัยในทางศาสนานั้น พระราชพงศาวดารกล่าวว่า เสด็จไปเจริญพระกรรมฐาน ณ พระอุโบสถวัดบางยี่เรือใต้ นับตั้งแต่ พ.ศ.2319…

… อิทธิปาฎิหารย์จากความสำเร็จทางด้านจิตเนื่องจากเจริญพระกรรมฐานนี้ มีกล่าวถึงในหลักฐานของชาวฝรั่งเศสและเดนมาร์ก ซึ่งก็ย่อมบรรยายอิทธิปาฏิหาริย์นี้ในรูปที่เป็นของเหลวไหลไร้สติตามคติความเชื่อของชาวตะวันตกในยุคนั้น …

… ในปี พ.ศ.2322 อันเป็นปีที่บาทหลวงเขียนรายงาน … นักธรรมชาติวิทยาชาวเดนมาร์กชื่อ ดร.กุนิค ได้กล่าวถึงความพยายามทางศาสนาของพระเจ้ากรุงธนบุรีไว้ในทำนองเดียวกัน (ว่า)

… พระองค์ทรงเชื่อตามลัทธิศาสนาของคนไทยว่า วันหนึ่งพระองค์จะเป็นพระเจ้า ( บรรลุพุทธธรรมหรืออรหัตผล ) ความสามารถในการกำหนดลมหายใจให้ละเอียดจนกระทั่งสามารถสังเกตเห็นอาการเคลื่อนไหวใดๆ ของกลางท้องได้ … ประกอบด้วยความสามารถในการนั่งนิ่งได้จริงๆ เป็นชั่วโมง ด้วยท่าทำสมาธิ …”

โดยที่ผมได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมมามากพอสมควร จึงเชื่อมั่นว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงเจริญพระกรรมฐานด้วยพระราชศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา จนกระทั่งได้ทรงบรรลุมัคคญาณ ผลญาณระดับหนึ่ง ซึ่งจัดเป็นอริยบุคคล ส่วนจะบรรลุถึงระดับโสดาบันหรือเหนือกว่าระดับใดนั้น พระองค์ท่านเท่านั้นที่จะทรงทราบ

นับตั้งแต่เริ่มกอบกู้เอกราชชาติไทยไปจวบจนสิ้นรัชกาล สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงปฏิบัติพระองค์ในลักษณะที่ผิดแผกจากพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ทรงปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนในลักษณะพ่อกับลูก ทรงใช้สรรพนามแทนพระองค์ว่า “ พ่อ ” และแทนประชาชนกับข้าราชการข้าทหารน้อยใหญ่ว่า “ ลูก ” ทุกครั้ง ทรงห่วงใยในความทุกข์เดือดร้อนที่พสกนิกรกำลังประสบอยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด หลังจากที่ต้องเสียกรุงแก่พม่าข้าศึก จนกระทั่งต้องเสด็จฯ ออกแจกจ่ายข้าวแก่ราษฎรด้วยพระองค์เอง แสดงให้เห็นว่า ได้ทรงยึดมั่นอยู่ในพรหมวิหารสี่อย่างแท้จริง บาทหลวงฝรั่งเศสผู้หนึ่งชื่อ ปาลเลกัวซ์ มีความประทับใจในพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านเป็นอย่างยิ่ง และได้กล่าวสรรเสริญโดยได้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรใน ปี พ.ศ.2315 ว่า

“… พระเจ้าตากหาได้ทรงประพฤติเหมือนอย่างพระเจ้าแผ่นดินก่อนๆ ไม่ …. ไม่ทรงเกรงว่า ถ้าเสด็จออกให้ราษฎรเห็นพระองค์ และถ้าทรงมีรับสั่งด้วยแล้ว จะทำให้เสียพระราชอำนาจลงอย่างใด เพราะพระองค์มีพระประสงค์จะทอดพระเนตรการทั้งปวงด้วยพระองค์เอง

และจะทรงฟังการทั้งหลายด้วยพระกรรณของพระองค์เองทั้งสิ้น พระองค์ทรงทนทานแก่ความเหน็ดเหนื่อย ทั้งทรงกล้าหาญและพระปัญญาก็เฉียบแหลม มีพระนิสัยกล้าได้กล้าเสียและพระทัยเร็ว …”

หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาต้องเสียแก่พม่าข้าศึกแล้ว มิใช่เฉพาะทรัพย์สินแก้วแหวนเงินทองสมบัติที่พม่าได้กอบโกย รวบรวมกลับไปบ้านเมืองของตนเท่านั้น ยังได้กวาดต้อนทรัพยากรบุคคลรวมทั้ง พระภิกษุสงฆ์ซึ่งทรงคุณวุฒิรอบรู้แตกฉานในพระไตรปิฎกจำนวนหนึ่งเป็นเชลยด้วย นอกจากนี้ พระภิกษุสงฆ์ที่ทรงคุณวุฒิดังกล่าวอีกจำนวนหนึ่งก็ล้มหายตายจากไป เนื่องจากภัยสงคราม คัมภีร์พระไตรปิฎกก็ถูกเผาผลาญไปพร้อมกับวัดวาอาราม จึงอาจกล่าวได้ว่า เกือบจะไม่มีหลงเหลือไว้เป็นเสาหลัก ค้ำจุนพระพุทธศาสนาในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไว้เลย ในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในรัชกาลนี้ พระองค์ท่านจึงจำเป็นต้องทรงอาราธนาพระภิกษุสงฆ์ เท่าที่ยังคงมีหลงเหลืออยู่จากท้องถิ่นต่างๆ ไม่ห่างไกลมา แล้วพระราชทานสมณศักดิ์ตามควรแก่กรณีเพื่อกำกับดูแลการปฏิบัติศาสนกิจในกรุงธนบุรี โดยที่พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้มิได้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด ยอมรับนับถือให้ความเคารพกันในลักษณะครูอาจารย์กับศิษย์ดังเช่นเมื่อก่อนที่จะเสียกรุง จึงเกิดการแบ่งพวกแบ่งเหล่า เกิดความแตกแยกฟ้องร้องกล่าวหากันในหมู่คณะสงฆ์อยู่บ่อยครั้ง ในด้านคุณวุฒิคุณภาพของพระภิกษุสงฆ์เหล่านี้ก็มีไม่เพียงพอ ที่จะช่วยเหลือกันฟื้นฟูพัฒนากิจการพระพุทธศาสนาให้เป็นแก่นสารได้

ในฐานะของพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงมีพระราชภาระที่จะต้องทำนุบำรุงคณะสงฆ์จนทำให้เกิดการปกครอง คณะสงฆ์ตามรูปแบบของราชอาณาจักรขึ้นใหม่ ซึ่งออกจะแตกต่างจากที่พระมหากษัติรย์แต่ก่อนได้ทรงปฏิบัติมา และโดยที่พระองค์ท่านได้ทรงศึกษาและปฏิบัติธรรมจนเข้าพระทัยลึกซึ้งแตกฉาน ทั้งยังทรงประสบความสำเร็จในการเจริญวิปัสสนาภาวนาซึ่งเป็นความสามารถเฉพาะตัว มิใช่ได้มาจากการเล่าเรียนตำรับตำรา หรือการบวชอยู่นาน พระองค์จึงต้องทรงสละเวลาส่วนหนึ่งเพื่อการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ของราชอาณาจักรด้วยพระองค์เองเป็นพิเศษ ด้วยพระปัญญาคุณของพระองค์ท่าน ในปี พ.ศ.2319 จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์ลักษณะและวิธีการปฏิบัติธรรมชั้นสูงที่เรียกสั้นๆ ว่า “ ลักษณะบุญ ” ขึ้น พระราชนิพนธ์นี้ได้ทรงใช้สั่งสอนพระภิกษุด้วย ในปีเดียวกันนี้ ได้ทรงบูรณะวัดบางยี่เรือนอก แล้วทรงอาราธนาพระสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนาธุระมาอยู่ที่กุฏิที่ทรงสร้างถวายเป็นจำนวนมาก ทั้งยังได้เสด็จไปถวายพระบรมราโชวาทแก่พระสงฆ์ โดยอธิบายถึงวิธีที่ได้ทรงบำเพ็ญได้ให้เข้าใจถูกต้อง เพื่อเป็นการบอกบุญในการปฏิบัติศาสนาสืบไปด้วย

นอกจากนี้ พระองค์ท่านยังได้ทรงตีความเกี่ยวกับพระวินัยสิกขา และทรงออกเป็นพระราชกำหนดที่มิได้ใช้บังคับแก่ประชาชนทั่วไป แต่ทรงมุ่งหมายที่จะให้เป็นกฎข้อบังคับให้พระภิกษุสงฆ์ปฏิบัติ รวมทั้งได้ทรงพระราชนิพนธ์ตำราเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติธรรม วิปัสสนาธุระและถวายพระบรมราโชวาทสั่งสอนแก่พระสงฆ์นั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรก ที่ทรงเห็นบทบาทของกษัตริย์ก้ำกึ่งไปในทาง ประมุขของศาสนา ควบคู่กับการทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนเลยในสมัยกรุงศรีอยุธยา

การออก พระราชกำหนดที่มุ่งใช้บังคับคณะสงฆ์ นี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ก็ได้ทรงถือเป็นแบบอย่าง และได้ทรงปรับปรุงเนื้อหาข้อความให้ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งได้ทรงระบุโทษการฝ่าฝืนไว้พร้อมเสร็จทุกมาตรา

วิธีการหนึ่งที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงใช้ในการทดสอบความรู้ความสามารถในคัมภีร์พระไตรปิฎก ของพระภิกษุสงฆ์ได้แก่ ทรงตั้งปัญหาเพื่อให้ตอบที่เรียกว่า “ปุจฉา – วิสัชนา” ในลักษณะเดียวกับที่พระเจ้ามิลินท์ทรงปฏิบัติต่อพระนาคเสนเถระ การที่พระภิกษุสงฆ์องค์ใดไม่สามารถถวายคำตอบได้โดยถูกต้องแจ่มแจ้ง ในสาระสำคัญที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกก็ตาม มิได้ยึดความถูกต้องตามหลักวิชาก็ตาม พระองค์ท่านจึงจะทรงพระกรุณาถวายพระบรมราโชวาทแนะนำให้ หากทรงพิจารณาวินิจฉัยแล้วเห็นว่า หมดหนทางที่จะผลักดันให้พระภิกษุสงฆ์นั้นพัฒนาตนเองได้

จึงคงจะต้องใช้มาตรการที่รุนแรงถึงขั้นปลดออกจากสมณศักดิ์ และสึกในขั้นตอนต่อไป ได้มีการกล่าวกันว่า เมื่อได้ทรงพระราชปุจฉาว่า ภิกษุจะไหว้คฤหัสถ์ที่บรรลุธรรมได้หรือไม่ เมื่อพระราชาคณะที่ทูลวิสัชนาว่าไม่ได้ก็ทรงพระพิโรธลงโทษทัณฑ์แก่ภิกษุราชาคณะและอนุจร ประหนึ่งว่าพระองค์ต้องพระราชประสงค์ให้พระภิกษุนบไหว้พระองค์ และได้มีการหยิบยกประเด็นนี้มา กล่าวหาพระองค์ท่านว่า ทรงมีพระสติฟั่นเฟือนวิปลาส ก็ไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดพิสูจน์ยืนยันได้ว่า พระองค์ได้ทรงเป็นไปตามข้อกล่าวหา การบันทึกข้อความในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นจดหมายเหตุโหร ประชุมพระราชพงศาวดาร และบันทึกคำให้การก็ปรากฏว่า มีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนขัดแย้งกันในข้อเท็จจริงอยู่หลายครั้งหลายตอน

การที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีพระราชปุจฉาว่า “ ภิกษุจะไหว้คฤหัสถ์ที่บรรลุธรรมได้หรือไม่นั้น ” พระองค์ท่านอาจจะทรงใช้คำศัพท์บาลีซึ่งมีความหมายถึงบุคคลที่ได้บรรลุธรรมวิเศษมีโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล และที่เหนือกว่า ซึ่งเป็นพระพุทธวจนะ ก็เป็นได้ ดังเช่น

อลงฺโก เจปิ สม จเรยฺย
สนฺ โต ทนฺโต นิยโต พฺรหฺมจารี
สพฺเพสุ ภูเตสุ นิธาย ทณฺ ฑ
โส พฺ ราหฺมโณ โส สมโณ ภิกฺ ขุ

ซึ่งแปลเป็นไทยว่า

ถึงจะแต่งกายแบบใด ๆ ก็ตาม
ถ้าใจสงบระงับ ควบคุมตัวได้
มั่นคง บริสุทธิ์ ไม่เบียดเบียนคนอื่น
เรียกว่า พราหมณ์ สมณะ หรือ ภิกขุ

และ

โยธ ปุญฺ ญญฺ จ ปาปญฺ จ
พาเหตฺ วา พฺรหฺมจริยาวา
สงฺขาย โลเก จรติ
ส เว ภิกฺขูติ วุจฺ จติ

ซึ่งแปลเป็นไทยว่า

ผู้ใดละบุญละบาปทุกชนิด
ครองชีวิตประเสริฐสุด
อยู่ในโลกมนุษย์ด้วยปัญญา
ผู้นี้แลเรียกว่า ภิกษุ

จึงเป็นเหตุให้พระภิกษุสงฆ์ที่มิได้มีความรู้ลึกซึ้งในพระธรรมในคำศัพท์บาลีเพียงพอ ทูลถวายคำวิสัชนาผิดพลาดไป หากพระภิกษุรูปนั้นมีสมณศักดิ์ เป็นถึงพระราชาคณะ ก็เป็นการสมควรแล้วที่พระองค์ท่านจะต้องทรงปลดออกจากสมณศักดิ์ เพราะจะคงไว้ก็ไม่มีประโยชน์ต่อพระบรมราโชบายของพระองค์ท่านในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา

ความไม่พอใจที่ถูกถอดออกจากสมณศักดิ์ การถูกจับสึก นอกจากจะเป็นสาเหตุที่ให้มีการปล่อยกระพือข่าวลือออกไป จนมีการบันทึกเป็นหลักฐานจดหมายเหตุทางประวัติศาสตร์ไว้ว่า “… พระยาตากสินได้ว่าราชการแผ่นดินครั้งนั้น กอปรไปด้วยโมหะ โลภะ มิได้ประพฤติการให้ชอบด้วยขนบบุราณ …” ซึ่งดูจะเป็นไปไม่ได้สำหรับพระองค์ท่านที่ได้ทรงซาบซึ้งในรสพระธรรมเป็นอย่างยิ่งแล้ว ประกอบกับในช่วงเวลานั้น ยังได้มีเอกสารรายงานที่เขียนโดยบาทหลวงชาวฝรั่งเศส ผู้หนึ่งซึ่งมีอคติต่อหลักพระพุทธศาสนา

มีความไม่พอใจโกรธแค้นที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไม่ทรงสนพระทัยในศาสนาอื่น จนเป็นเหตุให้การเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในประเทศไทย (โดยวิธีการโน้มน้าวพระทัยของพระเจ้าแผ่นดินให้เห็นดีเห็นงาม ยอมรับไว้เป็นศาสนาประจำชาติดังเช่นที่ได้เคยถือเป็นแนวทางปฏิบัติมาแล้ว ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) ซึ่งเป็นภารกิจหลักไม่บรรลุเป้าหมายดังที่คาดคิด ทั้งมีพฤติกรรมอันไม่เหมาะสม จนกระทั่งได้ถูกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงขับไล่ออกจากกรุงธนบุรี ได้เขียนรายงานที่บิดเบือนข้อเท็จจริงไปในลักษณะที่ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีพระสติฟั่นเฟือนวิปลาส จึงเท่ากับเป็นการเติมน้ำมันเข้าไปในกองไฟ ซ้ำเติมพระองค์ท่านในลักษณะเดียวกัน ให้เห็นเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาด้วยอีกระลอกหนึ่ง

ที่น่าแปลกใจประการหนึ่งคือ ในหนังสือ “สังคีติยวงศ์ ” ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2332 โดยพระพิมลธรรม ซึ่งเป็นภิกษุฝ่ายที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไม่ทรงโปรดในปลายรัชกาล ก็มิได้กล่าวไว้เลยว่า พระองค์ท่านทรงเสียพระจริต

“… พระพิมลธรรม หรือสมเด็จพระพนรัตน์นั้น เป็นบุคคลที่มีเหตุไม่พอใจพระเจ้ากรุงธนบุรีมา … งานที่นิพนธ์ขึ้นก็ไม่เชิงว่าเป็นงานนิพนธ์อิสระ แต่เป็นงานที่นิพนธ์ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระพุทธยอดฟ้าฯ ทั้งสิ้น จึงอาจกล่าวได้ว่า เป็นนักประวัติศาสตร์ประจำราชสำนัก

แม้ในฐานะเป็นนักประวัติศาสตร์ประจำราชสำนัก และเขียน สังคีติยวงศ์ ขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก … พระพิมลธรรมก็มิได้กล่าวไว้เลยแม้แต่น้อยว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีทรง เสียพระจริตฟั่นเฟือนไป …”

นอกจากนี้ หลักฐานอื่นๆ ที่จะพอเชื่อถือได้ โดยเฉพาะบรรดาจดหมายเหตุโหรที่ได้บันทึกในระหว่างรัชกาล ก็ไม่มีการกล่าวทั้งโดยเปิดเผยหรือโดยนัยไว้เลยว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเสียพระสติ อย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งยังมีกล่าวไว้โดยละเอียดในจดหมายเหตุโหรฉบับรามัญด้วยว่า พระองค์ท่านได้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจตามปกติอยู่จนถึงเดือน 10 เดือน 11 พ.ศ.2324 ดังความว่า

“… จ.ศ.1143 พระเจ้าแผ่นดินเมืองบางกอกทรงทำบุญตั้งแต่เข้าพรรษาครึ่งเดือน เย็บจีวร 433 ไตรสบง 7,000 สงฆ์ทั้งหลายเย็บทำบุญด้วยพระเจ้าแผ่นดิน แล้วพระราชทานแก่เจ้านายและขุนนางทั้งหลายทอดพระกฐินทั่วทั้งอโยธยามิได้ว่างเว้นสักสถานหนึ่งเลย เดือน 10 เดือน 11 พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานเงินคนยากจนและข้าราชการน้อยใหญ่เป็นอันมาก …”

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เรียกว่า “ จดหมายรายวันทัพ ” เมื่อเสด็จฯ ไปตีเมืองพุทไธมาศ ได้กล่าวถึงกระแสพระราชดำรัสของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชซึ่งเป็นการยืนยันถึงน้ำพระทัย ที่แน่วแน่เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาของพระองค์ท่านอันเป็นเป้าหมายสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ไว้ดังนี้

“… เป็นความสัจแห่ง ฯข้าฯ ทำความเพียร มิได้คิดแก่กายและชีวิตครั้งนี้ จะปรารถนาสมบัติพัสถานอันใดหามิได้ ปรารถนาแต่ให้สมณชีพราหมณ์สัตว์โลกเป็นสุข อย่าให้เบียดเบียนกัน ให้ตั้งอยู่ในธรรมปฏิบัติเพื่อจะเป็นปัจจัยแก่โพธิญาณสิ่งเดียว ถ้าและผู้ใดอาจสามารถจะอยู่ในราชสมบัติให้สมณพาหมณ์ประชาราษฎรเป็นสุขได้ จะยกสมบัติทั้งนี้ให้แก่ผู้นั้น แล้ว ฯข้าฯ จะไปสร้างสมณธรรมแต่ผู้เดียว ถ้ามิฉะนั้นจะปรารถนาศีรษะและหทัยวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็จะให้ผู้นั้น …”

“ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงถือปฏิบัติเจริญรอยตามพระยุคลบาทขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาโดยตลอดพระชนมชีพ ทรงเจริญด้วยพระวิสุทธิคุณ พระปัญญาคุณและพระกรุณาธิคุณซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญของพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา การถวายพระราชสักการะต่อพระองค์ท่านไม่ว่าจะเป็นวันใด เวลาใด ย่อมบังเกิดความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ปฏิบัติอย่างยิ่งอย่างแน่นอน ”

อย่างไรก็ตาม นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2540 : 160-165) ได้แสดงความคิดเห็นว่า หลักฐานยังมีไม่เพียงพอที่จะตัดสินให้เด็ดขาดว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระวิกลจริตหรือไม่ โดยได้วิจารณ์ไว้ดังนี้

สัญญาวิปลาสจริงหรือเท็จ ?
เมื่อสรุปหลักฐานทั้งหมด มีหลักฐานไทยอยู่เพียงหนึ่งชิ้น ( หรือหนึ่งกลุ่มซึ่งสัมพันธ์กันเอง ) คือพระราชพงศาวดารที่กล่าวถึงการ “ เสียพระจริตฟั่นเฟือนไป ” ของพระเจ้ากรุงธนบุรี

นับว่าเป็นสิ่งที่น่าประหลาดอยู่มาก เพราะหลักฐานไทยร่วมสมัยอื่นๆ ไม่ได้กล่าวไว้เช่นนั้นเลย นอกจากนี้ก็มีหลักฐานชาวต่างชาติคือจดหมายของเดส์ กูร์วิแอร์อีกหนึ่งชิ้นที่กล่าวว่าทรง “ คุ้มดี คุ้มร้าย ” หลักฐานทั้งสองชิ้นนี้มีจุดอ่อนและนักเรียนประวัติศาสตร์จำเป็นต้องรับไว้ด้วยความระมัดระวังทั้งในแง่ความหมาย และในแง่ที่เป็นเอกสารอันมีจุดมุ่งหมายทางการเมือง ข้าพเจ้าก็ไม่ปรารถนาจะสรุปอย่างเด็ดขาดว่าอาการวิกลจริต ของพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลความจริงเลย ในขณะเดียวกันข้าพเจ้าก็ไม่ปรารถนาจะกล่าวว่าหลักฐานที่ระบุว่าพระองค์ทรงเสียพระจริต นั้นน่าเชื่อถืออย่างไม่มีทางปฏิเสธ จากหลักฐานเท่าที่มีอยู่ขณะนี้ยังไม่เพียงพอที่จะตัดสินไปอย่างใดอย่างหนึ่งให้เด็ดขาดได้

สิ่งที่หลักฐานเหล่านี้บอกให้ทราบนั้นมีเพียงว่า ในปลายรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงดำเนินนโยบายเกี่ยวกับการภาษีอากร และการคลังในทางที่ก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่คนจำนวนหนึ่ง และคงจะเป็นคนเหล่านี้เองซึ่งต้องการชิงราชบัลลังก์ ต้องการเพราะไม่พอใจต่อนโยบายนั้นหรือต้องการอยู่แล้ว เพียงแต่รอโอกาสอยู่ก็ตาม (หลักฐานไม่บอกอย่างแน่ชัดในเรื่องนี้) ได้อาศัยการกระทำของพระเจ้ากรุงธนบุรีซึ่งคงผันแปรไปจากในตอนต้นรัชกาล เพราะการเปลี่ยนนโยบายชี้ให้ผู้อื่นเห็นว่าเป็นความเดือดร้อนแก่ทั้งสมณชีพราหมณ์และอาณาประชาราษฎร์

เป็นไปได้ว่าคนเหล่านี้ได้โฆษณาว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเสียพระจริต การโฆษณานี้อาจเป็นโฆษณาสิ่งที่เป็นความจริง หรือเป็นการโฆษณาเพื่อหวังประโยชน์ทางการเมือง คือบ่อนทำลายความนับถือของผู้คนที่มีต่อพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ตาม สมัครพรรคพวกของคนเหล่านี้เช่น นายเพง ซึ่งคุมเลกกองนอกอยู่ที่สระบุรี นายบุนนากหัวหน้าหมู่บ้านแม่ลากรุงเก่า นายแก้วน้องพระยาสรรค์ เป็นต้น ได้ก่อการกบฏขึ้นก่อน

จนนำมาซึ่งเหตุการณ์จลาจลในกรุงธนบุรี เมื่อปลายปี พ.ศ.2324 เจ้าเมืองนครราชสีมา (พระยาสุริยอภัย) ซึ่งเตรียมตัวในแผนการณ์นี้แล้ว ก็รีบยกทัพลงมาสมทบควบคุมสถานการณ์ในกรุงธนบุรีไว้ก่อน เกิดการแบ่งฝ่ายของขุนนาง ระหว่างพวกที่ยังจงรักภักดีต่อพระเจ้ากรุงธนบุรี และพวกที่คิดแย่งราชสมบัติ ผลของการรบฝ่ายที่แย่งชิงราชสมบัติได้รับชัยชนะและเป็นผู้จบประวัติศาสตร์ของพระเจ้ากรุงธนบุรี ทั้งในเหตุการณ์จริงและในพระราชพงศาวดาร

วิกลจริตเป็นอาการทางจิตเวชศาสตร์ และในบัดนี้คงสายไปแล้วที่จะมีจิตแพทย์คนใดสามารถถวายการตรวจพระอาการสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ แต่ในภาษาชาวบ้านการทำอะไรที่นอกรีตนอกรอยที่เคยทำมาก็อาจถูกกล่าวหาว่าวิกลจริตได้ พระเจ้ากรุงธนบุรีคงได้ทำอะไรบางอย่างที่แปลกไปจากที่เคยทรงกระทำมา และทำให้ผู้คนจำนวนหนึ่งเชื่อ หรือสามารถทำให้ผู้อื่นเชื่อได้ว่า “เสียพระจริตฟั่นเฟือนไป”

แต่ก็มีผู้คนที่ใกล้ชิดอีกจำนวนมากไม่เชื่อเช่นนั้นจึงยังคงจงรักภักดีต่อพระองค์สืบมา อย่างน้อยที่สุดก็มีขุนนางร่วม 100 คน ที่ถูกล้างไปในการล้มราชบัลลังก์ของพระองค์ ดังที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพิมพ์หมอบรัดเลย์ว่าพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ “จึ่งดำรัสให้เอาขุนนางสามสิบเก้าคนนั้นไปประหารชีวิตเสีย ” ส่วนกรมพระราชวังบวรฯ “ให้ตำรวจไปจับตัวข้าราชการทั้งปวงบันดาที่มีความผิดขุ่นเคืองกับพระองค์มาแต่ก่อน ให้ประหารชีวิตเสียสิ้นทั้งแปดสิบคนเศษ ”

เรื่องการล้างแผ่นดินกันในครั้งนี้สอดคล้องกับหลักฐานชั้นต้นอีกชิ้นหนึ่งคือ “คำปรึกษาตั้งข้าราชการในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1” ซึ่งได้ตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งต่างๆ ในทำเนียบข้าราชการร่วมร้อยคน ทำให้เข้าใจได้ว่าบุคคลที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนก็คงจะถูกประหารชีวิตไปแล้ว บุคคลจำนวนร่วมร้อยหรือร้อยเศษเหล่านี้คงไม่ยอมเสียชีวิตให้แก่คนที่เขาเห็นว่าวิกลจริตเป็นแน่ ความเห็นของคนเหล่านี้ต่อพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งแม้ในยามที่ถูกพระยาสรรค์ควบคุมตัวก็ยังมีพระสติบริบูรณ์พอ ที่จะกล่าวแก่เขาว่า “สิ้นบุญพ่อแล้ว อย่าให้ยากแก่ไพร่เลย” และทรงรู้ทันพระยาสรรค์พอที่จะทรงอุทาน เมื่อพระราชาคณะกราบทูลให้ออกบรรพชาว่า “เอ้หิภิกขุลอยมาถึงแล้ว” จึงน่าจะเป็นว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีพระสติสัมปชัญญะบริบูรณ์เยี่ยงสามัญชนธรรมดา

เมื่อพิจารณาประเด็นนี้ในสภาพแวดล้อมของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปลายรัชสมัย ปัญหาเรื่องวิกลจริตจึงเป็น “ความเห็น” ของคนสมัยนั้นเท่ากับคนสมัยนี้ กล่าวคือมีคนกลุ่มหนึ่งมี “ ความเห็น ” (โดยบริสุทธิ์ใจหรือไม่ก็ตาม) ว่าทรงเสียพระจริตไปแล้ว ในขณะที่มีคนอีกกลุ่มหนึ่งมี “ความเห็น” (โดยบริสุทธิ์ใจหรือไม่ก็ตาม) ว่าทรงมีพระอาการเป็นปกติ

ในเงื่อนไขของปัจจุบัน ปัญหาเรื่องการวิกลจริตของพระเจ้ากรุงธนบุรีผูกพันอยู่กับการขึ้นครองราชสมบัติ ของพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ประเด็นที่แฝงอยู่ในเวลาพิจารณาเรื่องนี้จึงเป็นว่า หากพระเจ้ากรุงธนบุรีมิได้เสียพระจริตจนฟั่นเฟือนไปแล้ว พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ก็ทรงแย่งราชสมบัติจากพระเจ้ากรุงธนบุร

น่าประหลาดที่ว่าพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ เองและผู้นำไทยในต้นรัตนโกสินทร์จนถึงรัชกาลที่ 3 เป็นอย่างน้อย มิได้พยายามจะปิดบังเลยว่าเจ้าพระยาจักรี “ชิงราชสมบัติ” จากพระเจ้ากรุงธนบุรีซึ่งถูกเรียกในสมัยนั้นไว้หลายอย่างเช่น “ขุนหลวงตาก” “ อีตาตาก” “เจ้าที่ล่วงไปแล้ว” “ พระยาตาก” (แต่ไม่เคยพบที่ใดซึ่งเรียกพระองค์ในสมัยรัชกาลที่ 1 ว่าพระพุทธเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ) คำเรียกพระนามอันส่อความไม่เคารพเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ และผู้นำอื่นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์เห็นว่ามีเหตุผลอันสมควรที่เจ้าพระยาจักรี จะต้องแย่งชิงราชสมบัติจากพระเจ้ากรุงธนบุรีี

พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ไม่ทรงลังเลเลยที่จะกล่าวถึงการขึ้นครองราชสมบัติของพระองค์ว่า “ปราบดาภิเษก” ดังที่ปรากฏอยู่ในพระราชสาส์นไปเมืองจีนในรัชสมัยของพระองค์ พระพิมลธรรมนักประวัติศาสตร์ประจำราชสำนักของพระองค์กล่าวอย่างชัดเจนว่าทั้งเจ้าพระยาจักรีแ ละเจ้าพระยาสุรสีห์คิดหวังที่จะช่วยสรรพสัตว์ให้รอดพ้นจากกองทุกข์ นับตั้งแต่ในรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรีได้รวบรวมกำลังผู้คนจนมีอำนาจมาก “ หากยังไม่ได้มีโอกาสจึงได้ยับยั้งอยู่ ” ความไม่พอใจของหมู่ชนต่อพระเจ้ากรุงธนบุรีในปลายรัชกาลทำให้ “ได้โอกาสระงับชนพวกอสัจอธรรมทั้งหลาย”

การแย่งชิงราชสมบัตินั้นเป็นกลไกสำคัญชิ้นหนึ่งที่มีอยู่ประจำในระบบการเมืองการปกครองของไทยแต่โบราณ และเหมือนกับกลไกชิ้นอื่นๆ ย่อมมีหน้าที่ในอันที่จะจรรโลงให้ระบบนั้นตั้งอยู่และดำเนินต่อไปได้ เพราะการชิงราชสมบัติคือการเลือกสรรตามธรรมชาติในหมู่ชนชั้นสูงของประเทศไทย ในอันที่จะได้บุคคลที่เข้มแข็งมีความสามารถ และได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นนำเป็นกลุ่มก้อนมาไว้เป็นผู้สืบทอดอำนาจทางการเมือง ในระบบการเมืองการปกครองที่ให้ความสำคัญแก่พระเจ้าแผ่นดิน ทั้งในฐานะผู้บริหารองค์กรที่มีอำนาจเด็ดขาดทางนิติบัญญัติ และเป็นศาลสูงสุดของประเทศดังเช่นที่ใช้ในประเทศไทยมาในอดีตเช่นนี้ นโยบายที่ไม่ได้ผล ที่ไม่เป็นธรรม กฎหมายที่กดขี่ การคลังที่ล้มเหลว ฯลฯ จะเปลี่ยนได้อย่างไร หากพระเจ้าแผ่นดินไม่สวรรคตหรือเชื้อสายของพระเจ้าแผ่นดิน ไม่ถูกขจัดออกจากการกุมอำนาจ การแย่งชิงราชสมบัติจึงเป็นคำตอบที่ดีของการควบคุมรัฐบาล เบื้องหลังการแย่งราชสมบัติทุกครั้ง คือเรื่องราวของการประนีประนอมผลประโยชน์ของกลุ่มต่างๆ การให้คำสัญญาถึงสิ่งที่ดีกว่า และการปรับปรุงตัวเพื่อเผชิญปัญหาของบ้านเมือง ไม่ว่าในระบบการเมืองใดๆ การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ย่อมเป็นสิ่งจำเป็น และมีกลไกสำหรับการกระทำเช่นนั้นทั้งสิ้น การแย่งราชสมบัติในระบบการเมืองไทยก็เป็นกลไกอย่างหนึ่งจำเป็นต้องมีสำหรับการปรับตัว …

… แน่นอนว่าหากวิเคราะห์ความวิกลจริตของพระเจ้ากรุงธนบุรีตามเหตุผลของจิตเวชศาสตร์ ก็ดูจะอยู่นอกเหนือความสามารถของนักเ ขี ยนประวัติศาสตร์จะสามารถทำอะไรได้อีก ทั้งก็คงไม่ช่วยให้เข้าใจยุคสมัยหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งดีขึ้นเลย หากทว่าอาการวิกลจริตของพระเจ้ากรุงธนบุรีดังที่หลักฐานบางชิ้นได้กล่าวถึงนั้น มิได้เกิดขึ้นในความว่างเปล่า แต่เกิดขึ้นท่ามกลางสภาพทางการเมือง สังคมและเศรษฐกิจอย่างหนึ่งอันเป็นของยุคสมัยนั้น การตอบคำถามว่า “ ใช่ ” หรือ “ ไม่ ” ในกรณีนี้ย่อมเป็นผลมาจากและนำไปสู่การเข้าใจสภาพทางการเมือง, สังคม, เศรษฐกิจและวัฒนธรรมในสมัยนั้นอย่างลึกซึ้ง

นักเขียนประวัติศาสตร์คงไม่สนใจอาการวิกลจริตใดๆ แต่สนใจการวิกลจิตรของผู้นำทางการเมือง ในสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่มีลักษณะเฉพาะ การจะมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ต่อลักษณะเฉพาะที่แวดล้อมอาการวิกลจิตรนี้ ต้องกระทำด้วยการศึกษาหลักฐานอย่างแท้จริง ไม่ใช่การเดาหรืออาศัยตรรกที่ไม่ประกอบด้วยหลักฐานเพียงพอ และการศึกษาประวัติศาสตร์นั้นเริ่มต้นด้วยคำถามง่ายๆ ที่ชัดเจนและไม่ดัดจริต เช่น คำถามว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเสียพระจริตจริงหรือไม่ ?

อย่างนี้เพียงแต่ว่าคำตอบที่ได้แก่คำถามนี้อาจนำมาซึ่งคำถามอื่นที่ลึกและกว้างขึ้นเท่า แม้แต่ในตัวของมันเองคำถามนี้เป็นคำถามที่ชอบธรรมแก่นักเขียนประวัติศาสตร์จะถาม อย่างน้อยคงไม่มีใครปฏิเสธว่าเป็นคำถามที่ถูกประชาชนทั่วไปถามถึงบ่อยที่สุด คำถามหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย หากวิชาประวัติศาสตร์ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของสังคม วิชาประวัติศาสตร์ต้องสามารถตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของคนทั่วไป อันเป็นมูลฐานสำคัญอย่างหนึ่งของวิชาประวัติศาสตร์เองได้ด้วย

ปัญหาใดมีประโยชน์แก่การศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ ควรอาศัยมาตรฐานทางวิชาการตัดสิน เช่น ปัญหาที่มีประโยชน์คือ ปัญหาที่นำมาซึ่งความเข้าใจอย่างลึกซึ้งกว้างขวางเกี่ยวกับยุคสมัยหนึ่ง บุคคลหนึ่ง สถาบันหนึ่ง ความเคลื่อนไหวหนึ่ง ฯลฯ อันเป็นสิ่งสำคัญในประวัติศาสตร์ไม่ใช่มาตรฐานของการเมืองปัจจุบัน หรือความแสลงใจส่วนบุคคลของคนบางคน

จริงหรือว่าการ “ คุ้ม ดี คุ้มร้าย ” ของกษัตริย์ ไม่ว่าเรื่องนี้เป็นความจริง หรือเป็นเรื่องที่ศัตรูทางการเมืองปั้นแต่งขึ้นใส่ไคล้พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ตาม จะต้องนำไปสู่การแย่งชิงราชสมบัติได้สำเร็จในที่สุดเสมอไป ถ้ากระนั้นทำไมจึงไม่มีข้อใส่ไคล้เช่นนี้แก่กษัตริย์พระองค์อื่นที่ถูกแย่งราชสมบัติบ้าง ข้อกล่าวหาที่ว่า “ คุ้มดีคุ้มร้าย ” (ไม่ว่าจริงหรือเท็จ ) นี้จะเป็นประโยชน์ทางการเมืองแก่คู่แข่งขันก็เพียงเฉพาะในสถานการณ์จำเพาะอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นในรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีเท่านั้น

ในเรื่องนี้ได้ความตามคำบอกเล่าจากเจ้านายบางองค์ในราชวงศ์จักรีว่า ข้าราชการพวกที่กล้าพูดเช่นนั้น เพราะเป็นคนรักความจริงอย่างเด็ดเดี่ยว คนเหล่านั้นทราบดีว่า ถ้าพูดก็ต้องตาย แต่ไม่กลัวตายจึงกล้าพูด ในที่สุดก็ถูกคุมตัวไปประหารชีวิตทั้งหมด (ประมาณกว่า 30 คน)
http://board.dserver.org/n/natshen/00000133.html , 21/11/2545) ครั้นถึงวันกำหนดที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจะต้องถูกสำเร็จโทษ บรรดาผู้คุมและเพชร ฆาตคุมเอาตัวสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีลงเรือไปพร้อมด้วยเครื่องสังขลิกพันธนาการ เพื่อไปสำเร็จโทษ ณ วัดบางยี่เรือ (วัดอินทาราม) และพระศพก็ยังไว้ที่วัดนั้น (ทวน บุณยนิยม, 2513 : 138-202)

16.3 ทำไมจึงต้องสำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ?

การสำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นเรื่องที่กล่าวอยู่ในแง่มุมต่างๆ “ พระยาอนุชิตฯ ” ได้เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง “ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ” ว่า “ การที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ ( ทองด้วง ) ต้องสำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้าตาก ( สิน ) เสียนั้น ความจริงมิได้มีบาดหมางสิ่งใดอะไรเลย เป็นเพราะพระเจ้าตาก ( สิน ) เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ก่อเหตุให้ศาสนาและประเทศชาติราษฎรได้รับความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า พระเจ้าแผ่นดินเมื่อทำความเดือดร้อนเช่นนั้นให้แก่ประเทศ ก็ต้องบังเกิดความจำเป็นต้องโค่นเสีย เพื่อมิให้กระทำเดือดร้อนต่อไป สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ จึงจำเป็นต้องโค่นพระเจ้าตาก ( สิน ) เสีย เพื่อดับความเดือดร้อนและเพื่ออุปถัมภ์พระพุทธศาสนา ประเทศชาติให้รุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป ดังเราได้รับความร่มเย็นจากพระองค์ ( สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึกฯ ) มาจนถึงสมัยปัจจุบันนี้ ดังได้เห็นความเจริญอยู่กับตาทุกวันนี้ ”

หลวงวิจิตรวาทการให้คำวิจารณ์ในเรื่องปลงพระชนม์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไว้ว่า “การที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ สั่งสำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนี้ก็เพราะข้าราชการ อำมาตย์ ราชเสวก ลงความเห็นพร้อมกันให้สำเร็จโทษเสีย เพราะสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงกระทำความผิดอย่างร้ายแรง ”

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงให้คำวิจารณ์ในตอนนี้ไว้ว่า “การที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ ให้สำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสียนั้น ข้าพเจ้าผู้เป็นเชื้อพระราชวงศ์จักรีย่อมไม่สามารถที่จะมีความเห็นอะไรได้ ”

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ ได้เขียนเล่าใน “เจ้าชีวิต” (2514 : 133-135) ไว้ดังนี้
“ ตามข้อความทางพงศาวดารปรากฏว่าพระเจ้าตากสินได้ทรงยอมแพ้อย่างสงบ และทรงขอแต่เพียงจะทรงผนวชเป็นพระภิกษุเท่านั้น … ถึงจะยอมให้พระเจ้าตากสินทรงผนวช ก็ไม่เป็นประกันได้ว่าเหตุการณ์จะดำเนินเรียบร้อยต่อไปในภายหน้า เพราะพระภิกษุในพระพุทธศาสนาจะลาสิกขาบทออกเป็นคฤหัสถ์ใหม่ เมื่อใด ๆ ก็ได้ …. ถ้าจะเนรเทศ พระเจ้าตากสินก็จะไม่เป็นประกันดีขึ้น … เมื่อพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงปรึกษาเสนาอำมาตย์ ทุกคนต่างก็ถวายคำตอบอย่างเดียวกันว่าเป็นการจำเป็นที่จะต้องปลงพระชนม์พระเจ้าตากสินเสีย

มีเรื่องเล่ากันมาว่า เมื่อพระเจ้าตากสินทรงถูกนำขึ้นเสลี่ยงจะไปยังที่สำเร็จโทษ ท่านทรงขอโอกาสที่จะได้อำลาเจ้าพระยาจักรี (ความจริงในตอนนั้นท่านได้รับพระราชทานยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ แล้ว-ผู้เรียบเรียง) ทหารเอกของพระองค์เป็นครั้งสุดท้าย ขณะนั้น เจ้าพระยาจักรีทรงยืนอยู่ไม่ไกลนักพอแลเห็นกันได้ เมื่อมีผู้มาทูลว่าพระเจ้าตากสินขอพบ เจ้าพระยาจักรี น้ำ พระเนตรคลอ พระองค์ตื้นตันตรัสไม่ออก ได้แต่โบกพระหัตถ์ แล้วเขาก็เชิญพระเจ้าตากสินไปสำเร็จโทษ …

ครั้นต่อมาในตอนต้นรัชกาลแห่งพระบรมราชวงศ์จักรี เมื่อความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงโปรดให้ขุดพระบรมศพพระเจ้าตากสินขึ้นมาถวายพระเพลิงอย่างสมพระเกียรติ ทั้งพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 1) และสมเด็จพระอนุชา (เดิมคือสมเด็จเจ้าพระยาสุรสีห์ ) ได้ไปถวายพระเพลิงผู้ซึ่งเคยเป็นจอมทัพของทั้งสองพระองค์ ”

วรมัย กบิลสิงห์ (2540 : 65, 83-180) ได้กล่าวถึงสาเหตุการเปลี่ยนแผ่นดินว่าเนื่องมาจากปัญหาหนี้ที่เกิดจากการแก้ไขปัญหาความยากจน ปัญหาปากท้องของราษฎร รวมทั้งด้านการทหารในการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งทุกอย่างเป็นพระราชภาระอันหนักยิ่งที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงแก้ไขอยู่ตลอดรัชกาล

ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ และด้านการจัดหาอาวุธทางการทหารเป็นปัญหาเร่งด่วน ตั้งแต่สมัยเริ่มครองราชของสมเด็จพระเจ้าตากสิน

สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงมีพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นดังนี้
          1. ให้หาเงินใช้หนี้ที่ยืมจีนมาใช้ซื้ออาวุธ เสื้อผ้าและอาหาร โดยให้เจ้าหน้าที่กรมท่าจัดสินค้าลงบรรทุกเรือ ออกไปขาย และเอาสินค้านั้นใช้หนี้ ตีเป็นราคาเงิน ยืมมาเท่าไรก็ให้หักออกไป อีกทั้งให้ดอกเบี้ยเขาด้วย
          2. ทรงให้ขุนนางออกไปเร่งเก็บภาษีอากร
          3. ให้อีกพวกหนึ่งไปกรุงเก่า (กรุงศรีอยุธยา) เพื่อขุดค้นของมีค่าที่เมื่อตอนเสียกรุง ได้ฝังไว้แล้วเจ้าของลืมสถานที่ จำกันไม่ได้ จะได้เอามาผ่อนใช้หนี้สินที่ยืม (จีน) เขามา (วรมัย กบิลสิงห์ , 2540 : 113)

นอกจากนี้ยังได้รับเงินที่จัดมาถวายดังนี้
          1. ทหารจีนเก่าของท่านรวบรวมเงินจากญาติมิตรซึ่งเป็นคนค้าขาย มาถวายได้รวมหมื่นตำลึง
          2. มารดาและน้องของท่านขุดเอาเงินทองที่ใส่ไหฝังไว้ก่อนกรุงแตกมามอบให้ท่าน
          3. ก่อนเสด็จออกจากกรุงศรีอยุธยาตีฝ่าวงล้อมพม่า คุณประยงค์น้องสาวท่านได้ปลอมเป็นชายมากับน้องชายท่าน (เจียนซื่อ) ทำทีเอาขนมและผลไม้จากบ้านสวนมาเฝ้าท่าน แต่ตามความเป็นจริงได้นำเงินตรา ทองแท่ง และเงินแท่งมาถวาย ซึ่งเป็นมรดกส่วนของพระองค์ที่ได้รับส่วนแบ่งจากท่านบิดา (นายอากรบ่อนเบี้ย หรือขุนพัฒน์)
          4. พระอนุชา (คุณเจียนซื่อ และคุณเจียนจิ้น) มาเฝ้าครั้งใดก็ได้นำเงินปันผลจากการค้าขายมาถวายทุกครั้ง
          5. ญาติๆ ของท่านส่งของออกไปขายยังเมืองจันทบุรีและเมืองใกล้เคียง โดยใช้สำเภาบรรทุกไป และได้เงินจากผู้ช่วยเหลือ 5 พันตำลึง ถึงหนึ่งหมื่นตำลึง ส่วนเรือออกไปค้าขาย 7 วัน ก็กลับมา และคงจะซื้อข้าวจากพ่อค้าญวนกลับมาด้วย (วรมัย กบิลสิงห์ , 2540 : 20, 39, 65, 78, 80-81)

เรื่องการเป็นหนี้จีนและการใช้หนี้ การกู้หนี้ยืมสินจากทางจีนส่วนใหญ่ เกิดจากปัญหาเรื่องอาวุธไม่พอ และที่มีอยู่ก็ชำรุดทรุดโทรม จีนคุงเซียม ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่อยู่ในกรมท่าและรู้จักพวกเรือสำเภา ตลอดจนรู้จักนายทหารกรุงปักกิ่ง เพราะเคยไปกรุงปักกิ่งมาหลายครั้ง ได้รับอาสาจะไปกู้เงินหกหมื่นตำลึงจากพวกพ่อค้า และข้าราชการที่กรุงปักกิ่งมาซื้อดาบและเหล็กมาตีดาบกับอาวุธอื่นๆ (วรมัย กบิลสิงห์ , 2540 : 81-82) โดยจะขอให้สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเขียนสาส์นไปยืมเงินจากทางจีน แต่ท่านเจียนจิ้นน้องชายท่านเป็นผู้เขียนและลงชื่อของพระเจ้าตากสินแทน เพราะต้องการรักษาพระเกียรติยศของสมเด็จพระเจ้าตากสินไว้

เป็นที่รู้กันอยู่ว่าจีนได้ให้สมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรีทรงยืมทรัพย์สินเงินทองมาจากเมืองจีนจำนวนมหาศาล (หกหมื่นตำลึง) เพื่อทรงใช้จ่ายในการสร้างชาติไทยให้ฟื้นจากสภาพยับเยินเสียหาย หลังจากทรงกอบกู้อิสรภาพของไทยคืนได้มาแล้ว

ความมุ่งหมายสำคัญของจีนในการแสดงน้ำใจให้ความร่วมมือยิ่งใหญ่ครั้งนั้น จีนเองต้องรู้ดี และสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ผู้ทรงพระปรีชาญาณยิ่งนักก็ต้องทรงหยั่งรู้เช่นกัน แต่ก็ทรงมั่นพระราชหฤทัยว่าจะทรงสามารถแก้ไขเหตุการณ์ให้เป็นผลดีแก่ประเทศไทยของพระองค์ได้ จึงทรงรับความร่วมมือของจีนไว้อย่างเต็มที่ มีผลให้ทรงบูรณะสร้างสรรค์ทุกสิ่งทุกอย่าง จนไทยกลับคืนสู่ความเป็นเอกราชได้อย่างงดงามเต็มความสามารถในขณะนั้น (“สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับพระบรมราชวงศ์จักรี ” ศิลปวัฒนธรรม, 8(2) : ธันวาคม 2529 : หน้า 68-71)

ต่อมาภายหลังจีนคุงเซียมรู้ความจริงว่าพระราชสาส์นนั้นท่านเจียนจิ้นคิดทำขึ้น จึงมีใบบอกไปทางจีนๆ ได้ส่งจดหมายมา 3 ฉบับพูดเรื่องเงิน และทวงดอกเบี้ยใน 2 ฉบับหลัง บอกว่าให้จ่ายเงินให้ได้โดยด่วน หรือให้ขอพระธิดาพระเจ้ากรุงปักกิ่งมาอภิเษกเป็นมเหสี หรือไปขึ้นกับพระเจ้าปักกิ่ง มิฉะนั้นจะยกทหารมายึดแผ่นดิน เพราะในจดหมายเขียนไปยืมเงินโดยเขียนไว้ว่าเอาแผ่นดินไปจำนำเขา (วรมัย กบิลสิงห, 2540 : 104)

ดังนั้น แผนการใช้กำลังเข้ายึดครองไทยของจีน โดยยกการทวงหนี้เป็นเหตุบังหน้าจึงเริ่มขึ้น ควรเห็นพระราชหฤทัยสมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรีมหาราชเป็นยิ่งนัก ไทยยังสะบักสะบอมเพราะสงครามกู้เอกราชที่เพิ่งจบสิ้น จะให้ทำศึกกับจีนอีกในยามนั้นย่อมทรงอัดอั้นตันพระราชหฤทัยเป็นที่สุด เพราะย่อมทรงตระหนักดีว่าจะหาทางทรงนำไทยให้ชนะทัพใหญ่ของจีนได้นั้นไม่มี น่าจะเป็นไปได้ด้วยว่าก่อนจะมีการยื่นคำขาดบีบบังคับให้ทรงใช้หนี้อย่างฉับพลันทันที อาจจะมีการชักจูงโน้มน้าวพระราชหฤทัยให้ทรงเห็นดีเห็นงามว่า สำหรับพระองค์ท่านนั้นจีนมีความสำคัญยิ่งกว่าไทย จึงควรทรงเห็นกับจีนยิ่งกว่าเห็นกับไทยและประเทศยกไทยให้ขึ้นกับจีนเสีย

สมเด็จพระเจ้าตากสิน หาทรงยอมตามได้ไม่ พระองค์ทรงถือว่าพระองค์เป็นไทย ทรงพระราชสมภพในเมืองไทย พระราชชนนีเป็นสตรีไทย พระองค์ทรงรักเมืองไทยยิ่งด้วยพระชนม์ชีพของพระองค์เอง (วรมัย กบิลสิงห์, 2540 : 1 14 ) ด้วยทรงมีพระมหากรุณาต่อไทยพ้นที่จะรำพัน ทั้งยังทรงมีพระขัตติยะ มานะอันล้ำเลิศ ซึ่งเป็นพระมานะของขัตติยะไทย เหตุด้วยทรงเป็นขัตติยะแห่งไทย มิใช่ทรงเป็นขัตติยะแห่งจีน จึงไม่ทรงโอนอ่อนไปด้วยจีนแม้แต่น้อย ทรงมีพระราชหฤทัยเด็ดเดี่ยวแน่วแน่มั่นคง ว่าพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ของไทยแล้ว ทรงมีหน้าที่จะต้องปกป้องคุ้มครองไทยให้ดำรงความเป็นไทยอยู่ชั่วฟ้าดินสลาย เหตุผลอื่นใดแม้ความตายก็ไม่อาจทำลายความเด็ดเดี่ยวแห่งน้ำพระราชหฤทัยได้ (สมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรีมหาราชกับพระบรมราชจักรีวงศ์, 2529 : 69)

การปลดหนี้ ทรงคิดหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้ทางจีนที่คิดจะเอาบ้านเอาเมือง นั้นเบื่อหน่ายหมดศรัทธาในพระองค์ ซึ่งก็มีอยู่ทางเดียว คือต้องทำเป็นเสียพระสติหรือสวรรคตไป เรื่องหนี้สินพัวพันจะได้หมดปัญหา ความจริงเงินหกหมื่นตำลึงก็ไม่มากนัก หากมีเวลาให้หาใช้ก็คงได้

เมื่อเจ้าหนี้มีอุบายเกิดไม่ยอมผ่อนผันขึ้น และทางฝ่ายไทยก็ยังมีทัพพม่ายกมาตีอยู่หลายครั้ง จึงจำเป็นต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้เด็ดขาดลงไป บ้านเมืองจะได้ไม่ต้องแตกออกเป็น 2 พวก ให้จีนกับพม่ามารบกันในเมืองไทย คนไทยก็จะแหลกลาญลงไปอีก สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงเล่าและปรึกษาเรื่องนี้เป็นการภายในกับสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก จะมีผู้รู้และได้ยินเพียงคนเดียวคือคุณประยงค์ น้องสาวท่าน (วรมัย กบิลสิงห์, 2540 : 116-117) ในที่สุดทรงตัดสินพระทัยจะวางมือให้ผู้ที่สมควรองค์อื่นทำแทน จะได้ช่วยชาติบ้านเมือง

“ คนที่จะมาทำการกู้บ้านเมืองแทนเจ้า คือคนที่เจ้าให้เขาเป็นใหญ่ กว่าค นอื่น…เขาจะตั้งตัวได้ดี อย่าเป็นห่วงเลย จงห่วงแต่ตัวของเจ้าเองเถิด…อีก 180 ปี คนจะรักและนับถือเจ้ามาก … เจ้าจงคิดอ่านทำให้คนหมดศรัทธา ในตัวเจ้า แล้วหนีออกไปอุปสมบทเสีย จะได้กุศลเพิ่มขึ้น …” (วรมัย กบิลสิงห์, 2540 : 116-118)

สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกในขณะนั้น หรือสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช องค์ปฐมบรมราชจักรีวงศ์พระองค์เดียวเท่านั้น ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรีมหาราชจะทรงพึ่งให้เป็นที่พึ่งของไทยได้

อันพระบรมราชกุศโลบายของสองสมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าจอมสยามที่ทรงร่วมรักษาความเป็นไท ของไทยพระราชทานไว้ยั่งยืนสืบมาจนบัดนี้นั้นเต็มไปด้วยความเสียสละใหญ่หลวงเกินกว่าคนทั้งปวงจะทำได้

สมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรีมหาราช ทรงมีพระราชหฤทัยมั่นสละพระชนม์ชีพพระองค์เอง

สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงมีพระราชหฤทัยแน่วแน่สละแม้พระเกียรติศักดิ์ พระเกียรติยศ ปรากฏในประวัติศาสตร์ว่าทรงมีพระบรมราชโองการ ให้ประหารสมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรีมหาราชผู้พระปิยะสหาย ผู้ทรงพระคุณยิ่งใหญ่ต่อชาติและต่อพระองค์แล้วทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินแทน

พระบรมราชกุศโลบายแสนแยบยลลึกซึ้งเกินกว่าใครทั้งนั้นจะตามทันเข้าใจถึง จีนจึงตายใจสนิท แผนที่คิดจะยึดครองไทยพังทลายในพริบตา ทัพที่จะกรีธาเข้าทวงหนี้ทำไม่ได้ เพราะข่าวร้ายลือลั่นว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรีมหาราชลูกหนี้ใหญ่ของจีนนั้น ต้องพระราชอาญาสวรรคตเสียแล้ว ” (สมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรีมหาราชกับพระบรมราชจักรีวงศ์ , 2529 : 69-70 )

ภายหลังเมื่อทรงผนวชและเสด็จไปประทับที่เขาขุนพนมแล้ว น้องชายท่าน (ท่านเจียนซื่อและท่านเจียนจิ้น) รับใช้หนี้สินแทนพระองค์ หาสินค้าออกไปขายและเอาเงินผ่อนใช้เขาอยู่ทุกเดือนจนหมดในที่สุด (วรมัย กบิลสิงห์ , 2540 : 151, 180)

16.4 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงถูกสำเร็จโทษตามที่กล่าวไว้ในพระราชพงศาวดาร หรือ เป็นเพียงกลลวงว่าสำเร็จโทษ ?

ก . เรื่อง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงถูกสำเร็จโทษ ตามที่กล่าวไว้ใน พงศาวดาร ก็ตาม จาก จดหมายเหตุของพวกบาทหลวงฝรั่ง ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในขณะนั้นก็ตาม จดเอาไว้อย่างเดียวกันว่า พระองค์ท่านโดนสำเร็จโทษ

ข . ตัดสินให้สำเร็จโทษด้วยวิธีใด? ตามกฎมณเฑียรบาล หากเป็นพระมหากษัตริย์จะประหาร (ทุบ) ด้วยท่อนจันทน์เพื่อมิให้พระโลหิตตกพื้นพสุธา หากเป็นข้าราชการหรือบุคคลธรรมดา โดยส่วนใหญ่แล้วคือการตัดศีรษะ หรือจะเป็นวิธีอื่นใดขึ้นอยู่กับคณะลูกขุน (ศาลาลูกขุน) จะพิจารณาพิพากษา แต่มีกษัตริย์บางพระองค์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่โดนตัดพระเศียร เช่น ขุนวรวงศาธิราช และท้าวศรีสุดาจันทร์ แต่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ ทรงนิพนธ์ในเจ้าชีวิต (2514 : 24) และธนกิต (2543 : 174) ว่า พระเจ้าตากถูกสำเร็จโทษ ตามแบบเจ้าคือ ทุบด้วยท่อนจันทน์ ตามกฎมณเฑียรบาลของพระบรมไตรโลกนารถสั่งไว้ตั้งแต่ครั้ง พ.ศ.1993 แล้วนำพระศพไปฝังไว้

ภาพจากจินตนาการแสดงถึง
พิธีประหารชีวิต พระเจ้าแผ่นดิน
การสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ จินตนาการจาก กฎมณฑียรบาล โดยธีรพันธ์ สอไพบูลย์
(ภาพจากหนังสืออยุธยา)

และดู เหมือนว่าจะมีผู้ยืนยันเรื่องการสำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ว่าทรงถูกสำเร็จโทษ ตัดพระเศียร “ พระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายคือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงถูกผู้สำเร็จราชการแผ่นดินขณะนั้นสั่งให้นำตัวไปประหารชีวิตเสีย ” (ปรามินทร์ เครือทอง , 2545 : 82, 88)

หนังสือกรุงแตกพระเจ้าตากของนิธิ เอียวศรีวงศ์ได้ค้นคว้าจากพงศาวดารหลายฉบับแล้วสรุปว่า “… จากหลักฐานทั้งหมดเหล่านี้ชวนให้เชื่อว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ถูกประหารพระชนม์ชีพด้วยวิธีการตัดคอเยี่ยงสามัญชนมากกว่า เพราะผู้นำที่ยึดอำนาจพระองค์ได้ มิได้ถือ ว่า พระองค์เสมอด้วยพระมหากษัตริย์ อย่างน้อยก็ยังมิได้ถือสืบมาในสองสามปีแรกของรัชกาลที่ 1”
(http://pantip.inet.co.th/caf?/library/topic/k1578 551/k157855.html , 27/6/45)

ดังรายละเอียดจากพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัต ถ เลขาดังนี้
“… สมเด็จพระเจ้ากรุงธน บุ รีทรงถูกผู้สำเร็จราชการแผ่นดินขณะนั้น ซึ่งต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ สั่งให้นำตัวไปประหารชีวิตเสีย “ จึงมีรับสั่งให้เอาตัวไปประหารชีวิตสำเร็จโทษเสีย เพชฌฆาตกับผู้คุมก็ลากเอาตัวขึ้นแคร่หามไปกันทั้งสังขลิกพันธนาการ เจ้าตากจึงว่าตัวเราก็สิ้นบุญจะถึงที่ตายอยู่แล้ว ช่วยพาเราไปแวะเข้าหาท่านผู้สำเร็จราชการ จะขอเจรจาด้วยสักสองสามคำ ผู้คุมก็ให้หามเข้ามา ได้ทอดพระเนตรเห็น จึงโบกพระหัตถ์มิให้นำมาเฝ้า ผู้คุมและเพชฌฆาตก็หามออกไปนอกพระราชวัง ถึงหน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์ก็ประหารชีวิตตัดศีรษะถึงแก่พิราลัย …” (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2 , 2516 : 451)

ค . ให้สำเร็จโทษที่ใด ? ในเรื่องสถานที่นั้นมีเขียนไว้หลายสถานที่ด้วยกัน เช่น ทวน บุณยนิยม (2517 : 203) เขียนว่า “ ผู้คุมและเพชฌฆาตก็เบนหัวเรือ ตรงไปยัง วัดบางยี่เรือ (วัดอินทาราม) แล้วประหารชีวิตสำเร็จโทษเสีย พระศพก็ยังไว้ที่วัดนั้น ”

ภารดี มหาขันธ์ (2526 : 35) และน . ณ ปากน้ำ (2536 : 58) เขียนว่า “ สมเด็จพระเจ้าตากสินถูกพิพากษาโทษให้ประหาร ณ ป้อมท้ายเมือง (ป้อมวิชัยประสิทธิ์)

จดหมายเหตุของพวกบาทหลวงฝรั่งที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ในขณะนั้นกล่าวตรงกันว่า พระองค์ท่านโดนสำเร็จโทษหน้า ป้อมวิชัยประสิทธิ์

มีข้อมูลที่ต่างไปเล็กน้อยกล่าวไว้ดังนี้ “ ส่วนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ถูกปลงพระชนม์ในวันนั้น (ปีชาล วันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325 ก่อนเที่ยงวัน : พ.ย.ร. , 2496 : 79) เอง ณ พระวิหารที่ประทับในวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม )

รวมวันตั้งแต่เสด็จออกทรงผนวช จนถึงวันถูกปลงพระชนม์ เป็น 28 วัน โหรจดไว้ว่าดับขันธ์ไม่ใช้คำว่าสิ้นพระชนม์หรือสวรรคต ก็เพื่อยืนยันว่าพระองค์ท่านถูกปลงพระชนม์ทั้งที่ทรงเพศเป็นพระภิกษุ จึงใช้คำว่าดับขันธ์ เพื่อให้เข้าใจว่ามิได้สวรรคต เมื่อลาผนวชออกมา ความจริงพระองค์ดำรงสมณเพศจนตลอดพระชนม์ชีพ

เมื่อการปลงพระชนม์เสร็จเรียบร้อยแล้ว เชิญพระศพไปฝังไว้ที่ วัดอินทาราม บางยี่เรือ ใกล้ตลาดพลู คลองบางหลวง (เวลานั้นยังเรียกวัดบางยี่เรือ) บรรดาศพข้าราชการที่จงรักภักดีในพระองค์ อาทิ เจ้าพระยานครราชสีมา (บุญคง ต้นสกุลกาญจนาคม) พระยาสรรคบุรี (บรรพบุรุษสกุลแพ่งสภา) พระยารามัญวงศ์ (ต้นสกุลศรีเพ็ญ) พระยาพิชัยดาบหัก (ทองดี ต้นสกุลวิชัยขัทคะและพิชัยกุล) เป็นต้น จำนวนมากกว่า 50 นาย ก็ถูกฝังเรียงรายใกล้พระศพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น
( นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 ธันวาคม 2524 อ้างโดย http://board:dserver.org/ n/natshen/00000133.html, 21/11/45)

ง . เสด็จสวรรคตเมื่อไร มีพระชนม์เท่าไร ?
วันสวรรคต กล่าวไว้แตกต่างกันเป็นนัยดังนี้
          1. จดหมายเหตุโหรกล่าวว่า วันสวรรคตของพระเจ้ากรุงธนบุรี คือวันแรม 13 ค่ำ เดือน 5 (จดหมายเหตุโหรในประชุมพงศาวดารภาคที่ 8) หลังจากวันที่เจ้าพระยาจักรีกลับมาถึงเมืองธนบุรีได้เพียง 4 วัน และความในพระราชพงศาวดาร (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ) ได้กล่าวว่า หากวันที่เสด็จกลับมาถึงกรุงธนบุรี เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325 วันสวรรคตของพระเจ้ากรุงธนบุรีน่าจะเป็น วันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2325 เสด็จสวรรคตเมื่อพระชนมายุได้ 48 ปี 15 วัน

          2. ได้ปรากฏหลักฐานของบาทหลวงฝรั่งเศสที่เขียนขึ้นตามคำเล่าลือหลังจากเหตุการณ์ประมาณ 9 เดือนว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จสวรรคตเมื่อ วันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2325 (จดหมายเหตุคณะบาทหลวงในประชุมพงศาวดารภาคที่ 39) ( http://board.dsever.org/n/natshen/00000133.html , 21/11/45)

          3. ได้มีหลักฐานไทยกล่าวว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จสวรรคตใน วันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325 โดยกล่าวไว้ว่า “… เมื่อกองทัพของพระยาจักรีมาถึงธนบุรีในตอนเช้า (วันที่ 6 เมษายนฯ ) พรรคพวกบริวารก็ได้เตรียมการต้อนรับ แล้วแห่แหนกันจากฝั่งตะวันออกไปยังฝั่งตะวันตกเข้าประทับอยู่ ที่ ศาลาลูกขุน มีหมู่พฤฒาจารย์ราช สกุลเฝ้าพร้อมกัน (ประชุมพงศาวดารภาคที่ 26 พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ ) และในที่ประชุมขุนนางนั้น ก็ได้มีการปรึกษาโทษของพระเจ้ากรุงธนบุรี (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี แผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ 4 กระทรวงธรรมการ )…”

“… จึงมีรับสั่งให้เอาตัวไปประหารชีวิตสำเร็จโทษเสีย เพชฌฆาตกับผู้คุมก็ลากเอาตัวขึ้นแคร่หามไปกับทั้งสังขลิกพันธนาการ … ถึงหน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์ก็ประหารชีวิตตัดศีรษะเสียถึงแก่พิราลัย จึง รับ สั่งให้เอาศพไปฝังไว้ ณ วัดบางยี่เรือใต้ (พระราชพงศาวดารกรุงสยาม โรงพิมพ์หมอบรัดเล) ( http://board.dsever.org/n/natshen/00000133.html , 21/11/45)

          4. วันเสาร์ เดือน 5 แรม 9 ค่ำ จุลศักราช 1144 ปีขาล ตรงกับวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325 พระชนมายุ 48 ปี รวมสิริราชสมบัติ 15 ปี ( ที่ระลึกพิธีเปิดพระบรมราชานุเสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดจันทบุรี, 2524:43) แต่พลตำรวจตรีสุชาติ เผือกสกนธ์เขียนไว้ว่า รวมเวลาครองราช 14 ปี 4 เดือนเศษ ( http://www.tongzwb.com , 28/11/44)

          5. สเทื้อน ศุภโสภณ (2517 : 203) บันทึกว่า
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) ขณะเสด็จสวรรคตนั้น พระชนมายุได้ 48 พรรษา พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวของชาติไทยที่เสวยราชสมบัติราชธานีที่ทรงตั้งขึ้น และมีกาลอายุเพียง 15 ปี พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวที่พอจบพระชีวิต ก็ถูกยุบพระนครหลวงลงด้วย ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวในราชวงศ์กษัตริย์กรุงธนบุรี พระชาตาชีวิตของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชต้องมาดับวูบลงเพราะพระชาตาถึงฆาต กรรมลิขิตหรือพรหมลิขิตได้วางวิถีพระชีวิตของพระองค์ไว้เพียงเท่านี้ ก็ย่อมถึงกาลอวสานในวัฏส ง สารชีวิตนี้ไม่เที่ยง

“… เหตุผลกรรมของสัตว์ พื้นแผ่นดินร้อน ราษฎรเหมือนผลไม้ เมื่อต้นแผ่นดินเย็นด้วยพระบารมี ชุ่มพื้นชื่นผลจนมีแก่น ปลายแผ่นดินแสนร้อนรุมสุมรากโคน ล้มถมแผ่นดินด้วยสิ้นพระบารมีแต่เพียงนั้น …” (จดหมายเหตุความทรงจำ กรมหลวงนรินทรเทวี ฯ , หน้า 16)

ฝ่ายพระราชวงศ์กู้ชาติที่ยังเหลือ ถ้าเป็นเจ้าชายชั้นทรงพระเจริญวัยก็ถูกจับปลงพระชนม์หมด เอาไว้แต่ที่ทรงพระเยาว์ และเจ้าหญิงถอดพระยศออก แล้วเรียกว่าหม่อม เหมือนกันทุกพระองค์ แม้จนกระทั่งสมเด็จพระราชินี และสมเด็จพระน้านาง เป็นการถอดอย่างที่ไม่เคยมีมา แต่กระนั้นพระราชวงศ์กู้ชาติยังคงสืบสายไม่ขาดมาจนถึงทุกวันนี้ (ดูหนังสือไทยต้องจำ และลำดับสกุลเก่า ภาค 4 ของกรมศิลปากร พิมพ์ครั้งที่ 2)

ฝ่าย เจ้าพระยาอินทวงศา อัครมหาเสนาธิบดีฝ่ายกลาโหม ขณะนั้นตั้ง กอง บัญชาการทัพอยู่ที่ปากพระใกล้เมืองถลาง ทราบว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชถูกปลงพระชนม์แล้ว ท่านก็ฆ่าตัวตายตามเสด็จเพราะไม่ยอมเป็นข้าคนอื่น และก็ไม่ปรารถนาหาอำนาจแก่ตัว ในท่ามกลางความเดือดร้อนของพี่น้องชาวไทย

เมื่อข่าวการปลงพระชนม์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแพร่ออกไปแล้ว เมืองตะนาวศรีและเมืองมะริด อันเป็นเมืองสำคัญทางภาคตะวันตก ก็หลุดลอยไปจากไทย ตกอยู่แก่พม่าในปีนั้นเอง ส่วนความเกี่ยวข้องกับญวนตามสัญญาลับ ไทยต้องช่วยญวนต่อรบกับพวกราชวงศ์เล้ หรือเว้ (ที่เรียกไตเชิง ) 2 ครั้ง และช่วยอาวุธยุทธภัณฑ์อีกนับไม่ถ้วน ผลสุดท้ายเมื่อญวนกลับตั้งราชวงศ์องเชียงสือสำเร็จ มีอำนาจใหญ่โตขึ้น ไทยต้องเสียเมืองพุทไธมาศแก่ญวน และเสียประโยชน์อีกมากต่อมาก (ดูพงศาวดาร ฉบับนายหยง แปล เล่ม 2 หน้า 394,419 และไทยต้องจำ พิมพ์ครั้งที่ 2 หน้า 113) ( นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 ธันวาคม 2524 อ้างโดย http://board.dsever.org/n/natshen/00000133.html , 21/11/45))

16.4 หรือ การให้สำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจะ เป็นเพียงกลลวง ?

ต่อมาภายหลังมีผู้เชื่อกันว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ มิได้สวรรคตโดยถูกสำเร็จโทษ มีผู้เขียนหลายท่านที่กล่าวว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ มิได้ถูกประหารโดยคำสั่งของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ (รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ) และมิได้ถูกประหารที่กรุงธนบุรี อาทิ

          1. จุลลดา ภักดีภูมินทร์ , สกุลไทย , 48, 2592 (23 กรกฎาคม , 2545 : 66-69)
          2. พลตรีหลวงวิจิตวาทการ จากเรื่อง ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน (254 4 : 305, 334,358-361)
          3. วรมัย กบิลสิงห์ จากเรื่องใครฆ่าพระเจ้าตากสิน ? (2540 : 129, 138-140, 142-143, 149-154, 181-184)
          4. หนังสือศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 เดือนธันวาคม พ . ศ .2529 เรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรีมหาราช และพระบรมราชวงศ์จักรี ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน ( หน้า 66-75)
          5. Mr.Marvell เรื่อง Naga King’s Daughter
          6. ความเห็นของอาจารย์วิเชียร ณ นคร
          7. ความเห็นของพระเถระ จังหวัดนครศรีธรรมราช อ้างโดยนายสมพร เทพสิทธา (2540 : 49-63)
ดังรายละเอียดต่อไปนี้

16.4. 1 จุลลดา ภักดีภูมินทร์ (2545 : 66, 69) ได้เขียนไว้ดังนี้
ตามพระราชพงศาวดาร และจดหมายเหตุของฝรั่งนั้นยกเอาไว้ เพราะชี้ลงไปเลยว่าโดนประหาร แต่ก็มีเหตุผลอันชวนให้คิดว่า พระองค์ท่านอาจเสด็จฯหลบหนีไปได้ก่อน มิได้ถูกสำเร็จโทษในค่ำคืนวันนั้น (7 เมษายน พ.ศ.2325)

ทว่าเมื่อเป็นเหตุผลอันไม่มีข้อพิสูจน์ให้ชัดเจนลงไป ผู้เขียนเรื่อง “ บุญบรรพ์ ” จึงมิได้บรรยายลงไปเป็น “ ภาพพจน์ ” ให้ผู้อ่านเห็นจริงเห็นจัง ทว่าให้เป็นคำบอกเล่าของตัวละคร ซึ่งมีตัวละคร ซึ่งมีตัวตนจริงและมีลูก หลาน เหลน โหลน ต่อๆ กันมาจนถึงปัจจุบัน เช่น พระพงษ์นรินทร์ (เจ้าฟ้าชายทัศน์พงศ์ หรือทัศพงศ์) ท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) เจ้าจอมมารดาทิม (เจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้าอัมพวันหรือคุณวัน) เช่นเหตุการณ์เมื่อนำพระองค์ไปสำเร็จโทษในตอนกลางดึก ก็ให้พระพงศ์นรินทร์ (ซึ่งตามจดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี เล่าว่า ขณะนั้นอายุ 11 ขวบ ได้เข้าไปเฝ้าพระราชบิดา ติดอยู่ในโบสถ์เพียงผู้เดียว) เป็นผู้ออกมาเล่าแก่ชนนี คือกรมหลวงบริจาสุดารักษ์หรือเจ้าจอมมารดาฉิม รวมทั้งให้ตัวละครพูดจากันแสดงเพียงนัย มิได้พูดจาบอกเล่ากันอย่างเปิดเผย เช่นเมื่อพระยาพัทลุงมาพบกับพระยานนทบุรีคราวหลัง

ข้อกังขาที่ให้ตัวละครเน้นแล้วเน้นอีกก็คือ การที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ไม่ทรงยอมให้ประหารพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งเวลาครองราชเพียง 15 ปี พระราชโอรสธิดาจึงยังทรงพระเยาว์ทั้งสิ้น แม้ว่ากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท จะทรงขอให้นำไปล่มเรือกลางน้ำให้หมดตามธรรมเนียม ตรงนี้น่าคิดเพราะตามธรรมเนียมธรรมดาแล้ว หากประหารพ่อมักต้องประหารลูกให้สิ้น ป้องกันการแก้แค้นในภายหน้า ทว่านี่ นอกจากไม่ประหารแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ยังทรงเลี้ยงดูบางท่านอย่างใกล้ชิด เสมือนลูกหลาน เจ้าหญิงสององค์ต่อมาได้เสกสมรสเป็นชายาของเจ้านายพระราชวงศ์จักรีคือ พระองค์เจ้าหญิงสำลีวรรณ พระองค์เจ้าหญิงปัญจปาปี ส่วนรุ่นพระราชนัดดาในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น มีมากมายหลายท่านล้วนแต่ใกล้ชิดสนิทในพระราชวงศ์จักรี เป็นเจ้าจอมหม่อมห้ามบ้าง เป็นพระนมของเจ้าฟ้าบ้าง

นักประวัติศาสตร์บางท่านสันนิษฐานว่า บางทีการสำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเพื่อผลัดเปลี่ยนแผ่นดินใหม่นั้น น่าจะเป็นกลลวง เนื่องจากเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกู้ชาติสำเร็จ เสด็จฯ มาทรงสร้างกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวง นัยว่าทรงกู้เงินจากพวกพ่อค้าจีน หรือนัยหนึ่ง เมืองจีนมาทำนุบำรุงบ้านเมือง เลี้ยงดูราษฎรที่อดอยาก แล้วพูดง่ายๆ ว่า ไม่มีเงินใช้ จึงต้องล้มหนี้ โดยเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดิน

นี่เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน แต่ที่น่าสะดุดใจอยู่ตรงหนังสือประวัติความสัมพันธ์ระหว่าง ชาติไทยกับชาติจีน ซึ่งเขียนโดย “ ลิขิต ฮุนตระกูล ” (ขออนุญาตท่านนำมาอ้างในที่นี้)

ในหนังสือเล่มนี้ มีบันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับประเทศสยามโดยเฉพาะ (คัดจากบันทึกของประเทศจีน) ตั้งแต่สมัยพระเจ้ารามคำแหงมหาราช จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.1825 – พ.ศ.2396) ทว่าในที่นี้ ขออนุญาตอ้างถึงเพียงสมัยกรุงธนบุรี และต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งบันทึกไว้ว่า “ ประเทศสยาม สมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี” มีกษัตริย์องค์เดียวคือ พระเจ้ากรุงธนบุรี

ในบันทึกของประวัติศาสตร์จีน เขียนว่า “แต้เจียว” และมีบันทึกพึงสังเกตไว้ว่า
“Mr. Marvell นักเขียนของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ผู้เขียนเรื่อง Naga King’s Daughter กับเมืองนครศรีธรรมราช สันนิษฐานว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินได้มาสิ้นพระชนม์ที่นครศรีธรรมราชและบรรจุอัฐิรวมกับอัฐิพระยานคร (น้อย)” และบันทึกถึงกรุงรัตนโกสินทร์ต่อจากกรุงธนบุรีว่า “ประเทศสยาม สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ” ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรี สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พ.ศ.2325 (ค.ศ.1782) พระเจ้าเช็งเคี่ยนลัง ครองราชปีที่ 47 แต้ฮั้ว (คือพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) อนุชา แต้เจียวได้ถวัลยราชย์เป็นกษัตริย์ประเทศสยาม และส่งราชทูตไปเจริญพระราชไมตรีเป็นครั้งแรก” อย่างไรก็ตาม ชาวนครศรีธรรมราชรุ่นก่อนโน้น จนถึงรุ่นปู่ย่าตายาย เชื่อกันว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมิได้โดนสำเร็จโทษ หากแต่เสด็จฯมาประทับทรงผนวชอยู่ ณ วัดเขาขุนพนม เมืองนครศรีธรรมราช และเสด็จสวรรคตที่เมืองนครฯ นั่นเอง”

16.4. 2 ความเห็นของหลวงวิจิตรวาทการ (2544 : 297 – 361)
หลวงวิจิตรวาทการได้เขียนไว้ตอนหนึ่งในหนังสือเรื่อง ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า “ ความสำคัญของเรื่องนี้คือว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ได้ถูกประหารโดยคำสั่งของสมเด็จเจ้า พระยามหากษัตริย์ศึกฯ คือสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ไม่ได้ถูกประหารที่กรุงธนบุรี (ณ ป้อมวิชัยประสิทธิ์) และไม่ได้ถูกประหารเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2325 ดังที่เราเชื่อกันในทางประวัติศาสตร์ แต่กลายเป็นว่าได้มีผู้ช่วยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจากการถูกประหาร แล้วนำไปซ่อนไว้ที่อื่น ซ่อนไว้เกือบ 3 ปี จึงสิ้นพระชนม์ด้วยการถูกทำร้าย (2544 : 305)

คนตายแทน คือ หลวงอาสาศึก (หรือ นายบุญคง) มีรูปร่างท่าทางใบหน้าคล้ายสมเด็จพระเจ้าตากสิน เคยรับใช้ใกล้ชิดสมัยอยู่ค่ายวัดพิชัย ได้ออกรบอยู่ข้างพระองค์ที่โพธิ์สังหาร บ้านพรานนก ดงศรีมหาโพธิ และเป็นคนอยู่ข้างเท้าช้างพังคีรีบัญชร เมื่อเข้าตีเมืองจันทบุรี นายบุญคงหรือหลวงอาสาศึก ได้ขออาสาพระยาอำมาตย์ พระยาธิเบศร์ ฯ และเจ้าพัฒน์ (นครศรีธรรมราช) โดยบวชเป็นภิกษุและเข้าไปแทนที่พระภิกษุพระเจ้าตากสิน ขณะประทับที่วัดแจ้ง ( หน้า 326) นายบุญคง ได้ถูกพิพากษาและพาตัวไปประหารชีวิตที่หน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์โดยถูกตัดคอและศพไปฝังที่วัดบางยี่เรือใต้ ณ วันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2325 (2544 : 356 , 360)

สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จไปที่ไหน ?
คน 4 คนมาเชิญเสด็จไป (โดยมิให้ทรงทราบว่าจะพาหนี) โดยอ้างว่าบัดนี้ถูกย้ายวัดแล้ว แ ละ เจ้าหน้าที่ทางบ้านเมืองจะพาไป พระภิกษุพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงทรงยินยอมมากับเขาโดยทางเรือลำเล็กมีฝีพาย 4 คน มาขึ้นเรือสำเภาใหญ่ที่พระประแดง เจ้าพัฒน์นำเสด็จไปประทับที่นครศรีธรรมราช เป็นเวลา 2 ปี โดยยังดำรงอยู่ในสมณเพศตลอดมา และสนพระทัยฝึกวิปัสสนากรรมฐานมิได้ขาด

การสวรรคต
ต่อมาพระภิกษุพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงขอไปประทับที่เพชรบุรีในถ้ำแห่งหนึ่ง มีคนเฝ้าอยู่ 2 คน การย้ายมาประทับที่เพชรบุรีนั้น ความปิดไม่มิด ข่าวก็รั่วไหลออก วันหนึ่งในเวลากลางวัน ขณะทรงเจริญวิปัสสนากรรมฐานอยู่ภายในถ้ำ ถูกตีที่พระเศียรเบื้องหลัง ล้มคว่ำจึงสวรรคต คนเฝ้าสองคนหายไปไม่มีใครพบ ส่วนพระศพของพระภิกษุพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น ได้ถูกลอบนำเข้ามาในกรุงธนบุรีที่วัดบางยี่เรือใต้ ได้ย้ายศพหลวงอาสาศึกออกไปฝังเสียที่อื่น แล้วเชิญพระศพพระภิกษุพระเจ้ากรุงธนบุรีที่แท้จริงลงฝังไว้แทน (2544 : 359)

หลวงวิจิตรวาทการได้เขียนเรื่องมีคนไปตายแทนสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีว่าอาจจะเป็นจริงก็ได้ “ คิดดูเหตุผลแวดล้อมก็จูงใจให้เชื่อร่ำไป เรื่องคนหน้าเหมือนกันปลอมตัวมาตายแทนกันนั้นไม่เป็นเรื่องประหลาด สำหรับสมัยโบราณ เรื่องชนิดนี้มีถมไป ไม่ต้องโบราณถึงไหน เพียงของฮิตเลอร์ยังมีคนที่หน้าตารูปร่าง เหมือนฮิตเลอร์ถึง 4 คน ซึ่งฮิตเลอร์เองได้ให้คนเหล่านั้นแต่งกายไว้หนวดเหมือนฮิตเลอร์ แอบไปในที่ต่างๆ เพื่อให้คนทั้งหลายเข้าใจว่าฮิตเลอร์ไปเอง ” (2544 : 9)

16.4. 3 วรมัย กบิลสิงห์ (2540 : 124-184) ได้เขียนเล่าใน “ หนังสือใครฆ่าพระเจ้าตาก” ไว้ตอนหนึ่งว่า “ พระยาสุริยอภัยบังคับให้สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ลาผนวชแล้วนำเครื่องจองจำใส่ครบ มารับโทษถึงขั้นประหาร แต่เมื่อประหารจริงนั้นคุณมั่นผู้มีความกตัญญูกตเวทีต่อองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ได้ยอมอุทิศตนตายแทนสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ

คุณมั่น เป็นพระญาติของท่านอายุคราวเดียวกัน มีรูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงท่านและมิได้เป็นทหาร คุณมั่น อยู่ช่วยพระบิดาท่านค้าขายมาแต่เล็กแต่น้อย ทำงานในโรงสี ไม่ได้ออกไปนอกบ้านมากนัก เมื่อทราบว่าเขาจะให้ประหารสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ คุณมั่นจึงเสนอตัวขอไปเปลี่ยนเป็นองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินฯแทน และต้องถูกประหารไป เพื่อให้คนทั้งหลายเห็น (2540 : 141-143) เพราะถ้าไม่มีการตายให้เห็น พวกที่อยากจะได้เมืองไทยไปเป็นเมืองขึ้นของจีนก็คงจะไม่เชื่อ คงจะผูกพันมั่นหมายอยู่นั่นเอง เมื่อเห็นว่ามีการตายจริง ก็จะได้หมดปัญหาไป คุณประยงค์ (น้องสาวสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ) จัดเตรียมเครื่องแต่งกายเป็นเสื้อผ้าเก่าๆ แบบพ่อค้าข้าวถวายให้ พระภิกษุสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงแต่งพระองค์ ออกเดินทางในเวลากลางคืนรอนแรมมาหลายวัน โดยเรือจ้าง ถึงเมืองนครศรีธรรมราช โดยมีผู้ติดตามเป็นทหารชั้นผู้น้อย 3 คน คือ นายแป้น นายชอบ และ นายชม เป็นหญิง 2 คน คือคุณประยงค์และญาติอีกคน เมื่อมาถึงเขาขุนพนม สมภารจีนก็จัดการบรรพชาอุปสมบทให้เป็นพระทันที คุณประยงค์ได้บวชตามเสด็จด้วยในวันต่อมา (2540 : 148-149)

ในปีที่ 1 พระองค์ทรงเล่าเรียนและปฏิบัติธรรมได้อย่างชำนิชำนาญ ย่างเข้าปีที่ 2 พระมเหสีเดิม (หม่อมสอน) ซึ่งได้ถูกถอดบรรดาศักดิ์และพ้นโทษแล้ว ก็ได้หลบหลีกพาญาติมาอยู่ที่เขาขุนพนมพร้อมด้วยพระเจ้าน้า (อั้นหรืออั๋น) ได้มาปฏิบัติธรรมด้วย รวมแล้ว 10 กว่าคน (2540 : 152) ต่อมา นายแป้นตายเพราะเป็นปอดบวม พระภิกษุสมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงผนวชอยู่ถึงพรรษาที่ 4 ก่อนสวรรคต ได้ ประชวรไข้ ได้เสวยยาแล้วทำสมาธิ และทรงอธิษฐานเพื่อถอดพระจิตทิ้งพระร่าง มิใช่สวรรคตอย่างกษัตริย์ธรรมดา พระภิกษุสงฆ์และผู้อยู่รับใช้ก็ จัดงานพระศพ บำเพ็ญกุศล ทำอย่างเงียบๆ และถวายพระเพลิงตอนดึก พระอัฐิฝังไว้ที่พระเจดีย์เล็กๆ ข้างโบสถ์ เมื่อข่าวนี้รู้ไปถึงในกรุงเทพฯ มีขุนนางมาเชิญพระอัฐิท่อนพระกรเข้ามาบรรจุไว้ที่พระเจดีย์วัดบางยี่เรือใต้ ธนบุรี

สรุปว่าสมเด็จพระภิกษุเจ้าตากสินฯ ทรงลี้ภัยมาบวชและประทับอยู่ ณ เขาขุนพนม 4 พรรษา เสด็จสวรรคตพระชันษาได้ 52 พรรษา ทรงเป็นรัตนบุรุษของประเทศไทย เพราะทรงกอบกู้ประเทศไทย โดยมิได้หวังผลตอบแทนเลยแม้แต่น้อยนิด ทรงสละราชสมบัติเพื่อความสุขของประชาชน ประเทศมีเอกราช เมืองมารดามีเอกราช พระองค์ก็ทรงเป็นสุขแล้ว (2540 : 148-184)

16.4. 4 จาก วารสาร ศิลปวัฒนธรรม (8(2) : ธันวาคม 2529 : 66-75)
มีคนตายแทน นักโทษประหารผู้หนึ่งได้ตายอย่างมีบุญ โดยต้องประหารด้วยท่อนจันทน์ ราวกับเขานั้นเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่

ต่อมามีข่าวรั่วไหลไปถึงเมืองจีน ว่าพระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งรักษาศีลปฏิบัติธรรมวินัยเคร่งครัด งดงามน่าเลื่อมใสอยู่ในวัดที่เมือง นครศรีธรรมราช คือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
พระภิกษุรูปนั้นลาสิกขาบททันที

การสวรรคต
ในระยะใกล้ๆ กัน มีผู้พบท่านเป็นครั้งสุดท้ายในป่าเมืองตาก ต่อมาก็มีข่าวยืนยันว่าท่านได้จบชีวิตของท่านเองเสียแล้วในป่าเมืองตาก อันเป็นเมืองที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงรักมากที่สุด ความวุ่นวายที่จีนเริ่มก่อเค้าขึ้นอีกก็จบสิ้นลงอย่างเด็ดขาด เมื่อแน่นอนแล้วว่าปราศจากลูกหนี้ ปราศจากซึ่งหลักฐานพยานยืนยันในขณะนี้ เหตุด้วยกาลเวลาล่วงพ้นมาเป็นร้อยปีสองร้อยปีแล้ว

16.4.5 Mr.Marvell นักเขียนของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford) ผู้เขียนเรื่อง Naga King’s Daughter กับเมืองนครศรีธรรมราชสันนิษฐานว่า “ …สมเด็จพระเจ้าตากสินได้มาสิ้นพระชนม์ที่นครศรีธรรมราช และบรรจุอัฐิรวมกับอัฐิพระยานคร (น้อย)… ” (จุลลดา ภักดีภูมินทร์, 2545, “ การสำเร็จโทษพระเจ้าตากสินมหาราช, http://www.sakulthai.com/…/Dsakulcolumndetail.asp?stcolumnid=1546&stissueid=2492&stcolcatid=2
&stauthorid=1, 5/2/2546)

16.4.6 ความเห็นของอาจารย์วิเชียร ณ นคร (นักประวัติศาสตร์)
ในเอกสารโบราณคดีทัศนาจรภาคใต้ของประเทศไทย ของศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล เกี่ยวกับวัดเขาขุนพนม ตำบลบ้านเกาะ อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช มีข้อความตอนหนึ่งว่า บางท่านเชื่อว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้เสด็จมาจำพรรษา ณ วัดเขาขุนพนมนี้ โดยทรงผนวชเป็นพระภิกษุและสวรรคตที่นี่

อาจารย์วิเชียร ณ นคร วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช นักประวัติศาสตร์คนสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช ก็ได้เขียนเรื่องวัดเขาขุนพนม โดยเชื่อว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มิได้ถูกสำเร็จโทษตามพงศาวดาร ทั้งนี้ เพราะมีการสับเปลี่ยนตัวโดยเอาพระญาติหรือทหารที่มีลักษณะคล้ายพระองค์ไปแทน แล้วพาพระองค์ลงเรือหนีไปเมืองนครฯ เมื่อถึงเมืองนครฯ ก็ผนวช แล้วเสด็จประทับที่วัดเขาขุนพนม ทรงเจริญวิปัสสนากรรมฐานจนสวรรคต เมื่อสวรรคตแล้ว พระอัฐิของพระองค์ถูกนำไปฝัง ณ ฮวงซุ้ยทางด้านเหนือของเมืองนครฯ

16.4.7 ความเห็นของพระเถระจังหวัดนครศรีธรรมราช
ข้าพเจ้า (นายสมพร เทพสิทธา) ได้มีโอกาสพบกับพระเถระของจังหวัดนครศรีธรรมราชบางท่าน ซึ่งมีความเชื่อว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไม่ได้ทรงพระวิกลจริตและถูกประหารแต่ได้ทรงผนวช เป็นพระภิกษุที่วัดเขาขุนพนม อาทิ พระเทพวราภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุวรวิหาร และเจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช พระราชวิสุทธมุนี เจ้าอาวาสวัดแจ้ง จังหวัดนครศรีธรรมราช รองเจ้าคณะภาค 16 พระครูจิตรการประสาท เจ้าอาวาสวัดสวนป่าน เจ้าคณะอำเภอพรหมคีรี

และพระครูพิศาลพัฒนกิจเจ้าอาวาสวัดประดู่พัฒนาราม โดยเฉพาะพระครูพิศาลพัฒนกิจยังเชื่อว่าอัฐิ ที่บรรจุอยู่ในเจดีย์ซึ่งอยู่ในเก๋งจีนวัดประดู่ฯ เป็นอัฐิของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เพราะมีผู้ที่สืบเชื้อสายจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาถวายสักการะ และทำบุญถวายพระราชกุศลเป็นประจำทุกปี

ในหนังสือเรื่อง “ นครศรีธรรมราช ” ของสำนักพิมพ์สารคดี ได้กล่าวถึงวัดประดู่ฯ ว่า ภายในวัดมีเก๋งจีน ภายในเก๋งมีบัวหรือเจดีย์ที่สร้างเพื่อบรรจุอัฐิสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และได้กล่าวถึงวัดเขาขุนพนมว่า ในวัดเขาขุนพนมมีโบราณสถานที่น่าสนใจ ได้แก่ ถ้ำบนเขาด้านทิศตะวันออก หน้าถ้ำมีกำแพงปูน ด้านบนมีใบเสมา ลักษณะคล้ายกำแพงเมืองสูงประมาณ 2 เมตร สิ่งที่ทำให้กำแพงพิเศษกว่าถ้ำอื่นอีก คือมีตำนานเล่าว่า ที่พงศาวดารบันทึกไว้ว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ถูกสำเร็จโทษนั้น ไม่เป็นความจริง ที่แท้ผู้ใกล้ชิดได้วางแผนสับเปลี่ยนตัวได้สำเร็จก่อนที่จะถูกปลงพระชนม์ แล้วนำเสด็จหนีมาเมืองนครฯ จากนั้นจึงได้ทรงออกผนวช ณ วัดเขาขุนพนม จนเสด็จสวรรคต เรื่องเล่าดังกล่าวสอดคล้องกับตัวสถานที่ซึ่งมีป้อมวงกลมอยู่ที่ชะง่อนหินหน้าถ้ำด้านขวา หน้าป้อมมีช่องซึ่งสันนิษฐานว่าใช้ตั้งปืนใหญ่ และด้านซ้ายก็มีอาคารก่ออิฐหลังหนึ่งซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่ประทับของพระเจ้ากรุงธนบุรี

การที่ต้องเปลี่ยนการปกครองบ้านเมือง คงจะเป็นนโยบายของพระองค์หรืออย่างไรก็สุดที่จะเข้าใจได้ แต่คิดไปในทางที่ดี ท่านทั้งหลายก็ทราบอยู่แล้วว่า บ้านเมืองของเราในขณะนั้นยังไม่มั่นคงเท่าที่ควร การที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ต่อจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อาจทำให้มีการเข้าใจสับสนว่าเป็นการแย่งชิงราชสมบัติ ถ้าเราพิจารณาด้วยความเป็นธรรมแล้วก็คงจะไม่ใช่ เพราะในสมัยนั้นบ้านเมืองอ่อนแอจะมาแย่งราชสมบัติกันทำไม คงเป็นกุศโลบายที่จะให้ประเทศชาติมั่นคง ซึ่งยากที่เราจะรู้น้ำพระทัยของพระองค์ที่ทรงเสียสละเพื่อประเทศชาติอย่างมากมาย (สมพร เทพสิทธา , 2540 : 49-62)

16.5 มีสุสานสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ที่ประเทศจีนใช่หรือไม่ ?

เรื่องสุสานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น มีอยู่ที่เมืองซัวเถา อำเภอเท่งไฮ้

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เคยเสด็จฯ ไปถวายบังคมเมื่อ พ.ศ.2540 และทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในหนังสือเรื่อง “ คืนถิ่นจีนใหญ่ ” ในที่นี้ ขอพระราชทานเชิญมาลงเป็นวิทยาทานเพียงบางตอน ทรงพระราชนิพนธ์ถึงสุสานตอนหนึ่งว่า

“ สุสานเหมือนกับหลุมฝังศพฝรั่งธรรมดา ไม่ได้ทำโค้งๆ แบบฮวงซุ้ยจีนที่เคยเห็นที่อื่น มีป้ายหินแกรนิตสีชมพูสลักตัวทองเป็นอักษรจีน แปลความว่า สุสานฉลองพระองค์ และพระมาลาของพระเจ้าตากสินแห่งกรุงสยาม สร้างขึ้นปีที่ 47 แห่งรัชสมัยเฉียนหลง (ค.ศ.1789) บูรณะใหม่เมื่อฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ.1985 (จุลลดา ภักดีภูมินทร์ , “ สุสานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ,” สกุลไทย , 48(2488) 25 มิถุนายน 2545 : 112)

พระราชปรารถนา
พระราชปรารถนา น้ำพระทัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
คำจารึกในศาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี วัดอรุณราชวราราม ธนบุรี

          อันตัวพ่อ ชื่อว่า พระยาตาก
ทนทุกข์ยาก กู้ชาติ พระศาสนา
ถวายแผ่นดิน ให้เป็น พุทธบูชา
แด่ศาสนา สมณะ พระพุทธโคดม

          ให้ยืนยง คงถ้วน ห้าพันปี
สมณะพราหมณ์ชี ปฏิบัติ ให้พอสม
เจริญสมถะ วิปัสสนา พ่อชื่นชม
ถวายบังคม รอยบาท พระศาสดา

          คิดถึงพ่อ พ่ออยู่ คู่กับเจ้า
ชาติของเรา คงอยู่ คู่พระศาสนา
พระพุทธศาสนา อยู่ยง คู่องค์กษัตรา
พระศาสดา ฝากไว้ ให้คู่กัน

เมืองไทยนั้นเวลามีเรื่องยากก็จะให้คนทำงานเป็นมาทำ เมื่อเสร็จงานแล้วมักจะได้รับปัญหาในบั้นปลาย ชีวิตในบั้นปลายของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียังคงแฝงไว้ด้วยความมืดมน หลักฐานประวัติศาสตร์ระบุว่า พระองค์ถูกพระยาสรรค์ทรยศ พระองค์ได้ตรัสห้ามไม่ให้คนใกล้ชิดพระองค์ได้ต่อสู้กับขบถตรัสว่า “ สิ้นบุญพ่อแล้ว อย่าให้ยากแก่ไพร่เลย ” พระองค์ได้ทรงผนวชที่วัดอินทารามและได้ทรงปลูกบัวหลวงเป็นอนุสรณ์

บ้างก็ว่าพระองค์ถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์และพระยาสรรค์เองก็ถูกประหารชีวิต พระบรมศพถูกฝังไว้ ณ บริเวณที่เป็นอุโบสถของวัดอินทารามในปัจจุบัน และได้ถวายพระเพลิงในเวลาต่อมา บ้างก็ว่าพระองค์สิ้นพระชนม์เพียงในนามเท่านั้น พระองค์ดำรงเพศเป็นพระภิกษุประทับอยู่ในถ้ำที่วัดเขาขุนพนม อำเภอพรหมคีรี นครศรีธรรมราช จวบจนสิ้นพระชนม์ เรื่องราวที่เล่าขานกันต่อมา จึงเป็นเพียงเรื่องราวที่ต้องเล่าขานกันต่อไป

บ้างก็ว่าพระเจ้าตากทรงกู้เงินจีนมาใช้จ่ายในการกู้เอกราช รวมทั้งซื้อข้าวสาร อาหารและเครื่องนุ่งห่มแก่ราษฎรของพระองค์ ไม่มีเงินที่จะชดใช้ได้จึงมีการทำรัฐประหาร เพื่อที่พระองค์จะได้เสด็จหนีเจ้าหนี้ (ธีรชัย ธนาเศรษฐ. 2535. เปิดวังสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. หน้า 117)

เป็นอันสิ้นสุดรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าตากสิน พระมหากษัตริย์ผู้มีความสามารถในการรบทั้งทางบกและทางน้ำ และนี่คือพระมหากษัตริย์ที่หาข้าวเลี้ยงคนไทย มีการสร้างเจดีย์กู้ชาติขึ้นไว้ที่วัดอินทาราม พระองค์มีมเหสีรวม 7 พระองค์ และทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดา รวมกัน 29 พระองค์ ( Bhamorabutr, A . 1984. Taksin the Great of Thailand . pp . 25-27)

ล่วงมาปีที่ 3 ของการสวรรคต จึงขุดพระบรมศพขึ้นมาถวายพระเพลิง ณ วัดอินทาราม (วัดบางยี่เรือใต้) ครั้งนั้นเมื่อราษฎรได้ทราบข่าวทางราชการจะถวายพระเพลิงพระบรมศพ ต่างก็เตรียมโกนผมนุ่งขาวไปในงานถวายเพลิงอย่างล้นหลาม ด้วยความเต็มอกเต็มใจที่สุด โดยไม่ต้องมีหมายประกาศกะเกณฑ์ใดๆ พอถึงเวลาถวายเพลิง ราษฎรก็ร้องไห้รำพันถึงพระเดชพระคุณแทบจะทั่วหน้า … การที่พระมหากษัตริย์ที่เสด็จสวรรคตล่วงไปตั้ง 3 ปี แล้วประชาชนยังร่ำไห้อาลัยรักถึงนั้นหายากในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ของไทยแต่ก่อนไม่เคยปรากฏเลย จึงควรนับเป็นการอัศจรรย์อย่างยิ่ง (พ.ย.ร. งานสร้างชาติไทยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช , 2496 : 76-77 ; ทวน บุณยนิยม , 2513 : 203-204)

นี่คือเรื่องราวของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ซึ่งได้รับการสถาปนาให้เป็นมหาราชของไทยในเวลาต่อมา ปัจจุบันเหลือเรื่องราวของพระองค์อยู่ที่โบราณสถานอันได้แก่ท้องพระโรง พระตำหนักเก๋งคู่ริมประตูที่เคยเป็นที่ประทับ บริเวณนี้ได้มีการปลูกต้นพิกุล ต้นหูกวาง ต้นลำไย และต้นจันทน์ ตำหนักทองที่เป็นตำหนักกรรมฐาน ได้ถูกย้ายไปอยู่ที่วัดระฆังโดยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กำแพงชั้นในพระราชวังเดิม ระฆังจีน เขาดิน เรือนไม้สีเขียว … และยังมีอนุสาวรีย์ของพระองค์ท่านให้คนไทยได้กราบไหว้ในหลายพื้นที่ (สุรีย์ ภูมิภมร, 2539 : 80)

สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จสวรรคตไปแล้ว 200 ปีกว่า แต่ประชาชนชา ว ไทยยังรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงกอบกู้ชา ติ ให้ความเป็นเอกราชแก่ชาติไทยอย่างสมบูรณ์ ชาวไทยได้ถวายพระเกียรติคุณให้พระองค์เป็นมหาราช (ทวน บุณยนิยม , 2513 : 204) เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ.2524 คณะรัฐมนตรีมีมติให้เฉลิมพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (สาระน่ารู้กรุงธนบุรี , 2543 : 170)

หมายเหตุ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้ทรงปรารภถึงคำวีรมหาราชไว้ตอนหนึ่งว่า “… สังเกตในเรื่องประวัติของวีรมหาราชทั้งหลายดูมีเค้าคล้ายกันหมด คือบ้านเมืองต้องมียุคเข็ญ จึงมีวีรมหาราชอย่างหนึ่ง วีรมหาราชย่อมเป็นบุรุษพิเศษ มีสติปัญญาและความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวผิดกับผู้อื่นมาในอุปนิสัยอย่างหนึ่ง และสามารถทำให้ผู้อื่นเชื่อถือไว้วางใจในพระปรีชาสามารถมั่นคงอย่างหนึ่ง จึงสามารถบำเพ็ญอภินิหารกู้บ้านเมืองและแผ่ราชอาณาเขตจนเป็นพระราชาธิราชได้ สมเด็จพระนเรศวรก็ทรงพระคุณสมบัติดังกล่าวมาบริบูรณ์ทุกอย่าง …”

… ในสมัยกรุงธนบุรีนั้นได้มีผู้ถวายพระปรมาภิไธยว่า “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” มาก่อนสร้างอนุสาวรีย์ที่วงเวียนใหญ่ ธนบุรีแล้ว แต่ทางราชการยังไม่เรียกขานตาม แม้เมื่อมีรัฐพิธีเปิดพระบรมรูปเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2497 ก็ยังออกพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าตากสิน กรุงธนบุรีอยู่ตามเดิม ถึงกระนั้นพันโทหลวงรณสิทธิชัย อธิบดีกรมศิลปากรในเวลานั้น ก็ได้เขียนไว้ในพระราชประวัติที่พิมพ์แจกในวันเปิดอนุสาวรีย์ตอนหนึ่งว่า “ พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงประกอบพระราช กรณียกิจด้วยน้ำใจชายชาติทหารโดยแท้ ได้ทรงกระทำทุกอย่างนับตั้งแต่หน้าที่ของประชาชนคนไทยผู้รักชาติจะพึงกระทำ แม้พระองค์จะอยู่ในฐานะเช่นไรก็ตามมิได้ทรงทอดทิ้งหน้าที่ของคนไทยเลยแม้แต่น้อย พระองค์ทรงเป็นข้าที่ซื่อสัตย์ เป็นนายที่ประกอบด้วยพรหมวิหารธรรม เป็นพระราชาที่ประกอบด้วยทศพิธราชธรรมแก่ที่จะถวายสมัญญาภิไธยว่า มหาราช โดยเป็นผู้ทรงพระคุณอันใหญ่ยิ่งแก่ประชาชนชาวไทยและแก่ประเทศไทย ” (ส. พลายน้อย, 2544 : 29, 33-34) ( อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในภาคผนวก)