สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
บทที่ 15 พระราชกรณียกิจด้านการเจริญสัมพันธไมตรี และการค้ากับจีน
15.1 ความสัมพันธ์กับต่างประเทศในสมัยกรุงธนบุรีเป็นเช่นไร ?
ในสมัยกรุงธนบุรี ความสัมพันธ์กับต่างประเทศมีอยู่ 2 ประการคือ ติดต่อเพราะทำสงครามต่อกัน และติดต่อเพราะการค้ากับประเทศที่ติดต่อด้วย ได้แก่
1. ความสัมพันธ์กับพม่า ตลอดสมัยกรุงธนบุรีนี้ไทยกับพม่ามีความสัมพันธ์ในลักษณะของความขัดแย้ง เพราะเป็นคู่สงครามกันตลอดเวลา รวมแล้วเกือบ 10 ครั้ง เช่น การรบกับพม่าที่บางกุ้ง สมุทรสงคราม พ.ศ.2310 พม่าตีเมืองสวรรคโลก พ.ศ.2313 ไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ 1 พ.ศ.2314 พม่าตีเมืองพิชัย ครั้งที่ 1 พ.ศ.2315 และ ครั้งที่ 2 พ.ศ.2316 ไทยตีเมืองเชียงใหม่ ครั้งที่ 2 พ.ศ.2317 ไทยรบพม่าที่บางแก้ว ราชบุรี พ.ศ.2318 อะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ พ.ศ.2318 และพม่าตีเมืองเชียงใหม่ พ.ศ.2319
2. ความสัมพันธ์กับเขมร ประเทศกัมพูชาเคยเป็นเมืองขึ้นของไทยมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนเสียกรุงแก่พม่าในปี พ.ศ.2310 กัมพูชาจึงเป็นอิสระ มาในสมัยกรุงธนบุรีกัมพูชาเกิดความขัดแย้งภายใน กัมพูชาเกิดแบ่งแยกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งยังคงสวามิภักดิ์ต่อไทย อีกฝ่ายหนึ่งก็ไปฝักใฝ่กับประเทศญวน ทำให้ไทยต้องยกทัพไปปราบเขมรหลายครั้ง
3. ความสัมพันธ์กับล้านนาไทย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพิจารณาเห็นว่า ทุกครั้งที่พม่ายกทัพมาตีไทย จะใช้ล้านนาเป็นฐานทัพและแหล่งสะสมเสบียงเสมอ จึงทรงยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ และสามารถขับไล่พม่าออกไปได้สำเร็จในปีพ.ศ.2317 หลังจากนั้นล้านนาก็เป็นอิสระจากพม่า โดยมีกำลังจากกรุงธนบุรีขึ้นไปช่วยคุ้มครอง
4. ความสัมพันธ์กับหัวเมืองมลายู หัวเมืองมลายู ประกอบด้วย เมืองปัตตานี เมืองไทรบุรี เมืองกลันตัน เมืองตรังกานู ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของไทยมาตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา พอเสียกรุงศรีอยุธยา หัวเมืองเหล่านี้ก็แยกตัวเป็นอิสระ ซึ่งในตอนต้นสมัยกรุงธนบุรีนั้นเมืองปัตตานีและไทรบุรีก็ยังสวามิภักดิ์ต่อไทยอยู่ แต่ในช่วงปลายสมัยก็แยกตัวออกห่าง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงปล่อยไป ด้วยเกินกำลังที่จะสามารถยกลงไปปราบได้
5. ความสัมพันธ์กับประเทศจีน ในสมัยกรุงธนบุรีได้มีสำเภาของพ่อค้าจีนเข้ามาติดต่อค้าขายอยู่เสมอๆ สินค้าที่พ่อค้าจีนนำเข้ามาขายมีอาวุธ ซึ่งพ่อค้าจีนรับมาจากชาติตะวันตก ข้าวและสิ่งของใช้ต่างๆ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสนพระทัยและเอาพระทัยใส่เป็นอย่างมาก จึงได้จัดสำเภาหลวงออกไปค้าขายกับจีนเช่นกัน รวมทั้งส่งทูตไปเจริญพระราชไมตรีถึง 2 ครั้ง
6. การติดต่อกับชาติตะวันตก ในสมัยกรุงธนบุรีมีการติดต่อกับฝรั่งชาติต่างๆ หลายชาติ แต่มิได้มีความสัมพันธ์ แน่นแฟ้นเหมือนในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะยุคสมัยของกรุงธนบุรีเป็นช่วงระยะเวลาเพียงสั้นๆ เท่านั้น ชาวตะวันตกที่เข้ามาติดต่อกับกรุงธนบุรีมีประเทศฮอลันดา อังกฤษ ฝรั่งเศส และโปรตุเกส (53 พระมหากษัตริย์ไทย ธ ทรงครองใจไทยทั้งชาติ, 2543 : 245-546) (ดูรายละเอียดเกี่ยวกับพม่า กัมพูชา ล้านนาไทย และหัวเมืองมลายู ในบทที่ 10)
15.2 ความสัมพันธ์ระหว่างไทย – จีน แต่อดีตเป็นเช่นไร ?
ความเกี่ยวข้องระหว่างคนไทยในภูมิภาคแหลมทองนี้กับคนเชื้อสายจีนนั้น มีหลักฐานที่ระบุชัดที่มีมายาวนานตั้งแต่ สุโขทัย หรืออาจก่อนหน้านั้น โดยการที่ชาวจีนจากผืนแผ่นดินใหญ่มีความสันทัดจัดเจนในการเดินเรือสำเภา เพื่อแสวงหาแหล่งค้าขายแลกเปลี่ยนที่มีวัตถุดิบและทรัพยากรที่สำคัญในภูมิภาคต่างๆ รายรอบแนวเขตมหาสมุทรแปซิฟิค ซึ่งรวมถึงย่านอ่าวสยามหลังจากติดต่อค้าขายในพื้นที่แนวชายฝั่งมลายูก่อนหน้านั้นแล้ว
จากหลักฐานการศึกษาโดย William G. Skinner ในหัวเรื่อง Les Sonques des Chinois du Siam ระบุว่า การเข้ามาของชาวจีนสู่แผ่นดินไทยในยุคแรกนั้นน่าจะเป็นในช่วงต้นของสมัยสุโขทัย โดยเดินทางมาค้าขายโดยเรือสำเภาทุกๆ ปีใน ฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเลาะเลียบมาตามแนวแหลมมลายูตั้งแต่ปลายสุดของแหลมมลายูมาตามแนวชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก แถวที่ตั้งปัจจุบันของจังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และเลยมาถึงชุมพร พอถึง ฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พ่อค้าชาวจีนเหล่านี้ก็จะรับซื้อสินค้ า พื้นเมืองประเภทของป่า ไม้สัก ผ้าแพร ไหม และภาชนะเคลือบจากไทยไป

พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
(ภาพจาก 203.144.136.10/…/ nation/pastevent/past_ayu.htm)
ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังอย่างไร แต่ก็แสดงให้เห็นถึงที่มายาวนานในความสัมพันธ์ระหว่าง คนสองชาติสองเผ่าพันธุ์นี้แต่อดีตกาล และความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการนั้นดูเหมือนจะมีเค้าลางที่ชัดเจนยิ่งนักใน สมัยของพ่อขุนรามคำแหง ที่มีการส่งคณะฑูตจากจีนมายังไทยในราว พ.ศ.1825 จนถึง พ.ศ.1836 หลายครั้งหลายหนด้วยกัน จนครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ.1839 พ่อขุนรามคำแหงจึงได้ส่งคณะทูต ไปเจริญสัมพันธ์ไมตรีตอบรับบ้าง นับเป็นความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการครั้งแรกในช่วงนั้น
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ความสัมพันธ์ไทยจีนดูจะห่างหายเนิ่นนานไปช่วงระยะหนึ่ง เนื่องจากปัญหาภายในของประเทศจีน ซึ่งมีปัญหาสงครามภายใน และเปลี่ยนราชวงศ์ที่มีอำนาจในจีนมาเป็น ราชวงศ์หมิง จึงเริ่มมีการส่งคณะทูตมาติดต่อกันอีกครั้ง และมีการขยายความเกี่ยวเนื่องทางการค้าพาณิชย์ระหว่างกันอย่างกว้างขวางในยุคของ พระเจ้าทรงธรรม ในราวปี พ.ศ.2163-2175 ซึ่งพ่อค้าชาวจีนจากแผ่นดินใหญ่ได้รับการอุปถัมภ์จากขุนนางและผู้ใหญ่ฝ่ายไทยอย่างดียิ่ง (สยามอารยะ , 1(7) : มีนาคม 2536 : 43)
ในช่วง 270 กว่าปีของราชวงศ์หมิง จีนส่งคณะราชทูตมายังกรุงศรีอยุธยา 19 ครั้ง ส่วนกรุงศรีอยุธยามีคณะราชทูตนำเครื่องราชบรรณาการไปจิ้มก้องพระเจ้ากรุงจีนทุกๆ 3 ปี รวม 110 ครั้งและบรรดาสินค้าส่วนตัวที่ผู้ส่งเครื่องราชบรรณาการนำติดเข้าไปนั้น รัฐบาลราชวงศ์หมิงยังผ่อนปรนมิได้เรียกเก็บภาษีด่านแต่ประการใด (พิมพ์ประไพ พิศาลกุล , 2541 : 50 )
15.2.1 ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีนในสมัยกรุงธนบุรีเป็นอย่างไร ?
จากจดหมายเหตุจีนว่าด้วยกรุงสยาม ซึ่งแปลโดยหลวงเจนจีนอักษร ( สุดใจ ) พนักงานหอพระสมุดวชิรญาณ แปลจากหนังสือจีน 3 เรื่อง คือ หนังสือคิมเตียชกทง หนังสือหวงเฉียงบุ๋นเหี่ยนมงเค้า และหนังสือยี่จั๋บสี่ซื้อ ตอนเหม็งซื้องั่วก๊กเลี่ยต้วน ถวายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หนังสือจีนทั้ง 3 เรื่อง เป็นหนังสือหลวงซึ่งพระเจ้ากรุงจีนราชวงศ์ไต้เชง แผ่นดินเขียนหลง ให้กรรมการข้าราชการตรวจจดหมายเหตุของเก่าในเมืองจีนมาเรียบเรียง ( ตรงสมัยเมื่อครั้งกรุงธนบุรี ) ว่าด้วยเมืองต่างประเทศที่เคยมีไมตรีมากับกรุงจีน หนังสือเหล่านี้จึงมีเรื่องเมืองไทยด้วยว่า ไทยและจีนมีความสัมพันธ์ทางการทูตมาแต่ครั้งสมัยสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา และกรุงธนบุรี ซึ่งคัดลอกข้อความเฉพาะความสัมพันธ์ไทยจีนในสมัยกรุงธนบุรี ปรากฏความดังนี้
“ ตรงในแผ่นดินกรุงธนบุรี แผ่นดินเขียนหลงปีที่ 46 ซินทิ้วเจี่ยง้วย ( ตรง ณ เดือนสาม ปีฉลูจุลศักราช 1143) เสี้ยมหลอก๊กเจี๋ยงแต้เจียว ( พระเจ้ากรุงสยามเรียกว่าเจี๋ยงนั้น กรุงจีนยังไม่ได้ยกย่อง แต้เจียว พระนามเจ้ากรุงธนบุรีที่ออกไปในภาษาจีน ) ให้หลงปีไช่ซาณี ( หลวงพิไชยธานี หรือเพชรปราณี ) กับเฮอ้กบู้ตุด ( อุปทูต ) สองนายเป็นราชทูตนำเครื่องบรรณาการมาถวาย ทูลว่าตั้งแต่ถูกพวกเมี้ยนฮุ้ย ( โจรพม่า ) มาย่ำยีแล้วถึงได้แก้แค้นทดแทนตีได้อาณาเขตมาก็จริง แต่เชื้อพระวงศ์ของเจ้านั้นสูญสิ้น พวกขุนนางพร้อมใจกันยกแต้เจียวขึ้นเป็นใหญ่ จึงจัดสิ่งของในพื้นที่ประเทศ ส่งมาถวายเป็นเครื่องบรรณาการตามธรรมเนียม ขุนนางผู้ใหญ่รับสั่งพระเจ้าเกาจงสุนฮองเต้ว่า เราแจ้งว่าเสี้ยมหลอก๊กเจี๋ยงให้ราชทูตลงเรือข้ามทะเลมาแต่ไกล เห็นได้ว่ามีความเคารพนับถือ แล้วขุนนางผู้ใหญ่ก็เขียนหนังสือตอบราชสาส์นตามข้อความราชสาส์นเดิม พระเจ้าเกาจงสุนฮองเต้ทรงเห็นว่า ทางมาแต่เสี้ยมหลอก๊กต้องข้ามภูเขาที่สูงและข้ามทะเลที่กว้าง ประทานโต๊ะเลี้ยงราชทูตสองวัน
ระยะเสี้ยมหลอก๊กมาส่งเครื่องบรรณาการ ทางผ่านเมืองก้วงตงมาเกียซือ ( กรุงปักกิ่ง ) กรุงเสี้ยมหลอก๊กอยู่ทิศตะวันตกเฉียงหัวนอนมณฑลกว้างตงเดินเรือไปทะเลสี่สิบห้าวันสี่สิบห้าคืน จึงลงเรือที่แม่น้ำอำเภอเฮียงซัวกุ้ย แขวงมณฑลก้วงตง ตั้งเข็มตรงอักษรโจ็ว ( ทิศหัวนอนหรือทิศใต้ ) ใช้ใบตามลมทิศ ปลายตีนหรือทิศเหนือออกทะเลชิดจิวเอี๋ย ( ทะเลจีน ) สิบวันสิบคืนจึงถึงทะเลอานหลำ ( ทะเลญวน ) ในระหว่างนั้นมีภูเขาชื่องั่วหลอภูเขาหนึ่ง ไปอีกแปดวันแปดคืนถึงทะเลเมืองเจี่ยมเสียมไปอีกสิบสองสิบสองคืนถึงภูเขาใหญ่ชื่อคุนหลุนภูเขาหนึ่ง ต้องกลับใบตามลมทิศตะวันออกเฉียงปลายตีนหรือเฉียงเหนือ เหศีรษะเรือไปฝ่ายทิศตะวันตก ตั้งเข็มอักษรบี้กินอักษรซินสามส่วน ( ทิศตะวันตกเฉียงหัวนอนหรือเฉียงใต้ ) ไปอีกห้าวันห้าคืนถึงทะเลแม่น้ำจีนชี่วกั๊งไหลตก ไปอีกห้าวันห้าคืนถึงปากน้ำ แม่น้ำเสี้ยมหลอกั๊ง ) ใช้เรือเข้าไปในแม่น้ำเสี้ยมหลอก๊กระยะทางสองร้อยลี้ถึงน้ำจืด ไปอีกห้าวันก็ถึงเสี่ยมหลอเสีย ( เมือง )
เสี้ยมหลอก๊กมีภูเขาใหญ่อยู่ฝ่ายทิศตะวันตกเฉียงหัวนอนหรือเฉียงใต้ น้ำในเสี้ยมหลอก๊กออกจากภูเขาฝ่ายทิศนอนหรือทิศใต้ไหลมาลงทะเล เมืองขึ้นเสี้ยมหลอก๊ก เมืองโซ้งกาล้า ( สงขลา ) หนึ่ง เมืองเซกเกีย ( ไชยา ) หนึ่ง เมืองลกคุน ( นครศรีธรรมราช ) หนึ่ง เมืองไตหนี ( ตานี ) หนึ่ง ข้อความต่อไปนี้เป็นถ้อยคำของเจ้าพนักงานเรียบเรียงหนังสือบุ๋นเหี่ยนทงเค้า
ข้าพเจ้าทั้งหลายได้ตรวจดูเรื่องเสี้ยมหลอก๊ก มีต่อเนื่องมาแต่ครั้งราชวงศ์สุย วงศ์ถัง สมัยโน้นเรียกว่า เชียะโท้วก๊ก ด้วยครั้งพระเจ้าสุยทางเต้ขึ้นครองราชสมบัติปีอิดทิ้ว ( ตรงปีฉลู พุทธศักราช 1148 ปี ก่อนจุลศักราช 33 ปี ) ลำดับกษัตริย์ที่ 2 วงศ์สุย ขนานามแผ่นดินเรียกว่าไต๊เงียบ ( แผ่นดินไต๊ 12 ปี ) ขุนนางสุนฉังจู๊ซื่อ ชื่อเสียงจุ่นไปถึงเชียะโท้วก๊ก ได้ความว่าเชียะโท้วก๊กอ๋องแซ่ขืหุนหรือเห็นว่าเชียะโท้วก๊กอ๋องนับถือหุดก่า ( พุทธศาสนา ) จึงคาดคะเนว่าก๊กอ๋องมีแซ่เหมือนหุด
ครั้นตรวจดูประวัติสถานราชทูตเสี้ยมหลอก๊กมีปรากฏว่า ชาวเสี้ยมหลอก๊กมีชื่อไม่มีแซ่ การก็ล่วงเลยช้านานมาพันปีเศษแล้วจะมีแซ่หรือไม่มีแซ่ข้อความไม่ถูกต้องกัน แต่ชาวเสี้ยมหลอก๊กนั้นเชื้อสายชาวหูหลำ ( คือเมืองไทยเดิม ) ด้วยหนังสือหลำซื้อมีเรื่องนานาประเทศซึ่งอยู่ชายทะเลหัวนอนหรือทิศใต้ ว่า หูหลำก๊กนั้นเดิมสตรีเป็นอ๋อง ขนานนามว่า สิ้วเหียะ หนังสือเหมงอ๋องก่ายสกทงเค้า ยกย่องผู้หญิงเสี้ยมหลอก๊กว่ามีสติปัญญายิ่งกว่าผู้ชาย หรือจะเป็นขนบธรรมเนียมชาวหู หลำต่อเนื่องมา
เสี้ยมหลอก๊กได้เป็นไมตรีกับตงหัว ( กรุงจีน ) มาแต่ครั้งวงศ์หงวน วงศ์เหม็ง ครั้นถึงวงศ์เชงเดชานุภาพก็แผ่ไพศาล และรับสั่งให้ราชทูตบรรทุกข้าวสารมาจำหน่าย ประหนึ่งว่าทำทานให้ราษฎรในอาณาเขตรับความร่มเย็น ถึงเมื่อครั้งเจียนห้อขุนนางในวงศ์เหม็งไปเที่ยวเก็บเอาของพิเศษตามประเทศซึ่งอยู่ชานทะเลมาก็ไม่มีประโยชน์ จะเอามาเปรียบนั้นผิดกันประหนึ่งฟ้ากับดิน
แต่เสี้ยมหลอก๊กอ๋องดำรงประเทศอันไพบูลย์ ความซื่อสัตย์ไม่มีผู้ใดเสมอ อยู่ระหว่างนานาประเทศฝ่ายทิศหัวนอนหรือทิศใต้ก็ก่ำกึ่งกันกับอานหลำก๊ก ( ประเทศอันหนำคือญวน )” ( กรมศิลปากร , 2533 : 43-45, 69-70)
หลังจากที่อยุธยาได้พ่ายแพ้แก่พม่าแล้ว เจิ้นเจ้า ( สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ) ได้รวบรวมผู้คนที่เหลืออยู่เข้าโจมตีพม่าจนพ่ายแพ้กลับไป จากนั้นก็พยายามกอบกู้ประเทศชาติ และประชาชนก็ได้ขอร้องให้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ เจิ้นเจ้าได้เตรียมการที่จะทำสัมพันธไมตรีกับจีน และเพื่อให้ได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้ากรุงจีน ให้ส่งเครื่องราชบรรณาการได้ เพราะถ้าพระเจ้ากรุงจีนทรงยอมรับ ก็จะทำให้ฐานะทางการเมืองของเจิ้นเจ้ามั่นคงขึ้น คือเป็นกษัตริย์ที่เป็นที่ยอมรับของเพื่อนบ้าน เจิ้นเจ้าจึงได้ส่งราชทูตไปจีนเพื่อขอส่งเครื่องราชบรรณาการ สัมพันธภาพระหว่างสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและ ราชวงศ์ชิง อาจจำแนกได้เป็น 3 ระยะ ตามกาลเวลาและพัฒนาการของเหตุการณ์
1. พ.ศ.2310-2313
ราชวงศ์ชิงปฏิเสธการรับรอง เนื่องจากในระยะนั้นจีนรับรายงานบิดเบือนจาก ม่อซื่อหลิน แห่งพุทไธมาศเป็นสำคัญ จึงไม่ยอมรับรองกรุงธนบุรี อีกทั้งในช่วง 3 ปีแรกของรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น ประเทศจีนกำลังสู้รบอยู่กับพม่า

จักรพรรดิเฉียนหลง ( Qianlong Emperor, 1736-1799)
(ภาพจาก www.chinapage.org/ dragon1.html )
2. พ.ศ. 2313-2314
ราชสำนักชิงเริ่มรู้สึกถึงเบื้องหลังรายงานบิดเบือนของม่อซื่อหลิน และเริ่มไม่ให้ความเชื่อถือ ดังนั้น ราชสำนักชิงจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงท่าทีเป็นมิตรต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ
3. พ.ศ. 2314-2325
ราชสำนักชิงให้การรับรองอย่างเป็นทางการต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ รวมทั้งให้การสนับสนุนเป็นพิเศษ ( มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม, 2543 : 93-94) สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเริ่มนำแนวคิดในเรื่อง “ ศัตรูของศัตรูก็คือมิตร ” มาใช้ในการเปิดช่องทางการติดต่อกับราชสำนักชิง ทุกครั้งที่จับตัวศัตรูผู้เป็นปรปักษ์ของรัฐบาลจีนได้ หรือเมื่อได้ตัวทหารจีนที่เป็นเชลยศึกของพม่าในการสู้รบ พระเจ้ากรุงธนบุรีจะส่งตัวกลับไปกวางตุ้งเสมอ เพื่อพิสูจน์ความจริงใจในการสร้างสัมพันธภาพกับจีน จดหมายเหตุราชวงศ์ชิงระบุว่า การส่งตัวชาวจีนกลับประเทศ เกิดขึ้น 4 ครั้ง ได้แก่
– ในปี ค.ศ. 1772 (พ.ศ.2015) ได้จัดส่งจังจุ่นชิงกับพวกกลับคืนภูมิลำเนา
– ในปี ค.ศ.1775 (พ.ศ.2318) ได้จัดส่งทหารยูนนานที่เป็นเชลยศึกพม่าจำนวน 19 คน
– ในปี ค.ศ.1776 (พ.ศ.2319) ได้ส่งพ่อค้ายูนนานกลับคืนภูมิลำเนาจำนวน 3 คน
– ในปี ค.ศ.1777 (พ.ศ.2320) คุมตัวอ่ายเค้อกับพวกจำนวน 6 คน ซึ่งเป็นเชลยพม่านำส่งถึงกวางตุ้ง บรรยากาศแห่งความเป็นมิตรกับราชสำนักชิงจึงค่อยๆ เกิดขึ้น (พิมพ์ประไพ พิศาลกุล, 2541 : 189)
ก. สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงส่งราชทูตไปจีนกี่ครั้ง ?
มีบทความของศาสตราจารย์ฉู่เหวินเจี้ยวที่ได้ศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างพม่าและจีน ซึ่งท่านได้กล่าวว่า เจิ้นเจ้าได้ส่งราชทูตไปจีน 2 ครั้ง ครั้งแรกในปีที่ 36 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง และครั้งที่สองในปีที่ 46 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง ซึ่งตรงกับ พ.ศ.2314 และพ.ศ.2324 ตามลำดับ ศาสตราจารย์เฉินจิงเหอ ได้เขียนบทความเรื่อง Several Problems Regarding the King of Thai เป็นเรื่องเกี่ยวกับเจิ้นเจ้าเช่นกัน ในบทความนี้ว่าในปีที่ 33 ถึงปีที่ 46 ในรัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง เจิ้นเจ้าได้ส่งทูตไปจีนรวม 8 ครั้ง
– พ.ศ.2311 ครั้งที่ 1 ในปีที่ 33 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง ทูตคือ เฉินเหม่
– พ.ศ.2314 ครั้งที่ 2 ในปีที่ 36 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง ในปีนี้ก็เป็นระยะเวลาเดียวกับที่สยามส่งเชลยพม่าไปจีน
– พ.ศ.2315 ครั้งที่ 3 ในปีที่ 37 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง สยามได้ส่งคนจีนจากไห่ฟง รวมทั้งผู้ที่ชื่อเฉินจุ้นชิ้งไปจีน
– พ.ศ.2317 ครั้งที่ 4 ในปีที่ 39 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง ครั้งนี้เพื่อขอซื้อเหล็กและกำมะถัน
– พ.ศ.2318 ครั้งที่ 5 ในปีที่ 40 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง สยามขอให้พ่อค้าจีนชื่อเฉินวั่นเซิ่น นำพระราชสาส์นไปส่งยังจีน
– พ.ศ.2319 ครั้งที่ 6 ในปีที่ 41 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง เป็นเวลาที่ขอให้พ่อค้าชื่อโม่ก่วงอี้ ส่งพระราชสาส์นไปยังพระเจ้ากรุงจีน
– พ.ศ.2320 ครั้งที่ 7 ในปีที่ 42 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง เจิ้นเจ้าได้ส่งทูตพร้อมกับเชลยพม่าไปกว่างตุ้ง
– พ.ศ.2324 ครั้งที่ 8 ในปีที่ 46 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง เจิ้นเจ้าได้ส่งราชทูตไปราชสำนักพระเจ้ากรุงจีน ( ส่งไป 2 ครั้ง )
ณัฏฐภัทร จันทรวิช (2523 : 49-72) ได้กล่าวถึง ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนในช่วงปลายสมัยอยุธยา ไว้ในบทความเรื่อง “ ข้อเท็จจริงบางประการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาตอนปลายและกรุงธนบุรีจากจดหมายเหตุจีน ” ว่า
“ในความคิดของจีนนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสยามก็เหมือนกับความสัมพันธ์ที่จีนมีต่อเกาหลีและเวียดนาม รวมทั้งว่าจีนและสยามมาจากแหล่งกำเนิดเดียวกันและสยามนี้เป็นสาขาหนึ่งของจีนด้วย”
ประวัติศาสตร์สยามตามที่จีนทราบนั้นกล่าวว่า เสียนหลอกวั๋ว เดิมแบ่งออกเป็นสองประเทศคือ “ หลอสัว ” (Lo-Tsho หรืออาณาจักรละโว้ ) และ “ สฉวน ” (Hsuan หรืออาณาจักรสุโขทัย ) หลอสัวนั้นเจริญขึ้นภายใต้อำนาจขอม มาในสมัยราชวงศ์ซุ่ง (Sung) ปีที่ 2 รัชกาลพระเจ้าเจิ้นเขอ (Cheng-Ho) พ.ศ.1657 หลอสัวเริ่มมีสัมพันธไมตรีกับจีน ส่วนสฉวนนั้นเกิดทำสงครามกับหลอสัวและมาเริ่มมีสัมพันธไมตรีกับจีนสมัยราชวงศ์ซุ่ง ในปีที่ 5 รัชกาลพระเจ้าเป่าโย่ (Pao Yao) พ.ศ.1800 จนปลายสมัยราชวงศ์หยวน (Yuan) ทางจีนจึงได้ส่งทูตไปยังอาณาจักรสฉวน 3 ครั้ง และทางสฉวนก็ได้ส่งทูตไปจีน 9 ครั้ง และหลอสัวส่งทูตไปจีน 5 ครั้ง ในปีที่ 10 รัชกาลพระเจ้าซื้อเจิ้น (Chih chen) พ.ศ.1893 สมเด็จพระเจ้าอู่ทองได้ตั้งอาณาจักรอยุธยาขึ้นและทรงสถาปนาพระองค์เองเป็นพระรามาธิบดีพระองค์แรก
ในปีที่ 10 รัชกาลพระเจ้าหงอู่ (Hung-Wu) แห่งราชวงศ์หมิง พ.ศ.1920 กษัตริย์แห่งอาณาจักรหลอสัวทรงพระนามว่า “ ชั่นเดียเป่าพียา ” ( สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 หรือขุนหลวงพงั่ว ) ทรงทำศึกกับอาณาจักรสฉวน มีชัยชนะ ในเดือนกันยายน พ.ศ.1920 กษัตริย์พระองค์นี้ทรงส่งพระราชโอรสเสด็จไปเมืองจีนเพื่อนำ ช้าง ไม้ และทอง ไปถวายพระเจ้าอู่ทอง หรือพระเจ้าหมิงไท่สู่ (Ming-Tai-Hsu ทรงครองราชย์อยู่ระหว่าง พ.ศ.1911-1942) พระเจ้าหมิงไท่สู่ ได้ พระราชทานตรา (Seal) ซึ่งมีตำแหน่งจารึกว่า “ เสียนหลอกวั๋วหวังซื่ออิ้น ” ให้แก่พระราชโอรสพระองค์นั้นกลับมา จากระยะเวลาดังกล่าวเป็นต้นมา จีนจึงเรียกสยามว่า “ สฉวนหลอ ” (Hsuan-Lo) จีนแต้จิ๋วออกเสียงว่า “ เสียมล้อ ”
ในสมัยราชวงศ์หมิง (Ming) นี้สยามและจีนมีสัมพันธไมตรีเป็นอันดี มีการแลกเปลี่ยนทูตกันบ่อยครั้ง คือ ทูตจากสฉวนหลอไปจีนรวม 97 ครั้ง กษัตริย์จีนของราชวงศ์หมิงทุกพระองค์ก็ทรงสืบราชประเพณีที่กษัตริย์พระองค์แรกทรงทำไว้
สมัยราชวงศ์ชิง (Ch’ing) สฉวนหลอยังคงส่งเครื่องราชบรรณาการไปจีนอยู่ ดังในปีที่ 9 รัชกาลพระเจ้าซื่อจู๋ (Shun Chih) ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2195 สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงส่งทูตนำเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงจีน โดยที่ทรงขอพระราชทานตราประทับด้วย ซึ่งทางพระเจ้ากรุงจีนก็ได้พระราชทาน ตราทำด้วยเงินกะไหล่ทอง ยอดแกะเป็นรูปตัวอูฐ ที่ตราประทับนั้นแกะจารึกข้อความว่า “ สฉวนหลอกวั๋วหวัง ” แปลว่า “ กษัตริย์แห่งประเทศสฉวนหลอ ”
ต่อมาในปีที่ 17 รัชกาลพระเจ้าหย่งเจิ้น (Yung cheng) พ.ศ.2272 ทรง ส่งตราจีน ซึ่งจารึกว่า “ เทียนหนานเล่อกวั๋ว ” มาให้อีก ตรานี้มีความหมายว่า “ สวรรค์แห่งดินแดนประเทศทางใต้ ”
ในปีที่ 14 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง (Chien lung) พ.ศ.2292 ได้พระราชทานข้อความที่เขียนบนแผ่นกระดาษใส่กรอบมา ข้อความนั้นคือ “ เหยียนฝูผิงฟั้น ” ความสัมพันธ์ระหว่างสยามหรือสฉวนหลอ กับจีน ซึ่งเริ่มมาแต่สมัยราชวงศ์ซุ่ง นั้นได้ดำเนินมาจนถึงสมัยราชวงศ์ชิง ปีที่ 32 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง พ.ศ.2310 พม่าได้มาโจมตีและยึดสยาม ( กรุงศรีอยุธยา ) ไว้ได้ ความสัมพันธ์จึงหยุดชงักไป จนเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งจนเรียกพระองค์ว่า “ เจิ้นเจ้า ” ทรงรวบรวมประเทศได้ใหม่ ก็ทรงส่งทูตไปจีนเพื่อเริ่มมีพระราชไมตรีใหม่อีก
ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับจีน ในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลายและสมัยกรุงธนบุรี ซึ่งปรากฏในจดหมายเหตุจีนต่อไปนี้ เป็นข้อเท็จจริงอันน่าสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยในช่วงเวลาเดียวกันนั้นด้วย
เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2301 ปีที่ 23 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จีนเรียกว่า “ หวังโพหลงมอเกอ ” สวรรคต ก็เกิดการแย่งชิงราชสมบัติขึ้น จากคำให้การของคนสยามชื่อ “ เฉินหมอ ” และพ่อค้าชื่อ “ วุนเส้า ” ได้ให้การว่า พระเจ้า “ เส้าฮั้วเหลาวั่งมี่ ” ( หมายถึงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ อีกพระนามหนึ่ง สมเด็จพระธรรมราชาธิราช ) ทรงมีพระชายาเอกสององค์ องค์หนึ่งทรงมีพระโอรสทรงพระนาม “ เส้ากง ” ( หมายถึง กรมขุนเสนาพิทักษ์ ประสูติแด่ กรมหลวงอภัยยุชิต เดิมทรงพระนามว่า เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ฯ ) พระชายาอีกองค์หนึ่งทรงมีพระโอรสสององค์คือ “ เส้าฮั่วอี้จี่เชียะ ” กับ “ เส้าฮั่วลิ่วหลู ” ( หมายถึง กรมขุนอนุรักษ์มนตรีและกรมขุนพรพินิจ ประสูติแด่กรมหลวงพิพิธมนตรี ซึ่งคือเจ้าฟ้าเอกทัศน์ และเจ้าฟ้าอุทุมพร ) พระโอรสเส้ากง ทรงมีความประพฤติไม่ดี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงทรงมอบให้พระโอรสองค์อื่น ( ที่เกิดจากพระสนมอื่น ) ปลงพระชนม์เส้ากง อย่างไรก็ดี เส้ากงทรงมีพระโอรส 2 องค์คือ “ เส้าหย่าเลอะ ” กับ “ เส้าซื่อชั้ง ” ( พระองค์เจ้าเกิด และพระองค์เจ้าชื่น ) เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคต ก็มีขุนนางบางคนอยากได้ราชสมบัติ พระโอรสองค์แรกของพระชายาองค์ที่ 2 คือ เส้าฮั่วอี้จี่เชียะ ซึ่งน่าจะได้ราชสมบัติแต่เนื่องจากไม่ทรงแข็งแรง ดังนั้นพระอนุชาคือ เส้าฮั่วลิ่วหลู จึงขึ้นครองราชย์แทน ทำให้พระเชษฐาไม่พอพระทัย พยายามยึดราชสมบัติคืน
เส้าฮั่วลิ่วหลูจึงทรงสละราชสมบัติให้พระเชษฐาและทรงผนวชเป็นพระภิกษุจำพรรษาอยู่ที่วัดประดู่ คนทั่วไปจึงเรียกพระองค์ว่า “ เหอซั่งหวัง ” ตามชื่อไทยคือ ขุนหลวงหาวัด และพระเชษฐาที่ขึ้นครองราชย์นั้นคนทั่วไปเรียกว่า “ หมาฟงหวัง ” ซึ่งคือ ขุนหลวงขี้เรื้อน ส่วนพระโอรสซึ่งเกิดจากพระสนมองค์อื่นๆ นั้นไม่พอใจจึงได้พยายามส่งสาส์นไปยังกษัตริย์อูตูฟัน ( พม่า ) ( ในพ.ศ.2301 อันเป็นปีที่ 23 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง ราชวงส์อลองพญาของพม่า กษัตริย์พม่าทรงพระนามว่า “ อ่องเซยา ” (Aungzeya) ได้ตีเมืองมณีปุระ (Manipura) เมืองนี้จีนเรียกว่า “ อาณาจักรไป๋กู่ ” ประชาชนชาวเต๋อหลิน ( ตะเลง หรือมอญ ) ได้หนีออกไหจากพม่าเข้าไปอยู่ในอาณาจักรอยุธยา และพม่ายังได้ตีเมือง Negrais ระยะต่อมาพวกตะเลงได้พยายามแก้แค้นพม่า จึงทำให้กษัตริย์พม่าพยายามกวาดล้างพวกตะเลง และเป็นเหตุให้มาตีสยาม ) เพื่อขอให้มาช่วยโค่นล้มขุนหลวงขี้เรื้อน แต่พระองค์ทรงทราบเสียก่อนจึงได้ทรงกำจัดพระโอรสซึ่งเป็นพระอนุชาองค์อื่นๆ หมด มีอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระอนุชาองค์อื่นๆ ไม่พอพระทัย คือขุนหลวงขี้เรื้อนทรงมีพี่เขยคือพะยาหนาย ( พระยาราชมนตรีบริรักษ์ ( ปิ่น ) พี่พระสนมเอก ) และพระองค์ทรงฟังความและคำแนะนำต่างๆ จากพะยาหนายคนนี้เพียงคนเดียว จึงเป็นเหตุให้คนอื่นไม่ชอบพะยาหนาย ซึ่งพะยาหนายก็รู้ตัว จึงกราบทูลให้ขุนหลวงขี้เรื้อนทรงทราบ พระองค์จึงให้พะยาหนายไปอยู่ที่ “ หลิวหลงจ้า ” ( ไม่ปรากฎในพงศาวดารไทย ) ทางตะวันตกของอยุธยา
นอกจากนี้ เฉินหมอยังให้การอีกว่า เส้าหวังจี๋ ซึ่งเป็นพระอนุชาของขุนหลวงขี้เรื้อนในระยะเวลานั้นทรงมีพระชนมายุ 50 พรรษา และว่าชายาองค์หนึ่งของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเป็นชาวไป๋โถวฟัน ( เข้าใจว่าเป็นมอญ )
จากจดหมายเหตุจีนบันทึกไว้อีกว่า เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2303 ปีที่ 25 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง กล่าวคือพะยาหนายได้พยายามทำสัมพันธไมตรีกับพม่าและพม่าได้ยกทัพมารุกรานแถบชายแดนไทยถึง 2 ครั้ง กล่าวคือ ในปีนี้สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ( ขุนหลวงขี้เรื้อน ) ทรงประชวร พะยาหนายก็ได้พยายามชักชวนให้พม่ามาทำสงคราม แต่ขุนหลวงหาวัดทรงทราบเรื่อง พะยาหนายจึงถูกฆ่าเสียก่อน ส่วนกษัตริย์พม่าคือ “ หมั่งหน่อง ” ( พระเจ้ามังรอก หรือพระเจ้าอลองพราญี ) ยกทัพมาตีไทยได้ และประชวรด้วยโรคฝีและสวรรคตเสียก่อนในระหว่างทางที่เมืองสะเทิม กองทัพพม่าจึงยกทัพกลับไป เมื่อพระเจ้าหมั่งหน่องสวรรคต พระเจ้ามังลอก (Son Naungdaw-Gyi) สืบราชสมบัติต่อมา จีนเรียกว่า “ หมั่งจี้เจเว๋ ” บางทีก็เรียก “ มังลั่ว ” หรือ “ มังหนาว ” พระองค์ทรงย้ายเมืองหลวงจากเมือง “ มู่ซู้ ” ( เมืองรัตนสิงค์ เดิมชื่อหมู่บ้านมุกโชโป ) ไปยังเมือง “ สือเจ้ ” หรือตะโก้งหรือสะเก้ง (Sagaing) คนทั่วไปจึงเรียกพระองค์ว่า “ สะเก้งมิน ” (Sagaing Min)
ส่วนทางกรุงศรีอยุธยาปรากฏว่าเส้าเว้ ( เข้าใจว่าจะเป็นชื่อหนึ่งที่จีนเรียก กรมหมื่นเทพพิพิธ ) ถูกส่งตัวไปอยู่เมืองอื่น ในเดือนเมษายน พ.ศ.2305 ปีที่ 26 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง โดยเดินทางจากเมืองถาวาย ( ทวาย ) ไปยังเมือง “ ตันเหลา ” ( ตามพงศาวดารไทยว่า ถูกเนรเทศไปลังกาทวีป แต่ตันเหลาน่าจะเป็นตะนาวศรี ซึ่งบางทีจีนเรียก ตันหลา ) ต่อมา พ.ศ.2306 พระเจ้าแผ่นดินพม่าสวรรคต พระอนุชามังระ (Mydu) ทรงขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่าพระเจ้าศิริสุธรรมมหาราชาธิบดี (Hsinbyushin) ซึ่งแปลว่า พระเจ้าช้างเผือก เมื่อพระองค์ประสูตินั้นมีมดอยู่ที่พระอู่จึงเรียกว่า “ มั่งปั๋ว ” กษัตริย์พระองค์นี้กล่าวว่าฉลาดที่สุดในบรรดาพี่น้อง 3 องค์ ( ตามพงศาวดารไทยว่ามี 7 องค์ ) ทั้งยังเก่งในการรบมาก เมื่อครั้งพระบิดายังมีพระชนม์อยู่เคยตามเสด็จไปรบด้วยหลายแห่ง จึงมีเรื่องราวบันทึกถึงพระองค์เป็นพิเศษ กษัตริย์พม่าพระองค์นี้ทรงย้ายเมืองหลวงกลับไปเมืองมู่ซู้ และจากมู่ซู้ไปยังเมืองอ้าหว่า ( อังวะ )
ใน พ.ศ.2307 อันเป็นปีที่ 29 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง พระเจ้าแผ่นดินพม่าทรงส่งพระอนุชาให้ยกทัพไปตีไทยและส่งพระโอรส “ หมั่งแซน ” ไปตีเมืองหงสาวดี ในปีนี้พม่าได้ส่งทหาร 3,000 คนลงเรือมา และได้ติดต่อกับคนไทยบางคนในอาณาจักรเพื่อหาข่าวคนในทวาย ตันหลอ ขึ้นไปจนถึงเขตพม่าก็เข้ากับพม่าหมด
มีชาวจีนสองคนชื่อ “ เช่ไคชุน ” และ “ หยังหยาอู๋ ” ให้การว่ากองทัพพม่าได้มาตีเมือง “ เถาไหย่ ” ( น่าจะเป็นทวาย ) พอในฤดูหนาวเมืองเถาไหย่ก็แตก ในเดือนมกราคม พ.ศ.2308 เส้าหวังได้หนีไปอยู่เมือง “ หลัวหยง ” ( คงจะเพี้ยนมาจาก “ เส้าเว้ ” หมายถึง กรมหมื่นเทพพิพิธ ซึ่งหนีจากตะนาวศรีไป “ หลังหยง ” คือเพชรบุรี ) แต่เมืองชายแดนไทย “ ตันหลา ” ( เมืองตะนาวศรี ) พม่าไม่สามารถเข้ายึดได้ เพราะชาวเมืองตันหลาพยายามต่อสู้และพากันอพยพออกจากเมืองไปทำให้เมืองร้าง ทางเมืองเถาไหย่พม่าก็ยกเข้าไปตั้งในเมือง และยังยึดเมืองวั่งเก๋อได้โดยไม่มีใครขัดขวางในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2308 อันเป็นปีที่ 30 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง เพราะแม่ทัพไทยชื่อ “ เผหย่าป๋าหลี ” ( พระยารัตนาธิเบศร์จากมณฑลนครราชสีมา ) หนีออกจากเมืองไป ส่วนรองแม่ทัพชื่อ “ หวังเว่หลี ” ( ไม่ปรากฏว่าใครเป็นรองแม่ทัพในพงศาวดารไทย ) ถูกฆ่าตาย ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ.2309 ซ่าหวังจี๋ได้เดินทางไปยังเมือง “ วั่นบั๋วปาหลิววั่งคง ” ( ไม่อาจเทียบคำได้ ) ส่วนเส้าหวังทราบว่ามีพม่าคอยตามก็เลยไปตั้งเมืองที่ “ เกาเลียฝูอี่โถวมู่ซื่อแอนหลีหวั่ง ” ( ไม่อาจเทียบคำได้ ) ต่อมาในฤดูใบไม้ผลิกองทัพพม่าก็เข้ายึดเมืองหลวงได้ กองทัพไทยติดตามกันไม่ทัน แต่ก็มีทหารไทยกลุ่ม หนึ่งตั้งค่ายอยู่มีหัวหน้าชื่อ “ หยัวหัวเป่า ” ( น่าจะเป็นพระยากำแพงเพชร ต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าตากสิน )
รายงานอีกฉบับหนึ่งแจ้งว่า กองทัพพม่ายึดเมืองหลวงได้และตีค่ายทหารไทยได้ 47 ค่าย ดังนั้นทั่วทั้งประเทศก็เต็มไปด้วยทหารพม่า พวกข้าราชการทุกคนก็พยายามอยู่กับครอบครัวไม่ออกรบ ยกเว้นคนจีนบางคนที่พยายามต่อสู้พม่า ทั่วทั้งประเทศระยะนี้ยากจนลงเพราะการสงคราม โรคภัยไข้เจ็บ และมีคนจำนวนมากที่ตายเพราะอดอยากลงทุกวันประมาณวันละ 100 คน จนกระทั่งเดือนมกราคม พ.ศ.2310 อันเป็นปีที่ 32 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง กลุ่มคนจีนได้ต่อสู้กับพม่าโดยช่วยกันสร้างกำแพงขึ้น ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พม่าได้พยายามทำลายกำแพงใหญ่ มีส่วนหนึ่งพังลงจึงเกิดต่อสู้กันขึ้นถึง 7 วัน 7 คืน ทหารพม่าประมาณ 3,000 คนถูกฆ่าตาย แต่ภายในเมืองไม่มีอาหาร และน้ำจึงไม่อาจจะต่อสู้ได้นาน ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ กำแพงก็ถูกทำลาย เดือนมีนาคม กษัตริย์ไทยคือสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ( หมาฟงหวัง ) ถูกพม่าจับได้ พระองค์ทรงขอที่จะถวายเครื่องราชบรรณาการแก่พม่า แต่แม่ทัพพม่าชื่อ เนเมียวสีหบดี (Thihapate) ไม่ยอมรับและจับพระองค์เป็นเชลย วันที่ 9 พฤษภาคม เมืองหลวงของไทยถูกทำลาย สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ทรงลอบหนีไปยังเมือง “ โผวแซนถวน ” ( โพธิ์สามต้น ความตอนนี้ไม่ตรงกับพงศาวดารไทย ) และถูกปลงพระชนม์ ส่วนพระอนุชา ขุนหลวงหาวัด ข้าราชการและสตรีในวังถูกพม่ากวาดต้อนไป ตลอดจนของมีค่าทุกอย่างในพระคลัง พม่าก็ขนไปหมดด้วยเช่นกัน และวันที่ 25 พฤษภาคม กองทัพพม่าก็ยกทัพกลับไป แต่ให้แม่ทัพชื่อ “ ซุ่งยี่ ” ( สุกี้ = ชุกคยี ) อยู่ดูแลเมือง นับว่าอาณาจักรไทยที่จีนเรียกว่า “ ต้าเฉิน ” ก็สิ้นสุดลงด้วยการทำลายของพม่า อาณาจักรนี้เจริญอยู่ 417 ปี มีกษัตริย์ปกครอง 33 รัชกาล
หลังจากนั้นอาณาจักรไทยก็มีกษัตริย์พระองค์ใหม่เกิดขึ้นคือ “ เจิ้นเจ้า ” ( สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ) พระองค์ทรงตั้งราชวงศ์ใหม่เรียกว่าราชวงศ์ “ ถ่งอูดี่ ” ( ธนบุรี ) เมื่อปราบดาภิเษกทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 แต่จีนเรียกว่า “ เจิ้นเจ้า ” หมายถึงกษัตริย์แห่งเจิ้น
จากจดหมายเหตุไทยกล่าวว่า เจิ้นเจ้ามีนามเดิมว่า ชินหรือสิน แต่มีคนไทยคนหนึ่งชื่อ “ ไมอิ่นเซิ่น ” กับพ่อค้าชื่อ “ เฉิ่นอิ้ง ” เรียกจิ้นเจ้าว่า พระยาตาก พระยาตากนี้มีบิดาเป็นชาวกว่างตุ้ง ชาวเมืองเซิ่นหยง เมื่อมาอยู่เมืองไทยก็ได้แต่งงานกับสตรีไทยมีบุตรคือ เจิ้นเจ้า ซึ่งครั้งนั้นมีนามเดิมว่า “ เซิ่นชิ้น ” ชิน ( สิน ) ในภาษาไทยแปลว่า ทรัพย์สมบัติ ดังนั้นจีนจึงแปลออกมาว่า “ เจิ้นฉาย ” ( ฉาย แปลว่า สมบัติ ) ส่วน “ เจิ้นเจ้า ” เป็นนามที่ใช้เมื่อทรงส่งเครื่องราชบรรณาการไปจีนในสมัยราชวงศ์ชิง และทรงใช้เป็นทางการเมื่อทรงติดต่อกับจีน มีหนังสือจีนชื่อ “ ซือสื่อเอ้อเหม๋จูซี่ ” ได้กล่าวถึงประวัติเจิ้นเจ้าไว้ว่า เจิ้นเจ้า มีบิดาชื่อ “ เซิ่นหยง ” หรือ “ เซิ่นย้ง ” มาจากเมืองเฉาโจ้วแถบ “ เฉินไห่หว่าหู้หลี ” หรือ “ เติ้งไห่ฝาฝู่ลี่ ” เนื่องจากเซิ่นย้งมีบิดาเป็นคนรวย ตนจึงไม่ค่อยสนใจที่จะทำมาหากิน ใช้จ่ายเงินมากและชอบเดินทางท่องเที่ยว คนในหมู่บ้านจึงเรียกว่า “ ไต๋ซิต๋า ” แปลว่า นักท่องเที่ยว
ดังนั้นจึงทำให้ยากจนลงในเวลาต่อมาจากการมีนิสัยที่ไม่ดีนี้ จึงเริ่มเดินทางลงมาทางใต้ ในเวลานั้นมีการติดต่อทางการค้าระหว่างไทยกับจีนมาก เขาจึงเล่นการพนันและโชคดีร่ำรวยขึ้น จึงเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “ ย้ง ” และเดินทางไปเมืองไทย ได้แต่งงานกับสตรีชาวไทยชื่อ “ ลั่วย้ง ” หรือนางนกยาง มีบุตรคนแรกคือ เจิ้นเจ้า เกิดเมื่อ พ.ศ.2277 เป็นปีที่ 12 รัชกาลพระเจ้าหย่งเจิ้น
ส่วนหลวงวิจิตรวาทการ ได้เขียนประวัติเจิ้นเจ้าไว้เช่นกัน และกล่าวว่า เมื่อพระเจ้าตากประสูติ พระบิดาได้พบงูอยู่ในแปล ก็รังเกียจหาทางทิ้งไม่เลี้ยงดู เพราะตามคติจีนนั้น งู หมายถึงลางร้าย แต่มีขุนนางไทยชื่อ เจ้าพระยาจักรี คิดว่าเด็กคนนี้มีหน้าตาดีจึงรับไว้เป็นลูก เมื่ออายุได้ 9 ขวบ ได้ไปเรียนหนังสือกับพระชื่อทองดี ( บางฉบับว่าเรียนกับอาจารย์สุก วัดพระยาเมือง แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ ) อายุได้ 13 ปีก็ได้ถวายตัวเข้าในราชสำนักเป็นมหาดเล็ก เมื่ออายุได้ 21 ปีก็ออกจากราชสำนักไปบวชอีก 3 ปี ลาบวชออกมาและเข้ารับราชการเป็น “ ไท่โส ” ( เจ้าเมือง ) ดูแลเมืองตาก ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพระยาวชิรปราการ คนไทยรักมากเรียกว่า พระยาตาก พระยาสิน พระยาตากสิน เจ้าตากสิน เป็นต้น แต่ในบันทึกของราชสำนักจีนสมัยราชวงศ์ชิง ( เช็ง ) เรียกพระเจ้าตากว่า “ กันอินเลอ ” แต่ต่อมาเรียก “ เจิ้นเจ้า ”
ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2310 ปีที่ 32 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง เนื่องจากพม่าได้มาตีเมืองหลวงของไทยถึง 3 ปี เพราะกษัตริย์ไทยสมันนี้ไม่เก่งในการสงคราม ในปีนี้เจิ้นเจ้าถูกส่งเข้ามารักษาเมืองหลวงร่วมกับขุนนางอีกคนหนึ่งชื่อ “ ปอเอียบี้อู๋ดี ” ( พระยาเพชรบุรี ) ทั้งสองคนนี้มีความสามารถในการรักษาเมือง เจิ้นเจ้าได้รับงานป้องกันวัดพิชัยในเขตเมืองหลวง แต่มีขุนนางบางคนพยายามห้ามยิงปืนเพราะกลัวว่าจะทำให้พระเจ้าแผ่นดินและสตรีในวังตกใจ ด้วยเหตุนี้ทำให้เจิ้นเจ้าเป็นที่เกลียดชัง ครั้งหนึ่งพม่าตีกำแพงได้ เจิ้นเจ้าไม่มีเวลาที่จะไปกราบบังคมทูลจึงสั่งยิงปืนทำให้พระองค์กริ้วมาก เจิ้นเจ้าจึงไม่อยากจะอยู่ป้องกันเมืองหลวงอีกต่อไป “ อาหยูถัว ” ได้ให้การว่า เมื่อกองทัพพม่าเข้าตีกำแพงเมืองได้ กองทัพไทยได้ถอนออก เข้าไปอยู่ในเมืองพร้อมทั้งปิดประตูเมือง มีแต่เจิ้นเจ้าที่คุมทหารของตนต่อสู้กับพม่า และตีฝ่าออกไปทางวัดพิชัย โดยมีทหารติดตามไป 500 คน
เดือนพฤษภาคมในปีเดียวกัน เจิ้นเจ้ายึดเมืองจันทบุรีได้ จากจดหมายเหตุชาวอังกฤษ นายดับบลิว เอ อาร์ วูด (W.A.R. Wood) ได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าตากตีเมืองจันทบุรีว่า เจ้าเมืองจันทบุรีเป็นมิตรเจิ้นเจ้า เมื่อรู้ข่าวว่าเมืองหลวงถูกพม่าตีได้ก็คิดว่าตนจะได้เป็นกษัตริย์ จึงพยายามเอาใจให้เจิ้นเจ้าไปจันทบุรี เพื่อนำกองทัพกลับไปตีเมืองหลวง แต่เจิ้นเจ้ารู้ทันจึงตีจันทบุรีได้ในตอนกลางคืน เมื่อพม่ายึดเมืองหลวงอยู่ ส่วนคนไทยเองนั้นก็เห็นว่ามีการตั้งก๊กต่างๆ อยู่หลายก๊ก กับทั้งพยายามต่อสู้กันและกันเพื่อตั้งตนเป็นใหญ่ ระยะนั้นเมืองไทยจึงมีหลายก๊กหลายรัฐ
“ มุ่งม่อซื่อหลิน ” ชาวเมืองเหอเชียน ได้ให้การว่า “ เพไส่ชิ้น ” ( พระยาสิน ) ได้ยึดเมืองวั่งเก๋อ ( เข้าใจว่าเป็นเมืองธนบุรี ) ได้ และมีคนอื่นๆ ปกครองเมืองที่ต่างๆ แต่มี “ ซ่าหวังจี๋ ” ( กรมหมื่นเทพพิพิธ ) ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระเจ้าแผ่นดิน มีอำนาจมาก มีผู้คนนับถือ ซ่าหวังจี๋ได้ยกทัพกลับไปยึดเมือง “ เกาเลีย ” ( พิมาย ) และพยายามรวบราวทหารที่กระจัดกระจายไป ทั้งพยายามตั้งเมืองหลวงใหม่ และยังมี “ ซ่าชื่อช้าง ” ( เจ้าศรีสังข์ พระโอรสกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ) ซึ่งเป็นอนุชาต่างมารดาได้หลบหนีจากไทยไปอยู่เขมร อีกคนหนึ่งคือ “ เซ่าเทร่ ” ( ไม่อาจทราบได้ว่าเป็นเจ้านายพระองค์ใด ) พระนัดดาได้หนีไปอยู่ที่เมืองเหอเฉี้ยน ( น่าจะเป็นเมืองสวางคบุรี ) ซึ่งในเวลานั้นมีคนไทยเป็นจำนวนมากไปรวมกันอยู่ทั้งชายและหญิงกว่าสามหมื่นคน
เซ่าเทร่ ได้ถวายงานไปยังพระเจ้ากรุงจีนว่า ตนหนักใจที่เมืองหลวงถูกพม่าทำลายและรัชทายาทก็สิ้นพระชนม์และกระจัดกระจายพลัดพรากไปหมด บางคนก็ถูกพม่าจับไป ลุงคือ ซ่าหวังจี๋ก็ไปอยู่ทีเมืองเกาเลีย ตนเองก็หนีมาอยู่เมืองเหอเฉี้ยน น้องคือ “ ซื่อชั้น ” ( เจ้าจุ้ย พระโอรสกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ) ก็อยู่ในเขมร กษัตริย์เขมรทรงเมตตาและได้ให้ทุกอย่างที่ต้องการเพราะห็นว่าเมืองไทยเป็นต้นกำเนิดแห่งเมืองสวรรค์ และน้องสาวของตนเคยเมตตาต่อชาวเหอเฉี้ยน นอกจากนี้มีขุนนางคือ พระยาสิน หรือเจิ้นเจ้าได้พยายามตั้งตนเป็นกษัตริย์เพราะไม่นับถือพระราชวงศ์ไทย ทั้งได้จับพระราชวงศ์ไปเป็นทาส เจิ้นเจ้าได้รวบรวมกองทัพไปตีเมืองเกาเลียที่ซ่าหวังจี๋พำนักอยู่ ซ่าหวังจี๋จึงหนีออกไปอยู่ใกล้เขตแดนเมือง “ เหล่ากั้ว ” ( กรุงศรีสัตนาคนหุต ) เจ้าเมืองเหล่ากั้วได้ส่งซ่าหวังจี๋กลับระหว่างทางที่จะไปยังวั่งเก๋อก็ถูกเจิ้นเจ้าประหารชีวิต จากนั้นเจิ้นเจ้าได้ยกทัพไปเหอเฉี้ยนแต่กษัตริย์เขมรไม่ทรงยอมให้เจิ้นเจ้าทำเช่นนั้น พระองค์ทรงสัญญากับเซ่าเทร่และซ่าชื่อช้างว่าจะช่วยตีเอาเมืองหลวงกลับคืนมาให้ ในเวลานั้นซ่าชื่อช้างอายุได้ 24 ปี และเซ่าเทร่อายุ 39 ปี เซ่าเทร่ไม่สามารถกอบกู้ประเทศด้วยตนเองได้เนื่องจากไม่มีอำนาจ และเจิ้นเจ้าพยายามขึ้นครองราชย์อย่างไม่เป็นทางการ
สำหรับรายงานของเจิ้นเจ้าว่า กษัตริย์ไทยพระองค์ก่อนทรงประทับอยู่ในวังทางส่วนใต้ พระองค์ทรงส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงจีนมาเป็นเวลานาน เมื่อพระองค์สวรรคต “ เซ่าหัว ” ( พระเจ้าเอกทัศน์ ) ทรงขึ้นครองราชย์แทน แต่ “ เซ่าอวงจี๋ ” ( กรมหมื่นเทพพิพิธ คงเพี้ยนมาจาก ซ่าหวังจี้ ) ซึ่งเป็นพระญาติองค์หนึ่งได้พยายามกำจัดพระองค์แต่ทำไม่สำเร็จ จึงได้วางแผนกับ “ ว้าตู ” ( อีกชื่อหนึ่งที่จีนเรียกพม่า ) มาล้อมไทยจนกระทั่งยึดเมืองหลวงได้ กษัตริย์ถูกปลงพระชนม์ และของต่างๆ ในวังถูกขโมย พระราชวังถูกเผา
ในเวลานั้นเซ่าอวงจี๋เข้ายึดในวังทั้งหมด อย่างไรก็ดีเซ่าอวงจี๋ เซ่าเทร่ เซ่าทั้ง ก็เกรงว่าประชาชนจะต่อต้านจึงไม่ยอมกลับเข้ามาเมืองไทย ทำให้ประเทศไม่มีผู้ปกครอง ตนเองจึงพยายามแก้แค้น แต่ก็ไม่สามารถสร้างชาติให้มั่นคงได้และรอบๆ ชายแดนไม่มีความสงบ ประเทศต่างๆ พยายามเข้ามายึดครองเพราะเห็นว่าไม่มีผู้ปกครอง และจากการที่อยู่ในระหว่างสงคราม กษัตริย์และพระญาติไปอยู่ในต่างแดน เมื่อจะสร้างรวมชาติใหม่ก็ไม่ยอมกลับ ประชาชนจึงเลือกตนขึ้นกษัตริย์
ในระยะแรกที่เจิ้นเจ้ายึดจันเจ๋ออ๋วน ( จันทบุรี ) ได้ เจ้าเมืองชื่อ “ หวังเฉียน ” ( เจ้าเมืองจันทบูร ) ได้ยอมแพ้แก่เจิ้นเจ้าทั้งยังยกธิดาให้อีกด้วย เมื่อเจิ้นเจ้ายึดตราดได้ในเวลาต่อมา ขุนนางและทหารจากที่ต่างๆ ก็มารวมเข้ากับเจิ้นเจ้า 5,000 คน และสร้างเรือ 100 ลำแล่นผ่านเข้ามาทางแม่น้ำเหม่หลาน ( แม่น้ำเจ้าพระยา ) ในเดือนสิงหาคม ปีที่ 30 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง เจิ้นเจ้าก็กลับไปวั่งเก๋อและฆ่านายทองอินที่เป็นกษัตริย์หุ่นของพม่าตาย และเข้ายึดค่ายพม่าได้ กับทั้งฆ่าซุ่งยี ( สุกี้ ) ที่พม่าตั้งให้ควบคุมได้ เวลานั้นทหารของเจิ้นเจ้ามากขึ้นเป็นหมื่นคน เจิ้นเจ้าได้เป็นบุคคลสำคัญไม่เพียงแต่จะยึดประเทศคืนได้เท่านั้น แต่ยังพยายามทูลเชิญพระญาติราชวงศ์กลับมา ทั้งยังนำพระศพกษัตริย์พระองค์ก่อนมาประกอบพระราชพิธีตามประเพณีด้วย ดังนั้นในเดือนมกราคม ปีที่ 33 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง พ.ศ.2311 คนไทยจึงตัดสินใจเลือกเจิ้นเจ้าเป็นกษัตริย์
จากบันทึกอีกฉบับหนึ่ง แจ้งว่า เมืองไทยในระยะที่ถูกพม่าเข้ายึดครองนี้ กษัตริย์พระองค์เดิมสิ้นพระชนม์ประชาชนยากจน บ้านเมืองเต็มไปด้วยโจรผู้ร้าย “ เจ้าพะหยากันเอินเลอ ” ( เจ้าพระยาตาก ) ได้รวบรวมผู้คนต่อสู้กับอูตูฟัน ได้ทำให้ประเทศสงบเรียบร้อย เจ้าพะหยากันเอินเลอได้รวมประเทศตั้งเมืองหลวงอยู่ที่มั่งกู่ ( บางกอก ) เนื่องจากต้องการให้พลเมืองอยู่ดี จึงให้คนหาของป่านำมาขาย รวมถึงของที่ใช้เป็นอาหารด้วย เจ้าเมืองก๊กต่างๆ ก็เกิดความกลัวเจิ้นเจ้า จากการที่เจิ้นเจ้าเป็นผู้นำที่สามารถ ประกอบกับบ้านเมืองในเวลานั้นไม่สามารถหารัชทายาทมาสืบราชสมบัติได้ ประชาชนจึงตัดสินใจขอร้องให้เจิ้นเจ้าขึ้นเป็นกษัตริย์แทน ระยะนี้เจิ้นเจ้าอยู่ในบางกอก แต่สภาพบ้านเรือนไม่สู้ดีเพราะทุกอย่างปรักหักพังยากที่จะสร้างหรือซ่อมใหม่ได้ จึงตัดสินใจตั้งเมืองหลวงใหม่ขึ้นทางใต้ที่ธนบุรี และเป็นการเริ่มต้นราชวงศ์ธนบุรี ขณะนั้นเจิ้นเจ้ามีอายุ 34 ปี กล่าวกันว่ามีเหตุการณ์หนึ่งที่เจิ้นเจ้าตั้งเมืองใหม่ก็คือเนื่องจากฝันไปว่ากษัตริย์พระองค์ก่อนๆ มาขับไล่ให้ออกไปจากเมืองหลวงเดิม เจิ้นเจ้าเห็นว่าเป็นความฝันที่ไม่ดีจึงตัดสินใจย้ายไปอยู่ธนบุรี และอีกประการหนึ่งคือ กรุงศรีอยุธยายากที่จะซ่อมแซม ส่วนธนบุรีนั้นตั้งอยู่ในยุทธภูมิที่ดี ควบคุมดูแลได้ง่าย ทั้งตั้งอยู่ใกล้ทะเลใช้เป็นท่าเรือค้าขายได้ด้วย
สาเหตุที่ทำให้เจิ้นเจ้าไม่ประสพความสำเร็จ ในการส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงจีนครั้งแรก
ใน พ.ศ.2308 ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับพม่าเริ่มร้าวฉานมากด้วยเรื่องปัญหาทางชายแดน ต่อมาใน พ.ศ.2310 ปีที่ 32 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง จากการที่เกิดความยุ่งยากขึ้นที่ชายแดนนี้ผู้ว่าการมณฑลยูนานของจีนชื่อ “ หยังอิ้งจู้ ” ได้มีหนังสือขึ้นกราบทูลพระเจ้ากรุงจีนเพื่อขอให้พระองค์ทรงส่งกำลังทหารห้าหมื่นคนไปรบกับพม่าเป็นห้าทาง ทั้งยังได้ถวายคำแนะนำให้ชักชวนไทยช่วยต่อต้านพม่าด้วย แต่อย่างไรก็ดีกษัตริย์เกาจง หรือเฉียนหลงทรงเห็นว่า ข้อคิดของหยังอิ้งจู้นี้เป็นสิ่งที่น่าขัน เพราะการที่จะใช้กำลังทหารเป็นจำนวนมากมาย กับการที่จะให้ชาติอื่นมาช่วยรบศัตรูของตนนั้นเป็นการไม่ฉลาดนัก และเป็นการกระทำที่ไม่ดีนัก พระองค์จึงไม่ทรงยอมตาม เพราะทรงเห็นว่าในสมัยราชวงศ์หมิงก็มีตัวอย่างมาแล้ว ในการที่ขอให้ชาติอื่นมาช่วย เนื่องจากระยะนั้นราชวงศ์หมิง ( เหม็ง ) มีอำนาจไม่เข้มแข็งพอผิดกับสมัยราชวงศ์ชิงของพระองค์ จีนมีทหารเต็มไปหมดทั้งในประเทศและนอกประเทศ ทั้งประเทศต่างๆ ก็ได้ส่งเครื่องราชบรรณาการมาให้ช่วยรบต่อต้านพม่า ตอนนั้นกษัตริย์เกาจงไม่ทรงทราบว่าไทยถูกพม่าโจมตีและพม่ายึดเมืองหลวงได้
อย่างไรก็ดีราชวงศ์ชิงได้ตัดสินใจเริ่มทำสงครามกับพม่าในฤดูหนาวปีนั้นเอง แต่ไม่ต้องการกำลังทหารจากประเทศอื่น แต่เนื่องจากไทยมีชายแดนติดกับพม่าและเพื่อป้องกันมิให้กษัตริย์พม่าหลบหนีจีนเข้ามาทางไทย จึงขอร้องให้ไทยช่วยปิดเส้นทางให้ ในสมัยนั้นมณฑลกว่างตุ้งและอำหมัน ( หม่าเก๊า ) เป็นท่าเรือนานาชาติมีเรือค้าขายมาเทียบมาก ในวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ.2310 อันเป็นปีที่ 32 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง นั้นเองพระองค์โปรดให้ผู้ว่าการมณฑลกว่างตุ้ง – กว่างชี ชื่อว่า “ ซื่อหยา ” ให้ส่งหนังสือแจ้งมาให้ไทยช่วยคอยระวังกษัตริย์พม่าซึ่งอาจจะหนีเข้ามาทางไทยเมื่อจีนเข้าตีพม่า วันต่อมาขุนนางก็ได้จัดส่งหนังสือประทับตราเรื่องนี้ไปยังผู้ว่าการมณฑลกว่างตุ้ง – กว่างชี และเดือนกันยายนปีเดียวกัน มีเรือสินค้าของอันหนาน ( ญวน ) ล่องมาจากเมืองกว่างโจ้วลำหนึ่ง ซื่อหยาจึงได้ฝากส่งหนังสือให้ฉู่ฉวนนำไปกับเรือลำนั้น เพื่อนำพระราชสาส์นส่งต่อเข้ามาถวายไทยและกะว่าเมื่อถึงอันหนานฉู่ฉวนจะได้ส่งมอบให้ขุนนางของ “ โม่ซื่อหลิน ” เจ้าเมืองเหอเฉี้ยนให้ช่วยนำพระราชสาส์นส่งต่อให้ “ ผู่หลันเป้ ” ขุนนางไทยต่อไป
วันที่ 9 กันยายน ฉู่ฉวนได้ให้ขุนนางชื่อ “ หวังกวั้วเจิ้น ” ไปอันหนานกับตนด้วยกับอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของเรือชื่อ “ หยังจิ้นจง ” ทั้งหมดได้ขึ้นเรือ “ ม่อกว่างอี้ ” ออกเดินทางจากฝู่หมึน ( ประตูเสือ – Tiger Gate) และในวันที่ 10 ตุลาคมก็ถึงอ่าวอันหนาน แต่เนื่องจากอากาศไม่ดี ลมแรงมาก เรือไม่สามารถเข้าฝั่งได้ต้องหยุดอยู่ วันที่ 12 ตุลาคม ลมยิ่งแรงมากจนเสากระโดงเรือเสาหนึ่งหักลง วันรุ่งขึ้นลมยิ่งแรงมากขึ้นอีกจนต้องแล่นเรือออกจากอ่าวไป จนวันที่ 3 พฤศจิกายน เรือได้ไปหยุดที่ “ ลู่เควิน ” ( น่าจะเป็นเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งมักเรียกสั้นๆ ว่า เมืองละคร )
ในระหว่างนั้นฉู่ฉวนได้ล้มป่วยลงเป็นอหิวาตกโรค องครักษ์ชื่อ “ ไม่เซิน ” ได้รายงานแจ้งไปยังขุนนางที่ลู่เควิน ในวันที่ 5 พฤศจิกายน ก็นำฉู่ฉวนลงจากเรือขึ้นฝั่งไปยังวัดอู่ตี้ เจ้าหน้าที่ของลู่เควินได้ส่งหมอชื่อ “ ไหน่ซู่ไหน่เจี้ยน ” มารักษา ส่วนไม่เซินเองก็ส่งหมอจีนไปตรวจอาการด้วยเพราะไม่เชื่อถือหมอของเมืองลู่เควิน แต่ฉู่ฉวนก็สิ้นชีวิตลงในวันที่ 15 พฤศจิกายนนั้น และปราก ฏ ว่า หวังกวั้วเจิ้นติดโรค ล้มป่วยลงในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2311 และสิ้นชีวิตลงในวันที่ 22 มกราคมนั้นเอง
วันที่ 2 มกราคม พ.ศ.2311 อันเป็นปีที่ 33 ของรัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง พระเจ้าเฉียนหลงทรงมีรับสั่งให้ขุนนางมีหนังสือไปยังซื่อหยาให้ติดตามเหตุการณ์ในเมืองไทยเป็นพิเศษ ในหนังสือนั้นมีข้อความเป็นทำนองว่า ถ้ากษัตริย์ไทยทรงตัดสินพระทัยที่จะรวบรวมประเทศขึ้นใหม่แต่ไม่มีอำนาจและถ้าอยากให้จีนส่งกองทัพไปช่วยแล้ว ทางจีนก็ยินดีจะส่งกองทัพไปช่วย แต่ในขณะเดียวกันก็ขอให้ไทยช่วยจีนรบพม่าด้วย
ในวันที่ 1 สิงหาคม เจิ้นเจ้าได้ส่งขุนนางชื่อ “ เฉินเหม๋ ” ให้นำพระราชสาส์นไปถวายพระเจ้าเฉียนหลง ในหนังสือนั้นมีความว่า เจ้าพะหยากันเอินเลอขอแสดงคารวะมายังพระจักรพรรดิกราบถวายบังคมมา 3 ครั้ง และคำนับต่อพระองค์ 9 ครั้ง พระเจ้าแผ่นดินไทยและประชาชนชาวไทยขอกราบถวายบังคมมา เนื่องจากประเทศไทยจงรักภักดีต่อพระองค์ทำให้เพื่อนบ้านไม่กล้ามา รบกวนโจมตี แต่อย่างไรก็ดี บัดนี้พม่าได้หักหาญยกทัพมาตีไทยถึง 3 ครั้ง และเมืองหลวงถูกทำลาย ข้าพระพุทธเจ้าใคร่ขอความช่วยเหลือมายังพระองค์ท่าน เชื่อแน่เหลือเกินว่าพระองค์ท่านคงจะช่วยเหลือ เพราะคงจะไม่ต้องการให้ไทยเสียเอกราชกับพม่า และขณะนี้กษัตริย์ไทยกับพระอนุชาอีกสองพระองค์รวมทั้งขุนนางอื่นๆ ไม่สามารถจะกู้ประเทศกลับคืนมาได้ ดังนั้นข้าพระพุทธเจ้าจึงขอร้องให้ “ จันเอ๋อเหวิน ” (จันทบุรี ซึ่งเป็นอีกสำเนียงหนึ่งที่จีนเรียกเพี้ยนไปจาก “ จันเจ๋ออ๋วน ” มาช่วย แต่เมื่อมาก็ปรากฏว่าเมืองแตกแล้ว ประชาชนก็พากันหนี เพราะในเมืองเต็มไปด้วยความอดอยาก ถ้าพระองค์ท่านได้เห็นก็คงจะทรงรู้สึกเวทนาพวกเขาเหล่านั้น ในสมัยโบราณมาไทยก็เคยส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวาย และพระองค์ท่านก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มอบของตอบแทนกลับไป ทั้งได้รับความยกย่องจากพระองค์ท่านจนเพื่อนบ้านก็ยอมเกรงกลัว แต่ขณะนี้ประเทศของข้าพระพุทธเจ้ากำลังแตกแยกระส่ำระสาย รอบๆ ประเทศในป่าเขาเต็มไปด้วยโจรผู้ร้าย ทั้งประเทศไม่มีผู้ปกครองดูแลควบคุม ข้าพระพุทธเจ้าจึงส่งผู้คนไปรบกับอูตูฟัน ( พม่า ) และ “ เหวินสึ ” (เข้าใจว่าคือพวกมอญ) เพราะทั้งสองประเทศนี้ได้ส่งกองทัพมาโจมตี แต่เนื่องจากพระองค์ท่านทรงประทานพร จึงทำให้ข้าพระพุทธเจ้าสามารถรบกับพม่าต่อไปได้และได้รับชัยชนะ แต่ข้าพระพุทธเจ้าก็ยังไม่พบพระอนุชาของกษัตริย์พระองค์ก่อนที่จะอัญเชิญกลับมาครองราชย์ เพราะเนื่องด้วย “ หูซื่อลู๋ ” (ไม่ทราบว่าคือเมืองใดแน่) “ ลู่เควิน ” และ “ เกาเลีย ” เป็นเมืองในอาณาจักรของอังวะไม่ยอมขึ้นกับไทย
ดังนั้นข้าพระพุทธเจ้าจึงใคร่ขอให้พระองค์ทรงพระกรุณาช่วยไทยเพื่อให้กลับเป็นประเทศที่เจริญดังในอดีต อันเป็นที่เคารพยำเกรงของประเทศเพื่อบ้าน พวกโจรผู้ร้ายก็จะหมดสิ้นไป แต่เนื่องจากพวกข้าพระพุทธเจ้าไม่มีเงินและอาหารมากนัก จึงได้เข้าไปหางาช้าง ไม้ดีๆ และนกมาแลกเปลี่ยนเป็นเงินเพื่อซื้ออาหาร ประกอบกับข้าพระพุทธเจ้าไม่มีขุนนางมากนัก จึงยังไม่สามารถปราบปรามอาณาจักรอิสระเล็กๆ ได้ และถ้าไทยมีกษัตริย์พระองค์ใหม่ที่ทรงพระปรีชาสามารถ และพระองค์ทรงยอมรับว่าเป็นกษัตริย์ที่ถูกต้อง ประชาชนและกองทัพก็จะร่วมรบและปราบอาณาจักรอิสระได้
ข้าพระพุทธเจ้าได้ส่งเรืออันเต็มไปด้วยเครื่องราชบรรณาการมาถวายแด่พระองค์ และข้าพระพุทธเจ้าจะขอเป็นข้าบาทมูลรับใช้พระองค์ตลอดไป ถ้าพม่าส่งกองทัพมาอีก ข้าพระพุทธเจ้าก็จะต่อสู้ และถ้าพระองค์ทรงส่งกองทัพไปปราบพม่า ข้าพระพุทธเจ้าก็จะทำตามพระราชบัญชา แต่ข้าพระพุทธเจ้าก็ยังไม่แน่ใจนักว่า การขอร้องของข้าพระพุทธเจ้าจะมีผลหรือไม่ เพราะขณะนี้ข้าพระพุทธเจ้าไม่ทราบว่ากษัตริย์องค์ก่อนๆ ทรงส่งเครื่องราชบรรณาการอย่างไร เพราะพระราชกำหนดและพระราชบัญญัติต่างๆ ของเดิมนั้นได้ถูกเผาไปหมดในระหว่างสงคราม ถ้าพระองค์จะทรงพระกรุณาให้ข้าพระพุทธเจ้าได้ทราบถึงกฎระเบียบต่างๆ แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าก็จะได้จัดส่งของดังที่กษัตริย์พระองค์ก่อนๆ ทรงส่งไปเป็นเครื่องราชบรรณาการ
ในปีนั้นเองหัวหน้ารัฐอิสระอื่นๆ ก็ได้มีสาส์นไปถวายพระเจ้ากรุงจีน เพื่อขอให้พระองค์ทรงยอมรับตนเป็นกษัตริย์ที่ถูกต้องของกรุงศรีอยุธยา สืบต่อจากกษัตริย์พระองค์เดิมที่สิ้นพระชนม์ในระหว่างสงคราม เมื่อยังมีรัฐอิสระหลายรัฐ นับว่าเจิ้นเจ้าจึงยังไม่สามารถรวมประเทศไว้ได้ทั้งหมดอย่างแท้จริง พระเจ้ากรุงจีนจึงยังไม่ทรงยอมรับว่าเจิ้นเจ้าเป็นกษัตริย์ ถ้าเจิ้นเจ้าต้องการให้เป็นที่ยอมรับในบรรดาประเทศเพื่อนบ้านนั้น เจิ้นเจ้าจะต้องขอพระราชทานนามพิเศษจากพระเจ้ากรุงจีนให้ได้เสียก่อน เพราะถ้าได้นามพิเศษแล้ว เจิ้นเจ้าก็จะมีฐานะพิเศษในประเทศ นั้นคือแม้ว่าประชานจะเลือกเจิ้นเจ้าเป็นกษัตริย์ด้วยความเคารพนับถืออย่างแท้จริง และได้ขอร้องให้เป็นกษัตริย์ของอาณาจักรไทยก็ตาม แต่ก็ยังไม่สำคัญเท่าได้รับคำประกาศแต่งตั้งพิเศษจากพระเจ้ากรุงจีน เพราะจะเป็นการสนับสนุนให้ประเทศเพื่อนบ้านยอมรับนับถือด้วย
ผู้ที่นำสาส์นของเจิ้นเจ้าไปถวายพระเจ้ากรุงจีนชื่อ “ เฉินเหม๋ ” และยังมีหนังสืออีกฉบับหนึ่งนำไปมอบให้ผู้ว่าการมณฑลกว่างตุ้ง – กว่างซี เจ้าเมืองคนนี้ชื่อ “ หลี่ซื่อหยา ” ซึ่งก็ได้นำความในสาส์นของเจิ้นเจ้าที่มีถึงพระเจ้ากรุงจีนขึ้นกราบบังคมทูลด้วย พร้อมทั้งกราบบังคมทูลพระเจ้ากรุงจีนถึงข้อพิจารณาว่าควรจะมีพระราชสาส์นส่งกลับไปยังเจิ้นเจ้า นอกจากนี้ผู้ว่าการมณฑลกว่างตุ้ง – กว่างซี ยังได้ตำหนิเฉินเหม๋ว่าทำไม่ถูกต้อง
วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2311 ปีที่ 33 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง พระองค์ทรงตกลงตามที่หลี่ซื่อเหยากราบทูลเสนอมา เพราะพระองค์ทรงมีพระราชดำริว่า เจิ้นเจ้าเป็นบุคคลธรรมดาไม่ควรจะมาทำอะไรตามแบบที่กษัตริย์ไทยพระองค์ก่อนๆ ได้ทรงกระทำหรือปฏิบัติต่อพระองค์
ข้อความในหนังสือที่ผู้ว่าการมณฑลกว่างตุ้ง – กว่างซี ได้ร่างขึ้นถวายพระเจ้าเฉียนหลงให้ทรงพิจารณาก่อนที่จะส่งไปยังเจิ้นเจ้านั้นความเป็นทำนองว่า กันเอินเลอนั้นเป็นสามัญชนธรรมดาซึ่งได้เดินทางท่องเที่ยวไปดุจโจรสลัด จึงควรเป็นหัวหน้าสลัดมากกว่าที่จะเป็นกษัตริย์ ทั้งไม่ควรเปรียบตนเองเช่นกษัตริย์ แม้ว่าอาณาจักรไทยจะอยู่ในภัยอันตราย และเจิ้นเจ้าได้ช่วยเหลือไว้ได้ แต่ก็ไม่มีสิทธิที่จะเป็นกษัตริย์สืบไป แม้จะกอบกู้เอกราชของชาติไว้ได้ซึ่งนับว่าเป็นการดี แต่การที่จะพยายามตั้งตนเป็นกษัตริย์โดยที่ตนไม่มีเชื้อสายจึงไม่เป็นที่ยอมรับ
หลี่ซื่อเหยาได้ว่ากล่าวตำหนิต่อเฉินเหม๋ถึงสิ่งที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้ พระเจ้าเฉียนหลง นั้น แม้ว่าจะทรงเห็นด้วยกับหลี่ซื่อเหยา แต่ก็ทรงตำหนิหลี่ซื่อเหยาที่ทำอะไรแบบไม่เคารพต่อเฉินเหม๋ ทั้งยังทรงแนะนำหลี่ซื่อเหยาให้จัดส่งหนังสือพร้อมทั้งอธิบายเหตุผลต่างๆ ไปให้เจิ้นเจ้าเข้าใจทำนองว่า จีนเป็นประเทศที่เคารพต่อกฎหมายหรือสิ่งที่ถูกต้อง เราไม่สามารถยอมรับสิ่งที่ไม่เหมือนเดิมได้ เพราะเรื่องที่ขอให้ทางจีนยอมรับว่าเจิ้นเจ้าเป็นกษัตริย์ไทยนั้น คนอื่นๆ ก็ต้องการเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะเจิ้นเจ้าก็มีสภาพเหมือนกับผู้ลุแก่อำนาจยึดเอาตำแหน่งของกษัตริย์พระองค์ก่อนมา นอกจากนี้พระเจ้าเฉียนหลงยังได้ทรงแนะนำหลี่ซื่อเหยาให้อธิบายเช่นนี้ต่อคนอื่นๆ ที่ต้องการเป็นกษัตริย์ไทยอย่างเจิ้นเจ้าด้วย มิใช่ว่าจะไปว่ากล่าวตำหนิอย่างเดียวแล้วไม่อธิบายอะไรเลย เมื่อหลี่ซื่อเหยาทราบเรื่องนี้จึงได้เขียนหนังสือขึ้นสองฉบับเพื่อให้เฉินเหม๋นำกลับไปให้เจิ้นเจ้าหนึ่งฉบับ และให้ขุนนางส่งไปให้เจ้าเมืองเหอเฉี้ยนชื่อโม่ซื่อหลิง (เจ้าพระฝางเรือน) อีกฉบับหนึ่ง แต่เนื่องจากตนเองก็ไม่อาจจะร่างหนังสือให้ถูกต้องได้ จึงได้มอบให้ขุนนางคนหนึ่งเตรียมหนังสือทั้งสองฉบับให้ แล้วตนเป็นผู้กลั่นกรองอีกทีหนึ่งก่อนที่จะมอบให้เฉินเหม๋นำกลับไปให้เจิ้นเจ้า ซึ่งในหนังสือฉบับนั้นมีความว่า “ การที่เจิ้นเจ้าจะให้จีนยอมรับว่าเป็นกษัตริย์ และพระราชทานตราตำแหน่งพิเศษมาให้นั้น จีนไม่สามารถให้ได้เพราะมิได้เป็นไปตามประเพณีเดิม ที่ถูกต้องแล้ว เจิ้นเจ้าควรที่จะสืบหาองค์รัชทายาท และช่วยพระองค์กอบกู้ประเทศชาติ และอัญเชิญขึ้นเป็นกษัตริย์ แต่เจิ้นเจ้าก็มิได้ทำเช่นนี้ กลับจั้งตนขึ้นเป็นกษัตริย์เสียเอง ทางจีนขึงไม่เห็นชอบด้วยกับความไม่ถูกต้องและผิดศีลธรรมเช่นนี้ และนอกจากนี้ยังมีรัฐอื่นๆ อีก 3 รัฐที่ยังคงต่อสู้และต่อต้านท่านอย่างเช่น “ หลูซื้อลู่ ” ทั้งนี้เพราะท่านมิได้เป็นองค์รัชทายาท ท่านควรจะเคารพต่อกษัตริย์บรรพบุรุษเดิม ดังนั้นจึงขอให้ท่านสืบค้นหาองค์รัชทายาทและช่วยพระองค์กอบกู้ประเทศชาติ ”
สำหรับหนังสือที่มีไปถึงโม่ซื่อหลิงนั้นความว่า พระเจ้าเฉียนหลงมิได้ทรงยอมรับโม่ซื่อ หลิงแต่ประการใด แต่การที่เซ่าเทร่ได้หนีไปอยู่ที่เมืองเหอเฉี้ยน และโม่ซื่อหลิงได้ช่วยเหลือสนับสนุนนั้นก็เป็นการดี ถือว่าเป็นผู้รู้ขนบธรรมเนียบประเพณี และมีศีลธรรม ดังนั้นเราจึงขอมอบเสื้อให้เพื่อเป็นการแสดงว่าเราเห็นด้วยกับการกระทำของท่านที่ได้กระทำไป
จากเรื่องดังกล่าวนี้จะเห็นว่าเมืองไทยดูเหมือนอยู่ภายใต้อาณัติจีนมาเป็นเวลานาน เพราะได้ถวายเครื่องราชบรรณาการต่อพระเจ้ากรุงจีนสืบต่อมาเรื่อยๆ จีนจึงเคารพกษัตริย์ไทย และเมื่อเจิ้นเจ้าพยายามตั้งตนเป็นกษัตริย์ จีนจึงไม่ยอมรับเพราะทราบว่าองค์รัชทายาทยังมีพระชนม์อยู่ ตำแหน่งพิเศษที่จีนให้เป็นตราไว้นั้นจึงยังคงใช้ได้ แต่จีนจะไม่ยอมให้ตราใหม่แก่เจิ้นเจ้า นี่เป็นเหตุการณ์ครั้งแรกที่เจิ้นเจ้าไม่ได้รับความสำเร็จในการถวายเครื่องราชบรรณาการจีนครั้งแรก
การถวายเครื่องราชบรรณาการครั้งที่สอง
เดือนกันยายน พ.ศ.2311 ปีที่ 33 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง “ ซ่าหวังจี๋ ” ซึ่งเป็นองค์รัชทายาทของไทยได้เดินทางจากเมืองวั่งเก๋อกลับไปเมืองหลวง แต่ในวันที่ 25 ตุลาคมก็ถูกปลงพระชนม์ เวลานั้นหลี่ซื่อเหยาผู้ว่าการมณฑลกว่างตุ้ง – กว่างซีได้มีหนังสือมาถึงเจิ้นเจ้าสองเดือนกว่าแล้ว แต่พระเจ้ากรุงจีนยังมิได้ทรงรับหนังสือตอบจากเจิ้นเจ้าแต่อย่างใด อีกประการหนึ่งทางพม่า จีนได้ส่งขุนนางชื่อ “ เฉินเช่อ ” ให้ไปรบต่อต้านพม่าและยึดเมืองอังวะได้ ในเวลาต่อมาก็ยังไม่มีหนังสือถวายรายงานไปจีนว่าไทยได้พยายามรวบรวมประเทศเป็นอย่างไร แต่โม่ซื่อหลิงเจ้าเมืองเหอเฉี้ยนได้ส่งภาพเส้นทางเดินเรือที่แสดงเส้นทางจากกว่างตุ้งไปยังพม่าและไปไทย กับทั้งได้กราบบังคมทูลในหนังสือว่าตนจะทำอะไรในอนาคตส่งถวายไปยังพระเจ้ากรุงจีนด้วย ดังนั้นพระเจ้าเฉียนหลงจึงได้ทรงส่งขุนนางนำความตามหนังสือนั้นไปมอบให้หลี่ซื่อเหยา ทั้งมีรับสั่งให้หลี่ซื่อเหยาจัดหาขุนนางเดินทางไปยังเมืองเหอเฉี้ยนโดยเร็วที่สุด เพื่อไปสอบถามเรื่องราวและเหตุการณ์ต่างๆ ในไทยและขอให้ส่งรายงานไปยังจีนด้วย หลี่ซื่อเหยาก็ได้ปฏิบัติตามรับสั่งโดยเลือก “ เจิ้นเร่ ” และ “ เฉินถาหยัง ” ให้ลงเรือสินค้าไปเมืองเหอเฉี้ยน
มีขุนนางอีกคนหนึ่งที่จีนส่งไปรบพม่าคือ “ หมิงเร่ ” แต่ถูกฆ่าตาย พระเจ้าเฉียนหลงจึงทรงส่งฟู่เหินไปบัญชาการรบ และส่ง “ อาหลีก๋วน ” กับ “ อากุ้ย ” ไปเป็นที่ปรึกษา ขุนนางต่างๆ เหล่านี้เกรงว่า “ ม่องปั๋ง ” กษัตริย์พม่าอาจจะทรงหลบหนีไปยังประเทศอื่น ดังนั้นพระเจ้าเฉียนหลงจึงทรงมีรับสั่งให้ “ ฟู่เหิน ” ติดต่อกับเจ้าเมือง “ หนานสั่ง ” ขอให้ช่วยร่วมตีต้านพม่า
วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2312 ปีที่ 34 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง พระองค์โปรดให้ขุนนางคนหนึ่งเขียนแผนที่จะเริ่มรบกับพม่า และทรงมีหนังสือส่งไปยังหลี่ซื่อเหยาให้ประทับตราส่งไปยังไทย หนังสือฉบับนี้เป็นหนังสือขอให้ไทยช่วยรบป้องกันกษัตริย์พม่ามิให้หนีออกไปทางเขตไทย นอกจากนี้ ยังทรงมีรับสั่งถามว่าเจิ้นเจ้าได้พบองค์รัชทายาทที่แท้จริงของไทยหรือยัง ได้พบพวกตระกูลเซ่าซึ่งเป็นทายาทของไทยและได้ช่วยกันรวบรวมประเทศหรือเปล่า และเจิ้นเจ้ายังคงว่าการภายในประเทศอยู่หรืออย่างไร ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ขอให้เจิ้นเจ้ามีหนังสือถวายรายงานไปจีนด้วย ทั้งนี้เพราะพระองค์ต้องการจะทราบว่าผู้ใดเป็นกษัตริย์ไทยในเวลานั้น
วันที่ 27 มิถุนายน เจิ้นเร่ กับ “ ม่อเหวินหลง ” ขุนนางที่โม่ซื่อหลิงส่งไปจากเมืองเหอเฉี้ยน ได้ลงเรือเดินทางจากเหอเฉี้ยนไปยังกว่างโจว โดยนำหนังสือสองฉบับจากโม่ซื่อหลิงไปถวายพระเจ้ากรุงจีน ฉบับหนึ่งเป็นรายงานเหตุการณ์ในไทย กับอีกฉบับหนึ่งเป็นรายงานเหตุการณ์ในพม่า เจิ้นเร่ได้กราบทูลถวายรายงานเหตุการณ์ระหว่างไทยกับพม่า และกล่าวถึงเส้นทางเรือระหว่างจีนกับไทย ในรายงานของเจิ้นเร่นั้นว่า โม่ซื่อหลิงเจ้าเมืองเหอเฉี้ยนได้ส่ง “ เฉินหลัง ” ให้ยกทัพไปตีเจิ้นเจ้าเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว และเดือนมกราคมตีได้เมือง “ ถงไจ้ ” ต่อมาเดือนกุมภาพันธ์โม่ซื่อ หลิงได้ส่ง “ เฉินจี้ ” ให้ยกกองทัพไปช่วยเฉินหลัง และพยายามเข้าตี “ ซานเส๋อเหวิน ” (น่าจะเป็นเมืองสวรรคโลก) และยังได้ส่ง “ เฉินชิ้งซั้ง ” ไปด้วย แต่ก่อนที่เฉินชิ้งซั้งจะถึง เฉินหลังก็สามารถยึดซานเซ๋อเหวินได้และจับเจ้าเมืองชื่อ “ หลิงกงเซิ่น ” ไดนำตัวไปยังเหอเฉี๋ยน เฉินชิ้งซั้งได้จัดส่งทหาร 2 , 000 คน ยกไปตี วั๋งเก๋อ ที่เจิ้นเจ้าตั้งอยู่ แต่กองทัพเจิ้นเจาค่อนข้างเข็มแข็ง เฉินชิ้งซั้งจึงไม่อาจยึดวั่งเก๋อ ได้ง่าย ในหนังสือนั้น โม่ซื่อหลิงยังได้อธิบายอีกว่า เจิ้นเจ้าได้ตั้งตนเป็นกษัตริย์ ได้ประหารชีวิตซ่าหวังจี๋องค์รัชทายาท และได้นำบรรดาสตรีในวังไปเป็นของตน เจิ้นเจ้าได้ทำอาชญากรรมไว้มาก ประชาชนไม่ชอบ และมีรัฐอิสระหลายรัฐที่พยายามร่วมกันรบต่อต้านเจิ้นเจ้าเพื่อรวมชาติให้ดีดังเดิม
หนังสือฉบับนี้ได้ส่งไปให้หลี่ซื่อเหยา ซึ่งหลี่ซื่อเหยาก็ได้ชมเชยโม่ซื่อหลิงว่าทำชอบแล้วที่ได้พยายามช่วยประชาชนให้พ้นจากอันตราย เนื่องจากพระเจ้าเฉียนหลงไม่ทรงเข้าใจเหตุการณ์ที่แท้จริงในไทย จึงทรงส่งคนไปสืบถามรายละเอียด ดังนั้นเมื่อทรงได้รับรายงานจากโม่ซื่อหลิงก็ทรงคิดว่าเจิ้นเจ้าเป็นบุคคลอันตรายทำให้เหตุการณ์ปั่นป่วน และยังพยายามตั้งตนเป็นกษัตริย์
วันที่ 4 กรกฎาคม หลี่ซื่อเหยาได้รับพระราชโองการให้ส่งหนังสือต้นฉบับที่จะส่งไปไทยกลับคืนไปยังเมืองหลวง หลี่ซื่อเหยาได้กราบทูลพระเจ้าเฉียนหลงไปว่า รัชทายาทของไทยยังไม่พบ แต่เจ้าเมืองเหอเฉี้ยน คือ โม่ซื่อหลิงก็ได้อ่อนน้อมเชื่อฟังพระองค์ เป็นคนถ่อมตัวและสุภาพมาก ผู้นี้ได้ยึดเมืองซานเส๋อเหวินได้และยังรวบรวมรัฐอื่นๆ เพื่อต่อต้านเจิ้นเจ้าด้วย จากเหตุการณ์นี้จะเห็นได้ว่าโม่ซื่อหลิงมีอำนาจมากพอที่จะรบต้านทานพม่าได้เป็นการปฏิบัติตามพระราชโองการแล้ว
วันที่ 5 กรกฎาคม หลี่ซื่อเหยาได้ทำตามความคิดของตนด้วยการส่งหน่วยกองโจรมี “ ไช่ฮั่น ” เป็นหัวหน้าไปเมืองเหอเฉี้ยน โดยได้ส่งหนังสือฉบับหนึ่งและผ้าไหมและเสื้อผ้าไปมอบให้โม่ซื่อหลิง จดหมายฉบับนั้นเป็นฉบับสำเนาคัดลอกจากหนังสือของพระเจ้าเฉียนหลงที่ทรงมีไปถึงกษัตริย์ไทย เป็นจดหมายที่ทรงขอให้ไทยช่วยรบต้านพม่า อย่างไรก็ดีเหตุการณ์นี้พระเจ้ากรุงจีนมิได้ทรงเห็นด้วยกับการกระทำของหลี่ซื่อเหยา
วันที่ 14 กรกฎาคม พระเจ้าเฉียนหลงทรงมีหนังสือฉบับหนึ่งถึงหลี่ซื่อเหยาความว่า ทางไทยไม่อาจหาองค์รัชทายาทได้ และอำนาจที่แท้จริงก็ตกอยู่กับเจิ้นเจ้า ( กันเอินเลอ ) เป็นการยากที่จะหารัชทายาทเดิมให้มารวบรวมประเทศ และตั้งแต่นี้ไทยก็มีผู้มีอำนาจอยู่แล้ว ราชสำนึกจีนจึงเปลี่ยนทัศนคติเดิมที่มีต่อไทย เพราะเหตุการณ์วุ่นวายภายในไทยนั้นจีนไม่ต้องการเข้าไปยุ่งหรือเกี่ยวข้องด้วย
วันที่ 18 กรกฎาคม หลี่ซื่อเหยาได้ส่งพระราชสาส์นของพระเจ้าเฉียนหลงไปยังโม่ซื่อหลิง แจ้งไปว่า ไทยนั้นอยู่ไกลเกินกว่าที่จีนจะควบคุมได้ ทั้งได้คัดค้านเจิ้นเจ้าในการที่ยึดอำนาจตั้งตนเป็นกษัตริย์ และยังตีเมืองต่างๆ เราควรจะป้องกันมิให้เจิ้นเจ้ารวบรวมประเทศได้ อย่างไรก็ดีโม่ซื่อหลิงก็พยายามที่จะยึดอำนาจในประเทศ จากหนังสือของแม่ทัพใหญ่ที่ไปรบพม่าแจ้งมายังจีนว่าโม่ซื่อหลิงได้ทำดีทุกอย่าง พยายามกู้ชาติ แม่ทัพใหญ่จีนชมเชยโม่ซื่อหลิงมาก
เดือนพฤศจิกายน เจิ้นเจ้าได้ยึดเมืองลู่เควินได้ จากนั้นได้เริ่มส่งกองทัพเข้าตีเขตของโม่ซื่อหลิงด้วยการยึดซานเส๋อเหวินคืนมาได้ ปีต่อมาก็ยึด “ หูซื่อลู่ ” คืนได้อีก เจิ้นเจ้าได้ปกครองภาคเหนือของไทย ถ้าพูดตามความจริงแล้วเวลานั้นเจิ้นเจ้าก็สามารถรวบรวมประเทศขึ้นได้อีกเหมือนเดิม
วันที่ 4 ธันวาคม แม่ทัพเรือจีนได้เดินทางไปถึงเมืองเหอเฉี้ยน โม่ซื่อหลิงจึงได้ส่งขุนนางคนหนึ่งให้นำหนังสือของตนไปกว่างตุ้งเพื่อนำขึ้นถวายพระเจ้ากรุงจีน ในหนังสือนั้นมีความว่า เวลานี้เมืองไทยไม่มีกษัตริย์และองค์รัชทายาทก็พลัดพรากสาปสูญไป แต่มีขุนนางเก่าที่มีอำนาจอยู่ 2-3 คน แต่ก็มิได้มีอำนาจอย่างแท้จริง ตนเองได้พยายามทำดีที่สุดแล้ว
หนังสือตอบจากหลี่ซื่อเหยาผู้ว่าการมณฑลกว่างตุ้ง – กว่างชีมีถึงโม่ซื่อหลิงว่า ตนได้รับหนังสือจากโม่ซื่อหลิงแล้ว และทราบว่าโม่ซื่อหลิงได้พยายามทำดีที่สุดแล้ว แต่อย่างไรก็ดีตนเองก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเมื่อกษัตริย์ไทยตกอยู่ในอันตรายและเซ่าเทร่ได้หลบหนีไปเมือเหอเฉี้ยน ท่านเองได้ยึดตัวเซ่าเทร่ไว้และไม่ยอมช่วยเขารวบรวมประเทศ และขอให้ท่านส่งเซ่าเทร่ให้กลับไปเมืองหลวงท่านก็มิได้ส่งไป และเมื่อพระเจ้ากรุงจีนทรงรับสั่งถึงข่าวคราวมาหลายครั้งเกี่ยวกับเหตุการณ์ภายในประเทศ ท่านก็มิได้ตอบแต่คิดถึงแต่ตนเอง และขอให้พระเจ้ากรุงจีนช่วยท่านเท่านั้น ท่านมิได้คิดที่จะรวบรวมประเทศ ทั้งนี้เพราะท่านไม่กล้าโจมตีเจิ้นเจ้า ท่านคิดถึงแต่ตัวท่าน นี่แสดงว่า หลี่ซื่อเหยาเริ่มคิดสงสัยและไม่พอใจโม่ซื่อหลิง
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2313 ปีที่ 35 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง ไช่ฮั่นแม่ทัพกองโจรของจีนได้มีหนังสือไปถึงเจิ้นเจ้าขอร้องให้ช่วยจับกษัตริย์พม่า และในเดือนธันวาคมปีนั้น เจิ้นเจ้าได้โจมตี “ ชิงไหม ” (เชียงใหม่) ที่พม่ายึดไว้คืนได้ และจากคำให้การของขุนนางไทยคนหนึ่ง ชื่ อ “ คุนหมีซีเหนอฉา ” (ไม่ทราบว่าเป็นใคร) ให้การว่า เจิ้นเจ้าได้นำกำลังทหาร 40,000 คนไปตีเมืองชิงไหม และหัวเมืองตะวันออกก็ยกมาสมทบอีก 20,000 คน และล้อมอยู่หลายวันแต่เนื่องจากขาดอาหารและดินปืนจึงยกทัพกลับ
ระหว่างการรบครั้งนี้ เจิ้นเจ้าได้จับ “ ฟ่าตูฟัน ” “ เชี่ยตูเยี่ยนต๋า ” ชาย 10 คน หญิง 41 คน ซึ่งเป็นชาวชิงไหมกับแผนที่ และได้มอบให้แม่ทัพ 4 คนนำไปกว่างตุ้ง แม่ทัพทั้งสี่นั้นคือ “ หลังป๋าฉาหนอเพหวนซื่อตุ้ย ” “ ควนหมีเจ๋อชีหนีฉา ” “ หลังซวนทวนวั่นนี่ซูซี่ ” และ “ เชี้ยไค้ช้วน ” (ความตอนนี้ไม่ปรากฏในพงศาวดารไทย จึงไม่ทราบได้ว่าชื่อแม่ทัพทั้งสี่จะตรงกับภาษาไทยว่าเป็นมครบ้าง)
วันที่ 9 มิถุนายน ไช่ฮั่นก็ได้เดินทางกลับกว่างตุ้งเพื่อนำหนังสือมาโม่ซื่อหลิง และเซ่าเทร่กลับไปถวายกษัตริย์จีน ในหนังสือของโม่ซื่อหลิงนั้นแจ้งว่าตนได้ปฏิบัติตามพระราชประสงค์ของพระเจ้ากรุงจีนแล้ว ทั้งยังได้แจ้งไปยังประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ ให้ช่วยป้องกันต่อต้านและทำลายพม่า และได้รวบรวมรัฐเพื่อนบ้านให้ช่วยจีนรบพม่า แต่เนื่องจากขณะนี้เจิ้นเจ้ายึดลู่เควินได้ และยังมาโจมตีเมืองของตนด้วยเพื่อยึดสิ่งต่างๆ ที่พระเจ้ากรุงจีนพระราชทานมาเมื่อปีที่แล้ว แม้ว่าตนจะได้ส่งเซ่าเทร่ไปให้เจิ้นเจ้าแล้วก็ตาม
วันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2314 ปีที่ 36 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง “ หลังป๋าฉาหนอเพหวนซื่อตุ้ย ” และคนอื่นๆ ก็ได้นำคนและของอื่นๆ ไปถึงเมืองหนานไห่ มณฑลกว่างตุ้ง และได้ขอให “ อู๋อู๋ฮั่น ” เจ้าเมืองรายงานไปถึงหลี่ซื่อเหยา รวมทั้งแจ้งว่าชาย 2 คน กับหญิง 10 คนได้เสียชีวิตลงในระหว่างทาง ดังนั้นจึงมีคนเหลือไปกว่างตุ้งเพียง 39 คน จากคำให้การของเจ้าเมืองชิงไหมชื่อ “ เน่เชี่ยตู้เยี่ยนต๋า ” ที่ถูกจับส่งไปจีนได้ให้การว่า ตนอยู่ภายใต้ความควบคุมของเจ้าชายเมืองอังวะ ทรงพระนามว่า “ ซุยน่าเอียนม่าอาเก่อลี่ ” เริ่มทีเดียวตนและเจ้าชายอังวะได้เข้าตียึดเมืองชิงไหม และรักษาเมืองอยู่ เจ้าชายอังวะทรงแต่งตั้งพระบิดาของพระสนมให้เป็นเจ้าเมืองชิงไหมทรงพระนามว่า “ น่าหนิวเก่อม้าหนีเจียวเท่อโจ่ ” และตนก็ได้เป็นขุนนางในเมืองชิงไหม และถูกส่งมาให้คอยป้องกันทาง “ วั่นน่ากวอฉีลี่ ” และปีนั้นไทยได้ส่งกองทัพขึ้นไปตีชิงไหม ตนเองถูกปืนบาดเจ็บจึงถูกจับมา
หลี่ซื่อเหยาได้คัดเลือกเชลยชาย 4 คน และหญิง 4 คน ซึ่งอาวุโสที่สุดส่งไปยังเมืองหลวงเพื่อให้ราชสำนักได้สอบถามปากคำ ส่วนเน่เชี่ยตู้เยี่ยนต๋ากับคนอื่นๆ อีก 12 คน นั้นส่งไปเป็นทาสที่ “ เหหลงจั้ง ” อันเป็นกฎในเรื่องการจับเชลยของมณฑลกว่างตุ้ง สำหรับผู้หญิงที่เหลือ 27 คน ถูกส่งไปเป็นทาสรอบๆ เมืองนั้น จากนั้นหลังป๋าฉาหนอเพหวนซื่อตุ้ย ก็เดินทางกลับเพื่อนำหนังสือจากผู้ว่าการมณฑลกว่างตุ้ง – กว่างชีไปมอบให้เจิ้นเจ้า ในหนังสือนั้นมีความว่า พระเจ้ากรุงจีนทรงมีพระดำริว่าตราประจำตำแหน่งพิเศษที่พระราชทานแด่กษัตริย์พระองค์ก่อนๆ มานั้นคงจะหายสาปสูญไปในระหว่างที่พม่ามาตีไทย ดังนี้นตนจึงกราบทูลขอร้องต่อพระเจ้ากรุงจีนให้ท่านได้มีโอกาสถวายเครื่องราชบรรณาการได้เหมือนเดิม คนไทยก็เป็นที่พอพระทัยของพระเจ้ากรุงจีน จากข้อความนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าเจิ้นเจ้าพยายามเอาใจพระเจ้ากรุงจีนด้วยการส่งเชลยไปให้จีน
วันที่ 17 สิงหาคม พระเจ้ากรุงจีนทรงได้รับรายงานจากหลี่ซื่อเหยา พระองค์จึงทรงมีหนังสือถึงหลี่ซื่อเหยาว่า เจิ้นเจ้าได้ส่งเชลยพม่ามาให้ก็เพราะเขาต้องการให้เราอนุญาตให้เขาส่งเครื่องราชบรรณาการ ดังนั้นเราจึงไม่ควรที่จะขัดคำขอร้องของเขา เราจะยอมให้เขาส่งเครื่องราชบรรณาการได้ เพราะถึงอย่างไรเจิ้นเจ้าก็ยังรู้ที่จะกระทำสิ่งที่แสดงว่าจงรักภักดีต่อเรา ทั้งเขายังทำตามระเบียบของเรา ดังนั้นเราได้พิจารณาที่จะส่งเสื้อไปให้เขา
วันที่ 7 กันยายน หลี่ซื่อเหยาได้รับพระราชสาส์นของพระเจ้ากรุงจีนแล้ว จึงได้เตรียมผ้าสองชนิด ชนิดละสองม้วนส่งไปใหเจิ้นเจ้า วันที่ 18 ตุลาคม พระเจ้ากรุงจีนทรงมีหนังสือถึงหลี่ซื่อเหยาอีกฉบับหนึ่งว่า เนื่องจากปรากฏอยู่เสมอว่าเมืองเล็กๆ ไม่ได้อยู่ในศีลธรรม มีแต่รบกันและพยายามยึดเมืองกัน อย่างตัวอย่างเช่น อันหนาน ( ญวน ) ได้เปลี่ยนกษัตริย์อยู่หลายครั้ง และขณะนี้ทางไทยก็มีเจิ้นเจ้ายึดอำนาจปกครองเมื่อพม่ามาตีไทย อย่างไรก็ดีเขาก็ได้ทำในสิ่งที่เราขอร้องและได้ส่งกองทัพไปตีชิงไหม จนจับแม่ทัพของพม่าได้คนหนึ่ง ซึ่งก็หมายความว่า เขาก็เป็นศัตรูกับพม่า และแสดงว่าเขาก็ยังเคารพจีนอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเราจึงไม่ควรดื้อดึงอีกต่อไป และไม่ควรจะปฏิเสธเขามากนัก แม้ว่าเขาจะไม่ได้เป็นเชื้อสายของกษัตริย์ไทยพระองค์เดิม เราก็ไม่ควรแสดงให้เป็นเรื่องแตกต่าง เพราะเขาก็พยายามก่อสร้างประเทศ ขึ้น ใหม่ เราไม่ควรแสดงให้เห็นเรื่องแตกต่าง เพราะเขาก็พยายามก่อสร้างประเทศขึ้นใหม่ เราไม่ควรจะคัดค้านในการที่เขาจะส่งเครื่องราชบรรณาการ และถ้าเราต่อต้านเขา เขาก็อาจจะเข้าร่วมมือกับพม่าซึ่งก็เป็นการกระทำที่ไม่ฉลาดนัก ดังนั้นเราจึงขอให้ท่านแจ้งไปยังเจิ้นเจ้าว่าเราจะให้ตำแหน่งหนึ่งแก่เขา ในเวลาเดียวกันนั้น ฟู่เหินขุนนางจีนคนหนึ่งได้เดินทางกลับไปจีนเนื่องจากถูกพม่าโจมตีพ่ายแพ้ ไม่สามารถเจรจาทำสัญญากับพม่าได้ เพราะกษัตริย์พม่านั้นถือตัวและดื้อดึงมากไม่ยอมเชื่อฟังจีน พระเจ้ากรุงจีนทรงทราบสถานการณ์ดี ดังนั้นพระองค์จึงทรงมีพระราชดำริที่จะร่วมมือกับไทย
วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2314 ปี ที่ 36 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง เจิ้นเจ้าได้ส่งกองทัพไปตีเหอเฉี้ยนโดยเลือกให้ “ เฉินเหลียน ” (พระยาพิชัยราชา) เป็นแม่ทัพและให้กั ป ตันเรือ “ หยังจิ้นจง ” (พระยายมราช แต่ในพงศาวดารไทย ทัพที่ยกไปตีเมืองสวางคบุรี เป็นทัพบกทั้งสองทัพ ส่วนพระเจ้าตากสินเสด็จไปทางทัพเรือ) เป็นแม่ทัพหน้า เนื่องจากโม่ซื่อหลิงมีกำลังทหารไม่พอจึงแพ้ในวันที่ 9 ตุลาคม ตัวโม่ซื่อหลิงหนีไปเมืองลู่เสียน (ไม่ทราบว่าคือเมืองใด) ที่อันหนาน (ญวน) อาวุธผู้คนทั้งหมดและเซ่าเทร่ถูกกองทัพของเจิ้นเจ้าจับได้ เจิ้นเจ้าได้ขอให้เฉินเหลียนอยู่คุมเมืองเหอเฉี้ยน
เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2315 ปีที่ 37 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง เจิ้นเจ้าได้ส่งเชลยไปจีนและได้มีหนังสือถึงหลี่ซื่อเหยาความว่า ตนได้ส่งเชลยมาให้เพราะปีที่แล้วในฤดูหนาวตนได้ส่งกองทัพไปตีอ่าวเบิ้นได พบว่าที่นั่นมีคนจีน 35 คน มาจากมณฑลกว่างตุ้ง แถบเมืองกุ้ยโจ้วและไห่ฟง พวกนี้ได้อพยพมาที่หยั่งจั้งเพื่อไปทำไร่เมือปีที่ 33 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลงแต่เรือของเขาได้หลงทางไปเบิ้นได พวกเขานั้นได้ขอร้องให้เจ้าเมืองช่วยส่งกลับถิ่นเดิม แต่เจ้าเมืองคือโม่ซื่อหลิงไม่ยอมส่งกลับ พวกเขาจึงอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 6 ปีแล้ว และตนได้มอบข้าว น้ำ อาหาร และเงินให้ทั้ง 35 คน ในจำนวนนี้มีคนสองคนคือ “ เฉินจุ้นชิ้ง ” และ “ หยั่งซั่งฉวน ” ซึ่งตนได้ส่งลงเรือกลับไปกว่างตุ้ง เพราะมีเรือสองลำ ลำหนึ่งเป็นเรือสินค้มมี “ ซู้หยวนเฉิน ” เป็นกัปตัน ในเรือนี้ได้ให้หยังซั่งฉวน และชายคนอื่นๆ อีก 9 คน หญิง 8 คน โดยสารมา ส่วนเรืออีกลำหนึ่งมี “ ฉีปู้ ” เป็นกัปตัน เรือนี้มี “ เฉิ้นจุ้นชิ้ง ” กับชาย 12 คน หญิง 4 คน โดยสารมา
วันที่ 6 มิถุนายน หยั่งซั่งฉวนเดินทางถึงกว่างโจว ก็ได้เข้ารายงานต่อเจ้าเมืองกว่างตุ้ง แต่เป็นความที่แตกต่างไปจากหนังสือที่เจิ้นเจ้ามีไป จากรายงานของเขามีความว่า ตัวเขามิได้จะไปหยั่งจั้งเพื่อไปทำไร่ แต่เพราะเขาเคยทำงานเป็นคนรับใช้และทราบว่าเบิ้นไดมีที่ดินมากพอที่จะทำไร่ได้ เขาจึงไปชักชวนครอบครัวและเช่าเรือซึ่งมี “ หูหลงจ้ง ” เป็นกัปตัน และออกเดินทางไปตลอดคืน และโม่ซื่อหลิงก็ไม่ได้บังคับพวกเขาแต่อย่างใด หลี่ซื่อเหยาจึงว่าโม่ซื่อหลิงและเจิ้นเจ้านั้นเป็นศัตรูกันมานาน ดังนั้นตนจึงสงสัยว่าเจิ้นเจ้าคงยึดได้อ่าวนี้ และเพราะกลัวว่าโม่ซื่อหลิงจะถวายรายงานพระเจ้ากรุงจีนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ดังนั้นเจิ้นเจ้าจึงทำเหตุว่ากล่าวโม่ซื่อหลิงว่า กักกันคนจีน แสดงว่าเจิ้นเจ้าพยายามพูดสิ่งที่ต่อต้านให้ร้ายโม่ซื่อหลิง และโม่ซื่อหลิงก็พยายามที่จะรั้งให้องค์รัชทายาทพำนักอยู่กับตนเพื่อว่าจะได้คุมอำนาจได้ เพราะปีนี้พระเจ้ากรุงจีนทรงมีพระราชสาส์นมาถึง ถ้าเขาสามารถรั้งองค์รัชทายาทได้เขาก็สามารถควบคุมได้ แต่ตอนนี้เจิ้นเจ้าได้ทราบเรื่องนี้และหลี่ซื่อเหยาก็ไม่ต้องการที่จะโต้แย้งกับเจิ้นเจ้า ทั้งไม่ได้รายงานให้พระเจ้ากรุงจีนทรงทราบ เพ รา ะเจิ้นเจ้ามิได้เป็นองค์รัชทายาท หลี่ซื่อเหยาได้ส่งหนังสือถึงโม่ซื่อหลิงว่า ขอให้ท่านพยายามให้มากขึ้นในอันที่จะช่วยตนเองและประชาชน เพื่อให้เป็นเคารพนับถือ เพราะเจิ้นเจ้านั้น เขาได้ส่งคนจีนกลับไปกว่างตุ้ง แม้เขาจะไม่ได้เป็นหัวหน้า แต่เขาก็ได้แสดงคารวะต่อพระเจ้ากรุงจีน พร้อมกันนี้เขาก็ได้ทูลขอพระราชทานรางวัลพิเศษด้วย จะเห็นได้ว่า เจิ้นเจ้าได้ว่าพยายามเอาใจพระเจ้ากรุงจีนและพยายามส่งเครื่องราชบรรณาการหลายครั้ง แม้ว่าทางโม่ซื่อหลิงก็พยายามชักชวนพระเจ้ากรุงจีนให้เข้ากับตนและพยายามใส่ร้ายเจิ้นเจ้าหลายครั้ง จนทางราชสำนักจีนเกิดอคติกับเจิ้นเจ้า ด้วยเหตุนี้โม่ซื่อหลิงและเจิ้นเจ้าจึงมักต่อต้านซึ่งกันและกัน เมื่อโม่ซื่อหลิงยกกองทัพลงมาเพื่อส่งเซ่าเทร่กลับไปเมืองหลวง ระหว่างทางเมื่อถึงจันเจ๋ออ๋วนจึงถูกกองทัพของเจิ้นเจ้าโจมตี ทหารส่วนมากได้รับบาดเจ็บ จึงยกทัพกลับเหอเฉี้ยน จากคำให้การของโม่ซื่อหลิงที่มีไปถึงจีนจึงว่า เมืองเหอเฉี้ยนของตนได้พ่ายแพ้เพราะสวรรค์ไม่ทรงปรานีป้องกัน ทางเมืองหลวงมีขุนนางชื่อเจิ้นเจ้าได้พยายามมาตีเมืองของตนและในระหว่างปี พ.ศ.2311 นั้นตนได้รับคำสั่งจากพระเจ้ากรุงจีนให้ตรวจหาตราพิเศษที่จีนให้มาแต่เดิมและขุนนางจีนที่มาสอบสวนมากับเรือของโม่กวงอี้ ซึ่งเรือนี้หายไปที่เมืองลิ่วควน (นครศรีธรรมราช เพี้ยนไปจาก “ ลู่เควิน ” ขุนนางจีนเสียชีวิต กัปตันเรือคือ หยังจิ้นจง ก็ได้พยายามร่วมมือกับเจิ้นเจ้ามาที่เหอเฉี้ยนเพื่อขอตรานี้ ตนได้ทำตามระเบียบของจีนเสมอมา แต่ถ้าองค์รัชทายาทที่แท้จริงของไทยต้องการที่จะรวบรวมตั้งประเทศขึ้นใหม่ และขอตรามาตนก็จะให้ แต่เจิ้นเจ้ามิได้เป็นองค์รัชทายาทที่แท้จริง และมาขอตราจากตนหลายครั้ง ทั้งยังขอให้มอบเซ่าเทร่และเซ่าซื่อทั้งซึ่งเป็นรัชทายาทด้วย ตนคิดว่าองค์รัชทายาทระยะนี้เหลือเพียงสามพระองค์ คนหนึ่งคือ ซ่าหวังจี๋ ซึ่งก็ถูกเจิ้นเจ้าปลงพระชนม์แล้ว ราชธิดาก็ไปเป็นภรรยาของขุนนางคนหนึ่งที่เหลือคือ เซ่าเทร่กับเซ่าซื่อทั้ง ซึ่งถ้าตนทราบว่า องค์รัชทายาทสามารถแสดงพระองค์ได้ และกอบกู้ตั้งประเทศขึ้นใหม่ ตนก็จะช่วย และในขณะนี้ตนก็ได้ปฏิบัติตามพระราชโองการของพระเจ้ากรุงจีนแล้วด้วยการส่งกองทัพไปช่วยเซ่าเทร่รวมประเทศ แต่ก็ถูกเจิ้นเจ้ายกทัพเข้าโจมตีจึงกลับมาเหอเฉี้ยนอีก ตนมิอาจจะปลงพระชนม์องค์รัชทายาททั้งสองนั้นได้ แต่ก็ได้ป้องกันอารักขา ดังนั้นตนจึงได้ต่อต้านเจิ้นเจ้า
สำหรับเรื่องตรา ซึ่งเป็นปัญหายืดเยื้อนั้น สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2309 ปีที่ 31 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลงนั้น กษัตริย์ไทยครั้งกรุงศรีอยุธยาได้ทรงส่งขุนนางชื่อ “ พะหยาเก๋าถ่งเฮ่อเฟ้ ” ไปยังเมืองหลวงของจีนที่หนานจิง และพระเจ้ากรุงจีนได้พระราชทานตราพิเศษมาถวายกษัตริย์ไทย นอกจากนี้ยังมีของขวัญจากพระเจ้ากรุงจีนด้วยเช่นผ้าหลายสี เครื่องหยก โมรา และเครื่องถ้วยอย่างดี ครั้งนั้นกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าเข้าโจมตีพ่ายแพ้ ราชทูตผู้นั้นได้กราบทูลพระเจ้ากรุงจีนว่า กษัตริย์ทรงสิ้นพระชนม์แล้ว เขาจึงนำของเหล่านั้นไปกว่างโจว และในวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2311 ได้ลงเรือเดินทางกลับไทย ในเวลานั้นทางเจิ้นเจ้าต้องการที่จะส่งเครื่องราชบรรณาการให้ราชสำนักจีน จึงจำเป็นต้องมีตรานี้ เพราะว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับกรุงศรี
อยุธยาเป็นดุจความสัมพันธ์ระหว่างนายกับบ่าว เมื่อโม่ซื่อหลิงได้ส่งตรานี้กลับคืนไปกว่างตุ้งแล้ว จึงทำให้ความสัมพันธ์ ระหว่างไทยกับจีนต้องหยุดชงักลง เมื่อเจิ้นเจ้ารวบรวมประเทศได้และเมื่อต้องการจะถวายเครื่องราชบรรณาการต่อพระเจ้ากรุงจีน แต่ไม่มีตรานี้จึงทำให้โกรธเคืองโม่ซื่อหลิงที่ส่งตรากลับคืนไป
รายละเอียดการติดต่อเป็นพระราชไมตรี ครั้งที่ 4
วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2317 ปีที่ 39 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง “ ฉังเต๋อ ” ขุนนางที่หนานไห่ มณฑลกว่างตุ้งได้รายงานว่า เรือสินค้าของ “ เฉินฝูเฉิน ” จะไปประเทศ “ โฝหลอ ” แต่เพราะอากาศแปรปรวน ทำให้เรือพลัดเข้าไปในไทย ขุนนางไทยคนหนึ่งจึงได้นำเรือนั้นมารายงานที่กว่างตุ้ง (หรือกวางตุ้ง) และมีหนังสือแจ้งว่า เจิ้นเจ้าได้พยายามแก้แค้นแทนกษัตริย์พระองค์ก่อนเพื่อต่อต้านพม่าด้วยความพยายามอย่างยิ่ง เนื่องจากที่ตั้งอยู่ใกล้ทะเลแต่ก็ไม่อาจจะหาอาวุธได้พอเพียงจึงได้ขอซื้อ กำมะถันจำนวน 50 หาบ (150,000 กิโลกรัม หรือ 150 ตัน) (สำหรับผสมทำดินปืน) กระทะเหล็ก 500 ใบ (สำหรับหล่อปืนใหญ่) หลี่ซื่อเหยา เห็นว่าที่เจิ้นเจ้าได้ยึดครองไทยมาถึง 7 ปีแล้ว โดยยังตั้งอยู่ที่วั่งเก๋อ ยังมิได้ย้ายกลับไปเมืองหลวงเดิม และเวลานี้ก็ได้รับรายงานว่า เจิ้นเจ้าได้พยายามหาซื้ออาวุธเพิ่มเพื่อไว้รบกับรัฐอื่นที่ต้องการต่อต้านเขา เจิ้นเจ้าจึงได้พยายามเอาใจพระเจ้ากรุงจีนเพื่อให้เชื่อมั่นในตัวเขา จีนรู้ว่าเจิ้นเจ้าได้พยายามอย่างมากที่จะรักษาเขตแดนเพื่อกษัตริย์ไทย ดังนั้นจึงไม่ควรจะห้ามเขา จากจดหมายนี้หลี่ซื่อเหยาได้ร่างบันทึกขึ้นถวายพระเจ้ากรุงจีนเพื่อให้ทรงตรวจพิจารณาข้อความที่มีไปถึงเจิ้นเจ้าว่า นับเป็นการดีที่ท่านพยายามที่จะแก้แค้น เราเข้าใจว่าท่านต้องการอาวุธ แต่เราก็ขอบอกท่านว่า ท่านไม่ควรลืมกษัตริย์พระองค์ก่อน ควรที่จะแก้แค้นเพื่อพระองค์ แต่อย่างไรก็ดี ตามกฎหมายของจีนนั้นจะไม่ขายกำมะถันและกระทะเหล็กให้ผู้ใด ถ้าไม่มีพระราชโองการพิเศษจากพระเจ้ากรุงจีน จากบันทึกนี้ปรากฏว่าพระเจ้ากรุงจีนได้ทรงให้ข้อสังเกตไว้ด้วยหมึกสีแดงว่า พระองค์ทรงเห็นด้วยตามความที่หลี่ซื่อเหยาร่าง
เจิ้นเจ้าได้สร้างเมืองหลวงใหม่ที่ธนบุรี แต่หลี่ซื่อเหยาก็ไม่เข้าใจเหตุการณ์ที่แท้จริง กลับคิดว่าเจิ้นเจ้าไม่กล้าเข้าเมืองหลวงเก่า และในปีนั้นไทยและพม่าก็รบกันอีก ไทยต้องการทหารเป็นจำนวนมากกับกำมะถัน เพราะไทยเองผลิตได้แต่ดินประสิวเท่านั้น เจิ้นเจ้าจึงต้องการซื้อกำมะถันจากจีน
มีชาวจีนคนหนึ่งถูกส่งกลับไปยูนานคือ “ หยังเฉาผิ่น ” ได้ให้การว่า เมื่อเดือนเมษายน ปีที่ 34 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง (พ.ศ. 2313 ) ตนได้ไปที่หมันสึ ( เขมร ) ซึ่งพวก “ เหมียนสึ ” ( ญวน ) ยึดอยู่ที่นั่นมักเรียกว่า “ ต๋าหม่า ” ( เมืองพุทไธมาศ ) ตั้งอยู่ใกล้ทะเล ทำมาหากินโดยการจับปลา ที่หมันสึนี้มีคนกว่า 10,000 คน ต่อมาถูกพวกเหมียนสึควบคุมอยู่ ในปีที่ 39 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง (พ.ศ.2317) พวกเหมียนสึได้พยายามยกทัพเข้าตีไทย เจิ้นเจ้าได้ขอคน 1,000 คนจากหมันสึ และขอให้ หมันสึดูแลและช่วยส่ง เสบียงอาหาร ทั้งยังขอให้นำแร่เงินออกมาให้ แต่ทางหมันสึก็ไม่อาจทำตามได้ เพราะลำบากมาก
พวกหมันสึจึงฆ่าแม่ทัพของเหมียนสึเสีย และได้หลบหนีออกไปยังพม่า ต่อมาพวกเหมียนสึจึงส่งกองทัพไปยึดหมันสึ ไปถึงเมืองหมีผู่ ( เมืองพุทไธเพชร ) ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ เมืองหมีผู่เป็นที่ราบกว้าง ยากที่จะรบชนะกันได้ง่าย และเพราะทางไทยรู้ชัยภูมิดี เรียกอีกชื่อว่า “ ล่าโพ ” ( เมืองบาพนม ) เป็นที่มีภูเขามาก จึงไปรบกันที่ “ เก่อพั้ว ” ( เมืองกำปอด ) พวกเหมียนสึก็ไปถึงที่นั่นและสร้างค่ายล้อมรอบเขาแถบนั้น ล้อมอยู่เป็นเวลา 1 เดือน ทัพไทยได้ชัยชนะจับเชลยได้ 6,000-7,000 คน แล้วกวาดต้อนไปไทย
รายละเอียดการติดต่อเป็นพระราชไมตรี ครั้งที่ 5
เดือนสิงหาคม พ.ศ.2318 ปีที่ 40 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง มีพ่อค้าชื่อ “ เฉินวั่นเสิ้น หรือ เฉินวั่นเซิ่น ” ได้นำหนังสือจากเจิ้นเจ้าไปถวายพระเจ้ากรุงจีน ความว่าเจิ้นเจ้าได้รบชนะเมืองชิงไหม (เชียงใหม่) คนจากต้าหม่าก็ถูกกวาดต้อนมาเป็นเชลย ในบรรดาเชลยเหล่านั้นมีทหารจากยูนาน 19 คน มีคนหนึ่งชื่อ “ เส้าเฉินจั้ง ” และเนื่องจากจำเป็นที่จะต้องต่อสู้กับพม่า ตนจึงใคร่ที่จะขอกราบบังคมทูลพระเจ้ากรุงจีนขอพระบรมราชานุญาตซื้ออาวุธ หลี่ซื่อเหยา นั้นไม่ค่อยจะเชื่อความในหนังสือของเจิ้นเจ้า จึงได้ซักถามคนที่เจิ้นเจ้าส่งกลับไปจีน ซึ่งคนเหล่านั้นได้ให้การว่า เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว พม่าได้มาตีเมืองต้าหม่าและรบไล่กันไปจนถึงเขตแดนของไทย ซึ่งความตอนนี้ก็ไม่ตรงกับคำของเจิ้นเจ้า แต่เนื่องจากเจิ้นเจ้าได้ส่งคนจีนกลับไปยูนานอันเป็นการกระทำที่แสดงว่าเจิ้นเจ้าได้พยายามเอาใจพระเจ้ากรุงจีน ดังนั้นถ้าเจิ้นเจ้าต้องการจะขอซื้ออาวุธและกระทะเหล็กมา พระเจ้ากรุงจีนก็จะทรงอนุญาตขายให้ตามรายการที่ขอซื้อในปีที่แล้ว แต่สำหรับปืนใหญ่นั้นยังไม่อาจขายให้ได้ พระเจ้ากรุงจีนจึงทรงส่งหนังสือไปถึงหลี่ซื่อเหยาและให้ร่างหนังสือตอบมายังไทย
รายละเอียดการติดต่อเป็นพระราชไมตรี ครั้งที่ 6
ในพ.ศ.2319 ปีที่ 41 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง พ่อค้าโม่ ก่ วงอี้ได้นำหนังสือของเจิ้นเจ้าไปยังจีนพร้อมด้วย “ หยังเฉาผิ่น ” “ ซ่วนอี้จิ้น ” เพื่อส่งกลับไปยูนาน ในหนังสือของเจิ้นเจ้ามีความว่า ไทยได้ต่อสู้รบกับพม่ามาหลายปีจึงใคร่ขอซื้อกำมะถัน 100 หาบ (300,000 กิโลกรัม หรือ 300 ตัน) มาอีกครั้ง และถ้าจีนมีแผนที่จะยกทัพไปตีเมืองอังวะแล้วขอให้แจ้งวันเวลาด้วย เพราะจะได้ช่วยจีนเข้าตีพม่าอีกด้านหนึ่ง และคนที่ส่งมา 3 คนนั้นจริงๆ แล้วเป็นพ่อค้าที่ขอใบผ่านทางพิเศษไปขายสินค้ายังเมือง “ มู่ปั้ง ” เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ปีที่แล้ว แต่ปรากฏว่าถูกพม่าจับระหว่างทางไปอังวะ เขาจึงหลบหนีไปยังหมันสึแล้วหนีเข้าไทย
วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2319 หลี่ซื่อเหยา ได้ร่างหนังสือเรื่องนี้กราบทูลไปยังเมืองหลวง พระเจ้ากรุงจีนจึงรับสั่งให้ “ อู๋หมินจง ” แม่ทัพมีหนังสือถึงหลี่ซื่อเหยาความว่า เจิ้นเจ้าเมื่อได้พบคนจีนในไทยก็จะช่วยคนเหล่านี้ โดยส่งกลับจีนเพื่อเป็นการเอาใจพระเจ้ากรุงจีน ครั้งก่อนเรายอมให้เขาซื้อกำมะถันและกระทะเหล็กได้ และคราวนี้ก็ยอมให้ซื้อได้อีกในจำนวนเดิม หนังสือนี้หลี่ซื่อเหยาจึงได้ส่งมาให้เจิ้นเจ้าทราบว่า หลังจากที่เจิ้นเจ้าได้รวมประเทศได้แล้วนั้น แรกทีเดียวเขาต้องการขอพระราชทานตราตำแหน่งพิเศษจากพระเจ้ากรุงจีน หลังจากนั้นเขาก็พยายามช่วยจีนรบพม่า จับแม่ทัพพม่าที่ยึดเมืองชิงไหมได้และส่งไปยังจีน ทั้งยังได้ส่งเชลยพม่าไปให้จีน ซึ่งการกระทำต่างๆ นี้เป็นการแสดงความเอาใจต่อพระเจ้ากรุงจีน เจิ้นเจ้ามีกำลังทหารมากขึ้นและได้ส่งกองทัพไปตีพม่า ดังนั้นเขาจึงต้องการอาวุธมาก รวมทั้งต้องการซื้อวัสดุที่ใช้ในการรบ เช่น กำมะถันและกระทะเหล็กจากจีน และเนื่องจากเจิ้นเจ้าได้ทำสิ่งต่างๆ อย่างระมัดระวัง และแสดงความอ่อนน้อมต่อพระเจ้ากรุงจีน ด้วยเหตุนี้หลี่ซื่อเหยาจึงยอมให้เขาซื้ออาวุธ
รายละเอียดการติดต่อเป็นพระราชไมตรี ครั้งที่ 7
เดือนเมษายน พ.ศ.2320 ปีที่ 42 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง หลี่ซื่อเหยา ได้ร่างหนังสือที่จะมีไปถึงเจิ้นเจ้าขึ้นถวายพระเจ้ากรุงจีนทรงพิจารณา ความในหนังสือมีว่า เราทราบว่าเจิ้นเจ้ายังได้พยายามขอพระราชทานตำแหน่งพิเศษ เพื่อว่าจะสามารถปกครองประเทศได้ หลี่ซื่อเหยาจำได้ว่าก่อนหน้านั้นพระเจ้ากรุงจีนรับสั่งว่า ชาวต่างประเทศที่ขอพระราชทานตำแหน่งพิเศษเพื่อที่จะเข้าถวายเครื่องราชบรรณาการนั้นไม่จำเป็นต้องส่งมามาก ดังนั้น ถ้าเจิ้นเจ้าพยายามที่จะส่งของเข้ามาถวายอีก พระเจ้ากรุงจีนโปรดให้หลีซื่อเหยาพิจารณาเหตุการณ์ต่างๆ และให้ส่งรายงานขึ้นไปถวาย ครั้งแรกหลี่ซื่อเหยาสงสัยว่าเจิ้นเจ้าอาจจะพยายามเริ่มรวมอำนาจภายในประเทศ และจะใช้ตำแหน่งพิเศษจากพระเจ้ากรุงจีนเป็นเครื่องค้ำอำนาจ เหตุการณ์นี้น่าจะเป็นจริง เพราะว่าเจิ้นเจ้าเมื่อรบกับพม่านั้นก็ไม่มีใครที่ได้เห็นเหตุการณ์จริงๆ แต่หลี่ซื่อเหยาเชื่อแน่ว่าเรื่องนี้ต้องเป็นความจริงเพราะจากคำให้การที่ “ ซุ่นปั๋วเฉียง ” ซึ่งเป็นขุนนางคนหนึ่งกับ “ หยังเฉาผิง ” ซึ่งเป็นชาวบ้านอีกคนหนึ่งได้ให้การตรงกันว่า เจิ้นเจ้าได้ฆ่าพม่าเป็นจำนวนมาก และยังได้ข่าวจากพ่อค้าที่เดินทางทางทะเลอีกว่าเจิ้นเจ้ามีเพื่อนที่ดีที่สุดคนหนึ่งเป็นศัตรูร้ายกาจหรือศัตรูคนสำคัญของพม่า จะเห็นได้ว่าเรื่องนี้เป็นการพยายามเสนอความคิดที่จะชักชวนให้เจิ้นเจ้าส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายพระเจ้ากรุงจีน เพื่อเป็นการให้พระเจ้ากรุงจีนทรงยอมรับว่าตนเป็นกษัตริย์ที่ถูกต้องของไทย
เนื่องจากในเวลานั้นความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับจีนอยู่ในสภาพที่ไม่ดี และกองทัพของราชวงศ์ชิงพ่ายแพ้ในการรบ ตัว หลี่ซื่อเหยา นั้น เป็นผู้ว่าการมณฑลสองมณฑลคือกว่างตุ้งและกว่างชี อยู่แล้วและยังพยายามที่จะควบคุมยูนานและไกวเจาอีก หลี่ซื่อเหยาจึงได้พยายามชักชวนที่จะให้ไทยได้ส่งเครื่องราชบรรณาการ ด้วยจุดประสงค์ที่ต้องการให้ไทยช่วยโจมตีพม่าทางด้านหลัง และพระเจ้ากรุงจีนก็ทรงเห็นชอบด้วยกับความคิดนี้ แต่พระองค์ก็ไม่ทรงต้องการที่จะมีพระราชสาส์นไปเอง แต่ทรงแนะให้หลี่ซื่อเหยามีหนังสือไปถึงเจิ้นเจ้าแทน โดยพระองค์ทรงรับสั่งให้หยังจิ่งซู่เป็นผู้นำหนังสือไปไทย
เดือนมิถุนายน ในปีที่ 42 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง (พ.ศ.2320) เจิ้นเจ้าได้ส่ง พระยาซ้วยท้วนหย่าผายน่าถู ( พระยาสุนทรอภัยราชาราชทูต ) ไปกว่างตุ้ง เพื่อกราบทูลขอพระบรมราชานุญาตให้สยามส่งเครื่องราชบรรณาการ ในครั้งนี้ทางจีนได้มีความคิดเห็นว่าเจิ้นเจ้าเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์มาก และทางสยามสืบค้นหาองค์รัชทายาทไม่ได้ จีนจึงเริ่มรับรองเจิ้นเจ้าและอนุญาตให้สยามส่งเครื่องราชบรรณาการ อย่างไรก็ดี ในเวลานั้น สยามยากจนมาก ไม่มีของในท้องพระคลังที่จะส่งเครื่องราชบรรณาการ เพราะเนื่องจากต้องทำสงครามกับพม่าและรวบรวมประเทศ เจิ้นเจ้าจึงกราบทูล ขอเลื่อนการส่งเครื่องราชบรรณาการ
วันที่ 29 มิถุนายน หัวหน้ากองกำลังกองโจรชื่อ “ เฉินต้าหยัง ” เมืองกว่างโจว มณฑลกว่างตุ้งรายงานมาว่า มีเรือสินค้าออกจากไทยเดินทางกลับกว่างตุ้ง ในเรือมีขุนนางไทย 3 คน นำเครื่องราชบรรณาการมาถวายพระเจ้ากรุงจีนพร้อมด้วยทหาร 15 คน และเชลยจากพม่าอีก 6 คน ดังนี้ หลี่ซื่อเหยาจึงยังมิได้ส่งหนังสือไปยังเจิ้นเจ้าเพราะคิดว่าจะได้ส่งไปพร้อมกับคณะทูตนี้ ขณะนั้นมณฑลกว่างตุ้งเปลี่ยน ผู้ดูแลมณฑล ใหม่เป็น “ หยังจิ่งซู่ ” ซึ่งได้มอบให้ขุนนางชื่อ “ เปียวเปี้ยน ” ไปต้อนรับขุนนางทั้งสามคน
วันที่ 1 กรกฎาคม ขุนนางไทยได้นำหนังสือของเจิ้นเจ้ามาเพื่อถวายพระเจ้ากรุงจีน หยังจิ่งซู่จึงแจ้งไปยังเจ้าเมืองกว่างโจวคือ “ หลี่สือหยิง ” ให้ไปต้อนรับพวกขุนนางไทยคือ “ พระยาซ้วยท้วนหย่าผายน่าถู ” ราชทูตกับขุนนางอีกสองคนเพื่อให้คอยหมายรับสั่ง พร้อมทั้งได้สอบถามรายละเอียดต่างๆ จากขุนนางไทย ซึ่งก็ได้ให้รายละเอียดว่า เจิ้นเจ้าได้พยายามแก้แค้นแทนกษัตริย์พระองค์ก่อนและหวังที่จะเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้ากรุงจีน และจะได้ให้เข้าเฝ้าถวายเครื่องราชบรรณาการอันจะทำให้เจิ้นเจ้ามีความมั่นคงทางอำนาจยิ่งขึ้น เพราะหัวหน้ารัฐอื่นๆ ก็จะยอมรับเจิ้นเจ้า ทั้งยังจะมาช่วยรบพม่าอีกด้วย และนี้เป็นเหตุผลว่าทำไมเจิ้นเจ้าจึงได้ส่งขุนนางทั้งสามมายังจีนก็เพื่อขอเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงจีน และเมื่อปีที่แล้วไทยได้ต่อสู้กับพม่า จับพม่าเป็นเชลยมาได้ 300 คน แต่อย่างไรก็ดีเชลยพวกนั้นก็ได้ตายลงทีละคนสองคน เท่าที่เหลืออยู่ก็ส่งมาจีน ในบรรดาพวกนี้มี “ อ่ายเค้อ ” “ อ่ายสวย ” ซึ่งเป็นขุนนางใกล้ชิดกับเจ้าเมืองอังวะ และยังมี “ อ่ายเย่า ” คนรับใช้ของอ่ายเค้อ เนื่องจากกฎของจีนเกี่ยวกับเชลยชาวต่างประเทศนั้น พวกเขาจะต้องได้รับคำสั่งพิเศษจากพระเจ้ากรุงจีนเสียก่อน จึงจะส่งขุนนางไทยให้นำเครื่องราชบรรณาการไปถวายได้
อย่างไรก็ดีตั้งแต่เจิ้นเจ้าได้ปกครองเมืองไทยนั้น ยังมิได้รับตำแหน่งพิเศษ จึงพยายามส่งสาส์นมาขอถวายเครื่องราชบรรณาการ และข้อความที่มีถึงพระเจ้ากรุงจีนจึงเป็นไปในรูปของการเคารพยกย่องมาก ทั้งนี้เพราะ เจิ้นเจ้ามิได้มีตราตำแหน่งพิเศษของพระเจ้ากรุงจีน ที่เคยพระราชทานไปแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เพราะได้สูญหายไปเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่สองนั้น ดังนั้นเมื่อตรานี้หายไป ทางราชวงศ์ชิงจึงไม่อาจจะยอมรับเจิ้นเจ้าว่าเป็นกษัตริย์ได้ ซึ่งหลี่ซื่อเหยาเดิมก็เคยคัดค้านเจิ้นเจ้า ทางหยังจิ่งซู่ผู้ว่าการมณฑลคนใหม่ได้ทำหนังสือบันทึกรายการของที่เจิ้นเจ้าส่งมาเป็นเครื่องราชบรรณาการ หยังจิ่งซู่พยายามทำตามระเบียบของจีน แต่ก็ไม่ทราบว่าควรจะทำอย่างไร จึงได้ถวายรายงานไปยังพระเจ้ากรุงจีนความว่า เนื่องจากไทยได้เคยอยู่ในอาณัติของจีนมาเป็นเวลานานและกษัตริย์ไทยได้รับตราพิเศษจากราชสำนักจีนแล้ว แต่เนื่องจากพม่ายกทัพมาตีเมืองหลวง และขณะนี้เจิ้นเจ้าได้กอบกู้ประเทศชาติขึ้นใหม่ ทั้งได้แก้แค้นแทนพระเจ้ากรุงจีน โดยได้เข้าตีขับไล่พม่าออกไปและฆ่าพม่าได้เป็นจำนวนมาก จึงได้มีสาส์นขอพระราชทานตำแหน่งพิเศษมา นอกจากนี้เจิ้นเจ้ายังได้ส่งคนจีนที่พม่าจับไป กลับคืนมาจีนอีกด้วย จากเหตุผลดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่าเจิ้นเจ้าได้แสดงความเคารพและสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้ากรุงจีนมาก
การสู้รบกันของคนต่างชาติ รวมถึงการโค่นล้มราชบัลลังก์นั้นมีอยู่เสมอ แต่กรณีของไทยนี้แตกต่างไป ทั้งนี้เพราะ เจิ้นเจ้าเป็นคนเชื้อสายกว่างตุ้ง ในระยะแรกๆ พระเจ้ากรุงจีนจึงยังไม่สามารถที่จะยอมรับว่าเจิ้นเจ้าเป็นกษัตริย์ได้ แต่ต่อมาพระเจ้ากรุงจีนทรงมีพระราชสาส์นแจ้งมายังเจ้าเมืองกว่างโจวหลายครั้งว่า ถ้าเจิ้นเจ้ามีสาส์น ขอพระราชทานตำแหน่งพิเศษ มาอีก ก็ให้รีบรายงานเข้ามายังเมืองหลวงทันที พระองค์จะพระราชทานตราตำแหน่งพิเศษให้ และครั้งนี้เจิ้นเจ้าก็ได้ส่งสาส์นมาอีก แล้วแทนที่หยังจิ่งซู่จะถวายรายงานขึ้นไปถึงพระเจ้ากรุงจีนโดยตรง ก็กลับทำหนังสือร่างความเก่าถวายขึ้นไป พระเจ้ากรุงจีนจึงไม่ทรงพอพระทัย
ดังนั้นในวันที่ 24 กรกฎาคม พระองค์จึงทรงส่งขุนนางชื่อ “ กงอาวุ้ย ” ให้อัญเชิญพระราชสาส์นมายัง หยังจิ่งซู่ ทรงตำหนิว่าหยังจิ่งซู่ไม่สนใจรับรู้เรื่องต่างๆ ที่เจ้าเมืองคนก่อนๆ ทำมาแล้ว เพราะควรจะตรวจสอบสิ่งที่เจ้าเมืองคนก่อนเขาทำไว้ พระองค์จึงทรงแต่งตั้งให้กงอาวุ้ยมาช่วยหยังจิ่งซู่เขียนรายงานและคัดสำเนาไว้ ส่วนตัวจริงนั้นได้มอบให้ราชทูตไทย เพื่อนำมาเข้าไปเฝ้าพระเจ้ากรุงจีน ซึ่งความในหนังสือนั้นว่า เมื่อฤดูใบไม้ผลินี้ หลี่ซื่อเหยาได้ย้ายไปเป็นผู้ดูแลมณฑลยูนานและกว่างโจว ได้บอกกับข้าพเจ้าว่ากษัตริย์ไทยพระองค์ก่อนสวรรคตขณะที่เกิดสงคราม และเจิ้นเจ้าได้ช่วยไทยกอบกู้ประเทศได้ เจิ้นเจ้าเป็นที่เคารพยำเกรงของประชาชนชาวไทยมาก แต่เนื่องจากเจิ้นเจ้ามิได้เป็นรัชทายาท แต่ก็สามารถที่จะควบคุมและปกครองประเทศได้ เจิ้นเจ้าได้พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้เป็นที่เชื่อถือของพระเจ้ากรุงจีน ในโอกาสหน้าถ้าเจิ้นเจ้าจะขอให้ทางกว่างตุ้งกราบทูลถวายรายงานไปยังพระเจ้ากรุงจีน ทางกว่างตุ้งก็จะพิจารณา และทางกว่างตุ้งก็ได้ทราบถึงระเบียบเก่าๆ แล้ว และขณะนี้เจิ้นเจ้าก็ได้รับการเชื้อเชิญและยินยอมให้ส่งเครื่องราชบรรณาการได้ ทันทีที่ท่านส่งมาถึงแล้วทางกว่างตุ้งก็จะถวายรายงานขึ้นไป เมื่อทางเจิ้นเจ้าว่าต้องการพระบารมีของพระเจ้ากรุงจีนไปช่วยปกครองประเทศ ทางกว่างตุ้งก็ทราบทันทีว่าเจิ้นเจ้าต้องการตำแหน่งพิเศษจากจีน แต่เจิ้นเจ้าก็มิได้กล่าวอย่างชัดแจ้ง นี่จึงทำให้ทางกว่างตุ้งไม่ได้ถวายรายงานขึ้นไป แต่ถ้าเจิ้นเจ้าได้เตรียมเครื่องราชบรรณาการมาพร้อมทั้งส่งทูตและขุนนางมา พร้อมทั้งอธิบายถึงองค์รัชทายาทของกษัตริย์พระองค์ก่อน และเจิ้นเจ้าได้ขอให้ทางกว่างตุ้งถวายรายงานนี้ ทางกว่างตุ้งก็เต็มใจที่จะถวายรายงานให้ทันที หนังสือฉบับนี้ได้มอบให้ทูตไทย คือพระยาซ้วยท้วนหย่าผายน่าถู นำกลับไปมอบให้เจิ้นเจ้าเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พร้อมทั้งมอบของขวัญคืออาหารและผ้าไหมให้ด้วย มีขุนนางจีนจากหนานไห่ไปส่งทูตไทยลงเรือกลับไทยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม
จากหนังสือกงถิงจ๋าจี้ ( จดหมายเหตุประจำราชสำนัก ) บันทึกว่า ในเดือนที่สิบเอ็ด ปีที่ 42 (พ.ศ.2320) รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง สยามได้ส่งทูตไปเมืองหลวงของจีน เพื่อ เข้าเฝ้า พระเจ้ากรุงจีนและกราบทูล ขอเจ้าหญิงจีนมาอภิเษก ด้วย แต่อย่างไรก็ดี เมื่อมีการตรวจสอบเรื่องนี้ทั้งในจดหมายเหตุไทยและของจีนก็ไม่พบความดังกล่าวนี้แต่ประการใด เมื่อครั้งที่เจิ้นเจ้าส่งราชทูตไปในปีที่ 33 (พ.ศ.2311) รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลงนั้น เป็นการกราบทูลของพระราชทานตำแหน่งพิเศษจากพระเจ้ากรุงจีน ครั้งนั้นราชทูตได้กล่าวว่า ถ้าเจิ้นเจ้าโชคดีได้รับพระราชทานตำแหน่งพิเศษ ก็จะสามารถรับใช้พระเจ้ากรุงจีนได้ เพราะประชาชนในสยามก็จะรวมตัวกันมีความเชื่อมั่นในเจิ้นเจ้ามากขึ้น และสามารถเข้าโจมตี ฝูซื่อลู่ ลู่ควน เกาเลีย ได้ และเจิ้นเจ้าก็จะได้เตรียมเรือนำของขวัญต่างๆ ไปจีน และจะจงรักภักดีต่อจีนตลอดไป แม้ว่าชาวสยามจะได้อัญเชิญเจิ้นเจ้าขึ้นเป็นกษัตริย์ แต่ถ้าเจิ้นเจ้ามิได้รับตำแหน่งพิเศษจากพระเจ้ากรุงจีนแล้ว เจิ้นเจ้าก็จะไม่ถือว่าได้รับตำแหน่งที่ถูกต้องและไม่อาจจะรวมประเทศได้ ทั้งประเทศเพื่อนบ้านก็จะไม่ยอมรับนับถือด้วย
ในปีที่ 42 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง ราชทูตสยามพระยาซ้วยท้วนหย่าผายน่าถูได้แจ้งให้จีนทราบว่าเจิ้นเจ้าได้พยายามแก้แค้นแทนกษัตริย์พระองค์เก่า และเขาควรที่จะได้รับอำนาจจากการยอมรับของพระเจ้ากรุงจีน และถ้าสยามได้มีโอกาสส่งเครื่องราชบรรณาการต่อไปแล้ว ก็จะเป็นที่ยอมรับของเพื่อนบ้าน ทั้งจะมีพลังไปต่อสู้ศัตรู นอกจากนี้เจิ้นเจ้าได้วางแผนที่จะให้เป็นที่ยอมรับของชาวสยามทั้งประเทศ มีกองทัพที่มั่นคงในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งที่หลีกเลี่ยงที่จะรบกับเพื่อนบ้าน แล้วก็จำเป็นที่จะต้องให้เป็นที่ยอมรับของพระเจ้ากรุงจีนๆ ทรงอนุญาตให้ส่งเครื่องราชบรรณาการ ดังนั้น เราอาจจะเห็นข้อสำคัญที่เจิ้นเจ้าได้พยายามที่จะส่งเครื่องราชบรรณาการหลายครั้ง ก็เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองนั่นเอง
เมื่อราชทูตสยามไปยังราชสำนักจีนก็ได้รับการต้อนรับจากพระเจ้ากรุงจีน ราชสำนักจีนได้ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบการส่งเครื่องราชบรรณาการ และเตรียมของตอบแทนให้ราชทูตนำกลับมามอบให้เจิ้นเจ้า แต่อย่างไรก็ดี เจิ้นเจ้าก็ยังไม่ได้รับตำแหน่งที่เป็นทางการจากจีน
รายละเอียดการติดต่อเป็นพระราชไมตรีกับจีนในปี พ.ศ.2321
เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2321 ตรงกับปีที่ 43 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง หยังจิ่งซู่ ได้ย้ายไปเป็นผู้ดูแลมณฑลฝูเจี้ยน (Fukien) และ เจ้อเจียง (Che Chiang) และ หลี่สือหยิง เป็นผู้ว่าการมณฑลกว่างตุ้ง – กว่างชีแทนชั่วคราว ต่อมาในวันที่ 1 พฤษภาคม ก้วยหลิง ได้รับพระราชทานตราแต่งตั้งมาให้ผู้ว่าการมณฑลกว่างตุ้ง – กว่างชีคนใหม่ และเดินทางมาถึงในวันที่ 8 พฤษภาคม ดังนั้นหลี่สือหยิงจึงได้มอบเรื่องการถวายเครื่องราชบรรณาการของไทยให้ก้วยหลิง ต่อมาในวันที่ 3 พฤษภาคม ก้วยหลิงได้รับหนังสือจาก เจิ้นเจ้าถามมาถึงวันเวลาที่จะส่งเครื่องราชบรรณาการไปยังจีน ก้วยหลิงจึงโกรธและคิดที่จะมีหนังสือตำหนิเจิ้นเจ้า
วันที่ 18 สิงหาคม พระเจ้าเฉียนหลงทรงมีพระราชสาส์นไปถึงก้วยหลิงว่าพระองค์ทรงเห็นด้วยกับที่ก้วยหลิงจะตำหนิเจิ้นเจ้า แต่ติดอยู่ที่ว่าในหนังสือที่ก้วยหลิงร่างนั้นมีข้อบังคับต่างๆ มากเกินไป ด้วยพระองค์ทรงคิดว่าเจิ้นเจ้านั้นได้พยายามที่จะถวายรายงานมาหลายครั้ง แม้ว่าทางจีนจะไม่เข้าใจว่าเจิ้นเจ้าตั้งใจหรือคิดอย่างไร แต่ก็คิดว่าเขามีความจงรักภักดีต่อพระองค์ จึงเป็นการดีที่ทางจีนควรจะได้เจรจาหรือบอกเขาอย่างสุภาพ ไม่ควรจะตำหนิเขามากเกินไป ท่านสามารถตำหนิเขาได้เฉพาะเมื่อคราวก่อนที่ส่งสาส์นมาโดยไม่มีทูตกำกับมา แต่ให้ขุนนางธรรมดานำมากับเรือพ่อค้าเท่านั้น และพระองค์ทรงขอให้ก้วยหลิงตอบเจิ้นเจ้าไปว่าพระองค์ทรงได้รับสาส์นแล้ว และที่เจิ้นเจ้า ขอเลื่อนเวลาการถวายเครื่องราชบรรณาการ นั้น พระองค์ทราบดีว่าเนื่องจากไทยกำลังมีศึกสงครามกับพม่า แต่นั่นก็เป็นการ ขัดกับที่เจิ้นเจ้ามีสาส์นมาครั้งแรกที่จะขอถวายเครื่องราชบรรณาการ เพราะขุนนางที่มาครั้งนั้นกราบทูลว่าเจิ้นเจ้าพร้อมที่จะส่งเครื่องราชบรรณาการซึ่งเตรียมไว้แล้ว แต่คราวนี้ท่านกลับเปลี่ยนใจขอเลื่อนเวลา แสดงว่าท่านไม่แน่ใจจึงเปลี่ยนใจเรื่อยๆ พระเจ้ากรุงจีนจึงยังไม่ทรงเข้าใจในความตั้งใจที่แท้จริงของท่าน หนังสือฉบับนี้ก้วยหลิงได้ส่งมาให้เจิ้นเจ้าเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2321
รายละเอียดการติดต่อเป็นพระราชไมตรี ครั้งที่ 8
เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2324 ปีที่ 46 รัชกาลพระเจ้าเฉียน หลง เจิ้นเจ้าได้ส่งราชทูตและของขวัญมาถวายพระเจ้ากรุงจีน จะเห็นได้ว่าในระยะเวลา 13 ปี เจิ้นเจ้าได้พยายามอย่างยิ่งที่จะถวายเครื่องราชบรรณาการพระเจ้ากรุงจีน ซึ่งในที่สุดก็ได้รับพระบรมราชานุญาต เจิ้นเจ้าจึงสามารถสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างจีนกับสยามได้ใหม่อีก เจิ้นเจ้าได้ส่งราชทูตพร้อมด้วยสาส์นและเครื่องราชบรรณาการไปจีน ความในสาส์นมีว่า เจิ้นเจ้ากษัตริย์แห่งสยามขอแสดงความคารวะมายังพระเจ้ากรุงจีน ชาวสยามได้มีความชื่นชมและจงรักภักดีในพระองค์ แต่ก่อนมากษัตริย์สยามทรงได้รับตราพิเศษจากพระเจ้ากรุงจีนพระองค์ก่อน ดังนั้นการถวายเครื่องราชบรรณาการจึงมีมานาน แต่ตั้งแต่พม่ามาโจมตีไทย เจิ้นเจ้าก็ได้กอบกู้ประเทศได้แล้ว แต่เนื่องจากไม่มีองค์รัชทายาทที่แท้จริง การถวายเครื่องราชบรรณาการจึงหยุดชะงักไปนาน และมาบัดนี้ประชาชนได้ขอร้องให้เจิ้นเจ้าขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์สยามแล้ว และยินดีที่จะสืบต่อราชประเพณีเดิม ตามที่มีการถวายเครื่องราชบรรณาการมายังพระเจ้ากรุงจีน ในระยะของการเริ่มตั้งประเทศใหม่นี้ ในท้องพระคลังสยามแทบไม่มีของมีค่าอันใด ประเทศสยามระยะนี้ยากจนมาก และ เนื่องจากเจิ้นเจ้าเกิดในท้องที่ที่ห่างไกลจากเมืองหลวง จึงไม่ทราบถึงระเบียบในการที่จะถวายเครื่องราชบรรณาการ ที่ถูกต้องหรือเหมาะสม ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ จึงขอให้พระเจ้ากรุงจีนทรงรับเครื่องราชบรรณาการนี้ เจิ้นเจ้าได้เตรียมรายการของที่มาถวายคือ แผ่นทอง 1 แผ่น ช้างพัง 1 เชือก ไม้กฤษณา 3 ชั่ง อำพัน ( หลงอี้เชียง ) 8 ตำลึง กากเพชร 10 ตำลึง พรม 3 ผืน หางนกยูง 15 หาง ปีกนก 900 ปีก งาช้าง 4 หาบครึ่ง นอแรดหรือระมาด 9 นอ กรักขี ( เจิ้งเจิ้นเชี้ยง ) ( เป็นไม้เถาเนื้อแข็งแก่นออกสีแดง มีเสี้ยนสีดำ ใช้ทำยาได้ บางทีเรียก “ ขรี ” หรือ “ สักขี ”, เรือ : วัฒนธรรมชาวลุ่มน้ำเจ้าพระยา, 2545 : 17) 4.50 หาบ ไม้จันทน์ 1.50 หาบ ชันปึก ( ไป๋เจี้ยวเชี้ยง ) 1.50 หาบ การบูร 1.50 หาบ ดีปลี ( ปี้เขว ) 1.50 หาบ ลูกกระวาน 4.50 หาบ รง 4.50 หาบ ลูกกระเบา ( เต้าฟงสี ) 4.50 หาบ ไม้ดำ 4.50 หาบ อบเชย 1.50 หาบ เปลือกสีเสียด ( กั้นมี่ ) 1.50 หาบ ฝาง 45 หาบ (ฝาง ใช้สำหรับย้อมผ้าให้เป็นสีแดง) ผู้ที่ควบคุมนำเครื่องราชบรรณาการนี้มาคือ พระยาซ้วยท้วนหย่าผายน่าถู ( พระยาสุนทรอภัยราชา ) ราชทูต หลังเผ้ไฉ่ชี้หนีฉาว้อฝู่ถู ( หลวงพิชัยเสน่หา ) อุปทูต และหลังป๋าฉาน่าเพะหวนซื้อถูหวนเพ้พี้ ( หลวงพจนาพิมล ) ตรีทูต และเนื่องจากสยามเพิ่งจะรวมตั้งประเทศใหม่ จึงไม่มีสิ่งใดที่น่าที่จะเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้ากรุงจีน ด้วยเหตุนี้ก่อนที่จะนำของขึ้นถวาย ราชทูตก็ได้เตรียมของนอกรายการเครื่องราชบรรณาการมาถวายเพิ่มเติม ซึ่งมีรายการดังนี้ ช้างพลาย 1 เชือก นอแรด 1 หาบ งาช้าง 100 หาบ ดีบุก 300 หาบ ฝาง 10,000 หาบ ถ้าพระเจ้ากรุงจีนทรงยินยอมให้นำเครื่องราชบรรณาการเข้าถวาย นอกจากนี้ยังมีสาส์นอีก 1 ฉบับ ที่เจิ้นเจ้ากราบทูลว่า สยามหลังจากที่ถูกพม่าโจมตีแล้วทุกอย่างต้องเริ่มต้นใหม่ เจิ้นเจ้าจึงได้ส่งกองเรือมาสามกอง แต่ละกองมีเรือมาสามลำ เพื่อขอพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้ากรุงจีนให้เรือได้เข้าไปที่กว่างตุ้ง ฉ้าเหมิน หนิงโพว เพื่อขอซื้อสินค้าบางอย่างได้เป็นกรณีพิเศษ คือของใช้ในการก่อสร้าง และใคร่ขอพระบรมราชานุญาตนำเรือผ่านไปญี่ปุ่นเพื่อซื้อทองแดง
พระราชสาส์นฉบับนี้มีเป็นภาษาไทย (พระราชสาส์นสำรับที่ 1) ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ท่านศาสตราจารย์ ฉู่เหวินเจี้ยว ได้แปลกลับไปเป็นภาษาจีนด้วยแล้ว และได้นำไปเปรียบเทียบข้อความกับฉบับภาษาจีนปรากฏว่า ข้อความไม่เหมือนกัน แต่รายการของที่ส่งไปเหมือนกัน
ข้อความในพระราชสาส์นของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่ศาสตราจารย์ฉู่เหวินเจี้ยวแปลไปมีความว่า
ใน พ.ศ.2324 ตรงกับ จ.ศ.1143 (ตรงกับปีที่ 46 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง) ราชวงศ์สือน่าผู่ลี่ ( ธนบุรี ) ได้ขอส่งเครื่องราชบรรณาการมายังพระเจ้ากรุงจีน ด้วยว่าเจิ้นเจ้าคิดถึงความสัมพันธ์ระหว่างเป่ผิงกับสยาม จึงได้ส่งทูตคือ พระยาสุนถัวหลออาเพ่ ( พระยาสุนทรอภัย ) และหลันพี่ตู้เย๋ซาหนีเดอะ ( หลวงพิชัยเสน่หา ) กับคนรับใช้ และหลันผัวเจอน่าพีหมอหลัว ( หลวงพจนาพิมล ) และขุนนางอีกคนหนึ่งคือขุนผัวเจอน่าพีซือตัวหลัว ( ขุนพจนาพิจิตร ) และวั่นพี่พี่ถัวฟ้าเจ้อ ( หมื่นพิพิธวาจา ) ราชทูตคณะนี้ได้นำแผ่นทองและสิ่งของต่างๆ เช่น ช้างพลาย ช้างพังอันเป็นการปฏิบัติตามราชประเพณีที่เคยมีมา นอกจากนี้ซื่อลี่อยุธยา ( กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ) เจิ้นเจ้าใครขอให้พระเจ้ากรุงจีนทรงตอบความเป็นหลายข้อซึ่งมีว่า
1. พระยาซ้วยท้วนหย่าผายน่าถู (พระยาสุนทรอภัยราชา) ซึ่งเป็นราชทูตของสยาม เมื่อกลับไปสยามแล้วได้กราบทูลว่าขุนนางที่เป่ผิงขอให้เขาจ่ายค่าภาษีต่างๆ ที่ส่งไปถวายพระเจ้ากรุงจีนเป็นเงิน 30 ชั่ง (2,400 บาท) จึงใคร่ขอทูลถามว่าพระองค์ทรงทราบเรื่องนี้หรือไม่ และซื่อลี่อยุธยา ( เจิ้นเจ้า ) ใคร่ที่จะทรงทราบถึงลักษณะที่แท้จริงของเจ้าเมืองนี้
2. กษัตริย์สยามพระองค์ใหม่ ( เจิ้นเจ้า ) ได้ส่งขุนนางไปจีนโดยนำเรือไปจากสยาม ซึ่งเรือลำนั้นก็เป็นเรือสยาม แต่ทางจีนกลับไม่ยอมให้ขุนนางไทยใช้เรือลำนั้นกลับสยาม แต่บังคับให้ใช้เรือจีน แม้ว่าขุนนางไทยจะขอใช้เรือลำเดิม ขุนนางจีนก็ไม่ยอม ไม่เพียงแต่ไม่ยอมฟังเท่านั้น แต่ยังให้ขุนนางไทยจ่ายเงินให้อีก 4 ก้อนด้วย พระองค์ทรงทราบหรือไม่
3. ทูตสยามมีทั้งขุนนางผู้ใหญ่และผู้น้อยที่นำเครื่องราชบรรณาการมาถวายพระเจ้ากรุงจีน แต่กลับถูกกักขังให้อยู่แต่ภายในเรือนพักในเมืองหลวง ไม่ยอมให้ไปไหน ซื่อลี่อยุธยาสงสัยว่าพระเจ้ากรุงจีนทรงทราบหรือไม่
4. สยามได้ตีเผ่าไออีที่บริเวณชายแดนได้ และได้ส่งเชลยเหล่านี้ไปยังเมืองหลวงของจีนเพื่อให้ทางจีนสอบปากคำ เชลยเหล่านี้มีบ้านเรือนอยู่ในสยาม และมิได้คิดที่จะต่อสู้กับพม่า ดังนั้น ซื่อลี่อยุธยาทูลมาเพื่อขอให้พระเจ้ากรุงจีนโปรดได้ส่งเชลยเหล่านั้นกลับไปสยาม แต่พระองค์ก็ทรงเพิกเฉยต่อคำขอร้องของกษัตริย์สยาม
5. ซื่อลี่อยุธยาได้ส่งชาวประมงจีนกลับไปจีน คนเหล่านั้นได้เข้ามาในสยามเพราะถูกพายุพัดเข้ามา สยามจึงส่งกลับไปโดยให้เงิน เสื้อผ้า ข้าว ปลา นม และสิ่งของอื่นๆ ทั้งหมดเป็นเงิน 1 ชั่ง ข้าว 35 ถังๆ ละ 1 บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 1 ชั่ง 8 ตำลึง 3 บาท และยังเกิดเหตุว่ากองทัพของยูนานถูกกองทัพพม่าโจมตี คนเหล่านั้นถูกจับเป็นเชลย และกองทัพสยามไปตีได้และปล่อยเชลยเหล่านั้นกลับไปจีนได้ 19 คน ซึ่งทางสยามก็ได้ช่วยส่งกลับไปเป่ผิงโดยมอบเงิน เสื้อผ้า ข้าว ปลา นม รวม 1ชั่ง 12 ตำลึง และยังเตรียมเสื้อผ้าให้อีกคนละ 1 ชุด ราคาชุดละ 1 บาท 2 สลึง รวมทั้งสิ้นเป็น 7 ตำลึง 2 สลึง ข้าวก็ให้รวม 19 ถังเป็นเงิน 4 ตำลึง 3 บาท ซึ่งซื่อลี่อยุธยาใคร่ขอทูลถามว่าพระองค์เองทรงทำอะไรผิดบ้าง ข้าวทุกถังและของทุกอย่างคิดเป็นเงิน 2 ชั่ง 3 ตำลึง 3 บาท 2 สลึงที่สยามช่วยเหลือไป อีกครั้งหนึ่งที่สยามส่งคนกลับไปจีน 3 คน ทางสยามก็ให้เงิน เสื้อผ้า กับข้าว 3 ถัง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 10 ตำลึง 3 บาท 2 สลึง พระเจ้ากรุงจีนจะทรงเห็นว่า ทั้ง 3 ครั้ง นี้ ทางสยามต้องจ่ายเงิน 4 ชั่ง 3 ตำลึง 2 บาท ซื่อลี่อยุธยาใคร่ทราบว่าพระเจ้ากรุงจีนทรงทราบหรือไม่ เงินที่เราใช้ในการนี้ทางสยามถือว่าเป็นการส่งบรรณาการของอยุธยาไปยังพระองค์ เพื่อเป็นพระราชไมตรี
6. สยามกำลังจะสร้างเมืองหลวงใหม่ ดังนั้นซื่อลี่อยุธยาจึงได้ ส่งเรือมาสามครั้ง ๆ ละ 3 ลำ ถ้าพระองค์ทรงอนุญาต สยามก็จะเตรียมข้าวสาร ฝาง และของอื่นๆ ไปยังจีน ซึ่งครั้งแรกก็คาดว่าจะให้เรือหนึ่งลำเดินทางไปกว่างโจว หนึ่งลำไปหนิงโพว หนึ่งลำไปช้าหมึน ( เอ้หมึง ) เรือเหล่านี้ได้นำของเพื่อไป ค้าขายแลกเปลี่ยนจัดซื้ออิฐและหิน ซึ่งเป็นของที่มิได้ผิดกฎหมายของจีนในอันที่จะนำออกนอกประเทศ และครั้งที่สอง ทางสยามขอร้องให้จีนช่วยจัดหาขุนนางจีนเพื่อช่วยนำเรือสยาม ไปญี่ปุ่นเพื่อจัดซื้อทองแดง 2 ลำ และครั้งนี้ซื่อลี่อยุธยาก็ได้เตรียมสิ่งของที่เป็นเครื่องราชบรรณาการแด่พระองค์เพื่อแสดงความมีพระราชไมตรีอันดีต่อกันคือ ฝาง 10,000 หาบ งาช้าง 100 หาบ ดีบุก 300 หาบ นอแรด 1 หาบ รง 100 หาบ พริกไท 3,000 หาบ ช้างพลาย 1 เชือก ขอให้พระองค์ทรงรับของขวัญเหล่านี้ และเนื่องจากทางสยาม ซื่อลี่อยุธยา ไม่มีตรารูปโลโต ดังนั้นเราจึงใช้ตราอื่นคือ ตราไอราพต มาเป็นสำคัญ เพื่อแสดงว่าเราเป็นกษัตริย์สยามที่แท้จริง
สำหรับ พระราชสาส์นฉบับภาษาจีนของปี พ.ศ.2324 หรือ จ.ศ.1143 ( หมายถึงสำรับที่ 2) ที่ศาสตราจารย์ฉู่เหวินเจี้ยวแปลนั้น ปรากฏว่า เรื่องที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงขอร้องพระเจ้ากรุงจีนบางอย่างหายไป และเมื่อเปรียบเทียบการแปลพระราชสาส์นของพระเจ้ากรุงธนบุรีจากภาษาไทย กับที่ส่งไปทางราชสำนักราชวงศ์ชิงนั้น จะเห็นว่า เป็นการแปลตามความของผู้ดูแลมณฑลกว่างตุ้ง ด้วยเหตุนี้จากการแปลของพระราชสาส์นฉบับภาษาไทยจึงพบว่ามีรายการเครื่องราชบรรณาการ 2 รายการ คือของที่ถวายพระเจ้ากรุงจีน กับที่ถวายพระมเหสีของพระเจ้ากรุงจีนด้วย นอกจากนี้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียังทรงเตรียมของต่างๆ เป็นของนอกเครื่องราชบรรณาการเป็นพิเศษ กับทั้งทรงเตรียมของเพื่อมอบให้เจ้าหน้าที่ต่างๆ ตามมณฑลที่เป็นทางผ่าน รวมทั้งยังมีของที่ทรงมอบให้กองพระราชพิธี มีฝาง 1,000 หาบ ไม้ดำ 300 หาบ เปลือกสีเสียด 1,800 หาบ และยังมีพิเศษอีก 40 หาบ ยังมีของขวัญสำหรับหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ คือ ฝาง 500 หาบ ไม้แดง 500 หาบ สำหรับผู้ที่รับผิดชอบในหน่วยกระบวนนำทางก็มีฝาง 100 หาบ ไม้แดง 1 หาบ และมีของบางอย่างที่เก็บอยู่ในพระคลังที่เมืองกว่างโจวเพื่อนำออกขาย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงขอซื้อเครื่องภาชนะสำริด 1,000 รายการ เพื่อส่งกลับสยามเมื่อเรือว่าง สำหรับของที่มิได้เป็นเครื่องราชบรรณาการนั้นจะเห็นว่ามีค่ามากทีเดียว

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาเทพสุดาวดี
สมเด็จพระพี่นางเธอพระองค์ใหญ่ ในรัชกาลที่ 1
(ภาพจากหนังสือย้อนรอยราชสกุลวังหน้า-วังหลัง)
จากจดหมายเหตุไทยจะพบว่าของที่นอกเหนือจากเครื่องราชบรรณาการนั้นมีค่า 1,866 ชั่ง 3 ตำลึง 2 บาท 1 สลึง ของที่เตรียมให้กองพระราชพิธีมีค่า 56 ชั่ง 5 ตำลึง ของที่ให้หน่วยงานในเป่ผิง 37 ชั่ง 10 ตำลึง สำหรับหน่วยนำทาง 20 ชั่ง รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 1,989 ชั่ง 18 ตำลึง 2 บาท 1 สลึง เรือที่นำเครื่องราชบรรณาการมามี 11 ลำ สองลำมาจากต่างประเทศ อีก 9 ลำเป็นเรือพ่อค้ากว่างตุ้ง รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 2,443 ชั่ง 15 ตำลึง 1 บาท 3 สลึง 1 เฟื้อง ซึ่ง รวมค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นคิดเป็นเงิน 195,500 ชั่ง 1 บาท 87.5 สลึง ( ซื่อติ้ง )
พระราชสาส์นของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีฉบับที่เป็นทางการนี้ ถึงพระเจ้าเฉียนหลงในวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2324 อย่างไรก็ดีเรือที่บรรทุกเครื่องราชบรรณาการไปจีนนั้น เริ่มออกเดินทางในเดือนมิถุนายน แรม 13 ค่ำ วันอังคาร เวลา 7.12 นาฬิกา มี พระยามหานุภาพเป็นราชทูต หลวงฤทธิ์นายเวร กรมมหาดเล็ก ( ท่านทองจีน ) เป็นอุปทูต
หมายเหตุ ท่านทองจีนนี้เป็นพระโอรสองค์ที่ 3 ของสมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่ ( สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาเทพสุดาวดี ) ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กับหม่อมเสม ซึ่งรับราชการเป็นที่พระอินทรรักษา เจ้ากรมตำรวจใหญ่ซ้ายฝ่ายพระบวรราชวัง ท่านทองจีนเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อผลัดแผ่นดิน ท่านได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทร์รณเรศ คนทั้งหลายเรียกกันว่า “ เจ้าฟ้าปักกิ่ง ” ( จุลลดา ภักดีภูมินทร์ “ เวียงวัง : สมเด็จพระพี่นางเธอพระองค์ใหญ่ ,” สกุลไทย 48 (2482) : อังคาร 14 พฤษภาคม 2545 : 57-58)
มีผู้แต่งโคลงนิราศ ( จี้ฉิงซื้อ ) เล่าถึงการเดินทางครั้งนี้ไว้ด้วยว่า มีขุนนางไปด้วยกัน 6 คน ลงเรือที่ท่าเรือ “ หลอเลี่ยไต้ ” ( ท่าประตูชัย ) มีเรือทั้งหมด 21 ลำ ออกเดินทางไปได้ 30 วัน ก็ถึงเมืองกว่างโจวในวันที่ 1 กรกฎาคม เจ้าเมืองกว่างโจวชื่อ “ เจิ้นหยวนโฉว ” จึงได้รายงานไปยังผู้ว่าการมณฑลชื่อ “ ปาเหยียนซาน ”
เรือเครื่องราชบรรณาการไปถึงก็ต้องทำตามระเบียบของจีน คือมีขุนนางจีนมาสอบถามข้อความบางอย่าง ซึ่งราชทูตก็ได้แจ้งว่าไปจากสยามเพื่อนำเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงจีน พวกขุนนางจีนเหล่านั้นก็ตรวจรายการของและตรวจร่างกายของขุนนางไทย พวกขุนนางเหล่านี้ มีคนตามมา 30 คน ล้วนแต่งกายด้วยผ้าสีม่วงและสีเขียว มีลักษณะแสดงการเหนื่อยหน่าย แล้วนำขุนนางไทยไปยังประตูทหาร หลังจากที่ตรวจสอบแล้ว ก็ส่งขุนนางเข้ามาต้อนรับและให้ขุนนางไทยพักอยู่ที่นอกวังในพลับพลาเครื่องราชบรรณาการเก่า และพระราชสาส์นของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีประดิษฐานอยู่ในหอกลาง ส่วนของอื่นๆ เก็บอยู่ในพระคลัง จากนั้นทางขุนนางจีนก็รีบส่งรายงานขึ้นถวายพระเจ้ากรุงจีนโดยเร็วว่า เจิ้นเจ้า จากสยามได้ส่งเครื่องราชบรรณาการมาแล้ว พวกนี้สุภาพอ่อนน้อมมาก ขุนนางสยามได้ขอพระบรมราชานุญาตพิเศษในอันที่จะไปฉ้าเหมินและหนิงโพว แต่อย่างไรก็ดี ปรากฏว่ามีของบางอย่างที่เป็นของนอกเครื่องราชบรรณาการนั้นไม่ตรงกับในรายการ และยังมีของที่เตรียมไว้สำหรับขุนนางของกองพระราชพิธีกับขุนนางในหน่วยนำทางด้วย นอกจากนี้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียังทรงขอให้ราชทูตขายสินค้าบางอย่างเพื่อนำเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้ กับทรงขอร้องขอให้เรือได้ซื้อเครื่องสำริดโดยส่งกลับไปในเรือเดิมได้ แต่เนื่องจากมีกฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องโลหะออกนอกประเทศ ดังนั้นขุนนางจีนจึงสัญญากับท่านราชทูตว่าจะกราบทูลขอพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้ากรุงจีน
ปาเหยียนซาน ได้ร่างสาส์นมากราบทูลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยยังมิได้นำขึ้นถวายพระเจ้ากรุงจีนให้ทรงพิจารณาก่อน ความในสาส์นนั้นมีว่า ทางมณฑลกว่างตุ้งและกว่างชีได้รับของต่างๆ แล้ว ตนทราบว่าสยามได้ส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายพระเจ้ากรุงจีนเป็นเวลานานหลายศตวรรษมาแล้ว แต่จากการที่เกิดสงครามกับพม่า จึงไม่มีองค์รัชทายาทที่จะถวายเครื่องราชบรรณาการ ด้วยเหตุนี้เครื่องราชบรรณาการจากสยามจึงขาดหายไป และก็ทราบว่าประชาชนชาวสยามได้ขอให้ท่านขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ปกครองประเทศ
ด้วยเหตุนี้ทางจีนจึงไม่สามารถอนุญาตให้ท่านจัดซื้อได้ตามลำพัง และถ้าตนทำตามที่เจิ้นเจ้าขอร้อง คือถวายรายงานไปยังพระเจ้ากรุงจีนแล้ว ก็อาจจะทำให้พระเจ้ากรุงจีนทรงพิโรธได้ และอาจจะถูกตำหนิจากพระเจ้ากรุงจีนด้วย แล้วปาเหยียนซานได้แนะนำต่อไปว่า สินค้าที่เจิ้นเจ้าส่งมานั้นก็ให้นำกลับไปในเรือเดิม แต่ส่วนที่เป็นเครื่องราชบรรณาการก็ให้คอยจนกว่าจะได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้ากรุงจีนก่อน ตนทราบดีว่าเจิ้นเจ้ามีความจงรักภักดีต่อพระเจ้ากรุงจีน ดังนั้นจึงควรจะพึงระวังเรื่องเหล่านี้
อย่างไรก็ดีเมื่อหนังสือฉบับร่างฉบับนี้ถูกนำขึ้นถวายพระเจ้ากรุงจีนให้ทรงพิจารณาแล้ว ก็ปรากฏว่าในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2324 พระเจ้ากรุงจีนทรงส่งขุนนางทางกลาโหมชื่อ “ ฝูหลงอั้น ” ให้นำพระราชสาส์นมาแจ้งยังปาเหยียนซาน ความในพระราชสาส์นมีว่า พระองค์ทรงเห็นว่า หนังสือที่ปาเหยียนซานร่างนั้นไม่เหมาะสม พระองค์จึงทรงส่งคนให้มาช่วยเปลี่ยนข้อความบางอย่างในหนังสือนั้นให้เหมาะสมยิ่งขึ้น คือ ถ้าสยามได้นำสินค้ามาขายในกว่างโจวและท่านให้นำกลับไปสยามนั้น เขาก็จะเสียทั้งเวลาและเงิน ในกรณีนี้ท่านมิได้พิจารณาให้รอบคอบ สินค้าเหล่านั้นควรให้เขาขายในแบบเอกชนในกว่างโจวได้ โดยไม่ต้องขายเป็นแบบหลวงและข้อความในตอนอื่นๆ ฝูหลงอั้นก็ได้เปลี่ยนไปเป็นต้นว่า เรื่องที่สยาม ขออนุญาตนำสินค้าไปขายยังมณฑลฝูเจี้ยนและเจ้อเจียง กับที่ ขอผู้นำทางไปญี่ปุ่น นั้นเปลี่ยนเป็นทำนองว่า ท่านเจิ้นเจ้าเป็นเพื่อนบ้านและเมื่อท่านต้องการค้าขายกับญี่ปุ่นหรือแห่งใดแห่งหนึ่ง ทางจีนไม่สามารถทำตามคำขอร้องได้ อย่างไรก็ตามเรื่องที่พระองค์ทรงขอไปญี่ปุ่นและขอคนจีนนำไปนั้น ความจริงเรื่องนี้ท่านสามารถทำเองได้โดยมิต้องขอพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้ากรุงจีน และตนไม่มีหน้าที่และไม่อาจจะถวายรายงานไปยังพระเจ้ากรุงจีนได้ ส่วนของนอกเครื่องราชบรรณาการกับของขวัญต่างๆ นั้นก็ขอให้นำกลับไปในเรือเดิม และของที่ต้องการขายที่กว่างตุ้ง ท่านควรตัดสินใจด้วยตนเองโดยไม่ต้องทูลขอเป็นทางการ ส่วนเรื่องอื่นๆ ในสาส์นนั้นก็ใช้ความเดิมที่ปาเหยียนซานร่างไว้
วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2324 ปาเหยียนซานได้รับพระราชสาส์นจากพระเจ้ากรุงจีนทรงมีมา เขาจึงได้แจ้งให้ราชทูตสยามมาพบ และแจ้งให้ทราบถึงความที่พระเจ้ากรุงจีนทรงมีมา และเขาได้พยายามช่วยเหลืออธิบายถึงสิ่งที่ควรทำในคราวต่อไป ราชทูตสยามก็ได้กล่าวถึงความรับผิดชอบของตนว่า ตนถือว่าเป็นเกียรติที่ได้นำเครื่องราชบรรณาการเข้าถวายพระเจ้ากรุงจีน สำหรับรายละเอียดในพระราชสาสน์ของพระเจ้ากรุงสยาม ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะพวกตนมาจากที่เล็กๆ ห่างไกลจากจีน และยังมิทราบถึงกฎและระเบียบของจีน และรู้สึกขอบคุณในคำแนะนำของปาเหยียนซานเป็นอย่างยิ่ง พวกตนไม่กล้าที่จะขอร้องสิ่งใดมากไปกว่านี้ และสำหรับของนอกเครื่องราชบรรณาการเช่น ช้าง ไม้แดง นั้นมิได้อยู่ในกฎ พวกตนจึงมิกล้าที่จะใส่ลงไปในรายการของเครื่องราชบรรณาการ และเพียงแต่ขอร้องเป็นส่วนตัวว่าขอให้นำช้างไปยังเป่ผิงด้วย ส่วนฝางและงาช้างนั้นของฝากไว้ที่กว่างโจว เพราะช้างนั้นถ้ามาถึงกว่างตุ้งแล้ว ยากที่จะปล่อยไว้เพราะต้องมีคนดูแล
วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2324 ปาเหยียนซานก็ตกลงในคำขอร้องของราชทูตสยาม โดยให้นำช้างไปยังเมืองหลวงด้วย ส่วนฝาง งาช้างและของอื่นๆ ขอให้ทำรายการขึ้นใหม่ และเก็บไว้ในคลังเก็บของชั่วคราว และให้ราชทูตแจ้งให้ผู้ดูแลอ่าวให้คอยจนกว่าลมจะดี แล้วเรือจึงแล่นกลับมาจากเมืองหลวง ในขณะเดียวกันเขาก็ได้เลือกขุนนางจีนบางคนให้เดินทางไปกับราชทูตสยาม และเลือกวันดีเป็นวันเดินทางไปยังเมืองหลวง
วันที่ 2 กันยายน พ.ศ.2324 พระเจ้ากรุงจีนเมื่อทรงได้รับรายงานที่ถวายมา ก็ทรงมีรับสั่งให้ฝูหลงอั้นมีหนังสือไปถึงปาเหยียนซานว่า เครื่องราชบรรณาการทั้งหมดนั้นควรให้เป็นไปตามระเบียบที่จัดส่งไปยังเมืองหลวง ส่วนของนอกเครื่องราชบรรณาการนั้น ถ้าทางจีนให้เขานำกลับไปก็จะเป็นการเสียเวลา ดังนั้นพระองค์จึงขอให้ปาเหยียนซานเลือกช้างและนอแรดให้ส่งรวมมาเป็นเครื่องราชบรรณาการ และให้ทำตามระเบียบในเรื่องของตอบแทนที่จะส่งกลับไปกับราชทูต และให้เตรียมของบางอย่างเพิ่มเติมไปให้ด้วย ส่วนของนอกเครื่องราชบรรณาการที่เหลือ พระองค์ทรงอนุญาตให้ราชทูตสยามหานักธุรกิจในกว่างตุ้งจัดการขายให้ที่นั่น ส่วนของที่อยู่ในคลังก็ไม่ต้องเก็บภาษี และเมื่อเรือเครื่องราชบรรณาการมาถึงกว่างตุ้งและราชสำนักราชวงศ์ชิงได้รับแล้ว ของที่เหลือก็ให้ขายได้ที่กว่างโจว
วันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2324 ปาเหยียนซานก็ได้แต่งตั้งให้ หวังฉุน และองครักษ์บางคนเป็นเพื่อนราชทูต อัญเชิญพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการออกเดินทางจากกว่างโจว เครื่องราชบรรณาการส่วนมากส่งไปยังเมืองหลวงก่อนที่จะออกเดินทางแล้ว ยกเว้นช้าง 3 เชือกกับนอแรด 1 หาบ ที่เป็นของนอกเครื่องราชบรรณาการ มีคนนำไปต่างหาก แยกจากของที่ส่งไปสำหรับของขวัญที่เป็นของกองพระราชพิธีก็ให้รับไว้ ผู้ว่าการมณฑลเจียงชีชื่อ เห่าซั่ว ก็ได้รับหนังสือจากผู้ว่าการมณฑลกว่างตุ้งคือ หลี่ฝู ให้แจ้งไปยังเมืองหนานอันฝู ให้ช่วยจัดคนมาช่วยแบกของ ในขณะเดียวกันก็ได้แจ้งให้ขุนนางคนหนึ่งของหนานอันฝูชื่อ เก๊าติ้ง ให้คอยต้อนรับอยู่ที่ใกล้เขตแดน
วันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2324 ราชทูตสยามพร้อมด้วยพระราชสาส์น ของขวัญและช้าง 3 เชือกก็ไปถึงเขตมณฑลเจียงชีที่ตำบลต้าหยู วันที่ 16 ตุลาคม ก็ถึงตัวเมืองเจียงชีโดยทางเรือ วันที่ 23 ตุลาคม ออกเดินทางทางบกจากโจ๋วจั้งที่ตำบลเต๋อฮั้วไปยังมณฑลเหอเป่ วันที่ 25 ตุลาคมออกจากเขตมณฑลเหอเป่ถึงอันหุยที่ตำบลซู่ซง หลังจากที่เข้าเขตจิ่งโจ้ว ขุนนางชื่อ ลู่เอ่อซี่ มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเขตถูกส่งมาจากเมืองเทียนจิงให้มารักษาความปลอดภัยระหว่างทาง วันที่ 13 ธันวาคม ไปถึงตำบลฉง ท่านราชทูตเริ่มป่วยซึ่งหวังฉุนว่าเป็นโรคทางระบบหายใจ ดังนั้น ลู่เอ่อซี่จึงขอให้ทางเมืองฉงนำหมอมารักษา
ในวันที่ 14 ธันวาคม มาถึงตำบลชิง ท่านราชทูตมีอาการหนักขึ้น หมอจังฮุ่ยได้มาตรวจจับชีพจรขอให้จัดยาให้แต่ก็หมดหวัง เพราะ ท่านราชทูตมีอายุมากแล้ว กระเพาะก็ไม่ค่อยดี และอาการทรุดหนัก ดังนั้น ในวันที่ 15 ธันวาคม จึงหยุดเดินทางเพื่อให้การรักษาท่าน แต่วันเดียวกันนั้น ท่านก็สิ้นชีวิต ทาง จีนจึงจัดเตรียมโลงและพิธีศพให้ที่ตำบลชิง และท่านอุปทูตก็ได้นำของเดินทางต่อไป วันที่ 24 ธันวาคม จึงถึงเมืองหลวง ซึ่งทางกองพระราชพิธีได้ประกาศการมาถึงของท่านทูตสยาม ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคมแล้ว พระราชสาสน์ที่จารึกบนแผ่นทอง พร้อมทั้งกล่องทองบรรจุอยู่ในถุงซึ่งปักอย่างสวยงาม พร้อมด้วยแหวน 8 วง น้ำเต้าทองสามชั้น 1 ลูก กล่องมุกพร้อมที่รอง 1 ชุด หนังสือเขียนด้วยอักษรจีนบนกระดาษสีเหลือง 1 แผ่น ถุงปัก 1 ถุง กล่องประดับมุก 2 ชั้นหนึ่งกล่อง ถุงผ้าตาด 3 ชั้น 1 ถุง นอกนั้นมีแหวนทองขดสามชั้น 8 วง น้ำเต้าทอง 1 ลูก กล่องไม้กลม 1 กล่อง ถุงไหมสีเหลือง 1 ถุง ผ้าไหม 1 ชิ้น กับแถบผ้าไหมปักซึ่งจีนเรียกว่า “ หมินซู่ต่วนเถียว ” ทั้งหมดนี้ถูกส่งไปยังหอจดหมายเหตุ ส่วนเครื่องราชบรรณาการได้มอบให้กองเน่อู่ฝูรับผิดชอบ
วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2324 หลังจากที่พระเจ้ากรุงจีนได้ประกอบพิธีทางศาสนาในวัดเสร็จแล้วก็เสด็จกลับพระราชวัง ทูตจากสยามและทูตจากคีมอยพร้อมกับขุนนางบางคนได้เข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงจีน วันที่ 5 มกราคม พ.ศ.2325 ตรงกับปีที่ 47 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง พระเจ้ากรุงจีนได้ทรงแจ้งมายังกองพระราชพิธีเกี่ยวกับกฎการให้ทูตเมืองต่าง ๆ ส่งเครื่องราชบรรณาการ โดยมีพระบรมราชโองการให้เรียงลำดับทูตเข้าเฝ้าคือ ทูตเกาหลีควรมาก่อน แล้วจึงถึงทูตจากคีมอย ทูตหนานจ๋าง และทูตสยาม
วันที่ 8 มกราคม พ.ศ.2325 ขุนนางทางกลาโหมได้ทำตามพระบรมราชโองการในการนำทูตเข้าเฝ้า และรายงานไปยังเจ้าหน้าที่ของสือกว๋างเก๋อที่อยู่ที่ตึกหลังหนึ่ง ซึ่งหน่วยงานนี้คงทำหน้าที่คล้ายกระทรวงการต่างประเทศเกี่ยวกับการจัดเลี้ยงต้อนรับทูต จากนั้นขุนนางจีนก็ประกาศพระบรมราชโองการของพระเจ้ากรุงจีน ให้ทูตพักคอยอยู่ใกล้พระราชมณเฑียรที่พระเจ้ากรุงจีนประทับ
วันที่ 9 มกราคม พ.ศ.2325 ทูตได้เข้าไปในราชสำนักที่สือกว๋างเก๋อ มีการจัดงานต้อนรับ พระเจ้ากรุงจีนทรงเตรียมผ้า แก้วเหล้า และไถ้สีต่างๆ เป็นของขวัญ ทูตกล่าวคำขอบพระทัยที่ด้านหน้าประตู ( อู่เหมิน )
วันที่ 10 มกราคม ทูตได้ไปเยี่ยมหยวนหมิงหยวน
วันที่ 12 มกราคม พระเจ้ากรุงจีนทรงจัดงานเลี้ยงรับรองทูตอีก
วันที่ 13 มกราคม ทูตได้รับเชิญให้เข้าไปชมสวนและชมการแสดงการเล่นต่างๆ
วันที่ 14 มกราคม ทูตได้เข้าเฝ้าและร่วมชมการละเล่นกับพระเจ้ากรุงจีน
วันที่ 15 มกราคม ทูตได้รับเชิญไปงานเลี้ยงอีกครั้งหนึ่ง เมื่อทูตสยามจะเดินทางกลับ พระเจ้ากรุงจีนได้โปรดพระราชทานสิ่งของให้เจิ้นเจ้าตามระเบียบของการส่งเครื่องราชบรรณาการ
ในฤดูร้อนปีที่ 47 (พ.ศ.2325) รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง เมื่อราชทูตสยามได้นำของขวัญกลับมาจากจีน ระหว่างการเดินทางก่อนที่จะถึงสยาม เจิ้นเจ้าก็ถูกปลงพระชนม์ จากจดหมายเหตุจีนกล่าวว่า ในปีรัชกาล ปีสุดท้ายของเจิ้นเจ้า นั้น เจิ้นเจ้าเป็นโรคอัมพาต ดังนั้นพระชามาดา ( ลูกเขย ) จึงได้ควบคุมดูแลไว้ แต่บางกระแสก็ว่าวิกลจริต เพราะบางครั้งคิดว่าตนเป็นพระพุทธเจ้า จึงทำผิดต่างๆ เพื่อให้คนบูชาตน ทั้งยังให้เฆี่ยนพระสงฆ์และบุคคลที่ไม่พอใจ ดังนั้นประชาชนจึงไม่พอใจ อย่างไรก็ดี ทางจีนก็ไม่เชื่อถือเท่าไรนักเพราะมีความที่กล่าวว่า ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ไม่อาจจะเชื่อถือได้ เพราะเหตุผลที่เจิ้นเจ้าถูกปลงพระชนม์นั้นเป็นปัญหาทางทหาร เพราะหนันอุนน่าเป็นกบฏ เจิ้นเจ้าถูกประหารชีวิตที่วัด “ เจิ้นซื่อโฝเตี้ยน ” ( วัดบางยี่เรือใต้ – วัดอินทาราม ) แล้ว เจ้าพระยาจักรี ก็ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า “ เจิ้นหัว ” ( แปลว่า ผู้ดำรงความยิ่งใหญ่ ) ด้วยจีนเข้าใจว่าเป็นลูกเขยของเจิ้นเจ้า และใช้ชื่อเจิ้นหัวเป็นการอ้างสิทธิในการครองราชย์
ต่อมาในปี ค.ศ.1786 (พ.ศ.2329) อันเป็นปีที่ 51 รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง ราชสำนักราชวงศ์ชิงได้ยอมรับ เจิ้นหัว เป็นกษัตริย์ของสยาม เรื่อง การออกพระนามเป็นภาษาจีน นั้น ประโยชน์สำคัญที่ได้จากการนี้ก็คือ ความสะดวกในการส่งราชฑูตไปกระชับสัมพันธไมตรีกับจีนเพื่อประโยชน์ทางการค้า อันเป็นธรรมเนียมประเพณีในการติดต่อค้าขายระหว่างไทยกับจีนมาช้านานแล้วนั่นเอง นอกจากนี้ ถ้าหากออกพระนามเป็นภาษาไทยแล้ว ก็จะยืดยาวและฟังยากยิ่งสำหรับคนจีน จึงต้องกำหนดพระนามเป็นภาษาจีนขึ้นมา เพื่อให้ทางเมืองจีนเข้าใจและจดจำได้ง่าย จึงกลายเป็นราชประเพณีสืบต่อมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5
ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้พระนามภาษาจีนขึ้นต้นว่า “ เจิ้น ” ทั้งสิ้น เช่น เจิ้นฝู ( ร .2 – ผู้ดำรงในบุญ ) เจิ้นหมิง ( ร .4- ผู้สว่างไสว ) และทรงใช้พระนามนี้เวลาส่งเครื่องราชบรรณาการไปจีน แต่เสทื้อน ศุภโสภณ (2527 : 57) และพิมพ์ประไพ พิศาลกุล (2541 : 190) กล่าวว่า พระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรีก็ยังคงทรงใช้พระนามในพระราชสาส์นที่มีไปยังประเทศจีน ด้วยการขึ้นต้นด้วยคำว่า “ แต้ ” สืบต่อมา 5 รัชกาล กล่าวคือ
รัชกาลที่ 1 ทรงใช้พระนามว่า แต้ฮั้ว
รัชกาลที่ 2 ทรงใช้พระนามว่า แต้หก
รัชกาลที่ 3 ทรงใช้พระนามว่า แต้ฮุด
รัชกาลที่ 4 ทรงใช้พระนามว่า แต้เม้ง
รัชกาลที่ 5 ทรงใช้พระนามว่า แต้เจี่ย
หมายเหตุ
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงใช้พระนาม “ เจิ้นเจ้า ” และ “ แต้เจียว ” ในพระราชสาส์นถึงพระเจ้ากรุงจีน

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์แบบจีน
(ภาพจากหนังสือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)
หมายเหตุ แต่สำหรับในสมัยรัชกาลที่ 5 คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เพียงแต่คิดกำหนดขึ้นไว้เท่านั้น ยังมิได้ถึงขั้นใช้ในพระราชสาส์นส่งไปยังราชสำนักของพระเจ้ากรุงจีนเลย
ทั้งนี้ก็เป็นด้วยในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นทางไทยได้เลิกประเพณีการส่งราชทูตไปยังเมืองจีนเสีย ด้วยเรื่องมีอยู่ว่าในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่ครั้งที่ยังมีเคาน์ซิลออฟสเตทส์ หรือสภาที่ปรึกษาราชกาลแผ่นดินอยู่นั้น ทางจีนเห็นว่าไทยได้งดส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายยังพระเจ้ากรุงจีนมาเป็นเวลาช้านานแล้ว จึงได้มีการเรียกร้องทวง “ จิ้มก้อง ” เครื่องราชบรรณาการจากประเทศไทยขึ้นมา เมื่อทางไทยทราบแน่ชัดว่าทางจีนถือว่าประเทศไทยเป็นเมืองขึ้น จึงงดการติดต่อกับประเทศจีนเป็นทางการโดยเด็ดขาด ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีน จึงยุติลงตั้งแต่ครั้งนั้น จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สองได้สิ้นสุดลง จึงได้มีการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตกันขึ้นมาใหม่อีกสืบต่อมาจวบจนบัดนี้ ( เสทื้อน ศุภโสภณ , 2527 : 58)
ข้อวิจารณ์
ดังนั้น การที่สยามสามารถส่งเครื่องราชบรรณาการจีนได้ในสมัยเจิ้นเจ้านั้นถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากเรื่องหนึ่งทีเดียว
(ณัฏฐภัทร จันทวิช, ศิลปากร 2 4 ( 3 ) : กรกฎาคม 2523 : 50-70) ในหนังสือพระราชพงศาวดาร ฉบับราชหัตถเลขา มีข้อวิจารณ์ดังนี้
1. การแต่งสำเภาทรงพระราชสาสน์ไปขอลูกสาวพระเจ้ากรุงปักกิ่ง
ในปี พ.ศ.2312 จีนตกลงจะให้การรับรองแก่สมเด็จพระเจ้าตากสินกษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี หลังจากได้ปฏิเสธมาเป็นเวลา 10 ปี โดยจีนตกลงกำหนดเอาปี พ.ศ.2324 เป็นปีจิ้มก้องปีแรก ก่อนถึงกำหนดจิ้มก้อง สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงมีพระราชดำริจะกระชับความสัมพันธ์กับพระเจ้ากรุงจีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น จึงทรงแต่ตั้งคณะทูตคณะหนึ่งไปทำการสู่ขอพระราชธิดาของพระเจ้าเชียนหลงมาเป็นพระมเหสี เมื่อ พ.ศ.2323 เรื่องนี้แปลกที่ไม่มีปรากฏในจดหมายเหตุหรือในพระราชพงศาวดารจีน แต่มีปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุความทรงจำ (กรมหลวงนรินทรเทวี) ดังความต่อไปนี้
“… ให้แต่งสำเภาทรงพระราชสาส์น ไปถึงพระเจ้าปักกิ่ง ว่าจะขอลูกสาวพระเจ้าปักกิ่ง โดยให้เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชผู้เถ้า กับหลวงนายฤทธิ หลวงนายศักดิ์เป็นราชทูต หุ้มแพรมหาดเล็กเลวไป ม าก แต่งเครื่องบรรณาการไปกล่าวขอลูกสาวเจ้าปักกิ่ง …”
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชวิจารณ์ว่า “ เคยได้ยินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าหัวรับสั่งเล่าให้ฟัง ” นอกจากนี้พระองค์ท่านยังทรงมีพระราชวิจารณ์ต่ออีกว่าทูตที่ไปครั้งนี้ มีสองสำรับ หลังจากที่ไปตรวจดูสำเนาในห้องอาลักษณ์แล้ว และทรงมีพระราชวิจารณ์ว่า “ ทูตสำรับเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชนี้ คงมีพระราชสาส์นฉบับหนึ่งต่างหาก เรื่องขอลูกสาว แต่จะซ่อนแต่งซ่อนแปลกันอย่างไร ไม่ได้เก็บสำนวนไว้ในห้องอาลักษณ์ทีเดียว จึงไม่ได้ความ ”
2. พระราชสาสน์สองสำรับ
สำรับที่ 1 น่าจะเป็น พระยาสุนทรอภัย ราชทูต หลวงพิชัยเสน่หา อุปทูต หลวงพจนาพิมล ตรีทูต ขุนพจนาพิจิตร ท่องสื่อ หมื่นพิพิธวาจา ปันสื่อ
พระราชสาสน์สำรับที่หนึ่ง
พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีพระมหานครศรีอยุธยา ปราบดาภิเษกใหม่ คิดถึงพระราชไมตรีกรุงปักกิ่ง จึงให้พระยาสุนทรอภัย ราชทูต หลวงพิไชยเสน่หา อุปทูต หลวงพจนาพิมล ตรีทูต ขุนพจนาพิจิตร ท่องสื่อ หมื่นพิพิธวาจา ปันสื่อ จำทูลพระสุพรรณบัตรสุวรรณพระราชสาส์น เชิญเครื่องพระราชบรรณาการ ช้างพลายช้าง 1 ช้างพัง ช้าง 1 รวม 2 ช้าง ออกมาจิ้มก้องสมเด็จพระเจ้ากรุงต้าฉิ้งผู้ใหญ่ ตามขนบพระราชไมตรีสืบมาแต่ก่อน
ข้อหนึ่ง พระนครศรีอยุธยาใคร่แจ้งข้อความ พระยาสุนทรอภัย ราชทูต กราบทูลสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยา ว่า จงตกหมูอี้ เจ้าพนักงานกรุงปักกิ่ง เรียกเอาเงินค่ารับเครื่องพระราชบรรณาการแต่ก่อนคราวหนึ่ง ทูลลดเงินท้องพระคลังลง 30 ชั่ง เป็นดั่งนี้ สมเด็จพระเจ้ากรุงต้าฉิ้งผู้ใหญ่ทราบหรือไม่ คือคุณโทษคุณธรรมประการใด พระนครศรีอยุธยาใคร่แจ้งข้อหนึ่ง
ข้อหนึ่ง ทูตานุทูตพระนครศรีอยุธยาคุมเครื่องพระราชบรรณาการออกไปแต่ก่อน ต้องขังใส่ตึกลั่นกุญแจไว้กรุงจีนทุกครั้ง ไม่ได้เที่ยวเตร่ ข้อนี้ทราบถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงต้าฉิ้งผู้ใหญ่หรือไม่ กลัวจะกบฏประทุษร้ายประการใด พระนครศรีอยุธยาใคร่แจ้งข้อหนึ่ง
ข้อหนึ่ง กรุงไทยปราบดาภิเษกใหม่ ให้ทูตานุทูตออกไป จงตกหมูอี้ไม่ให้ทูตานุทูตกลับเข้ามากับสำเภากรุงไทยซึ่งขี่ออกไป ข่มเหงให้เดินสาส์นสำเภาจีนเข้ามา ทูตานุทูตร้องฟ้องก็มิฟัง ให้ปกซอทนายใช้เรียกเอาเงิน 4 แผ่น ว่าเป็นค่ารับฟ้องดังนี้ สมเด็จพระเจ้ากรุงต้าฉิ้งผู้ใหญ่ทราบหรือไม่ เหตุการณ์ประการใดกรุงพระนครศรีอยุธยาใคร่แจ้งข้อหนึ่ง
ข้อหนึ่ง กรุงไทยตีได้บ้านเมืองอ้ายอีมีชื่อชะเลยซึ่งส่งไปกรุงจีนแต่ก่อนขาดมาแก่กรุงไทย เป็นฝาเป็นตัวเป็นปึกเป็นแผ่นอยู่แล้ว ฝ่ายกรุงจีนไม่ต้องการสืบเอาข้อราชการทำสงครามกับพม่าหาไม่แล้ว ขออ้ายอีมีชื่อทั้งนี้คืนบ้านเมือง อย่าให้พลัดถิ่นฐานันดร เอาบุญ
ข้อหนึ่ง พระนครศรีอยุธยาส่งครัวจีนมาหาปลาลมพัดซัดเข้ามาเมืองไทย 35 คน ได้เสียเงินเสียผ้าข้าวปลาอาหารเลี้ยง ครั้งหนึ่งเป็นเงิน 1 ชั่ง ข้าวสาร 35 ถัง ถังละ 1 บาท เป็นเงิน 8 ตำลึง 3 บาท เข้ากันเป็นเงิน 1 ชั่ง 8 ตำลึง 3 บาท ครั้งหนึ่งส่งจีนฮ่อทัพแตกพม่าๆ จับได้ส่งมาไว้ปลายแดน กองทัพไปตีได้ ส่งออกไปกรุงปักกิ่ง ได้เสียเงินเสียผ้าข้าวปลาอาหารเลี้ยงคราวหนึ่ง 19 คน เป็นเงิน 1 ชั่ง 12 ตำลึง เสื้อกางเกงคนละสำรับๆ ละ 1 บาท 2 สลึง เป็นเงิน 7 ตำลึง 2 สลึง ข้าวสาร 19 ถัง ถังละ 1 บาท เป็นเงิน 4 ตำลึง 3 บาท เข้ากันเป็นเงิน 2 ชั่ง 3 ตำลึง 3 บาท 2 สลึง คราวหนึ่ง 3 คน เป็นเงิน 9 ตำลึง เสื้อกางเกงคนละสำรับๆ ละ 1 บาท 2 สลึง เป็นเงิน 1 ตำลึง 2 สลึง ข้าวสาร 3 ถังๆ ละ 1 บาท เป็นเงิน 3 บาท เข้ากันเป็นเงิน 10 ตำลึง 3 บาท 2 สลึง สิริเข้ากัน 3 ครั้ง เป็น เงิน 4 ชั่ง 3 ตำลึง 2 บาท นั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงต้าฉิ้งผู้ใหญ่ทราบหรือไม่ ฝ่ายพระเจ้านครศรีอยุธยาขอถวายไปกรุงปักกิ่ง โดยครองพระราชไมตรี
ข้อหนึ่ง กรุงไทยจะสร้างพระนครขึ้นใหม่ ใคร่ขอทิวหุนค่าธรรมเนียมจังกอบปากสำเภากรุงจีน 3 คราวๆ ละ 3 ลำ ถ้าสมเด็จพระเจ้ากรุงจีนให้ พระนครศรีอยุธยาจะแต่งสำเภาบรรทุกข้าวสาร ฝาง สิ่งของออกไปจำหน่ายแลกพานอิฐ พานศิลา สิ่งของไม่ต้องห้าม ณ เมืองกว่างตุ้ง ลำ 1 เมืองเลียงโผลำ 1 เมืองเอ้มุยลำ 1 เข้ามาสร้างพระนครเมืองละลำ ข้อหนึ่ง
ข้อหนึ่ง จะขอจ้างต้นหนกรุงจีนใช้สำเภากรุงไทยไปบรรทุกทองแดงเมืองญี่ปุ่น 2 ลำ ข้อหนึ่ง

ตราพระราชลัญจกรสยามโลกัคราช (เรียกอย่างสามัญว่า ตราช้างหมอบ) สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเจ้าอยู่หัว ทำด้วยทองคำ เป็นรูปสี่เหลี่ยม มีรูปช้างหมอบอยู่หลังบนที่จีบประทับในดวงตราทำรูปเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ และอักษรขอมอยู่ 4 บรรทัด แปลว่า ใบประทับตรานี้ของอัครราชาโลกสยามผู้ปกครองสั่งสอนบรรพชนในแว่นแคว้น เป็นตราที่ทำเลียนแบบตราพระราชลัญจกรมหาโลโต

ตราพระราชลัญจกรมหาโลโต (หยก) ตราสี่เหลี่ยมตัวอักษรจีนอ่านว่า “ เสียมโหลก๊กอ๋อง ” ที่จับเป็นรูปอูฐหมอบเป็นตราที่ไทยได้รับจากจักรพรรดิ์จีน ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนตราหยกในภาพนี้คาดว่าเป็นองค์ใหม่สร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
(ภาพจากหนังสือพระราช ลัญจกร )
ข้อหนึ่ง พระนครศรีอยุธยาถวายสิ่งของนอกบรรณาการไปแต่สมเด็จพระเจ้ากรุงต้าฉิ้งผู้ใหญ่โดยพระราชไมตรี เป็นสิ่งของ ฝาง 10,000 หาบ งาช้าง 100 หาบ ดีบุก 300 หาบ นอรมาดหนักหาบ 1 รง 100 หาบ พริกไทย 3,000 หาบ ช้างพลายช้าง 1 ให้สมเด็จพระเจ้ากรุงต้าฉิ้งผู้ใหญ่ไว้โดยเข็ญใจ แต่ก่อนพระราชสาส์นคำหับปิด ตราโลโต ครั้งนี้หาตราโลโต ( อูฐ ) มิได้ จึงปิด ตราพระไอยราพต ( ช้าง ) มาเป็นสำคัญ
อธิบายศัพท์ที่สำคัญ
1. คำหับ เป็นภาษาจีนแปลว่าตรวจสอบ พระราชสาส์นคำหับก็คือ แผ่นกระดาษที่เป็นสำเนาพระราชสาส์นพร้อมทั้งนามของทูต วันเดือนปี กับรายการเครื่องราชบรรณาการ ซึ่งทำเป็น 2 ชุด ประทับตราลงที่รอยต่อ เพื่อให้ทูตนำไปยื่นต่อเจ้าพนักงานปกครองตรวจสอบ ว่าเครื่องราชบรรณาการที่ส่งมาตรงกันหรือไม่
2. ท่องสื่อ ก็คือ ล่าม
3. ปันสื่อ ก็คือ พนักงานฝ่ายธุรการทั่วไป
4. จิ้มก้อง ก็คือ ถวายเครื่องบรรณาการ หรือส่งส่วย
5. จงตกหมูอี้ คือ ผู้สำเร็จราชการมณฑล
6. ตราโลโต “ โลโต ” ภาษาจีนแปลว่า อูฐ โลโตเป็นชื่อของตราที่ประทับลงในพระราชสาส์น คำหับ ตามที่ค้นพบในจดหมายเหตุจีนพระเจ้าเซี้ยโจ้ว แห่งราชวงศ์ชิง ได้พระราชทานแก่พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.2216 ในโอกาสที่ทรงแต่งตั้งให้เป็น “ อ๋อง ” ตราโลโตที่พระราชทานในครั้งนั้นเป็นตราเงินกะไหล่ทอง ดุนทำเป็นรูปอูฐหมอบ มีข้อความเป็นภาษาจีนว่า “ ตราของพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม ”
การแจ้งไปในพระราชสาส์นที่ส่งไปยังพระเจ้ากรุงจีนว่า “ แต่ก่อนพระราชสาส์นคำหับปิดตราโลโต ครั้งนี้หาตราโลโตมิได้ ปิดตราพระไอยราพตมาเป็นสำคัญ ” นั้น ก็คงจะเนื่องมาจากกรุงศรีอยุธยาพินาศด้วยน้ำมือของพม่าในปี พ.ศ. 2310 นั่นเอง ตราโลโตจึงเป็นอันตรายสูญหายไป จนกระทั่งถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้เปลี่ยนมาเป็นตราหยก แต่รูปอูฐหมอบนั้น ยังคงไว้ตามเดิม ทั้งนี้ก็เป็นด้วยรูปอูฐนั้น เป็นสัญลักษณ์ของประเทศราช ( เสทื้อน ศุภโสภณ , 2527 : 61)
โดยสรุป
ความสำคัญในพระราชสาส์นฉบับนี้ ( สำรับที่หนึ่ง ) ตอนต้นเป็นการฟ้องร้องกล่าวโทษเจ้าพนักงานทางเมืองจีนที่ปฏิบัติการไม่ดีงามกับราชทูตไทย ที่ออกไปยังเมืองจีนคราวก่อน กล่าวคือเรียกค่าธรรมเนียมรับเครื่องราชบรรณาการเป็นเงินถึง 30 ชั่ง แล้วก็ลดจำนวนเครื่องราชบรรณาการลงเสีย หักเป็นค่าธรรมเนียมเอาไว้ แล้วยังได้กักขังทูต มิให้ออกไปเที่ยวเตร่ แกล้งทูตมิให้กลับบ้านเมืองด้วยเรือของตัวเอง ต้องอาศัยโดยสารสำเภาจีนกลับมา
นอกจากนี้ก็เป็นการแจ้งให้ทางเมืองจีนทราบเรื่องเชลยที่ได้ส่งไปยังเมืองจีนนั้น ว่าเมื่อทางจีนไม่ประสงค์จะสืบเอาข้อราชการไว้ทำศึกกับพม่าแล้ว ก็ขอให้ส่งตัวกลับคืนมา เรื่องทางไทยได้ช่วยเหลือคนหาปลาของจีน ที่เรือแตกพลัดเข้ามาในแดนไทยบ้าง เรื่องที่ทางไทยได้ช่วยเหลือเชลยจีน ที่ส่งมารบกับพม่า พม่าจับได้เอาตัวส่งมาไว้ปลายแดนทางใต้ กองทัพไทยไปรบพม่า ไปได้เชลยจีนเหล่านั้นมาเป็นคราวๆ รวม 3 คราวด้วยกัน ได้ให้ข้าวสาร เสื้อผ้าไปรวมเป็นเงินถึง 4 ชั่งเศษด้วยกัน
ตอนท้ายพระราชสาส์น เป็นเรื่องที่ทางไทยขอให้ทางจีนอำนวยความสะดวกให้แก่ทางไทย ในการที่จะจัดแต่งสำเภาหลวงบรรทุกสินค้า ออกไปขายที่เมืองจีนต่อไป โดยกำหนดจะส่งออกไปเที่ยวละ 3 ลำ โดยขอให้ทางจีนยกเว้นค่าจังกอบ กับขอซื้อสิ่งของบางอย่าง เช่น อิฐ เพื่อนำเข้ามาใช้ในการสร้างพระนครใหม่ และขอให้ทางจีนช่วยหาต้นหนสำเภาสำหรับทำหน้าที่ คุมสำเภาไทย ออกไปซื้อทองแดงที่เมืองญี่ปุ่น รวม 2 ลำด้วยกัน
พระราชสาส์นฉบับนี้นับว่ามีความสำคัญมาก เป็นหลักฐานแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนในครั้งนั้นได้เป็นอย่างดี เพราะมิใช่พระราชสาส์นเจริญทางพระราชไมตรีตามธรรมเนียมเท่านั้น หากแต่มีข้อราชการสำคัญ ๆ อยู่เป็นอันมาก อันแสดงว่าพระเจ้ากรุงจีนจะต้องทรงอ่าน หรือทรงรับรู้ความในพระราชสาส์นฉบับนี้ด้วยพระองค์เองโดยตรง
พระราชสาส์นสำรับที่ 2
ตามพระราชวิจารณ์ว่า “ เป็นหนังสือ เจ้าพระยาพระคลังแต่ง ให้เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช พระยาราชสุภาวดี พระพี่เลี้ยง หลวงราไชย หลวงศรียศ หลวงราชมนตรี นายฤทธิ นายศักดิ นายเวรมหาดเล็กข้าหลวง คุมสำเภา 11 ลำ พาของไปถวาย
เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนในสมัยกรุงธนบุรี ที่นับว่าสำคัญมากก็คือในตอนปลายรัชกาลเมื่อปีพ.ศ.2324 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงส่งคณะทูตชุดหนึ่ง มี เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช อัครมหาเสนาบดีในขณะนั้นเป็นหัวหน้าคณะ คุมกองเรืออัญเชิญพระราชสาส์น และเครื่องราชบรรณาการเดินทางไปเจริญพระราชไมตรีกับประเทศจีน ในแผ่นดินพระเจ้าเกาจงสุนฮ่องเต้ ( ในพระราชสาส์นครั้งนั้นออกพระนามว่า “ สมเด็จพระเจ้ากรุงต้าฉิ้ง ”) ณ กรุงปักกิ่ง
ปรากฎว่าคณะราชทูตไทยที่ออกเดินทางไปกระชับสัมพันธไมตรีกับพระเจ้ากรุงจีนครั้งนั้น ได้คุมเรือสำเภาบรรทุกสินค้าออกไปด้วยเป็นจำนวนถึง 11 ลำ คำนวณมูลค่าสินค้าทั้งหมดที่ส่งออกไปในครั้งนั้นเป็นเงินทั้งสิ้นถึง 2,443 ชั่ง 15 ตำลึง 1 บาท 3 สลึง 1 เฟื้อง หากคิดเทียบกับค่าของเงินในปัจจุบันก็เห็นจะไม่ต่ำกว่า 60 ล้านบาท (รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องสินค้าที่ส่งออกไปพร้อมกับคณะราชทูตในครั้งนั้นมีแจ้งอยู่ในพระราชวิจารณ์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าด้วยจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี)
แสดงว่า ฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในตอนปลายสมัยกรุงธนบุรีนั้น อยู่ในขั้นมั่งคั่งพอดูทีเดียว คณะราชทูตที่คุมสำเภาหลวง 11 ลำเดินทางออกไปยังเมืองจีนคราวนั้น ได้ออกจากท่ากรุงธนบุรีไป เมื่อวันอังคาร เดือน 7 แรม 13 ค่ำ ปี พ.ศ.2324
ในพระราชสาส์นที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงมีไปยังพระเจ้ากรุงจีนครั้งนั้น ปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ในจดหมายเหตุจีนว่าทรงออกพระนามพระองค์เอง เป็นภาษาจีนว่า “ แต้เจียว ” โดยมีความเต็มเมื่อออกพระนามในจดหมายเหตุจีนว่า “ เสี้ยมหลอก๊กเจี๋ยงแต้เจียว ”
“ เสี้ยมหลอก๊กเจี๋ยงแต้เจียว ” นั้นหมายถึงกรุงสยาม ส่วน “ เจี๋ยง ” นั้นกล่าวกันว่าแสดงว่าทางเมืองจีนยังมิได้ยอมรับหรือยกย่องในความเป็นใหญ่ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเท่าใดนัก เพราะโดยปกติแล้ว จดหมายเหตุจีนจะเรียกพระมหากษัตริย์ไทยเราว่า “ เสี้ยมหลอก๊กอ๋อง ” อยู่เสมอ ทั้งนี้เพราะจีนสมัยนั้นถือเป็นแบบแผนประเพณีอยู่อย่างหนึ่ง ว่าจะไม่ยอมให้เกียรติใครๆ เป็น “ ฮ่องเต้ ” ทั้งสิ้น นอกจากพระเจ้ากรุงจีน บรรดากษัตริย์ทุกประเทศ ไม่ว่าแขก ฝรั่งหรือไทย จะเป็นได้แต่เพียงแต่ชั้น “ อ๋อง ” เท่านั้น จดหมายเหตุเรื่องพระราชไมตรีในระหว่างกรุงสยามกับกรุงจีน ในประชุมพงศาวดารภาคที่ 5 ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองไทยในสมัยกรุงธนบุรีไว้ มีรายละเอียดที่น่าศึกษาเป็นอันมาก ดังจะขอตัดตอนสำคัญนำมาเสนอไว้ ดังต่อไปนี้
“ แผ่นดินเขียนหลงปีที่ 46 ซินทิ้วเจี่ยง้วย ( ตรง กับเดือนสาม ปีฉลู จุลศักราช 1143 ปี พ.ศ.2324) เสี้ยมหลอก๊กเจี๋ยงแต้เจียว ( พระเจ้ากรุงสยาม เรียกว่าเจี๋ยงนั้นกรุงจีนยังไม่ได้ยกย่อง แต้เจียวพระนามเจ้ากรุงธนบุรีที่ออกไปในภาษาจีน ) ให้หลง ปีไช่ซานี ( หลวงพิชัยธานี หรือเพชรปาณี ) กับเฮอ้กบู้ตุด ( อุปทูต ) สองนายเป็นราชทูตนำเครื่องราชบรรณาการมาถวาย ทูลว่าตั้งแต่ถูกพวกเมี้ยนฮุ้ย ( โจรพม่า ) มาย่ำยีแล้ว จึงได้แก้แค้นทดแทน ตีได้อาณาเขตมาก็จริง แต่เชื้อวงศ์ของเจ้านายนั้นสูญสิ้น พวกขุนนางพร้อมใจกันยกแต้เจียวขึ้นเป็นใหญ่ จึงจัดสิ่งของในพื้นประเทศส่งมาถวายเป็นเครื่องบรรณาการตามธรรมเนียม ”
“ ขุนนางผู้ใหญ่รับรับสั่งพระเจ้าเกาจงสุนฮ่องเต้ว่า เราแจ้งว่าเสี้ยมหลอก๊กเจี๋ยงให้ราชทูตลงเรือข้ามทะเลมาแต่ทางไกล เห็นได้ว่ามีความเคารพนับถือ แล้วขุนนางผู้ใหญ่ก็เขียนหนังสือตอบราชสาส์นตามข้อความราชสาส์นเดิม ”
“ พระเจ้าเกาจงสุนฮ่องเต้ทรงเห็นว่าทางมาแต่เสี้ยมหลอก๊กต้องข้ามภูเขาที่สูงและข้ามทะเลที่กว้าง ประทานโต๊ะเลี้ยงราชทูตสองวัน ”
“ ระยะทางเสี้ยมหลอก๊กมาส่งเครื่องราชบรรณาการ ทางผ่านเมืองกว้างตงมาเกียซือ ( กรุงปักกิ่ง ) กรุงเสี้ยมหลอก๊กอยู่ทิศตะวันตกเฉียงหัวนอนมณฑลก้วงตง เดินเรือไปทางทะเลสี่สิบห้าวัน สี่สิบห้าคืนจึงถึง ลงเรือที่แม่น้ำ อำเภอเฮียงซัวกุ้ย แขวงมณฑลก้วงตง ตั้งเข็มตรงอักษรโง๊ว ( ทิศหัวนอนหรือทิศใต้ ) ใช้ใบตามลมทิศปลายตีนหรือทิศเหนือ ออกทะเลชิดจิวเอี๋ย ( ทะเลจีน ) สิบวันสิบคืนจึงถึงทะเลอานหนำ ( ทะเลญวน ) ในระหว่างนั้นมีภูเขาชื่องั่วหลอภูเขาหนึ่ง ไปอีกแปดวันแปดคืนถึงทะเลเมืองเจียมเสีย ไปอีกสิบสองวันสิบสองคืนถึงภูเขาใหญ่ชื่อคุณหลุนภูเขาหนึ่ง ต้องกลับใบไปตามลมทิศตะวันออกเฉียงปลายตีนหรือเฉียงเหนือ เหศีรษะเรือไปฝ่ายทิศตะวันตก ตั้งเข็มอักษรบี้กิม อักษรซินสามส่วน ( ทิศตะวันตกเฉียงหัวนอนหรือเฉียงใต้ ) ไปอีกห้าวันห้าคืนถึงทะเลแม่น้ำจีนชี่วกั๊งไหลตก ไปอีกห้าวันห้าคืนถึงปากแม่น้ำเสี้ยมหลอกั๊ง ระยะทางสองร้อยลี้ถึงน้ำจืด ไปอีกห้าวันถึงเสี้ยมหลอเสีย ( เมือง ) เสี้ยมหลอกั๊งมีภูเขาใหญ่อยู่ฝ่ายทิศตะวันตกเฉียงหัวนอน หรือเฉียงใต้ น้ำในเสี้ยมหลอกั๊งออกจากภูเขาฝ่ายทิศหัวนอนหรือทิศใต้ ไหลมาลงทะเล …” ( เสทื้อน ศุภโสภณ , 2523 : 56-57) เมืองเสี้ยมหลอเสีย เป็นเมืองท่าค้าขายแข่งกับพวกฮอลันดา โดยทำเป็นที่จอดพักเรือรบและเรือค้าขาย
แต่ถ้าจะย้อนไปดูทางฝ่ายจีน ( เอกสารแปลเป็นไทยแล้ว ) ซึ่งบันทึกไว้เกี่ยวกับเรื่องทูตจะทราบทันทีว่า ทูตสำรับที่ 2 นั้นหาใช่ทูตไม่ จะเป็นได้ก็แต่เพียงผู้ร่วมไปในคณะทูตเท่านั้น นอกจากต้นร่างพระราชสาส์นคำหับไปเมืองจีนครั้งกรุงธนบุรี จุลศักราช 1143 (พ.ศ.2324) แล้ว ทางฝ่ายจีนได้จดไว้ว่า
1143 (พ.ศ.2324 หรือค.ศ.1781) ปีที่ 46 ในรัชกาลเขียนหลง
เจ้าตากส่ง หลวงพิไชยเสน่หา อุปทูต และคณะเข้ามาถวายเครื่องราชบรรณาการ และกราบทูล ( จักรพรรดิ ) ว่า หลังจากที่สยามถูกพม่าโจมตีแล้ว สยามได้ยึดดินแดนกลับคืนมาได้ ประชาชนเห็นว่าไม่มีผู้ใด ( สมควร ) ขึ้นสืบราชบัลลังก์ จึงยกเจ้าตากขึ้นเป็นประมุข ( เจ้าตาก ) จึงนำเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวายตามระเบียบ จักรพรรดิทรงชมเชยมาก และโปรดให้เลี้ยงคณะทูตที่สวนชื่อ “ ซันเกาสุ่ยฉาง ” เครื่องราชบรรณาการที่ทูตนำถวายโปรดให้รับไว้เพียงช้าง 1 เชือก นอระมาด 1 เจี๊ยะ ของอื่นๆ อนุญาตให้คณะทูตนำไปขายที่กว่างตุ้ง ( รวมทั้ง ) สินค้าอื่นๆ โดยยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี ( จักรพรรดิ ) พระราชทานต่วนปักลายพญางูและของมีค่าอื่นๆ แก่กษัตริย์สยามเป็นพิเศษตามประเพณีที่เคยปฏิบัติมา
ความจริงแล้ว ในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราชเคยส่งทูตไปเมืองจีนเพื่อทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ซื้อเหล็กและปืนใหญ่เพื่อสู้รบกับพม่าเมื่อปี ค.ศ.1771 (พ.ศ.2314) ราชสำนักจีนไม่อนุญาต ทั้งยังปฏิเสธที่จะรับรองการปราบดาภิเษกของพระเจ้าตากสินมหาราชด้วย นอกจากนี้ยังมีพระราชสาส์นแบบทำนองดูหมิ่นดูแคลนเสียอีก ต่อเมื่อพระองค์รบชนะพม่าและส่งราชทูตไป 3 คน ทางจีนจึงได้ชมเชยแถมยังพระราชทานตราตั้งอีกด้วย
จากเอกสารฝ่ายจีนในสมัยพระเจ้าเขียนหลง หรือเชียนหลงก็ดี จากร่างพระราชสาส์นคำหับไปเมืองจีนก็ดี และจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่องความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการระหว่างไทยจีนของ ดร . สืบแสง พรหมบุญก็ดี น่าจะยุติได้ว่า ทูตที่แท้จริงนั้นคือ ทูตสำรับที่ 1 ยิ่งพิจารณาถึงพระราชวิจารณ์ของ ร.5 “ เจ้าพระยาพระคลังแต่งตั้งให้ …” ด้วยแล้ว ควรจะเป็นหลักฐานที่ลบล้างจดหมายเหตุความทรงจำของ กรมหลวงนรินทรเทวีที่บอกว่าหลวงนายฤทธิ์ นายศักดิ์ เป็นราชทูตได้ แม้หลวงนายฤทธิ์ หรือสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้าทองจีนมีชื่ออ้างว่าเป็นอุปทูตไปปักกิ่งกลับมาเมืองไทย ( พระเจ้าตากสินมหาราชสวรรคตแล้ว ) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้แต่งเรือไปรับที่เมืองสมุทรปราการ และโปรดฯให้เป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทร์รณเรศก็ตาม
ดังนั้น ทูตสำรับไหน ที่มีอำนาจเต็มและนำพระราชสาส์นไป จึงน่าจะยุติได้
ข. พระราชพิธีในการร่างพระราชสาส์นและการนำพระราชสาส์นลงเรือ ไปเจริญพระราชไมตรี มีขั้นตอนอย่างไร ?
สมัย 204 ปีมาแล้วนั้น การร่างพระราชสาส์นครั้งหนึ่ง และนำพระราชสาส์นลงเรือไปเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ดูจะเป็นเรื่องใหญ่โตพิลึกกึกกือไม่น้อย เรียกว่าพิธีรีตองมากจนไม่น่าเชื่อ เห็นว่าเป็นเรื่องที่หาอ่านได้ยาก จึงขอคัดลอก (โดยไม่เปลี่ยนวิธีการเขียนตัวสะกด การันต์) ไว้ดังนี้
“ วันจันทร์ เดือน 7 ขึ้น 6 ค่ำ จุลศักราช 1143 ตรีศก เวลาเช้า เสด็จออกท้องพระโรงเจ้าพระยาและพระยา พระ หลวง หมื่น ข้าทูลฯ เข้าเฝ้าพร้อมกัน ณ พระที่นั่งเสด็จออก ทรงแต่งพระราชสาส์นออกไปจิ้มก้องสมเด็จพระเจ้าต้าฉิ้งเมืองปักกิ่งฉบับหนึ่ง พระยาพิพัทโกสาเป็นผู้เขียนรับสั่ง และกรมท่าได้บอกเจ้าพนักงานทั้งปวงทุกพนักงาน มีกฎหมายแต่งพระราชสาส์นไปกรุงปักกิ่ง 3 ปี ครั้งหนึ่ง กรมท่าได้กราบทูลจัดราชทูต อุปทูต ตรีทูต ท่องสื่อ ปันสื่อ สารวัตรใหญ่น้อย
พระคลังในได้จัดนายอำเภอ ล้าต้า ต้นหน ไต้กง กรมการ คนงาน สำเภาทรงพระราชสาส์น ลำหนึ่ง พระคลังสินค้าได้จัดแจง นายสำเภา ล้าต้า ต้นหน ไต้กง กรมการ คนงาน สำเภาหูทรงลำหนึ่ง สรรพากรในได้จัดผู้ถือธง 1 ถือคาถา 1 ถือบัญชีกลาง 1 รวม 3 คน สำเภาทรงพระราชสาส์น สรรพากรนอกได้จัดผู้ถือธง 1 ถือคาถา 1 ถือบัญชีกลาง 1 รวม 3 คน
ครั้นฤกษ์จะได้จารึกพระราชสาส์นแผ่นทองและคำหับกระดาษเหลือง ณ พระที่นั่ง สรรเพชญปราสาท กรมท่าหมายบอกจตุสดมภ์ทั้ง 3 พระไชยะทันพระคลังใน พระคลังสินค้า พระคลังวิเศษ ทูตทั้ง 3 ท่องสื่อ ปันสื่อ นายสำเภา ล้าต้า มาพร้อมกัน พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท

พระราชลัญจกรตรามังกรหก (หยก) ที่จับเป็นรูปมังกร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในปี พ.ศ.2333 พบว่ามีการใช้ตราโลโต และตรามังกรหก พร้อมด้วยตราพระครุฑพ่าห์ ตราพนมศก ในการประทับตราและปิดผนึกพระราชสาส์นคำหับ อักษรจีนด้วย อาจพิจารณาได้ว่า ได้หาตราโลโตพบแล้ว หรือเป็นด้วยพระเจ้ากรุงจีนส่งมาถวายใหม่แล้วก็เป็นไปได้ (ภาพจากหนังสือพระราชลัญจกร)
ชาวพระมาลาเชิญหีบตราครุธพาห (‘ ครุฑพ่าห์ ‘ ในปัจจุบัน ) ตรามังกรหก สำหรับตีประจำครั่งใส่พระเสลี่ยง มีสัปปะทนแพรเหลือง 4 คัน แห่แต่โรงแสงใน มายังพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท พระคลังในเชิญหีบตราโลโตและชาดมาสำหรับตีพระราชสาส์นคำหับกระดาษเหลือง สนมเบิกผ้าขาวตราล้าวมาให้รองจารึกพระราชสาส์นแผ่นทองพับหนึ่ง รองตีตราพระราชสาส์นคำหับพับหนึ่ง มูลครั่งสมกำยานเป็นพนักงานอาลักสน์ ลง กอรเจียดถุงนวมพนักงานพระคลังวิเศษ เมื่อจารึกพระราชสาส์น ประโคมปี่พาทย์ ค้องชัย แตรสังข์ จารึกแล้ว พร้อมกันเชิญพระราชสาส์นกล่องทองเข้าถุง ตีตราประจำคลั่งปากถุงเจียดแล้วใส่ลงในพระลุ้งใหญ่ ตีตราขุนสรีภูริยปรีชาชั้นนอก แล้วมอบให้กรมวังนอกซึ่งรักษาพระที่นั่งสรรเพชญปราสาทรักษาไว้ 2-3 วัน
ครั้นได้ฤกษ์วันจะเชิญพระราชสาส์นไปลงเรือกิ่งประตูชัย 4 ตำรวจเชิญพระมณดปมาตั้งไว้ที่หน้าพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท มหาดไทย กลาโหม เกนหลวง ขุนหมื่น ใส่เสื้อครุยขาวนุ่งสมปักลาย ใส่ลำพอกขาว เดินเท้าแห่หน้า 15 คู่ ไพร่ใส่เสื้อแดง ครัวถือปืนและทั้ง 200 คน ปี่กลองชนะ 3 คู่ กลองมลายูสำรับหนึ่ง แตรงอน 1 แตร ลางโพง 1 เครื่อง สูงแห่หน้า 3 คู่ แห่หลัง 2 คู่ นุ่งผ้าใส่เสื้อครุย ใส่หมวก แห่หลัง 5 คู่ แห่พร้อมอาลักสน์จึงเชิญพระราชสาส์นใส่ในมนดป แล้วแห่ไปลงเรือพระที่นั่ง ณ ประตูชัย ราชทูต อุปทูต ตรีทูต ปันสื่อ เข้าเดินแซงประจำคานหามข้างละๆ คน สะพานที่จะเชิญพระราชสาส์นลงเรือมีม่านรูดแดงกั้น พนักงานนครบาลได้ทำ แล้วตำรวจใหญ่เอาเรือพระที่นั่งกิ่งลำซงรับพระราชสาส์น มหาบำเรอถือเครื่องแห่ตามอย่างเมื่อเสด็จ หมื่นราชเสน่หาถือธงหน้าเรือ บรรจุพลพายครบกระทง ทูตทั้ง 3 ปันสื่อนั่งรายตีนตองซ้ายขวา สัปปะทนแพรเหลืองทั้ง 4 มุมพระมนดป พระยา พระ หลวง ขุน หมื่น ขี่เรือโขมดยา เรือแซง เรือพิฆาต แห่หน้า 10 คู่ แห่หลัง 5 คู่ แห่ลงไปตามแม่น้ำถึงสำเภาทรงพระราชสาส์นทอด ครั้นถึงตรงสำเภา พันทนายทอดเรือพระที่นั่ง กรมการคนงานซึ่งอยู่บนสำเภายิงปืนใหญ่รับ 5 นัด 7 นัด แล้วเชิญพระราชสาส์นขึ้นบนท้ายอาลักส์นเอาม่านวงรอบพระมนดป ทูต ข้าหลวง ท่องสื่อ ปันสื่อ นายสำเภา ล้าต้า ทั้งสองรำกราบถวายบังคม 3 ลา แล้วนายสำเภา ล้าต้า แต่งโต๊ะเลี้ยงแล้วกลับมา แต่ว่าพลัดอยู่รักษาพระราชสาส์นลงไปถึงทอดสุดน้ำเขียว กรมท่ามีตราเกนเอาเรือเมืองนนท์ 5 ลำ เมืองธน 5 ลำ พระคลังสวน 2 ลำ กันเชียงลำละ 16 คู่ 20 คู่ ชักสำเภาทรงพระราชสาส์นถึงปากน้ำเมืองพระประแดงแล้วกลับมา กรมท่าเอาเรือมอน (มอญ) บรรทุกช้างพลายช้างพังตามลงไปถึงปากน้ำแหลมฟ้าผ่า เอาช้างฉอขึ้นสำเภาหู ส่งหญ้าช้างรายทางลงมาแต่กรุง นครบาล แขวง หากินตามสิ้นอำเภอ ช้างลงถึงสำเภาแล้วกรมท่ามีตราโกสาเกนทอด เมืองนนท์ เมืองธน พระประแดง ให้จัดหน้าเต่าร้าง กลอย ส่งเสบียงกลางทะเลกว่าจะถึงเมืองกว่างตุ้ง สำเภาทรงพระราชสาส์นหลวงถึงปากน้ำ แล้วเจ้าพระยาพระคลังนำทูตทั้ง 3 กราบถวายบังคมลา
ทั้งหมดนั้น เป็นการเตรียมการ วิธีการ พิธีการ ส่วนสิ่งของที่จะต้องจัดนั้น พระคลังมหาสมบัติเป็นผู้จัด เฉพาะพระราชสาส์นที่นำไปกรุงจีนครั้งนี้ได้ฤกษ์จารึกเมื่อ วันพฤหัสบดี เดือน 7 แรม 8 ค่ำ จุลศักราช 1143 ปีฉลู ตรีศก เพลาเช้า 2 โมง 6 บาท ณ หอพระแก้วมรกต ( สนั่น ศิลากรณ์, 2531 : 88-93 ; สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, 2538 : 1-41 )
ค. รายละเอียดการเดินทางอัญเชิญพระราชสาส์น สำรับ ที่ 2 บันทึกลงในนิราศชื่ออะไร ?
สำหรับรายละเอียดในการเดินทางครั้งนี้ ( พระราชสาส์นสำรับที่ 2) มีบันทึกเป็นนิราศซึ่งพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2462 เรียกว่า “ นิราศกวางตุ้ง ” ต่อมาพิมพ์ครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2503 เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ นิราศพระยามหานุภาพไปเมืองจีน ”
พระยามหานุภาพเป็นใครในคณะทูต ไม่ทราบได้ ยังหาหลักฐานไม่พบ แต่ต้องเป็นคนหนึ่งในคณะทูตที่เดินทางร่วมไปในครั้งนี้ ตามรายชื่อในคณะทูตสำรับที่ 2 แต่ไม่ใช่หลวงนายฤทธิ อาจจะเป็นใครคนใดคนหนึ่งที่มีชื่อ หลวงศรียศ หลวงราชมนตรี หลวงนายศักดิ์ก็ได้ การเขียนนิราศเรื่องนี้ สำนวนกลอนดี มีความละเอียดลึกซึ้ง เป็นคนมีความรู้อยู่ในขั้นดีมาก จะเป็นคนเดียวกันกับที่แต่งเพลงยาวหรือไม่ ยังไม่มีหลักฐานอ้างอิงเช่นกัน สำนวนคำกลอนออกจะใกล้เคียงกันอยู่ ท่านกล่าวถึงการเขียนนิราศครั้งนี้ว่า “ เป็นจดหมายมาถวายด้วยภักดี ” และบอกถึงมูลเหตุในการไปเจริญสัมพันธ์ไมตรี หรือ จิ้มก้องว่า
เสื่อมสนองโดยครองกระษัตริย์ชาติ
เสื่อมราชไมตรีไม่มีสมาน
เสื่อมสวาทขาดมาก็ช้านาน
จะประมาณยี่สิบสี่ปีปลาย
จะทรงคิดจะติดความตามปฐม
สำหรับราชบรมกระษัตริย์สาย
จึงแผ่นพื้นสุวรรณพรรณราย
เอาแยบคายฝั้นเฝือเป็นเครือวัลย์
ความจริงที่บอกว่า ขาดการติดต่อประมาณยี่สิบปีนั้น คิดว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะมีเอกสารทางด้านจีนอ้างอิงว่ามีการติดต่ออยู่ จีนไม่ใคร่ตอบสาส์น ถึงจะตอบก็ออกจะดูหมิ่นไทยมาก และปฏิเสธการขอซื้อสิ่งของต่างๆ จากนั้นจึงบรรยายถึงการจัดสิ่งของไปจิ้มก้องว่าแบ่งออกเป็นสองส่วน
ครั้นถึงวันภุมเชษฐมาสี
กาฬปักษ์ดิถีสิบสามค่ำ
เมื่อโมงสองบาทเช้าพอเงาง้ำ
สิบเอ็ดลำบังคมลาแล้วคลาไคล
เรือทั้งหมดที่บรรทุกสิ่งของรวม 11 ลำ มิใช่ว่าเป็นเรือของหลวงทั้งหมด หากเป็นเรือที่เช่าพ่อค้ามา 7 ลำ ได้ฤกษ์แล้วมุ่งหน้าออกสู่ปากอ่าวพระประแดงในสมัยก่อน หากเป็นปากอ่าวเจ้าพระยาในปัจจุบัน ขบวนเรือติดแห้งรอน้ำขึ้นที่สมุทรปราการ 2 วัน เมื่อออกปากอ่าวสู่ทะเลแล้วก็เกิดอุปสรรคอีก เพราะลมไม่แรงพอต้องแล่นก้าว เรือเสียเวลาถึง 20 วัน หลบมุมเข้าสามร้อยยอด จากนั้นจึงทำพิธีบัดพลีตามธรรมเนียมชาวทะเล พอลมดีจึงแล่นเข้าสู่ด้านเวียดนามปัจจุบัน มีบางคนเมาคลื่นน่าเวทนา แม้จะผ่านอุปสรรคทางด้านอ่าวไทยไปแล้ว เข้าเขตทะเลเวียดนามก็หาได้พ้นอุปสรรคไม่
แล้วเกิดพายุใหญ่จนใบกลับ
ทั้งคลื่นทับเทฟองทั้งนองฝน
เป็นพยุพยับทั่วมัวมน
กำลังฝนแลบพรายกระจายไป
เสียงคลื่นประหนึ่งพื้นสุธาวาส
จะวินาศไปด้วยชลไม่ทนได้
ตลิ่งนิ่งเห็นเขาวิ่งวุ่นวายไป
บ้างร้องไห้รักตนอยู่ลนลาน
บ้างก็ยึดมัดไม้ใบเก่า
บ้างก็เฝ้าถังน้ำและสำป้าน
เห็นการผิดแล้วก็คิดนมัสการ
สละพาลภาวนารักษาตน
ออกจะเป็นวัฒนธรรมของคนทั่วโลก พอภัยมาถึงตัวก็หันเข้าหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถ้าเป็นไทยก็ไหว้ปลกๆ จะอย่างไรก็ตาม คณะทูตานุทูตก็ผ่านอุปสรรคเหล่านี้ไปได้ จนเข้าเขตเมืองกวางตุ้ง ทหารเรือมาตรวจตราอย่างเข้มงวดกวดขัน ไม่ยอมให้ขึ้นฝั่ง อันท่าเรือนั้นทุกแห่งในโลกนี้ย่อมมีนารีประจำตั้งแต่โบราณกาลมาแล้ว 200 กว่าปีมีอย่างไร ปัจจุบันก็ยังมีอยู่ ดูแต่ที่พัทยาเป็นต้น พระยามหานุภาพบันทึกเรื่องนี้ไว้ว่า
อันนารีเรือลากสำหรับจ้าง
นั้นรูปร่างหมดจดสดใส
นวลนิ่มจิ้มลิ้มละไมใจ
เมื่อดูไกลเอกเอี่ยมลออตา
ครั้นเข้าใกล้ก็เห็นเลือดชายจะเผือดผาด
ด้วยการสวาทไม่หลีกเลือกภาษา
แขกฝรั่งอังกฤษวิลันดา
จะไปมาย่อมได้อาศัยกัน
อีกอย่างหนึ่งเรื่องพรรณนี้ ชาวต่างชาติต่างภาษาก็ถูกต้มกันเป็นธรรมดา ไม่มีชาติไหนที่จะไม่ต้ม และไม่มีชาติใดที่ไม่ถูกต้มเหมือนกันเพราะ “ ปะไม่ทันรู้เข้าก็เอาแพง ” สำหรับตัวท่านที่รจนาหนังสือถึงกับรำพึงดังนี้
เสียแรงมาพาร่างถึงกวางตุ้ง
เขม้นมุ่งว่าจะลองก็ต้องพรั่น
ได้ชมงามอยู่แต่ไกลมิได้กัน
ครั้นถึงวันรวิวารเวลา
ทอดสมอรอขึ้นบกอยู่หลายวันกว่าทางฝ่ายจีนจะอนุญาต พอขึ้นบกได้เท่านั้นก็เกิดฝูงชนชุลมุนวุ่นวาย ทหารต้องเอาไม้ตีประชาชนที่มามุงดู เกิดโกลาหลอลหม่านยกใหญ่กว่าจะยุติได้ แม้บรรดาขอทานเอามีดเชือดแขน ก็บรรยายไว้ คนจีนแห่มาดูชาวไทยขึ้นบกนั้นมากกว่าพายเรือไปดู ส่วนท่าทีบรรดาผู้หญิงก็
อายทีชม้ายแล้วเมียงพักตร์
ก็ประจักษ์แต่ว่าต่างภาษาสม
แต่ศรเนตรเสียบเนตรสังเกตคม
ยิ่งนิยมตอบต้องตลอดใจ
ถึงต่างชาติกันก็ดีโลกีย์จิต
อันการคิดนี้จะเว้นแก่ใครไฉน
ก็ห้ามเห็นไว้ให้เป็นประมาณใจ
แล้วครรไลตามรัถยามา
จากนั้นจึงเข้าที่พัก ยังต้องรอเจ้าหน้าที่ฝ่ายจีนบอกไปทางปักกิ่ง กว่าจะได้รับข่าวให้เข้าเฝ้าได้ก็เป็นเดือน ซึ่งความยากลำบากต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ถึงกระนั้นคณะทูตก็อดทน ไว้สง่าราศรีประเทศสยาม จนได้เข้าเฝ้า ยิ่งตอนกลับประเทศไทย ยิ่งลำบากมาก พระยามหานุภาพถึงกับบอกว่า
อันที่ท่านสีลำสำเภาหลวง
นั้นพุ่มกวงสารพัดไม่ขัดขวาง
จะแสนยากอยู่แต่เหล่าที่เช่าระวาง
ปิ้มปางจะไม่เห็นว่าเป็นกาย
หากพระขันติคุณกรุณภาพ
ก้มกราบถึงพระบาทไม่ขาดสาย
จึงได้พ้นไภยันอันตราย
รอดตายมาชื่นคืนเมือง
เมื่อมาถึงเมืองไทยแล้ว “ ท่านยุกบัตร ” ท่านก็สอบบันน้ำบัญชีไปตามวิถีทางราชการ บ้างก็บอกป่วยมาไม่ได้บ้าง อ้างเหตุโน้นเหตุนี้ตามที่จะอู้กันได้จน
เมื่อท่านยุกบัตรหาปรึกษาของ
ก็ปิดป้องโรคาไม่มาได้
เอาอาสัจที่วิบัตินั้นบอกไป
พะวงใจอยู่ด้วยรักข้างลักชม
อีดอกทองราวทองธรรมชาติ
พิศวาสมิได้เว้นวันสม
จนโรคันปันทบข้างอุปทม ( ปัสสาวะขัด )
เสน่หาส่าลมขึ้นเต็มตัว
ครั้นเขาถามเขาหยอกก็บอกพราง
จนนายห้างยืนชี้ลงที่หัว
แล้วเขาก็ว่าเจ้าคุณนี้บุญตัว
จับได้แต่ไอ้วัวนั้นไปแทน
อ่าน “ นิราศพระยามหานุภาพไปเมืองจีน ” ซึ่งเป็นจดหมายมาถวายด้วยภักดี หรือจะเรียกจดหมายเหตุการเดินทางไปเมืองจีนก็น่าจะได้ เปิดเผยเรื่องส่วนตัวในคณะทูตอย่างถึงแก่น ยังไม่เคยพบคณะทูตคณะใดเปิดเผยถึงขนาดนี้ในกรุงรัตนโกสินทร์ นิราศเรื่องนี้ดีทั้งรายละเอียดและหลักฐานต่างๆ คนโบราณนี่ขนาดอยู่ในระบอบการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราช เขาไม่พูดเลี่ยงเหมือนคณะทูตในปัจจุบันเลย
หลายคนในคณะทูตทั้งสองสำรับ ในพระราชพงศาวดารไม่มีกล่าวถึงเลยนอกจาก หลวงนายฤทธิ์ อาจจะถูกสั่งประหารชีวิตทั้งหมดก็ได้ เพราะสมัยนั้นทั้งสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหาท ก็สั่งฆ่าคนเสียไม่น้อย พระยามหานุภาพ จะเป็นคนหนึ่งในจำนวนถูกประหารชีวิตหรือเปล่าก็ไม่ทราบ ( ชะลอ ช่วยบำรุง . “ พระเจ้าตากแต่งฑูตไปเมืองจีน ,” ศิลปวัฒนธรรม . 5(12) : ตุลาคม 2527 : 97-102 อ้างโดย สนั่น ศิลากรณ์, 2531: 95-97)

แผนที่ชายฝั่งทะเลจีนตอนใต้ และเมืองท่าต่างๆ ที่ไทยเข้าไปติดต่อค้าขาย
(ภาพจากหนังสือดุจนาวากลางมหาสมุทร)
15.2.2 ความสัมพันธ์ด้านการค้ากับประเทศจีนในสมัยกรุงธนบุรีเป็นเช่นไร ?
ไทยมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนมาเป็นเวลาช้านานอันนับเป็นพันปีมาแล้ว นับเป็นความสัมพันธ์อันใกล้ชิดสนิทสนมไปมาหาสู่กันเสมอมิได้ขาดดุจดังเครือญาติกันก็ว่าได้ ทั้งนี้เนื่องมาจากสาเหตุที่อยู่ใกล้สามารถไปมาหาสู่กันได้โดยสะดวก ด้วยต่างก็รู้ถึงทิศทางลมและฤดูกาลตลอดจนเส้นทางในการเดินเรือในย่านทะเลจีนนั้นเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ในการติดต่อค้าขายระหว่างไทยกับจีนนี้ ต่างก็ถ้อยทีถ้อยอาศัยอะลุ้มอล่วยซึ่งกันและกัน ด้วยอัธยาศัยไมตรีเป็นอย่างดีตลอดมา เช่น ทางไทยได้ลดค่าธรรมเนียมปากเรือ และภาษีอากรให้แก่เรือสำเภาของจีนในอัตราพิเศษอยู่เสมอ จนเป็นที่ทราบกันอยู่ในวงการค้าสมัยนั้นเป็นอันดี
ลักษณะความสัมพันธ์ฉันทไมตรี ทั้งทางการเมืองและการค้าระหว่างไทยกับจีนดังกล่าวนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชาน ุ ภาพ ได้ทรงพระนิพนธ์ฝากข้อคิดไว้เป็นอย่างดี ในคำอธิบายเบื้องต้นของหนังสือจดหมายเหตุเรื่องพระราชไมตรีในระหว่างกรุงสยามกับกรุงจีน มีความสำคัญอยู่ตอนหนึ่ง ดังนี้
“ ความจริงบุคคลต่างชาติกัน จะมีชาติใดที่รักชอบกันยืดยาวยิ่งกว่าไทยกับจีนนี้ไม่เห็นมี ด้วยไม่เคยเป็นศัตรูกัน เคยแต่ไปมาค้าขายแลกประโยชน์ต่อกันมาได้หลายร้อยปี ความรู้สึกทั้งสองชาติจึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตั้งแต่โบราณจนตราบเท่าทุกวันนี้ ซึ่งควรจะหวังว่าจะเป็นอย่างเดียวกันต่อไปในวันหน้า ”
ดังนั้น พอกรุงธนบุรีตั้งตัวขึ้นมาได้ ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับจีนจึงได้รับการพื้นฟูขึ้นมาดำเนินการทันที โดยได้มีสำเภาของทั้งสองฝ่ายบรรทุกสินค้าไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ เฉพาะอย่างยิ่งสำเภาหลวงของไทยเรา ได้ออกไปค้าขายยังเมืองจีนเป็นประจำ ทำรายได้ให้แก่ประเทศไทยในสมัยนั้น

การติดต่อค้าขายระหว่างไทยและชาวต่างชาติ
(ภาพจากวารสารศิลปวัฒนธรรม ; ดุจนาวากลางมหาสมุทร)
ความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างไทยกับจีนเริ่มต้นจากการค้าข้าวเป็นสำคัญ ต่อมาได้ขยายเพิ่มขึ้นโดยจีนได้ส่งสินค้าพื้นเมืองจากแต้จิ๋วมาขาย ที่สำคัญคือ เครื่องลายคราม ถ้วยชามเบญจรงค์ ผ้าไหม ผ้าแพร ผักดอง เสื่อ กระเบื้อง ร่ม หวี และเครื่องยาจีน เป็นต้น เที่ยวกลับก็จะซื้อสินค้าไทยซึ่งเป็นที่ต้องการของชาวจีน อาทิ เครื่องเทศ ไม้สัก ดีบุก ตะกั่ว พริกไทย น้ำตาล หนังสัตว์ เขาสัตว์ รังนก ฯลฯ กลับไปยังเมืองจีนด้วย

ฝาง (Sappan tree, Indian red )
ชื่อวิทยาศาสตร์ Caesalpinia sappan L .
(ภาพจาก http://www.gpo.or.th/herbal/pictures/g18_03.jpg )

เรือสำเภาไทย
(ภาพจากแสตมป์ที่ระลึกชุดเรือไทย
ออกจำหน่ายวันที่ 1 กันยายน 2547)
ส่วนไทยหากนำสำเภาไปขายยังประเทศจีน ก็จะบรรทุกสินค้าพื้นเมือง ได้แก่ ฝาง ซึ่งจะเป็นสินค้าที่มีจำนวนมากที่สุด จีนซื้อฝางจากไทยเพื่อใช้ย้อมผ้าให้เป็นสีแดง และสีแดงเป็นสีที่นิยมกันมากในจีน อำพัน ไม้หอม งาช้าง กระวาน พริกไทย น้ำตาล ฝ้าย หินสีต่างๆ พลอยสีต่างๆ ทองคำก้อน ทองคำทราย ตะกั่วแข็ง กระดูกเสือ เขากวาง นอแรด และสมุนไพรหลายอย่างที่จีนใช้เป็นตัวยาผสมยาตามตำราจีน (บันทึกไว้ในหนังสือจีนสมัยราชวงศ์ไต้เช็ง แผ่นดินเฉียนหลง ปีที่ 42)
หมายเหตุ เกี่ยวกับสี
ตามความคิดของจีน เขาว่าสีแดงเป็นสีประจำทิศใต้ มีเทวดาประจำเป็นนกสีแดง แม้แต่หยกที่สวมใส่ตามยศก็จะใช้สีแตกต่าง… พระเจ้าแผ่นดินใช้หยกสีขาว อ๋องใช้หยกสีเขียว ส่วนเจ้าเมืองใช้หยกสีน้ำเงิน ลูกดุมเสื้อคลุมจะมีสีต่างกันเพื่อบอกระดับยศ ลูกดุมนี้ทำด้วยแก้วหรือโลหะ เช่น ยศชั้นที่ 1-2 ใช้ดุมแก้วสีแดง ยศชั้นที่ 3-4 ใช้ดุมแก้วสีน้ำเงิน ยศชั้นที่ 5-6 ใช้ดุมแก้วสีขาว ส่วนยศชั้นที่ 7-8 จะใช้ดุมทำด้วยทอง (ส. พลายน้อย, 2544 : 143)

สำเภาหัวแดง
(ภาพจากหนังสือดุจนาวากลางมหาสมุทร)

สำเภาจีนฮกเกี๋ยน หรือสำเภาหัวแดง
(ภาพจากวารสารศิลปวัฒนธรรม ; หนังสือดุจนาวากลางมหาสมุทร)
เรือสำเภาจีน ที่เดินทางค้าขายในทะเลจีนใต้และน่านน้ำอ่าวไทย มีทั้งสำเภาฟูเจี้ยนที่มีระวางบรรทุก 200-800 ตัน และเรือสำเภาของมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งส่วนมากเป็นเรือเดินสมุทรที่มีขนาดใหญ่ มีระวางบรรทุกตั้งแต่ 500 – 1,000 ตัน มีเสากระโดงสี่เสา จีนเรียกเรือประเภทนี้ว่า
“ หยาง-ฉวน หรืออั่งเถ่าจุ๊ง ” (ดุจนาวากลางมหาสมุทร, 2537 : 31) คนไทยเรียก “ สำเภาหัวแดง ” ตามลักษณะเด่นของสีที่หัวเรือ นอกจากนั้นยังมีสำเภาขนาดย่อมที่มีระวางบรรทุกเฉลี่ย 350 ตัน หรือน้อยกว่านั้นล่องลงมาขายด้วย (เรือ : วัฒนธรรมชาวลุ่มน้ำเจ้าพระยา, 2545 : 18)