สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

บทที่ 12 พระราชกรณียกิจด้านการพระศาสนา และการศึกษา

12.1 พระราชกรณียกิจด้านการพระศาสนา

12.1.1 หลังจากไทยประสบความพินาศครั้งใหญ่ ในปี ..2310 นั้น พระพุทธศาสนาได้รับความกระทบกระเทือนมากน้อยแค่ไหน ?

เมื่อคราวที่กรุงศรีอยุธยาต้องประสบความพินาศครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2310 นั้น พระพุทธศาสนาในราชอาณาจักรไทยได้รับความกระทบกระเทือนอย่างหนัก ชนิดที่ไม่เคยประสบกันมาในกาลก่อน วัดวาอาราม พระพุทธรูป พระสถูปเจดีย์ ปูชนียสถานและปูชนียวัตถุ ตลอดจนพระไตรปิฎก พระธรรมคัมภีร์ต่างๆ ต้องวิบัติสูญเสียไปด้วยน้ำมือของข้าศึกเป็นจำนวนมากมายก่ายกอง พระสงฆ์องค์เจ้าถูกฆ่า ถูกข้าศึกกวาดต้อนจับเอาไปเป็นเชลย เป็นจำนวนมิใช่น้อย ที่เหลืออยู่ก็ต้องซัดเซพเนจร กระจัดกระจายหลบซ่อนอยู่ตามที่ต่างๆ เป็นที่น่าเอน็จอนาถใจยิ่งนัก

สมเด็จพระวันรัต วัดพระเชตุพนฯ ในรัชกาลที่ 1 ได้พรรณนาถึงความพินาศครั้งใหญ่ของพระนครศรีอยุธยาในคราวนั้น ไว้ในเรื่อง “ สังคีติยวงศ์ พงศาวดารเรื่องสังคายนาพระธรรมวินัย ” ซึ่งท่านได้รจนาขึ้นไว้แต่ในครั้งนั้น มีข้อความที่กล่าวถึงความวิบัติของพระพุทธศาสนาไว้หลายตอน เป็นเอกสารที่มีคุณค่าในทางประวัติศาสตร์เป็นอันมาก เพราะท่านผู้แต่งได้เกิดทันรู้เห็นเหตุการณ์ด้วยตนเอง อีกทั้งยังอยู่ในวัยสูงอายุพอสมควรแล้วอีกด้วย จึงขอนำคำแปล ( ท่านแต่งไว้เป็นภาษามคธ ) บางตอนมาลงไว้เป็นหลักฐานดังต่อไปนี้

“ พระนครนั้นต้องล้อมอยู่ 2 ปี ชาวเมืองทั้งหลายก็สิ้นเสบียงอ่อนเพลียเสียพระนคร เมื่อพระพุทธศักราชล่วงได้ 2310 ปีกุนกับปีจอต่อกัน เดือนสาม ขึ้น 9 ค่ำ วันอังคาร ยาม เสาร์ เพลาราตรี ก็เป็นที่สุดการสงคราม ”

“ พระนครนั้นก็ฉิบหายตามกาลอย่างใด ความฉิบหายอย่างใด สิ้นอายุแล้วอย่างใด แปรปรวนแล้วอย่างใด สาบสูญโดยประการใด ( พม่าข้าศึก ) จับเอาประชาชนทั้งหลาย มีพระราชวงศ์เป็นต้นด้วยเก็บทรัพย์ทั้งหลายมีประการเป็นอันมากด้วย แล้วเผาพระนครและปราสาทสามองค์ แลพระอารามวิหารเสียด้วย แล้วทำลายกำแพงเมืองเสียด้วย แล้วทำพัสดุของกรุงอโยธยนคร มีพระธรรมแลพระวินัย คือไตรปิฎก เป็นต้น ให้พินาศเสียแล้ว ก็กลับไปสู่เมืองของตน ได้ถวายทรัพย์ทั้งหลายเป็นอันมากด้วย แลถวายอาวุธน้อยใหญ่สำหรับราชสกุลเป็นต้นด้วยแก่เจ้านายของตน ”

ต่อจากนั้น ท่านก็พรรณาถึงความวิบัติทุกข์ยากนานาประการ ที่มหาชนชาวไทยต้องประสบกันในครั้งนั้น อย่างสาหัสฉกรรจ์ไว้เป็นอันมาก แล้วก็หวนกลับมากล่าวถึงความวิบัติเศร้าหมองของพระพุทธศาสนาต่อไป มีความสำคัญบางตอนดังนี้

“ ประชาชนได้ถึงความวิโยค 2 ประการ คือ ญาติวิโยค 1 สมบัติวิโยค 1 ได้ปราศจากเมตตาจิตซึ่งกันและกัน อันภัยเกิดแต่ความหิว หากบีบคั้นหนักเข้าแล้ว ก็ไม่สามารถจะเอื้อเฟื้อต่อพระพุทธรูป แลพระธรรม พระสงฆ์ได้ เลี้ยงชีพของตนด้วยความคับแค้น ”

“ ฝ่ายภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย เมื่อไม่ได้อาหารบิณฑบาตแต่ทายกแล้ว ก็เหนื่อยยากลำบากเข้า ไม่สามารถจะครองกาสาวพัสตร์ ได้ใช้ให้ศิษย์ไปขวนขวายหาอาหารเพื่อได้เลี้ยงท้อง ได้บ้างมิได้บ้าง ก็เหนื่อยหน่ายจากการบวช ด้วยความลำบากที่จะครองเพศเป็นสมณะ ได้พากันสึกออกหาเลี้ยงชีวิตตามสติกำลัง ”

“ บางพวกที่ยังรักษากาสาวพัสตร์อยู่ก็อุสาหะพยุงกายด้วยการแสวงหาน่าเวทนายิ่งนัก ได้ฉันบ้างไม่ได้ฉันบ้าง ก็มีรูปกายวิปริต สะพรั่งไปด้วยเกลียวหนังแลเส้นเอ็น ก็ไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ได้หมดความอาลัย รักษาพระพุทธรูปแลพระธรรมไว้ไม่ได้พากันสำเร็จอยู่ตามสถานอันสมควร ”

“ ฝ่ายพวกมิจฉาทิฏฐิทั้งหลาย ก็ทำอันตรายแก่พระพุทธรูป ”

“ พระธรรมวินัย ไตรปิฎก เมื่อขาดความรักษาเสียแล้ว ก็วินาศไปต่างๆ คือพวกมิจฉาทิฏฐิ ยื้อแย่งเอาผ้าห่อแลเชือกรัดไปบ้าง ตัวปลวกกัดกินยับเยินไปบ้าง แลพินาศสูญไปต่างๆ โดยที่พลัดตกลงดิน เปียกน้ำผุไปเสียบ้างก็มี ” รวมความว่า การที่เราต้องเสียกรุงศรีอยุธยาไปในครั้งนั้น ได้ส่งผลกระทบให้พระพุทธศาสนาต้องประสบกับภัยพิบัติอย่างมหาศาล จนเกือบจะเป็นการสุดวิสัยที่จะบูรณะให้คืนดีคงเดิมได้ (เสทื้อน ศุภโสภณ , 2527 : 63)

สุชาติ เผือกสกนธ์ , พลตำรวจตรี ( http://www.dabos.or.th/pr13.html (28/11/44)) ได้วิจารณ์ไว้ว่า “ สภาพจราจลซึ่งเกิดต่อเนื่องกันมาหลายปีตั้งแต่ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตก มีผลร้ายต่อองค์การคณะสงฆ์แห่งราชอาณาจักรอย่างร้ายแรง นอกจากพระราชาคณะจะล้มหายตายสูญ หรือถูกจับเป็นเชลยของพม่าแล้ว การปกครองคณะสงฆ์ซึ่งอาศัยพระราชอำนาจเป็นเครื่องค้ำจุน ก็เสื่อมสลายตัวลงพร้อมกันไปกับการสลายตัวของราชอาณาจักรอยุธยา การเสื่อมโทรมทางเศรษฐกิจในขณะนั้นได้บีบบังคับทำให้เกิดความวิปริตผันผวน ของวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์มากมายหลายทาง ”

12.1.2 สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมีพระราชกรณียกิจทางด้านพุทธศาสนาอย่างไรบ้าง ?
ในช่วงรัชกาลของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น เป็นยุคสมัยที่บ้านเมืองกำลังอยู่ในภาวะบ้านแตกสาแหรกขาด มีแต่ความพินาศยับเยินอยู่ทั่วไป เป็นสมัยของการกู้ชาติกู้บ้านเมือง เป็นสมัยที่องค์พระประมุขต้องทรงเหน็ดเหนื่อยตรากตรำ คร่ำเคร่งอยู่กับการรบทัพจับศึกอย่างแทบไม่มี เวลาหยุดยั้ง จนกล่าวได้ว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีต้องทรงรับพระราชภาระด้านนี้ อย่างที่ไม่เคยมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดเสมอเหมือน

แต่กระนั้นก็น่าสรรเสริญน้ำพระทัยพระองค์ท่านเป็นอย่างยิ่ง ที่สำหรับในด้านการพระศาสนานั้น ได้ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ทำนุบำรุงรักษาเป็นอย่างดี เท่าที่จะมีพระโอกาสอำนวยได้เสมอมา บาทหลวงปาลเลกัวซ์ ( ชาวฝรั่งเศส ) ได้กล่าวถึงความสนพระทัยของพระองค์ท่านในพระพุทธศาสนาไว้ว่า “… พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงแสดงพระองค์ยิ่งกว่าอัครพุทธศาสนูปถัมภกอันเป็นบทบาท ของสถาบันพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่ต้นรัชกาลแล้ว หลังศึกอะแซหวุ่นกี้ มีหลักฐานว่าทรงใฝ่พระทัยในทางศาสนายิ่งขึ้น…ลักษณะที่ทรงใฝ่พระทัยในทางศาสนานั้น พระราชพงศาวดารกล่าวว่า

พระอุโบสถ วัดบางยี่เรือใต้
(ภาพจากหนังสือสาระน่ารู้กรุงธนบุรี)

เสด็จไปเจริญพระกรรมฐาน ณ พระอุโบสถวัดบางยี่เรือใต้ (วัดอินทาราม หรือวัดบางยี่เรือนอก , สาระน่ารู้กรุงธนบุรี, 2543 : 58) นับแต่ พ.ศ. 2319…” ( นิธิ เอียวศรีวงศ์ , การเมืองไทย สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี , ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ , อ้างโดย พลตำรวจตรีสุชาติ เผือกสกนธ์ : http://www. dobos.or.th./pr13.html , 28/11/44)

คราใดที่พระองค์ทรงมีเวลาว่าง คราใดที่สบพระโอกาส เมื่อนั้นพระองค์ท่านก็เป็นต้องทรงจับงานด้าน ฟื้นฟูการพระศาสนาขึ้นมาทันที

ดังจะเห็นได้จากทุกคราวที่เสด็จไปทำศึก กับบรรดาชุมนุมตามหัวเมืองต่างๆ ตลอดจนกับประเทศเพื่อนบ้านข้างเคียง หากมีช่องทางแล้ว เป็นต้องทรงนำเอาการทำนุบำรุงพระศาสนา เข้ามาคาบเกี่ยวต่อเนื่องด้วยกันทุกครั้งไป การได้เป็นดังนี้มาจนตลอดรัชสมัยของพระองค์

พระราชกรณียกิจในการกอบกู้ และทำนุบำรุงพระศาสนา ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น พอจะรวบรวมโดยสังเขปได้ ดังนี้

1. การจัดระเบียบสังฆมณฑล
เมื่อคราวที่เราต้องเสียกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2310 นั้น การสังฆมณฑลในประเทศไทย ได้ประสบกับความพินาศยับเยินเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นพอการสถาปนาราชธานีใหม่ได้เริ่มขึ้นพอจะเข้ารูปเรียบร้อยได้แล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็โปรดให้ดำเนินการจัดระเบียบสังฆมณฑลทันทีในปี พ.ศ.2311
ทั้งนี้ก็โดยทรงพระราชดำริว่า พระสงฆ์ของเราในขณะนั้น ยังบกพร่องในเรื่องศีลวินัยอยู่เป็นอันมาก เพราะบ้านแตกสาแหรกขาด ปราศจากพระราชาคณะและพระเถระผู้ใหญ่ ซึ่งทรงคุณธรรมและความรู้ สำหรับที่จะคอยมาดูแลว่ากล่าวสั่งสอนให้ประพฤติปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามพระวินัย

พระอุโบสถวัดบางหว้าใหญ่
พระวิหารสมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
(ภาพจากหนังสือสาระน่ารู้กรุงธนบุรี)

จึงได้มีรับสั่งให้ออกสืบเสาะหาพระสงฆ์ที่ทรงคุณธรรม จากทั่วทุกหนทุกแห่ง เท่าที่จะทำได้ แล้วนิมนต์ให้มาประชุมพร้อมกัน ณ วัดบางหว้าใหญ่ ( วัดระฆังโฆสิตาราม ฝั่งธนบุรีเดี๋ยวนี้ ) แล้วเลือกตั้งพระเถระที่ทรงคุณธรรมและแก่พรรษาอายุขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช เพื่อให้เป็นใหญ่ดูแลการพระศาสนาในสังฆมณฑลต่อไป ต่อจากนั้นก็โปรดให้แต่งตั้งบรรดาพระเถรานุเถระเหล่านั้น เป็นพระราชาคณะฐานานุกรมใหญ่น้อยตามสมณฐานันดรศักดิ์ เหมือนดังที่เคยมีมาแต่กาลก่อน แล้วโปรดให้นิมนต์ไปประจำอยู่ตามพระอารามต่างๆ ในกรุงธนบุรี ทำหน้าที่บังคับบัญชาสั่งสอนว่ากล่าวทั้งในฝ่ายคันถธุระและวิปัสสนาธุระแก่พระภิกษุสามเณรทั้งปวง เพื่อให้เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่มหาชน และเพื่อให้พระพุทธศาสนาได้กลับบริสุทธิ์ผุดผ่อง คืนกลับเข้าสู่สภาพเดิมต่อไป

ปรากฏว่าในครั้งนั้น คณะสงฆ์ได้พร้อมในกันเลือก พระอาจารย์ดี วัดประดู่ จากกรุงศรีอยุธยาให้รับตำแหน่ง สมเด็จพระสังฆราช เป็นองค์แรกในสมัยกรุงธนบุรี

โดยนัยนี้ การปกครองสงฆ์ในสมัยกรุงธนบุรี จึงได้พ้นจากสภาวะจลาจลระส่ำระสาย เริ่มเข้ารูปเป็นระเบียบเรียบร้อยตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

การบูรณะและปฏิสังขรณ์วัดที่สำคัญ
ในคราวเดียวกันกับที่ได้โปรดให้จัดระเบียบสังฆมณฑลให้เป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้น ในปี พ.ศ.2311 ในโอกาสสถาปนานครหลวงแห่งใหม่นั้นเอง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ได้ทรงพระราชศรัทธาว่าจ้างบรรดาข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ให้ช่วยกันสร้างพระอุโบสถ พระวิหาร การเปรียญ และเสนาสนะกุฏีสงฆ์ รวมหลายพระอารามด้วยกัน เป็นจำนวนกว่า 200 หลัง สิ้นพระราชทรัพย์ไปเป็นอันมาก ในปีหลังๆ ต่อมา ก็ยังได้โปรดให้สถาปนาและบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆ อีกหลายต่อหลายครั้งด้วยกัน

พระอารามที่ได้โปรดให้สถาปนาขึ้นในรัชกาลของพระองค์ ก็คือ วัดบางยี่เรือเหนือ ( วัดราชคฤห์ ) พระอารามที่ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์นั้น ก็ได้แก่ วัดบางหว้าใหญ่ ( วัดระฆังโฆสิตาราม ) วัดแจ้ง ( วัดอรุณราชวราราม ) วัดบางยี่เรือใต้ ( วัดอินทาราม ) และวัดหงส์อาวาสวิหาร ( วัดหงส์รัตนาราม ) ฯลฯ

วัดสำคัญที่สุดที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเอาพระทัยใส่บูรณะปฏิสังขรณ์มากที่สุดในรัชสมัยก็ได้แก่ วัดอินทาราม ซึ่งสมัยนั้นเรียกกันว่า “ วัดบางยี่เรือนอก ” หรือ “ วัดบางยี่เรือใต้ ” เป็นวัดเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา อยู่ริมคลองบางกอกใหญ่ ใกล้ตลาดพลู ฝั่งธนบุรี วัดนี้ได้โปรดให้ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษทางฝ่ายสมถะวิปัสสนา

เมื่อคราวที่สมเด็จกรมพระเทพามาตย์พระบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต ก็โปรดให้ถวายพระเพลิงพระบรมศพที่วัดนี้ เมื่อปี พ.ศ.2318 ครั้นปีรุ่งขึ้น พ.ศ.2319 ก็โปรดให้จัดงานบำเพ็ญพระราชกุศลสักการะพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชชนนีที่วัดนี้อีกครั้งหนึ่ง พร้อมกันนั้น ก็โปรดให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดนี้อย่างขนานใหญ่ สร้างกุฏิใหม่ถึง 120 หลัง พร้อมทั้งบูรณะพระพุทธรูป พระสถูปเจดีย์ พระอุโบสถ และพระวิหาร ตลอดทั่วทั้งพระอาราม เสร็จแล้วก็โปรดให้อาราธนาพระสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนาธุระ เข้าไปอยู่ประจำตามกุฏิ ซึ่งทรงสร้างขึ้นถวายนั้น

ในโอกาสนั้น พระองค์ท่านก็ได้เสด็จไปทรงเจริญวิปัสสนากรรมฐานอยู่ที่วัดบางยี่เรือนอกเป็นเวลานานถึง 5 วัน เพื่ออุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด่สมเด็จพระบรมราชชนนี พระแท่นที่บรรทมในระหว่างเสด็จไปประทับแรมอยู่ในวัดครั้งนั้น ยังคงเก็บรักษาไว้เป็นอนุสรณ์อยู่ในวิหารเล็ก ข้างพระอุโบสถเก่ามาจนตราบเท่าทุกวันนี้

พระอุโบสถ วัดหงส์รัตนาราม
(ภาพจากหนังสือสาระน่ารู้กรุงธนบุรี)

นอกจากนี้ เมื่อทรงถูกสำเร็จโทษ พระบรมศพก็ยังได้นำไปฝังไว้ที่วัดนี้ ตรงบริเวณที่เป็นพระอุโบสถอยู่ในปัจจุบัน พระบรมอัฐิและพระบรมราชสรีรังคาร ของพระองค์ภายหลังที่ได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพ ที่วัดนี้แล้ว ก็ได้รับการบรรจุไว้ในวัดนี้อีกเช่นกัน

นับว่าวัดอินทาราม ( ชาวบ้านนิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า “ วัดใต้ ”) นี้ เป็นวัดอนุสรณ์แห่งองค์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโดยแท้

อีกวัดหนึ่งก็คือ วัดหงส์รัตนาราม ( เวลานั้นมีชื่อเรียกเป็นทางการว่า “ วัดหงส์อาวาสวิหาร ”) ซึ่งได้โปรดให้ดำเนินการปฏิสังขรณ์เป็นงานใหญ่ พร้อมๆ กับการปฏิสังขรณ์วัดอินทารามคราวแรก เมื่อปี พ.ศ.2319 แล้วได้ทรงยกย่องขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกอีกวัดหนึ่ง โดยให้เป็นวัดฝ่ายการศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม

เนื่องจากวัดนี้อยู่ใกล้พระราชฐาน และอยู่ในใจกลางกรุงสมัยนั้น จึงเป็นพระอารามที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และบุคคลสำคัญในสมัยนั้น เสด็จมาทรงผนวชและบวชกันเป็นอันมาก พระอารามที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในสมัยกรุงธนบุรี ก็คือ วัดอรุณราชวราราม ซึ่งขณะนั้นมีชื่อเรียกกันว่า “ วัดแจ้ง ” สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงเอาพระทัยใส่ บูรณะเป็นอย่างมาก เท่าที่จะทำได้ แต่เนื่องจากวัดนี้ในสมัยกรุงธนบุรีนั้น เป็นวัดที่อยู่ในเขตพระราชฐาน จึงไม่มีพระสงฆ์อยู่อาศัย ต่อมาในตอนปลายรัชกาล เมื่อทรงได้พระแก้วมรกตมาจากเวียงจันทน์ ก็ได้โปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ในพระอารามแห่งนี้
วัดแจ้งจึงได้กลายเป็น “ วัดพระแก้ว ” เช่นเดียวกับวัดพระศรีรัตนศาสดารามทุกวันนี้

พระปรางค์ และโบถส์วัดอรุณราชวราราม (ภาพจากวารสารไทย)

การส่งเสริมการศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฎก
ทรงพระราชดำริว่า พระพุทธศาสนาจักดำรงคงอยู่ตลอดไปชั่วกาลนานได้นั้น ก็ด้วยพระภิกษุสามเณรเอาใจใส่ศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฎก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สังฆ-การีธรรมการทำสารบัญชีสำรวจดูว่าพระสงฆ์องค์ใดบ้าง ที่บอกเล่าเรียนพระไตรปิฎกได้มาก ก็ทรงถวายไตรจีวรชนิดฝ้ายเทศเนื้อละเอียดให้เป็นพิเศษ แล้วพระราชทานจตุปัจจัยแก่พระภิกษุสามเณร ตามเกณฑ์ที่เล่าเรียนได้มากและน้อย ทั้งนี้ ได้ทรงริเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ต้นรัชกาลเช่นกัน

4. ทำนุบำรุงการพระศาสนาในเมืองนครศรีธรรมราช
ในโอกาสที่ได้เสด็จกรีธาทัพลงไปปราบชุมนุมเจ้านคร ที่เมืองนครศรีธรรมราช เป็นผลสำเร็จในปี พ.ศ.2312 นั้น เมื่อทรงจัดการบ้านเมืองเรียบร้อยแล้ว ก็โปรดให้นิมนต์พระภิกษุ สามเณร เถร ชี ทั่วทั้งในเมือง และนอกเมืองนครศรีธรรมราชนั้น เข้ามาพร้อมกันแล้วพระราชทานข้าวสารให้องค์ละถัง เงินองค์ละ 1 บาท ที่ขาดผ้าสบงจีวรก็ถวายไตรจีวร นอกจากนี้ยังได้ทรงแจกทานแก่บรรดายาจกวณิพกคนละ 1 สลึง ทุกวันพระอุโบสถโดยทั่วหน้ากันอีกด้วย และได้ทรงพระกรุณาว่าจ้างพวกบรรดาข้าทูลละอองธุลีพระบาท ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ให้ช่วยกันสถาปนา บูรณะ ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ พระวิหาร การเปรียญ พระระเบียง ศาลากุฏี ตามพระอารามใหญ่น้อยรวมหลายอาราม สิ้นพระราชทรัพย์เป็นอันมาก ต่อจากนั้นก็ได้โปรดให้มีการมหรสพสมโภชเวียนเทียน ฉลองพระมหาธาตุเจดีย์ใหญ่ในวัดพระบรมธาตุนั้น จนครบ 3 วัน

วัดพนัญเชิง
สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช 2 แผ่นดิน
(ภาพจาก http://www.dhammathai.org/thailand /sangkharaja01.php)

ครั้นเมื่อตอนจะเสด็จกลับกรุงธนบุรีนั้น ได้โปรดให้นิมนต์ พระอาจารย์ศรี วัดพนัญเชิงกรุงเก่า ซึ่งได้หนีพม่าออกไปอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชนั้น เข้ามาพร้อมด้วยพระสงฆ์สามเณรศิษย์ทั้งปวง แล้วก็ทรงพระกรุณาแต่งตั้งให้เป็นสมเด็จพระสังฆราช ประจำอยู่ที่วัดบางว้าใหญ่ ( วัดระฆัง ) สืบแทน พระอาจารย์ดี ซึ่งสิ้นพระชนม์ไป (หากดูจากเรื่องพระราชกรณียกิจด้านกฎหมาย หัวข้อ 11.2.2 กล่าวว่า โปรดให้สึกพระอาจารย์ดี เพราะแพ้แก่การพิสูจน์เพลิง)

สมเด็จพระสังฆราชศรีจึงเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 2 ของกรุงธนบุรี Sต่อมาก็ยังได้รับสถาปนาให้เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์แรก แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ 1 อีกด้วย

ภายหลังที่เสด็จกลับจากเมืองนครศรีธรรมราช เข้ามาในคราวนั้นแล้ว ได้ทรงดำเนินการอีกหลายอย่างเกี่ยวกับการพระศาสนา จนพระราชพงศาวดารบันทึกไว้ว่า

“ จำเดิมแต่นั้นมา พระพุทธศาสนาก็ค่อยวัฒนาการรุ่งเรือง เฟื่องฟูขึ้นเหมือนแต่ก่อน และสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เจริญพระราชกฤษฎาธิคุณ ไพบูลภิยโยภาพยิ่งขึ้นไป ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินก็ค่อยมีความผาสุกสนุกสบายบริบูรณ์คงคืนขึ้น เหมือนเมื่อครั้งแผ่นดินกรุงเก่ายังปรกติดีอยู่นั้น ”

5. การรวบรวมพระไตรปิฎก
เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าเป็นครั้งที่สองในปี พ.ศ.2310 นั้น วัดวังบ้านเรือนได้ถูกเผาผลาญวอดวายลงก่ายกอง คัมภีร์พระไตรปิฎกและหนังสือต่างๆ จึงวิบัติสูญหายไปในครั้งนั้นเป็นอันมาก เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้เสด็จขึ้นเสวยราชย์แล้ว ก็ได้ทรงเอาพระทัยใส่สืบเสาะหาต้นฉบับพระไตรปิฎก ตามบรรดาหัวเมืองต่างๆ ที่ยังหลงเหลือรอดพ้นจากการทำลายของข้าศึกในครั้งนั้น แล้วนำมาคัดลอกจำลองไว้ เพื่อสร้างเป็นพระไตรปิฎกฉบับหลวงสำหรับพระนครต่อไป เช่น เมื่อคราวที่เสด็จลงไปปราบชุมนุมเจ้านครในปี พ.ศ.2312 นั้น ตอนเสด็จกลับก็โปรดให้ยืมคัมภีร์พระไตรปิฎก จากเมืองนครศรีธรรมราช บรรทุกเรือขนเข้ามาคัดลอกในกรุงธนบุรี และในคราวที่เสด็จขึ้นไปปราบชุมนุมเจ้าพระฝางที่เมืองอุตรดิตถ์เมื่อปี พ.ศ.2313 นั้น ก็โปรดให้นำพระไตรปิฎกจากเมืองนั้นลงมา เพื่อใช้สอบทานกับต้นฉบับที่ได้มาจากเมืองนครศรีธรรมราชนั้น

แต่ในการสร้างพระไตรปิฎกฉบับหลวงของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตามนัยที่กล่าวมานี้ยังมิทันที่จะสำเร็จเรียบร้อยบริบูรณ์สมดังพระราชประสงค์ ก็มีเหตุทำให้ต้องสิ้นรัชกาลลงเสียก่อน อย่างไรก็ดี การที่ได้ทรงนำต้นฉบับพระไตรปิฎกมาคัดลอกรวบรวมไว้ ณ กรุงธนบุรี ได้เป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงในการสังคายนาพระไตรปิฎก ซึ่งได้จัดทำกันขึ้นในสมัยต่อมา นอกจากนี้ ในตอนปลายรัชสมัยยังได้โปรดให้พระเทพกวีออกไปยังกรุงกัมพูชา และพระพรหมมุนีไปเมืองนครศรีธรรมราชเพื่อรวบรวมคัมภีร์พระวิสุทธิมรรค เข้ามาคัดลอกสร้างขึ้นไว้ในกรุงธนบุรีอีกด้วย

6. ชำระพระสงฆ์เมืองเหนือ (พ.ศ. 2313)
      ปางสวางคบุเรศร้าย    ระแวงผิด
พุทธบุตรละพุทธกิจ           ก่อแกล้ว
ทุศีลทุจริตอิจ-                   ฉาราช
เสด็จปราบสัตว์บาปแผ้ว     ฟอกฟื้นศาสนาฯ
(โคลงยอพระเกียรติของนายสวน มหาดเล็ก)

เมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่สองในปี พ.ศ.2310 นั้น ได้มีชุมนุมๆ หนึ่งตั้งตัวขึ้นเป็นใหญ่ทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ ชุมนุมนี้มีสิ่งที่แปลกพิเศษกว่าชุมนุมอื่นทั้งหมดอยู่ประการหนึ่ง ก็คือมีพระสงฆ์เป็นหัวหน้าและบรรดาแม่ทัพนายกองก็ล้วนแต่เป็นพระสงฆ์องค์เจ้า ซึ่งเราเรียกชุมนุมนี้กันว่า “ ชุมนุมเจ้าพระฝาง ”

พระสงฆ์เหล่านี้พากันกระทำสิ่งที่ชั่วช้าลากมก ผิดพระวินัยบัญญัติ เป็นที่น่าสังเวชสลดใจอย่างยิ่ง ฉะนั้น เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงปราบชุมนุมนี้ได้เมื่อปี พ.ศ.2313 แล้ว จึงโปรดให้ดำเนินการชำระสอบสวนสงฆ์ในเมืองพระฝางนี้ทันที

หลังจากที่ได้จับบรรดาแม่ทัพนายกองสึกออกเป็นคฤหัสถ์ เอาตัวเข้าเครื่องจองจำพันธนาการและส่งตัวลงมาขังไว้ในคุกที่กรุงธนบุรีแล้ว ก็โปรดให้นิมนต์พระสงฆ์เมืองเหนือทั้งปวงในเมืองนั้นมาประชุมพร้อมกันหน้าพระที่นั่ง พร้อมทั้งขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายทหารและพลเรือน แล้วทรงมีพระราชดำรัสว่า

“ พระสงฆ์บรรดาอยู่ฝ่ายเหนือนี้ เป็นพรรคพวกอ้ายเรือนพระฝางทั้งสิ้น ย่อมถืออาวุธและปืนรบศึก ฆ่าคนปล้นเอาทรัพย์สิ่งของ และกินสุราเมรัย ส้องเสพอนาจารด้วยสีกา ต้องจตุปาราชิกาบัติต่างๆ ขาดจากสิกขาบทในพระพุทธศาสนา ล้วนลามก จะละไว้ให้คงอยู่ในสมณเพศฉะนี้มิได้ ”

ต่อจากนั้น ก็มีรับสั่งให้บรรดาพระสงฆ์เหล่านั้น ที่ได้ละเมิดล่วงเกินพระวินัยบัญญัติด้วยประการต่างๆ รับสารภาพผิดเสีย แล้วจะโปรดให้สึกออกมารับราชการ ถ้าหากไม่รับจะต้องพิสูจน์ความบริสุทธิ์กันตามกรรมวิธีที่เคยใช้กันมาแต่โบราณ คือให้ดำน้ำทนต่อหน้าพระที่นั่ง โดยประกอบพิธีกรรมขึ้นตามประเพณี แม้ชนะก็จะได้โปรดให้ตั้งเป็นอธิการ และพระครู พระราชาคณะ ตามสมควรแก่คุณธรรมความรู้ความสามารถ แต่ถ้าแพ้จะต้องถูกลงอาญา ถ้าเสมอจะพระราชทานผ้าไตรให้บวชใหม่ แล้วก็โปรดให้ตั้งพิธีกรรมพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของพระสงฆ์ในเมืองฝาง ด้วยการดำน้ำทนขึ้น บรรดาพระสงฆ์ซึ่งแพ้คดีในครั้งนั้น ได้ถูกลงโทษไปตามควรแก่โทษานุโทษ ผ้าไตรที่พระสงฆ์พวกแพ้ต้องจับสึกได้โปรดให้เผาทำเป็นสมุก เอาไปทาพระมหาธาตุเจดีย์เมืองสวางคบุรี

ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในหัวเมืองฝ่ายเหนือ
เมื่อเสร็จสิ้นการชำระคณะสงฆ์ให้บริสุทธิ์แล้ว ก็โปรดให้เย็บผ้าสบงจีวรให้ครบ 1,000 ไตร เพื่อบวชพระสงฆ์ใหม่ขึ้นไว้ตามหัวเมืองฝ่ายเหนือ แล้วโปรดให้ราชบุรุษลงมาอาราธนาพระราชาคณะ กับพระสงฆ์อันดับจากกรุงธนบุรีรวม 50 รูป ขึ้นไปบวชพระสงฆ์ไว้ตามหัวเมืองเหนือครั้งนั้นทุกๆ เมือง จากนั้นก็โปรดให้บรรดาพระราชาคณะเหล่านั้นอยู่ประจำ ทำหน้าที่ดูแลสั่งสอนพระสงฆ์ฝ่ายเหนือตามพระอารามในเมืองต่างๆ สืบต่อไป เป็นต้นว่า พระพิมลธรรมอยู่เมืองสวางคบุรี พระธรรมเจดีย์อยู่ทุ่งยั้ง พระธรรมราชา และพระเทพกวีอยู่เมืองสวรรคโลก พระธรรมอุดมอยู่เมืองพิชัย พระโพธิวงศ์อยู่เมืองพิษณุโลก พระพรหมมุนีอยู่เมืองสุโขทัย ฯลฯ

การพระศาสนาในหัวเมืองฝ่ายเหนือครั้งนั้น ก็กลับคืนเข้าสู่ภาวะปรกติตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

พระพุทธชินราช วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร
พระพุทธชินสีห์ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร

ต่อมาก็ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเมืองสวางคบุรี โปรดให้มีการสมโภชพระบรมธาตุเป็นเวลา 3 วัน พร้อมกันนั้นก็โปรดให้บูรณะปฏิสังขรณ์ดังเดิม จากนั้นก็เสด็จไปสมโภชพระแท่นศิลาอาสน์ที่ทุ่งยั้งอีก 3 วัน แล้วเสด็จไปสมโภชพระศรีรัตนมหาธาตุ ที่วัดพระปรางค์เมือง สวรรคโลกอีก 3 วัน ต่อจากนั้นก็เสด็จล่องลงมายังเมืองพิษณุโลก โปรดให้มีการสมโภชพระศรีรัตนมหาธาตุ พระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์อีก 3 วัน จึงเป็นอันสิ้นสุดพระราชกรณียกิจในการทำนุบำรุงพระศาสนา ตามบรรดาหัวเมืองฝ่ายเหนือในครั้งนั้น

สร้างสมุดภาพไตรภูมิ

รูปเล่มและสภาพสมุดภาพไตรภูมิบุราณฉบับกรุงธนบุรี
เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี
ภาพจากสมุดภาพไตรภูมิหลวง สมัยกรุงธนบุรี
(ภาพจากวารสารศิลปวัฒนธรรม ; สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและบทบาทชาวจีนในสยาม)

เพื่อให้มหาชนทั้งหลายได้มีความเข้าใจในเรื่องของนรก-สวรรค์ได้อย่างถูกต้องตรงตามตำรา จะได้ตั้งหน้าประกอบแต่กรรมดี ละเว้นกรรมชั่ว สอดคล้องกับหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา จึงได้โปรดให้สร้าง สมุดภาพไตรภูมิ ขึ้นเล่มหนึ่ง ในปี พ.ศ.2319 เป็นสมุดภาพแบบโบราณเล่มใหญ่โต มีความงดงามน่าชมมาก รายละเอียดของเรื่องนี้ อยู่ในศิลปกรรมการช่าง (บทที่ 13)

9. ได้พระแก้วมรกตกลับคืนมา
ในโอกาสที่ได้โปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ) เป็นแม่ทัพใหญ่ ยกกองทัพขึ้นไปตีเวียงจันทน์ได้ในปี พ.ศ.2322 นั้น ตอนขากลับกองทัพไทยก็ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบาง ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ เมืองเวียงจันทน์นั้นลงมาด้วย

พระพุทธมหามณีรัตนปฎิมากรณ์ (พระแก้วมรกต)
(ภาพจากหนังสือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช)

พระแก้วมรกตนี้ นับถือกันว่าเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ และมีค่าอย่างยิ่ง เป็นมิ่งขวัญคู่บ้านคู่เมือง เป็นพระพุทธรูปที่เทวดาสร้าง จะประทับอยู่ได้ก็แต่ในประเทศที่เป็นเอกราช และมีพระพุทธศาสนาเป็นหลักมั่นคงเท่านั้น

เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงทราบข่าวการได้พระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์ และทรงคุณค่าอย่างสูงสุดกลับคืนมา ก็ทรงปิติโสมนัสเป็นยิ่งนัก โปรดให้สมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะทั้งปวง ยกขบวนกันไปรับจนถึงเมืองสระบุรี

พร้อมกันนั้นก็โปรดให้จัดขบวนเรือเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปรับด้วยพระองค์เอง ที่ตำบลบางธรณีใต้ปากเกร็ด เป็นขบวนเรือมโหฬารถึง 154 ลำ เมื่อรวมกับขบวนเรือที่แห่มาแต่เดิมเข้าด้วยกัน ก็เป็นจำนวนเรือในขบวนทั้งสิ้น 246 ลำ นำแห่เข้ามายังกรุงธนบุรี

ได้โปรดให้ปลูกโรงรับเสด็จพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองทั้งสององค์นี้ ประดิษฐานไว้ข้างพระอุโบสถวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) ภายในเขตพระราชฐาน ตั้งเครื่องสักการบูชาอย่างเอนกอนันต์ จากนั้นก็โปรดให้จัดงานพระราชพิธีสมโภชเฉลิมฉลองพระแก้วมรกต ด้วยมหรสพการแสดงต่างๆ ทั้งสองฝั่งลำน้ำเจ้าพระยาอย่างเอิกเกริกมโหฬาร เป็นเวลานานถึง 7 วัน 7 คืน มีโรงมหรสพการแสดงนานาชนิดรวมกันเป็นสิบๆ โรง เข้าใจว่าจะเป็นงานสมโภชสนุกสนานอย่างมโหฬารครั้งแรกของไทย ภายหลังจากที่กรุงศรีอยุธยาแตกมาได้ 12 ปีพอดี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงพระราชดำริจะสร้างพระมหาปราสาท ถวายพระแก้วมรกตขึ้นไว้ภายในพระราชฐาน เมื่อทรงมีโอกาสว่างจากพระราชภาระทางด้านศึกสงคราม แต่การได้ค้างไว้จนสิ้นรัชกาล

10. พระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่คณะสงฆ์
ในคราวที่ได้โปรดให้ดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามเป็นการใหญ่คราวแรก ในปี พ.ศ. 2311 นั้น เมื่องานได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ก็ได้ทรงมีพระบรมราโชวาทพระราชทานแก่คณะสงฆ์ ในเรื่องขอให้ยึดมั่นอยู่ในศีลวินัยเป็นอันดี อย่าทำให้พระพุทธศาสนาต้องมีอันเป็นเศร้าหมอง ขัดข้องประการใดทรงรับเป็นพระราชธุระจัดหาให้โดยเต็มที่
ความเด็ดเดี่ยวในพระราชหฤทัยในการพระศาสนานั้น ปรากฏชัดแจ้งอยู่ในพระบรมราโชวาทคราวนั้น ดังนี้

“ ขอพระผู้เป็นเจ้าทั้งปวง จงตั้งสติอารมณ์ปรนนิบัติ ตั้งอยู่ในพระจัตุปาริสุทธิศีลสังวรวินัยบัญญัติบริบูรณ์ อย่าให้พระศาสนาของพระองค์เศร้าหมองเลย แม้นพระผู้เป็นเจ้าจะขัดสนด้วยวัตถุปัจจัยทั้ง 4 ประการนั้น เป็นธุระโยมจะอุปถัมภ์ ”

“ ถ้าพระผู้เป็นเจ้าทั้งปวง มีศีลคุณบริบูรณ์ในพระศาสนาแล้ว แม้นจะปรารถนามังสะ (เนื้อ) รุธิระ (เลือด) โยม โยมก็อาจสามารถจะเชือดเนื้อแลโลหิตออกบำเพ็ญทานได้ ”

มิใช่แต่พระสงฆ์ไทยเท่านั้น ที่พระองค์ท่านได้พระราชทานพระบรมราโชวาท ขอให้ประพฤติปฏิบัติยึดมั่นอยู่ในพระธรรมวินัย เพื่อให้เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของมหาชน แม้พระสงฆ์จีน-ญวน ก็เคยพระราชทาน มีหลักฐานปรากฏอยู่ในจดหมายรายวันทัพคราวปราบเมืองพุทไธมาศและเขมร สมัยกรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ. 2314 อยู่หลายตอน

“ วันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น 10 ค่ำ เพลาเช้าเสด็จฯ ไปบำเพ็ญพระราชกุศล ณ วัดญวน ถวายนมัสการบูชารูปพระปฏิมากร ครั้งแล้วพระสงฆ์ญวนสวดมนต์ถวายจบแล้ว ทรงพระราชศรัทธาถวายเงินพระสงฆ์ เถร เณร ประชี (อาจหมายถึง ปะขาวและแม่ชี) แล้วมีพระราชบริหาร ให้โอวาทแก่พระสงฆ์โดยภาษาญวน ให้ตั้งอยู่ในวินัยสิกขา ว่าอย่าคบหาส้องเสพด้วยสีกา ให้อุตสาหะทำนุบำรุงพระศาสนารุ่งเรืองถ้าจะขัดสนเป็นประการใด ก็ให้ไปหาพระยาราชาเศรษฐี…ฯลฯ ”

พระยาราชาเศรษฐีที่ว่านี้ ก็คือเจ้าเมืองพุทไธมาศคนใหม่ ที่โปรดให้แต่งตั้งขึ้นในโอกาสตีเมืองพุทไธมาศกลับคืนมาเป็นของไทยเราได้ ในปี พ.ศ. 2314 นั้น เดิมเป็นพระยาพิพิธฯว่าราชการที่โกษาธิบดีมาก่อน เป็นขุนนางชาวจีนที่สำคัญคนหนึ่ง ในรัชสมัยของพระองค์ บางครั้งก็พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่คณะสงฆ์ญวน เป็นทำนองยื่น “ คำขาด ” ด้วย

“ วันเสาร์ เดือนอ้าย ขึ้น 15 ค่ำ เพลาเช้า เสด็จฯ ทรงม้าพระที่นั่งไปบำเพ็ญการกุศล ณ วัดญวน ให้สังฆการีธรรมการนิมนต์พระสงฆ์ไทย จีน ญวน เป็นอันมาก มาพร้อมกัน ณ วัดญวน แล้วสวดพระพุทธมนต์ตามภาษา ครั้งจบแล้วถวายไทยทาน พระสงฆ์ไทย เงินองค์ละ 1 บาท แพรองค์ละสาย พระสงฆ์ญวน พระสงฆ์จีน เงินเสมอองค์ละ 1 บาท สามเณรองค์ละ 1 บาท แล้วตรัสประภาษให้โอวาทพระสงฆ์ญวนโดยภาษาญวน พระสงฆ์จีนโดยภาษาจีน ในพระราชอธิบายว่า ให้ตั้งอยู่ในพระวินัยสังวรศีลอย่าให้เสพเมถุนต่อสีกา สามเณร คฤหัสถ์ ถ้ามิได้ตั้งอยู่ในวินัยบัญญัติฉะนี้ จะให้ตัดศีรษะเสีย ครั้งให้โอวาทแล้ว เสด็จฯ ออกจากพระวิหาร ยาจกวณิพกจีนญวน มารับพระราชทานเป็นอันมากนักหนา จึงพระราชทานเงินเสมอคนละ 1 บาท แจกด้วยพระหัตถ์ ”

จากหลักฐานตามที่ได้นำมาแสดงไว้ในที่นี้ บ่งชี้อย่างชัดแจ้งว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้นทรงรู้ภาษาจีน-ภาษาญวนเป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ยังปรากฏว่าทรงคบหาสมาคมกับพวกโต๊ะครู ในศาสนาอิสลามอีกด้วย ดังนั้น ตามที่มีกล่าวปรากฏในพระราชประวัติว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีความรู้ในภาษาจีน ญวน และแขก จนสามารถตรัสได้คล่องแคล่วทั้งสามภาษานั้น จึงไม่เป็นการกล่าวเกินความจริงไปเลย (เสทื้อน ศุภโสภณ , 2527 : 69)

11. ทรงมีธรรมสากัจฉา-พระราชปุจฉากับพระราชาคณะ
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงใฝ่พระราชหฤทัยในการพระศาสนาเป็นอย่างยิ่ง มิใช่แต่เพียงทรงอุปถัมภ์ค้ำชูด้วยพระราชทรัพย์ตามโบราณราชประเพณีเท่านั้น หากแต่ได้ทรงขวนขวาย ค้นคว้า ศึกษา ทั้งด้านปริยัติและการปฏิบัติอยู่เสมอๆ ด้วย

ยามว่างพระราชกิจมีโอกาสเมื่อใด ก็จะโปรดให้นิมนต์สมเด็จพระสังฆราช หรือพระราชาคณะที่ทรงคุณธรรมมีความรู้เข้าไปในพระราชฐาน แล้วทรงมีธรรมสากัจฉา (สนทนาธรรม) ด้วย บางครั้งก็จะพระราชทานพระราชปุจฉา ให้วิสัชนาเฉลยปัญหาถวายพระพรให้ทรงทราบ เป็นเรื่องๆ ไป

ประเพณีพระมหากษัตริย์พระราชทานพระราชปุจฉาปัญหาธรรมแก่พระราชาคณะนี้ ถือกันว่าเป็นอุบายอย่างหนึ่งในการทำนุบำรุงการศึกษาพระธรรมวินัยให้เจริญรุ่งเรือง ด้วยว่าผู้ที่จะแก้พระราชปุจฉาได้จะต้องค้นคว้าสอบสวนคัมภีร์ต่างๆ มาถวายวิสัชนา เป็นประเพณีที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา สืบทอดมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้

มีหลักฐานปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารหลายตอน เฉพาะอย่างยิ่งในพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ซึ่งถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ สำหรับเหตุการณ์ในสมัยกรุงธนบุรี เป็นต้นว่า

คราวหนึ่งในปี พ.ศ.2320 ได้ทรงมีพระราชปุจฉากับสมเด็จพระสังฆราช ถึงเรื่องผลของการบำเพ็ญทาน

แล้วตรัสถามพระสังฆราชว่า “ เงินคงอยู่ในพระสุธาบัดนี้ สั่งสอนโลกทั้งปวงให้กระทำทานด้วยทองด้วยเงิน แล้วจะไปได้สมบัติฟากฟ้านั้น จะได้ด้วยกุศลตัวใด ครั้นพระสังฆราชถวายวิสัชนาแล้ว จึงตรัสนิมนต์พระเทพกวีออกไปเมืองกัมพูชา พระพรหมมุนีไปนครศรีธรรมราช ขนคัมภีร์พระวิสุทธิมรรคเอาเข้ามาฐาปนาการไว้แล้ว ”

อีกคราวหนึ่งในปีเดียวกัน ได้ทรงมีพระราชปุจฉากับพระราชาคณะ ถึงเรื่องพุทธลักษณะเพื่อสร้างพระพุทธรูปฉลองพระองค์ ตามโบราณราชประเพณี ครั้งนั้นถึงกับโปรดให้สมเด็จพระสังฆราชเอาตำรางมากาง บอกกล่าวให้ช่างทำเลยทีเดียว

“ แล้วตรัสถามพระราชาคณะด้วยพระรูปพระลักษณะ ทรงพระฉายดูเห็นพระปริมณฑล ฉะนี้ จะต้องด้วยพระบาลีว่าอย่างไร พระราชาคณะถวายพระพรว่า พระบาลีพระลักษณะสมเด็จพระพุทธเจ้า พระรูปนั้นเปรียบประดุจต้นไทร ปริมณฑลมิได้สูงต่ำ มิได้ยาวสั้น มีพระลักษณะหนา 7 ประการ คือพระกรขวาหนึ่งซ้ายหนึ่ง พระบาทขวาหนึ่งซ้ายหนึ่ง พระอังสาขวาหนึ่งซ้ายหนึ่ง พระอุระหนึ่ง เป็น 7 ประการด้วยกัน จึงทรงพระกรุณาให้หล่อพระพุทธรูปจงต้องด้วยพระพุทธลักษณะ ให้พระสังฆราชเอาพระบาลีออกมากางให้ช่างทำ ”

พระพุทธรูปฉลองพระองค์ ประดิษฐานที่วัดอินทาราม
(เอื้อเฟื้อภาพโดย หอสมุดแห่งชาติ)

พระพุทธรูปฉลองพระองค์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่กล่าวนี้ ปัจจุบันประดิษฐานเป็นพระประธาน อยู่ในพระอุโบสถเก่าของวัดอินทาราม เป็นพระพุทธรูปนั่งขนาดหน้าตัก 4 ฟุต 8 นิ้วครึ่ง กล่าวกันว่าได้พระบรรจุพระอังคารไว้ที่ฐานตรงผ้าทิพย์ด้วย

12. ทรงปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
พระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการศาสนาที่นับว่าเป็นการพิเศษ ไม่เคยปรากฏมีมาในพระมหากษัตริย์พระองค์ใดมาก่อนเลย ก็คือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงใฝ่พระราชหฤทัยในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเป็นอย่างยิ่ง

พระบรมรูปจำลอง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงวิปัสสนากรรมฐาน ณ วัดอินทาราม
(ภาพจากหนังสือสาระน่ารู้กรุงธนบุรี)

ยามว่างจากพระราชกิจด้านอื่น และมิได้มีราชการศึกสงครามให้เป็นที่กังวลพระราชหฤทัย ก็พอพระทัยที่จะประทับนั่งเจริญสมาธิภาวนา ปฏิบัติธรรมกรรมฐานอยู่เป็นเนืองนิตย์

เข้าใจว่าสถานที่ที่ซึ่งทรงเจริญวิปัสสนากรรมฐานเป็นประจำ ก็คงจะเป็นที่พระตำหนักแพ หน้าวัดอรุณฯ (ครั้งนั้นยังมีชื่อเรียกว่า “ วัดแจ้ง ” ) หรือไม่ก็ในโบสถ์น้อย หน้าพระปรางค์ ซึ่งเป็นโบสถ์เดิมของวัด สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา คู่กับพระปรางค์องค์เดิมของวัด ที่ว่าดังนี้ ก็ด้วยมีเรื่องราวปรากฏอยู่ในสมุดไทยโบราณกระดาษข่อยขาวตัวหมึก 2 เล่ม ที่เรียกกันว่า “ หนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ ” กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

“ อนึ่ง ในแผ่นดินกรุงธนบุรี จะเป็นจุลศักราชเท่าใดไม่ปรากฏในจดหมายเหตุ ครั้งหนึ่งพระเจ้าตากทรงนั่งพระกรรมฐานที่พระตำนักแพ สมเด็จพระวันรัตน์ทองอยู่ นั่งกำกับเป็นประธาน พระเจ้าตากทรงนั่งบำเพ็ญในเวลายามเศษนั้น…ฯลฯ… ”

สมเด็จพระวันรัตน์ (ทองอยู่) นี้ อยู่วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังฯ) เป็นพระอาจารย์ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยด้วย ต่อมาเมื่อสิ้นรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มีเหตุการณ์บังคับให้ต้องสึกออกมารับราชการ เป็นพระยาพจนาพิมล ในสมัยรัชกาลที่ 1

หลักฐานสำคัญประการหนึ่ง ซึ่งเป็นอนุสรณ์แห่งการปฏิบัติธรรมของพระองค์ท่านแต่ครั้งนั้น และยังคงเหลืออยู่เป็นประจักษ์พยาน ให้อนุชนรุ่นหลังได้เห็นสืบมาจนบัดนี้ ก็คือ พระแท่นสำหรับทรงเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งประดิษฐานอยู่ในโบสถ์น้อย หน้าพระปรางค์ เป็นพระแท่นทำด้วยไม้กระดานแผ่นเดียว มีขนาดใหญ่โตกว่าไม้กระดานแผ่นใดๆ ที่เคยพบเห็นกันมา

ณ โบสถ์น้อยเก่าแก่ดั้งเดิมของวัดแจ้งนี้เอง เป็นสถานที่ซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้เสด็จประทับ ขณะทรงผนวช เมื่อตอนใกล้จะสิ้นรัชกาล นักประวัติศาสตร์คนสำคัญท่านหนึ่งแจ้งว่าพระองค์ท่าน ถูกปลงประชนม์ทั้งๆ ที่ยังทรงอยู่ในสมณเพศ ในโบสถ์น้อยนี้ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เวลาก่อนเที่ยงวัน (เสทื้อน ศุภโสภณ , 2527 : 70)

นอกจากที่พระตำหนักแพ หน้าวัดอรุณฯ แล้ว บางครั้งก็ยังทรงพระราชอุตสาหะ เสด็จไปเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนถึงวัดอินทาราม (วัดบางยี่เรือนอก หรือวัดบางยี่เรือใต้) อยู่เป็นเวลานานติดต่อกันถึง 5 วัน 5 คืน เมื่อคราวที่ได้โปรดให้จัดงานบำเพ็ญพระราชกุศลสักการะ พระบรมอัฐิสมเด็จกรมพระเทพามาตย์พระบรมราชชนนีเมื่อปีพ.ศ.2319 พร้อมกับโปรดให้บูรณะปฏิ -สังขรณ์วัดนี้อย่างขนานใหญ่ มีเรื่องราวกล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ตอนหนึ่ง ดังนี้

“ ณ วันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น 15 ค่ำ เชิญพระอัฐิสมเด็จพระพันปีหลวง ลงเรือแห่แต่ฉนวนน้ำเข้าไปในพระเมรุวัดบางยี่เรือใน นิมนต์พระสงฆ์สพสังวาสหมื่นหนึ่ง ถวายพระมหาทานเป็นอันมาก สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงศีลบำเพ็ญพระธรรม แรมอยู่พระตำหนักวัดบางยี่เรือนอก 5 วัน แล้วให้ทำกุฏิถึง 120 กุฏิ แล้วให้บูรณะปฏิสังขรณ์พระพุทธรูป และพระเจดีย์ วิหาร คูริมพระอุโบสถนั้นให้ขุดลงแล้วปลูกบัวหลวง ชำระแผ้วถางให้กว้างออกไปกว่าแต่ก่อน แล้วอาราธนาพระสงฆ์ฝ่ายคณะวิปัสสนามาอยู่ ณ กุฏิซึ่งทำถวาย ให้ข้าทูลละอองฯ ไปปรนนิบัติ แล้วเสด็จฯ ไปถวายพระราโชวาทแก่พระสงฆ์ โดยอธิบายซึ่งพระองค์บำเพ็ญได้ให้ต้องด้วยวิธี จะได้บอกบุญปฏิๆ ศาสนาสืบไป ”

จากหลักฐานดังกล่าวนี้ แสดงว่ามิใช่เพียงแต่เสด็จไปทรงปฏิบัติธรรมนานถึง 5 คืน เพื่อทรงพระราชอุทิศ ส่วนพระราชกุศล ถวายแด่สมเด็จพระบรมราชชนนีเท่านั้น ภายหลังเสร็จจากการที่ได้ทรงปฏิบัติธรรม ในครั้งนั้นแล้ว ก็ยังได้เสด็จไปถวายพระบรมราโชวาทแก่พระภิกษุสงฆ์ในวัดนั้น พระราชทานพระบรมราชาธิบายถึงอุปเท่ห์ในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งพระองค์ได้ทรงมีประสบการณ์ในการปฏิบัติเป็นผลดีมาแล้วอีกด้วย

พยานหลักฐานที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ซึ่งแสดงถึงพระปรีชาญาณในทางธรรมะภาคปฏิบัติของพระองค์ท่าน ก็คือบทพระราชนิพนธ์ธรรมะสั้นๆ เรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นพระบรมราชาธิบายว่าด้วย “ ลักษณะการปฏิบัติธรรมชั้นสูง ” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ ลักขณะบุญ ” ซึ่งได้ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ เดือน 3 ขึ้น 2 ค่ำ ปี พ.ศ. 2319 หลังจากที่ทรงเสร็จสิ้นจากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจากวัดบางยี่เรือนอกคราวนั้นแล้ว เพียงชั่วเวลาไม่ถึง 2 เดือน รายละเอียดความในบทพระราชนิพนธ์ดังกล่าว มีอยู่ดังต่อไปนี้

เรื่อง “ ลักขณะบุญ 
ข้อพิศดารลักขณะซึ่งจะเป็นบุญนั้น ต่อบุทคลผู้ใดเห็นไภยในอดีต อนาคต ปัจจุบันเกลียดอายหน่าย กลัว บาป นำจิตรทุทคลผู้นั้นเป็นบุญ เข้าภาคภูมิสิกขาบท ถึงเท่าดั่งนั้นก็ดี ถ้าไม่บำบัด โลภ โทษ โมหะ ราคะ ให้เป็นปลาย ที่ไหนสิกขาบทจะคุง ถึงจะบำบัด โลภ โทษ โมหะ ราคะ เป็นปลายอยู่แล้วก็ดี เมื่อแลไม่สำรวมกับหน้าที่จะฉิบหายเป็นแท้ อันลักขณะจะบำเพ็งสิกขาบทมีสำรวมเป็นต้น อันซึ่งน้ำจิตร์จะเป็นบุญขึ้นนั้น มี เกลียด อาย หน่าย กลัว บาป เป็นเค้าซึ่งสิกขาบทจบบริบูรณ์นั้น พึงปราศจาก โลภ โทษ โมหะ ราคะ เป็นปลาย อันลักขณะจะรักษาศีลมีองคะ 3 จำพวก จำพวกหนึ่งเป็นบุญ สองจำพวกเป็นบาป – ๆ รักษาศีล จำพวกหนึ่ง ดั่งโครู้กินหญ้า หาปานาติบาตมิได้ เป็นอาทิ มีมุทุเป็นที่สุด จำพวกหนึ่งมิได้ดัดใจให้เป็นบุญมีอาบัดอันน้อยอันใหญ่เป็นต้น มีจัตุปราชิกเป็นที่สุด สองจำพวกนี้ตายไปสู่อบายภูมิ์ ซึ่งลักขณะเป็นมีบุญมีองคะ 3 ประการ ประการหนึ่งได้บุญไปในอดีต อนาคต ปัจจุบัน ประการหนึ่งได้บุญแต่ปัจจุบัน ประการหนึ่งได้บุญแต่อนาคตนั้น ตนรักษาศีล มิได้เอื้อเฟื้อ ปัจจุบันขัดสน ตายไปได้แต่อนาคต ซึ่งตนรักษาสิกขาบทเป็นกลางหาไว้ยศอย่างให้โลกทั้งปวงไม่ แต่โลกควิไสยสัทธาทำบุญด้วยได้สมบัติในปัจจุบัน ตายไปได้กุศลในอนาคต แลซึ่งตนรักษาศีลไว้ยศอย่างเป็นอันดี โลกคทั้งปวงสัทธาได้สมบัติในปัจจุบัน ตายไปได้อนาคตซึ่งตนทำไว้นั่นก็ตามส่งไปในอดีตภายหลัง อันซึ่งจะบำเพ็งสิกขาบทมีองคะ 2 ประการ คือ รักษา จำครอง สำรวม ศีล และซึ่งสำรวมศีลนั้น มีลักขณะสำรวม 5 สำรวม 6 พึงพิจารณาศีลของอาตมาไว้ในหทัยวัตถุ อันซึ่งครองศีลนั้น มีสุภาว ประดับประดาใจให้พิจิตรคเจษฏา

ถ้ามีกิจจะไปให้เอาอย่างนาคราชลิลาศลิลา อันลักขณะจำศีลนั้นให้รู้ทุกองคอักษร ระลึกเมื่อใดให้ได้เมื่อนั้น อย่าลืมประการซึ่งรักษาศีลนั้น ห้ามปรามอันใดบ้าง จงอุส่าห์อย่าให้ขาดตกหาย ถ้าบุทคลผู้ใดรักษาสิกขาบทได้เป็นแท้ อุส่าห์สำรวมเพื่อจะให้บุญยิ่งกอปป์ไปด้วยฤทธิ์ ก็ให้พึงเรียนพระกรรมฐาน 40 มีพระอนาปกรรมฐานเป็นพญา ให้ดูเอาพิธีซึ่งมีอยู่ในหอหลวงนั้นเถิด ประการซึ่งภาคภูมิพระกรรมฐานนั้น เป็นอัปปรมาโณหารู้ที่จะประมาณไม่ เกลือกเจ้ากูกุลบุตร์สำรวมเป็นอันดี เกิดน้ำจิตรกลางพัด อัสสาสะ ปัสสาสะ เดินเป็นสุขุม อติสุขุม อนิจจลาสุขุม ฝ่ายเจ้ากูผู้นั้นไม่รู้ก็จะฆ่า อัสสาสะ ปัสสาสะ นั้นเสีย ก็จะเสียทีไป ให้ประคองไว้ไต่ตามอัสสาสะ ปัสสาสะ นั้นขึ้นไปเถิด เป็นภาคภูมิพระกรรมฐานอยู่แล้ว อันลักขณะวาโยสุขุมเดินเข้าออกแรงตรง แต่ถ้าว่าพาหาซ้ายขวาเศียรคางกายมิได้ไหว อันซึ่งลมอัติสุขุมเดินแน่นิ่งน้อยดีขึ้นกว่านั้น แลซึ่งลมอนิจจลาสุขุมเดินแน่แน่วละเอียดสุดตาโลกทั้งปวงๆ เรียกว่านิคสวาดิ์ แลซึ่งวาโยดั่งนี้มีแก่โยคาวจรเจ้าพระองค์ใด พระองค์นั้นมีบุญให้ไต่ตามอัสสาสะ ปัสสาสะขึ้นไป ก็จะพบอุคหะปรติภาค ปถมฌาน ตราบเท่าปัญจมฌานเป็นที่สุด ถ้าขัดสนให้ดูอรรถกถา พิทธีฎีกา ซึ่งมีอยู่ในหอหลวงเสร็จสิ้นแล้ว สมเขปไว้โดยปัญญา ถ้าเห็นดีต้องใจจงเรียนเอา ถ้าไม่ขอบใจพึงละเสีย ประโยชน์ให้เป็นทาน ณ วันอาทิตย์ เดือนสาม ขึ้นสองค่ำ จุลศักราช 1138 ปีวอก อัฐศก(เสทื้อน ศุภโสภณ , 2527 : 64-73)

12.1.3 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตราพระราชกำหนดว่าด้วยศีลสิกขาเป็นกฎหมาย ว่าด้วยข้อวัตรปฏิบัติในทางธรรมวินัยของพระสงฆ์ไว้อย่างไร?
พระราชกำหนดว่าด้วยศีลสิกขาฉบับนี้เป็นกฎหมายว่าด้วยข้อวัตรปฏิบัติในทางธรรมวินัยของพระสงฆ์ ซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้โปรดให้ตราขึ้นเมื่อปีมะเส็ง เบญจศก จุลศักราช 1135 ตรงกับ พ.ศ.2316 อันอยู่ในระยะต้นรัชสมัย เพิ่งครองราชย์ และสถาปนากรุงธนบุรีมาได้ 6 ปี สถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น ยังไม่สู้จะเป็นปรกติดี ด้วยเพิ่งจะทรงรวบรวมแผ่นดินไทยกลับคืนมาได้หมดจากการปราบชุมนุมต่างๆ โดยมีชุมนุมเจ้าพระฝาง (อยู่ในจังหวัดอุตรดิตถ์เดี๋ยวนี้) เป็นชุมนุมสุดท้าย ในปี พ.ศ.2313

การประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้แสดงว่าพร้อมๆ กับที่ทรงจัดการกับปัญหาบ้านเมือง และการศึกสงคราม อย่างแทบไม่มีเวลาว่างเว้นเลยนั้น ก็ได้ทรงจับงานด้านพระศาสนาไปด้วย

ทั้งนี้ ก็เป็นด้วยการคณะสงฆ์ หรือสังฆมณฑลในเวลานั้น ยังไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย พระสงฆ์เป็นจำนวนมากประพฤติปฏิบัติย่อหย่อน ไม่อยู่ในพระธรรมวินัยเป็นอันดี ทำให้เป็นที่เสื่อมศรัทธาของมหาชนเป็นอันมาก หากปล่อยทิ้งไว้ต่อไป จะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติบ้านเมืองด้วย มิใช่เฉพาะแต่การพระศาสนาเท่านั้น

ดังนั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงได้โปรดให้ตราพระราชกำหนดว่าด้วยศีลสิกขาฉบับนี้ขึ้นมา เพื่อบังคับพระสงฆ์ให้ปฏิบัติตนอยู่ในกรอบพระวินัยเป็นอันดี โดยอาศัยอำนาจของทางฝ่ายบ้านเมืองบังคับอีกทางหนึ่ง เพื่อดึงศรัทธาของมหาชนกลับคืนมา และเพื่อให้พระพุทธศาสนาได้ยืนยงมั่นคงอยู่คู่กับสังคมไทยสืบไป

เข้าใจว่าพระราชกำหนดว่าด้วยศีลสิกขาฉบับนี้ จะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับพระสงฆ์ฉบับแรกของประเทศไทย

แต่ก่อนมาเราเคยเชื่อกันว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นผู้ทรงประกาศใช้กฎหมายพระสงฆ์ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยใน “ กฎหมายตราสามดวง ” เรียกชื่อว่า “ กฎพระสงฆ์ ” ซึ่งมีอยู่รวม 10 ฉบับด้วยกัน (ดูประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1 จุลศักราช 1166 เล่ม 3 ฉบับของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ และการเมือง พิมพ์เมื่อปี 2481 หรือ เรื่องกฎหมายตราสามดวง กรมศิลปากรจัดพิมพ์เผยแพร่ พุทธศักราช 2521 และเรื่องพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงฟื้นฟูวัฒนธรรม พระราชนิพนธ์ของกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2500)

แต่จากพระราชกำหนดว่าด้วยศีลสิกขาฉบับนี้ เป็นพยานยืนยันได้เป็นอย่างดี ว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรก ที่ได้ทรงตรากฎหมายเกี่ยวกับพระสงฆ์ออกมาบังคับใช้ โดยได้ทรงประกาศใช้ก่อนหน้าที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ จะได้ทรงตรา “ กฎพระสงฆ์ ” ฉบับแรกออกมาเป็นเวลา 9 ปีเต็มๆ

แสดงถึงความเอาพระทัยใส่ในความมั่นคงของพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง (เสทื้อน ศุภโสภณ, 2524 : 110 )

นอกเหนือไปจากที่ได้กล่าวมาแล้ว พระราชกำหนดฉบับนี้ยังเชื่อได้ว่าเป็นพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีอีกด้วย

ทั้งนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ “ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ” ได้ทรงให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับพระราชกำหนดฉบับนี้ไว้ตอนหนึ่ง ว่าสังเกตสำนวนดูเหมือนจะเป็นพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ถ้าแม้นว่าไม่ทั้งหมด ก็จะต้องมีส่วนที่เป็นบทพระราชนิพนธ์ทรงเพิ่มเติมไว้อย่างแน่นอน

สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้ทรงพระนิพนธ์คำอธิบายพระราชกำหนดฉบับนี้ไว้เมื่อคราวพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.2458 มีความสำคัญตอนหนึ่งว่า

“ พระราชกำหนดเรื่องศีลสิกขาที่พิมพ์นี้ ผู้อ่านคงจะเชื่อในทางสำนวนว่าเป็นพระราชนิพนธ์พระเจ้ากรุงธนบุรีมีอยู่ในนั้น แต่บางทีจะมีผู้อ่านบางคนคิดเห็นผิดไปจากทางที่สมควร ด้วยโวหารอยู่ข้างจะเอะอะไม่เป็นสง่าผ่าเผย เหมือนโวหารที่แต่งพระราชกำหนดในชั้นหลัง หรือแม้ชั้นกรุงเก่า ซึ่งจะเห็นได้ในกฎหมาย เช่น พระราชกำหนดเก่า เป็นต้น ที่ผิดกันเช่นนี้ คือที่เป็นข้อสำคัญของพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงการใดๆ เอาความสำเร็จเป็นใหญ่ ไม่สู้ถือแบบแผนเป็นสำคัญนัก ”

รวมความว่า พระราชกำหนดฉบับนี้ในพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีสำนวนโวหารที่ออกจะแข็งกร้าว ไม่เรียบร้อยราบรื่นสละสลวย เหมือนดังพระราชกำหนดทั่วไป ที่ประกาศใช้ในสมัยแต่ก่อนมาด้วยกัน

ทั้งนี้ ควรถือได้ว่าเป็น “ เอกลักษณ์ ” ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่ทรงถือเอา “ ภาคปฏิบัติ ” หรือการกระทำเป็นหลักสำคัญ ยิ่งกว่า “ ตัวหนังสือ ” หรือสำนวนโวหาร

พระราชกำหนดว่าด้วยศีลสิกขา จุลศักราช 1135 ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนี้ แสดงถึงพระปรีชาสามารถทางด้านการพระศาสนาของพระองค์ท่านได้เป็นอย่างดีอีกสิ่งหนึ่ง นับเป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญอันแสดงถึงความเอาพระทัยใส่ในการคณะสงฆ์เป็นอย่างดียิ่ง ที่พวกเราส่วนใหญ่ยังมิได้ทราบกัน

ต้นฉบับพระราชกำหนดฉบับนี้ ได้มาจากวัดแก่นเหล็ก จังหวัดเพชรบุรี ได้ตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2458 และพิมพ์ครั้งที่สองในปี พ.ศ.2510 ซึ่งเป็นการพิมพ์แจกในงานศพเป็นจำนวนเพียงเล็กน้อย มิได้เป็นที่แพร่หลายทั้งสิ้น

การนำมาพิมพ์ครั้งนี้ นับเป็นการจัดพิมพ์เพื่อเทิดพระเกียรติคุณของพระองค์ท่าน ให้เป็นที่ปรากฏสืบไปตราบชั่วกาลนาน

พระราชกำหนดของพระเจ้ากรุงธนบุรี ว่าด้วยศีลสิกขาบท กฎให้ไว้แก่สมณผู้รักษาศีลสังวรวินัย ด้วยสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารทรงพระกรุณาปรึกษาราชาคณะ บัณฑิตยชาตินักปราชญ์ เห็นเหตุแห่งศีลสิกขาบท 227 เป็นกิ่งก้านสาขาแห่งศีล 10 ประการ คือ
1. ปาณาติปาตา ห้ามมิให้ฆ่าสัตว์
2. อทินฺนาทานา ห้ามมิให้ลักทรัพย์
3. อพฺรหฺมจริยา ห้ามเสพเมถุน
4. มุสาวาทา ห้ามสับปลับ
5. สุราเมระยะ ห้ามกินเหล้า
6. วิกาลโภชนา ห้ามกินอาหารล่วงเวลา
7. นัจฺจคีตวา ห้ามดูฟ้อนรำ
8. มาลาคันธะ ห้ามทัดทาของหอม
9. อุจฺจาสยนมหา ห้ามนอนเหนืออาสนะอันวิจิตร
10. ชาตรูปะระ ห้ามสร้างสมทรัพย์เงินทอง

ถ้าผู้ใดมีปัญญารักษาได้ ศีล 227 จึงคง ถ้าศีล 10 ประการขาดจากขันธสันดานสมณผู้ใดแล้ว อันศีล 227 นั้นก็อันตรธานหาย ศีลแลคณะศีล 227 นั้น คือจัตุปาราชิก 4 สังฆาทิเสส 13 อนิยต 3 นิสสัคคีย์ 30 ปาจิตตีย์ 92 ปาฏิเทส 4 เสขิยวัต 75 อธิกรณสมถ 7

1. ซึ่งจัตุปาราชิก 4 นั้น
2. ห้ามเสพมาตุคามโดยทวารทั้ง 3 ขาดตกมหาอวิจีนรก (พระเจ้าข้า)
3. ห้ามลักเงินทองของข้าวควรค่าบาทหนึ่งขึ้นไป ขาดตกมหาอวิจีนรก (พระเจ้าข้า)
4. ห้ามฆ่ามนุษย์ในครรภ์นอกครรภ์ ขาดตกมหาอวิจีนรก (พระเจ้าข้า)
5. ห้ามปดโป้อวดมรรคแลผล ขาดตกมหาอวิจีนรก (พระเจ้าข้า)
จบจัตุปาราชิก 4 แล

1. อันสังฆาทิเสส 13 นั้น ห้ามเพียรน้ำอสุจิเคลื่อน ดาพนรก (พระเจ้าข้า)
2. ห้ามมิให้มีราคจิตถูกต้องสีกา ดาพนรก (พระเจ้าข้า)
3. ห้ามหยาบช้าลำเลิกทวารทั้งสาม ดาพนรก (พระเจ้าข้า)
4. ห้ามการเมถุนตนว่าได้บุญมาก ดาพนรก (พระเจ้าข้า)
5. ห้ามอย่าชักซึ่งชู้สาวผัวเมีย ดาพนรก (พระเจ้าข้า)
6. ห้ามสงฆ์มิได้สำแดงที่ตนปลูกกุฎียาว 18 ศอก กว้าง 22 ศอกคืบ ดาพนรก (พระเจ้าข้า)
7. ห้ามสงฆ์มิได้สำแดงที่ตนทำวิหารอันใหญ่ ดาพนรก (พระเจ้าข้า)
8. ห้ามอย่าผูกพันโทษผู้ไม่มีผิด ว่าเป็นปาราชิกให้สึกเสีย ดาพนรก (พระเจ้าข้า)
9. ห้ามเหตุดูคนเห็นเสพเมถุนเอามาเคลือบแฝงใส่โทษเอาภิกขุให้สึกเสีย ดาพนรก (พระเจ้าข้า)
10. ห้ามยุสงฆ์ตนองอาจสามครั้ง พาไปว่าในท่ามกลางสงฆ์ 3 ที ตนก็มิฟัง ดาพนรก (พระเจ้าข้า)
11. ห้ามอย่าเป็นพวกสงฆ์ผู้ยุภิกขุอื่น แลร้องประกาศห้ามสามครั้งก็มิฟัง ดาพนรก (พระเจ้าข้า)
12. ห้ามทำผิดตนมิฟัง ภิกขุพาไปประกาศแลห้ามสามครั้งก็มิฟัง ดาพนรก (พระเจ้าข้า)
13. ห้ามสงเคราะห์ผลอันไม่ใช่ญาติ เป็นหมอดู หมอนวด หมอยา นำกิจจา ภิกขุห้ามมิฟัง ดาพนรก (พระเจ้าข้า)
จบสังฆาทิเสส 13 แล

1. เทวอนิยต 2 นั้น ห้ามที่ใดๆ ควรส้องเสพเมถุนหาพยานมิได้ ตนนั่งพูดกับสีกา พระโสดาว่าอาบัติอันใด อาบัติอันนั้น (พระเจ้าข้า)
2. ห้ามที่อันใดควรหยิกหยอกได้ ตนไปนั่งสองต่อสองกับสีกา พระโสดาว่าอาบัติอันใด อาบัติอันนั้น (พระเจ้าข้า)
จบเทวอนิยต 2 แล

1. ติงสนิสสัคคีย์ 30 นั้น ห้ามผ้าพ้นเขตกฐินไม่ได้วิกัปปอธิฐานพ้น 10 วัน สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
2. ห้ามอย่าละไตรจีวรแต่ราตรีหนึ่งขึ้นไปพ้นเขตกฐิน สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
3. ห้ามผ้าอันได้ผ้ามานอกเขตกฐิน มิพอจีวรหาอื่นประสมใหม่ไม่วิกัปปอธิฐาน พ้นเดือนหนึ่งขึ้นไป สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
4. ห้ามภิกขุนีอันใช่ญาติ อย่าให้ซักผ้าย้อมผ้าตน สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
5. ห้ามอย่ารับผ้าต่อมือนางภิกขุนีอันใช่ญาติ สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)

6. ห้ามผ้าบริบูรณ์อยู่ ถ้าขอผ้าอันใช่ญาติ สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
7. ห้ามผ้าหายมีแต่สบงแลจีวรให้ครองไป ถ้าขออีก สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
8. ห้ามผ้าผู้เดียวจะถวาย ตนรู้ระคายไปเลือกให้ซื้อ สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
9. ห้ามผ้าคนทั้งหลายซื้อจะถวาย ไปเลือกให้ซื้อ สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
10. ห้ามเตือนผ้าผู้จะถวาย ทวงได้สามครั้ง ยืนได้หกครั้ง พ้นกว่านั้น สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
จบจีวรวรรค 10 สิกขาบทแล

1. ห้ามอย่าทำสันถัดเจือไปด้วยไหม สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
2. ห้ามอย่าทำสันถัดด้วยขนเจียมดำล้วน สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
3. ห้ามอย่าทำสันถัดด้วยขนเจียมดำสองส่วน ขาวส่วนหนึ่ง แดงส่วนหนึ่ง จึงต้องอย่างพ้น สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
4. ห้ามสันถัดเก่าครองยังไม่ถึง 6 ปีทำขึ้นใหม่ สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
5. อันหนึ่งสันถัดยับไปทำขึ้นใหม่ ให้เอาเก่าทับศอกคืบจึงเสียศรี จึงพ้น สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
6. ห้ามมิให้ถือขนเจียมไปสู่ทางไกลกว่า 3 โยชน์ สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
7. ห้ามมิให้นางภิกขุนีอันใช่ญาติ ซักย้อมผ้าขนเจียม สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
8. ห้ามอย่าปรารถนาเงินทองทรัพย์สิน สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
9. ห้ามอย่าแลกเปลี่ยนเงินทอง สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
10. ห้ามอย่าซื้อขาย ขวนขวายจ่ายทรัพย์ สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
จบโกไสยวรรค 2 แล

1. ถ้าอธิษฐานบาตรใน 10 วัน พ้นกว่านั้น สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
2. ห้ามบาตรเก่าร้าวยังมิถึง 10 นิ้วอย่าขอใหม่ สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
3. ห้ามรับประเคนสับปิเนาวนิต น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เหลือพ้น 7 วัน สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
4. ห้ามอย่าหาผ้าอาบน้ำฝนแต่เดือนหกไปจนถึงเดือนเจ็ดข้างขึ้น สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
5. ห้ามผ้าซึ่งให้ภิกขุแล้วซึ่งกลับคืนเอา สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)

6. ห้ามอย่าให้ขอด้ายไปให้ช่างหูกทอ สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
7. ห้ามผ้าเขาจะถวาย ตนไปให้การให้เอาของผู้ทอ สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
8. ห้ามผ้าคนไข้หนัก คนไปทัพ หญิงมีครรภ์ถวายให้อธิษฐานครองพ้นเดือนหนึ่งไป สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
9. ห้ามผ้าภิกขุอยู่ป่ากลัวโจรแลผู้ร้ายฝากชาวบ้านไว้ได้แต่ 6 ราตรี พ้นนั้น สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
10. ห้ามอย่าให้น้อมลาภของสงฆ์มาเป็นของตนผู้เดียว สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
จบนิสสัคคีย์ 30 แล

1. สุทธปาจิตตีย์ 92 ห้ามอย่ามุสาวาทแก่ท่าน สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
2. ห้ามอย่าเจรจาเสียดแทงแก่ภิกขุ สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
3. ห้ามอย่าส่อเสียดแก่ภิกขุอื่น สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
4. ห้ามอย่าว่าธรรมพร้อมกันกับสามเณรแลคฤหัสถ์ สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
5. ห้ามอย่านอนร่มเดียวด้วยสามเณรแลบุรุษพ้น 3 ราตรี สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
6. ห้ามอย่านอนร่วมร่มกับสตรี สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
7. ห้ามอย่าเทศนาแก่สตรีพ้น 5-6 คำ สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
8. ห้ามอย่าบอกมรรคแลผลกับสามเณรแลคฤหัสถ์ สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
9. ห้ามอย่าบอกอาบัติอันหยาบแก่สามเณรแลคฤหัสถ์ สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
10. ห้ามอย่าขุดดิน สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
จบมุสาวาทวรรค 1 แล

1. ห้ามอย่าถากหญ้าแลฟันไม้ สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
2. ห้ามคนทำผิด ครั้นสงฆ์ถามว่าอื่นไป สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
3. ห้ามอย่ายกโทษภิกขุอื่น สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
4. ห้ามของสงฆ์ตนเอาไปปูไว้ที่แจ้ง แล้วไม่เก็บของสงฆ์เสีย สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
5. ห้ามอย่าเอาอาสนะปูไว้ในวิหาร ครั้นสงฆ์มิได้เลิกเสีย สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)

6. ห้ามอย่านอนเบียดเสียดภิกขุในวิหารสงฆ์หวังจะให้ไปเสีย สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
7. ห้ามขับภิกขุอันหาผิดมิได้ให้ไปจากวิหารแห่งสงฆ์ สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
8. ห้ามอย่านอนบนเตียงอันแขวนไว้ในวิหาร สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
9. ห้ามอย่าทำมุงกุฎีตึกกว่า 2 ชั้น 3 ชั้น สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
10. ห้ามอย่าเอาน้ำอันประกอบด้วยตัวสัตว์ไปใช้ สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
จบภูตคามรรค 2 แล

1. ห้ามสงฆ์ใดสมมติไปสวดนางภิกขุนี สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
2. ห้ามมิให้ภิกขุอันสงฆ์สมมติแล้วไปสอนนางภิกขุนีในเพลาค่ำ สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
3. ห้ามสงฆ์ซึ่งสมมติแล้ว มิให้ไปสอนนางภิกขุนีถึงที่อยู่ สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
4. ห้ามอย่านินทาสงฆ์สอนนางภิกขุนีว่าด้วยอามิส สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
5. ห้ามอย่าให้ผ้าแก่นางภิกขุนีอันใช่ญาติ สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
6. ห้ามมิให้เย็บจีวรนางภิกขุนีอันใช่ญาติ สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
7. ห้ามอย่าชวนนางภิกขุนีไปทางไกลด้วยกัน สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
8. ห้ามอย่าลงเรือด้วยนางภิกขุนี สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
9. ห้ามอย่าฉันบิณฑบาตอันนางภิกขุนีชวนทายกให้กระทำ สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
10. ห้ามอย่านั่งในที่สงัดกับนางภิกขุนีผู้เดียว สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
จบภิกขุในวาทวรรค 3 แล

1. ห้ามโรงทานฆราวาส ตนไปฉันได้แต่มื้อเดียว สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
2. ห้ามภิกขุแต่สี่รูปขึ้นไป อย่ารับนิมนต์ว่า ฉันข้าวปลา สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
3. ห้ามภิกขุรับนิมนต์เขาแล้ว อย่าไปฉันที่อื่น สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
4. ห้ามรับบิณฑบาตทายก แลถ้าเอาข้าวเขามาพ้นกว่าสามบาตร สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
5. ห้ามภิกขุในขณะฉันว่าไม่ฉัน แล้วกลับมาฉันอีก สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)

6. ห้ามตนรู้ว่าภิกขุไม่ฉัน แล้วเอาไปให้ฉันอีก สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
7. ห้ามอย่าฉันของนอกเพล สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
8. ห้ามอย่าฉันของอันประเคนแล้ว เอาไว้แล้ววันอื่น สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
9. ห้ามอย่าขอของเขาอันระคนไปด้วยสับปีเนาวนิตมาฉัน สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
10. ห้ามของเขายังมิได้ประเคนตน อย่าฉัน สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
จบโภชนาวรรค 4 แล

1. ห้ามอย่าให้ของกินแก่ชีเปลือย สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
2. ห้ามบิณฑบาตแล้วขอเพื่อนกันเสีย ตนจะพูดกับหญิง สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
3. ห้ามผัวเมียเขายังไม่ถึงพระอนาคา ตนไปนั่งใกล้เข้าถึงในเรือน สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
4. ห้ามอย่านั่งใกล้หญิงทั้งหลายในที่ลับ สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
5. ห้ามอย่านั่งที่แจ้งกับหญิงผู้เดียว สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
6. ห้ามนิมนต์ตนรับฉันเขาแล้ว ไม่อยู่ฉันในอาราม ไปฉันที่อื่นมิได้อำลาสงฆ์ไปสู่ตระกูลอื่น สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
7. ห้ามอย่าขอยานอกทายกปฏิญาณไว้ 4 เดือน สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
8. ห้ามอย่าดูหมู่เสนายกเป็นกระบวนทัพ สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
9. ห้ามอย่าไปดูกองทัพพ้น 3 ราตรี สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
10. ห้ามอย่าไปดูกองทัพรบกัน สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
จบอเจลวรรค 5 แล

1. ห้ามอย่ากินน้ำเมา ของอันพึงเมา สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
2. ห้ามอย่ากินด้วยนิ้วมือ สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
3. ห้ามอย่าเล่นน้ำ สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
4. ห้ามตนทำผิดผู้อื่นตักเตือนมิให้เอื้อเฟื้อ สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
5. ห้ามอย่าหลอกหลอนกัน สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)

6. ห้ามอย่าก่อไฟผิง เมื่อมิได้เป็นไข้ สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
7. ห้ามในมัชฌิมประเทศไม่ถึง 15 วันตนอาบน้ำ สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
8. ห้ามผ้านุ่งผ้าห่มมิได้พินทุเอามาครอง สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
9. ห้ามซึ่งผ้าเจ้ากูรับฝากมิได้ประจุ อย่าให้เอามาครอง สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
10. ห้ามอย่าซ่อนบริขารเพื่อนกัน จะใคร่หัวเราะเล่น สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
จบสุราปานวรรค 6 แล

1. ห้ามอย่าฆ่าสัตว์เดียรัจฉาน สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
2. ห้ามอย่าบริโภคน้ำอันมีตัวสัตว์ สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
3. ห้ามสงฆ์เห็นพร้อมกันแล้ว ตนกลับทักท้วงให้เลิกเสีย สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
4. ห้ามอย่าบังอาบัติสังฆาทิเสสปฏิเสธเพื่อนกัน สังฆาฏนรก (พระเจ้าข้า)
5. ห้ามอย่าบวชกุลบุตรอันมีอายุต่ำกว่า 20 ปี สังฆาฏนรก ( พระเจ้าข้า )
6. ห้ามอย่าชวนโจรเดินไปด้วยกันในละแวกบ้าน สังฆาฏนรก ( พระเจ้าข้า )
7. ห้ามอย่าชวนสีกาเดินไปในละแวกบ้านทางเดียวกัน สังฆาฏนรก ( พระเจ้าข้า )
8. ห้ามอย่าตู่พุทธบัญญัติมิควรกลับว่าควร มีผู้ใดห้ามมิฟัง พาไปประกาศก็มิฟัง สังฆาฏนรก ( พระเจ้าข้า )
9. ห้ามคบหาภิกขุผู้ตู่พุทธวจน สังฆาฏนรก ( พระเจ้าข้า )
10. ห้ามอย่าคบหาสามเณรผู้ถือผิดตู่พุทธวจน สังฆาฏนรก ( พระเจ้าข้า )
จบสัปปาณวรรค 7 แล

1. ห้ามอย่าผัดภิกขุผู้ตักเตือนให้เรียนพระวินัย สังฆาฏนรก ( พระเจ้าข้า )
2. ห้ามอย่าติเตียนพระปาติโมกข์ สังฆาฏนรก ( พระเจ้าข้า )
3. ห้ามอย่ากล่าวใหลหลงในพระปาฏิโมกข์ สังฆาฏนรก ( พระเจ้าข้า )
4. ห้ามอย่าตีกันด้วยไม้แลมือ สังฆาฏนรก ( พระเจ้าข้า )
5. ห้ามเงือดเงี้อจะตีภิกขุ สังฆาฏนรก ( พระเจ้าข้า )
6. ห้ามอย่ากล่าวอาบัติอันหยาบใส่โทษภิกขุ สังฆาฏนรก ( พระเจ้าข้า )
7. ห้ามอย่ากล่าวโทษภิกขุอื่นเพื่อจะมิให้สบาย สังฆาฏนรก ( พระเจ้าข้า )
8. ห้ามอย่ามองฟังภิกขุทะเลาะกัน สังฆาฏนรก ( พระเจ้าข้า )

9. ห้ามภิกขุเห็นชอบในสังฆกรรมแล้วอย่าทักท้วงติเตียน สังฆาฏนรก ( พระเจ้าข้า )
10. ห้ามตนกับสงฆ์กระทำสังฆกรรมยังมิแล้วลุกหนีไป สังฆาฏนรก ( พระเจ้าข้า )
11. ห้ามอย่าปรึกษาเห็นดีพร้อมกันแล้ว ก็กลับนินทาว่าแจกผ้ามิเป็นธรรม สังฆาฏนรก ( พระเจ้าข้า )
12. ห้ามอย่าน้อมลาภของสงฆ์ให้แก่ผู้อื่น สังฆาฏนรก ( พระเจ้าข้า )
จบสหธรรมมิกวรรคครบ 8 แล

1. ห้ามมหากษัตริย์เสด็จอยู่ในที่ด้วยมเหสีมิได้ทูลเบิกตัว ล่วงเข้าไป สังฆาฏนรก ( พระเจ้าข้า )
2. ห้ามอย่ารับของฝากแห่งคฤหัสถ์อันใช่ญาติ สังฆาฏนรก ( พระเจ้าข้า )
3. ห้ามเพลาบ่ายเข้าบ้านมิได้อำลาเพื่อนกันก่อน สังฆาฏนรก ( พระเจ้าข้า )
4. ห้ามอย่าทำกล่องเข็มด้วยกระดูกเขางา สังฆาฏนรก ( พระเจ้าข้า )
5. ห้ามอย่าทำเตียงสูงกว่าศอกบริโภค สังฆาฏนรก ( พระเจ้าข้า )
6. ห้ามอย่าทำเตียงมีที่นั่งหุ้มด้วยนุ่น สังฆาฏนรก ( พระเจ้าข้า )
7. ห้ามอย่าทำผ้ารองนั่งยาว 3 ศอก กว้าง 2 ศอก 6 นิ้ว สังฆาฏนรก ( พระเจ้าข้า )
8. ห้ามอย่าทำผ้านุ่งปกปิดหิดฝีเปื่อยยาวกว่า 6 ศอก กว้างกว่า 3 ศอก สังฆาฏนรก ( พระเจ้าข้า )
9. ห้ามอย่านุ่งผ้าอาบน้ำฝนยาวกว่า 9 ศอก กว้างกว่า 3 ศอกคืบ 6 นิ้ว สังฆาฏนรก ( พระเจ้าข้า )
10. ห้ามผ้ายาวกว่า 3 วาศอกคืบ กว้าง 9 ศอก เท่าจีวรพระพุทธเจ้า สังฆาฏนรก ( พระเจ้าข้า )
จบรัตนวรรค 92 สุทธปาจิตติยบริบูรณ์เท่านี้แล

1. ปาติเทส 4 ประการนั้น คือ ห้ามรับอาหารบริโภคในบ้านต่อมือนางภิกขุนีใช่ญาติ กาฬสูตตะนรก ( พระเจ้าข้า )
2. ห้ามฉันภิกขุนีเตือนอังคาสของ ถ้าไม่ห้ามฉันเข้าไป ไม่ขับนางภิกขุนีเสีย กาฬสูตตะนรก ( พระเจ้าข้า )
3. ห้ามอริยบุคคลไม่นิมนต์ อย่าเข้าไปบิณฑบาตบริโภค กาฬสูตตะนรก ( พระเจ้าข้า )
4. ห้ามภิกขุทางกันดาร เสือช้างโจรผู้ร้าย รู้ว่าทายกถวายไทยทานให้บอก ถ้ามีบอกนอกแดนก่อนรับในแดน กาฬสูตตะนรก ( พระเจ้าข้า )
จบปาติเทศ 4 แล

1. เสขิยวัต 75 นั้น ห้ามนุ่งผ้าเบื้องบนให้ปกสะดือ เบื้องต่ำอย่าเฟื้อยเข่ากว่า 8 นิ้ว ชายมุมผ้าอย่าให้ไพล่พลิ้ว สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
2. ห้ามอย่าห่มจีวรผ้ายาวปกเข่าลงไปกว่า 4 นิ้ว สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
3. ห้ามมิได้ขัดดุมแลตีนอนุวาตไม่ปกเข่าข้อมือ แลเดินไปในละแวกบ้าน สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
4. ห้ามผ้าดังนั้น ถึงมิเดินไปนั่งในละแวกบ้าน สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
5. ห้ามมิให้คะนองมือเท้าเดินในละแวกบ้าน สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
6. ห้ามมิให้คะนองมือเท้านั่งในละแวกบ้าน สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
7. ห้ามเดินในละแวกบ้าน อย่าทอดตาไปไกลกว่า 4 ศอก สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
8. ห้ามนั่งในละแวกบ้าน อย่าทอดตาไปไกลกว่า 4 ศอก สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
9. ห้ามอย่าแหวกจีวรจนเห็นประคดในเดินในละแวกบ้าน สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
10. ห้ามอย่าแหวกจีวรจนเห็นประคดในนั่งในละแวกบ้าน สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
จบปริมัณฑลวรรค 1 แล

1. ห้ามอย่าหัวเราะดังในละแวกบ้าน สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
2. ห้ามอย่าหัวเราะดังนั่งในละแวกบ้าน สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
3. ห้ามอย่าเจรจาเสียงดัง เดินในละแวกบ้าน สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
4. ห้ามอย่าเจรจาเสียงดังนั่งในละแวกบ้าน สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
5. ห้ามอย่าแกล้งโยกกายเดินในละแวกบ้าน สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
6. ห้ามอย่าโยกย้ายกายนั่งในละแวกบ้าน สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
7. ห้ามอย่ากรายแขนเดินในละแวกบ้าน สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
8. ห้ามอย่ากรายแขนนั่งในละแวกบ้าน สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
9. ห้ามอย่าโคลงศรีษะเดินในละแวกบ้าน สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
10. ห้ามอย่าโคลงศรีษะนั่งในละแวกบ้าน สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
จบทุติยวรรค 2 แล

1. ห้ามอย่าเท้าสะเอวเดินในละแวกบ้าน สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
2. ห้ามอย่าเท้าสะเอวนั่งในละแวกบ้าน สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
3. ห้ามอย่าคลุมศรีษะเดินในละแวกบ้าน สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
4. ห้ามอย่าคลุมศรีษะนั่งในละแวกบ้าน สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
5. ห้ามอย่าโขยกตีนเดินในละแวกบ้าน สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
6. ห้ามอย่ารัดหัวเข่านั่งในละแวกบ้าน สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
7. ห้ามไม่เคารพอย่ารับบิณฑบาต สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
8. ห้ามเมื่อเขาใส่บาตรอย่าเหินตาไปอื่น สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
9. ห้ามรับบัณฑบาตแกงมากกว่าข้าว สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
10. ห้ามรับบิณฑบาตพูนขอบบาตร
จบรัตนวรรค 3 แล

1. ห้ามมิเคารพอย่ารับบิณฑบาต สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
2. ห้ามเมื่อฉันอย่าเหินตาไปนอกบาตร สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
3. ห้ามอย่าเจาะควักข้าวเป็นขุมฉัน สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
4. ห้ามอย่าฉันแกงมากกว่าข้าว สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
5. ห้ามอย่าพูนข้าวเป็นจอมท่ามกลางบาตรฉัน สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
6. ห้ามอย่าซุกหมกปลาเนื้อแกงในข้าวฉัน สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
7. ห้ามไม่ไข้อย่าขอข้าวเนื้อปลาแกง ตระกูลอันใช่ญาติ สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
8. ห้ามภิกขุฉันอยู่อย่าดูปากยกโทษ สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
9. ห้ามอย่าฉันข้าวคำใหญ่ สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
10. ห้ามอย่าทำข้าวคำยาวฉัน สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
จบจตุวรรค 4 แล

1. ห้ามอย่าอ้าปากไว้ท่าคำข้าวฉัน สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
2. ห้ามอย่าเอานิ้วมือใส่ปากเมื่อฉันข้าว สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
3. ห้ามอย่าเจรจาทั้งคำข้าว สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
4. ห้ามอย่าโยนคำข้าวฉัน สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
5. ห้ามอย่ากัดคำข้าวฉัน สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
6. ห้ามอย่าไพล่คำข้าวฉัน สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
7. ห้ามอย่าสะบัดมือเมื่อฉันข้าว สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
8. ห้ามอย่าให้เมล็ดข้าวเรี่ยรายออกจากปากฉัน สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
9. ห้ามอย่าแลบลิ้นออกรับคำข้าว สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
10. ห้ามอย่าฉันดังจุบๆ สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
จบปัญจวรรคครบ 5 แล

1. ห้ามอย่าทำปากซุบๆ เมื่อฉัน สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
2. ห้ามมิให้เลียนิ้วมือ สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
3. ห้ามอย่าเอานิ้วมือขอดบาตร สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
4. ห้ามอย่าแลบลิ้นเลียสีปาก สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
5. ห้ามอามิสติดเปื้อนอย่าจับภาชนะโอฉัน สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
6. ห้ามอย่าเทน้ำล้างบาตรอันมีเมล็ดข้าวลงในละแวกบ้าน สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
7. ห้ามคนถือร่มมิได้ไข้อย่าสำแดงธรรม สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
8. ห้ามคนมิได้ไข้ถือหอกดาบอย่าสำแดงธรรม สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
9. ห้ามคนถือธนูมิได้ไข้อย่าสำแดงธรรม สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
จบคำรบ 6 แล

1. ห้ามคนมิได้ไข้ใส่เกือกสำแดงธรรม สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
2. ห้ามคนใส่เกือกทั้งปวงมิได้ไข้อย่าสำแดงธรรม สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
3. ห้ามคนขี่ยวดยานมิได้ไข้อย่าสำแดงธรรม สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
4. ห้ามคนอยู่เหนือที่นอนมิได้ไข้ อย่าสำแดงธรรม สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
5. ห้ามคนกอดเข่ามิได้ไข้อย่าสำแดงธรรม สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
6. ห้ามคนโพกศรีษะมิได้ไข้อย่าสำแดงธรรม สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
7. ห้ามคนคลุมศรีษะมิได้ไข้อย่าสำแดงธรรม สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
8. ห้ามคนนั่งเหนืออาสนะมิได้ไข้นั่งที่ดินอย่าสำแดงธรรม สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
9. ห้ามคนนั่งที่สูงมิได้ไข้อย่าสำแดงธรรม สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
10. ห้ามคนนั่งอยู่มิได้ไข้อย่ายืนสำแดงธรรม สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
จบคำรบ 7 แล

1. ห้ามผู้เดินหน้ามิได้ไข้อย่าให้ผู้เดินหลังสำแดงธรรม สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
2. ห้ามผู้เดินนอกทางมิได้ไข้อย่าให้ผู้เดินในทางสำแดงธรรม สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
3. ห้ามอย่ายืนถ่ายอุจจาระปัสสาวะ สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
4. ห้ามเหนือหญ้าอันเขียวอย่าถ่ายเขฬะอุจจาระปัสสาวะ สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
5. ห้ามเหนือน้ำบริโภคอย่าถ่ายอุจจาระปัสสาวะ สัญชีพนรก ( พระเจ้าข้า )
จบเสขิยวัติ 75 แล

1. สัตตาธิกรณสมถะวินัย 7 นั้น คือ ระงับโทษโจทก์จำเลยยอมกันเองต่อสงฆ์ ตามพระวินัยซึ่งชื่อสมถะวินัย
2. หนึ่งคือพระอรหันต์ทรงศีลสังวรอันแท้ยกโทษมิขึ้นชื่อสัตติวินัย
3. หนึ่งสงฆ์เป็นบ้าเสียจิตยกโทษมิขึ้น ชื่ออมูฬหะวินัย
4. หนึ่งสงฆ์กล่าวโทษฝ่ายโจทก์ฝ่ายจำเลยยอมกันเอง ชื่อปฏิญาณวินัย
5. หนึ่งสงฆ์วิวาทกันมากเป็น 2 ฝ่าย ปรึกษาให้ทำฉลากจับ 2 ฝ่าย ชื่อเยภุยยะสิกากรรม
6. หนึ่งสงฆ์ติเตียนพระรัตนไตร คบคฤหัสถ์ที่ถือทิฐิ พึงขับเสีย ถ้าละพยศอันร้ายแลควรเอาทรมานคืนเข้าในหมู่คณะ ชื่อตัสสปิยิสิกากรรม
7. หนึ่งสงฆ์มีโทษอันหยาบช้าฟุ้งเฟื่องจะใคร่เป็นเพศสงฆ์อยู่ แล้วสวดระงับพยศอันร้ายปรึกษาปกปิดโทษนั้นให้สูญดุจหญ้าปกคูถ ชื่อติณวัตถารก

จบอธิกรณสมถะ 7 เป็นศีลสิกขาบท 227 ให้สมณะกุลบุตรผู้ไม่รู้อรรถกถาบาลีเล่าเรียนแจ้งใส่ในขันธสันดาน แล้วจึงให้บวชปรนนิบัติตามรับสั่งนี้จงทุกประการ

กฎให้ไว้ ณ วัน ฯ ค่ำ จุลศักราช 1135 ปีมะเส็ง เบญจศก
( เสทื้อน ศุภโสภณ , 2527 : 110-115)

แต่เป็นที่น่าสลดใจอย่างยิ่ง ที่ในบั้นปลายรัชสมัยนั้น พระองค์ท่านต้องทรงมีพระสัญญาวิปลาสไป ด้วยการที่ทรงปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ในขณะที่ต้องทรงวุ่นวายอยู่กับพระราชภาระของบ้านเมือง ทั้งภายนอกภายในเป็นล้นพ้น จนมีผู้กล่าวกันว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีต้องทรงประสบกับความวิบัติหายนะ ด้วยการที่ทรงหมกมุ่นอยู่กับการพระศาสนาจนเกินไปโดยแท้ (เสทื้อน ศุภโสภณ , 2527 : 64)

พลตำรวจตรีสุชาติ เผือกสกนต์ ได้กล่าววิจารณ์เกี่ยวกับการที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงสนพระราชหฤทัยในการพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ไว้ดังนี้ ( http://www.dabos.or.th/pr13.html ( 28/11/44)

“ ผมเชื่อว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงเจริญพระกรรมฐานด้วยพระราชศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา จนกระทั่งได้ทรงบรรลุมัคคญาณ ผลญาณระดับหนึ่ง ซึ่งจัดเป็นอริยบุคคล ส่วนจะบรรลุถึงระดับโสดาบันหรือเหนือกว่าระดับใดนั้น พระองค์ท่านเท่านั้นที่จะทรงทราบ ด้วยพระปัญญาคุณของพระองค์ท่าน ในปี พ.ศ. 2319 จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์ลักษณะและวิธีการปฏิบัติธรรมชั้นสูงที่เรียกสั้นๆ ว่า “ ลักขณะบุญ ” ขึ้น พระราชนิพนธ์นี้ได้ทรงใช้สั่งสอนพระภิกษุด้วย ในปีเดียวกันนี้ ได้ทรงบูรณะวัดบางยี่เรือนอก แล้วทรงอาราธนาพระสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนาธุระมาอยู่ที่กุฏิที่ทรงสร้างถวายเป็นจำนวนมาก ทั้งยังได้เสด็จไปถวายพระบรมราโชวาทแก่พระสงฆ์ โดยอธิบายถึงวิธีที่ได้ทรงบำเพ็ญได้ให้เข้าใจถูกต้องเพื่อเป็นการบอกบุญในการปฏิบัติศาสนาสืบไปด้วย

การที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงตีความเกี่ยวกับพระวินัยสิกขา และทรงออกข้อบังคับเป็นกฏหมายให้พระสงฆ์ปฏิบัติ รวมทั้งได้ทรงพระราชนิพนธ์ตำราเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติธรรม วิปัสสนาธุระและถวายพระบรมราโชวาทสั่งสอนแก่พระสงฆ์นั้นดูจะเป็นสิ่งที่ละเมิด บทบาทของพระมหากษัตริย์ไทยในราชอาณาจักรอยุธยาที่มีต่อคณะสงฆ์ แต่ก็ได้เคยมีปรากฏมาแล้วในสมัยพระเจ้าทรงธรรม

แต่พระองค์ก็คงได้ทรงพระวิจารณญาณในเรื่องนี้มาโดยรอบคอบถี่ถ้วนแล้วว่า หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาต้องเสียแก่พม่าข้าศึกแล้ว มิใช่เฉพาะทรัพย์สินแก้วแหวนเงินทองสมบัติที่พม่าได้กอบโกยรวบรวมกลับไปบ้านเมืองของตนเท่านั้น ยังได้กวาดต้อนทรัพยากรบุคคลรวมทั้งพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งทรงคุณวุฒิรอบรู้แตกฉานในพระไตรปิฎกจำนวนหนึ่งเป็นเชลยด้วย นอกจากนี้ พระภิกษุสงฆ์ที่ทรงคุณวุฒิดังกล่าวอีกจำนวนหนึ่งก็ล้มหายตายจากไป เนื่องจากภัยสงคราม คัมภีร์พระไตรปิฎกก็ถูกเผาผลาญไปพร้อมกับวัดวาอาราม จึงอาจกล่าวได้ว่า เกือบจะไม่มีหลงเหลือไว้เป็นเสาหลักค้ำจุนพระพุทธศาสนาในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เลย ในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในรัชกาลนี้ พระองค์ท่านจึงจำเป็นต้องทรงอาราธนาพระภิกษุสงฆ์เท่าที่ยังคงมีหลงเหลืออยู่จากท้องถิ่นต่างๆ ไม่ห่างไกลมา แล้วพระราชทานสมณศักดิ์ตามควรแก่กรณีเพื่อกำกับดูแลการปฏิบัติศาสนกิจในกรุงธนบุรี

โดยที่พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้มิได้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด ยอมรับนับถือให้ความเคารพกันในลักษณะ ครูอาจารย์ กับศิษย์ดังเช่นเมื่อก่อนที่จะเสียกรุง จึงเกิดการแบ่งพวกแบ่งเหล่าเกิดความแตกแยกฟ้องร้องกล่าวหากัน ในหมู่คณะสงฆ์อยู่บ่อยครั้ง ในด้านคุณวุฒิคุณภาพของพระสงฆ์เหล่านี้ก็ไม่เพียงพอที่จะช่วยเหลือกันฟื้นฟู พัฒนากิจการ พระพุทธศาสนาให้เป็นแก่นสารได้ ในฐานะที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงศึกษา และปฏิบัติธรรมจนเข้าพระทัยลึกซึ้งแตกฉาน พระองค์จึงต้องทรงสละเวลาส่วนหนึ่งเพื่อการฟื้นฟู พระพุทธศาสนา ของราชอาณาจักรด้วยพระองค์เองเป็นพิเศษ จึงดูประหนึ่งว่า พระองค์ท่านมิได้สำแดงพระองค์ เป็นอัครศาสนูปถัมภกของพระศาสนาเท่านั้น แต่ยังทรงเป็นเสมือนหัวหน้าหรือประมุขขององค์การ คณะสงฆ์เสียเองอีกด้วย

วิธีการหนึ่งที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงใช้ในการทดสอบความรู้ความสามารถ ในคัมภีร์พระไตรปิฎก ของพระภิกษุสงฆ์ได้แก่ ทรงตั้งปัญหาเพื่อให้ตอบที่เรียกว่า “ ปุจฉา-วิสัชนา ” ในลักษณะเดียวกับที่พระเจ้ามิลินท์ ทรงปฏิบัติต่อพระนาคเสนเถระ การที่พระภิกษุสงฆ์องค์ใดไม่สามารถถวายคำตอบได้โดยถูกต้องแจ่มแจ้ง ในสาระสำคัญที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกก็ตาม มิได้ยึดความถูกต้องตามหลักวิชาก็ตาม พระองค์ท่านจึงจะทรง พระกรุณาถวายพระบรมราโชวาทแนะนำให้ หากทรงพิจารณาวินิจฉัยแล้วเห็นว่า หมดหนทางที่จะผลักดันให้ พระภิกษุสงฆ์ นั้นพัฒนาตนเองได้ จึงคงจะต้องใช้มาตรการที่รุนแรงถึงขั้นปลดออกจากสมณศักดิ์ และสึกในขั้นตอนต่อไป ได้มีการกล่าวกันว่า เมื่อได้ทรงพระราชปุจฉาว่า ภิกษุจะไหว้คฤหัสถ์ ที่บรรลุธรรม ได้หรือไม่

เมื่อพระราชาคณะที่ทูลวิสัชนาว่าไม่ได้ก็ทรงพระพิโรธลงโทษทัณฑ์แก่ภิกษุราชาคณะและอนุจร ประหนึ่งว่าพระองค์ต้องพระราชประสงค์ให้พระภิกษุนบไหว้พระองค์ และได้มีการหยิบยกประเด็น นี้มากล่าวหา พระองค์ท่านว่า ทรงมีสติฟั่นเฟือนวิปลาส ก็ไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดพิสูจน์ยืนยันได้ว่า พระองค์ได้ทรงเป็นไป ตามข้อกล่าวหา การบันทึกข้อความในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นจดหมายเหตุโหรประชุม พระราชพงศาวดาร และบันทึกคำให้การ ก็ปรากฏว่า มีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนขัดแย้งกันในข้อเท็จจริง อยู่หลายครั้งหลายตอน ข้อความที่กล่าวว่า ภิกษุจะไหว้คฤหัสถ์ที่บรรลุธรรมได้หรือไม่นั้น พระราชปุจฉาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอาจจะทรงใช้คำว่า “ อริยบุคคล 8 ” ก็เป็นได้ จึงเป็นเหตุให้พระภิกษุที่มิได้มีความรู้ลึกซึ้งในพระธรรมเพียงพอจึงทูลถวายคำวิสัชนาผิดพลาดไป

หากพระภิกษุรูปนั้นมีสมณศักดิ์เป็นถึงพระราชาคณะ ก็เป็นการสมควรแล้วที่พระองค์ท่านจะต้องทรงปลดออก จากสมณศักดิ์ เพราะจะคงไว้ก็ไม่มีประโยชน์ต่อพระบรมราโชบายของพระองค์ท่านในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา

ความไม่พอใจที่ถูกถอดออกจากสมณศักดิ์ การถูกจับสึก นอกจากจะเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการปล่อยกระพือข่าวลือออกไป จนมีการบันทึกเป็นหลักฐานจดหมายเหตุทางประวัตศาสตร์ไว้ว่า “ …พระยาตากสินได้ว่าราชการแผ่นดินครั้งนั้น กอปรไปด้วยโมหะ โลภะ มิได้ประพฤติการให้ชอบด้วยขนบบุราณ… ” ซึ่งดูจะเป็นไปไม่ได้สำหรับพระองค์ท่านที่ได้ทรงซาบซึ้งในรสพระธรรมเป็นอย่างยิ่งแล้ว ในช่วงเวลานั้นยังได้มีเอกสารรายงานที่เขียนโดยบาทหลวงชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งซึ่งมีอคติต่อหลักพระพุทธศาสนา มีความไม่พอใจโกรธแค้นที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไม่ทรงสนพระทัยในศาสนาอื่น จนเป็นเหตุให้การเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในประเทศไทย (โดยวิธีการโน้มน้าวพระทัยของพระเจ้าแผ่นดินให้เห็นดีเห็นงามยอมรับไว้เป็นศาสนาประจำชาติ ดังเช่นที่ได้เคยถือเป็นแนวทางปฏิบัติมาแล้วในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) ซึ่งเป็นภารกิจหลักไม่บรรลุเป้าหมายดังที่คาดคิด ทั้งมีพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมและได้ถูกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงขับไล่ออกจากกรุงธนบุรี ได้เขียนรายงานที่บิดเบือนข้อเท็จจริงไปในลักษณะที่ว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีพระสติฟั่นเฟือนวิปลาส จึงเท่ากับเป็นการเติมน้ำมันเข้าไปในกองไฟซ้ำเติมพระองค์ท่านในลักษณะเดียวกัน ให้เห็นเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาด้วยอีกระลอกหนึ่ง

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เรียกว่า จดหมายรายวันทัพ เมื่อเสด็จฯ ไปตีเมืองพุทไธมาศ ได้ยืนยันถึงน้ำพระทัยที่แน่วแน่เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งได้แสดงออกเป็นพระราชดำรัสถึงเป้าหมายของพระมหากษัตริย์ หรือของรัฐว่า มิใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตัวไว้ดังนี้

“ …เป็นความสัจแห่ง ฯข้าฯ ทำความเพียร มิได้คิดแก่กายและชีวิตครั้งนี้ จะปรารถนาสมบัติพัสถานอันใดหามิได้ ปรารถนาแต่จะให้สมณชีพราหมณ์สัตว์โลกเป็นสุข อย่าให้เบียดเบียนกัน ให้ตั้งอยู่ในธรรมปฏิบัติเพื่อจะเป็นปัจจัยแก่โพธิญาณสิ่งเดียว ถ้าและผู้ใดอาจสามารถจะอยู่ในราชสมบัติ ให้สมณพาหมณ์ประชาราษฏรเป็นสุขได้ จะยกสมบัติทั้งนี้ให้แก่ผู้นั้น แล้ว ฯข้าฯ จะไปสร้างสมณธรรมแต่ผู้เดียว ถ้ามิฉะนั้นจะปรารถนาศีรษะและหทัยวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็จะให้ผู้นั้น… ”
(นิธิ เอียวศรีวงศ์. “ การเมืองไทย สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ” , ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ)

12.1.4 สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงพระกรุณาต่อผู้นำศาสนาอื่นๆ และทรงสนับสนุนกิจการของศาสนาเหล่านั้นมากน้อยแค่ไหน?
สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ได้พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่ศาสนาอื่นๆ ในพระราชอาณาจักรด้วย เป็นต้นว่า ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ฯลฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินให้สร้างวัด พระราชทานเงิน เครื่องใช้ ตลอดจนความสะดวกในการเผยแผ่ศาสนา พระราชทานโอกาสให้นักบวชในศาสนาต่างๆ เข้าเฝ้าเพื่อสนทนาธรรมโดยไม่ถือพระองค์ ดังนั้น ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงนับเป็นยุคที่ศาสนารุ่งเรืองสมัยหนึ่ง (พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในสมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี ในงานศพ นส. ผัน ณ นคร (20 กันยายน พ.ศ. 2524 :7)

1 . กับนักบวชอิสลาม มีหลักฐานในพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีความคุ้นเคยกับชาวมุสลิมเป็นอันดี เฉพาะอย่างยิ่งกับนักบวชผู้มีความรู้ที่เรียกกันว่าพวกโต๊ะครู ถึงกับเคยทรงเข้าสมาธิให้ดูเป็นเวลานานถึง 30 นาที (5 บาท) บางครั้งพวกโต๊ะครูก็นำหนังสือเกี่ยวกับการปฏิบัติสมาธิของทางฝ่ายอิสลามเข้าไปอ่านถวายด้วย

“ อนึ่ง เข้าทรงนั่งให้โต๊ะแขกดู 5 บาท ออกแล้วตรัสถามว่าเห็นเป็นประการใด โต๊ะแขกกราบทูลว่า ซึ่งนั่งสมาธิอย่างนี้ อาจารย์ซึ่งได้เล่าเรียนมาแต่ก่อนนั้นอันจะได้พบเห็นเสมอเหมือนพระองค์ฉะนี้ ไม่มีเลย ”

“ ณ วันพุธ เดือน 7 แรม 14 ค่ำ ปีระกา นพศก (พ.ศ. 2320) เพลาเช้า พระสังฆราช พระราชาคณะ เข้ามาถวายพระบาลี ทรงนั่ง และโต๊ะริศ โต๊ะทอง โต๊ะนก ก็เอาหนังสือข้างแขกซึ่งนั่งรักษาจิตเป็นสมาธิเข้ามาอ่านถวาย ”

หลักฐานเรื่องนี้ แสดงว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงสนพระทัยในการปฏิบัติสมาธิเป็นอย่างยิ่ง

2. กับบาทหลวงคาทอลิก
จดหมายเหตุของพวกคณะบาทหลวงฝรั่งเศส ในประชุมพงศาวดารภาคที่ 39 มีกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกับคณะบาทหลวงฝรั่งเศสในสมัยนั้นไว้หลายตอน แสดงให้เห็นถึงการที่ทรงใฝ่พระราชหฤทัยศึกษาหลักธรรมของศาสนาต่างๆ เอามาเปรียบเทียบกับการปฏิบัติของพระสงฆ์ของเรา ทรงพอพระทัยในการคบหาสมาคมกับนักบวชทุกศาสนา โดยไม่ถือพระองค์

พระราชประสงค์ประการหนึ่งก็คือ ต้องการปรับปรุงข้อปฏิบัติของพระสงฆ์ไทยเราด้วย ดังปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุของพวกคณะบาทหลวงฝรั่งเศสดังกล่าวตอนหนึ่ง ดังนี้

“ เมื่อวันที่ 2 เดือนเมษายน (พ.ศ. 2315) ได้มีพระราชโองการให้เราไปเฝ้าอีก และในครั้งนี้ ได้มีรับสั่งให้พระสงฆ์ที่สำคัญๆ กับพระเจ๊กไปเฝ้าด้วย วันนั้นเป็นวันรื่นเริงทั่วพระราชอาณาเขต เพราะเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย พระเจ้าแผ่นดินกำลังสำราญพระทัย จึงได้ลงประทับกับเสื่อธรรมดาอย่างพวกเราเหมือนกัน ในขั้นแรกได้รับสั่งถึงการต่างๆ หลายอย่าง แล้วจึงได้รับสั่งถามว่า การที่เราได้เป็นบาทหลวงและมีเมียไม่ได้ จะต้องเป็นอย่างนี้ชั่วชีวิตหรืออย่างไร เราจึงได้ทูลตอบว่า เมื่อเราได้อุทิศตัวให้แก่พระเป็นเจ้าแล้ว ก็ต้องเป็นอยู่เช่นนี้ชั่วชีวิต จะกลับกลายเปลี่ยนแปลงไม่ได้ จึงได้รับสั่งว่า “ เราตั้งใจว่าจะให้พระสงฆ์ของเราเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้นต่อไปเมื่อพระสงฆ์ได้บวชแล้วห้ามมิให้สึก และห้ามมิให้มีเมีย ”

“ พระเจ้ากรุงสยามได้ทรงพระราชดำริการอย่างดีสำหรับที่จะให้พลเมืองของพระองค์เป็นคนดี พระองค์ทรงถือพุทธศาสนาและทรงเห็นชอบในศาสนาคริสเตียนแต่ข้อเดียว คือว่าผู้ที่ได้ทำการในศาสนาแล้วไม่ควรจะมีภรรยา และการที่ทรงบัญญัติเช่นนี้ ก็หาได้ทรงเกรงว่าอาณาประชาราษฏรในพระราชอาณาเขตจะลดน้อยลงไปไม่ ”

“ ในคราวนั้นพวกบาทหลวงเห็นเป็นโอกาสอันเหมาะ จึงได้กราบทูลอธิบายถึงการศาสนาโดยยืดยาว พระเจ้ากรุงสยามก็ตั้งพระทัยฟังจริงๆ และทรงรับรองว่าความจริงก็มีพระเจ้าที่เป็นใหญ่แต่พระองค์เดียวเท่านั้น นอกนั้นก็เท่ากับเป็นขุนนางรองๆ ลงมา บางทีก็ทรงคัดค้านบ้าง เป็นต้นว่ารับสั่งถามว่า “ ถ้าพระเป็นเจ้าไม่มีตัวมีตนแล้วจะพูดกับมนุษย์อย่างไรได้เล่า? ” พวกเราก็ทูลอธิบายให้เข้าพระทัยไม่ยากอย่างไร เพราะเราได้กราบทูลว่า ผู้ที่ได้สร้าง ลิ้น หู และเสียงนั้น ถึงจะไม่มีตัวตนก็คงจะรู้จักหาทางที่จะพูดกับมนษย์ให้จงได้ ”

“ การที่บาทหลวงได้กราบทูลต่อพระเจ้าแผ่นดินเช่นนี้ เป็นอันเชื่อได้แน่ว่าตั้งแต่เกิดมา ก็คงไม่มีใครได้เคยได้ยินได้ฟังดังนี้เลย บรรดาขุนนางข้าราชการที่เฝ้าอยู่ในที่นั้น ต่างคนประหลาดใจที่ได้เห็นบาทหลวงสอนศาสนาแก่พระเจ้าแผ่นดินในเวลาเสด็จออกขุนนาง ทั้งอัศจรรย์ใจที่ได้เห็นพระเจ้าแผ่นดินโปรดฟัง และรับสั่งโต้ตอบกับบาทหลวงดังนี้ แล้วพระเจ้าตากสินจึงหันพระองค์ไปทางที่พระสงฆ์เฝ้าอยู่ จึงรับสั่งว่าตั้งแต่นี้ต่อไป เมื่อใครบวชแล้วจะสึกไม่ได้ และจะมีเมียไม่ได้เป็นอันขาด และเพราะเหตุว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นหัวหน้าของพระพุทธศาสนา จึงได้มีรับสั่งให้พระสงฆ์เรียนภาษาบาลีต่อไป เพราะภาษาบาลีเป็นภาษาที่พระสงฆ์ต้องใช้ ตรงกับของเราต้องใช้ภาษาลาตินเหมือนกัน เพื่อพระสงฆ์จะได้อ่านหนังสือเข้าใจด้วยตนเองได้ และได้รับสั่งว่านิทานต่างๆ ที่เคยเล่ากันมา ให้ตัดออกเสียบ้าง เพราะนิทานเหล่านี้ล้วนแต่ไม่จริงทั้งนั้น… ” (เสทื้อน ศุภโสภณ, 2527 : 70-71)

12.2  พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา

ความเป็นมาของการศึกษาไทย
การศึกษาของประเทศไทย มิใช่เพียงจะเริ่มขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ หากได้มีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย สันนิษฐานได้จากการคิดตัวอักษรไทยที่เรียกว่า “ ลายสือไทย ” ขึ้น ลักษณะการศึกษาและโรงเรียนในสมัยกรุงสุโขทัยนั้น พอจะสันนิษฐานได้ว่า รัฐและบ้านเป็นสถานศึกษาและฝึกอาชีพ

สมัยกรุงศรีอยุธยา การศึกษาโดยทั่วไปตกอยู่กับวัดและบ้าน นับได้ว่าสถาบันทั้งสองมีส่วนทำให้ประเทศไทยเจริญในทางอักษรศาสตร์และศิลปศาสตร์เป็นอันมาก จะเห็นได้ว่าการช่างต่างๆ ยังคงปฏิบัติสืบเนื่องกันมา

การศึกษาสมัยกรุงธนบุรีเป็นอย่างไร?
สมัยกรุงธนบุรีเป็นระยะเวลาที่บ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อย การฟื้นฟูการศึกษาจึงทำได้ไม่มากนัก แต่วัดก็ยังเป็นแหล่งที่ให้การศึกษาอยู่ โดยมีแต่เด็กผู้ชายเท่านั้นที่มีโอกาสศึกษา เพราะต้องอยู่กับพระที่วัดเรียนหนังสือและได้รับการอบรมความประพฤติ เรียนพระธรรม ภาษาบาลีสันสกฤต และศัพท์เขมร เพื่อประโยชน์ในการอ่านคัมภีร์พระพุทธศาสนา นอกจากนี้มีวิชาเลข เน้นมาตรา ชั่ง ตวง วัด มาตราเงินไทย และการคิดหน้าไม้ ซึ่งจะต้องนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน มีวิชาช่างฝีมือสำหรับเด็กโต ส่วนใหญ่เกี่ยวกับงานช่างก่อสร้าง เพื่อประโยชน์ในการบูรณะซ่อมแซมเสนาสนะ และสิ่งก่อสร้างภายในวัด สำหรับการเรียนวิชาชีพโดยตรงนั้นเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ใครมีอาชีพอะไรก็ถ่ายทอดวิชานั้นๆ

ให้แก่ลูกหลานของตนตามสายตระกูล เช่น วิชาแพทย์แผนโบราณ วิชาช่างปั้น ช่างถม ช่างแกะสลัก ช่างปูนปั้น ช่างเหล็ก ช่างเงิน ช่องทอง ส่วนการศึกษาสำหรับเด็กหญิง จะถือตามประเพณีโบราณคือ เรียนเย็บปักถักร้อย ทำกับข้าว การจัดบ้านเรือน การฝึกอบรมมารยาทของกุลสตรี สังคมสมัยนั้นไม่นิยมให้ผู้หญิงเรียนหนังสือ จึงมีน้อยคนที่อ่านออกเขียนได้ (53 พระมหากษัตริย์ไทย ธ ทรงครองใจไทยทั้งชาติ, 2543 : 244-245)

สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ จึงโปรดให้บำรุงการศึกษาตามวัดต่างๆ และยังโปรดให้ตั้งหอหนังสือขึ้นเช่นเดียวกับสมัยอยุธยา ซึ่งคงเทียบได้กับหอพระสมุดในระยะหลัง (วีณา โรจนราธา, 2540 : 99 ) นอกจากนี้ทรงโปรดให้แสวงหาและรวบรวมตำราต่างๆ ที่กระจัดกระจายไปเมื่อคราวกรุงแตกไว้ที่พระอารามหลวง หรือหามาจำลองไว้เป็นแบบฉบับเพื่อใช้ศึกษาเล่าเรียน (ประไพ พักตรเกษม และผ่องพรรณ เอกอาวุธ, 2535 : 123)