สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
บทที่ 9 พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ด้านเศรษฐกิจ
9.1 ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจในสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานีมีอย่างไรบ้าง
9.1.1 ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ในสมัยต้นของกรุงธนบุรี ได้แก่ ปัญหาทางด้านปากท้องของราษฎร การเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าเป็นครั้งที่ 2 ในพ.ศ.2310 นั้นทำให้ประเทศชาติต้องประสบกับความพินาศย่อยยับอย่างใหญ่หลวงแทบทุกด้านทุกทาง เศรษฐกิจของประเทศต้องอยู่ในภาวะตกต่ำอย่างยิ่ง ชนิดที่ไม่เคยมีมาในกาลก่อน การทำไร่ไถนา การค้าขายกับต่างประเทศ ต้องหยุดชะงักโดยสิ้นเชิง สังคมไทยต้องเผชิญกับทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ยิ่งด้วยมิได้ทำไร่ไถนาติดต่อกันมาถึง 2 ปี เหตุที่ต้องอยู่ในสภาวะสงคราม ข้าศึกเข้ามาคุกคามย่ำยีอยู่ทั่วไป
เมืองไทยเราครั้งนั้นเกิดอาหารอัตคัดขาดแคลนอย่างหนัก ประชาชนต้องอดอยากผ่ายผอมกันทั่วไป จนถึงเจ็บป่วยล้มตายลงเป็นอันมาก เป็นที่น่าสังเวชสลดใจยิ่งนัก อีกทั้งเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ก็ขาดแคลนหนักด้วยอีกเช่นกัน
พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาภาษามคธ ซึ่งพระพิมลธรรม (ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จพระวันรัต ในสมัยรัชกาลที่ 1) ได้แต่งขึ้นไว้ มีกล่าวถึงสภาพทุพภิกขภัยที่มหาชนชาวไทยได้เผชิญกันในครั้งนั้นไว้ ดังนี้
“ ในกาลคราวนั้น มนุษยนิกรทั้งหลายในกรุงศรีอยุธยา มีความโศกปริเทวทุกข์โทมนัสคับแค้นใจ ทั้งมีความหิวอดอยาก จนมีกำลังทุพพลภาพมาก บางเหล่าก็พลัดพรากจากญาติและมิตรบุตรภรรยามารดาบิดา ต่างคนต่างวินาศจากเครื่องอุปโภคบริโภค ธนธัญหิรัญสุวรรณรัตน์ เป็นคนอนาถาทุคคตะกำพร้า ดังคนจัณฑาล ไม่มีอาหารจะบริโภค และปราศจากเครื่องอาภรณ์ผ้านุ่งห่มและที่อยู่ มีรูปกายอันซูบผอมผิวพรรณวิปริต อาศัยเลี้ยงชีพด้วยผลไม้และใบไม้และเครือลดาวัลย์ เง่าบัว รากมันรากไม้ ใบไม้ เปลือกไม้ ดอกไม้ เป็นต้น
เป็นคนกำพร้าอนาถาเที่ยวไปในราวป่า เที่ยวไปในนานาประเทศ เลี้ยงชีวิตได้ด้วยความลำบากยิ่งนัก ก็แหละมนุษยนิกรเหล่านั้นคุมกันอยู่เป็นพวกๆ อยู่เรี่ยรายกันไปในที่ต่างๆ ต่างพวกต่างก็ประหารแย่งชิงปล้นซึ่งกันและกัน แย่งชิงซึ่งข้าวเปลือก ข้าวสาร เกลือเป็นต้น คนเหล่านั้นบางคนก็ไม่มีอาหาร บางคนก็มีอาหารน้อย จนร่างกายผ่ายผอมทุพพลภาพ มีมังสะและโลหิตน้อย ประกอบด้วยความทุกข์ร้อนอันสาหัส ถึงแก่ความตายบ้างไม่ตายบ้าง ”
“ พวกสยามจับอาวุธขึ้นต่อต้านพระสงฆ์ ซึ่งพวกเขากล่าวหาว่าทรยศต่อพวกเขา “ พระเจดีย์ถูกปล้นและพระพุทธรูปถูกทำลายเพื่อเอาเงินซึ่งอยู่ภายในองค์พระ… ” ปัญหาการขาดแคลนอาหารร้ายแรงมากจนถึงขั้นล้มตายวันละหลายคน ส่วนพวกที่เหลือก็ไม่มีพลกำลังที่เข้มแข็ง นอกจากนี้ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มก็ขาดแคลนไปด้วย ความขาดแคลนปัจจัย 4 อันเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิตอย่างรุนแรง ทำให้เกิดความสับสนอลหม่าน สังคมไม่ดำเนินไปตามกฎเกณฑ์ที่เคยทำมา ช่วงก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา คนที่มีทรัพย์สมบัติมากจะนำทรัพย์สมบัติที่มีไปฝังตามที่ต่างๆ และที่วัด ดังนั้น เมื่อคนอดอยากมากเข้า ก็มีบางคนเข้าปล้นวัด จับอาวุธขึ้นต่อต้านพระสงฆ์ ทำลายพระพุทธรูป พระเจดีย์ หรือสถานที่ต่างๆ ที่คาดว่าจะมีทรัพย์สมบัติซ่อนอยู่ เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สมบัติเพื่อใช้ประทังชีพ ดังในประชุมพงศาวดารภาคที่ 39 กล่าวว่า “ พวกไทยด้วยความเชื่อถืออะไรของเขาอย่างหนึ่ง ได้เอาเงินและทองบรรจุไว้ในองค์พระพุทธรูป เป็นอันมาก เงินทองเหล่านี้บรรจุไว้ในพระเศียรก็มี ในพระอุระก็มี ในพระบาทก็มี และตามพระเจดีย์ต่างๆ ได้บรรจุไว้มากกว่าที่แห่งอื่น… ในพระเจดีย์องค์เดียวเท่านั้น ได้มีคนพบเงินถึง 4 ไห และทอง 3 ไห ผู้ใดที่ทำลายพระพุทธรูปลงแล้วไม่ได้เหนื่อยเปล่าจนคนเดียว ”
การขุดทรัพย์สมบัติดังกล่าว ช่วยต่ออายุให้ประชาชนบางคนได้ แต่ปัญหาการขาดแคลนอาหาร เพราะไม่สามารถเพิ่มผลผลิตได้ ทำให้ทรัพย์สมบัติพวกเงินทอง มีคุณค่าลดลง ทองคำเป็นสิ่งที่หาง่ายจนถึงกับหยิบกันเล่นเป็นกำ ๆ ตามถนนหนทางเต็มไปด้วยถ่านและเศษทองแดง วัดวาอารามและบ้านเมืองถูกขุดคุ้ยจนพรุนไปหมด
อย่างไรก็ตาม การนำทรัพย์สมบัติออกมาใช้จ่ายในครั้งนี้ ก็เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจอยู่บ้าง เพราะทำให้เกิดการหมุนเวียนทางการเงิน จะเป็นประโยชน์ในช่วงต่อมาเมื่อเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น เริ่มมีผลผลิตพอที่จะติดต่อค้าขายกับต่างเมืองได้ (พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช , งานพระราชทานเพลิงศพ นส.ผัน ณ นคร, 20 กันยายน 2524 : 5)
จดหมายเหตุของพวกคณะบาทหลวงฝรั่งเศส ที่ได้เข้ามาอยู่ในเมืองไทยเวลานั้น ได้บันทึกถึงเรื่องทุพภิกขภัยครั้งนั้นไว้ ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 39 ดังนี้
“ ค่าอาหารการรับประทานในเมืองนี้แพงอย่างที่สุด เวลานี้ข้าวสารขายกันทะนานละ 2 เหรียญครึ่ง คนที่หาเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างนั้น ถึงจะหมั่นสักเพียงไร ก็จะหาซื้ออาหารรับประทานแต่คนเดียวก็ไม่พอ เมื่อเป็นเช่นนี้ บุตรภรรยาจะเป็นอย่างไร… ”
อีกตอนหนึ่งมีกล่าวไว้ว่า “ …พวกไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินต้องรับความเดือดร้อน ต้องล้มตายวันละมากๆ เพราะอาหารการกินอัตคัดกันดารอย่างที่สุด ในปีนี้ (พ.ศ. 2312) ได้มีคนตายมีจำนวนมากกว่าเมื่อครั้งพม่าเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา… ”
ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ฉบับตุรแปง (นายฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง) มีกล่าวไว้ตอนหนึ่งดังนี้
“ ราคาข้าวขึ้นสูงจนกลายเป็นสินค้าที่หายากในตลาด หัวเผือกหัวมันและพวกหน่อไม้เป็นอาหารสำคัญในภาวะอดอยากนี้ และคนส่วนมากถูกคุกคามจากโรคที่แปลกๆ พวกคนป่วยความจำเสื่อมและพูดจาเลอะเลือน จนกลายเป็นคนเสียสติในระยะนี้อย่างง่ายดาย ซึ่งทำให้แผ่ขยายความร้ายแรงน่ากลัวของโรคได้ดีขึ้น… ”
สภาพความอดโซหิวโหยของประชาชนทำให้พระองค์ท่านไม่สำราญพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ทรงพระปริวิตกกังวลต่อความเป็นอยู่ของไพร่ฟ้าประชาชน จนพระราชพงศาวดารฉบับเดียวกันบันทึกไว้ดังนี้
“ จำเดิมแต่นั้น ด้วยกำลังพระกรุณาพระราชอุตสาหะในสัตว์โลกแลพระพุทธศาสนา มิอันที่จะบันทมสรงเสวยเป็นสุขด้วยพระราชอิริยาบถ ด้วยขัติยวงศา สมณาจารย์ เสนาบดี อาณาประชาราษฎร ยาจกวณิพกคนโซอนาถา ทั่วทุกเสมามณฑล เกลื่อนกล่นกันมารับพระราชทานมากกว่า 10,000 ฝ่ายข้าราชการทหารพลเรือนไทยจีนนั้น รับพระราชทานข้าวสารเสมอคนละถัง กินคนละ 20 วัน ”
“ ครั้งนั้นยังหาผู้จะทำนามิได้ อาหารกันดาร ข้าวสารสำเภาขายถังละ 3 บาทบ้าง ถังละตำลึงหนึ่งบ้าง ถังละ 5 บาทบ้าง ยังทรงพระกรุณาด้วยปรีชาญาณอุตสาห์เลี้ยงสัตว์โลกทั้งปวง พระราชทานชีวิตให้คงคืนไว้ได้ แลพระราชทานวัตถาลังกาภรณ์เสื้อผ้าเงินตรา จะนับประมาณมิได้ จนทุกข์พระทัยออกพระโอษฐ์ว่า “ บุคคลผู้ใดเป็นอาทิคือเทวดา บุคคลผู้มีฤทธิ์ มาประสิทธิ์ มากระทำให้ข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ขึ้นให้สัตว์โลกเป็นสุขได้ แม้นผู้นั้นจะปรารถนาพระพาหา (แขน) แห่งเราข้างหนึ่ง ก็อาจตัดบริจาคให้แก่ผู้นั้นได้ ความกรุณาเป็นความสัตย์ฉะนี้ ” (พระราชพงศาวดารกรุงสยาม 2507 ฉบับบริติชมิวเซียม : 644)
ดังนั้น นอกจากการกู้ชาติ พร้อมกับย้ายราชธานี มาตั้งแห่งใหม่ที่กรุงธนบุรีแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็ยังต้องทรงกอบกู้สถานะทางเศรษฐกิจของบ้านเมืองอย่างหนักอีกด้วย
9.1.2 ปัญหาจากภัยธรรมชาติ คือฝนไม่ตกตามฤดูกาล ทำให้นาข้าวที่หว่านแล้วเสียหาย นอกจากนี้ ก็มีตัวแมลงและหนูคอยกัดกินรากต้นข้าว และพืชผลอื่นๆ จนไม่สามารถจะมีผลิตผลที่พอเพียงแก่การดำรงชีวิต จึงเกิดโจรผู้ร้ายชุกชุมทุกแห่ง ประชาชนต้องถืออาวุธติดมืออยู่เสมอ
“ การ ทำลายพวกหนู ซึ่งคอยกินข้าวในขณะที่ข้าวสุก เมล็ดข้าวได้ถูกทำลายร่วงลงดิน ประชาชนไม่สามารถที่จะแสวงหาสัตว์จำพวกเลื้อยคลาน เห็ดโคน หรือหัวมันขนาดหัวเขื่องๆ ซึ่งหัวหนึ่งจะพอสำหรับคนหนึ่งคนกินได้ พวกแมลงพากันมารุมตอมซากศพ ทำให้อากาศมืดครึ้ม และมนุษย์ต้องขับเคี่ยวกับ แมลง พวกนี้ไม่สิ้นสุด ”
9.2 สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงแก้ไขปัญหาด้านปากท้องของราษฎรอย่างไร ?
พระราชกรณียกิจในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ ภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่สำคัญมีดังต่อไปนี้
9.2.1 การแก้ปัญหาความอดอยากขาดแคลนของราษฎร (ในระยะสั้น)
ปัญหาร้ายแรงอย่างยิ่งเฉพาะหน้า ที่จะต้องดำเนินการโดยรีบด่วนทันที ก็คือการแก้ไขความอดอยากขาดแคลน เครื่องอุปโภคบริโภคของราษฎร สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงดำเนินการด้วยวิธี จ่ายพระราชทรัพย์ เป็นจำนวนมาก ซื้อข้าวสาร ที่พ่อค้าต่างประเทศบรรทุกสำเภาเข้ามาขาย โดยให้ราคาสูงเป็นพิเศษ ถึงถังละ 3-5 บาท บางคราวก็ถึงถังละ 6 บาท ซึ่งนับว่าแพงมากเหลือเกิน สำหรับในครั้งนั้น เพราะถ้าหากเทียบกับค่าของเงินในปัจจุบันแล้ว ก็ตกถึงถังละร่วม 2,000 บาท แล้วก็ทรงนำข้าวสารเหล่านั้นมาแจกจ่ายพระราชทาน แก่บรรดาราษฎรที่อดโซนับจำนวนหมื่นโดยทั่วหน้ากัน ตลอดถึงข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ต่างก็ได้รับพระราชทานอย่างทั่วถึง ในอัตราคนละ 1 ถัง ต่อ 20 วัน (สุจิตต์ วงศ์เทศ, 2545 : 130) พร้อมกันนั้น ยังได้โปรดให้ ซื้อเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม แจกจ่ายพระราชทานอีกด้วยเป็น จำนวนมากมาย ยังผลให้ความเดือดร้อนของอาณาประชาราษฎร ได้บรรเทาเบาบางลงทันที
สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงได้เงินมาจากที่ใดเพื่อมาซื้อข้าวปลาอาหารแจกราษฎรและกองทัพ ?
สำหรับเงินทองที่ทรงนำมาใช้จ่ายในการซื้อหาเครื่องอุปโภคบริโภคแจกจ่ายแก่ประชาชนนั้น พระองค์ทรงใช้วิธีส่งขุนนางไปประจำที่กรุงศรีอยุธยา เพื่อทำหน้าที่จัดระเบียบเกี่ยวกับการขุดสมบัติ และการเก็บภาษีอากรจากทรัพย์สินที่ขุดได้ (ภารดี มหาขันธ์ , 2526 : 29-30) และทรงใช้พระราชทรัพย์ที่ยึดได้จากพม่า ซื้อข้าวสารจากสำเภาต่างชาติ ปันส่วนแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน
สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงนำทรัพย์สมบัติส่วนองค์ท่านและของพระชนนีรวมทั้งของน้องๆ ที่สะสมไว้ เอามาช่วยในราชการทั้งสิ้น เพราะท่านได้ครองแผ่นดินอันว่างเปล่า ปราศจากปราสาทพระราชวัง ปราศจากสิ่งของอันมีค่า และท้องพระคลังที่ว่างเปล่า (วรมัย กบิลสิงห์ , 2540 : 61) อีกทั้งพวกทหารของท่านที่มีเชื้อสายจีนได้ติดต่อญาติมิตรซึ่งเป็นคนค้าขายได้เงินรวมกันประมาณหมื่นตำลึง บางคนให้ข้าวสาร ปลาเค็ม ฯลฯ แต่มิได้ลงบัญชี แน่นอนได้เลย (วรมัย กบิลสิงห์ , 2540 : 65) และได้ถวายอีกครั้ง อีกทั้งได้จากเรือที่ออกไปค้าขายด้วย (2540 : 80-81)
ต่อมาได้ญาติของท่าน (เจียนจิ้น) ทำหนังสือเพื่อจะขอยืมเงินข้าราชการจีนหรือพระเจ้ากรุงปักกิ่งมาซื้อปืน เหล็กตีดาบ และซื้อดาบที่ดีจากเมืองใกล้ๆ มาใช้ พร้อมทั้งหอก ง้าว และทวนด้วย ในที่นี้กล่าวว่ายืมเงินจากพ่อค้า ข้าราชการและพระเจ้ากรุงปักกิ่ง รวมกันได้หกหมื่นตำลึง (2540 : 82-93)
พระราชทรัพย์ที่ทรงนำมาจับจ่าย ในการซื้อข้าวสารเสื้อผ้า พระราชทานแก่บรรดาข้าราชการและประชาชนที่กำลังเดือดร้อนอย่างหนักอยู่ในเวลานั้น สมเด็จพระปิยมหาราชทรงสันนิษฐานว่า “ ซื้อข้าวเลี้ยงคนโซ คงจะได้เงินจากค่ายโพธิสามต้น ”
สุรีย์ ภูมิภมร (2539 : 78) กล่าวถึงการหาพระราชทรัพย์ที่นำมาใช้จ่ายว่า “ …ขายดีบุก งาช้าง และไม้ซุง เพื่อเอาเงินมาช่วยในการซื้ออาหารและเครื่องนุ่งห่ม …”
อีกตอนหนึ่ง สมเด็จพระปิยมหาราชได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า “ เงินจะได้มาทางใดไม่ว่า เจ้ากรุงธนบุรีเป็นผู้ซื้อข้าวมาแจกเฉลี่ยเลี้ยงชีวิตกันในเวลาขัดสน อิ่มก็อิ่มด้วยกัน อดก็อดด้วยกัน… ”
ในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี มีกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ตอนหนึ่งว่า “ …ได้ปืนใหญ่พม่าที่ขนไปไม่ได้ค้างอยู่ ให้ระเบิดเอาทอง (คิดว่าน่าจะเป็นทองเหลือง หรือทองสำริด-ผู้รวบรวม) ลงสำเภา ซื้อข้าวถังละ 6 บาท เลี้ยงคนโซไว้ได้กว่าพัน… ”
นั่นแสดงว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงขวนขวายหาเงินทุกทาง เพื่อเอาปัจจัยมาซื้อข้าวสารแจกจ่ายให้ราษฎรได้มีกินกัน แม้กระทั่งระเบิดปืนใหญ่ที่ใช้การไม่ได้ลงเรือสำเภาเป็นเศษโลหะไปขายต่างประเทศ เพื่อหาเงินมาซื้อข้าวเลี้ยงคนอดโซ
ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ฉบับตุรแปง ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ตอนหนึ่งว่า “ ค.ศ.1769 พระองค์ได้ทรงแสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ต่อประชาชน ความเสียหายเป็นสาเหตุของความอดอยากอย่างมาก ซึ่งเป็นผลข้อหนึ่งที่เกิดจากสงคราม การงานหยุดชะงักลงชั่วคราว และพวกชาวนาก็สามารถทำนาได้เพียงเล็กน้อย ”
“ ภายใต้สถานการณ์ที่เลวร้ายเหล่านี้ พระยาตากได้แสดงความเมตตากรุณา ความขัดสนไม่เป็นเรื่องต้องอดอยากต่อไปอีก ทรงเปิดพระคลังหลวงเพื่อช่วยเหลือ… ”
ปัญหาทุพภิกขภัยในสมัยกรุงธนบุรีตอนต้นนี้ คงจะได้มีติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปี ด้วยมีหลักฐานปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ว่าแม้ในปีพ.ศ. 2313 ก็ยังต้องทรงซื้อข้าวสารแจกอยู่อีก
“ ครั้นลุศักราช 1132 ปีขาล โทศก (พ.ศ. 2313)… ฯลฯ… ครั้งนั้นข้าวแพงเกวียนละ 3 ชั่ง ด้วยเดชะพระบารมีบรมโพธิสมภารกำปั่นข้าวสารมาแต่ทิศใต้ ก็ได้เกณฑ์ให้กองทัพเหลือเฟือ แล้วได้ทรงพระบริจาคทานแก่สมณะ ชีพราหมณ์ ยาจก วณิพก และครอบครัวบุตรภรรยาข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวง… ”
เกี่ยวกับการซื้อข้าวสารแจกจ่ายพระราชทานนี้ มีเกร็ดที่ผู้ใหญ่ท่านเล่าสืบต่อๆ กันมาอยู่เรื่องหนึ่ง ว่าเมื่อครั้งสมัยต้นรัชกาลที่ 5 แผ่นดินสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงนั้น ที่มีท่านผู้เฒ่าคนหนึ่ง เป็นชาวบ้านบางประทุน ฝั่งธนบุรีได้เล่าให้ลูกหลานท่านฟัง ว่าบิดาของท่านได้เกิดทันเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว ด้วยตนเอง กล่าวคือในช่วงเวลาที่ได้มีการอพยพผู้คน จากกรุงศรีอยุธยาลงมาตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงธนบุรี นครหลวงแห่งใหม่นี้ และบรรดาราษฎรกำลังเผชิญกับทุพภิกขภัยอดอยากอยู่อย่างหนักนั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้เอาพระทัยใส่ในความเป็นอยู่ของราษฎรในยามนั้นเป็นอย่างยิ่ง ได้ทรงช้างพระที่นั่งเสด็จออกแจกจ่ายข้าวสารเสื้อผ้า พระราชทานแก่ปวงประชาราษฎรด้วยพระองค์เองเป็นประจำทุกวัน บรรดาราษฎรทั้งหลายต่างพากันแซ่ซ้องสาธุการ เบียดเสียดยัดเยียดเข้าห้อมล้อมชมพระบารมี จนเกือบชิดถึงช้างพระที่นั่ง ด้วยทรงพระปริวิตกห่วงใยในราษฎร ที่อาจจะถูกช้างเหยียบหรือแทงเอา จึงได้ทรงมีพระราชดำรัสตรัสเตือนฝูงชนเหล่านั้นว่า “ อย่าเข้ามาใกล้ลูก เดี๋ยวช้างมันจะทำร้ายเอา ”
พระราชดำรัสอันเต็มไปด้วยพระเมตตาต่อไพร่ฟ้าของพระองค์นี้ ได้เป็นที่ประทับใจแก่ประชาชนในที่นั้นอย่างเต็มตื้น เพราะนอกเหนือไปจากพระองค์จะเป็นพระผู้ทรงเปลื้องทุกข์สร้างสุขให้แก่ประชาชน อย่างยากที่จะหาพระมหากษัตริย์พระองค์ใดมาเทียบได้แล้ว พระองค์ท่านก็ยังทรงมีพระวาจาอันเปี่ยมไปด้วยพระเมตตาปรานี สร้างความปิติเป็นล้นพ้น แก่ผู้ได้ยินกระแสพระราชดำรัสโดยทั่วหน้า เฉพาะอย่างยิ่ง ในยามที่ต้องตกทุกข์ได้ยาก อดอยากอย่างสาหัสดังนี้ พระราชกรณียกิจและพระราชดำรัสดังกล่าวของพระองค์ จึงเปรียบเสมือนน้ำอมฤต ที่ช่วยชุบชีวิตมวลสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งใกล้จะตายอยู่แล้วนั้น ให้กลับฟื้นคืนชีพ มีความแช่มชื่นเบิกบานขึ้นมาได้อีก
พระราชจริยาวัตรดังกล่าวมานี้ เป็นคุณสมบัติสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้พระองค์ทรงเป็นที่เคารพรักของมหาชนทั้งหลายตลอดมา นับเป็นเวลาช้านานเกินกว่าสองศตวรรษแล้ว
จากการที่ได้ทรงแก้ไขปัญหาทุพภิกขภัยเฉพาะหน้า ด้วยการทุ่มเงินซื้อข้าวสารและเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ เพื่อนำมาแจกจ่ายบำบัดความหิวโหยขาดแคลนของประชาชนดังได้กล่าวมาแล้วนั้น ได้ก่อให้เกิดผลดีแก่ ชาติบ้านเมือง และ ประชาชน ส่วนรวม ถึง 3 ทางด้วยกัน กล่าวคือ
- 1. เมื่อบรรดาพ่อค้าทั้งหลายทราบว่าสินค้าที่นำมาขาย ณ กรุงธนบุรี จำหน่ายได้ดีและมีราคาสูงเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้พ่อค้าพากันบรรทุกข้าวเปลือกข้าวสาร ตลอดจนเสื้อผ้าสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ เข้ามาขายที่กรุงธนบุรีมากขึ้น ทำให้ประชาชนพลเมืองมีเสื้อผ้าอาหารเพียงพอกับความต้องการ ความอดอยากขาดแคลนก็หมดไป
- 2. เมื่อพ่อค้าแข่งขันกันนำสินค้านานาชนิดเข้ามาขายกันมากขึ้น ก็ทำให้บังเกิดภาวะสินค้าล้นตลาด เกินความต้องการของประชาชน ราคาสินค้าจึงเริ่มถูกลงเป็นลำดับ ความเดือดร้อนของราษฎรก็ค่อยๆ หมดสิ้นไป
- 3. บรรดาราษฎรที่ยังแตกฉานซ่านเซ็นซุกซ่อนหลบหนียุทธภัยอยู่ตามที่ต่างๆ เป็นอันมากนั้น เมื่อทราบข่าวว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงเลี้ยงดูราษฎรมิให้อดอยากด้วยพระเมตตาปรานีเช่นนั้น ก็พากันมีความยินดีและอพยพกลับคืนเข้ามาอยู่ตามภูมิลำเนาเดิม ในบ้านในเมืองกันมากขึ้น ทำให้กรุงธนบุรีมีประชาชนพลเมือง เป็นกำลังเพิ่มเติมยิ่งๆ ขึ้น เป็นอันมาก สามารถนำไปใช้ในการต่อสู้ข้าศึกศัตรู ป้องกันบ้านเมืองได้ดียิ่งขึ้น ราษฎรได้เริ่มต้นดำเนินอาชีพ ประกอบการทำมาหากินกันสืบต่อไปใหม่ ยังผลให้บ้านเมืองที่เคยตกอยู่ในสภาพเป็นเมืองร้างมาแต่ก่อนนั้น ได้กลับคืนเข้าสู่สภาพปกติสุข มีความเจริญรุ่งเรืองร่มเย็นขึ้นมาใหม่อีก เศรษฐกิจของชาติจึงได้เริ่มฟื้นคืนดียิ่งๆ ขึ้นโดยลำดับ

ความสำคัญของอยุธยา และกรุงเทพคือ การเป็นเมืองใหญ่ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ที่เรือสินค้าระยะไกลทางทะเลเข้ามาจอดเทียบท่าได้ ทำให้มีความเจริญเป็นเมืองท่าในการค้าขาย และคมนาคมนานาชาติที่นอกเหนือไปจากการเป็นเมืองหลวง อันเป็นศุนย์กลางการปกครองของราชอาณาจักร นอกจากนี้ไทยยังมีการสร้างเรือเดินทะเลที่นำสินค้าของไทยไปขายยังดินแดนโพ้นทะเลด้วย ที่เห็นนี้เป็นเรือสำเภาไทยที่เคยจอดเทียบท่าอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ปากแม่น้ำเข้ามาจนถึงกรุงเทพฯ เรือแบบนี้ค่อยๆ หมดไปเมื่อราว 50 ปีที่แล้ว (เอื้อเฟื้อภาพโดย เมืองโบราณ)

ภาพตัดขวางลำเรือของเรือสำเภาไทยๆ ดัดแปลงจากเรือสำเภาจีน มีลักษณะแตกต่างกันออกไปตรงการประกอบกระดูกงูและกง การแกะสลักและทาสีเรือเป็นรูปต่างๆที่หัวเรือ ท้ายเรือ และนิยมทาสีฉูดฉาด ภาพเรือสำเภาไทยภาพนี้วาดจากเรือจำลองสำเภาไทยที่ถอดแบบลายเส้น ในเอกสารบันทึกจดหมายเหตุการค้าของญี่ปุ่นในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 22 (ภาพจากหนังสือ เรือ : วัฒนธรรมชาวน้ำลุ่มเจ้าพระยา)
หมายเหตุ
การค้าด้วยเรือสำเภา ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีหลักฐานที่พอค้นพบได้มาแต่สมัย(ศรี) ทวารวดี ในฐานะที่เป็นรัฐศูนย์กลางการติดต่อค้าขายกับนานาประเทศในน่านน้ำเอเชียตะวันออกฉียงใต้ และติดต่อค้าขายเรื่อยมาตั้งแต่กรุงสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ (เรือ : วัฒนธรรมชาวน้ำลุ่มเจ้าพระยา, 2545 : 15-16)
จากหลักฐานการค้าต่างประเทศ สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ใช้เรือสำเภา เรียกกันว่า การค้าสำเภา สำเภาหลวง ในรัชกาลที่ 1 มีอยู่สองลำ เรือหูสง และเรือทรงพระราชสาสน์ ส่วนเรือสำเภาเอกชน มีทั้งของเจ้านายผู้ใหญ่ ทั้งของพ่อค้า ร่ำลือกันว่า พระยาคลัง ( กุน ) ต่อมาเป็นเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ ต้นสกุล รัตนกุล มีเรือสำเภามากกว่าใครอื่น ร่ำรวยมากจนได้ชื่อว่าเป็นเศรษฐีค้าสำเภา
เสฐียรโกเศศ อธิบายลักษณะเรือสำเภาเอาไว้ว่า … ตอนหัวเรือตรงที่แหวะออก เรียกว่าปากปลา สองข้างปักธงตะขาบ ถัดหัวเรือเข้ามาเขียนเป็นตาเรือสีขาวดำ หน้าเรือปิดกระดาษมีตัวหนังสือจีน ข้างหนึ่งเขียนว่า เล่งเท้าแชกิมกั้ก แปลว่าหัวมังกรงอกเขาทอง อีกข้างเขียนว่า โหว – เค้างวดงิ่นเง้ แปลว่าปากเสืองอกเขี้ยวเงิน ตอนหัวเรือ ด้านตัดถัดปากปลาลงไป ทาสีพื้นแดง ตรงกลางมีตะปิ้งทำด้วยกระดานรูปคล้ายสิงโต สำหรับพาดปากปลา ใจกลางเขียนรูปวงกลมทาสีขาว ฯลฯ ท้ายเรือตัด ทาสีแดงมีวงกลมสีขาว ใต้วงกลมเป็นตัวหนังสือจีนบอกชื่อเรือ นายเรือเรียก จุ้นจู๊ มีอำนาจสิทธิ์ขาดในสินค้าทั้งหมด การเดินเรือเป็นหน้าที่ของฮอจ่างหรือต้นหน ส่วนไต้ก๋ง สมัยนี้ในเรือประมงถือใหญ่ที่สุด สมัยนั้นทำหน้าที่ถือท้าย เรือสำเภาจะแล่นเข้าอ่าวคราวละ 3-4 ลำ ราวเดือน 3 หรือเดือน 4 แล่นมาตามลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดลงใต้ และจะแล่นออกไป ราวเดือน 7-8 ให้ทันลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งพัดขึ้นเหนือ จุดที่เรือสำเภาจอดในแม่น้ำเจ้าพระยา จะอยู่แถวปากคลองโอ่งอ่าง ไปทางทิศตะวันตก จอดเรียงกันเป็นสองแถว หันหัวเรือไปทางปากน้ำ ถ้าเรือลำใดมาทีหลัง เรือลำที่จอดอยู่ก่อน ก็จะมีคนตีม้าฬ่อรับ 3 ลา เรือลำที่เข้ามาก็ตีรับ ถึงเวลาเปิดระวางเรือ ก็จะมีเจ้าพนักงาน ขุนท่องวารี หรือขุนภักดี เสฐียรโกเศศจำไม่ได้ชัด ไป ” เหยียบหัวตะเภา ” เซอร์ยอนเบาริงบันทึกว่า เรือสำเภาทุกลำจะมีสินค้าสำหรับถวายพระเจ้าแผ่นดิน และเสนาบดีด้วย
จากนั้นเรือสำเภาก็เหมือนห้างสรรพสินค้า ลูกเรือมีสินค้าอะไรก็เอาออกมาวางขาย คนไทยก็จะแห่กันไปเลือกซื้อสนุกสนาน ติดต่อกันสองเดือน จนถึงเดือนพฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม เรือสำเภาก็แล่นออกนอกอ่าว ส่วนใหญ่มุ่งหน้าไปเมืองจีน
ในรัชกาลที่ 3 เรือสำเภาลดน้อยลง จนทรงพยากรณ์ว่า ไม่ช้าเรือสำเภาคงจะสูญไป โปรดให้สร้างพระเจดีย์มีฐานสำเภาไว้ที่วัดคอกกระบือ เปลี่ยนชื่อว่า วัดยานนาวา
ต่อมาคำพยากรณ์ก็เป็นจริง เรือสำเภาลำสุดท้ายชื่อ บ้วนเฮง ของพระยาพิศาลผลพาณิชย์ ( จิ้นสือ พิศาลบุตร ) ( หรือจินสือ พิศาลบุตร ; เรือ : วัฒนธรรมชาวน้ำลุ่มเจ้าพระยา , 2545 : 22 ) อับปางกลางทะเล เมื่อ พ.ศ.2417 แต่การค้าสำเภายังมีอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนมาใช้เรือกำปั่นแบบฝรั่ง มีปัญหาตอนเข้าเมืองจีน ต้องแก้ไขกันด้วยการเอาไม้ไผ่ทำเป็นแผงเรือ เขียนตาเรือ ดัดแปลงแต่งรูปเรือกำปั่นให้เป็นเรือสำเภา เจ้าหน้าที่จีนจึงยอมให้เข้าไปค้าขายได้สะดวก
ต่อมาก็มีการดัดแปลงเพิ่มเติม ต่อหัวเป็นเรือสำเภา ท้ายเป็นเรือกำปั่น เรียกว่าเรือกำปั่นพันทาง ภาษาชาวบ้านเรียกเรือกำปั่นบ๊วย ก็ทำให้การค้าขายในจีนดำเนินไปได้ง่ายขึ้นไปอีก (บาราย, 2547 : 5)
9.2.2 การแก้ไขความอดอยากขาดแคลนของราษฎร ในระยะยาว มีดังนี้
- 1. สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทำนุบำรุงการค้าขายติดต่อกับต่างประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศจีน อันเนื่องมาจากการขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคภายในประเทศ อีกประการหนึ่งการค้าขายจะช่วยสร้างผลกำไร ให้ได้อย่างมาก ดังนั้น การสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยฟื้นฟูสถานะ ทางเศรษฐกิจ สมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี ทรงสนับสนุน การค้าสำเภา ได้ส่งสำเภาหลวงออกไปทำการค้า กับนานาประเทศหลายทาง เช่น ไปค้ากับจีน อินเดีย บางครั้งมีสำเภาหลวงส่งออกไป 11 ลำ สินค้าส่วนใหญ่เป็นพวกของป่า หนังสัตว์ ดีบุก งาช้าง และไม้ซุง (สุรีย์ ภูมิภมร, 2539 : 78-79) นอกจากนี้ มีสำเภาจากต่างประเทศเข้ามาค้าขายกับกรุงธนบุรี จำนวนมาก เช่น สำเภาของจีน ชวา ผลกำไรจากการค้าทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจมั่นคงขึ้น ช่วยผ่อนภาระการหารายได้จากการเก็บภาษีอากรได้มาก
- 2. ทรงสร้าง ความสมบูรณ์พูนสุข ให้แก่ราษฎรและ ป้องกันความขาดแคลน อันอาจจะเกิดขึ้นอีก เช่น
– 2.1 ในฤดูหนาวคราวว่างศึกก็โปรดให้ ตัดถนน สำหรับเป็นทางสัญจรไปมาแก่ พ่อค้าประชาชน ตลอดจนการไปมาหาสู่กัน ซึ่งแต่ก่อนมานั้น เรามิค่อยได้มีการตัดถนนกันเลย จึงนับว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงเป็นกษัตริย์ที่ทันสมัยอย่างยิ่งพระองค์หนึ่ง
– 2.2 หากปีใดฝนแล้ง ข้าวปลาอาหารอัตคัด ฝืดเคืองขึ้น เช่น ในปี พ.ศ. 2311 ข้าวสารแพงขึ้นเกวียนละ 2 ชั่ง (160 บาท) ก็โปรดให้ เกณฑ์ข้าราชการให้ช่วยกันทำนาปรัง ทุกแห่งทุกตำบลเป็นการใหญ่ (นาปรัง คือนานอกฤดู) เพื่อมิให้ต้องไปแย่งซื้อข้าวจากราษฎรให้เป็นการเดือดร้อนแก่ราษฎรยิ่งขึ้น (สนั่น ศิลากรณ์ , 2531 : 36-37)
– 2.3 ทรงโปรดให้มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ผลิตยาสูบ สีผึ้ง และรัก เพื่อเป็นสินค้าออกด้วย (สุรีย์ ภูมิภมร, 2539 : 78 -79)
การส่งเสริมการทำนา
เมื่อบ้านเมืองสงบราบคาบ ปราศจากข้าศึกมาก่อกวนรังควานแล้ว ราษฎรก็เริ่มทำมาหากินกันตามปรกติ เฉพาะอย่างยิ่งการทำนาอันเป็นอาชีพหลักของสังคมไทยเรามาแต่โบราณ ได้รับการดูแลส่งเสริมจากทางราชการในครั้งนั้นเป็นอย่างดียิ่ง และยังเป็นการช่วยบรรเทาความขาดแคลนข้าวของราษฎรลงเป็นอันมากอีกด้วย
ต่อมาในปีพ.ศ. 2314 ก็โปรดให้ ขยายพื้นที่ทำนา อย่างขนานใหญ่ ด้วยการดัดแปลงเอาที่สวนมาทำเป็นนา ในบริเวณใกล้พระนครนอกคูเมืองออกไปทั้ง 2 ฟาก (ฟากตะวันออก – ฝั่งพระนคร ฟากตะวันตก – ฝั่งธนบุรี) ให้เรียกว่า “ ทะเลตม ” ซึ่งจะอำนวยประโยชน์ในการตั้งค่ายต่อสู้ป้องกันศึก ที่จะยกมาประชิดติดพระนครด้วย
เมื่อเสร็จศึกคราวอะแซหวุ่นกี้ ตีหัวเมืองเหนือ เมื่อกลางปี พ.ศ. 2319 แล้ว ก็โปรดให้เรียกกองทัพทั้งหมดลงมาประชุมพร้อมกันที่กรุงธนบุรี ให้บรรดาแม่ทัพนายกองคุมไพร่พลออกไปทำนา
อาทิ โปรดให้เจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์ พระยาธรรมา คุมไพร่พลทั้งปวงทำนา ณ ฟากตะวันออกของกรุงธนบุรี อนึ่งพระยายมราช พระรายาราชสุภาวดี ตั้งทำนาที่กระทุ่มแบน หนองบัง แขวงนครชัยศรี บริเวณที่โปรดให้ขุนนางคุมไพร่ทำนาคือ บริเวณที่เรียกว่า ทะเลตม อยู่นอกคูเมืองข้างตะวันออก และในเวลาที่ว่างจากสงครามก็โปรดให้ทหารกลับไปทำนาที่บ้านเกิดด้วย
“ โปรดให้คนเลิกรักษาหน้าที่เชิงเทินเสียไปทำไร่นาตามภูมิลำเนา …และพม่ามิได้ ตามลงมาติดพันแล้วเป็นเทศกาลจะได้ทำนา ให้เลิกทัพเมืองพิจิตร นครสวรรค์ ” การส่งเสริมให้ ราษฎรกลับมาทำการเพาะปลูก ทำให้มีอาหารเพียงพอสำหรับประชาชนในอาณาจักร แรงงานในการเพาะปลูกสมัยกรุงธนบุรี
นอกจากไพร่ชาวไทยแล้ว ยังได้แรงงานจากเชลยชาวลาวและชาวเขมรซึ่งได้มาจากการทำสงครามขยายอาณาเขต เช่น ในพ.ศ.2317 ได้ไพร่ลาวประมาณหมื่นคน ในพ.ศ.2321 ได้ชาวเขมรหมื่นเศษ และใน พ.ศ.2322 ได้กวาดต้อนคนลาวมาเป็นจำนวนมาก เชลยเหล่านี้ ให้ไปตั้งบ้านเรือนทำการเพาะปลูกที่เมืองเพชรบุรี สระบุรี ราชบุรี จันทบุรี และหัวเมืองตะวันตก …และชาวจีนบางกลุ่มเข้ามาประกอบอาชีพทำไร่ เช่น ไร่อ้อน ไร่พริกไทย ตามหัวเมืองชายทะเลตะวันออก และทางภาคใต้ เป็นต้น (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2546 : 359)
สำหรับบริเวณฟากตะวันออกนั้น ทำติดต่อกันไปจนถึงท้องทุ่งบางกะปิ ทุ่งสามเสน ฟากตะวันตก ก็มีทำกันไปจนถึงกระทุ่มแบน หนองบัว แขวงเมืองนครชัยศรีในครั้งนั้น กรุงเทพฯ จึงกลายเป็นแหล่งทำนาแห่งใหม่ที่สำคัญ ในภาคกลางของประเทศไทย ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
สรุป : เมื่อสถานการณ์ทั่วไปดีขึ้น สมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองอีกหลายอย่าง สร้างความสมบูรณ์พูนสุขให้ราษฎร โดยการตัดถนน เพื่อสะดวกต่อการคมนาคม
สภาพเศรษฐกิจและสังคมในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี อยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมมากเมื่อต้นรัชกาล พระองค์ทรงพยายามแก้ไขปัญหา ทั้งการบรรเทาความขาดแคลน โดยการแจกจ่ายอาหารและเครื่องใช้ที่จำเป็น และทรงฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยการค้า และทำให้เกิดการเดินทางของคนแต้จิ๋วเข้าประเทศสยามมากขึ้น คนเหล่านี้เข้าใจเรื่องค้าขายมาก ทำให้อิทธิพลของคนฮกเกี๋ยนที่มีมาแต่เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาต้องลดลงไป (สุรีย์ ภูมิภมร, 2539 : 80) นอกจากนั้นได้ทรงสนับสนุนให้ทำการ ผลิต เศรษฐกิจจึงค่อยๆ อยู่ในภาวะที่ดีขึ้น และมั่นคงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตีพิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ น.ส.ผัน ณ นคร , 20 กันยายน 2524 : 6)