สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
บทที่ 8 สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ปราบดาภิเษก ณ กรุงธนบุรี

ภาพจิตรกรรมฝาผนังสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ปราบดาภิเษก ณ กรุงธนบุรี (เอื้อเฟื้อภาพโดย เมืองโบราณ)

ภาพจิตรกรรมฝาผนังสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ปราบดาภิเษก ณ กรุงธนบุรี (ภาพจากหนังสือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช)
8.1 เหตุใดสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ จึงไม่ครองราชย์ที่กรุงศรีอยุธยา ?
เมื่อเจ้าตากถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ทรงมีพระประสงค์ที่จะปฏิสังขรณ์พระนครศรีอยุธยาให้เป็นราชธานีดังก่อน จึงขึ้นทรงช้าง พระที่นั่งเที่ยวทอดพระเนตร ในบริเวณราชวังและประพาสตามท้องที่ในพระนคร เห็นประสาทราชมณเฑียรตำหนักใหญ่น้อย ทั้งอาวาสวิหารและบ้านเรือนชาวพระนครถูกข้าศึก เผาทำลายเสียเป็นอันมาก ที่ยังดีอยู่นั้นมีน้อย ก็สังเวชสลดพระทัย
ในวันนั้นเสด็จเข้าไปประทับแรมที่พระที่นั่งทรงชัย อันเป็นท้องพระโรงที่เสด็จออกข้างท้ายวังมาแต่ก่อน เจ้าตาก ทรงพระสุบิน ว่า สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนมาขับไล่ไม่ให้อยู่ ครั้งรุ่งเช้าจึงเล่าพระสุบินให้ข้าราชการทั้งปวงฟังแล้วดำรัสว่า “… เราคิดสังเวชเห็นว่าบ้านเมืองจะรกร้างเป็นป่า จะมาช่วยปฏิสังขรณ์ทำนุบำรุงให้บริบูรณ์ดีดังเก่า เมื่อเจ้าของเดิมท่านยังหวงแหนอยู่ฉะนี้ เราชวนกันไปสร้างเมืองธนบุรีอยู่เถิด … ” (รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์ , 2537 : 31)
วีณา โรจนราธา (2540 : 91) ได้วิจารณ์เกี่ยวกับ การเล่าพระสุบิน ไว้ว่า “ การเล่าความฝันเช่นนี้ อาจเป็นหลักจิตวิทยาอันสูงส่งของพระเจ้าตากก็เป็นได้ ด้วยการย้ายกรุงจากพระนครศรีอยุธยาไปยังกรุงธนบุรีในเวลานั้น ชอบด้วยเหตุผลหลายประการ ”
เจ้าตากนั้นทรงมีคุณธรรมอันประเสริฐอย่างหนึ่งคือพระปรีชาสามารถที่ทรงเป็นผู้นำที่ดี และทรงยอมฟังความเห็นของผู้อื่นตลอดจนประชาราษฏร์ทั้งปวง ด้วยทรงตระหนักดีว่าชาวไทยทั้งมวลยังคงให้ความเคารพพระบรมวงศ์แห่งกรุงศรีอยุธยาอยู่ และความรู้สึกของคนไทยสมัยนั้น ยังคงฝังแน่นอยู่กับราชธานีเดิมเป็นของธรรมดา แต่สภาพการณ์ในขณะนั้นไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง จึงทรงพยายามชักจูงใจประชาชนด้วยเหตุต่างๆ ทางอ้อม เพราะพระองค์ทรงเป็นนักจิตวิทยา อย่างยอดเยี่ยมนั่นเอง ( สนั่น ศิลากรณ์, 2531 : 13-14)

แผนที่กรุงศรีอยุธยา
(ภาพจากหนังสืออยุธยา)

แผนที่วังหลวง
(ภาพจากหนังสืออยุธยา)
เหตุที่พระเจ้าตากสินไม่ตั้งเมืองหลวงอยู่ที่กรุงเก่านั้น ก็ด้วยกรุงเก่าเป็นเมืองกว้างใหญ่ ทั้งพระราชวังก็มีประสาท สูงใหญ่ถึง 5 องค์ และวัดวาอารามก็ล้วนแต่ใหญ่โต เมื่อบ้านเมืองถูกพม่าข้าศึกและพวกทุจริตเอาไฟเผา เป็นอันตรายเสียหายจนเกือบหมดสิ้น เจ้าตากพึ่งรวบรวมกำลังตั้งพระองค์ขึ้นใหม่ๆ จะเอากำลังวังชาทุนรอน ที่ไหนไปซ่อมแซมบ้านเมืองที่ใหญ่โต ซึ่งทำลายแล้วให้กลับคืนคงดีขึ้นเป็นพระนครราชธานีได้เล่า ประการหนึ่งถ้ามีข้าศึกศัตรูเข้ามา รี้พลที่จะรักษาหน้าที่เชิงเทินก็มีไม่พอ ด้วยผู้คนแตกฉานซ่านเซ็น ไปคนละทิศละทาง รวมกันไม่ติด ผู้คนจึงรวมได้น้อย (พระราชพงศาวดารกรุงเก่า : 70)
เรื่องที่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงย้ายเมืองหลวงจากกรุงศรีอยุธยามาอยู่ที่กรุงธนบุรีนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงวิจารณ์ว่า “ เมื่อพิเคราะห์ดูตามเหตุการณ์ ที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารต่อมาเห็นว่า เจ้าตากลงมาตั้งเมืองธนบุรีเป็นราชธานีนั้น เหมาะแก่ประโยชน์ ทุกอย่าง ถ้าหากว่าสมเด็จพระอดีตมหาราชได้มาไล่เจ้าตากมิให้ตั้งอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา ก็ขับไล่ด้วยไมตรีจิต ตักเตือน มิให้พลาดพลั้งไปด้วยเห็นแก่เกียรติยศ เพราะกรุงศรีอยุธยาถึงเป็นที่มีชัยภูมิ ด้วยลำน้ำล้อมรอบ และเป็นเมืองที่มีป้อมปราการมั่นคงก็จริง แต่รี้พลของเจ้าตากที่มีอยู่ไม่พอจะรักษากรุงศรีอยุธยาต่อสู้ข้าศึก และขณะนั้นศัตรูยังมีมาก ทั้งพม่าและไทยก๊กอื่นๆ อาจจะยกมาย่ำยีในเมื่อหนึ่งเมื่อใด กรุงศรีอยุธยาอยู่ในทาง ที่ข้าศึก จะมาถึงได้สะดวกทั้งทางบกและทางน้ำ ถ้ามีกำลังไม่พอรักษา ขืนตั้งอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาก็คงเป็นอันตราย การที่ลงมาตั้งอยู่เมืองธนบุรีก็ไม่ห่างไกลกับกรุงศรีอยุธยา มีอำนาจอยู่ที่เมืองธนบุรีก็เหมือนมีอำนาจ อยู่ในกรุงศรีอยุธยา แต่ได้เปรียบที่เมืองธนบุรี ตั้งอยู่ที่ลำน้ำลึกใกล้ทะเล แม้ข้าศึกมาทางบกไม่มีทัพเรือเป็นกำลัง ด้วยแล้ว ก็ยากที่จะมาตีเมืองธนบุรี ถ้าจะมีข้าศึก มาตี เมืองธนบุรีก็มีป้อมปราการ และเป็นเมืองขนาดย่อม พอกำลังกองทัพบกทัพเรือของเจ้าตากจะรักษาได้ โดยที่สุดถ้าจะรักษาไว้ไม่ได้จริงๆ ก็อยู่ใกล้ปากน้ำ อาจจะลงเรือล่าทัพกลับไปเมืองจันทบุรีอย่างเดิมได้สะดวก ลงมาตั้งอยู่เมืองธนบุรี เหมาะแก่ยุทธวิธี ดังกล่าวมานี้ประการหนึ่ง และ ยังเหมาะในทางการเมือง อันเป็นข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่ง เมืองธนบุรีตั้งปิดปากน้ำทางที่หัวเมืองเหนือทั้งปวงจะไปมากับต่างประเทศ เช่นเดียวกับกรุงศรีอยุธยาเป็น ที่สกัดกั้น มิให้ หัวเมืองเหนือ ที่ตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ก๊กอื่น หาเครื่องศัตราวุธยุทธภัณฑ์ มาจากต่างประเทศได้ แต่เจ้าตากเองอาจจะหาได้โดยง่าย
ด้วยเหตุนี้เจ้าตากตั้งอยู่เมืองธนบุรีก็เหมือนมี ฉายาอำนาจ ข่มขึ้นไปถึงหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวง จะเป็นด้วยแลเห็นประโยชน์ดังกล่าวนี้ เจ้าตากจึงลงมาตั้งเมืองธนบุรีเป็นราชธานี ความดำริก็คงถูกต้อง ” (ทวน บุญยนิยม , 2513 : 67-68)
สรุปสาเหตุที่ไม่ตั้งกรุงศรีอยุธยากลับขึ้นเป็นราชธานี คือ
- 1. รี้พลของเจ้าตากที่มีอยู่จำนวนน้อยไม่เพียงพอแก่การที่จะรักษากรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นเมืองใหญ่โตนั้นได้
- 2. กรุงศรีอยุธยาอยู่ในทำเลที่ข้าศึกจะมาถึงได้สะดวกทั้งทางบกและทางน้ำ ถ้ามีกำลังไม่พอรักษา ขืนตั้งอยู่ที่ กรุงศรีอยุธยาอีกก็คงอันตราย
- 3. กรุงศรีอยุธยาทรุดโทรมมากจนเหลือกำลังที่จะปฏิสังขรณ์ได้ในช่วงเวลาอันสั้น อีกทั้งขาดแคลน ทั้งกำลังคนและกำลังทรัพย์
- 4. ข้าศึก ( พม่า ) รู้ภูมิประเทศและทางเข้าตีกรุงศรีอยุธยาดีเสียแล้ว อีกทั้งยังรู้จุดอ่อนทางยุทธศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยา ทำให้เสียเปรียบในการป้องกัน
- 5. เส้นทางส่งกำลังบำรุงจากหัวเมืองมาสู่กรุงศรีอยุธยาโดยทางบกไม่ปลอดภัย
( สนั่น ศิลากรณ์, 2531 : 11)

วัดพระศรีสรรเพชญ์ ก่อนการบูรณะมองเห็นวิหารพระมงคลบพิตร อยู่ถัดไป ภาพถ่ายสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ.2488 (ภาพจากหนังสืออยุธยา)

แผนที่เมืองกรุงธนบุรี
(ภาพจากหนังสือเวียงวังฝั่งธนฯ ชุมชนชาวสยาม)

วัดพระศรีสรรเพชญ์ หลังได้รับการบูรณะ

(ภาพจากหนังสือเวียงวังฝั่งธนฯ ชุมชนชาวสยาม)
สรุป สาเหตุที่สถาปนากรุงธนบุรีขึ้นมาเป็นราชธานี มีดังนี้
- 1. กรุงธนบุรีอยู่ใกล้พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเพิ่งปราบลงได้ (ตีกลับคืนมาได้จากพม่าที่ให้สุกี้พระนายกองคุมอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น) ทำให้สะดวกในการที่จะคุ้มกันไม่ให้ชุมนุมอื่นใดมาครอบงำกรุงศรีอยุธยาจากพระองค์
- 2. กรุงธนบุรีตั้งอยู่ที่น้ำลึกใกล้ทะเล หากข้าศึกยกมาทางบก โดยไม่มีทัพเรือเป็นกำลังสนับสนุนด้วยแล้ว ก็ยากที่จะตีได้สำเร็จ
- 3. กรุงธนบุรีเป็นเมืองขนาดย่อม มีภูมิประเทศทำเลเหมาะที่จะตั้งเป็นเมืองหลวงใหม่ พอแก่กำลังกองทัพบก และกองทัพเรือของเจ้าตากจะรักษาไว้ได้ และกรุงธนบุรีเป็นเมืองเล็กเหมาะแก่ราษฎรจำนวนไม่มากนัก
- 4. กรุงธนบุรีมีป้อมปราการอยู่ทั้งสองฟากแม่น้ำคือ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ ( หรือในเอกสารบางเล่มเขียนว่าป้อมวิชัยประสิทธิ์ ) และป้อมวิไชยเยนทร์ ซึ่ง สะดวกต่อการป้องกันศัตรูที่ยกกำลังทัพเรือมารุกราน หรือปิดล้อม อีกทั้งป้อมวิชัยประสิทธิ์อยู่ในสภาพที่จะเข้าประทั บ ได้ทันทีโดยไม่ต้องเสียเวลาซ่อมแซมมากนัก เหมาะกับกำลังของพระองค์
- 5 . การปิดล้อมกรุงธนบุรีกระทำได้ยากมาก ถ้าศัตรูไม่มีกำลังทางเรือที่เข้มแข็งมาด้วย
- 6. ถ้ามีเหตุอันทำให้จะรักษาไว้ไม่ได้จริงๆ กรุงธนบุรีก็อยู่ใกล้ปากน้ำ อาจลงเรือถอยกลับไปตั้งอยู่ที่เมืองจันทบุรี ดังเดิม หรือตามหัวเมืองชายทะเลอื่นเป็นการชั่วคราวได้โดยสะดวก
- 7 . กรุงธนบุรีมีความสำคัญทางด้านยุทธศาสตร์คือ ตั้งปิดปากน้ำ กั้นหนทางที่ทางหัวเมืองเหนือทั้งปวงที่จะไปมาค้าขายติดต่อกับต่างประเทศเช่นเดียวกับกรุงศรีอยุธยา จึงเป็นที่สกัดกั้นมิให้หัวเมืองเหนือที่ตั้งตัวขึ้นเป็นใหญ่ ซื้อหาเครื่องศัตราวุธยุทธภัณฑ์จากต่างประเทศได้
- 8. กรุงธนบุรีมีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจด้วย เพราะอยู่ใกล้ทะเล สะดวกแก่การไปมาค้าขาย และติดต่อกับต่างประเทศ นอกจากนั้นพื้นดินบริเวณกรุงธนบุรี และหัวเมืองใกล้เคียง เป็นที่ราบซึ่งเป็นเลนและโคลนตม ยังอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกอีกด้วย เช่น นาทางกระทุ่มแบน นครไชยศรี นาทางทะเล และแถบทุ่งพญาไท เป็นต้น
8.2 แต่เดิมสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงคิดว่าจะเสด็จไปประทับที่เมืองใด และทรงเปลี่ยนพระทัยเพราะเหตุใด ?
เมืองธนบุรีในเวลานั้นมีแต่ป้อมเล็กๆ บ้านเรือนที่พักอาศัยก็คงจะเก่าทรุดโทรม ไม่มีกำแพง น่าจะเสด็จไปหาเมืองที่มีกำแพงแข็งแรงมากกว่า เรื่องนี้ในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ ( เจิม ) กล่าวว่า แต่เดิมจะเสด็จไปเมืองจันทบุรี ดังความต่อไปนี้
“ ทอดพระเนตรเห็นอัฏฐิกเรวฬะคนทั้งปวง อันถึงพิบัติชีพตายด้วยทุพภิกจะ โจระ โรคะ สุมกองอยู่ดุจหนึ่งภูเขา แลเห็นประชาชนซึ่งลำบากอดอยากอาหาร มีรูปร่างดุจหนึ่งเปรตปีศาจพึงเกลียด ทรงพระสังเวชประดุจมีพระทัยเหนื่อยหน่ายในราชสมบัติ จะเสด็จไปเมืองจันทบุรี จึงสมณพราหมณาจารย์เส นา บดีประชาราษฎร ชวนกันกราบทูลอาราธนาวิงวอนสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวพระบรมหน่อพุทธางกูร ตรัสเห็นประโยชน์เป็นปัจจัยแก่พระปรมาภิเษกสมโพธิญาณนั้น ก็รับอารธนา จึงเสด็จยับยั้งอยู่ ณ พระตำหนัก เมืองธนบุรี ”
คำว่า พระตำหนัก นั้นจะใช้ให้เหมาะสมกับยศศักดิ์ หรืออย่างไรไม่ทราบ เพราะตามประวัติวัดอรุณราชวรารามกล่าวว่า เสด็จกรีฑาพลลงมาทางชลมารค พอถึงหน้าวัดก็รุ่งแจ้งพอดี มีพระราชดำริเห็นเป็นอุดมมงคลฤกษ์โปรดให้เทียบเรือพระที่นั่ง ที่ท่าน้ำเสด็จขึ้นสักการบูชาพระมหาธาตุที่พระปรางค์ ( องค์เดิมสูงเพียง 8 วา ) แล้วเสด็จประทับแรมที่ ศาลาการเปรียญ ใกล้ร่มโพธิ์

พระแท่นบรรทมวัดอินทาราม
(ภาพจากหนังสือสาระกรุงธนบุรี)

พระแท่นในพระวิหารเล็ก วัดอรุณราชวราราม ลายประดับเป็นลายประจำยาม เขียนทอง 2 ชั้น และลายจำหลักรูปดอกพุดตาน

พระแท่นบรรทม
ประดิษฐานอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
หมายเหตุ : พระตำหนักในพระราชพงศาวดารนั้นก็คือ ศาลาการเปรียญ หลังนี้เป็นแน่แท้ เพราะวัดมะกอกในสมัยนั้นก็เป็นวัดเล็กๆ กุฏิวิหารก็คงไม่ใหญ่โตเหมือนวัดในปัจจุบัน ศาลาการเปรียญดูจะใหญ่โตกว้างขวางกว่าอย่างอื่น
หลักฐานที่ยังคงเหลือในปัจจุบันคือ พระแท่นของพระองค์เป็นกระดานแผ่นเดียวที่มีความกว้าง 17 นิ้วฟุต และมีความยาว 120 นิ้วฟุต (ปัจจุบันพระแท่นดังกล่าวอยู่ที่วัดอรุณราชวราราม) ส่วนพระแท่นบรรทมสีหไสยาสน์ (ปัจจุบันพระแท่นนี้อยู่ที่วัดอินทาราม) นั้นก็เป็นไม้กระดานกว้างแผ่นละ 88 เซนติเมตร หนา 5 เซนติเมตร ยาว 2 เมตร 487 เซนติเมตร ตกแต่งด้วยลูกกรงงาช้าง (สุรีย์ ภูมิภมร, 2539 : 78)
เหตุที่จะเสด็จไปเมืองจันทบุรี เห็นจะเป็นเพราะเมืองจันทบุรีมีกำแพง และบ้านเมืองยังอุดมสมบูรณ์ ผู้คนยังไม่อดอยากดูเวทนาเหมือนอย่างที่กล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารข้างต้น แต่ถ้าเสด็จไปเมืองจันทบุรีจริงๆ ก็ดูประหนึ่งว่าทรงทอดทิ้งประชาชน ที่กำลังอดอยากให้ล้มตายไว้เบื้องต้นเพราะ “ ครั้งนั้นยังหาผู้ที่จะทำนามิได้ อาหารกันดาร ข้าวสารสำเภาขายถังละ 3 บาทบ้าง ถังละตำลึงหนึ่งบ้าง ถังละ 5 บาทบ้าง ”
ก็ผู้คนครั้งนั้นเหลือแต่ตัว จะเอาเงินที่ไหนไปซื้อ และผู้คนก็มากมายมากกว่าหมื่น การที่จะทรงละทิ้งหลีกหนีไป คนเหล่านั้นก็จะตายอย่างไม่เป็นปัญหา และการที่จะพาคนที่หมดเรี่ยวแรงไปไกลๆ เช่นนั้น นอกจากจะเร่งให้ตา ย เร็วขึ้นแล้ว ก็จะต้องหายานพาหนะเพิ่มขึ้นอีก เข้าใจว่าปัญหาเหล่านี้คงจะทำให้ต้อง “ เสด็จยับยั้งอยู่ ณ พระตำหนักเมืองธนบุรี ” และต้องทรงรับภาระเลี้ยงดูผู้คนเป็นจำนวนมาก เฉพาะข้าราชการทหารพลเรือนไทยจีนนั้น รับพระราชทานข้าวสารเสมอคนละถัง กินได้คนละ 20 วัน (ส.พลายน้อย , 2543 : 61-62)
8.3 สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ปราบดาภิเษกเมื่อไร ? ทรงพระนามว่าอะไร ?
ต่อจากนั้นเจ้าตากทรงพารี้พลครอบครัวราษฎรกับทั้งพระราชวงศ์ (เจ้าตากทรงให้เที่ยวสืบหาพวก พระญาติพระวงศ์ ของพระองค์ซึ่งพลัดพรากจากกันไป ไปได้มาแต่เมือง ลพบุรี ทรงให้รับลงมายังเมืองธนบุรี (สังข์ พัธโนทัย, ม.ป.ป. : 177) และข้าราชการกรุงเก่าซึ่งยังเหลือตกค้างอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้นอพยพมายังธนบุรี แล้วยก เมืองธนบุรี ขึ้นเป็น กรุงธนบุรี ศรีมหาสมุทร ตั้งเป็นราชธานี ใน พ.ศ.2311 สร้างพระราชวังขึ้นที่ปากคลองบางกอกใหญ่ (ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่การดูแลของกองทัพเรือ รู้จักกันในนามพระราชวังเดิม)
หมายเหตุ
ผู้สนใจเรื่องเกี่ยวกับ พระราชวังในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สามารถหารายละเอียด และค้นคว้าเพิ่มเติมได้จากหนังสือ สาระน่ารู้กรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และที่ URL: http://www.wangdermpalace.com/ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม
สำหรับช่วงเวลาในการเสด็จขึ้นครองราชย์ยังคงเป็นประเด็นที่มีการอภิปรายกันกว้างขวางในหมู่นักวิชาการ คือ ปี และวันที่ทรงปราบดาภิเษกว่าควรเป็นเมื่อใด
ส. พลายน้อย (2546 : 122) ว่า “ สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จปราบดาภิเษกครองกรุงธนบุรี เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2310 ”
มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม กล่าวถึง วันพระราชพิธีขึ้นครองราชย์ในหนังสือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (2543 : 30) ว่า “ วันอังคาร แรม 4 ค่ำ เดือนอ้าย จุลศักราช 1129 ตรงกับวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2310 ”
ปวโรฬารวิทยา, พระ (2480 : 227) กล่าวว่า “ พระเจ้าตากสินทำการปลงพระบรมศพ (สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์) เสร็จแล้ว ก็คิดจะปฏิสังขรณ์พระนครศรีอยุธยาตั้งเป็นราชธานีอย่างแต่ก่อน ได้เสด็จเข้าไปประทับแรมอยู่ที่พระที่นั่งทรงปืน เจ้าตากทรงสุบินว่า สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนมาขับไล่มิให้อยู่ จึงละทิ้งกรุงศรีอยุธยาลงมาสร้างกรุงธนบุรีเป็นราชธานี ตั้งพระราชวังอยู่ระหว่างวัดอรุณราชวรารามกับวัดโมลีโลก ข้าราชการไทยจีนจึงพร้อมกันอัญเชิญให้พระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อ พ.ศ.2310 ในเวลานั้นพระองค์มีพระชนมายุได้ 34 พรรษา ”
หนังสือที่ระลึกพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดจันทบุรี (2524 : 41-42 ) และวีณา โรจนราธา (2540 : 92 ) กล่าวว่า “ … เนื่องจากเวลาในเสด็จขึ้นครองราชย์ ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ปรากฏชี้ชัดว่าเมื่อใด แต่พิเคราะห์ตามเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์แล้ว เจ้าตากยึดกรุงศรีอยุธยาคืนจากพม่าได้เมื่อเดือน 12 พ.ศ.2310 กว่าจะจัดการพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ และจัดการปลดปล่อยเจ้านายและชาวไทยที่ถูกจับกุม กว่าจะทำนุบำรุงให้ผู้คนมีความเป็นอยู่ค่อยสุขสบายขึ้น รวมทั้งย้ายกรุงมา ณ กรุงธนบุรี เวลาที่เจ้าตากจะปราบดาภิเษกขึ้นปกครองประเทศก็ย่อมต้องล่วงถึงปี พ.ศ.2311 เป็นแน่นอน ประกอบกับมีเอกสารชั้นต้นหลายฉบับยืนยันว่า ปีพ.ศ.2311 เป็นปีที่เจ้าตากได้ราชสมบัติ เช่น
จดหมายเหตุโหร ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 8 ว่า “ ปีชวดจุลศักราช 1130 (ตรงกับ พ.ศ.2311) …. ณ วัน ๓ ฯ ๑ ค่ำ เวลาเช้าโมง 1 แผ่นดินไหว ปีนี้เจ้าตากได้ราชสมบัติ อายุ 34 ปี ”
จดหมายเหตุโหรฉบับพระยาประมูลธนรักษ์ว่า “ (แผ่นดินกรุงธนบุรี) ปีชวด จ.ศ.1130 พระยาตาก ………” จดหมายเหตุของพวกคณะบาทหลวงฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศน์ กับครั้งกรุงธนบุรี และครั้งกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภาค 6 ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 39 มองซิเออร์คอร์ เขียนจดหมายเล่าแก่มองเซนเยอร์บรีโกต์ว่า “ เมื่อวันที่ 4 เดือนมีนาคมปีนี้ (2311) ข้าพเจ้าได้มาถึงบางกอก …..” และ “ เมื่อข้าพเจ้าได้มาถึงบางกอก พระยาตากพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ได้ทรงต้อนรับข้าพเจ้าอย่างดี……..”
นายสวนมหาดเล็กได้แต่งโคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ.2314 ยืนยันการปราบดาภิเษกว่า
ใครอาจอาตมตั้ง ตัวผจญ ได้ฤา
พ่ายพระกุศลพล ทั่วท้าว
ปราดาลิเษกบน ภัทรบิฐ บัวแฮ
สมบัติสมบูรณ์ด้าว แด่นฟ้ามาปาน
แม้จะยุติได้ว่าเจ้าตากปราบดาภิเษกปกครองประเทศสยามโดยการสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี ในพ.ศ.2311 แต่เนื่องจากไม่อาจสืบค้นหาวันเดือน ที่เสด็จขึ้นครองราชย์ได้ ทางราชการจึงกำหนดเอาวันเสด็จออกขุนนางวันแรกสุด เป็นวันคล้ายวันปราบดาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ดังปรากฏรายละเอียดในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม ) ว่า
๑
“ ณ วัน ๓ ฯ ๑ ค่ำปีชวด สัมฤทธิศก เพลาย่ำค่ำแล้วทุ่มหนึ่ง มีจันทรุปราคา
ณ วัน ๓ ฯ ๑ ค่ำ เพลาเช้าเสด็จออกขุนนางตรัสประภาษเนื้อความ จีนเส็งซื้อทองพระพุทธรูปลงสำเภา พระราชสุจริตปรารภ
๔
ตั้งพระอุเบกขา พรหมวิหารเพื่อจะบำรุงบวรพุทธศาสนา และอาณาประชาราษฎร์นั้น อัศจรรย์แผ่นดินไหวเป็นช้านาน ” ( กรมศิลปากร , ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 65 หน้า 39 อ้างโดย วีณา โรจนราธา , 2540 : 92 )
วัน ๓ ฯ ๑ ค่ำ ปีชวด สัมฤทธิศก หรือวันอังคาร เดือนอ้าย แรม 4 ค่ำ จ.ศ.1130 ชวดนี้ตรงกับวันที่ 28 ธันวาคม 2311 ”
๔
และมีปรากฏในจดหมายเหตุของจีนเรื่องพระเจ้าตากสินปราบดาภิเษก และในจดหมายเหตุโหรบันทึกไว้ว่า
“ … ปีชวด จ.ศ.1130 ปีนี้เจ้าตากได้ราชสมบัติ อายุ 34 ปี (เข้าใจว่าจะไม่ทรงปราบดาภิเษกก่อนเดือนสิงหาคม 2311 เพราะในเดือนนั้นทรงมีพระราชสาส์นไปถึงพระเจ้าเขียนหลง กรุงปักกิ่ง ขอให้ทรงรับรองการสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็น “ อ๋อง ” เมืองไทย ทรงลงพระนามในพระราชสาส์นนั้นว่า
“ กันเอินซึ ” ซึ่งตรงกับคำว่า “ กำแพงเพชร ” อันเป็นราชทินนามของพระองค์ก่อนเสด็จเสวยราชย์ ” (สังข์ พัธโนทัย , ม.ป.ป. : 180) จากหนังสือพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในสมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี (2524 : 2) กล่าวว่า “ ทรงได้นำทหารออกปราบปรามชุมนุมต่างๆ เพื่อรวบรวมอาณาจักรไทยได้เป็นผลสำเร็จ โดยทรงสามารถตีค่ายพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้นและกรุงธนบุรีได้ในเดือน 12 ปีกุน พ.ศ.2310 … และทรงประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ในวัน ๓ ฯ ๑ ค่ำ ปีชวด จ.ศ. 1130 (พ.ศ.2311)”
“ ต่อมาในปีพุทธศักราช 2311 ได้ทรงปราบดา ภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่า “ สมเด็จพระบรมราชาที่ 4” แต่ประชาชนนิยมเรียกว่า “ พระเจ้าตากสิน” ( http://www.wangdermpalace.com/kingtaksin/thai_thegreat.html, 30/11/2547 )
น. ณ ปากน้ำ (2536 : 49) ว่า “ จุลศักราช 1130 ปีชวด ได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์ ณ กรุงธนบุรี ”
หนังสือที่ระลึกพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดจันทบุรี (2524 : 40 ) ว่า “ …เจ้าตากก็ให้อพยพผู้คนลงมาตั้งราชธานีอยู่ที่กรุงธนบุรีแต่นั้นมา และได้กระทำพิธีปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ ณ วันพุธ เดือนอ้าย แรม 4 ค่ำ จุลศักราช 1130 ปีชวด สัมฤทธิศก ตรงกับวันที่ 28 เดือนธันวาคม พ.ศ.2311…”
ณัฐพร บุนนาค (2545 : 32) คัดลอกจาก “ จดหมายเหตุโหร ” ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1 กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร หน้า 1) ว่า “ โดยตามความในพระราชพงศาวดารซึ่งตรงกันกับจดหมายเหตุโหรในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 8 ได้กล่าวถึงการขึ้นเป็นกษัตริย์อย่างเป็นทางการว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงปราบดาภิเษกในวันพุธ เดือนอ้าย แรม 4 ค่ำ จุลศักราช 1130 ปีชวด สัมฤทธิศก ตรงกับวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2311 ”
ขจร สุขพานิช (2518 : 22-25) ได้กล่าวไว้ในหนังสือข้อมูลประวัติศาสตร์สมัยบางกอกเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ …เรื่องราวของสมเด็จพระเจ้าตากสิน เราจะกำหนดได้ว่าพระองค์ทรงนำไพร่พลประมาณหนึ่งพันตีฝ่าวงล้อมพม่าออกไปจากกรุงเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2309 คือก่อนกรุงแตกประมาณ 3 เดือนเศษ ทรงตีเมืองได้จันทบุรีเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ.2310 หลังกรุงแตกประมาณ 2 เดือน ครั้นแล้วพระองค์ทรงใช้เวลาราว 5 เดือน ในการทรงสะสมผู้คนและศาสตราวุธ พร้อมทั้งทรงให้ต่อเรือจนได้จำนวนเพียงพอแล้ว จึงทรงคุมกองทัพเรือเข้ามาถึงปากน้ำในเดือน 12 ปีชวด รุ่งขึ้นก็ตีได้เมืองธนบุรี ….
ดังได้กล่าวไว้แล้ว วันทรงกอบกู้กรุงศรีอยุธยาได้ในครั้งนั้นเราไม่มีหลักฐานว่าเป็นวันอะไร ทราบแต่ว่าเป็นเดือน 12 แต่เมื่อได้กำหนดกันว่าเป็นเดือน 12 ขึ้น 15 ค่ำ ตรงกับวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2310 ก็ขอให้ผ่านไปก่อน
… ถ้าจะกะเวลาว่าพระองค์ตีค่ายโพธิ์สามต้นจนลงมาตั้งอยู่ที่เมืองธนบุรี เราจะกะเวลายาวนานสักเท่าใด ? จะเป็นเวลาร่วมเดือนหรือไม่ ? ในปัจจุบันมีการกำหนดวันปราบดาภิเษก สมเด็จพระเจ้าตากสินว่าตรงกับวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2311 กล่าวคือ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงกู้กรุงศรีอยุธยาได้ในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2310 การมีผู้กำหนดวันปราบดาภิเษกว่าตรงกับวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2311 คือระยะห่างกันกว่า 14 เดือน เช่นนี้ฟังดูชอบกล คือถ้าจะห่างกันเพียงเดือนเศษๆ ก็พอฟังได้ แต่เหตุใดจึงไปกำหนดวันปราบดาภิเษกให้ล่าช้าถึง 14 เดือนก็ยังมองไม่เห็นหลักฐาน ว่ากันว่า หลักฐานวันปราบดาภิเษก อยู่ในโคลงยอพระเกียรติฯ นายสวนมหาดเล็กแต่ง ก็ยังมองไม่เห็นว่าอยู่ในโคลงบทที่เท่าใด พิจารณาหนังสือนายทองอยู่ พุฒพัฒน์ (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดธนบุรี, ณัฐพร บุนนาค, 2545 : 3 ) ตีพิมพ์แจกพร้อมทั้งผลการคำนวณจากจันทรคติมาเป็นสุริยคติโดยพระยาบริรักษ์เวชชการ นายกสมาคมโหรแห่งประเทศไทย ก็พอจะมองเห็นได้ว่าเหตุใดจึงมีการคำนวณขึ้นเช่นนั้น คือคำนวณจากวันเสียกรุงและวันยึดเมืองจันทบุรีว่าเป็นปีกุน และวันกูเอกราชว่าเป็นปีชวด (ผู้ให้วันจันทรคติเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ใช่ท่านเจ้าคุณฯ)
หมายเหตุ จากการศึกษาเอกสารพบว่า มีการอ้างถึงที่มาของการคำนวณของพระยาบริรักษ์เวชชการ 1 เล่มคือ หนังสือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ของประยูร พิศนาคะ ตีพิมพ์เมื่อปีพ.ศ. 2527 หน้า 379
เมื่อเหตุการณ์ปีกุนเป็น พ.ศ.2310 เหตุการณ์ปีชวดก็ต้องเป็น พ.ศ.2311 อันที่จริงวันเสียกรุง วันตีเมืองจันทบุรี วันตีค่ายโพธิ์สามต้น เป็นเหตุการณ์ปีชวดในเดือน 5 เดือน 7 และเดือน 12 ด้วยกันทั้งสามเหตุการณ์ ถ้าจุลศักราช 1130 ปีชวดตรงกับ พ.ศ.2311 เหตุการณ์เสียกรุง ตีเมืองจันทบุรี วันกู้กรุงศรีอยุธยา และวันปราบดาภิเษกก็น่าจะเป็นปี พ.ศ.2311 ด้วยกันทั้ง 4 เหตุการณ์ คือวันปราบดาภิเษก ถ้าเป็นในปีชวดด้วยกัน ก็ควรจะห่างวันกอบกู้กรุงศรีอยุธยาเพียงเดือนเศษๆ เท่านั้น ไม่ใช่ 14 เดือน ”
การประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษก มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (2543 : 17-18 ) กล่าวว่า “ …พระราชพิธีคงจะเป็นไปอย่างย่นย่อ แต่พิธีกรรมอย่างย่อนั้นก็ได้รวมเอาหัวใจสำคัญของพิธีไว้บริบูรณ์ สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ได้ประทับบนพระแท่นภัทรบิฐ รับราชสมบัติที่พระมหาราชครูพราหมณ์กราบบังคมทูลถวายโดยถูกต้องตามตำราบรมราชาภิเษกทุกประการ ประกาศพระเกียรติยศเป็นสมเด็จพระบรมกษัตริยาธิราชเจ้าของสยาม ทรงพระนามว่า “ พระศรีสรรเพชร สมเด็จบรมธรรมิกราชาธิราช รามาธิบดี บรมจักรพรรดิศร บวรราชาบดินทร์ หริหรินทร์ธาดาธิบดี ศรีสุวิบูลย์ คุณรุจิตร ฤทธิราเมศวร บรมธรรมิกราชเดโชชัย พรหมเทพาดิเทพ ตรีภูวนาธิเบศร์ โลกเชษฏวิสุทธิ์ มกุฏประเทศคตา มหาพุทธังกูร บรมนาถบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดีศรีอยุธยา มหาดิลกนพรัฐ ราชธานีบุรีรมย์อุดมพระราชนิเวศมหาสถาน ” หรือ “ สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 ” แต่ประชาชนนิยมเรียกว่า “ พระเจ้าตากสิน ” อย่างไรก็ตามทางราชการได้กำหนดให้ วันที่ 28 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช