ความเป็นมาของ “ส้มบางมด”

ส้มที่ไหนไม่หวานเท่า “ส้มบางมด”

จากประโยคข้างต้น คงสงสัย สวนส้มบางมดอยู่ตรงไหนของบางมด สำนักหอสมุด มจธ. จึงได้รวบรวมความเป็นมาของส้มบางมด วิธีการปลูก องค์ประกอบที่สำคัญในการปลูก (ดิน น้ำ อากาศ ปุ๋ย) การดูแลรักษา ปัญหาที่พบก่อน และหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต การขยายพันธุ์ การแปรรูป รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตของส้มบางมด ไว้ดังนี้
“ส้มบางมด” เป็นพันธุ์ส้มเขียวหวาน (Tangerine Orange) ในตระกูลส้มแมนดาริน ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Citrus reticulata Blanco
ลักษณะเด่นของ “ส้มบางมด” รสชาติหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย ผลขนาดปานกลางทรงผลค่อนข้างกลมถึงแป้นเล็กน้อย ส่วนสูงจะสั้นกว่าส่วนกลาง ผลขนาดกลางจะสูงประมาณ 5.9 เซนติเมตร และกว้าง 6.8 เซนติเมตร ส่วนผลที่มีขนาดโตจะสูง 6.5 เซนติเมตร กว้าง 7.5 เซนติเมตร ก้นผลราบถึงเว้าเล็กน้อย มีต่อมน้ำมันถี่เต็มผิวของผล เปลือกบางล่อน ปอกง่าย กลีบแยกออกจากกันง่าย มีกลีบประมาณ 11 กลีบ ผนังกลีบบางมีรกน้อย ชันนิ่ม กุ้ง (Juice sac) มีขนาดสั้น ฉ่ำน้ำ เนื้อผลสีส้ม เมล็ดมีขนาดยาวประมาณ 9 มิลลิเมตร กว้าง 6 มิลลิเมตร และหนา 5 มิลลิเมตร จำนวน 5-12 เมล็ดต่อผล (วาสนา มานิช, 2552 ; โชคธำรงค์ จงจอหอ, 2551)
ขอบเขตที่ตั้งภูมิศาสตร์ ครอบคลุม 8 พื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ เขตจอมทอง เขตทุ่งครุ เขตราษฎร์บูรณะ เขตบางขุนเทียน เขตบางบอน เขตภาษีเจริญ เขตบางแค และเขตหนองแขม (กรมทรัพย์สินทางปัญญา, 2561 ; วาสนา มานิช, 2552)
แผนที่แสดงแหล่งภูมิศาสตร์ "ส้มบางมด"
ที่มา : ประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญาเรื่องการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ส้มบางมด, 2560.
ตามตำนาน “ส้มบางมด” พ.ศ. 2468 พื้นที่ตำบลบางมด เขตราษฎร์บูรณะ และเขตบางขุนเทียน เดิมทำนา เป็นหลัก “นายเสม” เป็นเกษตรกรชาวบางมด สนใจการปลูกส้ม ได้ซื้อกิ่งตอนส้มเขียวหวานจากคลองบางกอกน้อยมาทดลองปลูกในพื้นที่บางมด ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ทำให้คนในพื้นที่สนใจและขยายพื้นที่ปลูกออกไป จึงเป็นแหล่งผลิตส้มเขียวหวานบางมดที่เป็นที่รู้จักทั่วไป (กรมทรัพย์สินทางปัญญา, 2561 ; วาสนา มานิช, 2552 ; โชคธำรงค์ จงจอหอ, 2551 ; สวท. 2561)
พ.ศ. 2485 เกิดน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ ทำให้ต้นส้มบางมดตายเกือบหมด มีการนำกิ่งพันธุ์จากจังหวัดจันทบุรีเข้ามาปลูกทดแทน (กรมทรัพย์สินทางปัญญา, 2561 ; วาสนา มานิช, 2552 ; โชคธำรงค์ จงจอหอ, 2551 ; สวท., 2561)
พ.ศ. 2517 ชาวสวนส้มได้ร่วมกันจัดตั้ง “สหกรณ์การเกษตรสวนส้มบางมด” ขึ้น ครอบคลุมพื้นที่เขตบางขุนเทียน เขตทุ่งครุ และเขตจอมทอง รวมไปถึงตำบลคลองสวน จังหวัดสมุทรปราการ
พ.ศ. 2521 วันที่ 31 กรกฎาคม พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ทรงเสด็จฯ มายังวัดทุ่งครุ เพื่อทรงเป็นประธานตัดหวายลูกนิมิตในพิธีผูกพัทธสีมา (ฝังลูกนิมิต) ชาวบ้านต่างเฝ้ารอรับเสด็จอย่างคับคั่ง ส่วนชาวสวนส้มต่างพากันจัดเตรียมส้มเขียวหวานจากสวนมาน้อมเกล้าฯ ถวาย ในครั้งนั้น พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสถึงส้มบางมดว่า “ส้มบางมดอร่อยมาก ให้อนุรักษ์ส้มบางมดไว้” และยังทรงตรัสถามถึงปัญหาเรื่องดินและน้ำ รวมถึงวิธีการปลูกส้มเขียวหวานอีกด้วย
พ.ศ. 2523 และ พ.ศ. 2526 เกิดน้ำท่วมใหญ่สวนส้มบางมดได้รับความเสียหาย สิ่งที่มาพร้อมกับน้ำท่วมคือ ระดับน้ำทะเลน้ำทะเลหนุนสูงทำให้น้ำเค็มทะลักเข้าคลองบางมดและไหลเข้าท่วมพื้นที่ น้ำในร่องสวนเปลี่ยนเป็นน้ำกร่อย ดินเค็ม ทำให้ต้นส้มเกิดภาวะรากเน่า ชาวสวนขาดทุนเป็นจำนวนมาก เมื่อน้ำลดปัญหาสภาพดินเค็มยังอยู่ ทำให้ชาวสวนส่วนหนึ่งเลิกปลูกส้ม หันไปทำนากุ้งกุลากันมากขึ้น
พ.ศ. 2531 มีสำรวจพบว่า พื้นที่ที่มีการปลูกส้มกระจายในเขตบางขุนเทียน เขตทุ่งครุ และเขตจอมทอง รวมไปถึงตำบลคลองสวน จังหวัดสมุทรปราการ กว่า 30,000 ไร่
พ.ศ. 2533 เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงไม่ตกตามฤดูกาล ทำให้เกิดภาวะน้ำทะเลหนุนสูงไหลทะลักเข้าสู่คลองบางมด และไหลเข้าท่วมสวนหลายต่อหลายครั้ง ทำให้น้ำในร่องสวนกลายเป็นน้ำกร่อยและดินเค็ม ทำให้ต้นส้มรากเน่า สร้างความเสียหายให้กับส้มบางมดถึง 70% ของพื้นที่

สภาพปัญหาอื่นๆ ที่ “ส้มบางมด” ต้องเผชิญ

สภาพปัญหาสวนส้มบางมดที่เผชิญมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่แรกนอกจากปัญหาน้ำท่วม น้ำทะเลหนุนเข้ามาในพื้นที่สวนทำให้ดินเค็มและเสื่อมสภาพ ยังประสบปัญหาอื่นอีกดังนี้
1) พื้นที่เกษตรกรรมในย่านบางมดกลายสภาพไปเป็นเมือง ตามการขยายพื้นที่อยู่อาศัยแถบชานเมืองมากขึ้น ที่ดินภาคเกษตรถูกกว้านซื้อ และจัดสรรเป็นพื้นที่อยู่อาศัย และใช้เป็นแหล่งผลิตในภาคอุตสาหกรรม มีการวางแผนพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ เพื่อรองรับการกระจายตัวของเมืองที่มีมากขึ้น เมื่อวัตถุประสงค์ของการใช้ที่ดินเปลี่ยนไปสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ปัญหาเรื่องมลพิษต่าง ๆ เช่น น้ำเสีย เนื่องมากจากปริมาณน้ำเสียจากครัวเรือน โรงงานอุตสาหกรรม น้ำทะเลหนุน ดินเค็ม และเสื่อมสภาพในเวลาต่อมา ปริมาณขยะที่มาพร้อมชุมชน ทำให้คลองเป็นที่รองรับน้ำเสียและขยะ มลภาวะทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรม ระบบขนส่ง
2) เกษตรกรที่ต้องการทำสวนไม่มีพื้นที่เป็นของตัวเอง ต้องเช่าจากเจ้าของพื้นที่ แบบปีต่อปี จึงเกิดภาวะเสี่ยง เพราะการปลูกส้มใช้เวลานาน กว่าจะสามารถเก็บผลผลิต เพื่อคืนทุน ผลส้มจะเริ่มเก็บจำหน่ายได้เมื่อต้นส้มอายุ 3 ปีขึ้นไป โดยมีจุดคุ้มทุนเมื่อต้นส้มอายุ 6 ปี
3) การพึ่งพิงเศรษฐกิจภายนอกชุมชน เนื่องจากการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมและสถานที่ประกอบการต่าง ๆ ทำให้คนในย่านบางมดมีทางเลือกในการประกอบอาชีพจากแหล่งงานที่หลากหลายมากขึ้น ความรู้จากแหล่งการเรียนรู้ใกล้ตัว ทางด้านการเกษตรและเทคโนโลยีที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นที่นำมาใช้แก้ปัญหาในการทำสวนส้มค่อยๆ จางหายไป
4) วิถีชีวิตของผู้คนในย่านบางมดไม่ผูกพันกับคลองเหมือนในสมัยก่อน เนื่องจากกลุ่มคนที่เข้ามาอยู่ใหม่ ไม่ได้ประกอบอาชีพทำการเกษตร การสัญจร การขนส่งใช้ถนน เป็นหลัก
5) ต้นทุนที่ใช้ในการผลิตสูง ได้แก่ ปุ๋ย ยากำจัดแมลง และศัตรูพืช การปรับปรุงดิน การทำทำนบดินป้องกันน้ำท่วม น้ำเสียจากชุมชน กันน้ำเค็มทะลักเข้าพื้นที่
6) ปัญหาโรคพืช และแมลงระบาด
7) ปัญหาความต้องการทรัพยากรน้ำที่แตกต่างกันของชาวสวนส้ม (ต้องการน้ำจืด) และชาวนากุ้ง (ต้องการน้ำกร่อย-เค็ม) (วาสนา มานิช, 2552 ; โชคธำรงค์ จงจอหอ, 2551)

ตามตำนาน "ส้มบางมด" (ต่อ)

พ.ศ. 2539 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโครงการแก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย พร้อมก่อสร้างประตูระบายน้ำ เพื่อรับน้ำและน้ำท่วมขังจากตอนบนมาเก็บไว้ รอระบายตามจังหวะการขึ้นลงของระดับน้ำทะเล รวมถึงใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำจืด และป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็ม ไม่ให้เข้าไปในแม่น้ำลำคลอง และพื้นที่การเกษตร (มูลนิธิชัยพัฒนา, 2538 ; กรมทรัพย์สินทางปัญญา, 2561 ; อัจฉราวดี ศรีสร้อย, 2562)
พ.ศ. 2540 – 2541 ชาวสวนส้ม ชุมชนหมู่ 6 แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน รวมกลุ่มจัดตั้ง กลุ่มเกษตรพัฒนาสวนส้มบางมด มีการทำสวนเกษตรปลูกส้ม ร่วมกับไม้ผลชนิดอื่น และพืชล้มลุก ในรูปแบบสวนผสม ทำให้สวนส้มพลิกฟื้นกลับมาอีกครั้ง
พ.ศ. 2546 เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ สำนักเขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร เข้าร่วมสนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นเขตนำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และได้จัดทำโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสวนส้มบางมด เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ และได้ชวนเชิญเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการปลูกส้มบางมดมากขึ้น รวมถึงส่งเสริมให้สวนส้มบางมดเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านการเกษตร และแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร (กรมทรัพย์สินทางปัญญา, 2561 ; โชคธำรงค์ จงจอหอ, 2551)
พ.ศ. 2560 กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ออกประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญาเรื่องการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ส้มบางมด ทะเบียนเลขที่ สช 61100102 (กรมทรัพย์สินทางปัญญา, 2561)